ผู้ชนะสิบทิศ (พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๐)
: เนรมิต ♥♥♡
จากบทประพันธ์ของ ยาขอบ กลายเป็นภาพยนตร์ไทยคลาสสิกไตรภาค ผู้ชนะสิบทิศ กำกับโดยศิลปินแห่งชาติ ครูเนรมิต นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน รับบทจะเด็ด ยอดขุนพลในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์ผู้ครองเมืองตองอู ก่อนที่จะกลายเป็นพระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา หนึ่งในสามกษัตริย์มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศพม่า
กับนวนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ ผมจำไม่ได้ว่าเคยอ่านหรือเปล่า มีช่วงหนึ่งตอนเด็กๆที่ผมชอบอ่านนิยายมากๆ เคยบ้าอ่านนิยายกำลังภายในของจีน มังกรหยก, แปดเทพอสูรฯ, สามก๊ก, เจาะเวลาหาจิ๋นซี ฯ นิยายไทยก็ เพชรพระอุมา, อินทรีแดง ฯ ซึ่งผู้ชนะสิบทิศ คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะเคยอ่าน แต่ก็จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว
ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ งานประพันธ์ชิ้นเอกของ ยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ ตอนแรกใช้ชื่อว่า ยอดขุนพล กล่าวถึงเรื่องราวของนักรบผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ชนะสิบทิศ หรือ พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี, ส่วนชื่อ ผู้ชนะสิบทิศ มีอ้างอิง ๒ แหล่ง ๑)จากคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง พระเจ้าบุเรงนองว่าเป็น ‘The Conqueror of Ten Directions’ ๒)จากหนังสือชีวประวัติยาขอบ อ้างอิงว่า ครูมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งชื่อให้
นวนิยายเรื่องนี้ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, ละครเวที, ละครวิทยุ และละครโทรทัศน์ นับครั้งไม่ถ้วน (ส่วนใหญ่จะเป็นละครโทรทัศน์), สำหรับฉบับภาพยนตร์ ได้รับการดัดแปลงสร้างขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๐ เป็นภาพยนตร์ไตรภาค ฟีล์ม ๑๖ มม. กำกับภาพยนตร์โดย อำนวย กลัสนิมิ หรือครูเนรมิต
– ยอดขุนพล ออกฉายที่แกรนด์ วังบูรพา วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ความยาว ๑๔๕ นาที
– บุเรงนองลั่นกลองรบ ออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ความยาว ๑๓๑ นาที
– บุเรงนองถล่มหงสาวดี ออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ความยาว ๑๔๓ นาที
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จฯทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่องนี้ ๒ ครั้ง
– บุเรงนองลั่นกลองรบ รอบปฐมทัศน์ ที่ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐
– บุเรงนองถล่มหงสาวดี รอบปฐมทัศน์ ที่ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐
พระเจ้าบุเรงนอง หรือพระนามเต็ม พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา (พ.ศ.๒๐๕๙ – ๒๑๒๔) เป็นพระมหากษัตริย์พม่า ราชวงศ์ตองอู เสวยราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๙๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๑๒๔ ปราบดาขึ้นหลังจากการสวรรคตของ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ กำเนิดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ข้อเท็จจริงตามพงศาวดาร พระองค์มีเชื้อกษัตริย์ในตัว เป็นบุตรชายของเมงเยสีหตู (สำเนียงพม่าออกว่า มินแยตี่หะตู่) ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย, ว่ากันว่า เมงเยสีหตูผู้นี้ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย
พระเจ้าบุเรงนองเป็นกษัตริย์ที่ทางพม่าถือว่าเป็นหนึ่งในสาม กษัตริย์มหาราช พร้อมด้วยพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม และพระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์คองบอง, ด้วยความที่เป็นกษัตริย์นักรบ อันมีพระปรีชาสามารถ พระเกียรติเลื่องลือไกล โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ ครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิระวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่าง ๆ มากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดี ล้านช้าง ไทยใหญ่ เขมร ญวน ล้านนา อโยธยา เป็นต้น
ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่า ก่อนพระองค์จะออกทำศึกคราวใด จะทรงนมัสการพระธาตุชเวมอดอ หรือที่ชาวไทยเรียกตามชาวมอญว่าพระธาตุมุเตา พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองหงสาวดีก่อนทุกครั้ง จุดที่เชื่อว่าพระองค์ถวายการสักการะก็ปรากฏอยู่หน้าพระธาตุตราบจนปัจจุบัน
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ฝั่งพม่าระบุไว้ว่า พระเจ้าบุเรงนองมีมเหสี สามพระองค์ โดยมีพระนางอตุลสิริมหาราชเทวี หรือพระนางตะเคงจี (พระพี่นางในพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) เป็นมเหสีเอก และทรงเป็นราชินีพม่าองค์เดียวที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาราณี, มีพระราชโอรสองค์โตคือ เจ้าชายงาสู่ด่ายะก่ามิน หรือ นานเตี๊ยะบาเยง (ที่ต่อมากลายเป็น พระเจ้านันทบุเรง), นอกจากนี้ยังมีพระสนมมากถึง 30 พระองค์ ซึ่งแต่ละพระองค์ล้วนเป็นเจ้านายจากหัวเมืองต่างๆ ที่หลังจากรบชนะ ได้พาเข้ามาอยู่ในพระราชวัง (เป็นองค์ประกัน)
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ต่อ ศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรเริ่มสั่นคลอน เนื่องจากการปกครองอย่างแข็งกร้าว ไร้ไมตรี เมืองที่เคยขึ้นเป็นประเทศราชต่างแข็งข้อ ประกาศอิสรภาพแยกตัวและทำสงครามรบพุ่งกับหงสาวดีตลอดมา เช่น แปร, อังวะ, อโยธยา เป็นต้น
จากนวนิยายสู่บทภาพยนตร์โดย พงศ์ อำมาตย์, อนุมาศ บุนนาค และ เจน จำรัสศิลป์
เริ่มต้นกล่าวถึงอาณาจักรตองอู เกิดขึ้นจาก เมงกะยินโย, มังสินธู (มือทวนเอก) และ ตะคะญี (ครูดาบ) ร่วมกันรวบรวมชาวพม่าที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายหลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม จากการโจมตีของมองโกล สร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นมาที่ตองอู ซึ่งเป็นเมืองในขุนเขา ถือว่าเป็นป้อมปราการธรรมชาติที่ดี, แต่พอสร้างสำเร็จแล้ว มังสินธู ก็วางมือเข้าสู่ทางธรรม บวชพระเป็น มหาเถรกุโสดอ ส่วน คะตะญี แยกตัวกลับไปอยู่บ้านเกิด ตั้งสำนักดาบขึ้นมา และเมงกะยินโย (ในพงศาวดารพระนาม พระเจ้าเมงจีโย) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอู ในพระนาม พระเจ้าสิริชัยสุระ
เกร็ด: พระนามของพระองค์อาจแปลได้ว่า พระองค์ดำ (มิน = กษัตริย์, จี = ยิ่งใหญ่, โหญ่ = ดำ)
ต่อจากนี้ขอใช้ชื่อตัวละครตามภาพยนตร์นะครับ ซึ่งอาจไม่ตรงตามประวัติศาสตร์พงศาวดาร ก็ขอให้เข้าใจตรงกัน เพราะนี่เป็นนวนิยายที่แต่งอิงประวัติศาสตร์ หาใช่เรื่องราวจากประวัติศาสตร์จริงๆ
เมงกะยินโย มีพระโอรส ๒ พระองค์ พระธิดาองค์โต จันทรา และราชบุตร มังตรา เนื่องจากพระมเหสีสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงทรงฝากให้ แม่เลาชี ที่มีบุตรคือ จะเด็ด เป็นพระนมหลวง ทั้งจันทรา มังตราและจะเด็ด จึงกลายเป็นพี่น้องร่วมเต้านมเดียวกัน
จะเด็ด ถือว่าเป็น ผู้มีบัญญาธิการ มาตั้งแต่เกิด ได้รับการฝากฝังเลี้ยงดูฝึกวิชาฝีมือจาก มหาเถรกุโสดอ อีกทั้งยังได้เป็นสหายพี่น้องร่วมเต้านมเดียวกับว่าที่กษัตริย์องค์ถัดไป แม้จะมีข้อเสียหนึ่งคือเป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน ไปตีเมืองไหนก็จะได้ครองครอบเมียแม้เหมือนจะโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่รู้จักคำว่าปฏิเสธ, เป็นผู้รู้บุญคุณคน มีจิตสำนึกดี และเชื่อมั่นในศาสนา
รับบทโดยไชยา สุริยัน หรือชื่อจริง หม่อมหลวงอภิรัฐ จรูญโรจน์ (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๓๓) นักแสดงเจ้าบทบาท เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ๓ ปีซ้อนคนแรกคนเดียวของไทย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๐๗, ไชยา ได้รับคำชมว่าเป็น ดาราชายเจ้าบทบาทที่เล่นหนังชีวิตได้ยอดเยี่ยม ด้วยการแสดงออกทางสายตาที่คมซึ้ง ได้รับบทบาทประกบทั้งนางเอกและพระเอกดังในยุคนั้นมากมาย
เกร็ด: รางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ๓ เรื่องนั้นประกอบด้วย เรือนแพ (พ.ศ. ๒๕๐๔), ภูตพิศวาส (พ.ศ. ๒๕๐๕) และ ธนูทอง (พ.ศ. ๒๕๐๖)
การแสดงของไชยา โดดเด่นมากทั้งในบทบู๊และฉากรัก, สังเกตได้จาก Love Scene ของจะเด็ดกับนางแต่ละคน มีลีลาการแสดงออกที่แตกต่างกันไป ตะละแม่จันทรา ดูสวยเย็น, ตะละแม่กุสุมา ดูสวยร้อน, ตะละแม่นันทวดี ดูสวยเศร้า ฯ วิธีการกอดจูบลูบไล้ Passion ก็แตกต่างกัน คงเพราะจะเด็ด เข้าใจนิสัยตัวตนของตะละแม่ทั้งหลายเป็นอย่างดี จึงแสดงความรักออกมาในรูปแบบวิธีการที่เข้ากับนิสัย ความต้องการของพวกเธอ
แต่ถ้าต้องเลือกจะให้ใครเป็นนางเอก ผมก็เลือกไม่ได้ และไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ในบริบทของพงศาวดาร มเหสีเอกของพระเจ้าบุเรงนอง คือ พระนางตะเคงจี หรือ ตะละแม่จันทรา (ในหนัง) เพราะพระองค์ทรงเป็นพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เป็นพี่น้องร่วมเต้านมเดียวกัน รู้จักมักคุ้นกันตั้งแต่เด็ก มองแบบนี้ก็ถือว่าเอกฉันท์ เพราะ มเหสีเอกคือตะละแม่จันทรา
ตะละแม่จันทรา นำแสดงโดย กรุณา ยุวกร, เนื่องเพราะได้รู้จักกับจะเด็ดมาตั้งแต่เด็ก คงตกหลุมรักกันมายาวนาน (เห็นกันตั้งแต่ภาคแรก) จึงถือว่าเป็นคนซื่อสัตย์ ภักดี รักจริง รักยาวนาน (มั่นคงเสียยิ่งกว่าจะเด็ดอีก) ผมก็ไม่รู้เธอเอาความมั่นใจมาจากไหนนะ ขนาดรู้ทั้งรู้ว่า จะเด็ดหว่านเสน่ห์ไปทั่ว แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นเต็มร้อยว่า ความรักของเขาและเธอจักมั่นคงยืนยงที่สุด
ตะละแม่กุสุมา นำแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์ เธอนักแสดงที่ผู้กำกับดัง เชิด ทรงศรี ตั้งฉายาให้ว่า ดาราเงินล้าน, ตะละแม่ชาวแปรผู้นี้เป็นคนอาภัพ ต้องถูกฉุดคร่า ชิงตัวไปมา เป็นต้นเหตุความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง จะเด็ดกับสอพินยา (ตะละแม่กุสุมาถือว่าเป็นนางเอกในภาคสอง), ความรักของจะเด็ดต่อตะละแม่กุสุมา คือความพิศวาสในรักอันรุ่มร้อน รุนแรง เป็นคนที่เขารักและต้องการครอบครองเป็นอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นจะยอมบุกไปชิงตัวกลับมาถึงหงสาวดีได้เชียวหรือ
กับตะละแม่สองนางนี้ จะเด็ดพรรณาถึงความรักต่อทั้งสองว่า ‘ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง’
สำหรับตะละแม่คนอื่นขอไม่เอ่ยถึงแล้วกันนะครับ มีเยอะเหลือเกิ้น มีตัวละครอื่นน่าสนใจกว่าเยอะ
มังตรา หรือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ รับบทโดย ประจวบ ฤกษ์ยามดี เจ้าของฉายา ดาวร้ายผู้น่ารัก, สำหรับมังตราฉบับนี้ เป็นเหมือนวัยรุ่นที่มีความคึกคะนอง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ใจร้อนวู่ว่าม ปลิ้นปล้อน วอกแวก แม้กระทั่งเพื่อนรักตนเองก็ยังไม่เชื่อใจในความจงรักภักดี นี่ไม่ใช่ลักษณะของผู้นำที่ดีแม้แต่น้อย แต่โชคดีที่บุญบารมีของทั้งคู่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ทำให้จนแล้วจนรอด มังตราก็ไม่มีโอกาสลงโทษ หรือทำร้ายจะเด็ดได้เลยสักครั้ง, ปู่น้อยกับบทบาทนี้ ถือว่ากวนบาทาได้ใจจริงๆ มีความหยิ่งผยอง แต่สีหน้า ลีลา คำพูด มีความน่ารักน่าชัง ไม่รู้สึกเลยถึงความอาฆาตพยาบาทที่ควรแฝงอยู่ (คือเหมือนปากพูดอย่าง แต่ใจเป็นอีกอย่าง)
ปู่น้อยเพิ่งเสียชีวิตปีนี้เองนะครับ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ สิริรวมอายุ ๘๒ ปี
มหาเถรกุโสดอ/มังสินธู รับบทโดย หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร ท่านเป็นพระละทางโลกหาได้สำเร็จไม่ เข้าแทรกแซงเรื่องการเมืองของประเทศอย่างมาก มีบทบาทอิทธิพลสำคัญต่อทั้งมังตราและจะเด็ด แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของตองอู เพราะทรงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งตองอู จะให้ทิ้งไปได้ยังไง
ตัวร้ายสองคน (ไม่แน่ใจพงศารดารมีหรือเปล่า หรือยาขอบเขียนขึ้นเอง) สอพินยา รับบทโดย แมน ธีระพล และ ไขลู รับบทโดย สมพล กงสุวรรณ -ยาขอบเคยพูดไว้ประมาณว่า พระเอกแบบจะเด็ดเขียนง่าย แต่ตัวร้ายอย่างสอพินยา ไขลูเขียนยากมาก ทำให้พวกเขาเป็นตัวละครโปรด- ผมก็ชอบทั้งสอพินยาและไขลูนะครับ เป็นตัวร้ายที่โผล่มาตั้งแต่ภาคแรก สร้างความร้าวฉานเป็นประเด็นให้กับ จะเด็ดตั้งแต่ต้นๆเลย (เป็นศัตรูผู้หญิงกันด้วย ไม่ใช่แค่ศัตรูแผ่นดิน) สอพินยาจะดูหน่อมแน้มเสียหน่อย ส่วนไขลูก็ปลิ้นปล้อน เหมือนงูลิ้นสองแฉก การตายของทั้งคู่ในภาคสาม ถือเป็นอะไรที่กรรมตามสนอง สอพินยาฆ่าตัวตายเอง ส่วนไขลู ก็ตามเวรตามกรรม ถือว่าตายเหมือนหมาทั้งคู่เลย
ถ่ายภาพโดย อนันต์ อินละออ, นี่เป็นหนังถ่ายด้วยฟีล์ม ๑๖ มม. คุณภาพก็ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ (น่าจะยังไม่เคยมีการ restoration/remaster) หนังเปิดเรื่องด้วยฉากสงคราม มีการสร้างกำแพงเมืองที่ดูยิ่งใหญ่ จำลองการรบทั้งช้าง ม้าและพลราบ นี่เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจเปิดเรื่อง ทั้งภาคหนึ่งและภาคสอง ดูในสมัยนี้ย่อมหาความสมจริงไม่ได้ (ก็อย่าพยายามเอาหนังไปเทียบกับ สุริโยทัย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรนะครับ หนังมันคนละยุคคนละสมัยกัน ทำได้แค่นี้ถือว่ายอดแล้ว พอรับได้) ผมมองฉากพวกนี้ ในเชิงความหมาย ให้ความรู้สึกว่า มีสงครามการต่อสู้เกิดขึ้น
ฉากอื่นๆส่วนใหญ่ของหนังเป็นถ่ายภายในตำหนัก ราชวัง ซึ่งนำเสนอเรื่องราวความรัก เกี้ยวพาราสีของจะเด็ดกับตะละแม่ต่างๆ กินเวลาน่าจะเกินครึ่งหนึ่งของหนังแต่ละภาค นี่คงหมายถึงความสำคัญของการจีบสาว พอๆกับการตีเมืองทำสงครามกับชาติอื่นเลย
ตัดต่อโดย อำนวย กลัสนิมิ, หนังใช้มุมมองของจะเด็ดเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งใช้ตัวละครอื่นนำเล่าเข้าเรื่อง แล้วพูดประมาณว่า ‘ถ้าจะเด็ดรู้เข้านะ…’ ไม่นานนักจะเด็ดก็จะโผล่มาจริงๆ
ผมไม่แน่ใจฉบับที่ดู มันมีฟีล์มขาดหายตกหล่นไปหรือเปล่า เพราะเหมือนว่าบางฉากหายไป เช่น ตอนจะเด็ดยึดเมืองแปรสำเร็จ เหมือนฟีล์มทั้งม้วน (reel) หายไปแล้ว พอบอกว่าจะยกทัพมา แล้วอยู่ดีๆก็ตัดไป ทำสงครามชนะเลย … หรืองบหมดหว่า?
เพลงประกอบ ไม่มีเครดิต มีความหลากหลายอย่างมาก และบางครั้งใช้ไม่จำเป็น ครั้งหนึ่งใช้เพลงไทย ต่อมาเปลี่ยนเป็นเพลงสากล สลับไปมาเอาแน่เอานอนไม่ได้ (ส่วนใหญ่เป็นเพลงดังๆที่คุ้นหู อาทิ ลาวดวงเดือน ฯ) นี่เพื่อสร้างบรรยากาศประกอบหนัง ไม่ให้เงียบจนเกินไปเท่านั้น
มีเพลงประกอบที่เป็นที่รู้จักและยังติดอยู่ในความทรงจำถึงปัจจุบัน ๒ เพลง (จากภาคสองของหนัง) คือ บุเรงนองลั่นกลองรบ ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง เชื่อว่าท่อนร้อง ‘ทุงยา บาเล’ คงยังติดหูใครหลายๆคน
อีกเพลงหนึ่งคือ ผู้ชนะสิบทิศ ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร, จริงๆเพลงนี้ประกอบละครโทรทัศน์ ผู้ชนะสิบทิศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่ชรินทร์รับบทจะเด็ด ซึ่งกับฉบับภาพยนตร์ก็นำมาใช้ด้วย (เห็นเขาบอกมาเช่นนั้น แต่ผมไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนของหนัง)
ใจความของผู้ชนะสิบทิศ เป็นกึ่งชีวประวัติของจะเด็ด ก่อนที่จะกลายเป็นพระเจ้าบุเรงนอง และเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ตองอูกลายเป็นราชธานี ราชวงศ์ใหม่ของประเทศพม่า, ซึ่งนอกจากความปรีชาสามารถในด้านการรบแล้ว ยังยิ่งใหญ่ในเรื่องความรัก หว่านเสน่ห์เอาชนะใจหญิงสาวทั้งทุกสารทิศ
นี่อาจเป็นที่โปรดปรานของผู้ชื่นชอบเรื่องราว รักหลากหลาย (Harem) เมียหลวง/เมียน้อย วรรณกรรมไทยดังๆก็อย่าง ขุนช้างขุนแผน หรืออนิเมะสมัยนี้ก็อย่าง Nisekoi, Infinite Stratos ฯ ที่พระเอกเป็นที่โปรดปรานของสาวๆ คารมที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่ปรารถนาดีต่อทุกคน ซึ่งตอนท้ายก็มักเลือกไม่ได้ ว่าจะเอาใครดี (เลยเอาทั้งหมดเลย!)
มองหนังเรื่องนี้ในสมัยปัจจุบัน อาจมีคนไม่พอใจจะเด็ดอยู่มาก ถ้าเอาบรรทัดฐานของคนสมัยนี้มาใช้ ผู้ชายควรจะรักเดียวใจเดียว มีเมียเดีย ฝ่ายหญิงก็ไม่ควรยินยอม ผู้ชายที่มากรัก หลายใจ เชื่อถือไม่ได้, กับผู้ชายมันไม่มีอะไรเสียหายเลยนะครับ แต่ผู้หญิงจะถูกตราหน้า เหยียดหยามเป็นเมียหลวงก็อาจแค่เสียหน้า แต่ถ้าเมียน้อยก็จะถูกสาปแช่ง ไม่พอใจกันรุนแรงก็มีเรื่องตบตี ทะเลาะวิวาทวุ่นวาย, Harem สมัยก่อน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งหญิงและชายนะครับ เพราะค่านิยมความเชื่อที่ว่า ถ้าผู้ชายมีภรรยามาก จะถือว่ามีบารมี บุญญาธิการมาก ร่ำรวย ยศศักดิ์ต้องใหญ่โต ไม่เช่นนั้นจะดูแลภรรยาหลายคนได้ยังไง (ส่วนมากจะเป็นกษัตริย์ แต่เป้าหมายเพื่อสืบราชวงศ์ให้คงอยู่ยืนนาน) ส่วนผู้หญิง การเป็นเมียน้อย ก็ถือว่ายกระดับชีวิตตามหน้าตา มีชีวิตอย่างสุขสบาย (เพราะสามีเลี้ยง) ไม่ต้องทนลำบากยากเข็น ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แถมอาจมีโอกาส ได้เป็นใหญ่ในอนาคตได้อีกด้วย
อิจฉาไปก็เท่านั้น ค่านิยมของโลกเปลี่ยนไปแล้ว สมัยนี้ ถ้าผู้ชายมีภรรยาหลายคนก็จะถูกตราหน้าว่าไม่ให้เกียจผู้หญิง หรือเมียน้อยก็จะถูกตราหน้าว่า ไปแย่งผัวคนอื่น ไม่มีอะไรดีเลยกับการมีเมียหลายคน (แต่แต่งงานเลิกแล้วแต่งงานใหม่ได้ ไม่มีใครว่า!) แล้วแต่คุณเองนะครับ ว่าจะใช้ชีวิตตามบรรทัดฐานไหน แต่จะบอกว่า… ศาสนาพุทธไม่มีข้อจำกัดว่าคุณต้องมีผัวเดียวเมียเดียว อยากมีหลายคนก็ได้ไม่ผิด แต่อย่าไปผิดลูกผิดเมียคนอื่นที่เขาไม่อนุญาติก็พอ
ปล. บนสวรรค์นี่โคตร Harem เลยนะครับ กับผู้ชายที่บารมีมาก เทพธิดา นางฟ้า หลายสิบ หลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น … คอยรับใช้ ตามบารมีของคุณที่สั่งสมอธิษฐานไว้ (ถ้าใครตายไปอยากสุขสบายมีเมียเยอะๆ ก็อธิษฐานถือศีล ๕ ศีล ๘ ตลอดชีวิตนะครับ)
นวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อตอนตีพิมพ์รวมเล่ม จนกระทั่งยุคของจอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยมีนโยบายสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อสหรัฐ โดยการส่งทหารไทยเข้ารุกรานดินแดนพม่าของอังกฤษร่วมกับญี่ปุ่น, ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลได้เข้าควบคุมสื่อการพิมพ์ทุกอย่าง นิยายผู้ชนะสิบทิศได้ถูกพิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ยกย่องศัตรูของชาติ นิยายผู้ชนะสิบทิศได้ถูกสั่งห้ามพิมพ์จำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองอย่างเด็ดขาด
ก็จริงอยู่ที่เรื่องราวนี้ เป็นการยกย่องพระมหากษัตริย์ของประเทศพม่า แต่ผมสงสัยทำไมไม่มีใครมองแบบว่า ในเมื่อพระเจ้าบุเรงนองสามารถตีอโยธยาแตกได้ ก็ถือว่าท่านเป็นพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยพระองค์หนึ่ง เราเอาความเจ็บแค้น ในความที่เป็นประเทศราช ต้องตกเป็นเบื้องล่างของกษัตริย์ประเทศอื่นเข้าอ้าง คนสมัยนั้นอาจไม่ได้คิดรู้สึกอะไรด้วยซ้ำ แต่ตำราหนังสือเรียนสมัยนี้ทุกเล่มเสี้ยมสอนเรามาตั้งแต่เด็กว่า พม่าคือศัตรู อะไรกันนี่!
ผมคิดว่าเราควรภูมิใจเสียอีก ที่ครั้งหนึ่งประเทศของเราเคยอยู่ภายใต้บุญาธิการบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง ท่านเป็นกษัตริย์ผู้ทรงบารมีจริงๆ (อาจเป็นพระโพธิสัตว์มาเกิดด้วยซ้ำ) ไปรังเกียจท่าน ก็เหมือนดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวนะครับ เหมือนตอนนี้ที่ต่างชาติไม่เข้าใจทำไมคนไทยถึงรักในหลวง รัชกาลที่ ๙ นี่ก็ลักษณะเดียวเลย เพียงเพราะต่างเชื้อชาติ ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ แค่นี้นะหรือ ที่ทำให้เราต้องแสดงท่าทีรังเกียจกษัตริย์มหาราชประเทศอื่น ที่รุกรานประเทศเรา
แม้แต่พระนเรศวรเอง ก็ยังยกพระเจ้าบุเรงนอง เป็นเสมือนพระบิดาหนึ่ง ผู้ชุบเลี้ยงตนมาให้เติบใหญ่ ซึ่งท่านก็รอถึงวันสิ้นบารมีของท่าน เปลี่ยนรัชสมัยมาเป็นพระเจ้านันทบุเรง ถึงค่อยประกาศอิสรภาพให้กับกรุงศรีอโยธยา …
ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ ไม่ชอบไม่เกลียด มีส่วนที่ชอบและส่วนที่เกลียด, ผมค่อนข้างชอบไชยา สุริยัน ในการแสดงออกทางแววตา ยามรบทัพจับศึก ก็เข็มแข็ง ห้าวหาญ คล้องแคล่วราวกับเป็นผู้ชนะสิบทิศกลับมาเกิด ยามรักก็นุ่มนวลอ่อนหวาน, แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่ชอบนิสัยเจ้าชู้ประตูดินนี้เลย (พูดง่ายๆว่า อิจฉา) จะเด็ดคนนี้ นอกจากรบศึกได้ ๑๐ ทิศแล้ว ยังชนะใจสาวทั่วหล้าในปฐพี นี่ทำให้ผมตั้งคำถาม หนังมันมีสาระอะไรนอกจากความบันเทิงกันนี่!
สำหรับโปรดักชั่นหนังต้องบอกว่า ทำออกมาได้คลาสสิก (อย่าไปเรียกว่า เชย นะครับ) เหมือนกำลังดูหนังจีนกำลังภายในของ Shaw Brothers สมจริงที่สุดเท่าที่เงินทุน และข้อจำกัดยุคสมัยนั้นจะสร้างได้, ผมต้องขอยกย่องศิลปินแห่งชาติ ครูเนรมิต แม้ในด้านงานสร้างภาพยนตร์จะไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องกำกับการแสดงถือว่าโดดเด่นอย่างยิ่ง สามารถเค้นเอาศักยภาพแท้จริงของนักแสดง ออกมาได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด
แนะนำกับคอหนังไทยคลาสสิก ที่เน้นขายการแสดง และความโรแมนติก (ปน Erotic), แฟนนิยาย แฟนหนังไชยา สุริยัน, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, พิศมัย วิไลศักดิ์, ชนะ ศรีอุบล ฯ ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับการการรบที่แฝงความรุนแรง ฝีปากของจะเด็ด ที่คมคายและล่อแหลม
Leave a Reply