เทพธิดาโรงแรม
เทพธิดาโรงแรม

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) หนังไทย : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ♥♥♥♡

มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก เป็นประโยคที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ วิยะดา อุมารินทร์ ต่างหากคือกะหรี่ของท่านมุ้ยที่สวยที่สุดในโลก! เอ็นดูทะนุถนอมในกองถ่ายจนตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้ต้องหย่าร้างชายาองค์ก่อน แม้มีบุตรร่วมกันมาถึงสองคน

ขณะที่สรพงศ์ ชาตรี คือตัวตายตัวแทนของท่านมุ้ย, คู่ขวัญ-คู่รัก ผู้กำกับ-นางเอกขาประจำนั้นคือ วิยะดา อุมารินทร์ (หม่อมอูม) ทั้งปลุกทั้งปล้ำ ร่วมงานกันหลายครั้ง อาทิ เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗), เทวดาเดินดิน (พ.ศ. ๒๕๑๙), รักคุณเข้าแล้ว (พ.ศ. ๒๕๒๐), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (พ.ศ. ๒๕๒๐), กาม (พ.ศ. ๒๕๒๑), น้องเมีย (พ.ศ. ๒๕๒๑) [เรื่องสุดท้ายเสด็จพ่อกำกับ ท่านมุ้ยถ่ายภาพ]

แม้โดยส่วนตัวไม่คิดว่า เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) มีความเชื่อมโยงชีวิตจริงของท่านมุ้ยมากนัก แต่ก็อาจสะท้อนมุมมอง/ทัศนคติบางอย่าง ซึ่งถ้าเราตีความเชิงสัญลักษณ์แบบที่ Jean-Luc Godard ทำกับ Vivre Sa Vie (1962) โสเภณีเป็นอาชีพไม่ต่างจากขี้ข้าทาสของเผด็จการ! สำหรับรองรับตัณหา อารมณ์ ความต้องการของลูกค้า เพราะได้รับผลตอบแทนบางอย่าง จึงยินยอมก้มหัว ศิโรราบ ไม่สามารถต่อต้านขัดขืนประการใด … กล่าวคือนัยยะของโสเภณี ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ กดขี่ข่มเหงอิสตรีเพศ แต่สามารถเหมารวมถึงระบบครอบครัว ระบอบทุนนิยม รวมถึง(เผด็จการ)การเมืองด้วยนะครับ

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความกลมกล่อมนัก ดูขาดๆเกินๆเหมือนมีเนื้อหาบางส่วนสูญหาย แต่ก็จัดเต็มด้วยลูกเล่น ลวดลีลา นำเสนอเทคนิคอันแพรวพราวระยิบระยับ รับอิทธิพลเต็มๆจากยุคสมัย French New Wave พัฒนามาเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเอง และน่าประทับใจสุดๆก็คือสองนักแสดงนำ การพลิกบทบาทครั้งสำคัญของสรพงศ์ ชาตรี การันตีความเป็นพระเอกที่ไม่หล่อแต่เล่นได้ทุกบทบาท และวิยะดา อุมารินทร์ กระหรี่ของท่านมุ้ยที่สวยที่สุดในโลกจริงๆ


หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๔๘๕) เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา (สุฤทธิ์), ในพระอัยกา ทรงประสูติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นยังยึดครองกรุงเทพฯ

พอเกิดมาก็เห็นพ่อ เห็นแม่ เห็นลุงสร้างหนัง ผมได้เห็นฟีล์ม เห็นกล้อง ได้จับกล้อง เล่นกล้อง คุ้นเคยกับหนังมาตั้งแต่เด็กแล้ว

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

แม้จะเติบโตขึ้นในครอบครัวนักสร้างภาพยนตร์ แต่ความสนพระทัยวัยเด็กของท่านมุ้ยคือการดำน้ำ หลงใหลในโลกสีคราม ถึงขนาดเคยประดิษฐ์พยายามอุปกรณ์ดำน้ำด้วยตนเองแต่ไม่สำเร็จ พอโตขึ้นไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา University of California, Los Angeles (UCLA) ก็เลือกสาขาธรณีวิทยา วิชาที่เรียนรู้ถึงโลกที่อาศัยอยู่ ตลอดไปจนถึงจักรวาล

ระหว่างอยู่ปีสองได้พบเจอ ตกหลุมรัก เสกสมรสกับหม่อมศริยา ยุคล ณ อยุธยา (บุษปวณิช) แล้วมีโอรส-ธิดาทันทีถึงสองพระองค์ นั่นทำให้เกิดภาระในการเลี้ยงดู จึงจำต้องเริ่มหางานทำ ความที่พระอัยกา (พระองค์ชายใหญ่) เคยร่วมงานกับ Merian C. Cooper เมื่อครั้นมาเมืองไทย ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องช้าง (พ.ศ. ๒๔๗๐) จึงเข้าไปสมัครงาน ได้เป็นผู้ช่วยตากล้อง, ช่างกล้องกองสอง, เลยตัดสินใจลงเรียนเสริมวิชาโท สาขาภาพยนตร์ รู้จักเพื่อนร่วมห้อง Francis Ford Coppola และ Roman Polanski

เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยแทนที่จะทำงานด้านธรณีวิทยา กลับเบนเข็มมาทำงานภาพยนตร์ โดยเริ่มจากช่วยงานเสด็จพ่อ เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), แม่นาคพระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๓), ระหว่างนั้นร่วมกับพระสหายก่อตั้งบริษัท พร้อมมิตรภาพยนตร์ เริ่มต้นทำหนังโทรทัศน์ ผลงานเรื่องแรก หญิงก็มีหัวใจ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ใช้พระนามแฝง ช. อัศวภักดิ์, ภาพยนตร์เรื่องแรก มันมาจากความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) สาเหตุที่อยากสร้างเรื่องนี้เพราะว่ามีทั้งฉากดำน้ำ เข้าถ้ำ ออกเดินทางไปถ่ายทำต่างจังหวัด ผลลัพท์แม้ได้รับคำชมว่าแปลกใหม่ ใจกล้าดีแท้ แต่ขาดทุนย่อยยับ ค่อยมาประสบความสำเร็จกับเขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ทั้งกำไรและคว้ารางวัลพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม

เสร็จสรรพจาก เขาชื่อกานต์ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเหมือนสายตัวแทบขาด เข็ดหลาบแล้วเรื่องการทำหนัง … แต่เอ๊ะ! เห็นใครเขาลือกันว่า คุณณรงค์ จันทร์เรือง แกเขียนเรื่องเด็ดสะระตี๋ อยู่ในหนังสือฟ้าเมืองไทย ประสพ โว้ย! โทรศัพท์ติดต่อคุณณรงค์ให้ฉันที

คำปรารถของท่านมุ้ย ในหนังสือสูจิบัตร เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ส่วนเรื่องเด็ดสะระตี๋ที่ว่านั้นก็คือ เทพธิดาโรงแรม

ท่านมุ้ยกล่าวกับ ณรงค์ จันทร์เรือง ถึงเหตุผลที่เลือก เทพธิดาโรงแรม มาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็เพราะว่าท่านชอบอ่านเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบสามารถมองเห็นว่ามันจะปรากฎออกมาทางจอหนังยังไง และที่สำคัญคือท่านชอบทำในเรื่องที่ไม่มีใครจะทำ อย่างเช่นเรื่องโสเภณี

ท่านเป็นคนที่ชอบท้าทาย ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ คือในช่วงนั้น นางเอกที่เป็นกะหรี่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็จะให้นางเอกเป็นกะหรี่ ให้เป็นกะหรี่ทั้งเรื่องเลย จะลองดูว่าเป็นยังไง

สมถวิล สุวรรณกูฏ ผู้ช่วยคนสนิทของท่านมุ้ย

ณรงค์ จันทร์เรือง (พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๕๗) นักเขียนชาวไทย นิยมใช้นามปากกาใบหนาด เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตสระบุรี เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ส่งบทกลอนลงหนังสือศรีสัปดาห์ ส่งนิทานลงดรุณสาร ตีพิมพ์เรื่องสั้นแรก วิวาห์ในอากาศ ลงนิตยสารแสนสุขและแม่ศรีเรียน พอเริ่มเขียนเรื่องยาวก็เลิกโรงเรียนไม่ทันจบชั้น ม.๘ และเข้าทำงานตำแหน่งพิสูจน์อักษรที่นิตยสารแสนสุข

สำหรับเทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๖) ถือเป็นหนึ่งในผลงานเลื่องชื่อดังที่สุด (เคียงคู่กับ วิมานสลัม) ณรงค์เคยให้สัมภาษณ์เล่าว่าได้รับคำชักชวนจากอาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้ไปเขียนลงนิตยสารฟ้าเมืองไทย

พี่อาจินต์ (ปัญจพรรค์) เขามาชวนไปเขียนให้ฟ้าเมืองไทย ทีแรกเราคุยกันว่าขนาดพ็อกเกตบุ๊กนะเอาสัก 12 ตอนก็พอ แต่พอลงได้ 3-4 ตอน อู้ฮู แฟนๆแม่งเกรียวกราวเลย ด่ามาเช็ดเลยก็มี หาว่าเรื่องลามกอนาจาร เรื่องกะหรี่อีตัว แต่ที่เขียนมาชมก็มี พอผู้อ่านชักกล่าวขวัญกันหนักขึ้น เราก็วางโครงการขยายเรื่องไปเรื่อยๆจนถึง 31 บท

ณรงค์ จันทร์เรือง

คำนิยมของอาจินต์ ปัญจพรรค์ อธิบายที่มาที่ไปของเทพธิดาโรงแรมไว้อย่างน่าสนใจ

ณรงค์: “บางคน เขาว่าผมเขียนโป๊ ผมอยากเขียนเรื่องไม่ให้โป๊ดูบ้าง”
อาจินต์: “เอาไหมล่ะ เขียนเรื่องของโลกแห่งความโป๊ แต่เราเขียนไม่ให้โป๊ดูบ้าง เช่นเราเขียนชีวิตของผู้หญิงหากิน ชอคกะรี ดูบ้าง”
ณรงค์: “ใครเขาจะเอาครับ”
อาจินต์: “ก็หนังสือที่ผมทำอยู่น่ะสิ ฟ้าเมืองไทย”

ในบทสัมภาษณ์ที่ผมอ่านเจอณรงค์แกไม่ปิดบังรสนิยมของตนเองเลยนะ ชื่นชอบการเที่ยวซ่อง ตีกะหรี่ เรียกว่าเต็มไปด้วยด้วยประสบกามารมณ์ รับรู้จักสาวๆโสเภณีมากมาย ซึ่งก็คงเลือกเอาต้นแบบจากใครคนหนึ่งที่เคยใช้บริการ (เห็นว่าอาจินต์ก็รับรู้จักเธอคนนั้นเสียด้วยนะ)

ข้าพเจ้ายังรู้ต้นตอการกำเนิดของนวนิยายเรื่องนี้ ข้าพเจ้ารู้เทือกเถาเหล่ากอของมาลี สาวเหนือ ตั้งแต่หล่อนหั่นกล้วยเลี้ยงหมู จนกระทั่งมาเป็นดาราประตูดี ในบทบาทของนางเอกเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในการอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง หากจะได้อ่านความเป็นมาของเรื่องนั้น จุดกำเนิด การเดินทางของตัวอักษร ก็จะไม่เสียหลายอะไรเลย กลับจะทำให้เกิดรสชาติในการอ่านเพิ่มขึ้น คล้ายๆ เรามองภาพสีน้ำมันอันสวยงามภาพหนึ่ง

ส่วนหนึ่งจากคำนิยมของอาจินต์ ปัญจพรรค์

ชั้นเชิงการเขียนของณรงค์ ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการพรรณาเรื่องรักๆใคร่ๆ ไม่ได้มีความโจ๋งครึ่ม โป๊เปลือยอย่างที่ใครครุ่นคิดกัน ถูกนำเสนอในเชิงศิลปะที่มีความไพเราะงดงาม

บางคนเป็นนักศึกษา หอบตำรามาเป็นฟ่อน บางคนเมามายแทบไม่ได้สติ บางคนอ่อนหวานนุ่มนวลอย่างไม่น่าเชื่อ ทำราวกับมาลีเป็นยอดหญิงในดวงใจของเขา บางคนกระโชกโฮกฮาก บางคนเยือกเย็นเชื่องช้าจนน่ารำคาญ บางคนก็รวดเร็วจนน่าใจหาย บางคนพร่ำบ่นชื่อของผู้หญิงคนอื่นขณะกำลังขึ้นสวรรค์บนทรวงอกของมาลี

แซว: หลายๆผลงานของณรงค์ ก็มักมีคำว่าเทพธิดาประดับอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์ อาทิ เทพธิดาราตรี, เทพธิดาวารี, เทพธิดาสลัม, (เทพ)ธิดาคาเฟ่, รวมถึงเทพธิดาโรงแรม ภาคสอง, แต่ก็ไม่มีเทพธิดาไหนประสบความสำเร็จเท่า เทพธิดาโรงแรม (ภาคหนึ่ง) ซึ่งกลายเป็น เทพธิดาแห่งโชคลาภ โดยไม่นึกไม่ฝัน


มาลี (รับบทโดย วิยะดา อุมารินทร์) หญิงสาวจากเมืองเหนือ ถูกแฟนหนุ่มลวงล่อหลอกมาขายตัวในกรุงเทพฯ ตอนแรกเธอพยายามปฏิเสธขัดขืน แต่หลังจากถูกตบเลือดอาบ ก็เรียนรู้ว่าควรสมยินยอม โทน (รับบทโดย สรพงศ์ ชาตรี) จำใจรับสภาพการเป็น “เทพธิดาโรงแรม” อดรนทน เก็บหอมรอมริด เพื่อส่งเงินไปให้พ่อสร้างบ้านหลังใหม่

แต่แล้วโชคชะตาของมาลีก็พลิกพัน เมื่อโทนถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ต้องระเห็จระเหินออกจากโรงแรมแห่งเก่า จนกระทั่งมาพบเจอโกเล็ก (ที่เคยเป็นลูกน้องโทน แต่สามารถหลบหนีเอาตัวรอด) แม้ยังคงเลือกทำงานโสเภณี ก็หาโอกาสเรียนรู้อาชีพเสริมตัดเย็บเสื้อผ้า ขณะเดียวกันมีชายหนุ่มชื่อไพศาล แสดงออกว่าตกหลุมรัก ต้องการสู่ขอแต่งงาน แต่พอเขารับรู้ว่าเธอเป็นกะหรี่ ทุกสิ่งที่ฝันหวานเลยแหลกสลายลงในพริบตา


วิยะดา อุมารินทร์ หรือหม่อมวิยะดา ยุคล ณ อยุธยา ชื่อจริงวิยะดา ตรียะกุล เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษามัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ใฝ่ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส เลยไปเรียนต่อกิจการบินพาณิชย์ โรงเรียนธุรกิจการบิน กระทั่งวันหนึ่งพี่สาวแท้ๆวิภาวดี ตรียะกุล ชักชวนไปดูการฉายภาพยนตร์ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๔) ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มีโอกาสพบเห็นวิยะดา “นี่ไง…มาลี!” เลยกวักมือเรียกวิภาวดีให้ชักชวนน้องเข้าสู่วงการภาพยนตร์

รับบทมาลี แม้ไม่ได้อยากเป็นกะหรี่ แต่เรียนรู้ที่จะก้มหัว ดีกว่าเจ็บตัว ยินยอมศิโรราบต่อโทน แล้วหันมามองโลกในแง่ดี แม้โสเภณีจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือสามัญสำนึกผู้คน ก็ยังสามารถเก็บหอมรอมริด ส่งเงินไปให้พ่อสร้างบ้านใหม่ ขณะเดียวกันวันว่างๆยังใช้เป็นโอกาสศึกษาหาความรู้ เมื่อหวนกลับไปจักมีอาชีพกิจการงานของตนเอง

แซว: ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ว่า ฉากจูบทั้งหมดในเรื่องมีการใช้แสตนอิน ซึ่งก็คือท่านมุ้ยนะแหละ (จูบเองทุกฉาก)

ก็ในตอนที่อูมเล่นหนังน่ะซิคะ ได้ใกล้ชิดกันอยู่แทบตลอดเวลา ท่านคอยแนะนำสั่งสอนอูมเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่จะให้ดียิ่งขึ้น หรือกระทั่งเรื่องส่วนตัวค่ะ

วิยะดา อุมารินทร์

แม้ผมจะเกิดไม่ทันสมัยนั้น ก็ต้องยอมรับว่าวิยะดาสวยจริงๆ ออกแนวน่ารักสดใส ภายนอกดูบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ช่วงแรกๆดูหวาดสะพรึงกลัวอยู่บ้าง แต่เมื่อสามารถยินยอมรับปรับตัว ก็แสดงความระริกระรี้ เหมือนจะชื่นชอบอาชีพนี้ มองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลา … อาจเพราะยังหน้าใหม่ในวงการ จึงมีความใจกล้าบ้าบิ่น ว่าที่สามีให้เล่นอะไรก็เล่น ไม่เกรงกลัวเรื่องเสียๆหายๆ แม้ภายหลังกลายเมื่อตั้งครรภ์เป็นข่าวใหญ่ เธอก็หาได้ใคร่สนเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่

หนังทั้งเรื่องผมแทบไม่รับรู้สึกเลยว่ามาลีคือโสเภณี! เหมือนเธอทำอาชีพการงานทั่วๆไป ฉากร่วมรักก็ไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ (แต่ผู้ชมสมัยนั้นคงจุ๊กกรู๊ เลยกระมั้ง) ไฮไลท์ยกให้ตอนเดินเตร็ดเตร่ เร่ร่อนไปทั่วกรุงเทพฯ ดูเหน็ดเหนื่อยท้อแท้สิ้นหวัง กลายเป็นหัวขโมย หัวซุกหัวซุน จนกระทั่งพบเจอโกเล็ก ทำให้เกิดความแช่มชื่น กำลังใจ สามารถลุกขึ้นมาสู้ชีวิตใหม่ พร้อมเป้าหมายที่ชัดเจน!

เอาจริงๆแทบทุกอาชีพในโลกก็ไม่ต่างจากโสเภณีนะครับ นักแสดง เด็กเสิร์ฟ คนใช้ หรือแม้แต่พนักงานบริษัท ล้วนต้องรับคำสั่งจากเจ้านาย กระทำตามหน้าที่ได้รับมอบหมาย เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนบางสิ่งอย่าง, เพียงเพราะการมีเพศสัมพันธ์กับใครอื่นนอกจากสามี-ภรรยา คือความขัดแย้งต่อจิตสามัญสำนึก/ค่านิยมทางสังคม และกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่ใช่อาชีพที่ดี นั่นคือโลกทัศน์ที่ผิดถนัด! พุทธศาสนาก็ไม่ได้เสี้ยมสอนว่าโสเภณีคืออาชีพต้องห้ามแต่อย่างใด (แค่อย่าไปผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน ตามศีลข้อ ๓)


สรพงศ์ ชาตรี ชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต นามเดิมพิทยา เทียมเศวต (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๖๕) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เกิดที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จบการศึกษาชั้น ป.๔ แล้วบวชเรียนที่วัดเทพสุวรรณ ลาสิขาบทเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี สุรพงศ์ โปร่งมณี พาไปฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของ ช่างไฟฟ้า เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ รับบทพระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) และแจ้งเกิดโด่งดัง เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

รับบทโทน แมงดาหนุ่มหล่อ แต่ชอบขึ้นเสียง ด่าทอ ใช้ความรุนแรงกับสาวๆในสังกัด ช่วงแรกๆกับมาลีก็ไม่แตกต่าง แต่หลังจากเธอกลายเป็นเทพธิดานำโชค เขาเลยยกภาระหนี้ ทำดีตอบแทน และมอบวิทยุพร้อมบันทึกเสียงเป็นของขวัญตอบแทน

มาลีเป็นเทพธิดาโรงแรม โทนรักเธอมากกว่าใครๆ เพราะว่า มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก

บทแมงดานี้ค่อนข้างจะเล่นยาก ในตอนแรกท่านมุ้ยติดต่อ กรุง ศรีวิไล แต่อุปสรรคบางประการทำให้เปลี่ยนมาเป็น ดามพ์ ดัสกร เห็นว่าถ่ายทำไปฉากหนึ่งเกิดความเข้าผิดบางอย่าง สุดท้ายเลยส้มหล่นใส่ สรพงษ์ ชาตรี

ผมสร้างเอก (สรพงษ์) ด้วยมือ ผมคงจะไม่ลบด้วยเท้าอย่างแน่นอน พระเอกควรจะเล่นได้ทุกบทที่เป็นบทเด่น ไม่จำเป็นไม่ใช่หรือที่พระเอกจะมาเล่นผู้ร้ายไม่ได้ ตามความรู้สึกของผม บทหวาดกลัวเป็นบทที่เล่นได้ยากที่สุด แต่เอกก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาเป็นดาราอย่างแท้จริง

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ผมรู้สึกว่าเทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) น่าจะเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญที่สุดของสรพงศ์ ชาตรี ครั้งแรกๆกล้าแหกแหวกขนบประเพณี ผิดกับหมอกานต์ที่ยังเป็นสุภาพบุรุษ (แม้มีฉากข่มขืนแต่ก็กับภรรยาไม่ใช่หญิงอื่น) แต่แมงดาโทนมาถึงฉากแรกก็พร้อมกระทำชำเราหญิงสาว จากนั้นพูดคำด่าทอ ใช้กำลังตบตี ไม่หลงเหลือคราบพระเอก แต่ก็เป็นจิ๊กโก๋ที่หล่อเท่ห์ไม่เบา … ทีแรกผมก็แอบหวั่นๆเพราะภาพลักษณ์ของสรพงศ์ เป็นคนสุภาพ ธรรมะธรรมโม ไม่น่าจะเล่นบทแรงๆระดับนี้ได้ แต่ความกล้าได้กล้าเสี่ยง ต้องยอมรับเลยว่าทุ่มสุดตัว ทำออกมาได้ดีจริงๆ

ตัวละครนี้อาจไม่ได้สะท้อนตัวตนของท่านมุ้ยออกมามากนัก แต่ก็มีบางส่วนโดยเฉพาะความเจ้าชู้ประตูดิน และการตกหลุมรักมาลี พร้อมคำกล่าว “มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก” คือคำพรอดรักของท่านมุ้ยต่อวิยะดาอย่างแน่นอน!


กำกับภาพโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม ๓๕ มม. โดยท่านมุ้ยยังคงพยายามใช้การบันทึกเสียง Sound-on-Film ให้เหตุผลเพื่อความสมจริง และเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ยังไม่สามารถถ่ายทำในสถานที่เต็มไปด้วยเสียงรบกวนอย่างท้องถนนกรุงเทพฯ จึงยังต้อง ๕๐-๕๐ กับการพากย์ทับในห้องอัด

หนังเปิดกล้องที่งานสงกรานต์เชียงใหม่ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ จากนั้นตะลุยไปตามจังหวัดต่างๆ ขึ้นเหนือล่องใต้ ก่อนหวนกลับกรุงเทพฯ ใช้เวลาอยู่หลายเดือนในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับซ่องโสเภณี แม้ในหนังมีโรงแรมเพียง ๓ แห่ง แต่ต้องถ่ายทำถึง ๑๐ สถานที่ และยังต้องสร้างภายในโรงถ่ายอีก ๓ ฉาก

และช่วงระหว่างการถ่ายทำนั้นเอง เกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา ท่านมุ้ยเลยตัดสินใจแบกกล้องออกไปบันทึกภาพชุมนุมประท้วงนักศึกษา และแทรกใส่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์/ภาพยนตร์


ช็อตแรกของหนังแลดูคล้ายกับภาพ X-Ray ภายในเรือนร่างกาย จากนั้นปรากฎภาพเปลือยของมาลี/วิยะดา อุมารินทร์นอนอยู่บนเตียง มีเพียงเส้นผมปกปิดบังหน้าอก เพื่อสื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้อหนังมังสา สิ่งที่อยู่ภายใน ‘จิตวิญญาณ’ ของตัวละคร ค้นหาว่าทำไมเธอถึงทำงานอาชีพโสเภณี? มีจุดประสงค์เป้าหมายอันใดหรือเปล่า?

ท่านมุ้ยทำการร้อยเรียงภาพสงกรานต์ เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่นำเสนอด้วยเทคนิคตัดต่อ ‘jump cut’ ยังไม่ทันที่ผู้ชมจะรับสัมผัสบรรยากาศ รู้สึกตื่นเต้นสนุกสนาน (อย่างที่ใครๆครุ่นคิดว่า ‘jump cut’ ควรเป็น) แท้จริงแล้วคือความพยายามรวบรัดตัดตอน เพราะเป้าหมายมาลีไม่ได้ต้องการละเล่นสาดน้ำ แต่เข้าโรงแรมละเล่นน้ำกามกับแฟนหนุ่มเสียมากกว่า

แซว: นี่คือการ Cameo ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล กำกับเอง ถ่ายทำเอง เล่นเอง จูบเอง นักเลงพอ! ตัดต่อคู่ขนานกับกิจกรรมสาดน้ำวันสงกรานต์ (มาลี=นางสงกรานต์)

มาลีตื่นเช้าขึ้นมา กลับพบว่าแฟนหนุ่มสูญหายตัวไป! สังเกตว่าภายในห้องพักรายล้อมด้วยกระจกเงา พบเห็นภาพสะท้อนชวนให้สับสน งุนงง นี่มันแห่งหนไหน ฉันมาทำอะไรอยู่ยังสถานที่แห่งนี้?

การขายตัวครั้งแรกของมาลี นอกจากอาบฉาบด้วยแสงสีแดง (สแตนอินโดยท่านมุ้ยอีกเช่นเคย) ยังมีการแทรกภาพเมฆหมอก และหยดน้ำกระเพื่อม (ทำให้เห็นสีรุ้ง) นั่นน่าจะคือสัญลักษณ์ของหยดน้ำกามหยดบนสรวงสวรรค์ ซึ่งพอจบซีเควนซ์นี้ฉากถัดไปจักย้อนกลับสู่ขุนเขา บ้านชนบท ราวกับต้องการสื่อว่านั่นคือจุดสูงสุดที่แท้จริงของหญิงสาว

พานผ่านมาสองเดือน มาลีได้กลายเป็น “เทพธิดาโรงแรม” สามารถเรียกลูกค้า บริการแสนประทับใจ ทำเงินให้กับโทนมากมาย เขาเลยยินยอมปลดหนี้พร้อมมอบเงินก้อนใหญ่ สังเกตว่าด้านหลังจะมีสองภาพวาด Abstract ราวกับนั่นคือ’สรวงสวรรค์’ของหญิงสาว (ล้อกับหยดน้ำสีรุ้งได้เป็นอย่างดี) แม้ยังเป็นเพียงเส้นสี ขีดๆเขียนๆ ขมุกขมัว (เงินเท่านี้ยังไม่เพียงพอจุนเจือครอบครัวที่ต่างจังหวัด) แต่ก็พอมองเห็น จินตนาการเป็นรูปร่างขึ้นมานิสนึง

หนึ่งในประโยคอมตะแห่งวงการภาพยนตร์ไทย

มาลีเป็นเทพธิดาโรงแรม โทนรักเธอมากกว่าใครๆ เพราะว่า มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก

โทน, สรพงศ์ ชาตรี

แต่นัยยะฉากนี้ก็คือคำพรอดรักของท่านมุ้ยต่อวิยะดา ซึ่งเรายังสามารถเปรียบเทียบวิทยุ=ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อีกด้วยนะ! นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอนำติดตัว (หลังจากที่โทนถูกยิงเสียชีวิต) ไม่สามารถพลัดพรากจากไปไหน และช่วงท้ายคำพูดประโยคนี้จะกลับมาหลอกหลอน ติดตามตัวเธอตราบจนวันตาย

แซว: ถ้าด้วยวิธีการจีบหญิงลักษณะนี้ ผมแอบรู้สึกคล้ายๆ Jean-Luc Godard กับ Anna Karina

เมื่อตอนเขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๔) เพราะเป็นฉากกลางคืน แถมยังฝนตกพรำ เอ็ฟเฟ็กยิงเลือดสาดมันเลยยังไม่ดูรุนแรงสักเท่าไหร่ แต่มาคราวนี้ภายในโถงทางเดิน แสงสว่างจร้า ซูมเข้าหาปืน ซูมเข้าหาใบหน้าสรพงศ์ แล้วมาช็อตนี้เหนี่ยวไก ปัง! เห็นควันออกจากกระบอกกระสุน พร้อมกับเอ็ฟเฟ็กเลือดพุ่งออกด้านหลังศีรษะ ให้ตายเถอะ! แนบเนียน โคตรสมจริง เสียงกรี๊ดมาลีดังลั่น

เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ท่านมุ้ยบันทึกภาพกรุงเทพฯ เก็บไว้ใน ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังๆมีโอกาสพบเห็น ถ้าใครยังเกิดทันคงครุ่นคิดถึงสถานที่ต่างๆ ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือ เพียงอยู่ในความทรงจำ ซึ่งสอดคล้องกับการนำเสนอฉากนี้ มาลีออกเดินอย่างเตร็ดเตร่ ไร้จุดมุ่งหมาย ครุ่นคิดถึงบ้าน ทบทวนตนเองว่าฉันมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร แล้วจะทำอะไรยังไงต่อไป

ผมเพิ่งมาสังเกตว่าซีเควนซ์นี้ นำเสนอมุมมืดของกรุงเทพฯ อาทิ สลัม กองขยะ ชุมชนแออัด น้ำในลำคลองก็ดูสกปรกโสมม ฯลฯ และเมื่อตอนโกเล็กมาพบเจอมาลี (ถ่ายย้อนแสงอาทิตย์ เปรียบดั่งแสงสว่างแห่งความหวัง) ก็ยังบริเวณอาคารที่หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง

ซีเควนซ์ที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือการขับร้องอู้กำเมือง ถึงจะฟังไม่ออกแต่ก็สัมผัสถึงกลิ่นอายชาวเหนือ พร้อมร้อยเรียงภาพการก่อสร้างบ้านหลังใหม่ (พยายามจะทำแบบ ‘time-lapse’ แต่กลายเป็นเพียง ‘jump cut’) เคียงคู่ขนานกับมาลีขายบริการ เพื่อหาเงินมาส่งเสียค่าสร้างบ้าน

ขึ้นโครงบ้าน → มาลีขายบริการ → สร้างบ้าน 4-5 ช็อต → มาลีขายบริการ → สร้างบ้าน 4-5 ช็อต → มาลีขายบริการ → บ้านเสร็จแล้ว → มาลีขายบริการ → ครอบครัวย้ายเข้าไปอยู่อาศัย

ส่วนช็อตที่ผมชอบสุด หัวเลาะลั่น ขณะมาลีกำลังจะปลดกระดุมเสื้อใน (สมัยก่อนมันอยู่ด้านหน้า) แล้วตัดไปบิดากำลังเปิดหน้าต่างออกมาต้อนรับแขกเหรื่อ แสดงถึงความภาคภูมิใจของครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนบ้านเข้ามาพูดคุย เล่าถึงบุตรสาวของตนเองที่เสียชีวิตเพราะติดโรคจากการขายตัว นี่เป็นการย้ำเตือนถึงความไม่จีรังและการไม่ยินยอมรับอาชีพโสเภณี

การได้พบเจอไพศาล ได้ทำให้ชีวิตของมาลีมีความกระชุ่มกระชวย แต่ผมแอบผิดหวังเล็กๆที่หนังไม่ได้ซูมใบหน้าหญิงสาวแล้วตัดไปภาพดอกมะลิ (เพราะมาลีกับมะลิ เป็นคำที่คล้องจองกันดี) กลับเป็นอีดอกบัวตองที่เป็นวัชพืชอันตราย แต่เชื่อว่าท่านมุ้ยคงไม่รู้จัก ครุ่นคิดเพียงว่ามันมีลักษณะเหมือนดอกทานตะวันขนาดเล็กๆ เบ่งบานสะพรั่ง

และอีกไฮไลท์ของช็อตนี้คือการซูมออกจากดอกบัวตอง พบเห็นบ้านหลังใหญ่ ซูมเข้าไปเห็นคุณนายแต่งชุดไทยหรูๆ เหล่านี้คือภาพในจินตนาการของมาลี ครุ่นคิดว่าครอบครัวของไพศาลคงร่ำรวยสมชื่อ แต่แท้จริงแล้วกลับตารปัตรตรงกันข้าม

ขณะพบเจอมารดาของไพศาล สังเกตว่าเธอกำลังรดน้ำต้นไม้ พร้อมพูดคำสอนสั่งเกี่ยวกับเรื่องของความรัก การแต่งงาน ชีวิตคู่ที่ดีต้องคอยเอาใจใส่ดูแล (เหมือนการรดน้ำต้นไม้) ขอแค่อีกฝ่ายเป็น ‘คนดี’ เน้นย้ำคำนี้ ก็เพียงพอแล้วละ!

มาลีเริ่มมีอาการผิดปกติ คลื่นไส้วิงเวียน อาเจียน เหมือนกำลังตั้งครรภ์ แต่ใครกันเป็นพ่อของเด็ก? พอพบเห็นลูกของเพื่อนร่วมงานเป็นเด็กผิวดำ ผมหยิก นั่นทำให้เธอจินตนาการถึงบ่อน้ำพุร้อน ไอน้ำโพยพุ่ง … ผมยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าจะสื่อถึงอะไร? ประตูสู่ขุมนรก? อารมณ์อันคุกรุ่น? ถูกทอดทิ้งตามลำพัง? แต่นั่นทำให้มาลีทอดทิ้งยาแท้งลูกโดยพลัน (เหมือนกลัวตกนรกมอดไหม้หรือเปล่านะ?)

ไพศาลจู่ๆเอ่ยปากอยากได้เงินสักก้อนมาทำทุน อยากตั้งตัวได้ก่อนแต่งงาน แต่แท้จริงแล้วเขาแอบรับรู้ตัวตนแท้จริงของมาลีตั้งแต่ฉากก่อนหน้านี้ (ที่ขึ้นรถเมล์ติดตามมาถึงหน้าโรงแรม) นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ระหว่างเดินข้ามสะพาน

  • สำหรับมาลี คือการตัดสินใจอุทิศตนเองให้กับไพศาล มอบเงินลงทุน และยินยอมทำแท้ง เพื่อคงข้ออ้างความเป็นสาวบริสุทธิ์ (ก้าวจากกะหรี่กลับสู่หญิงสาวบริสุทธิ์)
  • ส่วนไพศาล การขอยืมเงินครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อนำไปลงทุน แต่ปรนเปรอสนองความต้องการของตนเอง (ก้าวจากพ่อคนดีสู่การเป็นแมงดา)

ฉากในสวนสัตว์นี้น่าสนใจเดียวทีเดียว เพราะมีเพียงรั้วลวดหนามคือเส้นแบ่งบางๆระหว่างความเป็นมนุษย์/สัตว์ประเสริฐ vs. เดรัจฉาน ถ้าเรามัวแต่กระทำสิ่งตอบสนองตัณหา สันชาติญาณ ความพึงพอใจส่วนบุคคล มันคงไม่หลงเหลืออะไรแตกต่างกัน

จากรั้วกั้นกวาง มาเป็นเหล็กกั้นขวาง มาลี(ย้ายไปอยู่ฝั่งของเจ้ากวาง=เดรัจฉาน)พูดคุยกับโกเล็กว่าต้องการทำแท้ง เหมือนท่านมุ้ยต้องการจะสื่อว่านี่คือสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถทำได้ลง … คงกำลังหมายถึงตนเอง พลาดพลั้งทำวิยะดาตั้งครรภ์ แต่ด้วยจิตสามัญสำนึก ยังคงความเป็นมนุษย์ จึงไม่สามารถทำตัวเหมือนไปอยู่อีกฟากฝั่งเดรัจฉาน

เป็นสองช็อตคู่ขนานมุมกล้องเดียวกันที่น่าสนใจเดียว

  • ภาพแรกเมื่อตอนมาลีตัดสินใจโยนทิ้งยาทำแท้ง พบเห็นพัดลมเพดานไม่ได้หมุน … คือถ้าทานยาตั้งแต่ตอนนั้น คงสามารถตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำลายตัวอ่อนที่ยังไม่ถือว่ามีชีวิต ไม่เป็นอันตรายต่อมารดา
  • ภาพหลังน่าจะอายุครรภ์ 3-4 เดือน ซึ่งถือว่าทารกพัฒนาการจนเป็นรูปเป็นร่าง พัดลมหมุนติ้วๆสามารถสื่อถึงชีวิต จิตวิญญาณ ต้องใช้คนมากมายคอยจับตัวมาลี เพราะการทำแท้งกับหมอเถื่อนด้วยวิธีการนี้ เสี่ยงอันตรายมากๆ

ปล. พุทธศาสนาถือว่าตั้งแต่อสุจิปฏิสนธิรังไข่ คือการให้กำเนิดชีวิตใหม่แล้วนะครับ! แต่กฎหมายบางประเทศนับที่อายุครรภ์ 2-3-4 เดือนขึ้นไป (แล้วแต่ประเทศ) ถ้าทำแท้งหลังจากนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย ข้อหาฆ่าคนตาย!

ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของมาลีระหว่างการทำแท้ง ถูกนำเสนอในลักษณะ Abstraction เริ่มจากเงาเลือนลาง (ดิ้นทุรนทุราย) กลายเป็นภาพเฉดสีแดง (เลือดจากครรภ์/ความตายของทารก) จากนั้นพบเห็นดวงไฟ (ราวกับจิตวิญญาณของเด็กน้อย) เคียงข้างมารดากำลังกรีดร้องลั่น จากนั้นตัดไปภาพสัญญาณฉุกเฉินรถพยาบาล คาดว่าคงสูญเสียเลือดมาก อาการสาหัสสากรรจ์

คำแก้ว จากเคยเป็นโสเภณีรองมือรองตีนโทน มาตอนนี้เติบโตกลายเป็นแม่เล้าเสียเอง (ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง) ภาพช็อตนี้ยืนอยู่ตำแหน่งสูงกว่ามาลี (ที่ยังเป็นโสเภณี) และมีลวดเหล็กเบลอๆกั้นแบ่งแยก(ชนชั้น)ระหว่างพวกเธอทั้งสอง

และทางฝั่งมาลี สังเกตว่าจะมีภาพสะท้อนในกระจก เหมือนต้องการสื่อถึงอีกตัวตน ปัจจุบันที่แตกต่างจากอดีต ฉันไม่ได้เป็นอย่างที่คำแก้วเคยรับรู้จักแค่เพียงเปลือกภายนอกอีกต่อไป

หลายคนคงผิดหวังโคตรๆ (ผมก็คนหนึ่ง) เพราะเกร็ดหนังคุยโว้ไว้อย่างอลังการ ว่าท่านมุ้ยแบกกล้องออกไปถ่ายทำบรรยากาศเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา อุตส่าห์คาดหวังว่าคงบันทึกภาพประวัติศาสตร์ไว้มากมาย แต่ที่ไหนได้!!!

ท่านมุ้ยนำมาแทรกใส่ในหนังเพียงไม่กี่ช็อต เพื่อเปรียบเทียบถึงความหัวขบถของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกบีบบังคับให้ขายตัว แต่เธอปฏิเสธหัวชนฝา ให้ตายฉันก็ไม่ยินยอม พยายามต่อสู้ขัดขืน แบบเดียวกับนักศึกษา ๑๔ ตุลา ต้องเอาจอมพลถนอมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้จงได้!

สำหรับหญิงสาวคนนี้ แม้ได้รับการเกลี้ยกล่อมจากมาลี กลับยังปฏิเสธการประณีประณอม สะท้อนอุดมการณ์อันแรงกล้าของปัญญาชนยุคสมัยนั้น ฆ่าได้หยามไม่ได้! กระโดดตึกตัวตายยังดีกว่ายินยอมขายตัวเป็นโสเภณี

มาลีได้ประจักษ์กับทุกเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับหญิงสาวคนนี้ แม้ไม่ได้ทำให้เธอหมดสิ้นหวัง (เหมือนประชาชนได้พบเห็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา) แต่ก็รู้สึกเหน็ดละเหนื่อย อ่อนเปลี้ยเพลียใจ

เพียงเพราะไม่มีใครซื้อบริการมาลี นั่นทำให้เธอเกิดความตระหนัก รับรู้ถึงขีดจำกัด อาชีพนี้ไม่ได้จีรังยั่งยืน เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ผิวพรรณแห้งเหี่ยว ใครไหนจะไปอยากใช้บริการ! เมื่อกลับเข้าห้องพักนั่งอยู่ท่ามกลางความมืดมิด จากนั้นทิ้งตัวลงนอน ภาพถ่ายจากภายนอกห้องเห็นลวดเหล็กที่เหมือนกรงขัง รู้สึกเหมือนถูกจองจำ ยังไม่สามารถดิ้นรนหลบหนีวัฏจักรดังกล่าวได้พ้น

ฉากที่มาลีบอกกับโกเล็กว่าจะเลิกเป็นโสเภณี เต็มไปด้วย Mise-en-scène ที่น่าสนใจไม่น้อย

  • เริ่มจากโกเล็กเดินเข้ามาในห้องบอกว่ามีลูกค้า พบเห็นมาลีกำลังนอนอยู่บนเตียงนอน (ครุ่นคิดจินตนาการถึงอิสรภาพ)
  • เมื่อมาลีบอกว่าต้องการเลิกขายตัว เธอเดินไปตรงหน้าต่าง เหม่อมองออกไปภายนอก ซึ่งคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ
  • โกเล็กพยายามเดินติดตามด้านหลัง พูดคำโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงใจ
  • จนกระทั่งมาลีพูดถึงเรื่องการแต่งงาน อยากมีครอบครัว เธอเดินมาพูดความต้องการต่อหน้ากล้อง (เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง) นั่นเองทำให้เขายินยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วอำนวยอวยพรขอให้ประสบโชคดี

พิธีสำเร็จการศึกษา(เย็บปักถักร้อย)ของมาลี พอดิบพอดีกับการละเลิกอาชีพโสเภณี ต่อจากนี้จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ถือกำเนิดใหม่ ครองรักกับไพศาลตามที่วาดฝันไว้

แต่ยังไม่ทันไรเมื่อมาลีเดินทางมาที่บ้านของไพศาล กลับได้ยินเขากำลังซุบซิบนินทาว่าร้าย พร้อมพบเห็นกำลังร่วมรักหญิงสาวอีกคน (ผมละขำกลิ้งกับการเอาพัดลมปกปิดบริเวณอวัยวะเพศ) นั่นทำให้เธอออกวิ่งหลบหนี ถ่ายมุมกล้องเอียงๆ (Dutch Angle) ทุกสิ่งอย่างล้วนบิดเบี้ยว จินตนาการเพ้อฝันได้พังทลาย

ระหว่างกำลังวิ่งหลบหนี บังเอิญถูกรถชนแล้วพบเจอชายแปลกหน้า อาสาพาไปส่ง จากนั้นพูดพร่ำคำหวานแบบเดียวกับไพศาลและโทน, หนังนำเสนอฉากนี้ได้น่าสนใจมากๆ ใช้การตัดต่อสลับนักแสดงที่กำลังขับรถ ไม่เพียงสร้างความสับสน ยังทำให้มาลีตระหนักว่าพวกผู้ชายก็เหมือนกันทั้งนั้น! ปากอ้างว่ารัก แต่สนเพียงต้องการครอบครองเรือนร่างกายของตนเอง

ด้วยความรังเกียจขยะแขยง ไม่เอาอีกแล้วบุรุษสายพันธุ์นี้ เธอจึงเปิดประตูลงจากรถระหว่างไฟเขียว (ทำให้ชายคนนั้นไม่สามารถหยุดรถลงมา) จากนั้นแวะเข้าร้านขายเสื้อผ้า ถอดชุดกระโปรงสวมใส่เสื้อเชิ้ตกางเกงยีนส์ นั่นดูเหมือนชุดของผู้ชาย … ราวกับว่ามาลีตัดสินใจละทอดทิ้งความเป็นเพศหญิง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำในสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ โหยหาเสรีภาพ อิสรภาพในการดำรงชีวิต และมีสิทธิ์เสียงความเป็นใหญ่ของตนเองบ้าง!

หลายคนมองว่าตอนจบลักษณะนี้เป็นปลายเปิด(แบบค้างๆคาๆ) มอบอิสระผู้ชมจินตนาการว่าอนาคตของมาลีจะดำเนินต่อไปเช่นไร แต่ก็มีข่าวลือหนาหูว่าหนังมี Alternate Ending เดินทางกลับบ้านที่ภาคเหนือ ส่วนตัวมองว่าจบแบบนั้นน่าจะลงตัวกว่าเยอะ เพราะมันคือเริ่มต้น-สิ้นสุด สูงสุดกลับสู่สามัญ

ตัดต่อโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของมาลี ตั้งแต่ถูกหลอกมาขายตัวยังกรุงเทพฯ พานผ่านแมงดาโทนที่เต็มไปด้วยความเข้มงวดกวดขัน แทบไม่เคยก้าวออกจากโรงแรมไปไหน ก่อนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์มาเป็นโกเล็ก ไม่ได้ติดหนี้สินใครอีกต่อไป เลยใช้เวลาว่างร่ำเรียนการตัดเย็บเสื้อผ้า จนมีโอกาสพบเจอชายคนรัก เข้าใจถึงวังวงอาชีพโสเภณี

  • มาลีถูกหลอกมาขายตัว
    • มาลีถูกแฟนหนุ่มลวงล่อหลอก พามากรุงเทพฯ แล้วขายตัวให้โทน
  • มาลีกับโทน
    • ถูกโทนบีบบังคับให้ขายตัว ครั้งแรกไม่ยินยอมเลยถูกกระทำร้ายร่างกาย
    • มาลีตัดสินใจยินยอมศิโรราบต่อโทน เพลินกับอาชีพขายตัว จนได้รับฉายา “เทพธิดาโรงแรม”
    • กลายเป็นที่รักของโทน ถึงขนาดพาออกไปซื้อของขวัญ
    • แต่ความสุขก็เป็นเพียงช่วงเวลาแสนสั้น
  • มาลีกับโกเล็ก
    • มาลีออกเตร็ดเตร่ไปทั่วกรุงเทพ จนกระทั่งมาพบเจอกับโกเล็ก
    • แม้ชีวิตได้รับอิสรภาพแต่มาลีก็ยังตัดสินใจเป็นโสเภณี ไปพร้อมๆกับร่ำเรียนเย็บปักถักร้อย และส่งเงินไปให้ครอบครัวสร้างบ้านหลังใหม่
  • มาลีกับไพศาล
    • ไพศาลเข้ามาแสดงความรัก เกี้ยวพาราสี พาไปที่บ้าน หมั้นหมายอยากแต่งงาน
    • มาลีปล่อยตนเองตั้งครรภ์ ทีแรกไม่อยากทำแท้ง แต่หลังจากไพศาลสู่ขอแต่งงาน เลยต้องเอาลูกออกอย่างทรมาน
    • แต่แล้วจู่ๆไพศาลก็เปลี่ยนไป ใช้จ่ายสุรุยสุร่าย เล่นการพนัน สำมะเลเทเมา แต่งงานแล้วยังเอาผู้หญิงอื่นเข้ามา ก่อนพบว่าเขารับรู้ว่ามาลีคือโสเภณี
  • ตอนจบของมาลี
    • ชายแปลกหน้ารับมาลีขึ้นรถ พยายามพูดเกี้ยวพาราสี แต่เธอไม่เอาคนแบบนี้อีกแล้ว
    • (Alternate Ending) มาลีเดินทางกลับบ้านที่ภาคเหนือ

ผมแอบเซอร์ไพรส์เล็กๆกับลีลา ‘jump cut’ ฉากสงกรานต์ที่เชียงใหม่ สามารถสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากผลงานของ Jean-Luc Godard อย่างแน่นอน! นั่นรวมถึงการแทรกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา อารมณ์เดียวกับตอน Godard ถ่ายทำ Breathless (1960) แล้วปธน. Dwight D. Eisenhower เดินทางมาเยือนฝรั่งเศสพอดิบดี!

เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๔) มักแทรกภาพจินตนาการเพ้อฝัน ขัดแย้งกับสภาพความจริง, ส่วนใหญ่ของมาลี มักครุ่นคิดถึงบ้านที่ภาคเหนือ (แต่ก็มีภาพจินตนาการเพ้อฝันอยู่บางครั้ง) แทรกให้เห็นครอบครัวเฝ้ารอคอย บิดาอ่านจดหมาย ก่อสร้างบ้านหลังใหม่ … น่าเสียดายตอนจบ เห็นว่ามี Alternate Ending มาลีเดินทางกลับบ้าน

ผมพยายามมองหา Alternate Ending ที่เล่าลือกันว่าเป็นตอบจบแท้จริงของหนัง จนแล้วจนรอดก็ไม่พบเจอบนโลกอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด เลยได้แค่แอบคาดหวังถ้าได้รับการบูรณะเมื่อไหร่ ขอฉบับ Director’s Cut แบบไม่มีตัดทอนอะไร … แต่ก็ไม่รู้จะมีโอกาสรับชมเมื่อไหร่


ดนตรีประกอบ เรียบเรียงประสานเสียงโดย อาดิง ดีล่า นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่มาปักหลักอาศัย โด่งดังอยู่ในเมืองไทยยุคสมัยนั้น ยกทั้งวงดนตรีมาบันทึกเสียงในห้องอัด

งานเพลงของหนังมีสองบรรยากาศอย่างชัดเจน เมื่อไหร่ที่นำเสนอภาพชนบท หมู่บ้านทางภาคเหนือ จักใช้ดนตรีพื้นบ้านไทย ได้ยินเสียงขลุ่ย ปี่ กลอง (ผมได้ยินไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองจากทางเหนือ) ขณะที่เมื่ออยู่ในเมืองกรุงฯ ส่วนใหญ่เป็นดนตรี Jazz เสียงเป่าแซกโซโฟน ทรัมเป็ต ทรัมโบน ฯ เล่นลีลาอันยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ เหมาะสำหรับซ่องโสเภณี กะหรี่ ผับบาร์สมัยก่อนโดยแท้!

วงดนตรีของอาดิง ดีล่า ยังสามารถบรรเลงท่วงทำนองอื่นๆได้ด้วยนะครับ ไม่ได้จำกัดว่าต้องดนตรี Jazz ลีลาเย้ายวนเพียงอย่างเดียว ฉากต่อสู้ก็เน้นความตื่นเต้นรุกเร้าใจ (ช่วงนี้จะเน้นเสียงรัวกลอง) หรือเมื่อต้องการบรรยากาศโรแมนติกก็เปลี่ยนมาสีไวโอลินหวานๆ, เมื่อสำเร็จการศึกษา (ตัดเย็บเสื้อผ้า) จะได้เสียงเปียโนแห่งความหวังใหม่ และช่วงท้ายเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าชาย บทเพลงมอบสัมผัสของชีวิต ได้รับอิสรภาพจากทุกสิ่งอย่าง!

  • เทพธิดาโรงแรม ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย กมล ทัพคัลไลย, ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ
    • เป็นบทเพลงตอน Opening Credit ที่สปอยทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ! แต่ผมเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ก็น่าจะคาดเดาเรื่องราวทั้งหมดได้อยู่แล้วกระมัง (ถ้าไม่อยากโดยสปอยในหนังก็อุดหูไปนะครับ แต่น้ำเสียงของธานินทร์ ไพเราะเพราะพริ้งมากๆ)
  • Carry On (1969) แต่งโดย Stephen Stills, ขับร้องโดย Crosby, Stills, Nash & Young, รวมอยู่ในอัลบัม Déjà Vu (1970) เป็นแนว Folk Rock, Psychedelic Rock
    • คลอประกอบพื้นหลังเมื่อตอนมาลีถูกบังคับให้ขายบริการครั้งแรก
    • Where are you going now my love?
      Where will you be tomorrow?
      Will you bring me happiness?
      Will you bring me sorrow?
      Oh, the questions of a thousand dreams
      What you do and what you see Lover can you talk to me?
  • นครลวง ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ดนตรีโดย พีระ ตรีบุบผา, ขับร้องโดย เรียม ดาราน้อย
    • หลังการเสียชีวิตของโทน ทำให้มาลีต้องออกเตร็ดเตร่ เดินเร่ร่อนไปทั่วกรุงเทพฯ คร่ำครวญคิดถึงบ้าน แต่เพราะขณะนี้แทบไม่หลงเหลืออะไรติดตัวสักสิ่งอย่าง (นอกจากวิทยุของขวัญของโทน) เลยยังไม่ต้องการกลับไปอย่างสูญเปล่า ทำให้เธอเริ่มครุ่นคิด และค้นพบเป้าหมายชีวิต
    • บางกอก คนหน้าบางหัวใจกลับกลอก
      เมืองหลวง นครลวงหลอกหลายใจ
      กลางคืนแต้มสี แต่งแสงไฟ
      กลางวันไปไหน เหม็นกลิ่นไอรถอยู่ทุกวัน
  • บาร์หัวใจ ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย สนิท มโนรัตน์, ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ
    • ลูกค้าเข้ามาในซ่อง เลือกหญิงสาวคนอื่นหมดสิ้น หลงเหลือเพียงมาลี ไม่มีใครเหลียวแลแล้วหรือไร? นั่นทำให้เธอตระหนักถึงว่าโสเภณีเป็นอาชีพไม่จีรัง เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังแห้งเหี่ยว ไม่สวยสาว ย่อมไม่สามารถขายตัว สู้เด็กสาวเอ๊าะๆได้อีกต่อไป ต้องเตรียมตัวเตรียมใจถึงวัยปลดเกษียณ
  • ไฟอารมณ์ ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย เขมิกา กุญจร ณ อยุธยา
    • เพลงนี้ปรากฎบนเครดิต แต่คุ้นๆเหมือนว่าไม่มีในหนัง (แนวโน้มน่าจะถูกตัดออกไป) กลายเป็นเพลงภาษาเหนือเข้ามาแทนกระมัง

น่าเสียดายที่ผมหาเทพธิดาโรงแรม ฉบับขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ มาให้รับฟังไม่ได้ แต่ใน Youtube มีฉบับของ ชรัมภ์ เทพชัย เอาไปฟังเล่นๆก็แล้วกัน (แต่รู้สึกว่ายังสู้ที่ได้ยินในหนังไม่ค่อยได้)

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) มองมุมหนึ่งคือการสะท้อนปัญหาโสเภณี หญิงสาวต่างจังหวัดถูกลวงล่อหลอกมาขายตัวยังเมืองกรุงฯ ถ้าไม่สมยินยอมก็มักถูกกระทำร้ายร่างกาย มัวยึดถืออุดมการณ์มากเกินก็อาจตกตาย เป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ไม่รู้ใครคือบิดา รวมถึงการที่สังคม/ครอบครัวไม่ยินยอมรับเมื่อความจริงเปิดเผยออกมา

แต่ความที่ณรงค์ จันทร์เรือง เป็นบุคคลผู้โชกโชนในวงการโสเภณีเมืองไทย จึงไม่ได้ต้องการแค่สะท้อนปัญหา อยากแสดงให้เห็นว่ากะหรี่ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มีความครุ่นคิดอ่าน จินตนาการเพ้อฝัน เป้าหมายชีวิตเหมือนบุคคลทั่วๆไป เพียงเพราะโชคชะตา เหตุและกรรมบางอย่างทำให้พวกเขาและเธอเข้ามาอยู่ในวังวนดังกล่าว ไม่ใช่ทุกคนอยากจะเป็นโสเภณี ไม่ใช่ทุกคนจะมีอุดมการณ์อันแรงกล้า (ที่จะต่อต้านขัดขืน)

การนำเสนอเรื่องราวของมาลี กะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก! น่าจะทำให้ผู้อ่าน/ผู้ชมภาพยนตร์ บังเกิดความตระหนักรู้ว่าโสเภณีก็คืออาชีพหนึ่ง ถ้าสามารถยินยอมรับ ปรับตัว มองโลกอีกแง่มุมหนึ่ง ย่อมใช้เป็นโอกาส ช่องทางหาเงิน เติมเต็มเป้าหมายชีวิต กระทำสิ่งตอบสนองจินตนาการเพ้อฝัน เมื่อได้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ถึงเวลาหยุดเลิกรา … ไม่มีใครสามารถขายตัวจนตัวตาย แต่สมัยนี้ก็ไม่แน่นะครับ

โสเภณีไม่ใช่ปัญหา แต่คนที่ครุ่นคิดว่าโสเภณีคือปัญหานั่นคือตัวปัญหา! พวกเขาเหล่านั้นพยายามสร้างค่านิยม สรรหาข้ออ้างศีลธรรม-มโนธรรม ไม่ยินยอมรับสภาพความเป็นจริง ออกกฎหมายจับปรับ ติดคุกติดตาราง แต่กลับเต็มไปด้วยช่องโหว่ ช่องทางหากินของผู้อำนาจ (คล้ายๆบ่อนการพนัน ที่อยู่ได้ก็เพราะจ่ายเงินใต้โต๊ะ ถ้าทำให้ถูกกฎหมายเมื่อไหร่ ช่องทางหากินเหล่านี้ก็จักหมดสูญสิ้นไป)

นั่นเองทำให้โสเภณี กลายเป็นอาชีพชายขอบ ที่นอกจากไม่ได้รับการยินยอมรับ ยังมักถูกกดขี่ข่มเหง โดนกระทำด้วยความรุนแรง ราวกับวัตถุทางเพศสำหรับตอบสนองตัณหา กามารมณ์ ของบุคคลผู้เจ้าของ พ่อเล้า/แม่เล้า แมงดา หรือบุคคลทรงอิทธิพล นั่นเป็นสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการขายตัวเสียอีกนะ! (ลูกค้าส่วนใหญ่มักเอ็นดูกะหรี่ ผิดกับพ่อเล้า/แมงดาเห็นเป็นเพียงสิ่งของสำหรับสร้างรายได้)

เรื่องราวของหนังสะท้อนสถานภาพการเมืองไทยยุคสมัยนั้นได้ด้วยเช่นกัน จอมพลถนอมปฏิบัติต่อประชาชนไม่ต่างจากกะหรี่ โสเภณี ต้องก้มหัว ศิโรราบ ยินยอมทำตามคำสั่งรัฐบาล ใครต่อต้านขัดขืนจักถูกกวาดล้าง (เหมือนการล้อมจับโสเภณี) นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อบรรดาปัญญาชน นิสิตนักศึกษา รวมกลุ่มประท้วง ลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน มุ่งมั่นจะโค่นล้มอำนาจเผด็จการ ต่อให้ตัวตายก็ไม่ขอสูญเสียอุดมการณ์

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) สร้างขึ้นในช่วงคาบเกี่ยววันมหาวิปโยค ๑๖ ตุลา แม้ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโค่นล้มอำนาจเผด็จการโดยตรง แถมยังนำเสนอภาพประวัติศาสตร์แค่เพียงน้อยนิด แต่ก็สามารถสะท้อนอุดมการณ์ของปัญญาชน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมนุษย์ย่อมไม่สามารถอดรนทน ฆ่าได้หยามไม่ได้ กลายเป็นอิทธิพลให้คนที่เคยก้มหัว ศิโรราบต่อเผด็จการ (อย่างมาลี) ท้ายที่สุดสามารถลุกขึ้นยืน ก้าวออกมา (จากโรงแรม/วังวนโสเภณี) ได้รับเสรีภาพ ปลดแอกจากสังคมชายเป็นใหญ่ สู่อนาคตแห่งความเป็นไปได้ ชาย-หญิง กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว


ถ้าผมจำไม่ผิด Le petit soldat (1963) ของ Jean-Luc Godard เคยกล่าวถึงนักแสดง คืออาชีพที่ขายภาพลักษณ์ เรือนร่าง ต้องยินยอมทำทุกสิ่งอย่างตามคำสั่งของผู้กำกับ ว่าไปแทบไม่มีความแตกต่างจากโสเภณี (ได้เงินปริมาณมากเช่นเดียวกัน) ฤานั่นคือสิ่งที่ท่านมุ้ยพยายามเปรียบเทียบถึง ชีวิตจริง=ภาพยนตร์, นักแสดง=โสเภณี

ยุคสมัยก่อนนักแสดงเป็นอาชีพหนึ่งที่สังคมไม่ค่อยให้การยินยอมรับ เพราะเต็มไปด้วยการสร้างภาพ เต้นกินรำกิน มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ เสียๆหายๆไม่เว้นวัน แต่เพราะมันทำรายได้สูง ใครต่อใครจึงเพ้อใฝ่ฝัน มีโอกาสเล่นหนังเล่นละคร ออกโทรทัศน์ เป็นที่รู้จักโด่งดัง ถึงอย่างนั้นดาวดาราเมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่น ย่อมค่อยๆร่วงโรยรา เด็กรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ … วัฏจักรของนักแสดง ก็แทบไม่แตกต่างจากโสเภณี

ในบรรดาตัวละครทั้งหมด ใกล้เคียงกับท่านมุ้ยที่สุดน่าจะเป็นโทน (สรพงศ์ ชาตรี) ที่ค้นพบเจอวิยะดา/มาลี ปลุกปล้ำจนกลายเป็นดาวดารา/เทพธิดาโรงแรม แต่เมื่อหนังสร้างเสร็จพวกเขาคงต้องเลิกรา (ท่านมุ้ยคงไม่ได้คาดหวังความสัมพันธ์ เพราะตนเองก็มีภรรยามีบุตรอยู่แล้ว) = โทนถูกเข่นฆ่าเสียชีวิต (มันคงเป็นความรู้สึกเจ็บปวดปางตายเมื่อต้องปลดปล่อยวิยะดาไป) ชีวิตของเธอหลังจากนั้นคงได้เรียนรู้อะไรอีกมากมาย พบเจอผู้ชายมากหน้าหลายตา ทั้งรักทั้งลวง แต่ถ้ายังมีเป้าหมาย อุดมการณ์ เพ้อใฝ่ฝัน นั่นจักคือสิ่งยึดเหนี่ยวให้สามารถก้าวดำเนินต่อไป ไม่ว่าจักพานผ่านช่วงเวลาเลวร้ายสักเพียงไหน

การตั้งครรภ์ของวิยะดา คงเป็นสิ่งผิดคาดหมายท่านมุ้ยอย่างมากๆ ไม่เหมือนมาลียินยอมทำแท้งเพื่อคนรัก ชีวิตจริงใครจะไปกล้าทำอย่างนั้น! การไม่ปรากฎตัวตอนฉายหนังรอบปฐมทัศน์สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้ใครต่อใคร (ตอนนั้นท้องโตแล้ว) พวกปาปารัสซีก็ไปสืบข่าวจนรับรู้ว่าแอบไปคลอดบุตร หนังสือพิมพ์สมัยนั้นนำเสนอข่าวอย่างเกรียวกราว

ตอนนั้นไม่กดดันอะไรนะ เราก็ไม่สนใจข่าวอยู่แล้ว เราไม่คิดว่าเราจะมาเป็นดาราที่โด่งดัง แต่พอคลอดลูกได้ไม่กี่เดือนก็มีหนังมา ทะเลฤาอิ่ม ป่าทรายทอง แล้วก็มีติดต่อให้เป็นนางเอกอีกเยอะเลย เล่นอีกหลายเรื่อง จนลูกโตเกือบๆ ๑๐ ปีได้ แม่ก็เล่นหนัง เล่นละครไปเรื่อยๆ ไม่มีเวลาให้เขา เขาก็งอนไปมีคนอื่น มือที่สาม มือที่สี่ เราก็เลยเลิก ไม่เสียใจค่ะ มีความรู้สึกว่าเขามีคนอื่นแล้วมีคนดูแล้วเราก็โอเค เพราะเราไม่มีเวลาดูแลเขาจริงๆ รับละคร ๓ เรื่อง หนังอีก ๕ เรื่อง ไม่ได้กลับบ้านเลย เสื้อผ้าเครื่องแต่งหน้าก็อยู่หลังรถ ไม่มีเวลาให้สามีเขาก็เลยมีคนอื่น ลูกก็อยู่กับแม่เนี่ยแหละ แม่นี่ไม่ธรรมดานะ เลิกกับสามีปุ๊ปหนีไปอยู่กับผู้หญิงเลยค่ะ

วิยะดา อุมารินทร์

แซว: ตอนจบของหนัง (ที่ไม่ได้กลับภาคเหนือ) มาลีโยนชุดสวยๆลงถังขยะ แวะเข้าร้านเสื้อผ้าสวมใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงยีนส์ขายาว แต่งตัวเหมือนผู้ชาย … เอิ่ม!!


ท่านมุ้ยฉลาดในการเลือกบทประพันธ์มาเป็นหนัง ซึ่งทำให้หนังมีส่วนรับใช้สังคมอย่างถูกต้องตามฐานะความเป็นสื่อสารมวลชน นานมาแล้วที่ผู้สร้างหนังตั้งใจจะให้หนังเป็นเครื่องปรนเปรอความสนุกสนานบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของชีวิตในสังคม พยายามยัดความเป็นไปไม่ได้ให้ผู้ชมหลงใหล เพื่อฝันไปกับเรื่องราวที่เป็นความบังเอิญตลอดมา

แผน อัญชลี

ด้วยทุนสร้างประมาณ ๘ แสนบาท ตอนแรกเข้าฉายเพียงโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่ด้วยกระแสตอบรับดีล้นหลามจนต้องขยายกิจการมายังสามย่านสแควร์ รายรับเฉพาะกรุงเทพฯสูงถึง ๔-๕ ล้านบาท! น่าเสียดายที่ปีนั้นสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงงดจัดการประกวดใดๆ เลยไม่มีรางวัลการันตีคุณภาพ

ประดาแฟนๆ แห่แหนไปดูเทพธิดาโรงแรมยังกะดูฟรี ยิ่งฉายคนยิ่งแน่น ปากต่อปากพูดกันต่อๆไป ได้ผลยิ่งกว่าโฆษณาเป็นไหนๆ

ณรงค์ จันทร์เรือง กล่าวในคำนำหนังสือฉบับตีพิมพ์ใหม่

ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ น่าจะคงอีกสักพักใหญ่ๆเพราะมีผลงานเรื่องอื่นๆของท่านมุ้ยที่สำคัญกว่ารอคิวอยู่ แต่หลายๆฉบับที่พบเห็นบน Youtube คุณภาพถือว่าพอใช้ได้เลยละ (ดีกว่าเขาชื่อกานต์ที่ผมเขียนไปวันก่อนหลายเท่าตัว!)

ส่วนตัวแม้รู้สึกแพรวพราวกับหลากหลายเทคนิค ลวดลีลา รวมถึงสองนักแสดงนำสรพงศ์และวิยะดา เล่นหนังเรื่องนี้ถือว่าดีเลยละ แต่หลายๆองค์ประกอบยังคลุกเคล้าไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ เรื่องราวขาดๆหายๆเหมือนถูกตัดทอนหลายๆฉากออกไป … แอบคาดหวังให้มีฉบับ Director’s Cut รวมถึง Alternate Ending ไม่รู้ฟุตเทจนั้นยังหาได้อยู่หรือเปล่า

แนะนำคอหนังดราม่าชีวิต สะท้อนปัญหาสังคม เกี่ยวกับโสเภณี (ผู้หญิงต้องสู้, Feminist), บันทึกภาพกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๗ เก็บฝังไว้ใน Time Capsule, หนึ่งในบทบาทมีสีสันที่สุดของสรพงศ์ ชาตรี และแจ้งเกิดวิยะดา อุมารินทร์

จัดเรต ๑๕+ กับโสเภณี ความรุนแรง เข่นฆ่ากันตาย

คำโปรย | เทพธิดาโรงแรมของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราว ส่งดาวดาราดวงใหม่วิยะดา อุมารินทร์ ให้เจิดจรัสบนฟากฟ้า
คุณภาพ | แพรวพราว
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: