ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) หนังไทย : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ♥♥♥♥

‘หนังไทย คือความบันเทิงราคาถูก’ คำกล่าวนี้ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ทั้งจริงและเจ็บปวด! รวบรวมความชื่นชอบวัยเด็ก นำเสนอด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่ ให้เหมือนบันทึกประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย สร้างเอกลักษณ์ให้โลกประจักษ์ชื่นชม พร้อมอับอายขายขี้หน้าไปพร้อมๆกัน

ฟ้าทะลายโจร คือภาพยนตร์ทรงคุณค่าที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย (ผมมองว่ายิ่งใหญ่สำคัญกว่า สุริโยทัย/ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องแรก เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Un Certain Regard (หนังที่น่าจับตามอง) แต่คือการประมวลผลทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ‘ความเป็นไทย’ จากสมัยยุคทอง (พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๑๕) กลายมาเป็นผลงาน Post-Modern ผสมผสานทั้ง Post-Impressionist และ Surrealist อย่างกลมกล่อม

แต่ถึงจะบอกว่า ฟ้าทะลายโจร สร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะ ‘retro’ หวนระลึกย้อนยุคทองภาพยนตร์ไทยในอดีต แต่ชาวสยามส่วนใหญ่กลับไม่ชื่นชอบประทับใจ อาจเพราะหน้าหนังสื่อสารออกมาตรงๆเลยว่าคือ ‘ความบันเทิงราคาถูก’ นี่มันเหมือนการดูถูก หยามเหยียด คุณภาพมันจะออกมาดีได้อย่างไร แถมนำไปฉายให้ต่างชาติยกย่องอีก! … นี่หาใช่สิ่งแปลกอะไรเลยนะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นพวก’ไม่ยินยอมรับความจริง’กันอยู่แล้ว

ผมว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจ ความบันเทิงราคาถูก (ในเชิงนามธรรม) กับภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะ ความบันเทิงราคาถูก (ในเชิงรูปธรรม), ฟ้าทะลายโจร จัดเข้าพวกหลัง เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง นำเสนอให้มีความ ‘ราคาถูก’ แต่เอ่อล้นด้วยคุณภาพ ความตั้งใจ รักหนังไทยที่สุดเลย

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียน ภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เริ่มทำงานโฆษณากับ บริษัท ลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), กำกับเรื่องแรก ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ร่วมทุนสร้างระหว่าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ ฟิล์มบางกอก

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ แสนรัก แต่งโดย ศ.จินดาวงศ์ ตีพิมพ์ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร ลงตอนแรกฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ภายหลังมีการรวมรวบเป็นหนังสือ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓)

ศ.จินดาวงศ์ น่าจะคือนามปากาของ ศิริพรรณ เตชจินดาวงษ์ (ว่าที่)ภรรยาผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งเหตุผลของการเลือกชื่อนี้ อาจเพื่อหวนระลึกถึงนักเขียน/บุคคลชื่อดังในอดีต ที่นิยมใช้ตัวย่อนำหน้า อาทิ ป. อินทรปาลิต, ม. ชูพินิจ, พ. เนตรรังษี, ส. ธรรมยศ ฯ

เรื่องราวความรักระหว่าง รำเพย (สเตลล่า มาลูกี้) ลูกสาวพระยาประสิทธิ์ ราชเสนา (ไพโรจน์ ใจสิงห์) ผู้ว่าเมืองสุพรรณบุรี และ ดำ (ชาติชาย งามสรรพ์) ลูกชายกำนันเดื่อ (ครรชิต ขวัญประชา) รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งสองพลัดพรากแยกจากช่วงระหว่างสงคราม หวนกลับมาพบเจออีกครั้งเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สัญญามั่นหมายว่าจะครองคู่เป็นของกัน แต่หญิงสาวถูกพ่อบีบบังคับให้ต้องแต่งงานกับ ร้อยตำรวจเอกกำจร (เอราวัต เรืองวุฒิ) และชายหนุ่มจับพลัดไปเข้าพวกกับเสือฝ้าย (สมบัติ เมทะนี) สนิทสนมกับเสือมเหศวร (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) กลายเป็นอาชญากร สุดท้ายแล้วโชคชะตาจะเข้าข้างพวกเขา หรือมีเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรม

นำแสดงโดย ชาติชาย งามสรรพ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๖) ชื่อเล่นเก่ง เข้าสู่วงการจากเป็นนายแบบโฆษณา, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) รับบท ดำ เอสโซ่ หวนกลับชาติมาเกิดใหม่ใน ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) รับบท เสือดำ จอมโจรจำเป็นเพราะพ่อถูกฆ่าเลยต้องการล้างแค้นเอาคืน จับพลัดให้ได้รู้จักเสือฝ้าย จับพลูสนิทสนมเสือมเหศวร ทั้งๆก็ไม่ได้อยากเข้าพวกแต่ถูกโชคชะตาชักนำพา นั่นทำให้ตนเองรักคุดกับ รำเพย มิอาจสมหวังปรารถนา

แซว: เป่าขลุ่ย … นี่ระลึกถึงไอ้ขวัญ แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) หรือเปล่านะ

สเตลล่า มาลูกี้ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๐) อดีตนักแสดงลูกครึ่งอิตาลี-โคลัมเบีย เกิดเติบโตในประเทศไทย ครอบครัวมีกิจการบริษัทนำเข้าเครื่องหนัง เข้าวงการจากถ่ายแบบ แสดงโฆษณา Music Video สะดุดตาผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ‘ทำให้นึกถึงภาพของ Elizabeth Tayler’ แต่เพราะไม่ได้ชื่นชอบงานแสดงนัก ภายหลังจึงออกจากวงการบันเทิง ทำธุรกิจส่วนตัว แต่งงาน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ป่วยเป็นโรคประหลาด แคลเซียมในปอดสูง เป็นเหตุให้ต้องตัดขาขวาทิ้ง แต่ก็สู้ชีวิตแบบไม่กลัวเกรงอะไร, รับบท รำเพย เพราะเกิดในครอบครัวสูงศักดิ์กว่า จึงวางอำนาจบาดใหญ่กลั่นแกล้งเล่นกับดำ พบเห็นเขาถูกลงโทษเลยฝังลึกกลายเป็นตราบาป พอโตขึ้นก็ดันเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยคล้ายเดิมอีก เลยตั้งมั่นสัตย์สัญญาไว้ในใจ ชาตินี้จะไม่ขอตกหลุมรักใครอีก

คำถาม? รำเพย ได้เสียตัวให้กับ กำจร ในค่ำคืนวันแต่งงานแล้วหรือไม่?

ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๕) ชื่อเล่น ต๊อก หลังเรียนจบเริ่มจากเป็นนักเต้นให้ เจตริน วรรธนะสิน ถ่ายโฆษณา Music Video แจ้งเกิดกับ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) รับบท ปุ๊ ระเบิดขวด กลับชาติมาเกิดใหม่เช่นกันใน ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) รับบท เสือมเหศวร สมุนมือขวาคนโปรดของเสือฝ้าย การมาถึงของเสือดำทำให้ชื่อเสียงตนเริ่มแปดเปื้อน เลยครุ่นคิดมาดร้ายต้องการพิสูจน์ฝีมือ แต่กลับกลายเป็นได้เพื่อนร่วมสัตย์สาบาน กระนั้นภายหลังก็ตระบัตย์สัตย์เสียเอง โบ้ยความผิดว่า เสือดำนะแหละที่คิดคดทรยศต่อเสือฝ้ายก่อน

รูบนเพดาน รูบนหมวก สะท้อนความคาดคิดไม่ถึง/มองไม่เห็น หรือโชคชะตาได้ถูกกำหนดโดยเบื้องบน (คนเขียนบท)

พศิน เรืองวุฒิ ชื่อเดิม เอราวัต เรืองวุฒิ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๗) เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ สองเรา (พ.ศ. ๒๕๒๒) แต่พออายุ ๑๒ พักงานไปเรียนต่อ สำเร็จการศึกษาแล้วหวนกลับมาเป็นนักแสดงอีกรอบ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), รับบท ร้อยตำรวจเอกกำจร คู่หมั้นหมายของ รำเพย ได้รับมอบภารกิจล้อมจับกุมเสือฝ้าย แต่ดันถูกจับได้พ่ายแพ้ โชคยังดีหนีเอาตัวรอดเพราะพบเจอเสือดำ ภายหลังเมื่อรับรู้ว่าคู่หมั้นตกหลุมรักกับจอมโจร แสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดก้าวร้าว วางอำนาจบาดใหญ่ พูดจาเสียดแทงใจดำ หมอนี่มันตัวร้ายอำหิตชัดๆ

ปืนกล คืออาวุธที่สามารถยิงรัวๆได้หลายนัด แฝงนัยยะเล็กๆถึงความเจ้าชู้ประตูดิน ยิงได้หมดไม่เลือกหน้า

คงมีหลายคนที่เกิดอคติกับการแสดง มันช่างดู Overacting มากล้นเกิ้น แถมประโยคพูดก็หวานเลี่ยนน้ำตาลขึ้นมด ไม่ลองครุ่นคิดทำความเข้าใจว่านี่คือความตั้งใจของผู้กำกับ เพื่อให้หนังออกมาในเชิงล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน ดูราคาถูก หาความสมจริงไม่ได้ เน้นขายความมาดเท่ห์ เว่อวังอลังการ … นี่แหละหนังไทยยุคทอง มิตร สมบัติ ไชยา ฯ ไม่มีใครแสดงอย่างสมบทบาทหรอก ต่างเล่นเป็นตัวตนเองก็เท่านั้น

ถ่ายภาพโดย ณัฐวุฒิ กิตติคุณ หรือน้ากล้วย ตากล้องยอดฝีมือชาวไทย ที่เพิ่งแจ้งเกิดจาก นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานเด่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔), องค์บาก (พ.ศ. ๒๕๔๖), ชัมบาลา (พ.ศ. ๒๕๕๕) ฯ

ความฉูดฉาดจัดจ้านของการใช้แสง-สี น่าจะเกิดจากกระบวนการ Post-Production ปรับแต่งย้อมสีในคอมพิวเตอร์/หลังการถ่ายทำ ที่ควรสีแดงออกมาม่วง/ชมพู, เขียวกลายเป็นน้ำเงินอมเขียว ฯ เหล่านี้น่าจะไม่มีนัยยะแฝงซ่อนเร้นอะไรเป็นพิเศษ แค่ทำให้มันออกมาดูเว่อวังอลัง ตื่นตระการตาก็เท่านั้น

ซึ่งตลอดทั้งเรื่องมีซีนหนึ่งที่ทำการจำลองสร้างฉาก วาดภาพพื้นหลัง ต้นไม้ รวงหญ้า ผู้กำกับคงต้องการสัมผัส เหมือนจริง-เสมือนฝัน นี่คือโลกในจินตนาการของเสือดำ ถูกรุนรานโดยเสือมเหศวร เลยจำต้องท้าดวลปืนกันสักหน่อย ยิงงูที่ห้อยต่องแต่ง พิสูจน์ตนเองว่าฉันพร้อมทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

มุมกล้องก็ถือว่าจัดจ้าน เซ็กซี่เป็นบ้า พบเจออย่างเยอะกับมุมเงย เชิดหน้า เห็นเพดาน/ท้องฟ้า แต่ช็อตหนึ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ระหว่างดวลปืนลอดใต้หว่างขา พิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย กระบอกปืนก็คือสัญลักษณ์ของลึงค์ อวัยวะเพศชาย ใครจะสามารถยิงได้เร็ว แม่น เข้าเป้าก่อนกัน

หนึ่งในค่านิยมเพี้ยนๆของคนไทย กรีดเลือดสาบานต่อหน้าพระพุทธรูป (นี่ก็ แผลเก่า-ian) จากนั้นเฮฮารำวง โลกหมุนรอบตนเอง ซ้อนภาพเศียรพระ ถึงท่านแสดงอารมณ์ออกมาไม่ได้ แต่คงละเอือมอาทอดถอนหายใจ เพราะไม่มีทางที่สองคนนี้จะรักษาสัจจะมั่นไว้อย่างแน่นอน

ภาพสุดท้ายของซีนนี้ สองเสือนอนหมดแรงแผ่พังพาบ กล้องหมุน ๓๖๐ องศา ค่อยๆยกสูงถอยห่างออกไปเรื่อยๆ … ช็อตนี้ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Requiem for a Dream (2000) แถมนัยยะความหมายยังใกล้เคียง แต่ออกฉายปีเดียวกัน อาจแค่ความบังเอิญเหมือนก็ได้นะ

ส่วนผสมของ CG อาทิ เมฆหมอกท้องฟ้า, พื้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน, โยนเหรียญมีรู, กระสุนปืนสวนกัน ฯ เหล่านี้ก็ร่วมด้วยช่วยเสริมความเว่อวังอลังการ ‘Surrealist’ ของหนัง เพื่อให้หาความสมจริงดูเป็นธรรมชาติแทบไม่ได้

ตัดต่อโดย ดุษณีย์ ผุยหนองโพธิ์ ผลงานเด่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มหานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), วัยอลวล ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ

ลำดับเรื่องราว ค่อนข้างท้าทายผู้ชมสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย สลับไปมาระหว่างปัจจุบัน (ดำเนินไปข้างหน้า) กับย้อนอดีต (Flashback)
– อารัมภบทเริ่มต้นที่ รำเพย ราชเสนา ตัดสลับกับ เสือดำ ขณะออกปล้น
– (หวนระลึกอดีต) เมื่อครั้น ดำ-รำเพย ยังเป็นเด็กชาย-สาว
– ตำรวจ(ฟ้า)ทะลายรังโจร
– (หวนระลึกอดีต) ดำ-รำเพย พบเจอกันอีกครั้งสมัยวัยรุ่น ต่อเนื่องไปจนการกลายเป็นเสือ
– ทรยศหักหลัง งานแต่งงาน และไคลน์แม็กซ์

ลีลาการตัดต่อถือว่ามีความจัดจ้าน ยั่วยวน แอบกวนประสาทอยู่เล็กน้อย โดยเฉพาะ ‘ท่าชมทันหรือไม่?’ แต่แทนที่จะเป็นสโลโมชั่น กลับความเร็วเท่าเดิมแค่ร้อยเรียงทิศทางเคลื่อนที่ของกระสุน (แต่ก็มองไม่เห็นกระสุนอยู่ดี จะรีเพลย์เพื่อ!)

เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ

ใครที่เป็นคอหนัง Cowboy Western แฟนๆ Ennio Morricone น่าจะมักคุ้นเคยกับ Soundtrack เป็นอย่างดี ก็ไม่รู้ไปขอลิขสิทธิ์มาบ้างหรือเปล่า แต่ได้ทำการเรียบเรียงใหม่ด้วยคีย์บอร์ด/อิเล็กโทน ว่าไปคล้ายๆเสียง MIDI ประกอบเกม RPG สองมิติสมัยก่อน ราคาถูกๆ พอไปวัด ขับร้องคาระโอเกะตามได้

นอกจากนี้ยังมีการรวมอัลบัมเพลงไทยสมัยเก่าย้อนยุค อาทิ ฝนสั่งฟ้า (Opening Credit), ใครจะเมตตา, งามชายหาด, ฟ้างามยามค่ำ ฯ โดดเด่นติดหูกับ พรหมลิขิต ได้ยินถึงสองครั้งครา เริ่มต้นย้อนอดีตกับงานแต่งงาน … นำต้นฉบับสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย วินัย จุลละบุษปะ มาให้รับฟังเลยแล้วกัน
คำร้อง แก้ว อัจฉริยกุล
ทำนอง เวส สุนทรจามร
เรียบเรียง ก้องเกียรติ เรือนน้อย

บทเพลงตอนจบ กำศรวลจันทร์ ได้แรงบันดาลใจจาก The Last Rose of Summer บทกวีแต่งโดย Thomas Moore เมื่อปี 1805 ได้รับการเรียบเรียงเปียโน John Andrew Stevenson เมื่อปี 1813
คำร้อง ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ กับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
เรียบเรียง สุนทร ยอดศรีทอง
บรรเลง The Groves of Blarney
ขับร้อง เยาวเรศ เมธาคุณวุฒิ

ฟ้าทะลายโจร (ชื่อวิทยาศาสตร์ A. paniculata) เป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ ๓๐-๗๐ เซนติเมตร ใบเดี่ยวรูปร่างเรียวยาวสีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร นิยมนำมาทำเป็นสมุนไพร สรรพคุณแก้ไข้หวัด ระงับอาการอักเสบ ไอ เจ็บคอ ต่อมทอมซิล ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง ฝี ท้องเสีย บิด กระเพราะอักเสบ ฯ

ด้วยความหมายของ ฟ้าทะลายโจร ดูแล้วไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย แต่ถ้าครุ่นคิดกันให้ดีๆจะพบว่า
– ฟ้าทะลายโจร คือสมุนไพรในตำรายาโบราณของไทย ซึ่งก็สามารถสะท้อนอารมณ์ย้อนยุค หวนระลึกถึงอดีต
– สรรพคุณ รักษาไข้ อาการเจ็บป่วยทางกาย … แต่คู่รักหนุ่ม-สาว ป่วยทางใจ คงไม่มียาสมุนไพรไหนรักษาหายอย่างแน่นอน

ส่วนความหมายแบบเด็กแนว ฟ้า-ทะลาย-โจร
– ฟ้า แทนด้วยบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงส่ง ค้ำฟ้า
– ทะลาย คือการบุกเข้าไปล้อมต่อสู้ จับกุม ช่วยเหลือตัวประกัน เข่นฆ่าทำร้ายอีกฝ่ายให้สูญเสียชีวิต
– โจร คือ ผู้ร้าย อาชญากร

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะมอง ฟ้า=ตำรวจ, โจร=เสือ แต่มันก็มิได้จำต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปนะครับ เราสามารถเทียบแทน ฟ้า = พระเอก, โจร = ศัตรูหัวใจ นี่น่าจะตรงความตั้งใจของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มากกว่าเป็นไหนๆ

นัยยะการตายของ
– เสือฝ้าย เป็นคนทะนงเย่อหยิ่งไม่กลัวตาย พร้อมเข่นฆ่าทำลายบุคคลทรยศหักหลังตนเอง ผลกรรมเลยโดยแทงเข้าข้างหลังไม่รู้ตัว และโดนยิงปืนเข้าข้างหน้าตรงหัวใจอีกนัด คราวนี้ลงไปนอนกองกับพื้น ไม่ฟื้นกลับมาเข่นฆ่าล้างแค้นใครได้อีก
– เสือมเหศวร จอมโจรผู้เคยกล่าวคำสัตย์สาบาน ว่าจะซื่อสัตย์ต่อพวกพ้อง เพราะความที่ตระบัดสัตย์ เลยโดนยิงเข้าที่ปาก ย้อนรอยคำพูดของตนเองไม่ผิดเพี้ยน
– เสือดำ ถูกยิงวินาทีที่มือกำลังล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อ ทั้งๆไม่มีลับลมคมใน แต่เพราะอาชีพเป็นโจรเลยโดนตำรวจต้องสงสัยไว้ก่อน

ยุคสมัยนี้นั้น ตำรวจ-โจร เอาจริงๆแยกกันไม่ออกนอกจากเครื่องแบบ (แต่เครื่องแบบสมัยนี้ มันก็ปลอมแปลงลอกเลียนแบบกันได้อีก) เพราะพฤติกรรมแสดงออก อ้างกฎหมายแต่กลับขูดรีด เอารัดเอาเปรียบประชาชน กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน น้อยมากๆที่จะเป็นคนดีจากใจ (แต่คนดีก็ไม่มีที่อยู่อีกนะ) ขณะที่มหาโจร กลับมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน โปรยทาน แม้จะเป็นการสร้างภาพก็เถอะ ยังสร้างประโยชน์เล็กๆน้อยๆให้สังคมมากกว่า

เมื่อใดๆในโลกล้วนกลับตารปัตร อนิจจาเช่นนี้ แล้วยังมีสิ่งใดกันเล่าที่มั่นคงไม่แปรเปลี่ยน? คำตอบก็คือ ความตาย สัจธรรมความจริง ไม่มีมนุษย์หน้าไหนหลบหลีกหนีเอาตัวรอดพ้นไปได้

ผลงานถัดๆมาของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มักมีความเกี่ยวเนื่องกับ ‘การเมือง’ อยู่มากทีเดียว หากมองย้อนกลับไปหา ฟ้าทะลายโจร ผมว่ายังไม่ค่อยเด่นชัดเจนสักเท่าไหร่ (คือประมาณว่าผู้กำกับยังวัยรุ่นไฟแรง เลยสร้างภาพยนตร์สนองความต้องการตนเองมากกว่าไปครุ่นคิดถึงอย่างอื่นรอบตัว) แต่ก็พอพบเห็นสอดแทรกไว้ อาทิ
– ตำรวจ ทั้งๆที่ควรเป็นคนดี กลับแสดงความเลวบัดซบ เผด็จการ อหังการ อ้างความถูกต้องจากตัวตนเองเท่านั้น
– สัญญา สาบาน ที่ถูกลืมเลือน … เคยหาเสียง พูดกล่าวอาสาอะไรไว้ สุดท้ายไขว้นิ้วอ้างจดจำไม่ได้ โกหก ปลิ้นปล้อน กะล่อน หลอกลวงประชาชี มีดีตักตวงผลประโยชน์เข้าตนเองเท่านั้น
– ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ว่าราชการจังหวัด ต่างเป็นนักเลงเก่าทั้งนั้น แสวงหาอำนาจด้วยการใช้กำลัง เข่นฆ่าแกง … คงมีแต่พวกผู้มีอิทธิพลระดับนี้เท่านั้น ถึงสามารถเป็นผู้นำประเทศไทยได้

ความ ‘ราคาถูก’ ที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง นำเสนอออกมานี้ นอกจากภาพเบื้องหน้าที่พบเห็นแล้ว ยังสะท้อนถึงจิตใจคน ต่างก็มีมูลค่าแสนถูก
– สัญญารักหนุ่ม-สาว เข้าใจผิดโดยง่ายดาย
– คำสาบานต่อหน้าพระ ตระบัดสัตย์คืนคำ แค่เพียงสายลมปาก
– โอกาสสอง ทุกคนที่ได้รับต่างใช้มันอย่างไม่เห็นคุณค่า
– และที่สุดก็คือชีวิตคน แค่ปืนนัดเดียวก็ตัดสินความเป็นความตาย

การที่หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับอย่างดี จนถูกขอซื้อไปจัดจำหน่ายฉายในสหรัฐอเมริกา โดย Harvey Weinstein แห่งสตูดิโอ Miramax แต่ต่อมากลับเรียกร้องให้เปลี่ยนฉากจบแบบ Happy Ending ซึ่งพอผู้กำกับไม่ยินยอม ก็เลยถูกดองในถังหมักไว้หลายปี กระทั่งเมื่อ Weinstein ขายสตูดิโอให้กับ Disney เปลี่ยนมือมาเป็น Magnolia Picture จึงได้ออกฉายเมื่อ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ทำเงินไม่น้อยทีเดียว (มากกว่ารายรับในไทยหลายเท่าตัว!)

นอกจากเรื่องความฉาวโฉ่ทางเพศของ Harvey Weinstein นี่ก็เช่นกันที่ลือเล่าขานกล่าวขวัญ เพราะสมัยก่อนนั้นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ โอกาสน้อยมากจะได้จัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ต้องสตูดิโอมีชื่อเจ้าของอเมริกันนำเข้าไปฉายเท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมของ Weinstein เจ้าของ Miramax (ขณะนั้น) ชอบกวาดซื้อลิขสิทธิ์ในราคาถูกๆตามเทศกาลหนัง ไปเก็บดองถือครองความได้เปรียบ บางเรื่องน่าสนใจแต่ยาวเกิน หรือจบไม่พึงพอใจ ก็เรียกร้องให้มีการตัดต่อใหม่ … นี่ถือเป็นด้านมืดของ Hollywood โดยแท้

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร ในความเฉิ่มเชย หวานเลี่ยน ดูไปอมยิ้ม หัวเราะร่า ประทับใจสุดคือวิสัยทัศน์ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มองย้อนหลังเพื่อก้าวต่อข้างหน้า แค่ผลงานแรกก็สรรค์สร้างสิ่งคุณค่าให้กับวงการภาพยนตร์ไทย คลาสสิก Cult เหนือกาลเวลา

แนะนำคอหนังไทยคลาสสิก บู๊-แอ๊คชั่น โรแมนติก หักเหลี่ยมเฉือนคม, ชื่นชอบบรรยากาศย้อนยุค งานภาพสีสันฉูดฉาด, โปรดักชั่นคอสตูมจัดเต็ม แฟนๆนักแสดง และผู้กำกับ  วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๓+ กับความฉูดฉาด เลือดสาด ตายกราด

คำโปรย | “ฟ้าทะลายโจร ผลงานแรกของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แจ้งเกิดกลายเป็นตำนานเสือไทย”
คุณภาพ | บูรณ์-ไทย
ส่วนตัว | ค่อนข้างชื่นชอบ

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ชื่อเรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” น่าจะหมายถึง นางเอก (ดอกฟ้า) เป็นผู้ “ทะลาย/ทำลาย” (ในทางนามธรรม) โจร ที่หมายถึงทั้ง “พระเอก” (ทั้งทางกาย [เรื่องราวตอนเด็ก ที่ทำให้พระเอกได้แผล+ถูกลงโทษ], จิตใจ [อกหัก], กลุ่มโจร [ต้นเหตุให้พระเอกทรยศ เกิดการแตกคอ หักหลัง รวมถึงเหิมเกริมยกพวกไปปล้นบ้านนางเอก] และสุดท้ายคือ ชีวิต [ตาย] ด้วย) และ “กลุ่มโจร (อาจหมายรวมถึงตำรวจในเรื่องด้วย)” [สุดท้ายฉิบหายวายวอด พากันไปตายทั้งหมด ลองสืบย้อนไปดู ต้นเหตุทั้งหมดก็มาจากเรื่องนางเอกนี่แหละ] มากกว่า

พูดง่ายๆ คือ นางเอก (ดอกฟ้า) เป็นต้นเหตุแห่งความฉิบหายให้พระเอกและกลุ่มโจร ทั้งทางตรง/อ้อม มาโดยตลอดนั่นเอง เลยได้ชื่อ “ฟ้าทะลายโจร”

%d bloggers like this: