ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
: เชิด ทรงศรี ♥♡
ผลงานเรื่องสุดท้ายของ เชิด ทรงศรี ทำการตีความ ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา ในมุมมองร่วมสมัยใหม่ แต่กลับประดิษฐ์ประดอยจนกระด้างกระเดื่อง เทียบคุณค่าไม่ได้เลยกับฉบับของ เปี๊ยก โปสเตอร์ นอกเสียจากบทเพลงกีรติ ขับร้องโดย สุนิตา ลีติกุล
ทำไมผู้กำกับระดับ เชิด ทรงศรี ถึงตัดสินใจสร้างใหม่ Remake โคตรภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ อารมณ์มันคล้ายๆถ้าใครจะรีเมค Gone With the Wind (1939), The Wizard of Oz (1939), Citizen Kane (1941), The Sound of Music (1965), The Godfather (1972) ฯ ให้ตายเถอะ! เสียสติแตกแล้วหรือไร กล้านำหนังอมตะมาตีความใหม่เพื่อข้ออ้างเพียงแค่ ‘ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสรับชม’ ร้อยทั้งร้อยไม่มีทางทำได้ดีกว่าเดิม
ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘) เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม ในเรื่องคุณภาพ วิธีการนำเสนอเรื่องราว ไดเรคชั่นของผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ เรียกได้ว่าระดับ Masterpiece แห่งสยามประเทศ เอาจริงๆหาความจำเป็นไม่ได้สักนิดสำหรับการ Remake นำมาตีความสร้างใหม่ นอกเสียจากเรื่องของ เงิน, ข้ออ้างเรื่องโอกาส และความเห็นแก่ตัวของผู้สร้าง
ในกรณีของ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ผมมองเหตุผลหลักคือ ‘ความเห็นแก่ตัว’ ของ เชิด ทรงศรี ที่ต้องการทิ้งผลงานสุดท้ายด้วยภาพแห่งความทรงจำ เพื่อให้ชาวไทยและชาวโลก ระลึกจดจำเขาในฐานะบุคคล ข้างหลังภาพ(ยนตร์)
บทความนี้จะไม่ขอตีความ ข้างหลังภาพ ตามต้นฉบับของศรีบูรพา เพราะถือว่าได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วที่หนังฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ มุ่งเน้นในมุมมอง ไดเรคชั่นของ เชิด ทรงศรี เพราะเหตุใด? ทำไม? ถึงเลือกทิ้งทวนผลงานสุดท้ายเรื่องนี้
เชิด ทรงศรี (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๔๙) ครูผู้สร้างภาพยนตร์ ‘ไทยแท้’ คนแรกๆของเมืองไทย เกิดที่นครศรีธรรมราช เรียนจบทำงานเป็นครูที่อุตรดิตถ์ จากนั้นลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ภาพยนตร์และโทรทัศน์’ ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละคร นิยาย และวิจารณ์ภาพยนตร์ วันหนึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ให้กับเมืองไทย ผลงานเรื่องแรก โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙), ผลงานเด่น อาทิ พ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๑๕), แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), เลือดสุพรรณ (พ.ศ. ๒๕๒๔), เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖), พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ฯ
เรื่องราวของ นพพร (ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) เมื่อครั้นยังศึกษาร่ำเรียนอยู่ประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสต้อนร้บเจ้าคุณอธิการบดี (อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา) พร้อมภรรยายังสาว หม่อมราชวงศ์กีรติ (คารา พลสิทธิ์) ซึ่งเขาเป็นผู้นำพาคุณหญิงไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ สนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็น จากความเอ็นดูห่วงใยค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นรักใคร่โหยหา พยายามอย่างยิ่งจะหักห้ามดวงจิตแต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด จนกระทั่งถึงวันขึ้นเรือร่ำลาจาก เธอติดตามสามีกลับประเทศไทย ขณะที่ชายหนุ่มยังคงร่ำเรียนหนังสือหนังหาต่อไปจนกว่าสำเร็จการศึกษา
๖ ปีผ่านไป นพพร เดินทางกลับถึงประเทศไทย รับทราบข่าวการเสียชีวิตของท่านเจ้าคุณ หวนกลับมาพบเจอคุณหญิงกีรติ ที่ก็เฝ้านับวันรอคอยถึงเสมอมา แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อเขาตัดสินใจแต่งงานกับคู่หมั้น ไม่นานนักอาการป่วยเลยทรุดหนัก จนวันสุดท้ายที่ทั้งสองได้พบเจอ เธอก็หมดสิ้นลมจากไปเสียแล้ว หลงหลือไว้เพียงความรู้สึกดีๆ และภาพความหลังที่ทั้งสองได้ร่วมวาดมันขึ้นมา
ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๐) ชื่อเล่น เคน นักแสดงชาวไทย เกิดที่ กรุงเทพฯ พ่อเป็นผู้กำกับ แม่เป็นนักเขียนบทโทรทัศน์ เข้าวงการตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ จากละครที่พ่อสร้าง หกพี่น้อง (พ.ศ. ๒๕๒๘), แต่กว่าจะเริ่มจริงจังก็ตอนโต รับบทรองละคร ซุปเปอร์ลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๔๒), พระเอกครั้งแรก ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ (พ.ศ. ๒๕๔๒), ภาพยนตร์มีผลงานประปราย โกซิกซ์ : โกหก กะล่อน ปลิ้นปล้อน ตอแหล (พ.ศ. ๒๕๔๓), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔), รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ฯ
ครูเชิดให้เคน ตีความ นพพร ในลักษณะแตกต่างกับพี่หนุ่ย อำพล ลำพูน (ที่รับบท นพพร ในฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘) พยายามแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าคำพูด แต่ความที่ยังหน้าใหม่ในวงการ อ่อนด้อยประสบการณ์ กลายเป็นว่าขาดความสมจริง ยักคิ้วหลิ่วตาเป็นว่าเล่น ทื่อเหมือนสากกะเบือ ตาลอยๆดูหื่นกระหายมากกว่าโหยหา ชอบทำปากเบี้ยวบูดบึ้งเวลาไม่พึงพอใจ มองเข้าไปในดวงตาแทบไม่เห็นอะไรภายในจิตวิญญาณ
คาร่า พลสิทธิ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๙) พ่อเป็นคนไทย แม่เป็นชาว New Zealand พออายุได้เดือนเศษย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย เติบโตขึ้นกลับไปเรียนต่อ จบการศึกษาคณะเกษตรกรรม Sydney University เพราะความสูง ๑๗๖ เซนติเมตร ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนให้เป็นนางแบบ มาเยี่ยมพ่อที่เมืองไทย พ.ศ. ๒๕๒๙ ถ่ายแบบกับนิตยสาร ลลนา ต่อด้วยพิธีกร แสดงละคร ภาพยนตร์ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔) สมัยนั้นถือว่าโด่งดังพอสมควร แต่กลับมีเรื่องฟ้องร้องแย่งผัวทำให้ถูกแบนหนึ่งปีเต็ม (ภายหลังรอดพ้นข้อกล่าวหา) เลยห่างหายหน้าจากวงการไปหลายปีทีเดียว
สิ่งสะดุดตาสุดของ คาร่า คือริมฝีปากอันอวบอิ่ม (สีลิปสติกบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร) และลำตัวสูงใหญ่ลูกครึ่ง (สูงกว่าเคน?) สะท้อนความเป็นหญิงไฮโซวัยกลางคน ถามว่าสวยไหม? ผมว่าไม่เท่าไหร่ เทียบกับ นาถยา แดงบุหงา (ที่รับบท หม่อมราชวงศ์กีรติ ในฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘) ใครๆก็บอกได้ว่าแตกต่างตรงกันข้าม งามแบบไทย-ไฮโซอินเตอร์ อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยมชื่นชอบและจินตนาการส่วนตัว
ช่วงขณะเด่นของ คาร่า คือตอนนพพร พูดบอกว่ากำลังจะแต่งงาน สีหน้า สายตา น้ำเสียง เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากเคยเต็มเปี่ยมด้วยความหวังพลันหมดสิ้นแล้วทุกสิ่งอย่าง รวดร้าวทุกข์ทรมานแต่ทำปากแข็งดื้อรั้น ‘ฉันเห็นด้วยกับที่เธอพูดทุกสิ่งอย่าง’ ว่าไปอ่านความรู้สึกภายในง่ายเสียยิ่งกว่า เคน ธีรเดช เสียอีกนะ
แถมให้กับ อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๓) เดิมอ้างว่าเป็นวิศวกรชาวไทย ลูกทีมสร้างระบบลงจอดยานอวกาศไวกิ้งให้องค์กรนาซ่า แต่ภายหลังได้รับการเปิดโปงว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งกระจิดริด ไม่ได้ร่วมครุ่นคิดอะไรกับเขาด้วยซ้ำ ว่าไปแทบไม่ต่างจาก นาธาน โอมาน อุปโหลกลวงโลกแต่กลับมีคนมากมายให้การยกย่องนับถือ
ถ้า ส. อาสนจินดา ยังมีชีวิตอยู่ เชื่อว่าครูเชิด คงต้องมอบบทบาทเจ้าคุณอธิการบดีนี้ให้แน่, สำหรับ อาจอง ชุมสาย ถึงเป็นคนไม่ได้มีฝีไม้ลายมือในการแสดงใดๆ อาจเพราะใบหน้าภาพลักษณ์ ดูมีวิทยฐานะภูมิฐาน จึงได้รับการชักชวนให้รับบท แต่ส่วนตัวมองว่า เป็นการคัดเลือกนักแสดงที่เลวร้ายอย่างยิ่ง แถมถ้าใครล่วงรับรู้เบื้องหลังความจริงของชายคนนี้ รังแต่จะส่ายหัวเบือนหน้าหนี คือส่วนทำให้หนังสูญเสียความน่าเชื่อถือไปโดยสิ้นเชิง
สังเกตการคัดเลือกนักแสดงของหนัง ไม่เน้นขายฝีมือการแสดงสักเท่าไหร่ เลือกจากรูปร่างภาพลักษณ์หน้าตา ใกล้เคียงกับจินตนาการของผู้กำกับ หรือคล้ายคลึงจากฉบับนิยาย แต่ส่วนตัวมองว่านี่เป็นสิ่งที่ เปี๊ยก โปสเตอร์ ก็พยายามทำเช่นนั้น ไฉนครูเชิด ถึงเลือกกระทำซ้ำ ผลลัพท์ออกมาอ่อนด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ถ่ายภาพโดย พิพัฒน์ พยัคฆะ ตากล้องขาประจำของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผลงานเด่น อาทิ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑) ฯ แม้จะมีหลายๆไดเรคชั่นที่ยอดเยี่ยมใช้ได้ แต่ลีลาความจัดจ้านอ่อนด้อยกว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ อยู่พอสมควร
เริ่มแรกหนังมีความรวบรัดตัดตอนเร็วเว่อ! แค่ประมาณนาทีที่ ๕ (ต้นเครดิตก็ ๓ นาทีไปแล้วนะ) นพพรก็ได้นำพาคุณหญิงกิรติออกท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ตัดข้ามอารัมภบทไม่ให้เสียเวลากับท่านเจ้าคุณอธิการ แนะนำบ้านเช่า หรือแม้แต่น้อยบทบาทคนใช้ที่ได้แค่แนะนำตัวเท่านั้น
การสนทนาระหว่าง นพพร-คุณหญิงกีรติ ดูประดิษฐ์ประดอยเสียเหลือเกิน ทั้งยังขาดความลื่นไหลต่อเนื่อง เลือกใช้มุมกล้องแทนด้วยนัยยะความหมายล้วนๆ อาทิ ถ่ายด้านข้าง 90 องศา, 60-45-30 องศา, หน้าตรง เหล่านี้ทำให้นักแสดงดูไม่สวย-ไม่หล่อสักเท่าไหร่
ฉากล่องเรือยามค่ำคืน มากไดเรคชั่นลีลา, เริ่มจากบทเพลงร้อง-เต้น-ปรบมือภาษาญี่ปุ่น -> ภาพเมฆเคลื่อนคล้อยผ่านพระจันทร์ -> ใบหน้านพพร จากสว่างค่อยๆถูกเงามืดเข้าบดบัง -> เมฆเคลื่อนออกจากพระจันทร์ -> ใบหน้าคุณหญิงกีรติ จากเงามืดค่อยๆสว่างออก -> สอบถามว่าเนื้อเพลงมีความหมายว่าอะไร -> จากนั้นคำร้องแปลภาษาไทยดังขึ้นแทน, นัยยะของฉากนี้ เงามืด-แสงจันทรา สะท้อนความเพ้อฝัน(ยามค่ำคืน)ภายในจิตใจของ
– นพพร ชีวิตขณะนี้ราวกับตกอยู่ในเงาของก้อนเมฆ ช่างมืดมนไร้หนทาง
– คุณหญิงกีรติ คือบุคคลที่ทำให้เขาพบเจอแสงสว่าง อาบด้วยแสงจันทรา
เมื่อการสนทนาบทเรือใกล้จบสิ้น สังเกตว่าจะมีแสงสะท้อนจากผืนน้ำระยิบอาบใบหน้าของนพพร-คุณหญิงกีรติ นี่หมายถึงชีวิตของพวกเขากำลังเปร่งปรั่งเป็นประกายจากภายใน (เอ่อล้นไปด้วยความสุขในรัก)
ระหว่างที่ นพพร-คุณหญิงกีรติ เต้นรำบทเพลง Truth in My Heart เริ่มต้นราวกับอยู่ในโลกของพวกเขาเองไม่มีใครอื่น พื้นหลังเกิดจากเทคนิค Blue-screen ซ้อนภาพขาวดำของผู้ชมและบรรเลงเปียโน เมื่อเต้นเคลื่อนไปค่อยๆเฟดกลับมาสีปกติในโลกความเป็นจริง
ตรงกันข้ามกับฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ สถานที่พรอดรักของ นพพร-คุณหญิงกีรติ ไม่ใช่กลางป่าดงพงไพรแมกไม้สูงใหญ่ เลือก(น่าจะ)ตรงตามหนังสือ คือริมน้ำตก Mitake นั่งปิกนิคอยู่ใต้ต้นไม้หนึ่ง
ขณะที่คุณหญิงกีรติ พูดปฏิเสธผลักไสนพพรให้ออกห่าง “นพพร ถ้าเราสองคนอยู่บนยอดเขา Mitake จนชั่วชีวิต คำพูดของเธอถูกต้องทั้งหมด” กล้องเริ่มจากถ่ายภาพ Close-Up ใบหน้าของคุณหญิง ซูมออกแล้วทำการเคลื่อนหมุนรอบตัวนพพรมาจนถึงอีกด้านหนึ่ง แล้วซูมเข้า Close-Up ใบหน้าหญิงสาวอีกรอบ, นัยยะของไดเรคชั่นนี้ บอกเป็นนัยถึงความที่ชายหนุ่มได้กลายทุกสิ่งอย่างของเธอไปแล้ว แต่เพราะโลกใบนี้ไม่ได้มีเขาคือศูนย์กลางจักรวาล จึงยังต้องทำตามขนบกฎกรอบทางสังคมเมื่อลงจากเทือกเขาแห่งความฝัน
นพพร-คุณหญิงกีรติ หันหน้าไปทิศทางเดียวกัน นั่นหมายถึงพวกเขาไม่สามารถมองสบตาเห็นพ้องเข้าใจกัน เลยมองคู่ขนานออกไป แล้วจะมีการปรับโฟกัสคมชัดสลับไปมา ฉันมิอาจสนใจเธอได้-เธอก็จงลืมเลือนความรักนี้ไปเสียเถิด
ฉากคุณหญิงกีรติร่ำลานพพรในห้องของโรงแรม ตรงกันข้ามกับฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่จะพบเห็นทิวทัศน์ภายนอกหน้าต่าง เรื่องนี้ปิดผ่าม่านสนิท เพื่อสะท้อนว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นระหว่างพวกเขาทั้งสองในระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอให้เก็บมันไว้ในก้นเบื้องลึกสุดภายในจิตใจของกันและกันเท่านั้นพอ
แซว: ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ จะไม่มีบ่งบอกชะตากรรมของผ้าพันคอ มาเฉลยเรื่องนี้ว่าด้วยความทุกข์ทรมานใจของนพพร ตัดสินใจเขวี้ยงขว้างออกนอกน้ำต่าง แล้วมันลอยไปถึงแม่น้ำสาย Mitake เลยหรืออย่างไร!
เมื่อกลับมาเมืองไทย ฉากที่นพพรพูดบอกเรื่องแต่งงานของตนกับคุณหญิงกีรติ ทั้งสองนั่งบนเก้าอี้ภายในห้องรับแขก กล้องจะเคลื่อนไหลไปมาวนรอบโดยมีชายหนุ่มเป็นจุดหมุน ครั้งหนึ่งจากใบหน้าของเขาคล้อยขยับไปด้านหลังซูมเข้ากระจกสะท้อนใบหน้าของหญิงสาว นี่สะท้อนความตื่นตระหนกตกใจภายใน ไม่เคยคาดคิดมาก่อนนี่จะเป็นสิ่งได้ยินจากปาก โอ้ละหนอชีวิตที่อุตส่าห์เฝ้ารอคอยวันฟ้าลิขิต หมดสิ้นความหวังทุกสิ่งอย่างลงโดยพลัน
ตัดต่อโดย มหศักดิ์ ทัศนพยัคฆ์ ลูกชายของผู้กำกับดัง รังสี ทัศนพยัคฆ์ ผลงานเด่น 303 กลัว/กล้า/อาฆาต (พ.ศ. ๒๕๔๐), มือปืน/โลก/พระ/จัน (พ.ศ. ๒๕๔๔), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ฯ
หนังเล่าเรื่องตามลำดับเวลา ไม่ได้ใช้การย้อนอดีตระลึกถึงความทรงจำของนพพร แบบฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ นี่ทำให้อรรถรสและความสำคัญของ ‘ภาพวาด’ แตกต่างออกไปโดยเส้นเชิง
– ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ ชักชวนให้ผู้ชมใคร่สงสัยอยากรู้เบื้องหลังที่มาที่ไปของภาพวาดนี้ สังเกตพบสถานที่กลางเรื่อง และตอนจบตระหนักถึงความสำคัญของมัน
– กับเรื่องนี้ ภาพเป็นเพียงของขวัญวันแต่งงาน เติมเต็มชื่อหนัง ข้างหลังภาพ เท่านั้นเอง ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรกับมันมากเท่าไหร่
และเพราะกลัวผู้ชมจะไม่เข้าใจว่าภาพนี้มันคืออะไร หนังเลยแทรกช็อตย้อนอดีตให้หวนระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว ซ้อนทับกับสิ่งที่เห็นอย่างลงตัว (รับรู้ว่าคือสิ่งเดียวกัน)
เพลงประกอบโดย พีรสันติ จวบสมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวง The Innocent, สร้างบรรยากาศให้หนังมีสัมผัสโรแมนติก หวานฉ่ำ เคลิบเคลิ้ม ไม่ใช่รวดร้าวลุ่มลึกแบบฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งก็มีการนำบทเพลงคำร้องใส่ประกอบเข้ามา เพื่อสร้างความร่วมสมัยให้กับหนัง ไพเราะแต่ไร้ซึ่งความกลมกลืน
บทเพลงกีรติ แต่งเนื้อร้องโดย พนเทพ สุวรรณะบุณย์ กับ วิลาวรรณ์ เกิดสุทธิ, ทำนองโดย เรืองกิจ ยงปิยะกุล, ขับร้องโดย โบ สุนิตา ลีติกุล, สะท้อนจิตใจของคุณหญิงต่อชีวิตที่ไม่สมปรารถนา เมื่อมิอาจพบเจอครองรักดั่งใฝ่ฝัน จำต้องแต่งงานกับชายสูงวัยแปลกหน้าไม่เคยพบเจอพูดจากันมาก่อน มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานที่มิอาจเลือกหนทางตัดสินใจได้เอง จะมีใครไหมที่เห็นใจคนอย่างฉัน
บทเพลง Truth in My Heart แต่งเนื้อร้องโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, ทำนองโดย พีรสันต์ จวบสมัย, ขับร้องโดย สายสุนีย์ สุขกฤต, ดังขึ้นสองครั้งในช่วงนพพรเต้นรำ (ครึ่งแรก/ครึ่งหลัง) เพื่อสะท้อนความรู้สึกแท้จริงจากใจ เป็นสิ่งมิอาจพูดกล่าวถึงออกมาได้
เชิด ทรงศรี สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยสัมผัสร่วมสมัย ชี้ชักนำอารมณ์ของผู้ชมให้เคลื่อนคล้อยไปตามขณะต่างๆของนพพร ลุ่มหลงใหลในความรัก ผิดหวังทุกข์ทรมาน ค่อยๆทำใจได้แล้วหวนระลึกความหลัง สุดท้ายผิดหวังในตนเองต่อความโง่เขลาเบาปัญญา นี่สะท้อนเข้ากับรสนิยมของผู้ชมวัยรุ่นชาวไทยยุคสมัยปัจจุบัน(นั้น) ชื่นชอบการบริโภคอาหาร Fast Food ย่อยง่าย เข้าใจเร็ว ไม่ต้องครุ่นคิด ใช้สติปัญญาตีความอะไรวุ่นวาย
ผมอาจเป็นคนหัวโบราณที่มองว่า เทรนด์แฟชั่นดังกล่าวเป็นอะไรที่ตื้นเขิน ไร้มิติลุ่มลึกล้ำ เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ สร้างขึ้นในฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ แม้ทั้งเรื่องมีเพียงอารมณ์เดียวคือความปั่นป่วนคลุ้มคลั่งภายใน แต่กลับทรงพละพลังทำลายล้าง กวาดทำลายทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทรุดสงบศิโรราบลงแทบเท้า
สิ่งล้มเหลวโดยสิ้นเชิงที่ผมพบเห็นในหนังเรื่องนี้ คือความกลมกล่อมของทุกสิ่งอย่าง คลุกเคล้าไม่ลงตัวสักเท่าไหร่
– ทำไมถึงเลือกนักแสดงเน้นภาพลักษณ์มากกว่าฝีมือการแสดง?
– ไดเรคชั่นถ่ายภาพ เน้นนัยยะความหมายมากกว่าความสวยงาม (เพราะคิดว่าทิวทัศน์พื้นหลังสวยอยู่แล้ว เลยถ่ายยังไงก็ได้ แบบนี้ไม่เวิร์คเท่าไหร่นะ)
– ตัดต่อแบบเร่งรัดกระโดดข้าม แต่กลับย้อนไปย้อนมาเพราะกลัวผู้ชมดูไม่รู้เรื่อง
– เพลงประกอบที่ถึงไพเราะเพราะพริ้ง แต่คือดนตรีป๊อปหลงมิติเวลา
ความตั้งใจของครูเชิด ด้วยวัย ๖๙ ปี ศักยภาพการทำงานไม่คล่องแคล่วเหมือนคราวหนุ่มแน่นอีกต่อไป คิดสร้างหนังเรื่องนี้คงเพื่อหวนระลึกมองย้อนการทำงานตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เหมือนกับ ‘ข้างหลังภาพ’ ไม่มีใครล่วงรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ เบื้องหลังผลงานภาพยนตร์ทุกเรื่องที่สร้างมา ได้เทียบเท่าตนเองอย่างแน่แท้
เปรียบตนเองวัยใกล้ลงโลงกับเจ้าคุณอธิการบดี เคยครอบครองเป็นเจ้าของหม่อมเจ้ากีรติ เทียบคือผลงานภาพยนตร์ของตนเอง ขณะที่ผู้ชมก็คือนพพร แรกๆเคยก็ตกหลุมรักใคร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มหลงลืมเลือนความรู้สึกดังกล่าว ซึ่งเมื่อท่านเจ้าคุณ (เชิด ทรงศรี) จากไป และคุณหญิงกีรติ (ภาพยนตร์) ได้เลือนลางสูญหายหมดสิ้นไป (ผู้ชม) มาตระหนักระลึกถึงคุณค่าความสำคัญได้ตอนนั้น ทุกอย่างก็สายเกินแก้ไข
แต่หนังถือว่าประสบความสำเร็จใช้ได้เลย คว้า ๒ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ ๒๕ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๔
– ดารานำหญิงยอดเยี่ยม (คาร่า พลสิทธิ์)
– เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (กีรติ)
ผมไม่ใช่คนปิดกั้นการตีความใหม่ Remake ของภาพยนตร์ แต่จะมองจุดประสงค์ของผู้สร้างและคุณภาพของตัวผลงานเป็นหลัก ซึ่งสำหรับ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔) มุมมองส่วนตัวเห็นว่าเป็นอะไรที่ไร้ความจำเป็น เห็นแก่ตัวไปเสียหน่อย และเชิด ทรงศรี สร้างออกมาต่ำกว่ามาตรฐานตนเอง ผลลัพท์เลยน่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง
แนะนำกับแฟนเดนตายนิยาย ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา, หารับชมฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ได้ก็ดูเรื่องนี้แก้ขัด, หลงใหลแนวรัก โรแมนติก โศกนาฎกรรม, แฟนๆผู้กำกับ เชิด ทรงศรี และติ่งนักแสดง ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์, คารา พลศิลป์
จัดเรต PG แม้มีเพียงบทสนทนา แต่เนื้อหาช่างมีความว้าวุ่นวายใจยิ่งนัก
Leave a Reply