กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗) หนังไทย : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ♥♥♥♡

ส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมเกิดจากสถาบันครอบครัว ความเห็นแก่ตัวของพ่อ-แม่ ที่ต่างสนแต่ความสุขพึงพอใจของตนเอง ถ้าพวกเขาครุ่นคิดถึงลูกๆตนเองบ้าง ให้ความสนใจดูแลรับผิดชอบ อดทนอดกลั้นต่อสุขทุกข์เพราะนั่นแหละคือชีวิต เรื่องราวกาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้คงไม่บังเกิด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ เป็นภาพยนตร์ตีแผ่ปัญหาสังคมที่เกิดจากการหย่าร้างของพ่อ-แม่ ทำให้ลูกๆตกอยู่ในสภาวะเคว้งคว้างสุญญากาศ หวาดหวั่นวิตกกลัว ปฏิเสธรับฟังเหตุผลข้ออ้างไร้สาระ และได้ทำบางสิ่งอย่างเพื่อเรียกร้องทุกคนให้หันมาสนใจพวกตนบ้าง

แต่ในชีวิตจริงน้อยนักที่เด็กๆจะกล้าแสดงความคิดเห็นต้องการของตนเองออกมา ส่วนใหญ่เพราะวุฒิภาวะของพวกเขายังพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่สามารถทำความเข้าใจเรื่องพรรค์นี้ได้ อีกทั้งหลายครอบครัวใช้วิธีลุอำนาจ(ของความเป็นผู้ใหญ่) บ้างใช้ความรุนแรงเข้าปกครองครอบงำกดหัว จึงมิสามารถกระทำแสดงออกอะไรได้นอกจากสะสมความเก็บกดคับข้องแค้น รอคอยวันเวลาอนาคตเติบโหญ่จะได้กางปีกโบยบินออกจากกรง แต่นั่นจะพบหนทางออกสว่างสดใสจริงๆนะหรือ

ปัญหาครอบครัวลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้นนะครับ แต่ถือเป็นปัญหาสากลระดับโลก ไม่มีหนทางใดสามารถแก้ไขได้ นอกจากการปลูกฝังทัศนคติ แนะนำให้ความรู้ และคาดหวังว่าโชคชะตาจะทำให้พ่อ-แม่-ลูก มีความรักเข้าใจต่อกัน

ถึงโดยส่วนตัวจะชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ แต่เมื่อครุ่นคิดมองอีกมุมหนึ่งของผู้ใหญ่ สามี-ภรรยา ที่หมดรักต่อกัน อดรนทนฝืนก็อาจรังสร้างปัญหาอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า แยกกันอยู่บางครั้งจึงมีความจำเป็น มัวแต่จะมาพะวงว่าลูกรับได้ไหมก็ยังดีกว่าสูญเสียพ่อ-แม่ ไปทั้งสองคน, นี่เลยทำให้ผมมองว่าตอนจบของหนังมีความ Happy Ending โลกสวยเกินไป แต่นี่ถือเป็นสไตล์ของผู้กำกับบัณฑิต ฤทธิ์ถกล จะไปคาดหวังพบเจอ Sad Ending คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

และอีกปัญหาใหญ่ๆที่พบเจอ ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์โดยแท้ นั่นคือการร่วมทำงานกับเด็ก(เล็ก) เพราะต้องใช้ความอดทนเอาใจใส่และใจเย็นมากๆ กับสองนักแสดงนำเด็กชาย-หญิง นี่ต้องปรบมือชมเลยว่าเลือกมาได้ยอดเยี่ยม ถ้าโตขึ้นคงอยู่ในวงการน่าจะโด่งดังค้างฟ้าแน่ แต่คนอื่นๆนี่สิ … ส่ายหัว

ในปีเดียวกันนี้ที่กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ออกฉาย ด้วยประเด็นปัญหาสังคมจากสถาบันครอบครัวคล้ายๆกัน มีหนังอีกเรื่องหนึ่งนำเสนอในมุมมองตรงกันข้าม เสียดาย (พ.ศ. ๒๕๓๗) ของท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทั้งสองเรื่องถือเป็นความบังเอิญคาดไม่ถึง ทั้งยังได้ส่งผลกระทบต่อกันอย่างรุนแรง เปรียบเทียบความแตกต่างคร่าวๆดังนี้
– กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กเล็ก, เสียดาย เรื่องราวเกี่ยวกับวัยรุ่น
– กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ จบโลกสวย, เสียดาย อนาคตดับวูบ
– กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ทุนสูงขาดทุนย่อยยับ, เสียดาย ทุนต่ำกำไรมหาศาล
– กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สุพรรณหงส์, เสียดาย คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง)

บัณฑิต ฤทธิ์ถกล (พ.ศ. ๒๔๙๔ – ๒๕๕๒) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน โดยบัณฑิตเป็นพี่คนโต จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และอัสสัมชัญพานิช จากนั้นเริ่มทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เขียนคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ ตามด้วยบทภาพยนตร์ ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับในภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ โบตั๋น (พ.ศ. ๒๕๑๘), เสือภูเขา (พ.ศ. ๒๕๒๒), ฉายเดี่ยวครั้งแรก คาดเชือก (พ.ศ. ๒๕๒๗) จากนั้นผูกขาดสร้างภาพยนตร์ให้บริษัทไฟว์สตาร์ กลายเป็นตำนานกับ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗), สตางค์ (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๑๔ ตุลา สงครามประชาชน (พ.ศ. ๒๕๔๔) ฯ

อาก้องได้รับฉายาจากทีมงานว่าเป็น ‘ผู้กำกับเม็ดทราย’ เพราะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน ความจำเป็นเลิศ ละเมียดละไม สามารถเก็บตกทุกสิ่งอย่างได้ครบถ้วน ใส่ใจการทำงานทุกขั้นทุกตอน ดูแลทุกๆคนอย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เป็นที่รักใคร่ของทุกคนที่ร่วมงาน และได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงการ

ความสนใจของอาก้อง ชื่นชอบทำหนังแนว Comedy เรื่องราวบ้านๆเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนไทย ครอบครัว วัยรุ่น หนุ่ม-สาว ซึ่งล้วนแฝงสาระข้อคิดเป็นประโยชน์ทุกครั้ง

“ดูหนังคุณบัณฑิตทีไรได้ความรู้สึกที่ดีกลับมาทุกครั้ง”

– ยุทธนา มุกดาสนิท พูดถึงภาพยนตร์ของบัณฑิต ฤทธิ์กล

แต่กระนั้นผู้ชมส่วนใหญ่ มักไม่สามารถมองเห็นสาระประโยชน์ที่หลบซ่อนอยู่ในผลงานของอาก้องสักเท่าไหร่ กล่าวคือสนใจแต่ส่วนตลกขบขัน น่ารักกุ๊กกิ๊ก และคิดว่าก็แค่ความบันเทิงไร้สาระ

“เมื่อไหร่จะทำหนังที่มีเนื้อหาสาระบ้าง?”

มีเยอะเลยละคนที่ถามอาก้องด้วยคำถามนี้ เป็นผมคงสวนกลับไปแล้วละว่า ดูหนังกันไม่เป็นรึไง! ซึ่งคงด้วยความรำคาญ เลยแอบซุ่มพัฒนาเรื่องราวอยู่ถึง ๖ ปี (น่าจะตั้งแต่ บุญชูผู้น่ารัก ภาคแรกสุดโน่นเลย) มองหาสิ่งที่เป็นประเด็นสังคม พบเห็นได้ทั่วๆไปตามท้องถนน สถานที่สำคัญๆ

“ผมมีความรู้สึกว่าคนที่อยู่รอบๆตัวเรา คนที่เรารู้จัก หรือที่เราพบเห็น ไม่ว่าจากไหน จำนวนคนที่อยู่ห่างบ้านมีมากเหลือเกิน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มีเฉพาะพ่อแม่ที่ไม่เอาใจใส่ลูก พ่อแม่ที่มัวแต่ทำงาน หรือออกงานสังคมจนลืมลูกลืมเต้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงลูกหรือเด็กที่โตขึ้นมาแล้วละทิ้งบ้าน ไปอยู่ตามหอพัก ตามแฟลต ตามคอนโดฯกับเพื่อนๆ แล้วก็มีความสุขที่จะได้อยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าจริงๆแล้วมันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น”

ปกติแล้วหนังของอาก้องจะเขียนบทขึ้นมาเอง แต่ครานี้อยากลองได้แนวคิด มุมมองจากคนอื่นๆดูบ้าง จึงมอบหมายการพัฒนาบทภาพยนตร์ให้ ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ ที่มีผลงานอาทิ รักแรกอุ้ม (พ.ศ. ๒๕๓๑), ต้องปล้น (พ.ศ. ๒๕๓๓), กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ ด้วยเหตุผลว่า ‘เป็นคนที่เขียนบทได้ตรงใจ คือในงานของเขาจะมีความบันเทิง และสาระที่ดีด้วย’ เห็นว่าใช้เวลาเป็นปีๆกว่าบทร่างแรกจะเสร็จสิ้น หลังเสร็จจากสร้าง บุญชู ๗ รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ (พ.ศ. ๒๕๓๖) พอดิบพอดี เลยได้กลายเป็นโปรเจคลำดับถัดไป

‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… เด็กๆในหมู่บ้านแห่งหนึ่งได้หนีออกจากบ้าน และแอบเข้าไปเที่ยวเล่นในปราสาทซึ่งมีแม่มดใจร้ายอยู่ เด็กๆถูกนางแม่มดใจร้ายสาปให้เป็นสัตว์ต่างๆ พอดีเจ้าชายเดินทางผ่านมา จึงใช้ดาบวิเศษช่วยเด็กๆ ให้พ้นคำสาปของแม่มด แม่มดได้เสกยักษ์ตาเดียวขึ้นมาจากหลุมตรงเข้าต่อสู้กับเจ้าชายอย่างดุเดือด’ นี่เป็นนิทานที่พ่อดำรง (รับบทโดย สันติสุข พรหมศิริ) เล่าให้ลูกๆทั้งสามฟัง แต่นั่นคือครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้ยิน เพราะต่อจากนี้แม่อาภา (รับบทโดย จินตหรา สุขพัฒน์) จะพาทุกคนไปอยู่แฟลต ณ ใจกลางกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากพ่อ-แม่ ได้ตัดสินใจเลิกราหย่าขาด มิอาจอาศัยอยู่ร่วมชายคากันได้อีก

รับรู้เช่นนี้ทำให้ลูกสาวคนโตอายุสิบสอง โอ๋ (รับบทโดย มาตัง จันทรานี) วันหนึ่งตัดสินใจพาน้องๆทั้งสองหนีออกจากแฟลตเพื่อกลับบ้านเก่า แต่พอไปถึงพบว่าพ่อย้ายออกไปเป็นโค้ชฟุตบอลอยู่เชียงใหม่แล้ว ด้วยความดื้อรั้นต้องเจอกันให้ได้ ซื้อตั๋วชั้นสามขึ้นรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งระหว่างนั้นพบเจอเรื่องวุ่นๆกับเด็กชายจรจัด นกแล (รับบทโดย รณรงค์ บูรณัติ) กลายเป็นชนวนให้ถูกลักพาตัวโดยแก๊งค์ขโมยเด็ก ที่ได้ขายเด็กหญิงให้แม่เล้าเพื่อกลายเป็นโสเภณี เช่นนี้แล้วจะมีเจ้าชายที่ไหนหรือเปล่าให้การช่วยเหลือให้สามารถเดินทางกลับบ้านได้สำเร็จ

อาก้องถือเป็นผู้ให้กำเนิดอีกหนึ่งดาราคู่ขวัญของเมืองไทย ‘สันติสุข จินตรา’ จริงๆทั้งคู่เคยประกบกันมาก่อนหน้านี้หลายเรื่อง (ที่ไม่ใช่ผลงานของอาก้อง) แต่ครั้งแรกในบทพ่อแง่-แม่งอน คือ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐) และมาโด่งดังพลุแตกกับ บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), สำหรับกาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ก็ยังถือว่าเป็นบทพ่อแง่-แม่งอน แค่มันอาจดูไม่กุ๊กกิ๊กน่ารัก น่าหยิกแก้มจินตราเท่าผลงานอื่นๆ

สันติสุข พรหมศิริ ชื่อเล่นหนุ่ม (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๖) นักแสดงชาวไทย เกิดที่อำเภอท่าช้าง, สิงห์บุรี เข้าสู่วงการแสดงขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ ได้เป็นประธานชมรมการแสดง จนไปเข้าตาผู้ตาสร้างละคร ตี๋ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๒๘), สำหรับภาพยนตร์แจ้งเกิดจาก ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑) ฯ

รับบทดำรง อาชีพโค้ชฟุตบอลที่ค่อนข้างเรื่องมากเจ้ากี้เจ้าการพอสมควร แต่เวลาอยู่บ้านต่อหน้าลูกๆกลับเป็นคนง่ายๆ ชอบตามใจ(จนเสียคน) ทำอาหารอร่อย เล่านิทานเก่ง ขณะที่กับภรรยา ก็ไม่รู้มีความขัดแย้งอะไรกัน พบเจอทำให้มีเรื่องต้องทะเลาะขัดแย้งขึ้นเสียงอยู่ตลอดเวลา

พี่หนุ่มขณะสวมหมวกพ่อ เป็นภาพลักษณ์ที่ใครๆคงคุ้นเคย มากด้วยรอยยิ้มเสียงหัวเราะ ทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก, แต่เมื่อสวมบทบาทสามี มันทำให้ผมเกาหัวอย่างแรง รู้สึกว่ามันไม่เข้าเลยนะ เวลาขึ้นเสียงไม่พอใจ มันขัดกับภาพลักษณ์ที่เคยติดตาโดยสิ้นเชิง

จินตหรา สุขพัฒน์ ชื่อจริง จิตติ์ธนิษา สุขขะพัฒน์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๘) ชื่อเล่นแหม่ม นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่พระประแดง, สมุทรปราการ มีเชื้อสายมอญ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ระหว่างเข้าเรียน ปวช. ที่โรงเรียนกิตติพาณิชย์ ทำงานพิเศษที่บริษัทโตโยต้า ไปเข้าตาแมวมองจับมาเป็นนางแบบโฆษณาผ้าอนามัยลอริเอะ (เห็นว่าเป็นนางแบบคนแรกของบริษัทเลยนะ) ด้วยเหตุนี้เลยได้ไปเข้าตาผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (พ.ศ. ๒๕๒๘) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที จากนั้นเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของค่ายไฟว์สตาร์ ผลงานเด่นอาทิ แก้วกลางดง (พ.ศ. ๒๕๒๘), ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ. ๒๕๒๙), ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), สะพานรักสารสิน (พ.ศ. ๒๕๓๐), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), บุญชู ผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

รับบทอาภา อาชีพออกแบบหนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ กำลังเกี้ยวพาเจ้านายเพื่อให้ได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เวลาอยู่บ้านกับลูกๆ ค่อนข้างเจ้ากี้เจ้าการ ชอบบีบบังคับออกคำสั่ง ไม่ได้สนใจใยดีอะไรมากนัก ขณะที่กับสามี แค่พบเจอหน้าก็มีเรื่องให้หงุดหงิดหัวเสีย คงเพราะความแตกต่างตรงกันข้ามของทั้งสอง แทนที่จะเติมเต็มกลับสร้างความเหนื่อยหน่ายให้กันและกัน

เป็นการพลิกบทบาทของจินตหรา ปกติเห็นแต่ตัวละครซื่อๆ บ้องๆ มีความน่าหยิกแก้ม แต่ครานี้หน้าบึ้งตึงคิ้วขมวดตั้งแต่ฉากแรก ก็ต้องยอมรับว่าทำออกมาได้ดี แค่เคมีเวลาทะเลาะกับพี่หนุ่มมันไม่ใช่อ่ะนะ คือผมไม่เชื่อว่าคนนิสัยน่ารักๆแบบทั้งสองจะสามารถโกรธเกลียดกันได้ลงคอ

ปัญหาที่ผมพบเจอของ สันติสุข-จินตหรา คือการติดตาภาพลักษณ์คู่ขวัญจากบุญชูผู้น่ารัก (และเรื่องอื่นๆในคอลเลคชั่น) พวกเขาเล่นแง่เล่นงอนกันได้ดีมีความน่ารักน่าชัง แต่ไม่ใช่เกลียดตัวเข้าไส้แบบนี้ ยิ่งฉากที่ทั้งสองทะเลาะโต้เถียงขึ้นเสียง มันไม่มีอะไรในกอไผ่ที่เป็นแรงผลักดันจากภายในเลยด้วยซ้ำ นั่นอาจเพราะหนังไม่นำเสนอสาเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเลิกรักร้างราต่อกัน เลยเป็นการยากเกินที่ใครจะรับรู้สึกถึงความขัดแย้งภายในของทั้งสองได้

สำหรับสองนักแสดงเด็กขอพูดถึงคร่าวๆแล้วกัน (เพราะหาประวัติของพวกเขาไม่ได้)

มาตัง จันทรานี รับบทพี่สาวคนโต โอ๋ คงต้องถือว่ามีอายุมากพอจะเริ่มเข้าใจอะไรๆหลายอย่างได้ด้วยตนเอง (น้องทั้งสองยังเล็กไร้เดียงสาเกินเข้าใจ แต่ก็ยินยอมตามพี่ไปทุกหนแห่ง) เต็มไปด้วยความผิดหวังต่อแม่ ในความเข้าใจของเธอคือเลิกกับพ่อเพราะคบชู้ผู้ชายคนใหม่ ตัดสินใจออกจากแฟลตตามหาพ่อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องไปให้ถึงพบเจอ นั่นคือบ้านหลังเดียวในชีวิต, การแสดงของน้องมาตัง ให้เกรดคง 4 ดาว มีความเป็นธรรมชาติ สายตารวดร้าวทุกข์ระทม คิดว่าถ้าอยู่ต่อในวงการคงได้โด่งดังค้างฟ้าแน่ๆ

รณรงค์ บูรณัติ รับบทนกแล เด็กจรจัดไร้บ้านไร้ครอบครัว ถือเป็นหัวโจ๊กที่รู้จักทางหนีทีไล่ทันรอบเมืองกรุง ทำงานเป็นเด็กส่งของ (ยาเสพติด) เอาตัวรอดจากการถูกตำรวจซิวได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็ทำของหายแล้วพบเจออยู่ในตะกร้าเด็กของโอ๋ จึงแอบขึ้นรถไฟตั้งใจจะลงลพบุรีกลับเพลินเลยไปถึงลำปาง รับรู้ตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้โอ๋ถูกขายให้แม่เล้า เลยตั้งใจแน่วแน่จะช่วยเหลือ แม้อาจทำให้ชีวิตต้องตกอยู่ในอันตรายก็ตามที, การแสดงของรณรงค์ ถึงดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าน้องมาตัง แต่บทส่งให้ราวกับเป็นพระเอกที่พึ่งพาได้ (และไม่ได้) จิตใจดีงามชอบช่วยเหลือผู้อื่น ดูแล้วก็คงไม่ได้อยากจรจัด แต่ชีวิตเลือกไม่ได้จะให้ทำยังไง ระหว่างถูกขังล้อมรอบด้วยกำแพงกับอิสระภายนอก ไม่ต้องคิดเลยละมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น

แซว: เด็กวัยขนาดนี้ยังไม่รู้เรื่องความรักหรอกนะ แต่เคมีของทั้งสองสังเกตจากการจับจ้องมอง สายตา และเหตุผลที่นกแลช่วยเหลือโอ๋ อาก้องคงแอบแฝงใส่เพื่อให้ดูมีความน่ารักกุ๊กกิ๊ก ชวนให้จิ้นฟินเป็นทิวแถว

ถ่ายภาพโดยวันชัย เล่งอิ้ว และวิเชียร เรืองวิชญกุล, เนื่องจากฉบับที่ผมได้รับชมไม่ใช่ในโรงภาพยนตร์หรือ Remaster คุณภาพเสื่อมถอยลงไปตามกาลเวลา จึงขอกล่าวถึงไดเรคชั่นของการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวแล้วกัน

การเล่านิทานของพ่อจะมีลูกเล่นคือใช้ภาพเงา (Silhouette) ตัดกระดาษเป็นรูปตัวละครต่างๆ ส่องกับแสงไฟเห็นเป็นเงาปรากฎขึ้นบนฉาก, นัยยะของการใช้ภาพเงา คงต้องการนำเสนอด้านมืดของเรื่องราว/สังคม (ที่เป็นภาพเงาปรากฎขึ้นบนฉาก) ที่ไม่ได้สดใสสวยงามดั่งเทพนิยาย แต่ก็ใช่ว่าเจ้าชายขี่ม้าขาวจะไม่มีจริง, ตอนที่เด็กหญิงโอ๋ ใช้แสงไฟจากไหนไม่รู้ เล่านิทานตอนสุดท้ายให้น้องๆ และเพื่อนจรจัดได้รับฟัง ช็อตย้อนแสงขณะกางกระดาษรูปมนุษย์ออก (ช็อตเดียวกับภาพโปสเตอร์) ต้องถือว่าสวยงามที่สุดในหนังแล้ว

เต่าชื่อนินจา อาศัยอยู่ในบ่อน้ำข้างๆบ้าน ด้วยรักและเป็นห่วงเลยนำติดตัวมาที่แฟลตด้วย แต่ก็ถูกแม่สั่งให้ไปปล่อย กระนั้นพี่สาวนำกลับคืนมาให้น้องชาย กลับไปอยู่บ้านเก่าแล้วกันปลอดภัยกว่า, ปกติแล้วเต่าเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ความเฉลียวฉลาด ขณะเดียวกันก็เชื่อยชาช้า (แต่มั่นคง) แต่คิดว่าหนังคงต้องการสื่อถึงความต้องการของเด็กๆ (แม่ให้เอาไปทิ้ง เพราะไม่ต้องการรับฟังความต้องการของพวกเขา)

รถไฟเป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่มักใช้เปรียบการเดินทางของชีวิต ที่มีจุดเริ่มต้น (กรุงเทพฯ) และเป้าหมาย (เชียงใหม่) เคลื่อนไปบนรางเป็นเส้นตรง ก็เหมือนการที่เด็กๆ มักถูกกำหนดกฎกรอบ(โดยผู้ใหญ่)ให้ต้องเดินไปตามทิศทางนั้น แต่ชีวิตหลายครั้งก็มักไปไม่ถึงเป้าหมาย มีเหตุให้หลับเลยสถานี หรือต้องลงกลางทางก่อนถึงเป้าหมาย

ฉากถัดมา หลังจากเด็กๆถูกแก๊งขโมยเด็กลักพาตัว พ่อ-แม่ ขับรถติดตามไม่ทัน พวกเขากำลัง’หลงทาง’กับชีวิต เพราะนั่นไม่ใช่เส้นทางที่ตนเองเป็นผู้กำหนดให้ลูกๆต้องเดินตาม

ท่ามกลางกองเพลิงที่กำลังลุกไหม้โชติช่วง (ผมเห็นแต่เอ็ฟเฟ็กควันนะ แทบไม่เห็นเพลิงไหม้สักนิด … ก็แน่ละจะให้สมจริงขนาดเผาตึกกันเลยเหรอ!) แม้พ่อ-แม่ จะได้พบเจอลูกชายคนเล็กทั้งสองแล้ว แต่น้องโอ๋คนโตยังคงหายตัวไป หลงคิดว่าอาจยังติดอยู่ในตึกหลังนั้น ทั้งสองต่างบุกบ่าฝ่าดงไม่กลัวตายเข้าไปในขุมนรกโลกันต์ สุดท้ายเกือบถอดใจแต่ก็ได้ตกลงกันกลับบ้านเก่าหลังเก่า และรับรู้ว่าเด็กหญิงโตพอที่จะค้นพบหนทางกลับบ้านได้ด้วยตนเองแล้ว

ฉากจบของหนัง ในสถานรับเลี้ยงดูเด็ก(กำพร้า) โอ๋และครอบครัวต้องการแสดงความขอบคุณต่อนกแล แต่เขาก็เหมือนชื่อต้องการอิสระโผโบยบิน กำลังหลบหนีสู่โลกภายนอก ต่อให้เด็กหญิงร้องเรียก ‘อย่าไป’ เด็กชายก็ได้แค่หันหลังมามอง, นี่เป็นฉากสะเทือนใจอย่างยิ่ง สื่อถึงปัญหาต่างๆที่หนังนำเสนอมา มันคงไม่มีทางหมดสิ้นหายไปจากสังคมแน่ๆ ถึงแม่มด/แม้เล้า คนหนึ่งจะถูกจับจากไป แต่ก็ยังมีหลงเหลืออีกมาก เด็กจรจัดก็เช่นกัน

ตัดต่อโดยพูนศักดิ์ อุทัยพันธ์, เรื่องราวไม่ได้ใช้มุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่จะเยอะหน่อยกับเรื่องราวของเด็กๆ เพราะต้องออกเดินทางผจญภัย พบเจอโน่นนี่นั่น ศัตรู-เพื่อนใหม่ เปิดโลกทัศน์ชีวิต ต่อสู้เอาชนะ เพื่อหาทางกลับบ้าน

เอะ: ว่าไปแนวคิดของหนังใกล้เคียงกับ The Wizard of Oz (1939) อยู่พอสมควรเลยนะ

ตั้งแต่เด็กๆหนีออกจากบ้าน จะมีการตัดสลับเรื่องราวของพวกเขากับพ่อ-แม่ ที่เต็มไปด้วยความร้อนรน ทุกข์ทรมาน พยายามดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่าง นี่เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าพวกเขามิสามารถอยู่นิ่งเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้

เพลงประกอบโดยดนู ฮันตระกูล คีตศิลป์ ครูเพลงระดับตำนานของเมืองไทย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนดนตรีศศิลิยะ และวงดนตรีไหมไทย ที่นำเพลงไทยเดิม ลูกกรุง หรือที่แต่งขึ้นใหม่ มาเรียบเรียงเพื่อเล่นกับวงออร์เคสตรา

เสียงเครื่องดนตรีที่จะได้ยินบ่อยๆคือ คาริเน็ต ครั้งแรกตอนที่แม่อาภาเข้ามาในบ้าน ตำหนิต่อว่าพ่อและลูกๆที่ไม่ยอมนอน เสียงเครื่องเป่านี้ดังขึ้นอย่างโหยหวน เต็มไปด้วยรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ แอบแฝงนัยยะว่ามันต้องมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นกับครอบครัวนี้อย่างแน่นอน, ซึ่งครั้งอื่นๆที่จะได้ยินเสียงคาริเน็ต ล้วนเป็นช่วงเวลาที่ภายในจิตใจของตัวละครมีความทุกข์ทรมานรวดร้าว อาทิ พ่อ-แม่ รอข่าวลูกๆอยู่ที่โรงพัก, เด็กๆอาศัยอยู่ในตึกร้าง รอคอยวันเวลาค่ำคืนให้ผ่านไป ฯ

บทเพลง Ending Credit ใครหนอ แต่งโดยศิลปินแห่งชาติ สุรพล โกณวนิก ต้นฉบับขับร้องโดยสวลี ผกาพันธุ์ วางแผงปี พ.ศ. ๒๔๙๘, การเลือกบทเพลงชาติวันพ่อ-แม่นี้ปิดท้ายหนัง ผมว่ามันสะท้อนมุมมองของหนังผิดไปหน่อยนะ คือต้นเรื่องพ่อ-แม่เลิกรากัน ลูกๆไม่พึงพอใจจึงหนีออกจากบ้าน แม้จะพยายามทำทุกสิ่งอย่างให้ค้นหาพบเจอ แต่สุดท้ายก็เป็นเด็กๆไม่ใช่หรือที่แก้ปัญหาเอาตัวรอดกันเอง แล้วสุดท้ายกลับเลือกเพลงยกย่องเทิดทูนคุณความดีของพ่อ-แม่ มันอะไรกันเนี่ย!

เราสามารถเปรียบนิทานเรื่องที่พ่อเล่า ได้กับตัวละคร/สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในหนัง
– แม่มดใจร้าย เทียบได้คือแม่เล้า ที่พยายามเสกเด็กหญิงให้กลายเป็นสัตว์โสเภณี
– ยักษ์ตาเดียว ก็คือหัวหน้าแก๊งค์ลักเด็ก ตอนแรกก็มีอยู่สองตา แต่เหมือนจะโดนอะไรไปสักอย่างเลยต้องปิดตาเหนือเพียงข้างเดียว
– ส่วนเจ้าชายใช้ดาบกวัดแกว่ง … เป็นยังไงก็ไปลุ้นดูเองแล้วกัน
ฯลฯ

การเปรียบเทียบเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น กับเรื่องเล่ากาลครั้งหนึ่ง คงเป็นความตั้งใจพื่อลดความรุนแรงของหนังลง ให้มันราวกับเป็นการนอนหลับฝัน ตื่นขึ้นมาทุกสิ่งอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ ก็ด้วยเหตุนี้ตอนเมื่อพบเจอพี่โอ๋ เธออยู่ในสภาพนอนขดอยู่ข้างบ้าน ได้รับการปลุกให้ตื่นจากฝันร้าย

แต่ใจความสำคัญที่อาก้อง ต้องการนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ มุ่งเน้นเป็นนิทานสอนผู้ใหญ่เสียมากกว่า สถาบันครอบครัวถือว่ามีบทบาทความสำคัญมากๆต่อเยาวชน ลูกหลาน คนรุ่นใหม่ ถ้ามัวแต่ปล่อยปละละเลยเพิกเฉย สนแต่กิเลสตัณหาความต้องการพึงพอใจส่วนตนเพียงหน่ายเดียว เช่นนั้นอนาคตของพวกเขา สังคม ประเทศชาติ มันจะดีไปได้เช่นไร

ก็ยังดีที่พ่อ-แม่ ในหนังเรื่องนี้ มีความรักลูกๆยิ่งกว่าสิ่งใด เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักพา-หายตัว เกิดอาการทองรู้ร้อน รีบดิ้นรนติดตามทำทุกสิ่งอย่าง แม้พวกเขาจะยังมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่เมื่อความเสียสละทุ่มเทของพ่อประจักษ์ในสายตาแม่ (ขณะวิ่งเข้าไปในตึกไฟไหม้ ทั้งๆก็ไม่ใช่ความจำเป็นเลย แต่ก็ทำให้เธอพบเห็นว่า ชายคนนี้รักลูกๆของตนจริงๆ ไม่ได้พูดเล่นๆ) ความประณีประณอม ยินยอมให้อภัย และโอกาสจึงบังเกิด สุดท้ายลงเอยด้วย Happy Ending ทั้งสองยินยอมกลับมาคืนดีกัน … แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้แน่

บ้านคือสิ่งสัญลักษณ์สุดท้ายของหนัง มีความหมายทั้งรูปธรรมและนามธรรม สถานที่สังคมแรกของมนุษย์ ปู่-ย่า พ่อ-แม่ ลูก-หลาน อาศัยร่วมกันพึ่งพักพิง มีความรักปรองดองสามัคคี อยู่แล้วอบอุ่นสุขใจ, เป้าหมายของเด็กๆคือการออกเดินทาง ผจญภัย เพื่อค้นหาทางกลับบ้าน สถานที่ในอุดมคติของพวกเขาที่ก็ไม่รู้หลงเหลือคงอยู่หรือเปล่า แต่ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาแรงกล้า มันยังคงต้องมีอยู่จริง

กับคนไร้บ้าน ไร้ครอบครัว ชีวิตของพวกเขาก็มักจะขาดความสุข อบอุ่น มั่นคงปลอดภัย ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน คุณธรรมจริยธรรมประจำใจมักไม่ค่อยมี นี่ถือเป็นปัญหาสังคมที่คนโฉดชั่วคอรัปชั่นมักใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งเมื่อบุคคลเหล่านี้เพิ่มปริมาณมากขึ้นโดยไม่ได้รับการจัดการแก้ไข ประเทศชาติก็จะไร้ซึ่งเสถียรภาพ ขาดความมั่นคงปลอดภัย เต็มไปด้วยอันธพาล อันตรายทุกย่างก้าว ไม่ได้มีความน่าอาศัยอยู่เลยสักนิด

“ซึ่งบ้านในกาลครั้งหนึ่งฯ มันก็คือบ้านสมมติ ที่เป็นตัวแทนของบ้านอีกมากมาย ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ”

มันเป็นสิ่งสะท้อนกันและกันเลยนะครับระหว่าง บ้าน/สถาบันครอบครัว กับ ชุมชน/ประเทศชาติ
– บ้านที่ทุกคนอาศัยอยู่พร้อมหน้า รักใคร่สมานฉันท์กลมเกลียว = ประเทศชาติเจริญรุดหน้า ประชาชนมีความสงบสุขสันติ
– บ้านที่เต็มไปด้วยขัดแย้ง พ่อแม่เลิกร้างลา ลูกๆเก็บสะสมความอัดอั้นตันใจในชีวิต = สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งคอรัปชั่น ประท้วง รัฐประหาร ไร้ซึ่งเสถียรภาพการปกครอง ประชาชนมีความอึดอัด คับข้องแค้น ไร้ซึ่่งความสุข แบบนี้ประเทศชาติก็มีแต่จะถอยหลังลงคลอง ตกต่ำลงเรื่อยๆ

ด้วยทุนสร้างตั้งต้น ๑๐ ล้านบาท ก็ไม่รู้บานปลายไปถึงเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสถิติภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดขณะนั้น ๕๕ ล้านบาท ถือว่าทุนสร้างระดับ Blockbuster, น่าเสียดายไม่ได้รายงานตัวเลขรายรับ แค่บอกว่าขาดทุนย่อยยับ

คว้า ๖ รางวัล สุพรรณหงส์ (แต่ไม่ได้เข้าชิงใดๆของ พระสุรัสวดี และชมรมวิจารณ์บันเทิง)

  • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
  • ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
  • ดารานำฝ่ายชายยอดเยี่ยม (สันติสุข พรหมศิริ)
  • ดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (จินตหรา สุขพัฒน์) [จินตหราคว้ารางวัลนี้จาก อำแดงเหมือนกับนายริด]
  • ดาราประกอบชายยอดเยี่ยม (ด.ช. รณรงค์ บูรณัติ) ** คว้ารางวัล
  • ดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (ด.ญ.มาตัง จันทรานี)
  • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
  • ลำดับภาพยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
  • บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล

มีสองสิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบประทับใจอย่างยิ่ง
– นิทานก่อนนอนของพ่อที่กลับกลายเป็น ‘เรื่องจริงยิ่งกว่าอิงนิยาย’ คือผมคาดเดาได้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันต้องสะท้อนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อไป (ตอนแรกคิดว่าแม่มดผู้ชั่วร้าย คือแม่อาภาด้วยซ้ำนะ) ซึ่งการจงใจไม่เล่าเรื่องให้จบตั้งแต่แรก ก็เพื่อไม่รีบเฉลยไคลน์แม็กซ์ของหนัง อยากรู้ก็ต้องติดตามต่อไป
– และการเดินทางบนรถไฟ เพราะจากดราม่าเข้มๆเครียดๆในช่วงแรก นี่ถือเป็นจังหวะผ่อนคลายแรกที่ผมได้หลุดหัวเราะอย่างสำราญใจ ก็พอคาดเดาได้ว่าคงไปไม่ถึงเชียงใหม่กันหรอก แต่ไม่คิดว่าจะขับรถกินลมไปถึงลำปางเลยเหรอ ไกลนะเว้ยเห้ย!

เพราะรู้ว่าเป็นหนังของอาก้อง มันเลยไม่มีพิษมีภัยแม้เด็กหญิงจะถูกนำเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโสเภณีเด็ก แต่บอกตามตรงผม Prefer ได้ให้เธอเสียตัวจริงๆเลยนะ ก็ลองคิดดูว่าถ้าพ่อ-แม่/ผู้ชมรับรู้เห็นเช่นนั้น จะสร้างความตื่นตระหนัก ช็อค! ได้มากน้อยแค่ไหน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับหนุ่ม-สาว ที่คิดอยากร่วมรัก, สามี-ภรรยา ที่คิดจะมีลูก, พ่อ-แม่ ที่กำลังคิดว่าจะหย่า ก็น่าจะรู้กันดีว่าบุตรคือภาระขนาดไหน ก่อนจะมีต้องถามตัวเองว่าพร้อมไหม พอมีแล้วก็ต้องเลิกเห็นแก่ตัว อย่าผลักไสภาระของตนเองให้กลายเป็นปัญหาสังคม เพราะชีวิตคุณหลังจากนั้น เชื่อเถอะไม่มีทางพบสิ่งดีๆมีความสุขหลังจากนั้นหรอก

โดยเฉพาะคอหนัง Drama, Feel Good, สะท้อนปัญหาสังคม ครอบครัว และเด็ก, อยากเห็นเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙, แฟนๆผู้กำกับบัณฑิต ฤทธิ์ถกล, คู่ขวัญ สันติสุข พรหมศิริ, จินตรา สุขพัฒน์ ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความเห็นแก่ตัวของพ่อ-แม่

TAGLINE | “กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ทำให้คนไทยตื่นเช้าขึ้นมาด้วยสภาพสุขสดใส”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: