คนเลี้ยงช้าง (พ.ศ. ๒๕๓๓) : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ♥♥♥♡
“คนเลี้ยงช้างมันกินขี้ช้างไม่ได้หรอก” ภาพยนตร์ไทยคลาสสิกสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนกับช้าง ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ปลูกฝังร่วมสร้างจิตสำนึกที่ดี ในการปกป้องพิทักษ์รักษ์ผืนป่าให้ยืนยงคู่แผ่นดินไทยตลอดกาลนาน
ในเมืองไทย ผู้กำกับที่ชื่นชอบทำภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคมไทยมากที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล นับตั้งแต่ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) [ค.ศ. 1970] ภาพยนตร์ในกำกับลำดับที่สอง ก็คงแนวความสนใจมานับตั้งแต่นั้น, โดยเฉพาะแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ/ผืนป่า นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแรกของท่านมุ้ยนะครับ เท่าที่ผมเคยดู อาทิ อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓), มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖) ฯ
คนเลี้ยงช้างเป็นภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ในช่วงวิกฤตป่าไม้เมืองไทยที่ขณะนั้นทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลให้ผืนป่าเมืองไทยลดลดลงอย่างน่าใจหาย, เหตุผลการสร้างนั้นชัดเจนคือปลูกฝังร่วมสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ เห็นโทษภัยของการตัดไม้ทำลายป่า นำเสนอปัญหาที่ส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลง กระนั้นตัวหนังไม่ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ได้พูดถึงแนวคิดของคนทั้งสองฝั่งอย่างเท่าเทียมกัน จนทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่า ‘ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไรดี’
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ออกมาเผยสถิติ ป่าไม้เมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ หลงเหลือเพียง ๓๓.๔๔ % ของพื้นที่ที่ดินประเทศไทย เมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมาจะมีเนื้อป่าลดลงไปถึงร้อยละ ๕๐ ของที่เคยมี และเหลือเพียง ๕ จังหวัดเท่านั้นที่มีป่าไม้หลงเหลือเกิน ๗๐% คือเชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน และลำปาง
reference: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=927:seubnews&Itemid=14
ต้องบอกว่าเป็นเรื่องราวที่ยังไม่จบเสียทีเดียว ถึงปัจจุบันปัญหาการลักลอบตัดไม้ก็ยังไม่หมดไป นับตั้งแต่มาตรการจัดการป่าของประเทศไทย คือ การประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่มุ่งในการควบคุมพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นสำคัญ ทั้งยังให้สัมปทานไม้ในอดีตและยังคงมีการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์หรือกระทั่งอยู่อาศัยอยู่ ซึ่งขาดมาตรการจัดการกับพวกลักลอบแอบอ้างอย่างจริงจัง ดังนั้นพื้นที่ป่าในปัจจุบันจึงยิ่งมีพื้นที่ลดลงอย่างเรื่อยๆมาเรียงๆ
นี่ถือเป็นเรื่องไกลตัวของพวกเราหลายๆคน ชาวเมืองที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับป่าไม้อีกแล้ว ซึ่งก็ไม่สามารถช่วยเหลือกระทำการอะไรได้ แต่ใช่ว่ารับรู้เรื่องพวกนี้จะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะทำให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ บางคนคงรู้สึกอยากช่วยอยากทำอะไรบางอย่าง ให้ผืนป่าเมืองไทยยังคงมีอยู่ถึงลูกหลาน แต่จะทำอะไรได้ละ…!
เรื่องราวของคนเลี้ยงช้าง กล่าวถึงในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ผืนป่ายังเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่หมายปองของพ่อค้าลักลอบตัดไม้ ด้วยเครื่องจักรเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยทุ่นแรง ทำให้การตัดไม้และแปรรูปมีความสะดวกรวดเร็วง่ายขึ้น ทำให้ผืนป่ามีแนวโน้มกำลังจะหมดไปอย่างรวดเร็ว
นำเสนอผ่านการบอกเล่าของ ชัย (นำแสดงโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เมื่อสมัยเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ได้พบเจอเรื่องราวอันทำให้ผืนป่าห้วยนางนอน อำเภอพนาไพร (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ สงบสุขจนถึงปัจจุบัน
บุญส่ง (นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี) คนเลี้ยงช้างกับพลายชื่อ แตงอ่อน (พลายสำลี) มีอาชีพทำงานลากซุงเพื่อหาเงินมาใช้หนี้กับเสี่ยฮก (บู๊ วิบูลย์นันท์) แต่เพราะดอกหนี้บานตะไท งานไม่มีเงินหรือจะหาได้ จึงจำต้องยอมชักลากไม้เถื่อนผิดกฎหมาย โดยมีคำรณ (รณ ฤทธิชัย) เจ้าหน้าที่ป่าไม้อาวุโส ผู้อุทิศตนเพื่อปกป้องผืนป่า คอยปราบปรามพวกลักลอบทำไม้เถื่อนอย่างจริงจัง
สรพงศ์ ชาตรี คือพระเอกที่ได้รับการค้นพบจากท่านมุ้ย ชื่อเดิม กรีพงษ์ เทียมเศวต หรือ พิทยา เทียมเศวต ส่วนชื่อในวงการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา ตั้งให้โดยคำว่า ‘สร’ มาจาก อนุสรมงคลการ, ‘พงศ์’ มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ ‘ชาตรี’ มาจาก ชาตรีเฉลิม
รับบทบุญส่ง ด้วยความยากจนทำให้ข้นแค้น เพื่อหาเงินใช้หนี้สินที่มหาศาลจึงยินยอมทำทุกวิถีทาง แม้จะมีความคิดอ่านที่ดีเป็นคนมีคุณธรรมประจำใจ แต่สุดท้ายปากท้องย่อมสำคัญกว่าอุดมการณ์ (นี่น่าจะคือข้อสรุปของท่านมุ้ยที่มอบให้กับบุคคลระดับรากหญ้า) ดั่งคำพูดประโยคที่ว่า “คนเลี้ยงช้างมันกินขี้ช้างไม่ได้หรอก” อีกนัยหนึ่งคือ ศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้ บางครั้งก็ต้องกล้ำกลืนทำสิ่งที่ไม่อยากทำ เพื่อปากท้องของตนเองและคนในครอบครัว
ผมชอบฉากหนึ่งที่บุญส่งเมาอ้วกพุ่งบนหลังช้าง เห็นว่าคุณสรพงศ์ซัดเหล้าผสมโจ๊กกับไข่ดิบเข้าไป อ้วกออกมาจริงๆไม่มีอมไว้ แถมอยู่บนหลังช้างเกาะแน่นหวังว่าคงไม่ผิดคิวตกลงมา (แอบสงสารช้าง เปลื้อนอ้วกโดยไม่รู้ตัว) นี่เป็นการกระทำหนึ่งที่เรียกว่ากล้ำกลืนตัวเอง การกินสุราเป็นสิ่งสัญลักษณ์แสดงความทุกข์ทรมาน เจ็บปวดรวดร้าวในใจ เมาแล้วก็มักทำอะไรโดยไม่รู้ตัว (ด้วยสันชาติญาณ จิตสำนึก) ซึ่งขณะที่บุญส่งเมา ได้ช่วยเหลือชีวิตของคำรณไว้ นี่แปลว่าข้างในจิตสำนึกของเขาคือคนดีแท้อย่างแน่นอน
รณ ฤทธิชัย หรือชื่อจริง รณฤทธิชัย คานเขต นักแสดงมากฝีมือที่มีผลงานอย่าง ครูสมศรี (พ.ศ.๒๕๒๙), คนกลางแดด (พ.ศ. ๒๕๓๐), มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖) ฯ ปัจจุบันเป็นนักการเมือง ส.ส.จังหวัดยโสธร ล่าสุดอยู่พรรคภูมิใจไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓
รับบทเป็น หัวหน้าคำรณ เจ้าหน้าที่ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ปกป้องผืนป่า แม้ปากเขาจะบอกแค่ทำตามหน้าที่ ไม่รู้จิตใจตัวเอง แต่คนลักษณะนี้ถือว่าซื้อไม่ได้ หยามไม่ได้ จิตใจหนักแน่นมั่นคง และรู้หน้าที่บุญคุณคน, ถ้าสมัยก่อนเมืองไทยมีการจัดเรตติ้ง เชื่อว่าหนังเรื่องนี้มีโอกาสได้เรต R สูงมากเพราะคำหยาบเลวระยำบัดซบเหี้ย ทุกอย่างออกมาจากปากตัวละครนี้ ผู้ชมสมัยนั้นคงอึ้งทึ่งและเข้าใจความรู้สึกของคำรณได้เป็นอย่างดี (เพราะอาจจะไม่ค่อยมีมาก่อน หนังไทยที่พูดสถบคำหยาบเยอะขนาดนี้) ส่วนสมัยนี้หนังตลกพูดจาหยาบคายมีกันเกลื่อนกลาด ผู้ชมคงไม่รู้สึกหน้าหนา เจ็บปวดอะไรเท่าไหร่แล้ว
บู๊ วิบูลย์นันท์ รับบทเป็น เสี่ยฮก นายหน้าค้าไม้ที่เบื้องหน้าทำตัวทรงภูมิมีฐานะ แต่เบื้องหลังลักลอบสร้างอิทธิพลผิดกฎหมาย ทำทุกวิถีทางเพื่อความมั่งคั่งของตนเอง โดยไม่สนความทุกข์ยากของผู้อื่น, ท่านมุ้ยเล่าว่าตัวละครนี้มีตัวตนจริงๆ (และได้บทสรุปแบบในหนังนั้นเลย) แต่ไม่สามารถเอ่ยชื่อออกมาได้ เพราะใครๆคนคงรู้จักจะเป็นอันตรายแก่ตน
สมศักดิ์ ชัยสงคราม โคตรตัวร้ายของเมืองไทย รับบทเป็น จ่าสม ตำรวจเลวคอรัปชั่นที่รับเงินใต้โต๊ะมาจากเสี่ยฮก พยายามขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่เรื่อยๆ (แม้ในปัจจุบัน ป่าไม้พกปืนได้ก็จริง แต่ถ้ายิงพวกลักลอบตายจะถือว่ามีความผิดติดคุกนะครับ) และเมื่อถึงที่สุดตัวละครนี้ก็ได้กระทำการล้ำเส้น ในสิ่งที่แม้ผืนป่า/แผ่นดิน ก็ไม่สามารถให้อภัยได้
นอกจากนักแสดงหน้าคุ้นๆที่อยู่ในหนังแล้ว ยังมีดารารับเชิญอีกหลายคน อาทิ องอาจ คล้ามไพบูลย์, ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว), สุรชัย จันทิมาธร ฯ
เกร็ด: ในระหว่างการถ่ายทำ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนหนึ่งถูกพวกลักลอบทำร้ายเสียชีวิต ชื่อของท่านผู้นั้นได้ถูกอุทิศไว้ในหนังด้วย
ถ่ายภาพและลำดับภาพโดยท่านมุ้ยเองเลย มีอยู่ ๒ เทคนิคที่เห็นบ่อยในหนัง
– เทคนิคซูมออก->แพนกล้อง->ซูมเข้า, นี่เป็นเทคนิคที่เหมือนลายเซ็นต์ของท่านมุ้ยมาก (เห็นมาแล้วหลายเรื่อง) ทำให้ผู้ชมเกิดความหลงใหล สนเท่ห์ในทัศนียภาพของป่าได้อย่างลึกล้ำ คือเริ่มจากสงสัยว่าภาพอะไร (ซูมออก) เมื่อสุดแล้วก็เคลื่อนไปให้เห็นทิวทัศน์โดยรอบ (แพนกล้อง) มาจบที่จุดสนใจ (ซูมเข้า)
– การถ่ายในป่าตอนกลางคืนไม่มีแสงไฟมันจะถ่ายได้ยังไง ก็ใช้สปอตไลท์ฉายมันโต้งๆนี่แหละ เห็นเป็นแสงสีฟ้าไกลๆ ผลลัพท์ออกมาโคตรอาร์ทเลยละ (ผมไม่รู้ที่ออกโทนน้ำเงิน/ฟ้า เกิดจากการล้างฟีล์มหรือท่านมุ้ยใช้สป็อตไลท์สีฟ้านะครับ) นี่เป็นสีเย็นให้สัมผัสยะเยือก หลอนๆขนลุก ทรงพลังทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีการทุ่มทุนสร้างจ้างเฮลิคอปเตอร์เพื่อทำการสำรวจป่า ถ่ายทำจากด้านบนเห็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ส่วนการตัดไม้ ไม้ป่าเห็นว่าไปถ่ายยังสถานที่ทำไม้เถื่อนจริงๆ ไม้สักที่เห็นก็เป็นไม้เถื่อนแปรรูปสำเร็จแล้ว, ท่านมุ้ยเล่าว่า ตอนที่เข้าไปถ่ายแรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่นานเข้าก็เริ่มมีปัญหากับพวกตัดไม้ มีการกราดยิงด้วยปืนอาก้า เอาก้อนหินขวางถนนให้รถตกลงเหวข้างทาง หรือไม่ก็เผาป่าไล่กันหน้าตาเฉย จนท่านต้องไหว้วานให้เพื่อที่เป็นแม่ทัพส่งทหารมาช่วยคุ้มครอง พวกไม้เถื่อนถึงไม่ค่อยกล้าเข้ามาวุ่นวาย
reference: http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2009/05/A7838923/A7838923.html
สำหรับการลำดับเรื่องราว ใช้การเล่าย้อนเป็น Flashback พร้อมเสียงบรรยายของชัย แต่เหมือนเรื่องราวจะดำเนินไปในมุมมองของป่าเสียมากกว่า เพราะบางครั้งมีการย้อนอดีตของบุญส่ง เช่น ตอนแต่งงานใช้ช้างไปสู่ขอภรรยา ฯ มีลักษณะเป็นอดีตย้อนอดีต ซึ่งในมุมมองของชัยล้วนๆคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
สิ่งที่อาจถือว่าเป็นข้อเสียของหนังคือความยาว ๑๓๕ นาทีถือว่านานไปเสียนิด และหลายครั้งหนังใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพไม่มีคำพูดคำบรรยาย ทำให้หลายคนคงรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย ง่วงหงาวหาวนอน, จริงๆถ้าคุณดูหนังเป็น ฉากพวกนี้ไม่น่าเบื่อเลยนะครับเพราะมันมีภาษาเรื่องราวของมันอยู่ เป็นเทคนิคที่คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยคุ้นเคย แต่คนดูหนังเป็นจะเรียกว่ามีความเป็นศิลปะอย่างมาก
เพลงประกอบโดย พิเศษ สังข์สุวรรณ ชายผู้นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดนักประพันธ์เพลงประกอบของเมืองไทย (แต่ลุงแกเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๑) มีผลงานหนังของท่านมุ้ยดังๆอย่าง มือปืน (พ.ศ. ๒๕๒๖), มือปืน ๒ สาละวิน(พ.ศ. ๒๕๓๖), กล่อง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ฯ ผลงานอื่นๆอาทิ บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘)
สำหรับเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้เครื่องดนตรี Pop/Rock ของยุคสมัยนั้น และใช้เสียงดนตรีอิเล็คทรอนิก เพื่อสร้างสัมผัสที่มีความล่องลอย หลอนๆ ไอดินกลิ่นป่า มนต์ขลังและความทรงพลังของผืนแผ่นดิน
สำหรับเพลงเสียงร้องต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง มี 2 เพลง, พิทักษ์ป่า ขับร้องโดยแอ๊ด คาราบาว และเพลง สร้างไพร แต่งและขับร้องโดยสุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน)
(นาทีที่ 7:15 เพลงสร้างไพร)
ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบ ผู้คนมากมายที่เห็นแก่ตัวคอรัปชั่น สนแต่ผลประโยชน์มั่งมี ดีชั่วแล้วไง! ท้องอิ่มร่ำรวยมีค่าสูงกว่าอุดมการณ์และจริยธรรมทางสังคม, สิ่งที่ผู้ชมอย่างเราๆสมัยนี้สามารถทำได้คือเห็นใจ เวทนา เรียนรู้จดจำนำไปเป็นทัศนะอุดมคติของตนเอง ‘เราจะต้องไม่กลายเป็นคนแบบนั้น!’ สิ่งนี้ไม่ต้องเอาไปสอนคนอื่นนะครับ ทำความเข้าใจด้วยตนเองอย่างถ่องแท้ นั่นแหละที่ใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการส่งต่อ
ข้อสรุปของท่านมุ้ยตั้งแต่ตอนสร้างหนังเรื่องนี้ “ตอนที่เราเข้ามาถ่ายทำเราเรียนรู้ถึงเทคนิคของพวกไม้เถื่อน ถึงจะเริ่มเข้าใจว่าเราไม่มีทางที่จะรักษาป่าของเราได้ ว่าไปแล้วพวกป่าไม้ก็ไม่มีทางที่จะทันพวกทำไม้เถื่อนหรอก พวกเขาไปตั้งแท่นแปรรูปไม้กันในป่าเลยทีเดียว ถ้าเจ้าหน้าที่มาก็ถอดใบเลื่อยวงเดือนหนีเข้าป่าไป เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่มีทางที่จะขนไม้ออกจากป่าได้เพราะไม่มีถนนที่จะขนไม้ของกลางออกไปได้ ส่วนพวกทำไม้เถื่อนจะใช้กองทัพมดครับ ช่วยกันขนไม้ออกจากป่าทีละแผ่น ซึ่งพวกป่าไม้ทำไม่ได้”
สิ่งที่พวกเราชาวเมืองผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องการกระทำอะไรเกี่ยวกับป่าไม้และธรรมชาติ ที่สามารถทำได้นอกเหนือจากเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ และเผยแพร่องค์ความรู้พวกนี้แล้ว ผมยังมองว่าการลดใช้สิ่งของที่ทำมาจากไม้ น่าจะช่วยแก้ปัญหาทางอ้อมได้ส่วนหนึ่งส่วนเล็กๆ อาทิ ปลูกบ้านไม้สัก (มันจำเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ!) เฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯ จริงอยู่ของจากไม้มีความมั่นคงทนกว่าและมาจากธรรมชาติย่อยสลายง่าย แต่ถ้าเราไม่มี Demand ของพวกนี้ แล้ว Supply ที่ไหนจะขายได้ (แต่ผมก็รู้ว่า ถึงจะทำแบบนี้ไปก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรเลยเสียเท่าไหร่)
ผมจึงเกิดความคิดปฏิวัติขึ้นเสียเลย คือ ปล่อยครับ อยากตัดก็ให้พวกมันตัดไปให้หมดโลก เชื่อว่าเมื่อถึงตอนนั้นไม่เหลืออะไรอีกแล้ว พวกเขาและเราคงรู้สำนึกถึงความโง่เขลาของตัวเอง นั่นแหละการฟื้นฟูอย่างแท้จริงมันถึงจะเริ่มต้นขึ้น แม้ทุกอย่างจะช้าและสายไปแล้ว แต่คนรุ่นลูกหลานจะเห็นค่า รู้รักษาอนุรักษ์มากกว่าคนสมัยเราอย่างแน่นอน
เพราะผมเชื่อว่าตราบใดที่เรื่องราวลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นเป็นอยู่ ป่าไม้ไม่ใช่แค่เมืองไทยย่อมต้องหมดไปจากโลกแน่ๆ และเมื่อถึงจุดนั้นเมื่อพวกนายทุนตัดต้นไม้ผิดกฎหมายไม่ได้ ก็คงจะเริ่มคิดว่าฉันต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว!
คนเลี้ยงช้าง เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าชิงออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย, สำหรับในเมืองไทย งานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ได้มาทั้งหมด ๔ รางวัลประกอบด้วย
– ผู้กำกับยอดเยี่ยม
– ดาราสมทบชายยอดเยี่ยม (รณ ฤทธิชัย)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้นะครับ แม้จะมีอะไรหลายๆอย่างน่าสนใจ แต่กาลเวลาได้ลดทอนคุณภาพของหนังไปพอสมควร และการเล่าเรื่องที่ค่อนช้าชวนหลับ ถ้าได้การ Remaster คุณภาพสวยๆละก็นะ คงจะสามารถเต็มอิ่มกับความสวยงามของผืนป่าสมัยนั้นได้อย่างเต็มภาคภูมิ
แนะนำกับคนทำงานเกี่ยวกับป่าทั้งหลาย นักอนุรักษ์, ควาญช้าง, สวนสัตว์ ฯ คอหนังไทยคลาสสิก แฟนหนังท่านมุ้ยและสรพงศ์ ชาตรี ไม่ควรพลาด
จัดเรต ๑๓+ กับบรรยากาศ ความตึงเครียด คำสถบหยาบคาย และความขัดแย้งของคน
Leave a Reply