ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ.2498)
: มารุต ♥♥♥
จากนวนิยายเรื่องสั้น ชั่วฟ้าดินสลาย ของมาลัย ชูพินิจ (เรียมเอง) กำกับการแสดงโดยทวี ณ บางช้าง (มารุต) มีรัตน์ เปสตันยี เป็นตากล้องและอำนวยการสร้าง, นี่อาจไม่ใช่ ชั่วฟ้าดินสลาย ฉบับที่ดีนัก แต่ถือเป็น ‘หนังไทยคลาสสิค’ ที่ควรค่าแก่คนไทยควรหามารับชม
ผมใช้คำเรียก ‘ไทยคลาสสิก’ เพราะค่อนข้างผิดหวังกับคุณภาพหนังไทยยุคเก่า มันเหมือนว่ามีอะไรหลายๆอย่างที่ทำให้หนังไทยในยุคนั้น ไม่สามารถเทียบเท่ากับหนังคลาสสิคระดับนานาชาติได้เลย ผมวิเคราะห์ออกมา 3 ประเด็น
1. ทัศนคติและค่านิยม ภาพยนตร์ถือว่าเป็นความบันเทิงที่หาดูค่อนข้างยาก และคนไทยสมัยนั้นค่อนข้างจนด้วย ต่างจังหวัดคงหวังได้แต่หนังกลางแปลง นานๆถึงจะได้ดูสักเรื่อง, ส่วนคนเมืองก็คงต้องมีเงิน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ที่จะชื่นชอบสื่อบันเทิงประเภทนี้ ผู้แก่ผู้เฒ่าคนสูงวัยมองความบันเทิงนี้เป็นสถานเริงรมย์ เหมือนผับบาร์ คาราโอเกะที่ไม่เหมาะกับวัยของตน
2. ความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยี ภาพยนตร์เป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความรู้ เทคนิค องค์ประกอบมากมาย เมืองไทยไม่มีเปิดสอนอยู่แล้ว ต้องไปเรียนศึกษายังต่างประเทศ คนที่จะไปได้ก็ต้องมีฐานะ มีความรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเมื่อได้ความรู้กลับมาแล้วก็ต้องสามารถถ่ายทอดให้คนที่ไม่ได้ไป สามารถเข้าใจ เรียนรู้และทำงานร่วมกันได้
3. ความคิดสร้างสรรค์ Creative, Innovative, Artistic ผมคิดว่าในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของเมืองไทย ผู้กำกับที่สามารถเรียกได้ว่า ‘อัจฉริยะ’ เพียงคนเดียวเท่านั้นคือ คุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ เพราะเขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ ล้ำยุคสมัย มีความเป็นศิลปินสูง แสดงความเป็นตัวของตนออกมาผ่านงานสื่อภาพยนตร์ และได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ, ผู้กำกับหนังไทยส่วนมากได้รับอิทธิพลจากหนังต่างประเทศ แต่ไม่สามารถสร้างความแตกต่าง แปลกใหม่ หรือมีความโดดเด่นที่เหนือความคาดหมาย, เพราะความที่ขาดผู้กำกับหนังไทยที่มีอัจฉริยภาพ เป็น ‘แนวหน้า’ จึงไม่สามารถสร้างหนังที่มีความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ได้ทัดเทียมระดับนานาชาติ
ผมจึงขอให้คำนิยาม ‘ไทยคลาสสิค’ หมายถึง หนังไทยยุคเก่าๆ (กว่า พ.ศ.2540) ที่คุณภาพอาจไม่ได้ดีนักเมื่อเทียบกับหนัง ‘คลาสสิค’ ระดับโลก แต่เพราะเป็นหนัง’ไทย’ ซึ่งมีคุณค่าหรือเคยได้รับความนิยมจากคนไทย คุณภาพพอรับได้ บันทึกประวัติศาสตร์ที่สามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลัง
ดัดแปลงจากนวนิยายขนาดสั้น ชั่วฟ้าดินสลาย บทประพันธ์ของมาลัย ชูพินิจ (เรียมเอง) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือนิกรฉบับวันอาทิตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2486 ต่อมาได้รับการแก้ไขและขยายเป็นนวนิยายขนาดเล็กในปี พ.ศ. 2494 จัดพิมพ์โดยสำนักงานพิทยาคม, เคยมีการดัดแปลงเวอร์ชั่นหนังครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นภาพยนตร์สี 16 mm อำนวยการสร้างโดย หม่อมราชวงศ์ทันพงศ์ กฤดากร กำกับการแสดงโดย หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย แต่น่าเสียดายเวอร์ชั่นไม่ได้ออกฉาย เนื่องจากความผิดพลาดในการล้างฟิล์ม ทำให้ภาพยนตร์เสียหายทั้งหมด
และหลังจากเวอร์ชั่นนี้มีการดัดแปลงอีก 2 ครั้ง
– เวอร์ชั่นปี พ.ศ. 2523 สร้างโดยจีพีโปรดักชั่น กำกับการแสดงโดย ชาลี อินทรวิจิตร นำแสดงโดยวิฑูรย์ กรุณา, ธิติมา สังขพิทักษ์ และสมจินต์ ธรรมทัต เข้าฉายเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2523 ฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียมและพาราเมาท์
– และเวอร์ชั่นล่าสุด พ.ศ. 2553 สร้างโดย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล กำกับการแสดงโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ และธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ เข้าฉายเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2553
เมื่อปี พ.ศ. 2538 เคยมีความพยายามดัดแปลง ชั่วฟ้าดินสลาย ให้กลายเป็นหนัง Hollywood โดยการร่วมมือกันระหว่างท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลและ Stirling Silliphant นักเขียนบทมือรางวัล Oscar (In the Heat of the Night) ซึ่งย้ายมาอยู่เมืองไทยในช่วงนั้น, เดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 Silliphant ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวและได้เอ่ยถึงโปรเจ็คหนังเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย หรือในชื่อภาษาอังกฤษที่เขาตั้งชื่อว่า Forever, ซึ่งท่านมุ้ยนำบทประพันธ์ชิ้นนี้ให้เขาดู พบว่ามีความงดงามมาก แม้จะเศร้าไปหน่อยก็เถอะ แต่ถือว่าคลาสสิคทีเดียว, โดย Silliphant วางแผนว่า จะดัดแปลงบทประพันธ์ชิ้นนี้ให้ตรงกับสองเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกา คือ งานแสดงสินค้าใหญ่ที่นิวออร์ลีนส์ กับขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในช่วงต้นทศวรรษ 90s โดยให้บทของพะโป้เป็นชาวอเมริกันที่อยู่ในดินแดนสยาม เป็นเจ้าของป่าไม้ที่เดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้านี้ที่นิวออร์ลีนส์ ที่ซึ่งเขามีโอกาสได้พบปะกับสาวสวยชาวอเมริกันที่กำลังเบื่อสภาพสังคมนั่นอยู่พอดี เมื่อชายชราขอแต่งงาน เธอจึงตอบตกลงและทั้งคู่ได้ย้ายมาอยู่สยาม และได้พบกับชายหนุ่มผู้เป็นหลานของชายชรา, ความตั้งใจของเขาจะให้ Anthony Hopkins รับบทชายชรา, Julie Roberts รับบทยุพดี และ Daniel Day-Lewis รับบทส่างหม่อง โดยมีสรพงษ์ ชาตรีรับบททิพย์ แต่น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะ Silliphant เสียชีวิตในปีถัดมา ทำให้โครงการนี้ต้องถูกพับเก็บล้มเลิกไปในที่สุด
ต้องถือเป็นความโชคดีของคนไทย ที่ฟีล์มหนังเวอร์ชั่น พ.ศ. 2498 นี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เสียงที่ค่อนข้างคมชัด และตัวฟิล์มที่แทบจะปราศจากริ้วรอยของการเดินทาง เหตุที่ ชั่วฟ้าดินสลาย ไม่มีชะตากรรมเหมือนหนังไทยร่วมยุคสมัยเดียวกัน ก็เพราะความที่เป็นหนังถ่ายทำด้วยระบบ 35 mm และในขณะนั้น เมืองไทยยังไม่มีห้องแล็บที่สามารถล้างฟิล์มดังกล่าวได้ ทำให้ต้องส่งไปไกลถึงประเทศอังกฤษ ฟิล์มต้นฉบับจึงได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่เหมือนกับฟิล์มหนังไทย 16mm ที่ผู้สร้างสมัยนั้น นอกจากไม่เก็บตัวต้นฉบับแล้ว ยังนำต้นฉบับ (ซึ่งเป็นฟิล์ม Positive) ออกฉายจนหมดสภาพการใช้งาน ส่งผลให้ประวัติศาสตร์หนังไทย แทบจะไม่หลงเหลือตัวหนังให้คนรุ่นหลังได้ยลโฉมอีกต่อไป
เวอร์ชั่น พ.ศ. 2498 ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย ทวี ณ บางช้าง และวิจิตร คุณาวุฒิ (ลูกอีสาน, คนภูเขา) มีพื้นหลังโดยใช้จังหวัดกำแพงเพชรเป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล รับบทส่างหม่อง ชายหนุ่มผู้ไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก ที่ถูกยั่วยวนโดยยุพดี นำแสดงโดย งามตา ศุภพงษ์ หญิงสาวผู้กร้านโลก และเกิดความคลั้งไคล้ในตัวส่างหม่อง แต่เธอได้แต่งงานกับพะโป้ นำแสดงโดย เอม สุขเกษม นายห้างผู้เข้มงวดและมีศักดิ์เป็นลุงของส่างหม่อง เรื่องราวความรักต้องห้ามที่ผิดต่อศีลธรรม และการลงโทษที่ถือว่าร้ายกาจ รุนแรง ก่อเกิดเป็นโศกนาฏกรรมที่สะท้อนความรัก และการใช้ชีวิตได้อย่างเจ็บปวด
นักแสดงของหนังเรื่องนี้บอกเลยว่าไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ จะมีก็แค่ชนะ ศรีอุบล ในบทส่างหมอง เท่านั้นที่ผมรู้สึกว่าดูดีที่สุด ครึ่งแรกเขาเหมือนชายหนุ่มไร้เดียงสา จะพูดหรือคิดอะไรก็ดูติดๆขัดๆ ซึ่งเข้ากับตัวละครนี้มากๆ แต่เมื่อเขาหลงติดกับของยุพดี ก็กลายเป็นคนที่หลงใหล มัวเมา คลั้งไคล้ในรัก และช่วงท้ายที่เกิดอาการบ้าคลั่งอย่างไร้สติ แม้ช่วงหลังๆจะดูไม่สุดเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นการแสดงที่น่าประทับใจ, งามตา ศุภพงษ์ ผมว่าเธอสวยนะ เห็นแวบแรกผมนึกถึง Judy Garland ด้วยใบหน้าที่กลม รอยยิ้มดูไร้เดียงสา ไม่แฝงความชั่วร้ายสักนิด ซึ่งมันไม่ใช่อ่ะครับ บทยุพดีต้องแบบ พลอย เฌอมาลย์ นุ่มลึก กร้านโลก แฝงความชั่วร้าย, งามตาไม่เหมาะที่จะรับบทนี้ แถมหนังยังไม่พูดถึงพื้นหลังของตัวละคร ไม่รู้แรงบันดาลใจของเธอคืออะไร และทำไมถึงตกหลุมรักส่างหม่อง ทำให้เหตุผลรองรับความคิดและความรู้สึกหายไปเยอะ ยุพดีเวอร์ชั่นนี้เลยดูไม่ค่อยใช่เท่าไหร่, สำหรับ เอม สุขเกษม… เห้อ! (ถอนหายใจอย่างเซ็ง) ใครไปจ้างมาเนี่ย แค่ท่องบนยังติดๆขัดๆเลย หานักแสดงที่ดีกว่านี้ไม่ได้แล้วใช่ไหม หรือหาใครได้ก็เอา
ยังมีอีกบทหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญในทุกเวอร์ชั่น คือทิพย์ ที่เป็นเหมือนมือขวาของนายห้าง และคนที่คอยช่วยเหลือส่างหม่องอยู่เรื่อยๆ ในเวอร์ชั่นนี้รับบทโดย ประจวบ ฤกษ์ยามดี ซึ่งเขารับบทนี้ในเวอร์ชั่นปี พ.ศ. 2523 ด้วยนะครับ, ในเวอร์ชั่นปี พ.ศ. 2553 รับบทโดย ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ที่ถือว่ายอดเยี่ยมแย่งซีนเด่นจากสามนักแสดงหลักเลยละ, ทิพย์เป็นคนซื่อสัตย์ที่ลุ่มลึก เรียกว่าจงรักภักดี แต่ก็ไม่ได้รักนายจนตาบอด เขารับรู้ความเลวร้ายของนาย รู้ว่าอะไรควรจะพูดไม่ควรพูด ที่สำคัญคือมีความความกล้าหาญ, ในเวอร์ชั่นนี้ ทิพย์ออกจะพูดมาก เกรียนๆไปหน่อย (ไม่ลุ่มลึกเหมือนกับศักราช) แต่เขาก็เห็นใจทั้งสองฝ่าย เป็นเหมือนกับผู้ชมที่มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างมีสติ และเป็นผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมให้กับทั้งส่างหมองและพะโป้
กำกับภาพโดยรัตน์ เปสตันยี ตอนผมดูสวรรค์มืด บอกเลยว่าไม่ค่อยชอบงานภาพของหนังเรื่องนั้นเท่าไหร่ แต่กับชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งคุณรัตน์ถ่ายภาพเอง ต้องบอกว่า ใช้ได้เลย มีการเคลื่อนกล้อง แพนกล้อง ที่มีชีวิตชีวา, ในยุคนั้นของหนังไทยเป็น ‘ยุค 16mm’ ไม่มีการบันทึกเสียง ใช้การพากย์สดในขณะฉายหนัง ซึ่งหนังเรื่องนี้ถ่ายทำด้วยภาพสีระบบ 35mm ซึ่งถือว่าอยู่เหนือมาตรฐานหนังไทยในช่วงเวลานั้น, ช่วงครึ่งชั่วโมงแรกผมพอใจกับการเกริ่นของหนังมากๆ มีบรรยากาศ กลิ่นอายความเป็นไทย งานเลี้ยง การเต้นรำ มีคำพูดเล่น มุกตลกที่แสดงสีหน้าท่าทางหยอกล้อกับกล้อง ถ้าหนังเป็นแบบนี้ทั้งเรื่องคงดีไม่น้อย แต่พอผ่านช่วงนี้ไป เข้าสู่เนื้อหาหลัก มันกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับฉากเกริ่นเรื่องนี้เลย, หนังมีการซ้อนภาพ (ฉากในฝันของส่างหมอง) ผมดีใจนะที่มีคนที่สามารถใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบนี้ได้ในเมืองไทย แม้ในระดับโลกนี่จะเป็นเทคนิคที่ปี 1955 จะถือว่าโคตรเชย (เห็นมีมาตั้งแต่สมัยหนังเงียบ) แต่เป็นการบอกว่า หนังไทยก็ทำได้ เหตุนี้กระมังที่ทำให้คุณรัตน์ได้รับรางวัล ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ประเภทฟิล์ม 35 ม.ม. จากพิธีมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500
ลำดับภาพโดย จุรัย เกษมสุวรรณ บอกตามตรงผมไม่รู้สึกว่าหนังมีการลำดับภาพที่มีความต่อเนื่องกันสักเท่าไหร่ คือมันเหมือนแต่ละแต่ละเหตุการณ์ เกิดขึ้นและจบในตัวเป็นตอนๆ อยู่หลายครั้ง ซึ่งเมื่อมองภาพรวมของหนัง จะเห็นว่าทำให้อารมณ์สะดุด เรื่องราวไม่ไหลลื่น
เรื่องราวแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน,
– เริ่มต้น พบเจอ เกี้ยวพาราสี
– ช่วงกลาง คือความพิศวาสในรัก
– ช่วงท้าย คือชั่วฟ้าดินสลาย
หนังเรื่องนี้ให้เวลากับช่วงเริ่มต้น พบเจอ เกี้ยวพาราสีอย่างยาวนานมาก คิดว่าเกือบชั่วโมงได้เลย เหลือเวลาครึ่งหลังกับ 2 ช่วงเหตุการณ์ เมื่อรักกันปานจะกลืนกิน และชั่วฟ้าดินสลาย ค่อนข้างน้อย ทำให้ภาพรวมของหนังดูเป็นโรแมนติก มากกว่าหนังแนว Tragedy
เพลงประกอบโดย แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีสากล เมื่อปี พ.ศ. 2535 นี่เป็นหนังไทยที่ใช้เครื่องดนตรีสากลเป็นเพลงประกอบหนัง ผมได้ยินเสียงไวโอลิน ทรัมเป็ต ทรัมโบน กลองใหญ่ ฯ ที่ฝีมือพวกเขาอยู่ระดับสมัครเล่นมากๆ (หนังสมัยนั้นมีเพลงประกอบให้ได้ยินก็ดีแล้ว!), เห็นว่าหนังใช้ Sound-On-Film ด้วยนะครับ เสียงพูดคุยกันจะฟังรู้เรื่องกว่า สวรรค์มืดอยู่มาก และหนังได้รางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยม จากพิธีมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 อีกด้วย
สำหรับเพลงที่เป็นตำนาน “ชั่วฟ้าดินสลาย” ประพันธ์คำร้องโดย แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์ บทเพลงนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงเงินพระราชทานประจำปีนั้นด้วยนะครับ, นี่เป็นเพลงที่มีการนำไปขับร้องใหม่หลายครั้งมากๆ อาทิ สวลี ผกาพันธ์, ธานินทร์ อินทรเทพ, ดนุพล แก้วกาญจน์, กิตติคุณ เชียรสงค์, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, ธงไชย แมคอินไตย์, ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์, สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง, อรวี สัจจานนท์, อรวรรณ เย็นพูลสุข, เจนนิเฟอร์ คิ้ม เป็นต้น ในเวอร์ชั่น พ.ศ. 2553 ก็ยังมีเพลงนี้ประกอบอยู่ในหนังนะครับ เชื่อว่าใครที่ทันน่าจะเคยได้ยินอยู่
นี่เป็นเพลงที่ผมรู้สึกว่าไพเราะ เพราะพริ้ง สวยงามกว่าหนังทั้งเรื่องอีกนะครับ ความหมายอาจจะดูเพ้อฝันไปสักหน่อย แต่สื่อถึงใจความของหนังได้ชัดเจนมากๆ
คนส่วนใหญ่จะจดจำนิยาย ชั่วฟ้าดินสลาย ในเรื่องราวความรักที่ร้อนแรง หวานฉ่ำของชายหนุ่มหญิงสาว หากแท้จริงแล้ว เรื่องราวนี้ห่างไกลความโรแมนติกอยู่มาก เพราะใจความหลักต้องการสะท้อนให้ตระหนักถึงอานุภาพอันร้อนแรงที่ยากจะต่อต้านตัณหาราคะ สันดานดิบและสัญชาตญาณอันป่าเถื่อนที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งไม่ได้มีสภาพที่แตกต่างไปจากฉากหลังตามท้องเรื่องที่เป็นป่าดงพงไพร แวดล้อมด้วยช้างป่า อสรพิษ และอันตรายทางธรรมชาติมากมาย, ชื่อ ชั่วฟ้าดินสลาย ไม่ได้สื่อความหมายอันชวนให้เพ้อฝัน กลับกันมันแฝงนัยยะของการเยาะเย้ยถากถาง ที่ตัวละครหลักทั้งสองคน จะต้องถูกจองจำให้ต้องอยู่ด้วยกัน (ชั่วกัปชั่วกัลป์) ไม่ใช่กรอบเวลาของ เป็นของกันและกัน ตามความปรารถนาของตัวละคร, มันตลกที่ในนิยาย ชั่วฟ้าดินสลาย มันกินระยะเวลาแค่ 3-4 เดือน ไม่ใช่สิบๆปีหรือชั่วอายุไขของทั้งสอง มันเป็นสภาวะของความจนตรอกที่ไม่แตกต่างไปจากคนป่วยโรคร้ายเรื้อรัง และมองไม่เห็นหนทางว่าตัวเขาจะได้รับการเยียวยารักษาให้หายขาดได้อย่างใด
ผมอ่านเจอมาว่าตอนจบในนิยาย กับตอนจบในหนังเวอร์ชั่นนี้มีความแตกต่างกัน, ในนิยาย หลังจากพะโป้ยื่นเสนอให้ส่างหม่องกับยุพดีใช้ลูกปืนเป็นกุญแจไขสู่อิสรภาพ ยุพดีที่แสดงตัวตนชัดเจนว่าต้องการอิสรภาพยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิต เป็นฝ่ายปลิดชีพตัวเอง, ส่างหม่องที่ขี้ขลาดตาขาว ก็มีจิตใจเตลิดเปิดเปิงไปในโลกของความวิกลจริตอย่างถาวร, ขณะที่พะโป้ยังคงปกครองอาณาจักรเล็กๆกลางป่าลึกต่อไป ไม่สนคำครหาใดๆ, ซึ่งในเวอร์ชั่นหนัง ได้เปลี่ยนตอนจบของพะโป้ โดยเพิ่มประเด็นเรื่องคนงานในปางไม้ รับไม่ได้กับความโหดเหี้ยมของเขา ถึงกับใช้ก้อนหินปากระจก แสดงถึงการไม่ยอมรับในความเผด็จการบ้าอำนาจ หากพะโป้ไม่ทำอะไรสถานการณ์อาจจะลุกลามถึงขั้นยึดอำนาจ ซึ่งเขาตัดสินใจลงโทษตัวเองด้วยการจุดไฟเผาทุกสิ่งทุกอย่าง (ไฟแทนด้วยเพลิงราคะ) และยิงตัวตายด้วยปืนกระบอกเดียวกับยุพดี
reference : http://archive.is/OFYD
ในมุมของ Feminist ผู้หญิงอาจไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะมีเรื่องราวของหญิงสาวที่เป็นตัวการทำให้ครอบครัวแตกแยก เป็นชู้ มีความต้องการ ตัณหาราคะที่รุนแรง, ไม่ใช่แค่กับยุพดีนะครับ แต่ยังรวมถึงเมียน้อย เมียเก็บ คนใช้หญิงของพะโป้ ที่ไม่รู้กี่คน ซึ่งก็มีมีชนชั้นวรรณะ มีการแบ่งแยก มีความขี้อิจฉาริษยา บางคนก็แสดงออกมา (เช่น แกล้งทำเป็นสะดุดล้ม แล้วสาดน้ำใส่ยุพดี), เชื่อว่าเจตนาของผู้สร้าง คงไม่ได้จะสื่อว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ควรหลีกหนีให้ไกล หรืออย่างน้อยต้องกักพื้นที่ไว้ในเขตควบคุม แต่หนังได้สะท้อนความเชื่อระดับจิตสำนึกของผู้ชายในสมัยนั้น ว่าผู้หญิงที่ไม่อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน ออกมาเพ่นพ่านผิดที่ผิดทาง เป็นคนอันตราย
คนที่ถือว่าปกติที่สุดในหนังก็คือ ทิพย์ ที่ไม่มีความพิศวาสต่อผู้หญิง นั่นทำให้เขามีความเจริญก้าวหน้าในการงาน และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้านายมากที่สุด, ทิพย์ยังเป็นคนที่พูดขอพะโป้ ให้อภัยแก่ส่างหม่องและยุพดี นี่แสดงถึงคนที่มีจิตสำนึกและเข้าใจถึงความถูกผิดในศีลธรรม เขาไม่เข้าข้างส่างหม่องหรือยุพดี เช่นกับกับพะโป้ ที่เขารู้ว่านายทำไปเพราะความโกรธ เกลียดชัง แต่มันก็ต้องมีความพอเพียง ไม่ใช่เลยเถิดไปถึงระดับบ้าคลั่งไร้สติ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ คนธรรมดาอย่างทิพย์ก็ไม่สามารถทนรับความรู้สึกนี้ได้อีก รู้ว่าต้องทำอะไรบางอย่าง
นี่เป็นหนังที่สอดแทรกแนวคิดที่ดีมากๆเรื่องหนึ่ง แต่การจะหาหนังเวอร์ชั่นนี้มาดูอาจจะยากเสียหน่อย กระนั้นผมอยากให้มองที่บทประพันธ์นะครับ ถ้าคุณอายุเกิน 18+ และสามารถหานิยาย หรือหนังไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนก็ได้ นี่เป็นเรื่องราวที่ ‘ต้องดูหรืออ่านให้ได้ก่อนตาย’ ไม่เฉพาะแค่คนไทย ผมอยากให้หนังนี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย ฝั่งยุโรปอาจจะไม่อินเท่าไหร่ แต่จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ผมว่าพื้นฐานชีวิตของเราใกล้ๆกัน น่าจะเห็นเล็งเห็นและเข้าใจในความสวยงามของเรื่องราว บทประพันธ์ชั่วฟ้าดินสลายนี้
ถ้าคุณมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ และเขาอยากดูหนังไทย นี่เป็นเรื่องนี่ที่ผมอยากให้คุณแนะนำกับเขา จะเอาเวอร์ชั่น พ.ศ. 2553 ก็ได้นะครับ บอกเลยว่านี่เป็นหนังโคตรคลาสสิคของเมืองไทย คือมันอาจไม่สมบูรณ์แบบในสายตาเขา แต่หนังขายความเป็นไทย และเรื่องราวที่เป็น ‘ไทยคลาสสิค’ ที่ลงตัว, โดยส่วนตัวผมชอบเวอร์ชั่น พ.ศ. 2553 มากกว่าเวอร์ชั่นนี้อีกนะครับ เพราะความลงตัว ความสวยงาม และความร่วมสมัย, หม่อมน้อยสร้างออกมาโดยคำนึงถึงคุณค่าความเป็นไทย ที่อีก 20 ปีข้างหน้า มองย้อนกลับมาจะเห็นถึงจะเห็นความสุดคลาสสิคที่กลายเป็นอมตะ
หนังได้ 3 รางวัลสำเภาทอง ในพิธีมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ประกอบด้วยสาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และถ่ายภาพยอดเยี่ยม ประเภทฟิล์ม 35mm
ลิ้งค์ดูหนัง มี 5 พาร์ท ผมให้ลิ้งค์พาร์ท 1 ไว้ แล้วมองหาพาร์ทอื่นๆต่อเองนะครับ : [ดูบน Youtube]
กับเวอร์ชั่นนี้ผมจัดเรต 15+ พอนะครับ คือมันไม่ได้มีฉากโป๊เปลือยร่วมรักที่ร้อนแรง ถึงเนื้อหาช่วงท้ายจะรุนแรง แต่มันก็เบาลงเพราะความเก่าและความคลาสสิค
Leave a Reply