อัศเจรีย์

อัศเจรีย์

! อัศเจรีย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙) หนังไทย : สุรพงษ์ พินิจค้า ♥♥♥♥

Essay Film ใจความร้องเรียกหาสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันสำหรับเด็กๆขาดแคลนยากไร้ ผลงานหนังสั้นที่กลายเป็นตำนานของ สุรพงษ์ พินิจค้า งดงามราวกับกวีนิพนธ์ด้วยการตัดต่อแบบ Montage ล้ำหน้าเหนือใคร ยากเกินกว่าหลายคนจะเข้าใจ

ด้วยเหตุนี้เลยเป็นข้อคับข้องครหาที่เขียนบรรยายอยู่ใต้คำอธิบายในคลิปที่หอภาพยนตร์โพสไว้ใน Youtube

“ผลงานของ สุรพงษ์ พินิจค้าที่ส่งประกวดงานประกวดภาพยนตร์สารคดีของธนาคารกรุงเทพ ในปี ๒๕๒๐ ล้ำหน้าขนบธรรมเนียมหนังสารคดีไทย จนกรรมการไม่กล้าให้รางวัลชนะเลิศแต่ก็ไม่กล้าไม่ให้รางวัลอะไรเลยจึงได้รางวัลพิเศษ”

ว่ากันตามตรงถ้าผมเป็นคณะกรรมการ คงไม่เลือกหนังสั้นเรื่องนี้เป็นผู้ชนะหรอกนะ (ในกรณีถ้าไม่ใช่ประกวดเทศกาลหนัง Cannes, Venice, Berlin ฯ) จริงอยู่มีความงดงามทรงคุณค่าล้ำยุคสมัย แต่ถ้านำไปให้บุคคลทั่วไปรับชม ไม่เพียงแค่เกาหัว บ่นขรม อาจถึงขั้นเขวี้ยงขว้างขี้หมาใส่ หนังบ้าอะไรดูไม่เห็นรู้เรื่อง

บทความนี้จะพยายามไขก็อกทางความคิดของพี่แกละ สุรพงษ์ พินิจค้า เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปที่อยากรับรู้ว่า หนังเรื่องนี้งดงามยิ่งใหญ่เช่นไร ถึงขนาดติดอันดับ ‘๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู’ และ ‘มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๔’ ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ

ก่อนอื่นแนะนำให้รู้จักกับ สุรพงษ์ พินิจค้า (เกิด พ.ศ. ๒๔๙๘) ผู้กำกับชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ จากเด็กสาธิตจุฬาฯ หลงใหลวิชาดาราศาสตร์ เข้าศึกษาด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วันหนึ่งนึกสนุกหยิบหล้อง 8mm จากชมรมค่ายอาสาฯ มาถ่ายก้อนดินน้ำมัน ๒ ก้อนต่อสู้กัน เข้าตาเอเจนซี่รายหนึ่งเข้าอย่างจัง จ้างไปทำ Stop-Motion Animation ขนาดสั้นๆ เปิดหัวรายการโทรทัศน์ของผงชูรสอายิโนะโมะโตะ

เมื่อพบเห็นโอกาสและช่องทางดังกล่าว จึงวางเป้าหมายที่จะมาทำหนังสั้นสารคดี 16mm หวังส่งเข้าประกวดคว้าเงินรางวัลเพื่อต่อยอดไปเรื่อยๆ ร่วมงานกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ โดม สุขวงศ์ (ที่ต่อมากลายเป็น ผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ คนแรกของเมืองไทย) สร้างผลงาน ! อัศเจรีย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙)

จุดประสงค์ของการประกวด คือ ส่งเสริมคุณธรรมประจำชาติ, มองรอบตัวพบเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาสุดใน พ.ศ. นั้น คือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กเล็กตามชนบท และสลัมกรุงเทพฯ ขณะที่ประเทศชาติกำลังพัฒนาก้าวไกล แต่รัฐบาลกลับยังปล่อยปละละเลย มองข้ามไม่สนใจ ทอดทิ้งลูกหลานแห่งอนาคต เพราะพวกเขายังไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง จึงมิมีโอกาสพูดบอกแสดงออก แต่อย่าลืมว่าชีวิตจิตใจก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน

เริ่มต้นด้วย ! อัศเจรีย์ เครื่องหมายตกใจ ปกติแล้วใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยคที่เป็นคำอุทาน เพื่อเน้นจำความรู้สึกให้ผู้อ่านได้เกิดการตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง

เจ้าเครื่องหมายนี้ ปรากฎขึ้นพร้อมเสียงเด็กทารกร้องไห้ นี่เป็นการบ่งบอกว่า สิ่งน่าตกใจ/มหัศจรรย์สุดในโลกหรือหนังสั้นเรื่องนี้ ก็คือการเกิดของสิ่งมีชีวิตเรียกว่ามนุษย์

อารัมภบท, ประมาณ ๑.๓๐ นาที ร้อยเรียงภาพ Montage ตุ๊กตาเด็ก เริ่มจากสงบแน่นิ่งไม่ไหวติงเงียบเสียงใดๆ ค่อยๆขยับเคลื่อนไหว ลืมตา ตัดสลับกับภาพผู้คนเดินสวนไปมา ระยิบระยับด้วยบทเพลง สื่อถึงจุดเริ่มต้นของการมีชีวิต หรือ ‘การเกิดใหม่’ ที่มีความน่าอัศจรรย์/มหัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

องก์ ๑ ความยาวเกือบๆ ๒ นาที,

เสียงเด็กชายอ่านคำกลอน รำพันถึงความต้องการของตนเอง

“เมื่อฉันขอ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวและขอแกง ขอแหวนเป็นทองแดง ผูกมือน้องฉัน ขอช้างและขอม้า ให้น้องฉันขี่ ขอเก้าอี้ ให้น้องฉันนั่ง ของเตียงตั้ง ให้น้องฉันนอน ขอละคร ให้น้องฉันดู ขอเชิดชูน้องฉันด้วยเถิด ขอชูเชิดตัวฉันด้วยกัน ขอสัมพันธ์กันในโลกนี้ ขอเสรีให้เด็กอย่างฉัน ขอสิทธิที่เท่าเทียมกัน และขอวันสักวันให้ฉันได้มีกิน”

เริ่มต้นด้วยภาพนก (=อิสระ, เสรีภาพ) ตามด้วยเด็กชายคนหนึ่งในห้องเรียนกำลังอ่านคำกลอนนี้ ค่อยๆซูมเข้าเปลี่ยนเป็นภาพเด็กชายตัวกระเปี๊ยกอีกคน ยืนเปลือยเปล่าอยู่บนถนนลูกรัง ค่อยๆซูมเข้าทีละนิดจากจน Close-Up ถึงดวงตา จบ Sequence นี้ด้วยภาพนกบินซ้อนทับ/Cross-Cutting กับดวงตาของเด็กชาย พร้อมสัมผัสบทเพลงแห่งความเพ้อฝันโหยหา

สื่อความถึงคำอธิษฐาน ร้องขอ ไหว้วิงวอนของเด็กๆต่อผู้ใหญ่ ด้วยเพราะยังไม่ถึงวัยสามารถครุ่นคิดไขว่คว้าครอบครองสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ จึงมักถูกมองข้าม ละเลย ไม่สนหัว อยากให้พวกท่านทั้งหลายตระหนักรับรู้หัวจิตหัวใจของพวกเรา ที่ก็ไม่ต่างอะไรจากนกโบยบิน โหยหาอิสระ เสรีภาพ อยากได้รับการปฏิบัติเท่าเทียม ตามสิทธิชอบธรรมควรเป็น

องก์ ๒ ความยาวประมาณ ๔ กว่านาที,

เริ่มต้นด้วยดนตรีจังหวะสนุกสนาน ร้อยเรียงภาพเด็กๆกำลังวิ่งเล่น ใช้ชีวิตวันๆอย่างเพลิดเพลินสำราญกายใจ แต่เมื่อถึงยามอัสดง พระอาทิตย์ตกดิน บทเพลง Johannes Brahms: Hungarian Dance No. 5 ตามด้วยผืนแผ่นน้ำ กิ่งไม้ไร้ใบ ม้าหมุนว่างเปล่า มอบสัมผัสอันโหยหวนรวดร้าวใจ ค่อยๆซูมเข้าภาพวาดใบหน้าเด็กชายอันบูดเบี้ยวอัปลักษณ์ จากนั้นปรากฎภาพทหาร รูปปั้น รถแทรคเตอร์ ไม้กวาด+ที่โกยผง (ภาระหน้าที่การงาน)

“ขอเก้าอี้ ให้น้องฉันนั่ง ของเตียงตั้ง ให้น้องฉันนอน ขอละคร ให้น้องฉันดู ขอเชิดชูน้องฉันด้วยเถิด ขอชูเชิดตัวฉันด้วยกัน”

ร้อยเรียงภาพเด็กดูดนมจากเต้า สื่อความถึง พวกเขาเหล่านี้ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ จำต้องพึ่งพิงพาแม่/ผู้ใหญ่ ในการเติบโตมีชีวิต

“ฉันจะได้ร่ำได้เรียน ฉันจะได้อ่านได้เขียน ฉันจะมีครูที่รักฉัน แต่ฉันไม่มีโรงเรียน ท่านลองมองฉันให้ดี อาจเห็นฉันกินของดีดี ข้าวผัดลูกชิ้นไข่ดาว ท่านเอยไม่เคยมี”

ตามด้วยภาพวิธิชีวิตของผู้คนในชนบท-สังคมเมีอง หลายครั้งแทรก Close-Up ดวงตาของเด็กด้อยโอกาส จับจ้องมองพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย เพื่อนรุ่นเดียวกันมีโอกาสไปร่ำเรียนหนังสือ ผู้ใหญ่ทำงานหาเลี้ยงชีพ ใช้ชีวิตสุขสบาย-ยากลำบาง แสงเทียน (สัญลักษณ์แห่งความหวัง) บางครั้งแท่งเดียว บางครั้งหลายแท่ง และครั้งหนึ่งซ้อนหมุนเบลอๆช่างมีความเลือนลาง และสุดท้ายกลุ่มเด็กๆชนบทผู้ยากไร้ ยืนคิ้วขมวดไร้หนทางใดๆต่ออนาคต

Sequence นี้นำเสนอสิ่งที่เด็กๆควรได้รับในช่วงชีวิตดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นว่าหลายคนสูญเสียสิทธิ์นั้นไป ซึ่งหนังก็ได้เกริ่นชี้เป้าไว้อย่างชัดเจน ว่าสาเหตุสำคัญคือผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทหาร พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๐ มันจะปฏิวัติซ้อนให้ชาติล่มจมหรืออย่างไร

องก์ ๓ ความยาวประมาณ ๑:๓๐ นาที

เริ่มจากเรือกำลังร่องพาย

“ชีวิตบั้นปลายของฉัน ใครหนอใครกันมอบให้ ให้ดีให้เลวหรือไร ให้ขึ้นให้ลงหรือไร ให้อยู่อย่างนี้หรือไร

เมื่อภาพเด็กชายนั่งอยู่ ยืนขึ้นเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ มีการเล่นกับโทนแสงสีสลับไปมาระหว่าง ภาพ Invert-น้ำเงิน-แดง-เทา จากนั้นร้อยเรียงภาพนามธรรม (Abstraction) ภาพวาด ภาพถ่าย ด้วยดนตรีจังหวะปรบมือ เปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกเสี้ยววินาที ประกอบด้วย ทหาร ปืน ระเบิด กุญแจมือ (ความรุนแรง) เด็ก ทารก ขอทาน และสุดท้ายแช่ภาพค้างไว้ที่ Close-Up ดวงตาของเด็กชาย (คนเดียวกับต้นเรื่องที่ภาพค่อยๆซูมเข้า) ราวกับจะบอกว่า ทุกสิ่งอย่างที่ผู้ใหญ่กระทำวันนี้ ฉันจักมองเห็นจดจำไม่รู้เลือน

ถึงจะสั้นแต่ก็สะท้อนสิ่งที่คือสาเหตุต้นตอของปัญหา นั่นคือผู้ใหญ่ ความรุนแรง ระบอบปกครอง รัฐบาลทหาร การปฏิวัติซ้อน นำมาร้อยต่อด้วยความเร็วสูงเพื่อไม่ให้โดนแบนให้เกิดตราประทับฝังจิต เพราะเหล่านี่ล้วนส่งผลกระทบอย่างยืดเยื้อรุนแรง เด็กๆเมื่อพบเห็นก็จักจดจำกดไว้เบื้องลึกภายใน อนาคตข้างหน้าคงมีแต่จะย่ำแย่เลวทรามลง หาดีขึ้นกว่าเดิมไม่น่าได้แน่

องก์ ๔ ความยาวประมาณ ๔:๒๐ นาทีกว่าๆ

ภาพถ่ายรางรถไฟกำลังแล่นไป เสียงเด็กๆค่อยๆดังขึ้น วิ่งเล่นอยู่ตามชนบท หมู่บ้านสลัมริมรถไฟ ผู้ใหญ่รับรู้พบเห็นแต่ก็เพิกเฉยไม่ทำอะไร จากนั้นคำร้องบทเพลงเด็ก นิ้วโป้งอยู่ไหน กลายมาเป็น

“บ้านฉันอยู่ไหน บ้านฉันอยู่ไหน ไม่มีจ้า ไม่มีจ้า สุขสบายดีหรือไร ไม่สบายทั้งกายใจ
แม่ฉันอยู่ไหน พ่อฉันอยู่ไหน ไม่เคยพบ ไม่เคยพบ สุขสบายดีหรือไร ไม่สบายทั้งกายใจ
กินข้าวเมื่อไหร่ กินข้าวที่ไหน ไม่มีกิน ไม่มีกิน กินของดีหรือไง ไม่เคยอิ่มทั้งกายใจ
โรงเรียนอยู่ไหน โรงเรียนอยู่ไหน ไม่เคยไป ไม่เคยไป เพราะอะไรจึงไม่ไป เพราะไม่มีโรงเรียนไป
ชีวิตของฉัน ชีวิตของฉัน อยู่อย่างไร อยู่อย่างไร ไม่มีใครมาถามไถ่ ไม่มีใครมาเห็นใจ
ลาก่อนละ สวัสดี”

ตามด้วยเสียงขลุ่ย แทนคำร้องของเด็กชาย ยังคงในทำนองเพลง นิ้วโป้งอยู่ใน, ประมวลทุกสิ่งอย่างของหนังร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ก่อนจบฉากที่ภาพรางรถไฟกำลังเคลื่อนไป (ล้อกับภาพแรกของ Sequence)

ช่วงยาวที่สุดของหนังนี้ ประมวลทุกสิ่งอย่างที่คือปัญหาสังคม บ้าน ครอบครัว อาหารการกิน โรงเรียนการศึกษา และวิถีชีวิต ห้าอย่างนี้คือปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ มีครบถือว่าถ้วนสมบูณ์ ขาดตกบกพร่อง แคลนเพียงอย่างใดหนึ่งย่อมก่อให้เกิดปัญหา

รางรถไฟ และการถ่ายภาพลงไป ยังเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่เคลื่อนดำเนินอย่างไม่มีหยุดนิ่ง ชักชวนให้ตั้งคำถามเมื่อไหร่ถึงจะเริ่มต้นแก้ปัญหา เมื่อไหร่สองฟากฝั่งสลัมจะได้รับการพัฒนา เมื่อไหร่อนาคตของประเทศชาติจักมีสิทธิ เสรีภาพ โอกาสเท่าเทียมกันเสียที

สังเกตว่าหลายครั้งจะมีตัวอักษร ! อัศเจรีย์ปรากฎขึ้นมาด้วย แต่ช่วงขณะนี้ไม่ได้จะสื่อความถึง ชีวิตคือสิ่งน่าอัศจรรย์ใจอีกต่อไปแล้ว ความหมายแปรสภาพกลายเป็นการเน้นย้ำ ให้เกิดอาการตื่นตระหนกตกใจ! ประหลาดใจ! เมื่อไหร่ปัญหาเหล่านี้ถึงได้รับการแก้ไข!

องก์ ๕ ความยาวประมาณเกือบๆ ๒ นาที

ภาพค่อยๆซูมออกจากดวงตาของเด็กชาย และแทรกภาพทิวทัศน์เมือง-ชนบท ผู้คนเดินขวักไขว่ไปมา ชายสูงวัยขับร้องตีกลองมีลิงอยู่บนบ่า

“เมื่อฉันขอ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวและขอแกง ขอแหวนเป็นทองแดง ผูกมือน้องฉัน ขอช้างและขอม้า ให้น้องฉันขี่ ขอเก้าอี้ ให้น้องฉันนั่ง ของเตียงตั้ง ให้น้องฉันนอน ขอละคร ให้น้องฉันดู ขอเชิดชูน้องฉันด้วยเถิด ขอชูเชิดตัวฉันด้วยกัน ขอสัมพันธ์กันในโลกนี้ ขอเสรีให้เด็กอย่างฉัน ขอสิทธิที่เท่าเทียมกัน และขอวันสักวันให้ฉันได้มีกิน”

จากนั้นภาพของเด็กชาย(คนเดิน)กำลังวิ่งบนถนนลูกรังจากไป เสียงอ่านกลอนท่อนสุดท้าย แทรกด้วยตุ๊กตา Close-Up ดวงตา (ฉันมองอยู่นะ) และริมฝีปาก (ถ้าพูดได้ฉันอยากบอก)

“ขอสัมพันธ์กันในโลกนี้ ขอเสรีให้เด็กอย่างฉัน ขอสิทธิที่เท่าเทียมกัน และขอวันสักวันให้ฉัน ได้มีกิน”

นอกจากย้อนรอยกับ องก์ ๑ นี่เป็นการย้ำเตือน ทบทวนให้ผู้ชมตระหนัก หวนระลึก ถึงความจำเป็นที่เด็กเล็กต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะพวกเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ออกวิ่งหยุดไม่ได้แม้ร่างกายเปลือยเปล่า ต้องรีบเร่งเสียตั้งแต่วันนี้อย่างรั้งรอรี “สายน้ำไม่คอยท่า กาลเวลาไม่คอยใคร”

ปัจฉิมบท ความยาวไม่ถึง ๑ นาที

บทเพลงจังหวะสนุกสนาน ประมวลผลร้อยเรียงภาพต่างๆมาให้รับชมทิ้งท้ายอีกครั้ง เด็กๆวิ่งเล่นสนุกสนาน ทิวทัศน์เมือง-ชนบท ผู้คนขวักไขว่ ทหารตำรวจ ปืน ระเบิด ความรุนแรง ภาพถ่ายประติดประต่อ ก่อนจบลงที่ภาพพระอาทิตย์ตกดิน ตัดดำ เครดิตขึ้น

! อัศเจรีย์ เทียบแล้วก็คือ Essay Film บทความเรียงด้วยภาษาภาพยนตร์ ที่ได้ทำการประมวลร้อยเรียงสิ่งที่เป็นภาพแห่งปัญหาสังคมในปัจจุบันสมัยนั้น ชี้นำต้นตอสาเหตุผล และเรียกร้องชักชวนให้ผู้ชมตระหนัก ครุ่นคิด ตั้งคำถาม เราสามารถช่วยเหลือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ถึงกระนั้นหนังก็มิได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาใดๆในเชิงรูปธรรมหรือนามธรรม

หลังจากหนังสั้นเรื่องนี้ พี่แกละเริ่มหาประสบการณ์ใหม่ๆ ขอไปฝึกงานตามกองถ่ายหนังของ ครูเนรมิต, ท่านมุ้ย จนได้รับโอกาสเป็นนักตัดต่อ ประชานอก (พ.ศ. ๒๕๒๕) ผลงานแจ้งเกิดที่ไม่ได้ฉายของ มานพ อุดมเดช และกลายเป็นขาประจำมา อาทิ หย่าเพราะมีชู้ (พ.ศ. ๒๕๒๘), ครั้งเดียวก็เกินพอ (พ.ศ. ๒๕๓๐), กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ

เมื่อเริ่มเก็บเงินได้ซื้อกล้องของตนเอง สร้างสารคดีเชิงทดลอง สำเพ็ง ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลามเช่นกัน ทำให้อีกหลายผลงานสารคดีตามมา ต่อด้วยเปิดบริษัทสร้างหนังโฆษณา Image & Montage แทบไม่มีเวลาว่างสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวที่ตนเองสนใจ, จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับการติดต่อจาก The Nation ชักชวนให้ทำเรื่องราวการหายตัวไปของราชาไหมไทย Jim Thompson ออกเป็นซีรีย์ฉายช่อง iTV ทุนสร้างตอนละ ๑ ล้านบาท ตั้งชื่อว่า ปมไหม (พ.ศ. ๒๕๔๔), เข้าตาโปรดิวเซอร์อังเคิล อดิเรก วัฏลีลา แห่งสตูดิโอ Film Bangkok ชักชวนมาสร้าง ทวิภพ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ทุนสร้างกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ประสบความล้มเหลวขาดทุนย่อยยับเยิน แต่ครองใจผู้ชมจนกลายเป็นอีกตำนานได้รับการจดจำสูงสุด

สิ่งน่าชื่นชมที่สุดของหนังสั้นเรื่องนี้คือความทะเยอทะยาน ถือได้ว่ากลายเป็นแบรนด์ของ สุรพงษ์ พินิจค้า ไปเสียแล้ว ก็ไม่รู้ต่อจากนี้จะมีผลงานอื่นให้เสพย์อีกหรือไม่ แต่ผมก็อยากขอบคุณที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการภาพยนตร์ไทย มีนักตัดต่อบ้าๆที่กล้าทำทุกสิ่งอย่างด้วยใจตนเอง

จัดเรต ๑๓+ กับภาพกราฟิกที่สามารถสร้างอารมณ์รวดร้าวรุนแรงให้กับผู้ชม (จริงๆคือเด็กเล็กกว่านี้คงดูไม่เข้าใจมากกว่า)

TAGLINE | “! อัศเจรีย์ คือความอัศจรรย์ของสุรพงษ์ พินิจค้า สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการหนังไทย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: