
เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖)
: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ♥♥♥♡
เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ของท่านมุ้ย แจ้งเกิดทั้งสรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์, ภิญโญ ทองเจือ แต่กาลเวลาทำให้คุณค่าหลงเหลือเพียงอุดมคติ และความเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย
เขาชื่อกานต์ มีปัญหากับเซนเซอร์ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างขึ้นมาพูดถึงระบบคอร์รัปชั่นโดยตรง ซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง ผมเอาไปฉายให้จอมพลถนอมดูแล้วถามตรงๆว่านี่เรื่องจริงหรือเปล่า ท่านบอกว่า เออ มันเป็นเรื่องจริง แล้วก็ผ่านเซนเซอร์
หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
หลังจากรับชมผลงานของท่านมุ้ยมาหลายต่อหลายเรื่อง ผมก็เคยครุ่นคิดว่าด้วยสไตล์ลายเซ็นต์รับอิทธิพลจาก François Truffaut และ Jean-Luc Godard แห่งยุคสมัย French New Wave อีกทั้งเนื้อหาสาระที่มักสะท้อนปัญหาสังคม ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯ ซึ่งจัดเป็นประเด็นต้องห้ามในยุคสมัยนั้น ต้องถือว่าคือบุคคลหัวขบถ ท้าทายขนบกฎกรอบ สมควรจัดเข้าพวก ‘คลื่นลูกใหม่’ … แต่ก็พบว่ามีนักวิจารณ์ไทยสมัยนั้นยกให้ท่านมุ้ยเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนะครับ
ผมไม่เคยอ่านนวนิยาย เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ของสุวรรณี สุคนธา หรือรับชมฉบับฉายโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ของรุจน์ รณภพ แต่รับรู้สึกว่าท่านมุ้ยน่าจะตัดทอดรายละเอียดเกี่ยวกับความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐออกไปไม่น้อย เพราะยุคสมัยนั้นยังไม่รู้ว่ากองเซนเซอร์/เผด็จการทหารของจอมพลถนอม (ออกฉายก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา) จะยินยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน แล้วผันแปรเรื่องราวในส่วนนั้นมาเป็นความรัก’น้ำเน่า’สามเส้าระหว่างหมอกานต์ หฤทัย และโตมร
ในช่วงแรกๆผมก็มีความสนใจหนังมากๆอยู่นะ เพราะคาดเดาว่าคงต้องการเปรียบเทียบเรื่องราวคู่ขนานระหว่าง การคบชู้นอกใจของภรรยา = ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ นายอำเภอ ตำรวจ รวมถึงนายแพทย์ใหญ่ แต่หลังจากที่หฤทัยประสบอุบัติเหตุ สูญเสียความจำ เรื่องราวหลังจากนั้นก็เริ่มออกทะเลไปไกล กลายเป็น’ความส่วนตัว’ไปซะงั้น! แต่นั่นก็เปิดโลกทัศน์ใหม่ในการรับชมหนังท่านมุ้ยขึ้นมาทันที
หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๔๘๕) เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา (สุฤทธิ์), ในพระอัยกา ทรงประสูติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นยังยึดครองกรุงเทพฯ
พอเกิดมาก็เห็นพ่อ เห็นแม่ เห็นลุงสร้างหนัง ผมได้เห็นฟีล์ม เห็นกล้อง ได้จับกล้อง เล่นกล้อง คุ้นเคยกับหนังมาตั้งแต่เด็กแล้ว
หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
แม้จะเติบโตขึ้นในครอบครัวนักสร้างภาพยนตร์ แต่ความสนพระทัยวัยเด็กของท่านมุ้ยคือการดำน้ำ หลงใหลในโลกสีคราม ถึงขนาดเคยประดิษฐ์พยายามอุปกรณ์ดำน้ำด้วยตนเองแต่ไม่สำเร็จ พอโตขึ้นไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา University of California, Los Angeles (UCLA) ก็เลือกสาขาธรณีวิทยา วิชาที่เรียนรู้ถึงโลกที่อาศัยอยู่ ตลอดไปจนถึงจักรวาล
ระหว่างอยู่ปีสองได้พบเจอ ตกหลุมรัก เสกสมรสกับหม่อมศริยา ยุคล ณ อยุธยา (บุษปวณิช) แล้วมีโอรส-ธิดาทันทีถึงสองพระองค์ นั่นทำให้เกิดภาระในการเลี้ยงดู จึงจำต้องเริ่มหางานทำ ความที่พระอัยกา (พระองค์ชายใหญ่) เคยร่วมงานกับ Merian C. Cooper เมื่อครั้นมาเมืองไทย ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องช้าง (พ.ศ. ๒๔๗๐) จึงเข้าไปสมัครงาน ได้เป็นผู้ช่วยตากล้อง, ช่างกล้องกองสอง, เลยตัดสินใจลงเรียนเสริมวิชาโท สาขาภาพยนตร์ รู้จักเพื่อนร่วมห้อง Francis Ford Coppola และ Roman Polanski
เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยแทนที่จะทำงานด้านธรณีวิทยา กลับเบนเข็มมาทำงานภาพยนตร์ โดยเริ่มจากช่วยงานเสด็จพ่อ เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), แม่นาคพระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๓), ระหว่างนั้นร่วมกับพระสหายก่อตั้งบริษัท พร้อมมิตรภาพยนตร์ เริ่มต้นทำหนังโทรทัศน์ ผลงานเรื่องแรก หญิงก็มีหัวใจ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ใช้พระนามแฝง ช. อัศวภักดิ์, ภาพยนตร์เรื่องแรก มันมาจากความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) สาเหตุที่อยากสร้างเรื่องนี้เพราะว่ามีทั้งฉากดำน้ำ เข้าถ้ำ ออกเดินทางไปถ่ายทำต่างจังหวัด ผลลัพท์แม้ได้รับคำชมว่าแปลกใหม่ ใจกล้าดีแท้ แต่ขาดทุนย่อยยับ
ความล้มเหลวของ มันมาจากความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) ทำให้ท่านมุ้ยถูกหม่อมแม่ด่าซะเละ โดยเฉพาะการเลือกนักแสดงตัวดำๆ ช่างไฟจากไหนก็ไม่รู้ (เห็นว่าทำเอาสรพงศ์ ชาตรี ร้องไห้น้ำตาซึม) ผลงานถัดมาจึงทรงเลือกดัดแปลงบทประพันธ์ชื่อดัง คว้ารางวัล อย่างน้อยน่าจะการันตีผู้ชมได้ระดับหนึ่ง
สุวรรณี สุคนธา นามปากกาของ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๒๗) นักเขียนชาวไทย เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก โตขึ้นเข้ามาเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง ตามด้วยปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ วิชาเอกจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, จากนั้นทำงานครูศิลปะ โรงเรียนศิลปศึกษา แล้วไปเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร
ระหว่างนั้นได้เริ่มเขียนเรื่องสั้น จดหมายถึงปุก (พ.ศ. ๒๕๐๘) ใช้นามปากกาสุวรรณี ตีพิมพ์ในสตรีสาร ก่อนเปลี่ยนมาเป็นสุวรรณี สุคนธา เมื่อได้นำเรื่องสั้นต่อๆมาตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, สำหรับนวนิยายเรื่องแรก สายบ่หยุดเสน่ห์หาย (พ.ศ. ๒๕๑๒), เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงจึงลาออกจากราชการ และได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารลลนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
สุวรรณี สุคนธา มีชื่อเสียงในการทำให้ตัวละครมีอารมณ์ประณีต และพาให้ผู้อ่านมีอารมณ์ประณีตตามไปได้มากพอสมควร ความเด่นของนักประพันธ์ผู้นี้อยู่ที่การใช้สำนวนภาษา การเลือกเฟ้นถ้อยคำสมเป็นศิลปิน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
ผลงานการเขียนของสุวรรณีมีจุดเด่นตรงการเน้นตัวละครที่สมจริง ตัวเอกของเรื่องมิใช่คนสวยวิเศษแสนดีตามแบบฉบับที่นิยมกันในสมัยนั้น มักเน้นหนักไปทางบรรยายอารมณ์ละเอียดอ่อนไหวของผู้หญิง และกิเลสของมนุษย์ที่พัวพันอยู่กับเรื่องความรักและความหลง ลึกลงไปคือความจริงของชีวิตและสังคม (สุวรรณี เป็นคนไม่มีโชคในการสมรสครั้งแรก เธอตัดสินใจแยกทางสามี และเลียงดูลูกทั้งหมดด้วยตนเอง) นำเสนอด้านมืดของมนุษย์ เสียดสีสังคม วิพากย์วิจารณ์หน่วยงานรัฐอย่างตรงไปตรงมา เหล่านี้ทำให้งานเขียนของสุวรรณีเต็มไปด้วยสีสัน ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องของน้ำพุ, เขาชื่อกานต์, สวนสัตว์, คนเริงเมือง, ความรักครั้งสุดท้าย, พระจันทร์สีน้ำเงิน, สร้อยแสงแดง ฯลฯ
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ ระหว่างสุวรรณีกำลังไปจ่ายตลาด ถูกวัยรุ่นพยายามชิงรถยนต์ เข้าทำร้ายด้วยอาวุธเพื่อที่จะไปซื้อยาเสพติด แต่กลับทำให้เธอเสียชีวิต สิริอายุ ๕๑ ปี
สำหรับนวนิยาย เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๓) เป็นผลงานได้รับรางวัลวรรณกรรมชนะเลิศจาก สปอ. (องค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๓ อีกทั้งยังขายดีเทน้ำเทท่า (Best-Selling), ปัจจุบันได้รับคัดเลือก “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทนวนิยาย” และ “๔๕ วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัย ร.๙ ตามศาสตร์พระราชา”
ผมนำเอาคำวิจารณ์นวนิยายบางส่วนในยุคสมัยนั้น มาให้อ่านผ่านๆนะครับ
สุวรรณี สุคนธา ควรนับได้ว่าเป็นผู้หนึ่งซึ่งช่วยยกระดับนวนิยายจากแบบเพ้อฝัน (Romantic) ให้มาเป็นแบบชีวิตจริง (Realistic) ผู้แต่งเรื่องนี้ดำเนินเรื่องไปตามหลักเกณฑ์ ความเรียบร้อยของชีวิตผัวเมีย ตัวละครสำคัญของเรื่องค่อยๆยุ่งเหยิงขึ้น ทั้งด้านชีวิตสมรส ด้านการงานและด้านสังคม … แต่การดำเนินเรื่องบางตอนดูไม่สมจริงนัก เช่น พระเอกกับนางเอกมีการศึกษาดีทั้งสองฝ่ายแต่ตัดสินใจแต่งงานกันรวดเร็วเหลือเกิน ราวกับตนไม่เคยได้ใคร่ครวญเรื่องนี้มาก่อนตามวิสัยผู้ได้รับการศึกษาสูง
มโหทร
สุวรรณี สุคนธา เป็นนักเขียนที่มีบุคลิกพิเศาในการใช้ถ้อยคำบรรยายสิ่งต่างๆ ออกมาง่ายๆ แต่เข้าถึงใจผู้อ่าน และแนวการเขียนที่สะท้อนปัญหาสังคมปัจจุบันอย่างเปิดเผย แต่อย่างไรก็ตามนิยายของสุวรรณีแทบทั้งหมดเป็นการตีแผ่สภาพความจริง แต่ไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาและทางออกให้ผู้อ่าน ดังนั้นจึงมักเกิดความสับสนขึ้นในวงการวิจารณ์ … เขาชื่อกานต์ ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า หมอกานต์ต้องการอะไร และแนวทางการต่อสู้ยืนหยัดของตัวเอกค่อนข้างจะเพ้อฝันอย่างซื่อๆ ทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่สงสารมากกว่าจะชื่นชมในอุดมคตินั้น
จิระนันท์ พิตรปรีชา
สาเหตุที่ท่านมุ้ยเลือกดัดแปลง เขาชื่อกานต์ ส่วนหนึ่งเพราะความชอบผลงานเขียนของสุวรรณี ที่มีความคิดใกล้เคียงกัน นำจากความรู้สึกจริงๆ ชีวิตจริง สะท้อนปัญหาสังคมไทย โดยเฉพาะการกระทบกระเทียบระบบราชการ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสิ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน


หมอกานต์ (รับบทโดย สรพงศ์ ชาตรี) นายแพทย์ผู้ยึดมั่นในอุดมคติ เข้าฝึกงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีโอกาสพบเจอตกหลุมรัก หฤทัย (รับบทโดย นัยนา ชีวานันท์) แต่เธอมีแฟนอยู่แล้วชื่อ โตมร (รับบทโดย ภิญโญ ทองเจือ)
ระหว่างที่โตมรเดินทางไปดูงานต่างประเทศ หฤทัยล้มป่วยไส้ติ่งอักเสบกะทันหัน ได้รับการรักษาจากหมอกานต์ ทำให้เกิดความรักความเอ็นดู แม้เขาไม่ใช่คนร่ำรวย หลังจากนี้จักอาสาเป็นหมอชนบท แต่เธอก็ยินยอมหมั้นหมาย ตอบตกลงแต่งงาน และไปประจำอยู่จังหวัดพิษณุโลก, เมื่อโตมรรับทราบข่าวก็โกรธจริงจัง พูดกับหฤทัยหากหมอกานต์ไม่รัก บอกเขาแล้วจะไปรับทันที!
หมอกานต์ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือมั่นต่ออุดมการณ์ ไม่ยินยอมคิดอ่อนข้อ จนทำให้ขัดแย้งต่อข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยเฉพาะนายอำเภอจอมสร้างภาพ (แต่งตัวเจ้าระเบียบ) เบื้องหลังคือเจ้าพ่อ/เจ้าของบ่อนการพนัน ใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็พร้อมส่งลูกน้องไปสอนสั่ง เพียงเพราะหมอกานต์ปฏิเสธมอบสำลียัดเบาะรองเก้าอี้ รวมถึงไม่ยินยอมทำการรักษาลูกน้องคนสนิท จึงครุ่นคิดจัดเก็บอีกฝั่งฝ่าย
หมอกานต์กับหฤทัยก็มีปัญหาขัดแย้งภายใน เธออยากมีบ้าน อยากมีลูก อยากกลับกรุงเทพฯ อยากใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวปกติทั่วๆไป แต่เขากลับดื้อดึงดันจะสานต่ออุดมการณ์ หมอทิ้งคนไข้ไปไม่ได้ สร้างความน้อยใจจนหญิงสาวหนีกลับกรุงเทพฯ เมื่อโตมรรับทราบข่าวจึงพยายามโน้มน้าว กล่อมเกลา เกี้ยวพาราสี คาดหวังว่าจะใช้โอกาสนี้แก่งแย่งฉกชิงเธอมาครอบครอง แต่ระหว่างขับรถขากลับจากพัทยา เสียหลักรถคว่ำ ทำเอาหฤทัยหมดสติและสูญเสียความทรงจำ
เมื่อหลงเหลือเพียงตัวคนเดียว สร้างความเปล่าเปลี่ยวให้หมอกานต์ บังเกิดความโล้เล้ลังเลใจ กระทั่งทราบข่าวหฤทัยประสบอุบัติเหตุเลยรีบเร่งกลับกรุงเทพฯ แม้ในตอนแรกเธอสูญเสียความทรงจำ แต่ไม่นานก็สามารถฟื้นฟูและจดจำเขาได้ ด้วยเหตุนี้เลยตัดสินใจยินยอมรับทุนเรียนต่อต่างประเทศ (ที่โตมรอุตส่าห์วางแผนจะใช้โอกาสนี้ แก่งแย่งชิงหฤทัยมาจากหมอกานต์) ไม่เอาอีกแล้วหมอชนบท ถึงอย่างนั้นระหว่างเดินทางกลับพิษณุโลก ถูกลูกน้องนายอำเภอ จ่อยิงจนเสียชีวิต
สรพงศ์ ชาตรี ชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต นามเดิมพิทยา เทียมเศวต (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๖๕) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เกิดที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จบการศึกษาชั้น ป.๔ แล้วบวชเรียนที่วัดเทพสุวรรณ ลาสิขาบทเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี สุรพงศ์ โปร่งมณี พาไปฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของ ช่างไฟฟ้า เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ รับบทพระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔)
ท่านมุ้ยมีปัญหากับหม่อมแม่มาก หม่อมแม่ด่าฉิบหายเลย [มันมากับความมืด]จะเข้าเฉลิมเขตร์ เฉลิมเขตร์ของฉันจะเจ๊ง เอาช่างไฟมาเป็นพระเอก จมูกก็โต ผิวก็ดำ สรพงษ์นั่งร้องไห้ ท่านมุ้ยไปตบบ่าบอกว่า มึงจำวันนี้ไว้นะไอ้เอก กูจะทำให้มึงได้ตุ๊กตาทองเท่ากับไอ้ไชยา ซึ่งในระยะต่อมาก็สามารถทำได้สำเร็จ
สมถวิล สุวรรณกูฏ ผู้ช่วยท่านมุ้ย
การคัดเลือกนักแสดงของท่านมุ้ยนั้น จะคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก แม้สรพงค์จะจมูกโต ผิวดำ หน้าตาบ้านๆ แต่ถือว่าเหมาะสำหรับบทบาทหมอกานต์ ซึ่งต้นฉบับนวนิยายก็มีบรรยายถึงรูปร่างหน้าตา ไม่มีอะไรสะดุดตาพอที่จะมีผู้ชมหรือกล่าวถึง บุคลิกก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรเป็นพิเศษ
หมอกานต์ไม่มีลักษณะของความเป็นพระเอกตามรูปแบบนวนิยายไทยโดยทั่วไป เขาไม่ใช่หนุ่มนักเรียนนอก และก็ไม่ใช่เด็กบ้านนอกที่เข้ามาได้ดีในกรุง รูปร่างหน้าตาของเขาไม่มีอะไรสะดุดตาพอที่จะมีผู้ชมหรือกล่าวถึง บุคลิกของเขาไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ
วันเพ็ญ จันทรวิโรจน์ และนิตยา มาศะวิสุทธิ์
หลังจากแม่ตาย พ่อก็ขายที่นาให้เรียนต่อแล้วก็ไปบวช หมอกานต์จึงต้องการทำงานแพทย์อาสา/หมอชนบท เพื่อช่วยเหลือคนต่างจังหวัด อาจเพราะชีวิตขาดความรักความอบอุ่น จึงโหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง เมื่อมีโอกาสตกหลุมรักแรกพบหฤทัย อารมณ์มันพาไป เลยตัดสินใจรีบเร่งสู่ขอแต่งงาน ด้วยเหตุนี้ช่วงระหว่างพลัดพรากจากลา (เมื่อตอนหฤทัยหนีกลับมาอยูกรุงเทพฯ) จึงรู้สึกโหยหา เหงาหงอยเศร้าซึม ภายในบังเกิดความขัดย้อนแย้งระหว่างอุดมการณ์ และความต้องการของจิตใจ
เกร็ด: กานต์ (วิเศษ) หมายถึง เป็นที่รัก, โดยมากใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น จันทรกานต์ เป็นที่รักของพระจันทร์, สุรยกานต์ เป็นที่รักของพระอาทิตย์ … แปลกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ หมอกานต์ไม่ได้เป็นที่รักของใครสักคน!
ส่วนหมอกานต์ เราอ่านแล้วบทมันบีบ เรื่องมันกดดันมาก ไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา แล้วไอ้วิธีที่เราต้องเล่น จะแสดงยังไงให้ออกมาดูบีบ ดูกดดันแบบนั้น ผมก็จะดูหนังแบบประเภทผู้แพ้เยอะ หนังของคนตัวเล็กอย่าง ดัสติน ฮอฟแมน คาแร็กเตอร์มันเป็นแบบนั้น เมื่อเราดูหนังพวกนี้แล้ว เราก็ไปดูบทของเราที่มันต้องผิดหวัง บทมันก็ช่วยส่งเราอีก เราไม่มีพวกผู้ช่วยด้านการแสดง เราก็ต้องเอาบทของเรื่องมาช่วย เราก็อินไปกับบทเอง และเราก็แสดงออกมา
สรพงศ์ ชาตรี
แม้ว่าสรพงศ์ไม่ได้มีความหล่อเหล่าเท่า มิตร (ชัยบัญชา) ไชยา (สุริยัน) หรือสมบัติ (เมทะนี) แต่น่าจะถือเป็นนักแสดงคนแรกๆของเมืองไทย กล้ารับบทบาทที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่กลัวเสียภาพลักษณ์ (ก็ไม่ได้หล่อ ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว) มุ่งเน้นขายฝีมือด้านการแสดง อย่างหมอกานต์ ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าเป็นมิตร ไชยา หรือสมบัติ เพราะพวกเขาต่างมีภาพจำพระเอก ต้องได้รับการเอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ตายตอนจบไม่ได้เป็นอันขาด!
ออร่าพระเอกของสรพงศ์ เปร่งประกายทีเดียวในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือสีหน้าแห่งความตึงเครียด เก็บกดดัน ฉันจะเอายังไงดีระหว่างอุดมการณ์ vs. ตัณหาความต้องการ แม้ฉากข่มขืนผมว่าพี่เอกดูเก้งๆกังๆ (คือตัวจริงนิสัยดีมากๆ เล่นฉากลักษณะนี้เลยค่อนข้างขาดความน่าเชื่อถือพอสมควร) แต่ภาพรวมถือว่าดูดี ด้วยเหตุนี้เลยได้รับฉายา ‘เขาชื่อกานต์’ เพราะคือบทบาทแจ้งเกิดโด่งดัง
นัยนา ชีวานันท์ ชื่อจริง มะลิ ชีวานันท์ (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๐) นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จบการศึกษาโรงเรียนวัดเทพสถาพร เข้าสู่วงการจากการประกวดนางงามในจังหวัด ได้รับตำแหน่ง ‘ขวัญใจ ชาวไร่-ชาวนา’ ต่อมาประวิทย์ ลีลาไว ส่งเธอเข้าประกวดนางงามยาสระผมแฟซ่าที่จังหวัดนครสวรรค์ พอได้ตำแหน่งนางงามประจำจังหวัด เปลี่ยนชื่อจาก มะลิ เป็น นัยนา แล้วส่งมาประกวดต่อยังเวทีใหญ่กรุงเทพฯ คว้ารางวัลรองนางงามและขวัญใจช่างภาพ จนมีโอกาสขึ้นแบบถ่ายปกนิตยสารต่างๆ สกุลไทย, กุลสตรี เป็นต้น
หม่อมอุบลยุคลที่เคยเป็นกรรมการตัดสินนางงามแฟซ่า ติดต่อไปยังนัยนาให้มาฝึกการแสดงในวังละโว้จนเป็นที่พอใจ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔), เพชรตาแมว (พ.ศ. ๒๕๑๕), ไอ้แกละเพื่อนรัก (พ.ศ. ๒๕๑๕), เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖), แหวนทองเหลือง (พ.ศ. ๒๕๑๖), กลายเป็นนางเอกชั้นแนวหน้าช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๒ โดยมักจะรับบทผู้หญิงเรียบร้อยแบบเศร้าๆ ทั้งชีวิตมีผลงานกว่า ๘๐ เรื่อง ก่อนออกจากวงการเพื่อไปมีครอบครัว เวียนกลับมาจอแก้ว จอเงินบ้างประปราย
รับบทหฤทัย ดาวเด่นมหาวิทยาลัยที่ใครๆต่างหมายปอง ด้วยความที่เติบโตในกรุงเทพฯ มารดาเป็นคนหิวเงิน จึงพยายามปลูกฝังเสี้ยมสอนบุตรสาวให้ยึดติดวัตถุนิยม เมื่อแต่งงานเลยคาดหวังชีวิตร่ำรวย สุขสบาย แต่เมื่อเดินทางไปถึงพิษณุโลกความฝันกลับพังทลาย สถานที่แห่งนี้ไม่มีอะไรเป็นของตนเองสักสิ่งอย่าง นานวันเข้าจึงเกิดความเบื่อหน่าย เรียกร้องอยากหวนกลับกรุงเทพฯ สองจิตสองใจว่าจะเลิกราหย่าร้างหมอกานต์ดีไหม?
เกร็ด: หฤทัย (คำนาม) แปลว่าหทัย, หัวใจ, จิตใจ, แก่นของสิ่งทั้งปวง สามารถสื่อถึงบุคคลที่เป็น ‘หัวใจ’ ของหมอกานต์
แม้หฤทัยจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตนเอง อยากมีชีวิตสุขสบาย vs. ความรักต่อหมอกานต์ แต่หลังจากสูญเสียความทรงจำ สิ่งแสดงออกมานั่นคือจิตใต้สำนึกที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน แม้จะมีเรื่องวุ่นวายชวนให้สับสนอยู่บ้าง พอถูกสามีข่มขืน ความต้องการแท้จริงจึงปรากฎออกมา … บอกตามตรงผมไม่ค่อยชอบเนื้อหาส่วนนี้เลยนะ เพราะมันแสดงถึงเหตุผลของอาการสับสนในตนเองทั้งหมด(ของทั้งหมอกานต์และหฤทัย)ล้วนเกิดจากความหมกมุ่น มักมาก แรงผลักดันทางเพศล้วนๆ
ภาพลักษณ์ของนัยนา เหมือนลูกคุณหนู ดูอ่อนแอ เปราะบาง ตามประสาสาวชาวกรุงฯ แต่ผมว่าเธอใสซื่อบริสุทธิ์เกินไปนิดกับบทบาทที่มีความระริกรี้ซ่อนเร้นอยู่ภายใน แค่เพียงแสดงอาการสับสน สีหน้าไม่เข้าใจตนเอง (ตัวของนัยนาเองก็ไม่เคยมีข่าวเสียๆหายๆในวงการ ผู้ชมจึงไม่คิดว่าบทบาทการแสดงจะมีอะไรซุกซ่อนเร้นภายใน) ท่านมุ้ยเหมือนจะทราบปัญหาตรงนี้เลยพยายามใช้ภาษาภาพยนตร์ (แทรกภาพจินตนาการ/ความเพ้อฝัน) เพื่อสร้างความซับซ้อนทางอารมณ์ให้กับตัวละคร
ภิญโญ ทองเจือ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๘) นักแสดงชาวไทย เมื่อตอนอายุ ๑๒ ขวบ มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ เหมันต์จำพราก สร้างโดยกรรณสูตรภาพยนตร์ของเฑียรร์ กรรณสูต แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่ได้ออกฉาย, ภายหลังกลับจากเรียนต่อปริญญาตรีที่วิทยาลัยการพาณิชย์ ลองบีช แคลิฟอร์เนีย ได้รับการชักชวนจากเทิ่ง สติเฟื่อง โฆษกและนักจัดรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ให้มาแสดงละครโทรทัศน์ สังกัดคณะศรีไทยการละคร มีผลงานออกมาหลายเรื่อง, ขณะเดียวกันเพราะเคยรับรู้จักท่านมุ้ยตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกา เลยติดต่อให้มาร่วมแสดงภาพยนตร์ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖)
รับบทโตมร พยายามเกี้ยวพาราสีหฤทัยมาแสนนาน กลับถูกหมอกานต์ฉกแย่งชิง (หมาคาบไปแดก) สร้างความโกรธแค้นเคืองโกรธ ตามประสาหนุ่มหล่อพ่อรวย มีลุงเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ใจจริงคงอยากฉุดคร่าหญิงสาวคนรัก แต่ยุคสมัยนั้นค่านิยมทางศีลธรรมยังค้ำคอ จึงเพียงพรอดคำหวาน ใช้ความหรูหราสะดวกสบายเป็นตัวล่อ แต่แค่เพียงอารมณ์ชั่ววูบ ก็เกือบทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลาย
เกร็ด: โตมร (คำนาม) แปลว่า หอก, อาวุธที่ใช้ซัด หรือพุ่งไป, สามง่ามที่มีปลอกรูปใบโพ สามารถสื่อถึงบุคคลที่เป็น ‘หอกข้างแคร่’ พยายามขัดขวางความรักระหว่างหมอกานต์กับหฤทัย
ด้วยรูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาคมคาย ฝีไม้การแสดงของภิญโญบอกเลยว่าน่าประทับใจ ไม่ธรรมดา! เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม มารยา ปากว่าตาขยิบ พยายามสร้างภาพให้ตนเองดีเด่นกว่าใคร แสดงออกเหมือนสุภาพบุรุษ แต่จิตใจกลับสนเพียงจะครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว
เอาจริงๆตัวละครประเภทนี้มันไม่มีศีลธรรมค้ำคอหรอกนะ แต่ที่ต้องยื้อๆยักๆ ชักแม่น้ำทั้งห้า ใช้วาจาหว่านล้อมให้หญิงสาวยินยอมใจอ่อน เพราะบทประพันธ์สมัยก่อนทำให้นางเอกถูกกระทำชำเราไม่ได้! นี่เป็นข้อจำกัดที่ผู้ชมสมัยใหม่ต้องเข้าใจบริบททางสังคมนั้นด้วยนะครับ … อาจเป็นตัวร้ายที่ร้ายไม่สุด แต่ก็สร้างสีสันให้หนังได้พอสมควร
ตัวจริงของภิญโญ ตรงกันข้ามกับบทบาทเลยนะ! เป็นคนสุภาพอ่อนหวาน ให้เกียรติผู้อื่น นอบน้อมถ่อมตน (สัมภาษณ์บอกว่าไม่เคยเล่นหนังคิวบู๊เลยสักครั้ง) คงมีแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กระมังที่รับบทตัวร้าย แต่ก็ยังพยายามสร้างภาพว่าเป็นสุภาพบุรุษ (ถึงสามารถล่อหลอกหฤทัยได้สนิทใจเลยกระมัง)
ถ่ายภาพโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ในยุคสมัยที่หนังไทยส่วนใหญ่มักตั้งกล้องไว้นิ่งๆ ให้นักแสดงเดินเข้า-ออกตามเส้นกรอบกำหนดไว้ นานๆครั้งถึงมีการขยับเคลื่อนไหว วัยสะรุ่นอย่างท่านมุ้ยรับอิทธิพลจาก French New Wave พยายามทำให้ทุกช็อตฉากไม่เคยหยุดนิ่ง ต้องมีการขยับเลื่อน แพนนิ่ง หรือซูมมิ่งอยู่ตลอดเวลา … ถ้าใครช่างสังเกตจะพบเห็นการแพนนิ่ง+ซูมมิ่ง (พร้อมๆกัน) ซึ่งเป็นลีลามีจุดเริ่มต้นจาก François Truffaut (เรียกว่า ‘สไตล์ Truffaut’) เพิ่มเติมคือท่านมุ้ยชอบที่จะซูมไปให้ถึงระยะ Close-Ups ใบหน้า/ดวงตานักแสดง ราวกับต้องการพุ่งเข้าไปในความครุ่นคิด แล้วเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณ
หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม ๓๕ มม. ตั้งใจจะให้เป็น Sound-On-Film บันทึกเสียงนักแสดงสดๆ แต่ข้อจำกัดยุคสมัยนั้นทำได้แค่เพียงบางฉากที่เงียบๆ ภายในสตูดิโอ บ้านพัก ต่างจังหวัด เพราะเมื่อออกมายังท้องถนนเมืองกรุงฯ คาคลั่งด้วยผู้คน รถราบนท้องถนน หนวกหูจนจับใจความไม่ได้ เลยยังต้องใช้การพากย์ทับเอาภายหลัง
การถ่ายทำบนท้องถนนของกรุงเทพฯ คงมอบสัมผัส ‘nostalgia’ ให้บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ ได้หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้น พ.ศ. ๒๕๑๕-๑๖ ถือเป็นภาพ ‘Time Capsule’ ให้กับผู้ชมสมัยใหม่ ได้พบเห็นอดีตที่แทบไม่อะไรหลงเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน ทั้งถนนหนทาง สนามม้า ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
แซว: ผมลองค้นหาอำเภอบางบาดาล จังหวัดพิษณุโลก ปรากฎว่ามันไม่มีอยู่จริงนะครับ มีแต่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี หรือถ้าในพิดโลกก็มีอําเภอบางกระทุ่ม, บางระกํา เป็นการตั้งชื่อสมมติที่แนบเนียนมากๆ (หรือสมัยก่อนมันมีชื่อบางบาดาล รึเปล่า?)

หนังบู๊ไทยสมัยก่อนมักเรต PG คือไม่มีพบเห็นร่อยลอยคราบเลือด ใครโดนยิงก็ต้องบิดม้วนตัวไปมา พร่ำพูดลมหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนล้มลงสิ้นใจตาย “Dance of Death” เห็นว่าท่านมุ้ยคือบุคคลแรกๆ (สงสัยจะไปเรียนรู้เทคนิคมาจากอเมริกา) ทำการสร้าง Special Effect เมื่อตัวละครถูกยิง จะมีเลือดพุ่งสาดกระเซ็น เพื่อสร้างความสมจริง สามารถให้เรตติ้ง PG-13
ใครมีโอกาสรับหนังฉบับบูรณะ น่าจะได้เห็นฉากเลือดพุ่งแบบเต็มตาเต็มใจ ครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทย!

เจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าติดตามบุคคลผู้ลอบสังหารหมอกานต์มาจนมุม แต่แทนที่จะถ่ายให้เห็นขณะยกปืนขึ้นจ่อยิง กลับตัดไปยังภาพฟ้าแลบ พร้องกับเสียงฟ้าร้องดังกึกก้องกังวาล นี่เป็นเทคนิครับอิทธิพลจากผกก. Jean-Luc Godrad (ใครเคยรับชม Pierrot le Fou (1965) มันจะมีฉากที่ตัวละครหยิบเค้ก กำลังปาใส่หน้าใครบางคน แล้วจู่ๆตัดไปภาพพลุปะทุระเบิดบนท้องฟ้า)
ความลึกล้ำของฉากนี้ที่อาจมีเฉพาะคนไทยสามารถครุ่นคิดเข้าใจ นั่นคือความตายของหมอกานต์เกิดขึ้นขณะฝนตกฟ้าร้อง ราวกับฟ้ากำลังพิโรธ เทพยดาโกรธเคืองที่คนดีถูกเข่นฆ่าให้ตกตาย! … จะว่าไป ท่านมุ้ยก็เคยใช้วิถีความเชื่อคนไทย นำเสนอเคียงข้างเหตุการณ์เหนือธรรมชาติหลายต่อหลายครั้งเลยนะครับ!
ตอนแรกผมเอะใจเล็กๆ ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงวิสามัญคนร้าย? เอาจริงๆถ้าไม่ขัดขืน ยิงต่อสู้ ก็หาใช่สิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าใครสังเกตจะพบว่าหนังเว้นระยะเวลาหนึ่งเหมือนให้ตัวละครครุ่นคิดตัดสินใจ คนชั่วแบบนี้สมควรถูกจับหรือเข่นฆ่า? แม้สะท้อนความป่าเถื่อน คอรัปชั่น ทำตัวเหมือนศาลเตี้ย แต่ถือเป็นความยุติธรรมหนึ่งเดียวที่เขาสามารถชดใช้ให้กับหมอกานต์ … นั่นเพราะถ้าเพียงติดคุก ยังไงก็มีนายอำเภอใช้เส้นสายกลับออกมาได้


เริ่มต้นจากการซูมเข้าไปยังใบหน้าหมอกานต์ จากนั้นราวกับวิญญาณเคลื่อนไหลไปตามสายน้ำ (คล้ายๆตอนจบของ มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖)) จากนั้น Cross-Cutting มาเป็น Opening Credit พื้นหลังมีความระยิบระยับเจ็ดสีสายรุ้ง ราวกับจะสื่อว่าชายคนนี้ตายแล้วขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ก่อนพัดพาย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น ณ วันงานแต่งงาน
ท่านมุ้ยชอบที่ใช้สายน้ำ ลำธาร มหาสมุทร คือสัญลักษณ์ของชีวิตที่พัดพาไป สามารถเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง ดำดิ่งสู่ก้นเบื้องจิตวิญญาณ … ก็แน่ละ ตั้งแต่เด็กทรงชื่นชอบการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ


งานแต่งงานระหว่างหฤทัยกับหมอกานต์ มีความใหญ่โตอลังการ แขกเหรื่อหลายร้อย จัดแบบตะวันตก ว่าจ้างวงดนตรีกรรณเกษม (วงเดียวกับที่ทำเพลงประกอบให้หนังนะแหละ) มันดูผิดปกติ เร่งรีบร้อน เกินความจำเป็นไปหรือเปล่า?
ผมรู้สึกว่าผู้แต่งสุวรรณี อาจต้องการสะท้อนค่านิยมการแต่งงานของคนสมัยนั้น (จากประสบการณ์ตนเอง) จัดให้ใหญ่ แขกให้เยอะ ล้วนเป็นการอวดอ้าง สร้างภาพ เหมือนหมอกานต์ต้องการแสดงให้ใครต่อใคร (โดยเฉพาะโตมร) รับรู้ว่าหฤทัยคือภรรยาของตนเอง! ส่วนเรื่องของความรัก ความมั่นคง ไม่มีอะไรเกี่ยวกับงานแต่งงานการันตีธาตุแท้ของคน
ช็อตสุดท้ายของซีเควนซ์นี้ กล้องเคลื่อนเลื่อนมาังรูปปั้นกามเทพ (Cupid) เหมือนท่านมุ้ยต้องการสื่อถึงโชคชะตาคือสิ่งที่ทำให้คนสองคนได้มาพบเจอ ตกหลุมรัก และแต่งงานกัน

ถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ไม่ใช่แค่สะท้อนภาพความทุรกันดารของชนบทเท่านั้นนะครับ ยังสามารถสื่อถึงวิถีชีวิตของหฤทัยและหมอกานต์ ที่จักเต็มไปด้วยความขุรขระ ทุกข์ยากลำบาก ต้องพานผ่านอุปสรรคมากมาย ก่อนจักดำเนินไปถึงเป้าหมาย (ที่ไม่ได้แปลว่าจักได้อาศัยอยู่เคียงข้างกันตลอดไป)

เมื่อแรกพบเห็นบ้านที่จักกลายเป็นเรือนหอ กล้องซูมเข้าหาใบหน้าหฤทัย → ตัดไปภาพจินตนาการเพ้อฝัน เธอและหมอกานต์วิ่งเข้าหากัน โอบกอดหมุนรอบ → จากนั้นซ้อนทับกับภาพของบ้าน → ตัดกลับมาใบหน้าหญิงสาวและซูมถอยหลัง หุบยิ้มโดยพลัน
นี่เป็นเทคนิควิธีการ/ภาษาภาพยนตร์ที่ท่านมุ้ยใช้อธิบายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร แทนปฏิกิริยาสีหน้า หรือคำพูดเอ่ยกล่าวออกมา แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิดตีความ ว่าเธอกำลังเบิกบาน หรือรู้สึกผิดหวังกับบ้านพบเห็น



ตุ๊กตาไม้ คือตัวแทนของแทนหฤทัย เมื่อตอนเธอกลับกรุงเทพฯ หมอกานต์จับจ้องมองด้วยความครุ่นคิดถึง ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์บางอย่าง (คนชู้กับโตมร) จู่ๆมันก็ร่วงหล่นลงพื้น … นี่มันตุ๊กตาคุณไสยหรืออย่างไร??
นี่เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่ผมไม่ค่อยชอบเลยนะ เพราะตามหลักสากลจะต้องอ้างอิงถึง A Doll’s House ซึ่งมักเปรียบเทียบหญิงสาวกับตุ๊กตาที่มีเพียงร่างกายแต่ไร้จิตวิญญาณ ถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำตามคำสั่ง ไร้ซึ่งเสรีภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ … หฤทัยเป็นบุคลเช่นนั้นหรือเปล่า? จะว่าไปก็ใช่อยู่ ถูกมารดา(และโตมร)พยายามจะควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนสั่ง บอกให้ทำอย่างโน้น ชักนำพาให้ทำอย่างนี้ จนก่อเกิดความลุ่มหลงใหลในวัตถุนิยม โหยหาความสุขสบายในชีวิต พอแต่งงานกับหมอกานต์ ก็เลยไม่ค่อยชื่นชอบวิถีชนบทแบบนี้ ต้องการหวนกลับเมืองกรุงฯ เพราะเงินตัวเดียวแท้ๆ

พระอาทิตย์กำลังใกล้ลาลับของฟ้า ภาพช็อตนี้อาบฉาบแสงสีแดง (ผมครุ่นคิดว่าน่าจะถ่ายทำช่วงเวลา Golden Hour) สะท้อนถึงสภาวะทางอารมณ์ของหฤทัย เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวิถีชนบท วันๆว่างๆ นี่ฉันมาทำอะไรยังสถานที่แห่งนี้?
กล้องซูมเข้าหาพระอาทิตย์ → ตัดไปยังโคมไฟยามค่ำคืน สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ชีวิตคู่ หมดช่วงเวลาฮันนีมูน ต่อจากนี้จักเผชิญหน้าตัวตนธาตุแท้จริงของกันและกัน, หฤทัยพยายามพูดขอหมอกานต์ ฉันอยากจะทำงานอะไรสักสิ่งอย่าง แต่เขาพูดตอบกลับด้วยถ้อยคำ … ที่นี่ไม่มีโรงแรม จะไปทำงานประชาสัมพันธ์ที่ไหนกัน? นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อหญิงสาวอย่างรุนแรง!

หฤทัยไม่ได้แสดงออกด้วยคำพูดหรือปฏิกิริยาสีหน้า แต่ด้วยภาษาภาพยนตร์(พร้อมเพลงประกอบ)ด้วยการไปเดินเล่นยังน้ำตกแห่งหนึ่ง ตะโกนอะไรสักอย่างไม่มีใครได้ยิน (สามารถสื่อถึงความต้องการที่ไปไม่ถึงผู้รับ/หมอกานต์ไม่ยินยอมรับฟังข้อเรียกร้องของหฤทัย) แล้วเปลี่ยนใจมาโยนก้อนหินลงน้ำ (แสดงออกถึงความหงุดหงิด รู้สึกผิดหวัง) และฉากถัดมาพบเห็นเรือรั่วในคลอง เหมือนกำลังจะจมลง สามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดความรักได้ตรงๆ


ช็อตนี้ใช้การปรับโฟกัสใกล้-ไกล เบลอ-ชัด ต่างคนต่างทำเหมือนไม่สนใจ แทบไม่เคยเปิดอกพูดคุย รับฟังความต้องการของอีกฝั่งฝ่าย หมอกานต์เอาแต่หมกมุ่นยุ่งอยู่แต่งาน จนละเลยเรื่องบนเตียง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตคู่ นั่นเองทำให้หฤทัยทรุดนั่งลงกับพื้น แสดงถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า สภาพจิตใจตกต่ำลง บังเกิดความต้องการหลบหนีไปจากสถานที่แห่งนี้

“หมอใจดำ” คำกล่าวของหฤทัย มาพร้อมภาพกระพริบ ตัดสลับระหว่างใบหน้าหญิงสาวกับภาพเมืองกรุงฯ ภายหลังเธอบอกกับเขาว่าจะเดินทางกลับบ้าน นี่ก็เป็นอีกลีลาของผกก. Jean-Luc Godard แต่ก็ต้องชมว่าท่านมุ้ยนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับหนังของตนเองได้น่าสนใจ
สิ่งแรกเมื่อหฤทัยกลับมายังกรุงเทพฯ คือเดินช็อปปิ้ง มองหาเสื้อผ้าสวยๆ เครื่องประดับงามๆ เดินเข้าไปวนในห้างสรรพสินค้าแล้วกลับออกมา (นี่ก็ Godardian อีกเช่นกัน) เข้ากับสำนวน ‘ไก่งามเพราะขน คนขามเพราะแต่ง’ สนเพียงแต่ภาพลักษณ์ภายนอกของตนเอง


ชาวบ้านแถวนี้ไม่นิยมปลูกผัก (ภาพมันเบลอจัด ผมเลยดูไม่ออกว่าผักอะไร) เพราะเมื่อฝนตกน้ำท่วม ที่อุตส่าห์ทำมาก็จักเสียหาย แต่ผมมองนัยยะเจ้าสิ่งนี้คือ ‘ต้นแห่งความรัก’ ของหฤทัย ต้องการปลูกไว้ร่วมรับประทาน/แทนความสัมพันธ์กับหมอกานต์ แต่ยังไม่ทันออกดอกออกผลจนสามารถเก็บกิน เธอก็ตัดสินใจหวนกลับกรุงเทพฯเสียก่อน และไม่เคยย้อนคืนพิษณุโลกอีกเลย (หรือคือหมอกานต์สูญเสียความรักจากหฤทัย)

นายอำเภอบอกให้หมอกานต์สั่งสำลีมาเยอะๆ จะนำไปใช้ยัดเบาะรองที่นั่งรถยนต์ (เป็นฉากแสดงความคอรัปชั่นของนายอำเภอ) แม้เขาจะไม่พูดแสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ภาษาภาพยนตร์คือถ่ายใบหน้าที่มีความบึ้งตึง ถมึงทึง จากนั้นซูมมิ่งเข้าไปตรงดวงตา เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงอารมณ์เกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เป็นการตอบปัดปฏิเสธโดยไม่ต้องเอ่ยกล่าววาจา


ผมแอบรู้สึกว่าเทพยดาในหนังของท่านมุ้ยมีความอ่อนไหวมากๆเลยนะ เพียงแค่หฤทัยพบเจอโตมร ก็ทำให้ฟ้าฝ่าลงมาตรงต้นไม้ เกิดเพลิงลุกไหม้ แถมตุ๊กตา(ของหฤทัย)กลิ้งตกลงพื้น ล้วนแสดงถึงลางบอกเหตุร้าย ฟ้าดินรับไม่ได้! … ความรุนแรงระดับนี้ มันชวนให้ครุ่นคิดเตลิดเปิดเปิงไปไกลว่าทั้งสองถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ แต่ยุคสมัยนั้นแค่ครุ่นคิดจะคบชู้ มันคงเท่ากับการนอกใจแล้วกระมัง

นาฬิกาที่เป็นของขวัญแต่งงานจากโตมร ราวกับคำสาปแช่ง สามารถสื่อถึงระยะเวลาความสัมพันธ์ระหว่างหฤทัยและหมอกานต์ สักวันเมื่อถ่านหมดก็คงถึงกาลเลิกรา, ซึ่งช็อตนี้ปรากฎในค่ำคืนฝนฟ้าคะนอง หลังจากหฤทัยเดินทางไปหาโตมร ราวกับเวลาแห่งความรักได้หมดสิ้นลงจริงๆ

ผิดกับตอนที่ภรรยาคบชู้ หรือถูกยิงตาย วินาทีที่หฤทัยรถพลิกคว่ำ กลับไม่สัญญาณเหนือธรรมชาติใดๆ เพียงความสงบ เงียบงัน หมอกานต์นั่งสูบบุหรี่อยู่ตรงบันได ก่อนเพื่อนตำรวจจะมาชักชวนไปดื่มเหล้าสังสรร รับรู้พบเห็นบ่อนการพนัน คลาดโทรเลขไปเพียงเสี้ยววินาที
แม้ไม่มีสัญญาณเหนือธรรมชาติใดๆ แต่ฉากก่อนหน้านี้ก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุ หนังนำเสนอด้วยความเร่งรีบ บีบเค้นคั้นอารมณ์ (ด้วยเทคนิค fast-cutting) ดนตรีสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ พอชีวิตพลิกคว่ำ ทุกสิ่งอย่างเลยกลับตารปัตร ตัดกลับมาบ้านนอกจึงหลงเหลือเพียงความสงบ นิ่งเงียบงัน

มุมกล้องเงยขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้ แสดงถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ขี้โม้เก่ง ตามหน้าที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจบาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็แค่สวมหัวโขน/สวมเขา ไม่สามารถเผชิญหน้าผู้ทรงอิทธิพล โดยเฉพาะนายอำเภอประจำหมู่บ้าน ‘รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง’ รวมถึงจิตใจของเขาเองก็เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น แอบสานสัมพันธ์เด็กรับใช้หมอกานต์จนตั้งครรภ์ ถึงอย่างนั้นสามัญสำนึกความ’ยุติธรรม’ก็ยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง

ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดพลาดของการสแกนฟีล์ม หรือระหว่างถ่ายทำ แต่เป็นความจงใจที่จะอาบฉาบแสงคนละสี/คนละระดับความเข้ม ลงบนใบหน้าหมอกานต์
- ภาพแรกคือขณะที่หมอกานต์พยายามอธิบายว่าตนเองไม่มีทางรักษาคนไข้อาการหนัก ให้ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลประจำจังหวัดดีกว่า
- ส่วนภาพสองคือหลังจากถูกดุด่าว่ากล่าว หมอไร้คุณธรรม สนแต่เงิน ไม่ยินยอมรักษาผู้ป่วย สังเกตว่าสีหน้าของตัวละครก็มีความบึ้งตึง ถมึงทึง ไม่พึงพอใจ แต่ไม่สามารถโต้ตอบออกไป
แสงสี/ความสว่างของภาพสอง น่าจะสะท้อนความอึดอัดอั้นที่อยู่ภายในจิตใจหมอกานต์ เต็มไปด้วยความลุ่มร้อนทรมาน แต่ทำได้เพียงเก็บกดอารมณ์ ไม่สามารถเปิดเผยแสดงมันออกมา


เมื่อหมอกานต์ได้อ่านโทรเลขแจ้งข่าวหฤทัยรถคว่ำ นอกจากการซูมใบหน้า ซูมจดหมาย (Fast-Zooming) ยังมีการย้อมเฉดสีแดง(เลือด) เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเลวร้าย รุนแรง ถึงขั้นเป็น-ตาย หมอกานต์จึงต้องเร่งรีบออกเดินทางเข้ากรุงฯโดยทันที
Ending Credit ของหนังก็อาบฉาบด้วยพื้นหลังแดง ตัวอักษรดำ เพื่อสื่อถึงเลือก ความตาย โศกนาฎกรรมที่ไม่ควรบังเกิดขึ้น สร้างความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ทำไมประเทศไทยเราถึงเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นเช่นนี้

เมื่อกลับมากรุงเทพฯ เห็นสภาพของหฤทัย หมอกานต์ก็ก้าวออกเดินบนท้องถนน (อารมณ์แบบ Elevator to the Gallows (1958)) มีการย้อมเฉดสีน้ำเงิน แสดงถึงอารมณ์บลู เต็มไปด้วยความหดหู่ หมองหม่น เศร้าโศกเสียใจ … แต่ผมสองจิตสองใจกับเฉดสีน้ำเงินฉากนี้พอสมควร เพราะเคยเห็นบางฉบับบูรณะเมื่อมีการปรับแก้ ‘Color Correction’ มันจะกลายเป็นภาพโทนสีปกติ น้ำเงินสูญหายไปเลยก็มี!

นี่น่าจะเป็นฉากที่ผมชอบสุดในหนัง กรุงเทพฯออกใหญ่โต แต่หมอกานต์กลับพบเจอพรรคเพื่อนฝูง ชักชวนไปดื่มเหล้าสังสรรค์ พบเห็นนักร้องสาวบนเวที เต้นบทเพลงชื่อ เงินตัวเดียว ออกอารมณ์ได้คลุ้มบ้าคลั่งชิบหาย! … ถ้าดูแค่ชุดชวนให้นึกถึง Cabaret (1972) ระหว่างที่ Liza Minnelli ขับร้อง-เล่น-เต้นบทเพลง Money Money แฝงนัยยะคล้ายๆกัน
ผมแอบประหลาดใจกับตอนจบซีเควนซ์นี้อยู่ไม่น้อย เมื่อหมอกานต์ตัดสินใจดื่มด่ำสุรา จากนั้นมีการสโลโมชั่นแล้ว Freeze Frame เหมือนต้องการหยุดเวลาช่วงนี้ไว้ ต้องการให้หลงลืมมันทุกสิ่งอย่าง

หลังจากดื่มเหล้าหนัก กลับโรงแรม ขับไล่โสเภณีออกไปภายนอก (เหมือนเป็นฉากบอกใบ้ผลงานถัดไปของท่านมุ้ย เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗)) พอหมอกานต์เข้ามาในห้องพัก เปิดหน้าต่างพบเห็นป้ายโฆษณาบริษัทยา BAYER พร้อมได้ยินเสียงเพื่อนฝูงที่ก่อนหน้านี้เคยชักชวนให้เขากระทำสิ่งขัดแย้งต่ออุดมการณ์
แต่ไฮไลท์ช็อตนี้คือเงามืดและแสงสีแดงที่สลับกันอาบฉาบใบหน้า ไม่ว่าจะทิศทางไหน หมอกานต์ล้วนไร้ซึ่งหนทางออกปัญหา อุดมการณ์ของเขาไม่สามารถเอาตัวรอดในยุคสมัยที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยเส้นสาย ความคอรัปชั่น เกิดความสับสน มึนเงา และกำลังเมามายไร้สติ


หมอกานต์อยากเหลือเกินจะต่อยหน้าโตมรสักเปรี้ยง แต่กลับมีเพียงภาพสโลโมชั่นในจินตนาการเพ้อฝัน ชีวิตจริงสามารถมองว่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว หรือมีสติมากพอจะหยุดยับยั้งชั่งใจตนเอง มากสุดเพียงแค่จับปกเสื้ออีกฝั่งฝ่าย ไม่โต้เถียง ไม่โอ้อวด ไม่ใช้ความรุนแรง นี่ต่างหากเรียกว่าสุภาพบุรุษตัวจริง!

ล้อกับตอนที่หมอกานต์คลาดโทรเลขของหฤทัย เมื่อตอนประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ, ครั้งนี้หฤทัยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลก็แคล้วคลาดหมอกานต์กำลังลงจากแท็กซี่ ซึ่งทั้งสองครั้งนี้ต่างต่างมีต้นสาเหตุจากโตมรพาเธอขับรถเล่น ครั้งแรกท่องเที่ยวยังทะเลพัทยา ส่วนครั้งหลังพามาที่บ้านพัก/คฤหาสถ์ติดแม่น้ำ
โตมรพยายามพูดจาโน้มน้าว เกี้ยวพาราสีหฤทัย แต่ฝ่ายหญิงกลับบอกปัดปฏิเสธ เมื่อตอนยังเป็นปกติทำให้เกิดความอยากหวนกลับหาหมอกานต์ ครั้งหลังแม้จดจำเขาไม่ได้แต่ก็ยังตระหนักว่านี่หาใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ
และที่พิศดารสุดๆก็คือ โตมรด้วยความมึนเมาขับรถซิ่งจนพลิกคว่ำทำให้หฤทัยสูญเสียความทรงจำ, ครั้งหลังหมอกานต์ที่ไม่เคยพูดจาว่าร้าย ใช้กำลังรุนแรงกับใคร กลับข่มขื่นหฤทัยจนเธอสามารถหวนระลึกทุกสิ่งอย่าง

ฉากข่มขืนระหว่างหมอกานต์กับหฤทัย มันเป็นความสองแง่สองง่ามด้านจริยธรรมทางสังคม ฝั่งฝ่ายหนึ่งบอกว่าพวกเขาเป็นผัว-เมีย เรื่องในครอบครัว มันผิดอะไร? ขณะที่อีกฝั่งฝ่ายจะมองถึงความรุนแรง การใช้กำลังเข้าข่มขืน อีกฝั่งฝ่ายไม่สมยินยอม นั่นหาใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม? ก็แล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคลนะครับ
ท่านมุ้ยนำเสนอวินาทีแห่งการข่มขืนได้น่าสนใจ ด้วยการตัดสลับใบหน้าหฤทัย เหมือนกำลังหวนระลึกถึงความทรงจำ ช่วงเวลาเคยใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมรักกับหมอกานต์ พานผ่านความสุข-ทุกข์ เฉดสีน้ำเงิน-แดง และภาพสุดท้ายผมครุ่นคิดว่าน่าจะคือพระอาทิตย์ยามเช้า กำลังเคลื่อนขึ้น สามารถสื่อถึงการฟื้นตื่น หวนกลับคืนความทรงจำ


หลังการข่มขืนครั้งนั้น ทั้งร่างกายและจิตใจ(ภาพสะท้อนในกระจก)ของหมอกานต์ ต่างไม่สนอะไรอื่นนอกจากหฤทัย จับจ้องมองเพียงเธอ พร้อมละทอดทิ้งอุดมการณ์ทั้งหมด แม้ขณะนี้ยังสองจิตสองใจไม่อยากไปต่างประเทศ (เพราะกลัวจะหวนกลับไปคบชู้กับโตมร) แต่เมื่อเธอพร้อมจะติดตามเขาไปด้วย จึงหลงเหลือเพียงตระเตรียมความพร้อม และหวนกลับไปสะสางงานที่พิษณุโลก

การร่ำลา ณ สถานีรถไฟ คือครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองจักได้พบเจอกัน คงด้วยสันชาตญาณคนรักกระมัง หฤทัยถึงเต็มไปด้วยความลุกรี้ลุกรน กระวนกระวาย ไม่อยากพลัดพรากจากลา ช็อตสุดท้ายของเธอยังหัวลำโพง พื้นหลังเบลอๆ ปกคลุมด้วยความมืดมิด แสงไฟสลัวๆ อนาคตช่างหมองหม่น อับจน ไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป

ขอทิ้งท้ายด้วยภาพนี้ก็แล้วกัน หลังจากหมอกานต์ร่ำลาหฤทัย ต้องการหวนกลับพิษณุโลกครั้งสุดท้ายเพื่อเก็บข้าวของ ตระเตรียมตัวออกเดินทางไปต่างประเทศ มุมกล้องช็อตนี้สวยมากๆ เมื่อรถไฟเคลื่อนพานผ่าน พบเห็นพระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า เพราะนี่คือการเดินทางมุ่งสู่การจากลาชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล,
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของหมอกานต์และหฤทัย เริ่มตั้งแต่งานแต่งงาน ออกเดินทางสู่พิษณุโลก แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันสักพัก ฝ่ายหญิงก็ตัดสินใจกลับกรุงเทพ ระยะทาง ความเหิ่นห่าง ทำให้ต่างฝ่ายต่างโหยหากันและกัน หมอกานต์จึงเดินทางไปๆกลับๆ ตัดสลับมุมมองระหว่างทั้งสองตัวละครหลัก
- อารัมบท, โศกนาฎกรรมของหมอกานต์
- องก์หนึ่ง หมอกานต์และหฤทัย
- งานแต่งงานระหว่างหมอกานต์และหฤทัย
- ออกเดินทางสู่พิษณุโลก มาถึงเรือนหอ
- ชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อหน่ายที่พิษณุโลก ทำให้หฤทัยโหยหาที่จะกลับกรุงเทพ
- องก์สอง หฤทัยและโตมร
- หฤทัยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ถูกเกี้ยวพาราสีโดยโตมร
- ระหว่างทางกลับจากไปรับประทานอาหารที่พัทยา ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ
- องก์สาม หมอกานต์ผู้โดดเดี่ยว
- หมอกานต์ล่องเรือไปกินเหล้าบ้านของตำรวจ พบเห็นบ่อยการพนันของนายอำเภอ ปฏิเสธให้การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ
- เมื่อได้รับโทรเลขจึงรีบเร่งเดินทางกลับกรุงเทพฯ
- เพื่อนๆของหมอกานต์พาไปเลี้ยงเหล้า ย่ำราตรี
- เช้าวันถัดมาเผชิญหน้ากับโตมร ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ
- องก์สี่ หฤทัยสูญเสียความทรงจำ
- แต่พฤติกรรมของโตมรหลังจากนั้น พยายามลวงล่อหลอกหฤทัยที่สูญเสียความทรงจำ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ โน้มน้าวให้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน
- หมอกานต์ตัดสินใจหวนกลับพิษณุโลก แต่แล้วได้รับโทรเลขให้ต้องหวนกลับกรุงเทพฯ เพื่อรับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ
- เมื่อหมอกานต์พบเจอหฤทัย ใช้กำลังข่มขืนจนอีกฝ่ายสามารถหวนระลึกความทรงจำ พูดคุยปรับความเข้าใจ
- แต่ระหว่างหมอกานต์เดินทางกลับไปสะสางงานที่พิษณุโลก กลับถูกลอบฆ่าระหว่างกำลังขึ้นเรือข้ามฟาก
เป็นอีกหนึ่งความท้าทายขนบหนังไทยสมัยก่อน เพราะเรื่องราวของ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ลงเอยตอนจบด้วยโศกนาฎกรรม แต่แทนที่ท่านมุ้ยจะมอบความตกตะลึง คาดไม่ถึง ผู้ชมออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความหมดสิ้นหวัง จึงทำการแทรกใส่ฉากหมอกานต์ถูกเข่นฆาตกรรมตั้งแต่อารัมบทต้นเรื่อง เพื่อตระเตรียมพร้อมรับมือความสูญเสีย และชักชวนขบครุ่นคิดถึงปัญหา เพราะเหตุใด? ทำไม? ตัวละครถึงประสบโชคชะตากรรมเช่นนั้น?
หลายครั้งทีเดียวที่หนังมีการแทรกภาพจินตนาการเพ้อฝัน ในช่วงแรกๆมักเป็นหฤทัยใคร่อยากได้โน่นนี่นั่น ครุ่นคิดถึงชีวิตเมืองกรุงฯ (เมื่อตอนอ่านจดหมายมารดา ก็ตัดสลับไปมาระหว่างภาพชนบท-กรุงเทพฯ) ส่วนครึ่งหลังมักเป็นภาพความทรงจำเสียมากกว่า เริ่มจากหมอกานต์ครุ่นคิดถึงภรรยา และช่วงท้ายหลังการข่มขืน มันคือการหวนระลึง/จดจำได้ทุกสิ่งอย่าง … สาเหตุที่ท่านมุ้ยใช้วิธีดำเนินเรื่องลักษณะนี้บ่อยครั้ง เพราะไม่ต้องการพึ่งพาความสามารถนักแสดงมากเกินไป (คือถ้านักแสดงเล่นไม่ดี เทคนิค/ภาษาภาพยนตร์เหล่านี้จะช่วยขับเน้นอารมณ์ อธิบายเหตุการณ์ สร้างความกลมกล่อมได้มากๆ)
สำหรับดนตรีประกอบในเครดิตเขียนว่า จำนง ดุริยะนันท์ วงดนตรีกรรณเกษม แต่เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลผู้ก่อตั้งวงนี้คือ จำนรรจ์ กุลฑลจันดา เลยไม่แน่ใจว่าเขียนผิดหรือคนละคนกัน? ไม่มีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตหลงเหลืออยู่เลยนะครับ
งานเพลงของหนังมีความเป็นสากล ใช้ดนตรีตะวันตกแทบทั้งหมด (เป็นความพยายามฉีกแหวกแนวยุคสมัยก่อนที่ยังยึดติดว่าหนังไทยต้องคู่กับเพลงพื้นบ้านไทย) จุดประสงค์เพื่อขับเน้นปฏิกิริยาอารมณ์ตัวละคร เมื่อเผชิญหน้าเหตุการณ์ขณะนั้นๆ โดยเฉพาะจินตนาการเพ้อฝันของหฤทัย มักมีความสวยหรู ระยิบระยับ ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น แต่เมื่อเผชิญหน้าสภาพความจริงของพิษณุโลก จักเริ่มได้ยินท่วงทำนองโหยหวน(ถึงเมืองกรุงฯ) จิตใจอมทุกข์ทรมาน
อย่างที่ผมอธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า ท่านมุ้ยไม่ได้ต้องการพึ่งพานักแสดงเพียงอย่างในการแสดงออกทางอารมณ์ เพลงประกอบถือเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง(ของภาษาภาพยนตร์)ที่สามารถช่วยขับเน้น ให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครขณะนั้นๆอย่างชัดเจนขึ้น
สำหรับบทเพลงขับร้องมักดังขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องการเน้นย้ำ อธิบายห้วงความรู้สึกภายในตัวละครออกมาเป็นคำพูด น่าเสียดายที่ผมหาคลิปให้ฟังไม่ได้เลยนะครับ ทั้งห้าบทเพลงประกอบด้วย
- เพลงสุขเศร้า เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา
- บทเพลงสะท้อนความรู้สึกของหฤทัย หลังมาอาศัยอยู่พิษณุโลกได้ระยะหนึ่ง ชีวิตมีทั้งสุขและเศร้า แม้ได้อยู่เคียงข้างชายคนรัก แต่ก็ยังโหยความสุขสบายในเมืองกรุงฯ
- เพลง โอ้ความรัก เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก,ขับร้องโดย เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา
- บทเพลงรำพันถึงความรัก เมื่อหฤทัยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ แต่ก็ยังโหยหา ครุ่นคิดถึงสามี เหมือนไม่ได้ใคร่อยากจากไปจริงๆ
- เพลง เงินตัวเดียว เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก
- ดังขึ้นที่บาร์แห่งหนึ่งเมื่อหมอกานต์กลับกรุงเทพฯ พบเห็นสภาพของภรรยาจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ตระหนักว่าที่เธอเป็นแบบนี้เพราะเงินตัวเดียว โหยหาแต่ความร่ำรวย สุขสบาย ยินยอมทอดทิ้งตนเองเพื่อไปคบชู้โตมร มันช่างน่าละอายยิ่งนัก
- ผมชื่นชอบบทเพลงนี้มากๆ แต่ไม่รู้ใครขับร้อง ยิ่งท่วงท่าการร้อง-เต้นบนเวที ใส่อารมณ์แบบสุดๆ เพราะเงินตัวเดียวทำให้มนุษย์คลุ้มบ้าคลั่งได้ถึงขนาดนี้
- เพลง รักข้างเดียว เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย ขบวน มุกดา
- หลังจากหฤทัยสูญเสียความทรงจำ โตมรพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เธอหวนระลึกถึงตนเอง/สร้างความทรงจำใหม่ๆ แต่จนแล้วจนรอดกลับเพียงรักเธอข้างเดียว
- นี่เป็นเพลงผู้ชายร้อง จึงสามารถเทียบแทนตัวละครโตมรได้ตรงๆเลยนะครับ
- เพลง เขาชื่อกานต์, ทำนองโดย ศุภชัย เชาวนวิรัตน์, คำร้อง : สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา
- เสียงโหยหวนของหญิงสาว รำพันถึงเขาชื่อกานต์ จักจดจำอยู่ในความทรงจำ ตราบชั่วกัลปาวสาน
ผมพยายามมองหาบทเพลงบรรเลงเปียโน Opening Credit ด้วยเสียงระยิบระยับสะท้อนกับพื้นผิวน้ำ ตอนแรกครุ่นคิดว่าอาจเป็นผลงานของ Claude Debussy พอฟังไปฟังมารู้สึกละม้ายคล้าย Franz Liszt: Liebesträume (แปลว่า Dreams of Love) แต่เทียบแล้วก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียว เลยคาดคิดว่าอาจเป็นการเรียบเรียงดนตรีขึ้นใหม่ของวงดนตรีกรรณเกษม
เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ใครต่อใครมักบอกแค่ว่านำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ฯ แต่แท้จริงแล้วคือจิตใจมนุษย์ที่ผันแปรเปลี่ยน ไร้ความมั่นคง เพียงเพราะอำนาจทุนนิยม และข้ออ้างเรื่องของความรัก จึงยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสุขสบาย อยู่รอดปลอดภัย และให้ได้เธอมาครอบครอง
ทุกตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างมีด้านมืด-ด้านดี อยู่ด้วยกันทั้งนั้น
- หมอกานต์ แม้เป็นสุภาพบุรุษ ยึดถือมั่นในอุดมการณ์ ไม่เคยพูดจาว่าร้าย หรือใช้กำลังความรุนแรงกับใคร แต่ก็มีความเห็นแก่ตัว ภายในเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา พยายามโอ้อวดภรรยา (ด้วยการจัดงานแต่งใหญ่โต) เธอนั้นเป็นของฉัน (ข่มขืนเมื่อเธอสูญเสียความทรงจำ)
- หฤทัย เป็นหญิงสาวที่ได้รับการเสี้ยมสอน ปลูกฝังจากมารดา (และสังคม) ให้มีความสวยหยิ่ง ลูกคุณหนู แต่งงานกับหมอกานต์ด้วยความเพ้อฝันเทพนิยาย พอไม่ได้ดั่งใจก็หนีกลับกรุงเทพฯ คบชู้กับโตมร แถมตอนฟื้นความทรงจำก็ขณะถูกข่มขืน ราวกับคนชื่นชอบถูกกระทำ/ความรุนแรง
- โตมร ดูยังไงก็เพลย์บอย มองหฤทัยเพียงของเล่นที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เธอมา แต่อย่างน้อยเขาก็มีความรับผิดชอบ ยังเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ยืดอกรับความผิดพลาด
- เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้รับสินบน ปล่อยปละละเลยภาระหน้าที่ แถมยังทำสาวใช้หมอกานต์ตั้งครรภ์ แต่เป็นคนรักพวกพ้อง และมีสามัญสำนึกถึงความยุติธรรมอยู่บ้าง
- นายอำเภอ แม้พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่งกายเต็มยศ ต้องเซ็นชื่อบนที่ว่าการ แท้จริงแล้วจิตใจนั้นคิดคด ชอบใช้เงินรัฐกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ ก่อตั้งบ่อนการพนัน แต่มีอุปสงค์ก็มีอุปทาน ล้วนเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน
อุดมการณ์ของหมอกานต์ ถือเป็นอุดมคติที่ฟังดูดี ต้องการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น สังคม พัฒนาท้องถิ่นชนบท กระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค แต่มันก็ชวนให้ผมระลึกถึง Viridiana (1961) การทำดีกับคนพาล ไม่ต่างจากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นอกจากไม่ได้ดียังอาจถูกทำให้ป่นปี้!
ผมแอบรู้สึกว่าสุวรรณี สุคนธา พยายามจิกกัดแนวคิดของปัญญาชนสมัยนั้น (ตนเองก็เฉกเช่นเดียวกัน) เต็มไปด้วยอุดมการณ์ อยากให้มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม เลยส่งออกบุคคลผู้มีวิชาความรู้ไปอาศัยอยู่ยังชนบทต่างจังหวัด เพื่อพัฒนาและยกระดับสังคมให้เทียบเท่าเมืองหลวง แต่นั่นคือการกระทำที่ไม่ดูตนเอง ไม่สนบริบทรอบข้าง เพราะยุคสมัยนั้นในทางปฏิบัติมันแทบจะเป็นไปไม่ได้! (เพราะประชาชนยังขาดการศึกษา อุปกรณ์ บุคลากร ความพร้อมหลายๆด้าน ชาวบ้านจึงกล่าวโทษหมอกานต์ว่าไม่ยินยอมรักษาคนไข้ ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำไม่ได้)
เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) จึงคือเรื่องราวของการตระหนักรู้ เมื่ออุดมการณ์ไม่สามารถตอบสนองอะไร (นอกจากตัณหาของตนเอง) ต่อให้ทุ่มเทพยายามสักเพียงไหน ชุมชนบทก็มิอาจปรับเปลี่ยนแปลงไป แถมยังทำให้ต้องสูญเสียอะไรหลายๆอย่าง เราควรจะต้องยินยอมรับสภาพความจริง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต(ที่สุวรรณีค้นพบ)ก็คือครอบครัว หญิงสาวคนรัก เมื่อบังเกิดความเข้าใจเช่นนั้น อย่างอื่นก็ไม่สลักสำคัญอีกต่อไป!
การสูญเสียอุดมการณ์ของสุวรรณี ผมคาดคิดว่าน่าจะมีจุดเริ่มต้นตอนเลิกราสามี หลงเหลือเพียงลูกๆให้ต้องเลี้ยงดูแล นั่นทำให้ตระหนักว่าครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต! งานแต่งงานใหญ่โตคือการสร้างภาพอันไร้สาระ และภายหลังตัดสินใจลาออกจากราชการ หันมาเขียนนวนิยายเพราะทำเงินได้มากกว่า (จักทำให้ลูกๆเติบโตขึ้นอย่างสุขสบาย เพียงพอภาระค่าใช้จ่าย)
สำหรับท่านมุ้ย สมัยหนุ่มๆเคยมุ่งมั่นอยากเป็นนักประดาน้ำ อุตส่าห์ไปร่ำเรียนธรณีวิทยาไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่เพราะแต่งงานเร็วตั้งแต่ยังร่ำเรียนไม่จบ แล้วมีบุตรถึงสองคน! (ในชีวิตทรงเสกสมรสถึง ๔ ครั้ง แสดงถึงความเจ้าชู้ประตูดินพอตัวเลยละ!) พอกลับบ้านมาจึงต้องเลือกอาชีพผู้กำกับ (ตามรอยพระบิดา) เลยถือว่าเป็นการสูญเสียอุดมการณ์ และตระหนักว่าครอบครัวคือสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต!
ขณะเดียวกันความล้มเหลวในผลงานเรื่องแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) สร้างแรงกดดัน รู้สึกอึดอัดอั้น (จากคำพร่ำบทหม่อมแม่) แล้วนี่ฉันจะสามารถเอาตัวรอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ สรรค์สร้างผลงานตอบสนองความหัวขบถของตนเองได้อีกกี่ครั้ง สักวันหนึ่งอาจต้องสูญเสียอุดมการณ์ เป้าหมาย แล้วกลายเป็นอย่างหมอกานต์ … โชคดีที่วันนั้นไม่เคยมาถึง
เขาชื่อ ‘กานต์’ น่าจะมาจากคำว่า อุดม’การณ์’ แต่สูญเสียคำว่าอุดม เลยหลงเหลือเพียง การณ์ พ้องเสียงกับ กานต์ แปลว่าเป็นที่รัก หรือคือตัวละครหมอกานต์ หลังจากสูญเสียอุดมคติของชีวิต เลยได้เรียนรู้จักกาลครั้งหนึ่งแห่งรัก (อุดมการณ์ชีวิต <> ความรักครอบครัว เหมือนเป็นสิ่งที่อยู่คนละฝากฝั่งขั้วตรงข้าม)
แต่ถ้ามองอีกแง่มุมหนึ่ง การสูญเสียอุดมการณ์ของหมอกานต์ (=สูญเสียจิตวิญญาณ) ทำให้เขาต้องประสบเหตุโศกนาฎกรรม (=สูญเสียร่างกาย) … หรือคือถ้ามนุษย์สูญเสียอุดมการณ์/เป้าหมายชีวิต เช่นนั้นแล้วตกตายไปเสียยังดีกว่า!
จะว่าไปทั้งนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นก่อนวันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ นำเสนอความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ (สะท้อนถึงยุคสมัยเผด็จการจอมพลถนอม ได้เป็นอย่างดี) การสูญเสียอุดมการณ์คือสิ่งที่ปัญญาชนสมัยนั้นยินยอมรับไม่ได้ (เป็นยุคแห่งอุดมคติชนโดยแท้!) และความตายของหมอกานต์คงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองเล็กๆ เราต้องอดรนทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการไปอีกนานเท่าไหร่ … นี่ผมพูดถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ ด้วยนะครับ!
หนังเข้าฉายวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ณ โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ปรากฎว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ว่ากันว่ารายได้หลักหลายล้าน แจ้งเกิดสรพงศ์ ชาตรี (จนมีคำเรียก ‘เขาชื่อสรพงศ์’) และสามารถคว้ารางวัลพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม (ท่านมุ้ยอายุเพียง ๓๑ ปี ถือว่าน้อยที่สุดขณะนั้น)
เกร็ด: เห็นว่าสรพงศ์ ชาตรี ได้เข้าชิงผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม แต่พ่ายให้นาท ภูวนัย จากเรื่อง ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ (พ.ศ. ๒๕๑๖), ขณะที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๖) กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์
ปัจจุบันหนังได้รับการสแกนภาพใหม่ในความคมชัดระดับ 4K เข้าฉายครั้งแรก ณ หอภาพยนตร์ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ … ส่วนฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๑ ของไฟว์สตาร์ เหมือนว่าจะบูรณะแล้วเสร็จสิ้นมาสักพักใหญ่ๆ
รับชมเขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ทำให้ผมรู้สึกว่าหนังของท่านมุ้ยอาจมีความเป็นส่วนตัว ‘ศิลปิน’ ซุกซ่อนเร้นในผลงานอื่นๆเช่นเดียวกัน ภาพยนตร์ที่คนส่วนใหญ่มองแค่ว่าสะท้อนปัญหาสังคม ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ นั่นอาจเหมารวมถึงตัวตนของท่านเอง มีบางสิ่งอย่างที่ขัดแย้งต่อแนวคิด อุดมการณ์ อาชีพการงาน และครอบครัว ถ้าเราสามารถครุ่นคิดตีความไปถึงระดับนั้น ก็จะตระหนักว่าหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล คือมรดกแห่งชาติเลยละ! และภาพยนตร์เรื่องนี้สมควรเรียกว่า ‘เขาชื่อชาตรีเฉลิม’ น่าจะตรงกว่าไหม?
แนะนำคอหนังไทย เรื่องราวรักสามเส้า สะท้อนปัญหาสังคม ภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่นำเสนอความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ(ไทย), ต้องการหวนระลึกถึงกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๖ รวมถึงวิถีชนบทยุคสมัยนั้น, ชื่นชอบวรรณกรรมของสุวรรณี สุคนธา, รำลึกถึงสรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์, ภิญโญ ทองเจือ และท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ระดับตำนานแห่งสยามประเทศทั้งนั้นๆ
จัดเรต ๑๓+ กับความคอรัปชั่น รักสามเส้า และโศกนาฎกรรม
ส่วนตัวมองว่านี่เป็นหนึ่งในหนังที่มีความซื่อตรง ใกล้เคียง เป็นส่วนตัว รวมถึงเป็นภาพแทนตัวตนของท่านมุ… Read more »
หนังของท่านมุ้ยที่เคยดูแล้วรู้สึกว่าใกล้เคียงกับตัวตนและสังคมที่เจ้าตัวเป็นจริงๆ (และยังพอหาดูได้) คือเรื่อง “ความรักครั้งสุดท้าย” (2518) กับ “กาม” (2521) ทั้ง 2 เรื่องมีตัวละครนำเป็นศิลปิน/ปัญญาชน/ชนชั้นกลางเหมือนกัน ปัญหาของชนชั้นกลางเหมือนๆกัน
โดย “ความรักครั้งสุดท้าย” เป็นเรื่องรักสามเศร้าของศิลปินหนุ่มสาวปัญญาชน สร้างจากเรื่องราวของสุวรรณี สุคนธา (ซึ่งก็เป็นอดีตปัญญาชนยุคหนุ่มเหน้าสาวสวยมาก่อน)
ขณะที่ “กาม” เป็นเรื่องราวตีแผ่เบื้องหลังวงการภาพยนตร์, นักแสดงนางแบบดาวยั่ว, สื่อหนังสือพิมพ์, และศิลปินจิตรกรภาพนู้ด (แถมแทบทั้งหมดยังอ้างคำว่า “ศิลปะ” เป็นเหตุผลในการกระทำและสร้างผลงานของตัวเอง ไม่ต่างจากตัวท่านมุ้ยเองด้วย) ซึ่งเป็นวงการที่แกเติบโตคลุกคลีอยู่ด้วยจริงๆ (ไม่ใช่มือปืน คนเลี้ยงช้าง ชาวประมง คนขับแท็กซี่ คนขับเรือโยง ซึ่งไม่ใช่พื้นเพจริงๆของท่านมุ้ย แต่ใช้การรีเสิร์ชข้อมูลเอา)