เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖) หนังไทย : เชิด ทรงศรี ♥♥♥♥

จากลิลิตพระลอ กลายมาเป็นเรื่องสั้นของยาขอบ และภาพยนตร์โดย เชิด ทรงศรี กับคำโฆษณา ‘ระหว่างความรักกับคำสาบาน อย่างไหนจะมีอำนาจสูงส่งกว่ากัน’ ระหว่างพี่เพื่อนกับน้องแพง สุดท้ายแล้ว สรพงษ์ ชาตรี จะเลือกใคร, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ไม่มีใครเรียกแต่ผมขอตั้งให้ ‘ไตรภาค โศกนาฎกรรมความรักพื้นบ้านชนบทไทย’ (Trilogy of Thais-Rural-Tragedy) สามผลงานชิ้นเอกของ เชิด ทรงศรี นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี เพราะแทบจะคลอดคลานตามกันมา สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายรสชาดคล้ายคลึงยิ่งนัก ประกอบด้วย
– แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐)
– เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖)
– พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ** เรื่องนี้อาจจะผิดแผกจากสองเรื่องก่อนหน้าสักหน่อย แต่ผมมองว่าหลายๆอย่างก็คล้ายคลึงกันอยู่นะ

ข้อสังเกตความละม้ายคล้ายคลึง ที่ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ลายเซ็นต์ของ เชิด ทรงศรี
– (สรพงษ์ ชาตรี) พระเอกหน้าม่อ สนแต่จะลวงล่อนางเอก กอดจูบลูบไล้พูดคำหวานครื้นเครง และชอบสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฟ้าดิน
– แซว: ก็ไอ้เพราะคำสาบานเนี่ยแหละ ไม่เห็นรักษากันไว้ได้สักครา เลยเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมขึ้นทันตา
– เริ่มจากบ้านนอกคอกนา เกิดเหตุการณ์บางอย่างให้ต้องเข้าไปอยู่ในเมือง พบเจอความแตกต่างสุดขั้ว แล้วหญิงสาวมักเกิดความเปลี่ยนแปลงไป
– ต้องมีการร้องรำทำเพลงเกี้ยวพา ทำอาชีพ (สองเรื่องแรกเป็นเกี่ยวข้าวทำนา เรื่องสุดท้ายประมงหาปลา) เชิดชูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านความเป็นไทย
– และแฝงข้อคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม ชนบทบ้านนาย่อมดีกว่าเศรษฐีคนรวยสังคมเมือง

ความสำเร็จของ เพื่อน-แพง แม้ไม่เทียบเท่า แผลเก่า ที่ได้กลายเป็นเป็นตำนานแห่งประเทศไทยไปแล้ว แต่ก็มีเรื่องราวแฝงข้อคิดเกี่ยวกับความวิปริตของจิตใจคน แรกๆผู้ชมอาจเกลียดขี้หน้าอีแพง ยัยนี่จริตแรงจัดจ้านร่านแสดงออกเห็นชัดเจน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความปลิ้นปล้อนกะล่อนกลับกลอกของอีเพื่อนในครึ่งหลัง เมื่อตัวตนแท้จริงได้รับการเปิดเผยออก อ้างคำสาบานที่ตนลุผลประโยชน์เพียงหน่ายเดียว นี่ย่อมเป็นบทเรียนสอนชีวิตผู้ชมไม่มากก็น้อย

เชิด ทรงศรี (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๔๙) ครูผู้สร้างภาพยนตร์ ‘ไทยแท้’ คนแรกๆของเมืองไทย เกิดที่นครศรีธรรมราช เรียนจบทำงานเป็นครูที่อุตรดิตถ์ จากนั้นลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ภาพยนตร์และโทรทัศน์’ ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละคร นิยาย และวิจารณ์ภาพยนตร์ วันหนึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ให้กับเมืองไทย ผลงานเรื่องแรก โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙) จากบทประพันธ์ของตนเอง ออกแบบฉาก ลำดับภาพ แต่งเพลงประกอบ ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และใช้ทุนสร้างส่วนตัวทั้งหมด นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์

ในยุคคลาสิกของวงการภาพยนตร์โลก คนที่จะเป็นผู้กำกับได้ มักค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการยอมรับจากระบบสตูดิโอ เซ็นสัญญาทาสระยะยาว และมักสร้างภาพยนตร์ตามใบสั่ง (ต้องหนังทำเงินหลายๆเรื่อง ถึงค่อยได้รับอิสระในการเลือกตามความสนใจ) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ การมาถึงของ Italian Neorealist ที่ได้พลิกโฉมหน้าการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ และยุคถัดมากับ French New Wave อันเกิดขึ้นจากบรรดานักวิจารณ์หัวขบถของ Cahiers du cinéma ในยุค 60s ประกอบด้วย François Truffaut, Jean-Luc Godard, Éric Rohmer, Claude Chabrol และ Jacques Rivette ต่างลาออกมาเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีที่พวกตนเขียนขึ้น … เมื่อนักวิจารณ์กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ก็เหมือนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ รู้ว่าตนเองเคยต้องการอะไรจึงสร้างสรรค์มอบสิ่งนั้น กลายเป็นของที่ผู้รับต้องการได้จริงๆ

คงไม่แปลกอะไรถ้าจะถือว่าเชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับหนังไทยในยุค New Wave จากเคยทำงานเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ คงรับทราบถึงข้อจำกัด ความต้องการของตนเองต่อภาพยนตร์ไทย ลาออกมาเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาในสิ่งที่วงการยังขาดหาย ไม่เคยปรากฎพบมาก่อน ทั้งนี้ตามอุดมการณ์ ความตั้งใจส่วนตน ไม่ต้องรับอิทธิพลจากใครที่ไหน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวในระดับ ‘ศิลปิน’

หลังเสร็จจากการสร้างใหม่ พ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๒๔) ให้กลายเป็นภาพยนตร์ 35mm ผลงานเรื่องถัดไปดัดแปลงจากเรื่องสั้น เพื่อนแพง ของยาขอบ ตีพิมพ์ในวารสารเทพศิรินทร์ ฉบับชื่นชุมนุม พ.ศ. ๒๔๗๖ เห็นว่าครูโชติ แพร่พันธุ์ ได้แรงบันดาลใจจากจากลิลิตพระลอ โศกนาฏกรรมความรักระหว่างพระลอ-พระเพื่อน-พระแพง เพื่อให้ผู้อ่านสามัญชนทั่วไป มีโอกาสลิ้มรสชาดกวีนิพนธ์ชิ้นดังกล่าวได้โดยง่าย

สำหรับคนสนใจอ่านเรื่องสั้น เพื่อนแพง ของยาขอบ ยาวสิบเก้าหน้าเองนะครับ มีเป็น E-Book ฟรีที่: https://books.google.co.th/books/about?id=ejSuBgAAQBAJ&hl=th

ขอกล่าวถึง ลิลิตพระลอ สักหน่อยก็แล้วกัน เป็นกวีนิพนธ์ที่ไม่ปรากฎผู้เขียนและปีที่แต่ง คาดการณ์กว่าน่าจะช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ, ร่ายสอดสร้อย, โคลงสอง-สาม-สี่สุภาพ สลับกันตามจังหวะ ลีลา และเนื้อหาของเรื่องราว,

ท้าวแมนสรวง กษัตริย์แห่งเมืองสรวง (ลำปาง) มีพระโอรสนามว่า พระลอดิลกราช เรียกกันสั้นๆว่า พระลอ มีกิตติศัพท์ร่ำเลื่องลือว่าทรงเป็นชายหนุ่มรูปงามไปทั่วทุกสารทิศถึงเมืองสรองอัน (แพร่) ที่ถูกปกครองโดยท้าวพิชัยวิษณุกร ทรงมีพระธิดาผู้เลอโฉมถึงสองพระองค์พระนามว่า พระเพื่อน และ พระแพง ด้วยความใคร่พิศวงอยากพบเจอ ไหว้วานนางพี่เลี้ยงของตนเองจัดการให้ได้พบเจอ ส่งคนไปขับซอในนครแมนสรวงพร้อมพรรณนาถึงความงามของสองพระองค์ ขณะเดียวกันก็แอบไปหาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อให้ช่วยทำเสน่ห์พระลอให้เกิดความลุ่มหลงใหลในเจ้าหญิงทั้งสอง

เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ

เมื่อพระลอต้องมนต์ ทำให้ใคร่อยากยลโฉมพระเพื่อนและพระแพงเป็นอย่างยิ่ง จนมิอาจเสวย-บรรทม ทูลลาพระราชชนนีออกประพาสป่าแล้วหลบหนีไปยลโฉมเจ้าหญิงแห่งเมืองสรอง ระหว่างทางผ่านแม่น้ำกาหลง ตั้งจิตอธิษฐานว่าหากตนเองได้รอดกลับมาน้ำจะใสและไหลตามปรกติ แต่หากต้องตายให้น้ำกลายเป็นสีเลือดและไหลผิดปรกติ หลังจากคำอธิษฐานนั้น แม่น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดในทันทีและไหลเวียนวนผิดปกติ เมื่อพระลอเห็นดังนั้นก็รู้ได้ว่าจะมีเรื่องร้ายรออยู่เบื้องหน้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดความย่อท้อที่จะได้พบกับเจ้าหญิงที่พระทัยของพระองค์เรียกร้องแต่อย่างใด

เมื่อได้มีโอกาสพบเจอยังพระราชอุทยาน ทรงเกิดความรักใคร่ในบันดล ลักลอบเข้าไปในพระตำหนักชั้นในซึ่งเป็นที่ประทับบรรทมของเจ้าหญิงทั้งสอง อย่างไรก็ตามเมื่อความลับได้ถูกเปิดเผยเ ล่วงไปถึงพระกรรณของพระราชาทรงเสด็จมาไต่สวนในทันที พระลอรับสารภาพแม้ทรงกริ้วหนักแต่เข้าพระทัย จัดอภิเษกสมรสให้ทั้งสามพระองค์โดยทันที ขณะเดียวกันพระเจ้าย่า(ของท้าวพระพิชัยวิษณุกร)กลับไม่พึงพอใจ สั่งให้ทหารรายล้อมพระลอและไพร่พลเอาไว้ ระหว่างต่อสู้เอาตัวรอดถูกธนูระดมยิงเข้าใส่ เพื่อปกป้องชีวิตชายคนรัก พระเพื่อนกับพระแพงจึงเอาร่างกายเข้าขวางเป็นโล่กำบัง สุดท้ายทั้งสามสิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของกันและกัน

สำหรับคนอยากอ่าน ลิลิตพระลอ ฉบับเต็มๆ: http://vajirayana.org/ลิลิตพระลอ/ลิลิตพระลอ

คนที่เคยอ่านเรื่องสั้นหรือรับชมภาพยนตร์ เพื่อน-แพง คงพบเห็นความแตกต่างจาก ลิลิตพระลอ พอสมควร ส่วนหนึ่งเพราะค่านิยมของยุคสมัยนั้น ชายหนึ่งจะรักหญิงสองพร้อมกันนั้นเป็นไปไม่ได้ เลยต้องให้เจ้าลอเลือกใครคนใดคนหนึ่ง และเพื่อคงไว้ซึ่งข้อคิดคติสอนใจในการเลือกคู่ครอง หญิงสาวผู้มีความ’มั่นคง’ต่อตนยิ่งกว่า สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญเชิดชู

แถมให้อีกนิดกับคนชื่นชอบงานศิลปะ ระหว่างค้นหารายละเอียดหนังไปพบเจอภาพวาด พระเพื่อนพระแพง (พ.ศ. ๒๕๔๗) [The Two Sisters ‘Phra Peun – Phra Pang’] วาดโดยครูช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของครูเชิด ทรงศรี โปสเตอร์ใบปิดหนัง/ออกแบบตัวอักษรในภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ล้วนคือฝีมือของศิลปินชั้นครูของเมืองไทยท่านนี้

ความหมายของภาพนี้ สะท้อนความเจ้าชู้ของพระลอ มือซ้ายสัมผัสใต้ปทุมถันถ์ของพระเพื่อน มือขวาสัมผัสแก้มกันของพระแพง (จริงๆผมไม่รู้หรอกนะ ใครพระเพื่อน ใครพระแพง) เสพสมล่องลอยอยู่ท่ามกลางขุนเขาจันทรา

เจ้าลอ (สรพงศ์ ชาตรี) ตั้งแต่เด็กสนิทสนมกับลูกสาวสองคนของพ่อเฒ่าพิศ คนพี่ชื่อ เพื่อน (คนึงนิจ ฤกษะสาร) อายุรุ่นราวคราวเดียว สมกันดั่งกิ่งทองใบหยก ขณะที่น้องสาว แพง (ชณุตพร วิศิษฎโสภณ) เพราะตัวเล็กกว่าทำอะไรไม่ค่อยได้เหมือนพี่ จึงชอบร้องเรียกความสนใจจนกลายเป็นเด็กอมมือ แต่ด้วยความจิตใจงามของเจ้าลอ ก็มิสามารถปล่อยทิ้งขว้างไว้ได้สักครั้งเดียว

กาลเวลาผ่านไปเมื่อทั้งสามเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เจ้าลอ หมั่นหมายพร้อมแต่งงานกับ เพื่อน แต่แล้วอยู่ดีๆป่วยไข้มาลาเรียเลยต้องส่งไปรักษายังบางกอก สองสาวตามติดไปดูแลประคบประหงม แรกๆ เพื่อน ก็เฝ้าคอยอยู่เคียงข้างเตียง แต่นานวันเมื่อพบเจอชายหนุ่มชาวเมือง ค่อยๆลุ่มหลงในเสน่ห์ติดตามไป สร้างความไม่พึงพอใจต่อ แพง กลายเป็นผู้เฝ้าประคบประหงมดูแลแทน

หลังหายจากอาการป่วยเดินทางกลับบ้าน เจ้าลอ จึงค่อยๆรับรู้ข้อเท็จจริงดั่งกล่าว หญิงคนที่ตนรักกลับลักลอบมีชู้นอกใจ มีเพียง แพง เท่านั้นหนักแน่นมั่นคงทั้งๆที่ตนไม่เคยแสดงความรักตอบ ต้องการใช้หนี้บุญคุณ ค่ำคืนนั้นบุกขึ้นห้องหอ ร่วมรักสมสู่จนเธอตั้งครรภ์ไม่รู้ตัว ระหว่างนั้นเดินทางไปขายควายต่างอำเภอ กลับมาทราบความตั้งใจจะพาหนีไปด้วยกัน แต่โชคชะตาพลันให้เธอตกกระไดตายท้องกลม ด้วยความเจ็บแค้นรวดร้าว มัดมือเท้ากระโดดน้ำตื้นฆ่าตัวตาย ดิ้นรนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

สรพงศ์ ชาตรี หรือชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือพิทยา เทียมเศวต (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๓) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ เกิดที่พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุ ๑๙ ได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของในกองถ่าย เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ พระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔), ผลงานเด่นๆ อาทิ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖), สัตว์มนุษย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙), แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), มือปืน (พ.ศ. ๒๕๒๖), มือปืน ๒ สาละวัน (พ.ศ. ๒๕๓๖) ฯ

