น้ำตาลไม่หวาน

น้ำตาลไม่หวาน

น้ำตาลไม่หวาน (พ.ศ. ๒๕๐๗) หนังไทย : รัตน์ เปสตันยี 

สมบัติ เมทะนี กำลังได้รับบทเรียนครั้งสำคัญ เพราะความโลภละโมบหลงใหลในเงินทองทรัพย์(สมบัติ) ทำให้มองข้ามสิ่งสำคัญสุดในชีวิต แต่เมื่อค้นพบเจอจุดอ่อนของ เมตตา รุ่งรัตน์ นักแสดงเจ้าของฉายา ‘ไข่มุกดำแห่งเอเชีย’ ก็จักมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง, ผลงานชิ้นสุดท้ายของ รัตน์ เปสตันยี ก่อนหมดอาลัยกับวงการหนังไทย “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงส่วนตัวจะไม่ชื่นชอบตอนจบของหนังสักเท่าไหร่ มันมุกบ้าอะไร ‘ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง’ นับได้ 19+1 สิ้นคิดแท้! แต่พอครุ่นคิดไปมา นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องรักโรแมนติก พ่อแง่-แม่งอน ปลูกฝังคติธรรมสอนใจมนุษย์ ยังสะท้อนความรวดร้าวทุกข์ทรมาน/คาดหวังของผู้กำกับ รัตน์ เปสตันยี ต่อวงการภาพยนตร์ไทยยุคสมัยนั้น

ก่อนที่ผมจะอธิบายต่อไปว่า หนังสะท้อนความรวดร้าวทุกข์ทรมาน/คาดหวังของคุณรัตน์ เปสตันยี อย่างไร? บอกใบ้เล็กๆให้ลองครุ่นคิดกันเองเสียก่อน มีตัวละครหนึ่งสามารถเทียบแทนได้ด้วยตัวผู้กำกับเลย จากนั้นเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นอันกลายเป็นจุดหมุนก่อน-หลัง และมันน่าขนหัวลุกสุดๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แทบไม่ต่างอะไรจากนัยยะใจความของหนังเรื่องนี้!

รัตน์ เปสตันยี (พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๕๑๓) ผู้กำกับชาวไทย เกิดที่จังหวัดพระนคร บรรพบุรุษมาจากเตหะราน, Persia ซึ่งมาทำการค้าขายในประเทศไทยกว่าร้อยปีมาแล้ว, ตั้งแต่เด็กสนใจการถ่ายภาพ ใช้เวลาว่างฝึกฝนความรู้จนชำนาญ หลังจบ ม.๓ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เดินทางไปศึกษาต่อยังอินเดีย ตามด้วยอังกฤษ จบวิศวกรรมเครื่องกล, London University ทดลองกำกับหนังสั้น แตง (พ.ศ. ๒๔๘๑) คว้ารางวัลจากการประกวด Empire Amateur Film Festival, เมือง Glasgow มอบให้โดยผู้กำกับดัง Alfred Hitchcock เลยคิดเอาจริงจังด้านนี้ กลับมาเมืองไทยทำงานที่บริษัทนายเลิศ และบริษัทดีทแฮล์ม นานกว่าสิบปี ก่อนได้รับการชักชวนจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ของอัศวินภาพยนตร์ ให้มาเป็นตากล้อง พันท้ายนรสิงห์ (พ.ศ. ๒๔๙๒), เขียนบท-กำกับเองเรื่องแรก ตุ๊กตาจ๋า (พ.ศ. ๒๔๙๔), และโด่งดังทัวโลกกับ สันติ-วีณา (พ.ศ. ๒๔๙๗)

ร่วมงานกับ รอย ฤทธิรณ นามปากกาของ ทวี เกตะวันดี (พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๑๗) นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น ได้รับคำชักชวนจากครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) มาเขียนบทภาพยนตร์ ตะวันหลั่งเลือด (พ.ศ. ๒๕๐๕), กัปตันเครียวฉลามเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๐๖) [กำกับโดย วิจิตร คุณาวุฒิ]

มนัส (สมบัติ เมทะนี) ลูกชายโทนของ เจ้าคุณเจริญเกษา (เสน่ห์ โกมารชุน) มหาเศรษฐีชาวจีนเจ้าของบริษัทเกษาเจริญ ผู้ผลิตและจำหน่าย ‘ยาผุง’ ยาปลูกผมสูตรจากอินเดีย ยอดขายอันดับหนึ่ง แต่ด้วยนิสัยเรสำมะเลเทเมาไม่เอาถ่าน มั่วสุมอยู่กับ วัชรี (ปรียา รุ่งเรือง) สร้างความหนักใจให้ผู้เป็นพ่อจึงหาวิธีชักจูงจมูกกลับมา จับคลุมถุงชนแต่งงานกับ น้ำตาล (เมตตา รุ่งเรือง) ลูกสาวโทนของเพื่อนชาวอินเดียเจ้าของสูตรยาผุง ทีแรกใช้เงิน ๒ ล้านบาท ต่อด้วย ๕ ล้าน จ่ายเมื่อมีทายาทสืบสกุล

สมบัติ เมทะนี (เปิดปี พ.ศ. ๒๔๘๐) นักแสดง ผู้กำกับชาวไทย ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของสถิติ Guinness World Records รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลกถึง ๖๑๗ เรื่อง, เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ย้ายมาอยู่ย่านสะพานอ่อน, กรุงเทพฯ จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ทำงานครั้งแรกที่บริษัท SCG ต่อมาลาออกเข้าเรียนอนุปริญญาโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนทวาย เกณฑ์ทหาร ๖ เดือน ปลดออกมาตั้งใจจะรับราชการ แต่ได้เข้าสู่วงการบันเทิงโดยบังเอิญจากแมวมองแถวโรงภาพยนตร์คิงส์-ควีนส์ ย่านวังบูรพา ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ แสดงละครโทรทัศน์เรื่อง หัวใจปรารถนา (พ.ศ. ๒๕๐๓) ประกบวิไลวรรณ วัฒนพานิช, ต่อด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก รุ้งเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๔) ประกบ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง

ผลงานเด่นๆในวงการ อาทิ น้ำตาลไม่หวาน (พ.ศ. ๒๕๐๗), ศึกบางระจัน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เกียรติศักดิ์ทหารเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๘), จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐), เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), พ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๑๕), มือขวาอาถรรพ์ (พ.ศ. ๒๕๓๔), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ฯ

มนัส ชายหนุ่มผู้มีความสำมะเทเมา มากด้วยเพื่อนนักเลงอันธพาล ลุ่มหลงใหลในทรัพย์สมบัติเงินทอง ครุ่นคิดเข้าใจว่ามันคงสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่างรวมถึงแฟนสาวขณะนั้น วัชรี แต่โดยไม่รู้ตัวกลับกำลังโดนเลื่อยขาเตียงเพราะเธอตกหลุมรักอยู่กับชายอื่น, หลังจากแต่งงานกับ น้ำตาล และเตี่ยเสียชีวิตไม่ส่งมอบมรดกตกทอดสักแดงเดียว ทำให้ได้บทเรียนชีวิตครั้งสำคัญ รับรู้ตนเองว่ามิสามารถทนต่อความทุกข์ยากลำบาก วางแผนการอันร้ายกาจเพื่อหวังเผด็จศึก ครอบครองบางสิ่งสำคัญยิ่งกว่าเงินทอง

น้าแอ๊ดสมัยหนุ่มๆ ร่างกายบึกบึนกำยำ วางมาดกร่างๆ พูดจาหยาบกระด้าง แหม!นึกว่านักเลงมาเอง สมบทบาทมากๆตอนหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง(ในโรงพยาบาล) นึกว่าตนเองได้รับชัยชนะครอบครองมรดกมูลค่าหลายร้อนล้าน แต่ที่ไหนได้นั่นคือความพ่ายแพ้ตกต่ำจมดิน เดินอย่างล่องลอยไร้วิญญาณยังทุ่งท้องสนามหลวง กลายเป็นน่าสงสารเห็นใจไปซะงั้น

เมตตา รุ่งรัตน์ ชื่อจริง ดาราวดี ดวงดารา (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๕) นักแสดงหญิงชาวไทย บุตรสาวของ บุญส่ง ดวงดารา ศิลปินละครเวทีผู้มีชื่อเสียงในอดีต เริ่มฉายแววตั้งแต่เด็กเป็นนักเรียนนาฏศิลป์ไทย เข้าตา จำนง รังสิกุล แห่งไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ค้นพบนำมาแสดงละครรำออกอากาศสดเดือนละครั้ง, ต่อมามีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ วัยรุ่นวัยคะนอง (พ.ศ. ๒๕๐๕), จอมใจเวียงฟ้า (พ.ศ. ๒๕๐๕), น้ำตาลไม่หวาน (พ.ศ. ๒๕๐๗), ผู้ชนะสิบทิศ (พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐), เรารักกันไม่ได้ (พ.ศ. ๒๕๑๓), รอยลิขิต (พ.ศ. ๒๕๒๑) ฯ และความที่ได้เคยโกอินเตอร์เล่นหนังต่างประเทศหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น The Secret of the Black Ruby (1966) เป็นเหตุให้ได้รับฉายา ‘ไข่มุกดำแห่งเอเชีย’

น้ำตาล ก็ไม่รู้คนไทยหรืออินเดีย แต่ใบหน้าคมเข้มพูดไทยชัดเจน ยินยอมแต่งงานคลุมถุงชนทั้งๆไม่เคยพบเจอรู้จัก เพราะต้องการตอบแทนบุญคุณ เจ้าคุณเจริญเกษา แต่เมื่อพบเจอคู่หมั้น มนัส รับรู้ถึงความสำมะเลเทเมา ถึงรูปหล่อหน้าตาดีก็แสร้งเล่นแง่ลีลา ไม่ยินยอมให้เขาเป็นเจ้าค่ำเจ้าของครอบครองตนโดยง่าย จนกว่าจะรู้สึกสำนึกตัว อย่าหวังจะได้แอ้มแอบเข้าห้องนอนของตนเอง

ผมค่อนข้างเชื่อนะว่า น้ำตาล คงจะตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบกับ มนัส แต่เมื่อเขาแสดงความเย่อหยิ่งทะนงตนออกมาขนาดนั้น เลยต้องการโต้ตอบสนองเอาคืนอย่างสาสม ตาต่อตาฟันต่อฟัน โยนลงน้ำ หยดหยอดน้ำตาร่ำไห้ ลึกๆแล้วท้าทายให้กล้าหน่อย รู้ตนเองเสียทีว่าฉันคือศรีภรรยาของนาย มีปัญญาก็ลองหาวิธีใช้กำลังเข้าช่วงชิง ผลลัพท์ก็เลยกลายเป็น Trauma ไม่รู้จริงจังหรือแสร้งเล่น ได้ยินเสียจิ้งจกตุ๊กแก พลันให้เป็นลมล้มพับหมดสติสตางค์ทุกครา

ปกตินักแสดงหญิงในหนังของคุณรัตน์ มักจะมีความแก่นแก้ว หัวขบถ ขัดแย้งต่อขนบเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ของคนไทยสมัยก่อน แต่สงสัยเพราะครึ่งหนึ่งแบ่งให้ ปรียา รุ่งเรือง (รับบท วัชรี) ที่ใครๆคงจดจำเรียวขาอันสุดแสนเซ็กซี่และเงาขณะโป๊เปลือยอาบน้ำ หลงเหลือให้ เมตตา รุ่งรัตน์ คือความสุภาพอ่อนโยน ตาคมผิวเข้ม เหี้ยมเฉพาะคนที่โหดต่อตนมาก่อนเท่านั้น ดูน่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน

เกร็ด: ตอนแรกคุณรัตน์ ต้องการ มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ พระเอกคู่ขวัญแห่งยุคสมัยนั้นมานำแสดง แต่ทั้งคู่มีคิวงานยาวเหยียด ทั้งยังไม่เคยแสดงภาพยนตร์ Sound-on-Film มาก่อน เลยตอบปฏิเสธไป

เสน่ห์ โกมารชุน (พ.ศ. ๒๔๖๖ – พ.ศ. ๒๕๑๔) นักร้อง นักแสดง ตลก(จำอวด) นักแต่งเพลง นักพากย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปินแห่งชาติไทย เกิดที่ย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี หลังเรียนจบมัธยมปลาย สมัครเป็นนักร้องประจำวงของกองดุริยางค์ทหารเรือ เริ่มมีชื่อเสียงจากการร้องเพลงล้อเลียน กลายมาเป็นตลกหน้าเวทีลิเกคณะหอมหวล ตามด้วยออกมาตั้งคณะลิเกของตนเองชื่อ เสน่ห์ศิลป์ สู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นนักแสดง ตลก(จำอวด) นักพากย์มีชื่อเสียงประจำอยู่ที่ศาลาเฉลิมบุรี และศาลาเฉลิมกรุง, ต่อมาเกิดความสนใจอยากเอาดีด้านการสร้างภาพยนตร์บ้าง อาทิ โบตั๋น (พ.ศ. ๒๔๙๘), หงษ์หยก (พ.ศ. ๒๔๙๙), แม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๐๒), ค่าน้ำนม (พ.ศ. ๒๕๐๓) ฯ

รับบทเจ้าคุณเจริญเกษา มหาเศรษฐีชาวจีน เจ้าของบริษัทเกษาเจริญ ร่างกายอิดๆออดๆ ต้องนั่งบนรถเข็นตลอดเวลา ฉีดยาทุกเช้าเย็น ร่อแร่ใกล้ตาย เงินทองมหาศาลไม่รู้เอาไปทำอะไร ก็อยากมอบให้ลูกชายหัวปลีแต่มันดันไม่เอาถ่านเสียเลย เลยเลือกทายาท น้ำตาล มอบมรดกหลายร้อยล้านให้ หวังว่าสักวัน มนัส จะเข้าใจเหตุผลของตนเอง กลับตัวกลับใจเป็นคนดี รู้ซึ้งว่าเงินทองไม่ใช่สิ่งสำคัญสุดในชีวิต

เป็นโอกาสหายากยิ่งจริงๆ กับการได้ยินเสียงของโคตรนักพากย์ระดับตำนาน เสน่ห์ โกมารชุน เต็มไปด้วยลีลา จัดจ้าน กวนประสาท เหมือนคนจีนแต้ๆ ฉากร้องเพลงบทเวทีนี่ขำกลิ้งเลย นั่งอยู่เฉยๆบนเก้าอี้ก็ยังสามารถคอยแย่งซีนการแสดงได้อยู่เรื่อยๆ

เกร็ด: รัตน์ เปสตันยี มีบทรับเชิญเล็กๆ เป็นนายแพทย์ผู้ดูอาการท่านเจ้าคุณตอนเสียชีวิต ประมาณ ๑๐ วินาทีได้กระมัง (นี่ก็รับอิทธิพลจาก Hitchcock Cameo)

ถ่ายภาพโดย สันติ์ เปสตันยี (ลูกชายของ รัตน์ เปสตันยี) และ อุดม หรั่งฉายา ด้วยฟีล์ม 35mm บันทึกเสียง Sound-On-Film (ที่ได้ยินในหนังคือนักแสดงพูดเองทั้งหมด ไม่มีการพากย์เสียงทับ)

ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น กล้องมีขนาดใหญ่เทอะทะทำให้เคลื่อนย้ายลำบาก เราจึงพบเห็นเพียง ๒-๓ เทคนิคที่ใช้ในหนัง หลักๆคือจัดวางองค์ประกอบให้อยู่ในระยะรัศมีที่กำหนด, แพนนิ่งหมุนกล้องจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ฯ

เอาจริงๆเมื่อเทียบกับผลงานที่คุณรัตน์ เป็นตากล้องถ่ายภาพเอง หรือใช้บริการของ ประสาท สุขุม หนังเรื่องนี้ถือว่าห่างชั้นความงดงามอยู่มาก มุมกล้องเลือกทิศทางไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็น Long Shot กับ Full Shot (เห็นนักแสดงเต็มตัว) น้อยนักกับ Medium Shot และ Close-Up นับครั้งได้ ราวกับไม่ต้องการให้จับจ้องสีหน้าอารมณ์ของนักแสดงสักเท่าไหร่

แต่ที่พอจะเป็นไฮไลท์หน่อยคือการจัดแสงเงา กลิ่นนัวร์คลุกเคล้า เรียกว่าแทบจะเป็นลายเซ็นต์หนังของคุณรัตน์ เลยก็ว่าได้ รับอิทธิพลมหาศาลจาก Alfred Hitchcock โดยเฉพาะฉากความฝัน (ซ้อนภาพกับหน้าคน), ปีนบันได, ยามค่ำคืนร้องเพลง น้ำตาลไม่หวาน ฯ

ที่จะโดดเด่นกว่าการถ่ายภาพ เห็นจะเป็นออกแบบฉากที่เต็มไปด้วยลวดลาย สีสัน มีนัยยะความหมายซ่อนเร้นอยู่ อาทิ
– ห้องนอน/บ้านเช่าของวัชรี ใช้โทนสีแดง/ชมพู (สีมันไม่ค่อยชัด เลยบอกไม่ได้ว่าอะไร) สะท้อนตัณหาราคะ ความต้องการ, ภาพวาดนก ๕ ตัว โหยหาอิสรภาพของชายหนุ่ม/หญิงสาว, ชู้หลบซ่อนใต้เตียง (นี่ความหมายตรงๆ), ขาเตียงหัก คือชีวิตที่ไปไม่รอดระหว่าง มนัส-วัชรี
– ฉากต้อนรับน้ำตาล ขับร้องเพลงภาษาฮินดี พื้นหลังปัดๆด้วยพู่กันหลากหลายสีสัน ราวกับเด็กน้อยละเลงงานศิลปะ
– บ้าน/เสื้อผ้าของเตี่ย ใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก สะท้อนอำนาจ ความมั่นคง อิทธิพลเหนือกว่า (ธงไตรรงค์สีน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ ผู้นำ/ปกครองประเทศชาติ)
– พบกันครั้งแรกของ น้ำตาล กับ มนัส (และวัชรี) ในห้องมีภาพวาดลวดลายมังกรตัวเขียว โบยบินอยู่บนก้อนเมฆ ในความเชื่อของคนจีนถือเป็นสิริมงคล สัญลักษณ์ของมิตรภาพ ความสุข
– งานเลี้ยงแต่งงาน บนเวทีพื้นหลังทาสีน้ำเงิน (ความมั่นคง) ประดับด้วยลวดลายโน๊ตดนตรี (บันเทิงเริงรมณ์)
– ห้องโรงพยาบาลของ มนัส, ตอนแรกนอนเข้าเฝือก ผนังสีแทนคือความหม่นหมองขุ่นเคือง ตอนถูกคุมขัง(ในโรงพยาบาลบ้า) ผนังสีเขียวแห่งความชั่วร้าย
ฯลฯ

ตัดต่อโดย รัตน์ เปสตันยี, ส่วนใหญ่ของหนังเล่าเรื่องในมุมมองของ มนัส แต่หลายครั้งก็เปลี่ยนไปเป็น น้ำตาล สลับกันเวลาพวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมชายคา

เนื่องจากฉบับที่ผมรับชมใน DVD ความยาวเพียง ๘๖ นาที แต่ใน Wikipedia เขียนว่า ๑๓๘ นาที ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงแตกต่างขนาดนั้น ได้ยินว่าส่วนหนึ่งคือเพลงประกอบ ฉบับยาวกว่าใส่มาเต็มๆไม่มีตัด (หายไปกว่า ๕๐ นาทีเลยเนี่ยนะ!)

หลายครั้งของการตัดต่อ แทรกภาพนามธรรมเพื่อให้ผู้ชมครุ่นคิดคาดเดาเหตุการณ์ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
– ขณะร้องเพลง แทรกภาพ Close-Up ปากขยับของโรตี ฟังไม่ได้สดับ เลยเกิดเรื่องขัดแย้งชกต่อง
– ตอนเตี่ยเสียชีวิต ภาพจับค้างอยู่ที่เรือนนาฬิกา แล้วอยู่ดีๆมันก็หยุดเดินตาย
– ของที่ระลึกต่างหน้าของมนัส ที่เตี่ยมอบให้ คือเครื่องเล่นแผ่นเสียง สื่อนัยยะถึง การอยากให้เขารู้จัก’รับฟัง’ สิ่งที่เป็นปัญหา ข้อบกพร่องของตนเองบ้าง
– คุณโสภา (คนที่พยาบาลฉีดยา ดูแลเจ้าคุณเจริญเกษา) ถูกขับออกจากห้องนอน หลังจากมนัสอุ้มน้ำตาลเข้าห้อง ไม่ต้องบอกก็รู้ได้กระมังว่าเพราะอะไร
– หลังได้ครองรัก ลูกเต็มบ้าน ปรากฎภาพของดอกไม้สวยงาม = ชีวิตที่เป็นสุขสดชื่นรื่นเริงรมณ์
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย ปรีชา เมตไตรย์ มีทั้งไทยเทศ อินเดีย จีน คลาสสิก และร้องสดๆของนักแสดง เต็มไปด้วยความหลากหลายนานาชาติ เพื่อให้หนังดูมีความเป็นสากลมากที่สุด

ลักษณะการใช้บทเพลง เพื่อสื่อแทนอารมณ์และความหมายบางอย่าง
– มนัส ตอนแรกได้ยินเพลงจากโฆษณาขายผุง ดังขึ้นตอนเตี่ยบอกจะมอบให้ ๕ ล้านเมื่อมีลูก เป็นลมล้มพับโดยทันที หลังจากนั้นเมื่อเข้าเฝือกนั่งอยู่บนเก้าอี้ พอได้ยินเพลงนี้ดังขึ้น เกิดความเกรี้ยวกราดโกรธ ลุกขึ้นมาทำลายข้าวของ (เรียกว่าเป็นเพลงที่ก่อให้เกิด Trauma ของตัวละครโดยแท้)
– เมื่อตอนที่ มนัส กลับบ้านตรงกับวันเกิดพอดี น้ำตาล กับผองเพื่อนร่วมร้องเพลง Happy Birth Day ก่อนจับโยนลงคลองฉลองวันเกิด
– วันอ่านพินัยกรรม เมื่อมนัสได้รับมอบเครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาพปรากฎพร้อมบทเพลงงิ้วจีนดังขึ้น ให้สัมผัสเหมือนเป็นการล้อเลียนสมน้ำหน้า(ของเตี่ย)
– เสียงซอ(และพิณ)กรีดกรายระหว่าง มนัสเดินล่องลอยเรื่อยเปื่อยแถวๆท้องสนามหลวง สะท้อนความรวดร้าวทุกข์ทรมานของตนเอง นี่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเขาสามารถทำได้แม้แต่น้อย
ฯลฯ

น่าเสียดายผมหาเพลงประกอบใน Youtube ให้ฟังไม่ได้เลย โดยเฉพาะ น้ำตาลไม่หวาน ประพันธ์โดย ชาลี อินทรวิจิตร (ในหนังขับร้องโดย สมบัติ เมทะนี) แต่ก็พบเจอคลิปโฆษณายาบำรุงผม ขับร้อง(ในโทรทัศน์)โดย รุจน์ รณภพ

ยาผุง สำหรับใช้ปลูกผมบนศีรษะ เป็นสิ่งสัญลักษณ์เชิงรูปธรรม สื่อความหมายถึงนามธรรมสติปัญญา ความคิดอ่าน นั่นเป็นสิ่งซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนไม่ได้ นอกจากการร่ำเรียนรู้เข้าใจด้วยประสบการณ์ตนเอง

ขณะที่น้ำตาล คงแทนด้วยรสชาดของชีวิต ใครๆย่อมรู้ได้ว่ามีรสหวาน แต่เมื่อชื่อหนัง/ชื่อเพลงคือ น้ำตาลไม่หวาน สื่อความหมายได้ถึง
– พฤติกรรมการแสดงออกของน้ำตาล ก็เพราะ มนัส แสดงความผยองออกมาก่อน เธอเลยต้องเสแสร้ง ลีลา เล่นตัว ทำตัวไม่หวาน/ไม่น่ารักเอาเสียเลย
– ความหมายโดยรวมของหนัง สื่อถึงชีวิต(ของมนัส)ที่แม้เป็นลูกคนรวยมหาเศรษฐี แต่เตี่ยก็จงใจไม่โรยทิ้งไว้ให้ด้วยกลีบกุหลาบอันมีรสชาดหอมหวานตลอดเวลา เพราะความเย่อหยิ่งจองหองเห็นแก่ตัวของตนเอง เป็นสาเหตุก่อให้เกิดความขื่นขม

มนุษย์เรามักบริโภคในสิ่งที่มองเห็นว่า รูปมีความงดงาม ก็ครุ่นคิดหลงเข้าใจผิดว่า รสชาดของมันต้องหวานอร่อย แต่แท้จริงแล้วหาได้จำเป็นไม่ หลายครั้งหวานเพราะยาพิษ ไม่ก็พอเข้าปากไปถึงรู้ฤทธิ์ขมชิบหาย! เพราะสิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้มองเห็นด้วยตา เนื้อใน(รสชาด)มันต่างหาก ที่จะทำให้อาหารมื้อนั้นอิ่มกายใจสุดแล้ว

ตอนที่ รัตน์ เปสตันยี สร้างน้ำตาลไม่หวาน ร่ายกายอิดๆออดๆ เจ็บป่วยเบาหวานและโรคหัวใจ รู้ว่าหลังจากนี้คงไม่สามารถทำภาพยนตร์ขนาดยาวได้อีกแล้ว จึงทิ้งท้ายด้วยการเปรียบตนเองกับ เจ้าคุณเจริญเกษา (สภาพอิดๆออดๆใกล้ตายเหมือนกัน) มีลูกรักหนึ่งเดียวคือ มนัส (แปลว่า จิตใจ) เป็นคนไม่เอาอ่าวเสียเหลือเกิน วงการภาพยนตร์เมืองไทยขณะนั้นก็เช่นกัน

ด้วยความตั้งใจของคุณรัตน์ ต้องการทิ้งบางสิ่งอย่างไว้ให้เป็นมรดกตกทอดพินัยกรรม เพราะยุคสมัยของตนเองใกล้ถึงคราจบสิ้นแล้ว อนาคตคนรุ่นหลังเท่านั้นถึงมีโอกาสพบเห็นคุณค่าความสำคัญ เฉกเช่นกันกับ เจ้าคุณเจริญเกษา ที่ได้ฝากฝัง มนัส ไว้กับ น้ำตาล ช่วยเติมความหวานให้กับชีวิตเขา คาดหวังว่าอนาคตสักวันจะสามารถเสี้ยมสั่งสอนขัดเกลา กลับตัวกลับใจเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนดีของสังคมได้

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ คุณรัตน์ เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญก่อตั้งสหพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์ในประทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนั้น อาทิ ความไม่ได้มาตรฐานสากล ขาดการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลภาพยนตร์ อัตราสัดส่วนค่าแรงรายได้ ฯ ทั้งยังหวังเรียกร้องให้สนับสนุนภาพยนตร์ในฐานะอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งด้วย แต่ก็ถูกมองข้ามเรื่อยมาจนถึง สันติ วีณา (พ.ศ. ๒๔๙๗) สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดระดับนานาชาติมากมาย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เกิดความตั้งใจสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจัง สุดท้ายเมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๐๐ ทุกอย่างหวนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกรอบ

ดิ้นรนอยู่หลายปีจนกระทั้ง พ.ศ. ๒๕๐๘ สมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งประเทศไทย จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีรัตน์ เปสตันยี เป็นนายกสมาคมคนแรก (นี่เหตุการณ์หลังสร้าง น้ำตาลไม่หวาน) ถึงกระนั้นก็เป็นได้เพียงเสือกระดาษ เพราะภาครัฐได้ออก พ.ร.บ. ๒๕๐๙ เกี่ยวกับการจัดตั้งสมาคม ทำให้คณะกรรมการชุดริเริ่มทำงานต้องหมดสิ้นสภาพไป

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือภาพยนตร์ไทยอย่างไรบ้าง ณ ห้องเมธี โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนผลัดกันพูด คุณรัตน์ขอลุกขึ้นเสวนาเป็นคนสุดท้าย แต่ด้วยความอัดอั้นและคับข้องใจที่เผชิญมาตลอดเวลาทำงาน เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายล้มลงกลางที่ประชุม และเสียชีวิตเมื่อเวลา ๒๒.๑๘ น. ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของคุณรัตน์ เป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนใจแก่สังคม และนั่นอาจเป็นแรงผลักครั้งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลรีบเร่งจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนั้น

โดยไม่รู้ตัวภายหลังจาก รัตน์ เปสตันยี/เจ้าคุณเจริญเกษา เสียชีวิตหมดสิ้นลมหายใจ มนัส สามารถกลับตัวกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นคนดีของสังคม ครองรักอยู่กินร่วมกับ น้ำตาล ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง จนกล้องถ่ายภาพรับไม่ไหวระเบิดตูมตาม หัวเราะร่า จิ้งจก/ตุ๊กแกร้องทัก

ผมคิดว่าความตั้งใจของคุณรัตน์ จริงๆแล้วก็แค่คาดหวัง/วาดฝันอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทย สักวันหนึ่ง (อาจจะถึงขั้นภายหลังตนเองตายจากไปแล้ว) ย่อมต้องได้รับการยอมรับ สนับสนุนจากรัฐบาล สู่วิถีทางที่มันควรจะเป็น ซึ่งปรากฎว่าการเสียชีวิตของท่าน คือชนวนสาเหตุสำคัญให้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงจริงๆดังที่หนังพยากรณ์ไว้ นั่นครุ่นคิดดูแล้วชวนให้น่าขนลุกขนพองเสียจริงนะครับ เรียกว่าความบังเอิญคงไม่ใช่แน่ๆ โชคชะตาฟ้านำพาชีวิตของ รัตน์ เปสตันยี ให้แปรสภาพกลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นเอกของประเทศไทย

ตอนรับชมภาพยนตร์จบลง ส่วนตัวรู้สึกกลางๆไม่ชอบไม่เกลียด ไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่กับตอนจบ แต่พอเริ่มเขียนบทความนี้ ค้นหาข้อมูลจนพบเห็นบางสิ่งอย่าง ความขนลุกขนพองนั้นบีบบังคับให้ผมต้องชื่นชอบมันขึ้นมา ราวกับว่าได้เข้าถึงจิตวิญญาณของผู้สร้าง ซาบซึ้งจนเกิดความภาคภูมิใจ คงไม่มีผู้กำกับไทยไหน สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากไปยิ่งกว่า รัตน์ เปสตันยี

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำส่วนที่เป็นข้อคิดสาระประโยชน์ของหนังก็แล้วกัน สิ่งสำคัญสุดของชีวิตไม่ใช่เงินทองทรัพย์สมบัติมีค่า แต่คือคุณความดีงามของคน มองไม่เห็นด้วยตา ต้องใช้ใจสัมผัสรู้ … เชยไปหน่อยนะ แต่เรื่องนี้ขยี้ประเด็นแบบตรงไปตรง เพื่อคนไทยสามารถเข้าถึงได้โดยเฉพาะ

จัดเรต ๑๓+ กับความหลงใหลยึดติดในเงินทอง ปลิ้นปล้อนกะล่อนกลับกลอก

TAGLINES | “ถึงรสชาดชีวิตของ รัตน์ เปสตันยี จะคือน้ำตาลไม่หวาน ทิ้งความขื่นขมไว้ปลายลิ้น กระนั้นกาลเวลาได้แปรสภาพให้กลายเป็นต้นตำหรับอาหารไทย ดังไกลระดับโลก”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: