ทองปาน (พ.ศ. ๒๕๑๙) : ไพจง ไหลสกุล, สุรชัย จันทิมาธร, ยุทธนา มุกดาสนิท, รัศมี เผ่าเหลืองทอง ♥♥♥♡
ภาพยนตร์ ‘ประหลาด’ ของไทย หาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายพัฒนาชนบทของรัฐบาล ต่อการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งพอหนังเสร็จประจวบกับการมาถึงของ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงถูกแบนห้ามฉาย ต้องอ้อมโลกไปโด่งดังไกล กว่าจะได้หวนกลับมาสู่สายตาคนไทย
ไม่ใช่แค่เรื่องราวชีวิตของทองปานที่น่าเศร้าสลด แต่ยังโชคชะตากรรมผู้สร้างและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มิได้แตกต่างกัน ถูกรัฐบาลสมัยนั้นมองข้าม กีดกัน สนเพียงแสวงหาอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนก็ช่างหัวมัน!
สิ่งน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าคือยุคสมัยปัจจุบันนี้แทบไม่มีความแตกต่าง! ทั้งๆโลกก้าวสู่ยุคของเทคโนโลยีสื่อสาร ความคอรัปชั่นคดโกงกินของหน่วยงานรัฐบาลได้รับการเปิดโปง เผยแพร่ กระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว แต่กลับกลายเป็นดังสำนวน ‘หน้าด้านอายอด’ ผสมกับ ‘ปลาไหล’ เรื่องอะไรฉันต้องสนใจเสียง ‘หมาเห่าใบตองแห้ง’
“ประชาธิปไตยที่ว่าของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชนนั้น ใช้ได้แต่เฉพาะประชาชนที่มีธรรมเท่านั้น แต่ถ้าประชาชนไม่มีธรรม มันย่อมต้องกลายเป็นประชาธิป…ตาย เท่านั้นเอง…”
– พุทธทาสภิกขุ
“เกือบจะพูดได้ว่า หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เพราะเดิมทีเดียว เพื่อนๆที่คิดจะทำหนังสือเกี่ยวกับชีวิตชนบทของประเทศไทย ได้ตั้งใจจะสร้างจากเรื่องสั้นของผมเรื่องหนึ่ง แต่หลังจากที่เราได้พบกับทองปาน เราก็คิดว่า เรื่องราวชีวิตของเขาดูจะมีชีวิตชีวามากกว่า”
– คำสิงห์ ศรีนอก, หนึ่งในผู้เขียนบท
สำหรับคนสนใจเบื้องหลังที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยละเอียด ผมแนบลิ้งค์หนังสือออนไลน์อ่านฟรีไว้ให้ด้วย บทความนี้จะดึงมาแค่ส่วนน่าสนใจเท่านั้นนะครับ
LINK: http://www.mbookstore.com/book-details/2729/
ทองปาน สร้างขึ้นจากเรื่องจริงเมื่อครั้น คำสิงห์ ศรีนอก ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ ‘เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร’ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ จัดขึ้นที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีการเชื้อเชิญนักวิชาการ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือนายทองปาน ซึ่งพักอาศัยในโรงแรมห้องเดียวกัน จึงมีโอกาสพูดคุยสนทนาอะไรหลายๆอย่าง
ภาพผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งมี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และ เสน่ห์ จามริก อธิการบดีและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นด้วย
วันหนึ่งเช้าตรู่ ทองปานตื่นขึ้นอย่างรุกรี้รุกรน พบว่ากระเป๋าสตางค์พร้อมเงิน ๒๐ บาทสูญหาย ต้องการนำเงินนั้นไปซื้อยารักษาวัณโรคให้ภรรยา ด้วยเหตุนี้วันสุดท้ายของการสัมมนาจึงเร่งรีบร้อนกลับบ้านไปก่อน และเมื่อการสัมมนาเสร็จส้น คำสิงห์แวะไปเยี่ยมเยียนหาที่บ้าน พบเห็นเขาสภาพเมามาย ลูกๆและภรรยาข้างกายที่กลายเป็นศพไปเรียบร้อยแล้ว
คำสิงห์ นำเรื่องเล่าชีวิตทองปาน ไปพูดคุยกับเพื่อนๆที่เข้าร่วมสัมมนา แล้วมีนักข่าวคนหนึ่ง Mike Morrow แสดงความตั้งใจอยากที่จะดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์เชิงสารคดี เลขขอให้เขาช่วยเหลือพัฒนาบทหนังขึ้นมา
แม้ว่า Morrow จะเป็นผู้ออกทุน ช่วยเหลือเรื่องตากล้อง อุปกรณ์ถ่ายทำต่างๆ แต่สมัยนั้นยังจำต้องใช้คนไทยติดต่อประสานงาน ซึ่งขณะนั้นกำลังเกี้ยวพาราสี ไพจง ไหลสกุล (ต่อมาได้แต่งงานเป็นสามี-ภรรยา แล้วก็หย่าร้าง) เลยชักชวนเธอให้มาเป็นโปรดิวเซอร์หนัง
ไพจง เป็นผู้ประสานงานนักเขียน คำสิงห์ ศรีนอก, วิทยากร เชียงกูล, ติดต่อคัดเลือกผู้กำกับ สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน), รัศมี เผ่าเหลืองทอง, ยุทธนา มุกดาสนิท และคอยช่วยเหลืองานกำกับด้านอื่นๆ
ถึงน้าหงาจะไม่เคยกำกับหนังมาก่อน แต่ที่ได้รับการชักชวนเพราะเป็นคนรู้เรื่องวัฒนธรรมอีสาน จึงสามารถสื่อสารกับชาวบ้านตัวประกอบได้เป็นอย่างดี
รัศมี เผ่าเหลืองทอง เหมือนจะเข้ามาช่วยขัดเกลาบท ตระเตรียมนักแสดง
และยุทธนา มุกดาสนิท ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยท่านมุ้ยทำเรื่อง เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) ประสบการณ์ถือว่าพอสมควร โดดเด่นเรื่องความเร็ว เข้ามาถ่ายทำหลักๆคือฉากการสัมมนา และประสานงานตากล้องถึงมุมมอง ทิศทาง สิ่งที่อยากให้พบเห็นเคลื่อนไหว
การที่หนังขึ้นเครดิตกำกับถึง 4 คน ถือเป็นการร่วมงาน/ระดมสมองเสียมากกว่า ต่างคนต่างมีในส่วนที่ถนัด-ไม่ถนัด เติมเต็มส่วนขายหาของกันและกัน
นักศึกษาคนหนึ่ง (รับบทโดย เรืองยศ จันทรคีรี) เดินทางมาถึงอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ติดชายแดนไทย-ลาว ซึ่งกำลังจะมีการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ระหว่างกำลังจะไปอำเภอปากชม เพื่อติดตามหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน มีโอกาสพบเจอคนถีบสามล้อรับจ้าง ทองปาน โพนทอง (รับบทโดย องอาจ มณีวรรณ) เลยชักชวนให้มาเข้าร่วมงานสัมมนา
สำหรับนักแสดง ทั้งหมดคือมือสมัครเล่นไม่ก็ชาวบ้านแถมนั้น ไร้ประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน
– องอาจ มณีวรรณ ผู้รับบทเป็น ทองปาน โพนทอง ชีวิตจริงเป็นนักมวย (หนังเลยเพิ่มฉากต่อยมวยเพื่อหาเงินมารักษาภรรยา) ต่อมาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๕)
– สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ร่วมสัมมนา ฝ่ายต่อต้านการสร้างเขื่อน, คือนักเขียนนามปากกา ส. ศิวรักษ์ และเป็นนักวิชาการอิสระ ปัญญาชนสยาม มีชื่อเสียงอย่างมากในการวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง ไม่เกรงอำนาจ จิตใจใคร
– ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ราษฎรอาวุโส นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน, รับบทเป็น หนึ่งในวิทยากรสัมมนา
– คำสิงห์ ศรีนอก มาร่วมรับเชิญเป็นหนึ่งในนักวิชาการ
ฯลฯ
เนื่องเพราะนักแสดงส่วนใหญ่คือมือสมัครเล่น จึงมักไม่มีการเขียนบทพูดให้ท่องจำ เพียงคำแนะนำแล้วปล่อยอิสระ ‘Improvised’ ได้ทีของอาจารย์สุลักษณ์ เห็นว่าลุกขึ้นพูดเสียดสีต่อต้านรัฐบาลนานมาก นำใส่ทั้งหมดในหนังคงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องเลือกตัดต่อเฉพาะส่วนสาระสำคัญเท่านั้นเอง
Mike Morrow ชักชวนเพื่อนนักข่าวที่เป็นช่างภาพ Frank Green เพิ่งเรียนจบจาก UCLA ทำงานอยู่เมืองไทยพอดี เห็นว่ามีกล้อง 16mm ติดตัวมาด้วย หลังจากส่งบทให้มีเวลาว่างเลยมาเป็นตากล้องถ่ายทำให้กับหนัง แถมไม่รับค่าตัวสักแดงเดียว
คุณภาพหนังที่กลายเป็น VCD/DVD คงต้องทนรับสภาพสักนิดนึงว่ามิได้งดงามดูดีอะไร ถ่ายกลางวันแท้ๆกลับเต็มไปด้วยความมืดดำปกคลุม ดูแล้วคงเป็นความเสื่อมสภาพของฟีล์ม 16mm โชคยังดีแปลงเป็นดิจิตอลทันเวลา! ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่างานภาพกลายมาแบบนี้ช่างทรงพลังระดับล้างผลาญ สร้างความดิบเถื่อน เก่าเขรอะ สัมผัสได้ถึงความสมจริงอันโหดร้ายในสังคมไทยสมัยก่อน และชวนให้หวนระลึกถึงสไตล์ Neorealist
หนังไม่ได้สักแต่จะบันทึกภาพนะครับ สังเกตดีๆจะพบเห็นไดเรคชั่นหลายๆอย่างซ่อนเร้นนัยยะความหมาย ซึ่งทั้งหมดมาจากการชี้แนะนำตามวิสัยทัศน์ของ ยุทธนา มุกดาสนิท ตอนนั้นยังเป็นคนหนุ่มไฟแรง นี่ถือเป็นโอกาสซักซ้อมฝีมือตนเอง ลับมีดได้อย่างคมกริบ!
เริ่มต้นด้วยภาพเมียทองปานและลูกชาย กำลังตักน้ำในคูแล้วเดินกลับบ้านผ่านท้องทุ่งนา ขณะเดียวกันพบเห็นเสาไฟฟ้าด้านหลัง สัญลักษณ์ของเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้า แต่บรรดาชาวชนบทเช่นพวกเขากลับมีสถานะเพียงฐานตั้งเสาไฟ สมัยนั้นยังไร้โอกาสได้ใช้งานจริง ค่ำคืนคงปกคลุมด้วยความมืดมิด มีเพียงคนเมืองเท่านั้นแลได้สว่างไสวแม้ยามรัตติกาล
หนังปักหลังถ่ายทำที่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เลยไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าภาพนี้เขื่อนอะไร แต่ต้องชมเลยว่าเลือกมุมกล้องได้งดงามมากๆ ถ่ายย้อนแสงกระมังจึงพบเห็นทุกอย่างมืดมิดสนิท ซึ่งสะท้อนได้ถึงชีวิตหลังเขื่อนของชาวชนบท ไม่ได้รับความใคร่สนใจใยดี ไหนละน้ำที่ทางการบอกว่าจะแบ่งปันมา แห้งเหือดจนทำไรทำนาหาปลาแทบไม่ได้
ฉากการสัมมนา ถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น่าจะท่าพระจันทร์) ช็อตแรกเริ่มต้นด้วยการ Close-Up ใบหน้าพิธีกร (เสน่ห์ จามริก) กล่าวเปิดการสัมมนาแล้วค่อยๆถอย ซูมออก เคลื่อนไปรอบๆห้องเพื่อให้พบเห็นสถานที่และว่ามีใครนั่งฟังอยู่บ้าง แต่จะไม่มีการแนะนำตัวหรือเรียกชื่อเสียงเรียงนาม (ยกเว้นเพียง ทองปาน) ทุกคนต่างถือเป็นตัวแทนหน่วยงาน องค์กร ไม่ใช่ตัวบุคคล
เป็นช็อตที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่นำเสนอสองเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนาน
– เบื้องหน้าคือ ทองปาน ภรรยา และลูกๆ กำลังพยายามจับปลา จับกบ จับปู หาอาหารประทังชีพ
– เบื้องหลังคือกลุ่มคนกำลังอพยพออกเดินทาง เพราะการมาถึงของเขื่อนทำให้ชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องแสวงหาหนทางที่ดินทำกินใหม่
กล่าวคือช็อตนี้นำเสนอวิถีชีวิตของชาวชนบท ซึ่งมีเพียงสองทางออกเท่านั้นคือ ต่อสู้ดิ้นรน และยินยอมจำนนในสิ่งเกิดขึ้นโดยมิอาจแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงของการสัมมนา มักมีการสะท้อนหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ทองปานประสบพบเจอในชีวิตจริง ผมคงไม่ไล่ทั้งหมด แต่จะยกแค่บางตัวอย่าง อาทิ
– การสัมมนา พูดถึงข้อเสียของเขื่อน ทำให้ปลาบึกอาจสูญพันธ์
– ทองปาน วางกัปดันแหหาปลา ปรากฎว่าจับไม่ได้สักตัว!
ถ้าเขื่อนสร้างได้ประเทศไทยร่ำรวยแน่ๆ หนึ่งในคำพูดของนักวิชาการ แต่ฉากถัดมาทองปานไม่สามารถขอหยิบยืมเงินเพื่อมารักษาภรรยาป่วยเป็นวัณโรค ด้วยเหตุนี้ทำให้ดื่มเหล้าเมามาย แล้วใช้กำลังทำร้ายไก่
ผมเห็นฉากนี้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Los olvidados (1950) ของผู้กำกับ Luis Buñuel ขึ้นมาทันที, การกระทำสะท้อนถึงจิตใต้สำนึกที่ถูกเก็บกดคลุ้มคลั่ง ต้องการระบายบางสิ่งอย่างออกมา กับมนุษย์หรือสัตว์ใหญ่กว่าคงไม่ได้ แต่ไก่ตัวกระเปี๊ยกย่อมไม่สามารถต่อสู้โต้ตอบอะไรเราได้
คนนี้น่าจะคือ คำสิงห์ ศรีนอก อภิปรายประกอบการฉายสไตล์ซึ่งต้องปิดไฟ และเงามืดอาบใบหน้าของเขาครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องที่อภิปรายก็พยายามชี้ชักนำว่า การสร้างเขื่อนย่อมมีผลประโยชน์และข้อเสียหาย ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไร้ปัญหา
ภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนอย่างสุดโต่ง รูปร่างอ้วนท้วนพุงใหญ่ กอบโกยกินอะไรๆมามากสินะ! ถ่ายมุมเงยลักษณะนี้ชวนให้ระลึกถึงหนังเงียบเรื่อง Zvenigora (1928) ของผู้กำกับ Alexander Dovzhenko
ขณะที่ลักษณะของภาพเอียง ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าคือความจงใจถ่ายทำ หรือเกิดจากกระบวนการแปลงฟีล์มเป็นดิจิตอลที่มีความผิดพลาด เพราะหลายครั้งพบเห็นความเหลื่อมล้ำบนไม่เท่ากับล่าง ช็อตเอียงๆลักษณะนี้ก็ดูผิดปกติสักเล็กน้อย
แต่ถ้าเป็นความจงใจ Dutch Angle ก็ต้องชมถึงนัยยะความหมาย ห้องแห่งการสัมมนาแห่งนี้ช่างมีความผิดรูป บิดเบี้ยว ไม่ได้มีสาระที่ก่อให้เกิดประโยชน์แท้จริงต่อประชาชนสักเท่าไหร่
ถึงจะโบ๊ะแป้งอย่างหนา ถ่ายช็อต Close-Up ระยะใกล้ขนาดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ใครอื่น สุรชัย จันทิมาธร หรือน้าหงา คาราวาน นั่นเองแหละ แต่ที่น่าสนใจสุดๆก็คือนกเกาะอยู่ตรงบ่า สะท้อนถึงวิถีพื้นบ้านชาวอีสาน ขับร้องรำทำเพลง ส่งเสียงเจื้อยแจ้วไม่ต่างอะไรกับนกพวกนี้
ฉากการชกมวยของทองปาน ไม่ได้มีนัยยะแค่หาเงินไปซื้อยาให้ภรรยา แต่สะท้อนการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายสนับสนุน vs. คัดค้าน การสร้างเขื่อน ซึ่งขณะนั้นในช่วงของการสัมมนาถือว่ากำลังโต้ตอบออกรสชาดอย่างเมามัน
หลังจากฟังคนโน้นนี่นั่น นักวิชาการ วิศวกร พิธีกร พูดโน่นนี่นั่น โต้เถียงกันอย่างเมามัน ในที่สุดพวกเขาก็ครุ่นคิดได้ว่าควรสอบถามความเป็นของประชาชนในท้องที่ ซึ่งทำเอาทุกคนวงแตก มันไม่ใช่เรื่องของการอยากได้-ไม่อยากได้ แต่ทั้งหมดนี้คือแก้ปัญหาไม่ถูกจุด นั่นหาใช่สิ่งที่พวกเขาใคร่รู้ใคร่สนใจหรือแสดงความต้องการแม้แต่น้อย!
ในแง่มุมนี้มีบทความหนึ่งของประชาไท เขียนไว้อย่างน่าสนใจ
“ภาพยนตร์เรื่องทองปานแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคระหว่างปัญญาชนกับประชาชน ประชาชนระดับปัจเจกไม่มีความหมายในตัวเองจนกว่าปัญญาชนให้ความหมายว่าเขาหรือเธอเป็นตัวแทนของ ‘ประชาชน’ กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเสียก่อน เสียงของประชาชนจึงเป็น noise ซึ่งจะเป็น voice ได้เฉพาะรายที่ปัญญาชนรับรองให้มีสถานะพิเศษแล้วเสมอ ปัญญาชนในย่อหน้าที่แล้วจึงเป็นตัวละครที่น่าประทับใจที่สุดและอยู่ในมุมมืดที่สุดในขณะเดียวกัน”
reference: https://prachatai.com/journal/2013/11/49740
การหายตัวไปจากห้องสัมมนาของทองปาน สะท้อนสิ่งสำคัญสุดในชีวิตของเขาไม่ใช่การถกเถียง สร้างเขื่อน แต่คือครอบครัว และการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ
และช็อตที่ทรงพลังสุดของหนัง เมื่อทองปานกลับบ้าน รับรู้สิ่งเกิดขึ้นกับภรรยา เป็นช็อต Close-Up ที่ใบหน้านิ่วคิ้วขมวด มุมแหงนเงยขึ้นท้องฟ้า นี่ฉันจะทำอย่างไรดีต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่หนังก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรใครได้
ตัดต่อโดย ไพจง ไหลสกุล, นำเสนอเรื่องราวในมุมมองนักศึกษาหนุ่ม (รับบทโดย เรืองยศ จันทรคีรี) ออกเดินทางสู่อำเภอเชียงคาน พบเจอทองปาน พูดคุยสนทนาเรียนรู้จักชีวิตเบื้องหลัง และชักชวนเข้าร่วมสัมมนา ‘เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร’
เรื่องราวจะลำดับตัดสลับไปมาระหว่าง ชีวิตของทองปาน (Flashback) และช่วงการสัมมนา ซึ่งมีลักษณะสอดคคล้อง ย้อนแย้ง เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย
เพลงประกอบก็ไม่ใช่ใครอื่น สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) นอกจากเพลงคนกับควาย ที่ถูกแบนหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา (ปัจจุบันไม่รู้ว่ายกเลิกแบนแล้วหรือยัง แต่ก็ไม่ใช่เพลงต้องห้ามแล้วนะครับ) ก็มีหมายเหตุจากหมู่บ้าน และที่เหลือคือการร้องรำทำเพลง เป่าแคน ท่วงทำนองดนตรีพื้นบ้านอีสาน
มองในมุมเผด็จการ หรือผู้นำที่บริหารประเทศด้วยความคอรัปชั่นเห็นแก่ตัว ไม่แปลกเท่าไหร่จะพบเห็นหนังเรื่องนี้ ช่างมีความริหาญกล้า ท้าสู้รบปรบมือ ชักชวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านชนชั้นปกครอง
แต่ว่าไปภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายแนวคิดคอมมิวนิสต์อยู่ไม่น้อยทีเดียวนะ (มีลักษณะคล้ายๆหนังเงียบชวนเชื่อของสหภาพโซเวียต ช่วงปลายทศวรรษ 20s – ต้น 30s) หลักๆคือนำเสนอความทุกข์ยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพ อันเกิดจากความไม่ใคร่สนใจใยดีของบรรดาผู้นำประเทศ ที่ต่างสนเพียงกอบโกยหาผลประโยชน์ส่วนตน
ด้วยเหตุนี้เลยไม่แปลกเท่าไหร่ ที่พอเกิดเหตุรัฐประหาร ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หลายๆคนต้องอพยพหลบหนีเข้าป่า ขณะที่ ไพจง ไหลสกุล ตัดสินใจหอบฟีล์มไปทำ Post-Production ยังเกาะฮ่องกง สำเร็จเสร็จสิ้นสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ทีแรกคิดจะไปขายให้สำนักข่าว BBC ของประเทศอังกฤษ แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธเพราะไม่ใช่หนังภาษาอังกฤษ โชคดีขายได้ Swedish TV และมีโอกาสออกฉาย London Film Festival คว้ารางวัล Outstanding Film of Southeast Asia
หนังเข้าฉายประเทศไทยครั้งแรกช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่สถาบันเกอเธ่ บ้านพระอาทิตย์ คนแน่นมากจนต้องฉาย ๒ รอบ ตามต่อด้วยสยามสมาคมอีก ๒ รอบเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นครูอาจารย์ คนอ่านหนังสือพิมพ์ ต่างกังวลว่าประเทศไทยจะไปทิศทางไหนต่อ
ผมครุ่นคิดว่าถ้าสมัยนั้นหนังถูกนำไปฉายให้กับชาวบ้านต่างจังหวัด พวกหนังกลางแปลง ขายยา ฯลฯ อาจปลุกกระแสลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐในวงกว้างได้อย่างแน่นอน … แต่เมื่อหนังถูกแบนและได้แค่ฉายจำกัดโรง ก็ไม่รู้จะชื่นชมวิสัยทัศน์เผด็จการของรัฐบาล หรือมองเป็นความโชคร้ายของชนชาวไทยดี!
เหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆภาพยนตร์เรื่องนี้ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็ยังพอพบเห็นมีอยู่แต่ถือว่าน้อยลงมาก เพราะเทคโนโลยีสื่อ/ข่าวสาร แพร่กระจายสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง และทุกๆโครงการใหญ่ๆของรัฐบาลเหมือนว่าต้องทำประชามติ รับฟังเสียงเรียงร้อง/ข้างมากจากประชาชนท้องถิ่น ไม่ใช่หลับหูหลับตาก็สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อน
เกร็ด: ปัจจุบันโครงการสร้างเขื่อนผามองยังคงมีอยู่ โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เขื่อนปากชม ตั้งอยู่บ้านห้วยขอบ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ซึ่งถ้าสร้างเสร็จจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย หนองคาย หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จมอยู่ใต้บาดาล
แซว: แต่การสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงปัจจุบันแทบจะเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะถูกประเทศจีนตัดหน้าสร้างเขื่อนดักน้ำตั้งแต่ต้นสายตอนจบ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนริมสองฝั่งโขงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้อย่างสุดกู่ทีเดียว
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ไม่เพียงพูดแรง แทงตรงใจดำ ยังรวมถึงภาษาภาพยนตร์ ตัดต่อ มุมกล้องถ่ายทำ ชัดเจนว่ามาจากไดเรคชั่นของ ยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ทำให้ผิดหวังประการใด!
แนะนำคอหนังการเมือง Social Drama, นักเคลื่อนไหว ชื่นชอบการวิพากย์วิจารณ์สังคม, กลิ่นอาย Neorealist, แฟนๆผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ควรพลาด
จัดเรต ๑๘+ กับความทุกข์ยากลำบากของประชาชน วิพากย์วิจารณ์สังคม คอรัปชั่นนักการเมือง
[…] 2519” ได้มีการผลิตภาพยนตร์เรื่อง “ทองปาน” (ไพจง ไหลสกุล, 2519) […]
ตรงที่บอกว่า “คนนี้น่าจะคือ คำสิงห์ ศรีนอก อภิปรายประกอบการฉายสไตล์…”
คนนั้นไม่ใช่ คำสิงห์ ศรีนอก นะ เป็นใครก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ คำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) คือคนที่เหมือนทำหน้าที่เลขาการประชุม(มั้ง) อยู่สุดปลายด้านหนึ่งของโต๊ะ (หัวตัว U) ที่หน้ายาวๆผอมๆ เป็นคนที่บอกให้ลองฟังอีกฝ่ายดูบ้าง และตอนที่ชาวบ้านขึ้นพูด เค้ามีนั่งฟังแบบยิ้มๆด้วย