สวรรค์มืด (พ.ศ.2501)
: รัตน์ เปสตันยี ♥♥
หนังไทยคลาสสิคเรื่อง ‘สวรรค์มืด’ ฉายครั้งแรก 16 มกราคม พ.ศ. 2501 เป็นแนวชีวิต (Drama)และเพลง (Musical) กำกับการแสดงโดย รัตน์ เปสตันยี นำแสดงและร้องเพลงประกอบโดย สุเทพ วงศ์กำแหง คู่นางเอก สืบเนื่อง กันภัย อดีตนางสาวถิ่นไทยงามปีพ.ศ. 2490, แม้หนังเรื่องนี้จะเป็น ‘มรดกของชาติ’ แต่ก็ไม่ได้มีคุณภาพที่ดีนัก นอกจากเพลงเพราะและการหักมุมตอนจบ
ผมเห็นว่าใน Youtube มีหนังไทยคลาสสิคที่หาซื้อแผ่นไม่ได้ อยู่หลายเรื่องแล้วนะครับ บางเรื่องหอภาพยนตร์ (Thai Film Archive) ก็อัพเองเลย กับเป็นหนังที่เก่ามากๆ ถือว่าไม่น่าจะมีลิขสิทธิ์แล้วนะครับ (เกิน 50 ปีตามกฎหมายไทย) ถ้ามีโอกาสก็อย่ามัวดูแต่หนังฝรั่ง กลับมาดูหนังไทยบ้าง คุณภาพดีบ้างเลวบ้าง จะได้เข้าใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของชาติเรา เวลาฝรั่งถาม ประเทศคุณมีหนังเก่าๆคลาสสิคอะไรน่าสนใจบ้าง เราก็น่าจะตอบได้บ้างนะครับ
ตอนผมดูหนังเรื่องนี้ บอกตามตรงว่าใจไม่ค่อยอยากเขียนรีวิวเท่าไหร่ เพราะผมแทบมองไม่เห็นจุดดีของหนังแม้แต่น้อย คือถ้าเขียนคงมีแต่สับเละจนเป็นปลาร้า แต่หลังจากทบทวนคิดอย่างหนัก ก็ตัดสินใจเขียนนะครับ ไม่เอาสองมาตรฐานแบบหนังฝรั่งสับได้ หนังไทยสับไม่ได้ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะบอกว่า หนังที่เป็นถึงมรดกแห่งชาตินั้นห่วย ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างจะสมบูรณ์แบบ อะไรที่ไม่ดีหรือแย่ก็เพื่อเป็นบทเรียน ศึกษา ทำความเข้าใจ และไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ‘อะไรที่วิจารณ์ไม่ได้ คือเผด็จการ แต่วิจารณ์แล้วย่อมต้องไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น’ นี่คืออุดมการณ์ของผมนะครับ
ผมมองหาหนังไทยที่เป็นแนวเพลง Musical ไม่ค่อยได้เลยนะครับ นี่เป็นหนังแนวที่ไม่ได้รับความนิยมในไทยเท่าไหร่ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะครับ หนังเพลงเก่าที่สุดที่ผมค้นเจอคือ สวรรค์มืด (พ.ศ.2501) เรื่องนี้แหละ แต่เชื่อว่าน่าจะยังมีหนังเพลงที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้อีกนะครับ (ไม่รู้สูญหายไปแล้วหรือเปล่า)
สวรรค์มืด เป็นผลงานหนังภาพสีฟีล์ม 35 mm Widescreen เรื่องแรกของรัตน์ เปสยีตัน ถ่ายทำในโรงถ่ายของค่ายหนังหนุมานภาพยนตร์ และทำการบันทึกเสียงขณะถ่ายทำ (Sound on Film) เรื่องแรกของไทย, แต่เนื่องจากเป็นหนังเพลง ผมคิดว่าขณะที่ตัวละครร้องเพลง น่าจะใช้การบันทึกใส่เสียงภายหลัง เพราะเสียงเพลงดังฟังชัดกว่าที่พูดคุยกันอีก
นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง รับบทชู ชายหนุ่มยากจน อาชีพคนเข็นรถขยะ เขาเป็นคนที่ฉลาดและรักเกียรติ รักศักดิ์ศรี การให้คนอื่นเรียกตัวเองว่า ‘คุณบุญชู’ เพราะฟังแล้วเหมือนผู้ดีมีระดับ กล้าที่จะพูดจาสั่งสอนทุกคนไม่เว้นแม้รวยจน มองเห็นทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ตอนหลังดันมองตัวเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น, ใครเป็นแฟนเพลงของครูสุเทพ น่าจะรู้จักเพลงอย่าง เทขยะ, มนต์รักดวงใจ, พิศภาพดวงใจ, จนจริงไม่จนรัก และสวรรค์มืด ท่านทั้งประพันธ์ ขับร้องและแสดงประกอบหนังเลยนะครับ, อาชีพคนเข็นถังขยะเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ แต่ถังเขียวๆแบบในหนังคงไม่มีเหลือแล้ว กลายเป็นรถขนขยะไปหมด เหลือแค่คนที่มารับซื้อ ชั่งกิโลขายที่ยังอาจใช้รถเข็นคล้ายๆแบบนั้นอยู่
สืบเนื่อง กันภัย อดีตนางสาวถิ่นไทยงามปีพ.ศ. 2490 (น่าจะคือนางสาวไทยนะแหละครับ) ผมไม่รู้สมัยนั้นเธอดังแค่ไหน หน้าตาสวยสะคราญ (หน้าเหมือน Maggie Cheung) แต่เสียงของเธอแหลมสูงมากๆ บุคคลิกเป็นคนมีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเองสูง, ผมไม่รู้สึกเธอเหมาะที่จะรับบทเนียร เลยนะครับ คือตัวละครนี้ควรจะมีความอ่อนไหว ใสซื่อ บริสุทธิ์ และมีความหวาดกลัว, เธอควรที่จะกลัวมากๆขณะที่ขโมยของ แต่สีหน้าของสืบเนื่อง ไม่บ่งบอกอะไรเลย มันช่างจืดชืดเย็นชา, แต่ครึ่งหลัง หลังจากที่ชูไปเป็นทหาร และเธอได้รับการอุปการะจากท่านผู้หญิง ใช่ครับ ภาพของตัวละครนี้ดูเหมือนเธอเลย มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเย่อหยิ่ง และเข้าใจชีวิต มองคนที่จิตใจ ไม่ใช่ที่หน้าตาฐานะ, ตอนจบผมว่าชืดไปหน่อย เธอไม่สามารถแสดงความรู้สึกว่ามีความรักและห่วงหาอาลัยต่อชูแม้แต่น้อย
ผมเชื่อว่าผู้หญิงไทยสมัยนั้น รักนวลสงวนตัวมากๆ การแตะเนื้อต้องตัวกันในหนัง มันเลยดูมีความหยาบกระด้าง ผู้หญิงก็กลัวๆ กล้าๆ ผู้ชายก็เกิดความเกรงใจ นี่ทำให้การแสดง passion เพื่อเข้าถึงข้างในใจของตัวละครไม่เกิดขึ้นเลย, Spark ระหว่างตัวละครไม่เกิดขึ้น มันดูเก้ๆกังๆ ก้างๆยังไงบอกไม่ถูก คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะมีนักแสดงของไทยที่สามารถแสดงความรู้สึกที่ผู้ชมสมัยใหม่สามารถจับต้องสัมผัสได้
การแสดงที่น่าประทับใจมาจาก เพ็ญศรี พุ่มชูศรี รับบทเป็นเศรษฐีนีใจบุญ แม่บุญธรรมของเนียร ผมชอบขณะที่เธอร้องเพลงสอนหญิง มีความไพเราะและสอดแทรกความหมายที่ดีมากๆ การแสดงของเธอทำให้หนังมีสีสันขึ้น (กว่าคู่พระนางอีก), สมัยนี้คงหาคนแบบนี้ไม่ได้แล้วนะครับ มันดูเป็นเหตุการณ์เพ้อฝันมากๆ ที่จะมีมหาเศรษฐีเห็นค่าของคนจากการทำความดีแค่ครั้งเดียว เหลือแค่ในนิยายเท่านั้น ไม่มีใครเชื่อแบบนั้นแล้ว ผมมองเป็นบทเรียนสอนใจที่ดี แต่ทำความดีอย่าเพื่อหวังผลตอบแทนนะครับ ทำไปเถอะถึงจะไม่ได้อะไร กายไม่ได้แต่ใจเราได้แน่นอน
บทหนังโดยศิลปินแห่งชาติ สุวัฒน์ วรดิลก นามปากกา รพีพร คอวรรณกรรมน่าจะพอรู้จักกันบ้าง เรื่องที่ดังๆก็คือ ลูกทาส (พ.ศ.2506) ที่เห็นดัดแปลงเป็นละครทีวีหลายครั้งแล้ว, นิยายขอจำจนวันตาย, นิยายนกขมิ้นบินถึงหิมาลัย ฯ และท่านเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, โครงเรื่องคร่าวๆของหนังถือว่าน่าสนใจนะครับ เรื่องราวของเด็กหญิงขอทานที่โชคดีได้พบกับชายหนุ่มใจบุญที่ช่วยชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตที่ถูก และยังโชคดีซ้ำสองที่ได้พบกับเศรษฐีนีใจบุญ ที่ทำให้เธอจากมีนิสัยขี้ขโมย กลายเป็นคนซื่อสัตย์ จริงใจและมองคนที่จิตใจ, กระนั้นข้อด้อยที่บัดซบสุดๆของหนัง คือบทสนทนา ผมไม่รู้ว่าท่านสุวัฒน์ วรดิลกเป็นคนเขียนบทพูดด้วยหรือเปล่า หรือเป็นผู้กำกับรัตน์ เปสตันยีปรับปรุงให้นักแสดงพูดตามใจอยาก, ผมเชื่อมั่นมากว่าคนไทยสมัยก่อนไม่ได้พูดคุยกันแบบในหนังเรื่องนี้ มีช่วงขณะหนึ่งของหนังที่ผมฟังไม่รู้เรื่องว่าตัวละครพูดอะไรกัน เห้ย! ถ้าคนไทยฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ แล้วชาติไหนมันจะฟังรู้เรื่องละเนี่ย
ประโยคสนทนามันแบบว่าน้ำไหลไฟดับ อยากพูดอะไร อยากจะสอนอะไร คิดว่าเท่ห์ ดูดีก็พูดออกมา ไม่มีความเป็นธรรมชาติ ฟังก็รู้ว่าปรุงแต่ง แต่ประดิษฐ์ประดอยมากเกินไปจนไม่ลื่นหูและฟังความหมายอะไรก็ไม่รู้, ตอนที่ท่านขุนพูดยกแม่น้ำทั้งห้า อ้อมมาหว่านล้อมเพื่อขอเนียรแต่งงานนั้น ผมฟังรู้เรื่องนะครับ แต่ตอนที่ชูเกี้ยวกับเนียรตอนต้นเรื่อง คุยอะไรกันเนี่ย? ฟังไม่เข้าใจเลย ไม่ใช่การบันทึกเสียงไม่ดีนะครับ แต่พูดใช้คำที่ผิดความหมาย ไม่เหมาะสมกับบริบทในประโยค ไม่รู้เกิดปัญหานี้ได้ยังไง ไว้ผมดูหนังเรื่องอื่นแล้วถ้าเจอปัญหาเดียวกัน จะลองหาเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้นนะครับ
ถ่ายภาพโดยประสาท สุขุม คนนี้ผมคิดว่าเขาน่าจะเป็น ‘ช่างภาพคนแรกของไทย’ เป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer : A.S.C.) เป็นคนไทยคนแรกได้ไปเรียนและฝึกงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ Hollywood เมื่อปี พ.ศ. 2466, กับงานถ่ายภาพของสวรรค์มืด ผมรู้สึกผิดหวังมาก ตรงที่ไม่ได้มีการทำอะไรเพื่อแสดงถึงความเป็นงานศิลปะเลย แค่เอากล้องมาตั้ง มีการจัดแสงเล็กน้อย เลือกมุมกล้องแล้วถ่าย แบบนี้ใครๆก็อาจทำได้, มันเหมือนผมกำลังดูงานภาพสมัยหนังเงียบอยู่นะครับ ที่ผู้กำกับภาพไม่รู้จะทำอะไรกับกล้องดี เอามาตั้งไว้แล้วถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่ภาพในหนังเป็นภาพสีแล้ว แต่ตากล้องยังขาดทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลก
ตัดต่อโดย เท คันจรา ในอินเตอร์เน็ตไม่มีประวัติของคนๆนี้นะครับ คาดว่าอาจเป็นเจ้าของหรือลูกของผู้จัดจำหน่าย คันจราภาพยนตร์, การตัดต่อไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเลย เหมือนแค่เอาฟีล์มมาต่อๆกันเท่านั้น
กระท่อมในหนัง ทำเอาผมนึกถึงหนังเรื่อง The Gold Rush ของ Charlie Chaplin, ว่าไปพื้นหลังของพระเอก ก็คล้ายๆกับ Tramp ของ Chaplin นะครับ สงสัยจะได้แรงบันดาลใจมา…
ช่วงที่โอเคที่สุดในหนัง คือขณะที่ท่านขุนมาสู่ขอเนียรจากแม่บุญธรรม, ผมชอบฉากนี้เพราะมันมีส่วนผสมของมุกตลกที่ลงตัว ท่านขุนที่พูดยกอะไรก็ไม่รู้คดเคี้ยวยิ่งกว่าแม่น้ำห้าสาย เชื่อว่านักดูหนังสมัยนี้คงสามารถเข้าใจได้ตั้งแต่ต้นว่าเขาต้องการสื่ออะไร (น่าจะนำแสดงโดยท่านชาลี อินทรวิจิตร), เท่านั้นยังไม่พอ ขณะที่เนียรพบท่านขุน เธอจำเขาได้ และตอบโต้การกระทำของเขาที่เจ็บแสบมากๆ ถ้าเพียงหนังเรียบเรียบบทพูดให้ดีกว่านี้สักหน่อยนะ ผมว่านี่จะเป็นหนึ่งในฉากขึ้นหิ้งของภาพยนตร์ไทยได้เลย
การหักมุมตอนจบนี่ ผมไม่รู้นี่เป็นหนังไทยเรื่องแรกหรือเปล่าที่มีการหักมุมนะครับ, หักมุมคือ การชักนำความคิด ความเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง แล้วมาเฉลยว่าแท้จริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างคาดคิดไม่ถึง, จากที่เกือบจะจบ Tragedy แบบ Romeo and Juliet กลับกลายเป็น Happy Ending เสียงั้น (สงสัยนักเขียนบทคิดตอนจบขึ้นมาก่อนแน่ๆ แล้วค่อยสร้างเรื่องราวสนับสนุน)
คำว่าสวรรค์มืด เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมากๆ สวรรค์คือที่แห่งแสงสว่าง เปรียบได้ดั่งความสุขสมหวัง ได้ดีมีฐานะ ส่วนคำว่ามืดแทนถึงความต่ำต้อย ยากจน รวมถึงตาบอดมืดมิด ผมตีความได้ 3 ความหมาย
1. วิมานที่ชูกับเนียรสร้างขึ้น ทั้งสองเป็นคนยากจนชีวิตถือว่ามีความมืดมัว แต่กลับเข้าใจคุณค่าของชีวิต และใช้ชีวิตราวกับอยู่ในสวรรค์
2. ในอีกมุมหนึ่ง สวรรค์ กับ มืด เปรียบได้กับคนสองคน เนียร กับ ชู, เนียรได้พบกับเศรษฐินี ทำให้เธอได้พบกับความสุขราวกับอยู่บนสวรรค์, ชูที่กลับจากการเป็นทหาร แล้วเขาตาบอด โลกมืดมิดมองอะไรไม่เห็น
3. ชูที่กลายเป็นคนตาบอด(มืด) หรืออดีตที่มืดมิดของทั้งชูและเนียร ทั้งสองได้พบกับสวรรค์ เนียรพบก่อน (ได้รับอุปถัมถ์จากเศรษฐิีนี) และเมื่อชูกลับมา เธอก็นำพาเขาไปยังสวรรค์
ชื่อหนังเป็นชื่อเพลงด้วยนะครับ ร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ลองไปฟังดูนะครับ โคตรเพราะ โคตรคลาสสิค
ในสมัยก่อน ต้องบอกว่ารัฐบาลไทยยังไม่ค่อยให้ความสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์เท่าไหร่ ตอนที่ สันติ-วีณา หนังไทยเรื่องแรกที่ได้ฉายในเทศกาลหนังนานาชาติ และได้รับกล้องถ่ายภาพเป็นรางวัล เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยกลับถูกเรียกภาษีนำเข้าถึง 5,000 เหรียญ สมัยนั้นนี่เป็นจำนวนเงินมหาศาลเลยนะครับ (น่าจะเป็นล้านบาทในปัจจุบัน), การจะสร้างหนังได้สักเรื่องในยุคนั้นถือว่ายากลำบากมากๆ กว่ารัฐบาลจะเริ่มเปิดกว้างก็สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่นานก็ถูกรัฐประหาร ต้องเริ่มนับ 1 กันใหม่อีก
รัตน์ เปสตันยีถือว่าเป็นผู้กำกับรุ่นบุกเบิกของวงการภาพยนตร์เมืองไทยนะครับ จะว่าเขาเป็น D.W.Griffith ของเมืองไทยก็ได้ ผมยังได้ชมผลงานของเขาไม่เยอะจึงยังบอกไม่ได้ว่า คุณรัตน์สามารถเทียบได้กับ Griffith หรือเปล่า คือในชีวิตของ Griffith ก็ทำหนังห่วยๆเยอะนะครับ แต่ปริมาณหนังห่วย 10 เรื่อง ก็ไม่เท่ากับหนังดีขนาดมีคนจดจำแค่เพียงเรื่องเดียว ถ้าสันติ-วีณา หรือหนังเรื่องอื่นของคุณรัตน์ มีคุณภาพระดับนั้น จะเรียกได้ว่า เขาเป็น บรมครูแห่งวงการภาพยนตร์ไทย เลยนะครับ (บิดาแห่งวงการภาพยนตร์ไทยคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ นะครับ ท่านเป็นใครลองหาในอินเตอร์เน็ตดูเอง)
ในความเห็นผม สวรรค์มืดเป็นหนังที่มีความตั้งใจดี แต่ผลลัพท์ออกมาห่วยเกินบรรยาย เว้นไว้แค่เพลงประกอบที่กลายเป็นตำนาน ปัญหาใหญ่เกิดจากความไม่รอบคอบ คิดไม่ละเอียดถี่ถ้วน การขาดความคิดสร้างสรรค์ และหนังอาจเป็นการกำลังทดลองหาแนวทางใหม่ๆของผู้กำกับ ซึ่งผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้คงกลายเป็นบทเรียนสำคัญให้กับรัตน์ เปสตันยีได้พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นนะครับ
หนังแฝงข้อคิดเรื่อง ความเท่าเทียมของมนุษย์, ความซื่อสัตย์สุจริต และการมองคนที่จิตใจไม่ใช่หน้าตา
LINK : ดูหนังบน Youtube
แนะนำกับคอหนังไทย ชอบดูหนังคลาสสิค ถ้าถึงขณะหนึ่งเมื่อท่านทนดูหนังไม่ได้อย่าเพิ่งรีบปิดนะครับ พักสักแปป หนังมันไม่ยาวมาก ทนดูต่อให้จบ ตอนจบมีเซอร์ไพรส์อยู่ จัดเรต PG
คนที่แสดงเป็นท่านขุน คือ ม.ร.ว.ประสิทธิศักดิ์ สิงหรา
คนที่แสดงเป็นลูกชายท่านขุน ที่พูดไทยคำอังกฤษคำ คือ ชาลี อินทรวิจิตร
หนังเรื่องนี้ ไม่เชิงว่าเกิดจากความตั้งใจของรัตน์ เปสตันยี แต่มาจากผู้สร้าง เทวะมิตร์ กุญชร ณ อยุธยา (ผู้จัดการบริษัทนํ้าส้มไบเล่ย์ และเคยแสดงหนังเรื่อง “A Handful of Rice ข้าวกำมือเดียว” บทตัวประกอบ เป็นนายห้างบริษัทป่าไม้) ที่ชอบเรื่องนี้ตอนเป็นละครโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม นำแสดงโดย สุเทพ-สวลี (ประมาณว่า ดูแล้วซึ้ง เลยอยากทำเป็นหนังของตัวเอง) เลยมอบงานให้รัตน์เป็นผู้กำกับ
เรื่องการแสดงของนางเอก คุณสืบเนื่องก็รู้ตัวนะว่าเล่นแข็ง ร้องเพลงไม่ดี เคยมีคนบอกว่า เอาเด็กไม่มีฟันที่ไหนมาร้องเพลง เปลี่ยนเถอะ ทำไมไม่เอานางเอกที่เล่นเก่งๆมาเล่น มาร้อง แต่ผู้สร้างบอก ไม่เป็นไรหรอก ไปฉายสวนลุมให้คนดูฟรี
มีคนวิเคราะห์ว่า หนังเรื่องนี้ สร้างเพื่อสนอง Need ผู้สร้างเต็มๆ คือ ไม่หวังเงิน ไม่หวังรายได้ แค่ต้องการให้สร้าง ได้ฉายให้คนอื่นๆดูก็พอแล้ว
ฉากเพลง เข้าใช้การร้องเพลงอัดแผ่นเสียงก่อน แล้วเปิดตอนถ่ายทำ แล้วให้นักแสดงร้องตาม
แต่ส่วนตัว ผมชอบนะ ชอบอะไรหลายๆอย่าง ถึงจะไม่สมบูรณ์แบบนัก เรียกว่าเรียบง่าย งดงามก็ว่าได้
ที่ไม่ชอบสุดแค่ แนวคิดของพระเอก-นางเอก ที่ไม่รู้ว่าใครยัดเข้าไป (ผู้ประพันธ์เรื่อง คนเขียนบท ผู้กำกับ) อย่างการปกป้องคนขโมยของ โดยอ้างว่าจน ด่าคนที่โดนขโมย แล้วแจ้งตำรวจ ว่าไร้เมตตา อะไรแบบนี้ ในเรื่องเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ท่านขุนบอกว่าซื้อไปให้หมา แต่มันก็เป็นสิทธิ์เป็นของของเค้า แถมคำประเภทนี้ พวกตลาดล่างชอบเอามาพูดมาอ้างเวลาตัวเองทำผิดกัน สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง เป็นแนวคิดยุคต่อต้านคนรวยคนชั้นสูง สดุดีคนจน ก็เลยไม่ชอบจุดนี้
ผมไม่ชอบสวรรค์มืดเพราะความยัดเยียดนี่แหละ มันเลยดูขาดๆเกินๆชักแม่น้ำทั้งห้า ที่สำคัญคือพอมันออกมาห่วย และผมเพิ่งมีโอกาสดูผลงานคุณรัตน์เรื่องนี้เรื่องแรก เกิดอคติกับผู้กำกับขึ้นมาทันที