สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐) : ดอกดิน กัญญามาลย์ ♥♥♥♡
สมบัติ เมทะนี ทั้งๆที่เก่ง เฉลียวฉลาด มีความรู้ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้ แต่มักทำตัวสำออย แสร้งเป็นคนอ่อนแอเรียกร้องความสนใจ คาดหวังให้ มยุรา เศวตศิลา ตกหลุมรักใคร่ชอบพอ ลึกๆแล้วเธอคงแอบประทับใจเขาอยู่เหมือนกัน แต่เรื่องอะไรจะยินยอมความ แสดงออกมาให้เห็นง่ายๆ เล่นแง่เล่นงอนโต้ตอบกลับ เป็นคู่ที่เข้าขากันดีแท้
ถึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่หอภาพยนตร์ จัดให้ติดอันดับ ‘๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู’ แต่ลึกๆผมก็แอบลังเลใจพอสมควรที่จะหามารับชม กระทั่งรับรู้ข่าวคราวการเสียชีวิตของ ดอกดิน กัญญามาลย์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เลยว่ามีโอกาสเมื่อไหร่จะลองดูสักที
ว๊าว! นี่เป็นหนังที่สามารถลบคำสบประมาทของตนเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ คุณค่าทางศิลปะอาจไม่เท่าไหร่ แต่ความบันเทิงรมณ์ เสียงหัวเราะ และเนื้อเรื่องราวแฝงข้อคิดคติสอนใจบางอย่าง ถ้าไม่ปิดกั้นตนเองก็อาจมีโอกาสพบสิ่งดีๆไม่คาดคิดอยู่เสมอ
ดอกดิน กัญญามาลย์ ชื่อจริง ธำรง กัญญามาลย์ (พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๕๖๑) นักแสดง ผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) ชื่อเล่นว่าดิน เพราะเป็นคนตัวดำ ตั้งแต่เด็กชอบร้องลิเก เพลงพื้นบ้าน จนได้ฝึกและออกแสดงครั้งแรกกับคณะสวดคฤหัสถ์, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มเข้าสู่วงการจากการเล่นจำอวดร่วมกับ อบ บุญติด แล้วหันมาเล่นละครย่อย ร้องเพลงหน้าม่าน และลิเก คณะศิวารมย์ ของครูเนรมิต, ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เล่นละครกับ คณะอัศวินการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นตัวตลก และเริ่มใช้ชื่อการแสดงว่า ดอกดิน กัญญามาลย์, เริ่มสร้างภาพยนตร์ 16mm ร่วมกับ ล้อต๊อก และ สมพงษ์ พงษ์มิตร เรื่อง สามเกลอ (พ.ศ. ๒๔๙๕)
ผลงานชิ้นเอกของดอกดิน คือ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๗)** ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต, ทั้งยังปลุกปั้น เพชรา เชาวราษฎร์ ให้กลายเป็นดาวค้างฟ้า, คว้าสามรางวัลตุ๊กตาทอง (นำหญิง-เพชรา, ตัวประกอบชาย-ดอกดิน, พากย์เสียงยอดเยี่ยม), และครั้งแรกที่หนังของตนเองทำรายได้เกิน ๑ ล้านบาท ซื้อทองคำเส้นให้หญิงตั้งครรภ์ผู้โชคดี แล้วทำป้ายปิดประกาศใหญ่โต กลายเป็นธรรมเนียมจนได้รับฉายา ‘ล้านแล้ว…จ้า’
(**เป็นเรื่องที่ผมอยากดูมากเลยนะ แต่ไม่เคยได้รับการทำเป็นดิจิตอล เทปหรือ DVD และฟีล์ม 16mm ไม่รู้ยังมีหลงเหลืออยู่หรือเปล่า)
ไม่เพียง เพชรา เท่านั้นที่ดอกดินปลุกปั้น อีกคนหนึ่งกลายเป็นตำนานจนถึงปัจจุบันคือ มยุรา เศวตศิลา จับมาแจ้งเกิดตั้งแต่ แหม่มจ๋า (พ.ศ. ๒๕๑๘) ร่วมงานกันอีกหลายครั้งรวมถึง สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐) เรื่องนี้ด้วย
เกร็ด: ในจำนวนภาพยนตร์ ๓๒ เรื่องของดอกดิน ทำรายได้เกิน ๑ ล้านบาททั้งสิ้น ๒๔ เรื่อง ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเมืองไทยก็ว่าได้
ดัดแปลงเรื่องราวจากบทประพันธ์ของ ระกา กัญญากุล (ไม่แน่ใจว่านิยายหรือบทละคอน) ก่อนหน้านี้ ดอกดิน เคยนำบทประพันธ์ แหม่มจ๋า มาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วครั้งหนึ่ง
เรื่องราวพื้นหลังประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากองค์พระธาตุพนมได้พังถล่มลงมา, เอก (สมบัติ เมทะนี) ทายาทมหาเศรษฐีร้อยล้าน แต่เมื่อพ่อเสียชีวิตตั้งข้อแม้กับลูกชาย ถ้าต้องการมรดกต้องสอบติดตำรวจ หน่วย SWAT ทำงานสามปี และแต่งงานกับหญิงสาวที่เคยหมั้นหมายไว้แล้ว แม้ไม่เต็มใจนักก็ยอมอดทน เล่นตัวลีลาทำท่าสำออยไปวันๆ ใกล้ครบกำหนดสามปีขณะนั้นปลอมตัวเป็นคนขายของ พบเจอตกหลุมรัก นนท์ (มยุรา เศวตศิลา) ครูสาวเปิดโรงเรียนสอนเด็กชาวเขา โดยหารู้ไม่ว่าเธอคือคู่หมั้นของตนเอง และเมื่อเกิดเหตุการณ์โจรค้าของเถื่อนลักพาตัวแม่ของหญิงสาวไป เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าคือลูกผู้ชาย ยินยอมอาสาเสี่ยงตาย เลิกเป็นสิงห์สำออยชั่วคราว พูดง่ายๆเพื่อโชว์สาว แบบจริงๆจังๆฉันก็ทำได้เหมือนกัน
สมบัติ เมทะนี (เปิดปี พ.ศ. ๒๔๘๐) นักแสดง ผู้กำกับชาวไทย ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของสถิติ Guinness World Records รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลกถึง ๖๑๗ เรื่อง, เข้าสู่วงการบันเทิงโดยบังเอิญจากแมวมองแถวโรงภาพยนตร์คิงส์-ควีนส์ ย่านวังบูรพา ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ แสดงละครโทรทัศน์เรื่อง หัวใจปรารถนา (พ.ศ. ๒๕๐๓) ประกบวิไลวรรณ วัฒนพานิช, ต่อด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก รุ้งเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๔) ประกบ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, ผลงานเด่นๆ อาทิ น้ำตาลไม่หวาน (พ.ศ. ๒๕๐๗), ศึกบางระจัน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เกียรติศักดิ์ทหารเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๘), จุฬาตรีคูณ (พ.ศ. ๒๕๑๐), เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), พ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๑๕), สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ฯ
รับบทผู้หมวดเอก นายทหารจอมสำออย ชอบหาข้ออ้างโน่นนี่นั่นให้ไม่ต้องทำงาน แสดงความขี้เกียจคร้านของตนเองออกมา แต่ลึกๆแล้วคือคนพึ่งพาได้ตลอด จริงจังขึงขังเอาตัวรอดได้ทุกสิ่งอย่าง, คงเพราะตั้งแต่เด็กเคยได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจจนเสียคน เลยโดนเตี่ยเสียไปแล้วยังตามมาหลอกหลอน เอาจริงๆไม่ต้องรอกองมรดกก็น่าจะมีชีวิตอยู่ได้สบายๆ แค่ทำตัวสำออยลีลาไปวันๆเท่านั้นเอง
นี่น่าจะเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ติดตัว สมบัติ เมทะนี ไปแล้วกระมัง ลูกคนรวยจมกองมรดก มักใฝ่ทางง่ายเลยถูกเสี้ยมสั่งสอนจนกว่าจะครุ่นคิดกลับตัวได้ ขณะที่คู่สาวก็มักเริ่มจากพ่อแง่แม่งอน ขัดแย้งผิดใจกันก่อน สุดท้ายพบเห็นความน้ำใจงามของกัน แต่งงานร่วมรักลงเรือนหอ Happy Ending
มยุรา เศวตศิลา ชื่อเกิด รัตนา ชาตะธนะบุตร (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๑) ชื่อเล่นตั๊กแตน สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ วิชาเอกคีตศิลป์สากล เริ่มทำงานเป็นนางแบบปกนิตยสารลลนา ถ่ายโฆษณา ได้รับคำชักชวนจาก พร้อมสิน สี่บุญเรือง ตั้งใจสร้างภาพยนตร์ ทิวาหวาน แต่ภายหลังโดน นัยนา ชีวานันท์ ตัดหน้าไป อย่างไรก็ดี ดอกดิน กัญญามาลย์ ได้ติดต่อให้มาเป็นนางเอก แหม่มจ๋า ประกบ สมบัติ เมทะนี ตั้งชื่อในวงการให้ว่า มยุรา ธนะบุตร ทำเงินเกินกว่าหนึ่งล้านบาท แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ผลงานเด่นๆ อาทิ มือปืนพ่อลูกอ่อน (พ.ศ. ๒๕๑๘), กุ้งนาง (พ.ศ. ๒๕๑๙), สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐), แม่ดอกกัญชา (พ.ศ. ๒๕๒๐), พ่อปลาไหล แม่พังพอน (พ.ศ. ๒๕๓๑), เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ
รับบทนนท์ พยาบาลสาวหน้าหวาน มีนิสัยแก่นแก้วก้าวร้าว ปากจัดคมคาย ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใด อะไรที่ผู้ชายทำได้ทำไมฉันจะทำไม่ได้ เกลียดนักพวกสิงห์สำออย แต่ภายหลังก็ยินยอมความให้เอก คงเพราะความเสียสละกล้าหาญ ช่วยเหลือแม่แท้ๆของตนเองที่ถูกลักพาตัวไป ตกลงปลงใจยินยอมครองรักแต่งงานกับเขาในที่สุด
ทีแรกผมจำไม่ได้เลยนะว่านั่นคุณตั๊ก หรือนะ? ใบหน้าเทียบกับปัจจุบันแตกต่างราวกับคนละคน (แต่ก็พอเห็นเค้าโครงอยู่นะ) ด้วยนิสัยแก่นแก้วก้าวร้าว ช่างมีความน่ารักน่าหยิกแก้มเสียเหลือเกิน ดูแล้วนี่คงเป็นภาพลักษณ์ติดตัวเธอตอนสมัยยังวัยรุ่นสาว จริตจ้านระดับนี้เล่นหนัง Feminist กินขาดแน่นอน!
“ตั๊กเป็นผู้หญิงฉลาด เก่งมาก แต่ร้องไห้ไม่เก่ง เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เปิดตัวมยุราอย่างครึกครื้น จึงดึงความตลกในตัวมาเป็นจุดขาย เพราะเราสามารถเปลี่ยนแปลงบทได้ให้ตรงกับบุคลิก เนื่องจากเป็นผู้เขียนบทขึ้นมาเอง…จำไว้นี่คือเคล็ดลับการสร้างคนให้เป็นที่ยอมรับ ต้องสร้างคนมาจากบุคลิกภายใน”
– ดอกดิน กัญญามาลย์ พูดถึง มยุรา เศวตศิลา
ถ่ายและลำดับภาพโดย มนัส โตเพาะญาติ, ด้วยฟีล์ม 35mm แล้วใช้การพากย์เสียงภายหลัง
หนังใช้เทคนิคร่วมสมัยนั้นเป็นส่วนใหญ่ ว่าไปให้สัมผัสคล้ายๆภาพยนตร์ของ Howard Hawks ไม่ค่อยมี Establish Shot แต่ใช้การซูมเข้า-ออก จากสิ่งของหรือตัวละคร แล้วแพนนิ่งให้เห็นโดยรอบอย่างคร่าวๆ, ระยะภาพส่วนใหญ่เป็น Medium/Medium-Long Shot (ไม่มี Close-Up) สร้างระยะห่างให้กับตัวละคร มุ่งเน้นการกระทำมากกว่าจับต้องทางอารมณ์
สวยสุดของหนังต้องยกให้ภาพนี้ หลังจากโรงเรียนถูกเผา เด็กๆกำลังเดินลงเขาเรียงหน้ากระดาน ขับร้องเพลงสวัสดีคุณครูร่ำลาจากอย่างหมดอาลัย ขณะที่พระอาทิตย์อัสดงอยู่ตรงใกล้ลับเนินพอดิบพอดี ถ่ายได้จังหวะเวลาเยี่ยมมาก อยากเห็นภาพชัดๆเหมือนกันว่าจะงดงามแค่ไหน
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ เอก เป็นหลัก ทุกครั้งมักมีเกริ่นอรัมภบทอันยืดยาว เพื่อสร้างความน่าสนใจลุ้นระทึกให้กับเหตุการณ์นั้นๆก่อนหน้าพระเอกจะปรากฎตัว จากนั้นทำการตกมุก/หักมุม/หรือจัดการคนร้ายสำเร็จ นี่คือความเจ๋งเป้งของหนังในสไตล์ดอกดิน ใช้วิธีของการเล่นตลก มาปรับประยุกต์นำเสนอภาพยนตร์
สังเกตง่ายๆกับฉากฝึกหน่วย SWAT เริ่มต้นอารัมภบทจาก หัวหน้าสั่งให้ลูกน้องกระโดดน้ำ คนหนึ่ง คนสอง จนกระทั่งสุดท้ายถึงคิวพระเอกมาแล้ว พี่แกลีลาทำท่าสำออยไม่ยอมกระโดดง่ายๆ หันมาคุยถาม ฝั่งห่างไกลเท่าไหร่? น้ำลึกไหม? กำลังจะกระโดดกอดคอเพื่อนตกน้ำร่วมกัน แต่ยังไม่จบเท่านี้พอว่ายมาถึงฝัง สาวๆกรูเข้ามาหา เป็นการตบมุกฮากระจาย (รู้งี้รีบกระโดดว่ายน้ำมาตั้งนานแล้ว จะรั้งรีรอทำเผือกไร)
อีกฉากหนึ่งที่ผมชอบมากๆคือ เชิง (ลักษณ์ อภิชาต) พรานป่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ตอนแรกดื้นรั้นหัวแข็งยึดมั่นในอุดมการณ์ ไม่ยินยอมให้พวกคนสินค้าเถื่อนผ่านทางตนเอง แต่เมื่อเงินอยู่ในมือมีหรือจะรอด และครั้งหลัง ‘ข้าไม่ชอบผู้หญิง ข้าไม่ชอบ Sex … ข้านี่ตายด้าน’ พอช่วยเหลือสาวญวนตกน้ำ แม้งเอ้ย! ฮากลิ้ง
แซว: ฉากวับแวมโป๊เปลือย ถือเป็นลายเซ็นต์ของ ดอกดิน กัญญามาลย์ ซึ่งเรื่องนี้ก็เชิญดาวโป๊ชื่อดัง เชิงขวัญ ปิโยบล
หลายครั้งของหนังมีการแทรกเรื่องราวของคู่รอง ครูสาว-แฟนหนุ่ม แรกๆอาจรู้สึกสงสัยจะมาแย่งเวลา พระเอก-นางเอก ทำไม? แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักพาตัว เผาโรงเรียน และครูสาวโดนข่มขืน ก็แน่ละจะให้คู่หลักถูกกระทำชำเราได้อย่างไร, สมัยนั้นโลกมันก็เบี้ยวๆอยู่นะ คือคู่รองพบเจอความซวยสิ่งเลวร้ายขนาดไหนยินยอมรับได้ แต่พระนางต้องสามารถเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์
เพลงประกอบโดย วิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ศิลปินวง 3 วิ, ซิลเวอร์แซนด์, พิงค์แพนเตอร์ และยังเป็นผู้แต่งทำนอง/เรียบเรียงบทเพลง พ่อแห่งแผ่นดิน
บทเพลงช่วยเติมแต่งเสริมบรรยากาศให้กับเรื่องราว สร้างอรรถรสชาดความครึกครื้นเครง บางครั้งก็ซึ้งซาบซ่าน โรแมนติกเซ็กซี่หวานแหวว หลากหลายท่วงทำนองอารมณ์ ซึ่งมักมีความตรงไปตรงมา มากด้วยลีลาเย้ายียวนกวนประสาทไม่น้อย
สองบทเพลงเด่นๆของหนังคือ สวัสดีคุณครู เด็กๆร้องหลังจากโรงเรียนถูกเผา มันช่างโหยหวนรวดร้าวทุกข์ทรมารน, และบทเพลงสิงห์สำออย เนื่องจากผมหารายละเอียดให้ไม่ได้ว่าใครแต่งหรือขับร้อง แต่ทำนองช่างกวนโอ้ยเสียเหลือเกิน
“ข้าเป็นคนจริง แต่เป็นสิงห์สำออย ปราบศัตรูสู้สตรีไม่มีถอย ยามจริงจังเราเอาจริงไม่อ้อยอิ่งสำออย เข้าป่าดอยเราคอยดูศัตรูมิตรพราง”
สิงห์สำออย เป็นคำนิยายบุคคลประเภท ชอบเล่นตัว มากด้วยลีลาท่าทาง ปกปิดบังความสามารถแท้จริงเอาไว้ อาจด้วยความขี้เกียจคร้านสันหลังยาว หรือมองไม่เห็นคุณประโยชน์ในการแสดงฝีมือของตนออกมา จนกว่าจักถึงสถานการณ์คับขันแท้จริง หรือต้องการอวดอ้าง โชว์สาว ค่อยเปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ลูกผู้ชายคนจริงออกมา
มีสาสน์สาระมากมายสอดแทรกอยู่ในหนังเรื่องนี้, ประเด็นหนึ่งที่เด่นชัดมากๆ ต้องการเสียดสีประชดประชันความหน้าไหว้หลังหลอก กลับกลอกหลอกลวงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชิง สมาชิกของพรรคที่ปากพูดอ้างอุดมการณ์ แต่พอมือถือเงิน มีสาวอยู่ในอ้อมอก ก็มิอาจหักห้ามใจสนองตัณหาราคะของตนเอง แถมโชคชะตาของตัวละครคือกรรมสนองตามสมควร เพราะได้กระทำการข่มขืนครูสาว มณฑา (ธาริกา ธิดาทิตย์) เสียพรหมจรรย์ที่อุตส่าห์เฝ้าทะนุถนอมเก็บรักษาไว้ให้แฟนหนุ่ม ด้วยเหตุนี้ตอนจบเลยโดนจ้วงแทง แล้วควักมันออกมา เล่นเอาใครต่อใครเสียวสันหลังวูบวาบ
เรื่องการศึกษาในโรงเรียนชนบทห่างไกล เราอาจมีครู/บุคลากรผู้พร้อมเสียสละ แต่สิ่งขาดแคลนจริงๆคือทุนทรัพย์และโอกาส มีแต่พวกคนโง่และเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ถึงครุ่นคิดการลักพาตัว เผาโรงเรียน ทำลายอนาคตของลูกหลานตนเอง นี่เป็นสิ่งจักต้องปลูกฝังรากลึกไว้ในใจของทุกคนเลยว่า ไม่ใช่เรื่องยินยอมรับได้! มารสังคมพวกนี้ต้องถูกเอาคืนอย่างสาสมควรที่สุด
สิ่งที่ผมถือว่าเป็นไฮไลท์จริงๆของหนัง คือภาพประวัติศาสตร์ระหว่างการบูรณะพระธาตุพนม ที่ได้ล้มทลายลงมาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. อันเนื่องจากความเก่าแก่และถูกลมฝนพายุแรงติดต่อหลายวัน สร้างความเศร้าโศกเสียใจต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงเป็นอย่างมาก แต่ด้วยพลังศรัทธาแรงกล้า ประชาชนร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างองค์ประธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แล้วเสร็จ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ เสด็จพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ(พระอุรังคธาตุ) ขึ้นบรรจุดในองค์พระธาตุพนม วันที่ ๒๓ มีนาคม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
reference: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_11148
ใจความของหนังล้านเรื่องนี้ ชักชวนให้ผู้ชมแสดงทัศนะต่อ ‘ความสำออย’ เป็นกิริยามารยาทที่น่ารักเหมาะสม หรือน่าหมั่นไส้ น่ารำคาญ น่ารังเกียจ มีอย่างพอเหมาะพอควรเล่นตัวบ้างก็พอน่าประทับใจ แต่ถ้าก้าวร้าวรุนแรงเมากเกินห็นจะไม่น่าอภิรมณ์รับได้เสียเท่าไหร่
– (พระ)เอก หมอนี่สำออยแบบขี้เกียจคร้าน ใฝ่สบาย แต่ถ้าเอาจริงก็ลูกผู้ชายพันธุ์แท้
– นนท์ เธอนี่น่าเรียกสำอาง(มากกว่าสำออย) คือเล่นแง่งอนในฐานะเป็นผู้หญิง แก่นแก้ว ยโสโอหัง ลึกๆในใจก็แอบตกหลุมรัก(พระ)เอกอยู่
– เชิง หมอนี่สำออยแบบอ้างอุดมหลักการ แต่จิตใจลุ่มร้อนเร่าร่าน เมื่อได้รับความสำราญครานี้เห็นหญิงไหนเป็นหยุดไม่อยู่ เลิกสำอางลีลาเล่นตัวอีกต่อไป
– มณฑา โดนแฟนหนุ่มกอดจูบลูบไล้ แต่ก็ลีลาเล่นตัวปากอ้าง ‘ต้องการรักษาความบริสุทธิ์ไว้วันแต่งงาน’ แต่ฝันหวานพลันล่มสลายเมื่อพบโจรใจทราม ตราบใดยังไม่ได้ล้างแค้นเอาคืน ชีวิตนี้คงสงบสุขลงมิได้
– นายไข่ (ดอกดิน กัญญามาลย์) สำออยสำอาง สำมันทุกอย่าง เพราะความดำเลยรู้จักสำเนียกตัวเอง แต่ก็เพ้อคลั่งอยากได้ซัมวัน (Someone) มาครอบครอง สุดท้ายเมื่อเปิดเผยว่าเป็น … เลยได้ซั่มสุขสมหวังดั่งใจ
ฯลฯ
แล้วอะไรคือความพอเหมาะพอควรของความสำออย? อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เอาเป็นว่าถ้ามันไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้ผู้อื่น อยากสำออยสำอางแค่ไหนก็แล้วตามสบายเถิด แต่เมื่อไหร่เกินเลยเหมือนไอ้เชิง หลงระเริงจนขาดสติยับยั้ง รังแต่จะสร้างกงกรรมเกวียน ก่อการอะไรใครไว้จักได้รับผลนั้นตอบคืนสนอง
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก เรียกเสียงหัวเราะได้ตั้งแต่ฉากแรกๆ เป็นความบันเทิงรมณ์ แฝงข้อคิดสาระประโยชน์ เหมาะสมกับตลาดผู้ชมชาวไทยอย่างยิ่งยวด
ถ้ามีโอกาสขอแนะนำเลยสำหรับคนไทย มีหนังฉบับเต็มใน Youtube คุณภาพแม้แค่พอใช้แต่ก็เหลือเฟือให้ดูรู้เรื่อง ถ้าสักยี่สิบนาทีผ่านไปไม่ชื่นชอบประทับใจ ค่อยปิดทิ้งเอาเวลาไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกเพลิดเพลินหยุดไม่ได้ คราวนี้แหละโดยไม่รู้ตัว คุณอาจใคร่อยากหาผลงานอื่นๆของ ดอกดิน กัญญามาลย์ มารับชมอีกก็เป็นได้
จัดเรต 13+ กับความสำออย กะล่อนปลิ้นปล่อน ตัวละครถูกฆ่า-ข่มขืน
Leave a Reply