เรือนแพ (พ.ศ. ๒๕๐๔) : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, เนรมิต ♥♥
“พี่รักเขาอย่างเพื่อนร่วมแพ เพ็ญรักเขาอย่างเพื่อนร่วมใจ เราปรารถนาจะให้เขาเป็นเพื่อนที่ดีของเราตลอดไป” เพื่อนชาย ๓ คนอาศัยอยู่บนบ้านแพเดียวกัน ตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน จับพลัดจับพลูชะตาชีวิตต้องแยกจากราวกับแพแตก แต่ไม่วายสุดท้ายต้องกลับมาตายรังยังเรือนแพหลังเก่า
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเพลง เรือนแพ ขับร้องต้นฉบับโดย ชรินทร์ นันทนาคร ประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย สง่า อารัมภีร ถือเป็นหนึ่งในเพลงอมตะ ที่ถ้าคุณเป็นคนไทยน่าจะต้องเคยได้ยิน ผมนำมาให้ฟังกันก่อน เผื่อมีคนนึกไม่ออก
ความไพเราะของบทเพลงนี้ พรรณาถึงความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนเรือนแพ ล่องลอยอยู่ในกระแสธารา เป็นดั่งวิมานน้อยบนสรวงสวรรค์, ใครอยากอ่านประวัติเพลง คลิกไปอ่านตามลิ้งค์
LINK: http://oknation.nationtv.tv/blog/chai/2007/09/27/entry-3/
ผมหยิบหนังเรื่องนี้มาดู เพราะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จทอดพระเนตรฯ รอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ และเป็นภาพยนตร์ที่ติดอันดับ ๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ถ้าคุณเป็นคนไทยก็ไม่ควรพลาดเลย
กระนั้น นี่เป็นหนังที่ค่อนข้างเก่า แม้ผมจะพยายามดูแบบไม่มีอคติ แต่กาลเวลาได้เหยียบย่ำยีภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้คงเหลือแต่ความคลาสสิกในความทรงจำ, กระนั้นแนวคิด เนื้อเรื่อง ใจความสำคัญของหนัง เป็นสิ่งที่เมื่อรับชมแล้ว ยังคงมีสาระประโยชน์ แฝงความคิดลึกซึ้ง ต่อผู้ชมไม่ว่าจะยุคสมัยไหน นี่จะเป็นสิ่งที่ผมจะขอเน้นเขียนในบทความนี้เป็นหลัก
เรือนแพ เป็นภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่าง บริษัทอัศวินภาพยนตร์ กับ บริษัทชอว์บราเดอร์ส (Shaw Brother) แห่งฮ่องกง, กำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (พระองค์ชายใหญ่) ร่วมกับ ครูเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) ศิลปินแห่งชาติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล รู้จักกับรัน รัน ชอว์ (Run Run Shaw) เจ้าของบริษัทชอว์บราเดอร์ส มาพักใหญ่แล้ว เพราะในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐- พ.ศ. ๒๕๐๓ มีทีมงานสร้างหนังต่างประเทศ ยกกองมาถ่ายทำเมืองไทยหลายเรื่อง และชอว์บราเดอร์สคือหนึ่งในนั้น, ตอนที่อัศวินการภาพยนตร์ ต้องการสร้างเรือนแพ ได้ทำข้อสัญญาร่วมทุนสร้างกับชอว์บราเดอร์ส มีนักแสดงไทย และชอว์บราเดอร์สส่งนักแสดงมา ๒ คน คือ จินฟง (รับบทริน) กับมาเรีย จาง (รับบทเพ็ญ) ทั้งสองถือเป็นดาราระดับกลางของฮ่องกง ไม่ได้มีชื่อเสียงมากแต่พอเป็นที่รู้จักในไทย นี่ถือเป็นการร่วมทุนสร้างระดับนานาชาติครั้งแรกๆของไทยก็ว่าได้ (เป็นครั้งแรกสุดที่ค่ายหนังไทย ร่วมทุนสร้างกับฮ่องกง/ชอว์บราเดอร์ส)
จากพระราชนิพนธ์ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงใช้นามปากกาว่า ภาณุพันธ์ และ เวตาล เรื่องราวของเพื่อนสนิท ๓ คน ประกอบด้วย เจน (รับบทโดย ส. อาสนจินดา), แก้ว (รับบทโดย ไชยา สุริยัน) และริน (รับบทโดย จินฟง) ตกหลุมรัก ผู้หญิงคนเดียวกัน เพ็ญ (รับบทโดย มาเรีย จาง) ทั้งหมดอาศัยอยู่ด้วยกันที่เรือนแพริมน้ำ ต่อมาต่างต้องแยกย้าย โดยเจน เป็นคนฉลาด เรียนจบปริญญาเกียรตินิยม ไปสมัครเป็นตำรวจ, แก้ว มีร่างกายแข็งแรง ชื่นชอบใช้กำลัง ชกมวยไทย และ ริน เสียงร้องไพเราะเสนาะหู กลายเป็นนักร้อง ครูเพลง
เจน ชายหนุ่มอนาคตไกลที่สุดในกลุ่ม เป็นคนรักเพื่อน เสียสละแทนได้ทุกอย่าง เฉลียวฉลาด หัวสมองเป็นเลิศ ค่านิยมของคนสมัยนั้น เรียนเก่งต้องรับราชการ เป็นตำรวจเพื่ออุดมการณ์ พิทักษ์สันติคุณธรรม, ส. อาสนจินดา ในวัยหนุ่มมีความหล่อแบบ… เนิร์ด? ผมว่าถ้าเขาใส่แว่นสักหน่อยให้ดูเป็นเด็กเรียน อาจจะเข้ากันมากๆ ความพิศดารของหนังเรื่องนี้คือ สร้างให้เจนเป็นคนเฉลียวฉลาด แต่กลับเสียท่าให้ผู้ร้ายนับครั้งไม่ถ้วน (จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน)
แก้ว ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเข้ม ร่างกายบึกบึนกำยั เป็นนักมวยที่อ้างว่าไม่ค่อยชอบใช้สมอง (แต่กลับรู้ทันเจนตลอดเวลา) เป็นคนที่ไม่สนคุณธรรมเสียเท่าไหร่ มีชีวิตเพื่อความสุขส่วนตัว (นี่กระมังที่มองได้ว่าใช้กำลังมากกว่าสมอง), ไชยา สุริยัน ถือว่าพลิกบทบาททีเดียวกับหนังเรื่องนี้ (จนได้รับรางวัลตุ๊กตาทองตัวแรก) รับบทเพื่อนที่กลายเป็นศัตรู จากที่เหมือนรักเพื่อนกลายเป็นทรยศหักหลัง ปากอ้างว่าเพื่อคนอื่น แต่สนใจแค่ตนเอง แม้มีครั้งหนึ่งเหมือนจะคิดได้ ต้องการกลับตัวกลับใจ แต่เพราะได้ถลำลึกยากเกินแก้ไข มันจึงมีตอนจบได้แค่แบบเดียว
ริน ชายหนุ่มหน้าหวาน ฉลาดในการศิลป์ ฝีปากเป็นเลิศ แต่ติดนิสัยเหนียมอาย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จใดๆ (มีเพื่อนก็ไม่เคยช่วยเหลืออะไร) แต่ครั้งหนึ่งเมื่อกำลังจะตั้งตัวได้ ก็ถูกโชคชะตาฟ้ากลั่นแกล้ง, รับบทโดย จินฟง นักแสดงชาวฮ่องกง ที่คงใช้การพากย์เสียงทับ แต่ท่าทางขณะร้องเพลง แสดงสีหน้า อารมณ์ออกมาได้อย่างเข้มข้น สมจริง มีชีวิตอย่างเพ้อฝัน ว่าสักวันคงประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเงินทองร่ำรวย
เพ็ญ หญิงสาวอาภัพรักผู้เอาแต่ใจ โปรยเสน่ห์หว่านรักให้ทั้งเจน แก้ว และริน ก็ไม่รู้เธอชอบใครที่สุดนะครับ
– เจน คือผู้ชายที่พ่อหมายมั่น เพราะอนาคตไกล เรียนสูงเฉลียวฉลาด อาชีพการงานมั่นคง ได้แต่งงานอยู่กิน ชีวิตก็สุขสบาย
– แก้ว คือผู้ชายเข้มแข็ง อนาคตถึงจะไม่แน่นอน แต่เขาก็พร้อมทำทุกอย่าง (โดยไม่เลือกวิธีการ) เพื่อให้เธออยู่สุขสบาย
– ริน คือผู้ชายหวานโรแมนติก อยู่ด้วยกันคงไม่มีวันเบื่อ แต่อนาคตเอาแน่เอานอนไม่ได้ ชีวิตคงทุกข์ยากลำบาก
ความอาภัพของเพ็ญคือ เธอไม่ใช่คนเลือกแต่เป็นผู้ถูกเลือก ด้วยสถานการณ์พาไป ทำให้เธอตัดสินใจเด็ดขาดกับความรัก เมื่อพลาดไปแล้วก็ขอลงเอยกับชายคนนี้เพียงผู้เดียว, อุดมการณ์ของเพ็ญที่ผมตระหนักได้คือ เธอไม่ใช่คนสำส่อน เชื่อมั่นในคุณธรรมจริยธรรมระดับสูง นี่ถือเป็นการสอนและส่งเสริมค่านิยมให้กับผู้หญิงไทยสมัยก่อน แต่ผลลัพท์กับคอหนังสมัยใหม่คงรู้สึกขัดใจ ทำไมยัยนี่มันโง่ ดื้อด้าน ทนรั้นไปทำไมกับผู้ชายที่ไม่เห็นคุณค่าความจริงใจของเธอ
การแสดงของ มาเรีย จาง นักแสดงชาวฮ่องกง ถือว่าโดดเด่นไม่น้อย ตัวละครมีอุดมการณ์ มองเห็นมิติความตั้งใจ แต่หนังขาดความสมเหตุสมผลรองรับ เช่นว่า อะไรที่ทำให้หนุ่ม ๓ คนหลงรักเธอพร้อมกัน … เพราะความสวย/น่ารัก เช่นนั้นเหรอ?
กำกับภาพโดย พูนสวัสดิ์ ธีมากร (ผลงานถ่ายหนังเรื่องแรก หลังกลับจากฝึกงานที่โรงถ่าย Toho ประเทศญี่ปุ่น) ถ่ายทำด้วยฟีล์ม ๓๕ mm, SuperCinescope, EastmanColor บันทึกเสียงในฟิล์ม (แล้วไปพากย์ทับทีหลัง) ถ่ายเสร็จต้องส่งล้างที่ฮ่องกง เพราะไม่มีห้องแลปในไทย
สำหรับเรือนแพ เป็นเรือที่ทีมงานทุ่มทุนสร้างขึ้นใหม่ทั้งลำ เพื่อให้สามารถถ่ายทำจากภายในได้เลย
กับฉากหนึ่งที่ผมคิดว่าดูดีที่สุดในหนังแล้ว, ตอนที่เจนกลับเรือนแพ เขาซื้อแหวนหมั้นเพื่อจะขอแต่งงานกับเพ็ญ แต่พอเข้าบ้าน มองไปที่โต๊ะ กล้องแพนเคลื่อนไปทางซ้าย เห็นเตียงผ้าใบ ดอกกุหลาบร่วงลงพื้น (Defloration) ค่อยๆเคลื่อนไป เห็นแก้วกับเพ็ญกำลังจู๋จี๋, มุมกล้องแทนสายตาของเจน กวาดไปด้วยความพิศวง พอเห็นทั้งสองคงตกตะลึงงัน (กล้องแพนขึ้น Tilting อย่างรวดเร็ว)
ตัดต่อโดย อำนวย กลัสนิมิ กับ พร้อม รุ่งรังษี, เนื่องจากหนังมี ๓+๑ ตัวละครหลัก จึงใช้การตัดสลับมุมมองการเล่าเรื่องไปมาของหนุ่มๆทั้ง ๓ (ส่วนใหญ่ +๑ มักจะพบเจออยู่กับใครคนใดคนหนึ่งเสมอ)
หลังจากที่แก้วกับเจน กลายเป็นตำรวจกับโจร หนังจะมีการตัดสลับเหตุการณ์ทั้งสองฝั่งไปมา มีลูกเล่นคือการแก้ทางกันและกัน, เริ่มจากฝ่ายเจนที่คิดวางแผนจับ ตัดไปแก้วคิดตลบแก้ทาง แล้วตัดกลับมาเจนคิดซ้อนแผน … หนังทำให้เรารู้สึกเหมือนว่า เจนฉลาดกว่าแก้ว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจับได้เลย เพราะเมื่อต้องสู้กันด้วยกำลังทุกที เจนจะแพ้แก้วตลอด
เพลงประกอบโดย หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ บรรเลงดนตรีประกอบโดย จุลดุริยางค์ กองทัพเรือ และวงดนตรีอัศวิน ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศและความตื่นเต้นให้กับหนัง, มีการใช้เพลงคลาสสิกชื่อดัง อาทิ Ernesto De Curtis: Torna a Surriento (Come back to Sorrento) เพลงตอนเล่นเปียโน, Ferde Grofé: Grand Canyon Suite 5 (Cloudburst) ในฉากลมพายุฟ้าฝน, Johann Strauss II: The Blue Danube (ตอนซ้อนดนตรี) ฯ
นอกจากเพลง เรือนแพ ที่ดังๆแล้ว หนังยังมีบทเพลงอื่นที่ดังไม่แพ้กัน อาทิ
– วันเพ็ญ ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร กับ สวลี ผกาพันธุ์ นำมาจากภาพยนตร์เรื่อง วันเพ็ญ (พ.ศ.๒๔๘๒)
– เงาไม้ ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์ นำมาจากภาพยนตร์เรื่อง ลูกทุ่ง (พ.ศ.๒๔๘๓)
– บัวขาว ขับร้องโดย แนบ เนตรานนท์ นำมาจากภาพยนตร์เรื่อง แม่สื่อสาว (พ.ศ.๒๔๘๑)
– สายชล ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร
ผมหยิบเพลงวันเพ็ญ มาให้ฟังอีกเพลง แต่ไม่ใช่ฉบับที่ ชรินทร์ ร้องคู่กับ สวลี (หาไม่มีใน Youtube) เป็นฉบับชรินทร์ ร้องคู่กับ นภา หวังในธรรม ประพันธ์คำร้องโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทำนองโดย หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์
ผมเพิ่งเคยสังเกตคำร้องเพลงเก่าๆแบบจริงจัง พบว่าจะไม่ค่อยมีท่อนฮุค (คือไม่มีร้องซ้ำ) เนื้อร้องไม่ยาวมาก มีสัมผัสคล้องจอง เล่นคำสร้างสรรค์ มีความหมายลึกซึ้งแต่ตรงไปตรงมา (คนสมัยนี้คงมองว่า สำบัดสำนวน เหมือนภาษาดอกไม้) การร้องช้า ทำให้การออกเสียงแต่ละคำดังชัดเจน มีการเล่น/ขยี้/ลูกคอ เหมือนว่าทุกตัวอักษร กลั่นกรองออกมาจากความรู้สึก ห้างอารมณ์ของศิลปิน นักร้อง ผู้แต่ง มันจึงมีความลึกซึ้ง กินใจ ที่ค่อยๆซึมซับซาบซ่านเข้าไปอย่างช้าๆ เกาะติดสัมผัสก้องกังวาล อยู่เนิ่นนานไม่ยอมจากไป
นี่ทำให้ผมเกิดข้อสงสัย ทำไมเพลงไทยคลาสสิกช่างมีความไพเราะงดงาม แต่หนังไทยกลับไปได้ไม่ถึงระดับนั้น
เมืองไทยสมัยก่อน ผู้คนมีชีวิตอยู่ติดใกล้ชิดริมแม่น้ำลำธาร เรือนแพนั้นคือบ้าน แหล่งที่พิงพักอาศัย ทั้งกาย/วาจา/ใจ เป็นสถานที่แห่งความสุขทุกข์ มิตรภาพเสียสละ ความรักการสูญเสีย เริ่มต้นอาจมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม ย่อมกลายเป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่เมื่อถึงเวลาหมดสิ้นอายุขัย ก็จมดำดิ่งสู่ความมืดมิด
สามหนุ่มสามมุม กาย/วาจา/ใจ
– แข็งแกร่งทางกาย แต่อ่อนแอทางใจ เปราะบางเหมือนแก้ว
– เป็นมันสมองของจิตใจ เฉลียวฉลาด เจนจัดรอบรู้
– ส่วนริน คงมาจากประโยคที่ว่า เรื่อยๆมารินๆ เหมือนดั่งคำพูด วาจาที่หลั่งไหล
ส่วนเพ็ญ มีได้สองแบบคือ วันเพ็ญ กับจันทร์เพ็ญ จริงๆสองคำนี้แปลว่า คืนวันพระจันทร์เต็มดวงทั้งคู่ แต่เราสามารถมองแยกคำได้ว่า วัน=กลางวัน และ จันทร์=กลางคืน หรือจะคือด้านมืดด้านสว่างของมนุษย์, จะเห็นว่าครึ่งแรก เพ็ญมีชีวิตที่สุขสดใสเหมือนดั่งวันเพ็ญ แต่ครึ่งหลังเมื่อจมอยู่ในความรัก โงหัวไม่ขึ้น จึงเปรียบเสมือนจันทร์เพ็ญ ยามค่ำคืน/เดือนมืด
หญิงสาวตกหลุมรักผู้ชายสามคน กาย/วาจา/ใจ ซึ่งเธอยินยอมพลีตัวให้กับรูปของกาย ที่ใช้ความความต้องการชั่ววูบเข้าแลก มองมุมนี้กับฉากนั้นยังไงก็คือการข่มขืน แต่เพราะหญิงสาวแสดงความสมยอม ตรรกะเพี้ยนของเธอจึง ชีวิตนี้พลาดไปแล้ว ฉันจะไม่ขอมีชายอื่น รักเดียวใจเดียว ซึ่งทำให้ชะตากรรมของเธอ ต้องตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส สุดท้ายกลายเป็นความสูญเสีย, นัยยะนี้สื่อความหมายค่อนข้างดีนะครับ สอนไม่ให้ลุ่มหลงใหลในรูปกาย เห็นหล่อสวยแล้วยังไง เผลอใจพลีกาย มองเห็นจิตใจแท้จริงของเขาหรือเปล่า?
วาจาถือเป็นผู้อาภัพไร้ค่าที่สุด เพราะไม่มีอะไรดี ทำอะไรไม่เคยได้ประสบความสำเร็จ แม้ตนจะมีความสามารถ แต่กลับไม่เคยได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ ตกอยู่กึ่งกลางระหว่าง กายกับใจ ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่พึ่งพิงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด, ตัวละครริน ผมมองว่าคือจุดด้อยของหนัง ที่ถึงเหตุการณ์นั้นถูกมองเป็น ความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างกายกับใจ แล้ววาจามีประโยชน์อะไร ???? เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ที่ผมไม่สามารถหาคำตอบได้
จิตใจคือสิ่งที่แทนด้วยคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของมนุษย์ สมองมีไว้คิดทบทวนหาเหตุและผล ไม่ได้ใช้เพื่อทำตามใจอยาก, จิตใจที่ดีต้องมีความเข้าใจ ไม่อ่อนไหวหรือใจร้อน แต่พร้อมให้โอกาสและให้อภัย, เหมือนดั่งที่ เจน พร้อมเสมอที่จะยกโทษให้ แก้ว แต่ร่างกายที่ดื้อดึง ต่อต้าน คิดไม่เป็น ยอมแพ้ไม่ได้ รั้นจนถึงที่สุด
การตายของตัวละคร ล้วนเกิดจากบุคคลภายนอก มองเป็นความชั่วร้ายที่กัดกร่อน เกาะกินตัวตนของมนุษย์ เริ่มจากคำพูด ไปเป็นร่างกาย สุดท้ายคือจิตใจ ถ้าเราไม่เร่งที่จะตัดสัมพันธ์ จัดการทำลาย เมื่อถึงระยะสุดท้าย ก็ไม่มีอะไรสามารถเยียวยารักษาหายได้
เรือนแพ จัดเป็นเรื่องราวโศกนาฎกรรม ที่สอนให้ผู้ชมคิดทบทวน ครุ่นคิดค้นหาอุดมการณ์ เป้าหมายของชีวิต โตขึ้นอยากเป็นอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน
1) ถ้าตั้งใจเรียน จบมาหน้าที่การงานมั่นคง ก้าวหน้า มีชีวิตอยู่ในคุณธรรม ศีลธรรม (เหนื่อยยากวันนี้ สบายวันหน้า)
2) หัวสร้างสรรค์ เป็นศิลปิน ถึงชีวิตจะไม่มั่นคง แต่ได้ทำสิ่งที่ใจรัก และมีโอกาสโชคดีประสบความสำเร็จ (เหนื่อยน้อยเหนื่อยนาน แต่ถ้าถูกหวย ก็รวยทันที)
3) โง่หน่อย เก่งแต่ใช้กำลัง เป็นนักกีฬาแข็งแกร่ง แต่ต้องระวังชีวิตจะเดินทางผิด พลาดแล้วกู่ไม่กลับ (สบายวันนี้ ลำบากวันหน้า)
มองในมุมความรัก คือสอนให้รู้จัก มองคนที่ข้างในจิตใจ อย่ามองแต่ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกสวยหล่อ หรือถ้อยคำวาจาที่หวานฉ่ำ แต่คือจิตใจที่เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไมตรี, นี่เป็นสิ่งต้องใช้สมองขบครุ่นคิด อย่าให้อารมณ์และจิตพาไป ไม่เช่นนั้นชีวิตมันจะอยู่ในขั้นวิกฤต กู่ไม่กลับหลับไม่สนิทแบบหนังเรื่องนี้
สำหรับตอนจบ กลับมาตายรังที่บ้านเก่า เป็นดั่งคำพูดที่ ริน บอกไว้ ‘เราคงกลับมาพบกันอีก ไม่ด้วยชีวิตก็วิญญาณ’ เพราะเมื่อแพแตก ต่างคนกระจัดกระจาย แยกย้ายไปคนละสายธาร โอกาสที่จะกลับมาพบกันพร้อมหน้าแทบเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว, นั่นคือชีวิตที่ในตอนแรกอาจคู่ขนานเดินไปด้วยกัน แต่เมื่อถึงเวลาแยกจาก ต่างคนก็ต้องเลือกเดินทาง ตัดสินชีวิตของตนเอง บางครั้งพบเจอ บางครั้งสวนทาง เป็นไปไม่ได้ที่จะกลับมาคู่ขนานกันอีก เว้นแต่ตอนตาย นี่จึงคือชะตากรรมตอนจบของหนัง ที่สุดท้ายเหลือแค่ … แทนด้วยสิ่งเดียวที่จะยังหลงเหลืออยู่เมื่อ ตัวตนจางหายไป
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีการนำกลับมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์ โดย ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น กำกับโดย วิจิตร คุณาวุฒิ นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง, สันติสุข พรหมศิริ, วีระ บำรุงศรี และ สมรัชนี เกสร แต่กระแสหนังกลับไม่แรงเท่าไหร่
มีการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ๒ ครั้ง
– ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย เอ็กแซ็กท์ ออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ กำกับการแสดงโดย สุพล วิเชียรฉาย นำแสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, จอนนี่ แอนโฟเน่ และ นุสบา วานิชอังกูร
– ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดย เอ็กแซ็กท์ และซีเนริโอ ออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ กำกับการแสดงโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ นำแสดงโดย ยุกต์ ส่งไพศาล, ภาคิน คำวิลัยศักดิ์, นภัทร อินทร์ใจเอื้อ และ บุษกร ตันติภนา ***ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งที่ ๒๖ (นักแสดงนำชายดีเด่น) และรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 (รางวัลมณีเมขลาดีเด่นยอดนิยม ประเภทดารานำชายดีเด่นยอดนิยมและละครดีเด่นยอดนิยม)
มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับ เทคนิคคัลเลอร์ (ประเทศไทย) และหอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมกับเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ใช้เวลาดำเนินงานกว่า ๓ ปี งบประมาณ ๑๐ ล้านบาท บูรณะสำเร็จและส่งมอบคืนแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติแล้ว ได้จัดฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะฉายประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งรายได้และรางวัล จากพิธีมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๕ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รางวัล
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ไชยา สุริยัน)
– นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (ส.อาสนจินดา)
– รางวัลออกแบบและสร้างฉากยอดเยี่ยม
– รางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยม
ต่อมา เสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงพระราชทานบทภาพยนตร์ให้นำมาเรียบเรียงดัดแปลงเป็นนวนิยาย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ในชื่อ เรือนแพ
ถึงผมจะไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้ แต่ก็ไม่รู้สึกเสียเวลาที่ได้รับชม ประทับใจกับการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ ไชยา สุริยัน, ส. อาสนจินดา, เพลงประกอบอันสุดไพเราะ อมตะ และแนวคิดที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อแล้วเป็นประโยชน์ ผมจึงถือเอาสาระนั้นให้คะแนนพอรับได้ แต่ถ้าถามว่าควรค่ากับการเสียเวลาไหม … อ่านบทความนี้แล้วลองพิจารณาเองดีกว่า
ถ้าคุณชื่นชอบฟังเพลงไทยคลาสสิกเพราะๆของ ชรินทร์ นันทนาคร หรือเป็นแฟนตัวยงของ ไชยา สุริยัน และ ส. อาสนจินดา ถือว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต PG กับการกระทำของโจร ฆ่าไร้เหตุผล
Leave a Reply