ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘) : เปี๊ยก โปสเตอร์ ♥♥♥♥♥
ทุกภาพวาดมีเบื้องหลังเรื่องราวซ่อนเร้นอยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับหม่อมราชวงศ์กีรติ (นาถยา แดงบุหงา) สาวงามวัยกว่าสามสิบ ที่ได้แต่งงานร่วมชีวิตกับชายสูงวัยใกล้ฝั่ง กระตุ้นต่อมอยากฟังของนักศึกษาหนุ่ม นพพร (อำพล ลำพูน) เพราะเหตุใด ทำไม ตกหลุมรักกันตอนไหน?, แม้ทั้งเรื่องจะมีเพียงบทพูดสนทนา แต่ด้วยไดเรคชั่นลีลาอันลุ่มลึกล้ำของ เปี๊ยก โปสเตอร์ หลบซ่อนความคลุ้มคลั่งอยู่ภายใต้ กลายเป็นอีกหนึ่งโคตรผลงาน Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์ไทย “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“อาจเป็นเพียงภาพที่ใครต่างมองข้ามไป มีแค่เราเข้าใจเรื่องราวข้างใน จะจดจำไว้จนวันตาย”
ข้างหลังภาพ เป็นภาพยนตร์ที่จะนำพาผู้ชมหลุดเข้าไปในโลกแห่งความทรงจำเพ้อฝัน เรื่องราวความรักชาย-หญิง ถูกกั้นแบ่งด้วยมายาศักดินาชนชั้น อึดอัดคลุ้มคลั่งแต่จำต้องยับยั้งอดกลั้นฝืนทน กาลเวลาเคลื่อนผ่านหนึ่งคนหมดสิ้นศรัทธาความรู้สึก ตรงกันข้ามอีกฝ่ายกลับเพิ่งเริ่มต้นเข้าใจ สุดท้ายเมื่อต่างไม่เหลืออะไรตรงกัน เลยเกิดเป็นโศกนาฎกรรมคราบน้ำตา
ถึงผมจะเพิ่งมีโอกาสรับชม ข้างหลังภาพ เป็นครั้งแรก แต่สามารถคาดการณ์ความอมตะเหนือกาลเวลา คล้ายคลึงกับ La Dolce Vita (1960) และ Before Trilogy วัยวุฒิที่เปลี่ยนแปลง จักทำให้ทัศนคติความเข้าใจต่อหนังแตกต่าง
– กับวัยรุ่นหนุ่มสาว เชื่อเลยว่าส่วนใหญ่คงส่ายหัวไม่เข้าใจ นี่เป็นภาพยนตร์ที่เฉิ่มเชย ภาษาโบราณ ตกยุคล้าสมัย
– พอเติบโตขึ้นมาอีกหน่อย ช่วงวัย ๒๐-๒๙ ปี เริ่มพบเห็นความสวยงามฉาบหน้าของหนุ่ม-สาว เข้าใจเหตุผลหัวอกของนพพร ทำไมเขาถึงครุ่นคิดแสดงออกเช่นนั้น
– ช่วงวัย ๓๐-๔๕ ผู้ใหญ่กลางคนสักหน่อย ที่ส่วนใหญ่คงแต่งงานมีครอบครัวกันแล้ว ประสบการณ์ชีวิตจักทำให้คุณเริ่มเข้าใจ คุณหญิงกีรติ ทำไมเธอถึงเป็นผู้หญิงเช่นนี้ และสามารถจับต้องสิ่งนามธรรมของหนังมากขึ้น
– ผู้ใหญ่ตอนปลาย ๔๖-๖๐ คงเริ่มเห็นประเด็นอื่นนอกจากรักๆใคร่ๆ อาทิ การเมือง, มายาคติของผู้หญิงในระบบศักดินา, และเหตุผลของเจ้าคุณอธิการบดี ทำไมถึงใคร่พิศวาสอยากแต่งงานกับคุณหญิงกีรตินัก
แต่ที่เล่ามานี้ยังแค่เพียงเนื้อหน้าหนังเท่านั้นนะครับ เพราะการจะเข้าถึงสาสน์สาระจริงๆของ ข้างหลังภาพ จำต้องศึกษาจากยุคสมัยและตัวตนของผู้แต่ง ศรีบูรพา ชื่อจริง กุหลาบ สายประดิษฐ์ (พ.ศ. ๒๔๔๘ – ๒๕๑๗) นักเขียนชาวไทย เจ้าของวาทะอมตะ ‘ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’
กุหลาบเกิดช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ณ กรุงเทพฯ พ่อเป็นเสมียนทำงานอยู่กรมรถไฟ อาศัยห้องเช่าอยู่แถวๆหัวลำโพง เริ่มเข้าโรงเรียนวัดหัวลำโพง ตามด้วยโรงเรียนทหารเด็ก และจบ ม.๘ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์, พออายุ ๑๗ เริ่มฝึกหัดพิมพ์ดีด ทำหนังสือ เขียนบทกวี เริ่มใช้นามปาก ศรีบูรพา ในงานเขียนชื่อ แถลงการณ์ ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ ทศวารบันเทิง
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ศรีบูรพา รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติ ซึ่งอยู่ในอุปถัมภ์ของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เขียนวิพากย์วิจารณ์ต่อว่ารัฐบาลเผด็จการอย่างจัดจ้านเมามัน ขณะเดียวกันได้รับการส่งเสริมเข้าศึกษาต่อวิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
พ.ศ. ๒๔๗๘, กุหลาบ ได้แต่งงานกับ ชนิด ปริญชาญกล (อาชีพครูและแปลหนังสือ นามปากกาว่า จูเลียต) งานแต่งงานจัดขึ้นที่วังถนนเพลินจิต โดยมีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ รับเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งประทานที่ดินส่วนพระองค์สำหรับปลูกสร้างเรือนหอ
พ.ศ. ๒๔๗๙, จอมพล ป. พิบูลสงคราม เชื้อเชิญหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเมือง เพื่อหวังให้ประชาชาติ ลดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลง ในเดือนพฤษภาคม กุหลาบถือโอกาสลดความขัดแย้งด้วยการเดินทางไปศึกษาดูงานหนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๖ เดือน เมื่อหวนกลับมาก็ไม่ได้รับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เวลาว่างเลยทุ่มให้กับเขียนนิยาย ข้างหลังภาพ และมีการคาดการณ์ว่าตัวละครหญิง หม่อมราชวงศ์กีรติ น่าจะถอดแบบจากหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ น้องสาวของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่เขามีความสนิทสนมมากเป็นพิเศษ
ตีพิมพ์ตอนแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ต่อเนื่องจนจบบทที่ ๑๒ วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึงตอนที่ ม.ร.ว.กีรติ ลาจากนพพรที่ท่าเรือโกเบ เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อครั้นรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักงานนายเทพปรีชา จึงได้แต่งเพิ่มอีก ๗ บท รวมเป็น ๑๙ บท เพิ่มเสริมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อผ้านไปหลายปี
นอกจากเรื่องราวความรักชาย-หญิง ที่น่าเห็นใจใคร่เอ็นดู ภาษาการเขียนยังมีความงดงามในเชิงวรรณศิลป์ (สมัยนี้คงเรียก ภาษาโบราณ) มากด้วยวลีติดปากผู้คนสมัยนั้น ได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มซ้ำถึง ๔๗ ครั้ง และถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมถึงละครเวที ในรูปแบบละครเพลงอีกนับครั้งไม่ถ้วน
เปี๊ยก โปสเตอร์ ชื่อจริง สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๗๕) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ นักเขียนป้ายโฆษณา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ จบมัธยมจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส ปริญญาตรีวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เริ่มทำงานเป็นช่างเขียนอยู่ที่ร้านไพบูลย์การช่าง วาดป้ายโฆษณา ปกนิตยสาร ลงสีโปสเตอร์ในคัทเอาท์ (ถือเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์ของเมืองไทย) ต่อมาเมื่อใบปิดภาพยนตร์เริ่มเฟื่องฟูเลยหันมาเอาดีด้านนี้แทน
เกร็ด: แต่ใบปิดหนังเรื่องนี้ เปี๊ยกไม่ได้วาดนะครับ เป็นผลงานของ ทองดี ภานุมาศ
ด้วยลายเซ็นต์ชื่อในโปสเตอร์ว่าเปี๊ยก จึงกลายเป็นฉายา ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ โด่งดังกับภาพวาดใบปิดหนังไทยยุค 16mm อาทิ เล็บครุฑ (พ.ศ. ๒๕๐๐), แสงสูรย์ (พ.ศ. ๒๕๐๓), ธนูทอง (พ.ศ. ๒๕๐๗) ฯ มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงการเพราะต้องไปถ่ายรูปดารา หาข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาเขียนคัทเอาท์และทำใบปิด ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับการคะยั้นคะยอจากเพื่อนอุปถัมภ์คนหนึ่ง (สุชาติ เตชะศรีสุธี) ให้ลองสร้างภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง เจ้าตัวไม่ขัดข้องอะไรแต่ขอว่าต้องไม่ใช่หนังฟีล์ม 16mm อย่างที่ใครๆทำกันในยุคสมัยนั้น เดินทางไปดูงานยัง Daiei Film ประเทศญี่ปุ่นนานถึง ๔-๕ เดือน เรียนจากทีมงานที่เคยเป็นตากล้องอยู่เบื้องหลัง Rashômon (1950) กลับมาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก โทน (พ.ศ. ๒๕๑๓) ออกฉายศาลาเฉลิมไทย ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ทำรายรับถึง ๖ ล้านบาท ได้รับการจับตามองเป็นคลื่นลูกใหม่ (New Wave) ทำให้เปี๊ยกเลือกทิ้งพู่กันหันมาเอาดีด้านนี้แทน
ผลงานเด่นๆ อาทิ ชู้ (พ.ศ ๒๕๑๕), ข้าวนอกนา (พ.ศ. ๒๕๑๘), วัยอลวน (พ.ศ. ๒๕๑๙), เงาะป่า (พ.ศ. ๒๕๒๓), วัยระเริง (พ.ศ. ๒๕๒๗), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘), สะพานรักสารสิน (พ.ศ. ๒๕๓๐), กลิ่นสีและกาวแป้ง (พ.ศ. ๒๕๓๑) ฯ
สำหรับ ข้างหลังภาพ คาดว่าอาเปี๊ยกน่าจะได้แรงบันดาลใจจากละครโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ออกอากาศทางช่อง ๕ นำแสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา รับบท นพพร และ อรัญญา นามวงษ์ รับบท คุณหญิงกีรติ, คงเป็นการดีถ้าจะมีดัดแปลงสร้างภาพยนตร์บ้าง
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย วิศณุศิษย์ (ก็ไม่รู้ใครนะ อาเปี๊ยกเองเลยรึเปล่านะ?) คงไว้ด้วยบทสนทนาจากนิยายแทบทั้งหมด ด้วยเหตุนี้คำพูดของตัวละครจึงมีความโบร่ำโบราณพอสมควร แต่ถือว่างดงามคมคายในตำหรับภาษาไทย
นพพร (อำพล ลำพูน) จับจ้องมองภาพวาดที่ได้รับเป็นของขวัญแต่งงาน หวนระลึกถึงเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้นยังศึกษาร่ำเรียนอยู่ประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสต้อนรับเจ้าคุณอธิการพร้อมภรรยายังสาว หม่อมราชวงศ์กีรติ (นาถยา แดงบุหงา) ซึ่งเขาเป็นผู้นำพาคุณหญิงไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ สนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็น จากความเอ็นดูห่วงใยค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นรักใคร่โหยหา พยายามอย่างยิ่งจะหักห้ามดวงจิตแต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด จนกระทั่งถึงวันขึ้นเรือร่ำลาจาก เธอติดตามสามีกลับประเทศไทย ขณะที่ชายหนุ่มยังคงร่ำเรียนหนังสือหนังหาต่อไปจนกว่าสำเร็จการศึกษา
๖ ปีผ่านไป นพพร เดินทางกลับถึงประเทศไทย รับทราบข่าวการเสียชีวิตของท่านเจ้าคุณ หวนกลับมาพบเจอคุณหญิงกีรติ ที่ก็เฝ้านับวันรอคอยถึงเสมอมา แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อเขาตัดสินใจแต่งงานกับคู่หมั้น ไม่นานนักอาการป่วยเลยทรุดหนัก จนวันสุดท้ายที่ทั้งสองได้พบเจอ เธอก็หมดสิ้นลมจากไปเสียแล้ว หลงหลือไว้เพียงความรู้สึกดีๆ และภาพความหลังที่ทั้งสองได้ร่วมวาดมันขึ้นมา
อำพล ลำพูน ชื่อจริงอำพล ลำกูล (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๖) นักร้องร็อคเกอร์/นักแสดง เป็นคนอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เรียนจบมัธยมเข้ามาศึกษาต่อโรงเรียนอาชีวศิลปศึกษา กรุงเทพฯ ในสาขาวิชาศิลปะ ตอนวัยรุ่นมีความสนใจด้านดนตรี พอเรียนจบปวช. ร่วมกับเพื่อนตั้งวงไมโคร, เข้าสู่วงการโดยเป็นนักแสดงในสังกัดของไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น โดยการชักชวนของผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ รับบทนำ วัยระเริง (พ.ศ. ๒๕๒๗) ประกบวรรษมน วัฒโรดม ตามด้วย น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ที่ได้แจ้งเกิดเต็มตัว คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘), ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ. ๒๕๓๐), ต้องปล้น (พ.ศ. ๒๕๓๔), เสือโจรพันธุ์เสือ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ฯ
รับบท นพพร ช่วงแรกคือชายหนุ่มน้อย ผู้ยังมีความสดใสซื่อ บริสุทธิ์ไร้เดียงสากับชีวิตและความรัก เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ศึกษาต่อยังญี่ปุ่นเพื่อนำวิชาความรู้กลับไปพัฒนาบริหารประเทศชาติ ซึ่งเมื่อมีโอกาสพบเจอรู้จัก หม่อมราชวงศ์กีรติ แทบเรียกว่าตกหลุมรักแรกพบ พยายามครุ่นคิดหาวิธีการได้อยู่ชิดใกล้ พูดอ้อนคำหวานชื่นชมเชย อยากให้เธอรับรู้หัวจิตหัวใจความต้องการของเขา แต่แล้วกลับถูกกัดกันขวาง หยุดเถิดสุดที่รักของฉัน เก็บมันไว้ภายในจิตใจแล้วหลงลืมมันเสีย
วันเดือนปีผ่านไป ความลุ่มร้อนร่านในหัวอกค่อยๆบรรเทา เมื่อมีโอกาสหวนกลับบ้านเก่า แม้จะเร่งรีบมาพบเจอหม่อมราชวงศ์กีรติ แต่ความรู้สึกภายในจิตใจ กลับหลงเหลือเพียงความเป็นเพื่อนสนิทเคยชิดใกล้ มิใช่ปรารถนาใคร่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แถมยังยินยอมรับคำพ่อแม่แต่งงานกับหญิงคู่หมั่น ทอดทิ้งอุดมการณ์ความรักตั้งใจที่เคยมี กลายเป็นลูกผู้ชายเสียสิ้นซึ่งศักดิ์ศรี แค่เศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของคุณหญิงโดยไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่
ทีแรกผมรู้สึกว่า ลักษณะการพูดของ อำพล อ่านออกเสียงจากจดหมาย/บันทึก/นิยาย ราบเรียบไร้มิติสีสันทางอารมณ์และความสมจริง แต่ครุ่นคิดไปมาก็รู้สึกว่าเหมาะสมอยู่ เพราะเรื่องราวเป็นการเล่าย้อนอดีต จากเมื่อตอนที่ตัวละครกลายเป็นคนเฉื่อยชาในความรู้สึก เบื่อหน่ายกับชีวิตและความรัก เลยหวนระลึกด้วยการที่ตนเองวางตัวเป็นกลาง โหยหาแต่ไม่มากความ แม้จะแอบเห็นก้มหน้าร่ำร้องไห้ก็ตามที
นาถยา แดงบุหงา ชื่อจริง นาถยา เบ็ญจศิริวรรณ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๔) อดีตนางแบบ นักแสดง เคยได้รับฉายา ‘เจ้าแม่พรีเซ็นเตอร์’ ปัจจุบันเป็นนักการเมือง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์, เกิดที่กรุงเทพฯ นับถือศาสนาอิสลาม เรียนจบปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จากคำชักชวนของอาจารย์ เริ่มต้นถ่ายแบบ พิธีกรรายการเปิดใจดารา ช่อง ๗ แสดงละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ หย่าเพราะมีชู้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท (พ.ศ. ๒๕๒๙), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๒๙) ฯ
รับบทหม่อมราชวงศ์กีรติ สตรีชนชั้นสูงเติบโตขึ้นอย่างนกในกรง เพราะความที่พ่อห่วงหวงยิ่งกว่าน้องสาวคนไหน เลือกคู่ครองให้คืออธิการบดี ชายสูงวัยที่มากด้วยลาภยศฐาสรรเสริญ ด้วยความผิดหวังในชีวิตจึงครุ่นคิดหักดิบทรมานตัวเองไม่ให้สามารถตกหลุมรักใครอื่น จนกระทั่งได้มาพบเจอ นพพร ชายหนุ่มผู้ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ อายุน้อยกว่าตนเกือบครึ่ง แต่กลับเป็นที่พึ่งเสี้ยมสอนให้เธอเรียนรู้จัก ‘ความรัก’
เก็บเอาความรู้สึกนั้นฝังลึกไว้ภายใน จนกระทั่งถึงวันท่านเจ้าคุณจากไป เหมือนดั่งนกน้อยได้รับโอกาสโบยบินเป็นอิสระ ยินดียิ่งนักเมื่อมีโอกาสหวนเจอพบปะ นพพร แต่แล้วชายหนุ่มกลับเปลี่ยนแปลงไปในทุกสิ่ง ทอดทิ้งคำป้อนหวานที่เคยมอบให้ กลายเป็นร่างเปลือยเปล่าไร้ซึ่งจิตใจ อาการป่วยของเธอนั้นไซร้เลยยิ่งทรุดหนักลง
ทรงผมสั้นหยิกหยองในช่วงครึ่งแรก สะท้อนความสับสนว้าวุ่นวายในชีวิต นี่ฉันเกิดมามีคุณค่าเป้าหมายอะไร? แต่ครึ่งหลังเมื่อกลายเป็นอิสระไร้ซึ่งพันธนาการ รับรู้เสียงเพรียกเรียกร้องหาจากหัวใจ รวบมัดหวีอย่างเรียบร้อย ชัดเจนแน่แน่วต้องความต้องการของตนเอง
ภาพลักษณ์และจริตของนาถยา ผมว่าคงไม่มีนักแสดงคนไหนเหมาะสมกับบทบาทคุณหญิงกีรติ ได้มากกว่านี้อีกแล้ว สมดุลระหว่างใบหน้า ท่วงท่า ลีลาการพูด เต็มเปี่ยมด้วยห้วงแห่งอารมณ์กลั่นออกมาจากภายใน สะท้อนเข้ากับความทรงจำอันมีสีสันของ นพพร แต่งแต้มโลกให้มีความสวยงามสดใส หวนระลึกนึกย้อนกลับไป ไม่มีวันไหนจืดจางลงเลย
เห็นว่าเพราะหนังเรื่องนี้ ทำให้อำพลกล้าๆที่จะจีบนาถยา รักมากถึงขนาดไปร่ำเรียนอิสลาม เตรียมตัวขลิบเปลี่ยนศาสนา แต่วงการมายารักๆอารมณ์ใคร่เป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใคร พี่หนุ่ยไปทำ มาช่า วัฒนพานิช ตั้งครรภ์ ทั้งสองจำต้องเลิกร้างลาแยกจาก กระนั้นพวกเขายังคงเป็นเพื่อนสนิทที่ดีต่อกัน ไม่เคยออกมาให้ข่าวเสียๆหายๆ (ผิดกับ มาช่า กลายเป็นนางมารร้ายฉกชิงแย่งผัวคนอื่น)
ในเครดิตขึ้นว่า กำกับภาพโดย สมบูรณ์สุข, ถ่ายภาพ ร่วมใจ จำเป็น แอบไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร? หนังใช้ฟีล์ม 35mm CinemaScope บันทึกเสียงแบบ Sound-On-Film สถานที่ถ่ายทำก็มีทั้งประเทศญี่ปุ่นและไทย หลายฉากสร้างขึ้นในสตูดิโอ เพื่อให้สามารถควบคุมการจัดแสงสีพื้นหลัง ที่มีความย้อนยุคโบราณได้อีกด้วย
เห็นว่าฟีล์ม Negative ต้นฉบับของหนัง สูญหายไปกว่า ๒๐ ปี เพิ่งได้รับการค้นพบ และไฟว์สตาร์โปรดักชั่น กำลังทำการบูรณะซ่อมแซม Remaster คงอีกสัก ๑-๓ ปี ถึงมีโอกาสได้รับชมในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง
(ไว้ถ้าได้ภาพคุณภาพดีๆมา จะแทรกใส่ให้ใหม่นะครับ)
ช็อตแรกของหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังออกจากผนังสีขาว (นั่นคือข้างหลังภาพ) แล้วนพพร นำภาพวาดที่เพิ่งได้รับมาขึ้นแขวน, ภาพดังกล่าวคือขุนเขา โขดหิน ลำธาร สถานที่คือลำธารน้ำ Mitake (จริงๆคือชื่อเทือกเขา Mount Mitake) ณ อุทยานแห่งชาติ Chichibu-Tama-Kai อยู่ห่างจากโตเกียวไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๗๐ กิโลเมตร
แค่ Opening Credit ก็ถือว่าด้วยลีลาจัดจ้านคมคายยิ่งนัก ใช้เสียงบรรยายความทรงจำ อ่านจดหมายประกอบภาพนิ่ง พร้อมปรากฎขึ้นเครดิตหนัง ความยียวนจะอยู่ที่เสียงพูดมีการอธิบายปฏิกิริยาความรู้สึก แล้วภาพปรากฎขึ้นสามารถเทียบแทนอารมณ์ได้ทุกอย่าง
ไปถ่ายหนังถึงประเทศญี่ปุ่น ถ้าไม่มีการเคารพคารวะปรมาจารย์ผู้กำกับ Yasujirō Ozu ก็กระไรอยู่! ใครคุ้นเคย ‘สไตล์ Ozu’ ย่อมจดจำหลายๆช็อตฉากได้ทันที อาทิ มุมกล้อง, แช่ภาพทิ้งไว้นิ่งๆ ตัวละครเดินเข้าออกผ่านไป, เวลานั่งเสื่อก็ Tatami Shot เห็นใบหน้าทุกคนไม่มีใครซ้อนทับ ฯ
ด้วยความที่หนังมีลักษณะ All-Talk แต่นพพร-คุณหญิงกีรติ ก็แทบไม่พบเห็นนั่งนิ่งอยู่เฉย พวกเขาจะต้องเดินไปคุยไป พายเรือ อยู่บนรถ หรือทำโน่นนี่ไปด้วย แล้วกล้องจะเคลื่อนติดตาม แพนนิ่งซ้าย-ขวา หรือซูม-เข้าออก นี่เพื่อเป็นการสร้างความเคลื่อนไหวให้ภาพ ไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่ายง่วงหลับเร็วเกินไป
แต่ก็มีหลายครั้งที่นพพร-คุณหญิงกีรติ หยุดยืนพูดคุยกัน ซึ่งหนังจะใช้การตัดต่อ Close-Up ใบหน้าสลับกัน นี่ก็เพื่อไม่ให้มีการหยุดนิ่งนานเกิดไป เหตุผลเดียวกับย่อหน้าที่แล้ว
ฉากที่เป็นไฮไลท์ของหนัง อยู่ท่ามกลางป่าเขา Mount Mitake แวบแรกที่เห็นชวนให้ผมระลึกถึงหนังเรื่อง Vertigo (1958) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock เมื่อตัวละครของ James Stewart ขับรถพา Kim Novak มายังอุทยาน Muir Woods National Monument เพื่อให้หญิงสาวชี้นี้วกล่าววลีเด็ดเกี่ยวกับวงปีต้นไม้ จนกลายเป็นตำนานอมตะ, สัมผัสของฉากนี้มีความคล้ายคลึงกันพอสมควร แถมดูแล้วน่าจะถ่ายทำในสตูดิโอเหมือนกันด้วย จัดแสงให้ดูฟุ้งๆราวกับความเพ้อฝัน คงได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อย
การสารภาพคำรักของนพพร ในสถานที่ท่ามกลางป่าดงพงไพร สะท้อนถึงสันชาติญาณพื้นฐาน ธรรมชาติของทุกสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ พูดกลั่นออกมาจากก้นเบื้องส่วนลึกสุดในจิตใจของตนเอง
ในห้องพักโรงแรม สถานที่ส่วนตัวสำหรับบอกร่ำราครั้งสุดท้ายระหว่างนพพร-คุณหญิงกีรติ มุมกล้องช็อตนี้ช่างมีความลึกล้ำยิ่งนัก
– ทิวทัศน์ภายนอกหน้าต่าง ช่างเหมือน ‘ภาพวาด’ ของทะเล-ภูเขา-ท้องฟ้า สิ่งกั้นขวางธรรมชาติความรักระหว่างพวกเขา
– นพพรนั่งอยู่บนเตียง ในทิศทางหันหน้าไปที่หน้าต่าง (ทิศทางเดียวกับที่เขานั่งมองภาพวาด ตอนปัจจุบัน) ขณะที่คุณหญิงกีรติหันเข้าหา เธอกำลังจะกลายเป็นเพียงความทรงจำของเขาในอีกไม่ช้า
– ชุดลายตรงของคุณหญิงกีรติ สะท้อนถึงความซื่อตรงไม่ยอมคดโค้งต่อวิถีสังคม เลือกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแม้ว่ามันจะขัดต่อความรู้สึกต้องการภายในจิตใจ
– ผ้าพันคอ สะท้อนถึงคุณค่าชีวิตของตนเอง, ตอนที่นพพร นำมาเช็ดเท้าของกีรติ หมายถึงชีวิตของเขายินยอมสยบอยู่ภายใต้เธอ ส่วนตอนนี้ในมุมกลับตารปัตร เขาได้นำมันแขวนไว้ติดผนัง (แทนรูปภาพที่ยังไม่ได้) กลายเป็นของแทนหน้าอันสูงส่ง … ครึ่งหลังไม่รู้ผ้าพันคอสูญหายไปไหน เหมือนจะไม่นำกลับเมืองไทยหรือเปล่านะ
ชุดลายจุดกลมของคุณหญิงกีรติ ดูเหมือนดาวดาราบนฟากฟ้า ยากนักที่คนธรรมสามัญอย่างนพพร จะมีโอกาสเอื้อมมือไขว่คว้าสัมผัส สังเกตว่าจะมีการสวมใส่สองครั้ง
– ครั้งแรกคือตอนพบเจอนพพร เมื่อครั้งลงจากรถไฟ เธอเปรียบดั่งนางฟ้าท่ามกลางหมู่ดาว
– ครั้งหลังคือตอนนพพรลงจากเรือสำราญ กลับถึงเมืองไทย เธอกลายเป็นประกายดาวที่ส่องสว่างกว่าใคร
ฉากสนทนาในเรือนไม้แปดเหลี่ยม (คุ้นๆนะ แต่นึกชื่อหนังไม่ออกว่าเคยพบเห็นจากเรื่องไหน) เป็นการสะท้อนถึง ‘มุมมอง’ ทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของทั้งนพพร-คุณหญิงกีรติ ทั้งๆที่ภายนอกมองเรือนไม้นี้ไม่ว่าทิศทางไหนก็ยังคงเหมือนเดิมไม่แตกต่าง แต่จิตใจคนกลับหมุนแปรเปลี่ยนไป
อีกฉากที่เป็นโคตรไฮไลท์ของหนัง ขณะที่นพพรพูดบอกคุณหญิงกีรติ ว่าตนเองกำลังจะแต่งงาน ไดเรคชั่นของฉากนี้ช่างร้ายกาจนัก
– ดอกกุหลาบ สัญลักษณ์แทนความรัก หนามของมันทิ่มแทงนิ้วมือของคุณหญิงเลือดออก แต่นั่นเทียบไม่ได้กับความรวดร้าวภายในจิตใจเมื่อรับทราบข่าวชิ้นดังกล่าว
– เมื่อขณะถูกถามถึงสาเหตุผลของการแต่งงาน นพพรลุกขึ้นยืนแล้วหันหลังให้ เดินตรงไปที่บันไดเหม่อมองล่องลอยออกไป อธิบายความรักเป็นสิ่งยุ่งยากทุกข์ทรมาน กล้องถ่ายมุมเงยขึ้นจากชั่นล่าง สะท้อนถึงความหยิ่งผยองจองหองอวดดีของเขา ทำเป็นเข้าใจแต่กลับโง่งมงายเสียกระไร
– คุณหญิงกีรติ เดินเข้ามายืนอีกขอบด้านหนึ่งของบันได ตำแหน่งทิศทางของพวกเขาตั้งฉากกัน นี่แปลว่ามิอาจสามารถมองตาเข้าใจกันได้อีกต่อไป
– พื้นหลังช็อต Close-Up ใบหน้าคุณหญิงกีรติ มีพื้นหลังภาพวาดที่คล้ายลำธาร Mitake สะท้อนจิตใจของเธอที่ยังคงยึดติดอยู่กับอดีตและวันเวลาเคยอยู่ญี่ปุ่นร่วมกับนพพร ซึ่ง ณ วินาทีนั้น ความฝัน ความต้องการ ทุกสิ่งอย่างของเธอล่มสลายโดยพลัน แปรสภาพหลงเหลือเพียงความทรงจำภาพวาดเท่านั้นเอง
– และช็อตนี้ที่แม้จะเบลอๆแต่ก็พอสังเกตได้ว่า คุณหญิงกีรติที่ยืนตั้งฉากอยู่ด้านหลังหลุดโฟกัสของภาพไป นี่แปลว่านพพรเลิกสนใจในความรักต่อเธอไปหมดสิ้นแล้ว
เมื่อได้รับแจ้งข่าว อาการป่วยของคุณหญิงกีรติทรุดหนัก รีบเร่งเดินทางไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน เสียงนาฬิกาดังติก-ติก ราวกับกำลังนับถอยหลังเวลาชีวิต พอถึงบ้านก็มิอาจระงับสติสวมรองเท้าวิ่งขึ้นบันได พบเห็นผู้อื่นระลึกได้หยุดลงแล้วค่อยๆถอดออก (รองเท้าและหมวก) เดินเข้าไปในห้อง แต่แล้วทุกอย่างก็สายเกินแก้ หยิบอ่านข้อความสุดท้ายเขียนไว้
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”
ลำดับภาพ สยามสตูดิโอ, หนังทั้งเรื่องใช้การเล่าเรื่องแบบย้อนอดีต Flashback จากความทรงจำเพ้อฝันของ นพพร ประกอบด้วยเสียงบรรยายความคิด และอ่านจากข้อความจดหมาย ทั้งหมดคือมุมมองของเขาแต่เพียงผู้เดียว
มีเพียงครั้งเดียวที่หนังใช้ลักษณะของ Flashback ย้อน Flashback เพราะเป็นเรื่องเล่าของคุณหญิงกีรติ บรรยายช่วงชีวิตวัยเด็กและเหตุผลของการแต่งงานกับท่านอธิการบดี ชายสูงวัยที่ตนไม่เคยพบเจอจะตกหลุมรักได้เช่นไร
แบ่งง่ายๆออกเป็นสององก์
– ครึ่งแรก ดำเนินเรื่องที่ญี่ปุ่น นพพรตกหลุมรักแรกพบคุณหญิงกีรติ แต่มิอาจแสดงออกซึ่งความรัก เก็บกดความอัดอั้นทุกข์ทรมานไว้เต็มอก
– ครึ่งหลัง กลับมาประเทศไทย อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไป จากเคยรักมากเป็นไม่รู้สึกอะไร ขณะที่คนเคยมิอาจแสดงออก กลับโหยหาต้องการ
ช่วงรอยต่อระหว่างครึ่งแรกครึ่งหลัง เพื่อรวบรัดการดำเนินเรื่อง ใช้เทคนิคคลาสสิก Cross-Cutting พบเห็นฤดูกาลเคลื่อนผ่าน ร้อน->ฝน->หิมะตก และขณะออกเดินทางกลับโดยเรือ จะมีแทรกภาพนกนางแอ่น (มั่งนะ) กำลังโผลบินจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง
เพลงประกอบในเครดิตขึ้นว่า เศกสรร สอนอิ่มศาสตร์ แต่บางครั้งจะใช้ชื่อ ดุ่ย ณ บางน้อย หรือ อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ นักประพันธ์เพลงโฆษณา, อดีตนักจัดรายการวิทยุ ขุยโขมงหกโมงเช้า (จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๕๖) ผลงานเด่นๆ อาทิ ชีวิตบัดซบ (พ.ศ. ๒๕๒๐), เมืองในหมอก (พ.ศ. ๒๕๒๑), หลวงตา (พ.ศ. ๒๕๒๓)** คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์, สันติ – วีณา (พ.ศ. ๒๕๑๙), เพลงรักบ้านนา (๒๕๒๐), เทพเจ้าบ้านบางปูน (พ.ศ. ๒๕๒๓), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ฯ
หนังใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น อาทิ Koto (พิณ) และน่าจะ Shakuhachi (ขลุ่ยไม้ไผ่) ให้สัมผัสที่โหยหวน ล่องลอย เจ็บปวด รวดร้าวทุกข์ทรมานไปถึงขั้วของหัวใจ, บางครั้งก็จะผสมผสานดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยเข้าไปด้วย เช่นตอนนพพร พาคุณหญิงกีรติหลงทาง เสียงกลอง (Tsuzumi) ประสานกับคีย์บอร์ด/อิเล็กโทน
เพลงไทยก็มีนะ ฉากแต่งงานจัดวงเครื่องสายเดี่ยว ประกอบด้วย จะเข้ ซออู้ ซอด้วย โทน-รำมะนา ฉิ่ง (จริงๆขาดขลุ่ยเพียงออ ไปอย่างหนึ่ง)
เคยได้ยินคำคมนี้กันไหมเอ่ย ‘ผู้ชายเริ่มรักจากร้อยค่อยๆลดลงจนสิ้นศูนย์ ตรงกันข้ามกับผู้หญิงศูนย์รักเพิ่มขึ้นจนถึงเต็มร้อย’ สอดคล้องกับวลีหนึ่งในหนังที่ว่า ‘ความรักของเธอเกิดที่นั่นและก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์ในร่างที่กำลังจะแตกดับ’
– ครึ่งแรก: นพพร ตกหลุมรักน่าจะตั้งแต่แรกพบ หม่อมราชวงศ์กีรติ พยายามพูดบอกแสดงออกความรู้สึก โอบกอดจูบแต่ถูกผลักไสส่ง ฉันแต่งงานอยู่แล้วทำเช่นนั้นสังคมคงยินยอมรับมิได้ ขอให้เก็บกดหักห้ามตัดใจจากฉันเสียเถอะนะคนดี
– ครึ่งหลัง: กาลเวลาเคลื่อนเลยผ่านไปนานหลายปี นพพร หมดสิ้นแล้วซึ่งความรู้สึกโหยหา ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ หลังสามีวายชีพม้วยมรณา เฝ้าตั้งตารอคอยวันเวลาหวนกลับมาพบเจอ
วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย มักมีอาการที่ปอด บริเวณใกล้หัวใจ สมัยก่อนน่าจะพอรักษาให้หายขาดได้ แต่หม่อมราชวงศ์กีรติ กลับอาการทรุดหนักลง นี่คงเรียกว่าไข้ใจเสียมากกว่า เพราะมิอาจได้ครองคู่อยู่รักร่วมกับชายที่ตนเฝ้าใฝ่ฝัน ยิ่งเมื่อเขากำลังจะแต่งงานครองคู่รักใหม่ ชีวิตฉันคงไม่เหลือคุณค่าอะไร ตายจากไปวันนี้สิ้นความทุกข์ทรมาน
ในแง่ของการตีความ นิยายเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นการสะท้อนทัศนคติทางการเมืองของ ศรีบูรพา ในสองช่วงเวลา
– หม่อมราชวงศ์กีรติ ตัวแทนมายาคติของผู้หญิงในระบบศักดินา ถึงจะมีความงาม เฉลียวฉลาด รอบรู้ แต่ถูกปลูกฝังให้เป็นเพียงข้าทาสของบุรุษ ต้องคอยก้มหัวทำตามคำสั่ง ผู้ชายคือเจ้านายชีวิต สะท้อนเข้ากับยุคสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ประชาชนต้องก้มหัวให้กับกษัตริย์ ขุนนาง ข้าราชบริพาร มิอาจลืมตาอ้าปากหายใจได้ด้วยความประสงค์ของตนเอง, ขณะที่ นพพร นักศึกษาหนุ่มนอก ผู้มีความจงรักภักดีในหม่อมราชวงศ์กีรติ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจเธอแบบไม่สนกฎกรอบเกณฑ์ข้อบังคับ มองเป็นเรื่องสามัญธรรมชาติของทุกสิ่งมีชีวิต คือตัวแทนวัยรุ่นหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า กล้าครุ่นคิด-เพ้อฝัน-ทำอะไรนอกเหนือขัดแย้งต่อบริบทของสังคมที่มีมานานนมตั้งแต่สมัยโบร่ำราณกาล
– ครึ่งหลังของเรื่องราว เทียบเท่าภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕, เมื่อหม่อมราชวงศ์กีรติ ได้รับอิสรภาพจากสามีผู้ม้วยมรณา ทำให้มีสิทธิ์ที่จะทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจประชาชน แต่สำหรับ นพพร กลับกลายเป็นสูญเสียสิ้นความเชื่อมั่น รักในตัวเธอ(ประเทศไทย) แต่งงานกับหญิงสาวที่มั่นหมายไว้ก่อนหน้าแบบไม่รู้สึกใดๆ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเป็นไป
เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆได้ว่า นพพร คือตัวแทนของ ศรีบูรพา ชายหนุ่มผู้มีความโหยหา ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สู่ยุคสมัยใหม่ประชาธิปไตย แต่ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ แค่เพียง ๔ – ๕ ขวบปีผ่านมา แทนที่ประเทศชาติจะมีทิศทางสู่ความรุ่งโรจน์โชติชัชวาลย์ กลับถดถอยหลังลงคูคลองเลวร้ายบัดซบเสียยิ่งกว่าเดิม รัฐบาลออกนโยบายห่าก็อะไรไม่รู้ คดโกงกินคอรัปชั่นยิ่งกว่าเผด็จการ นี่นะหรืออิสรภาพที่เราเคยเอื้อมมือไขว่คว้า ด้วยเหตุนี้ตัวเขาจึงเริ่มมองหารูปแบบการเมืองอื่นๆที่น่าจะดีกว่า (ทัศนะทางการเมืองของ ศรีบูรพา ภายหลังแปรสภาพไปฝักใฝ่ Marxist และบั้นปลายชีวิตขอลี้ภัยในประเทศจีน Communist) ปลดปล่อยอดีตคนรักให้เหลือเพียงความทรงจำภาพวันวาน สักวันอนาคตข้างหน้า เชื่อเถอะว่าถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่ โศกนาฎกรรมความตาย/ประเทศชาติล่มจม ย่อมต้องมาถึงอย่างแน่นอน
สำหรับเปี๊ยก โปสเตอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนรสนิยมความส่วนใจส่วนตนออกมาอย่างมาก
– เพราะอดีตเคยเป็นนักวาด/ออกแบบโปสเตอร์ แน่นอนว่าต้องมีความลุ่มหลงใหลในผลงานศิลปะ
– ทุกภาพวาดมีเบื้องหลังเรื่องราวซ่อนเร้นอยู่ เฉกเช่นเดียวกับทุกภาพยนตร์ ย่อมมีเบื้องหลังการทำงาน พบเจอสุข-ทุกข์ สมหวัง-เศร้าเสียใจ คลุกเคล้าผสมผสานปะปนเป เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านมองย้อนกลับไป ก็ราวกับเรื่องเล่าเทพนิยายเพ้อฝัน
– ใครติดตามผลงานของอาเปี๊ยกอย่างต่อเนื่อง จะพบเห็นความหมกมุ่นในกามราคะพอสมควร ซึ่งข้างหลังภาพ เป็นเรื่องราวของการ ‘เก็บกด’ บีบบังคับจิตใจของตัวละคร แม้ต้องการมากแค่ไหนก็มิสามารถเปิดเผยบอก แสดงออกมาได้
ทำไมบางครั้งมนุษย์ถึงพยายามหลบซ่อน เก็บกดอารมณ์ความรู้สึก/ต้องการของตนเอง? ถ้าตอบในบริบทของ ข้างหลังภาพ เพราะเหตุผลความแตกต่างในฐานะ ชนชั้น ศักดินา ของนพพร-คุณหญิงกีรติ พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งต้องสวมใส่หน้ากากบดบังข้อเท็จจริงไว้ เพื่อให้สามารถมีชีวิต เข้าสังคม ได้รับการยินยอมรับนับถือจากผู้อื่น
แต่ผมจะขอตอบคำถามนี้ในมุมสันชาติญาณของมนุษย์, เหตุที่ต้องเก็บกดหลบซ่อนบางสิ่งอย่างไว้ภายในจิตใจ เพราะความต้องการครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งนั้นแต่เพียงผู้เดียว (ไม่ว่าจะเป็นสิ่งถูกหรือผิด) การเปิดเผยออกมีโอกาสทำให้สูญเสีย เปลี่ยนแปลง หรือล่มสลายพังทลาย ซึ่งบางครั้งความผิดหวังล้มเหลวอาจส่งผลกระทบให้เกิดการสูญเสียจิตวิญญาณ และชีวิตของตนเอง
จำเป็นหรือไม่ที่ต้องหลบซ่อน เก็บกด? อันนี้ผมมองว่าขึ้นอยู่กับทัศนคติของตัวคุณเอง ไม่มีถูก-ผิดหรือคำตอบแน่นอน ใครเป็นพวกอนุรักษ์นิยมหัวโบราณ ก็มักเก็บซ่อนบางสิ่งอย่างไว้ภายในไม่ให้ได้รับการเปิดเผย ขณะที่บรรดาเสรีชน คล้ายๆชนชาติฝั่งตะวันตก อยากคิด-พูด-ทำอะไร จะมามัวยื้อยักชักช้าอยู่ได้ เงี่ยนก็เอา อยากก็ได้ รั้งรีรอประเดี๋ยวแห้วแดกพอดี
นอกจากทำรายได้ถล่มทลาย ความสำเร็จของหนังจากรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี คว้ามา ๒ ตุ๊กตาทอง
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนั้นคือ ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘) กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ถือว่าก็ต้องยอมให้ เป็นสองเรื่องขับเคี่ยวกินกันไม่ลงจริงๆ แถมยังยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาไทยด้วยกันทั้งคู่
น่าเสียดายที่ปีนั้นไม่ได้มีการจัดงานสุพรรณหงส์ทองคำ (มีจัดปี พ.ศ. ๒๕๒๖ แล้วเว้นว้างข้ามไป พ.ศ. ๒๕๒๙) ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าคณะกรรมการคงสลับรางวัลกันให้แน่ แนวโน้มสูงมากที่ ข้างหลังภาพ จะได้รับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีไปครอง!
ความนิยมของ ข้างหลังภาพ ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์อีกครั้ง พ.ศ. ๒๕๔๔ ผลงานสุดท้ายของผู้กำกับ เชิด ทรงศรี นำแสดงโดย ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ รับบท นพพร, คาร่า พลสิทธิ์ รับบท คุณหญิงกีรติ
และสองฉบับละครเวทีที่ต้องพูดถึงเลย
– ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล (พ.ศ. ๒๕๕๑) กำกับการแสดงโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ นำแสดงโดย สุธาสินี พุทธินันท์ รับบท คุณหญิงกีรติ, สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว รับบท นพพร, เปิดทำการแสดงระหว่างวันที่ ๒๑ สิงหาคม – ๒๖ ตุลาคม เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๔๙ รอบ ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์
– Waterfall (2015) ละคร Broadway ภาษาอังกฤษโดย Richard Maltby Jr. ดนตรีประกอบโดย David Shire กับ สราวุธ เลิศปัญญานุช, นำแสดงโดย Sierra Boggess, สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว เปิดทำการแสดงระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๒๘ มิถุนายน ณ โรงละคร Pasadena Playhouse, California
ผมมีความลุ่มหลงใหลในความงามทั้งนอก-ในของตัวละคร หม่อมราชวงศ์กีรติ เริ่มต้นด้วยความยึดถือมั่นในมายาศักดินา พยายามหยุดยับยั้งทั้งตนเองและหนุ่มคนรัก เป็นอะไรที่น่ายกย่องนับถือ’กุลสตรี’อย่างมาก, ครึ่งหลังเมื่อพันธนาการร่างกายได้ถูกปลดปล่อย เพ้อวาดฝันทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ แต่พอมิอาจกระทำได้ โลกทั้งใบจึงล่มสลายพังทลาย ความตายคือการอุทิศตนเพื่อความรักอันยิ่งใหญ่แท้
แต่เหตุผลจริงๆที่ ข้างหลังภาพ กลายเป็นหนังโปรดเรื่องใหม่ของผมเอง นั่นเพราะ นาถยา แดงบุหงา ไม่เพียงใบหน้าละม้ายคล้ายสาวหนึ่งที่เคยตกหลุมรักคลั่งไคล้ แถมอุปนิสัย ตัวตน ยังใกล้เคียงกันมากๆ ยิ่งพบเห็นยิ่งเคลิบเคลิ้ม มันทำให้ตอนจบมิอาจกลั้นหลั่งน้ำตา หวนครุ่นคิดคำนึงหา เธอผู้มิสามารถหวนกลับมาพบเจอ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงหนังจะมีลักษณะเหมือนภาพมายาเพ้อฝัน แต่ลึกๆนั้นเสี้ยมสอนให้หนุ่ม-สาว เรียนรู้จักการหยุดยับยั้งช่างใจตนเอง ยุคสมัยนี้วิถีจารีตประเพณี กฎกรอบทางสังคมมักถูกมองข้ามไม่สนใจ แต่หนังก็ทอดทิ้งคำถามไว้ ‘จำเป็นไหมที่มนุษย์ควรทำตามกฎกรอบทางสังคม?’
จัดเรต 13+ แม้มีเพียงบทสนทนา แต่เนื้อหาช่างมีความว้าวุ่นวายใจยิ่งนัก
หนังของเปี๋ยก โปสเตอร์ที่สมควรดู (และรีวิวเพิ่ม) คือ
ได้ดูเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ในโรงฯ ที่หอภาพยนตร์ฯ
ทั้งเนื้อเรื่อง/ภาพ/องค์ประกอบต่างๆ น่าสนใจมาก
ยิ่งเรื่องแก้ว (2523) นี่ยิ่งแนะนำเลย น่าสนใจทั้งเรื่อง…
อะไรหลายๆอย่างยังคงเข้ากับยุคสมัย แม้อะไรหลายๆอย่างก็ล้าสมัยไปบ้างเช่นกัน เช่น ศัพท์วัยรุ่นและการพูดการจาสมัยนั้น มุขตลกช่วงแรกๆ เป็นต้น
โดยเฉพาะฉากและช็อตจบ แล้วเครติตขึ้นตอนท้าย (ส่วนตัวชอบมาก)
สวัสดีครับ เพลงประกอบ เปนผลงานของคุณอาเสกสรร สอนอิ่มสาตร์ครับ ซึ่งเปนนักแต่งเพลง
ส่วนคุณอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ เปนนักจัดรายการวิทยุ ใช้นามว่า ดุ่ย ณ บางน้อย ครับ เปนพี่ชายของคุณอาเสกสรร ครับ