ผู้แทนนอกสภา

ผู้แทนนอกสภา

ผู้แทนนอกสภา (พ.ศ. ๒๕๒๖) หนังไทย : สุรสีห์ ผาธรรม ♥♥♡

อุดมคติแห่งประชาธิปไทย แม้ว่าผู้สร้างต้องการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไฉนกลับให้ตอนจบลงเอยอย่างนั้นเสียละ! นี่มันสะท้อนความหมดสิ้นหวังทางการเมือง คนดีไม่มีที่ยืนในสังคมไทย

คงไม่มีคำพูดประโยคไหนทรงพลังไปมากกว่า ค่ำคืน ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เลขาธิการธิการพระราชวังอัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒

“ขอให้ทราบถึงสิ่งสำคัญในการปกครองไว้ว่า ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ความตั้งใจดีของผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นน่ายกย่องสรรเสริญ เทคนิคนำเสนอก็ถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่การจบแบบสิ้นหวังโศกนาฎกรรม … จริงอยู่มันอาจชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตระหนักถึง ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตนเอง ขณะเดียวกันก็สะท้อนสัจธรรมความจริงของสังคมไทย ไม่ว่ายุคสมัยนั้นล้วนเต็มไปด้วยคนชั่วครองเมือง

ผู้แทนนอกสภา มองมุมหนึ่งสามารถเรียกได้ว่า ‘ภาพยนตร์ชวนเชื่อประชาธิปไตย’ พยายามปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน สร้างค่านิยม ทัศนคติใหม่ๆให้กับสังคมไทย คนชั่วหาเสียงเอาของโน่นนี่นั่นมาแจก เมาแค่วันเดียวแล้วทุกข์ทรมานไปอีก ๔ ปี ทำไมไม่ครุ่นคิดว่าวันนี้ยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้มีความสุขสบายหายห่วง

ขณะเดียวกันถ้าามองในมุมคอมมิวนิสต์/เผด็จการ นี่เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอความเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ เกือบทั้งหมดของผู้สมัครพยายามซื้อเสียง ก่อกวน ใส่ร้ายป้ายสี มีการเล่นสกปรกสารพัดรูปแบบ เพื่อแลกมากับชัยชนะ ขณะที่คนดีหนึ่งเดียวกลับถูกกลั่นแกล้งสารพัดเพจนท้ายที่สุด…


สุรสีห์ ผาธรรม (เกิดพ.ศ. ๒๔๙๑) ผู้กำกับชาวไทย เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี สมัยเด็กด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์ จึงละทิ้งการเรียนไปเป็นนักพากย์ ทำให้รู้จักคุณกมล กุลตังวัฒนา ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือสิ่งต่างๆมากมาย ต่อมาได้เปิดบริษัทจัดซื้อหนังอินเดียเข้ามาฉายในไทย ประสบความสำเร็จหลายเรื่องทีเดียวเลยเกิดความสนใจสร้างภาพยนตร์ขึ้นเองบ้าง เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล (พ.ศ. ๒๕๒๐), ฉายเดี่ยวแจ้งเกิดกับ ครูบ้านนอก (พ.ศ.๒๕๒๑), ผลงานเด่นๆ อาทิ หนองหมาว้อ (พ.ศ. ๒๕๒๒), ครูวิบาก (พ.ศ. ๒๕๒๔), สวรรค์บ้านนา (พ.ศ. ๒๕๒๖), ผู้แทนนอกสภา (พ.ศ. ๒๕๒๖), ราชินีดอกหญ้า (พ.ศ. ๒๕๒๙)ฯ

สำหรับ ผู้แทนนอกสภา จุดเริ่มต้นเกิดจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ และนายบุญชู โรจนเสถียร สองผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม มีความต้องการสร้างภาพยนตร์เพื่อโฆษณาพรรค

“คุณบุญชู (โรจนสเถียร) บอกผมว่า อยากให้ทำหนังโฆษณาสั้นๆ ไม่เกินสิบนาที ทางคณะกรรมการพรรคตัดสินใจจะทำหนังโฆษณาพรรค และกำลังคัดเลือกผู้กำกับ ซึ่งผู้กำกับที่เก่งๆ ก็มีหลายคน แต่คนที่จะสามารถทำให้เข้ากับนโยบายพรรคที่ว่า ‘เงินผัน ประกันราคาพืชผล คนจนรักษาฟรี’ ซึ่งเป็นชนบทๆ หน่อย ต้องเป็นคุณสุรสีห์

โอ้ รู้สึกเป็นเกียรตินะ จริงๆ ตอนนั้นก็ไม่อยากทำ เพราะความคิดของเราในตอนนั้นปฏิเสธแนวทางกับรัฐสภา เพราะคิดว่ารัฐสภาแก้ปัญหาของชาติไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นเกียรติยศของคนทำหนังที่ได้ทำงานกับพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็นหัวหน้าพรรค

ท่านก็เอานโยบายมาให้อ่าน เราก็อ่าน ก็ศึกษา พอวันนึงคิดตกก็เลยไปหาท่าน บอกว่าท่านครับ ไหนๆ จะทำทั้งที ผมว่าถ้าทำเป็นหนังโฆษณาสั้นๆ มันก็ได้แค่นั้น จะให้มันซึมซับถึงหัวจิตหัวใจคนดูคงไม่ได้ แต่ถ้าหนังยาวนะท่าน ถ้า ‘ถึง’ มันก็เปลี่ยนทัศนคติคนได้ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์อะไรหรอก แต่ก็เชื่อว่าหนังเปลี่ยนทัศนคติคนได้ นวนิยายเปลี่ยนทัศนคติคนได้”

– สุรสีห์ ผาธรรม, สัมภาษณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เกร็ด: ก่อนหน้าการนี้นี้มีภาพยนตร์เรื่อง ผู้แทนมาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๒๑) กำกับโดย ศรีไพร ใจพร, นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ลลนา สุลาวัลย์ ฯ มีลักษณะเสียดสีการเลือกผู้แทนของไทย ยุคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถแจกข้าวของ จัดให้มีการแสดงมหรสพต่างๆ ฉายภาพยนตร์ ลิเก ดนตรี หมอลำประกอบการหาเสียงของตนได้โดยไม่ผิดต่อกฎหมาย! ทั้งยังมีทำลายคะแนนเสียงฝ่ายตรงข้าม แอบอ้างหลอกลวง แสร้งว่าเป็นผู้สมัครอีกเบอร์มาซื้อเสียง ฯ ว่าไปในส่วนของเนื้อเรื่องราวแทบไม่แตกต่างจาก ผู้แทนนอกสภา (พ.ศ. ๒๕๒๖) สักเท่าไหร่

เรื่องราวของ บุญไชย คงมั่น (รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี) นักการเมืองหน้าใหม่ ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเราทำได้ อำเภอสนธยาธานี จังหวัดติดชายแดนภาคอีสาน ทั้งไม่มีเงินทุนรอนใดๆ ใช้การเดินหาเสียงปราศัยเข้าถึงประชาชน จนได้รับอนุเคราะห์รถกระบะเก่าๆออกเดินทาง อธิบายนโยบายพรรคซื้อใจชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญหน้าความท้าทายจากผู้สมัครรายอื่น ถูกใส่ร้ายป้ายสี ก่อกวนสารพัดเพ ท้ายที่สุดจะได้รับชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ผลการเลือกตั้งเท่านั้นคือสิ่งตัดสิน


สรพงศ์ ชาตรี หรือชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือพิทยา เทียมเศวต (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๓) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ เกิดที่พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุ ๑๙ ได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของในกองถ่าย เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ พระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔), โด่งดังกับ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖), แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), ก่อนหน้านี้ได้ร่วมงานกับ สุรสีห์ ผาธรรม เรื่อง ครูดอย (พ.ศ. ๒๕๒๕)

รับบท บุญไชย คงมั่น จากเด็กชายลูกชาวนาจนๆ ได้รับการอุปถัมภ์จากหลวงพ่อ พาไปร่ำเรียนศึกษาต่อจนจบคณะนิติศาสตร์ ทำงานเป็นทนายความ ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำเภอสนธยาธานี สังกัดพรรคเราทำได้ เงินทองไม่มีสักแดงแต่ใช้การเดินหาเสียงเข้าถึงประชาชน ไม่เคยพูดว่าด่ากราดผู้สมัครอื่น นำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้อง ใช้ความเฉลียวฉลาดมุมานะ ไม่ย่นย่อท้อแท้ต่ออุปสรรค์อันใด จนได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน

ภาพลักษณ์ของพี่เอก คือชายหนุ่มตัวดำๆ บ้านนอกคอกนา สายตาใสซื่อสัตย์บริสุทธิ์จริงใจ ซึ่งตัวละครนี้ถือว่าดีแท้ระดับอุดมคติ ไร้ที่ติใดๆสามารถสั่นคลอน แถมยังเอาตัวรอดจากหายนะความตายได้หลายครั้งครา และขึ้นพูดจาปราศัยด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท (แม้น้ำเสียงพากย์จะเป็นของ รอง เค้ามูลคดี ก็ตามเถอะ!) แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างหลักแหลมเฉลียวฉลาด

บทบาทนี้เน้นขายภาพลักษณ์อมตะของ สรพงศ์ ชาตรี (หนุ่มตัวดำๆ บ้านนอกคอกหน้า สายตาใสซื่อบริสุทธิ์) มากกว่าทักษะความสามารถด้านการแสดง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีอะไรโดดเด่น เพราะการขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงต่อหน้าผู้คนมากมาย เป็นอะไรที่ต้องซักซ้อม ตระเตรียมตัวกาย-ใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆใครก็สามารถขึ้นพูดได้เรื่อยเปื่อย ซึ่งพี่เอกทำได้ค่อนข้างน่าเชื่อถือ ประกอบเสียงพากย์อันสละสลวยของอารอง ทำให้มีความตราตรึงทรงพลังไม่น้อยทีเดียว


ถ่ายภาพโดย ศราวุฒิ วุฒิชัย, เต็มไปด้วยเทคนิคร่วมสมัย(นั้น) โดดเด่นกับการจัดวางองค์ประกอบภาพ เลือกใช้มุมกล้อง และเทคนิคซูมเข้า-ออก ทำให้ไม่ค่อยพบเห็นการขยับเคลื่อนกล้องบ่อยครั้งสักเท่าไหร่

ฉากแรกของหนังถ่ายททำยังบ้านซอยสวนพลู ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งก็ได้เชิญ นายบุญชู โรจนเสถียร พร้อมสมาชิกพรรคกิจสังคมจริงๆในสมัยนั้นอีกหลายคนเข้าร่วมฉาก, คำปราศัยของหัวหน้าพรรคล้วนเปี่ยมด้วยหลักการ เป้าหมายระดับอุดมคติ ฟังดูยุคสมัยนี้ดูเป็นการชวนเชื่อ เว่อเกินจริงเสียมากกว่า

ผมสังเกตเห็นสุนัขยืนอยู่ข้างๆ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นี่สามารถตีความได้สองแง่สองง่าม
– การเมืองมันเรื่องหมาๆ คำปราศัยเหล่านี้ก็แค่ภาพมายาสวยหรู จุดประสงค์แค่ขายฝันให้ได้รับชัยชนะเลือกตั้งเป็นพอ (ประชาชน = หมา)
– หรือจะมองในมุมกลับกันว่า นักการเมืองเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้วถือว่าคือผู้รับใช้ประชาชน (นักการเมือง=หมา)

ผมมีความสัปดนกับช็อตถัดๆมาอยู่นิดหน่อย สังเกตตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างสมาชิกพรรคทั้งสองคน มีแท่งหินหน้าตาเหมือนศิวลึงค์ตั้งโด่เด่เกินหน้าเกินตา! คือมันสามารถตีความแบบเสื่อมๆได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ อิทธิพล อวัยวะเพศใครใหญ่กว่าถึงได้รับชัยชนะ … งั้นหรือ???

ฉบับที่ผมรับชมมีปัญหาคลาสสิกของหนังไทย คือขอบด้านซ้าย-ขวาถูกตัดออกไป ทำให้มองไม่เห็นนักแสดงที่อยู่ริมขอบฝั่งทั้งสองด้าน นี่คงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้นอกจากรับชมในโรงภาพยนตร์ หรือเฝ้ารอคอยวันบูรณะ มีฉบับคุณภาพดีกว่านี้นำออกฉาย

ว่าไปช็อตนี้มีภาษาภาพยนตร์ที่ใช้ได้เลยนะ ผู้สมัครส.ส.รายหนึ่ง ฟาดเงินลงบนโต๊ะ กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกจากธนบัตร พบเห็นชายสองคนสอง (ผู้ซื้อเสียง – ขายเสียง) แต่อย่างที่บอกไป พอภาพ VCD/DVD ถูกตัดออกซ้าย-ขวา มันอะไรว่ะ! ได้ยินแต่เสียงสนทนา

การนำภาพถ่ายประจำตำแหน่ง สวมเครื่องแบบราชการเต็มยศ ตั้งไว้ด้านหลังประดับบารมีของผู้สมัครรายนี้ เพื่อสะท้อนวิทยฐานะ ภาคภูมิในตัวตน ขณะเดียวกันแสดงถึงความเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนง อวดอ้างถือดี, ช็อตลักษณะนี้รับอิทธิพลจาก Citizen Kane (1942) อย่างแน่นอน!

ฉากโรแมนติกกุ๊กกิ๊กที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร (ริมแม่น้ำโขงหรือเปล่าเนี่ย?) ทีแรกนึกว่ากล้องกำลังค่อยๆเดินถอยห่าง แต่ปรากฎว่าน่าจะเป็นการใช้เรือพาย! ดูแล้วเหมือนจงใจล้ออะไรบางอย่างกับไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย

ฉากที่คงได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญมากสุด คือการหาเสียงระหว่างฉายหนังกลางแปลง น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลให้ไม่ได้ว่าเรื่องอะไร (เห็นลางๆน่าจะนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา) แต่สังเกตจากเสียงพากย์

“แต่ท่านเกลียดดิฉันค่ะ เกลียดความเป็นบ้านนอก ที่ไม่คู่ควรกับตระกูลของท่าน”

– บุญเรือน

ก็ชัดเจนเลยว่ามีเนื้อหาสอดคล้อง ล้อกับเรื่องราวของหนังอย่างตรงไปตรงมา

ความโดดเด่นของฉากนี้คือการซ้อนทับสองเสียง ระหว่างการปราศัยชักชวนให้มาฟังคำหาเสียงของ บุญไชย คงมั่น สลับแทรกกับเสียงพากย์หนังกลางแปลง ซึ่งจะมีความดัง-ค่อยไม่เท่ากันด้วย (คือถ้าภาพปรากฎใบหน้าของ บุญไชย เสียงของเขาจะดังกล่าว, กรณีปรากฎภาพยนตร์ เสียงพากย์หนังจะดังกว่า) สร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญ ต้องเลือกระหว่างอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกันมิได้

อีกหนึ่งไฮไลท์ของหนังคือการปราศัยครั้งสุดท้ายบนเวทีใหญ่กลางเมือง -ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ไหน- ปริมาณตัวประกาศน่าจะเกือบๆพันคนเลยกระมัง นั่นมิใช่เรื่องง่ายจะควบคุมสั่งการอะไร ด้วยเหตุนี้เลยเพียงเก็บภาพมุมกว้างๆ แล้วเบี่ยงเบนไปนำเสนอเรื่องราวของฆาตกร กำลังตระเตรียมการเพื่อดักซุ่มยิงระยะไกล และเสียงระหว่างการปราศัยดังขึ้นลอยๆประดับพื้นหลัง

โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นจากขับมอเตอร์ไซด์ไถลตกคลอง, เปรียบได้กับสายน้ำแห่งชีวิต ทุกสิ่งอย่างเคลื่อนไหลต่อเนื่องไม่มีปลายทางสิ้นสุด เรื่องราวของ บุญไชย คงมั่น แม้จบลงเพียงเท่านี้ แต่ต่อจากนี้ก็อยู่ที่ว่าใครๆจะครุ่นคิด ตระหนักถึง ตัดสินใจกระทำอะไรต่อไปด้วยตนเอง

ตัดต่อโดย…, แม้เรื่องราวหลักๆจะเป็นของ บุญไชย คงมั่น แต่ระหว่างทางนั้นมีการร้อยเรียงภาพการหาเสียง/ซื้อเสียงของผู้สมัครรายอื่นๆ เพื่อสร้างสีสัน สนุกสนานขบขันให้กับเรื่องราว มิให้ตึงเครียดเข้มข้นจนเกินไป

เท่าที่สังเกต นอกจากเบอร์ ๘ บุญไชย คงมั่น พบเห็นบ่อยๆกับอีกสองผู้สมัคร ที่คอยกัดกันอยู่เรื่อยๆคือ
– เบอร์ ๖ มหาจำรูญ เรืองศาสตร์ (รับบทโดย ดี๋ ดอกมะดัน) สังกัดพรรคประชาธิปไตยเจริญ
– เบอร์ ๙ ทนายฟูเฟื่อง ตระกูลชัย (รับบทโดย ดู๋ ดอกกระโดน)

ไดเรคชั่นการตัดต่อ พบเห็นหลายครั้งทีเดียวสลับไปมาระหว่างสองฉาก/สองเหตุการณ์/สองช่วงเวลา
– ต้นเรื่องระหว่าง บุญไชย คงมั่น กำลังเดินทางขึ้นรถไฟกลับสนธยาธานี ใบหน้าของเขาตัดสลับภาพความทรงจำจากอดีต (Flashback)
– การหาเสียงใหญ่ครั้งสุดท้ายของ บุญไชย คงมั่น, ตัดสลับระหว่างการปราศัยบนเวที กับฆาตกรตระเตรียมการซุ่มยิงจากระยะไกล
– ช่วงท้าย, ตัดสลับระหว่างประชาชนได้รับทราบข่าว เดินทางไปเลือกตั้ง และเหตุการลอบสังหาร งมมอเตอร์ไซด์ขึ้นจากคลอง

และหลายครั้งทีเดียวมีการตัดต่อลักษณะ ภาพประกอบเพลง (หรือเพลงประกอบภาพ) ร้อยเรียงสิ่งที่มีความคล้ายคลึง อาทิ ป้ายหาเสียง, ระหว่างการเดินทางไปปราศัย ฯ


เพลงประกอบโดย … ร่วมกับวงดนตรีคณะเพื่อน ซึ่งไม่เพียงมารับเชิญเล่นเป็นนักข่าว แต่ยังได้ขึ้นเล่นเปิดการแสดงบนเวทีก่อนเริ่มการปราศัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของ บุญไชย คงมั่น

บทเพลงมีกลิ่นอายอีสานบ้านเฮา ผสมกีตาร์กลองดนตรี Rock ให้มีความป๊อปร่วมสมัย ประกอบถ้อยคำร้องที่มีเนื้อหาเสียดสี ล้อเลียน สะท้อนเหตุการณ์ขณะนั้นของหนังอย่างตรงไปตรงมา อาทิ
– ผู้แทนนอกสภา ขับร้องโดย ชวลิต ผ่องแผ้ว
– ด้วยรักแห่งอุดมการ
– สู้ไม่ถอย ขับร้องโดย วิทยา กีฬา
– พลังประชาชน ขับร้องโดย สุชาติ แสงธรรม
– น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว ขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธรรม

น่าเสียดายหารับฟังบน Youtube ไม่ได้สักเพลง T_T


ประชาธิปไตยในประเทศไทย ไม่ใช่ระบบการปกครองที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตหรือจิตวิญญาณของฝูงชน ชัยชนะการปฏิวัติของคณะราษฎร์ ก็มีเพียงชาวเมืองผู้มีการศึกษาตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญ ขณะที่ประชาชนรากหญ้า บ้านนอกต่างจังหวัด ต่างพูดเป็นเสียงเดียว แล้วยังไง? มันเกี่ยวข้องอะไรกับฉัน? ไม่ได้เกิดจากการลุกฮือล้มล้างระบอบแบบยุโรป ฝรั่งเศส รัสเซีย ฯ ที่ประชาชนครึ่งค่อนประเทศมีส่วนร่วมประท้วง ฉุดคร่ากษัตริย์ลงจากบัลลังก์สูงสุด

ด้วยเหตุนี้ชนชาวไทย เลยไม่ใคร่กระตือรือล้นต่อระบอบประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ นอกเสียจากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียงของผู้สมัคร นำสิ่งของโน่นนี่นั่นมาแจกจ่าย สุรามึนเมามาย ถ้ามีรถบริการรับส่งให้ด้วย ไม่เลือกกากบาทตอบแทนก็ถือว่าไร้สามัญสำนึกความเป็นคนเกินไปหน่อย

นี่ยังไม่รวมถึงความคอรัปชั่น การปฏิวัติ รัฐประหาร แก่งแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นมากมายบ่อยครั้งนับไม่ถ้วน จนประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาในระบบ ไร้เสถียรภาพมั่นคง และเบื่อหน่ายการเลือกตั้งซ้ำๆ (ไม่รู้จะเลือกไปทำไม เดี๋ยวแม้งก็ปฏิวัติล้มรัฐบาลกันอีก!)

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอสิ่งที่คือ อุดมคติแห่งประชาธิปไทย วีรบุรุษท่ามกลางสมรภูมิรบดิสโทเปียน รายล้อมด้วยปีศาจชั่วร้ายจากขุมนรก แม้ได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมผลักดันจากผู้คนมากมาย แต่สุดท้ายก็ไร้โอกาสแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไร หมดสูญสิ้นโอกาสและความหวังใหม่

ปฏิกิริยาผู้ชมต่อตอนจบ แบ่งฝั่งฝ่ายออกเป็นสองพวกอย่างชัดเจน
– ตระหนักและพยายามครุ่นคิดถึงตัวเอง จะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์โศกนาฎกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในชีวิตจริง
– นี่แหละสัจธรรมแห่งสังคมไทย ไม่มีอะไรสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงได้ ช่างน่าเศร้าสลดแต่ก็ต้องยินยอมรับมัน

ก็คิดดูว่ากลุ่มนักข่าวในหนังเรื่องนี้ ยังถูกทำให้ไม่สามารถเป็นกลาง ต้องการเลือกข้างฝักใฝ่คนดี แถมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนนานับประการ … นี่ถือว่าเป็นการทำลายจริยธรรมสื่อ ปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่

ประชาธิปไทยในปัจจุบัน เลวร้ายยิ่งกว่าสิ่งเกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้หลายสิบร้อยเท่าเลยนะครับ นอกจากคนดีที่แทบไม่มีหลงเหลือ ความคอรัปชั่นยังได้วิวัฒนาการแทรกซึมไปทุกระดับชนชั้น จนไม่มีใครสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ต้องปล่อยไหลตามกระแสน้ำไปเรื่อยๆ เฉกเช่นนั้นแล้วแสงสว่างแห่งความหวังยังมีอยู่ไหม? ผมก็ตอบไม่ได้หรอกนะ ถามใจคุณเองดีกว่า


ผู้แทนนอกสภา เข้าฉายที่โรงหนังเพรสซิเดนส์ สเตลลา วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ดูเป็นความจงใจก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ และผลของการเลือกตั้งก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะพรรคชาติไทยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่หนึ่ง ๑๑๐ ที่นั่ง รองลงไปคือพรรคกิจสังคม ๙๙ ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ ๕๖ ที่นั่ง ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาจากทั้งหมด ๓๒๔ ที่นั่ง ซึ่งกลับกลายเป็นว่าพรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชากรไทย ตกลงจับมือกันสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ขณะที่พรรคชาติไทย รวมกับพรรคการเมืองอื่นๆที่เหลือ กลายเป็นฝ่ายค้าน

ช่วงเทศกาลรางวัลปลายปี ผู้แทนนอกสภา แม้ไม่ใช่ตัวเต็งอะไรแต่กลับพลิกโผ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ชิงตัดหน้า เชิด ทรงศรี จากเรื่อง เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖)

ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆกับหนัง มีทั้งส่วนที่ใช้ได้-ใช้ไม่ได้ การแสดงของพี่เอกก็ทั่วไป แถมกาลเวลาทำให้คุณภาพถดถอยลงอย่างมาก กลายเป็นเพียงภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ สัจธรรมความจริงของการเมืองไทย

แนะนำคอหนังการเมือง เลือกตั้ง สนใจประวัติศาสตร์ไทย, แฟนๆผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม และนักแสดงนำ สรพงศ์ ชาตรี ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๓+ กับความคอรัปชั่นของนักการเมือง

คำโปรย | ผู้แทนนอกสภา แม้เอ่อล้นด้วยความตั้งใจดี แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นเพียงบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย
คุณภาพ | พอใช้แบบไทยๆ
ส่วนตัว | เฉยๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: