ชู้

ชู้

ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๕) หนังไทย : เปี๊ยก โปสเตอร์ ♥♥♥♥♥

นี่คือผลงาน Masterpiece ของวงการภาพยนตร์ไทย สร้างโดยผู้กำกับสุดเก๋า เปี๊ยก โปสเตอร์ ที่แอบใส่สัญลักษณ์ของลึงค์และรูเต็มไปหมด (แม้แต่ชื่อหนัง ชู้ ในใบปิดก็ตามเถอะ) ใช้นักแสดงหลักๆเพียง ๓-๔ คน ถ่ายทำยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา, เกาะปันหยี อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา สวยงามตราตรึง เรื่องราวแฝงแนวคิดศีลธรรมจรรยาลึกซึ้ง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ระหว่างรับชมในโรงภาพยนตร์สกาล่าเมื่อวันก่อน ผมชูนิ้วกลางขึ้นเมื่อถึงภาพช็อตๆหนึ่ง อุทานออกมาว่า ‘ไอ้สัดเอ้ย!’ พร้อมรอยยิ้มหัวเราะร่า นี่คือคำชื่นชมที่ออกมาจากใจเลยละครับ เพราะสิ่งที่มองเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ ไม่คาดคิดมาก่อนจะได้พบเจอในหนังไทยสมัยก่อนที่โคตรจะเซนเซอร์เรื่องพรรค์นี้เลย ทำการหลบซ่อนในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างลึ้กล้ำแนบเนียน นับถือในความเก๋าเจ้งของผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ กลายเป็นหนังโปรดเรื่องถัดไปของผมโดยทันที

มาว่ากันถึงโลโก้ “ชู้” ในใบปิดกันก่อน ผมคิดว่านี่คือการออกแบบที่เจ๋งสุดในประวัติศาสตร์หนังไทยเลยนะ ก็ไม่ใช่ฝีมือของใครอื่นผู้กำกับเปี๊ยกเองนะแหละ
– ไม้โท มองยังไงก็คือจู๋
– ช่องว่างตรงกลางของตัวอักษร ช. ช้าง ชัดเจนว่าสื่อถึงรู ขณะที่ปลายหางที่ตะหวัดโค้งนั่นคล้ายกับไม้โท ดูเหมือนจู๋
– สระอู คือรู แต่ถ้ามองสีเหลืองมันก็เหมือนจู๋ (อยู่ในรู)
ฯลฯ

ชู้ คือเรื่องราวของสองชายหนึ่งหญิง (สองจู๋ หนึ่งรู) ที่โชคชะตานำพาให้พวกเขาพบเจอกันบนเกาะรกร้างห่างไกล ประณีประณอมยอมความกันไม่ได้ที่ต่างกระทำในเรื่องผิดศีลธรรมจรรยา เลยต่างวางแผนเอาคืนซึ่งกันและกันอย่างถึงพริกถึงขิง

ไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังเรื่องนี้ได้รับการบูรณะหรือ Remaster แล้วหรือยัง แต่คุณภาพที่ได้ดูในโรงภาพยนตร์ชัดคมกริบ เสียงพากย์ใสกิ๊ก ดีกว่าฉบับที่พบเจอตาม Youtube เป็นไหนๆ

เปี๊ยก โปสเตอร์ ชื่อจริง สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๗๕) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ นักเขียนป้ายโฆษณา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ จบมัธยมจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส ปริญญาตรีวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เริ่มทำงานเป็นช่างเขียนอยู่ที่ร้านไพบูลย์การช่าง วาดป้ายโฆษณา ปกนิตยสาร ลงสีโปสเตอร์ในคัทเอาท์ (ถือเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์ของเมืองไทย) ต่อมาเมื่อใบปิดภาพยนตร์เริ่มเฟื่องฟูเลยหันมาเอาดีด้านนี้แทน

“ที่ผมอยากเป็นช่างเขียนเพราะเห็นคนข้างบ้านเขาเรียนที่จุฬาฯ แล้วเขียนภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์ พอเข้าไปดูแล้วเกิดความชอบมากก็เลยตั้งปณิธานว่าโตขึ้นจะเป็นช่างเขียนภาพ พอเริ่มโตก็คิดว่าครอบครัวเลี้ยงดูเรามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว หากเราต้องมาเป็นภาระก็รู้สึกไม่ดีเลยต้องออกมาจากบ้านมาเพื่อทำงานเลี้ยงตัวเอง”

ด้วยลายเซ็นต์ชื่อในโปสเตอร์ว่าเปี๊ยก จึงกลายเป็นฉายา ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ โด่งดังกับภาพวาดใบปิดหนังไทยยุค 16mm อาทิ เล็บครุฑ (พ.ศ. ๒๕๐๐), แสงสูรย์ (พ.ศ. ๒๕๐๓), ธนูทอง (พ.ศ. ๒๕๐๗) ฯ มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงการเพราะต้องไปถ่ายรูปดารา หาข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาเขียนคัทเอาท์และทำใบปิด ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับการคะยั้นคะยอจากเพื่อนอุปถัมภ์คนหนึ่ง (สุชาติ เตชะศรีสุธี) ให้ลองสร้างภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง เจ้าตัวไม่ขัดข้องอะไรแต่ขอว่าต้องไม่ใช่หนังฟีล์ม 16mm อย่างที่ใครๆทำกันในยุคสมัยนั้น เดินทางไปดูงานยัง Daiei Film ประเทศญี่ปุ่นนานถึง ๔-๕ เดือน เรียนจากทีมงานที่เคยเป็นตากล้องอยู่เบื้องหลัง Rashômon (1950) กลับมาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก โทน (พ.ศ. ๒๕๑๓) ออกฉายศาลาเฉลิมไทย ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ทำรายรับถึง ๖ ล้านบาท ได้รับการจับตามองเป็นคลื่นลูกใหม่ (New Wave) ทำให้เปี๊ยกเลือกทิ้งพู่กันหันมาเอาดีด้านนี้แทน

สิ่งโดดเด่นในผลงานภาพยนตร์ของอาเปี๊ยก คือการถ่ายภาพจัดแสงโทนสีและบรรยากาศ สามารถสะท้อนอารมณ์และเล่าเรื่องราวออกมาได้อย่างทรงพลัง นั่นอาจเพราะเจ้าตัวเคยเป็นนักเขียนภาพมาก่อน เลยมีจินตนาการถึงสีสัน เล่นแร่แปรธาตุ สิ่งที่ต้องการนำเสนอออกมาอย่างมีลีลาและสไตล์เฉพาะตัว

ผลงานเด่นๆ อาทิ ดวง (พ.ศ. ๒๕๑๔), ชู้ (พ.ศ ๒๕๑๕), ข้าวนอกนา (พ.ศ. ๒๕๑๘), วัยอลวน (พ.ศ. ๒๕๑๙), เงาะป่า (พ.ศ. ๒๕๒๓), วัยระเริง (พ.ศ. ๒๕๒๗), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘), สะพานรักสารสิน (พ.ศ. ๒๕๓๐), กลิ่นสีและกาวแป้ง (พ.ศ. ๒๕๓๑) ฯ

ปัจจุบันอาเปี๊ยกยังคงมีชีวิตอยู่ ร่างกายสมบูรณ์แข็งแกร่งเหนือวัย เลิกสร้างภาพยนตร์ตอนอายุ ๖๐ กว่าๆ หันกลับมาทำงานเขียนภาพตามความฝันที่ต้องทิ้งไปตอนหนุ่ม รับเชิญเป็นนักแสดงบางครั้งครา และเพิ่งได้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตอนอายุ ๘๓ ปี ช้าไปมากแต่ก็ดีกว่าไม่ได้เป็น

แซว: สิ่งที่อาเปี๊ยกกลัวสุดในชีวิต อ่านจากหลายๆบทสัมภาษณ์ คือการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก บทความหนึ่งแนะนำวิธีอายุยืนของตนเอง ตื่นเช้ามาต้องขมิบก่อน ๑๐๐ ครั้ง เพื่อให้เลือดลมไหลเวียน และเมนูไข่เจียวใส่หอมหัวใหญ่กับมะเมือเทศ ป้องกันโรคนี้ได้โดยเฉพาะ … ฮืมๆๆ

สำหรับชู้ ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ จำลักษณ์ ชื่อจริง สำเนาว์ หิริโอตัปปะ (พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๕๑๗) นักเขียนนิยาย เรื่องสั้น การ์ตูนขายหัวเราะ มีผลงานดังอย่าง อาญารัก, ไทรโศก, ทาสวังหลัง, นางครวญ ฯ

เกร็ด: คาดว่าหนังน่าจะได้รับอิทธิพลจาก The Naked Island (1960) ของผู้กำกับ Kaneto Shindo ไม่มากก็น้อย

เรียม (รับบทโดยวันดี ศรีตรัง) เรือล่มในค่ำคืนพายุคลั่ง ล่องลอยคอไปติดเกาะที่มีเชิง (รับบทโดย มานพ อัศวเทพ) อาศัยอยู่โดยลำพัง ขณะทำการช่วยชีวิตหญิงสาวไว้ พบเห็นเรือนร่างมันช่างติดตาตรึงใจ ค่ำคืนนั้นเลยใช้กำลังเข้าปลุกปล้ำจนได้มาเป็นเมีย และมีลูกสาวร่วมกันหนึ่งคน

เชิง เป็นนักดำหอยมุก ขายได้ราคาสูงลิบ วางแผนเก็บเงินเก็บทองเพื่อนำครอบครัวกลับขึ้นไปปลูกบ้านบนบก และส่งเสียลูกสาวให้ได้ร่ำเรียนเติบใหญ่ แต่โชคชะตาพลิกผันให้เขาได้รับบาดเจ็บโดนสาหร่ายพิษเข้าที่ลูกนัยน์ตา เรียมรีบขึ้นฝั่งไปหาหมอบังเอิญพบเจอกับเทพ (รับบทโดย กรุง ศรีวิไล) คู่กรณีเก่า ทำให้ถ่านไฟที่เคยคุกรุ่นได้ลุกโชติช่วงชัชวาลย์

เมื่อเทพรับรู้ว่า เชิงมีไข่มุกเก็บซ่อนไว้ก็คิดที่จะลักขโมยแล้วพาเรียม(กับลูก)หนีไปอาศัยอยู่ด้วยกัน วางแผนเอายาพิษใส่ยาหยอดตา จ่ายยาผิดๆเพื่อไม่ให้มีเรี่ยวแรง แต่ด้วยความบังเอิญและสัญชาติญาณทำให้ได้รับรู้พบเห็นความจริงที่เกิดขึ้น เลยแสร้งทำเป็นตาบอดและพูดบอกไข่มุกซ่อนอยู่ใต้ทะเลลึก ไม่มีใครงมขึ้นมาได้นอกจากตนเอง ทำให้ชู้ทั้งสองต้องเปลี่ยนแผน นำอาหารและยาบำรุงมาให้กิน แต่ในความตั้งใจของเขานั้น เพื่อวางแผนจัดการชำระแค้นพวกเขา ให้ได้รู้ซึ้งกันไปข้างหนึ่ง

มานพ อัศวเทพ ชื่อจริง วิริยะ จุลมกร (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๐) นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนจ่าทหารเรือที่สัตหีบ รับราชการเป็นทหารเรืออยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดและเป็นพลขับประจำตัวของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยได้รับตำแหน่งยศพันจ่าเอก ก่อนเข้าสู่วงการโดยบังเอิญในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยการพบเจอ สนาน คราประยูร ในตอนแรกใช้ชื่อในวงการว่า นาวิน เทพโยธี สมทบหนังเรื่อง นางสมิงพราย (พ.ศ. ๒๕๐๖) ภายหลังไปได้ดีตัดสินใจลาออกจากทหาร เปลี่ยนชื่อเป็น มานพ อัศวเทพ เป็นประเอกเต็มตัวเรื่อง ละครเร่ (พ.ศ. ๒๕๑๒), ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๕), คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงประกอบชายจากเรื่อง เงาราหู (พ.ศ. ๒๕๑๙)

รับบทเชิง หนุ่มใหญ่ร่างบึกบึนกล้ามแน่น เหมือนว่าจะเคยแต่งงานแล้วภรรยาด่วนเสียชีวิตจากไป ตัดสินใจพาตัวเองหลบหนีทุกสิ่งอย่างออกจากฝั่ง ตั้งรกรากอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายบนเกาะร้างกลางทะเลแห่งหนึ่ง, การได้บังเอิญช่วยเหลือเรียม ปลุกกระตุ้นสันชาติญาณบุรุษให้ตื่นขึ้นพลุกพร่าน มิอาจควบคุมตนเองได้ใช้กำลังเข้าปลุกปล้ำ เมื่อรับรู้ว่าเธอตั้งครรภ์กำลังเป็นพ่อคนก็ดีใจลิงโลด เก็บหอมรอมริดไข่มุกเพื่ออนาคตที่ดีให้กับครอบครัว สักวันจะซื้อบ้านที่ดินเปิดร้านขายของกลับสู่สังคมเมือง

เห็นกล้ามของมานพแล้วแอบอิจฉา คนทะเล/ทหารเรือ มันต้องภาพลักษณ์แบบนี้เลยนะ ร่างกายบึกบึนสมบุกสมบัน ผมเผ้าหนวดเครารกรุกรังสะท้อนความดิบเถื่อนเหมือนสัตว์ป่า ตัดโกนออกหล่อเหลากลับกลายเป็นมนุษย์มนาอีกครั้ง, สำหรับการแสดงไม่โดดเด่นเท่าภาพลักษณ์ แต่ผมประทับใจมากๆกับฉากที่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น สะท้อนสิ่งอัดอั้นทุกข์ทรมานจากภายใน เสร็จแล้วพอรับรู้ความจริงนั่งทรุดลงแบบหมดอาลัย ตัดสินใจปล่อยวางทิ้งปืน นั่นไม่ใช่จุดจบที่ฉันต้องการเลยสักนิด

กรุง ศรีวิไล ชื่อเดิม นที สุทินเผือก (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๙) นักแสดงชาวไทย เกิดที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อาศัยอยู่เป็นเด็กวัดจนจบ ม.๖ จากโรงเรียนสามัคคีวิทยา สอบเข้าโรงเรียนช่างกลปทุมวัน เรียนได้ ๒ ปีเศษถูกสั่งให้ออก ได้รู้จักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งฝากเข้าทำงานในกรมศุลากร ทำงานอยู่ท่าเรือคลองเตยได้ ๔ ปี ออกมาเปิดร้านขายผ้าไหมส่งออกที่โรงแรมแมนดาริน ต่อด้วยร้านเพชรแต่ก็เอาตัวไม่รอด, เข้าสู่วงการโดยการชักชวนของ ประมินทร์ จารุจารัต แสดงนำภาพยนตร์เรื่อง ลูกยอด (พ.ศ. ๒๕๑๔) แทนมิตร ชัยบัญชา ที่พลันด่วนเสียชีวิตจากไป ประกบคู่เพชรา เชาวราษฎร์ (ซึ่งชื่อ กรุงศรีวิไล ก็มาจากชื่อพระเอกหนังเรื่องนี้), ผลงานสร้างชื่อคือ ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๕) คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, ทอง ภาค ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๖), ขัง ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗), ซุปเปอร์ลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๒๐) ฯ

รับบทหมอเทพ ที่กลายเป็นชู้กับเรียม พวกเขาคือคนรักเก่าแต่มีเหตุให้ต้องพลัดพรากแยกจาก เพราะความต้องการรวยเร็วทำให้ถูกจับติดคุกอยู่นานหลายปี โชคชะตาดลบันดาลให้มาพบเจอกันอีกครั้ง วางแผนการชั่วร้ายขโมยไข่มุกที่เชิงเก็บซุกซ่อนไว้ แต่หายังไงก็ไม่พบจนกระทั่งเจ้าตัวเผลอเรอหลุดปากออกมาเอง แต่นั่นก็เป็นสถานที่เกินเอื้อมของเทพจะไขว่คว้ามาครอบครอง

ด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตนอวดดี ทำให้เทพอ่านเกมของเชิงไม่ออกจนเสียท่า หลอกให้มาติดเกาะกลางทะเลตั้งใจจะทิ้งไว้ให้ตายอย่างช้าๆ ด้วยเหตุนี้สันดานของตนเองจึงปรากฎ ทั้งๆที่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเชิงก็พร้อมยินยอมให้อภัย เรียมก็พร้อมใจจะไปอยู่ด้วย แต่ก็เลือกเอาความสุขพึงพอใจส่วนตนเองเป็นที่ตั้ง พร้อมทอดทิ้งทำลายทุกสิ่งอย่างโดยไม่แคร์ สุดท้ายเขาเลยถูกทุกคนทอดทิ้งไว้เบื้องหลังอย่างเดียวดาย

ทรงผม Elvis ของกรุง ศรีวิไล ตั้งโด่เด่หล่อเท่ห์ประไร แต่คำพูดท่าทางสันดานออกตั้งแต่พบเจอครั้งแรก หมอนี่มันโจรโฉดชั่วเลวทรามต่ำช้าอย่างแน่นอน ผมละหงุดหงิดรำคาญใจเวลาพูดคำหวานป้อยอกรอกหูหญิงสาวสารพัด ‘ถ้าเป็นพี่นะ …’ จะทำโน่นนี่นั่น แต่ในใจของตัวละครแน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่ตนไม่มีวันกระทำอย่างแน่นอน

ช็อตสุดท้ายของหนัง เสียงเห่าหอนของตัวละครนี้เป็นอะไรที่ตบโต๊ะฉาดสะใจสุดๆ พูดเองเออเองออเอง ตะโกนบอก จะฆ่าเมิงง ฉีกเนื้อให้อีแร้งกินน เสร็จแล้ว Soundtrack เพลงประกอบของหนังเรื่อง Psycho (1960) สุดหลอนก็ดังขึ้น เงยหน้าขึ้นฟ้ามองเห็นอีแร้งอีกาบินอยู่ลิบๆ แล้วมันก็เกิดความหลอกหลอนขึ้นเอง อย่ากินกูนะ … ไม่น่าจะรอด

วันดี ศรีตรัง หรือ สาธนา พงษ์สว่าง ชื่อเกิด ไวดี บริมาตร (พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๑๘) นักแสดงสาวลูกครึ่งแขก-จีน เกิดที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เคยชนะเลิศประกวดเทพีศรีตรัง และนางงามเทศบาลประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพราะได้ยินว่าผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ กำลังหานักแสดงหน้าใหม่รับบท รีบแต่งตัวหรูดั่งดาราดังเข้าไปสมัครแต่ถูกปฏิเสธโดยพลัน ภายหลังกลับมาอีกครั้งโดยไม่แต่งหน้าใดๆ มีความบ้านๆเป็นธรรมชาติ เลยได้รับโอกาสแสดงหนังเรื่องนี้ทันที

รับบทเรียม หญิงสาวมากด้วยตัณหาราคะ ด้วยความเป็นคนง่ายๆเผลอตัวกายใจไปแล้วก็ไม่คิดขัดขืนโต้แย้งใดๆ แถมหูเบาถูกเทพพูดคำหวานก็หลงเชื่อยินยอมคล้อยตาม แต่จิตใจไม่ได้ต้องการเข่นฆ่าทำร้ายใคร รู้สึกผิดเมื่อความจริงเปิดเผย อยากฆ่าตัวตายแต่ถูกเชือกพันธนาการเหนี่ยวรั้งดึงกลับมา อธิบายเหตุผลของตนเองเลือกได้ฉันก็ไม่อยากเป็นแบบนี้ และความรักลูกในไส้ของตนมาก (ไม่ว่าพ่อจะเป็นใคร) ต่อให้ตัวตายก็ไม่ยอมให้ใครมาทำร้าย

เพราะความที่วันดี กล้าเปิดเผยตนเองว่าเคยผ่านการสมรสก่อนเข้าวงการ ทำให้ผู้ชมติดภาพลักษณ์นางเอกสาวกร้านโลก แถมบทบาทในหนังเรื่องนี้ตัวละครเต็มไปด้วยความร่านสวาท ยินยอมผ้าหลุดแบบไม่เกรงกลัวอะไรทั้งนั้น ดวงตากลมโตช่างมีความซับซ้อนภายในยิ่งนัก, ว่าไปหน้าตาของวันดี ผมรู้สึกคล้ายๆกับน้องแมว Catherine Deneuve เสียเหลือเกิน เป็นคนแรงๆแถมชอบเล่นหนังแนว Erotic คล้ายกันเสียด้วย น่าเศร้าที่ชีวิตจริงคล้ายๆหนังเรื่องนี้ ขณะกำลังโด่งดังอยู่ดีๆหายตัวไปจากวงการ ว่ากันว่าถูกลักพาตัวไปแต่งงาน แล้วคุมขังกักตัวจนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ต่างที่ลูกสาวเสียชีวิตตอนอายุ ๕ เดือน และวันดีก็ลาโลกไปหลังจากนั้นอย่างปริศนา สภาพศพไม่มีบาดแผลใดๆ พบเพียงเสื้อผ้าที่สวมใส่หลุดลุ่ย สามีอ้างว่าเธอกินยาเกินขนาด ถูกเผาศพอย่างรวดเร็วไม่ให้ชันสูตร

ถ่ายภาพโดย โสภณ เจนพานิช, โชน บุนนาค, พูนสวัสดิ์ ธีมากร (คนหลังต่อมาผันตัวมาเป็นนักแสดง) ใช้ฟีล์ม 35mm ขนาดภาพ Anamorphic Widescreen (๒.๓๕:๑) กว้างยาวสุดลูกหูลูกตา (ฉายจอโค้งโรงสกาล่า อลังการมากๆ) แต่เหมือนจะใช้การพากย์เสียงทับแทบ Sound-On-Film (คงเพราะถ่ายยังสถานที่จริง ติดทะเล มิอาจตัดเสียงคลื่นลมออกได้)

สถานที่ถ่ายทำเท่าที่หาข้อมูลได้ก็คือ
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล, ฉากตามหมู่เกาะ ท้องทะเลทั้งหลาย
– เกาะปันหยี อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, ในฉากบ้านกลางน้ำ

ตัวอักษรชื่อหนัง ‘ชู้’ ที่ปรากฎเป็นอนิเมชั่นในหนัง มันจะทำการม้วนๆเป็นวงกลมรอบแท่ง(สัญลักษณ์ของลึงค์) นัยยะราวกับต้องการสื่อว่า ความเป็นชู้ มักเกิดขึ้นเวียนวนอยู่กับแท่งอวัยวะเพศชายที่มาด้วยกิเลสตัณหาก็เท่านั้นแหละ

ประโยคแรกของหนังดังขึ้นประมาณนาทีที่ ๖:๑๙ ใช้การดำเนินเรื่องด้วยภาพและการกระทำของนักแสดง ไม่จำเป็นต้องมีคำพูดใดๆเพราะไม่ได้คุยกับใคร ทุกสิ่งอย่างมีภาษาของมันเองอย่างสวยงาม (โดยเฉพาะเพลงประกอบ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างทรงพลัง)

ความเจ๋งแรกของการถ่ายภาพ มาจากอาการกลุ้มกระวนกระวายคิดเพ้อของพระเอก เพราะได้ถอดเสื้อผ้าอันเปียกโชกของหญิงสาวออก พบเห็นเนื้อนวลเรือนร่าง แม้ปากจะพูดว่าฉันขอนอนข้างนอกแล้วกัน แต่เกาะร้างแห่งนี้ไม่มีใครอื่น ลุกขึ้นมาจะจุดบุหรี่แต่จินตนาการเห็นเป็นภาพ ใช้การเคลื่อนกล้องไปทางขวาเล็กหนึ่ง แล้วซ้อนภาพความทรงจำ/จินตนาการมาให้เห็น แบบนี้ใครกันจะไปทนไหว, แต่ที่ผมชอบสุดของฉากนี้คือเสียงเพลงประกอบ โดยเฉพาะกีตาร์ไฟฟ้า มันจะเร่งเร้าใจขึ้นเรื่อยๆ มอบสัมผัส On the Rock, Sex on the Beach (ใครเคยกิน Cocktail น่าจะพอเข้าใจได้)

ขณะกำลังปล้ำข่มขืน ภาพโทนสีน้ำเงินให้สัมผัสที่เย็นยะเยือก (Blue Movie) มือของหญิงสาวจากกำลังเกร็งแน่นไม่ยอมเป็นค่อยๆผ่อนคลายวางลง แล้วหนังตัดมาให้ภาพคลื่นซัดโขดหิน วินาทีนั้นทำให้ผมระลึกถึงการโล้สำเภาขึ้นมาทันที นี่ถ้าไม่มีเทรนด์บุพเพสันนิวาสโด่งดังขึ้นมา ช็อตนี้จะถูกมองว่าก็แค่เช้าวันใหม่ อากาศสดใส คลื่นลมแรงดี แต่เมื่อบังเกิดความเข้าใจนี้ สามารถมองเลยเถิดไปที่ คลื่นกระทบโขดหิน มีความหมายถึงการร่วมรักของหนุ่มสาว, และโคลนตมแฉะๆ มันแหยะๆก็คือน้ำรักนะแหละ

ความสวยงามในทัศนียภาพของหนัง พบเห็นเกาะรูปร่างเหมือนลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) ทะลุเป็นรู (สัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง) ครั้งหนึ่งเรือแล่นลอดผ่าน (โล้สำเภา) สามารถจินตนาการเพ้อเจ้อไปได้เรื่อยตามความหื่นกระหายของคุณเอง

แซว: ที่ร้านขายยา หมอแนะนำให้ป้าคนหนึ่งที่เหมือนว่ามีอาการเจ็บคอ ใช้ยาป้ายนี่ ‘ล้วงลึกๆสักหน่อย’ ถ้าคุณได้ยินเฉพาะประโยคนี้จะจินตนาการว่าอะไร

ไข่มุก เป็นของมีค่าสวยงามที่อยู่ภายใต้ท้องทะเลลึก หลบซ่อนอยู่ในเปลือก’หอย’ ต้องผู้มีความสามารถดำน้ำลงไป และรู้แหล่งถึงมีโอกาสค้นพบเจอ ผมมองเจ้าสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงจิตใจ/ตัวตนของหญิงสาว หลบซ่อนอยู่ภายในอย่างลึกลับ เป็นสิ่งมีคุณค่าเกินคณา ต้องกับคนที่ตนรักเท่านั้นถึงเปิดเผยออกได้

สถานที่เก็บซ่อนไข่มุกจริงๆ อยู่ในแท่งไม้ไผ่ลำยาวๆ มีลักษณะเหมือนลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) … ในบริบทนี้คงหมายถึง การจะค้นพบสิ่งล้ำค่าที่อยู่ภายในของผู้หญิง มันก็ต้องผ่านการใช้ชีวิตร่วมรักเป็นของกันและกัน ถึงจะคลอดไข่มุกออกมาได้

ถ้ำที่เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย นี่ก็สื่อแทนด้านมืดความลึกลับในจิตใจของมนุษย์, เชิงชอบเดินเข้าไปเพื่ออาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดใหม่เอี่ยม แต่เทพกับเรียมมักพบเห็นหลบๆซ่อน ร่วมรักหลับนอนหลบกันอยู่ในมุมมืดใกล้ทางออกถ้ำ

ในค่ำคืนดึกดื่นบนเกาะร้างกลางทะเลอันห่างไกล ทุกสิ่งอย่างรอบข้างพื้นหลังมืดมิดสนิท สถานที่นี้เปรียบได้กับกึ่งกลางภายในจิตใจมนุษย์ จะปรากฎพบ ๓ โทนสี ที่สะท้อนกับอารมณ์ความรู้สึกของเชิง
– แสงสีส้มอาบหน้าตัวละคร (สะท้อนมาจากกองไฟ) แทนด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธาของเชิงต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบไม่กี่วันมานี้
– ลากพาออกมาสู่ความมืดมิด กลายเป็นภาพโทนสีน้ำเงิน (น่าจะสะท้อนจากแสงจันทร์) เชิงต้องการลงโทษทั้งสองด้วยยะเยือกเย็นชา ให้เทพมัดตัวเรียม ขณะกำลังเดินลงทะเลต้องการฆ่าตัวตายแต่ถูกดึงลากกลับมาขึ้นฝั่ง เธอจึงตัดสินใจเล่าเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่างให้เขาฟัง
– หลังเรียมเล่าจบหมด ภาพจะกลับเป็นโทนสีปกติ (ใช้การจัดแสงสีขาวจากหลอดไฟ) สะท้อนถึงจิตใจของเชิงที่ได้กลับเข้าสู่สภาวะสงบ

ลำดับภาพโดย สมบูรณ์สุข (ไม่แน่ใจว่าคือชื่อห้องแลป/สตูดิโอ หรือนามปากกาของผู้ตัดต่อ)

หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเรียมเป็นส่วนใหญ่ แต่หลายครั้งก็นำเสนอผ่านสายตาของเชิงและเทพ สามตัวละครหลักถือว่าคละเคล้ากันไป ถ้าแบ่งออกเป็นสามองก์จะได้ว่า
– องก์แรก เรื่องราวของเชิงกับเรียม เวลาจะก้าวกระโดดผ่านไปรวดเร็วมาก หลักปีเลยทีเดียว
– องก์สอง เรื่องราวของเทพขณะมีชู้กับเรียมตอนที่เชิงป่วย เวลาในช่วงนี้จะสั้นลงเหลือหลักสัปดาห์ แรมเดือน
– องก์สามไคลน์แม็กซ์ ดำเนินเรื่องบนเกาะร้างกลางทะเลในระยะเวลาเพียง ๑ วันกว่าๆเท่านั้น เชื่องช้าเนิ่นนานสุดๆเลย

ความสุขมักเป็นสิ่งที่เคลื่อนผ่านเราไปอย่างรวดเร็วไว ผิดกับการกระทำชั่วร้ายผิดศีลธรรม ทั้งๆที่ความยาวขององก์ ๒ ก็พอๆกับองก์แรก แต่ระยะเวลามันกลับหดสั้นลง และไคลน์แม็กซ์เมื่อความทุกข์ลุ่มเร่าร้อนสุมอก เพียงหนึ่งนาทีรู้สึกยาวนานเป็นชั่วโมง, เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ค่อยชอบช่วงองก์สามสักเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อยืดยาวนานเกิ้น แต่ด้วยแนวคิดไดเรคชั่นที่ผมนำเสนอมานี้ ถือว่าสมเหตุสมผลลงตัวพอดิบพอดีเลยละ

การเล่าย้อนอดีต Flashback ของเรียม ใช้โทนสีน้ำตาลให้ดูเหมือนโปสการ์ดเก่าๆ แล้วทำการแช่ภาพค้างไว้เฉพาะช่วงขณะสำคัญๆให้ดูเหมือนรูปถ่ายจากความทรงจำ นี่เป็นไดเรคชั่นที่ผมว่ามันไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าไหร่ ค้างๆคาๆแบบครึ่งๆกลางๆ คือถ้าไม่นำเสนอการย้อนหลังแบบปกติ จะใช้แค่คำพูดของเรียมเล่าเรื่องอย่างเดียวผมว่ามันก็ทรงพลังมากๆแล้วนะ

มีสองครั้งของการตัดต่อที่ค่อนข้างน่าสนใจ
– หลังจากที่เชิงกระโดดโลดเต้นดีใจที่เมียท้อง หนังกระโดดข้ามมาตอนลูกโตอายุ ๔-๕ ขวบ พบเจอกับปลาตายอยู่บนบก, ผมคิดว่าฉากนี้สะท้อนถึงอิสรภาพที่กำลังจะถึงจุดสิ้นสุดของชายหนุ่ม เขาไม่สามารถอาศัยอยู่บนเกาะร้างห่างไกลนี้ต่อไปได้อีกแล้ว ชีวิตกำลังมีภาระ ลูกสาวกำลังเติบโต ใกล้ถึงเวลาหวนกลับขึ้นฝังมีชีวิตแบบคนปกติทั่วไป
– อีกฉากกวนๆที่โคตรเท่ห์ ถ้าไม่อยากเห็นดวงตาก็หาแว่นดำมาใส่ วินาทีถัดมาตัดให้เห็นเชิงสวมแว่นดำที่กำลังสะท้อนภาพของเรียม, แว่นดำ จากควรเป็นสัญลักษณ์ของความละอายใจ ภรรยาไม่กล้าสบสายตาสามี กลับกลายเป็นความมืดบอดเลินเล่อของสองชู้ มองไม่เห็นสิ่งชั่วร้ายจากการกระทำของตนเอง

เพลงประกอบโดย ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๕๓๓) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – เรียบเรียงเสียงประสาน) เจ้าของบทเพลงดัง ข้าวนอกนา, บ้านเรา, รักเธอเสมอ, คนเดียวในดวงใจ, ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า, เดือนเอ๋ย ฯ

บทเพลงมีกลิ่นอาย Theme Song ของ James Bond ที่หลายคนอาจคุ้นๆหูติดอยู่ด้วย คงเพราะความเซ็กซี่เย้ายวนของท่วงทำนอง เป็นการนำร่องพาเข้าสู่ความทุกข์ทรมาน ว้าวุ่นวายใจ (ในรัก), ลักษณะของเพลงประกอบที่ใช้คือ Expression ที่มีความตรงไปตรงมา (ส่วนผสมของกีตาร์ไฟฟ้า และเครื่องเป่าฟลุต) ต่อให้หลับตาก็สามารถคาดเดาได้ทันทีว่าฉากนั้นจะมีทิศทางอารมณ์เป็นเช่นไร คาดเดาล่วงหน้ากันได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ตอนที่เชิงถูกสาหร่ายพิษเข้าตา บทเพลงจะมีสองลักษณะที่เด่นชัด
– เสียงฉาบกลอง ได้ยินรัวๆเหมือนเสียงเคาะระฆัง
– และการเป่าฟลุตแบบสุดลมเสียงแหลม ดังเหมือนเสียงนกหวีด

ทั้งสองลักษณะเสียงนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใส่เท็มโปที่รุกเร้าเร่งความเร็ว คือการเตือนภัยหรือบ่งบอกถึงอันตรายบางอย่างได้บังเกิดขึ้นแล้ว สร้างความหวาดวิตก อารมณ์น่าสะพรึงกลัว ตื่นเต้นลุ้นระทึก รอดไม่รอด อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้

ตอนที่เชิงรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเรียมกับเทพ ให้ลูกหยิบปืนจากใต้เตียงตั้งใจจะยิงทั้งสอง บทเพลงได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างทรงพลัง มันช่างมีความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ แต่เขาก็ทำไม่ได้วางปืนลง แล้วน้ำตาไหลพรากๆ อธิบายกับลูก พ่อไม่มีแรงเช็ดปืน ไว้คราวหน้าก็แล้วกัน

น่าเสียดายบทเพลงตอนจบ Ending Credit ผมค้นหาทั้งชื่อเพลงและผู้ขับร้องไม่ได้ เลยฝากทิ้งไว้กับคำร้องอันไพเราะตราตรึง

“ชีวิตเราเศร้านัก แล้วแต่กรรมชะตา
จะผันไปเปลี่ยนมา ตามกรรมแต่ปางหลัง
เคยรัก ยังกลับกลายรัก รักกลายเป็นชัง
คือฟ้าทะเลกลับหลัง สวมกอดทะเล สุดทะเลหวังใด”

ณ เกาะร้างกลางท้องทะเล สถานที่โดยปกติไร้ซึ่งมนุษย์หรือสิ่งมีอารยธรรมปรากฎอยู่ การที่ใครคนหนึ่งเข้าไปตั้งรกรากถิ่นฐานอาศัยก็เปรียบเสมือนโลกส่วนตัว หรือภายในจิตใจของเขาเอง วันหนึ่งถูกรุกรานโดยหญิงสาวจากโลกภายนอก ที่ได้นำเอากิเลสตัณหากระตุ้นยั่วยวนให้เกิดราคะ ทำให้ชายหนุ่มมีความต้องการได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ และร่างกายสนองด้วยสันชาติญาณความต้องการของตนเอง ถือกำเนิดจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ (มีลูก)

ก่อนที่มนุษย์จะกลายเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ก็ต้องเคยป่าเถื่อนชื่นชอบใช้ความรุนแรงในการดำรงชีวิต จนเมื่อเกิดวิวัฒนาการเรียนรู้พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ เฉกเช่นเดียวกับครอบครัวนี้ เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้นก็คาดหวังที่จะให้ได้รับโอกาสเสมือนคนอื่นๆ ร่ำเรียนมีความรู้สูงๆ จบมาหางานทำร่ำรวยมีความสุข แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้มีบางสิ่งเข้ามาคุกคามขัดขวาง ทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นมืดบอดเลือนลาง

เราสามารถเปรียบเทียบเทพ คือกระจกสะท้อนตัวตนอีกด้านหนึ่งของเชิง แทบทุกสิ่งอย่างของพวกเขามีความแตกต่างตรงกันข้าม
– เชิงพูดน้อย เทพพูดมาก
– เชิงอาศัยอยู่ตามเกาะธรรมชาติ เทพอาศัยอยู่ในเมืองเต็มไปด้วยสังคมผู้คน
– เชิงเป็นคนมีเมตตาจิต สุจริตใจ เทพเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัว ทำใจสิ่งทุจริตไร้มโนธรรม

นี่แปลว่าสิ่งที่มักขัดขวางความมีอารยธรรมของมนุษย์ ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก ‘ตัวเราเอง’ ต่างตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน และถือว่าอีกฝ่ายเป็นชู้ในมุมมองของตนเอง กระทั่งเมื่อทั้งสองฝ่ายรับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงของกันและกันอย่างถ่องแท้ ผลลัพท์จะแบ่งคนออกเป็นอีกสองจำพวก
– เชิง: คนที่ยินยอมรับได้ ให้อภัยทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว
– เทพ: คนที่ปฏิเสธหัวแข็ง ไม่ประณีประณอม ปฏิเสธการให้อภัยทุกสิ่งอย่าง
(เรียม: อยู่กึ่งกลางระหว่างพวกเขาทั้งสอง)

บุคคลที่โลกอารยะต้องการมากที่สุดคือ เชิง ผู้ที่สามารถยินยอมรับ ทำความเข้าใจ ให้อภัยได้ทุกสิ่งอย่าง มีเมตตาจิต และเป็นคนสุจริต แต่ก่อนอื่นเขาจำเป็นต้องต่อสู้เอาชนะเทพ แล้วปล่อยลอยคอทิ้งไว้บนเกาะกลางทะเล (เก็บกดด้านมืดความชั่วร้ายให้อยู่เพียงภายในจิตใจของตนเอง)

ใจความหน้าหนังคือบทเรียนเชิงศีลธรรมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ สอนให้รู้จักการควบคุมสติ ยับยั้งความต้องการ ตัณหาราคะของตนเอง การมีชู้มันอาจเป็นเรื่องสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจอารมณ์ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อความแตก ชีวิตก็จักตกต่ำลงเรื่อยๆ สังคมกีดกันต่อต้าน หลงเหลือเพียงความอัปยศอดสู อับอายขายขี้หน้าประชาชี ก็ไม่รู้จะทนมีชีวิตต่อไปอีกได้นานแค่ไหน

สำหรับที่ผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ พิจารณาจากแนวคิดปรัชญาชีวิตของเขาแล้ว นำเสนอความพยายามในการต่อสู้ขัดขืนตัณหาราคะของตนเอง คงเพราะขณะนั้นแต่งงานมีลูกแล้วหลายคน ทำงานในวงการนี้พบเจอสาวๆสวยสะพรั่งมากมาย อยากจะได้มาครอบครองเป็นชู้คงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่สิ่งท้าทายยิ่งกว่าคือการอดกลั้น ยึดถือมั่นในมโนธรรมประจำใจ เอาชนะศัตรูที่ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากตัวเขาเอง เช่นนั้นแล้วจิตวิญญาณของตนจะมุ่งสู่ภพภูมิอารยะที่เหนือกว่าแค่มนุษย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง

หลังจากงานประกวดภาพยนตร์ชิงรางวัลตุ๊กตาทอง ได้ยุติลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ก็มีความพยายามรื้อฟื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยได้คืนชีพสำเร็จ เปลี่ยนชื่อเป็นงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี เริ่มต้นใหม่นับครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๑๗ ซึ่ง ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๕) สามารถคว้ามาครองได้ ๒+๑ รางวัล
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – กรุง ศรีวิไล
– (รางวัลพิเศษ ตุ๊กตาเงิน) เพลงประกอบดีเด่น

หนังเคยได้รับการตีความสร้างใหม่ ชู้ (พ.ศ. ๒๕๔๗) กำกับโดยองอาจ สิงห์ลำพอง นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, วัชระ ตังคะประเสริฐ, เฮเลน นิมา พยายามทำให้เป็นแนว Erotic ระทึกขวัญ แต่ไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าฉากโป๊เปลือยและเลิฟซีน

ประมาณสัก ๕ นาทีแรก ก็ทำให้ผมตกหลุมรักคลั่งไคล้ในไดเรคชั่นสุดบ้าคลั่ง แต่วินาทีที่กลายเป็นหนังโปรดคือหลังจากฉากไคลน์แม็กซ์หักมุม คาดคิดไม่ถึงก็เรื่องหนึ่ง แต่สองสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น สร้างความเต็มอิ่มพึงพอใจให้ผมอย่างมาก
– เชิงยอมความกับเทพ ปล่อยให้เรียมตัดสินใจเองว่าอยากอยู่กับใคร
– และตอนจบ เชิงขับเรือออกมาโดยไม่สนใจเสียงอีกาหมาเห่าเบื้องหลังอีกต่อไป

ความเห็นส่วนตัวมองสองสิ่งนี้คือการกระทำที่ถูกต้อง เหมาะสมควรมากๆ, เมื่อรับรู้ข้อเท็จจริงทุกสิ่งอย่าง จึงเริ่มปล่อยวางจากความเกรี้ยวกราด อารมณ์ยึดติด และใช่ว่าทุกคนในโลกจะสามารถเห็นชอบดีงานกับสิ่งที่เรามอบให้อย่างสุจริตใจ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องฆ่ารันฟันแทงให้ตายไปกันข้าง ปล่อยเกาะลอยคอทิ้งไว้แบบนั้นแหละ อยากเอาชีวิตตัวรอดก็ค้นหาทางเองแล้วกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่ม-สาว, คู่รัก สามี-ภรรยา ถึงการมีชู้จะเป็นเรื่องผิดศีลธรรมจรรยา แต่วิธีตอบโต้ของผู้รับรู้พบเจอสิ่งนั้นเข้ากันตนเอง ย่อมแสดงถึงคุณธรรม สติปัญญา และความเป็น’มนุษย์’ที่มีเหนือกว่า

เลิกเถอะนะครับกับแฟชั่นค่านิยมสมัยนี้ จับได้ว่าคนรักมีชู้ ต้องถ่ายคลิป Live ตบตีประจาน ให้อีนี้นั่นต้องอับอายขายขี้หน้า ๗ ชั่วโคตร คนที่สมควรถูกสังคมรุมประณามตำหนิต่อว่าจริงๆสำหรับเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือผู้ที่ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้แก้ปัญหา ผมไม่เคยดูหรอกนะเสียเวลาสายตาความรู้สึก สันดานหมากัดกันชัดๆ ไปสนใจมันมากทำไม

แนะนำอย่างยิ่งกับคอหนังไทยคลาสสิก ชื่นชอบ Erotic แฝงข้อคิดการใช้ชีวิต, ภาพถ่ายหมู่เกาะ ท้องทะเลอันดามันสวยๆ, แฟนๆผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ และนักแสดงนำมานพ อัศวเทพ, กรุง ศรีวิไล ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับการเป็นชู้ และโต้ตอบด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรง

TAGLINE | “ชู้ พ.ศ. ๒๕๑๕ ของเปี๊ยก โปสเตอร์ คือไข่มุกแห่งวงการภาพยนตร์ไทย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: