น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗) : ยุทธนา มุกดาสนิท ♥♥♥♥
ดัดแปลงจากอดีตหนังสืออ่านนอกเวลา เรื่องของน้ำพุ/ พระจันทร์สีน้ำเงิน เรื่องจริงของวงศ์เมือง นันทขว้าง ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนักเขียนชื่อดังสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง โดยเธอได้ให้ข้อสรุปที่น้ำพุกลายเป็นคนติดยาเสพติดว่า ‘ฉันเลี้ยงลูกไม่เป็น’ แต่มันใช่เหตุผลทั้งหมดจริงๆนะหรือ?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ภาพยนตร์เรื่อง น้ำพุ ได้ทำการชี้ชักนำผู้ชมให้เกิดความเชื่อเข้าใจไปในทิศทางที่ว่า ปัญหาวัยรุ่นติดยาเสพติด มีสาเหตุจากครอบครัว พ่อ-แม่หย่าร้าง ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล ความเข้าใจแบบนี้ในยุคสมัยปัจจุบันต้องถือว่ากลายเป็น ‘ความข้างเดียว’ เฉิ่มเชยตกยุคไปเสียแล้ว เพราะมันมีเหตุผลปัจจัยอื่นอีกพันร้อยแปดนานับประการ กระนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนปัญหา ‘เริ่มต้น’ ของสังคมไทย ที่ทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักหวาดกลัว ออกมาได้อย่างทรงพลังยิ่งทีเดียว
เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลพบว่า หนังสืออ่านนอกเวลาชุดใหม่จำนวน ๔๔ เล่ม ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ตัดเรื่องของน้ำพุ นำออกไปแล้ว คงด้วยเหตุผลเรื่องกาลเวลา คุณค่าทางวรรณกรรม และภาษาสำนวนที่เฉิ่มเฉยตกยุคสมัย จะไปโวยวายคงไม่ใช่เรื่อง แต่ถือเป็นความน่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่คงหมดโอกาสรู้จักตำนาน/เรื่องราวสอนชีวิต อันแสนมีคุณค่ายิ่งนี้ไป
สุวรรณี สุคนธา นามปากกาของ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗) นักเขียนและบรรณาธิการชื่อดังชาวไทย เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก โตขึ้นเข้าเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง จบปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปกร จากนั้นเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษา ตามด้วยอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างนั้นเริ่มเขียนเรื่องสั้น จดหมายถึงปุก (พ.ศ. ๒๕๐๘) ตีพิมพ์ในสตรีสาร, นวนิยายเรื่องแรก สายบ่หยุดเสน่ห์หาย (พ.ศ. ๒๕๐๘) ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี เมื่อเริ่มเก็บเงินได้มากพอจึงลาออกมาเขียนหนังสืออย่างเดียว และยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารลลนา
ด้านครอบครัว สมรสกับทวี นันทขว้าง อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓) มีบุตร-ธิดาด้วยกันสี่คน ต่อมาหย่าขาดจากสามีแล้วมาร่วมชีวิตกับนายศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต
วงศ์เมือง นันทขว้าง (๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗) ชื่อเล่นน้ำพุ ลูกชายคนเดียวของสุวรรณีกับทวี แม้ครอบครัวจะมีฐานะมั่นคง แต่การที่พ่อ-แม่หย่าร้าง ต้องมาอยู่กับพี่น้องอีก ๓ คนที่ล้วนเป็นผู้หญิง ทำให้เป็นคนมีจิตใจอ่อนไหวติดแม่ เกิดเป็นปมด้อยถูกล้อเลียนในช่วงวัยรุ่น พอพบเห็นคนรักใหม่ของแม่ก็ยินยอมรับไม่ได้ เริ่มออกเที่ยวเตร่หันเข้าหายาเสพติด เคยมีเรื่องราวต้องขึ้นศาลเยาวชน ติดคุกสถานกักกันอยู่หลายเดือน, ด้วยความสนใจด้านศิลปะ เข้าเรียนต่อโรงเรียนช่างศิลป์ (หรือวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร) ได้รู้จักเพื่อนใหม่ สนินสนมกัน ชักชวนกันเสพยา ครั้งหนึ่งคิดได้ไปรับการบำบัดที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี ระหว่างนั้นเขียนจดหมายถึงแม่ เล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองในแต่วัน (ตีพิมพ์เป็นหนังสือ เรื่องของน้ำพุ ที่ระลึกงานฌาปนกิจของตนเอง) หลังจากเลิกสำเร็จกลับมาบ้าน แต่ก็ไม่วายหวนกลับมาเสพยาอีกครั้ง แต่ครานี้โชคชะตาไม่เข้าข้าง วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ คนในบ้านได้พบน้ำพุนอนหงายหมดสติอยู่กลางพื้นห้อง รีบนำส่งโรงพยาบาลเดชาแต่ก็ไม่ทันการ ชันสูตรพบสาเหตุเสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาดเข้าเส้นเลือด หัวใจวายเฉียบพลัน สิริอายุ ๑๘ ปี ๒ เดือน ๒๕ วัน
ในคำนำหนังสือ เรื่องของน้ำพุ สุวรรณีเขียนข้อความเกริ่นไว้ว่า
“มีคนถามข้าพเจ้าเสมอ หลังจากที่น้ำพุได้สิ้นชีวิตแล้วว่า ‘เลี้ยงลูกยังไง ถึงได้ปล่อยให้ลูกติดเฮโรอีน’ ทำให้ต้องนิ่งและไม่อาจจะหาคำตอบได้ แต่ถ้าจะให้ตอบจริงๆแล้ว ก็จะต้องโทษตัวเองว่า ‘เลี้ยงลูกไม่เป็น’ และถ้าจะถามว่าเหตุไรที่ลูกชายสิ้นชีวิตไปเพราะยาเสพติด จึงเอาเรื่องมาเปิดเผยเพราะไม่ใช่เรื่องที่ดี น่าจะปิดเป็นความลับมากกว่า คำตอบตรงบรรทัดนี้มีอยู่ว่า ‘เพราะไม่อยากให้ลูกคนอื่น ๆ ต้องเสียชีวิตไปเพราะยาเสพติดอีก'”
วรรณกรรมเรื่องเด่นของสุวรรณี อาทิ เขาชื่อกานต์ ** ได้รับรางวัล ส.ป.อ.ใน พ.ศ. ๒๕๑๓, คนเริงเมือง, เก้าอี้ขาวในห้องแดง, ความรักครั้งสุดท้าย, พระจันทร์สีน้ำเงิน ฯ
น่าเสียดายที่สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง ไม่ทันมีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เสียชีวิตวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ ขณะกำลังไปจ่ายตลาด ถูกวัยรุ่นแย่งชิงทรัพย์ขโมยรถยนต์ ขัดขืนจึงถูกทำร้ายแทงด้วยมีด ๘ บาดแผลจนเสียชีวิต นำศพไปทิ้งไว้บริเวณหลังสวนสยาม ว่ากันว่าด้วยเหตุผลนำไปซื้อยาเสพติด สิริอายุ ๕๑ ปี
ยุทธนา มุกดาสนิท (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๕) ผู้กำกับ-นักเขียนบท ละครเวที/ภาพยนตร์ เกิดที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทางศิลปะ วาดภาพ การประพันธ์ โตขึ้นตั้งใจเป็นนักเขียน/หนังสือพิมพ์ เข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้ฝึกงานในกองถ่ายภาพยนตร์ละโว้ภาพยนตร์ เรื่องแหวนทองเหลือง (พ.ศ. ๒๕๑๖) ปีสุดท้ายตัดสินใจสร้างละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน ความยาวสี่ชั่วโมงเต็ม สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการขณะนั้น พอเรียนจบท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ดึงตัวมาเป็นผู้ช่วยในภาพยนตร์เรื่อง ความรักครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๑๘) ดัดแปลงจากนิยายของสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง, ร่วมงานสามผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน (พ.ศ. ๒๕๑๙) แต่โชคร้ายไม่ได้ฉายเมืองไทย, ฉายเดี่ยวครั้งแรกกับ เทพธิดาบาร์ 21 (พ.ศ. ๒๕๒๑) ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขณะที่ผลงานถัดๆมา เทพธิดาโรงงาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ทำเงินถล่มทลายสูงสุดแห่งปี, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๒๖), ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), วิถีคนกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๔), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๔), จักรยานสีแดง (พ.ศ. ๒๕๔๐)
หลังเสร็จจาก เงิน เงิน เงิน หนังเพลงทุนสูง ใช้ทีมงานชุดใหญ่ นักแสดงชั้นนำมากมาย พี่หง่าวต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ ไปสร้างภาพยนตร์ง่ายๆ สะท้อนปัญหาสังคม ด้วยแรงบันดาลใจพบเห็นจากรอบข้างชีวิตประจำวัน วัยรุ่นแถมวบ้านติดดมสารระเหยกันมาก จึงต้องการสื่อสารนำเสนอโทษภัยของยาเสพติด ให้พวกเขารับรู้ตัวเอง
น้ำพุ อ้างอิงจากสองบทประพันธ์ของสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง ประกอบด้วย
– เรื่องของน้ำพุ (พ.ศ.๒๕๑๗) รวบรวมจากจดหมายของวงศ์เมือง นันทขว้าง ขณะรับการบำบัดที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ตีพิมพ์เพื่อแจกในงานฌาปนกิจ
– พระจันทร์สีเงิน (พ.ศ. ๒๕๑๘) แม้จะคือเรื่องราวชีวประวัติของน้ำพุ แต่สุวรรณี เลือกที่จะปรับเปลี่ยนชื่อตัวละคร และอะไรหลายๆอย่าง (พอคาดเดาได้ว่า เธอคงทำใจไม่ได้ที่จะใช้ชื่อจริงของลูกๆ)
พี่หง่าว มีความต้องการนำเสนอเหตุการณ์จริงทั้งหมด จึงนำเอาเรื่องราวของพระจันทร์สีเงิน เปลี่ยนกลับใช้ชื่อตัวละครจริงๆ และเพิ่มเติมส่วนจดหมายจาก เรื่องของน้ำพุ แทรกใส่เข้าไปในภาพยนตร์ด้วย
ในขณะค้นคว้าหาข้อมูล พี่หง่าวเดินทางไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ศึกษาอาการของผู้ติดยา รวมถึงแหล่งมั่วสุมที่สะพานเหล็ก แต่เพราะก็ยังเข้าไม่ถึงเหตุผลอารมณ์ของพวกเขา จึงขอทดลองฉีดผงขาวเข้าเส้นด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ตระเตรียมกระดาษปากกาไว้จดความรู้สึก แต่พอฉีดเข้าไปปุ๊ปจิตวิญญาณก็ล่องลอยไปยืนอยู่มุมห้องราวกับบุคคลที่สาม มือก็วาดเขียนอะไรเป็นวงๆไปเรื่อยไม่มีความหมายใดๆ ใครจะพูดคุยสักถามก็ยิ้มแย้มร่าเริงอารมณ์ดี เมื่อสร่างเมาจึงเข้าใจทันทีเลยว่า ยาเสพติดมันทำให้เราหลุดจากปัญหาได้ชั่วคราวได้จริง!
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗, แม่ (รับบทโดย ภัทราวดี มีชูธน), น้ารัน (รับบทโดย เรวัติ พุทธินันท์) และลูกๆช่วยกันพังประตูเข้าไปในห้องของน้ำพุ (รับบทโดย อำพล ลำพูน) ซึ่งอยู่ในสภาพตาเหลือก ไร้สัญญาณใดๆที่บ่งบอกถึงการมีชีวิต ช่วยกันหอบหิ้วขึ้นรถเพื่อนำตัวไปโรงพยาบาลในสภาพทุลักทุเล
เรื่องราวต่อจากนี้เป็นการเล่าย้อนอดีตความหลังของน้ำพุ ตั้งแต่เกิดก็ถูกเรียกว่า ‘ไอ้ตัวซวย’ เติบโตขึ้นครอบครัวต้องแยกจากหย่าร้าง อาศัยอยู่กับแม่บนห้องเช่า ไม่มีบ้าน ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อนิยายประสบความสำเร็จ พบเห็นแม่มีคนรักใหม่แบบไม่สนใจหัวอกเขา เกิดความอิจฉาร้อนรน ประกอบกับฮอร์โมนวัยรุ่นที่กำลังพลุกพร่าน คบเพื่อนพาไปติดยา ติดคุก สร้างชื่อเสียๆหายๆ ครั้งหนึ่งตัดสินใจเลิกยาที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก สำเร็จกลับมาแล้วแต่ต้นตอของปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข จนสุดท้ายโศกนาฏกรรมหวนกลับคืนมาอีกครั้ง
อำพล ลำพูน ชื่อจริงอำพล ลำกูล (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๖) นักร้องร็อคเกอร์/นักแสดง เป็นคนอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เรียนจบมัธยมเข้ามาศึกษาต่อโรงเรียนอาชีวศิลปศึกษา กรุงเทพฯ ในสาขาวิชาศิลปะ ตอนวัยรุ่นมีความสนใจด้านดนตรี พอเรียนจบปวช. ร่วมกับเพื่อนตั้งวงไมโคร, เข้าสู่วงการโดยเป็นนักแสดงในสังกัดของไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น โดยการชักชวนของผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ รับบทนำ วัยระเริง (พ.ศ. ๒๕๒๗) ประกบวรรษมน วัฒโรดม ตามด้วย น้ำพุ ที่ได้แจ้งเกิดเต็มตัว คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘), ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ. ๒๕๓๐), ต้องปล้น (พ.ศ. ๒๕๓๔), เสือโจรพันธุ์เสือ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ฯ
รับบทน้ำพุ ชายหนุ่มติดแม่ (ปม Oedipus) เติบโตขึ้นด้วยอคติต่อพ่อที่ครั้งหนึ่งทำลายของเล่นตนเอง จดจำฝังใจ เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวรุนแรง คงเพราะอยู่ในช่วงวัยรุ่นฮอร์โมนกำลังพลุกพร่าน พยายามร้องเรียกความสนใจแต่ไม่มีใครรับฟัง ด้วยเหตุนี้เลยหันพึ่งพาเพื่อน ใครชวนไปไหนให้ลองอะไรก็รับคำท้าเอามันทุกสิ่งอย่างจนติดหนัก เพราะความรักความห่วงใยจากอดีตแฟนสาวทำให้มีความตั้งใจต้องการเลิก สำเร็จกลับบ้านมาแต่ครอบครัว สังคม ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นทำให้เขาหวนกลับมาเสพยาเพื่อนรักอีกครั้ง
ปัญหาการหันหน้าพึ่งพายาเสพติดของน้ำพุ ในทัศนะของผมเอง ไม่ได้เกิดจากแค่ครอบครัว พ่อ-แม่อย่าร้าง มีผัวใหม่ ไม่ให้ความสนใจ แต่รวมถึงทุกสิ่งอย่างที่ปรากฎอยู่ในจักรวาลชีวิตของเขา อาทิ เพื่อนฝูง แฟนสาว ครูที่โรงเรียน ตำรวจ ฯ ต่างมีทัศนคติในลักษณะปฏิเสธต่อต้าน ไม่ยินยอมรับ ไม่ให้โอกาส เหมารวมกันไปหมด, นี่ยังรวมถึงสิ่งที่หนังมิได้นำเสนอ อาทิ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา (พ.ศ. ๒๕๑๖), การเข้ามาของลัทธิคอมมิวนิสต์, สงครามเย็นกำลังคุกกรุ่น ฯ สิ่งพวกนี้ส่งผลล้วนมีอิทธิพลต่อความหมกมุ่น ฮอร์โมนอันพลุกพร่านของวัยรุ่นอย่างแน่นอน
ตอนประกาศรับสมัครนักแสดงผู้รับบทเป็นน้ำพุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ มีผู้สมัครมาเกินกว่าพันคน ฝ่ายคัดเลือกสกรีนตัวแล้วส่งมาให้ทางผู้กำกับประมาณ ๓๐ คน แต่ไม่พบใครเหมาะ จนกระทั่งผู้กำกับได้พบเห็นหนุ่ย อำพล ในหนังเรื่อง วัยระเริง ของเปี๊ยก โปสเตอร์ จึงได้นัดมาพูดคุย สังเกตเห็นว่าเป็นคนชอบเหม่อลอย หลบสายตาบ่อยๆ มีบุคลิกเหมือนคนติดยา จึงคิดว่าคนนี้แหละน่าจะเหมาะเลยได้บทไป
นี่ถือเป็นผลงานแจ้งเกิดของอำพล ลำพูน กลายเป็นดาราดัง จากความทุ่มเทที่ถูกผู้กำกับเคี่ยวเข็นจริงจัง ให้อดอาหารเย็นเป็นเดือนก่อนเข้าฉากที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก รวมทั้งให้ดื่มยาอ๊วก อาเจียนออกมาจริงๆ ซึ่งหลังถ่ายทำถึงกับสลบไสลหมดเรี่ยวแรง ภาพลักษณ์เหมือนคนติดยาอย่างแท้จริง
“แม่ฮะ … พุติดยา”
นี่คงเป็นคำพูดสะเทือน กินใจที่สุดของหนังเรื่องนี้ แม้พี่หนุ่ยจะพูดออกมาโดยเหมือนคนไม่รู้สึกสำนึกผิดอะไร แต่เป็นคำง่ายๆที่สะเทือนใจพ่อแม่ ครอบครัว และผู้ชมที่สุดเลยละ
ภัทราวดี มีชูธน (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๑) นักแสดง ครูสอนศิลปะการแสดง เจ้าของโรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์) เติบโตแถมซอยวัดระฆัง ศึกษาที่โรงเรียนราชินี ชอบรำละคร พออายุได้ 12 ปี ไปเรียนต่ออังกฤษ ตามด้วยอเมริกา กลับเมืองไทยเข้าสู่วงการภาพยนตร์โดยร่วมแสดงนำเรื่อง ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ (พ.ศ. ๒๕๑๖) คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, ผลงานเด่นๆ อาทิ ความรักครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๑๘), น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ฯ
รับบทแม่/สุวรรณี สุคนธา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ที่หลังหย่าขาดกับสามี อาศัยอยู่กับลูกชายน้ำพุ ในห้องเช่าเล็กๆ ดิ้นรนอย่างยากลำบากแต่ทั้งสองก็มีความสุขดี เมื่อผลงานเริ่มทำเงินได้ ซื้อบ้านซื้อรถ ตกหลุมรักนำพาน้ารัญให้มาอาศัยอยู่ด้วยที่บ้าน โดยไม่สนคำทัดทานของลูกหรือสังคมครหานินทา แม้ชีวิตจะประสบความสำเร็จถึงขั้นรับรางวัลวรรณกรรม ส.ป.อ. ก็ต้องหันหลังไม่รับรู้สนใจลูกชายที่ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยจนกลายเป็นเด็กติดยา
เกร็ด: SEATO หรือ The South East Asia Treaty Organization หรือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นองค์กรมีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ประกอบด้วย ไทย, สหรัฐอเมริกา, ฟิลิปปินส์, ปากีสถาน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ไม่ใช่มีความสัมพันธ์แค่ด้านการทหารซ้อมรบกันอย่างเดียว ช่วงหนึ่งจัดมอบรางวัลหนังสือดีเด่น เรียกว่า ‘รางวัลวรรณกรรม ส.ป.อ.’ แต่เพราะทั้ง ๘ ประเทศสมาชิกมีเพียงไทยกับฟิลิปปินส์ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ภายหลังจึงสลายตัวลงปี พ.ศ. ๒๕๒๐
ยุทธนาเคยรู้จักร่วมงานกับคุณเล็กมาตั้งแต่ ความรักครั้งสุดท้าย เคยเป็นโปรดิวเซอร์ละครโทรทัศน์ให้ถึงสองเรื่อง พอคิดจะสร้างน้ำพุก็นึกถึงขึ้นมาทันที ทั้งๆที่ตอนนั้นเธอเลิกการแสดงไปเป็นภริยาท่านทูตอยู่ New York หลายปีแล้ว โทรศัพท์ติดต่อทางไกล กรุณาตอบตกลงกลับมาแสดงหนังให้แทบจะทันที
เหมือนว่าภัทราวดี จะรู้จักสนิทสนมกับสุวรรณี เป็นอย่างดี เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร a day
“ที่ผ่านมาก็รู้จักคุณสุวรรณีพอสมควร เคยเจอกันในงาน พูดคุยหัวเราะ สนิทสนมกัน รักแกมาก จะเจอไม่ได้ พอจะเจอกันต้องกระโจนเข้าหากัน (หัวเราะสนุก) ส่วนมากจะพบกันในงาน เวลาได้คุยกันแล้ว มีความรู้สึกเหมือนความคิดของเรามันถึงกัน อาจเป็นเพราะว่ามีอะไรเหมือนกันหลายๆ อย่าง เป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน มีความมั่นใจในตัวเองเหมือนกัน นี่ไม่นับนิสัยแบบ ฉันอยากจะทำอะไรฉันก็ทำ ฉันเป็นตัวของตัวเอง ชีวิตเป็นของฉัน ไม่กลัวใครจะมองอะไรอย่างนั้น ซึ่งคุณอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะยุคนี้เราก็มีผู้หญิงแบบนี้ให้เห็นกันเยอะ แต่สมัยนั้นมันต่างจากวันนี้มาก”
สุวรรณีเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า ที่สมัยก่อนทัศนคติการหย่าร้างกับผู้ชายสามี มักถือเป็นความผิดบาปของฝ่ายหญิง สังคมโจษจันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งการจะคิดมองหาชายคนใหม่ย่อมแทบเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว (น้ำพุก็ไม่ยินยอมรับจุดนี้ แต่น่าจะด้วยเหตุผลอิจฉาริษยา มากกว่าถูกกดดันจากบริบทสังคม) เช่นกันกับการเลี้ยงลูก เหมือนจะรับวัฒนธรรมตะวันตกมาเยอะ ปล่อยปละละเลยไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่ก็มีความเป็นไทยๆคือพยาพยามกีดกันบีบบังคับ ในตอนแรกไม่อยากให้เรียนศิลปะกลายเป็นศิลปินเหมือนพ่อ แต่ภายหลังก็ยินยอมปล่อยเพราะกลัวว่าลูกจะไปหลงผิด กระนั้นนั่นหาใช่ปัญหาของเธอไม่
ถือเป็นดาบสองคมที่เกิดจาก การเข้ามามีอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกด้วยนะ ความต้องการที่จะเป็นอิสระเอกเทศน์ ทำอะไรไม่คิดสนหัวผู้อื่น ครอบครัวจึงเสมือนเป็น ‘ภาระ’ ของเธอเอง ประสบความสำเร็จนวนิยายขายดี มีนักข่าวถามตอบว่า ‘เพื่อเงินที่จะมอบให้กับลูกๆได้มีชีวิต’ นี่คือแนวคิดของคนในระบอบทุนนิยม มีเงินสามารถนำไปใช้ซื้อขายความสุขได้
สุเชาว์ พงษ์วิไล (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๙) นักแสดงชายเจ้าบทบาท เกิดที่จังหวัดลพบุรี สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปัจจุบัน) เริ่มอาชีพจากเป็นนักแสดงละครเวทีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้จักร่วมงานกับยุทธนาครั้งแรกเรื่อง เทพธิดาบาร์ (พ.ศ. ๒๕๒๑)
รับบทพ่อ/ทวี นันทขว้าง เพราะความเป็นศิลปินทำให้มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง ไม่ค่อยให้ความสนใจ ประณีประณอมกับน้ำพุเสียเท่าไหร่ เหมือนจะพึ่งพิงอะไรไม่ค่อยได้ ขอคำปรึกษากลับพูดแต่เรื่องงานศิลป์
ส่วนตัวชื่นชอบตัวละครนี้มากๆเลยนะ ที่สะท้อนความเป็น ‘ศิลปิน’ ออกมา ไม่จำเป็นต้องคิดพูดกระทำอะไรเหมือนใคร ภาพวาดของเขาเปรียบได้กับลูกในไส้แท้ๆของตนเอง เฝ้าประคบประหงม ร่างเส้น -> ลงสี ให้ชีวิตอย่างไร้กฎกรอบกฎเกณฑ์ ตรงกันข้ามกับชีวิตจริง ลูกชายน้ำพุ แทบไม่เคยสนใจใยดี ติดยามาเหรอ อืมแล้วไง!, สิ่งน่าทึ่งยิ่งกว่าของครูทวี ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ทั้งๆที่ชีวิตส่วนตัว ถือว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกชายน้ำพุติดยาเสพติดจนเสียชีวิตแท้ (ลืมไปว่า วงการนี้เขาสนใจแค่ผลงาน ไม่ใช่เรื่องราวชีวิตส่วนตัว)
เรื่องราวชีวิตของทวี นันทขว้าง ก็คล้ายกับสุวรรณี สุคนธา สะท้อนตรงกันข้ามกับน้ำพุ, พ่อ-แม่ต่างพบเจอความรุ่งโรจน์ถึงจุดสูงสุดในชีวิตการงาน แลกมากับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่ต้องตกต่ำต้อย ไร้คุณค่าตัวตนในสังคม
ถ่ายภาพโดยสมชัย ลีลานุรักษ์ ผลงานเด่น อาทิ แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), แปดวัน แปลกคน (พ.ศ. ๒๕๕๑) ฯ เคยร่วมงานกับพี่หง่าวเรื่อง เทพธิดาโรงงาน (พ.ศ. ๒๕๒๕)
ปกติแล้วในทศวรรษนั้น ภาพยนตร์ของไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น มักใช้การพากย์เสียงทับเพื่อลดค่าใช้จ่ายของ Sound-on-Film พี่หง่าวใช้วิธีการลักลอบแอบถ่ายโดยไม่ให้ไฟว์สตาร์ รับรู้ล่วงหน้า ซึ่งพอทราบความตั้งใจภายหลังก็ยินยอมสนับสนุน กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของสตูดิโอที่ถ่ายทำด้วย Sound-on-Film
แค่ฉากเปิดเรื่องก็ถือว่ามีความน่าสนเท่ห์ไม่น้อย เลื่อนกล้องจากแผ่นเสียง เห็นสมุดไดอารี่ ภาพวาดเหมือน หัวกระโหลก ก่อนมาถึงน้ำพุในสภาพตาเหลือก อ้าปากค้าง ไม่น่ารอดแน่ๆ, ช็อตนี่เป็นนำเสนอทุกสิ่งอย่างในชีวิตของชายหนุ่ม ถ้าคุณรับชมหนังจนจบแล้วหวนกลับมาสังเกตฉากนี้ จะพบเห็นรับรู้ความสำคัญของสิ่งของแต่ละชิ้นที่ปรากฎอยู่
เทคนิคที่หนังใช้ถือว่าเป็นแฟชั่นนิยมสมัยนั้น อาทิ Tracking, Panning, Zooming ฯ โดดเด่นกับการจัดแสงสี
– ฉากเต้นในผับเทคมีความสันสนวุ่นวายอลม่าน มึนเบลอเพราะแสงหลากสีที่หมุนไปมา ราวกับสรวงสวรรค์ของคนเมา
– ขณะที่ในบ้านเมายา เต็มไปด้วยควัน เน้นแสงสีน้ำเงิน(และแดง) มีการใช้เหมือนเลนส์นูน/ตาปลา ให้สัมผัสเหมือนปาร์ตี้ซอมบี้ เต้นอะไรกันก็ไม่รู้บ้าๆบอๆ นี่มันอยู่ในนรกหรือเปล่าเนี่ย
– ฉากกลางคืนมักมีความมืดมิดกว่าปกติ หลายครั้งใช้แสงสีน้ำเงิน (มีความเย็นยะเยือก) คงเพื่อสะท้อนด้านมืดภายในจิตใจตัวละครออกมา
– ขณะที่ฉากกลางวัน อาทิ โรงพัก เหมือนจะสว่างจ้า ขาวเด่นกว่าปกติพอสมควร (นี่คงประมาณ คนเมา/เมายา พอคืนสติก็จะเห็นอะไรๆสว่างจ้ากว่าปกติ)
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง คือขณะที่แก้วบอกเลิกกับน้ำพุ เธอเดินขึ้นสะพาน ส่วนเขาเดินลง ในทิศทางตรงกันข้าม มีนัยยะสะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาได้กลายเป็นต่อไป
– แก้วเลิกกับน้ำพุ ชีวิตคงพบเจอสิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ
– น้ำพุเลิกกับแก้ว ชีวิตตกต่ำลงเรื่อยๆ
ลำดับภาพโดยบรรจง โกศัลวัฒน์ จากจิตรกรวาดรูป ได้ทันไปอเมริกา หลงใหลชื่นชอบภาพยนตร์ กลับมาเมืองไทยเป็นนักตัดต่อ ผู้กำกับ และอาจารย์ผู้บุกเบิกวิชาการเรียนการสอนสร้างภาพยนตร์
เรื่องราวนำเสนอในลักษณะเล่าย้อนอดีต Flashback จากความทรงจำของแม่และน้ำพุ ในช่วงเวลาเป็นตายของชีวิต ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีซ้อนฝัน น่าจะเป็นในจินตนาการของน้ำพุ ต่อพ่อและแม่ วิ่งเล่น เล่นว่าว ฯ มักในช่วงขณะที่เขากำลังเมายา
ฉากการตัดต่อที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนัง คือ เลิฟซีนระหว่างสุวรรณี กับน้ารัญ ตัดสลับ Cross-Cutting น้ำพุที่กำลังเสพยา เป็นการสื่อสะท้อน ‘ความสุข’ ถึงสรวงสวรรค์ของพวกเขาทั้งสองฝ่าย ที่ต้องถือว่าเป็นสิ่งผิดทั้งคู่ หนึ่งผิดต่อขนบธรรมเนียมของคนไทย (ร่วมรักโดยมิได้แต่งงาน) สองผิดต่อกฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรมของสังคม
ช่วงที่เข้ารับการบำบัดที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จะใช้เสียงพูดของน้ำพุ ที่มาจากการเขียนจดหมาย (ไม่ใช่จากการอ่านจดหมาย) เล่าเรื่องแบบบรรยายประกอบภาพกิจกรรมประจำวัน
เกร็ด: การบำบัดรักษาที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ใช้ระยะเวลา ๑๕ วัน ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ต้องมาด้วยใจไม่ใช่ถูกบังคับมา เริ่มต้นด้วยการปฏิญาณรักษาสัจจะ ตามด้วย ๕ วันแรก
– กินยาตัดน้ำ วิธีการคือกินน้ำเข้าไปก่อนตามด้วยน้ำผสมสมุนไพร จากนั้นอาเจียนออกมา ตามด้วยน้ำอีกขัน อาเจียนไปเรื่อยๆ จนกว่าที่ออกมาใสไม่เป็นสีขุ่นถึงหยุดได้
– เข้าห้องอบไอน้ำจากสมุนไพร เป็นการขับพิษออกทางเหงื่อ รูขุมขน
– ก่อนนอนกินยาระเบิดน้ำลึก เป็นให้เช้ามาขับถ่ายระบายของเสียออกจากร่างกาย
เมื่อผ่านพ้นช่วงแรก ๑๐ วันให้หลังจะเป็นการบำบัดทางใจ พักฟื้นปรับสถาพร่างกาย ฟังเทศน์ธรรม นั่งสมาธิ ทำความสะอาดวัด ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยใหม่ นอกจากนี้ยังมีสอนวิชาชีพ เพาะปลูก วาดภาพหินน้ำ ขึ้นรูปหินลาวา ฯ เพื่อให้สามารถกลับออกไปแล้วจะดิ้นรนเอาตัวรอดเองได้ ไม่ใช่หวนกลับมาเสพยาใหม่
วิธีการรักษาของสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกนี้ ถือเป็นกุศโลบายของการถอนพิษ ให้สมองรับรู้ว่าเมื่อดื่มยาขมร่างกายต้องขย่อนยาออกมา สร้างความเจ็บปวดข่มอาการอยากยา หรือเวลาที่ร่างกายเปิดทวารรูขุมขนเบิกกว้าง เหงื่อถูกขับออกมามาก ก็พาของเสียที่ร่างกายควรขับทิ้งออกมาด้วย, วิธีการนี้เลิกติดยาได้แน่ๆบางเจ้าก็ว่า ๘๐%, ๙๐% ขอเรียกโดยส่วนใหญ่แล้วกัน ทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่าสามารถหักดิบเลิกยาได้จริง
เพลงประกอบโดยวงบัตเตอร์ฟลาย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดย จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, ดนู ฮันตระกูล และกฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา เป้าหมายเพื่อผลิตงานเพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบโฆษณา เพลงประกอบละครเวที และงานอัลบั้มเพลง
บทเพลงมีลักษณะ Pop/Rock ตามเทรนด์แฟชั่นยุคสมัยนั้น คำร้องไทย/อังกฤษ สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น, หลายครั้งมีการเล่าเรื่องในลักษณะ ‘เพลงประกอบภาพ’ คือใช้เสียงเพลงเป็นหลักนำร่อง อธิบายรวบรัดสิ่งที่เกิดขึ้น อาทิ
– แม่เดินทางไปอิตาลี รวบรัดตัดตอนช่วงเวลาน้ำพุอาศัยอยู่กับลุงป้า ไปโรงเรียน จนถึงหวนกลับมาพบเจออีกครั้ง
– ตอนน้ำพุติดคุก/สถานกักกัน เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว
บทเพลงเปิดในผับเทค ที่พอหาข้อมูลได้คือ
– Trampled Under Foot (1975) ของวง Led Zeppelin อัลบัม Physical Graffiti แนว Hard/Funk Rock
– Clock Strikes Ten (1977) ของวง Cheap Trick อัลบัม In Color แนว Rock
ฉากบ้านเมายา คุ้นๆมากแต่ยังนึกไม่ออกแนว Hard Rock เสียงลี้ดกีตาร์ โหยหวนจี๊ดไปถึงขั้วหัวใจ โคตรหนวกหูในเสียงผู้คนโหวกเหวกโวยวาย งกรี๊ดหรือกรีดร้องก็ไม่รู้ เพราะคนติดยา จิตวิญญาณของพวกเขาลอยล่องออกจากร่างไปไกลแล้ว ฟังเพลงเบาๆไม่ได้ยิน ต้องเปิดกระหึ่มให้ถึงสรวงสวรรค์ แต่ข้างบ้านจะด่าพ่อล่อแม่ก็มิได้สนใจ
บทเพลง ‘เลิกให้ได้’ แต่ง/คำร้องโดย วงมุจจลินทร์ เป็นวงดนตรีที่เล่นโดยหาเงินรายได้มีช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดที่วัดถ้ำกระบอก อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี, เห็นว่าเพราะหนังเรื่องนี้ ทำให้บทเพลงนี้ฮิตโด่งดังขึ้นมาเลยละ
ขณะที่ไฮไลท์ คือบทเพลงสุดท้ายที่น้ำพุได้ฟัง Pigs ของ Pink Floyd จากอัลบัม Animals (1977) เป็นแนว Progressive/Hard Rock
อัลบัมนี้ของ Pink Floyd มีสามเพลงใหญ่ๆคือ Dogs, Pigs, Sheeps สะท้อนบุคคลสามจำพวกในระบอบสังคม
– Pigs คือคนชั้นสูงของสังคม ร่ำรวยเต็มไปด้วยอำนาจ อิ่มหนำสำราญอ้วนหมีพลีมันเหมือนหมู
– Dogs สะท้อนการแข่งขัน ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด แทนด้วยผู้ล่าและผู้ถูกล่า
– Sheeps คือผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยเลย แต่ต้องรับผลเคราะห์กรรม
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า นัยยะของบทเพลงสื่อสะท้อนอะไรถึงหนังหรือเปล่า แต่อารมณ์เพลงที่เริ่มมาหลอนๆด้วยเสียงอิเล็กโทนและกีตาร์ไฟฟ้า ให้สัมผัสคล้ายจิตวิญญาณกำลังล่องลอยออกจากร่าง นี่สะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับน้ำพุได้เป็นอย่างดี
“เรื่องราวของน้ำพุเป็นอุทาหรณ์ที่ว่า ผู้ป่วยยาเสพติดเมื่อมารักษาก็จะหาย แต่จะเลิกได้หรือไม่ ตรงนี้สำคัญ คนที่จะอยู่กับผู้ป่วยและเข้าใจผู้ป่วยจริงๆ ให้เตรียมรับสถานการณ์หลังจากที่เขาเลิกยาได้แล้ว เพราะตอนนั้นเขาเหมือนคนอ่อนแอ ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้เขาก็เหมือนต้นไม้ที่ป่วย เมื่อมารักษาทางถ้ำกระบอกก็ประคบประหงม เขาก็เริ่มแตกรากอ่อนแตกใบอ่อน เมื่อกลับไปที่บ้าน หลุมดินที่เขาเคยป่วยหรืออาศัยอยู่ มันอาจจะแฉะน้ำ อาจจะมีตัวแมลงหรือให้ปุ๋ยเยอะเกินไป บางทีพ่อแม่ก็ให้แต่เงินให้ทุกอย่าง แต่ไม่เคยสนใจเลยว่า ต้นไม้ที่ให้ปุ๋ยมันเค็มไปหรือเปล่า กำลังป่วยหรือเปล่า กลางคืนเคยไปส่องไฟดูไหมว่ามีแมลงกวนบ้างไหม พอผู้ป่วยหายกลับบ้านไปปุ๊บ เหมือนน้ำพุเขาต้องการร่มเงา เหมือนไม้อ่อนๆ ที่ต้องการความดูแลเพื่อการพักฟื้นอย่างดี ต้องการไม้ค้ำเวลาที่ลมแรงๆ จะได้ไม่ล้ม ต้องการหลังคากันแดดเพื่อเวลาแดดแรงๆ ใบจะได้ไม่ไหม้ ตรงนี้ครอบครัวไม่เข้าใจ คนแวดล้อมไม่เข้าใจ เพื่อนฝูงไม่เข้าใจเขา ผู้ป่วยก็จะเคว้งคว้างไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง”
– พระวิจิตร อัครจิตโต เล่าถึงน้ำพุ เมื่อตอนมาเลิกยาที่นี่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗
ส่วนตัวมองว่า ความพ่ายแพ้ของน้ำพุที่หวนกลับมาเสพยาใหม่ นี่เกิดเพราะจิตใจตัวเขาเองล้วนๆ จากความไม่พึงพอเพียงใจในชีวิต เมื่อมิอาจหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมเดิมๆที่เคยพบเจอ ครอบครัวเพิกเฉย สังคมปฏิเสธต่อต้าน ก็แทนที่จะหาความสงบดั่งที่เคยเรียนรู้มาในช่วง ๑๐ วันให้หลัง แต่กลับยังเรียกร้องโหยหา
มันไม่ใช่ด้วยปัจจัยครอบครัว พ่อ-แม่ แฟน เพื่อน โรงเรียน สังคม ประเทศชาติ คือเหตุผลในการเสพยาอีกต่อไปแล้ว ความล้มเหลวของน้ำพุเกิดจากตัวตน จิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอ มิอาจรักษาสัจจะวาจา นี่เป็นผลกรรมบังตาจากชาติปางเก่าล้วนๆ กลายเป็นโศกนาฎกรรมที่มิอาจป้องกันหรือแก้ไขอะไรได้จริงๆ
“…นี่เป็นความผิดของแม่คนเดียว ไม่ใช่ของใครเลย และบัดนี้แม่ก็รับกรรมอันนั้นแล้ว หลับให้สบายเถอะนะน้ำพุ ระหว่างเราแม่ลูกไม่ต้องพูดกันถึงชาตินี้ หรือชาติหน้าหรอก น้ำพุอยู่ในหัวใจของแม่ตลอดเวลาอยู่แล้ว”
น้ำพุ ออกฉายรอบปฐมทัศน์มหากุศล ที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ นำรายได้ทั้งหมดสบทบทุนมูลนิธิ ป้องกันและปราบปราบยาเสพติด และ ‘ทุนน้ำพุ’ โรงเรียนช่างศิลป์
ออกฉายจริงวันที่ ๙ มิถุนายน ผู้ชมแน่นขนัด โรงเรียนเหมารอบให้เด็กนักเรียนมารับชมรอบเช้าเป็นจำนวนมาก (ปกติโรงภาพยนตร์สมัยนั้น วันธรรมดาจะไม่มีรอบเช้า ยกเว้นวันหยุด) นี่ทำให้สามารถยืนโรงฉายได้นานต่อเนื่องถึง ๓ เดือน ทำเงิน ๑๖ ล้านบาท ทุบสถิติภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดของแผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๑๐) ที่ ๑๓ ล้านบาท ลงโดยทันที
เสียงวิจารณ์ตอบรับก็ดีเยี่ยมเช่นกัน ผู้กำกับรุ่นครูของวงการภาพยนตร์ไทย วิจิตร คุณาวุฒิ กล่าวยกย่องว่า
“ดีที่สุดที่เห็นยุทธนาทำงานมา เรียบร้อยมาก สมาร์ทจัง ฉากวัยรุ่นทำได้สมจริงสมจัง เป็นธรรมชาติ ขอชม เรื่องเงินผมไม่ทราบ แต่เรื่องกล่อง ยุทธนาได้แน่”
กระนั้น น้ำพุ ก็คว้าได้แค่สองรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๑๖
– ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (อำพล ลำพูน)
– บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
พลาดรางวัลใหญ่ปีนั้น เพราะมีภาพยนตร์ระดับตำนานอีกเรื่อง อิสรภาพของทองพูน (พ.ศ. ๒๕๒๗) ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
นอกจากนี้เมื่อส่งไปฉายงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Film Festival) ยังคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อำพล ลำพูน), และนี่เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ส่งเป็นตัวแทนประเทศไปประกวดรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ได้เข้ารอบใดๆ
ภาพยนตร์เรื่อง ‘น้ำพุ’ ถือว่าได้จุดประกายให้สังคมไทย รับเรียนรู้จักประเด็นปัญหาเรื่องความอบอุ่นในครอบครัว ภัยร้ายของยาเสพติด โดยเฉพาะ ‘เด็กมีปัญหา’ กลายเป็นคำฮิตระบาด ภาครัฐถึงขนาดต้องยกระดับความสำคัญต่อการแก้ปัญหายาเสพติด ทศวรรษนั้นใครไม่รู้จักหนังเรื่องนี้นี่เชยระเบิด ปัจจุบันเงียบสงัดแทบไม่มีใครให้ความสนใจพูดถึงอีกต่อไปแล้ว
ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจหนังเรื่องนี้พอสมควร ในไดเรคชั่นของผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิท มีลีลา ความเฉลียวฉลาด เป็นภาษาศิลปะค่อนข้างสากลทีเดียว น่าเสียดายที่ฉบับ Remaster เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้ตัดขอบข้างของ CinemaScope ทิ้งไป ทำให้อรรถรสบางส่วนขาดหาย แต่คงจะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วกระมังต้องทำใจ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มีผู้ชมวัยรุ่นจำนวนมากสมัยนั้น เปิดเผยภายหลังจากชมน้ำพุ ตัดสินใจหันหลังให้ยาเสพติด หรือปฏิเสธหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวข้อง นี่คืออิทธิพลของภาพยนตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจต่อผู้ชมอย่างยิ่งทีเดียว
ขณะเดียวกับสำหรับผู้ใหญ่ นี่คือภาพยนตร์ที่จะคอยเตือนสติในการเลี้ยงลูก ให้รู้จัก ‘สนใจ’ ภาษากายของพวกเขาบ้าง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยมองข้าม ช่างหัวมัน! โดยไม่รู้ตัวพวกคุณนี่แหละคือตัวการผู้สร้างปัญหาให้กับสังคม ยิ่งกว่าพวกวัยรุ่นติดยาเสียอีกนะ
แนะนำกับวัยรุ่นอายุ ๑๓+ ขึ้นไป ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ถ้าเป็นไปได้รีบนำให้พวกเขารับชมก่อนเลย จะเป็นการป้องกันตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ
Leave a Reply