ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๔๗)
: สุรพงษ์ พินิจค้า ♥♥♥♡
ตีความใหม่จากนวนิยายของ ทมยันตี ย้อนเวลากลับไปสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อสยามประเทศต้องเผชิญหน้าภัยคุกคามจากสองฟากฝั่ง ต่อรองกับสหราชอาณาจักร เริ่มเปิดการค้าเสรี ทำสนธิสัญญาเบาว์ริง และเหตุการณ์ชี้เป็นชี้ตายกับฝรั่งเศส ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจได้เห็นหอไอเฟลตั้งตระหง่านกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
แทบทุกคนที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จะยกย่องในความ ‘ทะเยอทะยาน’ กล้าตีความให้แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยาย สวมใส่โลกทัศนคติของผู้สร้าง ทุ่มทุนว่ากันว่าสูงกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ผลลัพท์ขาดทุนย่อยยับเยิน จนเป็นสาเหตุให้สตูดิโอ Film Bangkok ต้องปิดตัวลงปีถัดมา
แต่ปัญหาใหญ่ของหนังที่เชื่อว่าใครๆคงต่างเป็นกัน คือ ดูไม่รู้เรื่อง! ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นผลพวงจากไดเรคชั่นของพี่แกละ สุรพงษ์ พินิจค้า นักตัดต่อขั้นเซียนของวงการ นี่อาจเป็นผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกเรื่องเดียวในชีวิต ท่าทางจะมี Sergei Eisenstein กับ Vsevolod Pudovkin เป็นแรงบันดาลใจ (พ่วงให้อีกคนกับ Pier Pablo Pasolini) คล้ายคลึงเสียยิ่งกว่าแกะ! และคำถากถาง ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๖ บรรทัด’ มันสะท้อนสันดานตนเอง แถมเหตุการณ์หลังหนังเจ๊ง คุณอังเคิลดันไปป้ายสีโทษความผิดใส่ โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗) ก็สมควรโดนนักเลงคีย์บอร์ดถ่มถุยเป็นธรรมดา
The Siam Renaissance เป็นชื่อหนังภาษาอังกฤษที่ผมโคตรชอบเลยละ แปลตรงตัวว่า ‘ยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาแห่งสยามประเทศ’ แม้จะช้าล้าหลังกว่าทางฝั่งยุโรปที่มี Renaissance Era มาตั้งแต่ศตวรรษ 14th – 17th แต่ถือว่ามีความเหมาะสมกับช่วงเวลาสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – พ.ศ. ๒๔๕๓) เพราะประเทศชาติมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตนที่รับเพียงแค่อิทธิพล ไม่ใช่ถูกบีบบังคับครอบงำในฐานะประเทศราชเมืองขึ้นชาวตะวันตก
ทวิภพ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๗ ว่าไปคงเหมาะเฉพาะกับคนไทย เป็นเรื่องที่ดูแล้วจะเกิดความภาคภูมิใจ ‘รักชาติ’ ขนหัวลุกซู่ น้ำตาแทบจะร่วงไหลเล็ดนับครั้งไม่ถ้วน ก็ว่ากันตามตรงให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่เสียกว่า บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๔), สุริโยทัย (พ.ศ. ๒๕๔๔) หรือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่แทบจะไม่ก่อเกิดอารมณ์ใดๆนอกจากความบันเทิงรมณ์
สุรพงษ์ พินิจค้า (เกิด พ.ศ. ๒๔๙๘) ชื่อเล่น แกละ เกิดที่กรุงเทพฯ จากเด็กสาธิตจุฬาฯ หลงใหลวิชาดาราศาสตร์ เข้าศึกษาด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วันหนึ่งนึกสนุกหยิบหล้อง 8mm จากชมรมค่ายอาสาฯ มาถ่ายก้อนดินน้ำมัน ๒ ก้อนต่อสู้กัน เข้าตาเอเจนซี่รายหนึ่งเข้าอย่างจัง จ้างไปทำ Stop-Motion Animtaion ขนาดสั้นๆ เปิดหัวรายการโทรทัศน์ของผงชูรสอายิโนะโมะโตะ
เมื่อพบเห็นโอกาสและช่องทางดังกล่าว จึงวางเป้าหมายที่จะมาทำหนัง 16mm หวังส่งเข้าประกวดหนังสารคดี ของธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ โดม สุขวงศ์ (ที่ต่อมากลายเป็น ผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ คนแรกของเมืองไทย) สร้างหนังสั้นเรื่อง ! อัศเจรีย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙) เพราะความล้ำเกินไปในลีลาตัดต่อ คณะกรรมการเลยต้องมองรางวัลพิเศษให้โดยเฉพาะ
เกร็ด: ! อัศเจรีย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙) คือหนึ่งใน ‘๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู’ ส่วนของภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ทดลอง
หลังจากนั้นเริ่มหาประสบการณ์ใหม่ๆ ขอไปฝึกงานตามกองถ่ายหนังของ ครูเนรมิต, ท่านมุ้ย จนได้รับโอกาสเป็นนักตัดต่อ ประชานอก (พ.ศ. ๒๕๒๕) ผลงานแจ้งเกิดที่ไม่ได้ฉายของ มานพ อุดมเดช และกลายเป็นขาประจำมา อาทิ หย่าเพราะมีชู้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), ครั้งเดียวก็เกินพอ (พ.ศ. ๒๕๓๐), กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ
เมื่อเริ่มเก็บเงินได้ซื้อกล้องของตนเอง สร้างสารคดีเชิงทดลอง สำเพ็ง ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลามเช่นกัน ทำให้อีกหลายผลงานสารคดีตามมา ต่อด้วยเปิดบริษัทสร้างหนังโฆษณา Image & Montage แทบไม่มีเวลาว่างสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวที่ตนเองสนใจ, จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับการติดต่อจาก The Nation ชักชวนให้ทำเรื่องราวการหายตัวไปของราชาไหมไทย Jim Thompson ออกเป็นซีรีย์ฉายช่อง iTV ทุนสร้างตอนละ ๑ ล้านบาท ตั้งชื่อว่า ปมไหม (พ.ศ. ๒๕๔๔)
“ผมทำหนังมานานแล้ว แต่ไม่เคยบอกใคร ผมทำหนังสั้นตามแบบที่ผมชอบ และไม่เคยคิดว่าต้องทำหนังเพื่อลงฉายในโรง จนวันนึงคุณอังเคิลมาคุยด้วยว่าอยากให้ทำหนังให้ ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยว่าจะทำอะไร คุยกันอยู่หลายครั้ง หลายรอบ จนกลายมาเป็นเรื่องทวิภพ”
– สุรพงษ์ พินิจค้า
อดิเรก วัฏลีลา หรือ อังเคิล (เกิด พ.ศ. ๒๔๙๘) นักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่สุพรรณบุรี เรียนจบจากไทยวิจิตรศิลป์ เริ่มต้นจากเป็นคนเขียนใบปิดหนัง วาดภาพให้กับบริษัทโฆษณา หน้าปกนิตยสารไบโอสโคป(บางฉบับ) แรกเริ่มคิดจะทำภาพยนตร์ร่วมกับ ปี๊ด – ธนิตย์ จิตนุกูล พบกับ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ร่วมกันเปิดบริษัท ไทเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มีผลงานเรื่องแรก ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย (พ.ศ. ๒๕๒๘) ประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดแห่งปี ตามมาด้วย ปลื้ม (พ.ศ. ๒๕๒๙), ฉลุย (พ.ศ. ๒๕๓๑) ฯ ต่อมาเบนเข็มไปเป็นโปรดิวเซอร์ เริ่มจากสังกัด อาร์ เอส ฟีล์ม มีผลงานอย่าง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (พ.ศ. ๒๕๓๘), เกิดอีกทีต้องมีเธอ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ฯ ออกไปร่วมก่อตั้ง Film Bangkok อาทิ บางกอกแดนเจอรัส (พ.ศ. ๒๕๔๓), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๔), ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ฯ
“หลังจากบริษัทฟีล์มบางกอก เปิดตัวมาได้ ๓ ปี เราได้ผลิตผลงานภาพยนตร์ที่เราค่อนข้างภูมิใจ แม้หนังหลายเรื่องจะไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้มาก แต่ผมก็มีความเชื่อว่าเราได้ทำผลงานค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว แต่ก็ยังเป็นคนละเรื่องกับการหาจุดที่โดนใจผู้ชม ณ เวลาหนึ่งเราได้ทำลองแนวทางการสร้างหนังแบบนี้มาจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เราจึงพยายามมองหาสิ่งที่จะสามารถเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากกว่าเดิม”
– อังเคิล
สาเหตุการเลือกดัดแปลง ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๓๐) นวนิยายชื่อดังของ ทมยันตี นามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๐) นักเขียน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์, เพราะเป็นเรื่องราวที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยผู้กำกับเชิด ทรงศรี นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช ประกอบ จันทร์จิรา จูแจ้ง และละครโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๗ นำแสดงโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ประกบ สีเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์
“เวลานั้นการสร้างแตกต่างกันมากมายในปัจจุบันทั้งเทคโนโลยี เงินทุน แต่ก็ยังเป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำ วันนี้ผมเชื่อว่าปัญหาต่างๆเหล่านั้นไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไปแล้ว เราพร้อมที่จะเนรมิตภาพในจินตนาการของทวิภพได้อย่างใจคิด”
ความสนใจของผู้กำกับสุรพงษ์ พินิจค้า มุ่งเน้นองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ให้เด่นชัดขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา หยิบเพียงเค้าโครงและแก่นเรื่องราวจากบทประพันธ์เดิมมาเป็นแรงบันดาลใจ และส่งตัวมณีจันทร์ ย้อนเวลากลับไปไกลกว่าปกติ ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ จุดเริ่มต้นของความพยายามเข้ามารุกรานสยามประเทศ ของสหราชอาณาจักร และประเทศฝรั่งเศส
“เพราะเราเชื่อมาตลอดว่า ‘แก่น’ ของนวนิยายทวิภพ นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราว ‘ความรักต่างมิติ’ หากแต่เป็น ‘การเสียดินแดนของสยาม จากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก'”
ร่วมงานพัฒนาบทภาพยนตร์กับ ปรามินทร์ เครือทอง นักเขียนอิสระทางประวัติศาสตร์ ชาวไทย ที่มีผลงานหนังสืออย่าง ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี, ท้าวทองกีบม้า มาดามฟอลคอน, กบฎเจ้าฟ้าเหม็น, Shutdown กรุงศรี ฯ ซึ่งหลังจากได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลมากมายระยะเวลากว่าปี พบเจอหลายๆเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่น่าสนใจ เลยนำมาต่อเติมเสริมแต่งเข้าไป ‘ทุกอย่างคือความจริง’
เมื่อนำเรื่องราวดังกล่าวไปพูดคุยกับเจ้าของบทประพันธ์
“ตอนแรกก็ไม่พอใจมาก ถึงขนาดโกรธเลยก็ว่าได้ แต่สุดท้ายผมก็เข้าไปคุยกับคุณทมยันตีเคลียร์ปัญหาคาใจทุกอย่าง แกได้ดูหนังแล้วในเวอร์ชั่นของผม มีทั้งตอนที่ไม่ชอบและชอบ ตอนที่ชอบก็เป็นฉากเกี่ยวกับความรัก ฉากกุ๊กกิ๊กของพระเอกนางเอก ซึ่งมันตรงใจแกมาก ผมรับรองกับแกว่าจะไม่ทำให้ชื่อของทมยันตีเสียหายแน่นอนกับหนังเรื่องนี้”
ผมไปอ่านเจอที่ไหนไม่รู้นะ บอกว่า คุณหญิงวิมลชื่นชอบ ทวิภพ ฉบับนี้มากๆ ยกย่องว่าดีที่สุดตั้งแต่เคยเห็นผลงานตนเองได้รับการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น
มณีจันทร์ (วนิดา ฟลอเรนซ์ เฟเวอร์) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับ ๖ สาขาประวัติศาสตร์ ประจำกงสุลไทย นครปารีส ถูกเรียกตัวด่วนค่ำคืนนั้น ในฐานะตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับประเทศสยาม สาเหตุจากการค้นพบบันทึกโบราณ Voyageur เขียนโดย Francois Xavier ในทัศนคติของเธอมันช่างเป็นสิ่งน่าหลงใหลเสียเหลือเกิน เป็นเหตุให้ล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนแห่งความลึกลับ เดินทางกลับประเทศไทย ครึ่งหลับครึ่งตื่นโดยไม่ล่วงรู้ตนเอง สามารถย้อนเวลาไปกลับสมัยรัชกาลที่ ๔, ประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๘ (ปีที่มีการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง)
ในตอนแรก มณีจันทร์ ย้อนเวลาไปอาศัยอยู่กับ หมอบรัดเลย์ หรือ Dan Beach Bradley (พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๒๔๑๖) แพทยศาสตร์บัณฑิต นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศสยาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อมาเปิดโอศถศาลา ริเริ่มต้นการพิมพ์อักษรไทย และทำการผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ไทยยุคแรกๆ
ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาค (พ.ศ. ๒๓๕๑ – ๒๔๒๕) สมุหพระกลาโหม รับทราบเรื่องดังกล่าวเข้า เชิญตัวมณีจันทร์ ให้มาพำนักอาศัยอยู่ในเรือน โดยมีหลวงอัครเทพวรการ (รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง) และหลวงราชไมตรี (พิเศก อินทรครรชิต) เป็นผู้คอยดูแลใกล้ชิดไม่ให้เพ่นพ่านคลาดสายตา เพราะไม่รู้ว่านางคนนี้ฝักใฝ่ฝ่ายไหน สยาม, สิงโต (อังกฤษ) หรือฝาหรั่ง (ฝรั่งเศส)
ระหว่างนั้นสยามประเทศต้อนรับเซอร์จอห์น เบาว์ริง, Sir John Bowring (1854 – 1859) ข้าหลวงแห่งฮ่องกง (1854 – 59) ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร (ครองราชย์ 1837 – 1901) เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ สร้างระบบการนำเข้า-ส่งออกใหม่ กลายมาเป็นสนธิสัญญาเบาว์ริง ลงนามวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘
ขณะที่ทางฝรั่งเศส ชนวนเหตุเริ่มต้น พ.ศ. ๒๔๐๘ ได้เกิดกรณีปากเสียงระหว่าง บาทหลวงโรมันคาทอลิก ชาวฝรั่งเศส ชื่อลามาช กับ พระยาวิเศษสงคราม โดยบาทหลวงได้บริภาษว่า ‘พระยาวิเศษเป็นคนโกหกตลบแตลง’ พระยาวิเศษได้บริภาษย้อนกลับไปว่า ‘บาทหลวงเองก็ตลบแตลงไม่ผิดกันเท่าใดดอก’ ทำให้บาทหลวงโกรธแค้น นำเรื่องไปฟ้องร้องต่อ Monsieur Gabriel Aubaret (1825-1894) กงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศสยาม ให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพื่อลงโทษโบยพระยาวิเศษ ซึ่งเมื่อนำหนังสือทูลถวาย ทรงทราบความแล้วมีรับสั่งให้กลับไปก่อนเพราะจวนใกล้ค่ำ แต่บาทหลวงกลับไม่ยินยอมพร้อมกล่าวคำบริภาษขู่อาฆาตด้วยถ้อยคำหยาบคาย นำความเท็จไปเล่าให้ Aubaret ซึ่งก็ได้ทำหนังสือขู่ อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ดูหมิ่นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และจะแวะไปไซง่อนก่อน เพื่อบอกให้แม่ทัพเรือนำกองทัพบุกสยามทันที เมื่อทรงทราบความรับสั่งให้หม่อมราโชทัย ไปชี้แจงให้รับทราบข้อเท็จจริง แต่ในทันทีที่พบเจอกัน ก็ตรงรี่เข้าจิกหัวลากถีบออกไปนอกประตูทันที
(ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แก้เกมด้วยการเร่งส่งหนังสือไปถวายต่อ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ชิงตัดหน้าก่อน Aubaret จะกลับถึงประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ทั้งนั้นกลับไม่ได้ถูกปลดจากการเป็นทูต หวนกลับมาเมืองไทย คราวนี้ไปขัดแย้งกับหมอบรัดเลย์ ต่อว่าที่ตีพิมพ์บทความลงหนังสือพิมพ์ในเชิงเสียๆหายๆ)
ความอาฆาตแค้นกงสุล Aubaret เป็นเหตุให้หลวงอัครเทพวรการ ต้องการเข่นฆ่ากำจัดภัยให้พ้นพาลแผ่นดินสยาม คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับมณีจันทร์ จะสามารถหาวิธีเกลี้ยกล่อมทัดทานได้หรือเปล่า เพราะครั้งหนึ่งเธอมีโอกาสพบเห็นอนาคต ความตายของ Aubaret ครั้งนั้น เป็นเหตุให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พบเห็นหอไอเฟลตั้งตระหง่านกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์, Vanida Florence Faivre (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๖) นักแสดง นางแบบหญิง ลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส สูง ๑๗๔ เซนติเมตร เข้าสู่วงการจากเป็นพิธีกร รายการ Teen Talk ทางช่อง ๕, แสดง Music Video เพลงขี้หึง วง Silly Fools, ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๒๗), โลงต่อตาย (พ.ศ. ๒๕๕๑), โกอินเตอร์มีบทสมทบเล็กๆใน The Devil Wears Prada (2006), ซีรีย์ Agents of S.H.I.E.L.D. ซีซัน ๕ ฯ
ด้วยความใคร่สนใจในบันทึกโบราณ Voyageur ของ Francois Xavier ที่ก็ไม่รู้ตกทอดจากโลกคู่ขนานหรือกระไร ทำให้ เมณี่/มณีจันทร์ รับรู้การมีตัวตนของ ‘คลื่นแห่งเวลา’ ผุบๆโผล่ๆครึ่งหลับครึ่งตื่น กระโดดไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน (ไม่จำเป็นว่าต้องผ่านทางกระจก หรือวัตถุโบราณใดๆ) และด้วยความที่เติบโตขึ้นต่างแดน พ่อ-แม่ไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแล กลายเป็นปมด้อยคิดว่าไม่มีใครรักใครห่วงหา เมื่อถูกกัดกันไม่ให้ข้องแว้งรังแต่จะต่อต้านให้ลุ่มหลงใหล ทุกครั้งที่เดินทางสลับภพไปมา มันต้องมีความว้าวุ่นวายเกิดขึ้นในจิตใจอยู่เสมอ
การคัดเลือกนักแสดง จะไม่เน้นมืออาชีพยอดฝีมือหรือมีชื่อในวงการ ขอแค่เพียงภาพลักษณ์ตรงตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ (หรือภาพวาดที่หลงเหลืออยู่) ซึ่งความเป็นลูกครึ่งของฟลอเรนซ์ เหมาะสมทุกประการกับการตีความหนังฉบับนี้ ขณะที่การแสดงนั้นไม่เท่าไหร่ เพราะไดเรคชั่นของผู้กำกับมิได้ต้องการขายฝีมืออยู่แล้ว แค่จริตท่วงท่า กิริยา สัมมาคารวะ ถูกต้องเพรียบพร้อมตรงตามยุคสมัย ก็เหลือเฟือเพียงพอน่าประทับใจมากแล้ว
รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๗) ชื่อเล่น เอก (เพราะมีลักยิ้มข้างเดียว) นักร้อง นักแสดงชาวไทย เกิดอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าสู่วงการจากละครโทรทัศน์ จำเลยรัก (พ.ศ. ๒๕๔๑), แจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๔๗), แม่นาค 3D (พ.ศ. ๒๕๕๕)
หลวงอัครเทพวรกร หนังฉบับนี้มาดคมเข้มจริงจัง ใจร้อนวู่วาม มีท่าทีเกลียดฝรั่งมังค่าชัดเจน จัดเป็น’คนหัวโบราณ’ ตั้งใจปลิดชีพทั้งเซอร์จอห์น เบาว์ริง และ กงสุลโอบาเรต์ แต่ได้รับคำยับยั้งทัดทานจาก มณีจันทร์ ทำให้สามารถหักห้ามชะล่าใจตนเอง ด้วยเหตุนี้กระมังเลยค่อยๆตกหลุมรักคลั่งไคล้หญิงสาว ก็ไม่รู้ได้มีโอกาสครองคู่แต่งงานกันหรือเปล่า แต่อุดมการณ์ชาตินิยมทำให้เสียสละชีพในสงครามช่วงท้าย
คงเพราะผู้ชมส่วนใหญ่รับรู้ว่า หลวงอัครเทพวรกร ต้องครองรักกับ มณีจันทร์ หนังเลยลดทอนช่วงเวลากุ๊กกิ๊กโรแมนติกของทั้งคู่ลง พบเห็นบ้างประปรายแบบมองตาเข้าใจ และการเสียสละตอนท้าย คนส่วนใหญ่อาจดูไม่รู้เรื่อง แต่เป็นการหักมุมที่ผมเองยังร้องอ่าว! ไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอนในโลกใบนี้ ทิ้งไว้ด้วยวลีเด็ดพร่ำเพรื่อ
“ข้าเกิดที่แม่น้ำสายนี้ และข้าก็จะขอตายที่แม่น้ำสายนี้”
พิเศก อินทรครรชิต (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๘) ชื่อเล่น ต้น นักร้อง นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ โตขึ้นครอบครัวส่งไปเรียนต่ออเมริกา จบการสื่อสารองค์กรจาก Hawaii Pacific University, เข้าสู่วงการจากบทโฆษณา แดนซ์ โคโลญจน์ แจ้งเกิดดาวรุ่งจาก บางกอก แดนเจอรัส (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๗ ประจัญบาน (พ.ศ. ๒๕๔๕), มหาอุตม์ (พ.ศ. ๒๔๕๖), ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฯ ปัจจุบันห่างหายจากวงการบันเทิง ช่วยครอบครัวบริหารงานธุรกิจ มีหุ้นส่วนในอสังหาริมทรัพย์ และบริหารงานบริษัทยาสีฟัน วิเศษนิยม
รับบทหลวงราชไมตรี ชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นมิตร นิสัยความคิดเลยตรงกันข้ามกับเพื่อนสนิท หลวงอัครเทพวรกร เป็นคนสงบสุขุมลุ่มลึก ใช้สติปัญญาไตร่ตรองการต่างๆได้อย่างรอบคอบ ถือเป็น’คนหัวใหม่’พอสมควร เห็นว่าก็แอบมองตกหลุมรัก มณีจันทร์ อยู่เช่นกัน แต่เพราะความไม่ชอบเปิดเผยตัวตนออกไป เลยจำต้องยอมหลีกทางให้เพราะแทบไม่มีโอกาสชิดใกล้
ความจริงจังขึงขังจอง พิเศก ดูเข้มข้นรุนแรงกว่า รังสิโรจน์ ทำให้เวลาพูดคำออกจากปาก เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกบางอย่างแฝงอยู่ มิอาจปกปิดกลั้นอารมณ์ของตนเองหลบซ่อนเร้นไว้ภายใน
ถ่ายภาพโดย ชูชาติ นันทิธัญญธาดา,
การมาถึงของ Computer Graphic สำหรับสร้างภาพพิเศษ (Visual Effect) เราจึงสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งกับ Landscape Shot หรือ Panoramic Panning Shot ทิวทัศนียภาพของกรุงเทพ/บางกอก จากทั้งสองยุคสมัยซ้อนทับกันได้อย่างลงตัว
ขณะที่ไดเรคชั่นการถ่ายภาพ จะมุ่งเน้นเก็บรายละเอียดระยะประชิดติดใบหน้า Close-Up Shot เพื่อให้พบเห็นปฏิกิริยาแสดงออกอย่างชัดเจน แต่จะไม่ใช่แค่นักแสดงหลักๆเท่านั้น ตัวประกอบสมทบผู้โชคดีก็มักได้รับโอกาสติดกล้องพบเห็นได้บ่อยครั้ง … ไดเรคชั่นดังกล่าวนี้ถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน Pier Pablo Pasolini ที่มีความเชี่ยวชาญถ่ายทำหนังย้อนยุค (สมัย Italian Renaissance) แต่ใช้พื้นหลังยุคสมัยปัจจุบัน มีลักษณะคล้าย Italian Neorealism
และหนังเต็มไปด้วยภาพเชิงสัญลักษณ์ Abstraction มากมาย ทั้งที่เป็นวัตถุ/ภาพวาด-คำพูด-ความคิด (กาย-วาจา-ใจ) จับต้องได้-ไม่ได้ บางอย่างปรากฎเวียนวนซ้ำไปซ้ำมาย้ำคิดย้ำทำ เพื่อมุ่งเน้นเตือนสติให้ครุ่นคิดถึงสาเหตุผลของการที่ผู้สร้างแทรกใส่เข้ามา
ดอกกุหลาบแห่งความรัก นี่น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนกระจก (ในทวิภพ ฉบับอื่นอื่นๆ) คือชนวนเหตุทำให้ เมณี่/มณีจันทร์ สามารถเดินทางผ่านคลื่นแห่งกาลเวลา ผลุบๆโผล่ๆอดีต-ปัจจุบัน ได้ดั่งใจฝัน ซึ่งเจ้าภาพวาดกุหลาบนี้ แทบทุกครั้งพบเห็นหมุนวนเวียน (ย้อนเวลา) และบางครั้งเป็นการโรยกลีบกุหลาบจริงๆ (จากนามธรรม แปรสภาพเป็นรูปธรรม)
แซวเล่นๆนะ: ตัวอักษรภาษาฝรั่งเศษที่รายล้อมรอบดอกกุหลาบ ทำให้ผมนึกถึงแหวนครองพิภพ (Lord of the Rings) ซึ่งมันก็มีพละพลังอำนาจ แรงดึงดูดบางอย่าง ให้ผู้ครอบครองลุ่มหลงใหลในตัวมัน
พูดถึง Abstraction ของหนัง เจอช็อตนี้เข้าไปร้ายกาจไม่ใช่ย่อย! เพราะการถ่ายฉากอาบน้ำมักไม่ค่อยผ่านกองเซนเซอร์(ไทย) ก็เลยลวดลีลาด้วยการใช้ภาพวาดก็อกน้ำ กระจก สบู่ ยื่นมือเอื้อมมาหยิบผ้าเช็ดมือ และกล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไป
ในช่วงแรกๆของความสับสนอลเวง ครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่รู้ว่าตนเองอยู่ภพไหนเมื่อไหร่ปี พ.ศ. อะไร มันก็เลยมีช็อตนี้ที่ภาพสะท้อนในกระจก แตกต่างตรงกันข้ามกับภาพความเป็นจริง อดีต-ปัจจุบัน
ฉากนี้ถ้าเป็นสมัยก่อนคงวุ่นวายเป็นบ้า แทบที่จะใช้กระจกอาจต้องเป็น Blue-Screen หรือใช้การตัดฟีล์มซ้อนอีกภาพตรงข้ามเข้าไป แต่สมัยนี้ถ่ายทำสองรอบแล้วใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสักหน่อย สะดวกง่ายขึ้นกว่าเก่าเป็นกองๆเลย
เช่นเดียวกันกับความน่าพิศวงของฉากนี้ แค่เดินข้ามผ่านจากห้องหนึ่งไปห้องหนึ่ง พบเห็นอดีต-ปัจจุบัน สลับกันไปมา, ถ้าเป็นสมัยก่อนคงใช้วิธีสร้างบ้านที่สามารถยกผนังพื้นหลังออกได้ พอเดินเปลี่ยนห้องก็ให้ทีมงานช่วยกันขนย้าย แต่สมัยนี้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยคงไม่น่าวุ่นวายสักเท่าไหร่
Landscape Shot หรือ Panoramic Shot ไม่ได้จำเป็นต้องสมจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีการที่หนังใช้คือการนำภาพถ่าย/ภาพวาด ของเมืองไทยสมัยก่อนยุครัชกาลที่ ๔-๕ มาเป็นต้นแบบ จากนั้นก็ซ้อนทับด้วยภาพวาด/สร้างโมเดลจำลอง ใส่แสงสีสัน นกบิน ควัน ผู้คน ให้ดูมีความเหมือนเท่านั้นก็เกินพอ
ขณะที่ พ.ศ. ปัจจุบัน โทนสีของภาพจะมีความสดใสหลากหลาย แต่เมื่อใดย้อนกลับสู่อดีต บางครั้งฉากในห้องจะใช้เพียงแสงเทียนสีทองเหลืองอร่าม และเงามืดปกคลุมฉากเป็นส่วนใหญ่ (จัดเป็นภาพ Low Key)
ค่อนข้างดูอาร์ทสักนิด แต่ทุกๆฉากที่ถ่ายทำลักษณะนี้ แฝงนัยยะถึงแสงแห่งความสุขสว่างช่างมีน้อยนิด ขณะที่ความมืดส่วนใหญ่เข้าคืบคลานปกคลุม และในช็อต Close-Up มักที่จะครึ่งหนึ่งอาบแสงเทียน อีกครึ่งหนึ่งปกคลุมด้วยเงามืด ภายในคลุ้มคลั่งอยากทำอะไรสักอย่าง แต่ต้องแสดงออกให้ดูเหมือนเป็นผู้มีความศิวิไลซ์ต่อสายตาชาวโลก
นี่เป็นฉากไร้ซึ่งความหมายใดๆกับบุคคลผู้ไม่ใช่ชาวไทย เริ่มต้นจาก ทำนองเพลงสดุดีมหาราชาล่องลอยมา ** นายทหารสั่งให้ชาวบ้านหมอบกราบลงกับพื้น เศวตฉัตรนำทาง นี่คือกระบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์ ขณะนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
แอบสงสัย: เพลงสดุดีมหาราชา ของรัชกาลที่ ๙ เท่านั้นไม่ใช่รึ? แต่หนังนำมาใช้แค่ท่อนแรกนะครับ ไม่ใช่ทั้งเพลง ก็พอยินยอมรับได้กระมัง
นับเป็นความกล้าหาญของผู้สร้างในการแทรกใส่ฉากเล็กๆนี้เข้ามา คงมีเพียงชาวไทยเท่านั้นกระมังที่จะขนลุกซู่ด้วยความซาบซ่านซึ้งใจ โอกาสน้อยนักจะได้พบเห็นพระพักตร์พ่อหลวง แถมเคลื่อนไหวได้ด้วย และยิ่งช่วงท้าย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) แค่เพียงไกลๆและเงามืด อาจทำให้หลายคนถึงขนาดน้ำตาเล็ดไหล
เกร็ด: ฉากกระบวนเสด็จทางสถลมารค นำจากภาพถ่ายโดยพระบรมราชุญาตในรัชกาลที่ ๔ เมื่อคราวเสด็จทอดกฐินที่วัดพระเชตุพนฯ ในช่วงเช้า พอถ่ายภาพเสร็จก็ให้พระองค์ทรงตรวจดูความเรียบร้อยงดงามสมพระเกียรติยศ แล้วช่วงบ่ายจึงทรงเสด็จไปทอดกฐินอีก ๒-๓ แห่งรอบพระนคร
ฉากต้อนรับเซอร์จอห์น เบาว์ริง จับมือกับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คงเป็นการซ้อนภาพวาดเรือสำเภาด้านหลัง และเน้นช็อตถ่ายระยะไกลๆพบเห็นด้านข้างของทั้งคู่ ต่างยึดถือมั่นในศักดิ์ตัวตนเอง ไม่เกรงขามอ่อนข้อให้อีกฝั่งฝ่าย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทีมีพระอัจฉริยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก พระราชกรณียกิจที่สำคัญนอกจากสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ได้อย่างแม่นยำเร็วกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง ๒ วินาที ยังคือการที่ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศสยาม หรือที่เราเรียกกันว่า Bangkok Mean Time ก่อนชนชาติใดๆในโลก
พ.ศ. ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ณ บริเวณสวนขวา แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ถึงแก่พิราลัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างต่อมา โดยมีกรมหมื่นราชสีหวิกรม (พระยศในขณะนั้น) เจ้ากรมช่างสิบหมู่ เป็นนายช่างก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ พระราชทานนามหมู่พระราชมณเฑียรนั้นว่า “พระอภิเนานิเวศน์” ทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรและขึ้นประทับเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๐๒
พระอภิเนานิเวศน์ ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ หลายองค์ องค์หนึ่งคือ “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” ตั้งอยู่ด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม(เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งตึกสูง ๕ ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับที่ ๓๐๖, พ.ศ. ๒๔๑๑
“…จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว…”
และด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ได้ทรงกำหนดให้เส้นแวง ๑๐๐ องศา ๒๙ ลิปดา ๕๐ ฟิลิปดา ตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และได้โปรดฯ ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรก คือตำแหน่งพันทิวาทิตย์ มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ โดยสังเกตจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่เคลื่อนผ่านเมอริเดียนของสถานที่สังเกตการณ์ของบุคคลทั้งสอง ซึ่งก็คือ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย และจากการที่ทรงได้สังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามานานหลายปี ทรงพบว่าการขึ้น-ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่างๆนั้น แตกต่างกันที่หอนาฬิกาหลวงจึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกๆ วัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวงตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นเวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Bangkok Mean Time ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช ๖ ชั่วโมง ๔๒ นาที ดังนั้นประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ และได้มีการออกพระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล จึงนับได้ว่าประเทศไทยมีเวลามาตรฐานอย่างถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์เป็นชนชาติแรกของโลก ก่อนหน้ารัฐสภาอังกฤษที่เพิ่งจะมีการออกพระราชบัญญัติเวลามาตรฐานเมื่อปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. ๒๔๒๓) และในปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. ๒๔๒๗) นักดาราศาสตร์จึงได้ตกลงกันกำหนดเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิชเป็นเส้น ๐ องศา เพื่อใช้เทียบเวลาโลก
น่าเสียดายที่พระที่นั่งภูวดลทัศไนย และหอนาฬิกาสมัย รัชกาลที่ ๔ แห่งนี้ ต่อมาถูกรื้อทิ้งเพราะความทรุดโทรม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕ ) ทรงโปรดให้สร้างใหม่ด้วยสไตล์ยุโรป เพื่อจะได้เป็นที่เสด็จออกมหาสมาคม และรับรองแขกต่างประเทศได้อย่างสมพระเกียรติยศ ตั้งชื่อว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม
reference: https://th.wikipedia.org/wiki/พระอภิเนาว์นิเวศน์
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นครั้งสองถัดจากสมเด็จพระนารายณ์ทรงโน้มกายรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จากมือของ Chevalier de Forbin ราชทูตฝรั่งเศส เมื่อพ.ศ. ๒๒๒๘
เห็นว่าฉากท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้คือเริ่มต้นจากศูนย์คือไม่มีอะไรเลย จินตนาการสร้างขึ้นใหม่หมด โดยอาศัยอ้างภาพถ่าย/ภาพวาด คาดคะเนเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งหนึ่งในนักออกแบบงานสร้าง ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน์ ยังได้มีโอกาสทำละคร บุพเพสันนิวาส (พ.ศ. ๒๕๖๑) ฉากพระนารายณ์รับพระราชสาสน์ ช่างมีความละเมียดละไม งดงามประณีตระดับวิจิตร
ไดเรคชั่นของฉาก เริ่มต้นเก็บรายละเอียดของพระที่นั่ง พระสาสน์ ขุนนางต่างๆ กล้องเคลื่อนไหลโฉบเฉี่ยวไปมา เมื่อขณะเซอร์จอห์น เบาว์ริง ถวายพระราชสาสน์ แลกเปลี่ยนพระวาจาเล็กน้อย มีการแทรกภาพคนแปลภาษา ตัดให้เห็นปฏิกิริยาใบหน้าขุนนาง ซึ่งก็มีทั้งเห็นชอบด้วยและไม่พึงพอใจสลับไปมา และเพลงมาร์ชประจำชาติอังกฤษ God Save the Queen (เริ่มใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1745)
ภาพถ่ายของมณีจันทร์ โดย หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) หรือ นายจิตร หรือ ฟรานซิส. จิตร (พ.ศ. ๒๓๗๓ – ๒๔๓๔) ช่างภาพอาชีพคนแรกชาวไทย เป็นผู้เปิดร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นแห่งแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ บริเวณเรือนแพหน้าวัดกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี (ปัจจุบันคือ วัดซางตาครู้ส) ร่วมกับนายทองดี บุตรชาย ชื่อ ร้านฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน
ขณะที่เซอร์จอห์น เบาว์ริง แม้จะเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตน ไม่ขอปลดกระบี่ขณะเข้าเฝ้าส่งมอบพระสาสน์ แต่ยังถือว่ามาดีด้วยมิตรไมตรีต่อสยามประเทศ ตรงกันข้ามกับทูตฝรั่งเศส Monsieur Aubaret ปรากฎภาพช็อตแรกของชายผู้นี้ ร่างกายเปลือยเปล่าขณะอาบน้ำท่า สะท้อนความอัปลักษณ์พิศดารทางจิตใจ หาคุณประโยชน์ความดีงามไม่ได้เลยสักนิด
พ่อของเมณี่ (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ฝากให้ลูกสาวซ่อมวิทยุ จบวิศวะมาหรือไง? นี่เช่นกันแฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์ ก่อนหน้าที่หญิงสาวจะบังเอิญทำผิดพลาดเปลี่ยนแปลง ‘ซ่อม’ ประวัติศาตร์ ทำให้เมื่อหวนกลับสู่ปัจจุบันพบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่น่าเป็นได้ สื่อความถึงว่า บางสิ่งบางอย่างพังแล้วซ่อมไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปกลไกตามธรรมชาติ (จนถึงตอนจบ มณีจันทร์ ก็มิมีโอกาส/สามารถซ่อมวิทยุเครื่องนี้ได้สำเร็จ)
ทำไมถึงต้องเป็นวิทยุ? เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่มีคลื่นความถี่ สามารถปรับจูนเปลี่ยนแปลงรับส่งสัญญาณ ไม่ต่างอะไรกับ ‘คลื่นแห่งกาลเวลา’ ที่นางเอกว่ายเวียนวนครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่
ช็อตเชิงสัญลักษณ์ของการแบ่งเค้ก สื่อนัยยะตรงๆถึงความต้องการของ อังกฤษ-ฝรั่งเศส ครอบครองเป็นเจ้าของสยามประเทศ ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเขตกั้น แบ่งกันคนละฝั่งฝ่าย
การจัดแสงเงา ภาพมุมก้มของช็อตนี้ มอบสัมผัสนัวร์ของความชั่วร้าย ก็เพราะท่านทูตฝรั่งเศส Aubaret เรียกได้ว่าเป็นมารผจญของสยามประเทศ ชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้ง สร้างความปั่นป่วนนับครั้งไม่ถ้วน นิสัยปลิ้นปล้อนกะล่อนกลับกลอกเช่นนี้นะหรือ ที่ผู้คนสมัยนี้ต่างยกย่องนับถือเชิดชู
ปล่อยให้มันสะดุดเท้าล้มลงขายหน้าตัวเองนะแหละ คือสิ่งที่สักวัน(หวังว่า)ประเทศเหล่านี้จักเกิดสำนึกรู้ตนเอง ว่าที่เคยกระทำจากอดีตมานั้นเป็นสิ่งชั่วช้าสามาลย์
ให้ข้อสังเกตนิดนึงก่อนถึงช็อตนี้ บทเพลง Offenbach: Can-Can พร้อมสาวๆกำลังเต้นรำอยู่บนเวที จังหวะเร้าใจไฮไลท์คือเปิดกระโปรงโชว์บั้นท้าย เรียวขา กระโดดเตะสูง ซึ่งจะมีขณะหนึ่งก่อน Monsieur Aubaret จะล้มลง แทรกภาพ Montage Shot เปิดก้นของสาวๆ สื่อความหมายตรงๆว่าไอ้หมอนี่แม้งตูดสังคมชัดๆ
หอไอเฟล ตั้งตระหง่านกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา นี่คือสิ่งโคตรทะเยอทะยานของหนัง ผมไม่ค่อยขนลุกเท่าไหร่แต่คนอินมากๆคงสั่นสะท้าน เป็นแนวคิดสุดโต่งมากๆถ้าประวัติศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วสยามประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เจ้าสิ่งก่อสร้างนี้เชิงสัญลักษณ์นี้ เงาของมันได้อาบลงบนผืนแผ่นดินไทย แทบจะเป็นตราบาปตกทอดสู่รุ่นลูกหลานให้อับอายขายขี้หน้าประชาชี
ช่วงท้ายของหนัง เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ค่อนข้างเร่งรีบรัดตัดตอนไปเสียหน่อย ร้อยเรียงฉากต่อช็อตเพื่อตัดข้ามมาขณะ มณีจันทร์ สูญเสียคนรักหลวงอัครเทพวรการ ไปกับการสงคราม (ครั้งไหนไม่ทราบได้ เพราะนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์) ภาพถ่ายย้อนแสงทำให้มองเห็นแต่เงามืดมิดสนิทและฝุ่นควัน นี่คือเบื้องหลังประวัติศาสตร์ ความเสียสละของบรรพบุรุษเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของสยามประเทศ แม้รู้ว่าตัวเองอาจต้องตาย ก็ไม่มีอะไรบั่นทอนความเชื่อมั่นตั้งใจได้อย่างแน่นอน
ทิ้งท้ายกับ Ending Credit บางคนอาจมองเห็นเหมือนรูปแจกัน แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่ามองออกเป็นใบหน้าคน เริ่มต้นจากจุมพิตแล้วค่อยๆแยกจากกัน อดีต-ปัจจุบัน ชาย-หญิง สองฝั่งแม่น้ำ อังกฤษ-ฝรั่งเศส ฯลฯ ก็อยู่ที่ว่าคุณจะครุ่นคิดตีความไปเอง
ตัดต่อโดย สุรพงษ์ พินิจค้า ถ้าผู้กำกับไม่ตัดเองก็กระไรอยู่,
แทบทั้งหมดของหนังดำเนินเรื่องในมุมมองของ เมณี่/มณีจันทร์ แต่ด้วยลีลาครึ่งหลับครึ่งตื่น ตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน หลายครั้งด้วยลักษณะช็อตต่อช็อต คู่ขนานต่อเนื่องกันไป จนเกิดความกลมกลืนแบ่งแยกแทบไม่ออก ผู้ชมสามารถสังเกตอย่างตั้งใจ หรือปล่อยให้เรื่องราวเคลื่อนไหลต่อเนื่องไปเอง ก็น่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง
ฉากไหนที่การตัดต่อไม่ได้สลับไปมาระหว่างสองช่วงเวลา ก็ใช่ว่าจะมีการแช่ภาพทิ้งไว้นานๆ ALS (Average Shot Length) ของหนัง ดูแล้วไม่น่าเกิน ๓-๔ วินาที ต้องมีการสลับสับเปลี่ยนมุมมองภาพ แทรกใส่ Montage Shot หรือใบหน้าตัวประกอบ เพื่อเก็บรายละเอียด/ปฏิกิริยา ทุกสิ่งอย่างโดยรอบให้ครบถ้วนทั่ว
หนังมี Delete Scene ค่อนข้างเยอะ สำหรับคนยังไม่มีโอกาสรับชม Director’s Cut หนึ่งในนั้นคือ Anna Leonowens (1831 – 1915) หรือ แหม่มแอนนา พระอาจารย์ฝรั่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จริงๆเธอเขียนหนังสือชื่อ The English Governess at the Siamese Court (1870) แต่ได้รับการดัดแปลงเป็นนิยายขายดี Anna and the King of Siam (1944) โดย Margaret Landon และกลายเป็นละครเพลง/ภาพยนตร์เรื่อง The King and I (1956)
เพลงประกอบโดย มงคล พงษ์วชิรินทร์ นักทำเพลงคู่บุญของ Film Bangkok ผลงานเด่น อาทิ บางกอกแดนเจอรัส (พ.ศ. ๒๕๔๓), Goal Club เกมล้มโต๊ะ (พ.ศ. ๒๕๔๔), พรางชมพู กะเทยประจัญบาน (พ.ศ. ๒๕๔๕), เราสองสามคน (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ
ลักษณะของเพลงประกอบ เลือกใช้ความร่วมสมัยและหลากหลาย ทั้งเพลงไทย คลาสสิก สากล แต่จะออกทางฝั่งยุโรปสักหน่อย ติดกลิ่นอายฝรั่งเศสเล็กๆ และเลือกใช้หลายบทเพลงมีชื่อนำมาเรียบเรียงดัดแปลง อาทิ
Theme Song ของหนัง ดัดแปลงจากเพลง Close Every door จากละครเพลงเรื่อง Joseph and the Amazing Technicolor Dreamcoat (1970) แต่งคำร้องโดย Tim Rice ทำนองโดย Andrew Lloyd Webber
บทเพลงช่วงท้ายของหนัง นำจาก Pie Jesu (Latin: Pie Iesu) เป็น Motet ซึ่งมาจากบทสุดท้ายของเพลงสวดสรรเสริญชื่อ วันพระพิโรธ (Dies Irae) มักใช้เป็นตอนหนึ่งของการสวดศพ ฉบับป็นที่รู้จักมากที่สุดคือการประพันธ์ของ Gabriel Urbain Fauré (1845 – 1924) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Trois mélodies, Clair de lune
แต่ฉบับที่ใช้ในหนังคือ Pie Jesu (1985) ประพันธ์โดย Andrew Lloyd Webber (เกิดปี 1948) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ
ถ้าเป็นทวิภพ ฉบับปกติ/นวนิยายของทมยันตี ใจความหลักคือการสร้างจิตสำนึกให้เกิดความโหยหา หวนระลึก รักชาตินิยมไทย มองสะท้อนผ่านกระจกแห่งกาลเวลา ยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ บรรพบุรุษของชาวเราพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อปกป้องเขตดินแดน สูญเสียแค่บางส่วนก็แทบหมดอาลัยตายอยาก แต่ไฉนชาวเราปัจจุบัน กลับสูญเสียจิตวิญญาณขนบวิถี ‘ความเป็นไท’ ไปให้กับชาติตะวันตกจนแทบหมดสิ้นแล้ว
แต่เมื่อ The Siam Renaissance ไม่ได้นำเสนอประเด็นหลักสูญเสียดินแดน ร.ศ. ๑๑๒ มณีจันทร์ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านั้น ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มีหน้าที่เสมือนกันชนระหว่างสองชาติ สหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส เฉกเช่นเดียวกับชายเพื่อนสนิทสองคน หลวงอัครเทพวรกร-หลวงราชไมตรี ต่างก็ตกหลุมรักหลงใหลหญิงสาวลูกครึ่งผู้มากด้วยความลึกลับพิศวง ซึ่งการทีหนังจบลงที่ แม่มณีสวมชุดดำไม่ได้ครองรักกับใคร ก็ราวกับว่าไม่ใช่ชนชาติไหนได้ครอบครองเป็นเจ้าของเธอ ไม่เคยสูญเสียอิสรภาพ/เอกราช/ความบริสุทธิ์ให้ใคร อยู่ยงเป็นไท ตราบวันสิ้นสูญ
(ผมอาจตีความผิดก็ได้นะ เพราะความตั้งใจของผู้กำกับจริงๆไม่ได้อยู่ฉบับนี้ แต่คือ Director’s Cut ที่ยังไม่มีโอกาสรับชม ไว้หามาดูได้อาจกลับมาปรับแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง)
คำกล่าวที่ว่า ‘ข้าเกิดที่แม่น้ำสายนี้ และข้าก็จะขอตายที่แม่น้ำสายนี้’ น่าจะสื่อถึง ‘ข้าเกิดบนผืนแผ่นดินไท ก็จะขอยอมตายบนแผ่นดินสยาม’ เสียมากกว่า กระนั้นเมื่อเปลี่ยนคำจากแผ่นดินเป็นสายน้ำ อาจจะสื่อถึงกาลเวลา เคลื่อนไหลผ่านไปแล้วไม่มีทางย้อนหวนกลับคืนมา กล่าวคือ เกิดยุคสมัยนี้ก็ขอตายในยุคสมัยนี้ ซึ่งผิดแผกแตกต่างจากมณีจันทร์ เธอเกิดในอนาคตแต่กลับย้อนเวลาสู่อดีต ซึ่งการตัดสินใจเลือกของเธอคือตายที่นี่ ไม่ขอกลับสู่ปัจจุบัน
ในบทความที่วิเคราะห์ถึง ทวิภพ ฉบับ Director’s Cut หลังจากมณีจันทร์ฟังคำพร่ำเพรื่อของท่านขุน พูดสวนกลับประมาณว่า
“สรุปแล้ว คนอย่างฉันควรจะอยู่ตรงไหนของสายน้ำกันแน่?”
นี่ย่อมเป็นการตั้งคำถามถึงตนเอง ว่าฉันควรจะเลือกอดีตหรือปัจจุบัน? ระหว่างโลกที่ไม่ใช่ของฉันแต่จิตใจปรารถนาโหยหา หรือ ยุคสมัยของฉันที่ไม่เคยมีใครมอบความรักต้องการเอ็นดู
การตัดสินใจเลือกมณีจันทร์ฉบับนี้ ทอดทิ้งปัจจุบันได้อย่างไม่ยากเค้นสักเท่าไหร่ (ฉบับครูเชิด ร้องร่ำไห้แทบเป็นแทบตาย) นั่นเพราะเธอไม่มีอะไรหลงเหลือให้ยึดติด พ่อ-แม่ต่างเลิกร้างราแยกกันอยู่ สะท้อนเข้ากับสภาพสังคมยุคสมัยนี้ ครอบครัวมักไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่ลูกๆกันแล้ว รักๆเลิกๆเบื่อเมื่อไหร่ก็หย่าร้างเปลี่ยนผัวเมีย ทำให้เด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้นเป็นปัจเจกบุคคล ไม่สนอะไรอื่นนอกจากความสุขส่วนตนเอง
สูตรสองของหนังเรื่องนี้ อดีต-ปัจจุบัน, เมณี่-มณีจันทร์ (ลูกครึ่งฝรั่งเศส), ครึ่งหลับครึ่งตื่น, อังกฤษ-ฝรั่งเศส, หลวงอัครเทพวรกร-หลวงราชไมตรี, อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม, ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, หยิน-หยาง ฯ ต่างชี้ชักนำพาให้เราต้อง ‘เลือก’ ฝักใฝ่อะไรบางอย่าง แต่มันมีความจำเป็นจริงๆนะหรือ?
คำตอบคือไม่นะครับ อ้างพุทธศาสนานั่นยังมีทางสายกลาง และไม่ยึดติดฝั่งฝ่ายใด ซึ่งก็อาจโดยไม่รู้ตัวหรอก นี่เป็นสิ่งซึมซับซาบเข้าไปในจิตวิญญาณของชนชาวไทย ก็ขนาดว่านโยบายของประเทศสยาม ครุ่นคิดโดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บรรดาพวกฝาหรั่งเกลียดกันหนักหนาคือ ‘เหยียบเรือสองแคม’
“…ถ้าหากเราพบบ่อทองในประเทศของเราพอที่จะซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไหร่ก็ได้ อาวุธชนิดเดียวที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตคือวาจาและหัวใจของเราอันกอปรด้วยสติและปัญญา”
– มงกุฎ ป.ร.
แซวเล่นๆ: ประเทศไทยเราเอาตัวรอดจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง ก็จากนโยบาย เหยียบเรือสองแคม เช่นกัน
เราไม่ต้องไปใคร่สนใจมหาอำนาจเหล่านั้นมากหรอกนะ เกมการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด คือการไม่เอื้ออำนวยต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป เปิดอิสระและคบหาได้หมด เวลาเกิดสงครามความขัดแย้งก็วางตัวเป็นกลาง ใครแพ้ชนะเราไม่เสียประโยชน์เป็นพอ นี่คือกลยุทธ์ถือว่า ‘ชาญฉลาดที่สุดในโลก’
มีกระทู้คำถามใน pantip อาณาจักรไหนที่ชาติมหาอำนาจล่าอาณานิคมได้ยากสุด? ลองเข้าไปอ่านเหตุผลใน Top Comment อาจจะดูเข้าข้างตนเองไปสักหน่อย แต่ก็จริงตามคำกล่าวอ้างนะแหละ เก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจลึกๆ เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้โชคดีที่สุดแล้ว
Link: https://pantip.com/topic/35662307
เมื่อย้อนไป พ.ศ. ที่มีการสร้างหนังเรื่องนี้ อยู่ในช่วงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำนายทุน บริหารประเทศโดยใช้หลักเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ มุ่งตักตวงผลประโยชน์มหาศาลใส่ตนเอง ก่อให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยหน่ายให้ประชาชนชั้นกลางของประเทศที่เริ่มรับรู้เห็นความคอรัปชั่นคดโกงกิน แต่ก็ยังอีกหลายปีกว่าจะถึงการปฏิวัติยึดอำนาจขับไล่ สร้างความสูญเสียหายให้กับประเทศชาติ ทั้งๆที่ไม่ได้รบรุกรานกับใครไหน มอดไหม้ป่นปี้ก็จากภายในกันเองนี่แหละ
ช่วงที่ออกฉาย กระแสหนังไทยแนวอนุรักษ์นิยมกำลังมาแรง บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๔), สุริโยทัย (พ.ศ. ๒๕๔๔) ปีเดียวกันนี้ยังมีอีกเรื่องออกฉายไล่เรี่ย โหมโรง ซึ่งในตอนแรกแทบจะไม่มีคนดูในโรง แต่เมื่อผู้กำกับออกมาตัดพ้อจนเกิดกระแสปากต่อปาก กลายเป็นว่าประสบความสำเร็จทำเงิน พอดิบพอดีในช่วงเวลาที่ ทวิภพ ลงโรงเดือนเดียวกัน กลายเป็นว่าเรื่องนั้นคืนทุนทำกำไรได้ แต่เรื่องนี้ขาดทุนย่อยยับเยินแทบล้มละลาย
นั่นสร้างความรวดร้าวทุกข์ทรมานให้กับโปรดิวเซอร์ อังเคิล ถึงขนาดเขียนกระทู้ระบายความน้อยใจลงใน pantip.com ปรากฎว่าได้รับการเสียงต่อต้าน แขวะรำคาญ ถ่มถุย เพราะดันไปสาดโคลนเทสี กึ่งๆป้ายความผิดถึงสาเหตุที่หนังตนเองเจ๊งให้ โหมโรง เป็นเหตุให้เกิดกระทู้ดราม่าขึ้นมากมายในสมัยนั้น (ปัจจุบันสูญหายแทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว) คุณอังเคิล ก็ออกมาชี้แจงขอโทษ แต่ก็ไม่มีใครใคร่รับฟังเท่าไหร่
Link: http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A2716636/A2716636.html
เข้าชิง ๘ สาขา คว้ามา ๒ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๔ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗
– นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์)
– กำกับภาพยอดเยี่ยม
– ลำดับภาพยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– การสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม
– แต่งหน้ายอดเยี่ยม
เนื่องจากสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ไม่ได้มีการประกาศรายชื่อเรื่องที่เข้าชิง ดูแล้วก็น่าจะมีแนวโน้มสูงอยู่ ขณะที่ผู้ชนะคือ โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗)
ถือเป็นปีทองของวงการหนังไทย มีเด่นๆหลายเรื่องทีเดียว อาทิ โหมโรง, เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก, มหานคร, ไอัฟัก, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ นี่ยังไม่รวม สัตว์ประหลาด ที่ไปคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes มาด้วยนะ
ผมอยากจะตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ แต่ติดขัดที่ยังมีอีกหลายจุดไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าฉบับ Director’s Cut สามารถตอบโจทย์หลายๆข้อนั้นได้ ก็มีแนวโน้มน่าจะสามารถคลี่คลายเติมเต็มความรู้สึกขาดๆหายๆ ตอนนี้คงแค่ชื่นชอบไว้ก่อน พบเจอโอกาสค่อยหวนกลับมาว่ากันอีกที
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำชนชาวไทย เปิดใจออกเพื่อตระหนักรู้ถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ พบเห็นคุณค่าของบรรพบุรุษ เกิดความภาคภูมิใจในชาติบ้านเมือง และเอกราขเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมชาติอื่นใด
โดยเฉพาะนักเรียนภาพยนตร์ ทำงานเบื้องหลัง ผู้กำกับ นักออกแบบศิลป์ ถ่ายภาพ ตัดต่อ เพลงประกอบ มีความทรงคุณค่าในแง่ศิลป์เป็นอย่างมาก, และนักอ่านนวนิยาย ทมยันตี เปิดใจในการตีความ แล้วจะพบเห็นโลกทัศน์ใหม่
จัดเรต 15+ บรรยากาศอันตึงเครียด คำพูดจาดูถูกถากถาง พฤติกรรมแสดงออกแฝงความรุนแรงอยู่ภายใน
Leave a Reply