เปนชู้กับผี

เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) หนังไทย : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ♥♥♥♥

หนึ่งในหนังผีไทย ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญว่ามีความน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุด แต่แน่ใจแล้วหรือว่านี่คือหนังผี? การไม่ยินยอมรับตนเอง สูญเสียสิ้นศรัทธา เปนเหตุให้ทุกสิ่งอย่างเวียนวนหวนกลับคืนสู่จุดเริ่มต้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก! รัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็เช่นกัน

ทั้งๆภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้มีการกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์เมือง แถมพื้นหลังดำเนินเรื่อง พ.ศ. ๒๔๗๗ ย้อนยุคไปไกล แต่เพราะไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น สดๆร้อนๆกับรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ เราจึงสามารถเปรียบเทียบอะไรหลายๆอย่าง ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึง บ้านหลังนี้=ประเทศไทย ช่างดูโบร่ำโบราณเสียจริง!

ตอนที่ผมรับชม เปนชู้กับผี ในโรงภาพยนตร์ ไม่ได้ครุ่นคิดอะไรพรรค์นี้หรอกนะ เพิ่งจะมาสะดุดความเห็นหนึ่งจากผลงานล่าสุดของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เรื่อง สิงสู่ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ที่เหมือนจะแทรกสอดแนวคิด ทัศนคติ มุมมองทางการเมือง หลบซ่อนเร้นอยู่ในผลงาน พอไล่ย้อนไปก็พอพบเห็นได้ตั้งแต่ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗) คงไม่แปลกถ้า เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) จะมีบางสิ่งอย่างเก็บใส่หีบ ล็อกกุญแจ ฝั่งลึกอยู่ … ปรากฎว่าไม่ผิดคาดเลยจริงๆ

เปนชู้กับผี จึงกลายเปนภาพยนตร์ที่สะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สึกของปวงชนชาวไทย (ในมุมมองผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) ต่อเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ การไม่ยินยอมรับอดีตของตนเอง คอรัปชั่นฝั่งรากหยั่งลึก มันหวนย้อนกลับมาหลอกหลอน เขย่าขวัญ สั่นประสาท นี่เราต้องพบเจออะไรๆแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปจนชั่วกัปกัลป์เลยหรือ!

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียน ภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เริ่มทำงานโฆษณากับ บริษัท ลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), ก้าวขึ้นมากำกับ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗)

“จุดเริ่มต้นคือคุณเชน ไฟว์สตาร์อยากให้ทำหนังผีซักเรื่อง เราก็สนใจ หลังจากรับปากแล้วเราก็กลับไปค้นคว้าเรื่องผีของไทยโบราณ ก็ไปนึกถึงนิยายผีของครูเหม เวชกร ซึ่งเราอ่านตั้งแต่เด็กๆ และเปนภาพที่ฝังใจเรามาตลอด”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

เมื่อพูดถึงผีไทยในอดีต มักมีลักษณะ ‘ผีอาละวาด’ ว่ากันว่าน่าจะเปนประเทศเดียวในโลกที่แหกอก ควักไส้ ตาหลุด ลิ้นยาว หน้าเละๆ เอกลักษณ์ประจำชาติเลยก็มั้งนะ แต่การมาถึงของ New Asian Horror ผีญี่ปุ่นเริ่มจาก The Ring (1998), Ju-on: The Grudge (2002) หน้าขาวๆ ผมยาวๆ ดำๆ พอเห็นมันประสบความสำเร็จ สร้างความหลอกหลอน ตราตรึง ผู้สร้างหนังไทยก็เลยคัทลอกเลียนแบบตาม ทอดทิ้งวิถีทางเดิมๆไทยแท้แทบหมดสิ้น

“ผมชอบหนังผี เรื่องผีของครูเหม เวชกร นี่ชอบมาก อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นร่ำลือกันว่าเรื่องผีของแกสยองขวัญมาก มาอ่านสมัยนี้อาจจะเฉยๆแล้ว … รูปประกอบของครูเหมก็น่ากลัว เขาไม่ได้เขียนแค่ภาพประกอบง่ายๆ แต่เขาเขียนเปนแสงเงา เหมือนกับจัดแสงให้เราเสร็จเลย”

เหม เวชกร ชื่อจริง หม่อมหลวงเหมเวชกร ทินกร (พ.ศ. ๒๔๔๖ – ๒๕๑๒) ศิลปินจิตรกรชาวไทย เกิดที่ตำบลพระราชวัง อำเภอและจังหวัดพระนคร บุตรของหม่อมราชวงศ์หุ่น ทินกร กับหม่อมหลวงสำริด พึ่งบุญ ครั้นพ่อแม่แยกทางเลยไปอยู่กับหม่อมราชวงศ์แดง ทินกร ทำให้มีโอกาสพบและเปนผู้ช่วย Carlo Rigoli จิตรกรชาวอิตาเลียน ที่เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม สอนให้หัดวาดเส้น ลวดลายต่างๆ รู้สึกชอบพอในอัธยาศัยและฝีมือของเหมมาก แต่โชคชะตาพลันแปรให้ร่อนเร่พเนจร (พ่อแม่ ต่างปลัดกันแย่งยื้อตัวเขาไว้ แต่กลับไม่มีใครเลี้ยงดูแลอย่างจริงจัง) เคยทำงานนายท้ายเรือโยงขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ช่างเครื่องจักรไอน้ำ สร้างเขื่อนพระรามหก กลับเข้ากรุงเทพฯ เปนช่างเขียนในกรมตำราทหารบก นักดนตรีฉายหนังเงียบ เขียนปกนวนิยาย กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๘ ร่วมกับเพื่อนเปิดสำนักพิมพ์ เพลินจิตต์ ขายนิยายราคาถูก ปกภาพเขียนฝีมือของเหม สอดสีสวยงาม ราคา ๑๐ สตางค์

เหม เวชรกร ได้รับฉายา ‘จิตรกรเทวดา’ มีผลงานวาดภาพประกอบกว่า ๔๐,๐๐๐ ชิ้น หลายภาพพบในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทย จิตรกรรมพุทธประวัติ ประกอบชาดก วรรณคดี นวนิยายอีกนับไม่ถ้วน แต่ที่โดดเด่นดังคือผลงานเขียนเรื่องผีกว่าร้อยเรื่อง จนได้รับอีกฉายา ‘บิดาแห่งผีไทย’ ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างบรรยากาศเฉพาะตัว ลักษณะนิ่งเงียบ เย็นยะเยือก มีความโบราณเล่นกับวิถีความเชื่อ ความกลัวของคนไทย อาทิ เสียงบันไดเอี๊ยดอ๊าด นกแสกร้อง น้ำหยด ลมหายใจรดต้นคอ ฯ ปัจจุบันที่หลงเหลืออยู่เพียง ๕ เล่ม คือ วิญญาณที่เร่ร่อน, ปีศาจของไทย, ผู้มาจากเมืองมืด, ผู้ไม่มีร่างกาย และใครอยู่ในอากาศ เห็นว่าช่อง ITV เคยเอามาทำเปนละครชุด ผี!!…วิญญาณและความผูกพัน (พ.ศ. ๒๕๔๖) จำนวน ๑๘ ตอน

ตัวอย่างภาพวาดผีของ เหม เวชรกร: https://pantip.com/topic/37321202

สำหรับการพัฒนาบทภาพยนตร์ เปนครั้งแรกที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เลือกใช้บริการนักเขียนอื่น สนใจคนเขียนบท/ผู้กำกับ ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ไม่ได้รู้จักกันหรอก แต่ประทับใจตัวหนังเขียนบทได้ดี มีเหตุและผลรองรับ

“บังเอิญเรามีพล็อตอันนึงเปนหนังผีที่คิดไว้นานแล้ว แต่เปนพล็อตที่คิดไว้หลวมๆ เริ่มเขียนบทตอนต้นปี ช่วงนั้นทำโฆษณาด้วย เขียนไปสักครึ่งเรื่องก็ติดไปต่อไม่ได้ เลยเรียกใช้บริการของคุณโขม (ก้องเกียรติ) คุยกับเขาปล่อยให้เขาเขียนต่อ แล้วเขาก็เปลี่ยนเรื่องเราไป แล้วมันดีกว่าเรื่องเดิมของเรา มันมีความลึก เรื่องของกรรม เรื่องของการยึดติด ประเด็นของเรื่องก็แข็งแรงขึ้น”

ก้องเกียรติ โขมศิริ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๘) ผู้กำกับ/นักเขียนชาวไทย เกิดที่ สำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าสู่วงการจากเขียนบทหนัง บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๗ ประจัญบาน (พ.ศ. ๒๕๔๔), องค์บาก (พ.ศ. ๒๕๔๖), คนเล่นของ (พ.ศ. ๒๕๔๗), สร้างชื่อกับการเปนทีมกำกับ/เขียนบท ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘), และฉายเดี่ยวเรื่องแรก ไชยา (พ.ศ. ๒๕๕๐)

“คือเดิมตั้งใจว่าเสร็จเรื่องลองของ ก็จะไม่เขียนบทหนังประเภทนี้แล้ว แต่พอได้มานั่งคุยกับพี่วิศิษฎ์ ได้ฟังไอเดีย เราว่ามันโอเค.มากเรียกว่าสุดยอดเลยนะ เปนไอเดียที่เกิดขึ้นมาจากภาพวาดของครูเหม เวชกร คือเรื่องผีของครูเหม ส่วนมากเปนเรื่องความผูกพันธ์ระหว่างคนกับผี การพบการจาก เราว่ามันเปนเสน่ห์ของหนังผีนะ และมุมที่เราตีความหลังจากที่ได้คุยกับพี่วิศิษฎ์ คือ บทของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปนหนังผี ที่มีเรื่องของความรัก น่ากลัวด้วยบรรยากาศ คืออยู่เฉยๆ ก็ขนลุกขึ้นมา รู้สึกวาบขึ้นมาได้ทั้งๆที่เราไม่ต้องเห็นผีเปนตัวเปนตน แต่ว่ามันทำให้ชวนขนลุกอยู่ตลอดเวลา”

– ก้องเกียรติ โขมศิริ

สยามประเทศ พ.ศ. ๒๔๗๗, นวลจัน (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) สาวตั้งครรภ์ท้องแก่ ออกเดินทางติดตามหาสามีที่หายตัวไป มาถึงพระนครขอเข้าพักอาศัยในคฤหาสน์ของคุณหญิงรัญจวน (สุพรทิพย์ ช่วงรังษี) โดยมีแม่บ้านใหญ่ สมจิต (ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) และสาวใช้ ช้อย (วิสาข์ คงคา) คอยให้ความช่วยเหลือ แต่ในไม่ช้านาน นวลจันก็ได้ค้นพบลับลมคนใน เรื่องราวไม่ชอบมาพากลของคฤหาสน์หลังนี้ เต็มไปด้วยความน่าหวาดสะพรึงกลัวซุกซ่อนเร้นอยู่

ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๕) ชื่อเล่น นุ่น นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่จังหวัดลำปาง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หลังจากได้เปนดัชชี่เกิร์ล พ.ศ. ๒๕๔๗ แจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ เพื่อนสนิท (พ.ศ. ๒๕๔๘)

“พูดตรงๆว่าพอบอกชื่อนุ่นขึ้นมา เรารู้สึกว่าไม่น่าใช่ เพราะบทที่ผ่านมาของเขาจะใสๆ ง้องแง้งๆ แต่บทของเราจะจริงจัง เปนคนที่เข้มแข็งพอจะเข้าไปค้นอะไรบางอย่าง… แต่พอเขามาแคสติ้งแล้วปรากฎว่าทำได้ดี มีความตั้งใจ พอคุยกันปรากฎว่าเขาเปนคนที่อยากเปลี่ยนแปลงตนเอง”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

รับบทนวลจัน สาวบ้านนอกตัวดำ แต่มีความแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว กล้าเข้าหาผู้ชาย อ่อยเหยื่อให้เขาตกหลุม ร่วมรัก ตั้งครรภ์ แล้วเมื่อพลัดพรากแยกจากเปนเวลานาน ออกเดินทางติดตามค้นหา จับพลัดพลูมาถึงคฤหาสน์หลังนี้ แรกๆยินยอมก้มหัวให้แม่บ้านใหญ่ แต่ความสอดรู้อยากเห็น จึงพบเจอข้อเท็จจริงทุกสิ่งอย่าง

ต้องชมเลยว่า นุ่น สามารถสลัดภาพ ดากานดา จากวัยรุ่นสาวหน้าตาจิ้มลิ้มบ้องแบ้ว กลายเปนหญิงสาวที่มีความแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ด้วยสายตาแห่งความใคร่รู้ใคร่สงสัย ‘เสือก’ นั่นคงเกิดจากแรงผลักดันของสันชาติญาณ ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงเริ่มเปิดเผย ภายในจิตใจเกิดความขัดแย้ง เจ็บปวดรวดร้าวราน ทุกข์ทรมาน จึงพยายามหลบหนีเอาตัวรอดออกมา แล้วเก็บกดดันความรู้สึก/ทรงจำซ่อนไว้ใต้ส่วนลึก ทำให้ตื่นขึ้นเช้าวันใหม่เลยสามารถหลงลืมได้ทุกสิ่ง เรียกรถลากออกเดินทางมุ่งสู่คฤหาสน์หลังนี้อีกครั้ง

คือถ้ากับมนุษย์ ผมยังพอได้ยินเหตุการณ์แบบ Memento (2000), 50 First Dates (2004), Still Alice (2014) ฯ ตื่นเช้าขึ้นมาสูญเสียความทรงจำของวันวาน แต่กับผี/วิญญาณ มันเปนไปได้หรือว่าจะเกิดอาการคล้ายๆกันนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเรือนร่างกาย สมองสำหรับจดจำ?

ความทรงจำ เก็บซ่อนเร้นอยู่ตรงไหน? ทางพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ ๕ (รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ) ความทรงจำถูกเก็บในสิ่งเรียกว่า ‘สัญญา’ นามธรรมจับต้องไม่ได้ มองด้วยสายตาไม่เห็น และมีปริมาณไม่สิ้นสุด, การที่ทุกครั้งเมื่อเกิดใหม่เปนมนุษย์ จะไม่สามารถจำเหตุการณ์ในอดีตชาติ เพราะอำนาจสติมีกำลังน้อยไม่เพียงพอ แต่ถ้าเติบโตขึ้น ฝึกฝนทำสมาธิ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถระลึกได้ว่ามีจริง

เช่นนั้นแล้วสมอง-ความทรงจำ สัมพันธ์อะไรกัน? ในความเข้าใจของชาวตะวันตก/นักวิทยาศาสตร์ มักเปรียบเทียบคือ Hard Disk ส่วนเก็บบันทึกความทรงจำถาวร แต่ในทางพุทธศาสนา สมองเปนเพียง RAM อุปกรณ์บันทึกความทรงจำชั่วคราว ก่อนส่งต่อให้ ‘สัญญา’ ที่คือ Hard Disk อย่างแท้จริง

ดังนั้นคำถามที่ว่า ผีสูญเสียความทรงจำได้หรือเปล่า? คำตอบคือ ได้ ไม่แตกต่างอะไรจากมนุษย์ ในสภาวะที่มีบางสิ่งอย่างกระทบกระทั่งจิตอย่างรุนแรง ‘วิบากกรรม’ คือสิ่งบดบังไม่ให้สามารถหวนระลึกถึงสัญญาอดีต

อีกหนึ่งนักแสดงที่ถือเปนไฮไลท์คือ สุพรทิพย์ ช่วงรังษี (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๗) ชื่อเล่นทิปปี้ นักธุรกิจสาวไฮโซ เจ้าแม่พีอาร์เมืองไทย คร่ำหวอดในวงการนี้มากว่า ๑๐ ปี เชี่ยวชาญด้านงานประชาสัมพันธ์และการตลาด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนด์เด็ด ดิ เอเจนซี่ จำกัด, ผู้บริหารของ บริษัท เวิร์คกิ้ง ไดมอนด์ จำกัด, ผู้บริหารของแบรนด์เครื่องประดับสุดเก๋ Tippy & Matthew, และเจ้าของบริษัท ๑๒๔ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, ก็ไม่ได้มีความสนใจในวงการบันเทิง แต่เมื่อได้รับการติดต่อก็เลยอยากทดลองดู มาแคสหน้ากล้องปรากฎว่าใช่เลย ภาพลักษณ์ จริตแบบนี้แหละที่ต้องการ

“ตอนแรกสุดเขาเปนตุ๊กตาที่เราตั้งไว้ว่า เราอยากได้บุคลิกแบบนี้ สง่า มีอำนาจ สวย เซ็กซี่ แต่เราไม่กล้าเรียกเขา เพราะเขาเปนนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จมาก เปนคนดังของสังคม แต่สุดท้ายทางแคสติ้งไดเรคเตอร์บอกว่า ลองดูไหมพี่ ไม่มีอะไรเสียหาย”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

รับบท รัญจวน เจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่ ลูกเจ้าคุณมหาเศรษฐี ตั้งแต่เด็กมีนิสัยอิจฉาริษยา โตขึ้นแต่งงานกับคุณชอบ (ศรุต วิจิตรานนท์) เลี้ยงดูแล ประคบประหงบ ให้ปรนเปรอ กักขังไว้อย่างนกในกรง ครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญไปเล่นดนตรีต่างจังหวัด หวนกลับมาบอกว่าพบเจอคนรักใหม่ต้องการขอหย่า เรื่องอะไรจะยินยอมพร้อมใจ เธอต้องเปนของฉันแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

มาดสาวมั่น ผู้ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ ช่างตรงกับภาพลักษณ์ของไฮโซทิปปี้ คำพูดจา ท่วงท่าทางลีลา จริตอันจัดจ้าน เร่าร้อนแรง เซ็กซี่วับๆแวมๆ ภายในอัดแน่นด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว แต่สามารถแปรสภาพให้กลายเปนพลัง โลกมายาเพ้อฝัน จินตนาการช่วงเวลาแห่งความสุข สนองตัณหาราคะชั่วนิจนิรันดร์

สำหรับนักแสดงสมทบ
– สมจิต (ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) แม่บ้านใหญ่ผู้คอยดูแลคฤหาสถ์หลังนี้ ทั้งๆเปนแค่ขี้ข้าคนรับใช้ กลับทะนงตน เย่อหยิ่งจองหอง ชอบพูดจาถากถาง ใช้ถ้อยคำตำหนิต่อว่ารุนแรง [ว่าไปคล้ายตัวละครแม่บ้าน Mrs. Danvers จากเรื่อง Rebecca (1941)] เมื่อพบเห็นบางสิ่งอย่างชั่วร้ายเกิดขึ้นในบ้าน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เลยเดินตกกระไดคอหักตาย ถูกซ่อนศพไว้ในห้องเก็บล็อกกลอนแน่นหนา มีเพียงหนูนาแทะกระดูกเปนเพื่อนสร้างความรำคาญใจ
– ช้อย (วิสาข์ คงคา) คนใช้ไร้ที่ทางอยู่อาศัย ได้รับอนุเคราะห์จากคุณนายให้พักในคฤหาสถ์หลังนี้ ว่าไปไม่ต่างจากผีไร้ญาติ เอาตัวรอดไปวันๆอย่างไร้แก่นสาน ชอบทำตัวจุ้นจ้าน วุ่นวายเรื่องชาวบ้าน แถมทำคลอดได้อีก ปาฏิหารย์จริงๆ
– ยายเอิบ (เรียมคำ แสนอินทร์) หลังจากสูญเสียลูกสาวหายตัวไปไม่พบเจอ เกิดอาการคลุ้มคลั่งเสียสติแตกกลายเปนคนบ้า คือหนึ่งในสองสมาชิกคฤหาสถ์หลังนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ใครๆกลับครุ่นคิดว่าเธอคือผีปอป เพราะภาพลักษณ์เหมือนมากๆ
– คุณชอบ (ศรุต วิจิตรานนท์) เริ่มแรกเปน Mac-Guffin ที่ไม่พบเห็นหน้าตา แต่สักกลางเรื่องเมื่อเปิดเผยใบหน้า ตัวตนแท้จริง ถึงค่อยรับทราบว่าตกหลุมรัก แต่งงาน เปนชู้กับใคร?

กำกับภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (เรื่องตลก 69, มนต์รักทรานซิสเตอร์, มหา’ลัยเหมืองแร่), นฤพล โชคคณาพิทักษ์ (คิดถึงวิทยา, พี่มาก…พระโขนง)

“ผมตั้งใจให้บรรยากาศมันคลุมๆ ไม่กลัวแบบตกใจ แต่ต้องกลัวตลอดเวลา”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

งานภาพของหนังไม่มี Visual Effect มุมกล้องประหลาดๆ หรือสีสันฉูดฉาดแปลกตาเหมือนสองผลงานก่อนหน้า ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) และ หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗) เรื่องนี้เลือกโทนน้ำตาลเพื่อความโบราณย้อนยุค และการเคลื่อนกล้องแบกถือ Steadicam เดินติดตามตัวละคร ได้ภาพสั่นๆไหวๆ ดั่งจิตใจคนเมื่อพบเจอบางสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัว

เนื่องจากพื้นหลังของหนังมีลักษณะ Period ย้อนยุคไปในอดีตประมาณ ๗๐ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๗๐ – ๒๕๘๐ เมืองไทยยังแบ่งออกเปนคน ๒ ประเภท
– กลุ่มคนสังคมชั้นสูง พวกนี้จะได้รับอิทธิพลจากยุโรปอย่างมาก โดยเฉพาะ Art Nouveau ของฝรั่งเศส ลักษณะบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ การแต่งกาย คำพูดจามีนัยยะความหมาย สำบัดสำนวนคมคาย สะท้อนถึงผู้มีการศึกษาสูง
– อีกด้านหนึ่งคือคนต่างจังหวัดชนชั้นล่าง ยังคงความเปนไทย บ้านไม้มุงจาก พายเรือ ชอบนั่งเล่นใต้ถุนสูง จุดตะเกียง นอนมุ้ง คำพูดจาก็จะหยาบกระด้าง ตรงไปตรงมา คิดอะไรก็แสดงออกเช่นนั้น ไม่ค่อยมีความรู้ มารยาทสังคม ยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีโบราณดั้งเดิม

สำหรับสถานที่ถ่ายทำ จงใจเลือกเช่าบ้านหลังเดียวกับที่เคยใช้ถ่ายทำ จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔) ตั้งอยู่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรับปรุงตกแต่งให้เรือนสองหลัง มีความแตกต่างกันตามระดับชนชั้นของตัวละคร

ความโดดเด่นของงานภาพ คือการสร้างบรรยากาศหลอนๆ เขย่าขวัญ สั่นสะพรึง หลายครั้งบางสิ่งอย่าง(ผี)มักมีการขยับเคลื่อนไหว แทนด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไม่ก็ปรากฎตัวอยู่ด้านหลังขณะที่ตัวละครมองไม่เห็น/หันไปอีกทาง แต่ผู้ชมจะทันหางตา หรือภาพเบลอๆ ก่อเกิดอาการสะดุ้ง ตกใจกลัว (พร้อมเพลงประกอบ ร่วมด้วยช่วยบิ้วอารมณ์)

มีหนังหลายเรื่องที่ใช้เทคนิคสร้างบรรยากาศลักษณะคล้ายคลึงกันนี้อยู่มากมายให้เปรียบเทียบ อาทิ The Evil Dead (1981), The Sixth Sense (1999), The Others (2001) ฯ  ซึ่งลักษณะบ้านหรูๆ แบ่งแยกชนชั้นสูง-ต่ำ นี่มัน บ้านทรายทอง ฉบับเจอผี!

มี Long Take ฉากหนึ่งที่ถือว่าใช้ได้เลย เปนการเคลื่อนหมุนรอบรูปปั้น จากฝากฝั่งอดีต (พบเห็นคุณหญิงรัญจวน ยืนอยู่กลางสวน) สู่ปัจจุบันช็อตนี้ (นวลจัน กำลังฟังเรื่องเล่าจากสมจิต)

ปกติแล้วคนยังมีชีวิตอยู่ในความเชื่อไทยโบราณ ไม่นิยมสร้างหุ่น/รูปปั้นของตนเอง เพราะถือเปนการสาปแช่งให้ตายไวๆ แต่ในกรณีรูปปั้นคุณหญิงรัญจวนนี้ เธอคงอยากหมดสิ้นลมหายใจไวๆ และวิเคราะห์ได้คือสิ่งสะท้อนสภาพจิตใจในปัจจุบัน หยาบแข็งกระด้าง เยือกเย็นเหมือนหินแกะสลัก ความอบอุ่นสุขสำราญ ได้ร่ำจากลาไปแล้วชั่วนิรันดร์

สิ่งหนึ่งที่นัยยะความหมายได้ แต่ผมรู้สึกว่าผลลัพท์ออกมาไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ คือการพยายามปกปิดซ่อนเร้นใบหน้าของนายชอบในช่วงแรกๆ โดยทำเปน Mac-Guffin แล้วค่อยไปเปิดเผยช่วงกลางๆเรื่องว่าคือใคร

เทคนิคนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความลึกลับ พิศวงให้กับตัวละคร รูปร่างหน้าตา คือใครกันแน่? แต่เพราะผู้ชมจะสามารถคาดเดาได้ทันทีตั้งแต่แรกๆเลยว่า หมอนี่ต้องเปนคนรักของสองหญิงอย่างแน่นอน (เพราะมันก็ไม่มีตัวละครผู้ชายอื่นในหนัง สักคนเดียว!) กลับเกิดอีกคำถามหนึ่งมากกว่า ผู้หญิงคนไหนที่ถือเปนชู้!

ตัดต่อโดยหม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล พระธิดาคนโตของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำกับ เปนเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ

เรื่องราวแทบทั้งหมดของหนังเล่าในมุมมองของ นวลจัน ดำเนินไปข้างหน้าสลับกับหวนระลึกถึงอดีต แต่จะมีช่วงท้ายที่เปนการเฉลยปริศนาทั้งหมด เปลี่ยนมาใช้มุมมองของ คุณหญิงรัญจวน และสมจิต รำพึงพัน ‘หล่อนคงจะกลับมาอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับความจริง’

ว่าไปโครงสร้างเรื่องราวของหนัง ถือว่ามีความสมมาตร แบ่งครึ่งกึ่งกลาง ครึ่งแรกจะสะท้อนตรงกันข้ามกับครึ่งหลัง ทั้งหมดทั้งสิ้น (มองเปนวัฏจักรชีวิต ก็ได้เช่นกัน)
– อารัมบท & ปัจฉิมบท, นวลจัน กำลังออกเดินไปเรื่อยๆ เวียนวนอยู่นั่น ไปไม่ถึงเป้าหมายสักที
– เริ่มต้นมาถึงคฤหาสน์ นวลจัน บอกให้คนลากรถรอคอย, ช่วงท้ายไม่ออกมาสักที เลยเปิดประตูเข้าไปเรียก
– นวลจัน ถูกผลักไสไม่ยินยอมรับจากแม่บ้านใหญ่ สมจิต, หลังจากคลอดลูก ได้รับอนุญาตจากคุณหญิงรัญจวน ให้พักอาศัยอยู่นานๆหน่อย
– ครึ่งแรก นวลจันออกค้นหาสามี คลอดลูกยังคฤหาสถ์หลังนี้, ครึ่งหลัง พบเจอคนรัก สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
– เริ่มจากความพิศวงสงสัย แววตาสอดรู้สอดเห็น, เมื่อความจริงเปิดเผย คลุ้มคลั่งเสียสติแตก พยายามหลบหนี ยินยอมรับความจริงไม่ได้
ฯลฯ

เพลงประกอบ เลือกใช้บริการสตูดิโอ Wild At Heart ในเครดิตขึ้นชื่อ วิโรจน์ ทาอาสา, สุนทร ยอดศรีทอง และ บรรชิต ณ พัทลุง

แม้พื้นหลังเรื่องราวจะมีลักษณะย้อนยุคโบราณ แต่หนังกลับเลือกใช้ดนตรีคลาสสิก เปียโน ไวโอลิน ออเครสต้า ประกอบเข้ากับ Sound Effect แทนความร่วมสมัย เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ ชี้ชักนำอารมณ์ผู้ชม เวลาผีออกก็จงสะดุ้งตกใจกลัว! มีความตรงไปตรงมาโดยแท้

สิ้นรักสิ้นสุข (พ.ศ. ๒๔๘๒) บทเพลงของวงสุนทราภรณ์ ประพันธ์ทำนองโดย หลวงสุขุมนัยประดิษฐ, คำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล, ขับร้องครั้งแรก เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล, ฉบับที่ใช้ในหนังน้ำเสียงของ นรีกระจ่าง คันธมาส … แต่ก็ไพเราะคลาสสิกสู้ต้นฉบับไม่ได้นะครับ

Sound Effect ก็ถือว่าเปน Soundtrack ประกอบหนังได้เหมือนกันนะ จิ้งหรีดเรไร สายลมพัด หรือแม้แต่เสียงเปิด/เคาะประตู เดินขึ้น/ลงบันได เหยียบพื้นไม้ ฯ สัมผัสอันเปนธรรมชาติสมจริงนี้ ล้วนเพื่อแต่งเติมเสริมบรรยากาศ สร้างความหลากหลอน สั่นสะพรึง จับต้องความกลัวได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม

“หล่อนรู้มั้ย ในชีวิตคนเรามีอะไรเจ็บปวดยิ่งกว่าการสูญเสียคนที่เรารัก การสูญสิ้นศรัทธาในความรักยังไงล่ะ”

– คุณนายรัญจวน

ศรัทธา เปนคำที่กว้างมากเลยนะ ในบริบทหนังคือจุลภาคเรื่องความรัก ซื่อสัตย์ จงรักภักดีของชาย-หญิง คู่สามี-ภรรยา เมื่อใดมีบุคคลที่สามแทรกตัวเข้ามา ก็จักสูญเสียความเชื่อมั่น ทุกสิ่งอย่างต่ออีกฝั่งฝ่าย, แต่เราสามารถขยายมุมมอง ‘ศรัทธา’ ให้กว้างมากขึ้นได้อีก เชื่อในเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ เจ้านาย ผู้นำสังคม การเมือง ประเทศชาติ วิทยาศาสตร์ และที่สุดคือศาสนา

ด้วยความตั้งใจของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ค่อนข้างเชื่อได้ว่าสิ่งที่แอบแฝงซ่อนเร้น ต้องการสะท้อนเสียดสีถึงระบอบการเมืองของประเทศไทยอย่างแน่นอน ที่พวกคนรุ่นเก่า ทหาร ตำรวจ ผู้มีอำนาจ พลานุภาพ ต้องการสำแดงพลังทางชนชั้น กดขี่ข่มเหงคนรุ่นใหม่ให้สยบด้วยความกลัว, นี่ถือว่าเปนการสูญสิ้นศรัทธาในระบอบการปกครอง ประชาธิปไทย!

เปรียบคฤหาสน์หลังนี้คือสยาม
– รัญจวน เศรษฐินีหม้าย เจ้าของคฤหาสถ์หลังนี้ ตัวแทนของผู้นำ/บริหารประเทศ พฤติกรรมอิจฉาริษยา มักมากในกาม สะท้อนความ’คอรัปชั่น’ภายในจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เธอปกครองอยู่ขณะนั้น คือภูติผีปีศาจ ไร้อำนาจขัดขืนต่อต้าน และสภาพบ้านแท้จริงแล้วชำรุดทรุดโทรม แต่กลับยังมโนเพ้อพบความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่
– สมจิต แม่บ้านใหญ่/นายกเงา บุคคลผู้ควบคุมดูแลกิจการงานภายในคฤหาสถ์ รองมือรองเท้าให้กับคุณหญิงรัญจวน สนองทุกตัณหา เมื่อพบเห็นการกระทำอันชั่วร้ายเลวทราม เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เลียแข้งเลียขาเจ้านาย ฉันไม่มีวันทรยศกลับกลายเปนอื่น
– นวลจัน ตัวแทนประชาชนตาดำๆ ผู้เต็มไปด้วยความใคร่รู้สงสัย สืบเสาะค้นหาจนพานพบเบื้องลึกข้อเท็จจริง ยินยอมรับไม่ได้กับทุกสิ่งที่บังเกิดขึ้น พยายามขัดขืนย้อนแย้ง แต่สุดท้ายก็มิอาจต้านทาน จึงต้องหลบหนีหวนกลับไปจุดตั้งต้น แล้วเริ่มใหม่ด้วยการหลงลืมทุกสิ่งอย่าง
– ช้อย คนร่อนเร่ ผีไร้บ้าน ให้อะไรก็แดกหมดไม่เลือกเรื่องมาก ว่าไปตัวละครนี้ถือว่าสะท้อนกับยายเอิบ คนเปน-วิญญาณ อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้ได้ เพราะไม่สนอะไรนอกจากความพึงพอใจของตนเอง
– ผีเด็ก ถูกจับขังไว้ในหีบ โตขึ้นยังเปนวิญญาณวิ่งเล่นซ่อนหา ดวงตามืดบอดมองอะไรไม่เห็น สะท้อนอนาคตของชาติอันดับสูญสิ้น

สำหรับคุณชอบ นี่อาจเปนการเล่นของสูงสักหน่อย ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ผมครุ่นคิดได้ คือตัวแทนพระมหากษัตริย์ แรกเริ่มเดิมทีคบหาสนับสนุนพวกคนมียศศักดิ์สูงบริหารปกครองประเทศชาติ ต่อมาหันไปเข้าข้างช่วยเหลือประชาชน เลยถูกพวกนักการเมืองหัวหมอบางตัว พยายามฉุดคร่าล้มล้างทำลายระบอบ … ไปจินตนาการต่อเองแล้วกันนะครับ ว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง

และตอนจบคฤหาสถ์หลังนี้ หลงเหลือสองคนเท่านั้นที่ยังคือมนุษย์ มีชีวิตลมหายใจ นี่เปนการสะท้อนถึง ‘คนบ้าเท่านั้นถึงสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับ ผู้นำคอรัปชั่นได้อย่างสงบสุขสันติ’

ทำไมชื่อหนังคำว่า “เปน” ถึงไม่ใส่ไม้ไต่คู้ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ให้คำตอบว่า

“คำว่า เปน เปนคำไทยโบราณที่มีใช้กันมานานแล้ว ซึ่งถ้าศึกษาจากหนังสือในสมัยก่อน เช่น หนังสือราชกิจจานุเบกษา จะเขียนแบบนี้ การใช้ชื่อเรื่องหนังในสมัยก่อนมักจะเปนวลี เปนคำๆ เปนประโยคบอกเล่า ที่จริงใจ และชัดเจน หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ด้วยกลิ่นของความเปนอดีต และ ด้วยความรู้สึกของหนังผี จึงออกมาเปนชื่อนี้ เปนชู้กับผี… “

แล้วใครกันแน่ที่ เปนชู้กับผี? ผมว่าก็เปนด้วยกันทั้งหมดนะครับ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคุณเอง
– นวลจัน แต่งงานกับคุณชอบทีหลัง ถือว่าเปนชู้ และเมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้วก็เลยกลายเปนผี
– รัญจวน แม้คือสามีคุณชอบ แต่ถูกเขาขอหย่า ไม่ยินยอมพร้อมใจเลยเข่นฆ่าให้ตายกลายเป็นผี แล้วยังจินตนาการให้หวนกลับมาปรนเปรอปรนิบัติ ไม่ต่างอะไรจากชู้รัก
– คุณชอบ คือชายผู้ลักลอบมีชู้นอกใจภรรยาไปมีเมียน้อย ถูกเข่นฆ่าตายกลายตนเองกลายเปนผี ใครตกหลุมร่วมรักกับเขาก็ถือได้ว่า เปนชู้กับผี

อีกนัยยะหนึ่งของชื่อหนัง เปนชู้กับผี สะท้อนพฤติกรรมผู้นำประเทศสารขัณฑ์ ต้องการครอบครอง(เปนชู้)ประเทศที่เต็มไปด้วยวิญญาณผีล่องลอย เพราะสามารถบริหารจัดการทุกสิ่งอย่างได้อย่างสงบรื่นร่มเย็นเปนสุขสบาย มิต้องการปกครองมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อลมหายใจ เพราะคนพวกนี้มักชอบเรียกร้องสิทธิ อะไรไม่พึงพอใจก็รวมพลประท้วงขับไล่ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สูญเสียผลประโยชน์มากมายนับไม่ถ้วน

เมื่อไหร่กันที่ความขัดแย้ง รัฐประหาร เผด็จการ จะหมดสูญสิ้นไปจากโลก? คำตอบคือไม่มีวัน ตราบใดที่มนุษย์ยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ราคะ-โทสะ-โมหะ รัก-โลภ-โกรธ-หลง ความต้องการก็เหมือนความทรงจำไร้จุดสิ้นสุด ตราบจนกว่าจะเรียนรู้จักศีล-สมาธิ-ปัญญา พรหมวิหาร ๔ ความพอเพียง เกิดความเบื่อหน่ายต่อวัฎฎะสังสาร สร้างสะสมบารมี จนสักวันหนึ่งถึงสามารถบรรลุหลุดพ้น ออกจากวงจรวัฏจักรแห่งชีวิต

เปนชู้กับผี กลายเปนภาพยนตร์ทำรายได้ในประเทศไทยดีที่สุดของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (ขณะนั้น) ประมาณ ๒๐ ล้านบาท แต่เห็นว่าก็ยังไม่คืนทุนอยู่ดี กระนั้นค่าลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายฉายต่างประเทศน่าจะมากพอถึงกำไรเลยละ

หนังถือเปนหนึ่งในตัวเต็งกวาดรางวัลมากมายปลายปี แต่เนื่องจากความขัดแย้งปีก่อนระหว่าง บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น กับสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้จัดงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ที่มะหมี่ นภคปภา นาคประสิทธิ์ นักแสดงจากเรื่อง ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ส่งเข้าชิงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่กลับปรากฎชื่อสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสในมตรฐาน การบริหารจัดการ ทำให้ปีถัดมาขอไม่ส่งหนังสองเรื่องเข้าร่วมชิงชัย กลายเปนความโชคร้ายน่าเสียดายของทั้ง เปนชู้กับผี และ Invisible Waves คำพิพากษาของมหาสมุทร

หลายๆคนอาจรู้สึกว่าหนังยังทำได้ไม่สุด บางอย่างก็ดูยัดเยียด มากคลั่ง รุนแรงเกินไป แต่ถ้าคุณสามารถนำเหตุการณ์ต่างๆมาครุ่นคิดวิเคราะห์ต่อยอด เปรียบเทียบกับที่ผมนำเสนอไป ก็น่าจักพบเห็นความกลมกล่อมลงตัว งดงามอย่างไทยแท้ หลอกหลอนสั่นสะท้านถึงทรวง … หนังผีไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก (แต่ก็อาจเฉพาะคนไทย ที่ดูแล้วเข้าใจ)

แนะนำคอหนัง Horror แนวย้อนยุค บรรยากาศหลอนๆ เขย่าขวัญสั่นประสาท, ชื่นชอบผลงานผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และการแสดงของ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๘+ กับความหลอกหลอน เขย่าขวัญ สั่นประสาท

คำโปรย | “เปนชู้กับผี ของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้หนังผีไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก”
คุณภาพ | ณีวิจิ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: