คือฉัน

…คือฉัน (พ.ศ. ๒๕๓๓) หนังไทย : แจ๊สสยาม 

การจดทะเบียนสมรส คือมโนคติที่คนยุคสมัยนี้ครุ่นคิดว่าจะสามารถผูกมัดชาย-หญิง สิ่งยืนยันความเป็นสามี-ภรรยา แต่แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยสักนิด สองคนรักกันอยู่ที่ใจใช่แผ่นกระดาษ นี่ไม่ใช่ความคิดหัวก้าวหน้าอะไรใหม่ คนโบราณเก่าก่อนยึดถือปฏิบัติมานมนากาเล, โคตรหนัง Feminist น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

วันก่อนเขียนถึง อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) เล่าเรื่อง อำแดงเหมือน วีรสตรีคนแรกแห่งสยามประเทศที่กล้าลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมของตนเอง ผมก็รำพึงพันหาหนังไทยแนว Feminist จะมีสักเรื่องไหมคุณภาพยอดเยี่ยมพอให้ตกหลุมรักใคร่ ยังไม่ทันไรก็พบเจอ …คือฉัน ภาพยนตร์ที่ทั้งรักทั้งเกลียดทั้งชัง สร้างความปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง งดงามประทับตราตรึง (Impressionist) ฝังอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจโดยทันที

สิ่งที่ต้องถือว่างดงามเหนือคำบรรยาย คือบรรยากาศของหนัง เหมารวมการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติสวยยิ่งกว่า คนเลี้ยงช้าง (พ.ศ. ๒๕๓๓) และบทเพลงสามรสสามแนว หนึ่งในนั้นคือ Jazz กลิ่นอาย Miles Davis แทนอารมณ์เปล่าเปลี่ยวของตัวละครได้อย่างทรงพลังขีดสุด

แจ๊สสยาม ชื่อจริง กฤษฏ์ บุณประพฤทธิ์ ชื่อเดิม ปรีชา เจริญสุข (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๕) เริ่มต้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากงานออกแบบ ฝึกงานกับ นิพนธ์ โลหิตเสถียร นักออกแบบโฆษณาภาพยนตร์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดังในยุคนั้น ก่อนผันตัวมารับหน้าที่ดังกล่าวเองด้วยนามแฝง แจ๊สสยาม จากนั้นขยับขยายไปสู่กิจการทำข้อความ Title ถึงขั้นได้ครองตลาดเหมาเกือบหมดในยุคนั้น หลังจากคลุกคลีอยู่ในแวดวงจนโชกโชน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเอง เริ่มต้นด้วยเรื่อง สี่อันตราย (พ.ศ. ๒๕๒๑) นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตร ประกบ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ผลจากความทุ่มเทอย่างตั้งใจ ส่งผลให้เป็นที่รู้จักในบรรดาผู้สร้าง ได้รับการทาบทามจาก เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ให้เข้ามาสังกัดอยู่ในค่ายใหญ่อย่างบริษัท ไฟว์สตาร์ ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี อาทิ อารีดัง (พ.ศ. ๒๕๒๒), สายสวาทยังไม่สิ้น (พ.ศ. ๒๕๒๔), กตัญญูประกาศิต (พ.ศ. ๒๕๒๕), กัลปังหา(พ.ศ. ๒๕๒๖), สองผลงานชิ้นเอกคือ คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๓๒) และ …คือฉัน (พ.ศ. ๒๕๓๓)

…คือฉัน ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง ลำเนาป่า แต่งโดย ศิเรมอร อุณหธูป นักเขียนหญิงผู้เป็นบุตรสาวของ ประมูล อุณหธูป นักเขียน/แปลหนังสือ ที่มีผลงานเด่นคือ เรื่องของจัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๐๙), ตีพิมพ์ครั้งแรกลงในนิตยสารรายเดือนดิฉัน (ปิดตัวไปเมื่อฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐) ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๖ ได้รับความนิยมอย่างสูง ถูกนำมารวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๗ คว้ารางวัลชมเชย ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พร้อมถูกยกให้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ หนังสือที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน สำหรับกลุ่มเด็กวัย ๑๓-๑๘ ปี และยังเคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ (ปัจจุบันไม่รู้ว่าถูกนำออกไปหรือยังนะ)

ลำเนาป่า เป็นนวนิยายได้รับการยกย่องอย่างสูงในด้านการใช้ภาษา งดงามระดับวรรณศิลป์ ทั้งยังเล่าเรื่องด้วยมุมมองของอิสตรีเพศ (ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่เข้าใจความหมายของ ‘สตรีนิยม’ แต่งหนังสือด้วยมุมมองปรารถนาตั้งใจส่วนตนเองเท่านั้น) ปลูกฝังทัศนคติให้ผู้อ่านตกหลุมรักในผืนธรรมชาติ และเข้าใจความหมายของอิสรภาพ เสรี ความเท่าเทียมกันในสังคม

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย ฑัตภูมิ บุณยฑัต เห็นว่ามีการทำเป็นหนังสือ ‘บทภาพยนต์เรื่อง ..คือฉัน’ เผื่อใครสนใจลองค้นหาตามแหล่งขายมือสอง, เรื่องราวของ ชด (สันติสุข พรหมศิริ) กับเพื่อนๆอีก ๔ คน พากันไปท่องเที่ยวบนดอยห่างไกล มีโอกาสพบเจอ ลำเนา (สบันงา วงศ์โสภา) อดีตเคยอาศัยอยู่กรุงเทพฯ แต่เกิดความเบื่อหน่ายในสังคมเมืองเลยปลีกวิเวกไม่ยอมกลับ หลังจากพูดคุยกันอย่างถูกคอจนสนิทสนม ตกหลุมรักใคร่ชักชวนลงเขาแต่งงานครองรักอยู่ด้วยกัน แต่ความที่ ลำเนา ไม่ต้องการจดทะเบียนสมรส เกลี้ยกล่อมจน ชด ยินยอมคล้อยตามเห็นด้วย แต่ครอบครัวของเขากลับปฏิเสธหัวชนฝา อ้างโน่นนี่นั่นตามบริบทข้อกำหนดทางสังคม สุดท้ายแล้วหญิงสาวจะเลือกอะไรระหว่าง ชายคนรักปักหลักอาศัยอยู่ในเมือง หรือหวนคืนผืนป่าธรรมชาติที่โหยหาใฝ่ฝัน

สันติสุข พรหมศิริ ชื่อเล่นหนุ่ม (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๖) นักแสดงชาวไทย เกิดที่อำเภอท่าช้าง, สิงห์บุรี เข้าสู่วงการแสดงขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ ได้เป็นประธานชมรมการแสดง จนไปเข้าตาผู้ตาสร้างละคร ตี๋ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๒๘), สำหรับภาพยนตร์แจ้งเกิดจาก ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

รับบท ชด ชายหนุ่มผู้มีชีวิตไปวันๆอย่างน่าเบื่อหน่าย จนกระทั่งพบเจอ ลำเนา จากการไปท่องเที่ยวบนดอยกับเพื่อนฝูง หลงใหลในแนวคิด ทัศนคติ และความงามธรรมชาติในตัวเธอ ร่วมรักหลับนอนขอหญิงสาวแต่งงานถึงสามครึ่งครา ในที่สุดยินยอมความอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องแต่งงาน แต่กลับถูกทัดทานจากครอบครัวจนทะเลาะมีปากเสียง สุดท้ายจำยอมต้องปลดปล่อยนกน้อยในกรงขังตัวนี้ ให้ได้รับอิสรภาพโบยบินกลับสู่ผืนป่า

เสียงแซ็กโซโฟนสร้างสัมผัสอันเวิ้งว้างว่างเปล่า โดดเดี่ยวเดียวดายให้กับตัวละครได้อย่างลงตัว โหยหาความรัก ครอบครองเป็นเจ้าของชั่วขณะหนึ่ง สุดท้ายจำต้องปลดปล่อยสูญเสียทุกสิ่งอย่าง, ปกติ สันติสุข จะไม่ค่อยได้รับบทบาทเข้มข้นจริงจังขนาดนี้ (เพราะติดภาพลักษณ์ บุญชูผู้น่ารัก ชีวิตเต็มเปี่ยมความสนุกสนานครึกครื้นเครง) หลายคนอาจรู้สึกว่าพี่หนุ่มดูเรื่อยเปื่อยล่องลอย แต่ผมพบเห็นความอึดอัดรวดร้าวสะสมคลุ้มคลั่งอยู่ภายใน อาจเพราะได้รับบทไม่คุ้นเคย เลยแสดงความกระอักกระอ่วนออกมาได้อย่างสมจริง!

ผมยังไม่เคยรับชม พ่อปลาไหล แม่พังพอน (พ.ศ. ๒๕๓๑) กับ คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๓๒) สองผลงานรางวัลของพี่หนุ่ม เลยยังบอกไม่ได้ว่า …คือฉัน เป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตหรือเปล่า คงเพราะหนังพลิกบทบาทด้วยกระมัง ส่วนตัวเลยค่อนข้างคลุ้มคลั่งประทับใจมากเป็นพิเศษ

สำหรับ สบันงา วงศ์โสภา ค้นหารายละเอียดของเธอไม่ได้มากนัก ดูแล้วคงไม่ชื่นชอบการแสดง/วงการบันเทิงสักเท่าไหร่ มีผลงานเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่เห็นว่าก่อนนี้เคยถ่ายแบบลงนิตยสาร และเป็นดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน

รับบท ลำเนา สาวหน้าตาบ้านๆตัวเข้มๆผมหยิกๆ แต่มากด้วยแนวคิดอุดมการณ์รักผืนป่าพงไพร ด้วยความเบื่อหน่ายชีวิตคนเมือง หนีมาทำงานอาสาบนดอย เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดกลับไม่เคยรู้สึกทุกข์ทรมาน ตรงกันข้ามยิ่งสุขเอ่อหลั่งล้นออกมาจากภายใน, จริงๆก็น่าฉงนสงสัยทำไมถึงตกหลุมรักหนุ่มชาวเมือง ชด พยายามอยู่สักพัก แถมยังเคยคิดปักหลักยินยอมเป็นนกในกรงให้เขาเชยชม แต่สุดท้ายเมื่อพบเห็นครุ่นคิดได้จากภาพถ่าย โลกของฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ ตัดสินเลือกทำตามเสียงเพรียกปรารถนาแท้จริงของหัวใจ

ใบหน้าภาพลักษณ์ของสบันงา คงถอดแบบมาจากนวนิยายแทบจะเปะๆเลย เรื่องการแสดงหลายคนคงรู้สึกฝืนๆไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่ สายตามักเหม่อล่องลอยออกไปไกล ไร้ซึ่งจิตวิญญาณอารมณ์ แต่ผมมองว่าเป็นการแสดงที่พอเหมาะพอเจาะเลยละ เพราะนี่เป็นช่วงเวลาทดสอบอุดมการณ์ตั้งมั่นของหญิงสาว จะให้สายตามีความเด็ดเดี่ยวแน่แน่วมั่นคง แล้วโอนอ่อนผ่อนตามยินยอมกลายเป็นนกในกรงชั่วครู่อยู่ได้อย่างไร

ปวีณา ชารีฟสกุล (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๙) ชื่อเล่น เจี๊ยบ นักร้องนักแสดงชาวไทย จบจากโรงเรียนมักกะสันพิทยา ตามด้วยโรงเรียนอาชีวศิลป์ศึกษา เคยไปสมัครเล่นเกมโชว์ รายการเอาไปเลย ของ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เห็นว่ามีหน่วยก้านดีจึงชักชวนมาเป็นผู้ช่วยพิธีกร แต่ทำได้เพียงเดือนกว่ากันตนาก็ชักชวนปเล่นละครเรื่องแรกคือ แม่น้ำ (พ.ศ. ๒๕๒๘), อิทธิ พลางกูร ก็ดึงตัวเธอไปทำผลงานเพลง ออกผลงานชุดนัดกันแล้ว, นี่แหละตัวฉัน กับค่ายครีเอเทีย, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจาก คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๓๒), …คือฉัน (พ.ศ. ๒๕๓๓), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓), เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔), มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖), ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับบท พระวิสุทธิกษัตรี

รับบท มีน เพื่อนสาวของ ชด ลึกๆแล้วคงแอบตกหลุมรักอยู่ด้วยกระมัง ถึงขนาดชักชวนไปถึงห้อง อยากจะล่วงเกินแต่แหม สุภาพบุรุษสุดๆเลย มีอาชีพเป็นช่างภาพ ชื่นชอบขึ้นดอยไปถ่ายรูปวิถีชีวิตชาวเขา นำเอาลงมาจัดแสดงนิทรรศการ ดูแล้วน่าจะมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จพอสมควร

นี่เป็นตัวละครสร้างขึ้นใหม่ ไม่มีในนวนิยาย ลำเนาป่า เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้เป็นกระจกสะท้อนอีกมุมหนึ่งของ ลำเนา, ชื่อ มีน แปลว่า ปลา แหวกว่ายดิ้นรนตะเกียกตะกายเพื่อเอาชนะสายลำธาร จักได้ขึ้นไปวางไข่ยังต้นกำเนิดแหล่งน้ำสะอาดบริสุทธิ์

การแสดงของ ปวีณา ชารีฟสกุล มีความลุ่มลึกคลุ้มคลั่งอัดอั้นอยู่ภายใน สำหรับผมแล้วมันชัดมากๆว่าตัวละครของเธอตกหลุมรักพระเอก พยายามแสดงออกชี้ชักนำแต่ไม่กล้าพูดบอก คงจะยังด้วยยึดติดอยู่กับค่านิยมขนบวิถีของยุคสมัยนั้น ผู้ชายควรต้องเป็นช้างเท้าหน้าไม่ใช่ผู้หญิงเดินนำ เลยด้วยเหตุนี้ ชด เลยคลุ้มคลั่งกับ ลำเนา หญิงสาวที่มีความผิดแผกแปลกแตกต่าง หัวขบถจากปกติทั่วไป สร้างความรวดร้าวทุกข์ทรมานใจให้กับ มีน มิอาจครองคู่เสพสมกับคนที่ตนรักจริงมาช้านาน

ผมสังเกตว่า ปวีณา มักได้รับบทบาทตัวละครเก็บกดสะสมความคลุ้มคลั่งไว้ภายในอยู่เสมอๆ นี่คงเป็นภาพลักษณ์การแสดงของเธอที่ได้รับการจดจำจากผู้สร้างเป็นแน่แท้

ถ่ายภาพโดยอานุภาพ บัวจันทร์ หรืออาเปี๊ยก ตากล้องคู่ใจของท่านมุ้ย
– เจ้าของ ๔ รางวัลถ่ายภาพตุ๊กตาทอง: คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๒๓), ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม (พ.ศ. ๒๕๓๖), เสียดาย (พ.ศ. ๒๕๓๗), เสียดาย ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๙),
– ๒ รางวัล สุพรรณหงส์: ต้องปล้น (พ.ศ.๒๕๓๓), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗)
– และ ๒ รางวัลจาก ชมรมวิจารณ์บันเทิง: บุญตั้งไข่ (พ.ศ. ๒๕๓๕), ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม (พ.ศ. ๒๕๓๖),
– ผลงานทิ้งทวนคือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สิ่งงดงามมากๆของการถ่ายภาพ คือแสงเงาและจัดวางองค์ประกอบ มีความลุ่มลึกล้ำในระดับน่าขนหัวลุก

ผ่านพ้น Opening Credit พบเห็น ชด เดินเข้ามาถึงตรงตู้โทรศัพท์ สังเกตแสงเงาที่อาบลงบนใบหน้าของเขา ดวงตาถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท นัยยะสะท้อนถึงอาการรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ มองไม่เห็นอนาคตของตนที่จะได้ตกหลุมรักแต่งงาน (ฉากนี้มันจะไปปรากฎซ้ำอีกครั้งกลางเรื่อง เพื่ออธิบายสาเหตุผลว่าเกิดอะไรเขาถึงกลายเป็นเช่นนี้)

ในห้องนอนของ ชด สถานที่ที่ควรเต็มไปด้วยความสุขสำราญ ร่วมรักเสพสมกับหญิงสาว แต่ภาพช็อตนี้ถ่ายติดกับโมบาย/ของแต่งบ้าน ดูแล้วมีลักษณะเหมือนกรงขัง ซึ่งสะท้อนกับทัศนคติของ ลำเนา มองชีวิตคู่/การแต่งงาน/จดทะเบียน เป็นการผูกมัดตนเองเข้ากรงขัง ไร้ซึ่งอิสรภาพโบยบินสู่ภายนอก

ช่วงกลางเรื่องผู้ชมถึงรับรู้ได้ว่านี่เป็นการขอแต่งงานครั้งที่ ๓ แล้ว แต่ ชด กลับไม่มองจ้องหน้าคุกเข่าแบบโรแมนติก อยู่บนเตียงนอนอย่างทดอะไร หันหน้าทิศตรงกันข้ามกับหญิงสาว นี่สื่อถึงว่าพวกเขาหาได้มีความคิดเห็นตรงกันในเรื่องนี้แม้แต่น้อย

เฉกเช่นเดียวกับเงาที่อาบใบหน้าของทั้งคู่ ช็อตนี้เห็นชัดเลยว่า
– ฝั่งพระเอก เงามืดอาบด้านขวา
– ฝั่งนางเอก เงามืดอาบด้านซ้าย

แสดงถึงทัศนคติ ความคิดเห็น ในเรื่องการแต่งงาน/จดทะเบียนสมรส มิได้ตรงกันแม้แต่น้อย, กระนั้นภายหลังเมื่อ ชด ยินยอมคล้อยตาม จะมีอีกช็อตหนึ่งที่เห็นว่า เงาอาบใบหน้าของพวกเขาในทิศทางเดียวกัน เห็นพ้องต้องด้วย

ฉากงดงามอันดับ ๒ ของหนัง รุ่งเช้าตรู่ ชด กับ ลำเนา กำลังล่องเรือในลำเนาสายหนึ่ง เริ่มต้นสังเกตว่ามีหมอกควันปกคลุมอยู่ ก่อนที่พวกเขาจะคอยๆพายออกมาพ้น นี่ผมนึกว่า Ugetsu (1953) เพราะหมอกควัน คือสัญลักษณะของความคลุมเคลือ มืดหม่น อนาคตที่มองไม่เห็น ซึ่งช็อต Close-Up ใบหน้าของหญิงสาว อยู่ดีๆจะปกคลุมด้วยหมอกควันดังกล่าว สะท้อนความลึกลับพิศวง อันชวนให้ชายหนุ่มใคร่ค้นหาคำตอบว่าคืออะไร

ทุกครั้งที่เห็นฉากในภาพยนตร์เรื่องไหน ถ่ายทำผ่านตู้ปลาใส ก็ให้คาดเดาได้เลยว่ารับอิทธิพลจากหนังเรื่อง The Graduate (1967)

สำหรับฉากนี้คือตอนที่ มีน นำพา ชด มาที่ห้องของเธอครั้งแรก นี่เป็นภาพที่ทำให้เห็นเหมือนว่า พวกเขาทั้งสองต่างเป็นเหมือนปลา ต่างพยายามแหวกว่ายตะเกียกตะกายดิ้นรนอยู่ในวังวนใต้น้ำ (ผิดกับ ลำเนา ที่เปรียบกับนกโผลบินอย่างอิสระ)

ชด กับ ลำเนา ยืนอยู่ริมฝั่ง จับจ้องมองเพื่อนๆต่างกำลังเล่นน้ำโต้คลื่นลม นี่เป็นการสะท้อนวิถีชีวิต
– คนเมือง ต่างพยายามต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิต มองการเล่นคลื่นโต้ตอบกับมันคือความสุขอย่างหนึ่ง
– กับคนที่อยู่บนฝั่งหรือหลุดออกมาแล้ว มันเรื่องอะไรที่เราจะต้องไปต้านทานกระแสน้ำลม เดินเล่นอยู่ริมฝั่งมองดูธรรมชาติ ก็เพียงพอแสนสุขีสบายใจ

ทรงผมหางม้าของพระเอก คงสะท้อนสถานะกึ่งกลางของเขา รวบเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในกฎกรอบวิธี ปล่อยโคนอิสระเว้นช่องว่างให้สามารถกระทำบางเรื่องราวได้ตามใจ

นี่เป็นช็อตสวยงามสุดในหนัง (หลายคนคงเกาหัว มันสวยยังไงว่ะ!) จริงๆมันจะมีหลายขณะที่ภาพนี้ปรากฎขึ้นมา อาทิ รุ่งเช้า ตะวันคล้อย ฯ ช็อตอื่นๆแม้มีทัศนียภาพงามตากว่า แต่นัยยะสำคัญลึกซึ้งภายใน มันคือวินาทีนี้ที่ประกอบด้วย ชิงช้า นายชด และนางสาวลำเนา

เริ่มต้นจาก ชด นั่งไกวชิงช้าอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียว (Ikiru?) จากนั้นลำเนาเดินเข้ามา หัวข้อพูดคุยสนทนาคือ ชายหนุ่มขอหญิงสาวแต่งงาน (นี่เป็นครั้งแรก) เธอนิ่งเงียบเดินไปข้างหน้าเกิดระยะห่างระหว่างพวกเขา ‘เธอพูดในสิ่งนี้เร็วเกินไป’ จากนั้นเขาก็ลุกขึ้นเดินเข้าไปหา (แต่ยังรักษาระยะห่างไว้) ปล่อยชิงช้าให้ไกวเองอยู่สักพักหนึ่ง อธิบายสาเหตุผลที่ต้องพูด เดินต่อไปอีกนิดรำพัน ‘หนทางระหว่างเรา ช่างห่างไกลเหลือเกิน’

การใช้เงามืดพบเห็นเพียงภาพลางๆ สร้างความประทับใจ ‘Impressionist’ ให้กับผู้ชม ตราตรึงไปกับคำพูดของตัวละครเพียงอย่างเดียว แต่มันก็มีนัยยะความหมายของการเคลื่อนไหวสอดแทรกอยู่ด้วย
– ชิงช้า สิ่งสัญลักษณ์เปรียบได้กับชีวิตที่มีการห้อยโหน แกว่งไกวไปมา เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่เจ้าสิ่งนี้มีผู้นั่งจับจองได้เพียงคนเดียว จึงไม่ใช่ใครๆจะสามารถโลดแล่นร่วมกันเล่นไปตลอดรอดฝั่ง
– หญิงสาวเดินออกห่างเมื่อถูกขอแต่งงาน ก็ชัดเจนว่าเธอไม่ค่อยพึงพอใจเสียเท่าไหร่
– นั่นทำให้ชายหนุ่มต้องลุกขึ้นมาแล้วเดินเข้าหา นี่สะท้อนถึง บุรุษเพศต้องรู้จักการปรับตัวเข้าหาอิสตรี ไม่ใช่นั่งแช่นิ่งรอคอยให้เธอเข้าหาแบบยุคสมัยเก่าก่อน
– และเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหญิงสาวจะสามารถปรับตัวเข้าหาเขาร่วมด้วยได้เช่นกัน

พบเห็นฉากนี้ทีแรกทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Maborosi (1995) ของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda แต่ก็ระลึกได้ว่าเรื่องนี้สร้างก่อนนี่หว่า งดงามพอๆกันทั้งสองเรื่อง

ฉากนี้ผมให้คะแนนความสวยอันดับ ๓ ของหนัง แสงสีน้ำเงินยามค่ำคืน อาบฉาบลงบนตัว ลำเนา ให้สัมผัสอันยะเยือกเย็นชา สะท้อนความรวดร้าวระทมทุกข์จากภายใน กำลังครุ่นคิดอย่างหนัก ถึงขนาดต้องจุดบุหรี่สูบพ่นควัน (การสูบบุหรี่ เป็นสัญลักษณ์ของความเครียด บางสิ่งอย่างหนักอึ้งภายในจิตใจ)

ปกติแล้วฉากลักษณะนี้ ผู้ชายมักจะอยู่หน้า แล้วผู้หญิงโอบกอดเข้าข้างหลัง แต่นี่คือ ลำเนา นั่งอยู่ก่อน ชด เข้าสวมกอดด้านหลัง ตีความกลายๆเหมือนว่าเธอเป็นผู้ชี้ชักนำทางหลายๆสิ่งอย่างให้กับเขา (เหมือนผู้หญิงเป็นช้างเท้าหน้า)

ทิ้งท้ายกับช็อตนี้ เมื่อ ลำเนา ตัดสินใจร่ำลาจาก ชด พบเจอกันบนท้องถนนทางแยกระหว่างกำลังรอคอยโบกแท็กซี่ สังเกตว่าภาพมีการปรับโฟกัสใบหน้า Close-Up หญิงสาวมีความคมขัด พบเห็นไฟรถที่วิ่งอยู่บนถนนพื้นหลังเป็นดวงๆเบลอๆ ซึ่งถ้าสังเกตกันจริงๆ มันราวกับจะพุ่งออกจาดวงตาของเธอ นี่เป็นการสะท้อนถึงความคิดวิสัยทัศน์(ของหญิงสาว) กำลังมองตามแสงสว่างไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

ในเครดิตขึ้นลำดับภาพโดย สมเกียรติ วิทุรานิช แต่ไม่ใจเท่าไหร่ เพราะใน Wiki เขียนว่าเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ร่วมงานกับ แจ๊สสยาม ตั้งแต่ คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๓๒)

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ ชด เป็นหลัก เริ่มต้นจากกึ่งกลาง ระหว่างเปิดเพลงนั่งฟังหวนระลึก ย้อนอดีตตั้งแต่จุดเริ่มต้นออกเดินทางท่องเที่ยวกับเพื่อนบนดอย พบเจอหญิงสาวคนรัก ลำเนา ดำเนินต่อเนื่องมาจนบรรจบพบ จากนั้นไปต่อยังอนาคตข้างหน้า ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจบสิ้นที่ทางแยก

ดนตรีประกอบ ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์ นักแต่งเพลงยอดฝีมือประจำสตูดิโอ ไฟว์สตาร์ ผลงานเด่น อาทิ บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓), อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕) ฯ

เพลงประกอบมีทั้งหมดสามรสชาด สามสไตล์ สอดคล้องเข้ากับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร
– ชด ดนตรี Jazz เสียงเป่าแซกโซโฟน ให้สัมผัสบทเพลงของ Miles Davis ล่องลอยโหยหวน อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว
– ลำเนา เทียบแล้วก็บทเพลง เพื่อมวลชน แนวเพื่อชีวิต ใช้เสียงกีตาร์โฟล์คซอง/ฮาร์โมนิก้า สะท้อนความอิสระเสรีเหมือนนกโบยบิน อาศัยอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร
– มีน จะเป็นแนว Pop แห่งปัจจุบันนั้น และเพลงแด่เจ้าดอกไม้ สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจตนเองออกมา

เพลง เพื่อมวลชน ประพันธ์โดย จิ้น กรรมมาชน ขับร้องโดย สบันงา วงศ์โสภา, นี่เป็นบทเพลงเพื่อชีวิต ที่สะท้อนตัวตนของ ลำเนา บุคคลผู้ซึ่งมีความรักต่อผืนธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร เลือกได้ก็อยากเกิดเป็นนกโผลบิน

เกร็ด: นกพิราบขาว สัตว์ที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ สันติภาพ และยังเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและแสดงออกถึงวิชาชีพของสื่อมวลชน

แด่เจ้าดอกไม้ ประพันธ์โดย หงา คาราวาน ขับร้องโดย อดิศักดิ์ ขอประสิทธิ์, เพลงนี้แทนหัวอกของ มีน ได้ตรงตัวมากๆ เพราะความแอบรัก แต่ก็มิสามารถกระทำอะไรแสดงออกมาได้ ยินยอมปลดปล่อยให้เขาโผลบินเป็นอิสระ ได้ครองคู่กับคนที่รักชอบจริงๆ(ที่ไม่ใช่ตนเอง)

หน้าหนังคือการเลือกของ ลำเนา ว่าจะตัดสินใจเป็น ลำเนาชด หรือ ลำเนาไพร ระหว่างจมปลักใต้น้ำในเมืองกรุงกับชายหนุ่มคนรัก หรือโบยบินอย่างอิสระเสรีท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติพร้อมปวงชนผู้ด้อยโอกาส

ซึ่งแนวคิด ทัศนคติ และการตัดสินใจเลือกของลำเนา ได้สะท้อนสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของเพศหญิง หรือเรียกว่า Feminist อิสตรีสามารถครุ่นคิดตัดสินใจ กระทำสิ่งอย่างได้สมประสงค์ด้วยตนเอง โดยไม่ถูกอิทธิพลครอบงำหรือบีบบังคับจากบุรุษ

การตัดสินใจหวนกลับสู่ป่าดงพงไพรของ ลำเนา ยังได้สะท้อนถึงความเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของชีวิต เลือกในสิ่งไม่ได้เกิดจากการปรุงปั้นแต่ง บิดเบือนข้อเท็จจริง อย่างพวกสังคมเมืองกระทำกัน แต่ไม่ใช่ว่าเธออดรนทนไม่ได้ต่อเสียงหมาเห่าใบตองแห้ง แค่เสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจมันดังกึกก้องกังวาลย์กว่า จนมิอาจสามารถหักห้ามตนเองให้ไปสู่ตรงนั้นได้

“โลกของธรรมชาติเป็นโลกอันพิสุทธิ์ ที่กอปรด้วยความรู้สึกของการเปล่งประกายที่ล้ำลึก ทุกๆขณะธรรมชาติมีจุดยืนแห่งตน…เรียบง่ายและลึกซึ้งดุจบทเพลงสวดของศาสนา ชีวิตมีค่าเพียงใด…เมื่อธรรมชาติเป็นลมหายใจของคำตอบที่ทำให้ทุกๆคน ก้าวย่างสู่การค้นหาความหมาย ที่อิ่มเอมในหัวใจได้ทุกเวลานาที”

เสียงเพรียกอันกึกก้องกังวาลย์ของธรรมชาติ ผมขอเรียกว่า อาการโหยหาความสงบสุขทางใจ หรือความรักอันบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ต้องการสิ่งอื่นใดตอบแทน, ชีวิตสังคมเมืองมักเต็มไปด้วยการแข่งขัน ลุกรี้รนราวกับกำลังถูกไฟรนจี้ก้น ไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงเป้าหมายปลายทางจุดสิ้นสุดยุติ ก็มักจนกว่าใครคนใดจะยินยอมยกธงขาวพ่ายแพ้ หรือได้รับมากล้นจนเกินพอแล้วค่อยๆถอนตัวออกมา แต่จะมีอีกประเภทหนึ่งคือเข้าใจและครุ่นคิดได้ก่อน ก็จักสามารถหลุดออกจาก ‘Rat Race’ กงล้อแห่งวัฎจักรชีวิตโดยทันที

ความรักของ ชด มิอาจเรียกได้ว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งนกพิราบขาว ลึกๆแล้วตัวเขาปรารถนาให้หญิงสาวแสดความรักความรู้สึกตอบแทนคืนสนอง, ขณะที่ ลำเนา ตอนแรกตั้งใจจะเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบแทนชายหนุ่ม แต่ภายหลังครุ่นคิดขึ้นได้ ธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรไม่เคยเอ่ยกล่าวคาดหวังขออะไรเรา ถ้าจะรักมันช่างมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องใสดั่งแก้วมณี นั่นต่างหากไม่ใช่หรือที่ฉันควรแสวงหาไขว่คว้า

เรายังสามารถมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในเชิง อนุรักษ์นิยม ปฏิเสธแนวคิดการจัดระบบสังคมของระบอบทุนนิยม ที่พยายามทำทุกสิ่งอย่างให้สามารถประมวลวัดผลด้วยตัวเลข หรือเศษกระดาษใบหนึ่ง (ใบปริญญา, ใบทะเบียนสมรส, ใบสัญญากู้หนี้ยืมสิน ฯ) ซึ่งนี่ได้กลายเป็นบรรทัดฐาน/มาตรฐานโลกปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว เราควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองในหลายๆเรื่อง มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแล้วหรือไม่?

ผมค่อนข้างเชื่อว่าอีกหลายๆศตวรรษถัดจากนี้ มนุษย์จะหมดสูญซึ่งความสุขทางใจ เพราะได้ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของระบอบทุนนิยมจนหมดสิ้น เงินจะกลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ พุทธศาสนาก็คงถึงคราล่มสลายเช่นกัน, ปัจจุบันนี้ถือว่าพวกเรามีความโชคดีอยู่บ้าง หลายเรื่องยังสามารถแยกแยะมองออก อะไรคือสุขแท้-สุขเทียม วิธีการไหนทำให้เอาตัวหลุดรอดพ้น ไม่ต้องถึงขั้นนิพพาน แค่ชาตินี้เรียกรู้จักความ ‘สุขใจ’ ที่เกิดจากความ ‘พอเพียง’ ได้เสียก่อน ศีล สมาธิ และสติปัญญาก็จักตามมาทีละเล็กน้อย

ความสำเร็จของหนัง เข้าชิง ๒ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔
– นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ปวีณา ชารีฟสกุล)
– บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

พ.ศ. ๒๕๓๓ ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของวงการหนังไทย มากด้วยความหลาก หลายเรื่องกลายเป็นตำนาน อาทิ คนเลี้ยงช้าง, ทวิภพ, ปุกปุย, วิถีคนกล้า, ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔, นายซีอุย แซ่อึ้ง, ต้องปล้น ฯ

…คือผมเข้าใจนะ ยุคสมัยนี้เสรีภาพ สิทธิเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ผู้หญิงโหยหาต้องการ เรียกร้องให้ผู้ชายยินยอมน้อมรับให้เกียรติ แต่ขณะเดียวกันพวกเธอก็มักทอดทิ้งวิถีความเป็นสตรี เลือกใช้ชีวิตตามความพึงพอใจส่วนตนมากกว่าตกลงปลงใจครองคู่อยู่กินแต่งงาน มันสร้างความรวดร้าวทุกข์ทรมานใจให้กับบุคคลผู้โชคร้ายที่ได้พบเจอตกหลุมรัก เพราะผมคือหนึ่งในนั้นที่ปัจจุบันก็เป็นอยู่ เข้าใจหัวอกพระเอกชิบหาย เข้าใจนางเอกด้วย แต่ไม่เข้าใจทำไมโลกมันกลายเป็นแบบนี้ไปเสียแล้ว!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สิ่งที่ผมมองว่าทรงคุณค่าสุดหนัง คือประเด็นการมีชีวิตคู่ ความหมายของการอยู่ร่วม ครองรัก แต่งงาน กระดาษใบนั้นมันมีความสำคัญจริงๆนะหรือ? งานแต่งใช้เงินเป็นหมื่นแสนล้าน สุดท้ายเลิกร้างลาจดทะเบียนหย่า ถ้าบ้านรวยมากก็ทำไปเถอะ จนแล้วยังเพ้อฝันหวาน กู้หนี้ยืมสินมาขอสู่สาว ขาดทุนเจ๋งมาก็สมน้ำเน่า ไม่รู้จักเจียมกะลาหัวตนเองเสียบ้างหรือไร

ขอแนะนำเป็นพิเศษกับชายหนุ่มที่ยังไม่เคยพบเจอหญิงสาวลักษณะเช่น ‘ลำเนา’ เรียนรู้จดจำฝังกะลาหัวไว้เลยนะ ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งแกร่งพอก็อย่าคิดริลองเสี่ยงให้เสียเวลา ความสุขของคุณจะคือการเสียสละให้ที่ไม่มีวันได้รับผลตอบแทนคืนสนอง ครุ่นดูเองแล้วกันว่ามันคุ้มค่าหรือสูญเปล่า!

แฟนๆหนังสือ ลำเนาไพร ของ ศิเรมอร อุณหธูป, ชื่นชอบท่องเที่ยวป่าเขาลำเนาไพร, คลั่งไคล้ผู้กำกับ แจ๊สสยาม, และนักแสดงนำ สันติสุข พรหมศิริ, ปวีณา ชารีฟสกุล ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับทัศนคติต่อเหตุผลของการแต่งงาน ความก้าวร้าว ดื้อรั้นหัวชนฝา บุหรี่ สุรา และบรรยากาศอันตึงเครียด ลุ่มหลง เมามาย

TAGLINE | “…คือฉัน คือโคตรหนัง Feminist น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: