ด้วยเกล้า

ด้วยเกล้า (พ.ศ.๒๕๓๐) หนังไทย : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ♥♥

ดูหนังเรื่องนี้ช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ยิ่งทำให้เรารักท่านมากขึ้นหลายร้อยพันเท่า แต่เมื่อคิดว่าอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า กับคนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักท่านอีกแล้ว ดูหนังเรื่องนี้ก็คงเหมือนตอนเราดูตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทำได้แค่ชื่นชมในความปรีชาสามารถที่ยิ่งใหญ่ หาได้ซาบซึ้ง เข้าถึงเหตุผลอย่างถ่องแท้ ที่ทำไมคนไทยสมัยพวกเรานี้ถึงรักในหลวงรัชกาลที่ ๙ มากที่สุดได้อีกแล้ว

๗๐ ปี เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน กว่าอายุเฉลี่ยของมนุษย์ทั่วไปเสียอีก คนไทยแทบทั้งประเทศ ณ ขณะนี้ ล้วนเกิดในรัชสมัยของพระองค์ เติบโตขึ้นก็รู้จักพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาตลอดชีวิต แต่ชีวิตมีเกิดย่อมมีตายเป็นสัจธรรม ไม่มีใครแม้แต่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่จะอยู่คับฟ้า ยุคสมัยหนึ่งจบไป ยุคสมัยใหม่เข้ามา ตราบใดที่โลกยังหมุน วัฏจักรชีวิตย่อมไม่เปลี่ยนแปลง, ความสูญเสียครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ใครๆย่อมคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้น แต่ไม่มีอะไรสามารถเตรียมพร้อม รับมือกับอารมณ์ความรู้สึกในช่วงเวลานี้ได้เลย เพราะ ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ มันยาวนานเสียจนไม่มีใครจดจำได้แล้วว่า การสวรรคตของพระประมุของค์ก่อนเป็นอย่างไร คิดว่าคงไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นหรอก แต่แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง… นี่ถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษ ไม่สิอาจจะในศตวรรษนี้เลย

เมื่อคิดว่าหลังจากนี้ อีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรืออีกศตวรรษ สหัสวรรษ คงไม่มีใครสามารถเข้าใจได้อีกแล้ว ถึงเหตุผลว่าทำไมคนไทยในยุคนี้รักในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่สุดแล้ว มันก็เป็นความน่าหดหู่ เศร้าใจ เป็นการสูญเสียอันประเมินค่ามิได้, กระนั้นมนุษย์เรา ถึงตัวจากไป แต่ชื่อเสียง ผลงาน และคุณงามความดี จะยังคงอยู่ แบบเดียวกับที่เราจดจำพ่อขุนรามคำแหง, สมเด็จพระนเรศวร, พระเจ้าตากสิน ฯ ร่างกายมนุษย์มิใช่สิ่งยืนยง แต่คุณธรรมความดีงามเท่านั้นที่ได้รับการกล่าวขานส่งต่อ ไปจนชั่วกัลปาวสาน

อารมณ์ความรู้สึกที่ท่านได้สัมผัสในหลายวันนี้ จดจำมันไว้ให้ดี คงไม่ต่างกับวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า หรือวันสวรรคตของมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สมัยก่อน สักวันหนึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะผ่านไป แต่ “Great King Never Die!”

ด้วยเกล้า เป็นภาพยนตร์ที่ผมเคยได้ยินครั้งแรกตอนที่เอามาฉายซ้ำเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับ บริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ได้นำกลับมาฉายใหม่ในโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยรายได้ในสัปดาห์แรกทั้งหมด นำสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา

ตอนที่สร้าง พ.ศ. ๒๕๓๐ มีจุดประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๔๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐

กำกับและเขียนบทโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ต้องถือว่า ด้วยเกล้า คือหนังที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาเป็นที่รู้จักโด่งดังในวงการภาพยนตร์ ก่อนที่จะมีผลงานดังๆตามมาอย่าง ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ.๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ.๒๕๓๑), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ.๒๕๓๓), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ.๒๕๓๕), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ.๒๕๓๗), สตางค์ (พ.ศ.๒๕๔๓) และ ๑๔ ตุลา สงครามประชาชน (พ.ศ.๒๕๔๔), เป็นผู้ให้กำเนิดอีกหนึ่งดาราคู่ขวัญของเมืองไทย ‘สันติสุข จินตรา’ ซึ่ง ด้วยเกล้า เป็นหนังเรื่องแรกที่ทั้งคู่เล่นประกบในบทพ่อแง่แม่งอน (แต่ตอนนั้นยังไม่ดังเท่าไหร่ มาคู่กันแล้วดังสุดๆก็ตอน บุญชูผู้น่ารัก)

อาก้องเสียชีวิตเมื่อ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ หัวใจวายขณะฟอกไต ระหว่างเตรียมงานสร้าง บุญชู จะอยู่ในใจเสมอ (ภาคสุดท้าย) สิริอายุ ๕๘ ปี

เสาคำ (นำแสดงโดย จรัล มโนเพ็ชร) ชาวนาจากภาคเหนือ ได้เก็บเมล็ดข้าวพระราชทาน จากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในวันพืชมงคล ที่ท้องสนามหลวง ในปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานข้าวเปลือกจากแปลงทดลองในวังสวนจิตรลดา (เหตุการณ์จริง ปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าว อยู่ช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๗) ด้วยความรักเทิดทูนและศรัทธาใน ‘ข้าวของพ่อ’ เขาหว่านเมล็ดข้าวเหล่านั้นลงในผืนดินที่แห้งแล้ง ท่ามกลางความดูหมิ่นจากคนในครอบครัว ธรรมชาติที่โหดร้าย และความไร้น้ำใจของนายทุน และด้วย ฝนหลวง ซึ่งเปรียบเสมือน ‘น้ำพระทัยของในหลวง’ เสาคำกลับมายืนหยัดได้ด้วยผลผลิตที่งดงาม ดวงตาที่เปี่ยมประกายความสุข และรวงข้าวสุกอร่ามเต็มอ้อมแขน

นำแสดงโดย จรัล มโนเพ็ชร (พ.ศ. ๒๔๙๔ – ๒๕๔๔) ศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดง ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ฝั่งแม่สืบเชื้อสายมาจากราชตระกูล ณ เชียงใหม่, ด้วยเกล้า คือผลงานที่ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่สูงสุดในด้านการแสดงของจรัลเลย ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ (ขณะนั้นใช้ชื่อ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ)

เสาคำ คือพ่อที่เทิดทูนพ่อหลวงอย่างสุดหัวใจ เป็นตัวแทนของคนที่นำเอาแนวคิดของท่านมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ทั้งความรักในแผ่นดินบ้านเกิด, ความพอเพียง, ล้มแล้วลุก อะไรที่เสียไปล้วนเริ่มต้นใหม่ได้, ไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ฯ  การแสดงของจรัลแม้จะดูนิ่งๆ แต่ความเข้มข้น อารมณ์แสดงออกมาทางสีหน้าและการกระทำของเขา ทั้งสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ ฯ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะเห็นความหยิ่งยโสหนึ่งที่อยู่ในใจไม่เปลี่ยนแปลง คือ จงรักภักดีและเชื่อมั่นในพระเจ้าอยู่หัวทั้งกายใจ

สำหรับสันติสุข พรหมศิริ (รับบท คำนึง ที่ครอบครัวเป็นเพื่อนบ้านของเสาคำ ส่วนตัวเองโตขึ้นสมัครรับราชการ เป็นทหารพราน) และ จินตรา สุขพัฒน์ (รับบทเสาแก้ว ลูกสาวคนโตของเสาคำ) กับหนังเรื่องนี้ทั้งคู่ถือเป็นตัวประกอบ ที่มีบทเพื่อสร้างสีสันให้กับหนัง ในแบบพ่อแง่แม่งอน เข้าฉากร่วมกัน มีมุมกุ๊กกิ๊กน่ารัก อมยิ้มหลายฉากทีเดียว นี่คงเพื่อสร้างมุมผ่อนคลายให้กับหนัง ไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป, เคมีของทั้งคู่ถือว่าเข้าขากันดีมาก โดดเด่นแต่ยังไม่ถึงขั้นน่าจดจำ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้น สัญญาณที่ดี นี่คงเป็นสิ่งที่อาบัณฑิตเห็น จึงได้เลือกทั้งสองมาเป็นคู่กัดกันในบุญชูผู้น่ารัก และได้กลายเป็นคู่ขวัญพระ-นาง ของคนรักหนังไทยยุค ๓๐s

ตัวละครคำนึง แทนได้ด้วยข้าราชการทหาร ที่ถึงไม่มีความรู้สูง แต่ถวายร่างกายให้กับแผ่นดิน, ส่วนเสาแก้ว คือตัวแทนของผู้หญิงไทยสมัยก่อน ที่ยังเปรียบได้กับช้างเท้าหลัง มีความอ่อนไหว และอ่อนแอ (แม้เธอจะเข้มแข็งขนาดไหน ก็ยังต้องขอให้ผู้ชายช่วยเสมอ) กระนั้นเธอก็ยังสามารถตัดสินใจเองได้ (ที่เลิกคบกับประสิทธิ์ ลูกชายคนเดียวของแม่เลี้ยง)

เกร็ด: จินตรา สุขพัฒน์ ได้รับฉายาว่าเป็น ‘นางเอกอันดับหนึ่งคนสุดท้ายของวงการภาพยนตร์ไทย’ และเป็น ‘ผู้ปิดตำนานนางเอกหนังไทย’ เพราะหลังจากยุคนี้ ก็ยังไม่มีนักแสดงหญิงคนไหนที่กลายเป็น นางเอกอันดับหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยอีก (ใกล้เคียงสุดตอนนี้ พ.ศ. นี้คงเป็น ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ กระมัง)

กฤษณ์ ศุกระมงคล รับบท อ้าง ลูกชายคนที่สองของเสาคำ เป็นเด็กฉลาด ได้ทุนจากในหลวงไปเรียนการเกษตรที่เมืองนอก และกลับมาทำงานโครงการหลวง ช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านจากที่เคยลำบากยากเข็น ให้สามารถยืนขึ้นด้วยตนเองได้, บทอ้างคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนรักบ้านเกิด รักครอบครัว นำการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาทดแทนรูปแบบเดิม อาทิ ปลูกพืชผักผลไม้อื่นนอกจากข้าวร่วมไปด้วย เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ขุดบ่อน้ำ ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์หมู่บ้าน ฯ

โรม อิศรา รับบท สำอาง ลูกชายคนสุดท้องของเสาคำ ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกบาย ไม่ชอบความยากลำบาก ครั้งหนึ่งหนีออกจากบ้านไปคบค้ากับชาวดอย คนขายฝิ่น จนมีเงินร่ำรวย แต่นั่นเป็นสิ่งผิด ไม่มีใครยอมรับ ตอนท้ายสำอางก็เข้าใจได้ เมื่อบางสิ่งบางอย่างได้เกิดขึ้นกับตัวเอง, การแสดงของโรม อาจดูเก้งก้างไปเสียนิด หนังไม่เล่าถึงเหตุผลที่ทำไมตัวละครถึงนิสัยแบบนี้ อยู่ดีๆก็แสดงออกถึงความไม่พอใจโน่นนี่มาเลย

ตัวละครลูกๆของเสาคำ เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์นามธรรมมากกว่ารูปธรรมนะครับ คือแต่ละคนจะมีนิสัย ความต้องการ แทนได้ด้วยบางสิ่งอย่าง และตอนจบคือนำเสนอผลลัพท์ที่เกิดจากการกระทำนั้นๆ, มีอีกตัวละครหนึ่ง ลูกคนโตของเสาคำ ชื่อสะอาด ไม่มีบทเลย (ไม่มีเครดิตขึ้นในหนังด้วย) เป็นคนที่ทำตามพ่อทุกอย่าง เป็นคนเดียวในตระกูลนี้ที่ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เป็นตัวแทนของคนหัวโบราณ (ขวาจัด) ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเรียนรู้เข้าใจมา จริงๆครอบครัวนี้ถ้าไม่ได้อ้าง ที่เป็นเด็กฉลาดหัวดีที่สุด ก็อาจไม่สามารถเอาตัวรอดได้เลยนะครับ

สำหรับนักแสดงแย่งซีน ถือว่าเป็นตัวร้ายของหนัง นฤมล นิลวรรณ รับบทแม่เลี้ยงบัวเรียน นายทุนเงินกู้ และเจ้าของบ่อน้ำประจำหมู่บ้าน ผู้แสนโฉดชั่ว หน้าเลือด ปากว่าตาขยับ คำพูดที่ไม่รู้เป็นเสียงร้องของเปรตจากนรกขุมไหน สนแต่เงินทอง ไร้ซึ่งน้ำใจและความกรุณาเมตตาปราณี, หนังไม่ได้เล่าอีกมุมหนึ่งให้เราฟังว่า มีเบื้องหลังอะไรกันที่ทำให้เธอกลายเป็นคนนิสัยแบบนี้ สามีหายไปไหน (ถ้าไม่เสียชีวิตไปแล้ว ก็คงอย่าร้าง หนีไปทนเธอไม่ได้) มีนิสัยตรงกันข้ามกับลูกชาย ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กว่า (มีแนวโน้มสูงมากว่าลูกจะได้รับอิทธิพลจากพ่อ) ผลลัพท์ตอนท้ายของตัวละครนี้ เมื่อไม่มีใครอยากกู้หนี้ยืมสินกับเธอ และที่นาก็ได้รับการไถ่ถอนไปหมดแล้ว ทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งนี้ได้อีกแล้ว จำต้องระหกระเกินย้ายออกไป และขณะมองดูเม็ดข้าวที่เธอเคยได้รับเก็บไว้ ด้วยสีหน้าและการไม่พูดอะไรออกมา นี่คงเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญในชีวิต ก็หวังว่าคนอย่างเธอจะสามารถเข้าใจตนเอง กลับตัวได้ในที่สุดนะครับ

ถ่ายภาพโดย พิพัฒน์ พยัคฆะ, งานภาพของหนังเรื่องนี้ สวยงามมากๆ ทุ่งนา ขุนเขา ท้องฟ้า เมฆหมอก (ถ่ายเมฆรวมตัวขณะทำฝนเทียม) ภาพข้าวออกรวงสีเหลืองทองอร่ามสะท้อนแสงอาทิตย์, แพนกล้องเห็นขุนเขาเขียวฉอุ่มในฉาก Opening Credit (แค่คิดตามก็สวยแล้วนะครับ) แต่ฉากพายุฝนจะดูยังไม่สมจริงเท่าไหร่ ก็คงดีที่สุดเท่าที่หนังสมัยนั้นจะทำได้และนะครับ, สิ่งที๋โดดเด่นในงานภาพคือการเคลื่อนกล้องและซูมเข้า-ออก โดยมีตัวละครเป็นจุดศูนย์กลาง สังเกตให้ดีจะพบบ่อยมาก นี่สร้างบรรยากาศ อารมณ์ ความหมายให้กับช็อตๆนั้น อาทิ ซูมเข้าตัวละคร แสดงถึงการกำลังครุ่นคิด หรือเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ข้างในจิตใจ, ซูมออกจากตัวละคร ให้เห็นวิวทิวทัศน์โดยรอย เป็นการเปิดกว้าง ยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ฯ

ฉากไฮไลท์ที่ผมชอบมากๆ อยู่ช่วงท้าย กล้องแพนไปหาพ่อที่ยืนมองรวงข้าวสีทองสวยๆ (ขณะนี้ใช้เพลง ยามเย็น) แล้วกล้องซูมออกมา กลายเป็นว่าเป็นสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม นึกว่าจะปลูกทั้งไร่ แต่กลับแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่ปลูกข้าวสีเหลืองทองอร่าม บริเวณอื่นโดยรอบเป็นพืชสีเขียว (มองไม่ออกว่าต้นอะไร คะน้าหรือเปล่า?) กับคนที่ไม่รู้ นี่เรียกว่าเกษตรแบบผสมผสาน ในฤดูที่ปลูกข้าวไม่ได้ แทนที่จะปล่อยให้ท้องนาว่าเปล่า ก็ปลูกผัก ผลไม้ชนิดอื่นที่ออกดอกผลตามฤดูกาล ซึ่งพอเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว เศษซากที่เหลือก็สามารกลายเป็นปุ๋ยปลูกข้าวต่อได้ (ใช่หรือเปล่าไม่แน่ใจนะ แต่คิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้)

ตัดต่อโดย พูนศักดิ์ อุทัยพันธ์, มุมมองของหนังเรื่องนี้ จะถือว่าใช้หมู่บ้าน/ทุ่งนา เป็นศูนย์กลางดำเนินเรื่องก็ได้ ไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองใครเป็นพิเศษ, เริ่มเรื่องเล่าผ่านพ่อ ที่นำข้าวเปลือกของในหลวงกลับบ้านมา แล้วตัดไป ๑๐ กว่าปีต่อมา เมื่อลูกทุกคนโตหมดแล้ว ก็จะแยกเล่าเรื่องราวของใครของมัน (เน้น ๒ คนคือ เสาแก้ว กับ สำอาง)

เหตุผลที่หนังต้องตัดต่อข้ามเวลามาถึง ๑๐ ปี นี่เปรียบได้กับระยะเวลาของการปลูกข้าวหวังผล สิบปีขั้นต่ำคือระยะเวลาหวังผลของมนุษย์ที่เติบโตขึ้น ใช้ศึกษาหาความรู้ หนึ่งทศวรรษแห่งการเริ่มต้น จะทำให้อะไรๆเปลี่ยนไปเป็นศตวรรษ

เมื่อลูกๆทุกคนทุกคนเติบโตขึ้น ก็จะมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง งานการเป้าหมายชีวิตก็จะแตกต่างกันออกไป คนหนึ่งรับราชการทหาร คนหนึ่งเรียนจบมีความรู้ทำงานกับโครงการหลวง แต่ส่วนใหญ่ในครอบครัว (แทนด้วยคนส่วนใหญ่ของประเทศ) ยังคงเป็นเกษตรกรทำนา และมีบางส่วนที่ทำอาชีพทุจริต (เช่น ค้าฝิ่น) เรื่องราวของหนังพยายามนำเสนอทุกๆเหตุการณ์ของแต่ละคนคู่ขนานกันไป ก่อนที่ช่วงท้ายจะกลับมาบรรจบ เมื่อทุกคนหวนคืนกลับบ้านเกิด อยู่อย่างมีความสุข พอเพียง ไม่ยึดติดกับอดีตที่อาจเคยทำอะไรแย่ๆ ไม่มีอะไรที่ครอบครัวให้อภัยกันไม่ได้ กลับมาครั้งนี้จะยิ่งเหนียวแน่นแฟ้น เข้าใจกันมากกว่าที่เคย

นี่เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวที่ ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ จำนวน ๙ เพลงมาใช้ประกอบ สายฝน, ลมหนาว, ชะตาชีวิต, อาทิตย์อับแสง, ยามเย็น, แสงเดือน, แสงเทียน, ใกล้รุ่ง และยิ้มสู้ เรียบเสียงประสานโดย พระเจนดุริยางค์, หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช และปราจีน ทรงเผ่า ดนตรีประกอบอื่นแต่งโดย ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์

ตอนสมัยผมยังเรียนอยู่ เคยชอบฟังเพลงพระราชนิพนธ์มากนะครับ ถึงขนาดหาโน้ตเพลงในสารานุกรม ขโมยห้องสมุดนำมาหัดเล่นตาม ถือว่าเล่นไม่ยากเลย กับคนอ่านโน้ตเป็น ก็สามารถเล่นได้, ปัจจุบัน ไม่ได้ฟังเป็นนิตย์เท่าไหร่ แต่ยังสามารถฮัมตามได้หลายเพลงไม่ลืมเลือน ซึ่งขณะดูก็ไม่รู้มาก่อนว่าใช้เพลงพระราชนิพนธ์ พอได้ยินเสียงแซกโซโฟน ใกล้รุ่ง ดังขึ้นมา ทำเอาผมขนลุกเลย มันช่างไพเราะ งดงาม เข้ากับฉากนั้นและมีความหมายลงตัวมากๆ (เพลงพระราชนิพนธ์ในหนัง จะได้ยินทำนองล้วนๆไม่มีคำร้อง แต่ถ้าใครจำคำร้องได้ จะรู้ว่ามีความหมายตรงกับฉาก เหตุการณ์ขณะนั้น)

๙ เพลงนี้อาจถือว่าเป็นเพลงที่ไพเราะที่สุด จาก ๔๘ เพลงพระราชนิพนธ์นะครับ ส่วนตัวคิดว่าสมัยก่อนน่าจะเคยเลือกเพลงโปรดชอบที่สุดจัดอันดับไว้แล้ว แต่ปัจจุบันจำไม่ได้แล้วว่าคือเพลงไหน บอกตามตรงตอนนี้ไม่กล้าหาฟัง ไม่กล้าเลือก เลยขอหลับหูหลับตาหยิบ ใกล้รุ่ง ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดมาให้ฟังนะครับ เป็นฉบับแทนคำร้องด้วยแซกโซโฟน (ผมลองฟังพวกฉบับดัดแปลง เปลี่ยนทำนองใหม่ ใน Youtube รู้สึกไพเราะสู้ต้นฉบับแท้ๆที่เคยฟังไม่ได้เลย ฉบับที่เลือกมารู้สึกใกล้เคียงกับที่เคยได้ยินสมัยก่อนที่สุดแล้วนะครับ)

กับฉากจบของหนัง ตั้งแต่ที่พ่อตัดตัดรวงข้าว เพื่อเตรียมนำไปถวายพระเจ้าอยู่หัว ฉากนี้ล้อกับตอนเปิดเรื่อง ที่พ่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเอาเมล็ดข้าวสายพันธุ์ของในหลวง หนังใช้เพลงใกล้รุ่ง เสียงแซกโซโฟนเพราะๆเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นในหลวงทรงเสด็จมาทอดพระเนตรหมู่บ้านแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง ภาพสุดท้ายเสมือนเป็นมุมมองของในหลวงที่มองลงมาจากรถพระราชดำเนิน และหยุด (Freeze) ที่ภาพพ่อยกยกรวงข้าวถวาย ฉากนี้ดูซ้ำกี่รอบผมก็น้ำตาซึม เพราะนับจากนี้ เราจะไม่มีวันเห็นภาพแบบนี้อีกแล้ว

คนไทยสมัยก่อน ว่ากันตามตรงก็คือ ‘คนโง่’ นะแหละครับ ทั้งๆที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน เราอยู่กินกับธรรมชาติมาแสนนาน ก็อยู่กันได้โดยไม่เรียกร้องอะไร แต่พอโลกที่พัฒนาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต่างชาติเข้ามา คนฉลาดเกิดขึ้นเยอะแยะ ทำให้สันดานบางอย่างของมนุษย์เกิดขึ้น เป็นแบบ ‘ฉลาดแกมโกง’ เห็นใครโง่ก็เอารัดเอาเปรียบทุกสิ่งอย่าง ให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด, วิธีเดียวที่คนโง่เหล่านี้จะสามารถเอาชนะคนพวกนี้ คือต้องมีคน ‘ฉลาด’ อย่างน้อย ๑ คนที่เข้าใจ ไม่เห็นแก่ตัว พร้อมเสียสละ และรู้วิถีทางของโลก… แค่เพียงคนเดียวจริงๆก็เพียงพอให้คน ‘โง่’ เหล่านี้ฉลาดขึ้นได้, ประเทศไทยเราโชคดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล นักปราชญ์ผู้เฉลียวฉลาดที่สุด เป็นถึงกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดิน และหาได้มีความเห็นแก่ตัวแม้แต่น้อย ท่านตระหนักได้ถึงสิ่งพวกนี้ จึงได้คิดแสวงหาหนทาง ใช้เวลาทั้งชีวิต เริ่มต้นจากการเพาะปลูกต้นกล้า หว่านเมล็ดพันธุ์ รอวันเติบโตออกดอก เก็บเกี่ยวผลผลิต นี่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลา แต่ ๗๐ ปีตลอดชั่วชีวิตของท่านมันก็เหลือเฟือเพียงพอ ที่สามารถทำให้คนโง่ทั้งหลาย กลายเป็นคนที่มีปัญญา (ไม่จำเป็นว่าต้องฉลาด) สามารถเอาตัวรอดจากพวกแกมโกงได้สำเร็จ

ใจความของหนังเรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวของชาวนาที่แสนธรรมดาคนหนึ่ง ผู้ได้รับบารมีร่มเกล้าของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แผ่มาถึง โดยไม่รู้ตัว แทบทุกสิ่งอย่างในชีวิตของเขา จะต้องมีสิ่งเชื่อมโยง หรือได้รับอิทธิพลมาจากท่านเสมอ, กับหนังเรื่องนี้ เริ่มต้นจากเมล็ดข้าวสารพระราชทานไม่กี่เม็ด กลายเป็นข้าวเต็มทุ่งนา ตอนที่ชีวิตเต็มไปด้วยหนี้สิน ฝนหลวงก็ได้เข้ามาผ่อนเบาความทุกข์ยาก จากนั้นก็เศรษฐกิจพอเพียง, การเกษตรสมัยใหม่, สหกรณ์ ฯ เรียกได้ว่าครบวงจร ทุกกระบวนการทำมาหากิน ล้วนต้องมีพ่อหลวงเป็นผู้ริเริ่มอยู่เบื้องหลัง, จะเรียกว่า นี่คือหนังที่นำเสนอ ‘ผลงาน’ ที่เป็นรากฐานความยิ่งใหญ่ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ก็ว่าได้

แต่นี่คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยในช่วงเวลา ๗๐ ปีที่ในหลวงทรงครองราชย์เท่านั้น กับฝรั่งมังค่า หรือชาวไทยในอนาคต คงไม่มีโอกาสเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าเกิดอะไรขึ้นในหนังเรื่องนี้ เพราะโลกย่อมพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆไม่หยุดนิ่ง ยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรๆที่เคยทำได้ในวันนี้ อนาคตก็อาจไม่ได้ผลแล้วหรือไม่มีใครทำกันแล้ว, ผู้คนล้มหายตายจาก ผ่านไปจากวันนี้อีก ๑๐๐ กว่าปี ก็คงไม่มีใครเหลือจดจำเหตุกาณ์ในช่วงเวลานี้ได้อีก, ซึ่งคนจากอนาคตทั้งหลายอาจเกิดคำถาม ทำไมพ่อถึงเชื่อมั่นในพ่อหลวงสุดใจขนาดนั้น? หรือสงสัยว่าท่านสร้างทุกสิ่งอย่างนั้นขึ้นมาเองเลยหรือ?

คำตอบคือ ในหลวงไม่ได้เป็นผู้สร้างทุกสิ่งอย่าง แต่เป็นผู้ริเริ่มทุกสิ่งอย่าง ยกตัวอย่าง ฝนหลวง ท่านไม่ได้ผู้สร้างเองนะครับ เป็นโครงการในพระราชดำริ นำเอาแนวคิดไปให้คนที่มีความรู้เฉพาะทางได้นำไปทดลอง ปฏิบัติและใช้งานจริง (เหมือนผู้กำกับ ที่ก็ไม่ได้แสดงหนัง ไม่ได้ออกแบบฉาก อาจไม่ได้ถ่ายภาพ/ตัดต่อ/ทำเพลงประกอบ แต่เป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งอย่าง จึงได้รับเครดิตทุกสิ่งอย่าง) สิ่งที่ท่านริเริ่ม มีอยู่หลายอย่างมากในหนัง นี่ไม่ใช่สิ่งที่นายกรัฐมนตรี/ประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งวาระ ๔ ปี ๘ ปี จะทำได้ ต้องเป็นบุคคลที่ทุ่มเททั้งกายใจ ตลอดเวลาทั้งชีวิต ไม่ใช่คนที่อยู่ในระบบ (แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) จะสามารถรอวันหว่านเม็ด งอกงาม เกี่ยวข้าวแล้วหว่านใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี ตอน ๕๐ ปีก็ถือว่ายาวนานมากแล้วนะ แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ใช้เวลา ๗๐ ปี ใครกันในโลกจะสามารถทำงานได้ยาวนานขนาดนี้ โดยไม่มีบ่นว่าเหน็ดเหนื่อย แล้วนี่จะไม่ให้คนไทยยุคนี้รักพ่อหลวงสุดหัวใจได้ยังไง

กษัตริย์ที่ครองราชย์ ๑๐ ปี ๒๐ ปี โดยเฉลี่ย ประชาชนจะเริ่มรู้จัก จดจำพระประมุขของประเทศได้
ครองราย์ ๓๐ – ๔๐ ปี นับเป็นระยะเวลาหลายยุคสมัย ประชาชนให้การยอมรับนับถือ
๕๐ ปีขึ้นไป จักคือพ่อหลวงที่อยู่ในใจประชาชนทุกคน
แต่ ๗๐ ปี ไม่เคยมีมาก่อน นี่จักต้องอยู่ในใจของประชาชนทุกคนตลอดไป

มีประเด็นหนึ่งที่หนังไม่ได้ใส่ไว้ แต่ผมอยากพูดถึงก็คือ ประเด็นพอเพียง คิดว่าในหลวงท่านคงได้แรงบันดาลใจมาจากหลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นแน่, “พอเพียง = ทางสายกลาง” ทางพุทธ การปล่อยวาง จะเหมารวมทุกสิ่งที่เป็นยึดติด ทั้งกาย-วาจา-ใจ สายกลางคือการปล่อย ไม่ยึดติดให้มาก รู้จักผ่อนคลาย ทำทุกอย่างให้พอดี ปานกลาง เหมาะสม นี่ถือเป็นนามธรรม ฟังเข้าใจ แต่น้อยคนจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้, ในหลวงของเราเป็นผู้ริเริ่ม ให้ความหมายเชิงปฏิบัติของคำว่า ‘ความพอเพียง’ กับการใช้ชีวิต มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น ถ้ากินดีอยู่ดีมีเหลือ ส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้ใช้วันหน้า อีกส่วนหนึ่งอาจเอามาพัฒนาแปรรูปเปลี่ยนสภาพ มนุษย์เราเมื่อท้องอิ่มก็มีสุข ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว เวลากินข้าว อิ่มมากไปก็อึดอัด น้อยไปก็เดี๋ยวก็หิว ต้องกินให้พอดี ‘พอเพียง’ การใช้ชีวิตก็เช่นกัน พูดแบบนี้แม้แต่คนโง่ก็น่าจะสามารถเข้าใจได้

น่าเสียดายตอนที่หนังเรื่องนี้ได้ฉายซ้ำปี พ.ศ.๒๕๔๙ ผมไม่มีโอกาสได้ดูในโรงภาพยนตร์ เห็นว่ามีการ Remaster ได้คุณภาพที่ยอดเยี่ยมเลยละ, ซึ่งกับการดูครั้งนี้ด้วย DVD คุณภาพห่วยรุนแรงมาก แต่กับภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ ท้องนา ทุ่งหญ้า ภูเขา ภาพธรรมชาติในหนัง แค่จากคุณภาพที่เห็น ยังรู้สึกได้ว่าคงต้องสวยงามมากแน่ๆ ถ้ามีโอกาส หาหนังเรื่องนี้มาดูด้วยคุณภาพที่ดีที่สุดนะครับ หรือถ้ามีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ซ้ำอีก แนะนำว่าห้ามพลาดเลยละ

ผมได้ยินว่าฉบับ Remaster ปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีการตัดฉากระเบิดกระท่อมทิ้งไปหมดเลย และทำเพลงประกอบขึ้นมาใหม่ นี่ผมก็บอกไม่ได้ว่าผลลัพท์การรับชมจะแตกต่างแค่ไหน แต่ถือว่าน่าเสียดาย เพราะภาพรวมของฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๐ นั้นยอดเยี่ยมใช้ได้อยู่แล้ว แบบนี้แนะนำว่าถ้ามีโอกาสให้ดูทั้งสองฉบับเลยนะครับ

นี่คือช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่จะต้องดูหนังเรื่องนี้แล้วนะครับ เพื่อระลึกถึงช่วงเวลา ความรู้สึก สิ่งต่างๆที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทำเพื่อปวงประชาชนชาวไทย แม้บางคนอาจไม่เคยพบตัวจริงของท่าน (ผมก็ไม่เคย) ก็เหมือนชาวนาในหนังเรื่องนี้แหละ บารมีของพระองค์ปกเกล้า แพร่ขยายไปทั่วถึงทุกสารทิศหย่อมหญ้า ขอเพียงเรามีความเชื่อมั่นในพระองค์ ลองนำแนวคิด แนวทางของท่านมาปฏิบัติใช้ดูในชีวิตประจำวัน ก็จะรู้โดยทันทีว่ากษัตริย์ผู้นี้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคเปลี่ยนผ่านโลกาภิวัฒน์นี้จริงๆ

“มีแต่คนที่โง่เท่านั้น ที่จะไม่รู้ว่า ในหลวงพระองค์นี้ดีอย่างไร”

กับที่ไม่ใช่คนไทย หรืออีก ๑๐-๒๐ ๕๐-๑๐๐ ปีข้างหน้า คนที่เกิดไม่ทันในหลวงรัชกาลที่ ๙ หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้มีค่าเสียเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณต้องการรู้จักหนึ่งในพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อยากเข้าใจว่าท่านยิ่งใหญ่อย่างไร ต้องดูหนังเรื่องนี้

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งครอบครัว

TAGLINE | “ด้วยเกล้า คือภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงคุณค่าที่สุด”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: