นางนาก

นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) หนังไทย : นนทรีย์ นิมิบุตร ♥♥♥♡

ในยุคที่หนังไทยราวกับได้ตายท้องกลม แต่ความรักของผู้สร้างยังคงอยู่นิรันดร์ พยายามรังสรรค์นำเสนอมุมมองสิ่งแปลกใหม่ คาดหวังแค่ปลุกแม่นากให้ฟื้นตื่น แต่ความสำเร็จกว่า ๑๕๐ ล้านบาท สามารถคืนชีพวงการภาพยนตร์ไทย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงไม่ใช่หนังไทยยอดเยี่ยมที่สุด แต่ต้องถือว่า นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างปรากฎการณ์/ปาฏิหาริย์ไม่รู้ลืมให้ประเทศไทย ทั้งยังปฏิวัติ/ปรับเปลี่ยนแนวคิดวิธีสร้างภาพยนตร์ จนมีคำเรียกยุคสมัย Renaissance หรือ Thaland New Wave [แต่เรื่องแรกจริงๆที่เปิดประตูสู่คลื่นลูกใหม่ คือ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐)]

อะไรที่ทำให้นางนาก กลายเป็นตำนานวงการภาพยนตร์ไทย? คงมีคนวิเคราะห์มาเยอะแล้วละ ในมุมของผมบ้างแล้วกันนะ
– เพราะผู้ชมเบื่อหน่ายต่อความซ้ำซากจำเจเต็มแก่! เพราะหนังไทยยุคสมัยนั้นมีแต่แนววัยรุ่น ตลก ผีเชยๆ ก็ขนาดว่าแม่นาก/แม่นาคพระโขนง ก่อนหน้านี้ได้รับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ละคร มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ครั้ง ล้วนเกี่ยวกับอภินิหาร ผีร้าย ต้องล้างแค้น เข่นฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง
– ความทุ่มเทใส่ใจในทุกๆรายละเอียดของผู้สร้าง อาทิ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ใช้เวลาศึกษาหาข้อมูล ๒ ปี พัฒนาบทอีกครึ่งปี, ระหว่างนั้นอีกขวบปีกว่าจะแคสติ้งได้นักแสดงนำ อินทิรา เจริญปุระ, เวิร์คชอปที่อยุธยาสามเดือน อาบแดด เกี่ยวข้าว เจียนหมาก อาบน้ำคลอง พายเรือ ถอดรองเท้าเดิน ให้คุ้นเคยกับการย้อนยุคสมัย, ถ่ายทำยังสถานที่จริง ป่าช้า มัดตราสัง ลงคาถา ทุกเปลาะ ทุกห่วงของจริงหมด ฯลฯ เหล่านี้เป็นไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่ถึงขั้นประณีตละเอียดอ่อนขนาดนี้ในวงการภาพยนตร์ไทย
– ความสดใหม่ในการนำเสนอ จัดเต็มโปรดักชั่นย้อนยุค เสื้อผ้าหน้าผม ทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง-สี ตัดต่อคู่ขนาน เน้นความกระชับรัดกุม เพลงประกอบผสมทั้งไทย-เทศ เสียงร้องอันหลอกหลอน ดังกึกก้องไปถึงขั้วหัวใจ
– สำคัญสุดคงคือความตั้งใจของผู้สร้าง ไม่ได้ต้องการนำตำนานมาลบหลู่ หากินกับความเชื่อคนไทย แต่ทำออกมาให้ดีที่สุดความสามารถ และมอบความยุติธรรมให้กับแม่นาก (ถึงเป็นผีก็ไม่ใช่ว่าต้องมาร้ายเสมอไป)

ความสำเร็จของนางนาก ยังสะท้อนคนไทยยุคสมัยนั้นออกมา เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในสภาวะถดถอย ฟองสบู่แตก วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. ๒๕๔๐ เจ้าของธุรกิจล้มละลาย ผู้คนตกงาน ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ภาพยนตร์เท่านั้นจักสามารถทำให้หลบหลีกหนี ‘Escapist’ ออกจากโลกความจริงได้ชั่วขณะหนึ่ง


นนทรีย์ นิมิบุตร ชื่อเล่น อุ๋ย (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เกิดที่จังหวัดนนทบุรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม เข้าเรียนต่อคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบออกมาได้เริ่มทำงานด้วยการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ตามด้วยผลิตสารคดี ละคร โฆษณา, ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อประสบการณ์ความสามารถเต็มเปี่ยม เกิดโปรเจคภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อ ‘๒๐๒๙ เครื่องครัวล้างโลก’ ตั้งใจให้เป็นแนวตลาดแต่ก็ล่มไม่เป็นท่า เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณทุนสร้าง พักทำใจอยู่สองปีเต็มมองหาสิ่งอื่นที่อยู่ในสนใจ อาทิ ดัดแปลงวรรณกรรม ขุนช้างขุนแผน ฯ ก่อนมาลงเอยที่หนังสือเส้นทางมาเฟีย กลายมาเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐)

ความสำเร็จอันล้นหลามคาดไม่ถึงของ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ทำให้พี่อุ้ยได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากนายทุนเพิ่มมากขึ้น มองหาโปรเจคถัดไป

“เราได้ดูนางนากทั้งหมดที่เขาเคยทำมาแล้วประมาณ ๒๐ เวอร์ชัน ทั้งละคร ทั้งภาพยนตร์ แต่ทุกครั้งที่นั่งดูเราก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรบางอย่างตลอดเวลา เรื่องที่เป็นตำนานยาวนานขนาดนี้มันเป็นแค่เรื่องผีร้ายอย่างนี้จริงๆเหรอ ยิ่งดูยิ่งมีความรู้สึกว่าอยากเล่าเรื่องนี้ใหม่ ทำไมเรารู้สึกว่าสงสารคนที่นางนากจังเลย รู้สึกว่าเขาเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรบางอย่าง แล้วอีกอย่างก็คือความเชื่อในเรื่องวิญญาณเรื่องผีของเราอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นเขา ก็เลยมีมุมที่เราอยากเล่าในแบบตัวเองดีกว่า”

– นนทรีย์ นิมิบุตร

มอบหมายให้รุ่นน้อง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่เพิ่งร่วมงาน ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ใช้เวลาเต็มที่ในการศึกษาค้นหาข้อมูล พัฒนาบทภาพยนตร์ (ซึ่งระหว่างนั้น วิศิษฏ์ ก็น่าจะซุ่มพัฒนาบท ฟ้าทะลายโจร ที่จะกลายเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของตนเองด้วย)

เกร็ด: ระหว่างดูเครดิตหนัง พบเห็นชื่อ คมกฤษ ตรีวิมล (แฟนฉัน, เพื่อนสนิท) เป็นหนึ่งในผู้ช่วยผู้กำกับด้วยนะ!

เริ่มต้น ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สมัยรัชกาลที่ ๔ เกิดสุริยุปราคาขึ้นที่หว้ากอ ผู้คนแตกตื่นราวกับเป็นลางบอกเหตุร้ายบางอย่าง ไอ้มาก (วินัย ไกรบุตร) ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรบที่ชายแดน ปล่อยให้เมียสาวกำลังท้องแก่ นาก (อินทิรา เจริญปุระ) อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง จำต้องตรากตรำทำงานหนักทั้งๆท้องแก่ใกล้คลอด แต่แล้วเมื่อเจ็บครรภ์มีลางร้ายนอกแสกบินผ่านหลังคาบ้าน ทำให้เสียชีวิตขณะคลอด ตายท้องกลม ซึ่งวิญญาณของนางยังคงไม่ยอมไปผุดไปเกิด เวียนวนอยู่บริเวณชายน้ำใกล้บ้าน เฝ้ารอคอยการกลับมาของผัวสุดที่รัก


อินทิรา เจริญปุระ ชื่อเล่น ทราย (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๓) นักร้อง นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร บิดาคือ รุจน์ รณภพ และเป็นน้องสาวต่างมารดา ใหม่ เจริญปุระ, เข้าสู่วงการโดยคำชักชวนของ สุพล วิเชียรฉาย แสดงละครตอนอายุ 13 เรื่อง ล่า (พ.ศ. ๒๕๓๗), ส่วนภาพยนตร์โด่งดังจาก นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในบท เล่อขิ่น, นาคปรก (พ.ศ. ๒๕๕๓), ดาวคะนอง (พ.ศ. ๒๕๕๙) ฯ

รับบท นางนาก ผู้มีความจงรัก เป็นห่วงเป็นใยต่อ นายมาก แม้ตัวตายท้องกลม แต่จิตวิญญาณก็ไม่ยินยอมทอดทิ้งจากลา เฝ้ารอคอยอยู่ท่าน้ำทุกคืนวัน เมื่อเขากลับมาจากเกณฑ์ทหาร คอยปรนิบัติรับใช้ พยายามยื้อย่างเพลา เข่นฆ่าทุกผู้มาร้าย เพื่อให้ความสุขแสนสั้นนี้ยืดยาวนานออกไปชั่วนิรันดร์

หลังจากคัดเลือกนักแสดงมากว่าขวบปี พี่อุ๋ยก็เริ่มหมดความอดทน พูดขอกับย่านาก ’ย่าอยากได้แบบไหนก็บอกมาสิครับ’ ปรากฏคืนนั้นฝันว่ามีผู้หญิง นุ่งโจงเขียว ห่มสีกลีบบัว แต่ไม่มีหัวมาหา ตื่นเช้าขึ้นมาเลยตั้งสติใหม่ ยึดหุ่นในฝันเป็นแบบอย่าง (แตกต่างจากภาพลักษณ์แม่นาก ก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง) โดยทรายถูกเรียกไปแคสติ้งช่วงวันท้ายๆ พอถึงตาตนเองทดสอบหน้ากล้องเกิดฝนตกฟ้าร้อง ลมพัด หมาหอนขึ้นมาพอดี ขณะที่คนอื่นกล้องแฮนดี้แคมบันทึกเพียงภาพไม่ได้ยินเสียงอะไรอื่น แต่ของทรายกลับติดหมดทุกอย่าง นั่นเองทำให้ทุกคนรับรู้ได้โดยทันที ย่านากต้องการเธอคนนี้!

หลายอย่างอาจดูฝืนธรรมชาติไปบ้าง การแสดงก็ไม่เน้นขายความสามารถสักเท่าไหร่ (มันเพราะไดเรคชั่นของพี่อุ๋ยด้วยนะ) ทั้งหมดล้วนคือภาพลักษณ์ซึ่งเป็นจุดเด่นของทราย ผู้หญิงตัวเล็กๆแต่มีความหยาบกร้าน ภาพลักษณ์สาวแกร่ง ภายนอกดูเข้มแข็ง ถึงอย่างนั้นจิตใจกลับเต็มไปด้วยอ่อนไหว สนเพียงคนรักข้างกายก็สุขสบายใจ อย่างอื่นนั้นไซร้ไม่ใช่เรื่องของมึงจะเสือกทำไม

ผมว่าทรายเล่นดีในฉากที่ต้องแสดงความรัก แต่ลึกๆกลับปกปิดบังความจริงบางอย่างไว้ (ว่าตนเองเป็นผี) พยายามบิดหนี เล่นตัว ตะขิดตะขวงใจ แม้ปรนิบัติสามีให้ได้รับความสุข ตนเองจมปลักอยู่ในความทุกข์โศก เพราะรับรู้ว่าคงเหลือเวลาบนโลกอีกไม่นานวัน

แซว: เพื่อไม่ให้นักแสดงรู้สึกเก้งกังกับทรงผมทรงดอกกระทุ่ม ทีมงานทั้งหมดก็เลยตัดทรงเดียวกัน ไถเกรียนด้วยปัตตาเลี่ยน เบอร์ ๓


วินัย ไกรบุตร ชื่อเล่น เมฆ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๐) นักแสดงชาวไทย เกิดที่กระบี่ ครอบครัวมีฐานะยากจน จบการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนายแบบ ถ่ายโฆษณา Music Video จนมีโอกาสแสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง จนกระทั่งถูกเรียกตัวมาแทนนักแสดงเดิม นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) กลายเป็น ‘พระเอกร้อยล้าน’ คนแรกของประเทศไทย มีอีกผลงานเด่น บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓) แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆเลือนลางจางหายไป

รับบท นายมาก ผู้มีความรักมหาศาลต่อ นางนาก แต่โชคชะตาชีวิตลิขิตให้ถูกเกณฑ์ทหารไปสู้รบสงคราม เจ็บป่วยปางตายโชคดีได้สมเด็จโตช่วยเหลือให้พ้นเคราะห์ ขอกลับมาบ้านก่อนบวชทดแทนพระคุณ ค่อยๆสังเกตเห็นความผิดปกติทีละเล็กละน้อยของภรรยา พอรับทราบความจริงก็แสดงอาการหวาดกลัวขวัญหนีดีฝ่อ แต่สักพักพอเริ่มครุ่นคิดตระหนักได้ พยายามอย่างยิ่งจะปกป้อง แต่เมื่อทุกสิ่งอย่างมิอาจหวนย้อนกลับคืน เลยได้แค่ทำใจ ปลดปล่อยวาง บวชอุทิศทุกสิ่งอย่างให้ผลกรรมเบาบางลง

บทบาทของเมฆ มีความซื่อตรงไปตรงมา แทบจะเรียกไร้เดียงสาก็ว่าได้ สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น รักมาก จนกลายเป็นมืดบอดต่อความจริง (กรรมบังตา) กระทั่งเมื่อพบเห็นแสงสว่างร่ำไร ตระหนักทุกสิ่งอย่างสูญเสียไป ขีวิตก็แทบไม่หลงเหลืออะไรให้ยึดถือไว้อีก

เห็นกล้ามเป็นมัดๆก็อิจฉา เอาจริงๆผมว่าคนไทยสมัยก่อนไม่ได้ซิกแพคกันหมดแบบนี้หรอก แต่เพื่อให้ออกมาดูดีในภาพยนตร์ ก็นะ ใครจะไปให้นายมาก พุงพุ้ย เหยาะแยะ แบบนั้นก็ขายไม่ออกกันพอดี (แต่ก็น่าจะมีคนลองทำดูบ้างนะ)


ถ่ายภาพโดย ณัฐวุฒิ กิตติคุณ หรือน้ากล้วย ตากล้องยอดฝีมือชาวไทย ที่ได้แจ้งเกิดกับ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานเด่นๆติดตามมา ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔), องค์บาก (พ.ศ. ๒๕๔๖), ชัมบาลา (พ.ศ. ๒๕๕๕) ฯ

คนที่มีโอกาสรับชมฉบับ Remaster คุณภาพ 4K คงได้พบเห็นความสดสว่าง สีสันคมเข้มที่งดงามกว่าฉบับ HD/DVD เป็นไหนๆ ซึ่งส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำตอนกลางคืน ยังสถานที่ค่อนข้างห่างไกลต่างจังหวัด การจัดแสงจึงมีนัยยะสำคัญค่อนข้างมาก และความโดดเด่นคือมุมกล้องแปลกๆพิศดารมากมาย แต่บางครั้งก็รู้สึกเก้งกัง เลือกได้ไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่

หนังเริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงภาพเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ตัดสลับกับความพลุกพร่านของฝูงชน กำลังเร่งรีบร้อนรน สวดมนต์ไหว้พระ ถือเป็นสะท้อนความเชื่อของชนชาวไทยต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติสามัญมากๆ

เพราะตำนานแม่นาคพระโขนง อยู่เคียงคู่ชนชาวไทยมาแสนนาน เริ่มต้นเรื่องราวด้วยการร่ำลาจากระหว่างนายมากกับนางนาก ไม่จำเป็นต้องมีการแนะนำอะไร ผู้ชมก็สามารถรับรู้เข้าใจได้โดยทันที (พี่อุ๋ยเปรียบเทียบกับ Titanic เพราะผู้ชมรู้อยู่แล้วว่าเรือต้องล่ม จะไปยื้อยักรอชักช้าอยู่ทำไม!)

มุมกล้องที่พบเห็นอยู่หลายครั้งคือ Bird Eye View แต่ผมขอเรียกว่า Gecko Eye View สายตาตุ๊กแกที่อยู่บนเพดาน จับจ้องมองตัวละครอยู่เบื้องล่าง ซึ่งซีนนี้ นายมากในสภาพเป็น-ตาย มุมกล้องสามารถสื่อถึง มันเป็นเรื่องโชคชะตาฟ้ากำหนด … แต่ผู้ชมมักล่วงรับรู้อยู่แล้วว่ายังไงต้องรอด

และไดเรคชั่นขณะนี้คือการตัดสลับเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่าง นายมาก กับ นางนาก หนึ่งกำลังลุ่มร้อนเพราะพิษไข้ สองดิ้นรนอย่างทรมานเพราะคลอดครรภ์

เพื่อความกระชับรวบรัดกุมของเรื่องราว วิธีของหนังในการบอกว่า เวลาได้เคลื่อนดำเนินผ่าน คือการ Cross-Cutting ร้อยเรียงภาพธรรมชาติ สรรพสัตว์ ผู้คน ฯ … แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วงขณะนี้ค่อนข้างเร่งรีบร้อนเกินไปสักนิด มันน่าจะได้อรรถรสยิ่งกว่าถ้าชีวิตค่อยๆดำเนินไป

ช็อตนี้ปรากฎขึ้นหลังจากสมเด็จโตรักษานายมากเสร็จสิ้น และกาลเวลาค่อยๆเคลื่อนคล้อยผ่าน สังเกตว่าสรรพสัตว์จะหลงเหลือเพียงตัวเดียว (ผิดกับช่วงก่อนหน้าที่จะมาเป็นคู่ๆ) นี่แอบสะท้อน/พยากรณ์ถึงความตายของนางนาก (แต่หนังจะยังไม่เฉลยออกมา เป็นการสร้างความฉงนให้คนยังไม่เคยรับชมมาก่อนหน้า)

มันจะมีอยู่ช็อตหนึ่งขณะที่นายมากพายเรือกลับมาหานางนาก สังเกตว่าตรงผืนผิวน้ำด้นหลังจะมีหมอกควันล่องลอยหวิวๆ นั่นคือสัญลักษณ์ของความลึกลับ พิศวง ภยันตราย ราวกับเขากำลังมุ่งสู่โลกมายา แห่งจินตนาการ หลังความตาย เป็นอีกหนึ่งการบอกใบ้โชคชะตาของนางนาก ชวนให้สยิวกายอยู่เล็กๆสำหรับผู้สัมผัสได้

รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักขึ้นว่า คนไทยสมัยก่อนเขาไม่นิยมจูบแลกลิ้นกันนะ สาเหตุเพราะการเคี้ยวหมาก คงขัดขวางอารมณ์โรแมนติกอยู่ไม่น้อย ในหนังเลยเห็นแต่ลูบไล้ กอดสัมผัส คลอเคลีย แค่นี้ก็อารมณ์เตลิดไปไกลแล้วกระมัง

ความเชื่อคนสมัยก่อน ฟันขาวคือฟันหมา (หรือฟันผี) จึงต้องเคี้ยวหมากให้มีสีแดงกล่ำ ซึ่งวิธีการที่ทีมงานใช้คือให้หมอพิมพ์ฟันหล่อพลาสติกบางๆครอบเข้าไป แต่ปัญหาของฟันปลอมนี้คือบอบบาง แตกง่าย กินอะไรแทบไม่ได้ แถมถ้าใส่ไปนานๆจะดูดติดกับเหงือก ต้องบีบให้แตกแล้วคายออกมา คนหนึ่งเลยต้องใช้กันหลายอันอยู่ทีเดียว

สำหรับหมากที่ใช้ก็ไม่ใช่หมากจริงๆ เพราะเห็นว่าเมฆเคยลองกินแล้ว ฤทธิ์มันรุนแรงเกินทนไหว ลองไปเรื่อยๆจนได้ดอกคำฝอยแห้ง สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ทำให้ทีมงานต้องคอยเสิร์ฟน้ำแดงให้นักแสดงอยู่ประจำ ไม่งั้นอาจเป็นลมล้มพับ (เพราะน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำ)

สำหรับคนไม่เคยล่วงรับรู้ตำนานแม่นาคพระโขนงมาก่อน เชื่อว่าคงได้ตื่นตระหนก คลุ้มคลั่ง เพราะหนังเปิดเผยความจริงว่า นางนากเสียชีวิตตายท้องกลม ขณะกำลังร่วมรักหลับนอนกับนายมาก ตัดสลับไปมาคู่ขนาน วินาทีเสพสมไคลน์แม็กซ์ เธอก็หมดสิ้นลมหายใจ

แล้วนี่ก็ Gecko Eye View มุมแห่งโชคชะตาฟ้ากำหนด ตุ๊กแกร้อง ให้นางนากต้องนอนตายท้องกลม!

เหี้ย ที่นำมาประกอบฉาก ทรายเล่าว่าพวกมันเป็นมังสวิรัต แต่ทีมงานต้องฝืนใจป้อนเนื้อวัวให้ดูสมจริง ปรากฎว่าตายไปหลายตัว นี่รวมถึงฉากนายมากอาบน้ำแล้วมีหนูลอยผ่าน คือต้องฆาตกรรมหนูจริงๆแล้วยัดโฟมใส่เพื่อให้ลอยน้ำได้

แซว: จบการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ พี่อุ๋ยและทีมงาน ต่างพากันออกบวชอุทิศส่วนบุญกุศลให้กรรมทั้งหมดที่ก่อไว้

ความมืดของช็อตนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว แม้ตอนกลางวันแต่อาบปกคลุมใบหน้าของทั้ง นายมากและนางนาก
– สำหรับ นางนาก เพราะเธอกำลังพูดโป้ปดหลอกลวง จิตใจเลยเต็มไปด้วยความมืดหม่นร้าวราน
– ขณะที่ นายมาก หลงเชื่อในคำลวงของภรรยาอย่างหน้ามืดตามัว จนมองไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า

เกร็ด: จริงๆแล้วลูกของนางนากคือผู้หญิงนะครับ คำเรียกที่ถูกต้องเป็นอีแดง ไม่ใช่ไอ้แดง แต่หนังเลือกเรียก ไอ้แดง เพราะมันฟังดูไพเราะกว่า แม้จะทำให้ผู้ชมก็เข้าใจผิดๆกันก็ตามที

ผมชื่นชอบฉากนี้มากๆเลยนะ ขณะที่นายมากถูกมายาของนางนาก ทำให้มืดบอดมองไม่เห็นความจริง แต่มุมมองของหนังในสายตาสมภาร ชัดเจนเลยว่าสถานที่แห่งนี้สกปรกรกร้าง หาใช่สถานที่ที่คนมีชีวิตจะอาศัยอยู่ พยายามพูดเกลี้ยกล่อมเกลาให้เกิดสติ แต่กลับถูกตำหนิต่อว่า ขับไล่ผลักไสส่งให้กลับวัดไป

ตบมุกฉากนี้ฮาลั่น เมื่อนายมากชักชวนให้รอคอยนางนาก อีกไม่นานคงหวนกลับมา สีหน้าสายตาสมภารเต็มไปด้วยความรุกรี้ร้อนรน “ไม่เป็นไรดอก ไปเว้ยพวกเรา เผ่นเถอะ!”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือสมเด็จโต (พ.ศ. ๒๓๓๑ – ๒๔๑๕) พระมหาเถระรูปสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ นอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล ‘พระสมเด็จ’ ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล ๑ ใน ๕ ของประเทศไทย (มีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท)

นางนากฉบับนี้น่าจะเป็นครั้งแรก ที่อัญเชิญสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปราบแม่นาค ในประวัติศาสตร์ก็เหมือนเคยบันทึกไว้ แต่ไม่เพราะเคยมีใครศึกษาจริงจังก่อนหน้า ซึ่งผลลัพท์ของการแทรกเรื่องราวส่วนนี้เข้ามา ช่วยเพิ่มความขลัง จริงจัง ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่ ซึ่งคนไทย/ชาวพุทธในปัจจุบัน น้อยคนนักจะไม่รู้จักสมเด็จโต และพระคาถาชินบัญชร

ฉากเก็บมะนาวตกในตำนานของแม่นาคพระโขนง เกือบแล้วที่พี่อุ๋ยจะตัดทิ้งไม่ใส่เข้ามา

“ตอนนั้นสองจิตสองใจมากกับฉากนี้ คือคุยกันหลายรอบมาก ว่าจะเอาหรือไม่เอาดี คือดเราเปลี่ยนทุกอย่างหมดแล้ว และเราไม่จำเป็นต้องคงอะไรไว้ก็ได้ แต่ว่ามันก็ แหม่…คลาสสิกมากนะฉากนี้ เวอร์ชั่นไหนก็ต้องมี เพราะฉะนั้นเราคงความเป็นแม่นาคพระโขนงเอาไว้หน่อยก็ได้”

ซึ่งการเลือกแทรกใส่ฉากในตำนานนี้ที่ถือว่าเจ๋งสุด คือขณะนายมากรับรู้ความจริงพอดิบพอดี เลยทำให้วิ่งหนีเผ่นแนบ ป่าราบไปเลย

“ตอนแรกที่เราถ่าย เราคิดว่าจะไม่ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์อะไร ก็คือใช้เลนส์มุมกว้าง แล้วจับที่มือทรายยื่นลงไป มันก็เหมือนมือยาวอยู่แล้วล่ะ แต่ทีนี้มันมีภาพจำของหนังว่า ถ้าจะมีฉากนี้ต้องเห็นว่ามือยาวยื่นลงมาใต้ถุนเรือนแล้วหดกลับเข้าไป มันก็เลยต้องยอมทำอันนั้นหนึ่งอัน”

แต่ผมว่าฉากนี้เร่งรีบร้อนเร็วนำเสนอสั้นไปสักหน่อย คือไม่ทอดทิ้งเวลาให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกสั้นสะท้าน ปรากฎขึ้นแค่เพียงเสี้ยววินาที เต็มที่คือสะดุ้งโหยงตกใจเท่านั้นเอง

บ้านของนายมากและนางนาก ออกแบบงานสร้างโดย เอก เอี่ยมชื่น ซึ่งก็ได้ทำการก่อสร้างขึ้นมาทั้งหลัง เพื่อว่าวันสุดท้ายจักเผาทำลายจริงๆ แต่ปัญหาซีนนี้คือการควบคุมไฟ ครั้งแรกถ่ายออกมาไม่สวยเท่าไหร่ แต่ยังมีโอกาสอีกครั้งเพราะยังไม่มอดไหม้ทั้งหลัง ถึงอย่างนั้นผมว่าก็ยังไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร ดูหลอกๆตา หาความสมจริงไม่ได้เท่าไหร่ และเห็นว่าทรายถูกไฟลวกด้านหลัง ทำสีหน้าทรมานไม่ได้เพราะแสดงเป็นผีอยู่ เล่นจนจบฉากค่อยเอาเจลเย็นมาประกบ วันถัดมาหนีไปเล่นน้ำสงกรานต์ ระบมชิบหายวายป่วน

ฉากที่ผมคิดว่าคือลายเซ็นต์ของหนังจริงๆคือช็อตนี้ นางนากห้อยหัวลงจากเพดาน เพราะไม่สามารถเข้าในวงสายสิญจน์ของพระได้ … ทีมงานไม่รู้จะถ่ายฉากนี้ออกมายังไง ก็เลยให้ทรายห้อยหัวลงมาจริงๆ แต่แค่ไม่กี่นาทีเลือดไหลตาแดง แทบแย่ ช่วยลงมาเกือบไม่ทัน

“ซีนห้อยหัวคือบ้าคลั่งมาก เรารู้ว่ามีฉากต้องห้อยหัว แต่คิดว่าวิธีมันยังไง พอถึงวันจริงก็นัดกองมา แล้วก็ ..วันนี้ถ่ายห้อยหัวกันนะ ผูกตรงไหนดี สุดท้ายผูกข้อเท้า แล้วก็ชักรอกขึ้นไปเหมือนชักธงชาติ ระหว่างนั้นทุกคนก็สั่งเราแบบธรรมดามาก ทรายซ้ายหน่อย ซ้ายไหนพี่ หนูไม่รู้ว่าซ้ายไหนค่ะ ถ่ายไปสักพักก็บอกว่า ไม่ได้แล้ว ปวดตา เลือดมันลง พี่อุ๋ยก็ถามว่าไหวไหม สุดท้ายไม่ไหว เพราะตามันแดง ดูแล้วไม่เป็นผี ดูเป็นคน จนต้องเลิกกองตอนตีสาม แล้วมาถ่ายใหม่วันหลัง “

– ทราย เจริญปุระ

ช็อตนี้มันก็คือ Gecko Eye View นะแหละครับ มองลงจากเพดาน พบเห็นโชคชะตาที่มิอาจครองคู่อยู่ร่วมกันได้ของ นายมากและนางนาก

อีกหนึ่งฉากที่ตราตรึงไม่แพ้กัน เป็นส่วนผสมของ CGI หลังจากที่นางนากถูกสยบโดยสมเด็จโต ค่อยๆทิ้งตัวลงหลุมแล้วกลายกลับเป็นโครงกระดูก แต่สิ่งน่ารำคาญสุดของซีนนี้คือต้นไม้เล็กๆที่อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางภาพ ถึงจะเป็นความจงใจเพื่อแบ่งแยกชีวิต-ความตาย แต่มันอยู่ผิดที่ผิดทาง ขวางหูขวางตาเสียจริงๆ

ปั้นเหน่ง เครื่องรางของขลังประเภทหนึ่ง ทำจากกระดูกส่วนหน้าผากของศพมนุษย์ หรือส่วนกลางกะโหลกศีรษะ โดยปั้นเหน่งมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือการย่อหัวกะโหลกทั้งหัวรวมไว้เพียงชิ้นเดียว เพื่อหวังผลนำมาใช้ทางไสยศาสตร์ สะดวกแก่การพกพาติดตัว โดยการนำมาปลุกเสก สะกดวิญญาณนั้นไว้ ตามตำราต้องหากะโหลกหน้าผากจากศพอายุยังไม่มาก แต่ที่ขลังจริงๆต้องเป็นศพผีตายโหง หรือศพตายทั้งกลม ถือว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ติดวิญญาณ

จากตำนานแม่นาคพระโขนง สมเด็จโตได้ทำการสะกดวิญญาณ โดยเจาะกะโหลกผีแม่นาคเอามาขัดเป็นมันลงอักขระอาคม และคาถาเฉพาะบท ทำเป็นปั้นเหน่ง หัวเข็มขัดโบราณคาดเอวไว้เป็นเครื่องราง ก่อนจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม สะกดวิญญาณไว้เพื่อไม่เป็นการให้โทษแก่ผู้ถือครอง ก่อนที่ต่อมาปั้นเหน่งแม่นาคจะถูกเปลี่ยนมือไปอีกหลายทอด ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าของศักดิ์สิทธิ์จากตำนานรักแม่นาคตกทอดไปอยู่ในมือของผู้ใด

ตามความเชื่อ ปั้นเหน่ง เป็นขลังชนิดที่มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ แคล้วคลาด ใช้ป้องกันเหตุเภทภัยหรือคุณไสย และคงกระพันชาตรี ขอโชคลาภ หรือจะเป็นพรายกระซิบช่วยระวังป้องกันภัยเตือนภัย หากใครมีไว้ครอบครองเชื่อกันว่าจะต้องเซ่นเลี้ยงด้วย ข้าวปลาอาหาร เหล้าขาว สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการหมั่นทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าของกะโหลก เทพยดา ตลอดจนดวงวิญญาณของครูบาอาจารย์ผู้สร้าง ถ้าทำได้ตามนี้ก็เชื่อได้ว่าจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

reference: https://www.sanook.com/horoscope/161957/

ตัดต่อโดย สุนิตย์ อัศวินิกุล ทายาทของ ปง อัศวินิกุล ผู้บุกเบิกการบันทึกเสียงลงฟีล์มสำหรับภาพยนตร์ไทย (ก่อตั้งห้องบันทึกเสียงรามอินทรา) ผลงานเด่นๆ อาทิ รัก-ออกแบบไม่ได้ (พ.ศ. ๒๕๔๑), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔), หอแต๋วแตก (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฯ

หนังดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่าง นายมาก และนางนาก เริ่มต้นก็พลัดพรากจากกันเสียแล้ว แม้มีช่วงเวลาหวนกลับมาอาศัยอยู่ร่วม แต่ก็แค่ความสุขชั่วครั้งคราวดั่งภาพมายา สิ้นสุดทั้งสองถึงได้ร่ำจากลากันชั่วนิรันดร์

คนไทยส่วนใหญ่คงตระหนักรับรู้ถึงสิ่งเกิดขึ้นกับนางนากดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ชมครั้งแรก หนังจงใจปกปิดเหตุการณ์สำคัญบางอย่างไว้ ไม่รีบเร่งร้อนที่จะเปิดเผย รอคอยช่วยเวลาที่สองตัวละครกำลังร่วมรักหลับนอน ค่อยเฉลยออกมาว่าเธอเสียชีวิตท้องกลมจากไปแล้ว มันคงเป็นความคลุ้มบ้าคลั่ง นี่มัน Necrophilia หรืออย่างไร? (ร่วมรักกับศพ)

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นายมาก สามารถปลดปล่อยวางและตัดสินใจบวชพระ ก็ลองคิดดูว่าเมื่อเขานึกถึงเหตุการณ์ค่ำคืนนั้น (ร่วมรักกับศพ) ผมว่ามันทำให้คนปกติคลุ้มบ้าคลั่งเสียสติแตกได้เลยเมื่อรับรู้ความจริง การปล่อยวางลงเท่านั้นถึงสามารถสงบสุขขึ้นได้

เพลงประกอบโดยภควัฒน์ ไววิทยะ และชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ (นางนาก, บางระจัน, จันดารา, มนต์รักทรานซิสเตอร์) แทบจะถือได้ว่าปฏิวัติวงการเพลงประกอบของไทยสมัยนั้น เพราะได้ทำการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทย-เทศ แต่งเสร็จตั้งแต่ก่อนเริ่มการถ่ายทำ เลยทำให้ผู้กำกับมีวิสัยทัศน์ทางอารมณ์ระหว่างโปรดักชั่นได้อย่างกลมกล่อม

Main Theme เริ่มต้นด้วยความตะลึงงัน ก่อนหลอกหลอนไปกับเสียงร้อง/ฮัมทำนองกล่อมเด็ก สอดคล้องรับเสียงขลุ่ย รัวกลอง เพิ่มสัมผัสอันวาบหวิบ สั่นสะท้านใจ จิตวิญญาณราวกับหลุดล่องลอยออกจากร่าง ยิ่งพอครุ่นคิดถึงตำนานแม่นาคพระโขนงตามไปด้วย มันจะเกิดความขนลุกขนพองขึ้นมาทันที

เกร็ด: เสียงเอื้อนที่ได้ยินเป็นของ มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร อดีตนักร้องนำวง Kidnapper (ก่อตั้งโดย ภควัฒน์ ไววิทยะ)

ไพเราะสุดของหนังยกให้เพลงนี้เลยนะ ท่าน้ำ เสียงซออู้ที่แสนโหยหวน ทำให้จิตใจสั่นไหว สะท้านถึงทรวงใน ฉิ่งฉับขึ้นทีไรน้ำตามันจะไหลพรากๆออกมา รู้สึกสงสารนางนาก เฝ้ารอคอยนายมาก ไม่รู้เมื่อไหร่จะหวนกลับคืนมา

ท่วงทำนองนี้จะได้ยินอีกครั้งช่วงท้าย เมื่อพวกเขาคราวนี้ต้องพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์จริงๆ มันจะมีความเจ็บปวดรวดร้าวเพิ่มเข้ามา และธารน้ำตาไหลหลั่งรินโดยไม่รู้ตัว

ฉากแห่งความสุข หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับวิถีไทย พุทธศาสนา มักจะใช้ดนตรีไทยบรรเลงถ่ายทอดอารมณ์ออกมา เพื่อมอบสัมผัสย้อนยุค พื้นบ้านดั้งเดิมของชาวเรา

แต่เมื่อไหร่ต้องการความตื่นเต้น รุกเร้าใจ จักใช้เสียงกลองและเครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสานคลุกเคล้า

จริงๆแล้วความหลอกหลอนของนางนาก ไม่ใช่ว่าผีน่ากลัว ภาพขยะแขยง หรือการกระทำอันเหี้ยมโหดร้าย แต่คือบรรยากาศแห่งความซึมเศร้าโศก สงสารเห็นใจ รักแท้ที่แม้ได้ครองคู่กลับแค่ช่วงเวลาสั้นๆ พยายามปฏิเสธโชคชะตาฟ้าลิขิต ถึงร่างกายหมดสิ้นลมหายใจ ก็ยังยืนกรานจักหวนกลับมาในรูปวิญญาณ มอบช่วงเวลาแห่งความสุขสุดท้ายให้คนรัก ทั้งรู้ว่าคงอีกไม่กี่เศษเสี้ยววินาที ทุกสิ่งอย่างของชีวิตคงถึงกาลดับสูญสิ้นไป

ปรัมปราแม่นาคพระโขนง ที่ถูกต้องสมควรจัดเข้ากลุ่ม ‘โศกนาฎกรรม’ แต่หนังไทยก่อนหน้านี้ทั้งนั้น สร้างเป็นหนังผีบ้าง ตลกบ้าง แฟนตาซีบ้าง ไม่มีเรื่องไหนจับประเด็นสาระถูกต้องสักที จนกระทั่งการมาถึงของ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) ต้องชมเชย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง สามารถมองเห็นถึงแก่นแท้ของตำนาน และผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร ถ่ายทอดออกมาด้วยไดเรคชั่นทำให้ใครๆน้ำตาเล็ดไหลริน

เพราะเป็นเรื่องราวคนไทยส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้น ผู้ชมรุ่นเก่าๆหน่อยมักมองเห็นสัมผัสหวนระลึก ‘Nostalgia’ โหยหาอดีต ประกอบกับยุคสมัยนั้นวิกฤตต่างๆทำให้ชีวิตตกทุกข์ยากลำบาก ก่อเกิดอคติต่อปัจจุบัน เลยต้องการเพ้อฝันถึงความทรงจำสุดแสนหวานเมื่อครั้นวันวาน

มีการพูดถึงอยู่เหมือนกันว่า นางนาก แฝงไว้ด้วยประเด็น Feminist เพราะเธอคือผู้เสียสละตนเอง แบกรับความทุกข์ยากลำบาก แถมยังพยายามฝืนขืนลิขิตฟ้า เพื่อให้ได้สิ่งต้องการมาครอบครอง

นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) กับ พี่มาก..พระโขนง (พ.ศ. ๒๕๕๖) เป็นสองภาพยนตร์เกี่ยวกับตำนานแม่นาคพระโขนง ที่ต่อจากนี้คงได้รับการเปรียบเทียบด้วยกันเสมอ ซึ่งต่างมีดีในมุมของตนเอง
– นางนาก มีการนำพุทธศาสนาผสมผสานคลุกเคล้าลงไป ทำให้ได้คติธรรมสอนใจที่เป็นประโยชน์ เผชิญหน้าความจริง และปลดปล่อยวางจากความยึดติด
– พี่มาก…พระโขนง โดดเด่นในการนำอีกมุมมองตรงกันข้าม สอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ถ้าไม่สร้างกำแพงขึ้นมาครอบงำกีดกั้น แม้แต่การตกหลุมรักกับผีใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคน

แต่ส่วนตัวบอกเลยว่าชื่นชอบ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) มากๆกว่า ทั้งความบันเทิง และข้อคิดสอนใจของหนัง ชีวิตเมื่อหมดสิ้นอายุขัยก็สมควรที่จะปลดปล่อยวาง คลายความยึดติด ไม่ใช่จมปลักระเริงรื่นอยู่กับภาพมายา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ พี่มาก..พระโขนง (พ.ศ. ๒๕๕๖) แม้ประสบความสำเร็จยิ่งกว่า แต่สะท้อนมุมมองสังคมปัจจุบัน ใครๆต่างมีชีวิตอยู่บนความเพ้อฝัน


ด้วยทุนสร้างประมาณ ๑๒ ล้านบาท ทำเงินได้ในประเทศ ๑๔๙.๖๐ ล้านบาท บ้างว่าสามารถทุบสถิติเหนือ Titanic (1997) แต่ถ้าตามตัวเลขแปลงค่าเงินของเว็บ Boxofficemojo รายรับของ Titanic ในประเทศไทยคือ ๑๙๐+ ล้านบาท ก็ไม่น่าจะทำลายสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย … แค่ก็ถือว่าคือหนังไทยเรื่องแรกทำเงินเกิน ๑๐๐ ล้านบาท ทุบสถิติเดิมของ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่ ๗๐-๗๕ ล้านบาท แบบไม่เห็นฝุ่น!

คว้า ๗ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๒ (ปีนั้นประกาศแต่ผู้ชนะ ไม่มีรายชื่อผู้เข้าชิง)
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
– ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
– ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
– เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
– แต่งหน้ายอดเยี่ยม

ความอมตะของนางนาก น่าจะมีเฉพาะคนไทย ชาวพุทธเท่านั้นกระมังถึงสามารถตระหนักเข้าถึง จึง”ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ผมเองยังรู้สึกซาบซึ้งกินใจในฉากไคลน์แม็กซ์ ไม่ใช่การต่อสู้ธรรมะปะทะอธรรม ใช้ปาฎิหาริย์มนตรา หรือ Visual/Special Effect ตื่นตระการตา แต่ลงเอยสิ้นสุดด้วยการนั่งลงสวดมนต์ พูดคุยสนทนา เผชิญหน้ายินยอมรับความจริง และที่สุดคือปลดปล่อยวางจากความยึดติด แค่นี้ก็แทบจะน้ำตาไหลพรากๆแล้ว

จัดเรต ๑๓+ กับความหลอกหลอน ภาพความตาย

คำโปรย | การฟื้นคืนชีพของ นางนาก ฉบับผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร เพื่อกลายเป็นตำนานแห่งวงการภาพยนตร์ไทย
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
6 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

นักแสดงในเรื่องที่เหมือนถูกลืม ไม่ค่อยถูกกล่าวถึง (หาเครดิตก็ยาก) แต่บทบาทที่แสดงกลับถูกกล่าวถึงอย่า… Read more »

%d bloggers like this: