จุฬาตรีคูณ

จุฬาตรีคูณ

จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐) หนังไทย : ดอกดิน กัญญามาลย์ ♥♥♥♥

แม้คุณภาพฟีล์ม 16mm ที่คงเหลือถึงปัจจุบันจะไม่ค่อยสวยงามนัก แต่โศกนาฎกรรมความรักระหว่าง อริยวรรต (มิตร ชัยบัญชา) กับ ดารารายพิลาส (เพชรา เชาวราษฎร์) ดัดแปลงจากนวนิยายของ พนมเทียน ช่างงดงามตราตรึงยิ่งนัก และบทเพลงจุฬาตรีคูณ ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล (วงสุนทราภรณ์) เพราะพริ้งเหนือกาลเวลา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในบรรดาผลงานของคู่ขวัญตลอดกาลแห่งเมืองไทย มิตร-เพชรา หลายคนอาจชื่นชอบ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), รักเอย (พ.ศ. ๒๕๑๑), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ แต่โดยส่วนตัวหลงใหล จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐) เรื่องนี้ที่สุดแล้ว ไม่รู้เพราะตอนจบเป็นโศกนาฎกรรมความรักด้วยหรือเปล่านะ เลยตราตรึงประทับจิตมากเป็นพิเศษ

ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (เกิด พ.ศ. ๒๔๗๔) นักเขียนนามปากกา พนมเทียน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เกิดที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชื่นชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ ๑๒ ขวบ ต้องหลบหนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองไปพักอาศัย ณ บ้านต้นตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งสะสมหนังสือไว้มากมาย ทำให้ได้เริ่มอ่านวรรณคดีของไทย รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯ จนเกิดความอยากเขียนเองบ้าง ระหว่างเรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ตามด้วยสวนกุหลาบวิทยาลัย ทดลองเขียนนิยาย เห่าดง (พ.ศ. ๒๔๘๔) ในหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ให้เพื่อนๆอ่าน ตามด้วย จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ส่งเสนอสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ไม่มีใครไหนให้ความสนใจ เพราะตัวเขายังไม่มีชื่อเสียงเรียงนามเพียงพอ

แรงบันดาลใจของ จุฬาตรีคูณ พนมเทียนเล่าว่า เกิดจากการอ่านวรรณคดีไทยที่อยู่ในหลักสูตร ม.๖ เรื่อง กามนิต-วาสิฎฐี, Der Pilger Kamanita (ค.ศ. 1906) นิยายอิงพระพุทธศาสนา (นิกายมหายาน) ประพันธ์โดย Karl Adolph Gjellerup (1857-1919) ชาวเดนมาร์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1917

เกร็ด: กามนิต ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน’ ฉบับภาษาไทยแปลโดย เสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ รูปประกอบโดย ช่วง มูลพินิจ

มีข้อความตอนหนึ่งที่ทำให้คุณฉัตรชัยสะดุดใจ พูดถึงวังน้ำวนอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือกำเนิดจากแม่น้ำคงคาและยมุนาไหลมาบรรจบกัน ความรุนแรงของสายน้ำทำให้เกิดเป็นวังน้ำวน และในยามค่ำคืนก็จะมีทางช้างเผือกที่สว่างไสวขาวโพลนทอดยาวลงมาราวกับจะมาบรรจบกัน ณ ที่แห่งนั้นถูกขานนามว่า ‘คงคาสวรรค์’ จึงเท่ากับเป็นการบรรจบกันของแม่น้ำ ๓ สาย คือ ๒ พื้นพิภพ และอีก ๑ จากสรวงสวรรค์ ตำแหน่งดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘จุฬาตรีคูณ’

เกร็ดข้อเท็จจริง: จุฬาตรีคูณ หรือ สังคัม (Sangam) เป็นชื่อของสถานที่ในเมืองอัลลอฮาบาด (Allahabad) แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียสามสายบรรจบกันคือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวตี ในทางกายภาพจะเห็นเพียงแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาเท่านั้น เพราะแม่น้ำสรัสวดีเป็นแม่น้ำในตำนาน (ว่ากันว่าอาจคือธารน้ำใต้ดิน) ซึ่งสถานที่แห่งนี้ ยังใช้ประกอบพิธีกรรม มหากุมภะ ของศาสนาฮินดู

ภาพถ่ายมุมสูง ทำให้มองเห็นการบรรจบกันระหว่าง แม่น้ำคงคา-แม่น้ำยมุนา แบ่งแยกสีชัดเจน นี่เองสินะ จุฬาตรีคูณ

จุฬาตรีคูณ เป็นชื่อที่แสนไพเราะ สถานที่คงจะสวยงามชวนฝัน หากนำคำนี้มาผูกเป็นนิยายรักที่ออกเศร้าสร้อยคงดีไม่น้อย, ปีถัดมา เมื่อคุณฉัตรชัย เดินทางไปศึกษาต่อยังคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จึงมีโอกาสศึกษาร่ำเรียนประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ในอดีตสถานที่แห่งนี้คือ กรุงพาราณสี เมืองหลวงของแคว้นกาสี เลยเริ่มต้นเขียนจินตนิยายย้อนยุค และยังได้แนวคิดเพิ่มเติมจากเทพปกรณัมกรีก Narcissus ชายหนุ่มรูปงาม ผู้ซึ่งเมื่อยามมองลงไปบนผืนน้ำแล้วได้พบเห็นเงาสะท้อนของตนเอง บังเกิดความหลงใหลตกหลุมรัก โดยหาทราบไม่นั่นเป็นเพียงภาพเงา ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนสุดท้ายสิ้นชีวิตเพราะมิอาจผละสายตาไปจากความงามของเงาสะท้อนตนเอง

“(จุฬาตรีคูณ) เคยไปเสนอโรงพิมพ์แต่ไม่มีใครรับ เราก็เก็บไว้ พอกลับมาคนเริ่มรู้จัก จุฬาตรีคูณ ยังไม่ได้พิมพ์ก็มีคนมาขอไปทำภาพยนตร์ แล้วพอ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เจ้าของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้อ่าน ก็ช่วยกันแต่งเพลงประจำเรื่องจุฬาตรีคูณให้อีก ๕ เพลง คือ เพลงจุฬาตรีคูณ เพลงเจ้าไม่มีศาล เพลงอ้อมกอดพี่ เพลงใต้ร่มมลุลี และเพลงปองใจรัก ก็เลยได้ตีพิมพ์ทีหลัง เป็นนวนิยายที่มีเพลงประจำด้วย”

– พนมเทียน

พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังจากครูแก้วได้นำนวนิยาย จุฬาตรีคูณ มาทำเป็นละครเวที แสดงที่ศาลาเฉลิมไทย โดยคณะลูกไทย ทำให้ชื่อ แก้วฟ้า-พนมเทียน มีชื่อเสียงขึ้นมา (ละครเวที จุฬาตรีคูณ ใช้ชื่อแก้วฟ้า-พนมเทียน เพราะแก้วฟ้านำมาทำเป็นบทละคร ส่วนพนมเทียนเป็นผู้ประพันธ์) และผลงานเรื่องแรกที่เคยเขียนไว้ เห่าดง ก็เริ่มได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์รายวัน

reference: http://oknation.nationtv.tv/blog/chai/2007/08/30/entry-2

ความนิยมของพนมเทียน ส่วนหนึ่งสามารถวัดได้จากหลายๆผลงานได้รับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ก่อนหน้าเรื่องนี้ อาทิ เล็บครุฑ (พ.ศ. ๒๕๐๐), เห่าดง (พ.ศ. ๒๕๐๑), กัลปังหา (พ.ศ. ๒๕๐๕), รัศมีแข (พ.ศ. ๒๕๐๘) ฯ ล้วนประสบความสำเร็จทำเงินหลักล้านบาท และเมื่อเริ่มเขียน เพชรพระอุมา (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๓๓) ก็ยิ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่แปลกถ้านวนิยายเรื่องอื่นๆจะถูกติดต่อขอนำมาสร้างหนังอีกนับครั้งไม่ถ้วน

ดอกดิน กัญญามาลย์ ชื่อจริง ธำรง กัญญามาลย์ (พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๕๖๑) นักแสดง ผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์ เจ้าของวลีดัง ‘ล้านแล้ว…จ้า’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) ชื่อเล่นว่าดิน เพราะเป็นคนตัวดำ ตั้งแต่เด็กชอบร้องลิเก เพลงพื้นบ้าน จนได้ฝึกและออกแสดงครั้งแรกกับคณะสวดคฤหัสถ์, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มเข้าสู่วงการจากการเล่นจำอวดร่วมกับ อบ บุญติด แล้วหันมาเล่นละครย่อย ร้องเพลงหน้าม่าน และลิเก คณะศิวารมย์ ของครูเนรมิต, ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เล่นละครกับ คณะอัศวินการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นตัวตลก และเริ่มใช้ชื่อการแสดงว่า ดอกดิน กัญญามาลย์, เริ่มสร้างภาพยนตร์ 16mm ร่วมกับ ล้อต๊อก และ สมพงษ์ พงษ์มิตร เรื่อง สามเกลอ (พ.ศ. ๒๔๙๕), ผลงานเด่น อาทิ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๗), จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐), คนกินเมีย (พ.ศ. ๒๕๑๗), แหม่มจ๋า (พ.ศ. ๒๕๑๘) แจ้งเกิด มยุรา เศวตศิลา, สิงห์สำออย (2520) ฯ

หลังจากประสบความสำเร็จล้นหลามกับ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๗) ล้านแรกของ ดอกดิน, ตนเองและเพชรา ยังคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง ช่วงนั้นเลยแทบจะผูกขาดร่วมงาน มิตร-เพชรา มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ลมหวน (พ.ศ. ๒๕๐๘), แสงเทียน (พ.ศ. ๒๕๐๙), มดแดง (พ.ศ. ๒๕๑๐), ปูจ๋า (พ.ศ. ๒๕๑๐) จนมาถึง จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐) เลือกดัดแปลงจากละครเวที และนำแผ่นครั่งส่งให้โรงหนังพร้อมกันด้วย สำหรับเปิดประกอบขณะพากย์ฉาย

เกร็ด: ในจำนวนภาพยนตร์ ๓๒ เรื่องของดอกดิน ทำรายได้เกิน ๑ ล้านบาททั้งสิ้น ๒๔ เรื่อง ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเมืองไทยก็ว่าได้

เรื่องราวของ อริยวรรต (มิตร ชัยบัญชา) จอมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ต้องการรวมแผ่นดินชมพูทวีปให้เป็นหนึ่ง ยาตราทัพมาหยุดถึงริมฝั่งแม่น้ำคงคา เตรียมตัวข้ามไปยังกรุงพาราณสี แต่ราตรีนั้นฝันเห็นนิมิตหมาย ดารารายพิลาส (เพชรา เชาวราษฎร์) หญิงสาวสะอื้นร่ำไห้ชิงชังในความงามของตนเอง ด้วยความรุ่มร้อนพระทัยอยากพบเจอตัว จึงสั่งเลิกทัพแล้วชักชวนน้องรัก ขัตติยะราเชนทร์ (สมบัติ เมทะนี) ให้ร่วมออกเดินทางไปด้วยกัน กระนั้นด้วยความเฉลียวฉลาดของพระอนุชา ล่วงรู้ได้ว่านั่นย่อมเป็นเหตุลางร้าย พยายามขัดขวางแนะนำให้กลับไปอภิเษกสมรสพระคู่หมั้น อาภัสรา (เนาวรัตน์ วัชรา) ที่แม้จะเป็นคนรักของตน แต่พระราชบิดาทรงจัดการหมั้นหมายไว้ก่อนสวรรคต จึงมิอาจขัดคำสั่งพระทัย แต่สุดท้ายก็มิอาจขืนความดื้อด้านของราชะกษัตริย์ ยินยอมออกนำทางสู่กรุงพาราณสี พร้อมอีกหนึ่งบริวารตัวดำ (ดอกดิน กัญญามาลย์) เพื่อสร้างสีสันให้เรื่องราว

อริยวรรต ปลอมตัวเป็นพราหมณ์ วิพาหะ (ในนิยายคือผู้มีจักษุเพียงข้างเดียว, ในหนังแสร้งเป็นบอดสนิท) ขณะที่ ขัตติยะราเชนทร์ ปลอมเป็น กัญญะ ผู้มีเสียงเสนาะปานนกโกกิลา ทั้งสองเข้าไปถึงชานเมืองพาราณสีวันเดียวกับที่เจ้าหญิง ดารารายพิลาส ทรงหมั้นกับ กาฬสิงหะ กษัตริย์แห่งเวสาลีและเสด็จมานมัสการองค์ศิวะเทพที่เทวาลัย เมื่อนางแม่มดผู้ดูแลวิหาร เทวตี อัญเชิญเสด็จเจ้าหญิงเข้าสู่เทวาลัยใต้เงื้อมผา มีแต่เหล่าพี่เลี้ยงนางกำนัลตามเสด็จ ทันใดนั้นเกิดแผ่นดินไหวหินถล่มลงมาทับนางแม่มดและเหล่านางกำนัลตายสิ้น ส่วนเจ้าหญิงนั้น วิพาหะ เข้าไปช่วยพาตัวออกมาได้อย่างหวุดหวิด จากการช่วยชีวิตครั้งนี้ ทำให้สองสหายได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังตามคำเชิญของพระเจ้ากรุงพาราณสี

พราหณ์ วิพาหะ แฝงตัวเข้าไปพบเจ้าหญิงที่จุฬาตรีคูณ ซึ่งอยู่ติดกับอุทยานด้านหลังของปราสาทที่บรรทม ใช้เล่ห์มารยาเผยรูปโฉมแท้จริงจนผูกรักสมัครใคร่ ต่อมาถูกฝ่ายกาสีจับได้นำตัวไปคุมขังคุก ดารารายพิลาส จึงแอบเข้าไปช่วยเหลือปลดปล่อย แต่เขายืนกรานจะนำกองทัพทหารเข้ามาทำลายล้างกรุงพาราณสี สร้างความขุ่นเคืองให้หญิงสาวตะโกนเรียกทหาร ขณะเดียวกัน ขัตติยะราเชนทร์ นำทหารมาช่วยอีกแรงทำให้สามารถหนีออกไปได้ แต่พระอนุชากลับเสียท่าโดนจับกุมไว้แทน ได้รับข้อเสนอให้แลกเปลี่ยนเชลย คราแรก อริยวรรต ยืนกรานปฏิเสธเพราะไม่ต้องการเสียนางผู้เป็นที่รักไป ตั้งใจจะบุกโจมตีกาสีแทน เจ้าหญิงไม่ยอมเป็นคนบาปของแคว้นเลยกล่าวตัดขาดกับ อริยวรรต บีบบังคับให้แลกเปลี่ยนตัวนาง คล้อยลับหลังไปไม่นาน ขัตติยะราเชนทร์ ก็หนีกลับมาได้ก่อนเสียอย่างนั้น

ด้วยความเสียพระทัยที่ถูก องค์หญิงคนรักตัดรอนน้ำใจ ทำให้ไร้พระสติครุ่นคิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ทรงตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสกับพระคู่หมั้นโดยทันทีกลางป่าไพร โดยไม่ฟังคำทัดทานจากใครว่าผิดโบราณราชประเพณีถือเป็นลางวิบัติ หลังเสร็จพิธีเจ้าหญิง ดารารายพิลาส ทรงหนีจากงานอภิเษกของตนเอง แต่กลับพบว่า อริยวรรต กลับมีราชินีแห่งมคธไปแล้ว ทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งวิ่งหนีออกไปราวกับวิกลจริต ขณะเดียวกัน อริยวรรต คลุ้มคลั่งหนักยิ่งกว่า ยืนกรานยกทัพบุกกรุงพาราณสี แม้พระอนุชาจะทรงทัดทานเพียงไรก็ไม่รับฟัง กลับยังยกบัลลังก์แคว้นมคธให้ขึ้นครองราชย์ ส่วนพระองค์เองเข้าสู่สงครามนำหน้า ต่อมา ขัตติยะราเชนทร์ ยกทัพตามกลับไปสมทบก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว อริยวรรต ทรงต้องอาวุธสวรรคต ขณะที่ ดารารายพิลาส ถูกกาฬสิงหะ และราษฎรทั้งอาณาจักรบังคับสู่สถานจุฬาตรีคูณ สังเวยชีวิตเฉกเช่นเดียวพระแม่ของนาง

นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา ชื่อจริง พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๑๓) พระเอกอันดับ ๑ ตลอดการของเมืองไทย เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ชื่นชอบเล่นกีฬาและชกมวย ช่วงระหว่างรับราชการทหารอากาศ จ่าโทสมจ้อยเห็นรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาเอาการ ท่าทางบุคคลิกดีอ่อนโยน เลยส่งรูปแนะนำตัวให้กับ กิ่ง แก้วประเสริฐ จนได้กลายเป็นพระเอกหนังเรื่องแรก ชาติเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๑), โด่งดังกับ จ้าวนักเลง (พ.ศ. ๒๕๐๒), ประกบคู่ขวัญตลอดกาล เพชรา เชาวราษฎร์ ครั้งแรกเรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๔), ผลงานเด่นอื่นๆ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ

รับบทอริยวรรต กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ว่ากันว่าสาเหตุแท้จริงที่ทรงบ้าคลั่งการสงคราม เพราะไม่อยากกลับไปขึ้นครองราชย์สมบัติ แล้วอภิเษกสมรสพระคู่หมั้น อาภัสรา ที่เป็นคนรักอยู่ก่อนแล้วของพระอนุชา ทั้งยังเป็นการออกค้นหาหาหญิงสาวที่มั่นเหมาะสมกับตนเองเท่านั้น ค่ำคืนหนึ่งฟ้าบันดาลให้เกิดนิมิตหมาย ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอื่นนอกจากครอบครองนางในฝันแต่เพียงผู้เดียว

ถึงจะรับบทบาทพระราชา มิตร ก็ยังคงเป็น มิตร (มากกว่าเป็นพระราชา) แต่ต้องยอมว่าภาพลักษณ์ Charisma เหมาะสม ยิ่งใหญ่ น่าเกรงขามอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็สามารถกลายเป็นลูกแมวน้อยเมื่ออยู่ในอ้อมอกสาวคนรัก ความหน้ามืดตามัวเป็นเหตุให้บอดสนิทลืมเลือนวัตถุประสงค์ตั้งใจเดิม เมื่อแอบพบเห็น มเหสี กับ พระอนุชา สนทนาด้วยความบริสุทธิ์จากใจ ค่อยเริ่มรู้สำนึกได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง ตระหนักโดยสันชาตญาณ นี่ย่อมเป็นการสงครามครั้งสุดท้ายในชีวิตอย่างแน่นอน

สมบัติ เมทะนี (เปิดปี พ.ศ. ๒๔๘๐) นักแสดง ผู้กำกับชาวไทย ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของสถิติ Guinness World Records รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลกถึง ๖๑๗ เรื่อง, เข้าสู่วงการบันเทิงโดยบังเอิญจากแมวมองแถวโรงภาพยนตร์คิงส์-ควีนส์ ย่านวังบูรพา ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ แสดงละครโทรทัศน์เรื่อง หัวใจปรารถนา (พ.ศ. ๒๕๐๓) ประกบวิไลวรรณ วัฒนพานิช, ต่อด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก รุ้งเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๔) ประกบ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, ผลงานเด่นๆ อาทิ น้ำตาลไม่หวาน (พ.ศ. ๒๕๐๗), ศึกบางระจัน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เกียรติศักดิ์ทหารเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๘), จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐), เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), พ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๑๕), สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ฯ

รับบทขัตติยะราเชนทร์ พระอนุชาของ อริยวรรต เป็นผู้จงรักภักดีต่อพี่ คนรัก และผืนแผ่นดินมคธ มีความเฉลียวฉลาด มากด้วยสติปัญญา รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง มีทุกสิ่งอย่างเหนือกว่าพระเชษฐา แค่คลานออกจากพระครรภ์มาทีหลัง จึงต้องทรงเฝ้าคอยติดตามออกไปสู้รบปรบมือ รวมไปถึงในเรื่องการรัก ก็พร้อมเสียสละหลีกทางให้ แม้สุดท้ายจะสารู้แก่ใจ ก็มิอาจสกัดกั้นขวางโชคชะตาฟ้าดิน

ครั้งที่ ๔ สุดท้ายที่ สมบัติ ประกบคู่กับ มิตร นั่นเพราะนายทุนไม่ค่อยอยากให้พวกเขาประกบคู่กันเท่าไหร่ มันจะเป็นการเปรียบเทียบพระเอก ใครยิ่งใหญ่โดดเด่นเหนือกว่า ซึ่งครานี้เห็นชัดเลยว่า สมบัติ โดดเด่นกว่า มิตร เพราะต้องเป็นคนรองมือรองเท้า เสียสละตนเองแทบทุกสิ่งอย่างเพื่อพระเชษฐา อึดอัดอั้นรวดร้าวทุกข์ทรมาน แต่ยังคงยึดถือมั่นในคุณธรรม จริยธรรมสูงส่ง

ว่าไปชีวิตจริงของทั้งสอง สะท้อนเข้ากับบทบาทในหนังเรื่องนี้เลยนะ มิตร เข้าวงการก่อนโด่งดังระดับพระราชา สมบัติ มาที่หลังเลยสถานะเพียงพระอนุชา แถมยังมีฝีมือการแสดงโดดเด่นกว่ามาก เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน พ.ศ. ๒๕๑๓ หลังจาก มิตร สูญเสียชีวิตจากไป ก็กลายเป็น สมบัติ ก้าวขึ้นมาเป็นพระราชาองค์ใหม่แห่งสยามประเทศแทน

เพชรา เชาวราษฎร์ ชื่อจริง เอก ชาวราษฎร์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๖) ชื่อเล่น อี๊ด นางเอกภาพยนตร์ไทยเจ้าของฉายา ‘นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง’ เกิดที่จังหวัดระยอง เมื่ออายุ ๑๕ เข้ามาเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ช่วงงานที่ร้านเสริมสวยของน้องสาวพี่เขย ได้รับการชักชวนเข้าร่วมประกวดเทพธิดาเมษาฮาวาย พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ทำให้ได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และดอกดิน กัญญามาลย์ ให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๕) ประกบ มิตร ชัยบัญชา ตามด้วย ดอกแก้ว (พ.ศ. ๒๕๐๕) กลายเป็นคู่ขวัญพระ-นาง มีชื่อเสียงโด่งดังค้างฟ้า อมตะเหนือกาลเวลา ผลงานเด่นๆ อาทิ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๘), เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), สวรรค์เบี่ยง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ

รับบท ดารารายพิลาส แค่ชื่อก็สื่อถึงความงดงามดั่งดาวบนฟากฟ้า แต่เริ่มต้นมาด้วยความจงเกลียด เดียดฉันท์ ความสวยของตนเอง เพราะเชื่อว่าพระมารดา ดาราราย ถูกสังเวยชีวิตเพราะถูกมั่นหมายให้สมรสกับกษัตริย์กรุงพาราณสี แต่พระองค์ทรงมีคนรักอยู่ก่อนแล้ว ได้พยายามหนีตามหลังจากให้ประสูติ ดารารายพิลาส แต่ชาวเมืองกลับมีมติให้นำไปถ่วงน้ำที่จุฬาตรีคูณ

แต่ชีวิตก็มักพบเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม กงกรรมกงเกวียน เวียนมาบรรจบวนดั่งสายน้ำไหล เมื่อตัวเธอได้รับการช่วยเหลือจากพราหมณ์ปลอมตัวมา รับรู้ว่าแท้จริงคือ ราชะกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ พยายามปฏิเสธคบหาความชั่วร้ายของเขา แต่ก็เป็นเหตุให้ต้องเลือกระหว่างความปรารถนาทางใจของตนเอง กับปวงประชาราษฎร มิอาจคิดคดทรยศต่อผืนแผ่นดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน สุดท้ายเมื่อตัดสินใจแน่วแน่กลับพบเจอความผิดหวัง ชอกช้ำระกำใจ หวนกลับมาหาจุฬาตรีคูณครั้งสุดท้าย ทอดกายและวิญญาณให้ล่องลอยไปกับสายน้ำนี้

ความงามของ เพชรา เป็น ดารารายพิลาส ได้อย่างหมดจรดสมบูรณ์แบบ ทั้งจริตจ้าน ความสามารถ บีบคั้นเค้นอารมณ์ สะท้อนความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างทรงพลัง อะไรเป็นสิ่งสำคัญสุดครุ่นคิดจนแทบคลั่ง รวดร้าวทุกข์ทรมานใจแสนสาหัสเมื่อพบความผิดหวัง ไม่หลงเหลือจิตวิญญาณใดๆให้อยากอยู่ต่อบนโลกใบนี้

เนาวรัตน์ วัชรา ชื่อจริง สมิรา ลำยาน (เกิด พ.ศ. ๒๔๙๒) ชื่อเล่น แหม่ม ลูกครึ่งไทย-ปาทาน พ่อเป็นชาวปากีสถาน นับถือพุทธศาสนา เกิดที่จังหวัดนครพนม จบการศึกษาชั้น ม.ศ. ๓ จากโรงเรียนวัดเศวตรฉัตร เข้าประกวดนางงามหลายที่ในชื่อ อรัญญา ดาราพร คว้ารางวัล รองนางสาวไทย อันดับ ๔ ในการประกวดนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๗ (ปีที่ อภัยรา หงสกุล คว้ารางวัลนางสายไทย), กรุยทางสู่วงการแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก เดือนร้าว (พ.ศ. ๒๕๐๘) ประกบ มิตร ชัยบัญชา คว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, ผลงานเด่นๆมักเล่นเป็นนางเอกเจ้าน้ำตา จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐), รักต้องห้าม (พ.ศ. ๒๕๑๕), แม่อายสะอื้น (พ.ศ. ๒๕๐๕), ลูกเหนือ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ฯ หลังจากแต่งงานเลยออกจากวงกร เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ยังมีชีวิตอยู่

รับบท อาภัสรา แม้จะทรงเป็นคู่หมั้นของ อริยวรรต แต่จิตใจตกหลุมรักใคร่ ขัตติยะราเชนทร์ ชีวิตมิต้องการแก้วแหวนเงินทอง มงกฎเลอค่าประการใด ขอแค่ได้ครองคู่อยู่กับบุคคลผู้ใจตนแสวงหา แต่เมื่อจอมกษัตริย์ทรงตรัสต้องการอภิเสกสมรส มิอาจหักห้ามทัดทานจนกลายเป็นมเหสี ตัดพ้อกับอดีตคนรัก ไฉนถึงกลับทอดทิ้งน้ำใจนางได้ลง

บทเล็กๆที่สร้างความรวดร้าวระทมใจให้กับผู้ชม ฉันทำผิดอะไรถึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกสถานนี้ โชคยังดีที่เสียงเพรียกจากหัวใจส่งไปถึงจอมกษัตริย์ เลยคงจะได้สุขสมเมื่อกาลเวลาผ่านไป

ถ่ายภาพโดย สมาน ทองทรัพย์สินธุ์, ด้วยฟีล์ม 16mm ต้นฉบับถือเป็นหนังเงียบ ใช้การพากย์เสียงหน้าโรง

หนังไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำยังประเทศอินเดียนะครับ จำลองสร้างฉากขึ้นในโรงถ่าย โดยเฉพาะเมืองพาราณสี มีความอลังการใหญ่โตอยู่ไม่น้อย นั่นเป็นเหตุให้ส่วนใหญ่การถ่ายทำอยู่ในระยะภาพ Medium Shot และ Close-Up นอกเสียจากฉากสงครามสู้รบพุ่งกันตรงท้องทุ่งกว้าง เลยสามารถมี Long Shot ถ่ายติดทิวทัศน์นียภาพ และการควบม้าศึกเข้าประจันหน้า

ไดเรคชั่นงานภาพของ ดอกดิน กัญญามาลย์ ผมเคยวิพากย์ไว้ตอน สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐) ว่ามีสัมผัสคล้ายคลึงหนังของ Howard Hawks ไม่ค่อยมี Establish Shot หรือปรุงแต่งฉากให้มีนัยยะความหมายลึกซึ้งประการใด เทคนิคก็ทั่วไป Panning, Tracking, เรื่องนี้มี Visual Effect เพิ่มเข้ามาด้วย ซ้อนภาพ ดารารายพิลาส ขณะ อริยวรรต กำลังหลับเพ้อฝัน ฯ

ฉากสงครามสู้รบ ต้องชมเลยว่ามีไดเรคชั่นที่ดูสนุก เพลิดเพลินกำลังพอดี ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า ผู้ชนะสิบทิศ (พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๐), เริ่มจากถ่าย Long Shot ระยะไกล พบเห็นศัตรูและฝ่ายตนเอง ควบม้าเข้าประจัน พอถึงระยะประทะก็ถ่ายมุมเงย (จากพื้น) กรอบการต่อสู้ของตัวละครสำคัญๆ สลับสับเปลี่ยนไปมาจนครบถ้วน ใครถูกฟันก็จะมีดิ้นพร่านแค่พอเป็นพิธี ไม่ได้เย่อเยิ้อครวญครางไม่ยอมตายสักที พอตัวประกอบสำคัญหมดสิ้นหน้าที่ ก็หลงเหลือแต่พระเอก-พระรอง มุ่งสู่ปลายทางสุดท้าย

ตัดต่อโดย …ไม่มีเครดิต… เหมือนว่าหนังเล่าเรื่องในมุมมองของขัตติยะราเชนทร์ เริ่มต้นมาเห็นกำลังเกี้ยวพาราสี อาภัสรา จากนั้นไปปลุกพระเชษฐา อริยวรรต ยินยอมนำทางสู่กรุงพาราณสี แม้จะมีฉากราชะเกี้ยวพาองค์หญิง แต่สามารถจินตนาการได้ว่า พระอนุชาคงแอบเฝ้ามองอารักขาอยู่แถวๆนั้น

ค่อนข้างน่าเสียหายที่หลายๆฉากได้สูญหาย อยู่ดีๆกระโดดข้ามไป คาดเดาได้เลยว่านั่นคงเกิดจากการเสื่อมสภาพของฟีล์มจนมิอาจกู้กลับคืน (หรือไม่ก็สูญหายไปจริงๆ) กระนั้นฉากสำคัญๆที่ทำให้ดูหนังรู้เรื่องยังคงอยู่ครบ ประติดต่อได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร … มันไม่ใช่อารมณ์หงุดหงิดนะ เป็นความเสียดายมากกว่า

สำหรับเพลงประกอบ ต้องชมบริษัทที่ทำการ Telecine และพากย์เสียงใหม่ เลือกนำเอาบทเพลงจากฉบับละครเวที นำมาปรับใช้ใส่เข้าไปในหนัง ทำให้อรรถรสในการรับชมเกิดสุนทรียะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ด้วยกลิ่นอายอินเดีย ช่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง งดงามจนน้ำตาไหลพรากๆ

มีทั้งหมด ๕ เพลงดัง (จุฬาตรีคูณ, ใต้ร่มมลุลี, ปองใจรัก, อ้อมกอดพี่, จ้าวไม่มีศาล) แต่ขอเลือกนำมาเสนอเพียง ๓ บทเพลงอมตะ คำร้องโดย ครูแก้ว อัฉริยะกุล, ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน

จุฬาตรีคูณ ต้นฉบับละครเวทีขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๖) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) อดีตนักร้องหญิงคนแรกของวงดนตรีกรมโฆษณาการ และนักร้องรุ่นแรกของวงสุนทราภรณ์

ความงดงามของเพลงไทยสมัยก่อน คือสัมผัลคำร้องที่มีความคล้องจองดั่งบทกวี ความหมายลึกซึ้งในทุกคำประโยค และลีลาการขับร้อง ออกเสียงคมชัดเจนทุกตัวอักษร รักษาความงดงามภาษาไทยได้อย่างเลิศเลอค่า

ข้าแต่คงคา จุฬาตรีคูณ
ดวงใจข้าอาดูร หนักเอย

ความงามวิไล ข้ามิได้ปรารถนา
ข้าชังนักหนา เจ้าเอย

เพราะชนนีข้าวิไล
จึงถูกสังเวยเสียในสายชล ด้วยรักเอย

จุฬาตรีคูณ ชนนีชีพสูญ
ในสายจุฬาตรีคูณ นี่เอย

ดารารายเลิศโสภา
ข้าไม่นำพา เพราะกลัวว่าจะถูกสังเวย

โปรดสาบสรรค์ ขอให้โฉมอันน่าเชย
สิ้นสวยเลยไร้ค่า

ให้ข้าน่าชัง สิ้นหวังชื่นชม
ขอให้ไร้ผู้นิยม นำพา

ขอให้สมใจในปรารถนา
นะจุฬาตรีคูณ เจ้าเอย.

บทเพลงใต้ร่มมลุลี ต้นฉบับขับร้องคู่ วินัย จุลละบุษปะ – เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ในหนังขับร้องใหม่โดย สมบัติ เมทะนี และ สวลี ผกาพันธ์ ไม่เทียบเท่าต้นฉบับ แต่ถือว่ามีเสน่ห์ของตนเองอยู่ไม่น้อย

เพลงปองรัก ต้นฉบับขับร้องโดย เอื้อ สุนทรสนาน และ มัณฑนา โมรากุล

จุฬาตรีคูณ คือบริเวณที่แม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบ พานพบ ผสมรวมกลายเป็นลำเนาสายใหม่เคลื่อนไหลต่อไปราวกับไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น สะท้อนเข้ากับเรื่องราวดำเนินไปของชีวิต การพบเจอระหว่าง อริยวรรต กับ ดารารายพิลาส ราชะกษัตริย์ กับ เจ้าหญิงแห่งแคว้นศัตรู ถึงแม้แตกต่างแต่ความรักไม่มีพรมแดนขวางกั้น ต้องการครอบครองเป็นของกันและกัน ไม่ได้ด้วยกายในชาตินี้ สิ้นชีวีกลายเป็นจิตวิญญาณ อาศัยครองคู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆ ดารารายพิลาส คือ กรุงพาราณสี ความต้องการครอบครองเป็นหญิงสาวของ อริยวรรต ปากอ้างด้วยใจรักแต่กลับครุ่นคิดพูดบอกใช้ความรุนแรง ยกทัพจับศึกตีหัวเมือง จนกว่าได้รับชัยชนะเป็นองค์จักรพรรดิ แต่นั่นหาใช่วิธีถูกต้องเหมาะสมควรไม่

ชายหนุ่มถ้าต้องการครอบครองหญิงสาว ต้องแสดงออกด้วยความรัก ความเข้าใจ ห่วงใยเอ็นดูทะนุถนอม เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความดีคือสิ่งที่สตรีมักจะตกหลุม’ไหล’ (อย่าเอาไปรวมกับอำนาจ เงินทอง ความเพ้อคลั่งวัตถุนิยม ของคนยุคสมัยนั้นนะครับ) ไม่ต่างอะไรกับประชาราษฏร์ หาได้ต้องการกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร จับศึกใต้หล้าไม่เคยพบความพ่ายแพ้ แต่คือมหาราชาผู้ยึดมั่นในทศพิธราชธรรม จักทำให้ประเทศชาติร่มเย็นสงบสุขสบาย

ดูกรพระยาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่
เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศล
ธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง
ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความ
อดทนและความไม่พิโรธ แต่นั้นปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อย ย่อมเกิด
แก่เรา ก็สุมุขหงส์นี้ไม่ทันคิดถึงคุณสมบัติของเรา ไม่ทราบความประทุษ
ร้ายแห่งจิต จึงเปล่งวาจาอันหยาบคาย ย่อมกล่าวถึงโทษที่ไม่มีอยู่ในเรา
คำของสุมุขหงส์นี้ ย่อมไม่เป็นเหมือนคำของคนมีปัญญา.

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘, พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐, ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง

ความลุ่มหลงใหล ยึดติดในกิเลส ตัณหา ราคะ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์หน้ามืดตาบอด มองไม่เห็นทิศทางถูกต้องเหมาะสมในการดำเนินชีวิต ขาดธรรมะในการปกครองผู้คนประเทศชาติ รังแต่จักนำสู่ความวิปโยคหายนะ ทั้งตนเองและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

ช่วงทศวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๐๑ ประเทศไทยเต็มไปด้วยปัญหาการเมือง เกิดรัฐประหาร ๕ ครั้งในรอบ ๑๒ ปี ย่อมแสดงว่าผู้นำประเทศแม้งโคตรคดโกงกินคอรัปชั่น สร้างความเดือดเนื้อร้อนรุ่มว้าวุ่นวายใจให้กับคนทั้งชาติ ผ่านมาการปฏิวัติล่าสุดมาเกือบๆ ๑๐ ปีแล้ว และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ล่วงลาลับจากไป ผู้กำกับ ดอกดิน กัญญามาลย์ คงคาดหวังให้ผู้นำบ้านเมือง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ๆ คงจักเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากอดีต รู้จักใช้ทศพิธราชธรรมในการบริหารประเทศ ชาติเราจักได้มีความสุขสงบเสียที

ผมเริ่มสังเกตพบว่า ดอกดิน กัญญามาลย์ ถ้าตอนเป็นผู้กำกับ มักสอดแทรกสาระความรู้ สะท้อนเสียดสีการเมือง ขนบวัฒนธรรม วิถีสังคมไทย ใส่ลงในภาพยนตร์ของตนเองด้วย นี่เรียกว่าความหลากหลาย ครบอรรถรสชาด ที่ไม่ใช่แค่เพียงความบันเทิงเริงอารมณ์พื้นฐานมนุษย์ สุข-ทุกข์-เสียงหัวเราะ-ซึ้งเศร้าเสียใจ ลึกล้ำกว่าแค่มองเห็นตา สั่นสะเทือนถึงจิตวิญญาณข้างใน

เข้าฉาย ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่โรงภาพยนตร์ โคลีเซี่ยม แน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘ล้านแล้ว…จ้า’ ของผู้กำกับ ดอกดิน กัญญามาลย์ ซึ่งถ้าปีนั้นมีการประกวดรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี น่าจะไม่พลาดสาขาบทประพันธ์ ออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย อย่างแน่นอน

กาลเวลาได้ทำให้ จุฬาตรีคูณ ค่อยๆเลือนหายไปจากความสนใจ กระทั่งงานรำลึก ๒๑ ปี การจากไปของ มิตร ชัยบัญชา วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะนั้นคุณกมล กุลตังวัฒนา เช่าโรงหนังแอมบาสเดอร์ สะพานขาว เพื่อฉาย มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีแน่นขนัดเต็มไรง จนมีการร้องขอให้ฉายซ้ำ การซ่อมแซมปรับปรุงพากย์เสียงใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องเดียว จุฬาตรีคูณ, อินทรีทอง ฯ ก็ได้รับอานิสงค์ไปด้วย

เนื่องจากสมัยนั้น จุฬาตรีคูณ เป็นหนัง 16mm ใช้การพากย์เสียงสดๆหน้าโรง โชคยังดีมีกากฟีล์มหลงเหลือ ถูกนำแปลง พิมพ์ให้ให้เป็น 35mm แล้วพากย์เสียงใหม่ ออกฉาย ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ โรงหนังแอมบาสเดอร์

จากนั้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๖ บริษัท เอส.ที.วีดีโอ จำกัด จึงนำมาออกเป็นวีดีโอให้เช่า ถือว่า จุฬาตรีคูณ เป็นหนังมิตร ชัยบัญชา เรื่องแรกที่ได้ออกเป็นวีดีโอ แต่ว่าเป็นภาพแบบเต็มจอยังไม่ค่อยสวยสักเท่าไหร่, ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ คุณโต๊ะพันธมิตร จึงนำมาทำเป็นแผ่นวีซีดีออกอีกครั้ง คุณภาพเลยดูดีขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องยอมว่าโอกาสการบูรณะหนังเรื่องนี้ค่อนข้างยากเสียหน่อย

reference: http://www.thaicine.org/board/index.php?topic=6340.0

ความแปลกประหลาดหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ ไม่เคยถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ แต่มีการสร้างใหม่ Remake พ.ศ. ๒๕๒๓ ทุ่มทุนกว่า ๗ ล้านบาท กำกับโดย พรพจน์ กนิษฐเสน นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, ปิยะ ตระกูลราษฎร์, วาสนา สิทธิเวช, พิศาล อัครเศรณี, มานพ อัศวเทพ, ส. อาสนจินดา ฯ

ผมเริ่มชื่นชอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ได้ยินบทเพลงจุฬาตรีคูณ ไม่ได้ยินฟังมานมนานกลับยังจดจำท่วงทำนองคำร้องไม่ลืมเลือน และเริ่มตกหลุมรักเมื่อเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของ จุฬาตรีคูณ สายน้ำแห่งชีวิตที่ ดารารายพิลาส หลง’ไหล’เคลิบเคลิ้มกายใจ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงจะมีเยอะแยะกับภาพยนตร์แนวโศกนาฎกรรมความรัก Romeo & Juliet แต่สิ่งล้นค่าความหมายที่สุดของ จุฬาตรีคูณ คือความโลภละโมบจนขาดสติของราชะกษัตริย์ หญิงงามไม่ต่างอะไรจากผืนแผ่นดินแดน ใช้ความรุนแรงสงครามเผด็จการ มีหรือจะได้ครอบครองจิตวิญญาณแห่งรัก

จัดเรต 13+ กับความโลภละโมบ เห็นแก่ตัว หน้ามืดตามัว มักมากในกามคุณ

TAGLINE | “จุฬาตรีคูณ แม่น้ำสามแพร่งที่ต้องเลือกไหล มิตร-เพชรา ตราตรึงสุดในผลงานของ ดอกดิน กัญญามาลย์”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

3
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
2 Thread replies
32 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ร.น.ก.ณ.คอน ลับแล Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

อยากเห็นรีวิวหนังไทยเรื่อง
– ไผ่แดง (2522), หลวงตา (2523)
– เมืองในหมอก (2521)
– เทพเจ้าบ้านบางปูน (2523)
– คนภูเขา (2522)
– คนทรงเจ้า (2530)
– คนกลางแดด (2530)
– กาม (2521)
– วัยตกกระ (2521)
– เหยื่อ? (2530)
– นรกตะรุเตา (2519)
– ไอ้ทุย (2514), สายฝน (2516)
– สะพานรักสารสิน (2530)
เป็นต้น

หนังพวกนี้ เป็นหนังไทยทั้งที่ดังมาก ดังปานกลาง ไม่ดังเลย ดังแค่ในยุคนั้น ดังหลังจากหนังฉายนานแล้ว ทำเงิน ไม่ทำเงิน แต่ชื่อชั้นถือว่าเป็นหนังไทยยุคเก่าที่ค่อนข้างโดดเด่นพอสมควรจนถึงมาก
ผมก็ไม่รู้หรอกว่าแอดมินจะชอบ-ไม่ชอบเรื่องไหน จะตรงใจ-ไม่ตรงใจหรือเปล่า แต่อยากเห็นรีวิวหนังเหล่านี้
ไม่ต้องถึงขั้นรีวิวทีเดียวหมดก็ได้ครับ ทยอยๆดู-รีวิวเอาก็ได้ ส่วนหนังยุคใหม่ๆ คงรู้จักหรือได้ยินชื่อกันอยู่แล้ว เลยไม่ได้แนะนำเพิ่ม

%d bloggers like this: