เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. 2508)
: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ♥♥♥
หนึ่งในหนังไทยที่ทำเงินสูงสุดขณะนั้น ของคู่พระนางตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา กับ เพชรา เชาวราษฎร์ อีกทั้งนักแสดงจากทั่วฟ้าเมืองไทย และบทเพลงหยาดเพชร ที่กลายเป็นอมตะนิรันดร์, นี่เป็นหนังที่ค่อนข้างดี จัดเป็น ‘หนังไทยคลาสสิค’ ที่ควรค่าแก่คนไทยควรหามารับชม
สมัยผมยังเด็กเมื่อสัก 10-15 ปีก่อน คุ้นๆว่าที่บ้านเคยมีแผ่นวีซีดีหนังเรื่อง เงิน เงิน เงิน มีอยู่ 3 แผ่น จำไม่ได้ว่าเคยเปิดดูหรือเปล่า แต่ก็อาจไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ผมจะเขียนรีวิววันนี้ น่าจะเป็น พ.ศ. 2526 ของไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ที่กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท นำแสดงโดย เกรียงไกร อุณหะนันท์ และ อภิรดี ภวภูตานนท์ กลับบ้านไปค้นหา พบเจอ เปิดดูปรากฏว่าเครื่องเล่นไม่ได้แล้ว ทั้งๆที่แผ่นก็ไม่ได้เป็นรอยขีดข่วนอะไร (แผ่น VCD มันเสื่อมสภาพเร็วขนาดนั้นเลยเหรอ!), นับว่าเป็นโชคดีมากๆ ที่มีใครสักคนอัพโหลดหนังเรื่องนี้ขึ้นไปบน Youtube แม้คุณภาพภาพอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เสียงฟังรู้เรื่อง (หนังใช้การพากย์เสียง เลยได้คุณภาพค่อนข้างดี) ทำให้เข้าใจเรื่องราวว่าเป็นยังไง นี่เป็นหนังที่ค่อนข้างดีเรื่องหนึ่ง แนวคิดดี การแสดงใช้ได้ ที่สำคัญคือเพลงเพราะมากๆ แม้กาลเวลาจะทำให้อะไรๆดูล้าสมัยไปบ้าง แต่มีความเป็นคลาสสิกที่ขึ้นหิ้งเลยละ ถ้าคุณเป็นคนไทย นี่เป็นหนังที่ ‘ควรหามาดูก่อนตาย’ (ถ้าไม่ใช่คนไทยก็ไม่จำเป็นนะครับ)
สร้างโดยละโว้ภาพยนตร์ อำนวยการสร้าง หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา กำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) สองท่านนี้คือพระบิดาและมารดาของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลหรือท่านมุ้ยนะครับ ว่ากันว่า นี่อาจจะเป็นหนังเรื่องแรกที่ท่านมุ้ยได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ไม่มีเครดิตหรือขึ้นชื่อไว้ก็ตาม
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงเป็นหนึ่งในผู้กำกับยุคบุกเบิกและนำความแปลกใหม่มาสู่วงการภาพยนตร์ไทย ในยุคที่ภาพยนตร์เปลี่ยนจากฟีล์ม 16 mm มาเป็น 35 mm, เงิน เงิน เงิน เป็นหนังที่ถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35 mm ซึ่งต้องส่งฟีล์มไปล้างต่างประเทศ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ฟีล์มต้นฉบับของหนังเรื่องนี้ได้รับการเก็บรักษา ยังมีสภาพดีอยู่ ผิดกับหนังไทยยุคก่อนโดยเฉพาะฟีล์ม 16 mm ที่สูญหายไปเกือบหมดแล้ว เพราะมีโรงล้างฟีล์มในเมืองไทย แต่กลับไม่มีระบบการจัดเก็บรักษาที่ดี ทำให้ฟีล์มสูญหายหรือถูกทำลายไปเสียจนหมดแล้ว
ในปีพ.ศ. 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หลังจากเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร กลับเมืองไทยมาร่วมกับ หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา ก่อตั้ง “บริษัทละโว้ภาพยนตร์” มีสัญลักษณ์เป็นพระปรางค์สามยอด (ของลพบุรี) ออกฉายภาพยนตร์เรื่องแรก คือ หนามยอกหนามบ่ง (พ.ศ. 2479) นำแสดงโดย โปร่ง แสงโสภณ แต่หลังจากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยเป็นอันต้องชะงักไป พระองค์ชายเล็กจึงทรงหยุดทำหนังแล้วเสด็จไปศึกษาภาพยนตร์เพิ่มเติมที่ Twenty Century Fox Studio สหรัฐอเมริกา
หลังสงครามจบ ช่วงนั้นผู้สร้างหนังกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ยังคงทำหนัง 16 mm ส่วนใหญ่ทำเป็นแบบครอบครัวเครือญาติ ไม่ได้มีโรงถ่ายหรือบริษัทอะไร มีผู้สร้างภาพยนตร์นับร้อยราย แต่ที่เป็นหลักเป็นฐานจะมี “พระองค์ชายใหญ่” (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล) “พระองค์ชายเล็ก” (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ) แล้วก็ “รัตน์ เปสตันยี” ที่มีโรงถ่ายของตนเองเป็นมาตรฐาน
หนังที่สร้างโดยพระองค์ชายเล็ก มักจะเป็นตลาด มีกระบวนการทำเป็นมาตรฐาน แต่เข้าถึงจิตใจของผู้ชมหนังไทย, ในยุคนั้นหนังไทยมีไว้สำหรับครอบครัว จึงต้องมีครบทุกอรรถรส เข้าถึงหัวใจของชาวบ้าน และสะท้อนสังคม นอกจาก เงิน เงิน เงิน ที่ดังมากๆแล้ว ยังมี นางทาษ (พ.ศ.2498 และ พ.ศ.2505), อีแตน (พ.ศ.2511), เกาะสวาท หาดสวรรค์ (พ.ศ.2512), แหวนทองเหลือง (พ.ศ.2516) ฯ
reference : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1427814776
สำหรับ เงิน เงิน เงิน ได้สร้างปรากฏการณ์หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยการรวมนักแสดงในยุคนั้นไว้มากถึง 60 กว่าคน การจะสร้างหนังรวมดาราเยอะขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะคิวงานที่ไม่มีทางจะได้พร้อมกันหมด ซึ่งหนังจะมีนักแสดงหลักประมาณ 20 คน อาทิ มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ฯ ส่วนที่เหลือจะมารับเชิญเล็กๆในหนัง ปรากฎตัวไม่กี่นาที นี่ยังไม่รวมเบื้องหลังของหนังนะครับ ที่ก็รวบรวมบรมครูจากแขนงต่างๆ เอาว่าแค่ครูเพลงก็ 15 คนแล้ว อาทิ หม่อมเจ้าศิวากร วรวรรณ, หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์, ชาลี อินทรวิจิตร, นารถ ถาวรบุตร, เอื้อ สุนทรสนาน, เวส สุนทรจามร, สง่า อารัมภีร์, สมาน กาญจนผลิน, อาจินต์ ปัญจพรรค์, สุรพล โทณะวณิก ฯลฯ การที่หนังประกอบไปด้วยดารานักแสดงทั่วฟ้าเมืองไทย ก็เป็นเสมือนการแสดงให้เห็นถึง ‘สปิริต’ หรือจิตวิญญาณ การร่วมแรงร่วมใจ ตลอดจนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเหล่าศิลปินนักร้องและนักแสดง ที่จะถูกสะท้อนลงไปในเรื่องราว ชัยชนะของหนังด้วย
เรื่องราวของขุนหิรัญ (อบ บุญติด) นายทุนเงินกู้หน้าเลือด ได้สั่งให้หลานชายที่เพิ่งจบจากเมืองนอก ตุ๊ อรรคพล (มิตร ชัยบัญชา) เอาสัญญาเงินกู้ไปขู่บังคับให้ชาวบ้านจ่ายเงินต้นและดอกไม่เช่นนั้นจะยึดหนี้ ซึ่งอรรคพลเมื่อได้ไปพบกับชาวบ้าน และได้รับรู้วิธีการของลุง จึงฉีกสัญญา แล้วรวมกลุ่มตั้งวงดนตรีแก๊งค์เด็กวัดอารามบอย เพื่อทำธุรกิจเปิดกิจการไนท์คลับ ต่อสู้กับท่านขุน
เหตุผลที่อรรคพลไม่ชอบอาชีพนายทุนเงินกู้ เพราะเป็นอาชีพที่ขูดรีดขูดเนื้อผู้อื่น เขาจึงต้องการทำอาชีพที่ ‘ให้ความบันเทิงแก่ผู้อื่น’, กระนั้นถ้าคิดดูให้ดี ไนท์คลับ ก็ไม่ใช่อาชีพที่ต่างกับนายทุนเงินกู้นัก เป็นอาชีพที่มอมเมาผู้คน ด้วยสุรานารี ผิดศีลไม่ต่างกันเลย ซึ่งหนังก็นำเสนอมาหมดเลย ความชั่วร้ายของไนท์คลับ อาทิ ผู้คนกินเหล้าเมามาย หาเรื่องทะเลาะต่อยตี มั่วซุม ลักพาตัว ฯ ตั้งวงดนตรีก็เรื่องหนึ่งนะครับ ไม่จำเป็นว่าวงของคุณต้องเล่นในไนท์คลับ (แม้การตั้งวงดนตรี ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์คือเล่นในร้านอาหาร หรือไนท์คลับ) ผมได้ยินว่าในเวอร์ชั่น พ.ศ. 2526 ของยุทธนา มุกดาสนิท ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวจากการเปิดไนท์คลับ เป็นการแข่งขันประกวดวงดนตรี นี่เป็นการแก้ทางที่ฟังดูใช้ได้เลยนะครับ (ผมยังไม่ได้ดูเวอร์ชั่นนั้นนะครับ เลยยังบอกไม่ได้ว่าผลลัพท์ออกมาเป็นยังไง)
มิตร ชัยบัญชา พระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2501 – 2513 มีผลงานนับได้ 300 กว่าเรื่อง ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง ชาติเสือ (พ.ศ.2501) ส่วนเรื่องที่ทำให้เขาเริ่มดัง เป็นผลงานเรื่องที่สอง จ้าวนักเลง (พ.ศ.2502) ที่เป็นต้นกำเนิดของอินทรีแดง, หนังที่ มิตร ชัยบัญชาเล่น มีถึง 3 เรื่องที่สามารถทุบสถิติหนังทำรายได้สูงสุดในเมืองไทย เริ่มจาก เงิน เงิน เงิน, เพชรตัดเพชร (พ.ศ.2509) และ มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ.2513) น่าเสียดายที่ มิตร ชัยบัญชา อายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกองถ่ายเรื่อง อินทรีทอง (พ.ศ.2513)
กับหนังเรื่องนี้ มิตร ชัยบัญชา รับบท ตุ๊ อรรคพล หลานของขุนหิรัญ นักเรียนจบนอก สวมแว่นหนาเตอะ (คนสมัยก่อนคงมีความเชื่อที่ว่า คนใส่แว่นเป็นคนมีความรู้ เรียนสูง) แต่เขาเป็นคนที่ยังอ่อนต่อโลก เพราะเติบโตขึ้นในครอบครัวมีฐานะ ทำให้ไม่เคยเผชิญหน้าพบกับความยากลำบาก ซึ่งพอเขากลับมาเมืองไทย ก็ถูกหมายมั้นปั้นมือเป็นอย่างดีจากขุนหิรัญ ให้สานต่อกิจการเงินกู้ของเขา แต่ที่อรรคพลจบมา คือวิชาชีพดนตรี (ที่ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง) เมื่อครั้งที่เขาได้รับมอบหมายจากท่านขุนให้ไปทวงหนี้ชาวบ้าน ก็ทำให้ได้พบเห็นวิถีชีวิต ความยากลำบากของพวกเขา จึงอาสาออกตัวให้ความช่วยเหลือ เอาความรู้ที่ตนมี เปิดกิจการร้านอาหารกลางคืน (ไนท์คลับ) โดยนำวงดนตรีวัดนี้ไปจัดแสดง (สรุปว่าหมอนี่จบบริหารมาด้วยสินะ) ซึ่งเมื่อนำเรื่องนี้ไปคุยกับท่านขุน จึงถูกต่อว่าประชดประชัน เพราะสิ่งที่ท่านสนใจมีแต่เงินเท่านั้น จึงออกปากท้าว่าคงไม่สามารถสำเร็จได้แน่ อรรคพลจึงต้องการพิสูจน์ตนเอง
เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกภาพยนตร์ไทยเจ้าของฉายา ‘นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง’ มีผลงานแสดงประมาณ 300 เรื่อง ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2505 ถึง 2521, ได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และดอกดิน กัญญามาลย์ ให้แสดงภาพยนตร์เรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. 2505) เป็นเรื่องแรก ขณะอายุ 19 ปี ประกบคู่กับ มิตร ชัยบัญชา, เธอแจ้งเกิดเต็มตัวจากภาพยนตร์เรื่องที่สอง ดอกแก้ว (พ.ศ.2505) ที่ทำให้เธอกลายเป็นนางเอกเนื้อหอมขึ้นมาทันที, มิตร กับ เพชรา ได้มีโอกาสรับบทคู่รักกันในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องจนเป็นที่ชื่นชอบของแฟนภาพยนตร์ เรียกว่า ‘คู่ขวัญ มิตร-เพชรา’ ที่มีชื่อเสียงสูงสุดช่วงปี พ.ศ. 2506-2507
แม้ มิตร-เพชรา จะเป็นคู่รักในจอ แต่คนที่ได้สมหวังในชีวิตจริง ได้แต่งงานกับเพชรา ก็คือ ชรินทร์ นันทนาคร, ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ แม้ทั้งคู่จะไม่ใช่คู่พระนางกันตรงๆ แต่เพลง ‘หยาดเพชร’ ก็เป็นเพลงที่ ชรินทร์ ร้องให้กับเพชรานะครับ, การแสดงหนังเรื่องสุดท้ายของเธอคือ ไอ้ขุนทอง (พ.ศ.2521) ที่ต้องหยุดไปเพราะเธอ ตาบอด สาเหตุว่ากันว่ามาจากการไม่ได้พักสายตา ไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่ต้องร้องไห้บ่อย, การขับรถไปทำงานเอง และสมัยนั้น ถ่ายหนังต้องใช้ไฟแรง รีเฟล็กซ์เยอะๆ ซึ่งหลังจากตาบอดเธอก็เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน, ครั้งล่าสุดที่ออกหน้าสื่อคือ ให้สัมภาษณ์ วู้ดดี้เกิดมาคุย เมื่อปี พ.ศ. 2552 และรับงานโฆษณาลิปสติกมิสทีน ที่นำเงินจากค่าโฆษณาบริจาคให้องค์กรการกุศลทั้งหมด ส่วนหนึ่งจะมอบให้กับมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย, ปัจจุบันเธอยังมีชีวิตอยู่นะครับ (พ.ศ.2558) แต่เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นเธออีกแล้วเป็นแน่
สำหรับหนังเรื่องนี้ เธอรับบท กิ่งแก้ว เด็กขอทานที่มีนิสัยแก่นแก้ว ผู้ซึ่งทำให้อรรคพล เข้าใจความจริงของโลก, เธอยังเป็นคนที่ทำให้คุณนายเม้า (สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต) ปล่อยกู้แก่อรรคพลด้วยนะครับ, ผมรู้สึกหนังมีช่วงเวลาระหว่างอรรคพล กับกิ่งแก้วไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ช่วงเวลากุ๊กกิ๊กของทั้งคู่ก็แทบไม่มี ไม่รู้ไปปิ๊งชอบคอกันตอนไหน (น่าจะรักแรกพบ) แต่ทั้งสองก็กิ่งทองใบหยกจริงๆ ดูเข้าขากันมากในเรื่อง แถมตอนจบก็เป็นแบบเชิงบังคับ จะแต่งหรือไม่แต่ง… คู่พระนางหนังไทยจริงๆ
ชรินทร์ นันทนาคร รับบท รังสรรค์ ครูสอนเปียโนฐานะยากจน ที่กู้เงินจากขุนหิรัญ ตกหลุมรัก ภารดี รับบทโดย สุมาลี ทองหล่อ น้องสาวของอรรคพล เมื่อพี่ชายถูกไล่ออกจากบ้าน น้องสาวก็ทนไม่ได้ ทำให้รังสรรค์โดนลูกหลงไปด้วย เขาต้องใช้หนี้เงินกู้ค่าไถ่บ้าน แต่ครูเพลงจนๆจะไปเอาเงินจากไหน แถมเป็นโรคหัวใจถ้าจะให้หายไม่รู้ต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่
สุเทพ วงศ์คำแหง รับบท สัปเหร่อเทพ ถึงตัวจะจนแต่เป็นคนมีคุณค่า ผมชอบแนวคิดของตัวละครนี้มากๆ คุยกับคนเป็นมีแต่ปัญหา คนตายคุยง่ายไม่เคยเห็นพูดอะไร อยู่วัดก็กินข้าววัด มีสุขพอเพียง อยู่เมืองร้องเพลง ตามมีตามได้ไม่ยึดติดอะไร
คนที่แย่งซีนหนังเรื่องนี้คือ ขุนหิรัญ นำแสดงโดย อบ บุญติด (ตัวละครนี้ในเวอร์ชั่นของยุทธนา มุกดาสนิท มี ล้อต๊อก นำแสดง) ท่านเป็นนักแสดงมาตั้งแต่สมัยหนังเงียบ เคยเล่นหนังสดอยู่ก่อนหน้านั้นด้วย, ถึงแม้จะไม่เคยได้รับรางวัลการแสดงใดๆ แต่ก็ถือเป็นนักแสดงอาวุโสที่ได้รับความเคารพนับถือมากในสมัยนั้น, บทขุนหิรัญต้องบอกเลยว่า เข้มข้น จริงจัง ทั้งการแสดง สีหน้า ท่าทางที่โหดลึก เราจะเห็นตัวละครนี้ ตลอดเวลาต้องขึ้นเสียงหรือมีปัญหากับใครสักคน อาจยกเว้นแค่ตอนโดนป้อนกล้วยและตอนเริ่มต้นช่วงแซยิด ที่ดูเหมือนเป็นผู้เป็นคนสักหน่อย
ตัวละคร ขุนหิรัญ มีคนวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นตัวแทนของขุนนางไทยสมัยก่อน ที่มีความร่ำรวยแทนด้วยระบบเจ้าขุนมูลนาย ด้วยเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างของประเทศที่เปลี่ยนไป จากที่เคยแบ่งชนชั้น (คนชั้นสูง-คนชั้นต่ำ) กลายมาเป็นเท่าเทียม ความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อผู้คนที่ต่ำกว่าของขุนหิรัญ แสดงถึงการไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการยึดติดในอำนาจของตัวเอง
เงิน อาจถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของหนังเรื่องนี้ ที่ใครๆต่างต่อสู้แย่งชิง เพื่อให้ได้มาครอบครอง, หนังแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านและคนยากคนจนจำต้องพึ่งพาการกู้หนี้ยืมสิน นี่เป็นการสะท้อนความจริงของสังคมสมัยก่อน ที่ประชาชนคนไทยยังอยู่ในสภาพยากจน ไม่มีงานทำก็จะไม่มีเงินเลี้ยงชีพ คนต่างจังหวัดจะสบายกว่าคนในเมือง เพราะยังสามารถหากินใช้ชีวิตกับธรรมชาติ อยู่วัดก็กิน 3 มื้ออิ่มท้องได้ แต่ในเมืองแทบเป็นไปได้เลย และเมื่อไหร่ที่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ก็จะต้องมองเงินเป็นพระเจ้า อยู่ใต้บังคับบัญชา ทำทุกอย่าง ไขวคว้าเพื่อให้ได้มาครองครอง
นี่สะท้อนระบบเศรษฐกิจบ้านเราในสมัยก่อนด้วย ไม่รู้ตอนนั้นมีธนาคารเกิดขึ้นบ้างหรือยัง ซึ่งหนังใช้ระบบนายทุนให้กู้ ที่ต้องใช้อะไรสักอย่างมาค้ำประกัน ถ้าต้องการใช้เงินเปิดธุรกิจใหม่ ซึ่งถ้าไม่สามารถหาทางชดใช้หนี้ต้นทุนได้ตามกำหนด ก็จะถูกยึดสิ่งของค้ำประกันนั้นแทบจะโดยทันที, สภาพของผู้กู้ราวกับ นกน้อยในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด โดยนายทุนหน้าเลือด
ถ่ายภาพโดย โสภณ จงเสถียร นี่เป็นหนังที่มีการเคลื่อนกล้องไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะตั้งกล้องไว้เฉยๆแล้วให้นักแสดงเคลื่อนไหว นี่น่าจะเป็นข้อจำกัดกับหนังในสมัยนั้น เพราะกล้องมีขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายลำบากและมีราคาแพง จึงไม่ค่อยกล้าเสี่ยงทำอะไรกับมัน, หนังถ่ายด้วยฟีล์ม 35 mm ในระบบ Super CinemaScope/Eastman Color (ขนาดภาพ 2.39:1) นับเป็นเรื่องแรกที่ มิตร-เพชรา ได้แสดงในภาพยนตร์ไทยมาตรฐานสากลตลอดเรื่อง
ลำดับภาพโดย จุรัย เกษมสุวรรณ ด้วยความยาว 196 นาที นี่เป็นหนังไทยระดับ Epic ที่ใส่ทุกสิ่งอย่างเข้ามาในหนังแบบไม่ตัดอะไรออกเลย, ผมว่า ‘ยาวไป’ มากๆเลยละครับ ทั้งๆที่แก่นหลังหนังมีแค่ 2 ชั่วโมงก็เหลือเฟือแล้ว เพลงร้องแบบเต็มๆไม่มีตัดนี่ไม่น่าตำหนินะครับ (เพราะเพลงเพราะ จะไปตำหนิได้ยังไง) แต่อะไรเล็กๆน้อยๆที่ไม่ได้มีความสำคัญ ตัดออกไปบ้างก็ได้ไม่มีใครว่าอะไรหรอก, ฉากที่ผมไม่ชอบเลย อาทิ ทีเล่นทีจริงของพวกนักสืบเก๊ (ที่แอบมีหันมาคุยกับผู้ชมว่า ผู้กำกับสั่งให้ปีน), ฉากรับเชิญของล้อต๊อก (นายหน้าจัดหาคน) ที่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้บริการใดๆ, อาบังเฝ้าหน้าร้านใส่มาเพื่อ? ฯลฯ
ถึงการเล่าเรื่องจะค่อนข้างช้า มุกที่เริ่มฝืด แต่ผมชอบสำนวนการพูดของหนังนะ คือฟังแล้วต้องคิดตาม มีความสำบัดสำนวน แต่แฝงด้วยความหมายที่ ‘ตลกร้าย’ แบบมีชั้นเชิง
ถ้าคุณชอบฟังเพลง หนังเรื่องนี้มีครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะดนตรีพื้นบ้านแตรวง, วงโยธวาทิต, เพลงไทยเดิม, เพลงไทยสากล, เพลงลูกทุ่ง, เพลงลิเก, เพลงจีน รวมไปจนถึงนาฏลีลาแบบตะวันตก และฟลอร์โชว์หรือระบำนุ่งน้อยห่มน้อย แค่ฟังเพลงอย่างเดียวก็มีความหลากหลายไม่เบื่อเลย, หนังมี 14 เพลงอมตะ จาก 15 ครูเพลง และนักร้องแทบจะไม่ซ้ำหน้า ให้ไล่ทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่จะมี 5 เพลง ที่หนังหรือละครเวอร์ชั่นต่อๆมาของ เงิน เงิน เงิน มักจะนำมาเรียบเรียง ร้องใหม่เพื่อเป็นการคารวะต้นฉับ อันประกอบด้วย
- หยาดเพชร – แต่งคำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร, แต่งทำนองโดย สมาน กาญจนผลิน
- แค่คืบ – แต่งคำร้องและทำนองโดย สง่า อารัมภีร์
- เงิน เงิน เงิน – แต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล, แต่งทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร
- อารามบอย – แต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล, แต่งทำนองโดย เวส สุนทรจามร
- มาร์ชลูกหนี้ – แต่งคำร้องโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์, แต่งทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร
ผมเลือก หยาดเพชร มาให้ฟังแล้วกันนะครับ นี่เป็นเพลงลูกกรุง ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร ที่มาของเพลงนี้ ชาลี อินทรวิจิตร ผู้แต่งเล่าให้ฟังว่า ‘ชรินทร์ มันแอบชอบเพชรา มาอ้อนวอนให้แต่งเพลงให้ “หยาดเพชร” ชรินทร์ขอให้ผมแต่งประกอบหนัง เงิน เงิน เงิน พอถึงตอนชรินทร์ เข้าห้องอัด ผมเดินไปกระซิบข้างหูมันกำชับว่า ร้องให้ดีนะ ร้องแล้วคงรู้ว่าผมหมายถึงใคร’
เพลงนี้มีการนำกลับมาขับร้องใหม่หลายครั้ง อาทิ ยุรนันท์ ภมรมนตรี, สุรสีห์ อิทธิกุล ร้องประกอบภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน (พ.ศ.2526), ธงไชย แมคอินไตย์, สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว ร้องประกอบละครเรื่อง พระจันทร์สีรุ้ง, เกียรติกมล ล่าทา ประกอบละครเวที เงิน เงิน เงิน, ศุกลวัฒน์ คณารศ ประกอบภาพยนตร์โฆษณามิสทิน (ที่เป็นการปรากฏตัวของเพชรา เชาวราษฎร์ ในโฆษณาทางโทรทัศน์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี)
นี่เป็นหนังที่สอดแทรกแนวคิดหลายๆอย่าง กับคำพูดที่ว่า ‘เงินทอง ไม่ตายก็หาได้ แต่เสรีภาพนี่สิ หาลำบาก’ นี่เป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ขัดกับความเชื่อของคนในสมัยนั้น ดังท่อนหนึ่งในเพลงเงิน เงิน เงิน ที่ว่า ‘เงินเท่านั้นเสกสรรค์ให้เราได้สบาย…ทุกคนเป็นใหญ่ได้ด้วยเงิน’, ระบบการปกครองที่ใช้เงินเป็นศูนย์กลาง มีชื่อว่า ‘ทุนนิยม’ ตรงข้ามกับเสรีภาพ ที่ทำให้เราเป็นอิสระจากการเงิน
เราอาจจะคิดว่าการตกเป็นทาสของเงินก็เป็นสิ่งเรื่องเลวร้าย แต่ผมว่าการแสดงออกให้เห็นว่าเราเป็นทาสของเงินนั้นเลวร้ายกว่า เพราะโลกสมัยนี้เงินเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าต้องการมีชีวิตรอด คุณต้องทำงานหาเงิน มีเงิน แล้วใช้เงิน แต่การแสดงออกถึงความเป็นทาส ใช้เงินในทางที่ผิด อาทิ โกงกิน คอรัปชั่น, เกิดความละโมบโลภมาก, เห็นแก่ตัว ดูถูกคนไม่มี ฯ นี่เป็นสิ่งที่เลวร้ายมากๆ คนที่แสดงออกแบบนี้มา นี่แหละครับ ‘ทาสของเงิน’
มีสิ่งหนึ่งที่หนังอยากให้เรามองเห็น ต่อให้เป็นคนจน ทำธุรกิจประสบความล้มเหลว แต่ขออย่าให้ท้อแท้ มองในหลวงเราเป็นแบบอย่าง นี่เป็นประเด็นที่อาจมีแต่คนไทยที่มีชีวิตในช่วงรัชสมัยนี้เท่านั้นที่สามารถเข้าใจได้ ขณะหนึ่งที่จู่ๆอรรคพลและผองเพื่อนพากันหมดอาลัยตายอยาก ก็ได้ยินเสียงวิทยุที่รายงานข่าวในพระราชสำนักที่ว่าด้วยพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทองในงานประกวดภาพยนตร์ประจำปี ข้อความทิ้งท้ายของรายงานข่าวนั้นก็คือ ‘นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ชาวศิลปินทั้งปวงจะลืมเสียมิไม่ได้ตลอดไป’ (นี่เป็นคำพูดที่คล้ายๆกันของ เพชรา เชาวราษฎร์ ขณะเข้ารับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทอง จากหนังเรื่อง นกน้อย เมื่อปี พ.ศ.2508) ทันใดนั้น สีหน้าของทุกคนกลับมีความแจ่มใสมีชีวิตชีวา ราวกับเพิ่งฟื้นคืนชีพ เพราะนี่แสดงถึง ศิลปินที่เต้นกินรำกินไม่ได้เป็นอาชีพที่ไร้เกียรติยศและศักดิ์ศรีแต่อย่างใด เพราะแม้แต่บุคคลระดับเจ้าเหนือหัวก็ยังให้การเหลียวแล อย่าท้อแท้ไป
หนังจบด้วยความพ่ายแพ้ของนายทุน ท่านขุนจากคหบดีผู้มั่งคั่งกลายเป็นพนักงานต้อนรับหน้าไนท์คลับ ส่วนคุณนายเจ้าของบ้านเช่าก็ต้องยอมรับสัปเหร่อมาเป็นลูกเขย ชีวิตจริงมันคงไม่ง่ายแบบหนังนะครับ โอกาสที่คนเหล่านี้จะยอมรับความพ่ายแพ้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย พวกเขาจะสู้สุดตัว ดื้อดึงและเยื้อยืดจนถึงขีดสุด ในสิ่งที่เคยเป็นของตนจะไม่ยอมเสียไปง่ายๆ ฟังดูเป็นเรื่องน่าสมเพศ แต่ถ้าคุณเผลอปล่อยใจให้เขานิดเดียว สิ่งที่เขาจะสนองคืนกลับต่อเรามันจะยิ่งเลวร้ายต่อเดิมอีก หนังเรื่องนี้ถือว่าตลกร้ายมากๆ
reference : https://archive.is/C5h3
เงิน เงิน เงิน เข้าฉายเมื่อวันอังคารที่ 28 ธันวาคม ปี พ.ศ.2508 เป็นโปรแกรมต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2509, การฉายรอบปฐมทัศน์ ในหลวงและพระราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรด้วย ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมเขตร์ บริเวณเชิงสะพานกษัตริย์ศึก เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทีมงานผู้กำกับและนักแสดง มิตร ชัยบัญชาและเพชรา เชาวราษฎร์ ได้มาเข้าเฝ้ารับเสด็จอย่างพร้อมเพรียง
หนังได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ในงานมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำ พ.ศ. 2508 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ประกอบด้วย โล่เกียรตินิยมในฐานะดารานำชาย-หญิง ที่ทำเงินรายได้มากที่สุด (มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์) และรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม (เพลง “หยาดเพชร”)
เงิน เงิน เงิน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเมื่อครั้งประจำปี พ.ศ. 2555
แนะนำกับคนไทยทุกคนเลยนะครับ ดูเวอร์ชั่นไหนก็น่าจะได้เหมือนกัน จะละครหรือภาพยนตร์ เนื้อเรื่องอาจแตกต่างออกไป แต่ใจที่ได้น่าจะคล้ายเดิม, หนังมีแนวคิดดี การแสดงใช้ได้ เพลงเพราะ แค่นี้ก็พอรับได้แล้วกับ ‘หนังไทยคลาสสิก’
จัดเรต PG ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำเด็กๆ ในฉากเมามายและทะเลาะวิวาท
Leave a Reply