มนต์รักทรานซิสเตอร์

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔) หนังไทย : เป็นเอก รัตนเรือง ♥♥♥♥

ต่อให้ร่ำรวยเงินทองแค่ไหนก็แดกไม่ได้ เวลาขี้ออกมามันทรมาน! ภาพยนตร์ลำดับสามของ เป็นเอก รัตนเรือง ในช่วงวัยกำลังจัดจ้าน อหังการ ดัดแปลงจากหนังสือที่ตนเองไม่ได้ชื่นชอบสักเท่าไหร่ (แต่แฟนสาวขณะนั้นชอบ) แต่มองเป็นความท้าทายผสมอารมณ์ลูกทุ่ง เสียดสีสังคมได้อย่างแสบกระสันต์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในบรรดาผลงานของพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง โดยส่วนตัวครุ่นคิดว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือภาพยนตร์เข้าถึงผู้ชมชาวไทยวงกว้างมากสุดแล้วกระมัง ส่วนหนึ่งเพราะบทเพลงลูกทุ่งอมตะคุ้นหู โดยเฉพาะของครูสุรพล สมบัติเจริญ (และนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอื่นๆ) กลายเป็นอัลบัมรวมเพลงฮิตแห่งศวรรษ น่าจะทำยอดขาย Soundtrack ถล่มทลาย

สำหรับคอหนังที่สามารถอ่านภาษาภาพยนตร์ออก จะพบเห็นจังหวะ ลีลา ความจัดจ้าน กล้า บ้า (คาราโอเกะ) ตัวตนลายเซ็นต์ของพี่ต้อมได้อย่างเด่นชัดเจน แบบไม่หวาดกลัวพระแสงธนูศรใดๆ, ชื่นชอบสุดของผมคือทุกขณะที่มีหมาเดินผ่าน ตรงไปตรงมาโดยแท้!

เป็นเอก รัตนเรือง (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับ/เขียนบทภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ โตขึ้นไปเรียนต่อ Pratt Institute เมืองนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา ทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ และนักออกแบบให้กับ Designframe, หวนกลับมาเมืองไทยเข้าทำงาน ฟิล์มแฟ็กตอรี่ กำกับโฆษณาหลายชิ้นหนึ่งในนั้นคว้าเหรียญทองแดงจาก Cannes Lion Awards เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒)

“คือแฟนเก่าเขาเรียนอยู่เมืองนอก เราก็มีหน้าที่ซื้อหนังสือไทยให้เขา ซื้อทีเป็นตั้งๆ แล้วส่งไป แต่เขาส่งเล่มนี้กลับมา บอกว่าต้อมลองอ่านเรื่องนี้ดิ เขาชอบ คือเขาชอบหรือคิดว่าพอจะทำเป็นหนังได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ”

– เป็นเอก รัตนเรือง

หลังจากมีโอกาสอ่านนวนิยาย มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๒๔) แต่งโดย วัฒน์ วรรลยางกูร ก็ไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ แต่ครุ่นคิดว่าถ้านำมาทำหนังคงสนุกดีเหมือนกัน เพราะความเป็นหนุ่มชาวกรุงฯ ไปเรียนต่อเมืองนอก เรื่องบ้านๆของคนต่างจังหวัดไม่เคยสัมผัสพบเจอ คงเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆได้มาก

เกร็ด: พี่ต้อมเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชอบอีกผลงานหนึ่งของ วัฒน์ วรรลยางกูร เรื่อง คือรักและหวัง (พ.ศ. ๒๕๒๕) อยากสร้างแต่ไม่กลับได้สร้าง [ถ้าพี่ยังมีไฟอยู่ ทำไมไม่ลองสร้างดูละ]

ถึงกระนั้นเจ้าตัวคงรู้สึกผิดหวังมากๆ ในสภาพวิถีสังคมชนบทต่างจังหวัดบ้านเรา เพราะเมื่อตอนไปรีเสิร์ชดูงานวัด

“ตอนแรกไปทำรีเสิร์ชที่งานวัด ซึ่งงานวัดในหัวเรามันเป็นแบบหนึ่ง แต่พอไปงานวัดจริงๆ มันดูโคตรเหี้ยเลย งานวัดจริงๆ แม่งเอาเสื้อผ้าออฟฟิศชิคๆ มาขายกัน เหมือนซอยละลายทรัพย์ แล้วก็เอารองเท้า (อาดิ) แดตปลอม ไนกี้ปลอมมาขาย ทุกอย่างเป็นพลาสติกหมดเลย เราก็เลยเลิกรีเสิร์ช เพราะแม่งเศร้า คิดอย่างเดียวว่า ถ้าเราทำให้คนดูตามตัวละครได้ ทำให้มันสงสาร อินไปกับตัวละครได้ โลกไหนเขาก็ไม่แคร์ว่ะ จะเกิดที่เคนย่าก็ได้ เกิดที่ไนจีเรียก็ได้”

สำหรับบทภาพยนตร์ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องคัทลอกเลียนแบบตามต้นฉบับหนังสือ ระยำโน่นนี่นั่นใส่เข้าไปตามความสนใจ แล้วให้เวลาคัดเลือกสรรค์บทเพลงลูกทุ่งเก่าๆ เพื่อให้มีความสอดคล้องเข้ากับเรื่องราว บางคำร้องถือว่าแทนบทพูด ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาตรงๆเลย

แผน (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) หนุ่มบ้านนอกเสียงดี ชื่นชอบการร้องเพลงตามงานวัด ตกหลุมรัก สะเดา (สิริยากร พุกกะเวส) แม้มีอุปสรรคขัดขวางบ้างจากพ่อตา แต่ไม่นานทั้งคู่ก็ได้ครองรักโดยมีวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กๆเป็นของขวัญวันแต่งงาน โชคชะตานำพาให้แผน จับได้ใบแดงกลายเป็นทหารเกณฑ์ ทนฝึกอยู่ได้ไม่กี่เดือนหนีไปประกวดร้องเพลงรายการปั้นดินให้เป็นดาว ได้รองอันดับหนึ่ง เลยมีโอกาสเข้าร่วมวงเพลิน แพรสุวรรณ ของคุณสุวัตร เตียงทอง (สมเล็ก ศักดิกุล) แรกเริ่มคอยเป็นเบ๊ซื้อบุหรี่ เสิร์ฟน้ำ ปัดกวาดเช็ดถู จนผ่านไป ๒ ปีไม่ยอมกลับบ้าน สะเดาเริ่มทนไม่ไหวเลยชวนพ่อเข้ากรุงเทพฯ ทำให้ได้ค้นพบความจริงบางอย่างถึงขนาดต้องด่า’เหี้ย’ออกมา

ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๕) ชื่อเล่นต๊อก เกิดที่จังหวัดอุทัยธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เริ่มงานเป็นนักเต้นให้กับ เจตริน วรรธนะสิน ถ่ายโฆษณา มิวสิกวิดีโอ ขับร้องเพลง และแสดงภาพยนตร์ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), เสือ โจรพันธุ์เสือ (พ.ศ. ๒๕๔๑), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), ขุนกระบี่ ผีระบาด (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฯ

รับบทแผน หนุ่มบ้านนอกนิสัยดี มีมากด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน อยากประสบความสำเร็จร่ำรวย ภรรยาลูกหลานจักได้สุขสบาย แม้น้ำเสียงจะพอไปวัดไปวา แต่โชคชะตาจับพลัดพลูให้พบเจอแต่อุปสรรคขวากหนาม ตกต่ำต้อยลงเรื่อยๆจนได้รับบทเรียนตรึงฝังใจ รับรู้ว่าไม่มีอะไรจักสุขกายสบายใจได้เท่ากับความพอเพียง

ผมรู้สึกว่าพี่ต๊อกดูเป็น ‘John Travolta เมืองไทย’ น้ำเสียง มาดลีลา ท่าทางบิดก้น ได้ใจวัยรุ่นจิ๊กโก๋ไปเต็มๆ (จริงๆก็ตั้งแต่ ๒๔๙๙ รับบท ปุ๊ ระเบิดขวด แล้วละ) แต่หลังจากผ่านองก์แรก ความมาดแมนก็ค่อยๆแปรสภาพเป็นมาดหมา ตกต่ำต้อยสาละวันเตี้ยลงไปเรื่อยๆ วิ่งหนีตำรวจจนขาเป๋ แค่เดินยังไม่ตรงแล้วทำอะไรมันจะมั่นคง หวนกลับบ้านนอกเลิกเป็นขุนแผน/พี่มาก เมียจ๋าพี่ขอโทษ

แซว: ก็ว่าเสียงดี เลยไม่แปลกที่พี่ต๊อกหลังจากนี้ ออกอัลบัมเพลงแร็พลูกทุ่ง บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากครูสุรพล สมบัติเจริญ ไม่รู้ผลลัพท์เป็นอย่างไร

สิริยากร พุกกะเวส (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๗) ชื่อเล่นอุ้ม เกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ เรียนจบเอกโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ ๒ เข้าสู่วงการบันเทิงโดยการชักนำของคุณมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ผลงานชิ้นแรกคือโฆษณาแชมพูรีจอยส์ ตามด้วยละครโทรทัศน์ สามใบเถา (พ.ศ. ๒๕๓๘), รับงานภาพยนตร์ประปราย โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), คืนไร้เงา (พ.ศ. ๒๕๔๖) ฯ

รับบทสะเดา สาวผู้เคราะห์ร้ายที่มักถูกนำไปจิ้มน้ำพริกกินกับแกงหลากหลาย เคยรักเดียวใจเดียวต่อพี่แผนจนได้แต่งงานมีลูก แต่เมื่อถูกทิ้งขว้างเลยหาผัวใหม่ได้นักพากย์หนังขายยา หมอนี่ก็ปากหวานละลายแม่น้ำ ทำท้องแล้วทิ้งหนีไปอีกเช่นกัน โกรธเกลียดผู้ชายเข้ากระดูกดำ แต่ถ้ามาขอคืนดีก็พร้อมยินยอมให้อภัย (เล่นตัวนิดหน่อยพอเป็นพิธี)

เวลาหญิงสาวสวยพูดเหี้ย มันจะมีความน่ารักน่าชัง จากคำหยาบจักแปรสภาพเป็นคำหวาน ซะงั้น! ภาพลักษณ์ของพี่อุ้ม มีความอวบๆ หน้ากลมๆบ้านๆ นี่เรียกว่าจิ้มลิ้มน่าหยิกแก้ม ที่รักเอ็นดูของใครๆ … น่าเสียดายปัจจุบันนี้ผอมไปหน่อยหรือเปล่า

ส่วนตัวชื่นชอบช่วงท้ายๆมากกว่า ขณะบีบเค้นคั้นน้ำตาอารมณ์ เวลาสาวน่ารักร้องออกมาทีไร มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ อยากเข้าไปซับน้ำตาให้เสียจริง

ถ่ายภาพโดยพี่แดง ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ แห่งบริษัท The Film Factory ขาประจำของ เป็นเอก รัตนเรือง ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), โอเคเบตง (พ.ศ. ๒๕๔๖), ฝนตกขึ้นฟ้า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ

แม้เสื้อผ้าหน้าผมตัวละครจะดูย้อนยุคสักหน่อย แต่พื้นหลังหนังไม่ได้เจาะจงยุคสมัยไหนเป็นพิเศษ หนำซ้ำพบเห็นรถไฟฟ้า กรุงเทพฯมีความโมเดิร๋นเสียเหลือเกิน นี่เรียกว่าเป็นการสร้างโลกคู่ขนานขึ้นมาในจักรวาลภาพยนตร์ของพี่ต้อม

สิ่งโดดเด่นของงานภาพคือการจัดวางองค์ประกอบภาพ ตัวละคร และรายละเอียดประกอบฉาก พบเห็นสัตว์/สิ่งของเชิงสัญลักษณ์แฝงนัยยะความหมายซ้อนเร้นอยู่มากมาย

ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นด้วยขวดยาถ่าย พื้นหลังเบลอๆได้ยินเพียงเสียงตำรวจบีีบบังคับให้นักโทษแผน เบ่ง ‘สร้อยทอง’ ออกมาทางก้อนอุจจาระ, นัยยะสะท้อนเสียดสีทิศทางของสังคมยุคสมัยนี้เต็มๆเลยว่า ผู้คนเต็มไปด้วยความละโมบโลภมาก ลุ่มหลงใหลในทรัพย์สินเงินทองล้นฟ้า แต่อย่าลืมว่าไอ้ของแบบมันมันเอายัดปากรับประทานเป็นอาหารได้เสียที่ไหน

ฉากเต้นรำเกี้ยวพาราสีระหว่าง แผน-สะเดา (พี่ต้อม Cameo เป็นตัวประกอบเต้นผ่านหน้ากล้องไปด้วยนะ) เห็นจากเบื้องหลังถ่ายด้วยเครน ซึ่งช็อตนี้มุมเงยขึ้นพบเห็นพื้นหลังชิงช้าสวรรค์ (สัญลักษณ์ของวัฏจักรชีวิตหมุนเป็นวงกลม) ซึ่งไอ้แผนมันก็พยายามเต้นวนรอบสะเดา เธอคือศูนย์กลางจักรวาลของฉัน

เทคนิคจำกัดกรอบภาพ/การกระทำของตัวละคร มักสะท้อนถึงสิ่งไม่ค่อยอยากจดจำ เลยบีบจำกัดมันไว้ขนาดเล็กๆ กาลเวลาก็จักหลงเหลือแค่ว่าเคยมีเรื่องพรรค์นี้เกิดขึ้นด้วยแค่นั้นเอง

แม่ไก่แจ้ (ใครแฟนหนังไทยคลาสสิก น่าจะคุ้นๆชื่อพวก พ่อไก่แจ้ แม่ปลาไหล แนวๆสรรพสัตว์) สัญลักษณ์สื่อถึงการพยายามเล่นแง่งอน แต่ก็ละอ่อนใจให้นานแหละ และชอบชูขน(สวมใส่เสื้อสีน้ำเงิน) อวดความสง่างามของตนเอง

เหมือนว่าสะเดาจะชอบสีน้ำเงินนะ ชุดส่วนใหญ่ของเธอก็มักสีนี้ นัยยะถึงความใจกว้าง รักอิสระ เหมือนดั่งท้องฟ้า มหาสมุทร

สมัยก่อนผมเคยได้ยินสำนวน ‘ขี้แล้วกลบคือแมว ขี้แล้วแจวคือหมา’ ซึ่งการใส่น้องหมาเข้ามาในช็อตนี้ก็แปลว่า ไอ้แผน=หมาขี้ คือมันปี้เสร็จท้องแล้วก็หนี ซึ่งช่วงท้ายเมื่อทั้งสองหวนกลับมาพบเจอกัน

“สะเดา..เอ็งไปเอาลูกใครมาเลี้ยง..”
“..ลูกหมา..หมาเหมือนกันทั้งคู่..ทำท้องมันก็ทิ้ง แม่งหมาเหมือนกันหมด..”

ว่าไปการขุดบ่อน้ำฉากนี้ เหมือนการขุดหลุมฝังศพตนเองของแผน ทำในสิ่งที่เหมือนจะเป็นประโยชน์แต่สุดท้ายกลับไม่มีคุณค่าสาระใดๆ (ก็ไม่รู้จะขุดไปทำไม)

ทำไมต้องแสงสีเขียว? นี่คือสีแห่งความชั่วร้าย ปีศาจ ซึ่งการที่แผนดำน้ำไปหาสะเดา ก็เพื่อเป้าหมายจะลวงล่อ ท้องเมื่อไหร่จะได้แต่งงาน

หนึ่งในวลีที่กลายเป็นอมตะของหนัง

“ทายซิ..ใครเอ่ย…..สายัณห์ สัญญา..”

ผมว่าคนสมัยนี้อาจไม่ค่อยรู้กันแล้วว่า คนท้องชอบกินอะไรเปรี้ยวๆ สมัยก่อนมันไม่มีพวกขนมถุงก็เม็ดมะยมนี่แหละ ช็อตเล็กๆแบบนี้สื่อถึงวิถีไทยแท้ได้คลาสสิกไม่น้อย

วินาทีแห่งการร่ำลาแยกจาก ผมแอบได้กลิ่น พี่มาก-นางนาก อยู่ปริ่มๆ (ไอ้แผนไปเป็นทหาร สะเดาตั้งครรภ์) ใช้การถ่ายภาพย้อนแสงยามเย็น มองเห็นเพียงเงามืดของทั้งสอง (หมดเวลาสนุกแล้วสิ หลังจากนี้คือการมุ่งสู่ด้านมืดของชีวิต)

เคยได้ยินสำนวน ‘สวมเขา’ ไหมเอ่ย การจัดวางองค์ประกอบช็อตนี้ ไอ้แผนอยู่ในตำแหน่งตรงกับเขากวาง? (เขาอะไรก็ไม่รู้นะ) มีภาพน้ำตกอยู่ด้วย, นัยยะความหมายคือการต้มตุ๋น หลอกลวง ยกแม่น้ำทั้งห้าเพื่อมาโน้มน้ามชักจูงให้หลงคารมเชื่อฟัง อดทนเข้าไปแล้วจะมีอนาคต

“นักร้องดังๆ ที่ชั้นปั้นนะ.. ถ้าดีได้..จะได้ดี.. จำเอาไว้นะ”

เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปจะเฉลยว่า ป๋า คนนี้แม้งคือเก้งก้างกวาง เสือลายพราง (อะไรสักอย่างที่แปลว่า ชายชอบชาย) ซึ่งหลังจากสวมเขาเสร็จก็จักไปครอบหัวต่อที่บ้าน บีบบังคับให้เหลือกางเกงในสีแดงตัวเดียวถ่ายแบบเล้าโลมราชสีห์ จากนั้นเปิดคลิบปลุกอารมณ์ จากนั้นเข้าปล้ำทำเมีย หล่อๆแบบนี้ ก้นงามงอน ฟิตจัด!

ฉากการตายลักษณะนี้ ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังเรื่อง Boogie Nights (1997) จะมีตัวละครของ Alfred Molina สวมเพียงกางเกงในและเสื้อคลุม เดินล่อนจ้อนโทงเทงทั่วบ้าน แต่ถ้าเข้าปลุกปล้ำข่มขืนนี่น่าจะ Midnight Cowboy (1969) ที่เป็นตัวต้นฉบับ

อยู่ดีๆสะเดาก็ทำหน้าบูด พูดคำว่า เหี้ย เหี้ย เหี้ยเต็มปาก, นี่เป็นช่วงเวลาที่สถานะของไอ้แผน แปลงร่างจาก หมา -> เหี้ย ตกต่ำเลวทรามต่ำช้าเดรัจฉาน ซึ่งการกระทำของเขาก็จะสาละวันเตี้ยลงไปเรื่อยๆ

การผิดนัดของไอ้แผน ทำให้สะเดาที่ตั้งใจนำขวดน้ำตักตวงมาเพื่อหล่อเลี้ยงต้นรัก โยนทิ้งแถวๆป้ายรถเมล์ ซึ่งมีวัยรุ่นชายคนหนึ่งเหมือนจะถูกทิ้งไว้เช่นกัน กำลังนอนดมกาวเมามายหลับสบาย … แต่อีกช็อตตัดกลับมา ตัวประกอบนี้ก็หายตัวไปแล้ว คืนสติเร็วจังนะ??

McDonald สัญลักษณ์ของ Fast Food หรือ Junk Food ย่อมเทียบไม่ได้กับอาหาร/น้ำจากธรรมชาติที่สะเดาตั้งใจนำมาให้พี่แผน สุดท้ายก็… เหี้ย

แผนจับพลัดจับพลูหนีเอาตัวรอดสู่อาชีพรับตัดไร่อ้อย … นัยยะของไร้อ้อยแม้งโคตรเสื่อมเลยนะ จินตนาการกันเองออกหรือเปล่าเอ่ย แท่งยาวๆเมื่อนำมาบีบกัดดูดแล้วมีน้ำหวานเยิ้มๆไหลออกมา การหลบซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางไร้อ้อย ก็จึงหมายถึง…

แผน-หยอด สามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากหัวหน้าคนงานไร่อ้อย ด้วยการเอากะลาครอบหัว, ทีแรกผมสงสัยมากว่ามันมีสำนวน ‘กะลาครอบหัว’ ด้วยหรือ? คำตอบคือไม่มีนะครับ ที่ถูกคือ กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้ประสบการณ์น้อย เพราะไม่เคยเผชิญโลกกว้าง แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก … ผมว่ามันก็คือๆกันละมั้ง และการเลือกถ่ายฉากนี้ด้วยโทนสีน้ำเงิน (คงจะด้วยฟิลเลอร์ Day-for-Night) ให้สัมผัสราวกับโลกอีกใบ (โลกในกะลา)

ผมค่อนข้างชอบช็อตเปิดตัวนี้ของเกียรติศักดิ์ มากทีเดียวนะ ถ่ายด้านข้างแบบ Sideline บทบาทหมอนี่ก็มีแค่นี้แหละ ตัวประกอบข้างๆคูๆ ไม่ต่างอะไรจากหมาตัวหนึ่ง กินขี้ปี้แล้วหนีหายตัวไป

ใครเคยรับชม ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) น่าจะจับใจความของฉากนี้ได้ ซึ่งพี่ต๊อกก็แสดงนำเรื่องนั้นด้วยนะ และการปรากฎภาพบนฉากฉายกลางแปลงช็อตนี้ พากย์เสียงโดยเกียรติศักดิ์ … นี่มันตัวตายตัวแทนกันเลยนะ เลยเอามาทำผัวคั่วเวลา

ฟ้าทะลายโจร เป็นหนัง Sound-on-Film นะครับ แต่การเอาฉายกลางแปลงแบบนี้ พากย์สดมักได้รับความนิยมกว่า ได้อรรถรส Nostalgia ไปอีกแบบ

แสบกระสันต์เสียดสีสังคมรุนแรงสุดของหนัง คือฉากงานการกุศุลที่ให้คนรวยแต่งตัวซ่อมซ่อแฟนซีเลียนแบบคนจน นัยยะคือการดูถูก หยามเหยียด ปากอ้างว่าทำเพื่อคนชนชั้นล่าง แต่ก็เป็นเพียงเรื่องขบขัน สนุกสนาน ‘สร้างภาพ’ ให้ดูดีเท่านั้นเอง … ซึ่งหลังจาก แผน-หยอด ถูกจับได้ว่าเป็นคนจรจริงๆ ก็ถูกถีบขับไล่ตกกระได(พลอยโจร)

ช็อตแรกของ Sequence ถ่ายจากโคมไฟราคาแพงบนเพดาน Tilt Down ลงมาเห็นหมาหัวเน่าสองตนนี้เงยหน้าขึ้นมอง(เครื่องบิน) เพ้อใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง แต่ก็ห่างไกลเกินอาจเอื้อมมือ

ม้า อรนภา กฤษฎี มารับเชิญในบทพิธีกรงานแฟนซีคนจน ซึ่งความเป็นกระเทยของตัวละครนี้สื่อถึง พวกคนกลับกลอก ปอกลอก หน้าอย่าลับหลังอีกอย่าง

เป็นการวิ่งที่เหนื่อยและยาวไกลมากๆ เริ่มจากสโลโมชั่นตรงบันไดรถไฟฟ้าอนุเสาวรีย์ชัย จากนั้นมีการ ‘Leap of Faith’ ตัวละครกระโดดข้ามกล้องที่วางบนพื้น โผล่มาอีกด้านตัดมาริมคลองแสนแสบ พบเห็นตึกไบหยก ประตูน้ำอยู่ลิบๆ

อะไรหลบอยู่หลังแอร์? ผมคิดว่าคำตอบคือ จิ้งจก ตุ๊กแก สัตว์เลื้อยคลาน … ตัวเหี้ย

คือไอ้แผน มันเป็นคนไร้แผนการชีวิตโดยสิ้นเชิง พอไอ้หยอดมันฉกชิงสร้อยคอมาหยอดใส่มือ ตำรวจไม่รู้หรอกว่าหมอนี่คือโจร แต่ดันสบตาแล้ววิ่งหนีนะสิ ต้องสงสัยสุดๆว่าทำอะไรมา คนดีที่ไหนเห็นชุดสีกากีแล้ววิ่งหนี!

ไอ้แผนมันไม่รู้จักความเห็นแก่ตัวของคนขับรถเมืองกรุงฯ ข้ามถนนไม่มองซ้ายขวาก็เลยโดนชนกระแทกเข้าให้ อีท่าไหนก็ไม่รู้เลือดทะลักออกจากปาก กับช็อตนี้ถ่ายจากภายในรถ แพนกล้องช้าๆ พบเห็นด้านนอกคั้งค้างคาสงบนิ่งไว้ ‘สะกดทุกสายตา’ ราวกับสัตว์เลื้อยคลานเวลานอนแอ้งแม้งตายห่าไม่รู้ตัว

แซว: เมื่อก่อนพบเห็นบ่อยนะ ตะกวดข้ามถนนในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ต้องต่างจังหวัดเท่านั้นแหละ (รถในกรุงเทพมันขับเร็วเกิ้น)

ท่วงท่าของการตักขี้ในบ่อ ต้องอาศัยทักษะทรงตัว เพราะความลื่นริมขอบบ่อ ทำให้พลักตกขุมนรกได้โดยง่าย ซึ่งก็แน่นอนว่าน้องใหม่จำเป็นต้องเปิดซิง, นัยยะของฉากนี้ คือจุดตกต่ำสุดของชีวิต … ถึงกระนั้น ขี้มันก็ยังมีประโยชน์ ใช้เป็นปุ๋ยรดต้นไม้เติบโต เป็นอาหารของคนคุกต่อไป

ชีวิตอันตกต่ำต้อยของแผน ออกมาจากคุก มีมอไซด์และหมาตัวหนึ่งเดินผ่าน (หมายถึง ชีวิตหมาๆที่ดำเนินไป) และมันจะมีช็อตสุดท้ายภายหลังการสนทนาระหว่างแผน-หยอด (พยายามโน้มน้าวให้เพื่อนเก่ามาร่วมงาน ขายยาบ้ากับตน) จะมีตัดมาเห็นภาพช็อตนี้อีกครั้ง พบเห็นหมา(น่าจะตัวเดิม)เดินผ่านหน้ากล้องไป (ค้ายา=การกระทำหมาๆ)

สถานะของไอ้แผนขณะนี้ ถือว่าเลิกเป็นเหี้ยแล้วนะครับ กลับสู่ความเป็นหมา (คือสำนึกได้ รู้ตัวว่าผิด)

ชีวิตข้างนอกคุกของไอ้หยอดมันช่างสุดสบาย หัวใจ ‘สปอร์ต’ เลยสวมใส่ชุด Sport!

สังเกตคำพูดชักจูงโน้มน้ามของไอ้หยอด มันแทบย้อนรอยอดีตที่แผนเคยได้ยินฟังมาจากป๋าสุวัตร สองปีกับเบ๊นักร้อง ไม่แตกต่างอะไรกับสองปีในคุก (ในเชิงรูปธรรมและนามธรรม) ด้วยเหตุนี้กระมังเลยทำให้เขาครุ่นคิดได้เสียที ชีวิตมันก็วัฏจักรเวียนวนอยู่แบบนี้ไม่มีอะไรแตกต่าง

เสื้อสีน้ำเงิน, วิทยุทรานซิสเตอร์ ของเก่าจากอดีตที่เคยมีความสำคัญ ปัจจุบันเสื่อมโทรม หมดสิ้นสภาพ พังทลายไปตามกาลเวลาถ้าเราไม่รู้จักทะนุถนอมดูแล เฉกเช่นเดียวกับจิตใจคน ที่ต้องคอยหล่อเลี้ยงป้อนข้าวป้อนน้ำ ไม่ให้ต้นรักแห้งเหี่ยวเฉาจนเหลือเพียงกิ่งก้านแล้วตายจากไป

ตัดต่อโดยหม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล พระธิดาคนโตของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองผู้คุมไร้นาม (ฉัตรชัย คำนวณศักดิ์) เคยเป็นเพื่อนสนิท อดีตนักร้องร่วมวงกระเดือกทองคำ ซึ่งก็ได้บรรยายสรรพคุณชีวิตของไอ้แผน ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น ตกหลุมรัก ขอสาวแต่งงาน ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันจับพลัดพลูมาเจอกันในคุก และดำเนินต่อไปอีกนิดหลังจากได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ

นอกจากนี้หลายครั้งคราจะมีขึ้นข้อความ ที่ดูเหมือนเป็นคำใบ้บางอย่างให้ผู้ชมใคร่สงสัย ซึ่งสามารถมองเป็นการแบ่งองก์ ชื่อตอนของหนังก็ยังได้ อาทิ
– เกสรตีน
– ตูน…นม…เดือย
– สุรแผน เพชรน้ำไหล
– นักพากย์ปากหวาน
ฯลฯ

แต่ผมแบ่งองก์ของหนังแบบนี้ เข้าใจง่ายกว่าเยอะ
– อารัมบท, ขี้เอาสร้อยทองออกมา
– องก์หนึ่ง ช่วงเวลาแห่งความสุขสันต์, แผน-สะเดา เกี้ยวพาราสี แต่งงาน ตั้งครรภ์
– องก์สอง พลัดพราก, จับได้ใบดำไปเกณฑ์ทหาร ต่อมาหนีไปเป็นนักร้อง
– องก์สาม แยกจาก, แผนหนีเอาตัวรอดกลายเป็นคนตัดอ้อย สะเดาถูกเกี้ยวพาราสีโดยเกียรติศักดิ์
– องก์สี่ ตกต่ำ, ขโมยของ วิ่งหนีตำรวจ ติดคุกหัวโต
– องก์ห้า คืนดี, ออกจากคุก หวนกลับมาพบเจอกัน

เพลงประกอบโดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ แจ้งเกิดกับ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๓), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗), ดังไกลไปถึง The Warlord (2007), Wǔ xiá (2011) ฯ

หนังไม่ได้มีแค่บทเพลงลูกทุ่งนะครับ ตั้งใจฟังดีๆก็จะได้ยิน Soundtrack ประกอบตลอดเรื่อง มักดังขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อเหตุการณ์ เพื่อขับเน้นสร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้กับผู้ชม อาทิ
– เสียงแซกโซโฟนสุดเซ็กซี่ตอนชื่อหนังขึ้น
– ทำนองยิ้มแย้มแป้นหวานเมื่อตอน ลำเนา ได้เสื้อสีน้ำเงินเป็นขวัญ แล้วแผนมาโชว์แมนหยอกล้อเล่นเกี้ยวพาราสี
– ส่งจดหมายแล้วแผนดำน้ำมา เสียงกลองนุ่มๆ กึกก้องกังวาล ราวกับผีทะเล
– ตอนแผนกำลังจะมีชู้ ทำนองเหมือนลางยา มอบสัมผัสอันตราย การกระทำอันชั่วร้ายผิดศีลธรรมจรรยา ขณะที่อีกฝั่งทางบ้านสะเดา ท่วงทำนองอันโหยหวนรวดร้าว ต้องต่อสู้ดิ้นรนทนทุกข์ยากลำบาก
– เมื่อสะเดารับรู้ความจริง ไวโอลินนำทำนองอันโหยหวนรวดร้าวบาดลึกภายในใจ (ช่วงท้ายตอนกลับมาคืนดี จะได้ยินท่วงทำนองนี้อีกครั้งหนึ่ง)
– แอ๊กชั่นมันส์ๆลุ้นระทึก ตอนหลบหนีกระสุนจากเจ้านายสวนไร่อ้อย
– หลังออกจากคุก เสียงขลุ่ยทุ้มๆให้สัมผัสอันว่างเปล่า ล่องลอย ชีวิตไร้กันแสน

สำหรับบทเพลงลูกทุ่งชื่อดังทั้งหลาย ส่วนใหญ่ครูสุรพล สมบัติเจริญ จะขับร้องไว้ ซึ่งหนังมีการเรียบเรียงทำนองใหม่ให้มีความทันสมัยขึ้น และส่วนใหญ่ขับร้องโดย ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (บางเพลงผมว่าขับร้องไพเราะกว่าต้นฉบับอีกนะ)
– บทเพลงในงานวัด อาทิ น้ำค้างเดือนหก (แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน), มอง (แต่งโดย สุรพล สมบัติเจริญ), เป็นโสดทำไม (แต่งโดย พยงค์ มุกดา)
– ตอนไปเป็นทหาร ลืมไม่ลง (แต่งโดย สุรพล สมบัติเจริญ)
– เพลงที่แผนขับร้องตอนประกวดชื่อ ทหารเกณฑ์คนเศร้า (แต่งโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง)
– ขึ้นร้องคอนเสิร์ต น้ำตาผัว (แต่งโดย ไพบูลย์ ไก่แก้ว)
– คิดถึงคร่ำครวญหาขณะอยู่ในคุก ลืมไม่ลง (แต่งโดย สำเนียง ม่วงทอง)
– Ending Credit, คิดถึงพี่ไหม (แต่งโดย พยงค์ มุกดา), ใช่แล้วสิ (แต่งโดย แผน พันธ์สาลี)

นำ Original Song หนึ่งเดียวของหนังมาให้รับฟังกัน ทหารเกณฑ์คนเศร้า น่าเสียดายที่ไม่มีการใส่ทำนองเพิ่มเติมเบ้ขาไป ถึงกระนั้นแค่เพียงเสียงขับร้องของต๊อก ก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก รวดร้าวทุกข์ทรมานจากความโหยหาครุ่นคิดถึงคนรักได้อย่างทรงพลัง น้ำตาเกือบๆหลั่งไหลริน

ทรานซิสเตอร์ (Transistor) คืออุปกรณ์สารกึ่งตัวนำที่มีคุณสมบัติขยายหรือสลับสัญญาณไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้า … เอาเป็นว่าคือคำเรียกแทนวิทยุ ก็แล้วกันนะครับ ไม่ได้เรียนสายวิทย์จะได้ไม่ต้องทำความเข้าใจให้ยุ่งยากวุ่นวาย

มนต์รักทรานซิสเตอร์ อาจตีความได้ถึงอาการลุ่มหลงใหลในเทคโนโลยี โลกยุคสมัยใหม่ ซึ่งเหมารวมถึงทัศนคติทุนนิยม โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง เมื่อได้ครอบครองสิ่งเหล่านี้ จักทำให้ชีวิตมีความมั่นคง ยืนอยู่ยง สุขสบายกายใจ

นี่คงคือความเพ้อใฝ่ฝันของพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง ด้วยสินะ! ใครกันจะไม่อยากมีชีวิตมั่นคง สุขสบาย ถ้าฉันมีเงินมากพอไม่ต้องแบกรับภาระดิ้นรนเอาตัวรอด จ่ายค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่านมลูก การสร้างผลงานศิลปะ-ภาพยนตร์ จักสามารถเต็มที่กับชีวิตได้มากกว่านี้สิบร้อยพันช้างเท่า

แต่เพราะชีวิตมันไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งใจใครใฝ่ฝัน มีผู้ประสบความสำเร็จย่อมพบอีกฝั่งล้มล่มจมเหลว โชคดี-โชคร้าย รวย-จน ล้วนเป็นผลของวงจรวัฏจักร สัจธรรมแห่งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับความทะเยอทะยานของคน ต่อให้มากล้นฟ้าขนาดไหน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องตระหนักครุ่นคิดขึ้นได้ มองหาอะไรกันคือความสุขแท้จริงบนโลกใบหนี้?

มุมมองคนส่วนใหญ่อาจเรียกจุดแห่งการย้อนกลับนั้นว่าคือ ‘ความพ่ายแพ้’ แต่นั่นคือโลกทัศนคติแย่ๆที่ถูกปลูกฝังโดยแนวคิดทุนนิยม คือมันไม่มีหรอกนะครับ ชนะ-แพ้ ในสงครามชีวิต เกิด-ตาย ต่างหากคือสัจธรรมความจริง ไม่มีใครหนีพ้น ทุกคนเท่าเทียมเสมอภาคกัน

การเปรียบเทียบของพี่ต้อม ถึงบุคคลผู้ยึดถือมั่นในโลกทัศนคติทุนนิยม แม้งชาติสัตว์หมาชัดๆ กินขี้ปี้แล้วทิ้ง ปลดปล่อยให้กระหรี่เบื้องหลังต้องรับภาระเช็ดขี้เยี่ยว กลบฝังหลุมอาจมที่ก็ไม่รู้จะขุดมาดอมดมหาทรัพย์สมบัติมีค่าอะไร … สักวันขอให้พวกแม้งประสบพบเจอเข้ากับตนเอง ‘กรรมสนองกรรม’ แล้วจะได้ซึ้งถึงบางสิ่งอย่าง ‘กินไม่ได้ ขี้ไม่ออก บอกไม่ถูก’ หรือตกลงในถังอุจจาระ อาจมมิดดิ่งสาปสูญหายไปเลยก็ดี

นี่แหละครับ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับหัวกบฎแห่งเมืองไทย ตัวจริงพี่ต้อมก็จะเหี้ยๆแรงๆ ปากหมา ตรงไปตรงมาแบบนี้แหละ ถือได้ว่าเป็น ‘ตัวเหี้ยแห่งวงการภาพยนตร์ไทย’ (นี่คำชมนะ) อุปนิสัยคล้ายๆ Jean-Luc Godard (แต่อย่าไปเทียบผลงาน/ความเป็นตำนาน) กาลเวลาอาจทำให้เปลวเพลิงภายในมอดไหม้ลงไป แต่ตอนยังลุกโชติช่วงชัชวาลย์ ส่องสว่างเจิดจรัสจ้าไปทั่วทุกถิ่นแดนไทย

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ได้ยินว่าทำเงินเกินกว่า ๒๐ ล้านบาท, คว้ามา ๓ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๔๔
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ)
– นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สิริยากร พุกกะเวส) ** คว้ารางวัล
– นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (อำพล รัตนวงศ์)
– นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (พรทิพย์ ปาปะนัย)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล

หลังจากนี้ก็ได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 2002 สาย Directors Fortnight ที่ได้รับคำนิยามว่า ‘มีทุนสร้างเพียงน้อยนิด แต่มีพลังทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่’

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนังคือ จังหวะการนำเสนอ โดยเฉพาะการเลือกบทเพลงมีความเหมาะสม สื่อความหมาย ตรงต่อสถานการณ์นั้นอย่างเปะๆ นี่ทำให้เวลามีภาษาภาพยนตร์ปรากฎขึ้นมาแล้วถ้าสามารถอ่านออก จะรู้สึกว่าพี่ต้องแม้งเจ๋งว่ะ! อยู่ในช่วงกำลังเร่าร้อนแรง ‘Hot’ สุดๆเลย

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นอกจากหวนระลึกถึงความลูกทุ่งไทย หนังยังแฝงข้อคิดที่เกี่ยวกับการไขว่คว้าโหยหาบางสิ่งอย่าง ต่อให้ออกเดินทางไปแสนไกลแค่ไหน สุขแท้จริงมักอยู่ข้างกายใกล้ตัว แค่เอื้อมมือเท่านั้นเอง

จัดเรต 13+ กับโชคชะตากรรมของตัวละคร

คำโปรย | “มนต์รักทรานซิสเตอร์ คืออัลบัมรวมเพลงลูกทุ่งของ เป็นเอก รัตนเรือง จัดจ้าน โดนใจ ฮิตอมตะแห่งศตวรรษ”
คุณภาพ | บูณ์-ไทย
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: