สุดสาคร

สุดสาคร (พ.ศ. 2522) หนังไทย : ปยุต เงากระจ่าง ♥♥

ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวสัญชาติไทยเรื่องแรก สร้างโดย ปยุต เงากระจ่าง ผู้มีจิตวิญญาณและความตั้งใจอันดี แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด จบสิ้นทั้งสุขภาพตนเองและผลงานที่สร้างสรรค์, ถ้าคุณเป็นคนไทยมีโอกาสก็รับชมหนังเรื่องนี้สักหน่อยนะครับ ยกย่องชื่นชมในความทุ่มเท แม้คุณภาพของผลงานจะเทียบไม่ได้กับความตั้งใจก็เถอะ

พระอภัยมณี วรรณคดีชิ้นเอกเรื่องหนึ่งของไทย ผลงานประพันธ์ของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ มีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. 2364-2366 แต่งๆหยุดๆ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. 2388 รวมเวลามากกว่า 20 ปี

สุดสาคร เป็นตัวละครหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณี เป็นลูกของพระอภัยมณีกับนางเงือก ขณะที่เธอช่วยเหลือพาเขาหนีมายังเกาะแก้วพิสดารหลบหนีจากผีเสื้อสมุทร ได้ตกหลุมรักและมีพยานรักหนึ่งคน, สุดสาครเกิดและเติบโตอยู่กับพระฤๅษี เป็นเด็กฉลาดแข็งแรง วันหนึ่งจับม้านิลมังกรได้ พระฤๅษีสอนวิชาให้แล้วเล่าเรื่องพระอภัยมณีให้ฟัง สุดสาครจึงออกเดินทางตามหาพ่อ

การเลือกวรรณกรรมชิ้นนี้มาทำเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นไทยเรื่องแรก ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เนื่องจาก พระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของกวีเอกเมืองไทย ที่มีทั้งความโด่งดัง ความงดงามของสำนวนโวหาร และเด็กไทยทุกคนจักเคยได้ร่ำเรียนศึกษามาแล้ว, ผมเองก็จดจำได้ว่า เคยเรียน ศึกษาเรื่องราวของพระอภัยมณี นางเงือก ผีเสื้อสมุทร ลูกของพระอภัยก็เช่น สินสมุทร สุดสาคร ฯ แม้จะจดจำเรื่องราวเปะๆไม่ได้ แต่ก็เข้าใจ และรู้ว่านี่คือวรรณกรรมเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย, กับเรื่องราวที่เหนือจินตนาการ (Fantasy) และการผจญภัยที่ถ้าให้สร้างเป็นคนแสดงคงเป็นไปแทบไม่ได้ (ในสมัยนั้น) คงไม่มีวรรณกรรมไทยเรื่องไหนอีกแล้ว ที่ควรค่าไปกว่าการดัดแปลงพระอภัยมณีเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น

ปยุต เงากระจ่าง หรือที่คนไทยตั้งฉายาท่านว่า Walt Disney เมืองไทย เป็นบรมครูด้านการ์ตูนเคลื่อนไหวของไทย เป็นอาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง และผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย, ตั้งแต่วัยเยาว์เด็กชายปยุตมีความหลงใหล ในตัวการ์ตูนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับบุคลิกของตัวตลก ในหนังตะลุงอย่างไอ้แก้ว ไอ้เปลือย ไอ้เท่ง รวมถึงตัวการ์ตูนแมว Felix จากหนังการ์ตูนอเมริกันเรื่อง Felix the Cat ของ Pat Sullivan ซึ่งเคยมีโอกาสเข้าไปฉายที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์บ้านเกิด, ต่อมาเดินทางมาศึกษาต่อกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2487 ที่โรงเรียนเพาะช่าง และต่อมาได้มีโอกาสทำให้ความฝันเป็นจริง โดยการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยสำเร็จเป็นเรื่องแรก ชื่อ เหตุมหัศจรรย์ เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้น ความยาว 12 นาที นำออกฉายเป็น รายการพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางตามหน้าหนังสือพิมพ์, สำนักข่าวสารอเมริกันได้มองเห็นความสามารถของ ปยุต เวลานั้นจึงได้มอบเงิน 10,000 บาท และส่งไปดูงานการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่ญี่ปุ่น

ปี พ.ศ. 2519 ปยุตจึงได้ลาออกจากการเป็น อาจารย์พิเศษที่เพาะช่าง เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการทำภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย สุดสาคร โดยมีลูกมือผู้ช่วยในการทำงานสร้างคือ นันทนา เงากระจ่าง บุตรสาวซึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยข้อจำกัดทางการเงินทุนและการสนับสนุน ทำให้การสร้างสุดสาคร เป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้ช่วยที่ทะยอยกันลาออกเพราะไม่ได้เงินเดือน ซ้ำร้าย ปยุต ยังต้องเสียดวงตาข้างซ้าย จากการตรากตรำตลอดเวลากว่า 2 ปี ด้วยทุนสร้างทั้งหมดกว่า 5 ล้านบาท มีภาพประกอบการทำภาพยนตร์ทั้งหมด 66,000 ภาพ และในที่สุด สุดสาคร ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกและเรื่องเดียวของไทยออกฉาย วันที่ 13 เมษายน 2522 ที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์ ด้วยความยาว 82 นาที

แม้คนไทยส่วนใหญ่จะยกย่องว่า ปยุต เงากระจ่าง คืออนิเมเตอร์คนแรกของเมืองไทย แต่ท่านเองกลับยกว่า เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน จิตรกรชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ท่านได้พบโดยบังเอิญ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484 ต่างหากที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็น อนิเมเตอร์คนแรกของเมืองไทย เพราะเขาเป็นคนชักชวนปยุต ให้กลายเป็นอนิเมเตอร์ แม้โชคร้ายที่เสน่ห์ทำฝันตนเองไม่เป็นสำเร็จ เสียชีวิตไปก่อน แต่ท่านคือแรงบันดาลใจ ให้ปยุต ทำภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของเมืองไทยสำเร็จได้

ผมดู สุดสาคร ด้วยความคาดหวังระดับหนึ่ง แล้วก็รู้สึกเสียดายที่ไปคาดหวังอะไรๆสูง คือถ้าผมเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ ยังไม่เคยดูภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Walt Disney หรืออนิเมะของญี่ปุ่นมาก่อน ได้ดูหนังเรื่องนี้ คงรู้สึกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ ในความงดงาม สวยงาม ชดช้อย และเรื่องราวที่แฝงแนวคิดของหนังเรื่องนี้ แต่โชคร้าย ที่ผมไม่ใช่ทั้งเด็กสิบขวบ และไม่ใช่ชาตินิยม ขณะดูหนังเรื่องนี้ ผมดิ้นไปดิ้นมา ทนทุกข์ทรมาน ไม่ได้เพราะความเจ็บปวด แต่อึดอัดที่ต้องทนดูผลงานที่ไร้ซึ่งความสนุกสนาน ขาดชั้นเชิง ลูกเล่น เทคนิคในการนำเสนอ มีแค่ความสวยงามของภาพวาด และดนตรีไทยอันสุดไพเราะเท่านั้น

พูดถึงปัญหาก่อนแล้วกัน อนิเมชั่นที่ทำด้วยคนๆเดียว จะมีข้อจำกัดในความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เพราะไม่มีใครให้ถกเถียง เสนอแนะอะไรใหม่ๆ เขาจะจมอยู่กับความเชื่อ (Pride&Ego) ของตนเอง เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นยอดเยี่ยมเป็นที่สุด ไม่มีใครคอยเป็นตาชั่งซ้ายขวา บอกเขาว่า นี่ใช้ได้ นี่ใช้ไม่ได้, สำหรับอนิเมชั่นขนาดยาวทั้งหลายที่ผมเคยดูมา ก็มีสุดสาครเนี่ยแหละ ที่ผมได้ยินว่าเป็นผลงานของคนไม่กี่คน (อาจจะคนๆเดียวด้วยซ้ำในช่วงท้ายๆ) อย่าง Snow White ของ Disney เห็นว่าใช้ศิลปินเป็นร้อยๆคน (บ้างว่า 570 บ้างว่า 750 คน) แค่นี้ก็เทียบกันไม่ได้แล้วนะครับ คนหลักสิบมีหรือจะไปสู้คนหลักร้อยได้ยังไง

ผมสังเกตเห็นอนิเมชั่นการเคลื่อนไหวของตัวละครในสุดสาคร มีลักษณะเหมือน ‘การเต้นรำ’ คือโยกเป็นจังหวะ ซ้ำไปซ้ำมา เหมือนบทกลอนที่มีความคล้องจองของต้นฉบับพระอภัยมณี, ตอนที่ผมคิดได้ว่า ท่าเคลื่อนไหวเหล่านี้เหมือนท่าเต้นโยกไปโยกมา ก็เกือบจะชอบแล้วนะครับ แต่พอถึงตอนสุดสาครผจญภัยผ่านเมืองผีดิน ผมส่ายหน้าหนีเลย มันหาความสวยงามของการเคลื่อนไหวซ้ำๆนี้ไม่ได้แล้ว มีความรู้สึกบางอย่างกับฉากนี้ที่ผมสัมผัสได้ คือ ความอ่อนล้า เบื่อหน่าย หมดเรี่ยวแรง ปนความเกลียดชัง เจ็บปวดของคุณปยุต ที่เหมือนจงใจใส่ให้เห็นเน้นๆ แสดงความรู้สึกออกมาว่าฉันกำลังทุกข์ทรมานเหมือนผีดิบที่อาศัยอยู่ในนรก จากการวาดรูปจำนวนมากมายมหาศาล การถูกทรยศ หักหลัง ทอดทิ้งจากผู้ร่วมงาน และนายทุนผู้มีทัศนคติคับแคบต่อภาพยนตร์อนิเมชั่น

สิ่งหนึ่งที่ผมต้องยอมรับสุดๆในหนังเรื่องนี้ คือคุณปยุต วาดภาพสวยมากๆ แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าเมื่อทำออกมาเป็นหนังแล้วจะสนุก ดูดีได้, สิ่งที่หนังเรื่องนี้ขาดไปคือชั้นเชิง ลูกเล่นในการนำเสนอ อย่างฉากการต่อสู้ของสุดสาคร มันช่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรเลย มีแค่ฟันซ้ายฟันขวา ต่อยซ้ายต่อยขวา หลบซ้ายหลบขวา แค่นี้นะครับ ไม่ได้มีความน่าตื่นเต้น ลุ้นระทึกอะไรเลย (ยกเว้นเพลงประกอบที่สนุกสนานมากๆ) เหมือนว่าคุณปยุตมองแต่แนวคิดกว้างๆ ของการนำเสนอ เช่นฉากนี้ต่อสู้นะ แต่ไม่ได้คิดลงลึกถึงรายละเอียดการนำเสนอ ว่าจะทำออกมายังไงให้ดูตื่นเต้น น่าสนใจ ดึงดูด มีความแปลกใหม่

หรืออย่างการใส่นกฮูกเข้ามาในหนัง (ในพระอภัยมณีไม่มีนกฮูกนะครับ) นี่ดูก็รู้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก Snow White (1937) ของ Disney เกี่ยวกับการใช้สรรพสัตว์เข้าช่วยสร้าง Comedy ของหนัง แต่นกฮูกตัวนี้ไม่ได้เข้ากับบริบทของหนังเลย, อย่าง Snow White เขาไม่ได้ใส่อะไรมั่วๆ ล้วนมีความหมาย ที่มาที่ไป เหตุผลประกอบชัดเจน ใส่ภาพอีกาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความตาย หรือเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่องช้า แล้วนกฮูกในสุดสาคร หมายถึงอะไรกัน? นี่มันเหมือน อยากใส่อะไรก็ใส่มา ฉันอยากใส่เจ้านี่ก็ใส่มาเลย แบบนี้เขาเรียกว่า ลอกเลียนแบบแนวคิดนะครับ ไม่ใช่ได้แรงบันดาลใจมา

ที่ผมชอบสุดในสุดสาคร คือ ชีเปลือย ถึงปากบอกว่าละทุกอย่างแล้ว แต่จิตใจกลับยังละอะไรไม่ได้สักอย่าง, ชีเปลือยในปัจจุบันยังมีอยู่ในอินเดียนะครับ เสื้อผ้าไม่ใส่ ทุกวันจะลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคา แล้วทาตัวด้วยขี้เถ้า เงินท้องไม่ใช้ แต่มีสาวกเพียบ (สงสัยได้เงินบริจาคเยอะ) อยากเห็นเป็นยังไง คลิกลิ้งค์ดูนะครับ มีรูปด้วย เรต 15+

LINK: http://www.unigang.com/Article/18135

เสียงพากย์ไม่ค่อยโดนใจผมเท่าไหร่ เหมือนว่าพวกเขาจะทีเล่นทีจริงเยอะไปเสียหน่อย ทำให้ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ตลกบ้าง (ส่วนใหญ่จะไม่ตลก) ก็พอรับได้, สิ่งที่ผมรู้สึกขัดใจสุดๆ คือสุนทรภู่เป็นวรรณกรรมร้อยกรอง แต่บทพูดกลับเป็นร้อยแก้ว กลัวว่าคนไทยจะไม่เข้าใจบทกลอนหรือยังไงกัน? หรือหานักขับกลอนเพราะๆไม่ได้ ลองจินตนาการดูเองนะครับ ว่าถ้าได้เสียงพากย์แบบร้องกรอง จะทำให้หนังดูดีมากขึ้นแค่ไหน, ผมว่านักพากย์ไทยสมัยนั้นเก่งๆเยอะนะครับ เคยได้ยินว่าบางทีคนเดียวพากย์ทั้งเรื่อง ต้องทั้งท่องบท จำบท บางทีดั้นสด ไม่มีบท คำพากย์ให้ นั่นคือเมืองไทยยุคนั้น เต็มไปด้วยสุดยอดนักพากย์ ปัจจุบันหายหมด เหลือที่ดังๆอีกไม่ค่อยมากแล้ว

เพลงประกอบถือว่าโดดเด่นมาก ฟังจาก Youtube คุณภาพเสียงอาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ผมก็รู้สึกได้ว่าดนตรีไทย เด่นมากๆ (อาจจะเด่นกว่าหนังเสียงอีก) ใช้เป็นพื้นหลังบรรเลงประกอบ สามารถสร้างบรรยากาศ อารมณ์ได้หลากหลาย พอบรรเลงจังหวะเร็วก็เกิดความตื่นเต้นสนุกสนาน บรรเลงช้าๆ ซึ้งๆ ก็เกิดความโศกเศร้าโหยหา โห! นี่เจ๋งเป็นบ้าเลย ดนตรีไทยก็ทำได้! น่าจะมีหนังไทย/ละครไทย เอาไปทำเป็นแบบอย่างบ้างนะครับ นี่ทำให้ได้กลิ่นอายของความเป็นไทยที่ลงตัวมากๆ

สุดสาครเป็นหนังไทยที่มีความตั้งใจดีมากๆ มีความทุ่มเทพยายาม ของบรมครูปยุต ที่ควรค่าแก่การยกย่องมากๆ แต่ผมอยากให้คุณยกย่องที่ตัวของท่าน ไม่ใช่ที่ผลงาน ซึ่งไม่ได้มีความยอดเยี่ยมนัก, บอกตามตรงดูจบแล้วผมอยากเห็นภาคต่อนะครับ การทำเรื่องราวค้างไว้แบบนี้มันรู้สึกหงุดหงิดยังไงชอบกล อะไรที่มันค้างๆคาๆ ทำอะไรไม่เสร็จ ก็เหมือนคนขี้ไม่สุด ประมาณนั้น แต่ฝันนี้คงไม่มีวันเป็นจริง

หลังเสร็จจากหนังเรื่องนี้ คุณปยุตก็หมดความตั้งใจในการอนิเมชั่นโดยสิ้นเชิง มิได้ทำภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องใดอีกหลังจากนี้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 บริษัทของญี่ปุ่น ได้จ้างทำภาพยนตร์เพื่อการศึกษาสำหรับสตรี เรื่อง ชัยชนะของสาวน้อย (My Way) ที่ถือเป็นเรื่องสุดท้าย ปิดฉากจบสิ้นตำนานอนิเมชั่นเมืองไทยยุคบุกเบิก, อาจารย์ปยุตถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขณะอายุ 81 ปี

“ตัวการ์ตูนไม่ต้องกิน ทำไมถึงแพงอย่างนี้ จ้างคนเล่น ไม่ดีกว่าหรือ” นี่แหละครับทัศนคติคนไทย กบในกะลาครอบ ผมขอประดิษฐ์คำ ดัดแปลงจากคำในพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 6 เรื่องเวนิสวาณิช (แปลจากต้นฉบับของ William Shakespeare เรื่อง The Merchant of Venice) ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก’ แปลงเป็น ‘ชนชาติใดไม่มีศิลปะในอุดมการณ์ ในสันดานเป็นคนไม่รู้จักคุณค่าของตนเอง อีกทั้งใครไม่เห็นค่าของงานศิลปะ จิตใจเขานั้นคงมองไม่เห็นอะไรสวยงาม’

แนะนำกับคนที่อยากชื่นชมผลงาน ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย และชื่นชอบวรรณกรรมเอกของสุนทรภู่ เรื่องสุดสาคร

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน

TAGLINE | “ภาพยนตร์ไทย สุดสาคร ของปยุต เงากระจ่าง มีภาพวาดที่สุดสวย และเพลงประกอบดนตรีไทยสุดไพเราะ แต่ก็เท่านั้น ที่เหลือคือหายนะ”
QUALITY | UNDERESTIMATE
MY SCORE | SO-SO

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
First of Animation Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] สุดสาคร (พ.ศ. 2522)  : ปยุต เงากระจ่าง ♥♥ […]

%d bloggers like this: