เกิดเป็นหงส์ (พ.ศ. ๒๕๐๙) : คุณาวุฒิ ♥♥♥♥
เพชรา เชาวราษฎร์ เกิดในตระกูลชนชั้นสูง พร้อมด้วยรูป ทรัพย์ เชื้อสายขัตติยะ แต่การมาถึงของโลกยุคสมัยทุนนิยม ทำให้ถูกฉุดคร่าลงมาตกต่ำ ถึงกระนั้นก็ไม่ขอละทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นหงส์ ให้ฝูงแร้งกาเชยชมดอมดมได้โดยง่าย นอกเสียจาก มิตร ชัยบัญญา สุดที่รักแห่งดวงใจ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ทีแรกมา ผมแอบหงุดหงิดรำคาญเสียงพากย์ ทำไมต้องพิธีรีตรอง กระหม่อม กระผม กราบทูล พระเจ้าข้า ด้วยคำราชาศัพท์สูงศักดิ์ขนาดนั้น ครุ่นคิดไปมาก็ขนลุกซู่! นี่มันเรื่องราวสะท้อนยุคสมัยการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อพระมหากษัตริย์ถูกฉุดคร่าลงมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองของประชาธิปไตย
– ตัวละครของ เพชรา เชาวราษฎร์ เทียบแทนได้ด้วยชนชั้นสูง ขัตติยะ กษัตริย์
– มิตร ชัยบัญชา คือสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป เมื่อตอนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองยังเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสา เติบโตขึ้นถึงค่อยล่วงรับรู้เบื้องหลังข้อเท็จจริง
– อดุลย์ ดุลยรัตน์ อาผู้เป็นหมันแต่มักมากใฝ่ในกามคุณ สะท้อนถึงกลุ่มผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง/นายทุนมากด้วยเงินตรา ใช้แผนการชั่วร้ายเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินแดนประเทศชาติ (ปลอมแปลงพินัยกรรม ฮุบสมบัติทุกอย่างเป็นของตนเอง) ปกครองด้วยความเผด็จการเหี้ยมโหดร้ายรุนแรงมานานหลายปี กำลังค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่นปรารถนาดีจากทุกฝั่งฝ่าย
ฉากเจ๋งๆจะอยู่ช่วงท้าย เมื่อตัวละครของ มิตร ฉุดคร่า เพชรา ไปพักค้างแรมอยู่กลางป่าดงดอย เรียกร้องให้พูดบอกความรู้สึกตนเองออกมากลับสงบนิ่งเฉย (ประชาชนเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์แสดงทัศนะความคิดเห็น แต่ในยุคหลังการปฏิวัติมิอาจพูดบอกอะไรออกมาได้) ซึ่งเมื่อตอนเอ่ยปากจริงๆ ‘ฉันอยากกลับบ้าน’ โดนสวนไปทันที ‘นั่นเป็นไปไม่ได้!’ (ประเทศไทยจะกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชรึ? ย่อมเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว) และการเลือกข้างของนางเอก เกาะติดพระเอกเหนียวแน่นหนึบ นั่นคือการแสดงทัศนะของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้
“พระมหากษัตริย์ อยู่เคียงข้างประชาชนเสมอ แม้ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงแสดงความคิดเห็นต่อระบอบประชาธิปไตย/ทุนนิยมโลกเสรี”
ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้กำกับ วิจิตร คุณาวุฒิ เข้าใจนัยยะแฝงของนวนิยายเรื่องนี้เป็นอย่างดี สร้างภาพยนตร์ เกิดเป็นหงส์ (พ.ศ. ๒๕๐๙) หลายครั้งพูดบอกสื่อความหมายออกมาตรงๆถึงผืนแผ่นดิน การปฏิวัติยึดอำนาจ ปกครองเผด็จการ เป็นเหตุให้ตัวละครของ มิตร เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้นทรมาน แทบคลุ้มคลั่งออกจากภายใน นั่นคือตัวแทนความรู้สึกของประชาชนตาดำๆ ทนเห็นพวกนักการเมือง ผู้นำประเทศขณะนั้น สนแต่ตักตวงผลประโยชน์ส่วนตน อยากจะหันหลังให้ เรียกร้องนำระบอบกษัตริย์คืนมา แต่ก็แค่เรื่องเพ้อฝันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว
นอกจากเรื่องราวที่มีความลุ่มลึกล้ำ แฝงข้อคิดเรื่องเกียรติศักดิ์ศรี แสดงทัศนคติทางการเมืองของผู้กำกับ/ผู้เขียนนวนิยาย สิ่งโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การแสดงของ มิตร ชัยบัญชา คลุ้มคลั่งเสียสติแตกได้ใจ แต่ลึกๆยังคงแฝงไว้ด้วยคุณธรรมความดีงาม สมราคาคุยที่หลายๆแฟนหนังยกให้คือ บทบาทการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิต
และอีกอย่างหนึ่งคือ Fan Service ที่ทำเอาผมหัวเราะยิ้มกริ่ม ประกอบด้วย มิตร เต้นระบำ, เพชรา เปลื้องผ้าสวมชุดว่ายน้ำ, แฟชั่นโชว์ชุดไทย ฯ ใครยังไม่เคยพบเห็นก็อย่าพลาดเลย
วิจิตร คุณาวุฒิ หรือ คุณาวุฒิ ชื่อเดิม ซุ่นจือ เค้งหุน (พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๕๔๐) ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) เกิดที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย เรียนจบมาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ‘ชีวิตไทยรายสัปดาห์’ ร่วมสมัยกับ ส. อาสนจินดา, อิศรา อมันตกุล และประมูล อุณหธูป เคยมีผลงานเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียง อาทิ น้ำตาจำอวด, โสเภณีร้องไห้ ฯ เริ่มมีความสนใจวงการภาพยนตร์ตามคำชักชวนของ ปรีทีป โกมลภิส ร่วมเล่นบทผู้ร้ายในภาพยนตร์เรื่อง ฟ้ากำหนด (พ.ศ. ๒๔๙๓) จากนั้นครูมารุต ชักชวนให้มาร่วมเขียนบทภาพยนตร์ สันติ วีณา (พ.ศ. ๒๔๙๗) หลังจากนี้ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพนักข่าว เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว โดยมีผลงานกำกับ/เขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก ผาลีซอ (พ.ศ.๒๔๙๗), เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังประสบความสำเร็จจากผลงานถัดมา มรสุมสวาท (พ.ศ. ๒๔๙๙) บทประพันธ์ของอิศรา อมันตกุล นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล
ผลงานเด่นๆ อาทิ มือโจร (พ.ศ. ๒๕๐๔), โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), เสน่ห์บางกอก (พ.ศ. ๒๕๐๙), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), แม่ศรีไพร (พ.ศ. ๒๕๑๔), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๑๖), เมียหลวง (พ.ศ. ๒๕๒๑), คนภูเขา (พ.ศ. ๒๕๒๒), ลูกอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ฯ
เกิดเป็นหงส์ ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา (เกิด พ.ศ. ๒๔๗๓) นักเขียนหญิง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เกิดที่กรุงเทพฯ บุตรคนสุดท้องในพี่น้องร่วมมารดาทั้งหมดห้าคนของพระชาญบรรณกิจ (ถวิล ฉายะจินดา) อดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง สำเร็จการศึกษามัธยมปลาย โรงเรียนราชินี ต่อด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย, สอบชิงทุนโคลอมโบของรัฐบาลออสเตรเลีย ศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น สาขาวิชาวาทศาสตร์, กลับมาเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว สรรค์สร้างผลงานเรื่องสั้น แปล นวนิยาย รวมแล้วกว่า ๑๐๐ เรื่อง อาทิ จำเลยรัก, ตำรับรัก, เทพบุตรในฝัน, กามเทพหลงทาง, เงาอโศก, พระจันทร์แดง, กำแพงเงินตรา, เกิดเป็นหงส์ ฯ ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายรักพาฝัน นำเสนอตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่เป็นแบบอย่างกุลสตรีไทย มั่นคงในความรักและความดี จนสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆในชีวิตได้
ทิว บรรณา (มิตร ชัยบัญชา) ผู้จัดการไร่บรรณา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทั้งๆที่ผืนแผ่นดินนี้เป็นของบิดา แต่กลับตกทอดสู่ อาเทพ บรรณา (อดุลย์ ดุลยรัตน์) มาล่วงรู้ข้อเท็จจริงว่าถูกคดโกงผ่านพินัยกรรมปลอม ไม่เท่านั้นยังสูญเสียสองพี่สาว พวงทอง (บุษกร สาครรัตน์), ผ่องศรี (ปริม ประภาพร) และยัง ขวัญตา (เอื้อมเดือน อัษฎา) อดีตคนรัก กลายเป็นภรรยาของอาเทพ มีเมียถึงสามคน
ครั้งหนึ่ง ทิว มีโอกาสพบเจอ หม่อมราชวงศ์หญิงมานศรีโสภาคย์ กฤตยา (เพชรา เชาวราษฎร์) สนิทสนมชิดเชื้อจนค่อยๆตกหลุมรัก แต่โดยไม่รู้ตัวเธอกำลังถูกอาเทพหมายปองอยู่ เพราะเคยปล่อยเงินกู้ให้ครอบครัวที่กำลังจะล้มละลาย แม้จะไม่ช่างใจเพาะคิดว่ามาทำงานเป็นเลขานุการไร่ แต่ชายจอมโฉดผู้นี้กลับป่าวประกาศไปทั่ว ว่านี่จะคือภรรยาคนต่อไป สร้างความโกรธเกลียดเคียดแค้นแสนสาหัสให้กับ ทิว จนเมื่อถึงจุดแตกหัก กระทำการบางอย่างเพื่อโต้ตอบกลับ
นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา ชื่อจริง พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๑๓) พระเอกอันดับ ๑ ตลอดการของเมืองไทย เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ชื่นชอบเล่นกีฬาและชกมวย ช่วงระหว่างรับราชการทหารอากาศ จ่าโทสมจ้อยเห็นรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาเอาการ ท่าทางบุคคลิกดีอ่อนโยน เลยส่งรูปแนะนำตัวให้กับ กิ่ง แก้วประเสริฐ จนได้กลายเป็นพระเอกหนังเรื่องแรก ชาติเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๑), โด่งดังกับ จ้าวนักเลง (พ.ศ. ๒๕๐๒), ประกบคู่ขวัญตลอดกาล เพชรา เชาวราษฎร์ ครั้งแรกเรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๔), ผลงานเด่นอื่นๆ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ
รับบท ทิว บรรณา ชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความเก็บอด อัดอั้นอั้น รวดร้าวทนทุกข์ทรมานจากภายใน แค่ตกจากหลังม้าก็โวยวายสามบ้านเจ็ดบ้านทั้งก็ไม่ได้เจ็บอะไร มีชีวิตอยู่อย่างประชดประชัน รังเกลียดเดียจฉันท์พวกที่เห็นแต่เงิน ความสนใจแท้จริงของตนเองนั้นมีเพียง สักวันหนึ่งจะทำบางสิ่งเพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินแดนบังเกิดเหล้าของพ่อตนเองนี้
แม้จะเป็นเพียงสามัญชนคธรรมดา แต่ก็หลงใหลในดอกฟ้า ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตกหลุมรัก หม่อมราชวงศ์หญิงมานศรีโสภาคย์ กฤตยา แรกๆก็ยินยอมน้อมพระทัยเพราะคิดว่าเป็นคนดี ภายหลังหลงเข้าใจผิดคงสนแต่เงินทองทอดทิ้งเกียรติศักดิ์ศรี ทำการลักพาตัวเพื่อให้ อาเทพ เจ็บแค้นเคืองจะได้รับรู้ถึงความชอกช้ำที่ตนสัมผัสอยู่ ใครจะรอดใครจะตายก็ต้องไปลุ้นกัน
ผมว่า มิตร เล่นเป็นคนบ้าได้สมบทบาทเหลือเกิน ได้ระเบิดความเหน็ดเหนื่อยอัดอั้นทุกข์ทรมานของตนเองออกมา ถึงไม่ได้ยินเสียงแต่ดูจากอากัปกิริยาท่าทาง ภาษามือไม้ ทุ่มสุดตัว ตะโกนสุดดัง สีหน้าอารมณ์ ใครไม่ได้ยินเสียงคลุ้มคลั่ง(จากภายใน) คงจะหูหนวกตาบอดแล้วกระมัง, ส่วนตัวคิดว่า นี่น่าจะคือบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ มิตร ชัยบัญชา แล้วละ!
เพชรา เชาวราษฎร์ ชื่อจริง เอก ชาวราษฎร์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๖) ชื่อเล่น อี๊ด นางเอกภาพยนตร์ไทยเจ้าของฉายา ‘นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง’ เกิดที่จังหวัดระยอง เมื่ออายุ ๑๕ เข้ามาเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ช่วงงานที่ร้านเสริมสวยของน้องสาวพี่เขย ได้รับการชักชวนเข้าร่วมประกวดเทพธิดาเมษาฮาวาย พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ทำให้ได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และดอกดิน กัญญามาลย์ ให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๕) ประกบ มิตร ชัยบัญชา ตามด้วย ดอกแก้ว (พ.ศ. ๒๕๐๕) กลายเป็นคู่ขวัญพระ-นาง มีชื่อเสียงโด่งดังค้างฟ้า อมตะเหนือกาลเวลา ผลงานเด่นๆ อาทิ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๘), เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), สวรรค์เบี่ยง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ
รับบท หม่อมราชวงศ์หญิงมานศรีโสภาคย์ กฤตยา งามดั่งหงส์ คงไว้ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นสุภาพสตรีไทย ไม่ยินยอมให้ใครหน้าไหนดูถูก ลบหลู่ หมิ่นแคลน ต่อว่าลับหลังเสียๆหายๆ ขณะที่ตนเองก็ไม่ชอบนินทาว่าร้ายหลับหลังผู้อื่นเช่นกัน, วิวัฒนาการของโลกทำให้ธุรกิจของครอบครัวล้มละลาย เมื่อเริ่มรับรู้ก็ครุ่นคิดหาทางช่วยเหลือ แต่ไม่ยินยอมขายตนเองให้เป็นภรรยาใครเพื่อใช้หนี้ ความรักการแต่งงานคือเรื่องของจิตใจ ฉันมิมีวันลดตัวลงไปเป็นดั่งโสเภณีให้ใครติฉันท์ชาติตระกูล
การวางตัวของ เพชรา เชิดหน้าขึ้นนิดๆ ดูมีสง่าราศี ผู้ดีจับ แต่งตัวสวยๆใครก็นึกว่าหงส์ฟ้า งามเลอค่าดั่งหยาดเพชร แม้จะต้องคลุกขี้ดินกินไส้กรอก ก็ยังทำตัวผยอง ยึดถือมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรี นี่หมายความว่าต่อให้ถูกปู้ย้ำปู้ยี แต่ความเป็นลูกผู้หญิงของฉันจะไม่มีวันลดตัวต่ำลงมาเป็นขี้ข้าใคร
ฉากที่น่าประทับใจมากๆ คือตอนเล่นตัวง้องอน ไม่ยอมความ ทิว แม้กำลังถูกพาตัวไปค้างแรมยังกระท่อมกลางดงดอย ถ้าหมอนี่เป็นคนชั่วคงโดนปู้ยี้ปู้ยำไปนานแล้ว แต่เพราะลึกๆแล้วเป็นคนดีแท้แม้ปากหมา เห่าจนคอแห้งก็แค่ต้องการขู่ให้กลัว ลึกๆคงรู้อยู่กระมังจึงกล้าเริดเชิดหยิ่งขนาดนั้น ผู้หญิงมากด้วยศักดิ์ศรีขนาดนี้ ใครเห็นก็ไม่น่าคิดทำอะไรได้ลง
แซว: นับตั้งแต่ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๗) ที่ทำให้ เพชรา คว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ผลงานหลายสิบๆเรื่องถัดจากนั้นมักตั้งชื่อเกี่ยวกับนก หงส์ สัตว์ปีก นับไม่ถ้วนเลยละ! อาทิ นกขมิ้น (พ.ศ. ๒๕๐๘), นกแก้ว (พ.ศ. ๒๕๐๙), นกยูง (พ.ศ. ๒๕๐๙), นางนกป่า (พ.ศ. ๒๕๐๙), เหยี่ยวสังหาร (พ.ศ. ๒๕๐๙), เกิดเป็นหงส์ (พ.ศ. ๒๕๐๙), นางนวล (พ.ศ. ๒๕๑๐), สกุลกา (พ.ศ. ๒๕๑๑), ไก่แก้ว (พ.ศ. ๒๕๑๒) ฯลฯ
อดุลย์ ดุลยรัตน์ (พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๕๙) นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เริ่มทำงานแผนกบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สาขาราชวงศ์ ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้กำกับ แท้ ประกาศวุฒิสาร ลูกค้าธนาคาร พบเห็นหน้าตาหล่อเหลาจึงชักชวนมาเล่นหนัง ปาหนัน (พ.ศ. ๒๔๙๙), สามรักในปารีส (พ.ศ. ๒๔๙๙), ตัดสินใจลาออกงานเก่า มุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัว ผลงานเด่น อาทิ นางสาวโพระดก (พ.ศ. ๒๕๐๘), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), คนกินเมีย (พ.ศ. ๒๕๑๗), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฯ
รับบท เทพ บรรณา มีศักดิ์เป็นอาของ ทิว ใช้เล่ห์มารยาบีบบังคับให้คุณพ่อเปลี่ยนพินัยกรรม จนได้เป็นเจ้าของไร่บรรณา ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า ทั้งๆเป็นหมันแต่มักมากในกามคุณ เอาหมดแม้พี่น้องใกล้ตัว (เพราะทำใครท้องไม่ได้) เวลาโกรธเกลียดไม่พึงพอใจอะไรจักแสดงความเกรี้ยวกราดอย่างรุนแรง สิ่งไหนเพ้อฝันอยากได้ต้องได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ
บทตัวร้ายของ อดุลย์ เลวซาบซ่านจับใจเสียจริง ชอบยักคิ้วหลิ่วตา ทำหน้ากวนประสาท แถมยังไว้หนวดเส้น ยียวนประไร แรกๆก็วางมาดทำตัวหล่อผู้ดี แต่หลังๆลายครามมิอาจปกติ พอเริ่มออกอาการคลุ้มคลั่ง มือไม้ท่าทาง จริตจ้านออกหมด รับสัมผัสได้ถึงความโหดโฉดชั่วร้าย เจ็บแค้นเคืองโกรธ ต้องการเข่นฆ่าเอามันให้ตาย ทนกันไปได้อย่างไรชายชาติชิงหมาเกิดผู้นี้
อีกนักแสดงสมทบที่ต้องพูดถึงเลยคือ ประจวบ ฤกษ์ยามดี (พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๕๕๙) นักแสดงชาวไทย ฉายาดาวร้ายผู้น่ารัก เกิดที่ กรุงเทพฯ เป็นน้องภรรยาของครูมารุต (ทวี ณ. บางช้าง) เลยต้วมเตี้ยมอยู่แถวโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ เข้าสู่วงการเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ. ๒๔๙๘), โด่งดังสุดๆกับ รักริษยา (พ.ศ. ๒๕๐๑), มือโจร (พ.ศ. ๒๕๐๔), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ
รับบท วิวัฒน์ ลูกน้องคนสนิทของ ทิว ตกหลุมรักกับ ขวัญตา ทำเธอท้องแต่ไม่รู้จะทำยังไงดี ถูกเจ้านายตราหน้าไม่ใช่ลูกผู้ชาย ลาออกหนีหายตัวไปสักพักใหญ่ สร้างความเสียใจให้หญิงสาวเป็นอย่างมากจนเมื่อโดนจับได้ แสร้งสารภาพว่าลูกเป็นของ ทิว ภายหลังหวนกลับมาพร้อมความกล้าหาญ เชื่อมั่นในตนเอง จะไม่ขอยินยอมก้มหัวให้สิ่งชั่วร้ายอีกต่อไป
สีหน้าของ ประจวบ ตอนสนทนากับเจ้านายเมื่อถูกล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับเด็กในท้อง ซีดเผือก ไร้เรี่ยวแรง หมดอาลัยตายอยาก เป็นอะไรที่น่าสมเพศเวทนา เลวร้ายเสียยิ่งกว่าหมาขี้เรื้อนจนตรอก แสดงออกซึ่งความขลาดเขลา ปอดแหก ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ … หมดสภาพความเป็น ‘ผู้น่ารัก’ กลายเป็นนักแสดงแนวหน้ายอดฝีมือขึ้นมาทันที
ถ่ายภาพโดย ไพรัช สังวริบุตร (เกิด พ.ศ. ๒๔๗๔) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ด้วยความที่บิดาเป็นเจ้าของค่ายหนัง กรุงเทพภาพยนตร์ หลังเรียนจบจากเซนต์คาเบรียล เข้าร่วมช่วยงานจนได้เป็นตากล้อง รอยไถ (พ.ศ. ๒๕๐๓), แสงสูรย์ (พ.ศ. ๒๕๐๓)**คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง ถ่ายภาพ (16mm) จากนั้นร่วมลงทุนกับ มิตร ชัยบัญชา ตั้งบริษัท วชิรนทร์ภาพยนตร์ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง โดยเป็นผู้กำกับการแสดง และผู้กำกับภาพ ก่อนเข้าสู่วงการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๑๐
หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm ไร้การบันทึกเสียง ที่แม้จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่คุณภาพสี ริ้วรอย ถือว่ายังค่อนข้างสมบูรณ์ดี แม้มิได้ผ่านการบูรณะ อาจเพราะหนังไม่ค่อยถูกนำไปฉายซ้ำสักเท่าไหร่กระมัง
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ วิจิตร คุณาวุฒิ เรื่องนี้จะไม่หวือหวาสักเท่าไหร่ เน้นกำกับการแสดง ถ่ายทำด้วยระยะ Medium Shot กับ Close-Up เพื่อให้ผู้ชมสามารถจับจ้องมอง รับรู้อารมณ์จากภายในตัวละคร พบเห็นสัญลักษณ์บ้างประปราย แต่ทุกฉากล้วนมีความหมายซ่อนเร้น ซึ่งผมจะวิเคราะห์เทียบกับนัยยะที่แถลงไขไปแล้วตั้งแต่ต้นประกอบด้วย
แค่บีบแตรก็ทำให้ม้าวิ่งหนีเตลิดเปิด นี่สะท้อนการกระทำอะไรเล็กๆน้อยๆ (ของคนชนชั้นสูง/กษัตริย์) ก็อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน จนไม่สามารถแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าใดๆเองได้ เป็นเหตุให้ตกลงมาเจ็บหลัง ทำได้เพียงช่วยเหลือป้ายแปะทิงเจอร์ไอโอดีน (ปิดทองหลังพระ? แค่ให้กำลังใจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง)
ตกจากหลังม้า สื่อถึงการมิสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ให้ดำเนินไปตามวิถีปกติของชีวิตได้ นี่สะท้อนถึงตัวประชาชนเอง จำเป็นต้องมีผู้นำคอยควบคุมดูแล กำหนดทิศทางไปข้างหน้า หากปราศจากหัว ลำตัวและหางก็จะสะเปะสะปะกระจัดกระจาย ประเทศชาติถึงคราล่มจ่มอย่างแน่นอน
ก่อนถึงฉากแฟนเซอร์วิส มิตร ชัยบัญชา เต้นรำแบบไม่ประสีประสา ถูกคลำหน้าคลำตาเอานิ้วชี้วจิ้มจมูก อุดรูลมหายใจของชีวิต ทำให้ต้องสะเด็ดจามออกมา, ฉากนี้สื่อนัยยะถึงการคลำค้นหาวิถีหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม ในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (คือสัมผัสตัวตน/ความต้องการของประชาชน)
การปรากฎตัวครั้งแรกของตัวร้าย อาเทพ ยักคิ้วหลิ่วตา ถ่ายภาพมุมเงย แทนสายตาคุณหญิงที่ขณะนั้นกำลังว่ายน้ำอยู่ในสระ นี่เรียกว่ามุมของปีศาจ เพราะคู่สนทนาต้องเงยหน้าขึ้น หรืออยู่ตำแหน่งต่ำต้อยกว่า (ทั้งๆที่ชายคนนี้ชนชั้นต่ำต้อยกว่า กลับพยายามทำตัวหัวสูงส่งเหนือกว่าคุณหญิง)
เข้าสำนวน ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ ในฉากที่คุณหญิง บังเอิญแอบได้ยินคนอื่นพาดพิงนินทาถึงตนเอง(และครอบครัว) มีแต่พวกหน้าไหว้หลังหลอกเท่านั้นถึงไม่กล้าพูดบอกซึ่งๆหน้า เห่าหอนสร้างความรำคาญไม่มีใครใคร่อยากคบค้าสมาคม
กำแพง คือสัญลักษณ์กั้นแบ่งทางชนชั้นที่มีความหนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ในยุคประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แต่กษัตริย์-คนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ กลับถูกคั่นขวางไร้ความเสมอภาคเท่าเทียมที่แท้จริง
งานเดินแฟชั่นโชว์นี่เจ๋งมากๆ มีสองรอบ ชุดไทย-ชุดแฟชั่นสากล แถมเสียงพากย์ก็สามารถบรรยายรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์, นัยยะของฉากนี้ นอกจากบันทึกประวัติศาสตร์แฟชั่นโชว์ ยังเป็นการเปรียบเทียบ’ความงาม’ร่วมสมัย อดีต-ปัจจุบัน ไทย-ฝรั่ง ชุดพิธีการ-ชุดเดรสราตรี ไม่มีอะไรของบ้านเราจะน้อยหน้าสากล
เมื่อตอนที่ วิวัฒน์ รับรู้ว่าชู้รักของตน ขวัญตา ตั้งครรภ์เสียแล้ว ทีแรกผงะถอยหลัง แสดงความหวาดหวั่นกลัว ไม่อยากที่จะยินยอมรับความผิดพลาดของตนเอง เผชิญหน้าจ้องตากันช็อตนี้ จริงๆมันควรเป็น ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ แต่กลับคือการกระซิบกระซาบ พูดกล่อมเกลาให้หญิงสาวใจเย็นๆ ฉันต้องใช้เวลากับตนเองในการครุ่นคิดหาคำตอบ
นี่เป็นช็อตที่ผมมองว่าคือความผิดพลาดในการสื่อสารภาษาภาพยนตร์ เพราะวิวัฒน์คือผู้ชายปอดแหก แรกเริ่มไร้ซึ่งสามัญสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ไม่ควรด้วยซ้ำจะกล้าเผชิญหน้าใครอื่นตรงๆแบบนี้ (ที่สมควรถ่ายคือ วิวัฒน์เข้าหาด้านข้าง กระซิบกระซาบเป่าหู พูดจากล่อมเกลา จะถูกต้องเหมาะสมกว่า)
ฉากนี้คือขณะที่ ทิว พูดบอกข้อเท็จจริงกับพี่สาวคนโต พวงทอง ถึงการกระทำของ อาเทพ อันเป็นเหตุให้พ่อ-แม่ เสียชีวิต และมรดกไร่บรรณา ไม่ได้ตกทอดเป็นของพวกเขา, สังเกตว่ามันจะมีกิ่งไม้วางขวางทะแยงมุม นี่เป็นการสื่อถึงความขัดแย้งเห็นต่างที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขาทั้งสอง แบ่งแยกเหลื่อมล้ำไม่ลงรอย
ระหว่าง ทิว กับ ขวัญตา อดีตคนรักที่จงเกลียดจงชัง เพราะแทนที่จะได้แต่งงานครองคู่ เธอกลับสนเงินทองความร่ำรวยของ อาเทพ และเมื่อมิอาจตอบสนองความใคร่ของตนเองก็ปล่อยตัวท้องกับ วิวัฒน์ เฉกเช่นนั้นแล้ว ต่อให้มีเหยื่อมาล่อเสืออยู่ต่อหน้า หิวโหยแค่ไหนพบเห็นพยาธิไส้เดือนชอนไร กินเข้าไปรังแต่ติดโรคเอาเสียเปล่าๆ
จุดเด่นของช็อตนี้คือกระจกสะท้อนภาพของ ขวัญตา ไม่จำเป็นต้องตัดต่อสลับไปมา Long Take ช็อตเดียวสื่อสารกันรู้เรื่อง, และยังมีนัยยะถึง นั่นมิใช่ตัวตนแท้จริงของหญิงสาวที่เปลือยเปล่า พบเห็นเพียงภาพสะท้อนตรงกันข้ามกับความต้องการแท้จริงภายในจิตใจ
ซ้อนภาพช็อตนี้ หมายถึงการเข้าฝันเพื่อบอกร่ำราของพระปิตุลา (มาเป็นรูปของวิญญาณ) ทำให้คุณหญิงเกิดลางสังหรณ์อันตราย สะดุ้งตื่นขึ้นมารับโทรศัพท์ก็แน่นอนว่าต้องตาย นี่เป็นการแทรกใส่ความเชื่อตามวิถีไทย เพราะผูกพันธ์กันมากเลยจำต้องขอโทษขอโพยร่ำราก่อนมุ่งหน้าสู่นรกโลกันต์
เห็นช็อตลักษณะนี้นึกถึง Yasujirō Ozu ทุกที ความสำคัญสูงสุดในบ้านคือ อาเทพ นั่งอยู่กึ่งกลางภาพ รองลงมาฝั่งขวาคือ ทิว ฝั่งซ้ายคือ พวงทอง (เมียคนแรก พี่สาวคนโต) ถัดมาอีกระดับ ผ่องสี และ ขวัญตา ไม่ได้สนิทใกล้ชิดเชื้อสักเท่าไหร่
ผมชื่นชอบ Sequence นี้ที่สุดในหนัง ถ่ายมุมเอียง (Dutch Angle) ตัดสลับไปมาระหว่าง ทิว กับ คุณหญิง เดินหลบมุมกันไปมา ครุ่นคิดจินตนาการถึงฝ่ายตรงข้าม ฉันเกลียดหมอนี่ คิดอีกทีเขาก็ไม่เคยพูดบอกอะไรเรา หรือว่านี่คือความรู้สึกรัก และอยู่ๆก็สะดุ้งหงาย อยู่ใกล้ชิดกันแค่อ้อมกอดต้นไม้ใหญ่ (ต้นไทร หรือเปล่านะ?)
ฉากล่องเรือ ทิว คือหางเสือ ผู้กำหนดทิศทางให้แล่นไป นี่สะท้อนสถานะของประเทศในยุคสมัยประชาธิปไตย แต่เมื่อไหร่ถ้าคนชนชั้นสูง (กษัตริย์) พยายามแย่งชิงกลับคืนมาบ้าง ก็เป็นเหตุเรือล่มในอ่าวไทยโดยทันที
แซว: ใบเรือ สีแดง = ชาติ, สีขาว = ศาสนา แล้วน้ำเงินอยู่ไหน??
ฉากพาม้าเดินนี่ก็เช่นกัน ทั้งๆที่มันเคยพยศตอนต้นเรื่อง แต่เมื่อมีคนจูงให้คนนั่ง เวียนวงกลมไปมาก็ย่อมไม่เกิดอันตรายใดๆ
ฉากลักพาตัว นี่เป็นโชว์การแสดงของ มิตร ชัยบัญชา ช็อตนี้ เพชรา มองไปด้านข้าง ขณะที่พระเอกตลอดกาล พูดขึ้นเสียงดูรู้ว่าตะโกน มือไม้ขยับอ่านภาษากายก็พอรู้ บอกฉันหน่อยโฉมตรู ที่เงียบไปต้องการอะไร?
ฉากตอนกลางคืน วิจิตร คุณาวุฒิ กำกับฉากนี้ได้ Ingmar Bergman มากๆ, ครั้งหนึ่งเป็น Long Take ที่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยสนทนา พอเกิดความเข้าใจผิดต่ออีกฝ่ายก็จะเดินจากซ้ายไปขวา พออีกคนจะพูดบ้างบิดม้วนตัวเดินจากขวาไปซ้าย วนไขว้ไปมาอยู่สองสามสี่รอบ ผมเห็นแล้วยังต้องปรบมือให้ในไดเรคชั่น คนโกรธกันขึ้นเสียงตวาด ยืนอยู่เฉยไม่ได้สินะ!
ผมเคยไปเจอคลิปหนึ่ง ‘ศาสตร์แห่งการด่า’ ประมาณว่าเวลาคนโกรธเกลียดขึ้นเสียงกับใคร มันต้องมีออกท่วงท่าลีลา ก็มีคนอัดคลิปไว้แล้วปิดเสียงเปิดเพลงขึ้นแทน โอ้โหแม่เจ้าโว้ย ขาแร็พยังอาย มันคือศิลปะแขนงหนึ่งเลยสินะ!
ช็อตสุดท้ายของหนัง ทุกคนยืนห้อมล้อมจับจ้องมองผู้ตายอย่างสมเพศเวทนา ถ้าเป็นผมคงรู้สึกสมน้ำหน้ามากกว่า คิดทำกับคนอื่นไว้อย่างเยอะ แต่ก็มีคนหัวเราะอย่างบ้าคลั่งให้แทนแล้ว เราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าโศกนาฎกรรมก็ยังได้ (เพราะมีคนตาย) สะท้อนถึงความปรารถนาตั้งใจของผู้เขียนนวนิยาย/ผู้กำกับ หมอนี่ถูกยิงตาย เหมาะสมควรที่สุดแล้ว ประเทศชาติจะได้ก้าวสู่มิติใหม่
ลำดับภาพโดย …ไม่มีเครดิต… ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ มรว. มานศรีโสภาคย์ กฤตยา สลับไปมากับ ทิว บรรณา เริ่มจากการพบเจอครั้งแรก จากนั้นแบ่งแยกนำเสนอปัญหาชีวิตของทั้งสองฝ่าย พบเจอกันบ้างประปราย สุดท้ายมาบรรจบกันที่ไร้บรรณา มุ่งสู่ไคลน์แม็กซ์ชี้ชะตากรรม
ผมค่อนข้างประทับใจการดำเนินไปของตัวร้าย อาเทพ มีลำดับเรื่องราวทวีความใคร่รู้น่าสนใจอย่างมาก, เริ่มต้นด้วยคำกล่าวอ้างความชั่วร้ายจากปาก ทิว และภรรยาทั้งสาม ต่างหวาดสะพรึงกลัวเกรง -> ปรากฎตัวครั้งแรกตอนคุณหญิงกำลังว่ายน้ำเล่น -> พบเจอประปรายกับ ทิว สร้างความพิศวงด้วยคำกล่าวอ้าง กำลังจะมีภรรยาคนใหม่ -> ช่วงนี้อารมณ์ดีเป็นพิเศษ ลดแลกแจกแถมภรรยา ยกขวัญตาให้ทิว โดยไม่ถือโทษโกรธเคือง -> ความเลวโฉดชั่วเริ่มปรากฎ ขุ่นเคืองที่เรือร่ม พาขี่ม้าตัวอันตราย -> พอเกิดเหตุการณ์ลักพาตัวยินยอมความไม่ได้ หัวเด็ดตีนขาดต้องมีคนตายไปข้างหนึ่ง
ต้นฉบับฟีล์ม 16mm เป็นการพากย์เสียงหน้าโรง ดังนั้น Soundtrack ที่ได้ยินประกอบหนัง จึงเป็นผลงานของทีมพากย์พันธมิตร ใส่เข้ามาเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ อารมณ์ครึ้มๆ หม่นๆ ให้เข้ากับโทนของเรื่องราว ซึ่งล้วนเป็นบทเพลงคุ้นหูทั้งนั้น (ใครเคยดูหนังไทยคลาสสิก พากย์โดยพันธมิตร ก็น่าจักจดจำหลายๆท่วงทำนองเพลงได้)
เกิดเป็นหงส์ คือการวิพากย์/แสดงทัศนะทางการเมืองของผู้เขียนนวนิยาย/ผู้กำกับภาพยนตร์ ต่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ไร้ความรู้เข้าใจ มีสถานะเหมือนเด็กน้อย แบเบาะนัก ทำให้มิอาจรู้เท่าทันความฉ้อฉลกลโกงของพวกทำการยึดอำนาจจากกษัตริย์ แต่แค่เพียงไม่กี่ปีผ่านไป ประเทศชาติมีแต่ถดถอยหลังลงคลอง กลุ่มบัณฑิตผู้นำประเทศเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น เกิดการปฏิวัติซ้ำแล้วซ้อนอีก แก่งแย่งชิงกันขึ้นมามีอำนาจ เผด็จการ นับครั้งไม่ถ้วน!
เอาระบอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช คืนมาได้ไหม? ใครสมัยนั้นถ้าสามารถวิเคราะห์ประเด็นออก เชื่อว่าคงมีคนติดคุกเป็นทิวแถว กระนั้นคำตอบแบบรู้ตัวเองของเกิดเป็นหงส์นี้ นั่นย่อมมิอาจหวนคืนกลับไปได้! ต่อให้ร้องเรียก อ้อนวอน ตะโกนโหวกเหวก พระมหากษัตริย์มิอาจเปร่งพระโอษฐ์กระแสรับสั่งใดๆ แสดงทัศนะทางการเมืองออกมา
ความคาดหวัง หรืออาจเป็นการเริ่มมองเห็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงดำริเริ่มกระทำแล้วใน พ.ศ. นั้น พยายามช่วยเหลืออยู่เคียงข้างประชาชน ไม่ทอดทิ้งแม้ไร้อำนาจปกครองบริหารประเทศ นั่นคืออนาคตที่พอมีแสงสว่างแห่งความหวัง และเพราะสักวันหนึ่งไอ้พวกนักเลงขี้เรื้อนที่ถืออำนาจบาดใหญ่เผด็จการ ต้องสิ้นสูญชีวิตจากไป วันนั้นผืนแผ่นดินไทยย่อมพบเจอความสงบสุขสันติ
(แต่ในความเป็นจริง เรื่องเพ้อฝันนี้ก็มิอาจเป็นไปได้ เพราะโรคเรื้อนมันถ่ายทอดติดต่อได้ คนหนึ่งตายไป แต่ก็สามารถแพร่ระบาดได้อีกหลายสิบร้อนพัน นับไม่ถ้วน)
ว่าไปภาพยนตร์เรื่องนี้ มองเป็นชีวประวัติในหลวง ร.๙ ช่วงต้นรัชกาลก็ยังได้นะ ในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์นามธรรม … จะมีคนมองออกดั่งที่ผมครุ่นคิดได้ไหมเนี่ย
สิ่งที่ทำให้ฝูงแร้งกา เกิดความเย่อหยิ่งผยองจองหองอวดดี ครุ่นคิดว่าตนเองจักสามารถครอบครอง นางหงส์ ผู้สูงส่งในเกียรติศักดิ์ศรี คือความร่ำรวยทรัพย์สมบัติมากมี เงินทองคือสิ่งตีตราทรงคุณค่าในยุคสมัยนี้ แลกซื้อหาเป็นเจ้าของได้ทุกสิ่งอย่าง
บุคคลที่ครุ่นคิดว่า เงินทองสามารถซื้อจิตใจคนได้ มักมีลักษณะแบบ อาเทพ กายสุขสบายนั้นจริงอยู่ แต่อารมณ์ภายในปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง ขึ้นๆลงๆเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ อาฆาตแค้นพยาบาทกับสิ่งที่ตนต้องการแต่กลับมิได้มาครอบครอง วิกลจริตเหมือนคนไร้สติ ก็ไม่รู้คนพวกนี้มีความสุขอะไร ชีวิตก็มักมิได้ยืดยาว ลูกน้องเมื่อมีปัญหาก็ตีตัวออกห่าง สุดท้ายไม่หลงเหลือใครให้การช่วยเหลือสนับสนุน ถูกยิงก็ปล่อยนอนตายเป็นศพอยู่ข้างถนน ตกนรกมอดไหม้ จมปลักอยู่กับความทุกข์ชั่วนิรันดร์
หนังออกฉายครั้งแรกวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ณ โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง ไม่มีรายงานว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่เคยได้รับการดัดแปลงสร้างใหม่เป็นละครโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ฉายช่อง ๗ กำกับโดย ชัชวาล ศาสวัตกลูน, นำแสดงโดย อุษามณี ไวทยานนท์, ธนพล นิ่มทัยสุข, เคลลี่ ธนพัฒน์
คุณมนัส กิ่งเจริญ เล่าว่า เมื่อหลายปีก่อนพบเจอกากฟิล์ม เกิดเป็นหงส์ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากๆขายอยู่ตลาดคลองถม ราคาแพงไม่ใช่เล่น ไร้ซึ่งบทพากย์ เลยไม่มีใครคิดจะซื้อเก็บไว้ หลายปีถัดไปเมื่อคุณโต๊ะพันธมิตรออกติดตามหาหนังของ มิตร ชัยบัญชา ก็ไปเจอบทพากย์เรื่องนี้จึงให้คนไปซื้อฟิล์มมาทำแผ่น ออกฉายใหม่ในงานครบรอบ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่หอจดหมายเหตุฯ ท่าวาสุกรี กลายเป็นวีซีดีโดยบริษัท ทริปเปิ้ลเอ็กซ์ ฟิล์ม
reference: http://www.thaicine.org/board/index.php?topic=6345.0
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆ คือความปั่นป่วนท้องไส้ อึดอัดอั้นทุกข์ทรมาน สะท้อนความรู้สึกของผู้เขียนนวนิยาย/ผู้กำกับ/นักแสดง มิตร ชัยบัญชา ออกมาได้อย่างรวดร้าวราน ถือเป็นสถานการณ์อันคลุ้มคลั่ง อดีต-ปัจจุบันนี้ โลกความเป็นจริงแทบไม่แตกต่างกัน
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถ้ามิอาจทำความเข้าใจนัยยะแฝงอันสุดแสนลึกล้ำ ให้มองเรื่องเกียรติ ศักดิ์ศรี คุณค่าความเป็นคน อย่าทะนงว่าเงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง กับคนบางจำพวกนั้นใช่แต่ก็มักหาความจริงใจแทบไม่ได้ ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ภายใน สัมผัสได้ด้วยจิตวิญญาณ
จัดเรต 15+ กับความอึดอัดอั้น คลุ้มคลั่งแทบเสียสติแตก, ปกครองด้วยความเผด็จการ, อาการมักมากในกามคุณ
Leave a Reply