หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗) : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ♥♥♥♥
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เกิด เติบโตขึ้นในกรุงเทพหมานคร พบเห็นความวุ่นวาย เร่งรีบร้อน เห็นแก่ตัวของชาวเมืองหลวง ตั้งใจถ่ายทอดวิถีชีวิต โลกทัศนคติผู้คน ด้วยมุมมองส่วนตน ‘Magical Realism’ เว่อวังอลังการสุดโต่ง สรวงสวรรค์หรือขุมนรกก็แล้วแต่ใครจะมองเห็น
ถึงงานภาพของหนังเรื่องนี้ จะมีความสวยงดงาม ฟ้าสดใสสักเพียงไหน แต่สิ่งที่ผมมองเห็นกลับคือ ‘ขุมนรก’ ดินแดนเต็มไปด้วยบุคคลมักมาก เห็นแก่ตัว กอบโกย ชิงดีชิงเด่น ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง พยายามหาทางดิ้นรนเพื่อให้ตนเองมีหาง (สำนวน ยกหางตัวเอง) สัญลักษณ์ของความเย่อหยิ่งจองหอง ทะนงตน ยกตนว่าดีว่าเก่ง ทั้งๆแท้จริงไม่ได้มีอะไรน่ายกย่องสรรเสริญแม้แต่น้อย
ผมเคยอาศัยอยู่ในกรุงเทพหมานคร ช่วงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และทำงานสองสามปีแรกๆ ไม่เคยพบเห็นมุมไหนของสถานที่แห่งนี้คือสรวงสวรรค์ เดินสวนกันทุกวันกลับไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามพูดคุย ผู้คนเร่งรีบเบียดเสียดขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า แย่งกันโบกแท็กซี่ ไหนละมารยาทการแบ่งปัน แต่แปลกเรื่องพรรค์นี้คนส่วนใหญ่กลับเพิกเฉย ลอยชาย เห็นผิดเป็นชอบ ‘กงจักรคือดอกบัว’ พยายามอย่างยิ่งจะปรับตัว พึงพอใจกับความเหนื่อยยากแสนสาหัสนั้น คาดหวังสักวันหนึ่งฉันต้องประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง สามารถโอ้อวดต่อญาติพี่น้อง ผองเพื่อนสนิทมิตรสหาย อิจฉาเราสิ ทำได้แบบนี้หรือเปล่า … เพื่ออะไร?
ค่านิยมของโลกยุคสมัยนี้ พยายามเสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำพา ให้มนุษย์มีความ ‘เพ้อฝัน’ ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง รู้จักขยันขันแข็ง อดทนทำงาน (ในสิ่งที่มักไม่เป็นประโยชน์สักเท่าไหร่) เพื่อให้สำเร็จลุล่วงดั่งประสงค์เป้าหมาย ชีวิตต่อไปจะได้สุขสบายไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยดิ้นรน
แต่ชีวิตคนเราจำเป็นต้องดิ้นรนขนาดนั้นด้วยหรือ? ต้องให้ประสบความสำเร็จ? ต้องให้ร่ำรวยเงินทอง? ต้องให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก? และสำหรับผู้ที่สามารถไต่เต้าไปจนถึงจุดๆนั้น มันคุ้มค่าแล้วหรือ? อะไรคือเป้าหมายต่อไป? เมื่อไหร่จะรู้จักหยุดเพียงพอ?
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียน ภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เริ่มทำงานโฆษณากับ บริษัท ลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), กำกับเรื่องแรก ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในประเทศ แต่สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ
ผลงานถัดมา หมานคร แรกสุดคือหนึ่งในร้อยแปดพล็อตที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ครุ่นคิดจดบันทึกค้างไว้ แล้วโยนทิ้ง เป็นเรื่องประชดกรุงเทพฯ เอาสนุก ต่อมุขไปเรื่อยๆ กระทั่งว่าศรีภรรยา ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ (นามปากกา คอยนุช) มาเห็นแล้วชื่นชอบ ขอนำไปพัฒนาแต่งต่อ ก็ไม่ได้ว่าอะไรจนกระทั่งเสร็จสรรพนำมาให้อ่าน
“หู! ดีกว่าเดิมเยอะเลย ไปไกลมากเลย มีเรื่องความรักเข้ามา ทำให้ทุกอย่างแข็งแรง ไอ้มุขประชดทั้งหลายก็เป็นแค่ระหวางทาง แค่ชูรสที่จะพาเรื่องไป แต่ความรักทำให้เรื่องแรงขึ้นมา อ่านเสร็จเราก็รู้สึกว่าชอบมากเลย”
– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
สิ่งโดดเด่นของนวนิยาย (ตามคำบอกเล่าของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) คือรูปแบบดำเนินเรื่องที่ไม่มีบทพูดสนทนา ทุกอย่างคือบทบรรยาย แล้วใช้ลักษณะวนซ้ำไปซ้ำมาเหมือนเด็กเขียน อาทิ “ในวินาทีนั้น เธอรู้สึกว่าเธอมีความสุขเหมือนตอนเธอที่เขย่าขา แต่เธอไม่ต้องเขย่าขา” หรือ “เหมือนที่เธอถูพื้น แต่เธอไม่ต้องถูพื้น”
สำหรับการดัดแปลงบทภาพยนตร์ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ได้ร่วมกับศรีภรรยา ถือเครดิตแต่เพียงผู้เดียว (แบบเดียวกับตอน ฟ้าทะลายโจร)
“ตอนเขาเขียนนิยายเราก็ไม่ได้ไปยุ่ง … ตอนเราเขียนบทเขาก็ไม่ได้มายุ่งกับเรา พอเราเขียนเสร็จเราก็เอาให้เขาอ่าน เขาก็จะคอมเมนต์เหมือนคนดู ตรงนี้ไม่สนุก อะไรอย่างนี้”
เรื่องราวของ ป๊อด (มหาสมุทร บุณยรักษ์) หนุ่มบ้านนอกเข้ากรุงฯ พร้อมคำทักของยายว่า ‘เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ระวังจะมีหางงอกออกมาจากก้น’ เริ่มต้นได้ทำงานเป็นพนักงานโรงงานปลากระป๋อง แต่ลาออกเพราะไม่อยากตัดนิ้วตัวเองใส่กระป๋อง จากนั้นสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย พบเจอตกหลงรัก จิน (แสงทอง เกตุอู่ทอง) พนักงานทำความสะอาดซึ่งหมกมุ่นกับการทำความสะอาดและจัดระเบียบสิ่งของ เธอเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองอ่านหนังสือปกขาวเล่มหนึ่งที่ตกลงมาจากฟ้านั้นออก
ความตั้งใจแรกสุดของผู้กำกับ อยากได้พี่ป๊อด ธนชัย อุชชิน (นักร้องนำวง Modern Dog) และ จินตหรา พูนลาภ รับบทคู่พระ-นาง แต่รายแรกไม่เคยแสดงอะไรมาก่อนเลยขาดความมั่นในตนเอง แถมประชดด้วยการเรียกค่าตัวสูงสุดโต่ง! ใครจะไปเอา ส่วนรายหลังเหมือนจะยุ่งๆติดงานอื่นอยู่, สุดท้ายเลยตัดสินใจโอบรับไดเรคชั่นของ Aki Kaurismäki คัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ไร้ชื่อ ให้เล่นหน้าตายแข็งกระด้างทึ่มทื่อ เหมือนหุ่นยนต์ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ (นี่ก็สะท้อนลักษณะชาวกรุงฯ ไม่น้อยทีเดียว)
เกร็ด: Working Title ในตอนแรก เห็นว่าตั้งใจใช้ชื่อ Modern Dog แต่พอไม่ได้พี่ป๊อดมาเล่น ก็เลยเปลี่ยนเป็น Citizen Dog, หมานคร เล่นคำกับ กรุงเทพมหานคร
มหาสมุทร บุณยรักษ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๓) ชื่อเล่น จีน บุตรของ พิจิตรา บุณยรัตน์พันธ์ ดีไซเนอร์ เจ้าของห้องเสื้อชื่อดัง พิจิตรา, เรียนจบนอก จากประเทศอังกฤษ หวนกลับมาถ่ายแบบ โฆษณา แสดง Music Video ตั้งวง Saliva Bastards, สำหรับภาพยนตร์ได้รับการติดต่อจาก วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง พอตอบตกลงก็ไปเรียนการแสดงกับครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน แต่แค่ไม่กี่วันเพราะผู้กำกับอยากให้แสดงความเป็นธรรมชาติของตนเองออกมามากกว่า, รับบท ป๊อด ชายหนุ่มผู้ไร้ซึ่งความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาย หรือเป้าหมายชีวิต เสียบปลั๊กยังผิดอุปกรณ์ไฟฟ้า เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ อะไรเข้ามากระทบกระทั่งก็เคลิบเคลิ้มคล้อยตาม ตกหลุมรักหญิงสาว มองไปทางไหนก็เห็นแต่หน้าเธอ พอถูกขอให้แยกกันอยู่ก็ได้ยินแต่คำพูดประโยคนั้น ถึงกระนั้นก็ปลักหลักรักมั่นคงไม่เสื่อมคลาย
“ทุกสิ่งที่จินทำ เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์’ เสมอสำหรับป๊อด”
แสงทอง เกตุอู่ทอง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๕) นักแสดง-นางแบบชาวไทย เข้าสู่วงการจากโครงการ STICK & STAR ของบริษัทกันตนา คว้ารางวัลชนะเลิศ กลายเป็นนางแบบเสื้อผ้าแฟชั่น ชุดว่ายน้ำ เดินแบบแคทวอล์ค ได้รับการติดต่อจาก วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), รับบท จิน(ตนาการ) หญิงสาวบ้านนอกผู้ได้รับของขวัญจากฟากฟ้า (เลยชอบใส่ชุดสีฟ้า) คือหนังสือปกขาวที่ไม่มีใครไหนสามารถอ่านออก เลยเกิดอาการครั่นคัน หมกมุ่น ตั้งมั่น ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อค้นหาใครสักคนบอกได้ว่าเนื้อหาข้างในคืออะไร เริ่มจากทำงานพนักงานทำความสะอาด เข้าใจผิดฝรั่งคนหนึ่งชื่อปีเตอร์ เกิดแรงบันดาลใจกลายเป็นนักประท้วง NGO เดินขบวนเรียกร้องให้คนเลิกใช้พลาสติก เก็บสะสมทำความสะอาดขวดเปล่าจนกองพะเนินสูงเท่าภูเขา แต่เมื่อมีโอกาสพบเจอปีเตอร์อีกครั้ง รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือปกขาวเล่มนี้ ชีวิตก็หมดสิ้นอาลัยตายอยาก ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายย่อยยับเยิน
“วันไหนที่จินอ่านหนังสือเล่มนี้ออกนะ จินก็อาจจะกลายเป็นคนพิเศษ หรืออาจจะมีหางงอกออกจากก้นเหมือนคนพวกนั้นบ้างก็ได้”
สำหรับตัวละครอื่นๆ ขอกล่าวถึงเพียงนัยยะความหมายที่สอดไส้ซ่อนเร้นไว้ก็แล้วกันนะ
ยอด (สวัสดิ์วงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เพื่อนสนิทที่โรงงานปลากระป๋อง มีปรัชญาชีวิต ‘อะไรที่เรายิ่งตามหา เราก็หาไม่เจอ แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆมันจะมาหาเราเอง’ รู้จักกับป๊อด โดยบังเอิญเพราะนิ้วชี้สลับกัน คือต่างเป็นคนไร้เป้าหมายทิศทางชีวิต ต่อมาแนะนำให้รู้จักกับ หมวย (พาชื่น มาไลยพันธ์) ธิดาจักรพรรดิ์ ผู้มีความเริด เชิด หยิ่ง ทำตัวไฮโซเจ้าหญิง แต่ความจริงก็แค่หลงตัวเองทำงานสาวเสิร์ฟต่ำต้อย ต้องการเพียงถูกลวนลามร่วมรักบนรถประจำทางแออัด
ยาย (เรือนคำ แสนอินทร์) ตัวแทนจิตสำนึกของป๊อด เวียนว่ายตายเกิดไปไหนก็ยังวนอยู่ในความทรงจำ ทำให้เขาไม่กล้าทำอะไรนอกลู่นอกรอย (ไม่อยากฆ่าตัวตายแล้วไปเจอกับยาย) ช่วงท้ายมาเข้าฝัน กำลังอยู่เติบโตอยู่ในครรภ์ของจิน
คง (ณัฎฐา วัฒนะไพบูลย์) มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ตายไปแล้วเป็นซอมบี้ สะท้อนตรงๆถึงคนทำงานอาชีพนี้ ไม่เคยเห็นหลับนอน โทรเรียกตีสามยังมารับ แถมหมวกกันน็อคไม่เคยสวมใส่ (เลยถูกฝนตกเป็นหมวกกันน็อค น็อคกระแทกศีรษะ สิ้นชีวิตตายคาที่)
ติ๊ก (ภคภัทร บุญสมธรรม) ชายผู้ความจำเสื่อม แต่แสดงความรักต่อคนรอบข้างด้วยการเลียแข้งเลียขา ดูจากเครื่องแต่งกายไม่ต่างกับพนักงานบริษัท คนชนชั้นกลาง วันๆทำงานตามคำสั่งเจ้านาย เลียแข้งเลียขา ว่าไปไม่ต่างจากหมาวัด ขี้ข้าคนมีเงิน ตำแหน่ง ชนชั้นสูง คาดหวังตัวเองจะได้เติบโตก้าวหน้า สักวันหนึ่งมีหมาเป็นลูกน้องตนเองได้บ้าง
น้องแหม่ม (ภัทรียา สนิทธิเวทย์) สาวอายุ ๒๒ แต่สิงสู่อยู่ในร่างเด็กวัย ๘ ขวบ [นี่นึกถึงหนัง Palme d’Or เรื่อง The Tin Drum (1979) เด็กชายหยุดอายุตัวเองไว้ที่สามขวบ] สะท้อนการเลี้ยงดูของพ่อ-แม่ ในสังคมเมือง ที่มักให้อิสระ ปล่อยทิ้งขว้าง ไม่ค่อยแยแสสนใจเลี้ยงดูแล ลูกๆหลานๆจึงเติบโตขึ้นใน Taxi มีความก้าวร้าว หยาบคาย หัวรุนแรง โลกส่วนตัวสูง ด้วยเหตุนี้เธอเลยมีเพื่อนคือ ธงชัย ตุ๊กตาหมี (Ted?) ที่เป็นเพื่อนคุยในจินตนาการ ติดนิสัยพูดมาก สูบบุหรี่ และภายหลังเมื่อโทรศัพท์เข้ามาแทนที่ ก็โฟนยาวหลับในสาย
ปีเตอร์ (Stephens Chuck) ภายนอกคือฝรั่งสไตล์โบฮีเมียนที่คอยแจกใบปลิวให้ผู้คนเดินผ่านไปมา ครอบครองหนังสือปกขาว พบเห็นตำรวจก็วิ่งหนี แสดงว่ามีลับลมคมใน มาเฉลยภายหลังถึงรับรู้ว่า หมอนี่มีภายในตรงกันข้ามกับสิ่งที่ใครๆพบเห็นรู้จัก
คุณชายใหญ่ (ทัศนัย ชัยทรัพย์) & พลับพลึง (สุธีเทพ ศักดิ์พันธ์พนม) ทั้งสองต่างสะท้อนโลกเพ้อฝันจินตนาการของจิน เห็นอยากให้ทั้งคู่อยู่ร่วมสมหวัง แต่ภายหลังพอจบเจอความสนใจอะไรใหม่ๆ ก็หลงลืมช่างหัว ทอดทิ้งขว้าง ไม่สลักสำคัญอีกต่อไป
ถ่ายภาพโดย เรวัตร ปรีเลิศ ขาประจำถ่ายงานโฆษณาเกือบทุกเรื่องของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งตอน ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ประจำตากล้องกองสอง
ตรงกันข้ามกับ ฟ้าทะลายโจร ที่เป็นการย้อนกลับไปหาอดีตจึงสามารถใส่ความฉูดฉาดจัดจ้าน, หมานคร คือภาพยนตร์ที่มุ่งหน้าสู่ความ Modern โลกอนาคตของกรุงเทพฯ งานภาพจึงต้องการโทนสีที่อ่อนลง (ขาว-ฟ้า) และมีลักษณะสะท้อนวิสัยทัศน์กว้างไกล เลนส์ Wide จึงคือคำตอบของการเลือกใช้ ผลลัพท์มีความบิดเบี้ยวแบบแปลกๆ มอบสัมผัสอันเหนือจริง (Surrealist)
ขณะที่ไดเรคชั่น ให้สัมผัสคล้ายๆผลงานของ Wes Anderson มักถ่ายหน้าตรงไปตรงมา จัดองค์ประกอบ วางนักแสดง ให้อยู่กึ่งกลางเฟรม เคลื่อนไหลกล้องด้วยทิศทางระนาบเส้นตรง และฉูดฉาดกับการจัดสี (แต่เทคนิคนี้ทำในกระบวนการ Post-Production)
ความที่หนังมีการใช้ Visual Effect ค่อนข้างเยอะ ทำให้ผู้กำกับต้องพูดคุยกับแผนก Visual Effect ตระเตรียมภาพร่าง วาด Storyboard ไว้พร้อมสรรพ ถึงสามารถถ่ายทอดผลลัพท์ในงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างพอดิบพอดี
โรงงานปลากระป๋อง กลิ่น Modern Time (1936) ลอยมาหึ่งๆ ได้ยินว่ากลิ่นคาวปลารุนแรงมาก
– โรงงานปลากระป๋อง ไม่เพียงล้อเลียนลักษณะการแออัดยัดเยียดเบียดเสียดของผู้โดยสารรถเมล์ แต่ยังสะท้อนถึงความสำเร็จรูปของชีวิตคนเมือง อะไรๆต้องเรียบง่าย เปิดปุ๊ปกินได้ปั๊ป รวดเร็วทันใจ คุณภาพขึ้นอยู่กับนิ้วชี้ของพนักงาน
– นิ้วชี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าชี้ มักใช้สำหรับกำหนดทิศทาง ชี้นกชี้ไม้ หรือคือเป้าหมายชีวิต, ต้องขยับเขยื้อนอยู่กับที่ไม่ได้ หมายถึง ชีวิตที่ไม่อาจหยุดอยู่นิ่งสงบกับที่, นิ้วชี้สูญหาย ก็คือการไร้ซึ่งเป้าหมาย, พบเจอสลับกับยอดชาย เป็นการรับอิทธิพล แรงบันดาลใจ เป้าหมายจากคำแนะนำของคนรอบข้าง (คือตนเองไม่มีเป้าหมายชีวิตอะไร เลยต้องมองหาจากผู้คนรอบข้าง)
สมุดปกขาว สีแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตกลงจากฟากฟ้าประทาน ให้จิน(ตนาการ)เคลิบเคลิ้มหลงใหล ทั้งๆก็ไม่รู้หรอกว่าเนื้อในใจความว่ากระไร จึงพยายามเพ้อฝันหวาน ครุ่นคิดหาหนทาง เผื่อว่าสักวันอาจได้เข้าถึงสิ่งโชคชะตาลิขิต เติมเต็มวัตถุประสงค์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้
แรกเริ่มถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง เพ้อฝัน ที่แสนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีอะไรตรงหน้าปกก็ราวกับชีวิตลิขิตเขียนเอง แต่เมื่อหญิงสาวรับทราบข้อเท็จจริง นี่แปลว่าเนื้อภายในกลับมืดมิดดำสนิท ลำแสงสว่างนี้จึงดับมอดสูญสิ้น เจ้าสมุดเลยโบยบินเป็นอิสระดั่งนก สู่ท้องฟากฟ้าอันไร้ขอบเขตกรงขัง
ถ้าผมดูไม่ผิดเนื้อหาภายในเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ดินแดนแห่ง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”
Sequence ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในหนัง คือสโลโมชั่นเมื่อป๊อดหวนกลับบ้านนอกคอกนา นี่เป็นการสะท้อนเวลา/นาฬิกาชีวิตของคนเมือง-ชนบท มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
– คนเมืองกรุงฯ ทำอะไรเร่งรีบร้อน ต้องรวดเร็วทันใจ
– คนบ้านนอก ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่มีอะไรต้องเร่งรีบ Slow-Life
ทำไมอยู่ดีๆ การที่ป๊อดไม่มีหาง ถึงกลายเป็นข่าวใหญ่คึกโคมออกโทรทัศน์ โด่งดังไปทั่วกรุงเทพหมานคร? ถ้าเป็นแต่ก่อนคนชั่วหายาก เวลาใครทำผิดร้ายแรงจึงตกเป็นข่าวใหญ่ ยิ่งถ้าโดนโทษประหารด้วยแล้ว ต้องขึ้นหน้าหนึ่งเพื่อเป็นบทเรียนเสี้ยมสอนใจ แต่ยุคสมัยนี้นั้นกลับตารปัตร คนชั่วมีหางพบเห็นเกลื่อนเมือง บังเอิญหาเจอใครสักคนไร้หางแต่กำเนิด รู้เข้าเลยต้องยกยอปอปั้นสรรเสริญ กลายเป็นของ RARE หายาก แทบไม่มีอีกแล้วบนโลกนี้
สำหรับซีน Icon ของหนัง กองขวดขยะทับถมสูงเป็นภูเขาเลากา ของเคยมีประโยชน์แต่เมื่อใช้สอยแล้วทิ้งเลยกลายเป็นสิ่งไร้ค่า และเมื่อหนุ่ม-สาว ปีนป่ายมาถึงยอด พวกเขาจึงเสมือนอยู่ตำแหน่งสูงสุดของความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ถึงฉากนี้จะดูเว่อวังมากๆ แต่ความเป็นจริงผมว่าปริมาณขยะพลาสติกของทั้งโลก ‘ต่อวัน’ ก็น่าจะปริมาณเท่านี้แหละนะ ไม่เว่อไปเท่าไหร่หรอก
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นผู้กำกับที่มีลายเซ็นต์ แทรกใส่มุมมองสะท้อนสังคมไว้ในผลงานภาพยนตร์ของตนเอง สำหรับหมานครคือเรื่องขยะพลาสติก, ครั้งหนึ่งจากหนังเรื่อง The Graduate (1967) เคยยกย่องเจ้าสิ่งนี้ว่าคือ ‘อนาคต’ ของมนุษยชาติ แต่แค่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้นใครๆจึงได้ล่วงรับรู้พิษสง อันตราย ปริมาณอันมากมายมหาศาลย่อยสลายไม่ได้ ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนรุ่นถัดๆไป จนแล้วจนรอดถึงปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยมีหน่วยงานองค์กรไหนจริงจัง (นอกจากพวก NGO ที่รณรงค์กันอย่างคลุ้มคลั่ง) ในการแก้ปัญหานี้เสียที เอาแต่เสี้ยมสอนให้เกิดความตระหนัก กลับไม่มีใครรู้จักสำนึกตน พวกบริษัทขายน้ำนี่ตัวดีเxยๆเลย
ตัดต่อโดย ดุษณีย์ ผุยหนองโพธิ์ ผลงานเด่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มหานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), วัยอลวล ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
หนังเล่าเรื่องผ่านเสียงบรรยายของพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง ผู้มีความชื่นชอบนิยายเล่มนี้อย่างมาก เคยให้คำนิยามว่า ‘เซอร์ เซอร์ แตก’ ด้วยน้ำเสียงอันมีลีลาเย้ายียวน กวนประสาท น่าถีบ ถือว่าสอดคล้องเหมาะเจาะกับเรื่องราวหมาๆที่เล่าออกจากปากเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าแทนบทพูดสนทนา ความคิดอ่านของตัวละครแทบทั้งหมด (แต่ตัวละครก็มีบทพูดนะ เฉพาะกิจธุระสำคัญและมีความคมคายจริงๆเท่านั้น)
เสียงพี่ต้อมอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ ต้องมีชื่อตอนกวนๆปรากฎขึ้นคั่นเพื่อแนะนำตัวละคร/เรื่องราว แทรกขึ้นมาอีก อาทิ
– คงเดช มอเตอร์ไซค์ผี
– ยอด เพื่อนร่วมนิ้ว
– หมวย ธิดาจักรพรรดิ์
– น้องแหม่ม เด็กหญิงหรือหญิงสาว
– ธงชัย ตุ๊กตาหมีที่ต้องพบกับเรื่องเศร้า
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
สำหรับเรื่องนี้ นำบทเพลง …ก่อน (พ.ศ. ๒๕๓๗) ซิงเกิลจากอัลบัมชุดแรกของ Modern Dog แต่งโดย ปฐมพร ปฐมพร (เพลงเดียวของวงที่ผู้แต่งไม่ได้เป็นสมาชิกวง) มาเป็น Main Theme แล้วทำการเรียบเรียงหลากหลาย Variation เพื่อให้สะท้อนเรื่องราวอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนไป อาทิ อะแคปเปลลา (A cappella), เปียโน, ไวโอลิน, กีตาร์, อิเล็กโทน/คีย์บอร์ด และฉบับขับร้องโดย มหาสมุทร บุณยรักษ์
หลายครั้งของหนังก็ใช้บทเพลง ทำเป็น Music Video แทนการเล่าเรื่อง อาทิ
– Opening Credit บทเพลง …ก่อน ขับร้องประสานเสียง อะแคปเปลลา (A cappella)
– แม่สาวเสื้อฟ้า คำร้อง-ทำนองโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, ขับร้องโดย วันชนะ เกิดดี
– เพลงแรพการเดินทางของยาย คำร้อง-ทำนองโดย ก้องเกียรติ เรือนน้อย, ขับร้องโดย ดิเรก อมาตยกุล
– ขณะกำลังเดินประท้วง บทเพลงเพื่อมวลชน ขับร้อง/แต่งโดย จิ้น กรรมาชน
– คู่พระนางหวนกลับมาพบเจอกัน บนยอดภูเขากองขยะ บทเพลง ทุกคืนวัน ขับร้อง/แต่งโดย มหาสมุทร บุณยรักษ์
“ผมเกิดกรุงเทพนะ แล้วก็เข้าใจเมืองนี้ ส่วนใหญ่ก็จะรวมๆ ทุกอย่างลงไป มีแต่ความวุ่นวาย รถติด เราต้องทำใจให้อยู่ในเมืองนี้ให้ได้ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอะไรได้ อย่างที่บอกเราเป็นหมาในเมือง ต้องทำใจแล้วมีความสุขกับมัน”
– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
ฉากจบ Ending Credit กับวงดนตรีคนตาบอด เป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ มีหลายสิ่งอย่างมากมายในกรุงเทพหมานคร ที่ผู้อยู่อาศัยจำเป็นต้อง ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ ตามืดบอดไม่ใคร่มองสนใจ ถึงสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในมหานครแห่งนี้
คำถามคือ เราจำเป็นต้องอดรนทนฝืน ต่อความว้าวุ่นวายของกรุงเทพฯด้วยหรือ? สำหรับคนที่มีความเพ้อใฝ่ฝัน จมปลักในจินตนาการ ตกหลุมรักระบบทุนนิยม คลั่งไคล้วัตถุนิยม นั่นคือมหานครที่สามารถสนองความต้องการของมวลชนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจักสามารถไปถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จ เพราะเมื่อมีผู้ชนะย่อมพ่ายแพ้ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาสามารถ และโชคชะตาบารมี (ผลกรรมสะสมทบมา)
ประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ช่องว่างความเหลื่อมล้นระหว่างคนรวย-จน ไต่ขึ้นสูงสุดอันดับ ๑ ของโลก (เมื่อปีก่อนยังเป็นรอง รัสเซียกับอินเดีย) กล่าวคือมหาเศรษฐี ๑% ถือครองทรัพย์สิน ๖๖.๙% ของมูลค่ารวมทั้งหมด และมีคนไทย ๑๐% ที่ไม่มีทรัพย์สินเลยแม้แต่น้อย
คนที่เกิด เติบโต ในกรุงเทพฯ มีความโชคร้ายอย่างหนึ่ง ขาดแผนสำรองสำหรับการหลบหนี กล่าวคือถ้าเกิดความเบื่อหน่ายในวิถีชีวิตเมืองหลวง ก็มักไม่สามารถโยกย้ายถิ่นฐาน เดินทางไปไหนได้ด้วยตนเอง ออกต่างจังหวัดหรือก็ไม่เคย ให้ไปปลูกข้าว ทำนา จับปลา ไร้ซึ่งความสามารถในการต่อสู้เอาตัวรอดกับผืนธรรมชาติ
ผิดกับชาวชนบทที่เดินทางเข้ากรุงฯ เมื่อถึงจุดแตกหัก รวดร้าวราน อดรนทนไม่ได้อีกแล้ว ก็สามารถเดินทางกลับบ้านนอก หวนไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เชื่องช้า เป็นอิสระเสรี ปลดปล่อยวางภาระอันหนักอึ้งโยนทิ้งลงคูคลอง สูดอากาศบริสุทธิ์ลึกๆเข้าเต็มปอด หายใจออก โล่งโปร่งทั่วท้องกว่ากันเยอะ
เอาจริงๆผมเพิ่งมาสังเกตพบ หมานคร ว่าเป็นการสร้างภาพสังคมเมืองให้ดูดี (ในความไม่มีอะไรดี) น่าอยู่อาศัยมากขึ้น เพราะปกติมักเห็นแต่เรื่องที่ชักชวนให้สำนึกรักบ้านเกิด ชี้นำวิถีชีวิตชนบท ต่างจังหวัด รายล้อมด้วยความสุขสำราญ รื่นเริงรมย์กว่ากันเยอะ, อันนี้คงถือว่าขึ้นกับรสนิยมผู้สร้าง/บริโภค สำหรับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กรุงเทพหมานคร คงคือบ้านหลังเดียว ที่ถึงไม่ใช่สรวงสวรรค์ก็ยังพออาศัยอยู่ได้
ว่าไปโลกทัศนคตินี้ของผู้กำกับ สะท้อนค่านิยมการเมือง ที่ถึงตนเองไม่พึงพอใจต่อรัฐประหาร เผด็จการ ผู้นำทหาร ก็ทำได้แค่นำเสนอสอดไส้ ถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะ แล้วก็อดรนทนใช้ชีวิตตามวิถีปกติต่อไป เพราะผืนแผ่นดินนี้คือบ้านเกิดเมืองนอนของฉัน ยึดติดรักมากๆ ไม่มีวันจะย้ายหนีไปไหนแน่นอน
ไม่รู้เพราะความสำเร็จต่างประเทศของ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๗) หรือเปล่า ทำให้ ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น อนุมัติทุนสร้างโปรเจคนี้กว่า ๖๐ ล้านบาท หมดไปกับค่า CG เสียเยอะ แน่นอนว่าออกฉายในไทยไม่ประสบความสำเร็จ ทำเงินได้เพียง ๖ ล้านบาท แต่กลับได้รับเสียตอบรับดีล้นหลามจากต่างประเทศ จนน่าจะสามารถคืนทุนได้ไม่ยากนัก
เกร็ด: นิตยสาร TIME Magazine โดยนักวิจารณ์ Richard Corliss จัดให้ หมานคร ติดอันดับ ๖ (จาก ๑๐) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘
หนังเข้าชิง ๗ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๔ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
– เพลงนำยอดเยี่ยม (ทุกคืนวัน)
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
– การสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
เนื่องจากปีนั้นไม่ได้มีการประกาศรายชื่อเข้าชิง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มีเพียงผู้ชนะ โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗) แต่เชื่อว่า หมานคร น่าจะติดหนึ่งในห้าแน่ๆ
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจในหลายๆแนวคิด โดยเฉพาะตอนหวนกลับบ้านนอกแล้วทุกอย่างสโลโมชั่น มันช่างจริง!เสียจริง, ภาพถ่ายเลนส์ไวด์สวยๆ เพลงประกอบ ก่อน หลากหลาย Variation และไดเรคชั่นของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่เป็นสองรองใคร
แนะนำคอหนัง Surrealist ชื่นชอบ Black Comedy, เรื่องราวรักโรแมนติกแบบเพี้ยนๆ น่ารักสุดโต่ง, ชาวเมืองกรุงเทพฯหมานคร, ภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ และแฟนคลับผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับความหมาๆ สุดโต่ง สะท้อนเสียดสีสังคม
Leave a Reply