เพชรตัดเพชร

เพชรตัดเพชร

เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙) หนังไทย : วิจิตร คุณาวุฒิ, พร้อมสิน สีบุญเรือง, ประกอบ แก้วประเสริฐ ♥♥♥♡

โปรดักชั่นระดับ Hollywood โกอินเตอร์ไกลถึงฮ่องกง แต่คงคุณภาพแบบไทยๆ มิตร ชัยบัญชา เฉือนคมตัดกับ ลือชัย นฤนาท ทำเอาหนัง James Bond ยังต้องชิดซ้าย แค่เพียงฉายเดือนกว่าๆรายรับเกิน ๓ ล้านบาท ขึ้นแท่นทำเงินสูงสุดตลอดกาลขณะนั้นโดยทันที

เกร็ด: ใบปิดหนังด้านบน วาดโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ (อีกรูป วาดโดย ริ้ม โฟร์อาร์ท)

ในบรรดาภาพยนตร์ไทยคลาสสิกยุคต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ เรื่องที่สมควรค่า ต้องรีบเร่งทำการบูรณะปรับปรุงโดยด่วนสุดๆคือ เพชรตัดเพชร ไม่ใช่แค่การ Telecine แปลงจากฟีล์มเป็นดิจิตอล แต่คือซ่อมแซมส่วนเสียหาย ปรับแต่งโทนแสงสี และรวมรวบประติดประต่อให้มีความสมบูรณ์ที่สุด เพราะหลังจากผมรับชมใน Youtube ค่อยถึงรู้ว่าหนังถูกตัดหายไปหลายนาที พบเห็นริ้วรอยสีตำจากการฉายซ้ำมากมาย ไม่รู้ชาตินี้จะมีโอกาสรับชมฉบับสมบูรณ์งามๆหรือเปล่านะ

ความทรงคุณค่ายิ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ประกอบด้วย ๕-๖ สิ่ง
๑. การเฉือนคมของสองพระเอกรุ่นอมตะ มิตร ชัยบัญชา กับ ลือชัย นฤนาถ พ่วงด้วยนางเอกตลอดกาล เพชรา เชาวราษฎร์ และดาราสาวสุดสวย Regina Pai Ping มาร่วมแสดงนำ
๒. ใช้บริการถึงสามผู้กำกับมากฝีมือ โดยเฉพาะ วิจิตร คุณาวุฒิ ที่เพิ่งคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ๔ ปีติดๆ (ถ้าปีนั้นไม่ได้ยกเลิกการมอบรางวัล ก็มีแนวโน้มสูงมากจะได้จากเรื่องนี้เป็น ๕ ปีติด) จนได้รับฉายา ‘เศรษฐีตุ๊กตาทอง’ เรื่องคุณภาพไม่เป็นสองรองใคร
๓. ความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน พลิกหักมุมหลายตลบจนไม่น่ามีใครคาดเดาเรื่องราวได้ นำแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์ เพชรตัดเพชร ของ เศก ดุสิต (เจ้าของผลงานนิยายดัง อินทรีแดง) ร่วมเขียนกับ ส. เนาวราช (สนิท โกศะรถ) ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย เตมีย์ วิทยะ (ภูมิ สีหราช)
๔. ใช้เทคโนโลยีล่าสุดสมัยนั้น ฟีล์ม 35mm สี Eastmancolor (ต้องส่งฟีล์มไปล้างยังฮ่องกง) พากย์เสียงภายหลัง (สมัยนั้นหนังไทยยังนิยมนักพากย์หน้าโรงอยู่)
๕. ร่วมทุนสร้าง/เดินทางไปถ่ายทำยังฮ่องกง จัดเต็มเสื้อผ้าหน้าผม ออกแบบฉาก ระเบิดรถระเบิดเรือ รถกลายเป็นเรือ ฯ เรียกว่าเกาะกระแสความนิยมของหนังสายลับ James Bond ในทศวรรษนั้น
๖. สุดท้ายคือความสำเร็จของหนัง ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในเมืองไทยยุคสมัยนั้น แซงหน้า เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘) จนทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ต้องจัดงานมอบรางวัลพระราชทาน ‘ดาราทอง’ ขวัญใจมหาชน ให้กับ มิตร ชัยบัญชา

ภาพ มิตร ชัยบัญชา เข้ารับพระราชทาน รางวัล ‘ดาราทอง’ ขวัญใจมหาชน จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

วิจิตร คุณาวุฒิ หรือ คุณาวุฒิ ชื่อเดิม ซุ่นจือ เค้งหุน (พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๕๔๐) ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) เกิดที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย เรียนจบมาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ‘ชีวิตไทยรายสัปดาห์’ ร่วมสมัยกับ ส. อาสนจินดา, อิศรา อมันตกุล และประมูล อุณหธูป เคยมีผลงานเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียง อาทิ น้ำตาจำอวด, โสเภณีร้องไห้ ฯ เริ่มมีความสนใจวงการภาพยนตร์ตามคำชักชวนของ ปรีทีป โกมลภิส ร่วมเล่นบทผู้ร้ายในภาพยนตร์เรื่อง ฟ้ากำหนด (พ.ศ. ๒๔๙๓) จากนั้นครูมารุต ชักชวนให้มาร่วมเขียนบทภาพยนตร์ สันติ วีณา (พ.ศ. ๒๔๙๗) หลังจากนี้ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพนักข่าว เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว โดยมีผลงานกำกับ/เขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก ผาลีซอ (พ.ศ.๒๔๙๗), เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังประสบความสำเร็จจากผลงานถัดมา มรสุมสวาท (พ.ศ. ๒๔๙๙) บทประพันธ์ของอิศรา อมันตกุล นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล

ผลงานเด่นๆ อาทิ มือโจร (พ.ศ. ๒๕๐๔), โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), เสน่ห์บางกอก (พ.ศ. ๒๕๐๙), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), แม่ศรีไพร (พ.ศ. ๒๕๑๔), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๑๖), เมียหลวง (พ.ศ. ๒๕๒๑), คนภูเขา (พ.ศ. ๒๕๒๒), ลูกอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ฯ

พร้อมสิน สีบุญเรือง หรือ พันคำ (พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๕๓๕) นักแสดง นักพากย์ แมวมอง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ ชาวไทย ได้รับการยกย่องว่า ‘สุภาพบุรุษศิลปิน’ เกิดที่กรุงเทพฯ ลูกชายของนายสิน สีบุญเรือง (ทิดเขียว) ผู้ให้กำเนิดการพากย์หนังคนแรกในประเทศไทย หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ สานต่องานของพ่อด้วยการเป็นนักพากย์ ถือว่าประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุคคนหนึ่ง ก่อนผันตัวมาเป็นนักแสดง และสร้างภาพยนตร์ ก่อตั้ง สีบุญเรืองฟิล์ม ผลงานเด่น อาทิ เกล็ดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๐๑), วนาลี (พ.ศ. ๒๕๐๒), พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ (พ.ศ. ๒๕๑๕), สวัสดีคุณครู (พ.ศ. ๒๕๒๐) ฯ

เกร็ด: ในยุคหลังๆ พันคำ คือแมวมองผู้ปลุกปั้นนักแสดงมากมายเข้าสู่วงการ อาทิ จารุณี สุขสวัสดิ์, เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์, ภัทรา ทิวานนท์, จินตหรา สุขพัฒน์ ฯ ล้วนเคยอยู่ในสังกัด สีบุญเรืองฟิล์ม มาก่อนทั้งสิ้น

สำหรับ ประกอบ แก้วประเสริฐ แทบไม่มีรายละเอียดอยู่มากนัก ค้นเจอผลงานกำกับ อาทิ สิงห์สันติภาพ (พ.ศ. ๒๕๐๙), หัวใจมีตีน (พ.ศ. ๒๕๑๕), สายชล (พ.ศ. ๒๕๑๖), ตัดต่อ โทน (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดให้ไม่ได้ ทำไมถึงต้องใช้ผู้กำกับถึงสามคน คาดเดาว่าอาจเพราะรายละเอียดปลีกย่อยของหนังที่มีเยอะพอสมควร อาจแบ่งเป็นกองสองสาม เพื่อช่วยกันแบ่งเบาภาระ ลดเวลาการทำงานลงได้บ้าง

เรื่องราวของ ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย (มิตร ชัยบัญชา) นายตำรวจหนุ่มฝีมือดี ได้รับมอบหมายให้เข้าไปแทรกซึมองค์กรอาชญากรรมของมิสเตอร์หลุยส์ ผู้ไม่เคยมีใครเคยเห็นหน้าคาดตา ภารกิจในครั้งนี้ ศักดิ์ชายจะต้องปลอมตัวแทนที่ ชาติ อาชญากรตัวสำคัญที่เพิ่งถูกลอบสังหารโดย ยอด (ลือชัย นฤนาท) สมุนมือขวาของพ่อค้ายาเสพติด มิสเตอร์ตัน (เกชา เปลี่ยนวิถี) ด้วยความบังเอิญมีใบหน้าตาละม้ายคล้ายกันเปี๊ยบ จึงสามารถปลอมตัวเข้าไปได้อย่างแนบเนียน และสืบทราบจะมีการส่งรหัสลับในงานประมูลภาพวาดชื่อ ‘เพชรตัดเพชร’ ซึ่งเศรษฐีนีชื่อดัง คุณนายใจสมร (วิไลวรรณ วัฒนพานิช) ประมูลชนะได้ไป แต่รหัสลับดังกล่าวถูกบุหลัน จิตรกรสาวเจ้าของผลงาน เก็บไว้ในล็อคเกตเพื่อป้องกันการถูกขโมย

แท้จริงแล้ว ยอด เป็นสายให้ตำรวจสากล ตอนแรกลอบสังหาร ชาติ เพื่อนำเฮโรอีนไปติดต่อ นัดพบตัว และจับกุมมิสเตอร์เชง (เฉลิมพร พุ่มพันธ์วงศ์) เจ้าพ่อค้ายารายใหญ่แห่งเกาะฮ่องกง นั่นทำให้เขาต้องหักหลังมิสเตอร์ตัน ซึ่งวิธีการเดียวให้ความมั่นใจกลับคืนมา คือชิงตัดหน้าขโมยรหัสลับจากบุหลัน จากนั้นไปต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งมือขวากับ ชาติ (ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย) ยังไม่ทันจะรู้แพ้รู้ชนะ ความจริงของทั้งคู่ได้รับการเปิดเผยเสียก่อน กลายเป็นว่าจากเพชรตัดเพชร กลายมาเป็นสองยอดฝีมือร่วมงานกันต่อสู้กับองค์อาชญากรรม เหล่าวายร้ายข้ามชาติ ซึ่งก็ได้รับการเปิดโปงว่า แท้จริงแล้วมาดามหลุยส์ก็คือ … (ทุกเว็บที่เขียนเรื่องย่อหนัง มักจะสปอยจุดนี้ แต่ผมขอไม่บอกแล้วกัน เสียอรรถรสการหักมุมหมด)

มิตร ชัยบัญชา ชื่อจริง พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๑๓) พระเอกอันดับ ๑ ตลอดการของเมืองไทย เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ชื่นชอบเล่นกีฬาและชกมวย ช่วงระหว่างรับราชการทหารอากาศ จ่าโทสมจ้อยเห็นรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาเอาการ ท่าทางบุคคลิกดีอ่อนโยน เลยส่งรูปแนะนำตัวให้กับ กิ่ง แก้วประเสริฐ จนได้กลายเป็นพระเอกหนังเรื่องแรก ชาติเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๑) ปกติแล้วจะประกบกับเพชรา เชาวราษฏร์ จนกลายเป็นคู่ขวัญอันดับ ๑ ของเมืองไทย ผลงานเด่นๆ อาทิ จ้าวนักเลง (พ.ศ. ๒๕๐๒), บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๔), เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ

รับบท ร.ต.ท.ศักดิ์ชาย ปลอมตัวเป็น ชาติ เข้าร่วมตีสนิทกับ มิสเตอร์ตัน หวังที่จะค้นหาเบาะแสตัวตนของมาดามหลุยส์ เอาตัวรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดหลายครั้ง แถมยังต้องทำงานสกปรกให้มากมาย แต่ด้วยคุณธรรมความดีงามประจำใจ มีหรือจักสามารถเข่นฆ่าใครตายหรือทำร้ายผู้บริสุทธิ์ได้

ไม่ว่าจะบทบาทไหนต่อไหน มิตรก็ยังคงเป็นมิตร หนุ่มหล่อ มาดเท่ห์ บริสุทธิ์ดีงามทั้งกายใจ แม้ต้องปลอมเป็นสายตำรวจ ทำงานให้อาชญากรชั่วร้าย แต่ผู้ชมจะล่วงรู้ถึงตัวตนความมีคุณธรรมสูงส่ง มักจะคอยลุ้นระทึกให้กำลังใจ เวลาพบเจอสถานการณ์คับขัน ทำอย่างไรถึงจักเอาตัวรอดปลอดภัย ธรรมะชนะอธรรม

ลือชัย นฤนาท ชื่อจริง พิชัย จิตรีขันธ์ (พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๖๐) ชื่อเล่น เล็ก นักแสดงชาวไทย เกิดที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โตขึ้นทำงานเป็นนายสิบตำรวจประจำอยู่กองปราบปรามพิเศษ จับรถขนสินค้าหนีภาษีจากอรัญประเทศได้ ๔ คัน เจ้าของรถคือ สุพรรณ พราหมณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสร้างแห่งบริษัทสหนาวีไทย แม้ลูกน้องถูกจับแต่เจ้านายสนใจหนุ่มคนนี้ที่มีความหล่อเหลาบึกบึนมาดคมเข้ม เหมาะสำหรับเป็นพระเอกหนัง ถึงขนาดส่ง ชาลี อินทรวิจิตร ไปเจรจาว่าความสนใจแสดงภาพยนตร์หรือไม่ กลายมาเป็น เล็บครุฑ (พ.ศ. ๒๕๐๐) โด่งดังค้างฟ้าขวัญใจของประชาชนโดยทันที ด้วยบุคลิกทำคอเอียง คาบบุหรี่มุมปาก ท่าทางยียวน จนเป็นแบบอย่างให้ผู้ชายในยุคนั้นนิยมลอกเลียนแบบตาม และสามารถคว้ารางวัล นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๐,

แต่ดาวรุ่งพุ่งแรงก็ถูกฉุดคร่าให้ตกดิน เพียงปีกว่าๆถัดมา ลือชัย กลายเป็นจำเลยข้อหาพยายามฆ่า ก่อวิวาทยิงคนตาย ศาลทหารกรุงเทพฯ ในยุครัฐบาลเผด็จการ สฤษติ์ ธนะรัชต์ มีคำพิพากษาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ให้จำคุก ๑๕ ปี ก่อนลดโทษมาเป็น ๖ และ ๒ ปีตามลำดับ สุดท้ายได้รับการอภัยโทษออกมาก่อนกำหนด ๑ ปี ๘ เดือน แต่แทนที่ชีวิตในวงการจะจบสิ้น กลับโด่งดังมีชื่อเสียงยิ่งกว่าเก่า

“ผมพบเด็กคนหนึ่ง ท่าทางมันไม่เลว ผมว่าไม่แพ้ประจวบ ฤกษ์ยามดีเลย เขาจะออกตามผมไปอีกไม่กี่วันนี้ ผมจะเอาไปเล่นหนังด้วย”

เด็กคนนั้นที่ ลือชัย สนิทสนมด้วยในคุกคือ ชุมพร เทพพิทักษ์ ออกมามีผลงานร่วมกันเรื่องแรก คมแสนคม (พ.ศ. ๒๕๐๗)

ผลงานเด่นๆถัดมา อาทิ เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), ขุนดาล (พ.ศ. ๒๕๑๒), จอมดาบพิชัยยุทธ (พ.ศ. ๒๕๑๔) ฯ เมื่อเริ่มอิ่มตัวผันสู่เบื้องหลังอำนวยการสร้าง ก่อตั้งบริษัท นฤชาภาพยนตร์ แต่ปรากฎว่าทุกเรื่องขาดทุนย่อยยับเยิน เลยตัดสินใจร่ำลาจากวงการ หันไปตั้งบริษัทรับเหมาสร้างทางและหมู่บ้าน ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่

รับบท ยอด อดีตลูกสมุนมือขวาของมิสเตอร์ตัน เต็มเปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานใฝ่สูง ตั้งใจนำเฮโรอีนไปขาย แต่ก็ถูกตำรวจฮ่องกงควบคุมตัวไว้ ได้รับการช่วยเหลือจากนักร้องสาวไป่หลู กลายเป็นสายให้ตำรวจสากล จับกุมตัว มิสเตอร์เชง ได้สำเร็จ จากนั้นถูกส่งตัวกลับเมืองไทย จำต้องเอาตัวรอดต่างๆนานา และหาวิธีหวนกลับไปเป็นลูกสมุนมือขวาของมิสเตอร์ดันเพื่อล้วงความลับ เกือบจะทำได้สำเร็จแต่กลับความแตกเสียก่อน จำเลยร่วมด้วยช่วยกับ ร.ต.ท.ศักดิ์ชาย ไล่ล่าต่อสู้ดวลปืนศัตรู จนสามารถมีชัยเหนือฝ่ายอธรรม

ปกติจะเป็น มิตร ชัยบัญชา ที่มีบทโรแมนติกกับสาวๆ แต่เรื่องนี้ต้องหลีกทางให้พระรอง ลือชัย นฤนาท คาบสาวงามไปแทบทุกนาง หล่อ ปากหวาน เจ้าชู้ แม้สุดท้ายตัวละครจะถูกจับและคงต้องชดใช้โทษความผิดที่เคยก่อ แต่ก็บรรดาคนรักต่างก็ยืนกรานจะเฝ้ารอ ถึงตัวห่างแต่ใจยังชิดใกล้ไม่แปรเปลี่ยน

เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะหลงคิดว่า มิตร หรือ ลือชัย คนหนึ่งพระเอก-อีกคนตัวร้าย ต้องต่อสู้ห่ำหั่น เพชรตัดเพชร ให้ตายไปข้างหรืออะไรสักอย่าง ซึ่งการที่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ทั้งสองจับมือแปรสภาพกลายเป็นมิตรภาพ ผมถือว่าคือการ ‘หักมุม’ แบบคาดคิดไม่ถึง ลึกๆก็รู้สึกเหมือนถูกทรยศ แต่ก็ต้องยินยอมรับว่า มิตร และ ลือชัย คือพระเอกที่คนสมัยนั้นยินยอมรับไม่ได้แน่ถ้าใครคนหนึ่งต้องเป็นตัวร้ายจริงๆ … คงเพราะประเทศไทยขณะนั้นยังไม่ถึงยุคสมัยพระเอกแนว Anti-Hero กระมังนะ

สำหรับตัวร้าย เกชา เปลี่ยนวิถี (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๙) จากนักเลงเจ้าพ่อคุมหัวลำโพง (ใหญ่กว่าพวก แดง ไบเล่ย์ เสียอีกนะ) หลังจากวางมือผันตัวสู่วงการบันเทิง รับบทพระเอกมีชื่อเสียงครั้งแรก ไพรกว้าง (พ.ศ. ๒๔๙๙) แต่ยังไม่ทันดังถูกจับข้อหาเป็นภัยต่อสังคม ในช่วงปลายรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกตัดสินจำคุกนาน ๖ ปี เมื่อได้รับการปล่อยตัวไปทำงานยังโรงโม่หิน ที่จังหวัดราชบุรี ได้รับการชักชวนจาก ปริญญา ทัศนียกุล ให้หวนกลับมารับบทตัวร้ายใน เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙) หวนกลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง มีงานแสดงคิวยาวมากมาย (ส่วนใหญ่ก็ตัวร้าย) ผลงานเด่นๆ อาทิ เล็บครุฑ ตอน ประกาศิตจางซูเหลียง (พ.ศ. ๒๕๑๑), คมแฝก (พ.ศ. ๒๕๑๓), ชุมแพ (พ.ศ. ๒๕๑๙), มหาหิน (พ.ศ. ๒๕๒๑), ๑+๑ ฉิ่งแหลก (พ.ศ. ๒๕๓๐), ห้าแพร่ง ตอน ห้องเตียงรวม (พ.ศ. ๒๕๕๒) ฯ

มิสเตอร์ตัน เจ้าพ่อค้าเฮโรอีน มีลูกน้องอยู่ทั่วถิ่นภูมิภาคประเทศไทย เป็นคนหัวเด็ดตีนขาด ใครเห็นต่างประหลาดกว่าตนจักถูกเก็บโดยทันที ไม่เว้นบุรุษหรือสุภาพสตรี คงมีความเฉลียวฉลาดอยู่ไม่น้อยถึงสามารถอ่านเกมของ ยอด และ ชาติ แถมปลอมเป็นตำรวจเพื่อเผด็จศึกเอาตัวรอด แต่สุดท้ายพลาดพลั้งเพราะเป็นผู้ร้าย ไม่ยอมให้จับง่ายๆจนกว่า…

ภาพลักษณ์ไว้หนวดของ เกชา เปลี่ยนวิถี มาดเจ้าพ่อตัวจริง บุคลิกเป็นสง่า ท่วงท่าน่าเกรงขาม ไม่ได้ต้องใช้ฝีมือการแสดงอะไรมาก เป็นตัวของตนเอง ผู้ชมก็เชื่ออย่างสนิทใจแล้ว

เพชรา เชาวราษฎร์ ชื่อจริง เอก ชาวราษฎร์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๖) ชื่อเล่น อี๊ด นางเอกภาพยนตร์ไทยเจ้าของฉายา ‘นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง’ เกิดที่จังหวัดระยอง เมื่ออายุ ๑๕ เข้ามาเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ช่วงงานที่ร้านเสริมสวยของน้องสาวพี่เขย ได้รับการชักชวนเข้าร่วมประกวดเทพธิดาเมษาฮาวาย พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ทำให้ได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และดอกดิน กัญญามาลย์ ให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๕) ประกบ มิตร ชัยบัญชา ตามด้วย ดอกแก้ว (พ.ศ. ๒๕๐๕) กลายเป็นคู่ขวัญพระ-นาง มีชื่อเสียงโด่งดังค้างฟ้า อมตะเหนือกาลเวลา ผลงานเด่นๆ อาทิ นกน้อย (พ.ศ. ๒๕๐๘), เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), สวรรค์เบี่ยง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ

รับบท รัศมี แฟนสาวคนรักของ ยอด คาดหวังให้เขากลับตัวเป็นคนดี พูดจาเกลี้ยกล่อมจนยอมความ สุดท้ายตัดสินใจย้ายไปอยู่ฮ่องกงร่วมกับเพื่อนสนิท ไป่หลู่ เฝ้ารอคอยวันจักได้ครองคู่ร่วมกันกับชายผู้ใฝ่ฝัน

นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการหักมุมของหนังได้เหมือนกันนะ เพราะใครๆย่อมคิดว่า มิตรต้องคู่กับเพชรา (มีฉากเดียวเองมั้งตอนท้ายที่ทั้งสองร่วมซีน แถมไร้บทพูดคุยสนทนากันด้วย) แต่ผู้กำกับดันตลบหลังให้ เพชราคู่กับลือชัย อ้อยอิ่งคำหวาน หลงคารมยอมเปลี่ยนแปลงตนเองตาม แอ๊คชั่นนิดน้อยหน่อยพอเป็นพิธี ก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านี้

Regina Pai Ping นักแสดงสาวชาวฮ่องกง ก็ไม่รู้โด่งดังขนาดไหนในประเทศจีน แต่หนุ่มๆไทยสมัยนั้นคงเพ้อคลั่งไคล้เป็นทิวแถว จุดเด่นของเธอคือเรียวคิ้วแหลมเหมือนชฏา จดจำได้ตั้งแต่ฉากแรกๆอย่างแน่นอน

ไป่หลู่ คือนักร้องสาวชาวฮ่องกง แท้จริงคือสายของตำรวจสากล พบเจอตกหลุมรัก ยอด ให้ความช่วยเหลือเอาตัวรอด ติดตามมาถึงประเทศไทย เพราะความสนิทสนมกับ รัศมี แฟนตัวจริงของยอด ภายหลังจึงยินยอมหลีกทางให้ (แล้วมาสนใจ ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย แทนกระมัง)

เหมือนว่าเธอจะเป็นนักแสดงสายบู๊มาก่อนด้วยกระมัง เลยมีบทบาทค่อนข้างมาก เพราะต้องร่วมต่อสู้แอ๊คชั่น ขับรถ ตวลปืน สมบุกสมบัน ลุยๆกว่านักแสดงสาวไทย (ไม่ได้จะประชด เพชรา)

ถ่ายภาพโดย โชน บุนนาค บุตรของพระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค) นักจัดแสงยอดฝีมือที่มีผลงานเป็นตากล้องประปราย อาทิ ละครเร่ (พ.ศ. ๒๕๑๒), ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๕), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ฯ

หนังไทยยุคสมัยนั้น ยังนิยมถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm และใช้นักพากย์หน้าโรงให้เสียง+Sound Effect+เพลงประกอบ แต่ความที่เรื่องนี้เป็นการร่วมทุน เลยมีงบประมาณมากพอถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm ขนาด CinemaScope 2.39:1 (ในเครดิตใช้คำล้อว่า ไทยสะโค๊ป) ภาพสี Eastmancolor แลปล้างยังฮ่องกง แล้วกับมาบันทึกเสียงพากย์ในไทย ฉายที่ไหนก็รักษามาตรฐานเดียวเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งแรกที่ต้องชมเลยคือการออกแบบฉาก พื้นหลังที่เต็มไปด้วยลวดลายและสีสัน ศิลปะแนว Surrealist แต่น่าเสียดายคุณภาพเสื่อมจางลงไปอย่างมาก กระนั้นก็ยังพอมองเห็นความงดงาม ถือว่าโมเดิร์นมากในยุคสมัยนั้น

สำหรับจุดเด่นของการถ่ายภาพคือทิศทางมุมกล้อง ใช้ประโยชน์จาก CinemaScope ได้อย่างคุ้มค่า หลายครั้งแทนด้วยสายตาตัวละคร กำลังจะเกิดอะไรขึ้นก็จับจ้องที่สิ่งนั้น แต่ไม่ค่อย Close-Up ใบหน้าตัวละครเท่าไหร่ ก็แน่ละหนังมิได้ขายการแสดง มุ่งเน้นโปรดักชั่นงานสร้าง ความอลังการ ไม่ย่อย่อนกว่าหนัง Hollywood แม้แต่น้อย

ฉากแรกๆของหนัง มุมกล้องนี้เลือกตำแหน่งที่ใช้ประโยชน์ของ CinemaScope ได้อย่างยอดเยี่ยม คือสุดขอบซ้าย-ขวา รถสองคัน คนสองกลุ่มกำลังแลกเปลี่ยน เงิน-เฮโรอีน ที่สะพานข้าม (เลือกสถานที่ได้คลาสสิกมาก)

ช่วงของการไล่ล่าต้องชมเลยว่ามันส์ เร้าใจมากๆ โดยเฉพาะการค่อยๆเร่งจังหวะอารมณ์ แรกๆจากตั้งกล้องเลือกมุมที่สามารถเห็นรถขับเคลื่อนติดตามได้อย่างคลอบคลุม ช็อตนี้โค้งตัวยู วางตำแหน่งกล้องกึ่งกลาง ไม่จำเป็นต้องขยับเขยื้อนไปไหนก็สร้างความเร้าใจได้

หลังจากช็อตนี้ก็จะเป็นมุมมองรถ/บุคคลที่หนึ่ง เพราะต้องขับอย่างฉวัดเฉวียนโฉบเฉี่ยวเพื่อหลบการไล่ล่าติดตาม จากนั้นอยู่ดีๆ Close-Up ไปที่ล้อรถ ก็แน่ละคันหลังมันต้องกำลังเล็งปืน ยางแตกก็ส่ายไปส่ายมา จบด้วยคันหนึ่งตกลงข้างถนนลงมา เกิดระเบิดไฟลุกมอดไหม้ และปรากฎเครดิตขึ้นชื่อหนัง

ความโมเดิร์นของหนัง เกิดจากการออกแบบฉากให้มีลักษณะเป็นกรอบ เหลี่ยม อย่างพื้นหลังบาร์ช็อตนี้ ทำชั้นวางให้มีหลากสี หลายขนาด ทั้งจตุรัส ผืนผ้า ทำให้ผมนึกถึงงานศิลปะ Minimal Abstraction ของ Piet Mondrian ขึ้นมาทันที

ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย ปลอมตัวเป็น ชาติ เสแสร้งทำเป็นติดเล่นการพนัน ช็อตนี้ถ่ายมุมก้มถ่ายจากด้านบนแนวดิ่ง ราวกับสวรรค์มองลงมาบนโต๊ะไพ่ เล่นยังไงคงไม่มีวันชนะ เพราะนี่มิใช่เกมของคนดี

ห้องประชุมของ มิสเตอร์ตัน ให้สัมผัสคล้ายๆหนัง James Bond ภาคสาม เรื่อง Goldfinger (1964) ไม่น้อยทีเดียว ขณะที่พื้นหลังมีลักษณะสี่เหลี่ยมแหลมๆ ว่าไปดูเหมือน เพชร สีทองอร่าม

ยอด กับ รัศมี บังเอิญพบเจอในผับบาร์แห่งหนึ่ง ที่ซึ่งไป่หลู่กำลังร้องเพลงไทย พื้นหลังฉากนี้ก็งามแบบโมเดิร์นอีกแล้ว สี่เหลี่ยมด้านขนาน, คางหมู บิดเบี้ยวพิศดารกว่าตอนแรกๆที่พบเจอ

รูปภาพวาด เพชรตัดเพชร มองกันออกหรือเปล่าเอ่ยว่ามีลักษณะเช่นไร ดูเหมือน Abstract/Surrealist รับอิทธิพลจาก Cubism มาพอสมควร

เมื่อพูดถึงเพชร คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแหวน(เพชร) ถ้าสังเกตให้ดีๆจะพบเห็นวงกลมใหญ่ๆสามวงเรียงซ้อนต่อกัน ซึ่งจะมีความระยิบระยับเหลี่ยมมุม ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนถึงประกายเจิดจรัสจร้าของเพชรเม็ดงาม, ความหมายของภาพนี้ แหวนสามวงเสมือนคนสามคน ว่าไปคล้ายๆแผนภาพเวนน์-ออยเลอร์ (วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องเซต) อธิบายความสัมพันธ์ของสามสิ่ง มีทั้งส่วนซ้อนทับ(ผลประโยชน์)และสัมผัสต้อง(ต่อเนื่อง)

ขอข้ามมาช็อตจับมือนี้ก่อนแล้วกัน เพราะมันสะท้อนกับภาพวาด ‘เพชรตัดเพชร’ ข้างบน สามสิ่งความสัมพันธ์ที่เป็นนัยยะความหมายของภาพ นั่นสื่อถึง ยอด-ไป่หลู่-ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย
– ความสัมพันธ์ระหว่าง ยอด-ไป่หลู่ ซ้อนทับกันเพราะเคยพบเจอ ได้รับความช่วยเหลือ และแปรพักตร์มาเป็นสายให้กับตำรวจ
– ไป่หลู่-ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย ต่างเป็นตำรวจด้วยกันทั้งคู่ ก็ถือว่าอาชีพการงานซ้อนทับกัน
– ขณะที่ ยอด-ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย ต่างเป็นวงกลมบน-ล่าง ที่แค่เพียงสัมผัสต้อง เริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง ก่อนพึ่งมีโอกาสรู้จักร่วมมือกันก็วินาทีนี้

ตอนที่รัศมี พูดจาเกลี้ยกล่อม ยอด ให้กลับตัวเป็นคนดี สังเกตว่าจะมีช็อตนี้ ไม่ใช่ริ้วรอยความเสื่อมสภาพของฟีล์ม แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ลักษณะประหลาด มองลอดผ่านมีลักษณะเหมือนกรงขัง ขาว-ดำ รอยต่อระหว่าง ดี-ชั่ว การกระทำ ถูก-ผิด นี่คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ตัดสินใจ อยู่ระหว่าง (แต่ก็ราวกับติดอยู่ในกรงขัง เพราะเคยทำเลวไว้มาก)

มีสองสามครั้ง(มั้งนะ) ที่ใช้ไดเรคชั่นของหนังนัวร์ เงาใครไม่รู้ข้างนอก ค่อยๆคืบคลานเข้ามาหา สร้างความหวาดสะพรึงกลัวให้บังเกิดขึ้น, แต่ผมเลือกนำช็อตนี้ที่ถ่ายเห็นหน้าต่าง พบเห็นเงาของต้นไม้กำลังไหวปลิวตามลมฝน ที่ต้องทำออกมาลักษณะเช่นนี้ เพราะการสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ จะหาความสมจริงจากภายนอกได้เช่นไร จึงปรุงแต่งให้ออกมาเหมือนงานศิลปะภาพเงา Silhouette อาร์ทไม่ใช่เล่นทีเดียว

ตัดต่อโดย ปง อัศวินิกุล ผู้บุกเบิกการบันทึกเสียงลงฟีล์มสำหรับภาพยนตร์ไทย เริ่มงานตั้งแต่เป็นผู้ช่วยตากล้อง รัตน์ เปสตันยี เรื่อง ตุ๊กตาจ๋า (พ.ศ. ๒๔๙๔), อยู่ฝ่ายบันทึกเสียงครั้งแรก สันติ-วีณา (พ.ศ. ๒๔๙๗), ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ. ๒๕๐๐), โรงแรมนรก (พ.ศ. ๒๕๐๒) ฯ หนังไทย 35mm แทบทุกเรื่องในช่วงทศวรรษนั้น และต่อมาเป็นผู้ก่อตั้ง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา พ.ศ. ๒๕๒๐

หนังไม่ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองใครเป็นพิเศษ มักสลับไปมาระหว่าง ร.ต.ท.ศักดิ์ชัย กับ ยอด และหลายครั้งของตัวร้าย มิสเตอร์ตัน เพื่ออธิบายแผนการชั่วทั้งหมดที่พร้อมก่อ

ลีลาเด่นของการตัดต่ออยู่ที่ฉากต่อสู้ หมัดมวย ดวลปืน ขับรถ/เรือไล่ล่า มันอาจจะดูเชื่องช้าอืดอาดเมื่อเทียบกับหนังยุคสมัยปัจจุบัน แต่ถือว่าสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก และมีความต่อเนื่องที่ค่อยๆทวีความเร้าใจไปจนถึงจุดสูงสุด

ดนตรีประกอบโดย วิค ลูน่า ร่วมด้วย …อ่านไม่ออก… บรรเลงโดย Philippine All Stars Jazz Bangkok ด้วยดนตรีสไตล์ Jazz โดดเด่นด้วยแซกโซโฟน กีตาร์ และลีลารัวกลอง สร้างสีสันบรรยากาศ ตื่นเต้น ลุ้นระทึก ครึกครื้นเครงให้กับหนัง แม้ไม่ค่อยสอดคล้องกับแนว Surrealist ของงานภาพสักเท่าไหร่ แต่หลายครั้งเมื่อมีการตัดต่อสลับไปมา บทเพลงประเดี๋ยวดังเดี๋ยวหยุดเดี๋ยวเปลี่ยนแนว

โดยเฉพาะฉากที่ฮ่องกง ว้าวุ่นวายอลวลเป็นอย่างมาก แรกเริ่มมาด้วยเสียงเคาะระฆัง ขลุ่ยเป่า กลิ่นอายอาหมวยจีน แล้วอยู่ดีๆแซกโซโฟนดังขึ้นกลายเป็น Jazz ขณะพายเรือ หลายเฮือกถัดมา Regina Pai Pin ขับร้องเพลงจากนั้นบทเพลง … สลับไปมาอยู่นั่น มิได้เน้นความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับอารมณ์ช่วงขณะของเรื่องราว

บทเพลงเพชรตัดเพชร แต่ง/ขับร้องโดย คณะสุเทพโชว์ (สุเทพ วงศ์กำแหง, ทนงศักด์ ภักดีเทวา, ธานินทร์ อินทรเทพ, อดุลย์ กรีน ฯ) ร่วมกับวงซิลเวอร์แซนด์ แนวเพลง Rock & Roll รับอิทธิพลจากวง The Ventures ไม่มากก็น้อย, ช่างมีความสุดมันส์เร้าใจ โดยเฉพาะขณะคุณอดุลย์สะบัดหน้า ซึ่งมีการตัดต่อสลับกับบั้นท้ายสาวน้อยคนหนึ่ง ดิ้นพร่านสั่นสะท้านไปถึงทรวง

กลับมาเมืองไทย  Regina Pai Pin ลิปซิงค์ เพลงดวงใจ คำร้อง/ทำนองโดย สง่า อารัมภีร, ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ ร่วมกับวงฟรังโก้ ทรอมเบตต้า ไพเราะเพราะพริ้ง สมเป็นเพลงอมตะอย่างแท้จริง

ภาพยนตร์แนวสายลับในช่วงทศวรรษ 60s (เมืองไทยตรงกับต้น พ.ศ. ๒๕๐๐) มักสะท้อนถึงยุคสมัยสงครามเย็น (Cold Wars) เพราะอเมริกาเกิดความหวาดระแวงสหภาพโซเวียต Vice Versa กลัวว่ากำลังแอบซุ่มพัฒนาเทคโนโลยี อาวุธทำลายล้างที่เลวร้ายยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์ ใช้วิธีการสาดโคลนเทสี ข่มขวัญ บั่นทอนความเชื่อมั่นของศัตรูต่อนานาชาติ ขณะที่ประชาชนบริโภคข่าวสารด้วยความปั่นป่วนท้องไส้ อนาคตจะเป็นเช่นไร? สงครามมีแนวโน้มหวนกลับคืนมาไหม? วันๆหาได้มีความสุขสงบกายใจ ว้าวุ่นวาย อึดอัดอั้น จุกแน่น หายใจไม่ออกอย่างที่สุด

ประเทศไทยเราก็ได้รับอิทธิพล ผลกระทบจากยุคสมัยนี้ไม่มากก็น้อย แต่ถ้ามองช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ จะพบว่ามีประเด็นใหญ่กว่านั้นคือ นั่นคือการทำรัฐประหารซ้อน
– พ.ศ. ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
– พ.ศ. ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

รัฐบาลเผด็จการทหารยุคสมัยนั้น ถือว่าเลวร้ายรุนแรงกว่าปัจจุบันนี้หลายเท่านัก ขนาดว่าสองนักแสดงนำ ลือชัย นฤนาท และ เกชา เปลี่ยนวิถี คือสองผู้เคยถูกจับควบคุมตัว ขังคุก ยัดเยียดข้อหาเป็นดาราแล้วประพฤติตัวเสื่อมเสีย (ทั้งๆที่อาจไม่ใช่คนผิด/เลิกร้างราจากวงการออกมาแล้ว)

การที่ผู้กำกับนำสองนักแสดงที่เคยติดคุกมามีบทบาทสำคัญในหนังเรื่องนี้ สะท้อนถึงความตั้งใจที่มากกว่าแค่ความเหมือนตัวละครอย่างแน่นอน เพราะประเทศชาติขณะนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะกล้ำกลืนฝืนทน ใครดีใครชั่วไม่สามารถบ่งบอกได้ด้วยภาพลักษณ์ฐานะทางสังคม (แบบเดียวกับภาพ Surrealist มองด้วยตาไม่รู้เรื่อง ต้องครุ่นคิดตีความจนปวดสมองถึงพอเข้าใจได้) ก็อย่างมิสเตอร์ตัน หรือ คุณหญิงใจสมร ต่างมีความน่ายกย่องเชื่อถือสูงส่งต่อคนในสังคม แต่เบื้องหลังกลับ…

ดี-ชั่ว ก็มิสามารถแบ่งแยกแยะออกจากได้แล้วเช่นกัน เพราะคนดีอาจต้องปลอมตัวทำเป็นเลวเพื่อล้วงข้อมูลจากอาชญากรตัวจริง หรือคนชั่วก็อาจเกิดจิตสำนึกแปรพักตร์ฝักฝ่ายอยากทำดี เช่นนี้แล้ว อะไรคือสิ่งถูก-ผิด? อะไรคือความดี-ชั่ว? ใช้มาตรฐานไหนตัดสิน?

ถึงผมมิได้มีโอกาสมากนักในการรับชมหนังบู๊ไทยในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ครุ่นคิดรู้สึกได้ว่า เพชรตัดเพชร น่าจะคือหลักไมล์สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ที่สะท้อนอิทธิพล ความเปลี่ยนแปลง โลกทัศนคติของยุคสมัยสงครามเย็น รับเข้าสู่วิถีความเป็นไทย

ออกฉายครั้งแรกวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ณ โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ เพียงเดือนเดียวทำรายได้ ๓ ล้านบาท ทำลายสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของ เล็บครุฑ (พ.ศ. ๒๕๐๐) และ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘) ที่ ๒ ล้านกว่าบาท, โดยเรื่องถัดไปสามารถทุบสถิติลงได้คือ มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ที่ ๖ ล้านบาท

น่าเสียดายที่ปีนั้นรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี หรือตุ๊กตาทอง ได้ถูกยกเลิกการประกวด สืบเนื่องจากประสบความล้มเหลวมาหลายปีติด จนขาดผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริม ไม่เช่นนั้น เพชรตัดเพชร ย่อมมีโอกาสสูงจะคว้าหลายรางวัลใหญ่ และ วิจิตร คุณาวุฒิ อาจหยิบสาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ติดต่อกันเป็นปีที่ ๕ ก็ได้ (สี่ปีก่อนหน้านี้ไล่เรียงมาคือ สายเลือดสายรัก, ดวงตาสวรรค์, นางสาวโพระดก, เสน่ห์บางกอก)

หนังได้รับการสร้างใหม่ Remake พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยบริษัทไฟว์สตาร์ กำกับโดย สักกะ จารุจินดา, นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เฉือนคมกับ โกวิท วัฒนกุล สมทบด้วย อภิรดี ภวภูตานนท์ และ ลินดา ค้าธัญเจริญ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

และละครโทรทัศน์ ๒ ครั้ง
– พ.ศ. ๒๕๔๔ ช่อง ๗ นำแสดงโดย เจตริน วรรธนะสิน เฉือนคมกับ อัมรินทร์ นิติพน สมทบด้วย พัชราภา ไชยเชื้อ, กัลยกร นาคสมภพ
– พ.ศ. ๒๕๕๙ ช่อง ๗ นำแสดงโดย ศุกลวัฒน์ คณารศ เฉือนคมกับ มิกค์ ทองระย้า สมทบด้วย อุษามณี ไวทยานนท์, ขอขวัญ เรสตอล

มีสามสิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้มาก
๑. เปิดมาด้วยบทเพลง เพชรตัดเพชร โดยคณะสุเทพโชว์ ร่วมกับ วงซิลเวอร์แซนด์ เจ๋งสุดๆตรงการตัดต่อ โยกหัวและสะบัดก้น
๒. โปรดักชั่นเสื้อผ้าหน้าผม ออกแบบฉาก โดยเฉพาะภาพวาด อยากเห็นคุณภาพชัดๆเพราะจะได้ชื่นชมงานศิลปะสวยๆ
๓. ตัวละครของ มิตร ชัยบัญชา ตกเหวตายตั้งแต่ฉากแรก แม่เจ้าโว้ย! จะเอากลับคืนชีพมายังไงเนี่ย หักเหลี่ยมแล้วหักมุมอีก และตอนเฉลยตัวจริงของมาดามหลุยส์ ก็แอบคาดคิดไม่ถึง

การที่หนังเรื่องนี้ได้รับยกย่องอย่างสูงจากหอภาพยนตร์ ติดอันดับทั้ง
– ๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู
– มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖)
– ล่าสุดคือ ๗๐ สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๙

นี่น่าจะการันตีคำเรียก ‘หนังบู๊ Action ยุคคลาสสิก เรื่องทรงคุณค่าที่สุดของเมืองไทย’ ซึ่งก็มีเพียงอีกเรื่องเดียวสามารถเทียบเคียงได้คือ อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) เพราะหลังจาก พ.ศ. ๒๕๑๕ ในยุคฟีล์ม 35mm แนวนี้ได้แปรสภาพกลายเป็น ‘หนังบู๊ภูธร’ ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๗

แนะนำคอหนัง Action, สายลับ, หักเหลี่ยมเฉือนคม ตำรวจ-โจร, แฟนๆผู้กำกับ วิจิตร คุณาวุฒิ, พันนา, และผู้คลั่งไคล้ มิตร ชัยบัญชา, ลือชัย นฤนาท, เพชรา เชาวราษฎร์ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรต 13+ แอ๊คชั่นบ้าระห่ำ ทรยศหักหลัง อาชญากรรม ฆ่าคนตาย

TAGLINE | “เพชรตัดเพชร คือหนังบู๊ Action ยุคคลาสสิก เรื่องทรงคุณค่าที่สุดของเมืองไทย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: