พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) : เชิด ทรงศรี ♥♥♥♡
พลอยทะเลเม็ดงามมูลค่ามหาศาล ได้รับการงมพบโดยหนุ่มชาวเกาะ สรพงศ์ ชาตรี ฝากไว้กับคนรัก สินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) แต่เมื่อเธอย้ายขึ้นฝั่งจิตใจค่อยๆแปรเปลี่ยน ปล่อยตัวจนกลายเป็นเมียนายจ้าง เมื่อหวนกลับมาพบเจอ ‘พลอยนั้นนะ พี่คิดเสียว่าให้ฉัน ให้เมียไม่ได้เหรอ?’ ใครกันจะยินยอมได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เรื่องสุดท้ายที่ผมเรียกว่า ‘ไตรภาค โศกนาฏกรรมความรักพื้นบ้านชนบทไทย’ (Trilogy of Thais-Rural-Tragedy) สามผลงานชิ้นเอกของ เชิด ทรงศรี นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี เพราะแทบจะคลอดคลานตามกันมา สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายรสชาดคล้ายคลึงยิ่งนัก ประกอบด้วย
– แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐)
– เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖)
– พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ** เรื่องนี้อาจจะผิดแผกจากสองเรื่องก่อนหน้าสักหน่อย แต่ผมมองว่าหลายๆอย่างก็คล้ายคลึงกันอยู่นะ
เมื่อพูดถึงโศกนาฏกรรม คนส่วนใหญ่จะครุ่นคิดว่าตอนจบต้องมีคนตายเท่านั้น แต่จริงๆไม่ก็จำเป็นเลยนะ แค่ลงท้ายด้วยความเศร้าโศกไม่สมหวัง ตายจากในลักษณะนามธรรม ก็ถือว่าเป็น Tragedy ได้เช่นกัน
พลอยทะเล คือเรื่องราวโศกนาฎกรรมความรัก อันเกิดขึ้นจากความวิปริตแปรปรวนดั่งคลื่นลมของจิตใจมนุษย์ หญิงสาวผู้พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อนสนองความสุขของตนเอง เมื่อรับรู้ว่าอดีตคนรักเก่ายังมีชีวิตอยู่ พูดคำโป้ปดจนเหมือนปลาแก้มช้ำ สุดท้ายเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ใครไหนกันจะอดรนทนได้กับความกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวงของเธอ
น่าเสียดายที่ตอนท้ายของหนังมันสุดโต่งเสียหน่อย ออกไปทางอนุรักษ์นิยมขวาจัด เสี้ยมสั่งสอนชี้ชักนำชวนเชื่อว่า ‘วิถีชีวิตพื้นบ้านล้าหลังจนๆ ย่อมดีกว่า สังคมเมืองร่ำรวยหัวก้าวหน้า’ แต่ผมก็ไม่รู้นำจากนิยายตรงๆ หรือครูเชิด ทรงศรี ปรับเปลี่ยนแก้ไขในทัศนคติของตนเอง
และส่วนตัวแอบขัดใจตอนจบนิดหนึ่ง ตัวละครอุตส่าห์พูดมากด้วยอุดมการณ์หนักแน่นขนาดนั้น แต่ทำไมถึงยังเก็บพลอยทะเลไว้ในครอบครอง ให้ตายเถอะ! เป็นผมจะเขวี้ยงขว้างโยนมันทิ้งลงทะเลให้หมดภาระ คงมีคนอีกมากจักถูกเข่นฆ่าตาย เพราะความต้องการครอบครองอัญมณีสีเลือดเม็ดนี้
เชิด ทรงศรี (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๔๙) ครูผู้สร้างภาพยนตร์ ‘ไทยแท้’ คนแรกๆของเมืองไทย เกิดที่นครศรีธรรมราช เรียนจบทำงานเป็นครูที่อุตรดิตถ์ จากนั้นลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ภาพยนตร์และโทรทัศน์’ ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละคร นิยาย และวิจารณ์ภาพยนตร์ วันหนึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ให้กับเมืองไทย ผลงานเรื่องแรก โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙) จากบทประพันธ์ของตนเอง ออกแบบฉาก ลำดับภาพ แต่งเพลงประกอบ ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และใช้ทุนสร้างส่วนตัวทั้งหมด นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์
ในยุคคลาสิกของวงการภาพยนตร์โลก คนที่จะเป็นผู้กำกับได้ มักค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการยอมรับจากระบบสตูดิโอ เซ็นสัญญาทาสระยะยาว และมักสร้างภาพยนตร์ตามใบสั่ง (ต้องหนังทำเงินหลายๆเรื่อง ถึงค่อยได้รับอิสระในการเลือกตามความสนใจ) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ การมาถึงของ Italian Neorealist ที่ได้พลิกโฉมหน้าการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ และยุคถัดมากับ French New Wave อันเกิดขึ้นจากบรรดานักวิจารณ์หัวขบถของ Cahiers du cinéma ในยุค 60s ประกอบด้วย François Truffaut, Jean-Luc Godard, Éric Rohmer, Claude Chabrol และ Jacques Rivette ต่างลาออกมาเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีที่พวกตนเขียนขึ้น … เมื่อนักวิจารณ์กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ก็เหมือนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ รู้ว่าตนเองเคยต้องการอะไรจึงสร้างสรรค์มอบสิ่งนั้น กลายเป็นของที่ผู้รับต้องการได้จริงๆ
คงไม่แปลกอะไรถ้าจะถือว่าเชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับหนังไทยในยุค New Wave จากเคยทำงานเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ คงรับทราบถึงข้อจำกัด ความต้องการของตนเองต่อภาพยนตร์ไทย ลาออกมาเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาในสิ่งที่วงการยังขาดหาย ไม่เคยปรากฎพบมาก่อน ทั้งนี้ตามอุดมการณ์ ความตั้งใจส่วนตน ไม่ต้องรับอิทธิพลจากใครที่ไหน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวในระดับ ‘ศิลปิน’
หลังจากแผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) ครูเชิด คงเกิดความประทับใจในผลงานของ ไม้ เมืองเดิม หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๔๘ – ๒๔๘๕) โดยเฉพาะลีลาการเขียนอารมณ์นักเลงลูกทุ่ง ช่างมีความสำบัดสำนวนถูกใจวัยรุ่นยิ่งนัก จึงมองหาผลงานอื่นเพื่อนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์อีกสักเรื่อง ก่อนเลือกนิยายขนาดยาว สินในน้ำ แม้จะไม่ใช่ผลงานโดดเด่นนักเมื่อเทียบกับ แสนแสบ, รอยไถ, ชายสามโบสถ์, ขุนศึก ฯ แต่มีความท้าทายในแง่ของการสร้างภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง
ส่วนตัวมองว่า ครูเชิด คงเริ่มเบื่อการเกี่ยวข้าว ดำนา เลอะโคลนเลน อยากจะเปลี่ยนบรรยากาศสรรหาอะไรใหม่ๆบ้างให้กับตนเอง และส่วนหนึ่งคงได้ความประทับใจ/แรงบันดาลใจจาก ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ของผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ และ อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓) ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พาผู้ชมดำน้ำดูปะการังสวยๆอีกสักเรื่องจะเป็นไรไป
เรื่องราวเกิดขึ้นบนเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อระย้า, รุ่ง (สรพงศ์ ชาตรี) หนุ่มชาวเลอาศัยอยู่กับแม่ที่ป่วย ตกหลุมรัก กระถิน (สินจัย หงษ์ไทย) แต่ถูกกีดกันโดยพ่อแม่ของฝ่ายสาว จึงแอบลักลอบได้เสียเป็นผัวเมีย ขณะเดียวกัน สำเภา (ชณุตพร วิศิษฎโสภณ) เธอตกหลุมรักรุ่งมานาน พอรับรู้ว่ามิอาจเป็นได้มากกว่าพี่น้องก็ยอมถอย แต่ยังคงเส้นคงวาปฏิบัติแสดงออกเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
วันหนึ่ง รุ่ง พบพลอยเม็ดใหญ่ใต้ท้องทะเล ตั้งใจเอาไปขายเป็นค่ารักษาพยาบาลแม่ เหลือเท่าไหร่คือทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฝากฝังไว้กับ กระถิน คนรักด้วยความเชื่อใจ แต่พอกัปตันเรือล่วงรู้เข้าคิดอยากขโมยพลอย ให้พรรคพวกลอบรุมทำร้ายอาการบาดเจ็บสาหัส เป็นเหตุให้หญิงสาวครุ่นคิดว่าคนรักมลายชนม์จากไปแล้ว ใช้ชีวิตวันๆบนฝั่งฝันด้วยความหมดอาลัยตายอยาก
วันหนึ่ง กระถิน ได้รับการอนุเคราะห์จากนายหญิง (อรัญญา นามวงศ์) พบเจอถูกชะตานำมาเลี้ยงบุญธรรมอย่างเอ็นดู มีชายหนุ่มหล่อรวยพ่อค้าพลอย สำเนียง (วิฑูรย์ กรุณา) มาตกหลุมรัก เห็นอัญมณีเม็ดงามความโลภละโมบเข้าครอบงำโดยทันที ‘ของๆเธอครึ่งหนึ่งคือของๆฉัน’ อ้างเรื่องแต่งงาน แต่ฟังดูแล้วหมอนี่ไม่คิดทำดั่งคำที่กล่าวมาอย่างแน่นอน
แท้จริงแล้ว รุ่ง ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับความช่วยเหลือจาก สำเภา รักษาตัวจนหายดีและมีโอกาสขึ้นฝั่งเพื่อไปติดตามหา กระถิน แต่ก็พบว่าเธอกำลังจับเนื้อต้องตัวชายอื่น มีโอกาสพูดคุยกลับโดนคำลวง ฉันยังคงรักพี่เสมอมา ทวงคืนพลอยเพื่อนำไปขายเริ่มต้นชีวิตใหม่ หญิงสาวกลับอ้างโน่นนี่นั่นหลายครั้งจนเร่ิมฟังไม่ขึ้น แถมนำความไปบอกเล่า สำเนียง หงุดหงิดขึ้นเสียงพกปืนออกติดตามไล่ล่าขึ้นเรือท่ามกลางพายุคลั่ง
สรพงศ์ ชาตรี หรือชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือพิทยา เทียมเศวต (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๓) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ เกิดที่พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุ ๑๙ ได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของในกองถ่าย เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ พระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔), ผลงานเด่นๆ อาทิ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖), สัตว์มนุษย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙), แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), มือปืน (พ.ศ. ๒๕๒๖), มือปืน ๒ สาละวัน (พ.ศ. ๒๕๓๖) ฯ
รับบท รุ่ง หนุ่มชาวเล นิสัยขี้เล่นทะเล้นซุกซน ขยันขันแข็งตั้งใจทำงาน ดำน้ำเก็บปะการัง ตั้งมั่นในรักเดียวใจเดียวไม่เคยคิดแปรเปลี่ยน เมื่อครั้นได้ครอบครองเป็นเจ้าของพลอยทะเล ยึดติดมั่นในโชคชะตาตนเอง วาดฝันอนาคตร่ำรวยประสบความสำเร็จ รักษาแม่หาย กลายเป็นเจ้าของกิจการเรือหาปลา แต่ทุกสิ่งพลันมลายสิ้นเมื่อเผลอแพร่งพรายให้กับบุคคลผู้โลภละโมบรู้เห็นอัญมณีเม็ดดังกล่าว แม้หญิงสาวคนรักของตนเองก็แปรสภาพกลายเป็นอีกคนจดจำแทบไม่ได้ จุดๆหนึ่งก็เริ่มครุ่นคิดได้ เงินทองเป็นของนอกกาย สุขทางใจหาได้ยากยิ่งแท้
ผมไม่แน่ใจว่าพี่เอกเคยรับบทตัวละครชาวเลมาก่อนหรือเปล่า เพราะพลาดไม่ได้แสดงหนังท่านมุ้ยเรื่อง อุกาฟ้าเหลือง นี่จึงถือเป็นโอกาสแก้ตัว ว่ายน้ำดำดูประการังสนุกสนานเพลิดเพลิน หนาวเหน็บไปถึงขั้วหัวใจเมื่อต้องตากฝนบ่อยๆ วินาทีพบเห็นคนรักถูกชายอื่นกอดจับ ราวกับพสุธาสายฟ้าฟาด แทบทุกอย่างสงบหยุดนิ่งไม่ไหวติง
ใครเคยรับชมทั้งสามผลงานที่ สรพงศ์ แสดงนำในหนังของครูเชิด จะพบความคล้ายคลึงใกล้เคียงเหมือนกันเปี๊ยบ เรียกว่า Typecast คงไม่ผิดกระไร ซึ่งถ้าให้ไล่เรียงความชื่นชอบส่วนตัว แผลเก่า > พลอยทะเล > เพื่อน-แพง
สินจัย เปล่งพานิช นามสกุลเดิม หงษ์ไทย (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๘) นักแสดงหญิงมากฝีมือชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ หลังเรียนจบมัธยมต้นจากโรงเรียนศรีอยุธยา เริ่มเข้าวงการปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ตำแหน่งนางสงกรานต์ช่อง ๕ ตามด้วย Miss Young International เข้ารอบ ๑๕ คน, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก สายสวาทยังไม่สิ้น (พ.ศ. ๒๕๒๕), ประกบ Chow Yun-fat เรื่องกตัญญูประกาศิต (พ.ศ. ๒๕๒๖), มีชื่อเสียงโด่งดังจาก นวลฉวี (พ.ศ. ๒๕๒๘) และ เพลิงพิศวาส (พ.ศ. ๒๕๒๗) คว้ารางวัลพระราชทาน พระสุรัสวดี สองสาขานำหญิง-สมทบหญิง ในปีเดียวกัน, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๒๙), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๒๙), พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐), ครั้งเดียวก็เกินพอ (พ.ศ. ๒๕๓๑), มหัศจรรย์แห่งรัก (พ.ศ. ๒๕๓๗), อันดากับฟ้าใส (พ.ศ. ๒๕๔๐), รักแห่งสยาม (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฯ
รับบท กระถิน สาวแรกรุ่นที่ใครๆอยากเด็ดดอมชิม แรกรักกับ รุ่ง ยินยอมเสียตัวกลายเป็นผัวเมียแบบไม่สนคำครหาจากใคร แต่หลังจากเข้าใจผิดคิดว่าเขาตายจากไปแล้ว หมดเรี่ยวแรงอาลัยจนกระทั่งได้รับชีวิตใหม่จากนายหญิง พร้อมยอมพลีตัวเองเพื่อทดแทนสนองบุญคุญ แต่แล้วอดีตคนรักเก่าเมื่อหวนคืนกลับมา ไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกแทรกแผ่นดินไหนหนี เลยยินยอมทำตัวอัปรีย์ โกหกโป้ปดหลอกลวงหวังเอาตัวรอด แต่สุดท้ายเมื่อทุกอย่างได้รับการเปิดเผย ก็เหลือเพียงโศกนาฎกรรมที่ตนจะได้รับ
พี่นก สินจัย เป็นนักแสดงเจ้าบทบาทยอดฝีมือ สร้างสรรค์มิติให้กับตัวละครอย่างลุ่มลึกล้ำ จัดจ้านทั้งคำพูดคารม อารมณ์สีหน้าการแสดงออก ทรงผมแรกๆหวีเรียบร้อย หลังๆปล่อยฟูฟ่องสับสนวุ่นวายอลม่าน, ผู้ชมส่วนใหญ่คงรู้สึกขยะแขยงในความเรรวนปรวนแปร กะล่อนปลิ้นปล้อนเชื่อถือไม่ได้ของหญิงสาว แต่สีหน้าอารมณ์ตอนจบ กลับทำให้ผมรู้สึกสงสารเห็นใจ คิดไปคิดมาก็พบว่าเป็นเรื่องของโชคชะตามากกว่าความผิดของเธอสถานเดียว
ชณุตพร วิศิษฎโสภณ ได้รับการค้นพบโดยครูเชิด แสดงนำเรื่อง เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖) คว้ารางวัลมากมาย หวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งสุดท้าย พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) แล้วออกจากวงการไปเลย,
รับบท สำเภา เรือลำเก่าที่คอยให้การช่วยเหลือปัดเป่าความรวดร้าวทุกข์ทรมานของ รุ้ง เธอเป็นเด็กซื่อๆบ้องแบ้ว ร่าเริง มีความซื่อสัตย์ นิสัยตรงไปตรงมา แต่ไร้ซึ่งสติปัญญาเข้าใจวิถีเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยเหตุนี้เมื่อพบเห็นความเรรวนปรวนแปรของ กระถิน ขึ้นเสียงด่าทอหัวชนฝา ทั้งยังไม่เข้าใจว่าทำไมพี่รุ้ง ต้องยอมเสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือศัตรูคู่อาฆาตหัวใจ
ใครเคยรับชม เพื่อน-แพง แรกๆย่อมรู้สึกบทบาทของ ชณุตพร มาแปปเดียวกันเปี๊ยบ แต่ครึ่งหลังถือว่าแตกต่างตรงกันข้ามเลยนะ เพราะเรื่องนั้นจะก้มหน้าก้มตาสงบเสงี่ยมยอมรับผิด ขณะที่เรื่องนี้เกรี้ยวกราดโกรธขึ้นเสียงจนแหบแห้ง แถมยังร้องไห้เสียน้ำตาหมดเป็นลิตรๆ และตอนจบได้สมหวังครองคู่พระเอก … เออเว้ยเห้ย นี่เรียกว่าชาติถัดมาของ เจ้าล้อ-อีแพง ก็ว่าได้นะ (ส่วนกระถินก็เทียบได้กับ อีเพื่อน)
วิฑูรย์ กรุณา (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๘) นักแสดงชาวไทย อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เกิดที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มเข้าวงการบันเทิงเมื่อศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง แสดงละครเวทีอิงประวัติศาสตร์ ต่อมากลายเป็นนักแสดงละครโทรทัศน์ เข้าสู่วงการภาพยนตร์โดยการชักชวนของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ผลงานเด่น อาทิ รักข้ามโลก (พ.ศ. ๒๕๒๑), ฟ้าหลังฝน (พ.ศ. ๒๕๒๑) ประกบ อำภา ภูษิต เป็นคู่ขวัญกันอยู่สักพักหนึ้ง, ดอกแก้ว (พ.ศ. ๒๕๒๓), ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ. ๒๕๒๓), สุดทางรัก (พ.ศ. ๒๕๒๔) ,พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ฯ
รับบท สำเนียง พ่อค้าพลอย น้องสาวของนายหญิง ตกหลุมรักแรกพบต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ กระถิน จนได้มาเด็ดดอมชิมก่อนหน้าเข้าพิธีแต่งงานตามประเพณีสมควร ด้วยนิสัยเย่อหยิ่งจองหองเห็นแก่ตัว โลภละโมบทันทีเมื่อพบเห็นพลอยทะเลเม็ดโต ไม่ยินยอมให้ใครทวงกลับคืนสูญเสียความเป็นเจ้าของ วางอำนาจบาดใหญ่ไม่สนใจถูกผิดชอบศีลธรรม/กฎหมาย ขลาดเขลาเบาปัญญาเมื่อออกเรือยามพายุฟ้าคลั่ง รอดมาได้แต่ไร้ซึ่งสำนึกบุญคุณ ได้เพียงรอยบากบาดแผลตรงหน้า ถือว่าโชคดีเป็นไหนๆแล้ว
นี่ถ้าไม่เพราะ วิฑูรย์ อยู่ในวงการมาหลายสิบปีแล้วค่อยเล่นหนังเรื่องนี้ เชื่อเถอะว่าผู้ชมต้องติดภาพลักษณ์ หล่อเลว ไว้เนื้อเชื่อวางใจไม่ได้แน่ๆ ท่าทางลุกรี้ลุกรน มาดนักเลง อันธพาลหัวไม้ เกรี้ยวกราดโกรธ หาความดีงามแทบไม่ได้ น่าจะปล่อยให้ตายเสียจริงช่วยมาทำไม แถมไม่รู้สำนึกได้เพียงรอยบากแผลไว้ โลกใบนี้มันช่างอยุติธรรมกับคนชั่วเสียเหลือเกิน
ถ่ายภาพโดย … ไม่พบเห็นเครดิต … ด้วยฟีล์ม 35mm บันทึกเสียง Sound-On-Film, ขณะที่ฉากใต้น้ำตอนต้นเรื่อง ตากล้องคือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มากด้วยประสบการณ์จากการถ่ายทำ อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓)
แซว: ทศวรรษนั้นหนังเรื่องไหนจะถ่ายทำฉากใต้ท้องทะเล ติดต่อท่านมุ้ยเลยสินะ
ถึงเปลี่ยนจากทุ่งท้องนาง เป็นริมหาดทรายท้องทะเล ไดเรคชั่นของครูเชิดก็ยังคงคล้ายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อาทิ เล่นกับเทคนิคซูมเข้า-ออก, ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด, Dolly Shot เคลื่อนกวาดภาพระยะสายตา และ Close-Up ใบหน้าของนักแสดง
พลอยทะเล เป็นหนังที่น่านำมา Remaster มากๆเรื่องหนึ่ง มีช็อตสวยๆมากมายถูกบั่นทอนด้วยการแปลงฟีล์มคุณภาพต่ำ ฉากไฮไลท์ที่ผมอยากเห็นสุดๆคือ ตอนรุ่งถูกรุมทำร้าย ถ่ายภาพย้อนแสงตะวันเคลื่อนคล้อยใกล้ตกดิน พบเห็นเงาลางๆอยู่บนโขดหินลิบๆต่อสู้กัน
มี Long Take หนึ่งเจ๋งมากๆ, เมื่อตอนที่ กระถิน พบเจอ รุ่ง นอนเกยตื้นอยู่ที่ชายหาด รอดตายจากเหตุการณ์ว่ายน้ำไปช่วยเหลือเรือตอนพายุคลั่ง กล้องเริ่มจากซูมออกใบหน้าหญิงสาว พบเห็นทั้งสนทนาร่ำร้องไห้กอดเข่า เคลื่อนเปลี่ยนทิศทางเพื่อให้ขณะเวลาเธอลุกขึ้นรีบวิ่งไปเอาพลอย เคลื่อนติดตามแล้วซูมเข้ายังใบหน้าของ สำเภา
(ฉากนี้แหละ แต่ผมขี้เกียจแคปรูป)
ช่วงท้ายตอนที่ รุ่ง พูดคุยระบายความอัดอั้นภายในกับ กระถิน ไดเรคชั่นคล้ายๆ เพื่อน-แพง ทีแรกตัดสลับการเผชิญหน้าของทั้งคู่ ซึ่งพอคำพูดไหนต้องการเน้นย้ำ จะมีการค่อยๆเคลื่อนกล้องเข้าไปจนถึงระดับ Close-Up ใบหน้าตัวละคร และช็อตสุดท้ายจัดวางตำแหน่ง สำเนียง-กระถิน พื้นหลังรุ่งกับสำเภากำลังเดินจากไประหว่างพวกเขา
ตัดต่อโดย … ไม่พบเห็นเครดิต … สามารถแบ่งเรื่องราวออกได้เป็น ๓ องก์
– บนเกาะระย้า เล่าเรื่องด้วยมุมมองของ รุ่ง
– กระถิน บนฝั่งแผ่นดินใหญ่, ตัดสลับกับบนเกาะระย้า สำเภา เป็นผู้ดูแล รุ่ง
– และเมื่อทั้งสามต่างอยู่บนฝั่งแผ่นดินใหญ่ กระถิน จะเป็นหลักในการเล่าเรื่อง
เพลงประกอบโดย จำรัส เศวตาภรณ์, ส่วนนี้เหมือนจะรับอิทธิพลจาก อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓) มาไม่น้อยเช่นกัน เพราะดนตรีที่เหมาะกับสัมผัสใต้น้ำ มีความระยิบระยับเหมือนอยู่บนสรวงสวรรค์ ต้องใช้คีย์บอร์ด, อิเล็กโทน, เบส, เสียงสังเคราะห์เข้าช่วย นี่เป็นส่วนค่อนข้างแตกต่างจากสไตล์ปกติของครูเชิด แต่ท่านก็มิได้ทอดทิ้งเพลงพื้นบ้านไทย แหล่มหาชาติก็ยังได้ยินอยู่ คนเลคงไม่ร้องเล่นเท่าคนบก (สงสัยเพราะเสียงคลื่นมันดัง ต้องแหกปากร้องตะโกน)
ครั้งหนึ่งตอนที่เรือนำพา กระถิน ค่อยๆล่องจากไปลับโขดหิน ตั้งใจฟังดีๆจะได้ยินเสียงเปียโนและสีไวโอลิน เสียดบาดแทงไปถึงขั้วหัวใจ ร่ำลาจากไกลไม่รู้ชาตินี้หนุ่มสาวจะมีหวังพบเจอกันอีกหรือเปล่า
มนุษย์เราสมัยนี้ เมื่อมีโอกาสครอบครองสิ่งของมีค่าราคาแพง จิตใจจักรู้สึกยึดติดกับมันโดยทันที ครุ่นคิดเพ้อเจ้าไปไกล จะนำเงินที่ขายไปสนองความสุขส่วนตนอะไรได้บ้าง … ผมรับรู้อารมณ์นี้ได้ทันทีเมื่อมันมาสัมผัสจิตใจ เกิดความโหยหาอาลัยถ้ามันพลอยเม็ดนี้ไปอยู่ในมือคนไม่ดี ครุ่นคิดด้วยสติปัญญาสักพักก็จะเริ่มรับรู้ได้ นี่ไม่ใช่ความรู้สึกอันน่าอภิรมณ์แม้แต่น้อย คำพูดของแม่ที่พยายามเสี้ยมสอนลูกชาย นั่นคือสัจธรรมที่คนสมัยนี้ส่วนใหญ่ปฏิเสธมองข้าม
“สมบัติมันผลัดกันชม เมื่อยังอยู่กับเรา เราก็ชื่นชมมันไป เมื่อพ้นมือเราไปแล้ว อย่าไปลุ่มหลงกังวลกับมันอีกจะทุกข์เสียเปล่าๆ
อะไรๆมันก็ไม่เที่ยงแท้ทั้งนั้น ลองคิดดูสิ พลอยเม็ดนั้นตกไปอยู่ใต้ทะเลได้ยังไงก็ไม่รู้ แล้วก่อนหน้านั้น มันก็ต้องเคยมีอีกหลายๆคนที่ถือว่าเป็นเจ้าของ แล้วเหลือใครได้เป็นเจ้าของจริงๆอยู่บ้างละ ไม่รู้ไม่มี”
ผมแอบเชื่อเล็กๆนะว่า ไม้ เมืองเดิม อาจต้องการเปรียบเทียบ พลอยทะเลอันล้ำค่าเม็ดนี้ กับหญิงสาวหรือคือกระถิน สมบัติผลัดกันชมที่ไม่ควรหลงใหลยึดติดจนคลุ้มคลั่งสูญเสียความเป็นคน เพราะยุคสมัยนี้ยากนักจะพบเจอบุคคลผู้รักเดียวใจเดียวมั่นคงต่อคำสัตย์สาบาน ส่วนใหญ่กลายเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อน พูดจาโป้ปดหลอกลวงเพื่อหวังผลประโยชน์สุขส่วนตนฝ่ายเดียว
แต่ก็ขอให้รับรู้ไว้เถิด เมื่อใดที่ความจริงมันได้รับการเปิดเผยออก บุคคลผู้มีชีวิตกลับกลอกปอกลอกจักสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง เด็กเลี้ยงแกะ นกสองหัว ไม่หลงเหลืออะไรใครไหนให้พึ่งพักพิง ยืนโดดเดี่ยวร่ำไห้เพียงลำพัง แม้แต่คนเหลียวหลังยังไม่มี
ขณะที่ผู้กำกับ เชิด ทรงศรี ก็ไม่รู้เก็บกดอัดอั้นอะไรกับความเปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคสมัยดังกล่าว สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาคล้ายๆกับ เลือดสุพรรณ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ชักชวนเชื่อปลูกฝังแนวคิดทัศนคติค่านิยม เลิกเสียเถอะยึดถือมั่นในทุนนิยมเงินตรา หันมามองกันด้วยความดีงามทางจิตใจ ชีวิตเป็นสุขสำราญได้แม้ไม่มีสตางค์ติดตัวสักบาทเดียว
การโจมตีแนวคิดทุนนิยมอย่างรุนแรงสุดโต่ง กลายเป็นจุดอ่อนด้อยที่ทำให้คุณค่าของหนังเสื่อมถดถอยลงไปตามกาลเวลา แม้ผมเองเป็นคนไม่เอาแนวคิดระบอบนี้เช่นกัน แต่ก็มีความประณีประณอมค่อนข้างสูง มองว่าสิ่งสำคัญสุดไม่ใช่อยู่ที่ชอบ-ไม่ชอบ คือการวางตัวเสมอภาคเป็นกลาง คิดถึงใจเรา-ใจเขา-บุคคลที่สาม-สี่แห่งกาลเวลา-มิติห้าคือผลกรรมนำพา
ตัวละครกระถิน ลองครุ่นคิดทบทวนดูให้ดีๆนะครับว่า เพราะเข้าใจว่าคนรักตายจากไปแล้ว มีช่วงเวลาเศร้าโศกโศกานิ่งเฉยไม่ทำอะไรอยู่สักพักใหญ่ จนกระทั่งได้รับโอกาสชุบชีวิตใหม่โดยนายหญิงอุปการะเลี้ยงเอ็นดู บุญคุณอันยิ่งใหญ่นี้ไม่ว่ายังไงก็จำต้องหาวิธีทดแทนคุณ แล้ววันหนึ่งคนรักเก่าหวนกลับมา ถ้าเป็นคุณจะรู้สึกยังไง กระทำแสดงออกมาอย่างไรดี?
ผมครุ่นคิดในมุมมองของเธอก็แทบปวดหัวคลั่ง แล้วนับประสาอะไรกับหญิงสาวบ้านๆการศึกษาก็ไม่มี แถมยังขลาดเขลาเกินกว่าจะพูดบอกความจริง ใจหนึ่งยังคงรักผัวแรก อีกหนึ่งต้องการถนอมน้ำใจต่อผู้มีพระคุณ นี่มันโชคชะตาฟ้า ไม้ เมืองเดิม กลั่นแกล้งชัดๆ
คนสมัยใหม่ที่เริ่มมองเห็นประเด็นนี้จักเริ่มสงสารเห็นใจกระถิน ทั้งๆไอ้รุ่งมันก็เคยสนแต่พลอยทะเลอย่างหน้ามืดตามัวมาก่อนเช่นกัน แค่ว่าตอนนี้ครุ่นคิดได้ถึงข้อเสียร้ายรุนแรง พอเห็นอดีตเมียกลับยังหลงใหลยึดติด แทนจะช่วยเหลือโน้มน้าวชี้ชักนำ แสดงความไม่พึงพอใจสวนด่ากลับ นี่มันลูกผู้ชายตรงไหน! แค่สนองทิศทางเรื่องราวความสนใจของผู้เขียน/ผู้กำกับ ‘ฉันเกลียดทุนนิยม’ เลยต้องจบลงที่ตัวละครสามารถปล่อยวางละได้จากความโลภโกรธหลง
ความสำเร็จของพลอยทะเล ประกอบด้วย
– รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
– รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาออกแบบและสร้างฉากยอดเยี่ยม
– สรพงศ์ ชาตรี คว้ารางวัลพิเศษ ตุ๊กตาเงิน ‘ดาราทอง’ ฝ่ายชาย (ไม่ได้ระบุว่าจากหนังเรื่องไหน เพราะปีนั้นพี่เอกเล่นหนัง ๒๖ เรื่อง)
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือการแสดงของคุณนก สินจัย สร้างมิติให้กับตัวละครได้อย่างลุ่มลึกล้ำ เคยตกหลุมรักมานานตอนนี้คลั่งไคล้ขึ้นมาเลย, อีกอย่างหนึ่งคือสัญลักษณ์นัยยะของอัญมณีพลอยทะเล สัมผัสได้ถึงความยังโลภของตนเอง มอบคติธรรมสอนใจให้ไม่รู้ลืม
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำเฝ้าสังเกตจับจิตของตนเอง เกิดอารมณ์ใดเข้ามาสัมผัสบ้าง แล้วครุ่นคิดให้เกิดความเข้าใจ โดยเฉพาะการโหยหาหรือเสียดายพลอยทะเลเม็ดนี้ ระวังตัวไว้เถอะว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่
บุคคลผู้ลุ่มหลงใหลในวัตถุ เงินตรา เครื่องประดับ ของมีค่า ชีวิตก็มักจมปลักอยู่กับความทุกข์ทางจิต โลภละโมบเห็นอะไรก็อยากได้มาครอบครอง สูญเสียสิ่งของก็หงุดหงิดเกรี้ยวกราดเศร้าเสียใจ อารมณ์กวัดแกว่งเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง บางครั้งเหม่อล่องลอยไร้สติสตางค์ ถ้าคุณมองว่านั่นคือ ‘ชีวิต’ ความอภิรมณ์ส่วนตัวละก็เชิญเลย ตายไปก็จะรู้สึกเองว่าไม่มีใครไหนสามารถจ่ายใต้โต๊ะนายนิรบาลยมบาลสักแดงเดียว
ใครชื่นชอบนิยายของ ไม้ เมืองเดิม, ผู้กำกับ เชิด ทรงศรี, นักแสดงนำ สรพงศ์ ชาตรี, สินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ กับความวิปริตแปรเปลี่ยนของจิตใจมนุษย์
Leave a Reply