เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) : เป็นเอก รัตนเรือง ♥♥♥♥
ด้วยความที่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) สร้างความอับอายให้เป็นเอก รัตนเรือง เวลาไปฉายตามเทศกาลหนัง “มันดูโชว์ออฟ มันดูหวือหวา ดูแบบเหมือนคนแต่งตัวจัด แต่ไม่ค่อยมีอะไรในสมองเท่าไหร่” ทว่ายี่สิบนาทีสุดท้ายของหนังที่ดำเนินเรื่องในหนึ่งวันมันเวิร์คแฮะ เลยอยากทำเรื่องถัดไปที่มีแค่หนึ่งวัน หนึ่งสถานที่ เรื่องตลก 69
ปัญหาของหนังคือความอ่อนหัดของผม ถ้าผมเก่งกว่านั้น ผมมีประสบการณ์มากกว่านั้น ไอเดียพวกนั้นต่อให้มีเยอะขนาดนั้น ผมยังพอจะ work out ออกมาทุกไอเดียได้อย่างชัดเจน เป็นส่วนของเรื่อง แต่ ฝัน บ้าฯ ไอเดียมันไม่ได้เป็นส่วนของเรื่อง มันเป็นไอเดียโดดๆ ขึ้นมาเฉยๆ ทุกไอเดียเลย มันเลยไม่เป็นหนัง ความเป็นหนังมันไม่มี และอีกอย่างคือไอเดียที่เยอะๆเหล่านั้น กว่าครึ่งไม่ได้ถูกคิดออกมาอย่างดีก่อน ก่อนจะออกไปทำเป็นภาพเป็นเรื่อง หลายๆครั้งเลยเป็นแค่ไอเดียอยู่อย่างนั้น
เป็นเอก รัตนเรือง
คงมีผู้กำกับไม่กี่คนในโลกที่นำเอาบทเรียนผิดพลาดจากผลงานเรื่องก่อนหน้า มาเป็นแรงบันดาลตั้งต้นสำหรับสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดมา นั่นแสดงถึงความมุ่งมั่น กระตือรือล้นของเป็นเอก กรูอยากจะทำหนัง! แรงผลักดันศิลปิน เพื่อพิสูจน์การมีตัวตน พัฒนาวงการหนังไทยให้เจริญก้าวหน้า เดินทางไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติกลับมามากมาย
เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) ผมครุ่นคิดว่าคือภาพยนตร์ที่สำแดงเอกลักษณ์ ตัวตน ความเป็นเอก ได้เด่นชัดเจนกว่าผลงานเรื่องอื่นใด รวมถึงพบเห็นวิวัฒนาการก้าวกระโดดจาก ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) อาจไม่ได้ถึงขั้นประสบความสำเร็จสูงสุด (ผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดของเป็นเอกคือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖)) แต่กาลเวลาสามารถต่อยอดมาเป็นซีรีย์เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๖๗) ก็ต้องถือว่าคลาสสิกเหนือกาลเวลา!
ผมตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะเขียนเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) ในช่วงครบรอบ ๙ ปีของ raremeat.blog แต่ไม่ได้เอะใจว่าหนังผ่านการ Remaster (น่าจะคุณภาพ HD) โดย Five Star Production จนกระทั่งพบเห็นภาพเปรียบเทียบช็อตต่อช็อตกับซีรีย์เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๖๗) เอ๊ะ? ทำไมมันคมชัด ใสกิ๊กขนาดนั้น ก่อนค้นพบว่าสามารถรับชมออนไลน์ทาง TrueID โปรโมทให้แล้วนะ!
เกร็ด: ด้วยความที่หมิว ลลิตา ปัญโญภาส ถ่ายหนังเสร็จก็เดินทางกลับไปเรียนต่อกรุง London ไม่ได้เตรียมคิวไว้สำหรับถ่ายโปสเตอร์หนัง เลยใช้วิธีถ่ายภาพนิ่งจากฟีล์มหนัง (ไม่ได้เอาภาพจากฟีล์มหนังตรงๆนะครับ) ตากล้องคือเฟย์ อัศเวศน์ (แฟนสาวเป็นเอกขณะนั้น ทำงานเป็นช่างภาพนิ่งในกองถ่าย) ผลลัพท์ภาพออกมาแตกๆ เต็มไปด้วยเม็ดสี (Film Grain) ช่วยเสริมคาแรคเตอร์ให้ตัวละครได้อีกต่างหาก
เป็นเอก รัตนเรือง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร โตขึ้นเดินทางสู่ New York, สหรัฐอเมริกา ช่วงวัยรุ่นไม่ได้มีความชื่นชอบภาพยนตร์สักเท่าไหร่ จนกระทั่งรับชม 8½ (1963) แม้ดูไม่รู้เรื่อง แต่หลงใหลความเป็นไปได้ไม่รู้จบ, สำเร็จการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์และปรัชญาจาก Pratt Institute แล้วทำงานเป็นนักออกแบบ วาดภาพประกอบอิสระ, หวนกลับมาเมืองไทยเข้าบริษัท The Film Factory กำกับโฆษณาหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคว้าเหรียญทองแดงจาก Cannes Lion Awards เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
ความรู้สึกผิดหวังต่อ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) คือแรงผลักดันให้เป็นเอก ครุ่นคิดทบทวนตนเอง มองหาว่าทำอะไรออกมาดี มีความประทับใจ แล้วจึงเริ่มต่อยอดจากจุดนั้น ซึ่งสิ่งที่เขาค้นพบคือ ๒๐ นาทีสุดท้ายของหนัง ดำเนินเรื่องในหนึ่งวัน มันช่างลื่นไหล กลมกล่อม เอาอยู่!
ตอนเป็นเอกเริ่มพัฒนาบทหนัง กำลังเกิดการพังทลายของระบบเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์การเงินเอเชีย พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ผู้คนมากมายถูกเลิกจ้าง ตกงาน แถมข้าวยากหมากแพง แล้วจะอยู่จะกิน จะเอาตัวรอดยังไง? ตั้งสมมติฐานถ้ามีเงินล้านใส่ลังมาม่าวางอยู่หน้าห้อง เป็นคุณจะเอาหรือไม่?
ผมรู้สึกว่าบทเรื่องนี้มันเป็นหนังมาก คือโคตรจะเป็นหนังเลย คือสำหรับคนจริงๆสิ่งที่จะเกิดแบบนี้ได้ ไอ้คนนั้นต้องเป็นคนชนิดโคตรซวยจริงๆ ต้องปาฎิหารย์จริงๆถึงจะเกิดขึ้นได้ แต่มันก็มีที่เกิดแบบนี้ ดูในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มี เพราะเรื่องนี้แรงบันดาลใจมาจากหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งนั้น แล้วเอามาผสมกัน ซึ่งมันเกิดจากสคริปท์ที่เป็นหนัง บางตอนก็จะโม้ๆ เพราะถ้าไม่โม้มันก็ไม่สนุก เลยคิดว่าถ้างั้นเรานำเสนอให้เป็นหนังน้อยที่สุดไหม ทำออกมาให้ดูสมจริงที่สุด
เป็นเอก รัตนเรือง
เกร็ด: ก่อนชื่อหนังจะมาเป็น เรื่องตลก 69 มีสารพัดชื่อที่ครุ่นคิดกันมา อาทิ คนเดินดิน, เสือสิงห์กระทิงตุ้ม, เละตุ้มเป๊ะ, ตุ้ม 69, เรื่องของคนอื่น, แต่มีชื่อหนึ่งที่เป็นเอกกล่าวถึงบ่อยๆ เสือก เพื่อว่าเวลาซื้อตั๋วกับคนขาย “วันนี้จะดูเรื่องอะไร?” “เสือกครับ/ค่ะ” มันคงเป็นการสนทนาที่ตลกร้าย
ตุ้ม (ลลิตา ปัญโญภาส) พนักงานบริษัทไฟแนนซ์ที่เพิ่งถูกให้ออกจากงาน พักอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในห้องหมายเลข 6 บนชั้นสามของอพาร์ทเมนท์ วันหนึ่งเกิดเรื่องยุ่งๆ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาได้ยินเสียงคนเคาะประตูห้อง พบเห็นลังบะหมี่สำเร็จรูป ภายในบรรจุธนบัตรอัดเต็มลังวางไว้หน้าห้อง
แท้จริงแล้วเกิดความผิดพลาดเพราะป้ายเลขห้องของเธอ น็อตยึดหลุดไป ป้ายเลข 6 จึงพลิกลงมาเป็นเลข 9 เงินนั้นเป็นเงินค่าจ้างล้มมวยที่ครรชิต นัดส่งมอบกับเสี่ยโต้งที่หน้าห้องหมายเลข 9 เรื่องวุ่นๆจึงบังเกิดขึ้นเพราะตุ้มตัดสินใจเก็บเงินก้อนไว้ ตั้งใจจะหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ กลับต้องเผชิญหน้าลูกน้องของเสี่ยโต้ง นักเลงเจ้าของค่ายมวยครรชิต รวมถึงตำรวจที่ซุ่มวางแผนจับพ่อค้ายาข้างห้อง พลอยโดนลูกหลง ซวยกันไปหมด ชิบหายวายป่วน
ลลิตา ปัญโญภาส ชื่อเกิด ลลิตา โชติรส (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๔) เกิดที่กรุงเทพมหานคร ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี เรียนประถม-มัธยมเซนต์โยเซฟ, ต่อด้วยเตรียมอุดมฯ สายศิลปภาษา-ฝรั่งเศส, จบการศึกษาปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, แล้วไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาการออกแบบตกแต่งภายใน Master Middlesex University ประเทศอังกฤษ, ในส่วนการแสดงเริ่มมีผลงานละคอนเรื่องแรกตั้งแต่ยังเด็ก สะใภ้สลัม (พ.ศ. ๒๕๒๔) ก่อนโด่งดังกับ ปริศนา (พ.ศ. ๒๕๓๐), วนาลี (พ.ศ. ๒๕๓๓), วนิดา (พ.ศ. ๒๕๓๔), ภาพยนตร์เรื่องแรก แรงเทียน (พ.ศ. ๒๕๓๑) คว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงดาวรุ่งหญิง
รับบทตุ้ม พนักงานบริษัทไฟแนนซ์ที่เพิ่งถูกไล่ออกจากงานอันเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ยังไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป เช้าวันใหม่ตื่นขึ้นมาพบเจอลังมาม่าใส่เงินล้านวางอยู่หน้าห้อง เลยตัดสินใจเก็บซ่อนเอาไว้ ตั้งใจหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ยังไม่ทันไรก็ถูกลูกน้องของเจ้าของเงินติดตามมาพบเจอ ก่อนบังเกิดเรื่องชุลมุนวุ่นวาย เป็นเหตุให้มีคนตาย จากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ ดวลปืนกันสนั่นหวั่นไหว ไม่รู้จักจบจักสิ้น แม้แต่เพื่อนจิ๋มยังพลอยโดนลูกหลง จนเธอล้มเลิกความตั้งใจ โยนเงินต้องคำสาปทิ้งลงแม่น้ำโดยพลัน
เนื่องจากเป็นเอกไม่ชอบดูโทรทัศน์ เลยไม่ค่อยรู้จักนักแสดงในวงการมากนัก มีคนพูดคุยกันเล่นๆแต่จริงจังว่าตอนนั้นเขารู้จักนักแสดงหญิงแค่ ๔ คน ประกอบด้วย หมิว ลลิตา, แหม่ม คัทลียา, มาช่า วัฒนพานิช และใหม่ เจริญปุระ เป็นความบังเอิญล้วนๆตอนนำ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ไปฉายประเทศอังกฤษ ขณะนั้นหมิวกำลังเรียนต่อปริญญาโท มีโอกาสรับชม พบเจอ ขออ่านบท แล้วก็ตอบตกลง
เริ่มจากรู้จักทีมงานนี้ จากเรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ ได้ไปดูตอนที่หน้าไปฉายที่อังกฤษ รู้สึกประทับใจกับหนังที่ไปฉายที่นั่นแล้วคนให้ความสนใจ เพราะคนที่ดูส่วนมากเป็นฝรั่ง มีคนไทยอยู่กลุ่มหนึ่ง รู้สึกว่าหนังไทยก้าวไปอีกขั้นหนึ่งถึงระดับนานาชาติ ตัวแทนประเทศอีกสาขาหนึ่งของงานศิลปะ แล้วสไตล์หนังเรื่องนั้น เราก็ชอบหลายอย่าง และความที่เป็นนักแสดงเราอยากที่จะลองอะไรใหม่ๆ หนังแบบนี้ไม่เคยเล่น แล้วยิ่งได้ยินข่าวว่างทา Film Factory สนใจที่จะชวนหมิวเล่นหนัง เรารู้สึก ‘จริงหรือเปล่า?’ เพราะรู้ตัวว่าคนมองเรายังไง แต่ถึงไม่ได้เล่น แค่เขาชวนเราก็รู้สึกดีแล้ว
ลลิตา ปัญโญภาส
บทบาทที่หมิวมักได้รับก่อนหน้านี้ แทบจะเรียกได้ว่านางฟ้า เลิศเลอ สูงศักดิ์ มีความน่ารัก กุ๊กกิ๊ก โรแมนติกหวานฉ่ำ แต่เธอใฝ่ฝันอยากเล่นบทหญิงแกร่ง เล่นหนังฆาตกรรม ฉีกภาพจำตนเอง ทำในสิ่งผิดแผกแตกต่าง … นี่อาจถือเป็นครั้งแรกๆของวงการภาพยนตร์ไทยเลยด้วยซ้ำ สำหรับนักแสดงหญิงระดับซุปตาร์ที่หาญกล้า พลิกบทบาท ทำในสิ่งแปลกแยกขนบวิถีนักแสดงไทย
สไตล์เป็นเอก มอบอิสระให้นักแสดงครุ่นคิดสร้างตัวละครโดยไม่มีคำแนะนำใดๆ เพียงบอกให้ละทอดทิ้งแนวทางการแสดงละคอนโทรทัศน์ ที่มักถ่ายทอดอารมณ์ผ่านคำพูด น้ำเสียง ท่าทางแสดงออกที่มีความเว่อวังอลังการ มาเป็นสื่อสารผ่านสีหน้า ดวงตา ขยับเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆ ให้เวลาผู้ชมซึมซับความรู้สึก ทำความเข้าใจปฏิกิริยาของตัวละคร “การที่คุณนั่งเฉยๆ นั่งมองแก้วแล้วน้ำตามันค่อยๆเอ่อขึ้นมาแปลว่าเศร้าแล้ว”
การแสดงของหมิวมีความเป็นธรรมดาชาติมากๆ ทำออกมาให้ดูง่ายไปหมด ราวกับเกิดมาเพื่อบทบาทนี้! โดยเฉพาะการทำใบหน้านิ่งๆ ราวกับไม่มีปฏิกิริยาความรู้สึกใดๆ แต่เราสามารถสัมผัสถึงบางสิ่งซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซื้อลังใหญ่ๆไปทำไม? อ๋อ ใส่หนังสือค่ะ! คนขายทำหน้าฉงน ผู้ชมกลับอมยิ้ม หัวเราะหึๆ ต้องตั้งฉายา “เจ้าแม่หน้าตาย” (หมายถึงคนที่ทำหน้านิ่งๆ แต่เคลือบแฝงอารมณ์ซับซ้อนภายใน)
เขาจะเห็นเลยว่า ลลิตา ไม่ใช่ ลลิตา ในแบบนางฟ้าอีกต่อไปแล้ว เขาจะเห็น ลลิตา แบบยืนคอยรถเมล์อยู่ข้างๆเขาได้เลย แล้วผมอยากให้มาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นแฟนละครของหมิว คนที่ปลื้มหมิว ถ้ามาดูผมว่าเขาจะยิ่งปลื้มเธอยิ่งขึ้นไปอีก เพราะจะเห็นว่า โอ้โห คนๆนี้ไม่ใช่แค่สวย ไม่ใช่แค่นั้น แต่เธอเป็นนักแสดงจริงๆ
เป็นเอก รัตนเรือง
เกร็ด: ตอนฉายหนังรอบปฐมทัศน์ หมิวต้องพาคุณแม่ออกจากโรงกลางคัน ทนดูไม่ไหว “แรงจังเลย” แต่เธอก็พยายามอธิบายว่าทำไมถึงอยากเล่น อยากเป็นตัวเอง อยากลองงานใหม่ อยากสนุกกับการทำงานทุกวัน แม่ก็เข้าใจ
ถ่ายภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๑) สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ จากนั้นทำงานผู้ช่วยช่างภาพ บริษัท ซาลอนฟิล์ม ไทยแลนด์ จำกัด ก่อนย้ายมาเป็นโปรดิวเซอร์บริษัทโฆษณา J. Walter Thompson ลาออกไปฝึกงานที่ Hong Kong หวนกลับมาปักหลักเป็นช่างภาพ The Film Factory ร่วมงานขาประจำเป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ถ่ายทำโฆษณา มาจนถึงภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), โอเคเบตง (พ.ศ. ๒๕๔๖), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙), ฝนตกขึ้นฟ้า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ
หนังฉบับ Remaster ไม่รู้ว่ามีการปรับเฉดสีหรือยังไง ทำให้สีสันดูจัดจ้าน สดใหม่ ราวกับโลกแฟนตาซี ดินแดนแห่งความฝัน น้ำเงิน-แดง-เขียวโดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน (สีสดพอๆกับมนต์รักทรานซิสเตอร์) และที่สำคัญคือไม่ตัดขอบบน-ล่าง เหมือนภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ใช้อัตราส่วน Widescreen (16:9) ตรงตามวิสัยทัศน์ผู้สร้าง
เมื่อเปรียบเทียบกับ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) การโชว์อ็อฟสไตล์เป็นเอก ลูกเล่นภาพยนตร์ในเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีปริมาณลดลงพอสมควร (แต่ยังเต็มไปด้วย ‘misdirection’ ล่อหลอกผู้ชมนับครั้งไม่ถ้วน) หันไปมุ่งเน้นสร้างเรื่องราวจากความบังเอิญ จับพลัดจับพลู จับแพะชนแกะ ทั้งหมดล้วนคือโชคชะตาฟ้าลิขิต/ผู้กำกับคือคนชักโยงใยทุกสิ่งอย่างเบื้องหลัง
เกร็ด: สถานที่ที่ใช้เป็นอพาร์ทเม้นท์ของตุ้ม แท้จริงแล้วคือโรงพยาบาลเก่า ผมเห็นในเครดิตส่วนขอบคุณ มีชื่อของโรงพยาบาลศรีสยาม นวมินทร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์), ส่วนค่ายครรชิตมวยไทย ถ่ายทำยังโรงเรียนมวยไทย นายสยามมวยรังษิต (ในเครดิตเขียนแบบนี้เลยนะ)
โดยปกติแล้วการเสี่ยงเซียมซี เรามักคาดหวังจะได้ผลตอบรับที่ดี แต่สไตล์เป็นเอกขึ้นชื่อเรื่องการล่อหลอกผู้ชม (misdirection) มันเลยแทบจะการันตีผลร้าย ถูกนำมาใช้วัดดวงว่าใครจักถูกให้ออกจากงาน แน่นอนว่านางเอกต้องเป็นหนึ่งในนั้น!
เกร็ด: เซียมซี (求签) เป็นการทำนายดวงชะตารูปแบบหนึ่งตามธรรมเนียมของจีน โดยการเขย่าภาชนะที่บรรจุหมายเลขเขียนไว้บนไม้ไผ่เหลาเป็นซีก โดยไม้ที่หล่นลงมาแท่งแรกจะแสดงหมายเลข นำไปตรวจสอบกับคำทำนาย พิธีกรรมดังกล่าวได้รับการแพร่หลายในประเทศจีน ไทย ญี่ปุ่น … เชื่อกันว่าเซียมซีถูกคิดค้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ชาง, 商朝 (1,600BC – 1046BC) นำเข้ามาในเมืองไทยพร้อมกับคนจีนที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ชื่อหนังปรากฎขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์กำลังถูกบดบังด้วยก้อนเมฆมืดครื้ม เหมือนการพยากรณ์หายนะกำลังจะบังเกิดขึ้น ซึ่งตำแหน่งที่ลำแสงสาดส่องลงมา พอดิบพอดีกับหยดเลือด (ที่อยู่ระหว่างเรื่อง & ตลก) และลักษณะตัวอักษรสังเกตว่า
- “เรื่อง” ตัวอักษรแบบทางการ ย้อมสีแดงเลือด แสดงถึงความจริงจังที่กลายเป็นหายนะ ความตาย
- “ตลก 69” เหมือนลายมือ เขียนเล่นๆ ไม่จริงจัง ให้สอดคล้องความตลกขบขัน
หลังชื่อหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังจากภาพของเจ้าหญิง Diana, Princess of Wales (1961-97) ที่ตอนนั้นเพิ่งเสียชีวิต/สิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน ยังคงความเศร้าโศกเสียใจ แบบเดียวกับตุ้ม (หมิว=เจ้าหญิง Diana) ถูกไล่ออกจากงาน เลยยังน้ำตาตกใน … ไม่ได้ต้องใช้การแสดงเว่อวังอลังการ ทำหน้านิ่งๆ แทบไม่ขยับเคลื่อนไหวติง แต่น้ำตาหยอดออกมา ก็สร้างความประทับจับใจ
จากนั้นจะเริ่มร้อยเรียงทิวทัศน์กรุงเทพฯ ระหว่างตุ้มนั่งรถเมล์กลับอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นหมาข้ามถนน, คนลากรถเข็น, ขับรถส่งของ, หลับนอนบนแม็คโคร ฯ สามารถสื่อถึงชนชาวกรุงฯ พยายามต่อสู้ดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ ตั้งใจทำงานหาเงิน แต่กลับมีสภาพไม่ต่างจากหมาข้างถนน
ลิฟท์เสีย มันอาจสื่อถึงชีวิตไม่มีหนทางลัด เงินทอง/ความสำเร็จ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในหนึ่งวัน ทำให้ตุ้มต้องก้าวเดินขึ้นบันไดทีละขั้นเพื่อกลับห้องตนเอง … ขณะเดียวกันการที่ลิฟท์เสีย ทำให้พวกลูกน้องครรชิตต้องเดินขึ้นบันได ผ่านหน้าห้องตุ้ม แล้วเกิดความเข้าใจผิดว่าคือหมายเลข 9 (ถ้าลิฟท์ไม่เสีย พวกมันอาจไม่เดินผ่านห้องของตุ้มเลยก็เป็นได้)
แซว: ลิปเสียว (Lips แปลว่าริมฝีปาก)
พฤติกรรมชายคนนี้ช่างดูมีลับลมคมใน จู่ๆเดินตรงเข้ามา อาสาช่วยถือของ แม้ถูกปฏิเสธยังติดตามงอนงอ พยายามจะเข้าไปสำรวจภายในห้องของตุ้ม หมอนี่มาดีมาร้าย? โจรขืนใจ? แถมบทเพลงรักเธอที่สุด (ปั่น ไพบูลย์เกียรติ) ยังชี้นำสุดๆ แต่สไตล์เป็นเอก ทุกสิ่งที่รับรู้สึกจากซีเควนซ์นี้ ล้วนเป็นการล่อหลอก (misdirection) ให้ผู้ชมหลงเข้าใจผิดๆ … เพราะชายคนนี้คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนรักอยู่แล้ว เข้ามาในห้องเพื่อดูลาดเลา เผื่ออนาคตจะต้องขอความร่วมมือบางอย่าง
สไตล์เป็นเอก ช่างมีความสอดคล้องเข้ากับแนวคิดการพลิกกลับตารของ 6 และ 9 ชอบนำเสนอสิ่งอย่างหนึ่งเพื่อล่อหลอกผู้ชม (misdirection) ก่อนเปิดเผยความจริงว่ามีทิศทางแตกต่างตรงกันข้าม!
ยกตัวอย่างตอนแวะมาซื้อของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เนื่องด้วยเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ สินค้าราคาเพิ่งสูงขึ้น เงินห้าร้อยบาทไม่เพียงพอจับจ่ายใช้สอย ตุ้มเลยพูดบอกกับพนักงานว่าจะเอาสินค้าไปคืน แต่เธอกลับมองหาจังหวะเหมาะๆ นำเอานม (ดื่มเพื่อร่างกาย) และกาแฟ (ดื่มเพื่อจิตวิญญาณ) แอบยัดใส่กระเป๋า … โดยปกติแล้วนางเอกสวยๆอย่าง หมิว ลลิตา มักเล่นบทนางฟ้า แม่คนดี ขณะนี้พลิกบทบาท กลับกลายเป็นหัวขโมยไปเสียแล้ว
พบเห็นดื่มน้ำยาซักผ้า ล้างห้องน้ำ เอาปืนจ่อปาก เชื่อว่าหลายคนย่อมต้องหลงครุ่นคิดว่าตุ้มฆ่าตัวตาย (เพราะถูกไล่ออกจากงาน และไม่มีเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้) แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนคือความยียวน สไตล์เป็นเอก ล่อหลอกผู้ชมไปทิศทางหนึ่ง (misdirection) ก่อนฟื้นตื่นขึ้นมาบนโลกความจริงที่โหดร้าย
มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จ อาหารที่ไม่ได้มีคุณประโยชน์มากนัก แต่คนไทยกลับนิยมบริโภคเพราะราคาถูก สำหรับประทังชีวิต หาซื้อได้ทั่วๆไป (ถือเป็น Fast Food ของคนไทย) และยังสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความยากจนของประเทศ ถ้าขายดีแสดงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ คนไม่มีเงินซื้ออาหารราคาแพงกว่านี้
ซึ่งเอาเงินสดมาใส่ลังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องถือว่าเป็นวิธีล่อหลอก (misdirection) ได้อย่างเฉลียวฉลาด ใครจะไปครุ่นคิดว่าลังมาม่าราคาถูกๆจะมีเงินนับล้านซุกซ่อนอยู่! … ในทิศทางกลับกัน มันยังแสดงถึงเงินก้อนนี้ที่มีราคาถูก ได้มาด้วยความบังเอิญ ไม่ใช่ด้วยน้ำพรรคน้ำแรงของตนเอง จึงกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับค่าตอบแทนมากมายมหาศาล
เกร็ด: หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงมีแต่แบงค์ห้าร้อย ไม่มีแบงค์พัน? เพราะยุคสมัยนั้นแบงค์พันยังไม่มีความจำเป็น ไม่ค่อยแพร่หลาย อีกทั้งเพิ่งเริ่มมีการตีพิมพ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (แบงค์พันก่อนหน้านั้นตีพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๘, พ.ศ. ๒๔๘๕) กล่าวคือยังไม่ค่อยมีใช้ในระบบนั่นเอง!
ระหว่างที่ตุ้มโทรศัพท์หาเพื่อนจิ๋ม กล้องถ่ายติดภาพวาดบนหัวเตียง The Birth of Venus (1484–86) ผลงานของจิตรกรสัญชาติอิตาเลี่ยน Sandro Botticelli (1445 – 1510) แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) นำเสนอภาพวาดของเทพี Venus มาถึงชายฝั่งหลังจากเพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลก ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยทันที
แวบแรกที่ได้ยินชื่อจิ๋ม ต่อด้วยภาพวาดนี้ มันก็ชวนให้ครุ่นคิดเตลิดเปิดเปิงไปไกล !#$%^ แต่นัยยะอาจจะสื่อถึงนาทีนี้ที่ตุ้ม (=เทพี Venus) ราวกับถือกำเนิดใหม่ คลายทุกข์คลายโศกจากเพิ่งถูกเลิกจ้างงานเมื่อวาน จู่ๆได้รับลาภลอย เงินก้อนโต กำลังครุ่นคิดหาวิธีจัดการกับมัน
ผมแอบเสียดายภาพช็อตนี้ที่ถ่ายกรงนกเบลอไปหน่อย มองเห็นไม่ค่อยชัด จุดประสงค์คงเพื่อเปรียบเทียบกับตุ้ม (=นกในกรง) เพราะการมาถึงของลูกน้องครรชิต กำลังติดตามหาลังมาม่า (ที่เธอเก็บเข้ามาในห้อง) วินาทีนี้ไร้หนทางหลบหนี ไม่รู้จะทำอะไรยังไงดี?
เมื่อตอนที่ลูกน้องครรชิตบุกเข้ามาในห้อง เกิดการต่อสู้ ชกต่อยกับตุ้ม กล้องค่อยๆซูมเข้าหารายการโทรทัศน์ช่องแปดของ ศจ.นพ.ม.ร.ว. ชัยอนันต์ พิบูลสารคาม (หน้าคุ้นๆแต่ผมนึกชื่อไม่ออก) ขณะนั้นกำลังเทศนาสั่งสอน “หยุดความรุนแรงต่อธรรมชาติ” “หยุดตัดไม้ทำลายป่า” มันช่างสอดคล้อง ล้อเลียน ประชดประชัน สไตล์เป็นเอกยิ่งนัก!
ช่วงระหว่างที่ตุ้มถูกขึ้นค่อม บีบคอ มีการตัดภาพเท้าสะบัดกวัดแกว่ง → นกในกรงกระเสือกกระสน → เสียงรัวกลองแต๊กราวกับนกกำลังกระพรือปีก มันช่างเป็นสอดคล้องอันน่าทึ่ง, และวินาทีสุดท้ายตุ้มปล่อยทิ้งเท้า เสียงกลองแต๊กก็เงียบลง นี่ก็พยายามล่อหลอกผู้ชม (ว่าสิ้นใจตาย) ก่อนเธอลืมตาขึ้นมา จัดการสังหารลูกน้องครรชิตได้สำเร็จ!
เกร็ด: สองลูกน้องครรชิตเบิ้มและน้อย ทีแรกวางแผนจะให้ บุ๋มบิ๋ม สามโทน และเรย์ แมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นคู่หูมือปืนของเสี่ยในหนังเรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) มาร่วมรับเชิญ จักรวาลเดียวกัน แต่ไม่รู้คิวไม่ว่างหรือยังไงเลยล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าว
ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกเหมือนกล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหามือของตุ้ม (ที่ลงมือสังหารลูกน้องครรชิต) ก่อนตัดภาพไปยังมือพระพุทธรูป แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง ได้ยินเสียงโทรศัพท์ พบเจอกับครรชิตพูดคุยกับเสี่ยโต้ง … นี่ราวกับจะสื่อว่า มือของตุ้ม = มือพระพุทธรูป ได้ทำคุณประโยชน์ต่อชาวโลก ลงมือกำจัดคนโฉดชั่วร้าย??
แซว: เจ้าของค่ายมวยครรชิต สวดมนต์ไหว้พระ สวมแหวน ห้อยพระเครื่อง ปากอ้างนับถือพุทธศาสนา แต่จิตใจกลับเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ฆ่าคนตายโดยไม่กระพริบตา … โลกใบนี้มันช่างกลับตารปัตร เรื่องตลก 69
ระหว่างครรชิตคุยโทรศัพท์กับเสี่ยโต้ง มีภาพเปิดอ่านข่าวมวยในหนังสือพิมพ์ ทีแรกผมไม่ได้เอะใจอะไรหรอก แต่พอเปิดมาหน้านี้แล้ววางมือบนคอลัมน์คลีนิกมวยสยาม เลยลองเพ่งอ่านบรรทัดแรก(สีแดงวงไว้) น้องตุ้มกับการแปลงเพศ นั่นทำให้ผมเอะใจว่าชื่อตัวละครตุ้ม อาจได้แรงบันดาลใจจากเธอคนนี้ก็เป็นได้!
เกร็ด: เรื่องราวของน้องตุ้ม เริ่มมีชื่อเสียงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อเอาชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อ โอเว่น ส.บุญญา คู่ชกในการชกที่เวทีมวยลุมพินี ในฐานะนักมวยกะเทย แต่งหน้าทาปากขึ้นเวที และแสดงออกต่อสื่อว่าต้องการชกมวยเพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศ ได้รับค่าตัวจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท นำไปผ่าตัดในปีเดียวกันนั้น! และถูกดัดแปลงภาพยนตร์ บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖)
ทีแรกผมโคตรสงสัยว่าจะปกปิดบังใบหน้าเสี่ยโต้งทำไม? มันสำหรับคนดูหนังชิวๆ ไม่ค่อยครุ่นคิดอะไรมาก เพื่อตอนเปิดเผยว่าคือ… จะได้ตกตะลึง คาดไม่ถึง แต่ผมพอคาดเดาตั้งแต่ได้ยินเสียงแล้วละ
แซว: ที่แท้คนเปิดหนังสือพิมพ์คือเสี่ยโต้ง ไม่ใช่เจ้าของค่ายมวยครรชิต (ที่กำลังให้ลูกน้องนวดผ่อนคลาย)
นี่ก็ถือเป็นเรื่องตลก 69! สำอางค์ และสุภาพ (ที่หูหนวก) สติปัญญาไม่ค่อยมีแต่สามารถเล่นหมากรุกที่ต้องใช้ความครุ่นคิด และโดยเฉพาะสุภาพที่หูหนวก กลับใส่หูฟังเพลงบุพเพสันนิวาส … เอิ่ม??
นี่ไม่ใช่หนังประเภทสะท้อนปัญหาสังคม การแบ่งแยก หรือความเหลื่อมล้ำ เราจึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจการเอาเสามาขวางกั้น ระดับพื้นสูง-ต่ำ หัวหน้า-ลูกน้อง มันไม่ได้มีนัยยะเคลือบแฝงอะไรมากกว่านั้น
เกร็ด: แบล็ค ผมทอง ชื่อจริง เสมอ แก้วชน (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๖) ผู้รับบทเจ้าของค่ายมวยครรชิต พบเจอโดยเป็นเอก ระหว่างไปเดินซื้อของที่สวนจตุจักร เห็นว่าทำธุรกิจผลิตยาสระผม บำรุงผม ปลูกหนวดเครา น้ำมันสมุนไพร ชื่อว่า “แบล็กผมทอง” ซึ่งความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ทำให้มีผลงานแสดงติดตามมาอีกมากมาย แม่นากพระโขนง (พ.ศ.๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), สายล่อฟ้า (พ.ศ. ๒๕๔๗), พระ/เด็ก/เสือ/ไก่/วอก (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ
ตุ้มต้องการจะแจ้งความกับตำรวจ แต่เธอพยายามถึงสองครั้งครากลับไม่ประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง
- ครั้งแรกโทรศัพท์ ๑๙๑ แต่ทว่าใบหน้าเธอปกคลุมด้วยความมืดมิด (ถ่ายย้อนแสง) ไม่รู้จะพูดอะไรยังไง แล้วเกิดอาการคลื่นเหียร วิงเวียน ท้องไส้ปั่นป่วน รีบวิ่งเข้าห้องน้ำไปอาเจียน
- ครั้งสองเดินทางไปสถานีตำรวจ ระหว่างรอคิวแจ้งความ หันไปเห็นผู้ต้องขัง จินตนาการภาพตนเองในนั้น รับไม่ได้ กลัวชิบหาย เลยรีบวิ่งหนีออกจากโรงพัก
ขอย้อนไปตอนตุ้มเดินทางไปโรงพัก ขณะลงลิฟท์ (ใช้งานได้แล้วเหรอ?) ยืนอยู่ท่ามกลางพื้นผนังแดงฉาน คาดว่าน่าจะมีการปรับสีให้คมเข้มชึ้นด้วยกระมัง มอบสัมผัสหายนะ ความตาย สีของเลือด
ภาพอีกช็อตนำเสนอ Time Lapse ท้องถนนบริเวณสี่แยก นี่ชวนนึกถึงภาพหนึ่งช็อตแทนกรุงเทพฯ จากภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) มาคราวนี้ทำทุกสิ่งอย่างตรงกันข้าม ถ่ายตอนกลางวัน รถไม่ติดมาก และลูกเล่น Time Lapse แทนความเร่งรีบของชาวกรุงฯ รวมถึงตุ้มที่อยากไปแจ้งความเร็วๆ
ข่าวหน้าหนึ่ง มันฆ่ากันทุกวัน ฆ่ากัน-ฆ่ากัน-ฆ่ากันทุกวันเลย แล้วถูกนำเสนอในลักษณะเอนเทอร์เทนเมนท์มากเลย การฆ่ากันบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ คือบางวันอาจจะเป็นคนที่ผมรู้จักก็ได้นะ หรือถ้าจะให้หนักกว่านั้น บางวันมันอาจจะเป็นผมก็ได้นะ คือในที่สุดกลายเป็นว่า การฆาตกรรม-ความตาย-ความผิดลูกผิดเมีย อะไรก็ตาม กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ต่อให้เราไม่ได้ไปทำก็เหอะ คุณก็ต้องไปรับรู้-ใช่ไหม? ผมถามหน่อยว่าการที่เมื่อเช้าข่าวหน้าหนึ่งลงว่า พ่อคนหนึ่งเมายาบ้าแล้วฆ่าเมีย ฆ่าลูก ๒ คน ตายแล้วฆ่าตัวเองตาย ผมถามหน่อยว่าผมอ่านข่าวนี้จบลง ผมได้อะไร?
เป็นเอก รัตนเรือง
สิ่งที่ผมสนใจในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ “รุกฆาตธัมมชโย” เอิ่ม นี่มันข่าวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนปัจจุบันข่าวคาวเป็นไง? ยังไม่เห็นหวนกลับมารับโทษทัณฑ์? คดีใกล้หมดอายุความแล้วหรือยัง? เราสามารถเหมารวมเหตุผลที่ตุ้มไม่ยอมแจ้งความ เพราะองค์กรตำรวจมัน !#$%^&
อาหารไทยมีร้อยแปดพันอย่าง ตุ้มกลับเลือกทานข้าวมันไก่ ถ่ายกันโต้งๆเห็นพ่อค้าหัวหัว หันขา บอกใบ้สิ่งที่เธอกำลังจะต้องกระทำต่อไป (หันร่างกายมนุษย์)
นอกจากนี้ตุ้มยังจ้องจับแมลงวัน (มั้งนะ) หล่นเข้าไปในแก้วโค้ก แล้วกักขังมันเอาไว้ในนั้น การกระทำดังกล่าวมันช่าง … ผมไม่รู้จะหาคำอะไรมาบรรยาย แต่อาจจะสื่อถึงตัวเธอที่ติดกับดักของตัวตนเอง ยังไม่รู้จะทำอะไรยังไง จนกระทั่งการมาเซอร์ไพรส์ของเพื่อนจิ๋ม
การมาถึงของเพื่อนจิ๋ม พูดเล่าความคิดดีๆถ้าตนเองได้เงินล้าน จะบินไปอยู่ต่างประเทศ จีบฝรั่งมังค่า ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง ซึ่งวินาทียูเรก้าของตุ้ม สังเกตว่ากล้องทำการซูมเข้าหาใบหน้า แสดงถึงความสนอกสนใจอย่างแรงกล้า (จริงๆน่าจะซูมให้นานกว่านี้สักหน่อย แต่อาจเพราะข้อจำกัดของกล้องด้วยกระมัง)
ส่วนช็อตถ่ายเพื่อนจิ๋มกับแฟนหนุ่ม เลือกมุมกล้องถ่ายติดเสาใหญ่ๆคั่นระหว่างทั้งสอง นี่เป็นการบอกใบ้จุดแตกหัก แบ่งแยก เลิกราหย่าร้าง กำลังจะบังเกิดขึ้นอีกไม่ช้านาน … รัก-เลิกกันอย่างรวดเร็วติดจรวด พ่อค้าบอกไม่เกินสองเดือน แต่เอาเข้าจริงไม่รู้ถึงสองชั่วโมงหรือเปล่า??
เมื่อตุ้มกลับมาที่ห้อง โทรศัพท์ทางไกลหาเพื่อนอยู่ต่างประเทศ (คนที่ส่งโปสการ์ดภาพเจ้าหญิง Diana) สอบถามสถานที่ทำพาสปอร์ตปลอม ซึ่งระหว่างการพูดคุยโทรศัพท์ หนังถ่ายภาพเงาอาบฉาบผนังกำแพง (สื่อถึงด้านมืดจิตใจ หญิงสาววางแผนกระทำสิ่งผิดกฎหมาย) พร้อมๆกับซ่อนศพในลัง + ตู้เสื้อผ้า จากนั้นทำความสะอาด ลบรอยคราบเลือด เผื่อเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง
สำอางค์กับสุภาพแอบเข้าไปสำรวจภายในอพาร์ทเม้นท์ของตุ้ม ระหว่างคุยโทรศัพท์กับหัวหน้าครรชิต มีการแบ่งสองหน้าจอ ‘Split Screen’ เมื่อคุยจบฟากฝั่งลูกน้องค่อยๆเคลื่อนจากไป เว้นระยะสักพักเพื่อให้สังเกตเห็นว่าครรชิตกำลังคุยกับลูกค้า ก่อนเปิดเผยผ่านการ Whip Pan ว่าบุคคลนั้นคือตุ้ม มาติดต่อขอทำพาสปอร์ตปลอม … นี่ถือเป็นจังหวะสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างตุ้มและครรชิตด้วยวิธีการคาดไม่ถึง!
หลังจากสองลูกน้องครรชิตกลับออกจากห้อง สมพันธ์ ลูกน้องเสี่ยโต้งก็แอบไขกุญแจเข้ามาในห้อง ทำเหมือนสุนัขที่ชอบปัสสาวะสร้างอาณาเขต แต่ดันกดชักโครกไม่ลง (เพราะเงินล้านซ่อนอยู่ในที่กดน้ำ) บังเอิ้ญตุ้มกลับมาห้องพอดี จึงรีบเข้าไปหลบซ่อนในตู้เสื้อผ้า จากนั้นไม่นานตำรวจหนุ่มเคาะประตู บุกเข้ามาในห้อง ท้ายที่สุดทั้งสองได้ดวลปีนกัน
หนังฉายภาพนี้แค่เพียงเศษเสี้ยววินาที ผมจงใจแค็ปรูปนี้มาเพื่อให้เห็นปฏิกิริยาของสมพันธ์ ทำหน้าตลกๆ กอดตุ๊กตาหน้ามนุษย์ (ผมละนึกว่าชัคกี้) น่าเสียดายที่น้อยคนจะมีโอกาสพบเห็น
ตามวิสัยของพวกนักเลง ลูกน้องเสี่ย มักมากันเป็นคู่ แต่ทว่าสมพันธ์กลับมาคนเดียว? จริงๆแล้วมีคู่หูคือทัศน์ แต่กำลังกินข้าวอยู่ด้านหลัง พอทานอิ่ม (ตอนที่ตุ้มเดินสวนออกไป) ถึงค่อยขึ้นมาบนอพาร์ทเมนท์ ออกติดตามหาเพื่อนพ้อง พบว่าโทรศัพท์อีกฝ่ายดังจากห้องหมายเลข 6 ไขประตูเข้ามา พบเจอในอ่างอาบน้ำ ชะแวบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลบหลังประตู ครุ่นคิดว่ายังมีชีวิตอยู่เลยทำการโชว์อ็อฟ … มันเหมือนว่านายตำรวจหนุ่มยังมีชีวิตอยู่นะ ผมเพ่งเล็งอยู่นานจนค้นพบว่ามีการเลิศคิ้วเล็กๆก่อนตัดภาพกลับมาหาทัศน์ แต่ความตั้งใจของเป็นเอกอาจต้องการสร้างความคลุมเคลือกระมัง
เจ๊เพ็ญจอมเสือก นิสัยเค็มยิ่งกว่าน้ำปลา ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องราวบ้าน พอรับรู้ว่าตุ้มซุกผู้ชายในห้อง แอบถ้ำมองลอดผ่านรูกุญแจ ก่อนพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ถึงขนาดเป็นลมล้มพับ เพื่อนหญิงต้องพากลับห้อง พร่ำบ่นผ่านม่านลูกปัด (ราวกับถูกกักขัง ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง) ตำรวจหนุ่มนายนั้นคือผัวฉัน ก่อนหน้านี้ปั่มปั๊มกันเป็นประจำ
คำบรรยายของเพื่อนเจ๊เพ็ญ ถึงแผนการแก้เผ็ดนายตำรวจหนุ่ม ทำการเฉือนกล้วย แล้วจับใส่เครื่องปั่นให้แหลกละเอียด ซึ่งระหว่างนั้นจะมีการแทรกภาพนายตำรวจ อาบฉาบแสงสีแดง ตะโกนกรีดร้องลั่น ส่ายศีรษะสั่นไปสั่นมา … มันคือจินตนาการจิตหลุดของบรรดามนุษย์ป้า
ระหว่างไปจองตั๋วเครื่องบิน ตุ้มแวะซื้อมีดหั่นศพกลับมาถึงห้อง ใส่กลอนล็อกกุญแจ แต่อยู่ดีๆเจ๊เพ็ญเปิดประตูเข้ามา อาบฉาบด้วยฟิลเลอร์แสงสีแดง (พร้อมสายลมที่ไม่รู้พัดมาจากไหน) ด้วยความที่ก่อนหน้านี้เพื่อนของเธอเพิ่งพร่ำเพ้อเรื่องตัดกล้วย มันจึงอาจทำให้ผู้ชมเกิดจินตนาการเพ้อคลั่งไปทิศทางนั้น … แต่ทว่าการปรากฎตัวครั้งนี้เป็นเพียงความฝันของตุ้ม (โดนสไตล์เป็นเอก ล่อหลอกเข้าอีกแล้ว!) คงเพราะจิตใต้สำนึกเชื่อว่าเจ๊เพ็ญคือบุคคลที่สามารถหั่นศพได้อย่างเลือดเย็น!
ตุ้มโทรศัพท์หาจิ๋มเพื่อจะขอหยิบยืมรถกระบะไปใช้ขนลัง แต่พอเดินทางไปถึงเพื่อนสาวกลับกรีดข้อมือ คิดสั้นฆ่าตัวตาย โชคดีว่าสามารถช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาลได้ทัน ซึ่งระหว่างตุ้มนั่งรออยู่หน้าห้องฉุกเฉิน เธอมีท่าทางกระวนกระวาย ชั่วครู่หนึ่งมีแทรกภาพเงินล้านในลังมาม่า ราวกับว่ามันสำคัญยิ่งกว่าชีวิตของเพื่อน
โชคดีที่จิ๋มอาการไม่หนัก หมอเลยอนุญาตให้กลับบ้าน ภาพแรกตัดไปคือพระพุทธรูปห้อยหน้ารถ ราวกับจะสื่อว่าพระดีช่วยให้เธอรอดชีวิต (ภาพตอนขับรถ จะมีหลายครั้งที่พระพุทธรูปซ้อนทับใบหน้าจิ๋ม หืม แค่คิดเขียนผมยังรู้สึกกระดากใจ) … แต่ทว่ามันไม่มีรอบสองที่เกิดจากความ ‘เสือก’ ของตนเอง
มองมุมหนึ่งมันอาจเพราะจิ๋มเพิ่งพยายามฆ่าตัวตาย เลยไม่อยากอยู่ตัวคนเดียว เหงาหงอย เปล่าเปลี่ยว ต้องการใครสักคนอยู่เคียงข้างกาย แต่ขณะเดียวกันมันคือพฤติกรรมดื้อรั้น ดึงดัน นิสัยเรื่องมาก เอาแต่ใจ สรุปย่อๆคือ “เสือก” ซึ่งวินาทีที่ตุ้มยินยอมให้เธอติดตามไปด้วย พอปิดประตูปั๊ป ไฟในรถดับ ความมืดปกคลุมใบหน้าทั้งสอง นี่ราวกับลางบอกเหตุร้าย หายนะ ความตาย (Death Flag)
หลังจากทิ้งศพลงแม่น้ำ รับฟังเบื้องหลังความจริง ระหว่างขับรถกลับ สังเกตว่าพระหน้ารถไม่ได้ซ้อนทับใบหน้าของจิ๋มอีกต่อไป!
แซว: เมื่อตอน ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ.๒๕๔๐) ก็มีการพูดพาดพิงถึงสถานการณ์บังเกิดขึ้น มันช่างเหมาะสำหรับนำไปสร้างหนัง/ราวกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง … มันคือคำพูดล้อเลียนตนเอง เหมือนหนังซ้อนหนัง แต่ตัวละครกำลังเล่นหนังอยู่
อุตส่าห์เอาตัวรอดจากความพยายามฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายจิ๋มกลับถูกวิโรจน์จ่อยิงเสียชีวิต (เดี๋ยวนะ จิ๋มถูกหมอนวดยิง🤦) … มันช่างเป็นเรื่องตลก 69
แซว: ตลอดทั้งเรื่องพบเห็นวิโรจน์นวดแข้งนวดขา (เลียแข้งเลียขา?) นวดหน้านวดหลัง กดเส้นโน่นนี่นั่นของเจ้าของค่ายมวยครรชิต ผมไม่คิดว่าเป็นเอกจะเคลือบแฝงนัยยะอะไรหรอกนะ อาจแค่ภาพจำหัวหน้าแก๊งค์มาเฟียคนไทย แต่ขณะเดียวกันการนวด-กด-ยืด ก็เพื่อให้ร่างกายขยับเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัว ไม่ถูกกดทับเหมือนที่เสี่ยโต้งพยายามบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ สำแดงอำนาจเหนือกว่า เมื่อร่างกาย(ครรชิต)กระฉับกระเฉง ย่อมสามารถลุกขึ้นมาโต้ตอบเอาคืน
ความตายของวิโรจน์แม้งก็น่าตลกขบขัน พอได้ยินบทเพลง พอหรือยัง ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ (ก่อนหน้านี้จิ๋มพยายามใส่เทปม้วนนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยทำสำเร็จ) ร่ำร้องให้หยุดจอดรถข้างทาง ขอเวลาทำใจ เพ้อรำพัน ครุ่นคิดถึงแม่ (mather) ซึ่งพอเพลงจบ เกิดการต่อสู้ ยื้อแย่ง ปืนลั่น (ได้พระหน้ารถช่วยไว้ด้วยกระมัง เห็นปัดโดนอยู่หลายครั้ง) ถูกทิ้งนอนตาย สภาพไม่ต่างจากหมาข้างถนน (ตอนเริ่มต้นซีนนี้ก็มีหมาเดินผ่านหน้ารถ)
ขอกล่าวถึงลุงสีเทาสักหน่อย เป็นบทรับเชิญเล็กๆที่แทบไม่มีบทบาทอะไร อาศัยอยู่แต่ละม้ายคล้ายเจ๊เพ็ญ คือชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องของตุ้ม พยายามเข้าไปพูดคุยทักทาย (แต่เหมือนตุ้มจะไม่เคยสนทนาตอบกลับ) นี่เรียกว่าเสือกเรื่องชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็ราวกับ ‘guardian angel’ คอยปกป้อง คุ้มกันภัย เห็นพวกนักเลงต้องสงสัย โทรศัพท์แจ้งตำรวจ ช่วยให้ตุ้มรอดตายอย่างหวุดหวิด!
เมื่อตอนเปิดเผยหน้าตาเสี่ยโต้ง ผมแอบเสียดายที่มันไม่ค่อย ‘dramatic’ ให้ดูตื่นเต้น ตกตะลึง คาดไม่ถึง! เพียงยืนอยู่ท่ามกลางความมืด กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา พอครรชิตเข้ามาในห้อง หันโคมไฟ สาดส่องแสงเข้าไป แล้วเสี่ยโต้งก็หันหน้ามา เรียบๆง่ายๆแค่นั้น
มันมีอีกช็อตที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจกว่า ครรชิตยกปืนขึ้นมาข่มขู่ แบล็กเมล์เสี่ยโต้ง สังเกตว่าโคมไฟมีการแกว่งไกวไปมา ทำให้แสงสว่างเคลื่อนไปทางครรชิตที เคลื่อนไปทางเสี่ยโต้งที สร้างบรรยากาศกลิ่นอายหนังนัวร์คลาสสิก … เป็นการแสดงถึงคนสองโลก ครึ่งดี-ครึ่งชั่ว อยู่ท่ามกลางแสงสว่างและมืดมิด (เบื้องหน้าเป็นเจ้าของค่ายมวย/บริษัทไฟแนนซ์, เบื้องหลังทำเรื่องชั่วๆ)
ตอนสมัยวัยรุ่น เป็นเอกชื่นชอบการสูบบุหรี่มากๆ (เห็นว่าเพิ่งเลิกสูบตอนโควิท-19) ถือเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์เลยก็ว่าได้ ใช้การสูบบุหรี่เคลือบแฝงนัยยะอะไรบางอย่าง, ครรชิตหยิบบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อของเสี่ยโต้ง พูดเท่ห์ๆบอกว่าเวลาชีวิต(ของพวกเขา)จะสิ้นสุดลงหลังสูบหมดมวน
และอีกความยียวนสไตล์เป็นเอก ปืนที่ครรชิตใช้แบล็กเมล์เสี่ยโต้ง แท้จริงแล้วคือไฟแช็คสำหรับจุดบุหรี่ โดนหลอกโง่ๆแบบนี้แม้งเสียหมาเลยนะ!
มันช่างเป็นความอลวน ชวนสับสน การเผชิญหน้า(รัก)สามเส้า ก่อนเกิดการดวลปืนสั่นหวั่นไหว ไม่เกรงกลัวกฎหมาย หลงเหลือเพียงความตาย และเศษซากปรักหักพัง
- ลูกน้องครรชิตจับเสี่ยโต้งเป็นตัวประกัน (ยืนอยู่ฝั่งตู้เสื้อผ้า)
- ลูกน้องเสี่ยโต้งจับครรชิตเป็นตัวประกัน (ยืนอยู่ฝั่งห้องน้ำ)
- ตำรวจบุกเข้ามา (อยู่หน้าประตู)
แซว: เห็นการดวลปืนสามเส้า (Three Way Shooting) ชวนนึกถึง Reservoir Dogs (1992) ขึ้นมาโดยพลัน! แต่ผมแอบเสียดายที่มันไม่ช็อตเห็นทั้งสามฟากฝั่งในเฟรมเดียวกัน (มันอาจทำไม่ได้เพราะถ่ายทำในห้องปิด)
เจ๊เพ็ญเหมือนมาดักรอคอยตุ้มอยู่หน้าลิฟท์ สไตล์เป็นเอกล่อหลอกผู้ชมอีกแล้วด้วยการให้เธอจินตนาการว่าพาตุ้มมาป้อนลาบเข้าปาก (เชื่อว่าหลายคนอาจเตลิดไปไกล ครุ่นว่ามันคือเนื้อ!#$%^บด) แต่ทว่าเมื่อประตูลิฟท์ชั้นสามเปิดออก พบเห็นทั้งสองเกิดการต่อสู้ ตบตี (คงจะอดกลั้นมานาน) ก่อนยุติลงเพราะเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว
เหตุเกิดจากเสียงโทรศัพท์ นี่ก็อีกลายเซ็นต์สไตล์เป็นเอก ซึ่งเรื่องนี้คือสัญลักษณ์แห่งความตาย (และหื่นกระหาย) ตั้งแต่ครั้งแรก-สุดท้ายที่ตุ้มรับโทรศัพท์ เสียงปลายสายคือคนโรคจิต โทรศัพท์มา Sex Phone สำเร็จความใคร่ … เสียงของเป็นเอก หรือเปล่า?
ไม่ว่าจะใช่เสียงของเป็นเอก(ที่สำเร็จความใคร่)หรือไม่? แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากการ ‘Masterbation’ ของเป็นเอกอยู่ดี! โดยเฉพาะฉากดวลปืนสนั่นหวั่นไหว จุดเริ่มต้นมาจากเสียงโทรศัพท์ ราวกับเสียงสวรรค์ (การช่วยตนเองก็ทำให้ได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์) แต่ทำให้ทุกคนตกนรกหมกไหม้ … เรื่องตลก 69
เมื่อตุ้มมาถึงห้องพัก กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเก็บภาพบรรดาผู้เสียชีวิตนอนตายรอบห้อง ด้วยความตกอกตกใจ เธอตรงเข้าไปในห้องน้ำ นำเงินออกมา หยิบใส่กระเป๋า ได้ยินเสียงผู้ประกาศสนามบินทำเรียกขึ้นเครื่อง นี่เป็นการล่อหลอกผู้ชมสไตล์เป็นเอกอีกเช่นเคย ให้ครุ่นคิดว่าเธอคงตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ
ระหว่างหยิบเงินใส่กระเป๋า เหมือนว่าธนบัติบาดมือ เลือดไหล แล้วจู่ๆตุ้มเห็นภาพหลอน เลือดไหลนองท่วมกระเป๋า สื่อความหมายตรงๆถึงเงินเปื้อนเลือด เพราะเงินก้อนนี้ทำให้เกิดเรื่องวุ่นๆวายๆตลอดทั้งวัน ไม่จบสิ้นเสียที!
ก่อนออกเดินทาง ตุ้มหยิบแก้วน้ำที่โดนลูกหลง ลวดลายเจ้าหญิง Diana มาประกบติดกัน ผมครุ่นคิดว่าต้องการสื่อถึงความฝันที่พังทลาย แตกละเอียด อยากมีชีวิตเหมือนเจ้าหญิง หรือจะมองว่าใฝ่ฝันเดินทางสู่ต่างประเทศ (แบบเดียวกับที่ไอ้น้อย ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ฝันถึง New York, สหรัฐอเมริกา)
อีกช็อตลายเซ็นต์สไตล์เป็นเอก เมื่อตอน ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) พบเห็นบ่อยครั้งเมื่อปูตื่นจากความฝัน(ถึงมารดา) ซึ่งขณะนี้ก็สามารถตีความในทิศทางนั้น เรื่องราวทั้งหมดคือความฝันของตุ้ม กล้องหมุนวงกลมเหมือนตัวอักษร 6 กลายมาเป็น 9 … ก็แค่เรื่องตลก 69
Truman Capote: When God hands you a gift, he also hands you a whip; and the whip is intended for self-flagellation solely.
ทรูแมน คาโปท: รางวัลจากสรวงสวรรค์ มาพร้อมบทลงทัณฑ์จากพระเจ้า
เอาจริงๆหนังจบลงได้ตั้งแต่กล้องหมุนวงกลม แต่เป็นเอกเลือกแทรกใส่การเดินทางของตุ้ม (พร้อมกับเจ้านกในกรง) อาจจะหวนกลับบ้าน หรือมองหาสถานที่อยู่ใหม่ สังเกตจากสองข้างทาง ไม่ได้รายล้อมรอบด้วยป่าคอนกรีต อาศัยอยู่กรุงเทพฯอีกต่อไป! … ฤาว่าเป็นเอกพยากรณ์อนาคตของตนเอง สักวันหนึ่งคงถึงจุดอิ่มตัว ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ซึ่งก็เห็นย้ายไปเชียงใหม่ตั้งแต่ก่อนโควิท-19 เลือกใช้ชีวิตอย่างสมถะ
ตัดต่อโดย หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๕๐๖) พระธิดาคนโตของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำเป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), คืนบาปพรหมพิราม (พ.ศ. ๒๕๔๖), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ
ถือได้ว่าอพาร์ทเม้นท์ห้อง 6 ชั้นสาม คือจุดศูนย์กลางความโกลาหล! ถ้าไม่นับอารัมบทที่ตุ้มถูกไล่ออกจากงาน เก็บข้าวของกลับห้องพัก เรื่องราวหลักเริ่มต้นเมื่อเธอตื่นเช้าวันถัดมา ได้ยินเสียงเคาะประตู พบเจอลังมาม่าเงินล้านวางอยู่หน้าห้อง ร้อยเรียงสารพัดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วนตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
- อารัมบท
- ตุ้มจับเซียมซี เป็นผู้โชคร้ายถูกให้ออกจากงาน เก็บข้าวของเดินทางกลับอพาร์ทเม้นท์
- ตอนเย็นออกไปซื้อของ แต่สินค้าขึ้นราคาสูง
- ค่ำคืนนี้นอนหลับฝัน ครุ่นคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย
- เช้าวันใหม่ กับลังมาม่าเงินล้าน
- เช้าตื่นขึ้นมา พบเจอลังมาม่าเงินล้าน โทรศัพท์หาเพื่อนจิ๋ม สอบถามว่าจะอะไรยังไง
- ชายสองคนมาสอบถามเรื่องลังมาม่าเงินล้าน บุกเข้ามาในห้อง ก่อนกลายเป็นศพ
- เสี่ยโต้งคุยโทรศัพท์กับเจ้าของค่ายมวยครรชิต พร่ำบ่นว่ายังไม่ได้เงินสินบน
- ตุ้มตั้งใจจะไปแจ้งความ ก่อนล้มเลิกความตั้งใจ
- ระหว่างทานอาหารกลางวัน ตุ้มพบเจอจิ๋ม ได้แรงบันดาลใจเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ
- ตุ้มกลับไปซ่อนศพในลัง เขียนจดหมายถึงมารดา เตรียมตัวออกเดินทางไปต่างประเทศ
- ลูกน้องของครรชิตเดินทางมายังอพาร์ทเม้นท์ สังเกตเห็นความผิดปกติ 69 ไขกุญแจเข้าห้องพัก พบเจอศพพรรคพวก โทรศัพท์แจ้งข่าวหัวหน้า
- บ่ายอลวน
- ตุ้มพบเจอกับหัวหน้าค่ายมวยครรชิต ขอให้ช่วยทำพาสปอร์ตปลอม
- หลังจากลูกน้องครรชิตออกจากห้อง ลูกน้องของเสี่ยโต้งก็แอบย่องติดตาม ไขกุญแจห้องพัก เข้ามาสำรวจภายในห้องเช่นกัน แต่ทว่ายังไม่ทันกดส้วม ตุ้มก็ไขกุญแจเข้าห้องพัก
- ตุ้มกำลังจัดแจงนำศพใส่ลังใบใหม่ จู่ๆตำรวจหนุ่มเคาะประตู บุกเข้ามา ขอใช้พื้นที่ปีนหน้าต่างจับพ่อค้ายาห้องข้างๆ
- เกิดการดวลปืนระหว่างตำรวจกับลูกน้องเสี่ยโต้ง กลายเป็นศพสามและสี่
- ระหว่างกำลังจัดการกับศพใหม่ เพื่อนบ้านเจ๊เพ็ญมาขอหยิบยืมน้ำปลา
- ระหว่างออกไปซื้อลังอีกใบ ลูกน้องอีกคนของเสี่ยโต้งไขกุญแจเข้ามาในห้อง หลงครุ่นคิดว่าตนเองดวลปืนกับตำรวจ
- ตุ้มจัดแจงหั่นศพ ยัดคนตายทั้งหมดลงลัง ขณะเดียวกันเจ๊เพ็ญแอบมองถอดรูกุญแจ พบเห็นแฟนหนุ่ม/เจ้าหน้าที่ตำรวจ เลยจินตนการเพ้อคลั่งว่าอีกฝ่ายคบชู้นอกใจ
- ตุ้มเดินทางไปซื้อตั๋วเครื่องบิน
- ค่ำคืนแห่งหายนะ
- ตุ้มโทรศัพท์หาจิ๋ม ขอหยิบยืบรถบรรทุก
- พอมาถึงบ้านจิ๋ม พบว่าอีกฝ่ายคิดสั้นเชือดข้อมือตนเอง (เพราะถูกแฟนบอกเลิก) พาไปโรงพยาบาล ค่ำมืดถึงกลับถึงบ้าน
- จิ๋มยืนกรานที่จะติดตามตุ้มไปด้วย ช่วยกันแบกลังขนาดใหญ่ ขับรถไปทิ้งลงแม่น้ำ
- ขากลัวแวะมาเอาพาสปอร์ตปลอม จิ๋มสุดสวยถูกลูกน้องครรชิตยิงเสียชีวิต
- ลูกน้องครรชิตเอาปืนจ่อ บังคับให้ตุ้มขับรถไปยังอพาร์ทเม้นท์ เธอใช้ทีเผลอฆาตกรรมอีกฝ่าย
- ครรชิตเผชิญหน้ากับเสี่ยโต้งในห้องเบอร์ 9 ก่อนนำมาห้องเบอร์ 6
- ตุ้มกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ ระหว่างขึ้นลิฟท์มีเรื่องตบตีกับเจ๊เพ็ญ
- ตำรวจ-นักเลง กราดยิงโต้ตอบจนชิบหายวายป่วน
- เห็นสภาพดังกล่าว ตุ้มตัดสินใจนำเงินบาปไปโยนทิ้งแม่น้ำ
การตัดต่อถือเป็นไฮไลท์ที่ผมแอบคาดไม่ถึง นั่นเพราะหนังเต็มไปด้วยพล็อตรอง (Subplot) สลับเปลี่ยนมุมมองการนำเสนออยู่ตลอดเวลา (แถมบางครั้งยังมีแทรกความฝันของตุ้มด้วยนะ) ต้องชมว่าเป็นเอกเอาอยู่! รู้ว่าจังหวะไหนควรส่งต่อไม้พลัดไปตรงไหน บางคนอาจหงุดหงิดที่เหตุการณ์หลักไม่ดำเนินไปเสียที แต่พอไคลน์แม็กซ์เมื่อทุกเรื่องราวมาบรรจบกัน ณ ห้องหับนี้ มันช่างลงเอยได้อย่างสมบริบูรณ์ ไม่ทอดทิ้งสิ่งใดๆไว้เบื้องหลัง
เพลงประกอบขึ้นเครดิต Wild at Heart ของอมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
ในส่วนของเพลงบรรเลง (Soundtrack) มักถูกใช้เติมเต็มช่องว่าง รำพันความรู้สึกตัวละคร ไม่จำกัดแนวเพลง หรือต้องมีท่วงทำนองติดหู เอาตามอารมณ์กู ‘สไตล์เป็นเอก’ แค่สามารถสร้างบรรยากาศ และมีความยียวนกวนประสาท
ช่วงระหว่าง Opening Credit หลังจากเพลงจีนเสี่ยงเซียมซี สามผู้โชคดีร้ายถูกไล่ออกจากงาน เสียงเป่าขลุ่ยมีความโหยหวน คร่ำครวญ แทนความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ แล้วฉันจะทำอะไรยังไงต่อไป?
ส่วนบทเพลงที่มีเนื้อร้องคำร้อง ในเครดิตมีจำนวน ๕ บทเพลง ซึ่งล้วนมีเนื้อคำร้องในเชิงเสียดสี ล้อเลียน ประชดประชัน ตามสไตล์เป็นเอก แดกดันอะไรบางอย่าง
- รักเธอที่สุด, แต่งโดย พันเทพ สุวรรณะบุณย์,เทพนม สุวรรณะบุณย์, ขับร้องโดย ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว
- หลังตกงาน เก็บข้าวของกลับอพาร์ทเม้นท์ มีชายแปลกหน้า(ภายหลังถึงรับรู้ว่าคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ)ให้ความช่วยเหลือตุ้มยกของขึ้นห้อง เปิดเพลงนี้จากวิทยุ จนกระทั่งปิดประตู ตัวเลขหน้าห้องเปลี่ยนจาก 6 เป็น 9
- เนื้อเพลงมีลักษณะต้องการบอกรักก่อนลาจาก ทำให้ดูเหมือนฝ่ายชายเกี้ยวพาราสีหญิงสาว แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงค้นพบว่าไอ้ตำรวจนี่มันมีเมียอยู่แล้ว และท่าทางลับล่อๆ ขอเข้าห้อง ก็เพื่อมองหาลู่ทาง จับกุมพ่อค้ายาห้องข้างๆ … ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรักๆใคร่ๆ ล่อหลอกผู้ชมไปคนละทิศละทาง
- บุพเพสันนิวาส, แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน, ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ
- บทเพลงที่สุภาพ คู่หูของสำอางค์ (คนหูหนวก) สวมหูฟังขณะเสี่ยครรชิตเรียกไปคุยครั้งแรก
- เหมือนเป็นการบอกว่าสำอางค์และสุภาพ คือคู่หู บุพเพสันนิวาส
- ฝนตก ฟ้าร้อง, แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน, ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ
- หลังจากตุ้มจ่ายเงินให้เจ้าของค่ายมวยครรชิต ช่วยทำพาสปอร์ตปลอม
- ทั้งๆซีนนี้ไม่มีทั้งฝนทั้งฟ้า แต่ทว่าเนื้อคำร้อง “ถ้าได้มาเห็นหน้าน้องแล้วพี่สบาย สบาย” ล้อกับการถ่ายรูปทำพาสปอร์ตของตุ้ม ขณะเดียวกันครรชิตก็เฝ้ารอคอยจะได้เห็นรูปหญิงสาวที่ลักขโมยลังมาม่า
- พอหรือยัง, แต่งโดย ชลธี ธารทอง, ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ
- หมอนวดวิโรจน์ ลูกน้องครรชิต ระหว่างใช้ปืนจ่อตุ้ม ให้ขับรถไปยังอพาร์ทเมนท์ ได้ยินบทเพลงพอหรือยัง แล้วร้องไห้คร่ำครวญ คิดถึงแม่ผู้ล่วงลับ
- ดวงดาว ดวงตา ดวงใจ, ขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธร
- บทเพลงช่วงระหว่าง Closing Credit
ผมเลือกบทเพลงพอหรือยัง ฟังแล้วเศร้า แต่มันก็ตลกขบขัน! เนื้อเพลงเกี่ยวกับหญิงสาวหักอกผู้ชาย “คุณฆ่าผู้ชาย ให้ตายมาแล้วมากล้น” ในบริบทของเพลงมีความหมายเชิงนามธรรม ทว่ายัยตุ้มกลับลงมือฆ่าผู้ชายจริงๆมาแล้วมากล้น
พอทีนะคุณ
การุณ ผู้ชายเถิดหนา
อย่าคิดเอาความโสภา
พร่าหัวใจผู้ชาย
คุณสวยคุณเด่น
ใครเห็นเป็นต้องงมงาย
อดรักคุณนั้นไม่ได้
ยอมตายแทบเบื้องบาทคุณคุณฆ่าผู้ชาย
ให้ตายมาแล้วมากล้น
ไม่พ้นไปได้สักคน
หน้ามลช่างไม่การุณ
อีกสักเท่าไหร่
ถึงจะพอใจของคุณ
ผู้ชายทั้งโลกคงวุ่น
เสน่ห์ของคุณนั้นแรงเหลือเกินหรือถือว่าสวย
หรือถือว่ารวยสูงด้วยยศศักดิ์
วันหนึ่งถ้าปีกหงส์หัก
แล้วคุณจะ สิ้นคนสรรเสริญ
สิ้นสาวคราวใด
ใครใครเขาก็คงเมิน
แล้วคุณจะไร้ดินเดิน
มัวหลงเพลินแต่คำป้อยอคุณคงภูมิใจ
ที่ใครพากันรุมรัก
แต่แล้วก็ต้องอกหัก
เพราะหลงรักคุณนั่นหนอ
คุณคิดแจกจ่าย
หัวใจไม่รู้จักพอ
ผลกรรมที่คุณนั้นก่อ
สักวันเถิดหนอคุณจะร้องไห้คุณคงภูมิใจ
ที่ใครพากันรุมรัก
แต่แล้วก็ต้องอกหัก
เพราะหลงรักคุณนั่นหนอ
คุณคิดแจกจ่าย
หัวใจไม่รู้จักพอ
ผลกรรมที่คุณนั้นก่อ
สักวันเถิดหนอคุณจะร้องไห้
เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) เต็มไปด้วยเรื่องราวความเข้าใจผิดๆ จากเหตุการณ์น้อยนิดค่อยๆบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมหาศาล ราวกับมีใครบางคนคอยชักใย แอบบงการอยู่เบื้องหลัง หรือก็คือสถาปนิกเป็นเอก ผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์
จุดเริ่มต้นเกิดจากความเก่าแก่ของอพาร์ทเม้นท์ หมายเลขห้องจึงชำรุดทรุดโทรม ไม่ได้รับการซ่อมแซม พลิกกลับตารปัตรจากเลข 6 เป็น 9 สร้างความสับสน มึนงง คนนอกพบเห็นตัวเลขสลับกันเลยเกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่เหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน หายนะติดตามมาเป็นพรวน
- ลูกน้องครรชิตส่งพัสดุ/ลังมาม่าเงินล้านผิดห้อง
- การสูญหายตัวไปของลูกน้อง ทำให้ครรชิตเกิดความเคลือบแคลงเสี่ยโต้ง
- ขณะเดียวกันเสี่ยโต้งก็เกิดความเคลือบแคลงในตัวครรชิต เพราะไม่ยอมส่งเงินตามกำหนด
- ครรชิตเข้าใจว่าตุ้มคือลูกน้องเสี่ยโต้ง ส่งมาลองเชิง สังเกตการณ์
- เจ๊เพ็ญเข้าใจผิดว่าแฟนหนุ่ม (เจ้าหน้าที่ตำรวจ) แอบคบชู้กับตุ้ม
- จิ๋ม (เพื่อนตุ้ม) เข้าใจผิดว่าแฟนหนุ่มรักจริง
ฯลฯ
นอกจากสารพัดความเข้าใจผิดๆ จับพลัดจับพลู จับแพะชนแกะ หนังสร้างขึ้นช่วงระหว่างวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ผู้คนมากมายถูกเลิกจ้าง ตกงาน แถมข้าวยากหมากแพง นั่นคือเหตุผลที่ถ้ามีเงินล้านวางหน้าห้อง คนไทย/ใครหน้าไหนก็เถอะ ย่อมต้องคว้าเอาไว้ทันควัน มันไม่ใช่เรื่องของความละโมบโลภมาก หรือสามัญสำนึกถูก-ผิด ชั่ว-ดี แต่สามารถใช้เป็นทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่ เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาเลวร้าย … ยุคสมัยนั้นเงินล้านมันเยอะอยู่นะ ค่าครองชีพต่ำกว่าปัจจุบันกว่าเท่าตัว น่าจะกินหรูอยู่สบายได้เป็นสิบๆปีเลยละ
หนังสายพันธุ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเสียเวลามองหาสาระข้อคิด ถ้าตุ้มไม่ละโมบโลภมาก? ถ้าตุ้มแจ้งความกับตำรวจ? ถ้าตุ้มไม่พาเพื่อนจิ๋มขึ้นรถไปด้วย? มันเป็นหน้งสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง คือแม้งต้องซวยโคตรๆถึงตกอยู่ในสถานการณ์บัดซบขนาดนั้น บางคนอาจมองเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ถ้าเราไม่เสือกเรื่องชาวบ้าน? ของพรรค์นี้มันห้ามกันได้เสียที่ไหน!
ตอนที่เป็นเอกพัฒนาบทหนัง ไม่เคยมีการกำหนดธีม เป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะเขียนออกมายังไง
เวลาผมนั่งลงเขียนบท กระดาษขาววางอยู่ตรงหน้า ผมเริ่มซีน ๑ ซีน ๒ แล้วผมก็ไม่รู้นะว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น … เป็นการเขียนบทแบบไม่รู้อนาคตหรือชะตากรรม คือผมดันไปมีความเชื่ออยู่ว่า เวลาผมทำหนัง ไม่ว่าผมจะทำอย่างไร ผมไม่มีวันหนีตัวเองพ้น นั่นหมายความว่า ความหมายของหนังก็ดี ธีมหนังก็ดี หรืออะไรก็ดีเมื่อหนังจบตัดต่อเสร็จ เอ้อ มันก็จะเป็นหนังของผมอยู่ดี หมายความว่าความคิดที่ครอบงำเราอยู่ในเวลานั้นๆ ความพอใจที่ครอบงำเราอยู่ในเวลานั้น มันก็จะโชว์อยู่ในหนังเรื่องนี้
เป็นเอก รัตนเรือง
นั่นรวมถึงประเด็นความเหงาในเมืองใหญ่ ปรากฎขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ แต่มันสะท้อนความรู้สึกของตนเอง วิถีคนเมืองที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป
อย่างประเด็นความเหงาในเมืองใหญ่ มันเกิดขึ้นหลังจากผมเขียนบทเสร็จนะ ผมเขียนเสร็จผมลองนึกภาพหนังทั้งหมด ผมถ่ายหนังในหัวผมนี่ ผมก็รู้ว่าเอาอีกแล้วกู ก็หนีตัวเองไปไม่พ้นอีกแล้ว
ในหนังจะเห็นชัดเลยว่า มันมีความเห็นแก่ตัว ความสับสนของคนเมืองนี่ชัดเจนมาก มันไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด เหมือนกับว่าคนหรือตัวละครในหนังไม่รู้จักตรงนั้นแล้ว ไม่รู้ทำอย่างนี้ถูกหรือผิด? การกระทำของคน หรือการฆ่าคน ฆาตกรรม แม้กระทั่งผมเองซึ่งเห็นข่าวหน้าหนึ่ง มันฆ่ากันทุกวัน ฆ่ากัน-ฆ่ากัน-ฆ่ากันทุกวันเลย แล้วถูกนำเสนอในลักษณะเอนเทอร์เทนเมนท์มากเลย … อะไรก็ตาม กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ต่อให้เราไม่ได้ไปทำก็เหอะ คุณก็ต้องไปรับรู้ใช่ไหม? ผมถามหน่อยว่าการที่เมื่อเช้าข่าวหน้าหนึ่งลงว่า พ่อคนหนึ่งเมายาบ้าแล้วฆ่าเมีย ฆ่าลูก ๒ คน ตายแล้วฆ่าตัวเองตาย ผมถามหน่อยว่าผมอ่านข่าวนี้จบลง ผมได้อะไร?
สุดท้ายแล้วจุดเริ่มต้น สาเหตุของสารพัดปัญหาก็คือเรื่องเงิน ตั้งแต่เศรษฐกิจล่มสลาย ตุ้มถูกไล่ออกจากงาน เจ้าของค่ายมวยจ่ายเงินสินบน ความละโมบโลภมากของคน ฯ มันคงไม่ใช่ความตั้งใจตรงๆที่เป็นเอกจะทำหนังต่อต้านทุนนิยม (Anti-Capitalism) แต่มันอาจเป็นความรู้สึกก้นเบื้องลึก จิตใต้สามัญสำนึก ทำอะไรไม่ได้นอกจากเสียดสี ล้อเลียน ประชดประชัน แดกดันไปวันๆ
หนังเริ่มต้นฉายรอบปฐมทัศน์ในประเทศไทย ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เสียงตอบรับดีเยี่ยม ทำเงินไม่น้อย จากนั้นจึงออกเดินทางไปตามเทศกาลหนังทั่วโลก Rotterdam, Berlin, Hong Kong ฯ ทั้งยังกวาดรางวัลกลับมาไม่น้อย
- Berlin International Film Festival เข้าฉายสาย Forum Section คว้ารางวัล Don Quixote Award – Special Mention
- Hong Kong International Film Festival คว้ารางวัล FIPRESCI Prize
- For proving that a commercial feature can be as formally interesting and as insightful as an experimental art film.
ส่วนความสำเร็จในเมืองไทย เนื่องจากเข้าฉายปีเดียวกับ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) เลยไม่ค่อยมีโอกาสลุ้นรางวัลใหญ่ แต่ก็สามารถแก่งแย่งนักแสดงนำหญิง (ลลิตา ปัญโญภาส) และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เป็นเอก รัตนเรือง) ได้จากทั้งรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์
เมื่อตอน ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) สไตล์เป็นเอกยังมีความดิบๆ ใช้สันชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเรียนรู้จากความผิดพลาด เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) จึงมีความลงตัว กลมกล่อม ค้นพบตัวตนเอง และการแสดงของหมิว ลลิตา ช่วยสร้างสีสัน ปรับเปลี่ยนมุมมองผู้ชมสมัยนั้น ยกระดับหนังให้กลายเป็นคลาสสิกเหนือกาลเวลา
ผมยังไม่ได้รับชมฉบับซีรีย์ แต่เห็นการเปรียบเทียบหลายๆอย่างแล้วไม่ค่อยมีความกระตือรือล้นสักเท่าไหร่ มันอาจมีแนวคิด นักแสดงชุดใหม่ ขยับขยายเรื่องราว การตีความ หรือตอนจบแตกต่างออกไป แต่ความดิบ เถื่อน สันชาตญาณของเป็นเอก ลดลงมากจากตอนหนุ่มๆ แลกมากับประสบการณ์ ความประณีประณอม เพลย์เซฟ เหล่านี้ทำให้คุณภาพผลงานค่อยๆถดถอยลง … ก็แล้วแต่ความชื่นชอบส่วนบุคคลนะครับ บางคนอาจชอบผลงานยุคหลังๆเพราะดูรู้เรื่อง ย่อยง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป แต่ผมโหยหาหนังยุคแรกๆที่ความเฟี้ยวฟ้าว จัดจ้าน ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรใครทั้งนั้น
จัดเรต ๑๕+ กับความตลกร้ายของแก๊งค์อาชญากร ฆาตกร หั่นศพ
“เรื่องตลก 69” (2542) น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก “โรงแรมนรก” ของรัตน์ เปสตันยี มาไม่มากก็น้อย
ดูจากบทสัมภาษณ์ของเป็นเอกถึง “โรงแรมนรก”
“หนังของคุณรัตน์มีอย่างหนึ่งที่คล้ายๆ ว่า หนังดีๆ สมัยนี้ก็ไม่มี คือจะมีความอินโนเซนต์อยู่จำนวนหนึ่งที่เราชอบมาก ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมนรก มันก็จะมีช่วงไร้สาระเต็มไปหมด เพราะเขาอยากทำ เขาก็คงอยากเห็นของเขา เขานั่งคิด ๆ แล้วคงเห็นว่ามันตลกดี ทำเหอะ”
เป็นเอก รัตนเรือง
จะเห็นว่า สไตล์หลายๆอย่างมีความคล้ายกันมาก ทั้ง
เรื่องราวเกิดขึ้นใน 1 วัน
เน้นเกิดเหตุในสถานที่เดียวเป็นหลัก
มีเส้นเรื่องหลักเส้นเรื่องเดียว แต่เต็มไปด้วยเส้นเรื่องรอง เส้นเรื่องย่อย รายละเอียดแวดล้อมที่ดูไร้สาระตามรายทางเต็มไปหมด
มีลักษณะเป็นหนังอาชญากรรม ฟิล์มนัวร์
เรื่องเกิดขึ้นเพราะ “เงิน”
ไปจนถึงการมีจุดหักมุมเรื่อง “ที่ซ่อนกระเป๋า/ลังมาม่าที่ใส่เงิน” ที่เฉลยที่ซ่อนในตอนท้าย
ซึ่งถ้าถามว่า เป็นเอก ไปดูโรงแรมนรกจากไหน
อาจมาจากการฉายที่หอภาพยนตร์ สมัยยังเป็นหอภาพยนตร์แห่งชาติ นำมาฉาย
โดยเท่าที่รู้ หอภาพยนตร์เคยจัดงาน “มหกรรมทึ่งหนังไทย” ครั้งแรก ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงเพื่อฉลอง 100 ปี กำเนิดภาพยนตร์โลก 25 สิงหาคม – 3 กันยายน 2538
ด้วยการจัดฉายหนังไทย 7 เรื่อง ได้แก่
เงิน เงิน เงิน (2508), เชลยศักดิ์ (2502), เกาะสวาทหาดสวรรค์ (2512) และ ปักธงไชย (2501) จากบริษัทละโว้ภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
ตามด้วย โรงแรมนรก (2500) และ แพรดำ (2504) จากบริษัทหนุมานภาพยนตร์ ของ รัตน์ เปสตันยี
และ สวรรค์มืด (2501) ของบริษัทคันจราภาพยนตร์ ของ เทวมิตร กุญชร ณ อยุธยา
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังไทยกลับบ้านที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบจากบริษัทแรงค์ ออกาไนเซชั่น ประเทศอังกฤษ
หาเงินรายได้ใช้ในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ โดยร่วมกับมูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
ก็เป็นไปได้ว่า เป็นเอก อาจจะได้มาดู “โรงแรมนรก” ในงานนี้ หรืองานทำนองนี้ แล้วซึมซับบางส่วนนำมาใช้ใน “เรื่องตลก 69” ด้วยก็เป็นได้
หนังเป็นเอก หวังว่าคงไม่เขียนครึ่งๆกลางๆ ไปหยุดอยู่ที่ มนต์รักทรานซิสเตอร์ หรือ เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล นะ
หวังว่าจะเขียนต่อไปจนถึงอย่างน้อย…
เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546)
คำพิพากษาของมหาสมุทร (2549)
พลอย (2550)
นางไม้ (2552)
นะ
แล้วอาจต่อไปที่…
ฝนตกขึ้นฟ้า (2554)
ประชาธิป’ไทย Paradoxocracy (2556) (ร่วมกับภาสกร ประมูลวงศ์)
ด้วยก็ได้
ส่วนหลังจากนั้น ก็ว่ากันไป
ช่วงพีคของเป็นเอก ผมมองว่ามีแค่หนัง 4 เรื่องแรก (ฝันบ้า, เรื่องตลก 69, มนต์รัก และเรื่องรัก) หลังจากนั้นมันไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ ถ้ามีโอกาสก็อาจกลับมาเขียน พลอย กับนางไม้ ส่วนเรื่องอื่นๆก็คงละเอาไว้
ผมเกิดในสมัยนั้นนะ สมัยนั้นที่หนังเรื่องนี้ฉายดูแว๊บแรกก็รู้ครับ ไม่ต้องโรงแรมนรกหรอกครับ นั่นหนังเงียบ เรื่องตลก 69 มาหลังฝันบ้าคาราโอเกะ น่าจะเป็นน่าจะเป็นเรื่องที่ 2 ทั้งสองเรื่องได้อิทธิพลจากเควนติน ทารันติโน และหว่องกาไว มาเต็มๆ แกชอบเควนตินกับหว่องจะตาย ได้ทุกอย่างมาจาก reservoir dogs pulp fiction และ chunking express จนเรื่องที่ 3 ไปนี่แหล่ะที่แกเริ่มหาทางของตัวเองถูก ส่วนตัวคิดว่าแกได้ดูโรงแรมนรกหนังดูเควนตินอีกมั้ง