รับบท เจ้าลอ หนุ่มชนบทบ้านนอกคอกนา นิสัยขี้เล่นซุกซน ขยันขันแข็งตั้งใจทำงาน เกี่ยวข้าว จับปลา รวมถึงชอบซุ่มดักสาวกอดจูบลูบไล้ หวังมั่นหมายครองคู่ ยึดถือมั่นในคำสัตย์สาบานว่าจะรัก เพื่อน อย่างจริงใจเดียว คิดกับ แพง ก็แค่น้องสาว ชอบหยอกล้อเล่นสนุกสนานไม่อะไรอื่น, ครั้นฟื้นคืนสติจากอาการป่วยหนัก เรียนรู้จักนิสัยสันดานของคน เพื่อน หาได้รักเดียวใจเดียวต่อตนไม่ ก็เหลือเพียง แพง คิดอยากตอบแทนน้ำใจ รับรู้แล้วว่าสิ่งที่เธอทำเพราะความรักมั่นคงต่อเขาหนึ่งเดียว

คงเหตุผลเดียวกับ แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) เพราะพี่เอกมีภาพลักษณ์หนุ่มบ้านนอกคอกนา ร่างกายบึกบึนกำยำ ผิวดำคล้ำ ตั้งแต่เด็กขี่ควายไปโรงเรียน (ด้วยเหตุนี้จึงกล้ายืนบนหลังควายได้แบบไม่กลัวเกรงอะไร) ผู้ชมเชื่อได้ทันทีว่าชีวิตเคยคลุกโคลนเลน ซึ่งเรื่องนี้มีเซอร์วิสแก้มก้น และช่วงท้ายถมึงถึงทำหน้าตาจริงจัง ขอยึดมั่นในคำสาบานที่เคยให้ไว้ เป็นการฆ่าตัวตายพิสูจน์รักที่อัปลักษณ์สุดๆแล้ว

เกร็ด: ผู้พากย์เสียง เจ้าลอ คือ รอง เค้ามูลคดี ถือเป็นขาประจำของ สรพงศ์ ชาตรี เลยละ [แต่ถ้า พลอยทะเล จะเป็นเสียงของพี่เอกเองแล้วละ]

สำหรับสองนักแสดงหญิง เพื่อน-แพง ผมหารายละเอียดในอินเตอร์เน็ตไม่ได้เลยนะ ทั้งคู่คงไม่ได้อยู่ในวงการนานเท่าไหร่ โด่งดังประสบความสำเร็จแล้วก็จากไป ถือเป็นนักแสดงสมัครเล่นก็ได้ แบบเดียวกับหนังกลุ่ม Neorealist เน้นใบหน้าหรือความสามารถเฉพาะทางมากกว่า

คนึงนิจ ฤกษะสาร รับบท เพื่อน ตอนอยู่บ้านนอกคอกนา เพราะไม่มีหนุ่มไหนหล่อเหลาอนาคตไกลกว่า เจ้าลอ จึงประกบคบติดตาม ยั่วเย้าเล่นแง่ จนใกล้ถึงวันได้ครอบครองเป็นเจ้าของ แต่เมื่อมีโอกาสออกเดินทางสู่เมืองหลวงบางกอก เปิดโลกออกที่ไม่เคยล่วงรู้พบเห็น ลุ่มหลงใหลในสิ่งแปลกใหม่และเสียงเพลง ทอดทิ้งว่าที่สามีคบชู้สู่ชาย แต่สุดท้ายก็ต้องซมซานกลับบ้านเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเอง นั่นทำให้เธอแปรสภาพกลายเป็นนางอิจฉาเต็มตัว โกรธเกลียดเคียดแค้นไม่พึงพอใจน้องสาว ที่พบเห็นรับรู้ตัวตนเองแท้จริง สะดุดล้มหัวบันไดแสร้งทำเป็นไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชนวนเหตุแห่งโศกนาฎกรรมจึงบังเกิด

ใบหน้าอันเริงระรื่นของคนึงนิจ อาบไปด้วยยาพิษที่น้อยคนจะสามารถพินิจเห็นได้ตั้งแต่แรกพบ เริ่มจากความรำคาญแปรสภาพเป็นอิจฉาริษยา ไอ้น้องเวรและโชคชะตาฟ้าทำให้จิตของเธอค่อยๆแปรเปลี่ยนไป มิอาจมั่นอยู่ในความตั้งใจ พบเห็นสิ่งใหม่ๆน่าลิ้มลองก็เหมือนผึ้งโบยบินตอม ดอมหาดอกไม้กลิ่นหอมหวนกว่าอยู่ร่ำไป

ชณุตพร วิศิษฎโสภณ นอกจากเรื่องนี้ยังมีอีกผลงาน พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) แล้วออกจากวงการไปเลย, รับบท แพง เพราะความเป็นน้องคนเล็กทำให้แม่เสียชีวิตตอนคลอด พี่สาวไม่เคยคิดเหลียวหลังมองเป็นเสนียดจัญไร ทุกครั้งทำอะไรผิดพลาด ร้องไห้งอแงเรียกแต่พี่ลอ ตามใจจนเสียคนจนไม่รู้จักมารยาทกาละเทศะ ถึงกระนั้นก็มีดีในนิสัยขี้เล่นซุกซน ลูกคอร้องได้ทุกแนวเพลง และจิตใจตั้งมั่นคงไม่มีอะไรสามารถผันแปรเปลี่ยน

“ฉันไม่ใช่รักพี่เพราะเหตุอะไรๆทั้งนั้น ฉันรักพี่เพราะว่าฉันเกิดมาสำหรับรักพี่ ถ้าเพื่อนเขาเป็นคนดี แม้ว่าฉันจะตกไปเป็นน้อย ใช้ให้ฉันไถนาอย่างควายฉันก็ไม่ปริปาก”

การแสดงของชณุตพร ได้รับคำชมอย่างกว้างขวาง ด้วยใบหน้ารักจิ้มลิ้มขี้เล่นซุกซน เวลาภาพ Close-Up ไม่มีวอกแวกเสียสมาธิแม้แต่น้อย สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกทางสีหน้าตาได้อย่างทรงพลัง สงบนิ่ง-คลุ้มคลั่ง แต่ไม่รู้เหมือนกันเสียงใครที่ขับ-ร้อง-ร่าย บทกวี เสภา ลิเก ลำตัด และเพลงฝรั่งชื่อไทยกระจุ๋มกระจิ๋ม ความหมายได้ใจไปเต็มๆ

ถ่ายภาพโดย … ไม่รู้เครดิต… ด้วยฟีล์ม 35mm ใช้การพากย์เสียงทับภายหลังถ่ายทำ

เทรนด์นิยมของการถ่ายภาพสมัยนั้นคือ เล่นกับเทคนิคซูมเข้า-ออก, ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด และ Close-Up ใบหน้าของนักแสดง เพื่อให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ทุกๆปฏิกิริยาเคลื่อนไหวออกมา จับต้องสัมผัสได้จากภายใน

ตั้งแต่ช็อตแรกๆเมื่อ สรพงศ์ ยืนบนหลังควาย ใช้การค้างภาพ Freeze Frame ปรากฎชื่อหนัง จากนั้นทำการย้อนอดีต Flashback ดำเนินเรื่องควบคู่ไปขึ้นเครดิต ตั้งแต่สมัยเจ้าลอยังเด็ก พ่อเสียชีวิต รู้จักกับเพื่อน-แพง เที่ยวเล่นสนิทสนมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน

หนึ่งในลายเซ็นต์ของครูเชิด คือการถ่ายภาพ Long Take ระดับสายตา แล้วใช้ดอลลี่เคลื่อนกวาดเก็บบรรยากาศโดยรอบ, ฉากที่เป็นไฮไลท์คือจากหน้าเวทีหนังตะลุง พบเห็น เจ้าลอ กับ เพื่อน สุงสิงจ้องตาไม่กระพริบ ค่อยๆเลื่อนไหลมาถึงด้านหลังหน้าโบสถ์วัด แพง กำลังเริงรำเต้นท่าลิง จับจ้องมองทั้งสองอยู่ไม่ห่างเช่นกัน

ความแสบกระสันต์ของ แพง หลังจากที่ เจ้าลอ กับ เพื่อน ดูเชิดตะลุงเบื่อแล้วพากันออกมากอดจูบลูบไล้ท่ามกลางพงไม้แสงจันทร์ แม้บริเวณนั้นจะมืดมองไม่ค่อยเห็นอะไร แต่อยู่ดีๆกล้องซูมเข้าไป พบเห็น อีแพง หลบซุ่มอยู่ในดงพง เฝ้ารอขณะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วก็เอื้อเสภาด้วยลีลาอันสุดแสนกวนประสาท สร้างความรำคาญจี้หัวใจ ทำไมยัยนี่มันนางมาร้ายขัดขวางความสุขเสียเหลือเกิน

ตอนที่ แพง ขับร้องบทเพลงแพงพิษฐาน/ทำขวัญพระแม่โพสพ แม้กล้องจะจับจ้อง Close-Up ใบหน้าของเธอขณะยกมือวันทาไหว้ค่อยๆเคลื่อนเข้าไป แต่พื้นหลังหนุ่มไหนก็ไม่รู้ยืนหลุดโฟกัสอยู่เบลอกๆ กระทั่งวินาทีสุดท้ายของช็อตจึงมีการปรับให้เห็นคมชัด เจ้าลอ นี่เองที่พบเห็นความงามน่ารัก ถัดมาเลยยินยอมพูดคุยกลับ เลิกงอนตุ๊บป่องแก้มบวมเสียที

ฉากสาบานรักของ เจ้าลอ กับ เพื่อน ถ่ายทำตอนกลางคืนในกระต๊อบริมนา ฝนรั่วได้ยินเสียงฟ้าผ่าดังอยู่เรื่อยๆ จัดแสงน้ำเงิน-แดง สีสัมผัสของสองความรู้สึกขั้วตรงข้าม กระพริบตามจังหวะฟ้าแลบแปรบ, ใครเคยรับชมแผลเก่า ย่อมต้องจดจำมุมมองเจ้าพ่อไทรได้อย่างแน่นอน แค่ว่าเรื่องนี้เปลี่ยนเป็นพระของพ่อที่เจ้าลอห้อยคอ และขณะสาบานจะได้ยินเสียงฟ้าผ่า แทนคำตอบรับจากเทพเทวดา ตระบัดสัตย์คืนคำไม่ได้แม้แต่น้อย

เดินตกกระไดบ้าน เริ่มจากภาพ เพื่อน กำลังเดินขึ้นบันได กล้องซูมเข้าไปที่ตรงเท้าเพื่อให้ผู้ชมจับจ้องสังเกต คาดว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้น จากนั้นก็ลื่นไถล ถ้าตกลงไปนี่เจ็บแน่ๆ ซึ่งเมื่อหยิบซ่อมเสร็จตัวเองก็เดินข้าม แทนที่จะพูดบอกกับน้องที่กำลังตั้งครรภ์ ปล่อยให้มันตกกระไดตายสาสมแก่ใจ

ท่าการตายของ แพง ดิ้นรนตะเกียดตะกายมาถึงโคลนตม ยกมือขึ้นสองข้างขนานกับพื้น ล้อกับตอนเป็นเด็กเล็กร้องไห้งอแง ยกมือสองข้างขึ้นเช่นกันเพื่อเรียกร้องความสนใจ คาดหวังให้ เจ้าลอ หันมาช่วยเหลือตนเอง แค่ว่าครั้งนี้โชคร้ายมิได้มีเขาอยู่ใกล้ๆ และจะให้ตะโกนเรียกไปก็มิอาจปริเสียง

การสนทนาครั้งสุดท้าย หลายครั้งที่คำพูดกำลังออกอรรถรถเข้มข้นจริงจัง กล้องจะเคลื่อนไหลจากด้านหลัง เพื่อน จับจ้องใบหน้า Close-Up เจ้าลอ นี่สื่อถึงการเน้นยำคำพูดและความตั้งใจ ฉันไม่ได้เอ่ยวาจาสัตย์สาบานแบบเด็กๆล้อเล่น ลูกผู้ชายกล่าวอะไรไว้ก็จักทำเช่นนั้น เมื่อนอกใจเธอชีวิตฉันก็ไม่มีค่าอื่น แต่ขอให้เมิงรู้ไว้ …

“ให้ไฟนรกลุกขึ้นมาเห็นอยู่ตรงหน้า ให้ความฉิบหายตายโหงทุกๆประการมาสุมอยู่บนหัว ให้สถบสาบานไว้หน้าพระสักร้อยครั้งก็ช่างมันเถิด ชาติหน้าฉันจะไปตกนรกร้อยกัลป์แสนกัลป์อย่างไรนั่นยอมแล้ว แต่ในชาตินี้ ในชาติที่ได้มาพบแพง ก็จะขอเป็นผัวมัน รักมันให้สมกับที่มันรักฉันให้จงได้”

ช็อตสุดท้ายการฆ่าตัวตายของ เจ้าลอ ถ่ายภาพย้อนแสงยามพระอาทิตย์ใกล้อัสดง ใบหน้ามืดมิดมองแทบไม่เห็นเค้าโครงอะไร ลางๆแค่ว่ากำลังใช้เชือกมัดมือเท้าเตรียมกระโดดลงหนองน้ำอันตื้นเขิน ซ้อนภาพกับช็อต Close-Up ใบหน้าของตัวละคร เมื่อพูดจบก็ทิ้งตัวลงจมดิ่ง ปลาตายน้ำตื้น

ตัดต่อโดย … ขี้เกียจหาเครดิต … ใช้มุมมองของ เจ้าลอ เป็นหลัก แต่เมื่อตอนที่มันป่วยและอีกหลายๆครั้ง ก็สลับไปเป็น เพื่อน-แพง ผู้ชมจะได้รับรู้เห็นพฤติกรรมความจริงใจ อิจฉาริษยาของสองหญิง เพื่อให้ได้แก่งแย่งชิงครอบครองเป็นเจ้าของชายคนรักหนึ่งเดียว

สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ องก์
– ณ บ้านนอกชนบท เจ้าลอ รอรักแต่งงานกับ เพื่อน โดยมี แพง เป็นตัวเสรือก
– ณ เมืองหลวงบางกอก เจ้าลอ นอนรอความตาย, เพื่อน แสดงออกนอกใจ แพง ริษยาเสียดาย
– หวนกลับบ้านนอกชนบท เพื่อน แสดงความอิจฉา สะดีดสะดิ้ง พูดจาปากร้าย ยินยอมรับไม่ได้, แพง กลายเป็นนางเอก ก้มหน้าก้มตายอมรับผิดทุกกิริยา, และ เจ้าลอ ตัดสินใจเลือกภรรยา แสดงความเป็นสุภาพบุรุษ รับผิดชอบทุกปัญหาที่ตนเองก่อเกิด

ในฉากการสนทนา มีการปะทะคารมกันหลายครั้ง ทั้งระหว่าง เจ้าลอ-แพง เจ้าลอ-เพื่อน และเพื่อน-แพง ทุกครั้งมักเป็นการตัดสลับไปมาระหว่างช็อต Close-Up ใบหน้า ให้เห็นกันไปเลยว่าใครครุ่นคิดพูดจารู้สึกอะไรจากภายใน

เพลงประกอบโดย … ครูเชิด ยังคงนิยมใช้บทเพลงไทยพื้นบ้านในการสร้างสรรค์อารมณ์และเรื่องราว มีความสนุกสนานครึกครื้นเครง มักล้อเลียนเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น และครานี้มีการใส่เพลงฝรั่งเข้ามาด้วย กระจุ๋มกระจิ๋ม แต่งโดยพรานบูรพ์ ประกอบละครหญิงล้วนเรื่องโรสิตา แต่รู้สึกว่าลีลาการร้อง มันล้อเลียนภาษาฝรั่งเต็มๆเลยนะ

เพลงจันทร์เจ้าขา, คำร้อง-ทำนอง พรานบูรพ์ ฉบับในหนังขับร้องโดย นงลักษณ์ โรจนพรรณ – สุดา ชื่นบาน เนื่องจากหาฉบับแยกไม่ได้ก็เลยนำ ชรินทร์ นันทนาคร – เพ็ญศรี พุ่มชูศรี มาให้รับฟังกัน

ผมไปเจอคลิปรวม ๖ เพลงประกอบภาพยนตร์ อัดจากแผ่นคลั่ง Remaster ให้เรียบร้อย ประกอบด้วย
– กระจุ๋มกระจิ๋ม
– เต้มกำรำเคียว
– จันทร์เจ้าขา
– หัวใจอีแพง
– แพงพิษฐาน
– ลืมเสียแล้วหรือเพื่อนเอ๋ย

เพื่อน-แพง เป็นเรื่องราวโศกนาฎกรรมความรักของการต้องเลือกระหว่าง คนที่เรารักยิ่ง (เพื่อน) หรือคนที่รักเรายิ่ง (แพง) เพราะค่านิยมทางสังคมของยุคสมัยนี้ เลือกได้เพียงคนหนึ่งคนใดเท่านั้น

ผมเคยเขียนวิพากย์ประเด็นคล้ายๆกันนี้ไว้หลายครั้งแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ชี้ชักนำให้มนุษย์มีผัวเดียวเมียเดียว ศีลข้อ ๓ ไม่ผิดประเวณีกับบุคคลที่มีเจ้าของอยู่แล้ว นั่นคือต่อให้เมียหลวง-น้อย-น้อยของน้อย ถ้าแต่งงานหรือได้รับการยินยอมจากพ่อ-แม่ ผู้เป็นเจ้าของบุคคลนั้น ก็หาได้ขัดต่อหลัก’ศีลธรรม’แม้แต่น้อย!

จะให้ผมยกข้ออ้างอะไรมาบ้างละ เหล่านี่คือสัจธรรมของโลก
– ใครเรียนวิชาชีววิทยา เยอะแยะไปกับสัตว์ที่มีหลายผัวหลายเมีย (Polygamy)
– พระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อนเป็นไง รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระมเหสีและสนม ๑๕๓ พระองค์ (แต่อัครมเหสี มีเพียงหนึ่งเดียว)
– สร้างบารมีมากพอขึ้นสวรรค์ บาทบริจาริกร้อยพันหมื่น อย่างพระอินทร์ผู้ปกครองชั้นฟ้ามากสุด เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ และบริวารอีก ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง
ฯลฯ

มันเป็นค่านิยมของชาวตะวันตก จารึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิ้ลโบราณ เสี้ยมสั่งสอนการแต่งงานครองคู่ ในชีวิตควรมีครั้งหนึ่งเดียว เหมือนศรัทธาต่อพระเป็นเจ้าผู้สร้างห้ามแปรเปลี่ยน ซึ่งเมื่อตอนมิชชันนารีบุกเบิกสู่โลกตะวันออกในยุคล่าอาณานิคม พบเห็นคนเอเชียมีภรรยามากมาย ตำหนิต่อว่ายินยอมรับไม่ได้ เรียกว่า ‘ป่าเถื่อน’ จากนั้นก็ค่อยๆปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอน ใช้อิทธิพลครอบงำจนสุดท้ายโลกทั้งใบเกิดภาพมายาที่ว่า ผัว-เมียเดียว เป็นสิ่งถูกต้องที่สุด

วิวัฒนาการทางวัตถุเป็นสิ่งที่น่าตกตะลึงและหวาดสะพรึง มันเป็นสิ่งค่อยๆกัดกร่อนกลืนกิน ปรับทัศนคติของมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไป อย่างเรื่องของสามคนผัวเมียที่ถ้าเป็นรัตนโกสินทร์สมัยก่อน รัชกาลที่ ๑-๕ นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ขุนแผน/พระลอสามารถเหมาได้หมด พระเพื่อน-พระแพง (สองพี่น้องยินยอมให้กันด้วยนะ รักอย่างเสมอภาคเท่าเทียม) แต่เมื่อฝรั่งสร้างเรือสำเภาเดินทางข้ามทวีปมาถึงบ้านเรา ถ้าไม่ทำตามคำขอคงไม่ได้แค่สูญเสียเขตแดนบางส่วนเท่านั้นแน่ กระนั้นผืนแผ่นดินแหว่งไปยังเทียบไม่ได้กับวิถีทางสังคมยังต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนตาม เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากพลโลกหมู่มาก

ก็ลองครุ่นคิดกันเล่นๆแบบจริงจัง คนที่มีสามีหรือภรรยามากกว่า ๑ คน (Harem/Reverse Harem) ชีวิตจักเสพสุขสำราญมากขึ้นขนาดไหน ปัญหาเบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจหมดทิ้งไปเลย อาจจะมีก็ตบตีแก่งชิงแย่งผัว (คืนนี้ฉันขอ) แต่อัตราการหย่าร้างเลิกรา รุมโทรมข่มขืนฆ่า จะลดลงอย่างแน่นอน เพราะทุกคนจะไม่ยึดติดว่า นั่นผัวเมียฉันแบ่งปันคนอื่นไม่ได้!

ปัญหา/สิ่งที่เรียกว่าโชคชะตาในภาพยนตร์เรื่องนี้ แท้จริงแล้วคือกฎกรอบขนบวิถี วัฒนธรรมประเพณี วิวัฒนาการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เสี้ยมสั่งสอนครอบงำความคิดมนุษย์ ยุคสมัยที่ต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่งเหมาสองไม่ได้อีกแล้ว เพื่อนหรือแพง สองสาวแก่งแย่ง เจ้าลอก็ไม่รู้จะเลือกใคร โศกนาฎกรรมแห่งความรักสามเส้าเลยบังเกิด

มีเยอะมากนะครับ ขนบทางสังคมที่เรายึดถือปฏิบัติจนชินชา ถ้านำมาครุ่นคิดด้วยสมาธิและสติปัญญา จะพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเลย ก็อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกเอง เป็นเป็ดเดินตามหลังผู้อื่นไปเรื่อยๆ หรือกางปีกโบยบินโหยหาอิสรภาพโดยไม่พยายามยึดติดกับสิ่งใด

สิ่งใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้ ก่อเกื้อรักษา ฯ

สัจธรรมที่เราควรต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ‘ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง’ ไม่มีอะไรมั่นคงอยู่ยืนยังชั่วนิรันดร์ คำสาบานฉันจะรักเธอตราบชั่วฟ้าดินสลาย ไม่จำเป็นก็อย่างไปบนบานจริงจังกับมันเลยนะ เพราะแทบทั้งนั้นเมื่อกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน ก็เหมือนความทรงจำสีจางๆเลือนลางจากอดีต รังแต่จะผูกมัดรัดตนเองไปเสียเปล่าๆ เมื่อมาครุ่นคิดได้ก็เสียรู้ทันผู้อื่นไปเสียแล้ว ถึงตอนนั้นเราจะกล้าตระบัตย์สัตย์เสียชาติเชิงชาย หรือธำรงความโง่เขลาของตนเองไว้เป็นบทเรียนสอนใจคน

หนังคว้า ๓ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ ๕ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ประกอบด้วย
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (ชนุตพร วิศิษฏโสภณ)
– ผู้แสดงประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (คนึงนิจ ฤกษะสาร)

(ขณะที่ สรพงศ์ ชาตรี คว้ารางวัลผู้แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปีน)

และคว้ามาอีก ๑ รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๑๕
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

สิ่งหนึ่งในมุมของผมที่โคตรจะเสียดายกับเรื่องสั้น/ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือชื่อเพื่อน-แพง มันเหมือนมีความหมายสลับกันอยู่
– พี่สาวควรชื่อว่าแพง เพราะภายหลังเธอลุ่มหลงใหลในเงินทอง สังคมเมือง จนลักลอบมีชู้นอกใจคนรัก
– ขณะที่น้องสาวควรชื่อเพื่อน เพราะเธอเริ่มต้นจากความเป็นเพื่อน หนักแน่นมั่นคงจริงใจในรัก

จริงๆมันก็สามารถสื่อนัยยะนี้ก็ได้นะ แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นข้ออ้างฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่
– พี่สาวชื่อเพื่อน เพราะถึงเคยเป็นคนรัก แต่สุดท้ายก็มิได้มีสถานะมากเกินไปกว่านี้
– น้องสาวชื่อแพง คือบทเรียนราคาแพงของชีวิต ความทุ่มเททุกสิ่งอย่างที่เธอมอบให้ พี่ลอมารับรู้ได้เมือสายเกิน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อารมณ์แปรปรวนรวนเรที่เกิดขึ้นในจิตใจของเพื่อน มีสาเหตุจากอิทธิพลความเปลี่ยนแปลงของภายนอกโลกกว้าง ทำให้มิอาจหักห้ามปฏิเสธใจตนเองให้ขยับไหวตาม สัมผัสให้ได้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งงดงามแม้แต่น้อย

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักอ่าน ผู้ชื่นชอบลิลิตพระลอ, ยาขอบ, และติ่งผู้กำกับ เชิด ทรงศรี, สรพงษ์ ชาตรี แล้วคุณจะตกหลุมรัก ชณุตพร วิศิษฎโสภณ โดยไม่รู้ตัว

จัดเรต ๑๓+ กับความเห็นแก่ตัว กะล่อนปลิ้นปล้อนกลับกลอก และโศกนาฎกรรม

TAGLINE | “เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖) คือบทเรียนสอนชีวิตที่มีคุณค่าราคาสูงยิ่ง”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Johnny Darkness Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Johnny Darkness
Guest
Johnny Darkness

ตรงที่พูดถึงแนวคิดผัวเมียเดียวไม่ใช่เรื่องถูกต้องนี่ผมเห็นด้วยนะครับ โลกเราฉิบหายเพราะแนวคิดตะวันตกมากี่รอบแล้ว? ถ้าสังเกตุให้ดี เทคโนโลยีเจริญขึ้นคุณค่าของมนุษย์ตกต่ำลงเรื่อยๆ

ไม่ใช่เพราะมนุษย์ไร้ค่าแต่เพราะมนุษย์เลือกที่จะไร้ค่าด้วยตัวเองต่างหาก

%d bloggers like this: