มหา'ลัย เหมืองแร่

มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) หนังไทย : จิระ มะลิกุล ♥♥♥♡

ณ จุดตกต่ำสุดในชีวิตของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ สอบตกโดนรีไทร์ เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา เลยถูกพ่อส่งไปทำงานกรรมกรเหมืองแร่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เรียนรู้จักความยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด กลายเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า มากยิ่งกว่าการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

มหา’ลัย เหมืองแร่ คือหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่มี’เรื่องราว’อันทรงคุณค่า แฝงข้อคิดคติสอนใจมากมาย แต่ในแง่การนำเสนอ ไดเรคชั่นของพี่เก้ง จิระ มะลิกุล เลือกเล่าแบบผ่านๆ รวบเร่งรัดตัดตอน ทำให้จับต้องอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ อาจเพราะต้นฉบับหนังสือมีความเยิ่นยาวมากๆ เลยคัดสรรแค่บางตอนดีๆมาเล่าสู่กันฟัง

ผมเองมีโอกาสรับชม มหา’ลัย เหมืองแร่ ในโรงภาพยนตร์ แต่จดจำได้ว่าตอนแรกเดินทางไปยัง SF MBK เกาหัวแครกๆ หนังเข้าโรงแล้วจริงๆนะหรือ? กลับมาห้องอย่างฉุนเฉียวตามข่าวถึงค่อยรับรู้ว่า GTH เกิดความขัดแย้งเครือ SF ต่อประเด็นการเลือกปฏิบัติ ออกแคมเปญให้ใช้บัตรนักเรียน นิสิต นักศึกษา ส่วนลด ๒๐ บาท กับหนังตลอดทั้งโปรแกรม ขณะที่หนังฝรั่งเข้าฉายในเวลาเดียวกัน กลับไม่เคยมีการใช้โปรโมชั่นลักษณะนี้มาก่อน

“โดยปกติเครือ SF จะเป็นเครือที่แฟร์กับหนังไทยมาก ผมชอบวิธีการและมาตรฐานในการบริหารของเขามาก ทีมเขาก็ดีทุกคน ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าจู่ๆทำไมถึงมาเจาะจงเลือกมหาลัยเหมืองแร่เป็นเรื่องที่ลดราคาแต่เพียงเรื่องเดียว ในขณะที่เรื่องอื่นราคาปกติ เราพยายามบอกเขาว่า ถ้าคุณใช้แคมเปญนี้กับหนังทุกเรื่อง เราไม่ว่า ทำไมคุณไม่ทำกับ SIN CITY หรือ STAR WARS บ้าง แต่นี่คุณเจาะจงหนังเรื่องนี้เรื่องเดียวเลย เราถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด”

– วิสูตร พูลวรลักษณ์

แคมเปญแบบนี้จริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรหรอกนะ แต่ประเด็นคือ SF ออกแผนการตลาดดังกล่าวโดยไม่ปรึกษา GTH ล่วงหน้าก่อน พอมารับล่วงรู้ทีหลังจึงกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของผู้สร้างภาพยนตร์ ยินยอมรับไม่ได้! ซึ่งนี่ย่อมคือหนึ่งในสาเหตุผลทำให้หนังขาดทุนย่อยยับเยิน เพราะคนตั้งใจมาดูยังโรง SF พอไม่เห็นโปรแกรมก็ถอดใจ หาเรื่องอื่นรับชมแทนดีกว่า

หวนกลับมารับชมรอบนี้ผมครุ่นคิดตั้งคำถาม หนังจะยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้บ้างหรือเปล่า? ลึกๆโดยสันชาตญาณรู้สึกว่าไม่อีกต่อไปแล้วนะ พ่อ-แม่สมัยนี้เลี้ยงลูกแบบ ‘ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม’ เอ็นดูทะนุถนอมจนเสียผู้เสียคน เติบโตขึ้นด้วยความหลงใหลคลั่งไคล้วัตถุนิยม เด็กๆชาวเมืองกรุงฯไม่มีวันไปตากแดด ลุยโคลน คลุกขี้เลน ทำงานเหน็ดเหนื่อยยากลำบากได้แน่ และยุคสมัยนี้มีร้อยพันแปดวิธีเอาตัวรอดอื่นๆ บทเรียนความทุ่มเทพยายามของ มหา’ลัย เหมืองแร่ จึงแทบด้อยคุณค่า หมดสิ้นความหมายไปตามกาลเวลา

ถึงกระนั้นก็ยังขอแนะนำ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว กำลังมีลูกหลานเติบโตก้าวย่างเข้าสู่วัยรุ่น การจะสั่งสอนพวกเขาให้รับรู้เห็นถึงคุณค่าความหมายชีวิต สมควรนำพาให้ไปพบเจอทุกข์ยากลำบากเข้ากับตนเอง -ไม่จำว่าเป็นต้องส่งไปเป็นกรรมกรใช้แรงงานนะครับ- ซึ่งหลังจากผ่านประสบการณ์ดัวกล่าว บทเรียนไม่ว่าคืออะไร เชื่อว่าจักจดจำฝังใจตราบจนวันตาย

ต้นฉบับของ มหา’ลัย เหมืองแร่ คือเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ จำนวน ๑๔๒ ตอน ผลงานประพันธ์ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๕๖๑) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

อาจินต์ เกิดที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรชายของขุนปัญจพรรค์พิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) อดีตนายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เคยเป็นข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และข้าหลวงจังหวัดนครปฐม, โตขึ้นสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๒ เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ต้องหยุดเรียนหลายเดือน เมื่อหวนกลับมาเปิดเทอมใหม่ ความรวดร้าวทุกข์ระทมยังไม่หมดสิ้นไป ทำให้อาจินต์หมดอาลัยไม่อยากศึกษา เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมากลายเป็นเด็กเสเพล จนสอบตกถูกรีไทร์ บิดาจึงส่งไปดัดสันดาน ทำงานหนักยังเหมืองแร่เรือขุดธาตุดีบุก ‘กัมมุนติง’ (Kammunting Tin Dredging) อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เริ่มต้นตำแหน่งฝึกงานช่างตีเหล็ก ค่าจ้างวันละ ๖ บาท ต่อมาย้ายสู่เหมืองกระโสม (Krasom Tin Dredging) งานเขียนแบบเงินเดือน ๕๐๐ บาท และช่างทำแผนที่ ๘๐๐ บาท

ด้วยความรักในการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก สนใจข่าวสารจากสื่อต่างๆ รวมถึงวรรณกรรม นวนิยาย ตอนเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ เขียนเรียงความเรื่องโรงโขนหลวง ส่งไปลงหนังสือสุวัณณภูมิ, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เขียนบทความ/เรื่องสั้น ลงในหนังสือฉุยฉาย (รายสัปดาห์), ชวนชื่น (รายสัปดาห์), ซึ่งระหว่างไปทำงานเหมืองก็ยังไม่ว่างเว้น ส่งเรื่องสั้นสีชมพูยังไม่จาง ฝากให้น้องสาวนำลงหนังสือมหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์)

เมื่อเหมืองแร่เลิกกิจการ พ.ศ. ๒๔๙๖ เดินทางกลับกรุงเทพฯ มุ้งมั่นเลือกเส้นทางเป็นนักเขียนเต็มตัว จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๘ สร้างตำนานให้กับวงการหนังสือ ด้วยการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองชื่อ โอเลี้ยงห้าแก้ว เขียนเอง-พิมพ์เอง-ขายเอง เริ่มจากรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ภาคตะลุยเหมืองแร่ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ได้รับการจัดอันดับ “๑ ใน ๑๐๐ หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน” จากการคัดเลือกของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้คำชมถึงความเป็นเพชรเม็ดใหญ่ในวงวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็จะพบวาวแววของความล้ำลึกทางความคิด ความประณีตของภาษาในความเรียบง่ายของถ้อยคำ ดังตัวอย่างการบรรยายฉากให้ได้บรรยากาศสมกับเนื้อเรื่องด้วยมุมมองที่ต่างกันไป ในร้านกาแฟ/ร้านเหล้า อาจินต์เขียนว่า

“เราเป็นพวกซุนยัดเซ็น คือหัวซุนกันมา มาแล้วก็ยัดๆๆๆ ยัดแล้วก็เซ็นเอาไว้ สมุดบัญชีคือข้างฝา ตัวเลขเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ออกลูกออกหลานแพร่พันธุ์ได้เร็ว มันเต็มฝากระดานแล้วลามขึ้นไปตามเสา ยิ่งสูงเราก็ยิ่งแหงนดูมันด้วยความท้อแท้ ”

– จากเหมือนแร่ ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๐๓

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้สร้างภาพยนตร์หลายรายติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ แต่อาจินต์ไม่ยินยอมขาย มิต้องการให้ใครนำมาสร้างเป็นหนังแอ็คชั่น! จนกระทั้ง จิระ มะลิกุล ติดต่อไป

“เหมืองแร่ เป็นหนังสืออีโมชัน มันเกิดจากมันสมอง และความโฮมซิกของผม ไม่มีแอ็กชันทางการแสดง แต่นายเก้งเขาบอกว่ามี ผมถามเขาว่าแอ็กชันคืออะไร เขาบอกผมว่า ฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืน แอ็กชันของมันคือถนนขาด สะพานพังต้องทำใหม่ และเรือขุดจมนั่นคือสุดยอดแอ็กชัน ทันทีที่ผมได้ฟังก็รู้สึกว่าเขาเล็งลึก ไอ้ผมมันเล็งแต่ตัวหนังสือ เขาเล็งการกระทำ เขามองอย่างนัยน์ตานักสร้างหนัง”

– อาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้สัมภาษณ์กับ The Standard

ด้วยความประทับใจดังกล่าว จึงเกิดความเชื่อมั่นยินยอมมอบลิขสิทธิ์ดัดแปลงให้ ซึ่งระหว่างนั้นก็ยังได้ให้คำปรึกษาชี้แนะ โดยเฉพาะรูปร่างหน้าตาของเรือขุด ทั้งยังเดินทางไปให้กำลังใจทีมงานยังกองถ่าย (พบเห็นภาพใน Ending Credit ทำให้มีโอกาสพบเจอลูกน้องเก่า นายไข่)

จิระ มะลิกุล (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๔) ชื่อเล่นเก้ง ผู้กำกับ ถ่ายภาพ โปรดิวเซอร์ชาวไทย จบการศึกษาโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานในวงการจากกำกับ Music Video หลังจากได้รับการยอมรับหันไปทำงานโฆษณา เปิดบริษัท หับ โห้ หิ้น บางกอก จากนั้นเริ่มสร้างภาพยนตร์ เขียนบท/ถ่ายภาพ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), กำกับเองเรื่องแรก ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕) และ มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘)

“เป็นหนังสือเล่มเเรกๆที่ได้อ่าน เเล้วเกิดความประทับใจจนกระทั่งผมเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมเริ่มเข้าใจคำว่าพิสูจน์ศักดิ์ศรี หรือคำว่าอดทนกับการทำงาน ผมเริ่มเข้าใจคำว่าภาคภูมิใจ ผมเริ่มเข้าใจมันหมายถึงอะไร จนเเอบอุทานกับตัวเองว่า เฮ้ย…นี่มันชีวิตกูเเท้ๆ เลยนี่หว่าเเปลกที่มันเป็นความรู้สึกที่ผมสัมผัสได้ ทั้งๆ ที่ในหนังสือเรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

– จิระ มะลิกุล

เนื่องจากลักษณะของ ‘เหมืองแร่’ คือเรื่องสั้นจบสมบูรณ์ในตอน เนื้อหาไม่ได้มีลำดับต่อเนื่อง แถมตัวละครยังมากมายหลายหลักสิบ ซึ่งนั่นไม่เหมาะสมเท่าไหร่กับการนำมาสร้างภาพยนตร์ ด้วยเหตุนี้พี่เก้งจึงนำเอาระยะเวลา ๓ ปี ๑๑ เดือน ที่อาจินต์ทำงานกรรมกรเหมืองเป็นที่ตั้ง เลือกนำเฉพาะตอนสำคัญๆ ตัวละครเด่นๆ แฝงซ่อนเร้นสาระ ร้อยเรียงเข้ามาให้สามารถดำเนินเรื่องราวไปข้างหน้าได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย

เรื่องราวเริ่มต้น พ.ศ. ๒๔๙๒, อาจินต์ ปัญจพรรค์ (พิชญะ วัชจิตพันธ์) วัย ๒๒ ปี นิสิตชั้นปีที่สองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย บิดาส่งเขามุ่งสู่ภาคใต้ไปทำงานที่เหมืองกระโสม ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา หลังจากได้พบ สัมภาษณ์งานกับนายฝรั่ง (Anthony Howard Gould) เริ่มทำงานกรรมกรแรงงาน

ปีแรก, เรียนรู้การปรับตัวจากเด็กกรุงเทพฯ สู่ชีวิตกรรมกร ต้องหัดหุงข้าวทำอาหารด้วยตัวเอง ลดทิฐิ อัตตา อคติ เพื่อเข้าสังคมการทำงาน หลังจากได้เริ่มไปช่วยงานยังเรือขุด ค้นพบสิ่งที่ร่ำเรียนจากในตำราแตกต่างจากการทำงานจริงอย่างมาก และสุดท้ายเจอบททดสอบจิตใจจากนายฝรั่ง เมื่อขอให้จับคนร้ายขโมยหินแร่กลับพบว่าคือฝีมือพวกพี่ๆในเหมือง ระหว่างความซื่อสัตย์สุจริตกับขายชาติผืนแผ่นดิน ยื่นใบลาออกแต่ได้รับแจ้งว่าสอบผ่าน “กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว ยากช่างหัว ตายปลด”

ปีสอง, ได้ลูกน้องคนสนิทชื่อไอ้ไข่ (สนธยา ชิตมณี) ผู้สร้างรอยยิ้มและคอยช่วยเหลืองานในเวลาเดียวกัน ได้งานใหม่เป็นช่างทำแผนที่ หลังจากได้จนหมายจากแฟนเก่าคือการ์ดแต่งงาน กินเหล้าเมาซึม เขียนข้อความบนกำแพง “อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอด อนาคตต้องตาย” ซึ่งตาแดง (จรัล เพ็ชรเจริญ) ได้ปรับเปลี่ยนข้อความตอนท้ายให้ใหม่ “อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอดทน อนาคตต้องตาย”

ปีสาม, อาจินต์ ใช้ชีวิตการทำงานอย่างเต็มที่ เริ่มหลงใหลไปกับการดื่มเหล้าเมามายคลายเหงา ติดหนี้หัวบานแทบไม่หลงเหลืออะไร ขณะเดียวกันก็ได้พบรักใหม่กับหญิงสาวชาวบ้านแถวนั้น ช่วงท้ายเมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลาก กระแสน้ำเชี่ยวกรากข้ามมาเกือบเอาตัวไม่รอด เป็นเหตุให้ไม้วัดติดขัดเอาไม่ออก กลัวว่าจะโดนนายฝรั่งตำหนิต่อว่า แต่การโอบกอดด้วยรอยยิ้มกำลังใจ “ดีแล้วที่เอาชีวิตรอดมาได้” ซื้อใจเขาได้เป็นอย่างดี

ปีสี่, เกิดปัญหาในเหมืองเมื่อเรือขุดหาแร่ไม่พบ อาจินต์ค้นพบว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากการบันทึกตัวเลขในแผนที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบใหญ่โตขนาดว่านายเรือคนเก่าลาออกไปได้คนใหม่มา ทีแรกไม่ยินยอมรับแต่ภายหลังก็จำต้องนับถือน้ำใจ แม้การทำงานจะราบรื่นไปเรื่อยๆแต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องจบสิ้นลง เมื่อเรือขุดพังสายพานพังจนไม่คุ้มต่อการซ่อมแซม เป็นเหตุให้เหมืองต้องปิดตัวลง ร่ำลาจากพรรคพวกเพื่อนร่วมงาน นายฝรั่ง ไอ้ไข่ เก็บความทรงจำทั้งหลายไว้เป็นบทเรียน

เนื่องเพราะหนังต้องเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่ค่อนข้างห่างไกล อาจใช้ระยะเวลานาน แถมยังต้องคลุกขี้โคลนเลน กินอยู่ยากลำบาก ถ้าเลือกนักแสดงมีชื่อราคาแพง คาดว่าคงได้ยุ่งวุ่นวาย แถมภาพลักษณ์เชื่อถือได้ยากอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับเลยคัดเลือกสรรค์นักแสดงสมัครเล่น/หน้าใหม่ ไม่เน้นฝีมือ หลายคนเล่นเรื่องเดียวออกจากวงการไปเลย

พิชญะ วัชจิตพันธ์ ชื่อเล่น บี ตอนแสดงหนังเรื่องนี้กำลังศึกษาปีที่สาม คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา University of California Santi Cruz (นี่ไม่ใช่นักเรียนกรุงฯ แต่คือนักเรียนนอก) ไปๆกลับๆเมืองไทย งานอดิเรกเรียนการแสดงกับครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ แนะนำให้มาแคสติ้งจนได้รับเลือก หลังจากนี้กลับไปเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาปริญญาโท กลายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และแบ่งเวลาว่างมาดูแลเรือนเพาะชำต้นกระบองเพชรขาย

รับบทอาจินต์ ปัญจพรรค์ หนุ่มหน้าซื่อๆหัวใจบริสุทธิ์ ภาพลักษณ์ไม่ค่อยเหมือนคนสำมะเลเทเมาเท่าไหร่ แต่มีความตั้งมั่นจะทุ่มเทตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็ง พลิกฟื้นตัวเองขึ้นจากจุดตกต่ำสุดของชีวิต ให้สามารถก้าวยืนด้วยลำแข็งสองขาของตนเอง

อย่างที่บอกไปว่าการแสดงไม่ได้เน้นลีลาฝีมือ หรือความเหมือนอาจินต์ตัวจริง แต่คือเลือกจากภาพลักษณ์ของพิชญะ คล้ายคลึงนักเรียนกรุงฯ (นักเรียนนอก) หน้าตาสดใสซื่อ ดวงตาไร้ความประสีประสา แม้ทำอะไรผิดพลาดมากมายแต่ด้วยความอ่อนน้อมจึงได้รับความรักเอ็นดูช่วยเหลือจากทุกคน และยกย่องชื่นชมในความซื่อสัตย์จากใจจริง คนแบบนี้หายากแท้ในปัจจุบัน

สนธยา ชิตมณี (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๑) ชื่อเล่น สน เกิดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นที่รู้จักแรกเริ่มในนาม ‘สน The Star’ ชนะเลิศการแข่งขันเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปี ๑ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ออกอัลบั้ม สนคนคว้าดาว, สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), กลายเป็นขาประจำของ ก้องเกียรติ โขมศิริ อาทิ ไชยา (พ.ศ. ๒๕๕๐), เฉือน (พ.ศ. ๒๕๕๒), อันธพาล (พ.ศ. ๒๕๕๕), ขุนพันธ์ (พ.ศ. ๒๕๕๙) ฯ

รับบทไอ้ไข่ ลูกน้องและเพื่อนสนิทของอาจินต์ เป็นคนที่ชีวิตเต็มไปด้วยรอยยิ้มแย้ม ไม่ค่อยทุ่มเทตั้งใจทำงานสักเท่าไหร่ แต่มีความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา แล้วไม่รู้ไปทำอีท่าไหนแก่งแย่งชิงสาวสวยมาครอบครอง

ด้วยรูปร่าง ท่าทาง ลีลา รอยยิ้ม ชอบหยอกล้อเล่น ว่าไปดูเหมือนเงาะป่า (แต่สีผิวไม่เข้มเท่า) สนธยาถือว่าออกมาแย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ ‘รุ่นน้องผู้น่ารัก’ แต่ก็แค่นั้นละครับ ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านี้

ถ่ายภาพโดยพี่แดง ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ แห่งบริษัท The Film Factory ขาประจำของ เป็นเอก รัตนเรือง ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), โอเคเบตง (พ.ศ. ๒๕๔๖), ฝนตกขึ้นฟ้า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ

หนังถ่ายทำ ณ จังหวัดพังงา แต่ไม่ใช่อำเภอตะกั่วทุ่งตามพื้นหลังของเรื่องราว ไปค้นพบสถานที่เหมาะสมกว่ายังอำเภอคุระบุรี การเดินทางสมัยนั้นยังค่อนข้างลำบากทีเดียว และกว่าจะสร้างเรือขุดเสร็จก็ทำให้โปรเจคล่าช้าไปหลายเดือนทีเดียว

การสร้างเรือขุดเหมืองถือเป็นสิ่งท้าทายทีมงานออกแบบมากๆโดย เอก เอี่ยมชื่น (๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง, นางนาก, ฟ้าทะลายโจร, ปืนใหญ่จอมสลัด) เนื่องเพราะไม่สามารถค้นพบต้นแบบแปลนของเรือ พบเห็นเพียงจากภาพถ่ายเก่าๆ จึงต้องประติดประต่อจินตนาการขึ้นเองทั้งหมด เริ่มจากวาดภาพร่าง สร้างโมเดลจำลอง ซึ่งก็ได้ขอคำปรึกษาจาก อาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้ความช่วยเหลือเต็มที่จนผลลัพท์มีความใกล้เคียงของจริงอย่างมาก

อีกอย่างหนึ่งของความท้าทายในฉากไคลน์แม็กซ์ สายพานขุดแร่จะต้องถล่มพังทลาย แม้นี่เป็นสิ่งครุ่นคิดเตรียมการไว้ก่อนแล้ว แต่สถานการณ์จริงไม่มีใครคาดคิดถึงเรื่องน้ำหนัก หรืออันตรายถ้าเกิดความผิดพลาด ดูจากคลิปเบื้องหลังเห็นทุกคนกระโดดน้ำหนีตายกันอย่างพร้อมเพรียง

แซว: ที่ผมได้ยินในเบื้องหลัง บอกว่าเรือขุดลำนี้สร้างขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า ๗ ล้านบาท แต่เชื่อว่ารวมๆแล้วอาจไต่ไปถึง ๑๐ ล้านบาท ดั่งที่ตัวละครโม้ไว้จริงๆก็ได้

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพ มุ่งเน้นการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อย ยิบย่อยเต็มไปหมด แต่ละช็อตความยาวไม่มาก นักแสดงแค่เคลื่อนไหวทำโน่นนี่นั่นประกอบฉาก มิได้ต้องแสดงเค้นอารมณ์อย่างสมจริงจัง

ขณะที่ระยะภาพนั้นมีความหลากหลาย แต่สังเกตได้ว่าจะมีวิวัฒนาการกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยถ้าเป็นปีแรกๆจะเน้น Medium Shot เป็นส่วนใหญ่ พอสักปีสามกอดคอเมาเรียงแถวยาว ๔-๕ คน ขับร้องเพลง You are my sunshine. ยัดเยียดทุกคนร่วมหัวจมท้ายในเฟรมเดียว

เมื่อไหร่ที่ Establish Shot ปรากฎขึ้น มักเป็นภาพมุมกว้าง วิวทิวทัศนียภาพสวยๆ ธรรมชาติป่าเขา ปกคลุมด้วยหมอกหนา หรือเรือขุดแร่ทั้งลำ พบเห็นตั้งแต่เช้า-กลางวัน-เย็น-กลางคืน และย้อนแสงช็อตนี้งดงามไร้ที่ติ

ตัดต่อโดย ปาน บุษบรรณ เห็นร่วมงานกับพี่เก้งสองครั้ง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕) กับ มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), ล่าสุดคือหนึ่งในผู้ถือหุ้น GDH 559

หนังเล่าเรื่องด้วยมุมมองของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ด้วยเสียงบรรยายจากความครุ่นคิด/ทรงจำ/จดบันทึก หลายครั้งพูดออกมาในเชิงเปรียบเทียบ การทำงาน-ความรู้ในมหาวิทยาลัย และขึ้นข้อความ ปี ๑ – ปี ๔ บ่งบอกถึงกาลเวลาดำเนินเคลื่อนไป

สำหรับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ทำให้สามารถแบ่งออกเป็นตอนๆที่แฝงข้อคิดซ่อนเร้นอยู่มากมาย แต่ผมจะขอแยกแยะตามตัวละครดีกว่า จักได้พบเห็นมุมมองแตกต่าง
– นายฝรั่ง, เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ น้ำจิตน้ำใจงาม ชอบให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผลักดันผู้อื่น เมื่อสนิทสนมชิดเชื้อก็คุยง่าย ร่วมวงเมาปลิ้นด้วยกันบ่อย สามารถซื้อใจได้ทุกคน
– พี่จอน (นิรันต์ ชัตตาร์), หัวหน้านายเรือที่แม้เป็นคนไม่มีอนาคตเท่าไหร่ แต่ชอบวางมาดเท่ห์ทุกสถานการณ์ จักได้สามารถทีเล่นทีจริงกับลูกน้อง และทุ่มเทในการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
– ไอ้ไข่, ชีวิตแม้จะเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากขนาดไหน ยิ้มไว้แล้วจะมีความสุข
– โกต้อง (จุมพล ทองตัน), พ่อค้าหัวใสบ้าเลือดที่วันๆสนแต่เงินทอง ผลประโยชน์ส่วนตนเอง กระนั้นลึกๆแล้วก็ไม่อยากให้ใครต้องมาเดือดร้อนถึงขั้นเป็นตายเพราะตนเอง (ก็ยังมีความเป็นคนหลงเหลืออยู่บ้าง)
– ตาแดง, แก่แล้วไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความพึงพอเพียงในชีวิต ให้คำแนะนำดีๆ ช่วยเหลือลูกหลานบ้างบางครั้งครา
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖) ฯ

เรื่องนี้เหมือนจะไม่ได้แต่งเพลงขึ้นใหม่ อย่าง Main Theme เรียบเรียงจาก Short Trip Home บทเพลง Classical Chamber Music แต่งโดย Edgar Meyer บรรเลงโดย Joshua Bell (ไวโอลิน), Edgar Meyer (เบส), Sam Bush (ไวโอลิน), Mike Marshall (กีตาร์)

แซว: หนังสูญเงินไปเยอะกับค่าลิขสิทธิ์เพลง โดยเฉพาะ You are my sunshine น่าจะหลักล้านเลยกระมัง! (ค่าลิขสิทธิ์เพลงต่างประเทศ แพงกว่าของไทยมากๆนะครับ)

ลองเทียบความแตกต่างกับ Main Theme ที่ใช้ Orchestra เต็มวง เริ่มต้นด้วยเครื่องสายสร้างสัมผัสชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก จมปลักอยู่กับความมืดมิด ตามด้วยเปียโนจุดประกายแห่งความหวัง กระหึ่มขึ้นพร้อมกันนั่นคือแสงสว่างแห่งโลกใบใหม่ ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสกว่าวันวาน

ผมรู้จักบทเพลง You are my sunshine (1939) แต่งโดย Jimmie Davis และ Charles Mitchell จากครูสอนภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนมัธยม ‘จานแกชอบร้องเพลงนี้มาก แถมพกกีตาร์ติดตัวมาด้วยในห้องเรียน สิ้นปีนั้นโรงเรียนจัดทริปไปขึ้นเขาค้างขึ้น กิจกรรมรอบกองไฟแน่นอนว่าไม่พลาด ถึงจะจดจำชื่อท่านไม่ได้แล้ว แต่ก็ตราฝังลึกบทเพลงนี้อยู่ในใจมิรู้ลืมเลือน

นำฉบับขับร้องโดย Jimmie Davis มาให้รับฟังกัน

มหา’ลัย เหมืองแร่ นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘มุมมอง’ ของการใช้ชีวิต ประสบการณ์เท่านั้นเป็นสิ่งขัดเกลา เสี้ยมสั่งสอนคนให้กลายเป็นคน เติบโตจากเด็กน้อยไร้เดียงสา สู่ผู้ใหญ่ที่มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ต่อตนเอง-ผู้อื่น และได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน สังคม ประเทศชาติ

การร่ำเรียนจากตำราทำให้เรามีความรู้พื้นฐาน สำเร็จการศึกษา ปริญญาคือใบเบิกทางแรกสำหรับชีวิตทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแทบทุกสถาน/บริษัทจะบอกให้ ‘โยนทุกสิ่งอย่างที่ติดตัวมาทิ้งไป’ เพราะโลกความจริงมันมักแตกต่างจากในหนังสือหนังหาโดยสิ้นเชิง

เฉกเช่นนั้นแล้วเราจะเรียนหนังสือไปทำไม ไม่เริ่มต้นที่การทำงานเลยละ? การศึกษาเป็นสิ่งบ่งชี้วัดสติปัญญาเบื้องต้นของมนุษย์ สามารถใช้แบ่งแยกคนฉลาด-ปานกลาง-ทึมทื่อ ค้นหาความชื่นชอบสนใจจักได้มุ่งไปทางนั้น ทั้งยังฝึกทักษะแก้ปัญหาทั่วไปเฉพาะหน้า กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุผลรองรับ

โลกยุคสมัยนี้บุคคลที่ขาดความรู้พื้นฐาน ถือว่าเป็นผู้เสียเปรียบคนอื่น จริงอยู่การศึกษาอาจไม่ได้สอนอะไรมากในสายงานเฉพาะทาง แต่ก็ทำให้พวกเขาไม่ได้ต้องเริ่มต้นจากศูนย์นับหนึ่งถึงร้อย การเริ่มต้นที่สิบยี่ยิบ ดั่งสำนวน ‘เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’ แทนความหมายนี้ได้เลย

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญสุดของการทำงาน ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะความรู้หรือประสบการณ์ที่เรามี แต่ยังคือการเข้าสังคม และทัศนคติในการใช้ชีวิต
– แทบทุกอาชีพการงานในโลกต้องติดต่อพูดคุยสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นการเข้าสังคมถือว่ามีความจำเป็นมากๆ แม้ในบริบทของหนังเรื่องนี้ อาชีพกรรมกรมักเวียนวนอยู่กับอบายมุข สุรา นารี การพนันขันต่อ ก็ถือเป็นโลกที่ถ้าเราอาศัยอยู่ก็จำต้องล่องตามน้ำ ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ แต่แค่ระดับยินยอมรับได้ก็เพียงพอ สามารถตื่นเข้าลุกขึ้นไปทำงานต่อ รับผิดชอบภาระหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง
– สำหรับทัศนคติการใช้ชีวิต คือสิ่งที่เราอยากแสดงออกต่อผู้อื่น อาทิ นายฝรั่งชื่นชอบแจกเงินให้ชาวบ้าน เด็กๆเอาไปซื้อเสื้อผ้า สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ไร้การงาน, ไอ้ไข่ ไม่ว่าจะสุขทุกข์ก็ยังยิ้มแย้มอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดีเป็นบ้า, พี่จอน ข้าขอเท่ห์ระเบิดเถิดเทิงไว้ก่อน เกียรติ ศักดิ์ศรี ลูกผู้ชาย ฆ่าได้หยามไม่ได้ ฯ สิ่งเหล่านี้เราสามารถค่อยๆซึมซับ เรียนรู้เลียนจากตัวแบบอย่าง ไอดอลพบเห็นแล้วชื่นชอบประทับใจ หาจุดเหมาะสมปรับประยุกต์เข้ากับตัวเราเอง

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ คือมุมมองของคนชนชั้นกลาง-สูง ต่อการต้องลดตัวลงไปใช้แรงงานกรรมกร ซึ่งถือเป็นอาชีพของชนชั้นล่าง ต่ำต้อยสุดในสังคม นี่ไม่ได้จะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม หรือชี้นำการแบ่งแยก แต่จะบอกว่าถ้าเรามองหนังในมุมกลับตารปัตร จะพบเห็นหลายๆอย่างคาดคิดไม่ถึงทีเดียว

ไอ้เด็กหนุ่มเมืองกรุง สำออย สำอาง หน่อมแน้ม ทำอะไรไม่ค่อยเป็น เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี ข้าวปลาหุงหาช่วยตนเองไม่ได้ มาเหน็ดเหนื่อยตรากตำ จะทนได้กี่ข้าวน้ำปลา, สังเกตว่า เริ่มต้นมาด้วยความดูถูกหมิ่นแคลนไม่แตกต่างกัน

เออไอ้นี่มันก็พอทำงานได้ อึดอดทน ไม่ย่นย่อท้อแท้ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็พร้อมสู้ เหลือแค่ลองวัดใจมันดู ลูกผู้ชายตัวจริงหรือเปล่า, ช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ใจคน ก่อนยินยอมรับนับถือเข้าพวกเดียวกัน

ลูกผู้ชายมันต้องแบบนี้ ทำอะไรต้องให้ถึงที่สุด ด้วยความตั้งมั่นใจ แน่วแน่เด็ดเดี่ยว ไม่หวาดกลัวเกรง และเมื่อเกิดอุปสรรค์ปัญหา สามารถเสียสละตายแทนกันได้, นี่คือมิตรภาพที่แสดงออกมาด้วยความจริงใจ ดั่งพี่น้องร่วมสายเลือด ครอบครัวเดียวกัน

นี่ถือได้ว่า มหา’ลัย เหมืองแร่ มีเรื่องราวที่สะท้อน เข้าถึงวิถีชีวิตคนชนชั้นล่างได้ถึงแก่นสาระ กับคนที่ปัจจุบันคงเป็นกรรมกร หรือก้าวข้ามผ่านพ้นชนชั้นไปแล้ว นี่คือสัมผัสของความหวนระลึกถึง ‘Nostalgia’ โหยหาแต่เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากหวนกลับไป ให้มันเป็นบทเรียนวันนี้ สู่พรุ่งนี้ที่สดใสกว่าวันวานก็เพียงพอแล้ว

ศักดิ์ศรี ความอดทน และภาคภูมิใจ คงคือสามสิ่งที่พี่เก้ง จิระ มะลิกุล ถ่ายทอดลงมาใส่ภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความจำเป็นของชีวิต ควรต้องมีสามอย่างครบนี้ถือว่าคือ ลูกผู้ชายจริง!

แต่ว่าไปก็เฉพาะผู้ชายเท่านั้นจริงๆนะ หนังทั้งเรื่องพบเห็นผู้หญิงเพียง ๑ – ๒ คนครึ่ง ในมุมของสาวๆคาดเดาว่าคงได้รับบทเรียนความทุ่มเทพยายาม มุมานะ ไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนาม แรงบันดาลใจในการต่อสู้ใช้ชีวิต และอาจจดจำเป็นบทเรียน ไม่คบหาบุรุษผู้สำมะเลเทเมา หรือส่งเสริมให้ลูกหลายร่ำเรียนวิศวะ (เพราะสังคมนี้มันแบบว่า …)

ข้อคิดสุดท้ายของหนัง อย่าปล่อยให้ชีวิตตกต่ำต้อยจนกลายเป็นแบบ อาจินต์ ปัญจพรรค์ สำหรับวัยรุ่นอย่างน้อยตั้งใจร่ำเรียนหนังสือให้จบเพื่อว่าจะได้มีโอกาส แต่ถ้าไม่ชอบด้านนี้แล้วมองเห็นช่องทางอื่นเอาตัวรอด ก็ขออย่าให้ต้องเป็นภาระต่อผู้อื่นก็พอ สามารถพึ่งพาตนเองได้ อายุ ๓๐ ถ้ายังแบมือขอตังพ่อ-แม่ ก็รีบๆตระหนักรู้ให้จงได้ ไม่เช่นนั้นแก่ตัวไปหางานทั่วไปทำไม่ได้แล้ว สุดท้ายคงต้องเลือกระหว่างกรรมกรแบกหาม ขอทาน หรือบวชพระละทางโลก

ด้วยทุนสร้างสูงถึง ๗๐ ล้านเหรียญ เข้าฉายเพียง ๑๐ วัน ทำเงินได้เพียง ๑๙ ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน กระนั้นก็ได้เข้าชิง ๑๒ สาขา คว้ามา ๖ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๕๔๙
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (พิชญะ วัชจิตพันธ์)
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (สนธยา ชิตมณี) ** คว้ารางวัล
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Anthony Howard Gould)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– กำกับภาพยอดเยี่ยม
– ลำดับภาพยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบในส่วนของเนื้อเรื่องราว แฝงข้อคิดอันทรงคุณค่า ภาพถ่ายสวยๆ และบทเพลงประกอบเพราะๆ และ You are my sunshine. น้ำตาไหลทุกครั้งที่ได้ยิน

ด้วยความยาวของหนังสือ มหา’ลัย เหมืองแร่ ผมคิดว่าดัดแปลงสร้างเป็นซีรีย์ น่าจะมีคุณประโยชน์มหาศาล เพราะจักสามารถเก็บตกรายละเอียดเนื้อหา ผู้ชมเกิดความสัมพันธ์ต่อเรื่องราว/ตัวละครได้แนบแน่นแฟ้นกว่า

จัดเรต ๑๘+ กับความสำมะเลเทเมา ดื่มเหล้าดั่งน้ำ เมาการพนัน ใช้กำลังชกต่อยตีแก้ปัญหา

คำโปรย | “มหา’ลัย เหมืองแร่ มีเรื่องราวอันทรงคุณค่า แต่ไดเรคชั่นของ จิระ มะลิกุล ไม่ได้ทำให้ผู้ซึ้งซาบซ่านกับใจความหนังสักเท่าไหร่”
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | แค่ชื่นชอบ

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ในอีกแง่หนึ่ง นี่ก็เป็นหนังที่ Romanticize ความยากลำบาก ให้ดูเป็นเรื่องการผจญภัยเช่นกัน ทั้งในความรู้สึกส่วนตัว และตัวคนเขียน อาจินต์เอง กับเพื่อนนักเขียน ก็คิดเช่นนั้น (เพื่อนนักเขียนคนนั้นเคยเล่าในงานภาพยนตร์สนทนา รำลึกอาจินต์ ปัญจพรรค์ ของหอภาพยนตร์)

โทน/สไตล์ของหนัง มันทำเรื่องราวการเกกมะเหงกเกเร (ติดหญิง ไม่สนใจเรียน จนถูกรีไทร์) ของวัยรุ่นคนนึง จนพ่อส่งไปดัดสันดานที่แดนลับแลไกลปืนเที่ยง ให้กลายเป็นเรื่องราวการผจญภัย-มิตรภาพ-ลูกผู้ชาย-ฯลฯ ไป ถึงแม้ว่ามันจะถูกกล่าวถึง แต่มันแทบจะถูกกลบด้วยกลิ่นอายแห่งความ Nostalgia, Romance, Adventure ไปซะหมด (ดูฟีดแบคจากคนดูเอาก็ได้ แทบจะเกือบ 100% เห็นไปในทางอย่างว่ากันหมด ความลำบากมันช่างหอมหวานน่าพิศมัย [เมื่ออยู่ในหนัง])

อย่างในความจริง ช่วงปีแรกก่อนจะมาเหมืองกระโสม อาจินต์ (ตัวจริง) ทำงานเหมืองนึงก่อน แล้วทำงานหนักจนเส้นเลือดฝอยแตก ไอเป็นเลือด อยู่ได้ไม่ถึงเดือนต้องไปนอนพักรักษาตัวที่ รพ. ซึ่งหนังจะไม่แสดงให้เห็น

ซึ่งคนเขียนกับเพื่อนนักเขียน มองว่าสาส์นจริงๆ ของบทประพันธ์ (หรือก็คือเรื่องของตัวเอง) ควรเป็นอุทาหรณ์ให้แก่คนรุ่นหลังว่า “อย่าทำตัวแบบอาจินต์” แต่หนังพลิกกลับตาลปัตรเจตนานั้นจนกลายเป็นแนวผจญภัยอย่างว่าไปหมด คนดูน้อยคนมากที่จะตระหนักถึงจุดนี้ ว่าที่อาจินต์มาอยู่จุดๆนี้เพราะทำตัวยังไง, งานของจริงมันโคตรโหดโคตรลำบากขนาดไหน และที่สำคัญ เรื่องนี้นี่มันคือการส่งไปดัดสันดานของพ่ออาจินต์นะ

คนเขียนเองก็เคยพูดไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีเหมือนอาจินต์”
ซึ่งก็ตามนั้นเลย ในเรื่องนี่คือ พระเอกแมร่งโคตรโชคดีไปหมด เจอแต่คนดีๆ ที่หนักๆล้วนเป็นเรื่องปัญหาทางกายภาพทั้งนั้น แต่บรรดาผู้คนแวดล้อมนี่มันฟรุ้งฟริ้งสุดๆ ออกไปในทางโลกสวยเลยด้วย ทุกคนพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนพระเอกกันหมดทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ตั้งแต่ระดับบนมาล่าง (อย่างไอ้การลองใจเรื่องแอบขโมยของ เกิดนั่นไม่ใช่ลองใจ แต่เป็นของจริงขึ้นมา โดนเก็บเสียบพุงกะทิไส้ไหลขึ้นมานี่ตายอย่างหมาเลยนะ) ซึ่งมันไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีแบบพระเอกจริงๆ (ไปไม่รอด/ปางตาย/ถึงปางตายก็มีมาก)

ก็เป็นอีกแง่มุมนึง ซึ่งเป็นแง่มุมใหญ่ที่หนังกลบซะหมด และคนดูก็มองข้ามซะเกือบหมดด้วยเช่นกัน

%d bloggers like this: