หลังคาแดง

หลังคาแดง (พ.ศ. ๒๕๓๐) หนังไทย : ยุทธนา มุกดาสนิท ♥♥♡

ครึ่งหนึ่งคัทลอกจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) อีกครึ่งหนึ่งใส่ความสัปดนของ Screwball Comedy จากที่ควรเป็นภาพยนตร์แฝงสาระเกี่ยวกับหลังคาแดง โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของเมืองไทย กลับกลายเป็นขายความบันเทิงไร้สาระ ที่มีเพียงบทเพลงสบาย สบาย ของธงไชย แมคอินไตย์ และความน่ารักน่าหยิกแก้มของจินตหรา สุขพัฒน์

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ศรีธัญญา คือโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของเมืองไทย แต่จริงๆแล้วคือโรงพยาบาลคนเสียจริต ก่อตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ อยู่บริเวณปากคลองสานฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนขยับขยายพัฒนาพื้นที่ย้ายมาเป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งสมัยนั้นมีคำเรียกชื่อเล่น จากการทาบ้านพักผู้ป่วยหลังคาสีแดงว่า ‘หลังคาแดง’ หมายถึงสถานที่คุมขังและคนดูแลคนบ้า

ผมค่อนข้างมีปัญหาอย่างมากในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งๆก็ได้ดูฉบับ Remaster คุณภาพคมชัดสวยงาม เสียงใสกิ๊ก แต่คือพล็อตเรื่องราวที่เข้าหาตลาดมากเกินไป การแสดงที่ดูฝืนๆไม่ค่อยสมจริง (โดยเฉพาะป๋าเบิร์ด น่าผิดหวังมากๆ) บทพูดปั้นแต่งมากเกินไป แสดงถึงความลวกไข่ไปทีของบทหนัง และหลายๆไดเรคชั่นของยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ค่อยจะเวิร์คเท่าไหร่? เปรียบแล้วก็เหมือนภาพย้อนอดีตของตัวละคร กำลังปั่นจักรยานถอยหลังลงคลอง

สิ่งที่พี่หง่าวต้องการนำเสนอออกมาในหลังคาแดง เชื่อว่าคงคือการปลูกฝังปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อผู้ป่วยจิตเวชให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เปิดอกยอมรับความผิดปกติทางจิตที่สามารถเกิดขึ้นพบเจอได้กับมนุษย์แทบทุกคน แต่ด้วยความหวังดีนั้นได้สร้างภาพลักษณ์ Stereotype ให้กับคนบ้าในมุมมองของสังคมไทย ต้องมีความติ๊งต้องปัญญาอ่อน กระทำสิ่งชวนให้ตลกขบขัน ถูกจำกัดพื้นที่ควบคุม และมิอาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติได้

(Stereotype ของคนบ้าของในหนัง Hollywood ถ้าไม่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรงแบบ Jack Nicholson ก็โหดนิ่งลึกแบบ Anthony Hopkins ในบท Hannibal Lecter)

เราคงไปกล่าวโทษผู้สร้าง ที่มิได้ไตร่ตรองครุ่นคิดถึงผลกระทบต่ออนาคตอย่างรัดกุม ว่ามันจะเป็นการปลูกฝังภาพลักษณ์คนบ้าในสายตาสาธารณชนไปในลักษณะนี้ เพราะมันเป็นสิ่งไม่น่ามีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้แน่ๆ แต่สิ่งน่าตำหนิอย่างยิ่งยวดคือการนำเสนอมุมมองทัศนคติของผู้กำกับ อุตส่าห์เข้าไปศึกษาสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีธัญญาถึงสามเดือน แต่นี่คือสิ่งที่เขาพบเห็นเข้าใจจริงๆนะหรือ?

ยุทธนา มุกดาสนิท (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๕) ผู้กำกับ-นักเขียนบท ละครเวที/ภาพยนตร์ เกิดที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทางศิลปะ วาดภาพ การประพันธ์ โตขึ้นตั้งใจเป็นนักเขียน/หนังสือพิมพ์ เข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้ฝึกงานในกองถ่ายภาพยนตร์ละโว้ภาพยนตร์ เรื่องแหวนทองเหลือง (พ.ศ. ๒๕๑๖) ปีสุดท้ายตัดสินใจสร้างละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน ความยาวสี่ชั่วโมงเต็ม สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการขณะนั้น พอเรียนจบท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ดึงตัวมาเป็นผู้ช่วยในภาพยนตร์เรื่อง ความรักครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๑๘) ดัดแปลงจากนิยายของสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง, ร่วมงานสามผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน (พ.ศ. ๒๕๑๙) แต่โชคร้ายไม่ได้ฉายเมืองไทย, ฉายเดี่ยวครั้งแรกกับ เทพธิดาบาร์ 21 (พ.ศ. ๒๕๒๑) ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขณะที่ผลงานถัดๆมา เทพธิดาโรงงาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ทำเงินถล่มทลายสูงสุดแห่งปี, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๒๖), น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗), ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), วิถีคนกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๔), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๔), จักรยานสีแดง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ฯ

หลังคาแดง เป็นผลงานเรื่องเดียวของยุทธนา ที่พัฒนาบทภาพยนตร์ขึ้นเอง ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ของผู้กำกับ Miloš Forman ที่คว้า Oscar 5 สาขาใหญ่ Big Five รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

เรื่องราวของทองดี (รับบทโดย ธงไชย แมคอินไตย์) ชายผู้ถูกจับส่งโรงพยาบาลบ้าแห่งหนึ่ง ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือโกยทอง มหาเศรษฐีผู้เป็นสามีของโฉมศรี (รับบทโดย มยุรา ธนะบุตร/เศวตศิลา) เธอได้ติดสินบนผู้อำนวยการเพื่อเซ็นยืนยันว่าเขาเป็นบ้า จะได้ครองครองทรัพย์สมบัติของอดีตสามีตัวจริงที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องลอย ขณะเดียวกันทองดีก็ได้พบรักกับผู้ป่วยสาวสวยอาลัย (รับบทโดย จินตหรา สุขพัฒน์) เรื่องราวมันชักจะพิลึกพิลั่น สุดท้ายแล้วใครเป็นใคร ใครได้ครองคู่กับใคร ก็ลองจับพลัดจับพลูดูกันเอาเอง

ธงไชย แมคอินไตย์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๑) นักร้องนักแสดงชาวไทย ได้รับขนานนามว่า ‘ซุปเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่งของเมืองไทย’ เกิดที่สลัมบางแค ฝั่งธนบุรี พ่อเป็นนายแพทย์ลูกครึ่งสกอต-มอญ ครอบครัวฐานะยากจน พี่น้อง ๑๐ คน ด้วยความชื่นชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก เข้าร่วมประกวดในเวทีงานวัด งานโรงเรียน จบการศึกษาปวส. สาขาการจัดการ ที่วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ทำงานธนาคารกสิกรไทย สาขานานา ต่อมาย้ายมาท่าพระ ฝ่ายต่างประเทศ ระหว่างนั้นรับงานถ่ายแบบ โฆษณา จนมีโอกาสรู้จักผู้จัดละคร วรายุฑ มิลินทจินดา ได้รับการทาบทามให้เล่นละคร น้ำตาลไหม้ (พ.ศ. ๒๕๒๖) เข้าชิงรางวัลเมขลา สาขาสมทบชาย ทำให้ได้รับการจับตามองกว้างขวาง, สำหรับภาพยนตร์ อาทิ ด้วยรักคือรัก (พ.ศ. ๒๕๒๘), ด้วยรักและผูกพัน (พ.ศ. ๒๕๒๙), หลังคาแดง (พ.ศ. ๒๕๓๐), โด่งดังสุดคงคือ คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๘)

ทองดี คือบุคคลที่เนื้อในเป็นคนดีงามดั่งทองแท้ แต่เพราะมีเรื่องให้เข้าใจผิด โชคชะตาจับพลัดจับพลูเลยถูกส่งมายังโรงพยาบาลบ้า ก็ทำให้ใครๆต่างสับสนมึนงง ซึ่งตัวเขาไม่ได้อยากสวมรอยเป็นโกยทอง แต่ภายหลังต้องยอมเล่นตามน้ำเพื่อจะได้ไม่ถูกช็อตไฟฟ้าทรมานเจ็บปวด แต่เมื่อบังเอิญได้พบกับนายโกยทองจริงๆ เลยจัดการวางแผนเด็ดเพื่อให้ทุกปัญหาได้คลี่คลาย และตัวเองได้ออกจากโรงพยาบาลบ้าๆแห่งนี้สักที

ใบหน้าป๋าเบิร์ดในช่วงแรกเต็มไปด้วยความมึนงงสับสน นี่ฉันตกอยู่ในสถานการณ์บ้าบอคอแตกนี่ได้อย่างไร แต่พอเริ่มประติดประต่อโน่นนี่นั่นเข้าด้วยกัน ตกหลุมรักหญิงสาวหน้าใส เล่นกีตาร์เพลงสบาย สบาย รอยยิ้มแย้มก็ปรากฎพบบนใบหน้า เกิดความเข้าใจไขกระจ่างทุกข้อสิ่งอย่าง

การแสดงของป๋าเบิร์ดผมรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ ขาดความสมจริง คือภาพลักษณ์ดูเหมือนจิ๊กโก๋นักเลงหน้าปากซอย มากกว่าชายหนุ่มหน้าตาเจี๋ยมเจี้ยม แต่เรื่องเสียงร้องนั้นกินขาดอยู่แล้ว โด่งดังระดับ Superstar แค่ว่าการแสดงคงไม่ใช่งานถนัดสักเท่าไหร่ (เหมือนบทเพลง เกิดเป็นตัวละคร เป็นตัวของตนเองดีกว่าเยอะ)

จินตหรา สุขพัฒน์ ชื่อจริง จิตติ์ธนิษา สุขขะพัฒน์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๘) ชื่อเล่นแหม่ม นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่พระประแดง, สมุทรปราการ มีเชื้อสายมอญ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ระหว่างเข้าเรียน ปวช. ที่โรงเรียนกิตติพาณิชย์ ทำงานพิเศษที่บริษัทโตโยต้า ไปเข้าตาแมวมองจับมาเป็นนางแบบโฆษณาผ้าอนามัยลอริเอะ (เห็นว่าเป็นนางแบบคนแรกของบริษัทเลยนะ) ด้วยเหตุนี้เลยได้ไปเข้าตาผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (พ.ศ. ๒๕๒๘) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที จากนั้นเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของค่ายไฟว์สตาร์ ผลงานเด่นอาทิ แก้วกลางดง (พ.ศ. ๒๕๒๘), ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ. ๒๕๒๙), ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), สะพานรักสารสิน (พ.ศ. ๒๕๓๐), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), บุญชู ผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

เกร็ด: พี่แหม่มถือเป็นนางเอกภาพยนตร์ไทยคนสุดท้ายในยุคคลาสสิก โด่งดังประกบคู่ขวัญ สันติสุข พรหมศิริ กลายเป็นตำนานคู่รักจอเงินคู่สุดท้าย

รับบทอาลัย หญิงสาวนิสัยต๋องๆเหมือนเด็กอายุ 10 ขวบ ถูกครอบครัวทอดทิ้งเพราะคิดว่าเป็นคนบ้า แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นพิษเป็นภัยกับใคร สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ก็ไม่รู้ไปตกหลุมหลงเสน่ห์อะไรกับทองดี แต่พระนางตอนจบต้องได้คู่กันใช่ไหมละ แค่นั้นแหละ

การแสดงของพี่แหม่มมีความน่ารักน่าหยิกแก้มมากๆ เหมือนเด็กอายุ 10 ขวบ จอมแก่นแก้ว สดใสไร้เดียงสา บริสุทธิ์กายใจ โดยเฉพาะรอยยิ้มที่ทำให้ไอศกรีมละลาย ใครเห็นย่อมต้องตกหลุมรักหลงใหล แต่เคมีไม่ค่อยเข้ากับป๋าเบิร์ดเท่าไหร่นะ คงเพราะตัวละครมีโลกส่วนตัวของตนเองค่อนข้างสูง แม้จะมีโมเม้นต์น่ารักกุ๊กกิ๊กมากมาย แต่เหมือน ดอกฟ้ากับหมาวัดยังไงชอบกล

มยุรา เศวตศิลา/ธนะบุตร ชื่อจริง กุลนภา เศวตศิลา ชื่อเกิด รัตนา ชาตะธนะบุตร (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๑) ชื่อเล่นตั๊ก สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป วิชาเอกคีตศิลป์สากล วิชาโทบัลเล่ต์ ได้งานเป็นนางแบบปกนิตยสารลลนา ถ่ายโฆษณาสบู่ดาร์ลิ่ง จนไปเข้าตาผู้กำกับภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก แหม่มจ๋า (พ.ศ. ๒๕๑๘) ตามมาด้วย มือปืนพ่อลูกอ่อน (พ.ศ. ๒๕๑๘), สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐), รักครั้งสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๒๔), เห่าดง (พ.ศ. ๒๕๒๖), เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๒๗), พ่อปลาไหล แม่พังพอน (พ.ศ. ๒๕๓๑), เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ

คนส่วนใหญ่คนจดจำพี่ตั๊กได้จากพิธีกรรายการ ชิงร้อยชิงล้าน นานจนลูกโตถึง 22 ปี

รับบทโฉมศรี ภรรยาของโกยทองตัวจริง ที่ก็ไม่รู้สามีหายตัวไปไหน คือก็ยังรักมากอยู่นะแต่ไม่เข้าใจทำไมเขาถึงเป็นคนงี้งกหวงทรัพย์ขนาดนั้น ถึงขนาดต้องพกกุญแจทองสมบัติติดตัวตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เธอเลยต้องเล่นละครเพื่อป้ายสีเพื่อให้เขากลายเป็นคนวิกลจริต ทรัพย์สินมรดกจะได้ตกถึงเธอและลูกเสียที

อุว๊ะ! พี่ตั๊กเล่นบทนี้ได้ร้ายนัก ดีดสะดิ้ง เสแสร้งแกล้งทำ เรียกน้ำตาจอมปลอมตั้งแต่ฉากแรกๆ ดูก็รู้ว่าคงต้องมีลับลมคมในแน่ๆ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆไม่ผิดเพี้ยน นี่ต้องชมเสื้อผ้าหน้าผมที่คัดสรรเลือกมาให้มีภาพลักษณ์ไฮโซจริตแรง ชุดบ่าสูงสะท้อนถึงความเย่อหยิ่งยโสจองหอง แต่สุดท้ายแล้วเมื่อพบกับสามีตัวจริง ก็ Screw กันไปจนถึงตึกรื่นฤดี สถานที่คุมขังผู้ป่วยอาการหนัก (นี่สะท้อนจิตใจของตัวละครที่เลวทรามวิปริตสิ้นดีเลยนะ)

เกร็ด: ฉากที่ตัวละครนี้เข้าเฝือกคอ ก็แน่ๆว่าเป็นการเคารพคารวะ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ที่ตอนจบตัวละคร Nurse Ratched ต้องเข้าเฝือกคอไปทำงาน, เช่นกันกับฉากกลุ่มบำบัด (Group Therapy) และการช็อตไฟฟ้า

ในบรรดานักแสดงรับเชิญ สุเชาว์ พงษ์วิไล และล้อต๊อก ทั้งคู่ถือว่าแย่งซีนไปเต็มๆ, สองคนนี้เขามาคู่กันนะ ปรากฎขึ้นสามครั้ง ต้น-กลาง-ไคลน์แม็กซ์ ตอนแรกผมก็สงสัยจะนำเสนอภาพของตึกรื่นฤดี/หลังคาแดงไปทำไม กลางเรื่องก็อีกรอบจะนำเสนอให้เห็นสภาพภายในของผู้ป่วยหนักเช่นนั้นนะหรือ พบเจออีกทีตอนจบก็ร้องอ๋อเลยละ มันสลับตัวกันตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วสินะ

ถ่ายภาพโดย ปัญญา นิ่มเจริญพงษ์ ผลงานเด่น อาทิ กตัญญูประกาศิต (พ.ศ. ๒๕๒๖), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๒๗), ฉลุย (พ.ศ. ๒๕๓๑), ต่อมากลายเป็นหนึ่งในขาประจำของพจน์ อานนท์ อาทิ 18 ฝน คนอันตราย (พ.ศ. ๒๕๔๐), หอแต๋วแตก (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ

ฉากแรกมีไดเรคชั่นที่เจ๋งอยู่นะ มีขณะหนึ่งเลื่อนไปที่แว่นของล้อต๊อกที่หนาเตอะเพื่อทิ้งให้เป็นจุดสังเกต (นัยยะสื่อถึง ‘มุมมอง’ ของคนไทย/ผู้กำกับ ต่อคนบ้า) ทำให้มองไม่เห็นว่าใครคนหนึ่งเดินออกมา เห็นลางๆว่าสวมเสื้อกรานด์เหมือนกันก็นึกว่าเป็นหมอ ซึ่ง Long-Take ช็อตถัดมา ค่อยๆเลื่อนขึ้นจนเห็นป้ายตึกรื่นฤดี ตามด้วยหลังคาสีแดง … แต่เดี๋ยวนะมันฉากกลางคืน ใครที่ไหนจะไปมองเห็น! (นี่ตกม้าตายโง่ๆเลยนะ! แถมฉบับ Remaster ก็มองไม่เห็นสีแดงอยู่ดี)

ลำดับภาพโดย ม.ล.วราภา เกษมศรี, เรื่องราวแทบทั้งหมดดำเนินไปในโรงพยาบาลจิตเวช ถือเป็นจุดหมุนของหนังเลยก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ใช้มุมมองของนายทองดีเป็นหลัก และมีการตัดสลับไปมาระหว่าง 2 เหตุการณ์อยู่เรื่อยๆ

ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนังคือย้อนอดีต เป็นภาพโทนสีน้ำตาลให้สัมผัสเหมือนภาพวาดเก่าๆ เด็กชายทองดีขี่จักรยานเด็กเล่นไปริมน้ำ ขณะถูกแม่เรียกหันหลังกลับแต่ดันถอยหลังลงคลอง เหมือนจะกลายเป็น Trauma เพราะว่ายน้ำไม่เป็นด้วยกระมัง, การจมน้ำ

คือผมก็ไม่ได้อยากเทียบกับ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) แต่เมื่อมีฉากช็อตไฟฟ้าที่คัทลอกมาตรงๆ Long-Take ใบหน้าของ Jack Nicholson กลายเป็นตำนานอันสมจริงทรงพลังราวกับคนถูกช็อตจริงๆ แต่เรื่องนี้กับป๋าเบิร์ดเพราะความสามารถไม่เท่าถึง เลยใช้การตัดสลับไปมากับตัวละครชื่อสายัณห์ ผู้ป่วยที่ชอบปีนป่ายขึ้นไปบนหลังคา ปกติจะแค่กางแขนรับพลังงานจากแสงอาทิตย์เข้ามา แต่ครั้งนั้นคิดยังไงก็ไม่รู้กระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาเฉยเลย, นัยยะของฉากนี้ ล้อกับ Flashback วัยเด็กของทองดีที่ปั่นจักรยานถอยหลังตกคลอง นั่นคือ Trauma ฝังใจอยากลืมเลือน ซึ่งการช็อตไฟฟ้าครั้งนี้คงถือว่าเจ็บปวดรุนแรงเท่าครั้งนั้น แต่ถึงไดเรคชั่นจะดูมีระดับ แต่หนังให้เวลากับสายัณห์เยอะเกินไปจนหลงลืมว่าทองดีกำลังจะถูกช็อตไฟฟ้า อีกอย่างคือมันเป็นการเลี่ยงการแสดงที่ไม่สมจริง (แต่นี่ต้องโทษป๋าเบิร์ดสินะที่ทำได้ไม่เท่า Nicholson ไม่ใช่ความผิดของผู้กำกับ)

อีกฉากหนึ่งคือไคลน์แม็กซ์ ถ้าบอกว่าหนังเป็น Screwball ออกมาดูมั่วๆก็ช่างแค่ความหมายได้เป็นพอ แบบนี้เหมือนคนปัดความรับผิดชอบยังไงชอบกล, ปัญหาของฉากนี้คือการเลือกภาพ Long Shot ถ่ายเห็นฝูงชนปริมาณมากมาย จนหลายครั้งดูแทบไม่ออกเลยว่าถุงกุญแจทองมันผลัดไปอยู่ในมือใครแล้ว แต่ผมขอชื่นชมการสื่อความหมายค่อนข้างดีเลย บรรดาผู้เรียกตัวเองว่าคนปกติกลับเข้าร่วมเล่นกีฬาสีของคนบ้า (คนปกติ=คนบ้า) และสุดท้ายโฉมศรีกับโกยทองตัวจริงวิ่งไปจนเข้าไปในตึกรื่นฤดี ถูกขังล็อกไว้ภายใน สองคนนี้มันเสียสติแตกรุนแรงระดับผู้ป่วยหนัก

เพลงประกอบโดยอนุวัฒน์ สืบสุวรรณ ใช้เสียงจากเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก อาทิ คีย์บอร์ด, กีตาร์ไฟฟ้า ฯ เพื่อให้เกิดสัมผัสประหลาดๆ ทำนองเพี้ยนๆหลอนๆ สะท้อนความเป็นบ้าวิกลจริตออกมา

ผมชอบบทเพลงในฉากกีฬาสีมากเลยนะ น่าจะจากคีย์บอร์ดล้วนๆ ทำนองมีความติ้งต้องเหมือนเด็กปัญญาอ่อนที่กำลังวิ่งไล่จับหนู ประสานด้วยเสียงปรบมือ และผู้คนกรี๊ดกร้าดเจี้ยวจาว (เสียงผู้ชมค่อนข้างน่ารำคาญไปสักหน่อย แต่เสริมความโกลาหลได้มากทีเดียว)

สำหรับเพลงคำร้องเหมาโดยป๋าเบิร์ด แต่งโดยเรวัต พุทธินันทน์ แต่ทั้งหมดไม่ใช่ Original Song ประกอบหนัง นำจากสองอัลบัมแรกที่วางจำหน่ายกลายเป็นเพลงฮิต อาทิ เกิดเป็นตัวละคอน (อัลบัม หาดทราย สายลม สองเรา), สบาย สบาย (อัลบัม สบาย สบาย),

น่าเสียดายผมค้นหา เกิดเป็นตัวละคร ไม่พบใน Youtube นี่คือบทเพลงที่ถือเป็นใจความสำคัญของหนังเลยนะ (ดังขึ้นตอน Opening Credit)

“ฉัน อยากเป็นแค่ตัวฉัน ฉัน อยากเป็นแค่ตรงนั้น”

นายทองดีถูกบีบบังคับให้กลายเป็นนายโกยทอง ทั้งๆที่ก็ไม่ได้อยากเป็นสักนิด แต่เมื่อถูกช็อตไฟฟ้า Trauma จากอดีตย้อนกลับมาถามหา ถึงไม่อยากก็ต้องกลายเป็น แต่เมื่อตัวเขาพบเห็นทางออกในชีวิตก็ดังคำร้องนี้ ไม่เอาอีกแล้วจะปลอมแปลงกลายเป็นใครคนอื่นนอกจากตนเอง

สิ่งหนึ่งที่ผมโคตรสงสัยเลยว่า นั่นคือมุมมองทัศนคติของผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิท ต่อสิ่งที่เขาพบเห็นจากการเข้าไปศึกษาสังเกตการณ์ในโรงพยาบาลศรีธัญญาจริงๆนะหรือ? เพราะความอยากเป็นโน่นเป็นนี่แต่เป็นไม่ได้ เลยกลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตกควบคุมตนเองไม่อยู่ คิดแล้วมันช่างไร้สาระ น่าตลกขบขันสิ้นดี

เห้ย! คนวิกลจริตมันไม่ได้มีอยู่แค่นั้นนะ ดูอย่าง One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ตัวละคร Billy Bibbit คือเด็กชายหนุ่มผู้ขาดความกล้าในชีวิต ทำให้ขลาดกลัวและพูดติดอ่าง คือเขาไม่ได้อยากปลอมตัวกลายเป็นใคร แค่ต้องการเอาชนะก้าวผ่าน Trauma จากอดีตของตนเองเท่านั้น

ว่าไป Trauma ของนายทองดี อุตส่าห์ใส่ฉากย้อนอดีตตอนถอยหลังลงคลองตกน้ำ แต่แค่เพื่อเป็นภาพสะท้อนขณะถูกช็อตไฟฟ้าเท่านั้นนะหรือ แทนที่จะนำไปใช้ประโยชน์อื่น หรือกลายเป็นปมท้าทายให้ตัวละครก้าวข้ามผ่านไป (เช่นว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขากลัวการว่ายน้ำ ไม่กล้าพายเรือออกจากฝั่งตอนจบ แฟนสาวพายให้และช่วยเหลือให้เขาจ้องมองแต่เธอ แล้วกล้าหยิบไม้ขึ้นมาพายเองได้)

อีกใจความหนึ่งของหนัง พูดถึงสิ่งที่ทำให้คนปกติกลายเป็นบ้า นั่นคือ ‘เงิน’ คงเป็นการต่อยอดแนวคิดจากผลงานก่อนหน้าของพี่หง่าว เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๒๖)
– โกยทอง เพราะมัวแต่กอบโกยเลยไม่สนใจอย่างอื่น เกิดอาการหวาดระแวงจนแทบกลายเป็นบ้า
– โฉมศรี เพราะสามีร่ำรวยแต่ขี้งกชิบหาย พยายามทำทุกอย่างให้ใครๆมองว่าเขาเสียสติ ตนเองจะได้ครอบครองทรัพย์สินมรดกทั้งหมด

“ความโลภทำให้มนุษย์กลายเป็นคนบ้า” ผัวเมียคู่นี้ถือว่าอาการหนักมาก สมควรอย่างยิ่งต้องถูกขังเก็บไว้ในตึกรื่นฤดี ปล่อยออกมาข้างนอกคงทำให้โลกตกอยู่ในความอันตรายแน่แท้ … จริงๆถ้ามองนี่คือใจความหลักของหนัง เรื่องราวจะดูสมเหตุสมผลขึ้นมากๆ เพราะเงินก็คือเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ยอมขายวิญญาณ สวมหน้ากาก ปลอมตัวกลายเป็นอีกคนหนึ่ง เว้นเสียแต่แบบนายทองแท้ เมื่อเลือกที่จะปฏิเสธสนความรักมากกว่าเงิน สุดท้ายเลยได้รับการปลดปล่อยตัว ล่องลอยพายเรือออกสู่อิสรภาพความเป็นไท

หลังคาแดง คว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) สาขาภาพยนตร์ยอดนิยม [ไม่ใช่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนะครับ] แม้ไม่มีรายงานรายรับทั้งหมด แต่แค่เพียง 12 วัน สามารถทำรายได้ถึง 6 ล้านกว่าบาท

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้มีการดัดแปลงสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ออกฉายช่อง ๗ นำแสดงโดย ดนุพร ปุณณกันต์, จีรนันท์ มะโนแจ่ม, สินจัย เปล่งพานิช, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง แต่เนื่องจากเรตติ้งไม่เข้าเป้า เลยถูกบอร์ดณะกรรมการบริหารขอให้ลดจำนวนตอนออกอากาศลดลง แต่ทางผู้สร้างไม่ยินยอมเลยถูกตัดจบแบบดื้อๆ ค้างคาใจผู้ชมจนกลายเป็นตำนานกล่าวขาน เพราะละครไม่มีตอนจบและปัจจุบันไม่มีใครรู้ด้วยว่าเทปต้นฉบับเก็บอยู่ที่ไหน อาจสูญหายไปตลอดกาลแล้วก็เป็นได้

ส่วนตัวรู้สึกค่อนข้างผิดหวังหลายๆอย่าง โดยเฉพาะทัศนคติของผู้กำกับที่มองผู้ป่วยจิตเวชเป็นเหมือนตัวตลกไร้สาระ นี่เป็นสิ่งสะท้อนออกมาจากหนังแม้อาจโดยไม่ตั้งใจก็ตามที กระนั้นก็มีหลายไดเรคชั่นที่ผมค่อนข้างชื่นชอบอยู่ ชั่งใจก็ SO-SO ไปแล้วกัน

แนะนำกับคอหนัง Screwball Comedy กุ๊กกิ๊ก รอม-คอม, อยากรู้จักโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย, แฟนๆผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิท และนักแสดง ธงไขย แมคอินไตย์, จินตหรา สุขพัฒน์, มยุรา เศวตศิลา ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความเพี้ยนๆ บ้าๆบอๆของหนัง

TAGLINE | “หลังคาแดง คือการปั่นจักรยานถอยหลังลงคลองของยุทธนา มุกดาสนิท”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: