ดาวคะนอง (พ.ศ. ๒๕๕๙) : อโนชา สุวิชากรพงศ์ ♥♥♥♡
อดีตเริ่มเลือนหาย ความทรงจำกระจัดกระจาย แต่มันกลับมาโดดเด่นชัดอีกครั้งเมื่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันเป็นชวนเหตุให้ อโนชา สุวิชากรพงศ์ นำพาตัวเองหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น เมื่อปีที่ฉันเกิดตรงกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา พ.ศ. ๒๕๑๙ สร้างพื้นที่ความทรงจำให้พี่น้องชาวไทย ยินยอมได้อย่างไรเมื่อเผด็จการยึดครองประเทศ!
ตอนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย เคยไปค่ายๆหนึ่งตั้งชื่อโก้หรู ‘สัมมนาผู้นำเยาวชน’ ช่วงแรกๆก็มีละลายพฤติกรรม อบรม ระดมสมอง ครุ่นคิดหาวิธีการสร้างพลัง สานสัมพันธ์นักศึกษาให้เป็นปึกแผ่น โดยรวมถือว่ามีค่อนข้างน่าสนใจดี แต่พอตะวันเคลื่อนคล้อยรัตติกาลย่างเข้ามา วิทยากรคนหนึ่งอยู่ดีๆพูดถึง ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ลากยาวเป็นชั่วโมงไม่รู้จักจบสิ้น ทีแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไรจนกระทั่งเดินออกไปห้องน้ำแล้วกลับเข้ามา ถึงกับชะงักงันเมื่อได้ยินว่า ‘นักศึกษาสมัยนี้ ไม่รักชาติบ้านเมืองหรือไร เพิกเฉยต่อเหตุการณ์โน่นนี่นั่นอยู่ได้?’ วินาทีนั้นผมกลายเป็นกลุ่มหัวขบถสุดโต่งไปทันที ทำไมคนรุ่นพวกคุณถึงพยายามครอบงำ เสี้ยมสั่งสอน ปลูกฝังโลกทัศนคติความรุนแรง มอมเมาคนรุ่นปัจจุบันให้ต้องดำเนินเดินตามรอยเท้า
ถึงผมเกิดไม่ทัน ๖ ตุลา, ๑๔ ตุลา หรือพอรับรู้เรื่องราวของพฤษภาทมิฬ แต่ก็ไม่เคยลืมเลือนว่านั่นคือด้านมืดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาธิปไตยที่ว่าดีเลิศประเสริฐศรีหนักหนา “แต่ถ้าประชาชนไม่มีธรรม มันย่อมต้องกลายเป็นประชาธิป…ตาย” (- พุทธทาสภิกขุ) ก่อนที่เราจะปลูกฝังโลกทัศนคติใดๆให้คนรุ่นต่อไป สอนพวกเขารู้จักธรรมะ ทางสายกลาง วิถีทางถูกต้องในการดำเนินชีวิตไม่ดีกว่าหรือ แทนที่จะเริ่มต้นด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น มึงต้องไม่หลงลืมสิ่งชั่วช้าสามาลย์ของศัตรู ไม่ใช่มิตรพวกข้าก็ต้องเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามเท่านั้น!
ดาวคะนอง (พ.ศ. ๒๕๕๙) เป็นภาพยนตร์ที่งดงามในแง่ศาสตร์ศิลป์ ความคิดสร้างสรรค์ ต้องการทดลองบางสิ่งเพื่อค้นหารูปแบบวิถีทางใหม่ๆ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ตัวตนคนหัวขบถซ้ายจัดของผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ รับอิทธิพลเอ่อล้นจาก Jean-Luc Godard ถ้าไม่ชื่นชอบมากๆก็โกรธเกลียดเข้ากระดูก
ผมเป็นพวกกลางๆที่หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งชื่นชอบและโกรธเกลียด, ประทับใจในความลุ่มลึกล้ำซับซ้อนของตัวหนัง แต่รำคาญโลกทัศนคติของผู้กำกับ สนแต่นำเสนอมุมมอง’ส่วนตัว’ในการสร้างพื้นที่ความทรงจำ นี่ไม่ใช่แค่บันทึกย้อนรอยประวัติศาสตร์แล้ว เป็นลักษณะสุมไฟเพื่อสร้างเชื้อขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม โชคยังดีที่…
คิดว่าต่อให้อีก ๑๐-๒๐ ปี คนไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่มีศักยภาพเพียงพอจะเข้าใจหนังเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ นี่มิใช่การดูถูกหมิ่นแคลนแต่สังเกตจากจริตนิสัย และรสนิยมบริโภคของผู้ชมทั่วไป ยังคงหลงใหลอยู่กับอาหารกินง่ายย่อยเร็วราคาถูก แถมรอคนอื่นมาป้อนให้อีกต่างห่าง
บทความนี้ก็จะทำการป้อนข้าวป้อนน้ำ ด้วยความคาดหวังจาก ๑๐-๒๐ ปี จะลดลงเหลือสัก ๕-๖ ปี ดูสิว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า (แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีอะไรหรอกนะ ทุกสิ่งอย่างจะจมลงและสูญเปล่า ดาวคะนองก็จะหมดสิ้นฤทธิ์เดชเดชา)
อโนชา สุวิชากรพงศ์ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๙) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่จังหวัดชลบุรี พอขึ้นมัธยมครอบครัวส่งไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (ออกแบบเครื่องประดับ), ปริญญาโท (ศิลปวัฒนธรรมศึกษา), กลับมาช่วยบริหารธุรกิจที่บ้าน แต่ไม่ชื่นชอบประทับใจสักเท่าไหร่ เลยหวนกลับไปศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา คว้าทุนการศึกษาจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวู้ด (Hollywood Foreign Press Association) มีหนังสั้นวิทยานิพนธ์เรื่อง Graceland (พ.ศ. ๒๕๔๙) ได้รับการคัดเลือกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ค้นพบหนทางไปต่อของตนเองโดยทันที
ต่อมาก่อตั้งบริษัท อิเล็คทริคอีลฟิล์ม เพื่อผลิตภาพยนตร์อิสระและสื่อเคลื่อนไหวต่างๆ โดยหนังยาวเรื่องแรก เจ้านกกระจอก (พ.ศ. ๒๕๕๒) ได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยมล้นหลาม คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังมากมาย ซึ่งระหว่างการถ่ายทำนั้นเกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สร้างความรวดร้าวฉาน ยินยอมรับไม่ได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้หวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำรอยอดีตได้อย่างไร
“เรารู้สึกอกหักตอนเกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าผู้คนรอบๆ ตัว จะกลายไปเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารกันขนาดนั้น มันทำให้เราตื่นขึ้น ในช่วงเวลานั้นฝ่ายต่อต้านรัฐประหารยังไม่เข้มแข็งมากนัก แต่มันก็มีการรวมตัวกันของผู้คัดค้านรัฐประหารที่หน้าห้างสยามดิสคัฟเวอรี และเราก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว”
ถึงอโนชา จะเกิดทัน ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่ก็ยังแบเบาะไร้ประสีประสา เติบโตขึ้นค่อยมีโอกาสมาร่ำเรียนรู้จักจากการอ่านหนังสือ ตอนอายุประมาณ ๑๒-๑๓ ปี จึงมีความใคร่สนใจอยากรู้เป็นพิเศษ
“สิ่งที่เรารู้สึกผูกพันกับ ๖ ตุลา เพราะเหตุการณ์นี้เกิดปีเดียวกับเรา เราก็เลยรู้สึกคอนเน็คกับ ๖ ตุลา ตั้งแต่เด็กแล้วนะที่เวลาอ่านอะไรก็ตามที่มี พ.ศ. ๒๕๑๙ เราจะรู้สึกว่านี่คือปีที่เราเกิดอยู่ตลอด มันก็เลยฝังใจหรือผูกพัน เรารู้สึกว่า ๖ ตุลา อยู่กับตัวเรามานานแล้ว”
แรกเริ่มของ ดาวคะนอง ตั้งใจแค่เล่าเรื่องชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่เปลี่ยนการงานไปเรื่อยๆ สะท้อนเข้ากับบริบทสภาพสังคมไทยในยุคสมัยนั้น ขณะเดียวกันเมื่อได้มีโอกาสอ่านวิจัย ‘๖ ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา ๒๕๑๙-๒๕๔๙’ เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล แกนนำนักศึกษาในช่วงปี ๒๕๑๙ กลายเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์, University of Wisconsin-Madison เกิดความสนใจดัดแปลงเป็นสารคดี แต่โปรเจคนี้ได้กลายเป็นหมันเพราะความไร้ประสบการณ์ด้านนี้ และไม่มีใครอยากให้การสนับสนุนทุนสร้าง
เผื่อใครอยากอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว: http://www.academia.edu/10355554/2011_2554_6_ตุลาในความทรงจําของฝายขวา_2519-2549
ไปๆมาๆก็เลยจับมาคลุกเคล้าผสมรวม เรื่องราวของหญิงสาว ดาวคะนอง เข้ากับความสนใจใน ๖ ตุลา ประติดประต่อเรื่องราว จัดวางประเด็นเนื้อหาไว้อย่างกระจัดกระจาย และใส่สัญลักษณ์มากมายเพื่อลดความรุนแรงลง
“ถึงแม้ใครๆ จะบอกว่าคนรุ่นหลังไม่ใส่ใจในอดีตของตัวเอง หรือไม่สนใจความเป็นไปของสังคม แต่ฉันก็ยังต้องการจะสร้าง ‘ความแตกต่าง’ ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยยุคปัจจุบัน ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง”
วิธีการที่ผมจะใช้วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นแบบภาพประกอบคำบรรยาย ค่อนข้างยาว(และเสียเวลา)สักหน่อย น่าจะเพียงพอให้หลายๆคนดูหนังรู้เรื่องขึ้น ไม่มากก็น้อย
เริ่มต้นช็อตแรกของหนัง คือการเปิดประตู หน้าต่าง บ้านเก่าๆหลังสีขาว (เห็นว่าเป็นของอดีตนักเขียนชื่อดัง ก. สุรางคนางค์) กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลไถลไปด้านข้าง, บ้าน มักใช้เป็นสัญลักษณ์สถานที่แห่งความทรงจำ (๖ ตุลา) ปิดประตูหน้าต่างเสมือนอดีตที่ถูกลืมเลือน ได้รับการเปิดออกปัดฝุ่นคือการเริ่มต้นค้นหาอะไรใหม่ๆ (หนังนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง เกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา)
ผมค่อนข้างชอบช็อตนี้นะ กระจกบานหนึ่งแตกร้าว ทำให้พบเห็นต้นไม้สูงใหญ่ภายนอก สื่อความถึง ประวัติศาสตร์/ข้อเท็จจริงบางอย่าง มีเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่คนรุ่นปัจจุบันได้รับเรียนรู้เท่านั้น ยังมีอีกมากถูกปกปิดบัง ลบลืมเลือน สูญหายไปตามกาลเวลา
การจะรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต พิธีกรรมของคนไทยก็คือ จุดธูปขอขมาอธิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี คนที่ยกมือไหว้ถือธูป คือตัวละครผู้กำกับชื่อ แอน (รับบทโดย โสรยา นาคะสุวรรณ, ผู้กำกับ 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์) พบเห็นอีกทีก็ตอนท้ายๆในห้องตัดต่อโน่นเลย
ความน่าสนใจของช็อตนี้ คือต้นไม้สูงใหญ่ที่หลงเหลือเพียงกิ่งก้านไร้ใบสีเขียวให้ดูชุ่มชอุ่มสดชื่น, เราสามารถเปรียบต้นไม้นี้ในเชิงสัญลักษณ์กับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่ร่วงโรยเลือนลางไปจากความทรงจำของผู้คน
นี่เป็น Sequence แรกของการถ่ายทำภาพยนตร์ (film with in film) สามารถตีความได้ในเชิงสัญลักษณ์นามธรรม ‘Abstraction’ ที่สะท้อนพฤติกรรมของ ทหาร/ตำรวจ/ผู้มีอำนาจ ในทุกๆเหตุการณ์ประท้วง/จราจล/ยึดอำนาจ/รัฐประหาร มักใช้ความรุนแรง ถือปืน พูดจาข่มขู่ บีบบังคับให้ต้องก้มหัวต่ำ ถอดเสื้อผ้า นอนลงกับพื้น ห้ามกระดุกกระดิก เหมือนนักโทษในคุก
ต่อจากนี้จะมีการร้อยเรียงด้วยภาพนิ่งขาวดำ (บันทึกความทรงจำ) และเจ้าหน้าที่สวมเครื่องแบบ ถือปืน ดูดบุหรี่ โชว์ลีลาน่ายี้ ถ่ายย้อนแสง นี่มันถ่ายแบบแฟชั่นหรืออย่างไร แสดงถึงค่านิยมของคนชอบใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอกว่า
ดอกหญ้า มักใช้เป็นสัญลักษณ์แทน สามัญชนคนทั่วไป, สายน้ำ คือกาลเวลา, หนุ่มสาวก้าวย่างเดิน สองมือกวัดแกว่งอยากที่จะสัมผัสจับจูง
มันเหมือนว่า หญิงสาวจะมีเรื่องอยากพูดบอกกับชายหนุ่ม (ว่าฉันตกหลุมรักนาย กระมัง) แต่ด้วยความหวาด ขลาด กลัวเกรง เลยมิกล้าเอ่ยความใดๆออกไป, ฉากนี้สะท้อนถึงผู้คนในยุคสมัย ๖ ตุลา เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นผ่านมา มักมิได้รับการพูดเปิดเผยออก อ้ำๆอึ้งๆ กลัวโดนเก็บเข้ากรุกระมัง หลายสิ่งอย่างจึงยังคงคั่งค้างคา แต่กาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน เราถึงค่อยๆพบเห็นใครต่อใครร่ำระลึกมันออกมา
บ้านพักที่ครูแต้ว (รับบทโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง) เล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองให้กับ แอน (วิศรา วิจิตรวาทการ) มีลักษณะกระจกเปิดโล่ง พบเห็นทิวทัศนียภาพ ท้องทุ่งนา ภูเขา กว้างไกลไพศาล, จากที่บอกไปตอนต้นว่า บ้าน คือสัญลักษณ์แห่งอดีต/ความทรงจำ เมื่อมันสว่างแสงสาดส่องขนาดนี้ ย่อมหมายถึงการเปิดเผยเล่าเรื่องราวต่างๆ จากความทรงจำเก่าก่อน
การเลือกห้องนอนชั้นบน-ล่าง ถือเป็นการสะท้อนทัศนคติของผู้กำกับ ยกย่องเทิดทูนบุคคลผู้ ‘รอดชีวิต’ จากเหตุการณ์ ๖ ตุลา มีคุณค่าเหนือกว่าตนเอง ครูแต้วเลยได้นอนห้องบน ส่วนสาวแอนนอนชั้นล่าง ถ่ายช็อตนี้ผ่านขั้นบันได แสดงถึงความต่ำต้อยไร้ค่า และพบเห็นตำแหน่งสองห้องอยู่ตรงกันพอดิบพอดี
จริงๆผมไม่ได้อยากสังเกตหรอกนะ แต่มันสะดุดตาเหลือเกินกับกระที่ขึ้นตรงใกล้ๆหน้าอกของ วิศรา วิจิตรวาทการ อาจไม่ได้มีความตั้งใจอะไร แต่เพราะตำแหน่งมันใกล้หัวใจ เลยสามารถสื่อความหมายบางอย่างได้ (ลองไปครุ่นคิดดูเองก็แล้วกันนะครับ … ไม่อยากหื่น)
เมื่อตอนเริ่มต้นสัมภาษณ์ ข้อคำถามเกี่ยวกับชีวิตก่อนหน้านั้น ครูแต้วเริ่มเล่าจากวัยเด็ก จะมีปรากฎภาพนี้ปรากฏขึ้นมา ต้นไม้สูงใหญ่เทียบกับชีวิตที่ปัจจุบันได้เติบโตขึ้น เคียงคู่บ้าน(ความทรงจำ) ที่ขนาดคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง (แต่มีสภาพทรุดโทรม เก่าแก่ลงเรื่อยๆ)
อโนชา เล่าถึงการได้มาของตัวละครครูแต้ง และอาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง ไม่ได้อ้างอิงกับบุคคลมีชีวิตจริงผู้ใด และเริ่มต้นมิต้องการนักแสดงมืออาชีพ เพราะตัวละครจะถูกนำกลับมาใหม่โดยนักแสดงมืออาชีพอีกคน
“สำหรับอาจารย์รัศมี เราไม่เคยทำงานกับเขามาก่อน รู้จักผ่านงานเขียน เราเคยอ่านมาบ้าง แล้วเราก็รู้ว่าอาจารย์รัศมีทำละครเวที อย่างน้อยเขาก็มีทักษะการแสดง แล้วก็เป็นนักเขียนด้วย เราไปเจออาจารย์ที่บ้าน ก็เป็นการพูดคุยมากกว่าแคสติ้ง เราให้อาจารย์รัศมีอ่านบทในส่วนของตัวละครนักเขียน แล้วก็มีการต่อบทกันนิดหน่อย โอเค เราเลือกอาจารย์รัศมี”
ด้วยความที่อาจารย์รัศมี ก็พานผ่านประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นมาเช่นกัน ระหว่างถ่ายทำก็มีเล่าประสบการณ์ให้ฟังบ้างตามมุมมองของตนเอง แต่เพราะผู้กำกับไม่ได้ต้องการให้ตัวละครนี้อ้างอิงจากใคร เลยขอให้แสดงตามบทหนังที่เขียนไว้ ยกเว้นเพียงซีนเดียวตอนท้าย ที่เล่าถึง ‘๖ ตุลาส่งผลกระทบอะไรกับชีวิต’ นั่นเป็นการพูดออกจากความทรงจำของอาจารย์รัศมีเองเลย
ณัฐดนัย วังศิริไพศาล นั่งอยู่กลางห้อง เสมอว่าเป็นประธาน/คนกลาง แม้ว่าจะห้อมล้อมกันเป็นวงกลม แต่กลับแบ่งสองฝั่งฝักฝ่ายซ้าย-ขวา พูดคุยโต้ตอบ สนทนา เห็นต่างตรงข้ามกันเลย,
ถ้าสังเกตไดเรคชั่นการเคลื่อนกล้องของฉาก จะพบว่าค่อยๆเคลื่อนไหลสลับไปมาซ้าย-ขวา ซึ่งจะสะท้อนทัศนคติความคิดเห็นส่วนรวมที่เบี่ยงเบนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อาทิ เมื่อตอนถ่ายนักแสดงฝั่งซ้าย(ของภาพ) กล้องมักค่อยๆเลื่อนสู่ด้านซ้าย (ฝักใฝ่ซ้าย) ฯ
ขณะที่ระยะภาพก็จะค่อยๆประชิดเข้าใกล้นักแสดงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความเข้มข้นจริงจังในการสนทนา พอถึงระดับ Close-Up ด้านหลังเบลอสนิท ไม่สนอะไรอื่นนอกจากความตั้งใจตนเองอีกต่อไป
ช็อตนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่สิ่งที่ผมพบเห็นคือ น้ำ-น้ำมัน สองสิ่งที่ไม่เข้าคู่ผสมผสานกัน ซึ่งช็อตต่อไปตรงแคชเชียร์ ขวดน้ำมันพืข ตั้งตระหง่านสะดุดตาเหลือเกิน มองหาว่านำไปใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่เจอ จนกระทั่ง… (เดี๋ยวจะเขียนต่อไป)
“ทำไมพี่ไม่ให้เขาเล่าเองเลยล่ะในเมื่อเขาก็เป็นนักเขียน และมันก็เป็นชีวิตของเขา”
อ่านจากบทสัมภาษณ์ของอโนชา บอกว่า ‘นี่เป็นการตั้งคำถามกับผู้กำกับก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ได้คิดว่า คนที่อยู่ในเหตุการณ์หรืออยู่ร่วมยุคกับบางหน้าของประวัติศาสตร์ จะสามารถถ่ายทอดความเป็นจริงได้ดีกว่าเสมอไป’
การสัมภาษณ์ครั้งถัดมา ถ่ายภาพจากภายนอก พบเห็นเงาสะท้อนอันเลือนลางของผืนธรรมชาติ ท้องทุ่งนา ซึ่งสะท้อนกับหัวข้อคำถาม ‘ทำไมตอนนั้นพี่ถึงตัดสินใจเข้าร่วม’ คำตอบโดยสรุปย่อก็คือ ‘มันเป็นธรรมชาติ’
โทนภาพสีน้ำเงิน ยามเย็นหลังรับประทานอาหารค่ำเสร็จ แอนกำลังชะล้างจาน (ความครุ่นคิด/โลกทัศนคติของตนเอง) พื้นหลังเบลอๆ ครูแต๋วเดินมานั่งลงอ่านหนังสืออย่างสงบเรียบร้อย (อดีตที่มิได้อยู่ห่างไกล ในระยะสายตา แต่มักทำเป็นมองไม่ค่อยเห็น) และเมื่อแอนล้างจานเสร็จเดินออกไป มีการปรับโฟกัสให้เห็นครูแต้วอย่างชัดเจน คืออดีตเริ่มอยู่ในความสนใจ
ยามค่ำคืนแรก กำลังนอนดูโทรทัศน์ อยู่ดีๆไฟดับ! สัมผัสของฉากนี้มันประมาณ ค่ำคืนหมาหอน ๕ ตุลา ก่อนที่นักศึกษา-ตำรวจ จะเริ่มต้นต่อสู้ปะทะใช้ความรุนแรง ทำให้ด้านมืด(ความชั่วร้าย)กำลังค่อยๆปกคลุมประเทศไทยขณะนั้น
ความน่าขนลุกของช็อตนี้ คือการเบลอพื้นหลังแล้วพบเห็นดวงไฟสองตัว(ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองหญิง) มันราวกับดวงตา (อดีต/จิตวิญญาณ) กำลังจับจ้องมองมาอย่างลับๆ
“พี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต พี่เป็นแค่ผู้รอดชีวิต”
นี่คงกลายเป็นวลีอมตะของหนังไปแล้ว สะท้อนถึงวัฏจักรชีวิตไม่แตกต่างอะไรจากวัฏจักรของสังคม/การเมือง มีเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย หลีกหนีกฎแห่งกรรมพ้นเสียที่ไหน, ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ก็เท่ากับสามารถเอาตัวรอดพ้นจากโชคชะตากรรมคราก่อน แต่ไม่มีอะไรในโลกนี้หรอกนะที่คงอยู่ยืนยงชั่วนิจนิรันดร์ สักวันต้องเกิดการแปรเปลี่ยนผัน ทั้งชีวิตและการเมือง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเลยไม่ใช่เรื่องผิดแผกแปลกอะไร
บทเพลงที่แอน ขับร้อง เลือกซะโบราณเชียวชื่อ ดวงจันทร์ คำร้องประพันธ์โดย หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งผู้รับบทนี้ วิศรา วิจิตรวาทการ คงจะมีศักดิ์เป็นหลานกระมัง?
นำฉบับที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เลือดสุพรรณ (พ.ศ. ๒๕๒๒) กำกับโดย เชิด ทรงศรี, ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร ,อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์
ครูแต้วสวมแว่นดำมองออกไปนอกกระจกหน้าต่าง ภาพถ่ายจากด้านนอกสะท้อนเงาต้นไม้และท้องทุ่งนา, นี่เป็นการกระทำที่สะท้อน มุมมอง โลกทัศน์ที่แตกต่าง (สวมแว่นดำ ย่อมมองเห็นโลกเดิมในสีสันที่แตกต่างออกไป)
กิจกรรมเวลาว่างของแอน ออกเดินเท้าเข้าป่า ไปๆมาๆกลับเป็นการค้นหาตัวตนเอง ซึ่งก็ได้พบเจอสิ่งน่าแปลกประหลาด อัศจรรย์ใจที่สุดในชีวิต,
– แรกเริ่มคือเด็กหญิงสวมคอสเพลย์เหมือนเสือ/ราชสีห์ นี่อาจสะท้อนถึงตัวตนของเธอเองเมื่อครั้นยังเป็นเด็ก ต้องการเป็นเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่ โหยหาอิสรภาพ (จากเผด็จการ)
– ช็อตถัดๆมาเมื่อออกวิ่งติดตามได้สักพัก ภาพมุมเดิมแต่เปลี่ยนเป็นหญิงสาว ตัวเธอเอง ตัดต่อสลับไปมาสองมุมมอง ราวกับภาพสะท้อนกระจกในทิศทางตรงกันข้าม
เราสามารถเปรียบเหตุการณ์อันพิลึกพิลั่นนี้ ได้กับวินาทีเสียงปืนแตก ๖ ตุลา/๑๙ กันยา รัฐประหารแห่งประเทศไทย มันช่างน่าหวาดสะพรึง พิลึกพิลั่น อดไม่ได้ต้องวิ่งไล่ติดตาม ซึ่งสิ่งที่ค้นพบกลับไม่มีอะไร นอกจากเงาสะท้อนของตัวตนเอง
หมดเรี่ยวแรงหยุดวิ่ง ทรุดลงนั่งแล้วบังเอิญข้างๆพบเห็นเห็ดประหลาด ระยิบระยับสะท้อนแสง หยิบขึ้นมาดูก่อนเป็นลมสลบไสล
ในความตั้งใจของผู้กำกับ อโนชา บอกว่าความหมายของเห็ดนางฟ้า
“เห็ดหรือเชื้อราที่มันเกิดขึ้นมาจากความผุพังความเน่าเฟะ การตายของสิ่งหนึ่งทำคลอดอีกสิ่งให้เกิดขึ้นมาเสมอ”
เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงวงจรวัฎจักรชีวิต เมื่อสิ่งใดสิ้นสูญสลายตายจาก ย่อมก่อให้เกิดการจุติสิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไปจากดั้งเดิม = ประชาธิปไตยรุ่นเก่าก่อนล่มสลายไปเพราะการรัฐประหาร ก่อให้เกิดประชาธิปไตยรุ่นใหม่ คาดหวังว่ามันจะมีโอกาสทุกสิ่งดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
นี่คือฉากที่น่าจะสื่อถึงชื่อหนังภาษาอังกฤษ By the Time it Gets Dark ได้ตรงตัวสุดแล้วกระมัง เพราะเมื่อกลางวันพานผ่าน แอน ได้ประสบพบเจอเหตุการณ์อันน่าหวาดสะพรึงกลัว (พบเห็นตัวตนเอง และเจอเห็ดนางฟ้า) ก่อนถึงช็อตนี้สะอื้นร่ำไห้นอนอยู่บนเตียง ลุกขึ้นมาพบเห็นพี่สาวสองคน จุดตะเกียง รินน้ำชา ยกขึ้นมาจิบ ทำให้ความลุ่มร้อนในทรวงอกค่อยๆเย็นลงบ้างก็ครานี้
แซวแบบแถๆ: น้ำชามันร้อนไม่ใช่รึ จะดับความลุ่มร้อนในอกได้เช่นไร? … แต่ความร้อนของน้ำชา ก็ถือว่ายังเย็นกว่ากองเพลิงที่สุมอก ถึงมันจะดับไม่ได้เพราะไม่ใช่น้ำเย็น แต่ผลลัพท์ก็ทำให้จิตใจผ่อนคลายลง
ทำไม แอน ถึงต้องพูดเล่าความลับของตนเองต่อหน้ากล้อง? ถือว่าเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจต่อบางสิ่งอย่างออกมา (อารมณ์ศิลปิน) เพราะหลังจากพานพบเจอเรื่องราวสุดแปลกประหลาดในป่า ก็มิอาจทำจิตใจให้สงบลงได้ง่ายๆ จึงบันทึกไว้ก่อนเพื่อเป็นจารึกอนุสรณ์ให้กับตนเอง (และอาจเผื่อแผ่ถึงผู้อื่น)
ฉากนี้สะท้อนกับเหตุการณ์หลังจาก ๑๙ กันยา อารมณ์ของผู้กำกับ อโนชา เมื่อพบเห็นการรัฐประหาร เกิดความคับข้องแค้น อึดอัดอั้นทรมาน ต้องการทำบางสิ่งอย่าง ก็ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไงละที่ประมวลย่อได้เป็นฉากนี้ พูดระบายความรู้สึกทรงจำ บำบัดผ่อนคลายสิ่งซ่อนเร้นภายในจิตใจ
ผมละแอบทึ่งไม่หาย นึกออกได้ยังไงว่ามีฉากนี้ A Trip to the Moon (1902) หนังเงียบเรื่องโด่งดังที่สุดของผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส Georges Méliès และเจ้าเห็ดมันก็งอกเงยขึ้นด้วย Special Effect สุดอลังการเมื่อยุคสมัยนั้น!
โรงงานยาสูบ นำเสนอกระบวนการตากแห้ง เข้าห้องอบ แต่ก็แค่นั้นละไม่ถึงขั้นบรรจุแพ็กเก็จหีบห่อส่งขาย
เหมือนว่าตัวละครของ เป้ อารักษ์ นอกจากทำงานนักแสดงแล้ว อีกใบหน้าตัวตนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบ กล่าวคือ ภาพลักษณ์ได้รับการยกย่องนับถือ ถ่ายเซลฟี จากผู้คนมากมาย แต่เบื้องลึกทำธุรกิจอันเป็นสาเหตุให้ผู้คนป่วยมะเร็งปอด โรคภัยร้ายคุกคามร้ายแรงถึงความตาย และแม้งไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองเสียด้วยนะ เพราะคือบ่อเงินบ่อทองของภาษี (รายรับของรัฐบาล)
ปกติแล้วคนสูบบุหรี่มักเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด แต่สงสัยว่าตัวละครของเป้ อารักษ์ จะดูดอย่างเคลิบเคลิ้มเสียจนลืมมองดูทาง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ก็ถือว่าน่าสมน้ำหน้ากรรมสนองกรรม
การสูบบุหรี่แบบคาบกลางปากจู๋ เป็นเอกลักษณ์ของ Jean-Paul Belmondo (ที่เลียนแบบ Humphrey Bogart มาอีกทีหนึ่ง) นักแสดงขาประจำของ Jean-Luc Godard จะว่าไป เป้ อารักษ์ ก็มีลักษณะแอบคล้ายคลึงอยู่นิดหน่อย
ตัวละครที่สูบบุหรี่ มักหมายถึง ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด เก็บกด แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายใน แต่กับตัวละครนี้มันเรื่องอะไร? ถ้าตามบริบทของหนัง ย่อมต้องสื่อถึง ๖ ตุลา ไม่ก็ ๑๙ กันยา
ห้องของเป้ สังเกตว่ามุมกล้องจะถ่ายตรงกันข้ามกับฉากบ้านพักตอนต้นเรื่อง (ที่จะหันหาธรรมชาติ) นี่เป็นการสะท้อนความแตกต่าง/เห็นแก่ตัว สนเพียงตนเองของชาวกรุง พบเห็นความรกๆที่รักษาหน้ารักษาตาหมดจรดภายในบ้าน
การเช็ดหน้าเช็ดตา เป็นกิริยาที่มากเกินพอดี ปกติผู้ชายจะไม่ทำขนาดนี้ (แต่สมัยนี้ไม่รู้แหะ เพราะสิงห์สำออยมีเยอะ) ดูแล้วคงจะสื่อถึงการสร้างภาพลักษณ์ ที่ต้องมีการหมั่นบำรุงให้ดูดีอยู่เสมอ … เอ๊ะ! ทรงผมประหลาดๆของพี่เป้ ว่าไปคล้ายๆ ดอกเห็ด รึเปล่านะ?
เมื่อบ้านพักหลังเก่าที่ แอน พา ครูแต้ว มาพักผ่อนสัมภาษณ์เพื่อจะสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้ถูกซ้อน (film within film within film) ด้วยบทสนทนาที่คัดลอกมา เปลี่ยนนักแสดงเป็น เพ็ญพักตร์ ศิริกุล กับ อินทิรา เจริญปุระ
ฉากเคารพคารวะ Le Mépris (1963) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard บรรยายสรรพคุณความชื่นชอบ ตา หู จมูก ปาก รายละเอียดเล็กๆน้อยๆบนเรือนร่างมนุษย์ ช่างมีความน่าหลงใหลคลั่งไคล้เสียหมด หรือเปรียบได้คือประเทศไทย (ภาพพื้นหลังทิวทัศน์เมืองกรุง สะท้อนเทียบแทนสิ่งที่ตัวละครกล่าวเอ่ยถึงความชื่นชอบ) แต่พอถูกถามว่า รักฉันไหม แต่งงานกันไหม หญิงสาวกลับอ้ำอึ้งไม่ยอมพูดบอกความใน
นี่เป็นฉากแรกๆที่ทำให้ผมเริ่มเกิดอคติต่อผู้กำกับ อโนชา เพราะทำให้เกิดควมคั่งค้างคา ฉงนสงสัย ทำไมไม่ยอมให้ตัวละครพูดบอกว่า ฉันรักประเทศไทย? หรือที่ไม่ตอบเพราะตนเองด้วยอารมณ์นี้ก็ตอบไม่ได้?
MV การแสดงของเป้ แต่งตัวเป็นปลา ดำผุดดำว่าย สะท้อนถึงสามัญชนชีวิต มิอาจแหวกว่ายขึ้นเหนือน้ำ หรือปีนป่ายขึ้นสูงจุดยอดให้สามารถโผล่พ้นหายใจได้ด้วยตนเอง, นี่เป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้กำกับ ต่อเหตุการณ์ภายหลังรัฐประหาร มันช่างราวกับถูกกดให้จมอยู่ใต้น้ำ อึดอัดแน่น หายใจไม่ค่อยออก
หญิงสาวกำลังทำความสะอาดเช็ดอุปกรณ์ออกกำลังกายฟิตเนส พบเห็นสระน้ำด้านหลัง ตัวละครของเป้ กำลังแหวกว่ายเล่นอย่างสุขสำราญใจ, จะมองว่านี่เป็นการเปรียบเทียบคนสองชนชั้นก็ยังได้ บุคคลผู้มีชื่อร่ำรวยสุขสบาย ตรงกันข้ามกับหญิงไร้นามทำงานเหน็ดเหนื่อยหามรุ่งหามค่ำ สตางค์ได้แค่ไม่กี่ร้อยพัน
กลเกมการเมืองก็เช่นกัน ผู้มากด้วยอำนาจยศศักดิ์ศรี มักมีความสะดวกสุขสบายในชีวิต ผิดกับประชาชนคนชั้นกลางล่างตาดำๆ ทำงานงกๆวันๆเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด
ทำความสะอาดห้องน้ำช็อตนี้ ถ่ายติดกระจกสะท้อนภาพการทำงานของหญิงสาว ราวกับเป็นการสะท้อนว่า นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นแต่เธอเพียงผู้เดียว คนอื่นมากมายนับไม่ถ้วนก็ประสบพบชะตากรรมชีวิต ไม่แตกต่างกัน
คือถ้าจะมองนัยยะคลาสสิกของกระจก ว่าเป็นสิ่งสะท้อนภาพตัวตน ความรู้สึกแท้จริงภายในจิตใจ ก็พอได้อยู่กระมัง เพราะหนังทั้งเรื่องก็ถือเป็นเศษกระจกแตก กระจัดกระจาย สะท้อนกันไปๆมาๆอยู่แล้ว
หลังเดินผ่าน เมียร์แคต, นกฟลามิงโก้, หญิงสาวเดินมานั่งเด็ดกินเมล็ดบัว ท่ามกลางสวนสวรรค์อีเดน เต็มไปด้วยรูปปั้น ต้นไม้ตัดแต่งกิ่ง ราวกับนางซินเดอเรลล่า หลบอาศัยอยู่ในสวนพระราชวัง
นัยยะฉากนี้ประมาณว่า ชีวิตฉันถูกรายห้อมล้อมไปด้วยสิ่งเพ้อฝัน แต่หาได้ไร้ซึ่งตัวตนจิตวิญญาณแท้จริงไม่ (เหมือนที่ผู้กำกับบอกว่า รอบข้างตนเองขณะเกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ ต่างสนับสนุนให้เกิด มันใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสมเสียที่ไหน)
รับประทานอาหารบนแพลอยน้ำ, ตัวละครของเป้ ให้ความสนใจกับแฟนคลับยอมถ่ายรูปด้วย แต่กลับแฟนตัวเองแกะปูยัดใส่ปากแบบไม่สนคำทัดทาน ประมาณว่าถ้ากับผู้อื่น/ประเทศอื่น ผู้นำรัฐบาลก็สร้างภาพไปเรื่อยเปื่อย แต่กับประชาชนในประเทศ ทำการบีบบังคับต้องอ้าปากรับทุกสิ่งอย่างที่ฉันมอบให้
ผมมีความใคร่สงสัยในเรือหาปลาลำเล็กๆที่ถ่ายติดในช็อตนี้ด้วยว่า คือความจงใจหรือเปล่า เพราะถือว่าความหมายดีใช้ได้ แบบเดียวกับแพร้านอาหารแห่งนี้ สะท้อนชีวิตที่ล่องลอยคออยู่ท่ามกลางท้องทะเลกว้าง ไม่รู้อะไรคือจุดเริ่มต้น-เป้าหมายปลายทาง กาลเวลา ความทรงจำ ก็เฉกเช่นกัน
เดินไปไหน? การถ่าย Long Shot แล้วตัวละครเดินผ่านห้องโถงยาวๆแบบนี้ จับจ้องให้ดีพบเห็นป้าย Exit นั่นคือ Death Flag มุ่งสู่จุดสิ้นสุดปลายทางแห่งชีวิต
กระบวนการ Post-Production นี่คงเป็นตอนตัดต่อ/ปรับแต่งโทนสีภาพ ร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆให้ตรงตามความต้องการของผู้กำกับ ซึ่งถ้าเรามองเหตุการณ์นี้ในเชิงนามธรรมเกี่ยวกับ ๖ ตุลา/๑๙ กันยา สื่อถึงการปรุงแต่งสร้างภาพลักษณ์ของฝ่ายทรราชย์/กบฏ/รัฐประหาร ซึ่งโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ได้รับโทรศัพท์สายตรงบอกว่ามีคนสูญเสียชีวิต แต่จะให้ทำไงได้ งานหลวงต้องไม่ขาด เลยจำต้องเพิกเฉยไม่สนไปเสียก่อน
ฉากนี้ถือว่าเป็นการคำถามการกระทำ/แสดงออกของรัฐบาลได้อย่างเจ็บแสบ สมมัติว่านายกรัฐมนตรีกำลังงุ่นๆง่วนๆอยู่กับการงานบางสิ่ง แล้วมีลูกน้อง/รัฐมนตรี แจ้งข่าวให้ว่า มีประชาชนถูกทหารยิงเสียชีวิต เรื่องพรรค์นี้ช่างมิได้มีความน่าสลักสำคัญใดๆเช่นนั้นเลยหรือ!
ภาพค้างใบหน้าสายป่านขณะนี้ ช่างทรงพลังเหลือเกินนะ เหมือนคนกำลังจะร่ำร้องไห้ออกมา สะท้อนเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องตัดต่อได้เป็นอย่างดี คนเหล่านี้เลือกเพิกเฉยสงบนิ่ง ก็ใบหน้าแบบนี้แหละที่ อโนชา อยากแสดงออกมา
ทำงานสาวเสิร์ฟบนเรือสำราญ คือชีวิตล่องลำเนาแห่งกระแสธารเวลา พระจันทร์เต็มดวงพานผ่านทิวทัศน์สองข้างทาง สะพานพระราม…, วัดพระแก้ว, โดมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ฯ จัดว่าเป็นบริเวณกึ่งกลางกรุงเทพฯ ศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนไทย เลยก็ว่าได้
ช็อตนี้คงเป็นความตั้งใจให้ระดับสายตาของหญิงสาว พบเห็นพื้นหลังเมื่อหลุดโฟกัสเป็นดวงดาวคะนองเส้นตรง (คงคือไฟบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ) นี่สะท้อนถึงระยะสายตา มองเห็นข้างหน้า/อนาคต เป็นประกายต่อเนื่อง ชีวิตดำเนินไปไม่มีที่สิ้นสุด
ขวดน้ำมันที่ซื้อไว้ตอนต้น นำมาใช้ประโยชน์ครานี้นี่เอง (แซวว่า ขวดน้ำมันสามารถย้อนเวลาได้!) เทใส่กระทะทอดไข่ดาว(คะนอง) จากดิบๆให้กลายเป็นสุกคุกข้าวกินยามค่ำคืน
จริงๆไข่ดิบมันกินได้นะ (พวกนักกีฬาชอบนำมาทำเป็นอาหารเสริมกล้ามเนื้อ) แต่ในบริบทนี้คงต้องสื่อสะท้อนถึงดิบเถื่อน ความรุนแรง กินไม่ได้ ต้องถูกปรุงแต่ง ทอดให้สุก ถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ รับประทานคู่อาหารอิ่มหนำสำราญ
แสงไฟแต่ละดวงเปรียบได้กับความคิด จิตวิญญาณของมนุษย์ ส่องสว่างหลากหลายสีสันคือความแตกต่างไม่รู้จักสิ้นสุด
หลายคนน่าจะรู้จักโครงการอิ่มหนำมูลค่าสูงถึง ๓๙.๕ ล้านบาท กรุงเทพฯ แสงสีแห่งความสุข (Bangkok Light of Happiness) จัดขึ้น ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึง ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งตัวงานเหมือนว่าก็มีแค่ที่เห็นในหนังนะครับ ต่อให้ไม่เคยไปเที่ยวเมืองนอกก็น่าจะบอกได้ว่า สนราคาแม้งไม่น่าถึง ๔-๕ ล้านบาทด้วยซ้ำ! ปรากฎว่าสอบแล้วมีโดนเด้งไป ๓-๔ คน เท่านั้นเอง (มั้งนะ)
Close-Up ศีรษะของแม่ชี โกนผมละทางโลก สื่อได้ถึงการปลดปล่อยวางจากความครุ่นคิดหนักอึ้ง, ภาพด้านข้างเบลอหลุดโฟกัส=ฝึกสมาธิต้องไม่เอาจิตไปฝักใฝ่สนใจอะไรอื่นภายนอก
ช็อตนี้จะตัดสลับกับหญิงสาวกำลังเที่ยวผับบาร์ กระโดดโลดเต้นอย่างลุ่มหลงใหลมัวเมา สะท้อนสองสิ่งขั้วตรงกันข้าม ทางเลือกสุดโต่งที่เป็นไปได้ ก็แล้วแต่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน
ช็อตสุดท้ายของหนัง ขณะที่หญิงสาวกำลังเต้นอย่างมัวเมามันอยู่ท่ามกลางความมืดและดวงดาว ภาพเกิดการติดๆขัดๆ ขาดๆหายๆ เหมือนวีดีโอเทปมีปัญหา จากนั้นมายุติที่ช็อตทิวทัศน์นี้ พบเห็นท้องฟ้า ทุ่งดอกหญ้า และต้นไม้ จากเฉดสีชมพูม่วงแจ๊ด ค่อยๆเฟดกลับสู่สภาวะปกติ
อดีตที่เลือนลาง โทนสีที่แปรเปลี่ยน ค่อยๆปรับสภาพกลับมาคมชัดเหมือนใหม่ กับใจความของหนัง เหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่หวนกลับคืนมาเกินขึ้นอีกครั้งกับ ๑๙ กันยา, ๒๒ พฤษภา มันไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมณ์เริงใจแม้แต่น้อย
ถ่ายภาพโดย Ming Kai Leung ตากล้องสัญชาติ Hong Kong เพื่อนสนิทสมัยเรียนภาพยนตร์ที่ Columbia University ของ อโนชา ร่วมงานตั้งแต่ Graceland (พ.ศ. ๒๕๔๙), เจ้านกกระจอก (พ.ศ. ๒๕๕๒) ฯ
ตัดต่อโดย ลี ชาตะเมธีกุล, มัชฌิมา อึ๊งศรีวงษ์ แม้การเล่าเรื่องจะกระโดดโลดแล่นไปมา อดีต-ปัจจุบัน เหตุการณ์จริง(ในหนัง)-แสดงภาพยนตร์(film with in film) แต่หนังก็มีจุดหมุนคือตัวละครของอัจฉรา สุวรรณ์ หญิงสาวผู้เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ พบเห็น มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่นแค่นิดๆหน่อยๆเท่านั้น
ผมแบ่งหนังออกได้เป็น ๕ ชิ้นส่วนหลักๆ
– แอนคนแรก (โสรยา นาคะสุวรรณ) ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา เริ่มต้นจากบวงสรวงไหว้เจ้าถ่ายทำ พบเจออีกครั้งท้ายเรื่องในห้องตัดต่อ
– เสมือนว่าคือเหตุการณ์จริง แต่จะมองว่าคือหนังซ้อนหนังครั้งแรกก็ได้ แอนคนสอง (วิศรา วิจิตรวาทการ) สัมภาษณ์ครูแต้ว (รัศมี เผ่าทองเหลือง) ซึ่งจะมีเหตุการณ์พบเจอเห็ดประหลาด, ย้อนภาพอดีตครูแต้วเมื่อครั้นยังเป็นนักศึกษา ๖ ตุลา
– ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดโดยดารามีชื่อ แอนคนที่สาม (อินทิรา เจริญปุระ) กับ ครูแต้วคนที่สอง (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล)
– เรื่องราวชีวิตของนักแสดงดัง ตั๊ก (อภิญญา สกุลเจริญสุข) และปีเตอร์ (อารักษ์ อมรศุภศิริ)
– และเรื่องราวของหญิงสาวที่เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ (อัจฉรา สุวรรณ์) ราวกับจิตวิญญาณที่ล่องลอยไปเรื่อยๆ
วิธีทำความเข้าใจหนัง คืออย่ามองด้วยเส้นเรื่องราวอันเดียวเพราะจะมีการกระโดดไปมาไร้ความต่อเนื่อง ให้ทำการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความแต่ละฉากตอนนั้นๆ ว่าสื่อความหมายแฝงนัยยะอะไร เก็บสะสมมันไว้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง พอได้มาหลายๆชิ้นค่อยนำมาเรียงประติดประต่อ ก็อาจพอมองเห็นภาพรวมคร่าวๆ ทิศทางและใจความของเรื่องราว ที่ล้วนสื่อความหมายไปในเชิงเดียวกันทั้งหมดสิ้น
จริงๆถ้าคุณเคยรับชมทำความเข้าใจหนังของ Jean-Luc Godard ผมว่าเรื่องนี้ดูไม่ยากเท่าไหร่เลยนะ ย่อยง่ายกว่าด้วยซ้ำเพราะมีจุดสังเกตที่เด่นชัดกว่า และเรื่องราวมีความใกล้ชิดกับคนไทยค่อนข้างมาก หลายฉากสามารถทำความเข้าใจได้โดยอัตโนมัติว่าคืออะไรโดยไม่ต้องครุ่นคิดไปไกล
เพลงประกอบโดย วุฒิพงศ์ ลี้ตระกูล เคยผลงาน อาทิ ที่ว่างระหว่างสมุทร (พ.ศ. ๒๕๕๖), เพลงของข้าว (พ.ศ. ๒๕๕๗) ฯ มีลักษณะเติมเต็มเรื่องราว ดั่งบทพูดแทนความรู้สึกของฉากนั้นๆ ไม่ได้มุ่งเน้นสร้างอารมณ์หรือกำหนดโทนบรรยากาศให้กับหนัง ใช้ความเรียบง่าย Minimal บางฉากเพียงเปียโนบรรเลง เทียบแทนทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น
แต่ส่วนใหญ่ที่เด่นดังชัดกว่าเพลงประกอบ คือ Sound Effect ขณะอยู่ธรรมชาติก็ สายลม จิ้งหรีดเรไร นกกระจิบ/กระจาบ พอเข้าเมืองกลายเป็นเสียงรถ เสียงแตร เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ล่องเรือสายน้ำไหล ฯ บางเสียงก็จะเน้นให้เกิดความสนใจ (ให้ครุ่นคิดหานัยยะความหมาย) อาทิ กดชักโครก, ทอดไข่, กวาดพื้น, เสียงสวดมนต์ ฯ
บทเพลงของ อารักษ์ อมรศุภศิริ แต่ง/เล่น/ร้อง ชื่อ Lie คำโกหก, ตั้งแต่ออกจากวง Slur ฉายเดี่ยว มาเลเซีย เกี่ยวกีตาร์ตัวโปรด คือบทเพลงของพี่แก ครึ่งเพราะ-ครึ่งไม่เพราะ เสียงไม่ได้แต่ใจนักเลง ต้องยอมความในความเป็นศิลปิน สำหรับเพลงนี้ผมก็ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดแต่ก็ยิ้มหัวเราะร่า แม้งจะเพราะหรือไม่เพราะว่ะ เลือกตอบไม่ได้จริงๆ
ขณะที่ชื่อภาษาอังกฤษของหนัง นำจากบทเพลง By the Time it Gets Dark แนว Folk Rock แต่ง/ขับร้องโดย Sandy Denny (1947 – 1978) ประกอบอัลบัมสุดท้าย Rendezvous วางขายปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. ๒๕๒๐), นี่เป็นบทเพลงแนวให้กำลังใจ อดีตวันวานเมื่อเคลื่อนเลยผ่านไม่นานเดี๋ยวก็หลงลืม ขณะนี้เหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากลำบาก เดี๋ยวพอพระอาทิตย์ตกดิน ทุกสิ่งก็มักเปลี่ยนแปลงไป(ในทางที่ดีขึ้น)
ดาวคะนอง คือการนำเสนอประวัติศาสตร์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ในเชิงสัญลักษณ์นามธรรม เทียบแทนความรู้สึกของผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ผ่านมุมมองของหญิงสาวคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอาชีพการงานไปเรื่อยๆ
– ครึ่งแรกอาศัยอยู่ชนบท เปรียบได้กับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ทำงานสาวเสิร์ฟ กวาดพื้น เก็บทิ้งขยะ เหน็ดเหนื่อยหน่ายสายตัวแทบขาด
– สะท้อนกับครึ่งหลังเมื่อย้ายมาอยู่เมืองหลวงนึกว่าจะได้ทำอะไรใหม่ กลับประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม คล้ายๆเหตุการณ์ ๑๙ กันยา เธอยังคงทำงานแม่บ้าน ล้างห้องน้ำ ทิ้งเศษอาหาร มิได้แตกต่างอะไรแม้แต่น้อย
ชีวิตไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนต่างวนเวียนเหมือนวัฎจักร อะไรเคยเกิดขึ้นก็มักประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย สุดท้ายก็วนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรคือจุดจบสิ้นแท้จริง อันเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือก…
ช่วงท้ายใกล้จบ การตัดสลับไปมาระหว่าง หญิงสาวผู้นี้ บวชชี-เข้าผับเต้นมัวเมา นี่ตีความได้หลากหลายอย่าง
– ท้าทายให้ผู้ชมเลือก/นำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ หลังจากรับรู้เข้าใจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมดังกล่าวนี้ จะปลดปล่อยวางละทางโลก หรือยังคงลุ่มหลงใหลไปกับมันต่อ
– เพราะภาพการบวชชีเริ่มต้นขึ้นก่อน อาจสะท้อนสิ่งที่ผู้กำกับอยากปลดปล่อยวางให้กับตนเอง แต่สุดท้ายก็มิอาจทำได้ ทิ้งภาพรองสุดท้ายหลับตาเต้นอย่างมัวเมามัน ขอใช้ชีวิตแบบคลุ้มคลั่งนี้ไปก่อนแล้วกัน
ฯลฯ
จริงๆแล้วจิ๊กซอว์เหลือสองตัวสุดท้ายนี้ มันไม่จำเป็นว่าต้องมีช่องลงเอยบทสรุปเพียงหนึ่งเดียว คือสามารถมองปลายเปิดก็ยังได้ การซ้อนทับทางความคิด ตัดสินใจไม่ได้ ก็เลยไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดทำความเข้าใจไปเอง
ในเรื่องของความทรงจำ แทบไม่แตกต่างจากวัฎจักรวงจรชีวิต อดีตที่เคยพร่ามัว ความทรงจำกระจัดกระจาย ถ้าเมื่อไหร่ได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก ก็มักเกิดการหวนระลึกนึกถึง ประติดประต่ออะไรหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน บางสิ่งหลงลืมไปแล้วก็ช่างหัวมัน แต่ถ้าหมกมุ่นมากเกินจะกลายเป็นยึดติด ว้าวุ่นวายจนเต็มไปด้วยความลุ่มร้อนดั่งเพลิงสุมอก จำต้องหาทางระบายออกมาเพื่อให้สงบร่มเย็นลง
ข้อดีหนึ่งของการเป็นศิลปิน ผู้กำกับ นักเขียน คือเมื่อเกิดอารมณ์ว้าวุ่นวายต่ออะไรบางอย่าง สามารถแปรสภาพให้กลายเป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผู้กำกับ อโนชา ก็ได้ทำการตำมั่ว ผสมผสานทุกสิ่งอย่าง ทั้งความทรงจำ คิดอ่าน ประวัติศาสตร์ คลุกเคล้าระยำ จนกลายเป็นดาวคะนอง สะท้อนความหยิ่งผยองจองหองของตนเองออกมา ประกาศให้โลกรู้ว่า ตัวตนของข้าคือผู้ไม่เห็นด้วยอย่างแท้จริงกับการทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุผลประการใด
ข้อสังเกตหนึ่งที่ผมได้จากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ รู้สึกว่าผู้กำกับหญิงจะเก่งในแง่การหลบซ่อนความคลุ้มคลั่งไว้ภายใต้นัยยะมากกว่าผู้กำกับชาย, กล่าวคือ ๖ ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง แต่หนังเรื่องนี้นอกจากฉากแรกๆที่คนในเครื่องแบบ ถือปืน สั่งให้นักศึกษานอนหมอบลงกับพื้น อื่นๆแทบไม่พบการกระทำใช้กำลังขัดแย้งใดๆ ถึงกระนั้นสิ่งที่หลบซ่อนไว้มันแฝงความปั่นป่วนพลุกพร่านอย่างชัดเจน อาทิ หญิงสาวนำขยะไปทิ้ง, ออกวิ่งตามเมื่อเห็นตัวตนเอง, ขนมปังขึ้นรา, ขับรถสูบบุหรี่ควันฉุย, เช็ดถูกทำความสะอาดห้องน้ำ, เศษอาหารทิ้งขว้าง, ยืนมองพระจันทร์ ฯ แต่เหล่านี้อาจเฉพาะคนที่สามารถเข้าใจได้กระมัง ถึงรู้ว่าความหมายสะท้อนความเกรี้ยวกราดคลุ้มคลั่งของ อโนชา สุวิชากรพงศ์
ความสำเร็จของหนัง เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๒๖ พ.ศ. ๒๕๖๐ ทั้งหมด ๖ สาขา คว้ามา ๓ รางวัล
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ณัฐดนัย วังศิริไพศาล)
– ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (อภิญญา สกุลเจริญสุข)
– ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (อัจฉรา สุวรรณ)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
– ลำดับภาพยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม
– เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Lie – อารักษ์ อมรศุภศิริ)
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย ที่ผู้กำกับหญิงคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คาดว่าคงเทคะแนนให้ล้นหลามเลยกระมัง เกาะกระแสหลังจาก Kathryn Bigelow ผู้หญิงคนแรกที่คว้า Oscar: Best Director เมื่อปี 2009) ทั้งยังสร้างความสั่นสะเทือนเล็กๆให้กับวงการ Indy เพราะปกติแล้วจะไม่ค่อยได้รับโอกาสใน รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สักเท่าไหร่ (กล่าวคือ งานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ มักถูกมองว่าชอบแจกรางวัลให้ค่ายหนังตลาดเสียส่วนใหญ่)
สำหรับการได้เป็นตัวแทนประเทศส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ส่วนตัวทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คาดคิดว่าอาจเป็นหนึ่งในหนังไทยดีสุดแห่งปีก็จริง แต่เรื่องราวถือว่ามีความ’ส่วนตัว’ของผู้กำกับมากเกินไป ถ้าให้เลือกผมคงส่ง ธุดงควัตร ไม่ก็ มหาสมุทรและสุสาน ยังจะมีความเป็นไทยอยู่กว่ามาก
อคติส่วนตัวต่อ ดาวคะนอง ไม่ใช่ต่อตัวหนังเลยนะ แต่คือโลกทัศนคติของผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ความหัวขบถสุดโต่งซ้ายจัด มักทำให้มืดบอดในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ปฏิเสธรับฟังเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของเหรียญ หัวชนฝาที่ว่าฝั่งของฉันถูกเสมอ สะท้อนภายในทรวงกลวงโบ๋ว่างเปล่า ผมอยู่ตรงกลางยังเอือมระอารำคาญ นี่ถ้าเป็นพวกขวาจัดจริงๆ โดนแบนห้ามฉายยังน้อยไปนะเธอ
มันไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนเข้าข้างทหาร ตำรวจ หรือพวกอยู่ในเครื่องแบบ พกยศทั้งหลายนะครับ คำว่าอยู่ตรงกลางนั้นหมายถึง ไม่เห็นด้วยกับพวกสุดโต่งทั้งสองฝั่กฝ่าย การปล่อยวางไม่ยึดติดฝั่งไหนจะทำให้เราไม่หมกมุ่นหัวเสียอยู่กับแค่สิ่งใด มีอะไรๆอีกมากมายบนโลกนี้ที่น่าสนใจยิ่งกว่า, ผมเขียนบทความนี้เสร็จไซร้ ก็ทอดทิ้งทุกอย่างหมดสิ้นไป ไม่เคยนำมาเป็นอารมณ์ขุ่นมัวหรือโกรธเกลียดใครจริงจัง คำด่ากราดรุนแรงในบทความ ล้วนคือบริบททางอารมณ์ของการเขียน หาใช่จิตวิญญาณตัวตนแท้จริง ด้วยเป้าหมายมุ่งแสวงหาสิ่งถูกต้องในสัจธรรมความจริงของโลกใบนี้
แนะนำคอหนังการเมือง สนใจประวัติศาสตร์ไทย ๖ ตุลา ผ่านโลกทัศนคติของผู้กำกับฝั่งซ้ายจัด, ชื่นชอบเรื่องราวอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ภาพถ่ายสวยๆ ตัดต่อแบบคึกคะนอง, และแฟนๆนักแสดงอินดี้สุดแนวอย่าง เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ, ส่ายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข ลองหามารับชมดู
จัดเรต 15+ กับความสุดโต่งของผู้กำกับซ้ายจัด
Leave a Reply