ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๓๓) หนังไทย : เชิด ทรงศรี ♥♥♥♡

เพราะความรักต่อแม่ (และผืนแผ่นดินแม่) ทำให้ มณีจันทร์/เมณี่ (จันทร์จิรา จูแจ้ง) ตัดสินใจหวนกลับมาปัจจุบันอีกครั้งสุดท้ายเพื่อร่ำลา และมุ่งสู่อดีตเพื่อเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ ครองรักกับคุณหลวงอัครเทพวรากร (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) กอบกู้ความเป็นชาติสยามคืนมา

ในบรรดานิยายของ ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี) นามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๐) นักเขียน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ถ้ามีจัดอันดับผลงานชิ้นเอก คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๑๒) และ ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ต้องติด Top5 อย่างแน่นอน ไม่เพียงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในฉบับวรรณกรรม แต่ยังได้รับการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น ภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์, ละครเวที นับครั้งไม่ถ้วน แถมยังมีการนำไปตีความใหม่เสียด้วยนะ ใครไม่รู้จัก ไม่เคยอ่านหรือรับชม ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งเลยละ

สิ่งฉาบหน้าของทวิภพ คือการเดินทางผจญภัยย้อนเวลา (Time Travel) ผ่านกระจกวิเศษของ มณีจันทร์/เมณี่ เพื่อไปตกหลุมรักใคร่ชอบพอกับ คุณหลวงอัครเทพวรากร ข้าหลวงประจำกรมเจ้าท่าแห่งรัชกาลที่ ๕, ร.ศ. ๑๑๒, พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งเธอยังได้ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ทำให้สยามประเทศขณะนั้นแค่สูญเสียเขตดินแดนบางส่วนไป

ขณะที่นัยยะของเรื่องราว เปรียบได้กับกระจกสะท้อนตัวตนชนชาวไทย ปัจจุบัน(ของเรื่องราวและยุคสมัยนี้)เรากำลังลุ่มหลงใหลอยู่กับความเจริญทางวัตถุ อิทธิพลจากต่างชาติเข้ามาปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติ ความรักษ์ชาตินิยมค่อยๆเสื่อมสูญหมดสิ้นไป, เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ ชาวไทย(แทบ)ทุกคน พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกปักษ์รักษาประเทศชาติให้คงไว้ซึ่งเอกราชจากมหาอำนาจยุโรป ขณะที่ปัจจุบันนี้แม้ดินแดนจะมิได้ถูกรุกราน จิตใจกลับปรับแปรเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมโลก เหลือน้อยลงทุกวันกับ ‘ความเป็นไท’ เฉกเช่นนั้นแล้วต่อให้ใครจะว่ายังไง ถ้าเลือกได้ฉัน (ทมยันตี) คงอยากย้อนกลับไปมีชีวิตเหมือนคน พ.ศ. นั้น รักชาติยิ่งชีพเหนือกว่าสิ่งอื่นใด

น่าเสียดายที่ครั้งแรกของการดัดแปลง ทวิภพ เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ เชิด ทรงศรี เลือกตัดทิ้งเหตุการณ์ความขัดแย้งสามเส้าระหว่าง ไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส พบเห็นเพียงขณะเกริ่นนำตอนต้น กับภารกิจเลี้ยงอาหารรับรองต่างชาติ (เพราะนิยายขนาด ๒ เล่มหนาๆ จำต้องตัดเนื้อหาออกมากมายเพื่อให้ได้หนังความยาว ๒ ชั่วโมงนิดๆ) แล้วมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นรักๆใคร่ๆ และความรู้สึกโหยหาคิดถึงแม่ (และผืนแผ่นดินแม่) ถึงภาพรวมออกมายอดเยี่ยม แต่ไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจสำหรับใครหลายๆคน

สำหรับผู้คลั่งไคล้ ทวิภพ สนใจการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น แนะนำจริงๆก็ฉบับละครโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๗ นำแสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ประกบ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ คุ้นๆว่าผมก็เคยดูตอนฉายนะ (แม่ผมชอบดูละครโทรทัศน์ กลางคืนไม่มีอะไรทำพลอยให้ต้องนั่งชมร่วมไปด้วย) ใกล้เคียงบทประพันธ์ของ ทมยันตี ที่สุดแล้วกระมัง, สำหรับภาพยนตร์ แนะนำมากกว่ากับ ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ตีความใหม่ด้วยความทะเยอทะยานของผู้สร้าง คุณภาพระดับ Masterpiece กระนั้นอาจต้องเปิดใจกันสักนิดเพราะแตกต่างจากนิยายค่อนข้างมาก ถ้าไม่ชื่นชอบคลั่งไคล้ก็อาจผิดหวังเกลียดเข้ากระดูกดำไปเลย

เนื่องจากผมไม่เคยอ่านนิยาย ก็จะขอพูดถึงเฉพาะแนวคิดความตั้งใจของผู้สร้าง และผลลัพท์เชิงเทคนิคที่ภาพยนตร์นำเสนอออกมา คิดว่าอาจมีความแตกต่างพอสมควรกับความตั้งใจของ ทมยันตี

เชิด ทรงศรี (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๔๙) ครูผู้สร้างภาพยนตร์ ‘ไทยแท้’ คนแรกๆของเมืองไทย เกิดที่นครศรีธรรมราช เรียนจบทำงานเป็นครูที่อุตรดิตถ์ จากนั้นลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ภาพยนตร์และโทรทัศน์’ ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละคร นิยาย และวิจารณ์ภาพยนตร์ วันหนึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ให้กับเมืองไทย ผลงานเรื่องแรก โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙), ผลงานเด่น อาทิ พ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๑๕), แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), เลือดสุพรรณ (พ.ศ. ๒๕๒๔), เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖), พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ฯ

เรื่องราวของ มณีจันทร์/เมณี่ (จันทร์จิรา จูแจ้ง) บุตรีของเอกอัครราชทูตไทย เคยอาศัยอยู่ฝรั่งเศสหลายปีจนพูดจาภาษาคล่องแคล่ว งานอดิเรกคือหาซื้อของเก่า ครั้งหนึ่งจับจ่าย ๓,๐๐๐ บาท ได้กระจกร้าวมาบานหนึ่ง ค้นพบสามารถพาเธอหวนย้อนไปอดีตในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังเรือนของหลวงอัครเทพวรากร (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ข้าหลวงประจำกรมเจ้าท่า สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน ทั้งการอยู่ดีๆปรากฎตัวและหายจากบ้านอย่างไร้ร่องรอย

การปรากฎตัวของมณีจันทร์ ในบ้านของหลวงอัครเทพวรากร เมื่อได้ทำความคุ้นเคยกับกับคุณหญิงแสร์ (อรวรรณ โปร่งมณี) มารดาของคุณหลวง ด้วยความขี้เล่นซุกซน แต่กลับเฉลียวฉลาดเกินวัย ก่อให้เกิดความผูกพันตกหลุมรักยิ่ง ทั้งยังมีโอกาสใช้ความรู้ด้านภาษาช่วยแก้เกมของประเทศนักล่าอาณานิคม จนเริ่มรับรู้ความสำคัญตนเองที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนว่ามี แต่ถึงกระนั้นด้วยความคิดถึงโหยหาแม่ผู้บังเกิดเกล้า และรับรู้ว่านี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายของการเดินทางข้ามเวลาก่อนกระจกแตก เธอจึงต้องเลือกตัดสินใจระหว่างอดีต-ปัจจุบัน อะไรคือความต้องการสูงสุดในชีวิต

จันทร์จิรา จูแจ้ง (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๐) ชื่อเล่น ตุ๊ก นักแสดง ผู้ผลิตรายการ จัดละคร สัญชาติไทย จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ต่อด้วยเซนต์จอห์นอาชีวศึกษา ทำงานเป็นเมียนประจำการประปาส่วนภูมิภาค เริ่มเข้าสู่วงการจากถ่ายโฆษณานีเวีย นางแบบ นักแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก รักแรกอุ้ม (พ.ศ. ๒๕๓๑), พริกขี้หนูกับหมูแฮม (พ.ศ. ๒๕๓๒), ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๓๓), ต้องปล้น (พ.ศ. ๒๕๓๓), เจาะเวลาหาโก๊ะ (พ.ศ. ๒๕๓๕), ผันตัวสู่วงการละครประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

เมณี่ (Many?) สาวมั่นผู้กระแดะเรียกตนเองด้วยชื่อภาษาฝรั่ง ความที่พ่อเป็นถึงท่านทูต ทำให้เรียนจบนอก คบเพื่อนระดับไฮโซ แต่กลับไร้ซึ่งความสนใจใดๆในชีวิต แม้กระทั่งแต่งงานกับแฟนหนุ่ม จนเมื่อเริ่มฝันแปลกๆ พบเห็นภาพหลอน ได้กลิ่นประหลาด เสียงดนตรีไทย และสามารถย้อนเวลาได้ จึงเริ่มค้นพบเป้าหมายของตนเอง

มณีจันทร์ โตเป็นหญิงสาวแต่ประพฤติตนราวกับเด็กน้อย วิ่งเล่นซุกซน อยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งอย่าง อยู่ดีๆก็ปรากฎขึ้นมาที่บ้านของท่านหลวงอัครเทพวรากร นำยาแปลกๆ ปรอทวัดไข้ คำพูดจา กิริยาท่าทางไม่เหมือนคนยุคสมัย ร.ศ. ๑๑๒ แต่ใครๆต่างพากันชื่นชอบพอ คิดถึงโหยหาเมื่อหายตัวไป กลายเป็นที่รักที่ต้องการ อิ่มสุขเมื่ออยู่ชิดใกล้ ขอเถิดคนดีอย่างเพิ่งจากไป อยู่กับพี่ได้ไหมที่นี่ตลอดกาล

ตอนแรกวางตัวปรียานุช ปานประดับ ถ่ายทำไปแล้วบางส่วนแต่ได้ถอนตัวออกไป ส้มล่นใส่จันทร์จิรา จูแจ้ง ที่กำลังฮอตฮิตขณะนั้น ด้วยความทะเล้นขี้เล่น ใบหน้าตาจิ้มลิ้ม น่ารักน่าชัง อยู่แห่งหนไหนใครๆเป็นต้องตกหลุมหลงใหล สมบุคลิกบทบาท และเวลาร่ำร้องไห้หัวใจแทบขาด รวดร้าวทุกข์ทรมานอย่างที่สุด

ฉัตรชัย เปล่งพานิช (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๓) ชื่อเล่นนก นักแสดงชาวไทย เกิดที่จังหวัดกาญจนบุรี ลูกของ พล.ต.อ.ถวิล เปล่งพานิช ติดตามพ่อมาเรียนต่อในกรุงเทพ จบปริญญาตรี ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เข้าสู่วงการโดยการชักชวนของ เพิ่มพล เชยอรุณ แสดงนำเรื่อง ระย้า (พ.ศ. ๒๕๒๔) โด่งดังจากละครโทรทัศน์ ตี๋ใหญ่ (พ.ศ.๒๕๒๘), ผลงานอื่นๆ อาทิ สารวัตรเถื่อน (พ.ศ. ๒๕๓๐), น้องเมีย (พ.ศ. ๒๕๓๓), ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๓๓), มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖) ซุ้มมือปืน (พ.ศ. ๒๕๔๘), จอมขมังเวทย์ (พ.ศ.๒๕๔๘) ฯ

รับบทคุณหลวงอัครเทพวรากร เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาคนแรก มีความสุภาพอ่อนน้อม ยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย (ยังไม่ค่อยเปิดรับแนวคิดอะไรใหม่ๆมากนัก) เคารพรักแม่ ผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน และหญิงสาวผู้สร้างความอัศจรรย์ใจให้อย่างยิ่งยวด ทั้งๆที่เป็นคนมากด้วยสติยับยั้งคิด นับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่มิอาจหักห้ามตนเองเมื่อมณีจันทร์กำลังจะจากไป ฉุดรั้งเธอไว้ แล้วสารภาพขอแต่งงาน

ภาพลักษณ์ของพี่นก ฉัตรชัย เหมือนคนโบร่ำโบราณ กิริยาท่าทางวางตัว คำพูดคำจา วิธีการทิ้งน้ำหนักเสียงลงในแต่ละถ้อยวลี มีความนุ่มนวลอ่อนน้อมเรียกว่าสุภาพบุรุษ ซึ่งก็ได้แปรสภาพภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กลายเป็นหนังรักข้ามมิติกาลเวลา ชักชวนให้ผู้ชม ‘ฟิน’ ไปกับความเข้ากันของคู่พระนาง เล่นแง่งอนบ้างตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย สุดท้ายก็มิอาจหักห้ามใจต้องพูดบอกความปรารถนาแท้จริงออกมา

ถ่ายภาพโดย สราวุฒิ วุฒิชัย,

ส่วนใหญ่ของงานภาพจะใช้การตั้งกล้องไว้เฉยๆ ให้นักแสดงเดินเข้าออกมีปฏิกิริยาสนทนาพูดคุย เว้นแต่แทนมุมมองสายตา (Subjective Shot) มักมีการเคลื่อนไหลแพนนิ่ง, Whip Pan, ซูมเข้า-ออก ฯ ส่วนใหญ่แทนด้วยสายตาใคร่สงสัยของ มณีจันทร์

หลายครั้งทีเดียวที่อุปกรณ์ประกอบฉาก มีนัยยะสำคัญสะท้อนความหมายบางสิ่งอย่างขณะนั้น อาทิเช่น
– Opening Credit พบเห็นขอบของกระจกแต่ละด้าน สะท้อนชื่อของทีมงานปรากฎขึ้น
– กระจกร้าว สะท้อนถึงความบิดเบือน ขัดแย้ง เห็นต่าง ระหว่างตัวตนภายนอกกับความต้องการภายใน ซึ่งเมื่อถึงจุดแตกหักก็เท่ากับถึงเวลาต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถตีความหมายถึง ระหว่างอดีต-ปัจจุบัน มณีจันทร์จะเลือกใช้ชีวิตในช่วงเวลาไหน
– ฉากมณีจันทร์สนทนากับ ดร.ตรอง (สรจักร เกษมสุวรรณ) มักพบเห็นรูปปั้นจำลองตั้งอยู่เคียงข้าง (มีรูปปั้นอันหนึ่งคล้ายๆ The Thinker แต่เป็นผู้หญิงที่ทำมือท่าครุ่นคิด นั่นคือขณะซักถามถึงความเป็นไปได้ในการย้อนเวลา)
– ดร. ตรอง คุยโทรศัพท์กับ ไรวัติ (ปกรณ์ พรพิสุทธิ์) ภาพพื้นหลังคือลำธารน้ำตก สะท้อนถึงชีวิตที่ไหลตามสายน้ำแห่งกาลเวลาของพวกเขา (ตรงกันข้ามกับ มณีจันทร์ ที่ชีวิตเธอถือว่ากำลังไหลทวนกระแสน้ำแห่งกาลเวลา)
– ขณะที่รูปภาพฝั่ง ไรวัติ พบเห็นสาวเปลือย นั่นคงสะท้อนความสนใจอันมีต่อ เมณี่ ต้องการเพียงเรื่องแบบนี้เท่านั้นสินะ
– สิ่งเดียวที่มณีจันทร์นำติดตัวกลับมาด้วยจากอดีต คือนาฬิกา พบจากพรมรูปดอกไม้ นี่ไม่เพียงสะท้อนถึงเวลา แต่ยังความงดงามที่เธอใฝ่คว้าหามาตลอดชีวิต
– ต้นไม้แปลว่าป่า สิงโต(หินอ่อน)แปลว่าอำนาจ แมวแปลว่ารู้อยู่ นั่นคือความหมายของภาพถ่ายมณีจันทร์ (อธิบายโดยท่านหลวง)

ความขี้เล่นซุกซนของมณีจันทร์ กิจกรรมที่เธอทำก็แฝงความหมายบางอย่างเช่นกัน
– ท่าเดินสะบัดไปมา สลับไขว้ขาซ้ายขวา เดี๋ยวอดีต-ปัจจุบัน
– กระโดดข้ามขา นี่ก็กระโดดข้ามเวลา

ผมลองค้นหาดูก็พบว่ามีจริงๆ หยกมณี (Pandan Tapioca Pearls) ขนมไทยโบราณ หอมใบเตย เป็นอาหารว่าง เคี้ยวอร่อย เนื้อเหนียวนุ่มเค็มๆ มันๆ เสน่ห์อยู่ที่มีสีเขียวเหมือนหยก ราวกับอัญมณีเลอค่า

สูตรใส่น้ำใบเตย ส่วนผสมหลักๆ มีสาคู ใบเตย และมะพร้าวขูด ทั้งนี้สามารถใส่เครื่องเครา อาทิ ฟักทองนึ่ง เผือกนึ่ง ลงไปคนผสมกับตัวขนมได้ด้วย

reference: https://cooking.kapook.com/view144502.html

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาพ จัดทำอาหารและดอกไม้ ประดับฉากงานเลี้ยงชาวต่างประเทศ

เรือสุพรรณหงส์ คงต้องการสะท้อน วิกฤตการณ์ปากน้ำ อันเป็นจุดแตกหักของความตึงเครียดในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ การปะทะกันเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อเรือรบฝรั่งเศสแล่นฝ่าเข้าไปในปากแม่น้ำเจ้าพระยา ๓ ลำถูกโจมตีโดยป้อมปืนของสยามและเรือปืน ผลการรบ ฝรั่งเศสสามารถดำเนินการปิดล้อมกรุงเทพฯ มีการเจรจาระหว่างกันซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์ (นี่น่าเป็นงานเลี้ยงหลังจากการยอมจำนนของสยามประเทศครั้งนั้น)

ฉากที่มณีจันทร์ทรุดลงล้มป่วยเพราะถูกขัดขวางจากท่านหลวงไม่ให้กลับสู่ภพภูมิตนเอง ขณะที่คุณหญิงแสร์พูดพร่ำถึงอาการขาดสติ ภาพมีการปรับโฟกัสจากใบหน้าของหญิงสาวที่นอนอยู่ ไปสู่ชายหนุ่มผู้รู้สึกผิดต่อการกระทำของตนเอง ซึ่งยังสะท้อนถึง’สติ’อันพร่ามัว ค่อยๆเรียกคืนกลับสู่ตนเองได้วยนะ

บางช็อตก็จะมีการแบ่งฝั่งฝ่ายอย่างชัดเจน อาทิ
– ที่สนามยิงปืน มณีจันทร์ นั่งสนทนากับ ไรวัติ จะมีช็อตหนึ่งพบเห็นพวกเขานั่งคนละฝั่ง คั่นด้วยป้ายคำแนะนำอะไรสักอย่าง นี่สะท้อนถึงว่า ความต้องการของพวกเขามิได้ตรงกัน ล้วนเกิดจากข้อแม้ข้อตกลง มากกว่าเสียงเพรียกเรียกร้องจากหัวใจจริงๆ
– ตอนสวดมนต์หลังแต่งงาน ช็อตนี้ตรงฐานพระมีเสาไม้เล็กๆแบ่งกั้นระหว่าง มณีจันทร์กับท่านหลวง (ยังอยู่คนละภพ ไม่ได้ครองคู่กันจริงๆ)

สำหรับ Visual Effect อาทิ
– ซ้อนภาพ ให้คุณหลวงเดินออกมาจากกระจก
– Blue Screen ย่อหด ให้ร่างกายของมณีจันทร์เดินทางผ่านกระจกวิเศษได้
– Effect ระยิบระยับในกระจก นี่คงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าช่วยกระมัง (สมัยนั้นมีคอมพิวเตอร์แล้วนะ!)

ลำดับภาพโดย จันนิภา เจตสมมา,

ใช้มุมมองของ มณีจันทร์/เมณี่ เป็นหลักในการเล่าเรื่อง รวมถึงขณะเพ้อฝัน เดินทางย้อนอดีต และมักตัดสลับกับปัจจุบัน เพื่อให้เห็นความวิตกจริตของผู้คนทั้งสองฝั่งภพ
– เมื่อเมณี่ ย้อนไปอดีต มีครั้งหนึ่งไรวัติเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่กี่วันเธอก็หวนกลับมา กลายเป็นความไร้ค่าใดๆ
– หรือตอนมณีจันทร์กลับอนาคต บรรดาคนใช้ก็จะจ้าละหวั่นเดินว้าวุ่นวายไปมา พูดคำคุณหญิงหายตัว(อีกแล้ว)อยู่ร่ำไป

ทุกขณะของการเดินทางย้อนเวลา อดีต-ปัจจุบัน จะมีทำนองดนตรีหนึ่งบรรเลงขึ้นตลอด มอบสัมผัสระยิบระยับของระฆังราว (Tubular Bells) ระฆังวัด พิณ และอะไรไม่รู้ติก-ตอก เหมือนเสียงนาฬิกา เพื่อบอกให้เตรียมพร้อมหรือกำลังจะหมดเวลา

ประกอบดนตรี จำรัส เศวตาภรณ์ อดีตสมาชิกวงแกรนด์เอ็กซ์ กลายมาเป็นนักแสดงเพลงประกอบภาพยนตร์ สารคดี และพระราชพิธี ผลงานเด่นๆ อาทิ น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๒๙), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), ปุกปุย (พ.ศ. ๒๕๓๓), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗), ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ

หนังมีส่วนผสมของดนตรีสากลร่วมสมัย กับดนตรีไทยจากอดีต (และมโหรีวงใหญ่ ๑๒๐ ชิ้น) สลับกันระหว่างปัจจุบันกับอดีต เพื่อให้สามารถหลับตาแล้วบ่งบอกได้ทันที ว่าขณะนั้นเรื่องราวดำเนินอยู่ พ.ศ. ปีไหน

บทเพลงมีความล่องลอย ชวนเพ้อฝัน คอยสร้างสัมผัสบรรยากาศให้กับหนัง เกิดกลิ่นอายและรสชาดของความเป็นไท แต่ก็ชวนให้ฉงนสงสัยว่านั่นมันยุคไหน ฟังแล้วมีความเหนือกาลเวลาเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับบทเพลงขับร้อง ปลูกรัก เรียบเรียงจากเพลงไทยเดิม สะสม มีขับร้องโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และคู่ ฉัตรชัย-จันทร์จิรา, เนื่องจากหาฉบับที่ใช้ในหนังไม่ได้ เอาศรัณยูขับร้องมาก็กระไร เลยนำระนาดเพลง สะสม ให้รับฟังดู

ทำไมทมยันตี ถึงเลือกย้อนเวลาไปสมัย ร.ศ. ๑๑๒?, จริงๆมันคงย้อนเวลาไปเมื่อไหร่ก็ได้นะ ขอแค่มีกระจก/ของโบราณ เป็นสิ่งเชื่อมต่อระหว่างยุคสมัย เหตุผลสำคัญคือเปรียบเปรยการรุกรานของต่างชาติในลักษณะรูปธรรม/นามธรรม
– ร.ศ. ๑๑๒ คือรูปธรรมที่ อังกฤษ-ฝรั่งเศส พยายามลุกล้ำแบ่งเค้กแย่งเขตแดนสยาม ครอบครองเป็นเจ้าของชนชาติป่าเถื่อนไร้ความศิวิไลซ์ นำความเจริญจากชาติตะวันตก อ้างว่าเข้ามาพัฒนาแต่กลับแสวงโอกาสฉกฉวยชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจาก
– พ.ศ. ปัจจุบัน คือนามธรรม ไม่มีประเทศไหนเข้ามาแก่งแย่งชิงผืนแผ่นดินแดน แต่ความคิดอ่านโลกทัศน์จิตใจของชนชาวไทย ค่อยถูกกลืนกิน ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลชาติตะวันตก จนสูญเสียขนบวิถี ‘ความเป็นไท’ ดั้งเดิมไปมากโขแล้ว

คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า ทวิภพ คือเรื่องราวแฝงแนวคิด ‘ชาติไทยนิยม’ เสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำให้คนไทยครุ่นคิด หวนระลึก ตระหนักถึงคุณค่าของผืนแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่บรรพบุรุษจะปกปักษ์รักษามา ปัจจุบันนี้แม้มิได้สูญเสียดินแดน แต่กลับกลายสูญเสียจิตวิญญาณ ‘ความเป็นไท’ ไปแทบหมดสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ทวิภพ เปรียบได้กับโรคภัยชนิดหนึ่ง ‘โหยหาความเป็นไทย’ ซึ่งโครงสร้างของเรื่องราว สามารถสะท้อนลำดับขั้นของอาการได้อย่างเด่นชัดเจน
– เริ่มต้นจากพร่ำเพ้อฝัน ได้กลิ่นแปลกๆ(ดอกจันทร์กระพ้อ) เสียงดนตรีไม่คุ้นหู จนปรากฎเห็นภาพหลอนจากอดีต
– ครุ่นคิด ปรึกษาคนใกล้ตัว (คุยกับแม่ก่อน) จนกระทั่งพบเจอกระจกที่กระตุ้นความทรงจำนี้ของตนเอง
– ครั้งแรกของการเดินทางสู่อดีต แทบไม่อยากเชื่อตนเอง จึงลักขโมยนาฬิกาห้อยติดตัวมาด้วยเพื่อใช้เป็นข้ออ้าง
– ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ด้านนี้คือ ดร. ตรอง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจสักเท่าไหร่
– ย้อนเวลาครั้งสอง เต็มไปด้วยความใคร่รู้ใคร่สงสัย จนมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับคุณหลวง กระตือรือล้นรีบเร่งอยากกลับมาครั้งสามสี่
– ครั้งถัดๆมาเมื่อสังเกตเห็นรอยร้าวบนกระจกที่เพิ่มขึ้น เริ่มแสดงอาการต่อต้านขัดขืน เกิดความหวาดระแวงกลัว อาจมีโอกาสย้อนเวลาไปแล้วจะมิได้หวนกลับมา
– ถูกวางยานอนหลับ กลายเป็นหนูทดลอง แต่ก็ไม่มีผลกระทบใดๆทั้งนั้นเมื่อตื่นมา (การแพทย์ไม่สามารถรักษาทางกายหาย)
– หลังจากนั้นจะเริ่มปรับตัวได้ ใช้ชีวิตหลายวันในอดีตจนกลายเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการยอมรับ ค้นพบเป้าหมายความสนใจแท้จริงของตนเอง
– ชั่วครู่เดียวกับอาการคิดถึงแม่ คิดถึงบ้าน ทำให้ต้องตกลงปลงตัดสินใจเลือกว่า จะมีชีวิตอยู่กับอดีตหรือหวนคืนปัจจุบัน

การตีความหมายของ ทวิภพ ไม่จำเป็นว่าต้องคือรูปธรรมร่างกายที่ย้อนเวลากลับไป โรค’โหยหาความเป็นไทย’ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ เมื่อร่ำเรียนรู้จักอดีต พบเห็นความสวยงามเก่าก่อนที่หาพบไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เกิดความตระหนัก หลงใหล อยากจะมีชีวิต ดำเนินรอยตาม หรือถ้าเลือกได้ก็อยากย้อนเวลาไปเกิดทศวรรษ/พ.ศ. นั้นๆ

คนยุคสมัยนี้ต่างพยายามหลงลืมอดีต รากเหง้าบรรพบุรุษต้นกำเนิดแท้จริงของตนเอง คิดว่าแฟชั่นสมัยนิยม แนวคิดชนชาติตะวันตก คือสิ่งเลิศหรูเลอค่าใหม่เอี่ยมทรงคุณค่าสูงสุด นี่มักเป็นชนวนเหตุให้เกิด’ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะรูปธรรมจับต้องได้เท่านั้น นามธรรมจิตวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปถือว่าเลวร้ายยิ่งกว่าเสียอีก แต่จะมีคนรุ่นปัจจุบันสักเท่าไหร่ สามารถตระหนักครุ่นคิดเรื่องนี้กันได้เล่า!

การตัดสินใจของมณีจันทร์ สะท้อนโลกทัศนคติของผู้เขียน ทมยันตี/ผู้กำกับ เชิด ทรงศรี ทั้งคู่ต่างเป็นกลุ่มชนอนุรักษ์นิยม โหยหาความเป็นไทแท้ที่ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่ยังวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี แนวคิดทัศนคติ และจิตวิญญาณ ที่ปัจจุบัน(นั้นและนี้)เจือจางหาย ลดลงจนแทบไม่หลงเหลืออะไรเป็นขวัญกำลังให้ชื้นใจอยู่

ผมไม่ใช่คนอ่านนิยาย เลยบอกไม่ได้ว่า ทมยันตี เป็นคน ‘ชาตินิยม’ มากน้อยแค่ไหน (จริงๆแค่เรื่องนี้ก็ชัดเจนมากนะ ว่าคุณหญิงมีทัศนะเช่นไร?) แต่สำหรับครูเชิด ทรงศรี ภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของเขา ขายความเป็น ‘ไทยแท้’ มาโดยตลอด หลายครั้งผสมแนวคิด ‘อนุรักษ์นิยม’ ต่อต้านระบอบทุนนิยมแบบสุดโต่งเข้าไปด้วย ซึ่งในทศวรรษนั้นคงไม่มีใครเหมาะดัดแปลง ทวิภพ มากไปกว่าครูเชิดอีกแล้วละ

อดไม่ได้ถ้าจะไม่พูดถึง บุพเพสันนิวาส (พ.ศ. ๒๕๖๑) ละครโทรทัศน์ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของรอมแพง ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ หลายคนย่อมรู้สึกถึงความละม้ายคล้ายคลึง เชื่อว่าได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจาก ทวิภพ อย่างแน่นอน เปลี่ยนจาก ร.ศ. ๑๑๒ ย้อนอดีตไปไกลถึงกรุงศรีอโยธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๗๔/๗๕ – ๒๒๓๑)

ความสำเร็จของหนัง เข้าชิง ๔ สาขา สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่ได้สักรางวัล ประกอบด้วย
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ฉัตรชัย เปล่งพานิช)
– นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (จันจิรา จูแจ้ง)
– บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง ประกอบด้วยการแสดงของ จันจิรา จูแจ้ง ช่างมีความทะเล้นขี้เล่น น่ารักน่าชังเสียจริง, หลายๆไดเรคชั่นถ่ายภาพ และเพลงประกอบดังขึ้นซ้ำๆจนจดจำได้ ขณะที่เรื่องราวเลือกดัดแปลงนำเสนอในจุดที่ยังไม่น่าพึงพอใจสักเท่าไหร่

แนะนำคอหนังโรแมนติก รักข้ามมิติเวลา (Time Travel), เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยรัชกาลที่ ๕, หลงใหลนิยาย ทวิภพ ของ ทมยันตี, แฟนๆผู้กำกับ เชิด ทรงศรี, นักแสดงนำ ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จันทร์จิรา จูแจ้ง ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรตทั่วไป เด็กๆดูได้แต่จะเข้าใจเรื่องหรือเปล่าไม่รู้นะ

TAGLINE | “ทวิภพ พ.ศ. ๒๕๓๓ ของเชิด ทรงศรี คือภาพยนตร์แห่งความรักต่อแม่ (และผืนแผ่นดินแม่)”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
6 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

แต่ในปัจจุบัน เป็นที่รู้โดยทั่วกันแล้วว่า ทมยันตี คือพวกอนุรักษ์นิยมระดับขวาจัดสุดโต่ง อวยเผด็จการ-ทหาร-ชนชั้นสูง ฝักใฝ่ในระบอบศักดินา-อำนาจนิยม (เพราะเกิดในตระกูลทหาร-ผู้ดีเก่า แล้วชีวิตก็พัวพันวนๆอยู่ในกลุ่มนี้) โจมตีประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนในเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากนิยายหลายๆเรื่อง รวมทั้งงานเขียนบทความชวนเชื่อและคำประกาศสัมภาษณ์ต่างๆ

ดังนั้นปัจจุบัน “ทวิภพ” จึงกลายสถานะเป็นเพียงแค่นิยายโรแมนติไซส์เพ้อฝันเฟื่องถึงยุคอดีตที่หอมหวานในมุมมองของชนชั้นกลางค่อนสูงที่มีสัมพันธ์แนบชิดกับชนชั้นสูง กับอวยยกยอสถาบันและชนชั้นสูง และที่สำคัญคือ สอดใส่อุดมการณ์รักชาติเข้าไปและสะท้อนความคลั่งชาติของตัวผู้เขียนและเหล่าคนออกมาเท่านั้น
(แม้ในอดีตจะถือเป็นหนึ่งในนิยายเรื่องดังหัวแถวอันดับต้นๆของประเทศ ที่ทรงอิทธิพลต่อนิยายไทย รวมทั้งหนัง-ละครไทยรุ่นหลังมากมายมหาศาลนับร้อยนับพันเรื่องก็ตาม)

เรียกว่าพอตายแล้วน้ำลดตอผุดของแท้ (ถึงจริงๆ คนส่วนใหญ่จะรู้โดยทั่วกันแต่แรกแล้วก็ตาม)
และสิ่งที่เคยถูกยกว่าดี เคยได้รับการยกย่องในยุคนึง พอยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ในอีกยุคนึงมุมมองของผู้คนที่มีแต่สิ่งๆนั้นก็อาจเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังตีนเลยก็ได้ เวลาและสิ่งที่อยู่ในตัวงานนั้นจะเป็นตัวตัดสินเอง เหมือนทวิภพกับทมยันตีดังที่เห็น

บทบาทของทมยันตีในช่วง 6 ตุลาฯ:
https://thematter.co/thinkers/wives-association-who-provoke-to-kill-people-on-thammasart-massacre/156749

https://waymagazine.org/damayanti-before-6-october-1976-massacre/

%d bloggers like this: