ผีเสื้อและดอกไม้

ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘) หนังไทย : ยุทธนา มุกดาสนิท ♥♥♥♥

ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นสิ่งเคียงคู่เกื้อหนุนพึ่งพากันและกันอย่างขาดไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ชาย-หญิง ฮูยัน-มิมปี แม้เติบโตขึ้นบนโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก แต่ชีวิตก็ยังมีสิ่งสวยงามให้เชยชม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมเกิดข้อสงสัยคับข้องใจอย่างรุนแรง ในปีที่ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ของผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ คือโคตร Masterpiece แห่งวงการหนังไทย แต่กลับยังมี ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘) กวาดรางวัลพระราชทานพระสุรสวดี (ตุ๊กตาทอง) ไปถึง ๗ สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี มันคงต้องมีดีอะไรบางอย่าง จึงรีบร้อนสรรหามารับชม … ดูจบแล้วก็เห็นพ้องยินยอมรับ แม้ลึกๆยังคงตกหลุมหลงรัก ข้างหลังภาพ อยู่มากกว่า แต่อดไม่ได้จะยกย่องความตั้งใจอันบ้าบิ่นของ ยุทธนา มุกดาสนิท แถมกาลเวลามิอาจบ่อนทำลายคุณภาพของหนังให้เสื่อมคลายลง

ถึงกระนั้นความงดงามของ ผีเสื้อและดอกไม้ กลับถูกบั่นทอนไปกับคุณภาพของ CD/DVD ตัดขอบซ้ายขวาออกไปพอสมควร แต่นับเป็นความโชคดีเพราะหนังอยู่ในมือของบริษัทไฟว์สตาร์ คงกำลังมีการ Remaster เห็นโพส Trailer ใน Youtube คุณภาพคมชัดกริบ ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีโอกาสได้รับชมฉบับบูรณะนี้เสียที

จากคลิปตัวอย่างภาพยนตร์ ได้เปิดเผยสิ่งงดงามที่สุดของหนังคือ การถ่ายภาพบนหลังคารถไฟ นี่ผมขอเรียกความกล้าบ้าบิ่นของผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท โดยสันชาติญาณของใครๆย่อมรับรู้ได้ว่ามันโคตรอันตราย เคยมีคนตกลงมาตายนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเหตุให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ปัจจุบันนี้สั่งห้ามเด็ดขาด! (เพราะรถไฟมันแล่นเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมากด้วยละ) สมัยนั้นเครื่องไม้เครื่องมือก็ใหญ่โตเทอะทะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด ถ่ายทำไปได้ยังไง แค่คิดก็อึ้งทึ่งประทับใจมากๆแล้ว

ประเด็นคือถ้ามันเป็นพวกหนัง Western พระเอก-ผู้ร้ายไล่ล่ากันบนหลังคารถไฟ อันนั้นไม่ค่อยรู้สึกตะหนกตกตื่นอะไรเท่าไหร่ เพราะนักแสดงต่างโตเป็นผู้ใหญ่แล้วทั้งนั้น และยังมีการฝึกซ้อมเตรียมตัวการวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่เรื่องนี้มีเพียงกลุ่มเด็กๆส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกันด้วยซ้ำ มันเลยมีความหวาดเสียว กลัวอันตราย สั่นสะท้านระริกหัวใจอยู่เรื่อยๆ

ยุทธนา มุกดาสนิท (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๕) ผู้กำกับ-นักเขียนบท ละครเวที/ภาพยนตร์ เกิดที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทางศิลปะ วาดภาพ การประพันธ์ โตขึ้นตั้งใจเป็นนักเขียน/หนังสือพิมพ์ เข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้ฝึกงานในกองถ่ายภาพยนตร์ละโว้ภาพยนตร์ แหวนทองเหลือง (พ.ศ. ๒๕๑๖), ปีสุดท้ายตัดสินใจสร้างละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน ความยาวสี่ชั่วโมงเต็ม สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการขณะนั้น พอเรียนจบท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ดึงตัวมาเป็นผู้ช่วยในภาพยนตร์เรื่อง ความรักครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๑๘), ร่วมงานสามผู้กำกับ ทองปาน (พ.ศ. ๒๕๑๙) แต่โชคร้ายไม่ได้ฉายเมืองไทย, ฉายเดี่ยวครั้งแรกกับ เทพธิดาบาร์ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขณะที่ผลงานถัดๆมา เทพธิดาโรงงาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ทำเงินถล่มทลายสูงสุดแห่งปี, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๒๖), น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗), ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), วิถีคนกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๔), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๔), จักรยานสีแดง (พ.ศ. ๒๕๔๐)

ด้วยความสำเร็จอันล้นหลามของ น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ทำให้นายทุนเกิดความไว้วางใจ อนุญาตให้สร้าง/ดัดแปลงเรื่องราวอะไรก็ได้เป็นผลงานลำดับถัดมา ตัดสินใจเลือกวรรณกรรมเยาวชน ผีเสื้อและดอกไม้ จากบทประพันธ์ของ นิพพานฯ ชื่อจริง มกุฏ อรฤดี ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, เคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, และหนึ่งใน ๑๐๐ หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน

นิพพานฯ เกิดที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนผันตัวมาเป็นนักเขียน เคยสอนหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง ชื่นชอบการจดบันทึกเรื่องราวชีวิตของลูกศิษย์ลูกหา พบเห็นการลักลอบขนค้าข้าวสารและน้ำตาลทรายของกลุ่มกองทัพมด ขึ้นบนรถไฟข้ามประเทศมาเลเซีย นำมุมมองข้อสังเกตของตนเองมาประมวลผลกลายเป็น ผีเสื้อและดอกไม้ เริ่มตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ลงนิตยสารสตรีสาร (นิตยสารที่ขึ้นชื่อว่าเข้มงวดในการคัดเลือกผลงานลงอย่างยิ่ง) รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๑

“…นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เพียงแต่สะท้อนชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งบังเอิญเกี่ยวพันอยู่กับศาสนาหนึ่งในผืนแผ่นดินกว้างใหญ่นี้ แต่มีความจริงอยู่ประการหนึ่งที่อยากกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนในโลกนี้ ทั้งคนดีและคนเลวก็มีอยู่ในนั้นได้เสมอ”

– คำนำในการตีพิมพ์ครั้งแรกของ นิพพานฯ

ฮูยัน (สุริยา เยาวสังข์) เด็กมุสลิมเกิดในครอบครัวฐานะยากจน อาศัยอยู่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พ่อปุนจา (สุเชาว์ พงษ์วิไล) เป็นกรรมกรรถไฟซึ่งกำลังจะตกงาน และมีน้องๆอีก ๒ คนในความดูแล, ฮูยันต้องออกจากโรงเรียนทั้งๆที่เป็นเด็กเรียนเก่ง เพื่อทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว แรกเริ่มจากเดินขายไอศครีมตามท้องตลาดแต่ก็เอาตัวไม่รอด ต่อมามีโอกาสเข้าไปอยู่ในขบวนการกองทัพมด ถึงมีความเสี่ยงถูกจับแต่ก็คุ้มค่าเงินที่ได้มา

มิมปี (วาสนา พลเยี่ยม) เพื่อนหญิงร่วมรุ่นเดียวกันกับ ฮูยัน ครอบครัวให้ลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานเป็นแม่ค้าขายของ ทุกวันต้องโดยสารรถไฟข้ามประเทศไปกลับ, เพราะชีวิตมิได้ทุกข์ยากลำบากเท่า จึงค่อยให้การช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนเป็นกำลังใจ แม้วัยเพียง ๑๒-๑๓ ก็สามารถตกหลุมรักใคร่ เปรียบแล้วเธอก็เหมือนดอกไม้ ชื่นชอบพูดประโยค

“ผีเสื้อนี่โชคดีนะ เกิดมาได้เจอของสวยๆงามๆทั้งนั้นเลย”

นอกจาก สุเชาว์ พงษ์วิไล ที่รับบท พ่อปุนจา และ ดวงใจ หทัยกาญจน์ รับบท คุณครู นอกนั้นคือเด็กๆหน้าใหม่ในวงการ ไม่เคยผ่านการแสดงใดๆมาก่อน นำมาชี้แนะนำขัดเกลา ดีบ้างแย่บ้างคลุกเคล้า โดยรวมต้องชมผู้กำกับการแสดง ทำให้น้องๆเล่นดีใช้ได้เลย

สุริยา เยาวสังข์ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๔) ชื่อเล่น ป๊อป นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ ขณะกำลังศึกษาชั้นมัธยมปีที่สอง ได้รับชักชวนให้ถ่ายแบบแฟชั่นวัยรุ่น เข้าตาผู้กำกับ ยุทธนา ทดสอบหน้ากล้องได้รับเลือกแสดงนำ ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), โด่งดังต่อเนื่องกับ กว่าจะรู้เดียงสา (พ.ศ. ๒๕๓๐), หลังจากจบ ม.ปลาย ไปศึกษาต่อยังประเทศจีน กลับมาทำบริษัททัวร์และช่วงดูแลธุรกิจครอบครัว แวะเวียนมาแสดงภาพยนตร์/ผู้ช่วยผู้กำกับ ช้างเพื่อนแก้ว (พ.ศ. ๒๕๔๖), ปัญญา เรณู (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ

เด็กชายฮูยัน ความรู้เพียง ป. ๔ แม้มีความเฉียวฉลาดเรียนเก่ง แต่ไร้ซึ่งเงินทองจึงหมดโอกาสทางการศึกษา พ่อเป็นคนไม่เอาอ่าว ส่วนแม่ก็ไม่รู้อยู่ไหน จำใจต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ดิ้นรนเพื่อเงินทอง แรกๆคงไม่ครุ่นถึงสิ่งถูกผิด แต่เพราะได้เพื่อนสาวและครูดี ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า สิ่งแท้จริงที่ฉันเพ้อฝัน ต้องการเพียงแค่ ‘เป็นคนดี’ เท่านั้นเอง

รวยจนไม่ใช่ข้ออ้างเรื่องโชคชะตา แต่คือโอกาส ความขยันขันแข็ง และกล้าท้าเสี่ยง ผิดกับพ่อที่พอโลกเปลี่ยนกลับไม่ยินยอมปรับตัว ฮูยันพร้อมยอมทำทุกอย่าง ไม่ใช่ด้วยความโลภละโมบแต่เพื่อน้องๆจะได้รับโอกาสที่ตนสูญเสีย ชีวิตมิได้ต้องการอะไรมากมาย จดจำบทเรียนจากคุณครู และความปรารถนาดีจากเพื่อนสาว(สุดที่รัก) ตั้งใจอย่างที่สุดต้องการเป็นคนดีในสังคมให้จงได้

ถึงจะเป็นเด็กฉลาด แต่ประสบการณ์ทางโลกช่างอ่อนด้อยนัก และอาจผสมด้วยความละอายที่บ้านจน สีหน้าสายตาของ สุริยา เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวายสับสน ป่ำๆเป๋อๆยืนเซ่อทั้งๆเห็นอันตรายสะพานรถไฟอยู่ข้างหน้า ไร้ซึ่งบุคลิกมาดนักเลงโดยสิ้นเชิง ตรงกันข้ามคือบริสุทธิ์ดีแท้จากภายใน กระทำสิ่งชั่วร้ายขนาดไหนก็ยังคงปรารถนาในความถูกต้องดีงาม

วาสนา พลเยี่ยม (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๑) ชื่อเล่น แอน นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ โดยการถ่ายโฆษณาน้ำส้มแฟนต้า เสน่ห์คือนัยน์ตาช่างฝัน เลยได้รับติดต่อแสดงภาพยนตร์ ผีเสื้อและดอกไม้ หลังจากนั้นห่างหายไปเรียนต่อจนจบปริญญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, หวนกลับมาเป็นนักแสดงละครโทรทัศน์อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วห่างหายไปอีกสักพักกลายมาเป็นศิลปินแนว Pop-Rock ตั้งวง Bloody Mary

เด็กหญิงมิมปี เรียนจบ ป.๔ ออกมาทำงานเป็นแม่ค้าขายของ (บนรถไฟ?) ขึ้นล่องสายใต้ หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ไปกลับสองประเทศไทย-มาเลเซีย, ตั้งแต่สมัยเรียนชื่นชอบการปลูก/ดูแลดอกไม้ แต่จริงๆคืออยากเห็นผีเสื้อมาเด็ดดอมดูดเกสรน้ำหอม ไม่รู้เกิดความประทับใจอะไรในตัวฮูยัน (ชื่นชอบดอกไม้-ต้นไม้ เหมือนกันกระมัง) ตามติดแจ เรียนจบยิ่งสนิทสนมเพราะได้ให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน ในที่สุดก็ตกหลุมรักชอบพอ พูดบอกกับเขาก่อนอย่างไม่หวาดกลัวเกรง โตขึ้นคงกลายเป็นสาวมั่นกระมัง แทบสมปรารถนาทุกสรรพสิ่ง

ทีแรกๆผมรำคาญในเสียงพูดเกือบๆตะโกนของหญิงสาว ซึ่งพอมันเป็นเช่นนั้นตลอดทั้งเรื่องก็เริ่มเคยชิน คือมันสะท้อนความเป็น ‘สาวมั่น’ กล้าคิดกล้าพูดกล้าแสดงออกมา งามดั่งดอกไม้ ชักชวนให้ผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์มาดอมดม แต่ยินยอมให้เพียงคนหนึ่งเดียวเท่านั้นสามารถเด็ดไปเชยชม

โรม อิศรา นักแสดงเด็กที่รับบท นาฆา จากศัตรูคู่ความรัก เมื่อปรับความเข้าใจกับฮูยัน จับมือเปลี่ยนแปรผันกลายเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อ แต่น่าเสียดายคิดทำอะไรโง่ๆจนจบชีวิตลงอย่างน่าสมเพศ ทั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้และชีวิตจริง ซึ่งกำลังโด่งดังกับ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๒) ผูกคอตายลาจากโลกไปก่อนวัยอันควร

ถ่ายภาพโดย ปัญญา นิ่มเจริญพงษ์ หนึ่งในขาประจำของ บริษัทไฟว์สตาร์ ผลงานเด่น อาทิ กตัญญูประกาศิต (พ.ศ. ๒๕๒๖), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๒๗), หลังคาแดง (พ.ศ. ๒๕๓๐), ฉลุย (พ.ศ. ๒๕๓๑), ต่อมากลายเป็นหนึ่งในขาประจำของพจน์ อานนท์ อาทิ ๑๘ ฝน คนอันตราย (พ.ศ. ๒๕๔๐), หอแต๋วแตก (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ

หลังจากผู้กำกับได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของบทประพันธ์ ระดมสรรพกำลังทำการศึกษา วิจัย ลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจ/สังเกต/ติดตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปักษ์ใต้ รวมถึงพิธีกรรมต่างๆทางศาสนาที่ไม่คุ้นเคย (ทีมงานส่วนใหญ่คงเป็นชาวพุทธ) โดยเฉพาะขบวนการลักลอบขนสินค้าข้ามชายแดน (พ.ศ. นั้นเห็นว่ายังคงลักลอบกันอยู่ แต่แปรสภาพเป็นในเชิงธุรกิจไปแล้ว), เป็นการถ่ายทำ On-Location สถานที่จริงทั้งหมด

ต้องยกนิ้วให้คือความลื่นไหลของงานภาพ เคลื่อนคล้อยด้วยเทคนิค ซูมออก-แพนนิ่ง/เคลื่อนติดตาม-ซูมเข้า นึกว่า François Truffaut มากำกับหนังไทย ก็ตั้งแต่ช็อตแรก เป็นการประกาศให้รู้ถึง ‘สไตล์ Truffaut‘ ขอเรียกว่า ‘สไตล์ยุทธนา’ ดีกว่า, ภาพจับจ้องแผนที่ประเทศมาเลเซีย ค่อยๆซูมออก -> เคลื่อนติดตามคุณครูเดินไปรอบห้อง -> ซูมเข้ามาหยุดที่โต๊ะเรียนของฮูยัน

คุณครูสุดสวยขณะกำลังพูดถึงโอกาสของเด็กเรียนเก่งๆ ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อเมืองนอก ขณะนั้นกล้องแพนนิ่ง/เคลื่อนไปหยุดที่โต๊ะของเด็กชายฮูยัน พบเห็นทุกคนหันหน้าไปมองอย่างพร้อมเพรียง นี่เป็นการบ่งบอกตรงๆเลยว่าเขาคือที่หนึ่งเรียนเก่งสุดในห้อง

หลังเลิกเรียน เด็กชายฮูยันไปหาป๊ะถึงสถานีรถไฟเทพา จังหวัดสงขลา เป็นฉากแนะนำตัวละครที่เจ๋งมากๆ กล้องเคลื่อนไหลติดตามพ่อปุนจา แพนนิ่งจากซ้ายไปขวา พบเห็นสีหน้าท่าทางลุกรี้ลุกรน ๒ นาทีจอดหยุดนิ่ง กลับไม่มีลูกค้าใช้บริการขนของแบกหามสักคนเดียว เช่นนี้แล้วจะนำเงินที่ไหนมาเป็นค่ากระดาษสอบร่ำเรียนหนังสือกันเล่า

งานภาพสวยๆของหนังจะเริ่มปรากฎเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง ฮูยันตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการกองทัพมด ขณะหลบหนีนายตรวจปีนขึ้นบนหลังคารถไฟ แรกมาด้วยความตื่นตระหนกสะพรึงกลัว แต่เมื่อพบเห็นความกล้าบ้าบิ่นกระโดดโลดเล่นของคนอื่น สักพักก็จักเริ่มเฉื่อยชินชาคุ้นเคยไปเอง, เห็นว่าทีมงานเช่าเหมารถไฟทั้งขบวน จึงสามารถขับเคลื่อนอย่างช้าๆ ถ่ายทำด้านบนหลังคาจึงลดความอันตรายลงได้บ้าง

นอกจากการถ่ายทำบนรถไฟแล้ว ผมมีความประทับใจฉากนี้เป็นพิเศษ คือขณะที่ มิมปี สอบถาม ฮูยัน ถึงอนาคตความเพ้อฝันอยากโตขึ้นเป็นอะไร? คนส่วนใหญ่ได้ยินคำถามนี้คงตอบประมาณ ทหาร ตำรวจ ครู เป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ความต้องการของชายหนุ่มเพียงแค่ ‘คนดีของสังคม’ หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่นี่เรียกว่าอุดมการณ์

ความชาญฉลาดของฉากนี้ เลือกสถานที่ถ่ายทำบนสะพานไม้แห่งหนึ่ง เด็กชาย-หญิง ยืนอยู่บนบริเวณที่มีความมั่นคงเพียงชั่วคราว พลาดพลั้งอุบัติเหตุก็อาจพลัดตกลงคลอง/ทะเล นี่แปลว่าชีวิตของพวกเขาราวกับยังอยู่บนเส้นด้าย ยังคงต้องดิ้นรนหาฝั่งอยู่ก่อน ความฝันอนาคตจึงค่อยตอบได้ว่ามีลักษณะจับต้องเช่นไร

เรื่องราวของ ผีเสื้อและดอกไม้ มีการสอดแทรกประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา คลุกเคล้าผสมผสานกันอย่างลงตัว (ทั้งๆที่ผู้กำกับนับถือพุทธ ไม่ใช่คนมุสลิม)

ประเพณีงาน ฮารีรายอ ในภาคใต้จะมีเพียง ๑ ครั้งต่อปีเรียกว่า วันอีดิลพิตรี เป็นวันรื่นเริงเนื่องในการครบรอบเข้าสู่สภาพเดิม คือสภาพที่ไม่ต้องอดอาหาร ตรงกับวันที่ ๑ เดือนเซาวัล ซึ่งเป็นวันหลังจากมุสลิมถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นเวลา ๑ เดือน ในวันนี้มุสลิมจะต้องไปรับบริจาคชากาตพิตเราะห์ (เงินกับข้าวสาร) หลังจากนั้นก็จะไปเคารพบรรพบุรุษที่สุสานหรือกุโบร์ หลังจากนั้นจะกลับมาทำละหมาด จับมือให้อภัยกัน แล้วจึงไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง

การที่พวกเด็กๆและผู้คนแต่งกายสวยงามเพื่อไปท่องเที่ยวในงานนี้ เป็นการสะท้อนภาพวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม ที่ยึดถือปฏิบัติด้วยความเคารพคงไว้ซึ่งแบบแผนอันดีงามของท้องถิ่น

เช่นเดียวกับประเพณีงานศพ โดยมีการสอดแทรกขั้นตอนการจัดงานตามพิธีของศาสนาอิสลาม เมื่อถึงแก่กรรมจะทำความสะอาดศพทั้งภายนอกและภายใน (จริงๆต้องเปลือยทั้งร่างกาย ไม่ใช่สวมกางเกงเหมือนในหนัง) ห่อด้วยผ้าขาว สวดขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าหรือละหมาดให้แก่ผู้ตาย แล้วฝังภายใน ๒๔ ชั่วโมงนั้บแต่ขณะสิ้นใจ และห้ามทำการอื่นใดเป็นการทรมานศพ เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะมีความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกับเมื่อยังมีชีวิต

reference: http://journal.feu.ac.th/pdf/v6i1t2a4.pdf

ณ งานประเพณีงาน ฮารีรายอ จะมีครั้งหนึ่งที่ภาพมีลักษณะขอบด้านข้างถูกทำให้เป็นวงกลมสีขาว มอบสัมผัสราวกับการเพ้อฝันหวาน  ความรู้สึกเบื้องลึกที่ ฮูยัน มีต่อ มิมปี เพียงขณะนั้นเด็กชายหนุ่มยังขาดความมั่นใจในตัวเอง เลยไม่กล้าพูดแสดงออกไป

ระหว่างงานศพของนาฆา โทนสีน้ำเงินของภาพให้สัมผัสยะเยือกเย็นชา รวดร้าวทุกข์ทรมานใจ หดหู่หมดสิ้นหวัง แต่หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรม ฮูยัน กับ มิมปี ขณะกำลังเดินพูดคุยเรื่อยเปื่อยยามเย็น เด็กหญิงสาวครุ่นคิดขึ้นมาได้ ‘ทำไมเธอไม่ปลูกดอกไม้ขายละ!’ โทนของภาพพลันเปลี่ยนเป็นสีส้มอันอบอุ่นนุ่มนวล สะท้อนประกายแห่งความหวัง โอกาส และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ที่ย่อมสุขสว่างสดใสกว่าวันวาน

ตัดต่อโดย ม.ล.วราภร เกษมศรี, เล่าเรื่องโดยใช้มุมมอง/หลายครั้งแทนสายตาของ เด็กชายฮูยัน จับจ้องสังเกตเห็นสิ่งต่างๆรอบตัว ลึกๆคงมีความรู้สึกคลุ้มคลั่งปั่นป่วนอยู่ภายใน แต่ไม่เคยแสดงออกหรือนิสัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแม้แต่น้อย

ครั้งหนึ่งเป็นการหลับฝัน จินตนาการถึงพ่อถูกรถไฟชน ย้อนรอยกับภาพเหตุการณ์ที่ ฮูยัน พบเห็นขณะรถไฟหยุดกระทันหัน วัวโดนชนเสียชีวิตแต่เจ้าของกลับต้องเสียค่าปรับเพราะทำผิดกฎหมาย โทษตนเองและเพ้อขึ้นในใจ ‘ถ้าตอนนั้นตัดสินใจลงสถานีแรกแล้วเดินกลับ คงไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้’

ตัวอักษร Title Card ของหนัง เป็นการดัดแปลงจากอักษรยาวี หรืออักษรอาหรับ สำหรับเขียนภาษามลายู ครุ่นคิดโดยนักปราชญ์ชาวปัตตานี ชัยค์ อะห์มัด อัลฟะฏอนี (Syeikh Ahmad al-Fathani) ได้วางกฎเกณฑ์รูปแบบมาตรฐาน ใช้เฉพาะท้องถิ่นภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เพื้อบันทึกเรื่องราวในศาสนา และการติดต่อสื่อสารต่างๆของชาวมุสลิม

เพลงประกอบโดย วงบัตเตอร์ฟลาย (ไม่รู้ ยุทธนา เลือกวงนี้เพราะชื่อวงล้อกับชื่อหนังหรือเปล่านะ) เน้นกับคีย์บอร์ด/อิเล็กโทน เครื่องดนตรีไฟฟ้า เสียงนุ่มทุ้มให้สัมผัสแห่งโอกาส ความหวัง และโชคชะตา ราวกับกำลังอยู่ในความเพ้อฝันหวาน จินตนาการล่องลอย เทพนิยายที่แม้ทุกสิ่งอย่างรอบข้างเต็มไปด้วยภยันตราย แต่จิตใจกลับเอ่อล้นเปี่ยมด้วยคุณธรรมความดีงาน

นอกจากนี้ฉากงานประเพณีงาน ฮารีรายอ ยังมีการแทรกดนตรีพื้นบ้านท้องถิ่น ร้องเล่นน่าจะภาษามลายู (น่าจะมีแปลคำร้องให้สักหน่อย คนต่างถิ่นจะได้ฟังเข้าใจ) และช่วงค่ำคืนแดนซ์ให้กระจายกับดนตรีร็อคมันส์สะเด็ด

ใครเคยอ่านวรรณกรรม ผีเสื้อและดอกไม้ น่าจะพบเห็นการเปรียบเปรยที่ว่า ฮูยัน = ผีเสื้อ, มิมปี = ดอกไม้ แต่ผู้ชมภาพยนตร์อาจรู้สึกคลุมเคลือไม่แน่ใจ ครุ่นคิดสักหน่อยก็อาจพอเข้าใจได้
– ผีเสื้อ เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการ/วงจรชีวิต ไข่ -> หนอน -> ดักแด้ -> โตเต็มวัย, คล้ายคลึงกับชีวิตของ ฮูยัน เริ่มต้นจากนักเรียน -> ลาออกมาทำงานขายไอศครีมเลี้ยงดูแลครอบครัว -> เอาตัวไม่รอด วิวัฒนาการขั้นต่อไปเข้าร่วมกองทัพมด -> สุดท้ายได้รับคำแนะนำจาก มิมปี เปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนขายดอกไม้
– ดอกไม้ เมื่อเติบโตถึงวัยแรกแย้ม สื่อถึงหญิงสาว มิมปี ผู้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดีแท้จากภายใน ไม่เคยคาดหวังผลอะไรตอบแทน (ภาษาอังกฤษจะมีคำว่า deflower แปลว่า การเสียพรหมจรรย์ของเพศหญิง)

เกร็ด: ฮูยัน แปลว่า สายฝน, มิมปี แปลว่า ความฝัน

“บางทีคนเราอาจจะทำอะไรลงไปโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน”

คำสอนของคุณครูแม้ได้ประทับอยู่ในความทรงจำของเด็กชายหนุ่ม แต่กว่าที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ ก็เมื่อตนเองได้ทำงาน เก็บเงิน ส่งเสียน้องๆให้สามารถเข้าโรงเรียนต่อ นั่นคือการเสียสละที่ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ แต่กลับมีความสุขทางใจ มันช่างเป็นอะไรที่เอ่อล้น ซาบซ่าน ยากนักจะมีสุขอื่นใดเสมอเหมือน

“เป็นคนดีนี่มันยากจริงๆ”

อะไรคือสาเหตุผล ที่ทำให้ชีวิตของ ฮูยัน ต้องมีสภาพทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ? พ่อที่ไม่เอาอ่าว แม่ไม่รู้หายหัวไปไหน โลกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป และชีวิตอันไร้ซึ่งความหวังโอกาส ทั้งหมดนี้คนส่วนใหญ่มักเหมารวมเรียกว่า ‘โชคชะตา’ แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่

ปัญหาสังคมอันเนื่องจากความยากจน ตกงาน ไร้บ้านที่อยู่ จะบอกว่าเพราะโลกเปลี่ยนแล้วฉันปรับตัวไม่ได้ นี่คือข้ออ้างของบุคคลผู้เห็นแก่ตัว ต้องการให้โลกหมุนรอบตนเอง ไม่เคยคิดพัฒนาเปลี่ยนแปลง จมย่ำอยู่กับที่ เพียงพอแล้วกับวิถีความเป็นอยู่ หาใช่โชคชะตาฟ้าลิขิตมาไม่! … คนเหล่านี้ถ้าอยู่ตัวคนเดียวสันโดดเดี่ยว คงไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับใคร แต่แทบทั้งหมดนั้นล้วนมีภาระหน้าที่ รีบมีเมียตั้งแต่อสุจิยังไม่ทันตั้งไข่ ครอบครัวลูกหลานต้องเลี้ยงดู แม้งใครก็ไม่รู้ทำให้ตรูเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดทั้งกายใจ

คนอย่างพ่อปุนจา หรือแม่ของนาฆา เป็นผู้ใหญ่แย่ๆที่ถือว่า ‘ขาดความรับผิดชอบ’ ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม มันน่าเศร้าสลดตรงที่คนเหล่านี้มีเยอะแยะพบเห็นได้ดาษดื่นเกลื่อนกลาด ‘เพราะยึดถือมั่นในทิฐิความเห็นแก่ตัว จึงมองไม่เห็นค่าของคนพยายามให้การช่วยเหลือ’ จะให้เอาข้าวป้อนใส่ปากเลยหรือกระไร มีกับวางไว้ ถ้าไม่หยิบตักซดแกงด้วยตนเอง ปล่อยให้หมาคาบไปแดกหรือไร

มันสำคัญมากๆเลยนะกับการที่มนุษย์ต้องเรียนรู้จัก ‘ความรับผิดชอบ’ อย่างน้อยสุด เริ่มต้นก็ต่อตนเอง ทำอะไรไว้กล้ายืดอกเผชิญหน้า ไม่ว่าจะถูกผิดดีชั่ว เก็บสะสมเป็นประสบการณ์ชีวิต ผิดเป็นครูแก้ไข ถูกแล้วต้องไม่หยุดนิ่งพัฒนาต่อไป และเมื่อความรับผิดชอบต่อตนเองบังเกิดต่อเนื่อง ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ครอบครัว สังคมจะติดตามมา

ฮูยัน พบเห็นพ่อพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ ตัวเองเลยรับอาสาเลิกเรียนมาขายไอศรีม แต่นั่นยังไม่ดีพอ กล้ารับความเสี่ยงที่พ่อปฏิเสธเสียงแข็ง ถึงมันผิดกฎหมายก็ยังดีกว่าทุกข์ทรมานเพราะท้องหิว ศักดิ์ศรีมันทำให้อิ่มไม่ได้สักนิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั่นใช่ว่าเขาจะทอดทิ้งมัน ลึกๆโดยสันดานแล้ว ‘ฉันอยากจะเป็นคนดี’ คนแบบนี้สักวันหนึ่งย่อมค้นพบเจอหนทางออก และได้รับโอกาสแห่งแสงสว่าง

ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นสิ่งเคียงคู่เกื้อหนุนพึ่งพากันและกันอย่างขาดไม่ได้ ดอกไม้คือผู้ให้(น้ำหวาน) ผีเสื้อคือผู้รับ(กินน้ำหวาน) ในขณะเดียวกัน ผีเสื้อก็คือผู้ให้ (กระจายเกสรดอกไม้ให้) ดอกไม้ก็เป็นผู้รับ(ผสมพันธุ์เกสรดอกไม้) ถ้ามนุษย์ไม่เป็นผู้ปิดกั้นเห็นแก่ตัว สักวันย่อมได้รับโอกาสผลตอบแทนที่ดีคืนสนอง

กับคนที่ติดตามผลงานของพี่หง่าว น่าจะมีความรู้สึกสัมพันธ์ระหว่าง น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๖) กับ ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ที่ต่างเป็นเรื่องของวัยรุ่นเหมือนกัน (น้ำพุแก่กว่าสักหน่อย) แต่ตัวละครนำเสนอมีวิธีเอาตัวรอดไม่เหมือนกัน
– น้ำพุ อยู่ในสถานการณ์ที่ภัยร้ายรอบตัวมีน้อยกว่า เติบโตในชนชั้นกลาง อยู่สถานที่ที่ปลอดภัยเมืองหลวง มีบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง ครอบครัวพี่น้อง แม่ทำงานหาเงินให้ใช้ ร่ำเรียนหนังสือและทำอะไรได้ตามใจฝัน แต่กลับจบชีวิตด้วยภัยในจิตใจของตัวเอง
– ขณะที่ ฮูยัน อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงและด้อยกว่าทุกอย่าง กลับฮึดมานะดิ้นหลุดให้พ้นบ่วงอาชญากรรม หันกลับมาดำเนินชีวิตปกติตามสถานภาพ

คำทิ้งท้ายของ ยุทธนา มุกดาสนิท เมื่อคราเสวนาในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๕๐

“ไม่ว่าจะยากดีมีจนเช่นไร ทุกคนต้องมีความฝัน ความฝันนี่แหละที่จะหล่อเลี้ยงให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ พยุงให้จิตใจใฝ่หาคุณธรรมท่ามกลางความแร้นไร้และหดหู่ทั้งปวง”

ด้วยทุนสร้างประมาณ ๒๕ ล้านบาท ไม่มีตัวเลขรายรับ แต่พี่หง่าวบอกว่าเสมอตัว, คว้า ๗ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบด้วย
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– บทประพันธ์ยอดเยี่ยม
– ผู้แสดงประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (โรม อิศรา)
– ออกแบบและสร้างฉากยอดเยี่ยม
– ตัดต่อลำดับภาพยอดเยี่ยม

นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ ครั้งที่ ๕ ค.ศ. 1986 ณ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกที่หนังไทยได้รับรางวัลจากเทศกาลดังกล่าว และเป็นเรื่องที่สองสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ถัดจาก แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐)

ถึงส่วนตัวจะไม่ค่อยชื่นชอบหนังแนว Neo Romantic หรือ Romantic Realist แต่สิ่งน่าประทับใจอย่างยิ่งยวดของเรื่องนี้ คือการถ่ายทำ/ภาพสวยๆบนหลังคารถไฟ ผู้สร้างแม้งบ้าได้ใจว่ะ! ทำเอาผมอยากเห็นฉบับ Remaster เร็วๆ จะสามารถเติมเต็มสิ่งที่จินตนาการวาดหวังไว้ได้หรือเปล่านะ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้คนส่วนใหญ่ที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จะมีชีวิตสุขสบายดีกว่าเด็กๆ/ตัวละครทั้งหลาย แต่อย่าหลงประมาทชะล่าใจไป ความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัวอาจก่อให้เกิดปัญหามากมาย อย่างน้อยในเรื่องใกล้ตัว รักด้วยสติไม่ใช่ตัณหากามารมณ์ชั่ววูบ พลาดพลั่งเผลอเรอไปแล้วต้องเรียนรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

แนะนำกับพี่น้องมุสลิม ชาวใต้ทั้งหลาย, ชื่นชอบรถไฟ การเดินทาง หนังเกี่ยวกับเด็กวัย Coming-of-Age, หลงใหลวรรณกรรม ผีเสื้อกับดอกไม้ ของ นิพพาน, และแฟนๆผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ รุ่นราวคราวเดียวกับ ฮูยัน-มิมปี สามารถเรียนรู้จัก เข้าใจเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นได้แล้ว

TAGLINE | “ผีเสื้อและดอกไม้ ทำให้ยุทธนา มุกดาสนิท โบยบินกลายเป็นดาวค้างฟ้า ส่งกลิ่นหอมทั่วผืนผสุธา”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: