บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๕)
: ศิริ ศิริจินดา ♥♥♥♡
ผลงานการแสดงเรื่องแรกของ เพชรา เชาวราษฎร์ ประกบว่าที่คู่ขวัญตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา ต่อให้ชายคนรักจะเลวชั่วต่ำทรามสักเพียงใด แต่ไม่มีอะไรในโลกนี้ จะยกโทษให้อภัยกันไม่ได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
บันทึกรักของพิมพ์ฉวี เป็นภาพยนตร์ที่เหมือนเคยสูญหายไปสารบบหนังไทยชั่วขณะหนึ่ง แต่บุคคลผู้ยังเก็บฟีล์มเรื่องนี้ไว้ไม่ใช่ใครอื่น ชรินทร์ นันทนาคร คู่ชีวิตของป้าอี๊ด ซึ่งก็ได้ส่งมอบให้หอภาพยนตร์เก็บรักษา Telecine กลายเป็นไฟล์ดิจิตอล คุณภาพสียังค่อนข้างสมบูรณ์ดีอยู่ พากย์เสียงใหม่โดยพันธมิตร เหลือเพียงถ้าได้รับการบูรณะอีกสักหน่อยก็คงเลิศเลยละ
และสิ่งที่ทำให้ผมอึ้งทึ่งไปเลย คือความยอดเยี่ยมระดับคลาสสิกของภาพยนตร์เรื่องนี้ นักแสดงเล่นดีมากๆ (คราบน้ำตาของ เพชรา มีค่ามหาศาล) เนื้อเรื่องแฝงข้อคิดคติสอนใจ และไดเรคชั่นของ ศิริ ศิริจินดา อีกหนึ่งผู้กำกับยอดฝีมือที่ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา
ศิริ ศิริจินดา ชื่อจริง บรรจง เลาหจินดา (พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๕๔๖) นักแสดง ผู้กำกับชาวไทย เกิดที่ปากน้ำ สมุทรปราการ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนช่างกลปทุมวัน ได้มีโอกาสพบครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) ชักชวนมาเป็นนักแสดง สนิทสนมกับเพื่อนร่วมรุ่น ดอกดิน กัญญามาลย์ ผลงานเด่น อาทิ สร้อยฟ้าขายตัว (พ.ศ. ๒๔๙๘), เหนือเมฆ (พ.ศ. ๒๕๐๐), ก้าวสู่บทบาทผู้กำกับ ผลงานสร้างชื่อคือ เห่าดง (พ.ศ. ๒๕๐๑), สี่คิงส์ (พ.ศ. ๒๕๐๒), รัศมีแข (พ.ศ. ๒๕๐๘) ฯ
บันทึกรักของพิมพ์ฉวี ดั้งเดิมเป็นบทประพันธ์ของ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก (พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๕๔๐) เจ้าของฉายา ‘ราชาโลกบันเทิง’ นักพากย์ นักแสดง ผู้กำกับ ผลิตละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับภรรยา สมสุข กัลย์จาฤก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔
เรื่องราวของพิมพ์ฉวี (เพชรา เชาวราษฎร์) สาวน้อยบ้านนา ตกหลงรักหนุ่มรูปงาม อาทร (มิตร ชัยบัญชา) ผู้มีความทะเยอทะยานเพ้อใฝ่ฝัน ต้องการปรับฐานะตนเองด้วยการไปร่ำเรียนต่อต่างประเทศ แต่เพราะความยากจนไร้ทุนการศึกษา จึงร้องขอความช่วยเหลือพิมพ์ฉวี ที่มีฐานะการเงินดีกว่าตนให้ส่งเสีย เพราะความรักแบบหน้ามืดตามัวจึงสมยอมทุกสิ่งอย่าง ตั้งท้องนอกสมรส นำความไปปรึกษาพ่อของอาทร (วิบูลย์ ชนะศึก) เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาของสังคม จึงแนะนำให้แต่งงานกับชายหนุ่มอีกคนที่แอบตกหลุมรักพิมพ์ฉวี ช่างเป็นความคิดที่ผิดแผกพิศดารยิ่งนัก
แท้จริงแล้วเป็นแผนการชั่วร้ายของพ่อ เพื่อให้ลูกชายค้นหาคู่ครองใหม่จะได้ตกถังข้าวสารเกาะกิน หมั่นหมายกับ เต็มดวง (ชฎาพร วชิระปราณี) สาวอวบอึ๋มสุดเซ็กซี่นักเรียนนอกบ้าน(น่าจะ)รวย ขณะที่กับพิมพ์ฉวี บ่ายเบี่ยงปฏิเสธยินยอมรับว่านั่นคือลูกของตน กระทำการผลักไสส่งใช้กำลังขับไล่ ทำให้หญิงสาวแบกรับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนครุ่นคิดฆ่าตัวตาย แต่ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาเศรษฐีหนุ่มใจดี สุดท้ายแล้วทั้ง อาทร และ เต็มดวง ต่างเมื่อเห็นนมเห็นตีนซึ่งกันและกัน ก็ไม่ใคร่สมัครสมานฉันท์ครองคู่ถ้อยอยู่ถ้อยอาศัย เมื่อความชั่วถูกเปิดโปงอับอายขายขี้หน้าแทบแทรกแผ่นดินหนี หลงเหลือเพียงคนดีอยู่รอดปลอดภัย พร้อยยกโทษให้อภัยถ้ารู้สำนึกผิดกลับตัว
นำแสดงโดย เพชรา เชาวราษฎร์ ชื่อจริง เอก ชาวราษฎร์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๖) ชื่อเล่น อี๊ด นางเอกภาพยนตร์ไทยเจ้าของฉายา ‘นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง’ เกิดที่จังหวัดระยอง เมื่ออายุ ๑๕ เข้ามาเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ช่วยงานที่ร้านเสริมสวยของน้องสาวพี่เขย ได้รับการชักชวนเข้าร่วมประกวดเทพธิดาเมษาฮาวาย พ.ศ. ๒๕๐๔ ใช้ชื่อ ปัทมา ชาวราษฎร์ ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ทำให้ได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และดอกดิน กัญญามาลย์ ให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๕)
“ครั้งแรกมีคนมาติดต่อบอกว่าทาง บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ จะสร้าง ‘แม่ยอดสร้อย’ จะปั้นนางเอกใหม่ ๓ คนพร้อมกัน เราก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่ที่มาสนใจของคุณศิริ ศิริจินดา เพราะเราชอบละครวิทยุเรื่อง ‘บันทึกรักพิมพ์ฉวี’ ของทางคณะกันตนาเป็นละครวิทยุที่ดังมาก พอเขามาติดต่อให้เล่นเรื่องนี้เราก็ตอบตกลง ในใจก็คิดว่าไม่น่าจะยากเท่าไร เพราะเราไม่เคยรู้ว่าจะต้องมายืนท่ามกลางสายตาคน ต้องมาทำอย่างนี้ อย่างนั้น ต้องถูกสาดรีเฟล็กซ์ เวลาถ่าย
คุณศิริ ศิริจินดา เขาเคยเล่าให้ฟังว่าเห็นเราจากการถ่ายทอดการประกวดทางทีวี ตอนที่เข้าประกวดพอเขาประกาศชื่อ นามสกุล กว่าจะเดินลงบันได เดินบทเวที กล้องทีวีเขาจะจับใกล้มาก คุณศิริ เขาบอกว่าคนนี้ น่าจะเล่นบทชีวิตได้”
สำหรับชื่อ เพชรา คนที่ตั้งให้คือ ดอกดิน กัญญามาลย์ แต่คนบอกกลับคือ ศิริ ศิริจินดา
“ไม่แน่ใจว่าวันแรก หรือวันที่สอง คุณศิริบอกในรถว่า หนูอี๊ด เปลี่ยนชื่อแล้วนะ ปัทมา (ชื่อที่ใช้ในการประกวดธิดาเมษาฮาวาย) มันเรียบไป ตั้งให้ใหม่แล้วนะ ชื่อ เพชรา เราก็ได้แต่ร้องว้าย! คุณศิริก็หน้าสลด … ไม่รู้แหละ…ไปหาพระ พระตั้งให้ เมื่อคุณศิริพูดอย่างนี้ เราก็เลยเงียบ … ตอนนั้นนะชื่อ เพชรา ฟังแล้วใจมันวาบนะ …ถ้าเราไม่นึกถึงเพชร – ชรา ที่แก่นะ แต่เป็น เพชรา ที่สว่างไสว
เราก็เข้าใจว่าพระตั้งให้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเลิกเล่นหนังแล้ว จึงได้รู้ว่า น้าดิน ตั้งให้ เพราะช่วงหลังที่ น้าดิน เขาปั้นนางเอกใหม่ แล้วเขาก็ให้สัมภาษณ์ เราถึงได้รู้ว่าน้าดินตั้งให้”
รับบทพิมพ์ฉวี สาวน้อยหน้าตาบ้านๆ ใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ชอบเอาใจเขามาใส่ใจเรา รักเดียวใจเดียวไม่เคยคิดแปรเปลี่ยน ความรู้ถือว่าพอประมาณเพราะสามารถเขียนอ่านจดหมาย/บันทึกของตนเองได้ ไม่เคยพูดว่ากล่าวโป้ปดโกหกต่อใคร นั่นทำให้เวลาถูกใส่ร้ายป้ายสี รวดร้าวทุกข์ทรมานธารน้ำตาไหลริน พยายามพิสูจน์ความถูกต้องให้ใครประจักษ์เห็น แต่ถ้านั่นยังไม่เพียงพอ ชีวิตฉันอยู่ไปก็ไร้ค่า
คงไม่ผิดอะไรจะเรียก พิมพ์ฉวี นางเอกผู้อาภัพ ถูกกลั่นแกล้งสารพัดสารเพจากคนรอบข้าง เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ผมชอบสุดก็ตอนแต่งหน้าทาเครื่องสำอางค์อย่างเว่อ … สวยอยู่แล้วไม่ต้องปรุงแต่งก็ได้ … รวดร้าวทุกข์ทรมานใจทุกครั้งเมื่อเห็นหยาดน้ำตาไหลริน คนบริสุทธิ์ดีจริงเช่นนี้ กรรมอะไรถึงถูกปู้ยี้ปู้ยำจนชอกช้ำระกำทรวง
“ถ่ายหนังวันแรก ทางกองถ่ายเขาก็เอาแผ่นรีเฟล็กซ์มาส่องสะท้อนแสงแดดวูบวาบไปหมด ให้เราใส่เสื้อ นุ่งผ้าถุง ทำท่าฟัดข้าว เราอยู่บ้านนะเคยทำที่ไหน เวลาฟัดข้าวก็เอวคดเอวอ่อน ในเรื่องพอเราเห็นพระเอก เราก็ต้องทิ้งกระด้งวิ่งไปหาเขา เราก็อายอย่างบอกไม่ถูก กว่าจะผ่านก็ต้องหลายเทค วันที่สองต้องเข้าฉากกับพระเอก ต้องซบหลังพระเอก เราอายก็อาย ร้อนก็ร้อน เหงื่อออกจนเราเพลีย …เราคิดว่าหนังเรื่องแรกก็จะเลิก ไม่ไหวแล้ว ไปขายของหน้าร้านดีกว่า อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ”
แล้วอะไรทำให้เปลี่ยนใจ
“สมัยนั้น เวลาถ่ายหนังบางครั้งเขาก็จะทำฉากในโรงถ่าย ช่วงนั้นมีโรงถ่ายศรีอยุธยา โรงถ่ายสุริยะ และในโรงถ่ายก็จะมีบริษัทหนังบริษัทนั้น บริษัทนี้ เจ้าของหนัง ผู้กำกับ ดารา เดินเข้าเดินออกในโรงถ่าย เวลาไปโรงถ่ายเรา เป็นดาราใหม่ก็จะมีพี่วงศ์ทอง ผลานุสนธิ์ เป็นเหมือนพี่เลี้ยง และมีดาราอีกคนที่คุณศิริ ศิริจินดา ปั้นคู่กันคือ คุณขวัญใจ สะอาดรักษ์ไปด้วยกัน ไปในโรงถ่ายก็จะเห็นผู้กำกับ เจ้าของหนัง พระเอก นางเอก ผู้ร้ายเขานั่งกันเป็นกลุ่มๆ บางครั้งเราก็ได้ยินเขาก็พูดถึงนางเอกคนอื่นว่า นางเอกคนนี้หรือ เรื่องหนึ่งก็ไปไม่รอดแล้ว บางคนสอง สามเรื่อง ก็ไปไม่ไหว เขาพูดสบประมาทนางเอกคนอื่นให้เข้าหูเราโดยที่เขาก็ไม่ได้ตั้งใจ เราก็หูผึ่งนะซิ คิดว่าถ้าเราเล่นเรื่องเดียวเลิก เขาก็ต้องว่าเราอย่างนั้นบ้าง เลยทำให้เรามีมานะ พอดีกับได้แสดงหนังเรื่อง ดอกแก้ว เลยทำให้เราได้เกิดอย่างเต็มตัว”
บทสัมภาษณ์ เพชรา เชาวราษฎร์ แบบเต็มๆ: http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=8
มิตร ชัยบัญชา ชื่อจริง พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๑๓) พระเอกอันดับ ๑ ตลอดการของเมืองไทย เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ชื่นชอบเล่นกีฬาและชกมวย ช่วงระหว่างรับราชการทหารอากาศ จ่าโทสมจ้อยเห็นรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาเอาการ ท่าทางบุคคลิกดีอ่อนโยน เลยส่งรูปแนะนำตัวให้กับ กิ่ง แก้วประเสริฐ จนได้กลายเป็นพระเอกหนังเรื่องแรก ชาติเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๑), โด่งดังกับ จ้าวนักเลง (พ.ศ. ๒๕๐๒), ประกบคู่ขวัญตลอดกาลครั้งแรก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๔), ผลงานเด่นอื่นๆ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ
รับบท อาทร หนุ่มหล่อ มากด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน เสียสละแลกทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองร่ำรวยเงินทอง ตั้งใจไปเรียนเมืองนอกเพื่อจับสาวมีฐานะ จักได้ทอดทิ้งท้องทุ่งนาไปอาศัยอยู่อย่างหรูหราท่ามกลางแสงสีของเมืองใหญ่
นิสัยแย่ๆของอาทร กะล่อนปลิ้นปล้อน โกหกหลอกลวง ชอบใช้กำลังรุนแรง ล้วนรับอิทธิพลมาจากพ่อ ที่พยายามเสี้ยมสั่งสอนแนะนำหนทาง อนาคตภายภาคหน้าเมื่อลูกร่ำรวยตนเองจักได้สุขสบาย โดยไม่สนสิ่งถูกผิดศีลธรรมจรรยา แถมยังแอบอ้างตนเองว่าเป็นคนธรรมะธัมโม
ปกติแล้ว มิตร มักเล่นเป็นพระเอกนิสัยดีงาม เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมประจำใจ แต่ครานี้บทบาทตัวละครชั่วช้าเลวทรามนึกว่าคือตัวร้าย สามารถบีบคั้นทำลายจิตใจหญิงสาวคนรักได้ลงคอ ก็น่าจะถือว่าพลิกบทบาทครั้งใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้นช่วงท้ายเมื่อพ่ายแพ้ รู้สำนึกเกิดความละอาย ทำให้มีโอกาสกลับตัวกลับใจ ได้รับการให้อภัยด้วยเมตตาธรรม
บทสัมภาษณ์ของเพชรา พูดถึง มิตร ชัยบัญชา
“คุณมิตร พี่รักเขานะ รักในความจริงใจ คบง่าย เวลาที่ไปไหนด้วยกัน หรือเล่นหนังด้วยกัน เราอบอุ่น ถึงจะโกรธกันอย่างไร เราก็ไม่เคยโกรธกันอย่างจริงจัง เราจะคุยกันทุกเรื่อง คุณมิตรรักงาน จะไม่เบื่อเวลาที่เราเป็นดาราใหม่ๆ ต้อง เทคแล้ว เทคอีก จะไม่เบื่อ จะให้กำลังใจ แต่เวลาไม่พอใจก็ปิดไม่ค่อยอยู่ จะแสดงออก บอกให้รู้หมดด้วยหน้าด้วยท่าที บางครั้งไปถ่ายสระบุรี กว่าจะกลับถึงกรุงเทพฯ ก็มืด แล้วอีกเรื่องหนึ่งเขาขอโดดสองคัท สามคัท ก่อนเจ้าของคิวจริงตอนหัวค่ำ เขาจะขอถ่ายเราก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะถ่ายต่อไม่ได้ บางทีไปด้วยกัน คุณมิตรก็จะบอก เข้าโรงถ่ายเลยนะอี๊ดนะ โดดให้เขาหน่อย เวลานอนยังมีอีกถมไปในหลุมฝังศพ”
ถ่ายภาพโดย สมาน ทองทรัพย์สิน, ใช้ฟีล์ม 16mm แล้วให้เป็นหน้าที่ของนักพากย์หน้าโรงในการให้เสียงประกอบ ซึ่งฉบับ DVD ที่ได้รับการ Telecine ใช้บริการทีมนักพากย์พันธมิตร เสียงหล่อหวานเว่ออลังการเสียจริง
สาเหตุที่ภาพดูเบลอๆสักหน่อย นั่นเกิดจากขนาดฟีล์ม 16mm ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ราคาถูก ล้างง่าย (และไม่มีแถบเสียงให้วุ่นวาย) จึงเป็นที่นิยมของหนังไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ไดเรคชั่นการถ่ายภาพ ส่วนใหญ่กล้องไม่ค่อยเคลื่อนไหว ใช้การกำหนดกรอบขอบเขต จัดวางตำแหน่งนักแสดงให้อยู่ภายในเฟรม, มากสุดที่พบเห็นคือการแพนนิ่ง หมุนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง
ฉากภายในดูแล้วคงถ่ายในโรงถ่าย ใช้การจัดแสงให้เหมาะสม (ทำให้สามารถถ่ายกลางวันหรือกลางคืน ตอนไหนก็ได้) ขณะที่ฉากภายนอก ถ้าเป็นกลางคืนจะถ่ายตอนกลางวันแล้วใช้ฟิลเลอร์ Day for Night ได้แสงสีน้ำเงิน (ข้อจำกัดของการถ่ายภาพยุคสมัยนั้น ถ้าแสงสว่างไม่พอ ภาพที่ปรากฎบนฟีล์มจะมองอะไรแทบไม่เห็น)
ระยะภาพส่วนใหญ่เป็น Full Shot (เห็นเต็มตัว) ถึง Medium Shot นับครั้งได้กับการ Close-Up ใบหน้านักแสดง แต่ถึงมีความห่างก็ยังพอเห็นหยาดน้ำตาของเพชรา ท่าทางปฏิกิริยาสีหน้าแสดงออกของเธอ อารมณ์เอ่อล้นออกมานอกจอ สัมผัสได้ทุกครั้งแทบจะโดยทันที
Sequence ที่เจ๋งสุดในหนัง คือขณะ อาทร นำพา พิมพ์ฉวี เข้าไปร่วมรักหลับนอนในกระท่อม วิธีการของผู้กำกับแทรกภาพ Montage เพื่อเป็นคำอธิบายเหตุการณ์ เสียงพากย์อ่านบทกวีของพันธมิตรช่วยเสริมรอยยิ้ม, เมื่อหนุ่มสาวโอบกอดพากันเดินเข้าไปในกระท่อม เริ่มจากภาพสองใบบัวเคลื่อนเข้าหากัน -> น้ำไหลจากที่สูงลงน้ำ -> คลื่นกระเพื่อมซัดริมฝั่ง -> ดอกไม้สีขาว -> ท้องฟ้าเมฆครึ้ม -> ต้นไม้ -> จบที่ประตูกระท่อม … คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าคือฉากร่วมรักในเชิงสัญลักษณ์ นี่ถือว่างดงามระดับคลาสสิกได้เลยละ
จริงๆผมก็ลืมพูดถึง ดอกดิน กัญญามาลย์ รับบท (มะ)เดื่อ ตัวตลกผู้สร้างสีสัน เรียกเสียงหัวเราะได้แทบทุกครั้งที่ปรากฎตัว คิดทำอะไรต้องผิดพลาดพ่ายแพ้ อย่างฉากนี้ไม่ได้รู้เรื่องการแต่งตัวสมัยใหม่ แต่ดันทำเป็นทรงภูมิปัญญา สร้างความอับอายขายขี้หน้าประชาชีให้กับ พ่อของอาทร
นัยยะของการสวมกางเกงหลวมๆ (แบบ Charlie Chaplin) คือการเพ้อฝันทะเยอทะยาน ทำสิ่งที่เกินตัวเองไปมาก ก็เป็นเพียงชาวนาจนๆ ใช่เล่ห์เหลี่ยมกล ให้ลูกได้มีโอกาสพบเจอคนมากมี ชีวีฉันจะได้สุขสบายในภายภาคหน้า
นี่คงเป็นฉากที่ทำให้ใครๆรัก เพชรา ขึ้นมากๆอย่างแน่นอน สวยอยู่แล้วไม่ต้องแต่งมากก็ได้ แต่เมื่ออาทรบอกว่า แต่งตัวอย่างนี้มันเชย เข้าไปในเมืองไม่ได้ พิมพ์ฉวี เลยจำต้องปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งๆไม่ใช่ตัวตนแท้จริง ผลลัพท์เลยออกมาอัปลักษณ์แบบน่ารัก แม่ตานี?? (คนพากย์ ดอกดิน จิ้นไปได้ไกลจริงๆ)
เต็มดวง รับบทโดย ชฎาพร วชิระปราณี เธอคือดาวยั่วคนแรกของเมืองไทย ขายเรือนร่างความอวบอิ่มสวยเซ็กซี่ สวมกางเกงขาสั้นจุ๊ดจู๋ แสดงบทนางร้ายขี้อิจฉาริษยา ซึ่งสถานะของตัวละครไม่ต่างอะไรกับปลิงดูดเลือด จ้องแต่จะจับหาคนรวยเกาะกิน โชคไม่ดีเท่าไหร่เจอคนรวยเก๋แบบอาทรเข้าไป สุดท้ายก็พากัน เรือร่มในหนอง (ทองหายไหน!)
เด็กหญิงไม่ยอมขายสายบัว จริงๆเด็ดเอาเลยก็ได้ไม่เห็นต้องพูดขอ นี่สะท้อนการมองเห็นอะไรเป็นเงินๆทองๆไปหมด ของคนละโมบโลภมาก, และขณะเดียวกัน สายบัว/ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา นำไปไหว้พระแสดงถึงศรัทธา คุณธรรม ความดี ไม่ยินยอมขายเพราะสองคนนี้มันไม่มี ไม่สมควรให้นั่นเองแหละ!
แซว: สองคนนี้ อุตส่าห์ร่ำเรียนจบนอก แต่กลับไร้ซึ่งสมองสติปัญญา สังเกตทรงผมของพวกเขา ช่างสูงส่งเสียเหลือเกิน
อาทร ต้องการคืนดีกับ พิมพ์ฉวี (ชั่วคราว) เพื่อให้ไปพูดความเท็จว่าพวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน เริ่มที่ข้างกองฟางยังนุ่มนวล แต่เมื่อหญิงสาวไม่ยินยอมจึงเริ่มใช้ความรุนแรง อีกคนเข้ามาหักห้ามได้ทันเกิดเรื่องชกต่อย กลิ้งกันมาเรื่อยๆจนถึงช็อตนี้ค่อยๆเลื่อนกล้องเข้าไป ล้อเวียนขนาดใหญ่ นี่มันสื่อถึงกงจักร/ธรรมจักร สะท้อนวัฏจักรของชีวิต จากเคยรัก->กลายมาเกลียด->เพื่อหวังผลประโยชน์เลยหวนกลับมาคืนดี->แต่ก็มิอาจหนีความจริงไปได้พ้น
เจ้าหนี้ของพิมพ์ฉวี (ไม่รู้จักชื่อนักแสดง) เห็นหน้าก็ชวนให้ขบขัน แต่ลึกๆนั้นเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ออกมาตรงๆ ของพวก ‘Loan Shark’
– ร่างกายท้วมๆคดโกงกินอิ่มหนำสำราญ,
– หนวดแหลมเฟี้ยว กว่านายจันทร์หนวดเขี้ยว เป็นคนเคี่ยวเข็นเย็นชา
– คิ้วดกหนาคือโอ่อ่า เจ้าชูดประตูดิน,
แนะนำให้รู้จักผู้กำกับ ศิริ ศิริจินดา รับบทท่านเจ้าคุณ สังเกตว่าพื้นหลังไกลๆพบเห็นเสาไฟฟ้า คงเป็นการสะท้อนว่า ความเจริญได้เข้ามาถึงจิตใจของ พิมพ์ฉวี เรียบร้อยแล้ว
อาการเป็นลมของ พ่ออาทร และแม่เต็มดวง สะท้อนความคาดหวังของทั้งคู่ ใฝ่ฝันได้กลายเป็นหนูตกถังข้าวสาร แต่กลับกลายเป็นตกถังส้วม เลยหมดสิ้นสติสมประดี จิตวิญญาณแทบจะล่องลอยออกจากร่าง
ฉากลักพาตัวพิมพ์ฉวี ไดเรคชั่นก็โดดเด่นใช่ย่อย เริ่มต้นมาอย่าง Dark พื้นหลังมืดมิดสนิท ไม่รอดโดนข่มขืนแน่ แต่วินาทีเพื่อนทัก เดี๋ยวก่อนสิวะ! อยู่ดีๆไฟติดสว่างจร้าขึ้นมา หมดกันอุตส่าห์บิ้วมาอย่างหวาดสะพรึง
หนทางหลบหนีของโจรประกอบด้วย ประตูหน้า ประตูหลัง และหน้าต่าง คือถ้าโดนห้อมล้อมหมดก็สิ้นกันไร้ทางออก นี่คือวิธีเดียวจะต้อนคนชั่วให้จนมุม คือไม่สามารถหาหนทางดิ้นพร่านหลุดรอดไปไหนได้
ลองไปสังเกตกันดูเองกับชุดในฉากนี้ของสองแม่ลูกเต็มดวง แม่สวมเสื้อลายทางตรง ขณะที่ลูกสวมกางเกงลายตรง นี่เรียกว่าถอดแบบกันมา ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเลยนะเนี่ย!
ดูเป็นมุกตอนจบที่พิลึกกึกกือ เมื่อไอ้เดื่อ (ดอกดิน กัญญามาลย์) ถูกพ่อของอาทร ฉุดดึงถอดกางเกงไปครอบครอง แต่นี่คือสัญลักษณ์ของการสูญเสียความเป็นลูกผู้ชาย สะท้อนกับตอนจบของหนังที่ อาทร ยินยอมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เลิกทำความชั่ว สิ้นแล้วซึ่งศักดิ์ศรีทะนงตนที่เคยมีมา
และเป็นการล้อแกล้งกับตอนต้นเรื่อง ที่ไอ้เดื่อ สอนพ่อของอาทร ใส่กางเกงหลวมๆเข้าเมืองกรุงจนอับอายขายหน้าประชาชี มาคราวนี้เลยถูกหมาสองตัวจับจ้องมองไส้กรอกดำ!
ตัดต่อโดย …ไม่มีเครดิต… ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ พิมพ์ฉวี เป็นหลัก แต่ก็มักแทรกด้วยความชั่วร้ายของ พ่อ-ลูกอาทร, แม่-ลูกเต็มดวง, และตบท้ายด้วยไอ้เดื่อผู้ชอบจุ้นเจื้อคนไปทั่วเพื่อสร้างสีสัน
พบเห็นการ Cross-Cutting หลายครั้งทีเดียว เพื่อเป็นการย่นระยะเวลา หรือสร้างความต่อเนื่องให้กับเรื่องราว อาทิ
– พ่อของอาทร ขอพริกบ้านพิมพ์ฉวีเพื่อไปทำน้ำพริก ค้างภาพขณะกำลังเด็ดต้นพริก Cross-Cutting ไปจานอาหาร เคลื่อนติดตามมือหยิบขย้ำเข้าปาก (สะท้อนฝีปากที่เผ็ดน่าดูของพ่ออาทร)
– แม่-ลูกเต็มดวง อ่านบันทึกรักของพิมพ์ฉวี คงเพราะหลายหน้าอยู่พอดี เลยใช้การ Cross-Cutting เพื่อเคลื่อนคล้อยเวลาผ่านไป
หนังฟีล์ม 16mm ทุกเรื่อง(ของไทย) จัดว่าเป็นหนังเงียบ เสียงพากย์ เพลงประกอบ ที่ได้ยินของเรื่องนี้ เป็นการเพิ่มเติมเข้ามาทีหลัง ซึ่งก็เพิ่มสีสัน เติมเต็มเรื่องราวบรรยากาศ ให้มีความสนุกสนานเร้าใจ โดยเฉพาะฉากไหนปรากฎตัวละครของ ดอกดิน ออกมา ฮากับเพลงประกอบก่อนได้เลย ยั่วนำร่องเสร็จสรรพ
สำหรับบทเพลง พิมพ์ฉวี แต่งทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน, คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร, ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าแต่งขึ้นเพื่อประกอบหนังเรื่องนี้เลยหรือเปล่า (หรือแต่งมาตั้งแต่ฉบับละครวิทยุ) ซึ่งใน DVD ได้แทรกใส่ไว้เป็นเพลงเปิดต้นเรื่องพร้อมขึ้นเครดิตผู้สร้าง ซึ่งดูแล้วเป็นการทำใหม่เพิ่มเข้าไป (ฟีล์มต้นฉบับแท้ๆ คงไม่มี Title Credit กระมัง)
เรื่องราวของพิมพ์ฉวี มองมุมหนึ่งคืออาการมืดบอดจมปลักในความรัก ผู้ชายดีๆอยู่ใกล้ตัว ทั้งยังยินยอมเสียสละแต่งงานด้วยในนาม กลับมองข้ามไม่สนใจ เลือกบุคคลผู้มีความชั่วช้าเลวทราม อกตัญญู ไม่รู้สำนึกคุณคน เป็นเหตุให้ต้องรวดร้าวทนทุกข์ทรมาน ถึงขนาดเคยคิดสั้นอยากจะฆ่าตัวตาย
ขณะเดียวกันเราสามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า คือเรื่องราวของการอุทิศตนเองเพื่อความรักหนึ่งเดียว ต่อให้เขาจะทำตัวเลวๆบัดซบสักแค่ไหน แต่ลึกๆในใจย่อมต้องมีความดีหลงเหลือ นั่นทำให้เมื่อตอนรู้สึกสำนึกถูกผิดชอบชั่วดี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไม่ยกโทษให้อภัยต่อกัน
มันคงเป็นเรื่องของกรรมสนองกรรม สาเหตุที่ทำให้ พิมพ์ฉวี ต้องรวดร้าวทนทุกข์ทรมาน จมปลักอยู่กับความเพ้อคลั่งในรักต่อชายหนุ่มผู้มีจิตคิดคดทรยศ เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงสารพัดเพ แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงแท้ ในที่สุดเมื่อเขามิอาจดิ้นหลุดพ้นจึงยินยอมพ่ายแพ้ เข้าใจคุณค่าแท้จริงของการมีชีวิต ไม่ใช่เงินทองร่ำรวย แต่คือความสุขสงบทางใจ
พ่อของอาทร และ แม่ของเต็มดวง ต่างคือเหยื่อของกิเลสตัณหา ความลุ่มหลงใหลในระบอบทุนนิยมเงินตรา คิดว่านั่นจะเป็นสิ่งสามารถจับจ่ายซื้อหาความสุขสะดวกสบายในชีวิต จึงได้ปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอนลูกๆของตนเอง ไม่มีอะไรในโลกนี้สำคัญไปกว่า เงิน เงิน เงิน สุดท้ายเมื่อประสบพบความล้มเหลว หนึ่งกลายเป็นบ้า สองติดคุกติดตาราง เหลือเพียงหนทางเดียวคือทางสายกลาง หลับตาหายใจเข้าลึกๆ ทำบุญทำทานหันหน้าเข้าพระศาสนาเสียบ้าง จะได้ลดละปล่อยวางทิฐิมานะลงเสียที
เข้าฉายศาลาเฉลิมกรุง ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พากย์เสียงโดยรุจิรา-มารศรี, หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร (พ.ศ. ๒๔๕๖ – ๒๕๒๗) นักพากย์เจ้าของฉายา ‘มนุษย์ ๖ เสียง ร่วมกับคู่รักของท่าน มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๕) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
แม้ตอนออกฉายจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เลยยังถือว่าไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งเกิด เพชรา เชาวราษฎร์ (ต้องผลงานถัดๆไป ดอกแก้ว ถึงค่อยเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง) แต่กาลเวลาได้จารึก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี ให้กลายเป็น มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๕ ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดเลยก็ว่าได้
ทีแรกผมไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้หรอกนะ เรื่องราวน้ำเน่าเหม็นหึ่ง เพ้อฝันอยู่ในอุดมคติ แต่หยาดน้ำตาของ เพชรา เชาวราษฎร์ และคำยกโทษให้อภัยไม่ว่าคนรักจะเลวชั่วประการใด ทำให้ผมต้องยินยอมพ่ายแพ้กับความดีเลิศประเสริฐศรีเฉกเช่นเดียวกับตัวละครของ มิตร ชัยบัญชา ชีวิตจริงปัจจุบันคงไม่มีทางเป็นเช่นนี้ นี่แหละที่เรียกว่า คลาสสิกเหนือกาลเวลา
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงฟังดูอุดมคติแต่ก็เป็นจริงดั่งว่า ไม่มีอะไรในใต้หล้าที่มนุษย์ไม่สามารถยินยอมความให้อภัยต่อกันได้ ต่อให้บัดซบเลวทราม ชั่วร้ายสามาลย์สักแค่ไหน ถ้ายังคงเชื่อมั่นและบริสุทธิ์ใจ สักวันหนึ่งอนาคตไม่ไกล เขาย่อมสามารถครุ่นคิดได้และยินยอมปรับตัวเปลี่ยนเอง
คนเราทุกวันนี้ต่างถือทิฐิมานะ เย่อหยิ่งทะนง ยึดมั่นในเกียรติศักดิ์ศรีกันเหลือเกิน สืบเนื่องมาจากคำกล่าวอ้างสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาพเท่าเทียม ทำให้มนุษย์สูญสิ้นความอดกลั้น เวลาขัดแย้งไม่พึงพอใจกันใยต้องฝืนทน ด้วยเหตุนี้คนแบบพิมพ์ฉวี ไม่น่าจะหาพบได้อีกแล้วในยุคสมัยนี้ จดจำไว้เป็นแบบอย่างอุดมคติ ปฏิบัติแสดงออกได้แค่ไหนก็ตามนั้นเพียงพอแล้ว
ใครเป็นแฟนหนังของ เพชรา เชาวราษฏร์ และ มิตร ชัยบัญชา ห้ามพลาดผลงานเรื่องแรกของคู่นี้ด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ กับความกะล่อนปลิ้นปล้อน โลภละโมบ เห็นแก่ตัวของหลายๆตัวละคร
Leave a Reply