อำแดงเหมือนกับนายริด

อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) หนังไทย : เชิด ทรงศรี ♥♥♥♡

อำแดงเหมือน (จินตหรา สุขพัฒน์) ถือเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่กล้าลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ไม่ยินยอมรับคำเรียก ‘ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน’ นับย้อนไปก็รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ดัดแปลงเรื่องราวจากประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา ฉบับที่ ๒๗๑ พ.ศ. ๒๔๐๘, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นับตั้งแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี มีศรัทธาอยากออกบวชในร่มโพธิ์พุทธศาสนา ทูลอ้อนวอนขอต่อพระพุทธเจ้าถึงสามครั้งสามครา แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งพระอานนท์ได้กราบทูลขอจึงทรงอนุญาต ถือกำเนิดภิกษุณีรูปแรก และยังถือเป็นครั้งแรกของโลกกับการเรียกร้องสิทธิสตรี มีความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ แต่กาลเวลาผ่านมากว่า ๒๕๐๐ ปี ทำไมอะไรๆปัจจุบันกลับเหมือนเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง

วิวัฒนาการของสิทธิสตรี ความเสมอภาคเท่าเทียม ทำไมถึงได้เชื่องช้าอืดอาดเสียยิ่งกว่าเต่าคืบคลาน? นั่นเพราะคนโบราณอาศัยอยู่กับธรรมชาติพงไพร สิ่งสำคัญสุดของการเอาตัวรอดคือร่างกายมีความกำยำเข้มแข็งแกร่ง ขณะที่ลักษณะของอิสตรีนั้นอ่อนแออรชน ยากนักจะไปสู้รบต่อกรกับใครไหนได้ มันเลยไม่แปลกที่ผู้ชายจะถือตนเองเป็นเจ้าชีวิต ควบคุมปกครองอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าค่ำเจ้าของแต่ไรมา จากนั้นวิวัฒนาการโลกค่อยๆพัฒนาปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องใช้พละกำลังวังชาเพียงอย่างเดียวในการต่อสู้เอาตัวรอด ขอแค่มีความรู้เฉลียวฉลาด งานบางอย่างผู้หญิงทำได้ดีกว่าบุรุษเสียด้วยซ้ำ สิทธิโอกาสจึงค่อยๆทวีเพิ่มพูนขึ้นมาทีละเล็กน้อย

อำแดงเหมือนกับนายริด อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ระดับคุณภาพหรูเลิศให้น่ายกย่องเชิดชู แต่ความตั้งใจของผู้กำกับ/ทีมงาน ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และเชิดไชย ภาพยนตร์ เอ่อล้นจัดเต็มแบบไม่คิดหวังผลตอบแทนกำไร นำเสนอเรื่องราวอันทรงคุณค่ายิ่งของชนชาติไทย ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีอิสตรีผู้หาญกล้า ฉันไม่ใช่วัวขายถึงจะยินยอมให้พวกผู้ชายค้าขายได้ และถ้าไม่เพราะพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ ๔ ชาติเราทุกวันนี้อาจคงยังล้าหลังเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมชาย-หญิง อย่างแน่แท้

“บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคน เป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้ เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา”

– คำตัดสินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นำจาก พระราชบัญญัติลักษณะลักพา ฉบับที่ ๒๗๑ พ.ศ. ๒๔๐๘

สำหรับคนอยากอ่าน พระราชบัญญัติลักษณะลักพา ฉบับที่ ๒๗๑ พ.ศ. ๒๔๐๘ แบบเต็มๆ: http://oknation.nationtv.tv/blog/bongbongstory/2009/08/06/entry-1

ว่าไปภาพยนตร์แนวสิทธิสตรี (Feminist) ในประเทศไทย ช่างมีน้อยนักนับปริมาณได้ อาทิ ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๗), ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๒๙), ครั้งเดียวก็เกินพอ (พ.ศ. ๒๕๓๑), …คือฉัน (พ.ศ. ๒๕๓๓), สุริโย (พ.ศ. ๒๕๔๔), อะไรอีกละ???

ไม่ต่างอะไรกับผู้กำกับหญิงไทย ก็เพิ่งมาเห็นเยอะขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ ผอูน จันทรศิริ (เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก), โสรยา นาคะสุวรรณ (Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์, ราตรีสวัสดิ์), พิมพกา โตวิระ (คืนไร้เงา, มหาสมุทรและสุสาน), อโนชา สุวิชากรพงศ์ (เจ้านกกระจอก, ดาวคะนอง), ใครอีกละ???

คงจะอีกหลายทศวรรษกระมัง กว่าที่ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิสตรี (และอีกหลายๆสิทธิ) จะซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณของผู้คนทุกช่วงวัย และเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้เลยว่า โลกยุคสมัยนั้นจะเปลี่ยนแปรสภาพแตกต่างจากปัจจุบันไปเช่นไร่

เชิด ทรงศรี (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๔๙) ครูผู้สร้างภาพยนตร์ ‘ไทยแท้’ คนแรกๆของเมืองไทย เกิดที่นครศรีธรรมราช เรียนจบทำงานเป็นครูที่อุตรดิตถ์ จากนั้นลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ภาพยนตร์และโทรทัศน์’ ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละคร นิยาย และวิจารณ์ภาพยนตร์ วันหนึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ให้กับเมืองไทย ผลงานเรื่องแรก โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙) จากบทประพันธ์ของตนเอง ออกแบบฉาก ลำดับภาพ แต่งเพลงประกอบ ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และใช้ทุนสร้างส่วนตัวทั้งหมด นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์

ในยุคคลาสิกของวงการภาพยนตร์โลก คนที่จะเป็นผู้กำกับได้ มักค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการยอมรับจากระบบสตูดิโอ เซ็นสัญญาทาสระยะยาว และมักสร้างภาพยนตร์ตามใบสั่ง (ต้องหนังทำเงินหลายๆเรื่อง ถึงค่อยได้รับอิสระในการเลือกตามความสนใจ) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ การมาถึงของ Italian Neorealist ที่ได้พลิกโฉมหน้าการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ และยุคถัดมากับ French New Wave อันเกิดขึ้นจากบรรดานักวิจารณ์หัวขบถของ Cahiers du cinéma ในยุค 60s ประกอบด้วย François Truffaut, Jean-Luc Godard, Éric Rohmer, Claude Chabrol และ Jacques Rivette ต่างลาออกมาเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีที่พวกตนเขียนขึ้น … เมื่อนักวิจารณ์กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ก็เหมือนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ รู้ว่าตนเองเคยต้องการอะไรจึงสร้างสรรค์มอบสิ่งนั้น กลายเป็นของที่ผู้รับต้องการได้จริงๆ

คงไม่แปลกอะไรถ้าจะถือว่าเชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับหนังไทยในยุค New Wave จากเคยทำงานเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ คงรับทราบถึงข้อจำกัด ความต้องการของตนเองต่อภาพยนตร์ไทย ลาออกมาเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาในสิ่งที่วงการยังขาดหาย ไม่เคยปรากฎพบมาก่อน ทั้งนี้ตามอุดมการณ์ ความตั้งใจส่วนตน ไม่ต้องรับอิทธิพลจากใครที่ไหน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวในระดับ ‘ศิลปิน’

หลังเสร็จจากกำกับหนังสั้นตอน The Tree of Life ชื่อไทย คน-ผู้ถามหาตนเอง ประกอบภาพยนตร์สี่เรื่องย่อย (Omnibus Film) เรื่อง Southern Winds (2535) ในโอกาสพิเศษฉลองครบรอบ 25 ปีอาเซียน, ร่วมงานกับ จันนิภา เจตสมมา จากเคยเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมให้ แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), เลือดสุพรรณ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ฯ ครั้งนี้เป็นผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งคงได้นำเสนอประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา ฉบับที่ ๒๗๑ พ.ศ. ๒๔๐๘ ให้กับครูเชิด อ่านแล้วเกิดความสนใจขึ้นมาทันที

อำแดงเหมือน (จินตหรา สุขพัฒน์) เป็นบุตรของนายเกตกับอำแดงนุ่น ประกอบอาชีพทำสวนอยู่ที่ตำบลบางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี วันหนึ่งได้ยกลูกสาวให้เป็นภรรยานายภู (รณ ฤทธิชัย) เมื่อไม่ยินยอมก็ให้ว่าที่สามีฉุดคร่านำพาตัวไป หลายครั้งเข้าจึงหลบหนีไปอยู่กับนายริด (สันติสุข พรหมศิริ) อดีตเป็นพระหนุ่มที่ได้เคยช่วยชีวิต ตอนแรกไม่ได้ต้องการสึกแต่มิอาจหักห้ามความว้าวุ่นวายภายในจิตใจของตนเองได้ หลังจากร่วมรักใคร่กลายเป็นสามีภรรยา ต้องการขอขมาพ่อแม่และนายภู แต่ถูกกล่าวว่าลักพาเมียตน ส่งฟ้องศาลเมืองนนทบุรีให้พิพากษาตัดสินโทษ แต่ด้วยความไม่ยินยอม อำแดงเหมือนเลยถูกควบคุมไว้ในตะราง ถูกลงโทษกลั่นแกล้งสารพัดจนสามารถหลบหนีออกมาได้ และเดินทางไปถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๘

จินตหรา สุขพัฒน์ ชื่อจริง จิตติ์ธนิษา สุขขะพัฒน์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๘) ชื่อเล่นแหม่ม นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่พระประแดง, สมุทรปราการ มีเชื้อสายมอญ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ระหว่างเข้าเรียน ปวช. ที่โรงเรียนกิตติพาณิชย์ ทำงานพิเศษที่บริษัทโตโยต้า ไปเข้าตาแมวมองจับมาเป็นนางแบบโฆษณาผ้าอนามัยลอริเอะ (เห็นว่าเป็นนางแบบคนแรกของบริษัทเลยนะ) ด้วยเหตุนี้เลยได้ไปเข้าตาผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (พ.ศ. ๒๕๒๘) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที จากนั้นเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของค่ายไฟว์สตาร์ ผลงานเด่นอาทิ แก้วกลางดง (พ.ศ. ๒๕๒๘), ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ. ๒๕๒๙), ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), สะพานรักสารสิน (พ.ศ. ๒๕๓๐), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), บุญชู ผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

รับบทอำแดงเหมือน หญิงสาวผู้มีความแก่นแก้ว หัวดื้อรัน เฉลียวฉลาดเกินวัย ครั้นหนึ่งตกน้ำว่ายไม่เป็นได้รับการช่วยเหลือโดยพระริด ทำให้ตกหลุมรักใคร่แสร้งทำเป็นอยากร่ำเรียนหนังสือแต่แท้จริงต้องการอยู่ชิดใกล้ กล้าพูดความรู้สึกของตนเองต่อท่านแต่ถูกบอกปัดปฏิเสธ จนพ่อยกให้เป็นภรรยานายภูที่ตนไม่ต้องการ พยายามหลบหนีหลายครั้งจนใครๆคาดคิดว่าจมน้ำเสียชีวิต โชคดีได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวของพระริด ที่หลังจากสึกออกมาพบเจอก็ราวกับโชคชะตาฟ้ากำหนด ถึงกระนั้นก็ยังโดนกลั่นแกล้งจากอดีตสามี ยินยอมความไม่ได้เพราะผู้หญิงไม่ใช่วัวควาย อดรนทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส หลบหนีจากคุกก็ด้วยความตั้งใจสุดท้าย ให้เป็นประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวจะสำเร็จโทษตน

ครูเชิด มีสองตัวเลือกในใจคือ จินตหรา และ จันทร์จิรา จูแจ้ง (เคยร่วมงานกันเรื่อง ทวิภพ) แต่ความที่หนังได้รับทุนสร้างจากไฟว์สตาร์ เลยไม่แปลกจะผลักดันลูกหม้อพี่แหม่มให้ได้รับบทบาทนี้

แต่ส่วนตัวมองว่าจินตหรา ดูไม่ค่อยยี่หร่ากับบทบาทนี้สักเท่าไหร่ คือเธอก็แสดงไปตามเรื่องราว แต่มันไร้ซึ่งจิตวิญญาณกลั่นออกมาจากภายในสักเท่าไหร่ อาจเพราะภาพติดตาในบทรอมคอม ใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ครึ่งแรกยังพอน่ารักน่าชังทนไหว แต่พอต้องแสดงสีหน้ารวดร้าวทุกข์ทรมานจากใจ เชื่อไม่ได้เท่าไหร่ว่าลำบากจริง

ถึงผมจะเห็นต่าง แต่พี่แหม่มก็คว้าหลายรางวัลการแสดงปีนั้น
– รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๔
– รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ ๕

สันติสุข พรหมศิริ ชื่อเล่นหนุ่ม (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๖) นักแสดงชาวไทย เกิดที่อำเภอท่าช้าง, สิงห์บุรี เข้าสู่วงการแสดงขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ ได้เป็นประธานชมรมการแสดง จนไปเข้าตาผู้ตาสร้างละคร ตี๋ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๒๘), สำหรับภาพยนตร์แจ้งเกิดจาก ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

รับบทนายริด/พระริด บวชเณะตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นพระ กิริยาท่าทาง คำพูดจามีความสำรวมงามดั่งผู้ทรงศีล แรกเริ่มเห็นคนตกน้ำรีบว่ายไปช่วยโดยไร้ซึ่งจิตคิดวุ่นวาย แต่พบเห็นหน้าอกพบว่าเป็นหญิง ถึงขนาดต้องนั่งอสุภะเพื่อตัดปล่อยวาง ก็นึกว่าละทางโลกได้แล้วจนกระทั่งเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของอำแดงเหมือน ลุ่มร้อนว้าวุ่นวายจนมิอาจพินิจเพ่งพิจารณาอะไรได้ สึกออกมากลับบ้านรู้เลยว่าโชคชะตาฟ้ากำหนดมาให้เราคู่กัน เธอฉันไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นจะขอร่วมทุกข์ร่วมสุข จมหัวจมท้ายไม่มีวันทอดทิ้งห่างหาย

พี่หนุ่มในบทพระต้องชมเลยว่าใช่เลย อริยวัฑฒ์น่าเคารพกราบไหว้ยิ่งนัก ครึ่งหลังแม้จะสึกออกมาแล้ว แต่ยังมีความสำรวจ เจียมตน รักและให้เกียรติภรรยาด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม เสมอต้นเสมอปลายอย่างมั่นคง

สีสันของหนังคือ คุณยายบรรเจิดศรี ยมาภัย (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๘) เข้าสู่วงการบันเทิงเมื่ออายุราว ๕๐ ปี เป็นตัวประกอบละครโทรทัศน์(เสียส่วนใหญ่) อาทิ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ (พ.ศ. ๒๕๒๔), ขณะที่ภาพยนตร์บ้างประปราย คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

รับบทย่าจัน ของอำแดงเหมือน เพราะเคยถูกขายตัวเป็นทาส เลยไม่ต้องการให้หลานต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความโง่เขลาของพ่อมัน ยินยอมติดตามไปเรียนหนังสือด้วย ทั้งๆที่แก่แล้วก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร ล่วงรับรู้จิตใจต้องการของเธอแทบโดยทันที ตกหลุมรักพระริดใช่ไหม หักห้ามใจเสียเถอะไม่น่าเป็นไปได้ … แต่คุณยายก็คาดการณ์ผิดในครานี้

ได้ยินข่าวนักแสดงอาวุโสสัญชาติญี่ปุ่น Kirin Kiki เสียชีวิตจากโรงมะเร็งไปเมื่อไม่กี่วันก่อน พลันให้นึกถึงคุณยายบรรเจิดศรี ทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เริ่มรับงานแสดงเมื่อวัยชรา อายุเป็นเพียงตัวเลข แถมมักได้รับโอกาสสร้างสีสันให้กับเรื่องนั้นๆอยู่ร่ำไป

อีกคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นผลงานสุดท้ายจริงๆก่อนเสียชีวิต ส. อาสนจินดา ชื่อจริง สมชาย อาสนจินดา (พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๕๓๖) นักแสดง/ผู้กำกับ ศิลปินแห่งชาติ เห็นว่าจะไม่ทันมีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

รับบทสมภารวัดขนุน ผู้เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวเมืองนนทบุรี รอบรู้มากประสบการณ์ในวิถีพุทธศาสนา จึงสามารถให้คำแนะนำถูกผิดแก่พระริดได้อย่างเหมาะสมควร แต่เมื่ออำแดงเหมือนต้องการเรียนหนังสือ แรกๆไม่ยินยอมเพราะรู้ว่าอาจถูกสังคมครหาติฉินท์นินทา ภายหลังทนความรบเร้าเซ้าซี้ไม่ไหว จึงจำยินยอมสนองประสงค์

ว่าไปผมจินตนาการถึงคนอื่นไม่ออกเลยนะ ใครกันจะมี Charisma ภาพลักษณ์ ศักยภาพ ดูทรงภูมิ มีความน่าเชื่อถือ ระดับเดียวกับ ส. อาสนจินดา น่าเสียดายที่บทบาทนี้ไม่ได้เน้นขายการแสดงสักเท่าไหร่ รับเชิญมาสร้างสีสันให้หนังมากกว่า

ถ่ายภาพโดยอานุภาพ บัวจันทร์ หรืออาเปี๊ยก ตากล้องคู่ใจของท่านมุ้ย
– เจ้าของ ๔ รางวัลถ่ายภาพตุ๊กตาทอง: คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๒๓), ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม (พ.ศ. ๒๕๓๖), เสียดาย (พ.ศ. ๒๕๓๗), เสียดาย ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๙),
– ๒ รางวัล สุพรรณหงส์: ต้องปล้น (พ.ศ.๒๕๓๓), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗)
– และ ๒ รางวัลจาก ชมรมวิจารณ์บันเทิง: บุญตั้งไข่ (พ.ศ. ๒๕๓๕), ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม (พ.ศ. ๒๕๓๖),
– ผลงานทิ้งทวนคือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ไฟว์สตาร์เป็นสตูดิโอไทยที่แข็งแกร่ง น่าปรบมือให้อย่างมาก มีการเก็บรักษา อนุรักษ์ แทบทุกผลงานกลายเป็น DVD คุณภาพคมชัด (และกำลังทำการ Remaster อยู่อีกหลายๆเรื่อง) สนองผู้บริโภคคนรักหนังไทยได้อย่างรู้คุณค่า

หนังจัดเต็มกับลีลาลายเซ็นต์ของครูเชิด ครบเครื่องเรื่องเทคนิคร่วมสมัย ซูมเข้า-ออก, ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด, Dolly Shot เคลื่อนกวาดภาพระยะสายตา, Close-Up ใบหน้าของนักแสดง และพิเศษสำหรับเรื่องนี้ มีการใส่ Visual Effect มากมายเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศย้อนยุค อาทิ รุ้งกินน้ำ, ภาพเมืองพื้นหลัง ฯ

พระริดว่ายน้ำไปช่วยอำแดงเหมือน, ใครเคยทำงานเบื้องหลังน่าจะพอสังเกตออกกับลักษณะลวงตาของช็อตนี้ ฟ้าสว่างฝนไม่ได้ตกจริงๆ ละอองแต่เกิดจากการฉีดน้ำ พบเห็นเป็นเส้นขาวๆบนลำธาร นั่นคือตำแหน่งที่ Special Effect ฝนหยดลงมา

แซว: ผมเชื่อว่านั่นไม่น่าใช่หน้าอกของจินตหราแน่ๆ ช็อตค่อยๆเคลื่อนลงนั้นมันกระตุกๆ น่าจะเป็นภาพของนักแสดงแทนเสียมากกว่า

เริ่มจากพระพุทธรูปองค์บนสูงสุด เคลื่อนไหลลงมาจนถึงช็อตนี้ ไล่เรียงจาก พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ ในอุโบสถวัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จิตรกรรมฝาผนัง อายุไม่ตำกว่า ๒๕๐ ปี ประมาณการวาดขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาต่อกับกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ สวยงามปราณีตฝีมือช่างชั้นสูง หารับชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

ก่อนจะมาถึง ธุดงควัตร (พ.ศ. ๒๕๕๙) และ มะลิลา (พ.ศ. ๒๕๖๑) ก็อำแดงเหมือนกับนายริดนี่กระมัง ที่ใช้การนั่งอสุภะเพื่อลดละกิเลสตัณหาทางจิต นั่งจับจ้องเพ่งพินิจศพพิจารณารูปกายคือสังขารไม่เที่ยง

ไดเรคชั่นช่วงความว้าวุ่นใจของพระริด ระหว่างกำลังครุ่นคิดเหม่อลอย ภาพหน้าอกสาวที่จดจำติดตาปรากฎขึ้นมาแวบหนึ่ง ซึ่งจะมีตอนเริ่มนั่งจ้องอสุภะนี้ เป็น Dynamic Shot ซ้อนทับกับกะโหลกศีรษะของศพพอดิบพอดี

ภาพรุ้งกินน้ำเกิดจากการซ้อนภาพเข้าไป ขณะที่ความเชื่อของคนโบราณห้ามชี้นิ้วไปที่รุ้งกินน้ำ อ้างว่านั่นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดจากการแสดงอิทธิฤทธิ์ของเทวดาเพื่อให้ผู้คนได้เชยชม จึงห้ามกระทำการใดๆที่ไม่สมควร เมื่อไหร่ชี้นิ้วไหนก็จะเกิดอุบัติเหตุให้กุดด้วนทันที แต่ความหมายแท้จริงนั้น เป็นกลอุบายป้องกันอันตรายจากนิ้วจะทิ่มแทงตาผู้อื่น

อำแดงเหมือน อยู่ในสวนทุเรียนใช่ไหมเอ่ย? ราชาแห่งผลไม้ เต็มไปด้วยหนามแหลมภายนอก แกะออกกลิ่นตุๆล่องลอย แต่รสชาดหวานนุ่มอร่อยเกิดห้ามใจ เปรียบเทียบแล้วคงคล้ายดั่งความรัก ภายในของมันอร่อยนัก แต่ยากจะสัมผัสแกะกิน

ความพยายามเกี้ยวพาราสีนักบวชของหญิงสาว มีโคตรหนังฝรั่งเศสเรื่องหนึ่งที่ผมครุ่นคิดถึงคือ Léon Morin, Priest (1961) ของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville

กล้องเคลื่อนจากจานอาหารติดตามมือของสมภาร ล้างเสร็จหยิบผ้าขึ้นเช็ดปาก จากนั้นกล้องซูมออกมาจนถึงช็อตนี้ หลวงปู่นั่งอยู่กำลังสนทนากับอำแดงเหมือน กำลังหว่านล้อมชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อขออนุญาตร่ำเรียนอ่านเขียนหนังสือ

ความน่าฉงนของช็อตนี้คือด้านหลังหน่างต่าง มองเข้าไปพบเห็นพระรูปหนึ่งกำลังสวมสบงจีวร ราวกับเป็นการสะท้อนสิ่งที่อยู่ในความสนใจของอำแดงเหมือน ว่าไม่ใช่เรื่องร่ำเรียนอ่านเขียนหนังสือหรอก แต่ความเป็นชายหนุ่มแน่นของพระริดต่างหากที่ใคร่พิศวาส

เพื่อเป็นการแสดถึงระยะเวลาหนึ่งที่อำแดงเหมือนไม่ย่นย่อท้อต่อความปรารถนา ต้องการร่ำเรียนหนังสือของตนเอง หนังใช้วิธีการ Cross-Cutting ไปมาหลายครั้ง จากวิหารโล่งๆไม่มีใคร กลายเป็นพระเณรนั่งเต็มไปหมด และเห็นไกลๆระหว่างเสาฝั่งซ้าย หญิงสาวนั่งจุ้มปุกปรากฎอยู่ในเฟรมพอดี

ความเป็นไทยของฉากนี้คือบรรเลงดนตรีประกอบด้วยระนาดเอก ให้สัมผัสที่สอดคล้องลื่นไหลเข้ากันบรรยากาศยุคสมัยโดยแท้

เอกชัย ศริวิชัย มาร่วมร้องรำรับเชิญในงานหล่อพระ น่าเสียดายการบันทึกเสียง Sound-On-Film ฉากนี้ทำได้น่าผิดหวังเสียเหลือเกิน เสียงของจินตหรา เหมือนจะเบาลงชั่วขณะหนึ่ง

ฉากนี้เป็น Long Take อีกเช่นกัน ซึ่งหลังจากร้องรำเสร็จจะเคลื่อนขึ้นแล้วซูมเข้าไปด้านหลัง จับจ้องที่นายภู (รณ ฤทธิชัย) เพ้อวาดฝันต้องการครอบครองหญิงสาวคนนี้เป็นอีกหนึ่งภรรยาน้อยของตนเอง

ได้ผัวดีย่อมเป็นศรีกับตัว เจอผัวชั่วก็ดั่งส้นตีนช็อตนี้ เหยียบย่ำชี้เท้าใส่ภรรยาและลูกไม่เห็นหัว ดึกดื่นกลับบ้านเมามาย ปลุกทุกคนให้ทำอาหารการกิน เสร็จสรรพบอกกูนอนอยู่อย่าปลุก ไอ้ห่า! เสียเวลาคนจะหลับนอน

แสงสีส้มแดงจากเปลวเพลงช็อตนี้ ให้สัมผัสอันเดือดพร่าน นรกบนดินทั้งเป็น

เยอะแยะไปในสังคมที่ปากพูดอ้างพุทธศาสนา แถมมีหน้ามีตาได้รับการยกย่องนับถือจากผู้คนมากมาย แต่จิตใจแท้จริงกลับชั่วช้าเลวทราม หาคุณธรรมความดีงามไม่ได้สักนิด

อาชีพหลอมหล่อพระ เริ่มต้นจากการขึ้นแบบด้วยรูปทรงอันแน่นอน จากนั้นค่อยเททองหล่อทิ้งไว้ให้เย็นจนขึ้นรูป ซึ่งช่วงขณะนี้มักมีการนิมนต์พระให้มาสวด ชะยันโตฯ เพื่อเป็นขวัญสิริมงคล, นัยยะแฝงของอาชีพหล่อพระ คือการใช้ชีวิตตามรูปแบบวิถี ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยมีมา หลอมหล่อตั้งแต่อดีตโบราณกาล ‘ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน’ ซึ่งความชั่วร้ายคอรัปชั่นของนายภู สะท้อนถึงว่านั่นหาใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป

แนะนำให้สำหรับคนสนใจภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังสวยๆ
– The Agony and the Ecstasy (1965) ศิลปิน Michelangelo วาดภาพ The Creation of Adam ตกแต่งเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน
– Andrei Rublev (1966) โคตรหนังของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky
– The Decameron (1971) ของผู้กำกับ Pier Pablo Pasolini

ตรงกันข้ามกับครอบครัวของนายริด อาชีพปั้นหม้อสื่อความถึงการใช้มือสร้างสรรค์ชีวิต/ผลงาน(หม้อ) ขึ้นรูปร่างได้ด้วยตนเอง ซึ่งทุกใบมิจำเป็นต้องมีรูปลักษณ์เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปตามความประสงค์ของผู้ปั้น

ฉากนี้สะท้อนกับการเลือกของอำแดงเหมือน เพราะเธอจักได้อยู่กินกับคนที่ตนรักจริง ราวกับชีวิตที่สามารถสรรค์สร้างด้วยมือของตนเองได้ ไม่ใช่ถูกหลอมหล่อบีบบังคับจากใคร

ค่ำคืนแห่งการได้เสียของอำแดงเหมือนกับนายริด ลุกขึ้นมาจับจ้องมองดูแสงจันทร์ แต่ฉากนี้มองยังไงก็เป็นการซ้อนภาพ ไม่ก็เป็นฉาก Blue Screen ทั้งหน้าต่างเลยนะ ไม่พบเห็นใบหน้าของพวกเขายื่นออกนอกหรือซ้อนทับสี่เหลี่ยมนั้นเลย

เป็นฉากอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากทีเดียว พลับพลาลักษณะนี้น่าจะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยกระมัง เจ้านายนั่งสบายด้านบน ขณะที่ประชาชนนั่งพับเพียบก้มหมอบกราบ เงยหน้าขึ้นเฉพาะตอนได้รับโอกาสให้พูดแสดงความคิดเห็นเท่านั้น

เมื่อตอนอำแดงเหมือนสำแดงฝีปาก สังเกตว่ากล้องจะเคลื่อนเข้าหาจนถึงระดับ Close-Up ภาพโฟกัสเฉพาะใบหน้าของเธอ รอบข้างเบลอๆ ไม่ได้อยู่ในความสนใจ, แม้อำแดงเหมือนจะมีฝีปากอันจัดจ้าน แต่เธอยังคงนั่งพับเพียบเรียบร้อยขณะพูดจา มิได้ลุกขึ้นยืนชี้นิ้วต่อว่า นี่แสดงถึงความยังเป็นกุลสตรีไทย และถูกครอบงำด้วยขนบวิถีบ่าว-ไพร่ ศักดินาชนชั้นในสังคมอยู่มากโข

ช่วงเวลาที่อำแดงเหมือนถูกคุมขังอยู่ในคุก โดนทรมานกลั่นแกล้งแสนสาหัส นี่เป็นการสะท้อนถึงความพยายามวางอำนาจบาดใหญ่ของบุรุษเพศต่อหญิงสาวตัวเล็กๆ แต่เมื่อมิอาจทำให้เธอปรับเปลี่ยนแปลงตนเองได้ จับลงไปในบ่อลึก จุดตกต่ำสุดของความเป็นมนุษย์

ซึ่ง ณ ขณะนี้ เธอได้รับการช่วยเหลือโดยสามีนายริด ผู้เคยบวชในบวรพุทธศาสนา ฉุดอุ้มดึงนำพาให้หวนกลับสู่วิถีความเป็นคนอีกครั้งหนึ่ง

บุคคลผู้มีศาสนาเป็นที่พักพึ่งพิงทางใจ ย่อมได้รับการช่วยเหลือปกปักษ์จากภยันตรายชั่วช้า, ฉากนี้อาจดูขัดแย้งกันเอง เพราะช่องลับใต้ฐานพระขุดพบโดยโจรปล้นสมบัติ   แต่คงไม่มีใครคิดหรอกว่าต่อมาจะกลายเป็นที่หลบซ่อนเอาตัวรอดของอำแดงเหมือนกับนายริด

ช็อตนี้สวยมากเลยนะ แสงสว่างสาดส่องลงตำแหน่งเศียรพระพุทธรูปพอดิบพอดี ที่ไหนกันนะเนี่ยอยากรู้จริง!

ทีแรกผมโคตรสงสัยเหลือเกิน ทำไมอำแดงเหมือนกับนายริด ถึงต้องปีนต้นไม้ขึ้นมานอนด้านบน แต่ลองดูอีกรอบมาร้องอ๋อเพราะเสียง Sound Effect ช้างร้องแปร๋นๆ มันเพราะเหตุนี้นี่เอง

Dynamic Cut ถัดจากช็อตนี้ก็ยียวนกวนไม่เบา เป็นภาพลิง/ชะนี (มนุษย์=ลิง) กำลังห้อยโหนส่งเสียงร้อง จากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนลงล้อกับตอนต้นที่กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้น

หลายคนน่าจะดูกันออกว่าช็อตนี้เป็นการซ้อนภาพ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เพราะปัจจุบันนั้นบริเวณโดยรอบคงกลายเป็นถนนราดยางไปหมดแล้ว หาใช่ทุ่งกว้างแบบท้องสนามหลวงเสียที่ไหนกัน

เกร็ด: พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมหาราชวัง เริ่มต้นก่อสร้างโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. ๒๓๒๗ เรียกว่า พลับพลาสูง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้รื้อและสร้างใหม่เป็นปราสาท พระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใน พ.ศ. ๒๓๙๖ (ก่อนหน้าเหตุการณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้) พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท

ลำดับภาพโดย มล. วราภา อุกฤษณ์ ใครไปดูหนังหอภาพยนตร์บ่อยๆน่าจะคุ้นชื่อหน้าตาเป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้มีผลงานตัดต่อรางวัลคือ ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘)

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ อำแดงเหมือน เป็นส่วนใหญ่ และนายริด บางครั้งประปราย มักในช่วงขณะที่จิตใจสับสนเรรวนปรวนแปร แต่เมื่อสงบลงเมื่อไหร่คงไม่มีอะไรน่าสนใจ กลับไปฝั่งอำแดงเหมือน ว้าวุ่นวายเสียจริงจัง

แบ่งหนังออกเป็น ๓ องก์ ประกอบด้วย
– ตอนย่าจันยังมีชีวิตอยู่ อำแดงเหมือนมีชีวิตเริงร่าเพราะมีคนคุมหัว พระริดบวชเรียนด้วยจิตใจหนักแน่นมั่นคง
– หลังย่าจันเสียชีวิต พ่อยกอำแดงให้นายภู พยายามดิ้นรนหนีจนที่สุดใครๆคิดว่าเธอจมน้ำเสียชีวิต สร้างความระทมทุกข์หนักให้พระริดจนต้องลาสิกขาออกมา กลับบ้านเกิดถึงได้รับรู้ว่าเธอยังคงมีชีวิตอยู่ ตกหลุมร่วมรักใคร่
– ตั้งแต่การพิจารณาพิพากษาคดีความ ติดคุก หลบหนี จบที่การยื่นฎีกาถวายในหลวง

สร้างดนตรี จำรัส เศวตาภรณ์ อดีตสมาชิกวงแกรนด์เอ็กซ์ กลายมาเป็นนักแสดงเพลงประกอบภาพยนตร์ สารคดี และพระราชพิธี ผลงานเด่นๆ อาทิ น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๒๙), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), ปุกปุย (พ.ศ. ๒๕๓๓), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗), ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ

มีส่วนผสมของทั้งดนตรีไทย-คลาสสิก คลุกเคล้าเข้ากันอย่างลงตัวจนกลายเป็นความร่วมสมัย (บางเพลงอย่าง Opening Credit ก็จะผสมกันเลยระหว่าง ไทย-คลาสสิก) ขึ้นอยู่กับใจความของฉากนั้นๆ ว่าต้องการอารมณ์ความเป็นไทยโบราณคร่ำครึ หรือแนวคิดสมัยใหม่ล้ำยุค

ฝั่งดนตรีไทยมักจะใช้เครื่องดนตรีแบบเดี่ยวๆบรรเลงมากกว่าผสมลงโรง (แต่ผสมกันก็มีนะ) อาทิ
– ขลุ่ย บรรเลงความโหยหวนรวดร้าว
– ระนาด สนุกสนานครื้นเครงบรรเลง
– ฉิ่งฉับ ตื่นเต้นรุกเร้าร่านใจ
– กลองรัว บางสิ่งอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา
– ซออู้+ระนาด เศร้าโศก

ขณะที่ดนตรีสมัยใหม่ อาทิ
– อำแดงเหมือน ว่ากล่าวผู้ชายต่อหน้าศาลเมืองนนทบุรี ทำให้ถูกตัดสินผิดจำคุก (เป็นคำกล่าวความคิดของคนหัวสมัยใหม่)
– ขณะริดช่วยเหลืออำแดงหลบหนี ปีนขึ้นจากหลุม
– พากันหลบหนีไปให้ไกล (จะมีเสียงขลุ่ยผสานดังขึ้นด้วย)
– ขณะถวายฎีกา และคำตัดสิน

คดีความอำแดงเหมือน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง ที่มีมาแต่ยุคสมัยโบราณกาล กฎหมายบ้านเมืองออกโดยผู้ชายเพื่อแสดงอำนาจสิทธิ์ขาดของตนเองเหนือกว่าเพศหญิง แต่เมื่อวิวัฒนาการโลกก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลง ใครสักคนกล้าบ้ามากพอจะแหวกแหกขนบธรรมเนียมประเพณี นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสิทธิสตรี เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียบของมนุษย์ และสามารถมองต่อยอดไปไกลๆ คือการยกเลิกระบบคลุมถุงชนในประเทศไทย

เท่าที่ผมอ่านในพระราชบัญญัติลักษณะลักพา ไม่ได้มีการระบุไว้ว่า อำแดงเหมือน เคยร่ำเรียนอ่านเขียนหนังสือออก นี่คงเป็นส่วนต่อเติมในบทภาพยนตร์เป็นแน่แท้ เพื่อเสริมแต่งอธิบายสาเหตุผล ทำไมเธอถึงเป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้จัดจ้าน กล้าขัดแย้งขนบวิถีสังคมกระทำตามใจ แถมปะทะฝีปากต่อหน้าศาลเมืองนนทบุรี

นี่สะท้อนถึงความสำคัญของการศึกษา คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด เรียนรู้เท่าทันคน ซึ่งในกรณีของผู้หญิง/หนังเรื่องนี้ ยังทำให้อำแดงเหมือน กล้าคิด กล้าพูด กล้าตัดสินใจแสดงออก ในสิ่งที่ไม่เคยมีหญิงไหนแห่งประเทศสยามกระทำมาก่อน

แต่ถึงกระนั้นชัยชนะของอิสตรีเพศ ล้วนเกิดจากการยินยอมรับของชายผู้อำนาจและมีวิสัยทัศน์มากพอ กรณีของอำแดงเหมือน คือพระปรีชาสามารถ วิสัยทัศน์ก้าวไกลของในหลวงรัชกาลที่ ๔ นั่นเพราะพระองค์ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตกมาแสนนาน เปิดสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดว่าจ้างแหม่มมาสอนภาษาต่างประเทศให้พระราชบุตรทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้วิวัฒนาการโลกทัศน์ใหม่ๆจึงค่อยซับแทรกซึม ทอดพระเนตรหลายสิ่งเฉิ่มเฉยไม่เหมาะสมยุคสมัยปัจจุบัน จึงทรงริเริ่มปรับเปลี่ยนแปลงให้ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ

สิ่งหนึ่งที่หนังทิ้งไว้ในเชิงตั้งคำถาม ซึ่งสะท้อนกับเหตุผลที่พระพุทธเจ้าพยายามบอกปัดพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ไม่อยากให้มีภิกษุณีเกิดขึ้นในพุทธศาสนา

ในคราวนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า “การให้สตรีบวชและเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ คือ พระศาสนาหรือสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้ยั่งยืนจะมีอายุสั้นเข้าเปรียบเหมือนตระกูลที่มีบุรุษน้อยมีสตรีมากถูกผู้ร้ายทำลายได้ง่าย หรือเหมือนนาข้าวที่มีหนอนขยอกลง หรือเหมือนไร่อ้อยที่มีเพลี้ยลง ย่อมอยู่ได้ไม่ยืนนาน”

การถือกำเนิดเป็นชาย มาจากบารมีสั่งสมและดวงจิตตั้งมั่นสำหรับบำเพ็ญเพียร สังเกตว่าสรีระกายภาพแทบไม่ต้องแบกรับภาระทุกข์ทรมานอะไร ผิดกับหญิงที่ไหนจะประจำเดือน ตั้งครรภ์ คลอดลูกเจ็บปวดรวดร้าวทรมานแสนสาหัส ความแตกต่างนี้เป็นผลพวงจากธรรมชาติขีดเส้นแบ่งสร้างไว้ บอกว่าอิสตรีเพศต้องมีความอ่อนแอกว่าบุรุษ

เป้าหมายปลายทางของพุทธศาสนา สอนให้มนุษย์ฝึกฝนรู้จักการปล่อยวางจากสิ่งยึดติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิเลสตัณหาราคะ แรงขับเคลื่อนผลักดันทางเพศ สำหรับบุรุษนั้นไม่วุ่นวายเท่าไหร่ แค่เพียงฝึกจิตหักห้ามใจตนเองให้ได้เป็นพอ ขณะที่อิสตรีมากวุ่นด้วยปัญหา เพราะสรีระออกแบบมาให้ซับซ้อน ไหนจะประจำเดือน ฮอร์โมนเพศที่รุนแรงกว่า สันชาติญาณสืบเผ่าพงศ์พันธุ์มนุษย์ ไม่ใช่เรื่องง่ายจะฝึกจิตให้หักห้าม แต่มิใช่เป็นไปไม่ได้ถ้าใจตั้งมั่นจริง

ครึ่งแรกของหนังเมื่อพระริดโดยไม่รู้ตัวให้ความช่วยเหลืออำแดงเหมือน ภาพหน้าอกของเธอติดตราตรึงประทับอยู่ในความทรงจำ แต่นั่นยังพอระงับได้ด้วยการฝึกฝนรับมือทางจิต กระนั้นเมื่อรับทราบถึงการจากไปของเธอ ความว้าวุ่นวายจนหมกมุ่นเพ้อคลั่ง สะท้อนถึงอิทธิพลของผู้หญิงที่มีต่อผู้ชาย ทางกายไม่เท่าไหร่แต่ทางใจนี่สิ สามารถชักจูงให้ขึ้นสวรรค์ลงนรกได้เลย

คำถามของครูเชิดที่หลบซ่อนเร้นอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่การยินยอมมอบสิทธิสตรี เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือไม่? แต่คือจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเมื่อผู้หญิงถือความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ?

คนส่วนใหญ่จะมองว่า โลกใบนี้คงมีความเจริญรุดก้าวหน้า ยกระดับคุณธรรม มโนธรรม จิตใจ และโอกาส สร้างสมให้อารยธรรมมนุษย์มีความยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้จริงๆนะหรือ?

ลองเทียบกับพุทธศาสนาดูนะครับ ผู้หญิงเคยได้รับโอกาสในการบวชเป็นภิกษุณี แต่ไฉนปัจจุบันในประเทศไทยกลับถือว่าหมดสิ้นสูญไปเสียแล้ว แถมองค์กรศาสนาตอนนี้ก็ล่อแล่เต็มทน? ผมมองการสูญเสียภิกษุณีในพุทธศาสนา สะท้อนถึงความเสื่อมทางจิตที่สุดท้ายผู้หญิงก็ไม่สามารถหักห้ามใจปรารถนา ให้สามารถปลดปล่อยวางละความยึดติด มิอาจฝืนธรรมชาติสรีระ ฮอร์โมน หรือสันชาติญาณของตนเองได้ ซึ่งก็จะค่อยๆชักจูงนำพาภิกษุลงสู่ความตกต่ำทีละเล็กละน้อยเช่นกัน

ในทัศนะส่วนตัวเห็นพ้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เมื่อโลกก้าวไปถึงยุคแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมชาย-หญิง และเพศสีรุ้งอย่างแท้จริง นั่นย่อมมุ่งสู่หายนะจุดจบล่มสลายมากกว่ายิ่งใหญ่ทรงคุณค่า อันเนื่องจากความอิ่มหนำมากเกินไปในอิสรภาพ เสรีภาพอันไร้ขอบเขต แค่#MeTooก็พบเห็นความแตกแยกชัดเจน เฉกเช่นนั้นแล้วมันจะหลงเหลืออะไรที่ทรงคุณค่าทางจิตใจ

“เมื่อความเจริญทางวัตถุถึงจุดสูงสุด ใครไหนจะสนค่าความสำคัญของจิตใจ”

แล้วมันจะมีวิธีแก้ไขป้องกันอะไรไหม? เหล่านี้คือวงจรวัฏจักรของโลก ไม่มีทางที่ใครไหนจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โลกจะล่มสลาย พายุมังคุดจะเข้าไทย ก็อยู่ที่ตัวเราล้วนๆจะใคร่สนใจไปทำไม

อำแดงเหมือนกับนายริด เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเกียรติฉายเปิดงานมหกรรมภาพยนตร์ Focus on Asia’94 Fukuoka International Film Festival จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๓๗, ต่อด้วยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๔๐ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๕๒

ในงานพิธีมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๗ คว้ามา ๒ รางวัล
– ดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (จินตหรา สุขพัฒน์)
– ถ่ายภาพยอดเยี่ยม

หนังยังได้เข้าชิงสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม แต่พ่ายให้กับ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ของผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ส่วนตัวชื่นชอบครึ่งแรกของหนังอย่างมาก ในประเด็น พุทธศาสนากับอิสตรี/ผู้หญิงกับพระหนุ่ม, ครึ่งหลังมีความเร่งรีบร้อนไปเสียหน่อย ตัดข้ามหลายๆเหตุการณ์ที่สามารถแทรกสาระใส่เข้ามาได้ ปุ๊ปปับกลับตัดจบเลย ภาพรวมเลยกลายเป็นน่าผิดหวังไปเสียหน่อย

ถึงกระนั้นสำหรับคนไทย “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เปิดโลกทัศน์ ประวัติศาสตร์ วิถีสังคมยุคสมัยรัชกาลที่ ๔ ก่อเกิดความภาคภูมิต่อสถาบันชาติ-ศาสตร์-กษัตริย์ และเรียนรู้จัก(สำหรับคนที่ยังไม่เคยเปิดโลกทัศน์ของตนเอง)สิทธิสตรี เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์

จัดเรต 13+ กับค่านิยม โลกทัศนคติของยุคสมัยก่อน ‘ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน’

TAGLINE | “อำแดงเหมือนกับนายริด ของ เชิด ทรงศรี สร้างความภูมิให้ชนชาติไทย เรียนรู้จักประวัติศาสตร์ และจุดเริ่มต้นของสิทธิสตรี เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: