เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) : เป็นเอก รัตนเรือง ♥♥♥♥
จิ้งจกเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสัญญะของความโดดเดี่ยว ลองนึกภาพจิ้งจกเกาะอยู่ตามเพดาน ตามผนัง มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่คนไม่เคยเลี้ยง แต่ก็ไม่เคยไล่ ต่างคนต่างอยู่ บนเพดานกว้างจิ้งจกตัวหนึ่งจะดูโดดเด่นเป็นปื้นสีหม่นท่ามกลางสีขาว ชีวิตสองสปีชีย์อยู่ห่างกันไม่กี่เมตร แต่โลกของเรากับจิ้งจกเหมือนไกลกันหลายปีแสง – ปราบดา หยุ่น
ในขณะที่ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) ละเล่นกับความตลกร้ายจากการพลิกกลับตารปัตรตัวเลข 6 กับ 9, เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) นำเสนอความสัมพันธ์ของคนสอง พี่-น้อง น้อย-นิด อาศัยอยู่เคียงชิดใกล้ แต่พวกเขาต่างมีโลกส่วนตัว ไม่เคยสุงสิงยุ่งเกี่ยว เหมือนอยู่ห่างไกลกันมหาศาล
Last Life in the Universe (2003) คือผลงานชิ้นโบว์แดงของเป็นเอก รัตนเรือง อันเกิดจากการรวมทีมยอดมนุษย์ The Avengers, พัฒนาบทโดย ปราบดา หยุ่น, ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle, นำแสดงโดย Tadanobu Asano, ด้วยงบประมาณสูงถึง $1.8 ล้านเหรียญ (77.4 ล้านบาท) จากการร่วมทุนห้าสัญชาติ ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น (ประเทศไทย), Paradis Films (ฝรั่งเศส), Pioneer LDC (ญี่ปุ่น), Fortissimo Film Sales (เนเธอร์แลนด์) และ Cathay Films Asia (สิงคโปร์) … ถ้าผลลัพท์ออกมาไม่ดี ก็คงอับอายขายหน้าประชาชี!
สิ่งที่ผมรู้สึกอึ้งทึ่ง ประทับใจหนังมากที่สุด ประกอบด้วยลีลาถ่ายภาพอารมณ์ของ Christopher Doyle และการนำเสนอความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ผ่านการแสดงของ Tadanobu Asano vs. สินิทธา บุญยศักดิ์ (พี่สาวของพลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ซึ่งก็ร่วมรับเชิญในบทน้องสาว) เราสองคนไม่มีอะไรเหมือนกัน แต่กลับสามารถเติมเต็มความเหงา หัวใจว่างเปล่า
เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล เป็นหนังอีกเรื่องที่ออกมาแบบทำให้ผมเองประหลาดใจนิดๆนะว่า กล้องมันถ่ายอารมณ์ติดจริงๆด้วย ขนาดอารมณ์คลุมเครือก็ถ่ายติดจริงๆ สำหรับผมมันเป็นหนังที่เหมือนกับเราเริ่มทำหนังเรื่องแรกใหม่อีกที
เป็นเอก รัตนเรือง
เป็นเอก รัตนเรือง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร โตขึ้นเดินทางสู่ New York, สหรัฐอเมริกา ช่วงวัยรุ่นไม่ได้มีความชื่นชอบภาพยนตร์สักเท่าไหร่ จนกระทั่งรับชม 8½ (1963) แม้ดูไม่รู้เรื่อง แต่หลงใหลความเป็นไปได้ไม่รู้จบ, สำเร็จการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์และปรัชญาจาก Pratt Institute แล้วทำงานเป็นนักออกแบบ วาดภาพประกอบอิสระ, หวนกลับมาเมืองไทยเข้าบริษัท The Film Factory กำกับโฆษณาหลายชิ้น ติดตามด้วยภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ลำดับที่สี่ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) เกิดขึ้นในวงสังสรรค์ของเป็นเอกและเพื่อนคนทำหนังชาวต่างชาติ, โปรดิวเซอร์ชาวฮอลแลนด์ Wouter Barendrecht ได้สอบถามว่า อยากร่วมงานนักแสดง Tadanobu Asano และตากล้อง Christopher Doyle หรือเปล่า? แน่นอนโอกาสดีเช่นนี้ใครจะบอกปัดได้ลง
อย่างไรก็ตามโปรดิวเซอร์บอกกับเป็นเอก ขอให้เขียนบทหนังออกมาเร็วที่สุด! เพราะกลัวว่า Asano และ Doyle จะเปลี่ยนใจ หรือติดพันโปรเจคอื่น เขาจึงนำไอเดียเคยครุ่นคิดไว้ตั้งแต่หลังเสร็จจากเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) เกี่ยวกับชายผู้หมกมุ่นการฆ่าตัวตาย นำไปเล่าให้ ปราบดา หยุน นักเขียนหนุ่มไฟแรงที่เพิ่งคว้ารางวัลซีไรต์ จากเรื่องความน่าจะเป็น (พ.ศ. ๒๕๔๕) พูดคุยในร้าน Starbucks นานกว่าสามชั่วโมง ก่อนอีกฝ่ายหายตัวไปสองเดือนพัฒนาเรื่องสั้น I am home ก่อนถูกนำไปต่อยอดบทหนังโดยเป็นเอกอีกที ภายใต้ชื่อใหม่ว่า Last Life in the Universe หรือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (ชื่อนี้ก็แนะนำโดยปราบดา หยุ่น)
เกร็ด: ต้นแบบตัวละคร Kenji มาจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นของปราบดา หยุ่น ชื่อว่า Yoshioka Norihiko ขณะนั้นทำงานเป็น Assistant Director ของ The Japan Foundation สถาบันที่ขับเคลื่อนโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย (ปัจจุบันไม่รู้เกษียณหรือยัง แต่สามารถไต่เต้าเป็น Director-General ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙)
ผมใช้เวลาอยู่นานกว่าจะพบเจอภาพงานแถลงข่าวเปิดตัวหนัง วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถือเป็นงานใหญ่เพราะเป็นโปรเจคร่วมทุนหลายประเทศ ผู้สื่อข่าวก็มีทั้งไทย-เทศ, ผู้กำกับเป็นเอก รัตนเรือง, ผู้กำกับภาพ Christopher Doyle และนักแสดงนำ Tadanobu Asano, นุ่น – สินิทธา บุญยศักดิ์ และพลอย – เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้า
เรื่องราวของ Kenji (รับบทโดย Tadanobu Asano) ชายชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำงานบรรณาธิการห้องสมุด The Japan Foundation วันๆมักครุ่นคิดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย ไม่ได้ด้วยเหตุผลอกหัก รักคุด เป็นหนี้ หรือติดยา มองว่ามันคงเหมือนการนอนงีบหลับ เพื่อตื่นขึ้นมากระชุ่มกระชวยในชาติภพถัดไป
วันหนึ่งระหว่างกำลังพยายามจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ได้พบเจอนิด (รับบทโดย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ถูกรถชนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้รับรู้จักกับพี่สาวน้อย (รับบทโดย ดารัณ บุญยศักดิ์) เข้ามาช่วยปลอมประโลม คลายความเศร้าโศกเสียใจ
อีกวันถัดมาพี่ชายของ Kenji ซึ่งเป็นยากูซ่าหนีความผิดจากญี่ปุ่น เดินทางมาเยี่ยมเยียนในอพาร์ทเม้นท์พร้อมกับเพื่อนอีกคน โดยไม่รู้ตัวหมอนั่นคือนักฆ่าถูกส่งมาเก็บทั้งสอง โชคดีว่า Kenji สามารถเอาตัวรอดพ้น เมื่อกลับไปทำงานห้องสมุด พบเจอกับน้อยอีกครั้ง เธอชักชวนเขาไปที่บ้าน แล้วเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มญี่ปุ่น-สาวไทย สื่อสารไม่เข้าใจ อุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่ทั้งสองต่างเพิ่งพานผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย จึงสามารถเติมเต็มความเหงา เวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ
Tadanobu Asano, 浅野 忠信 ชื่อจริง Tadanobu Satō, 佐藤 忠信 (เกิดปี ค.ศ. 1973) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama, Kanagawa ด้วยความที่บิดาเป็นเอเย่นต์นักแสดง แนะนำบุตรชายตอนอายุ 16 ให้ลองแสดงซีรีย์ Kinpachi Sensei จึงบังเกิดความสนใจด้านนี้ ติดตามด้วยภาพยนตร์ Swimming Upstream (1990), ผลงานเด่นๆ อาทิ Fried Dragon Fish (1993), Maboroshi no Hikari (1995), Ichi the Killer (2001), The Taste of Tea (2003), Zatoichi (2003), Bright Future (2003), Last Life in the Universe (2003), Invisible Waves (2007), Mongol (2007), โกอินเตอร์ Thor (2011), Silence (2016), ซีรีย์ Shōgun (2024) ฯ
รับบท Kenji ชายชาวญี่ปุ่น คาดว่าน่าจะเป็นยากูซ่า (จากรอยสักบนแผ่นหลัง) หลบหนีคดีมาปักหลักอาศัยอยู่กรุงเทพฯ ทำงานบรรณาธิการห้องสมุด The Japan Foundation วันๆครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ไม่เคยทำสำเร็จสักครั้ง! จนกระทั่งพบเห็นความตายของนิด และพี่ชายถูกยิงเสียชีวิต จิตใจห่อเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว ไม่อยากอยู่ตัวคนเดียว เลยขอพึ่งพาอาศัยบ้านของน้อย(พี่สาวของนิด) ที่มีสภาพรกรุงรัง ค่อยๆยินยอมรับ ปรับตัว ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้าย และเรียนรู้กระทำสิ่งนอกกฎกรอบชีวิตของตนเอง
เป็นเอกเลือก Asano เพราะเคยพบเจอกันในเทศกาลหนังต่างประเทศ ชอบบุคลิกภาพนิ่งเงียบ เข้มขรึม ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้า ตอนเดินทางมาประเทศไทย ก็แทบจะสวมวิญญาณตัวละครตลอดระยะเวลาถ่ายทำสองเดือน ตัวจริงแทบไม่แตกต่างจากบทบาทการแสดง
Asano เป็นคนขยัน ไม่เคยมาสาย มีสมาธิ ตั้งใจทำงาน เล่นดีโดยไม่ต้องถ่ายซ้ำ สามารถทิ้งตัว ปล่อยอารมณ์ เข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้ อาจเพราะคนญี่ปุ่นมีวินัย เจ้าระเบียบ รักความสะอาด จริงจังกับชีวิต สนิทสนมกับความตาย เชื้อชาติซามูไรเชื่อว่ามันคือเกียรติยศ ศักดิ์ศรี พร้อมเสียสละชีพเพื่อชาติ วิถีบูชิโด ฆ่าได้หยามไม่ได้ ไม่หวาดกลัวเกรงความตาย … มันคือสิ่งถูกปลูกฝังอยู่ในจิตวิญญาณ DNA สืบทอดมาจากบรรพบรุษ?
คงไม่มีนาทีไหนในหนังที่ Asano จะเท่ห์ไปกว่าตอนหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบท้ายเรื่อง นั่นคือช่วงเวลาแห่งการปลดเปลื้อง จิตวิญญาณได้รับปลดปล่อย (ถ่ายทำหนังเสร็จเสียที!) ตัวละครบังเกิดความเข้าใจชีวิต เรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นยึดติดกับระเบียบวินัย จริงจังทุกสิ่งอย่างรอบข้างกาย … นั่นอาจคือเหตุผลที่ Asano ยินยอมหวนกลับมาร่วมงานกับเป็นเอกอีกครั้ง Invisible Waves (2007)
ดารัณ บุญยศักดิ์, ชื่อเกิด สินิทธา บุญยศักดิ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๒) อดีตนักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร จบมัธยมโรงเรียนเซนต์เทเรซา ต่อด้วยปริญญาตรีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว. ประสานมิตร), เข้าสู่วงการบันเทิงโดยมีผลงานโฆษณาชิ้นแรก ลูกอมฮอลล์ (พ.ศ. ๒๕๓๗), ก่อนโด่งดังกับเครื่องสำอางค์มีสทีน (แสดงคู่กับ ไมเคิล พูพาร์ท), ผลงานละคอนเด่นๆ อาทิ ละครเล่ห์เสน่หา (พ.ศ. ๒๕๓๙), ทรายสีเพลิง (พ.ศ. ๒๕๓๙), ภาพยนตร์ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖), ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๙ หลังตรวจพบเนื้องอกในมดลูก ตัดสินใจออกจากวงการ พักรักษาตัวจนหาย แล้วหันไปทำธุรกิจด้านอาหารออร์แกนิก
รับบทน้อย ทำงานบาร์โฮส (รวมถึงขายบริการทางเพศ) ผิดใจน้องสาวนิดที่แย่งผู้ชายของตนเอง แต่ความตายของเธอสร้างความเจ็บปวด ชอกช้ำ ได้รับการปลอบประโลมจากชายชาวญี่ปุ่น Kenji พามาที่บ้าน แม้พูดคุยรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง อีกสองสามวันจะเดินทางไปทำงานญี่ปุ่น โดยไม่รู้ตัวอีกฝ่ายช่วยเติมเต็มความเหงา เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้
ตอนทำ Last Life in the Universe เราไปแคสต์พี่สาวก่อน (ดารัณ บุญยศักดิ์) ตอนนั้นนุ่นเขาลาวงการไปเรียบร้อยแล้ว เขาเบื่อวงการมาก กำลังจะไปเรียนวิทยาลัยในวังหญิง
เราไปคุยกับเขาแล้วชอบหน้ามาก หน้าเขาโคตรเศร้าเลย ตาโคตรเศร้าเลย โอ้โห คนนี้แม่งใช่ มันเหมาะกับบทนี้มาก แต่ตอนแรกเขาก็บอกไม่อยากมาเล่น เพราะถ้าเขาจะมาเล่น เขาต้องลาออกจากโรงเรียนนี้ แต่จะให้เราเลื่อนการเปิดกล้องหนังออกไปก็ไม่ได้ เพราะคิวดาราญี่ปุ่นมันเป็นหลัก Tadanobu Asano มีเวลาให้แค่นั้น
นุ่นก็บอกว่าเดี๋ยวอาทิตย์หนึ่งให้คำตอบ ถึงเวลาเขาก็บอกว่าเล่น แล้วก็ไปลาออกจากโรงเรียน ตอนหลังเราไปรู้มาอีกว่าเขามีน้องสาวชื่อพลอย งั้นก็เอาน้องสาวมาเล่นด้วยเลย เพราะในเรื่องมันต้องเป็นพี่น้องกันอยู่แล้วนี่ ก็เล่นด้วยกันจริงๆไปเลย ตอนนั้นพลอยอายุ ๑๗ เองมั้ง เขาดังมาก กำลังพีกในเรื่องของความเซ็กซี่ นึกออกไหม
เป็นเอก รัตนเรือง
แม้เพิ่งอายุยี่สิบต้นๆ แต่นุ่นอยู่ในวงการมาหลายปี เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เบื่อหน่าย ตั้งใจจะออกจากวงการเพื่อไปเรียนต่อ ถ้าไม่เพราะเป็นเอกโน้มน้าว บทมันใช่ หน้าตามันได้ พลิกบทบาทเล่นเป็นโสเภณี มีความท้าทายอย่างมากๆ
นุ่นกับ Asano มีความแตกต่างแทบจะทุกสิ่งอย่าง! ฝ่ายชายสูงใหญ่ ไหลกว้าง เป็นคนเจ้าระเบียบ สุภาพอ่อนโยน นิ่งเงียบ เข้มขรึม พูดเสียงทุ้มต่ำในลำคอ, ขณะที่นุ่มรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กกระจิดริต แต่งตัวโป๊เปลือย ระริกระรี้แรดร่าน กินทิ้งกินขว้าง คุ้นเคยกับความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ชอบพูดถ้อยคำหยาบคาย ด้วยน้ำเสียงแหลมสูง นิสัยแก่นแก้ว ห้าวเป้ง ดื้อรั้น เจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ ไม่ค่อยให้ความเคารพคนอื่นสักเท่าไหร่
บทบาทของนุ่นอาจไม่ลุ่มลึกเทียบเท่า Asano บางครั้งดูดัดจริต เจ้าอารมณ์ โอเว่อแอ็คติ้งเกินงาม แต่นั่นน่าจะคือความตั้งใจเพื่อให้ผู้ชมเห็นความแตกต่างระหว่างหนุ่มญี่ปุ่น-สาวไทย ที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม สภาพความเป็นอยู่ ราวกับศัตรูคู่อาฆาต แต่พวกเขากลับเติมเต็ม พึ่งพักพิง คลายความเหงา เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย
ขอกล่าวถึงน้องสาวพลอย เฌอมาลย์ (ตอนนั้นยังใช้ชื่อ ไลลา บุญยศักดิ์) สักหน่อยก็แล้วกัน, จริงๆตอนนั้นเธอเริ่มมีชื่อเสียงพอตัว เล่นหนัง เล่นละคอนตั้งแต่เด็ก (ปีนั้นยังมี บุปผาราตรี (พ.ศ. ๒๕๔๖) ที่ทำให้แจ้งเกิดเต็มตัว) ซึ่งสำหรับ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) อาจถือเป็นครั้งแรกๆเล่นบทวัยรุ่น ขายความเซ็กซี่ รับบทโสเภณี มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพี่สาว ก่อนถูกรถชนเสียชีวิต … จริงๆบทมีแค่นั้น แต่ทว่าเป็นเอกเพิ่มฉากความฝัน เพื่อให้พลอยมีโอกาสเข้าฉากร่วมกับ Asano อีกสักหน่อยก็ยังดี!
ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle (เกิดปี 1952) ตากล้องสัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney พออายุ 18 ออกเดินทางท่องเที่ยวทำงานยังหลายๆประเทศ อาทิ ขุดน้ำมันที่อินเดีย, เลี้ยงวัวที่อิสราเอล, แพทย์แผนจีนที่ประเทศไทย, ระหว่างอาศัยอยู่ไต้หวันค้นพบความชื่นชอบด้านการถ่ายภาพ จนกลายมาเป็นตากล้องภาพยนตร์ That Day, on the Beach (1983) ของผู้กำกับ Edward Yang, โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำ Wong Kar-Wai อาทิ Days of Being Wild (1991), Chungking Express (1994), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานอื่นๆ อาทิ Temptress Moon (1996), Hero (2002), Perhaps Love (2005), Invisible Waves (2006) ฯ
การได้ร่วมงานกับ Doyle คือโอกาสยากยิ่ง ก็ไม่รู้โปรดิวเซอร์ไปดีลมายังไง แม้เคยมาอยู่เมืองไทย แต่ชื่อเสียงของอีกฝ่ายโด่งดังไกลระดับโลก คว้ารางวัลมาเยอะ อีโก้สูงลิบลิ่ว มันจะมีผู้กำกับภาพยนตร์ที่คู่ควรกับตนเองหรือไม่?
ตรงกันข้ามกับ Asano, Doyle เป็นคนชอบสถบ เอะอะอะไรก็ Fuck ตลอด แล้วก็ดื่มเก่งประเภท drink like a fish กองถ่ายเริ่มงานเมื่อไหร่ เขาถือเบียร์เมื่อนั้น พอสองทุ่มเป็นต้นไป พี่เค้าก็จะเกิดอาการตะเกียงหรี่ตาตี่ นั่งตรงไหนก็กรนคร่อก เพราะฉะนั้นฉากกลางคืนของหนังจึงไม่มี ล้วนเป็น day of night เป็นเอกก็ยอมให้เพราะดูจากทางภาพแล้วก็ไม่มีผลเสียอะไร
ความเป็นเซียนด้านการจัดแสง ช่วยให้เรามองข้ามเรื่องหยุมหยิมที่น่าหมั่นไส้ซึ่งมาจากนิสัยขี้งอนของเขาไปได้
อย่างวันแรกของการถ่ายทำ เป็นฉากที่ Kenji จะฆ่าตัวตาย Doyle โฉบเข้ามาถามว่าเราใช้ฟีล์มอะไรถ่ายภาพ? ทำไมหรือ? เพราะปกติการถ่ายภาพนิ่งของหนังทั่งไปเราจะใช้ฟีล์ม ๔๐๐ ที่บางครั้งต้อง push ขึ้นไปถึง ๘๐๐ และ ๑๖๐๐ ซึ่งเรื่องนี้ทีแรกก็คิดว่าต้องใช้วิธีนี้เหมือนกัน แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ Doyle จัดแสงสว่างจ้าโดยใช้ไฟ Kino ไฟนี้จะวางหลอดติดกันเป็นแผง ไม่ใช่ไฟเหลืองดวงโตๆแบบที่เราเห็นตามกองถ่ายหนัง ส่วนใหญ่กองถ่ายหนังไทยใช้แผงละ ๓-๔ หลอด แต่ Doyle ใช้แผงละ ๑๒ หลอด กองถ่ายทั่วไปมักใช้ไฟ Kino เป็นไฟหยอด คือใช้ไฟดวงใหญ่เป็นไฟหลักไว้ก่อน แล้วตรงไหนไม่พอก็เอาแผง Kino นี่แหละไปหยอดเป็นจุดๆ แต่ Doyle เล่นใช้ทั้งห้อง มันเลยขาวโพลนไปหมด แปลกดีเหมือนกัน … ดูด้วยตาแล้วบอกได้ว่าแสงน่าจะโอเวอร์ แต่ Doyle ใช้วิธี pull film ๒ stop และ non bleach ในห้องแล็บ ทำให้ภาพที่ออกมาแสงพอดี
เทคนิค pull film ที่ว่านี้หนังฮ่องกงชอบใช้ จุดเด่นของการวางไฟลักษณะนี้ทำให้ฉากสว่างแต่ดูนุ่ม นี่หมายถึงว่าคนจัดไฟต้องจัดเก่งด้วยนะ เพราะถ้าวางไม่ถูกจุด อ่านค่าแสงไม่ถูก จะทำให้ภาพแข็งโป๊กและดูแบน อันนี้มันก็ต้องประกอบกับการวางมุมให้ภาพดูมีความชัดลึกด้วย เรื่องนี้พี่เขาเจ๋งจริง แต่พวกเราตอนแรกๆยังไม่คุ้นชิน เป็นเอกนั้นใหม่ๆก็ยังไม่มั่นใจ เดินมาเห็นไฟสว่างโร่ถึงกับออกปากว่า เอ๊ะ … กูเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าว่า หนังดูเป็นตอนกลางคืนนะ … แต่ก็ทำอะะรไม่ได้ แกบอกว่า … เชื่อมั่นเหอะ เพราะมันคือ Christopher Doyle
กุลธิดา พิริยะพันธุ์ จากนิตยสาร Bioscope
งานภาพของหนังช่างมีความนุ่มนวล ลุ่มลึก ทุกช็อตฉากแม้กระทั่งควันบุหรี่ยังคละคลุ้งด้วยสัมผัสทางอารมณ์ ความเหงาเอ่อล้นออกมานอกจอ … นี่สินะตากล้องระดับ World Class เข้ามาช่วยเปิดโลกทัศน์ ประสบการณ์ใหม่ให้วงการภาพยนตร์ไทย
We want to see things that are happening inside the characters. All my other films have been plot-driven. I didn’t want to repeat what I’ve done. So I decided to see if the camera can photograph emotion. Can we take the camera inside the characters and film them from there? When that is the task, inevitably location and time disappear. You’ve not always sure when it’s night and when it’s day.
เป็นเอก รัตนเรือง
เกร็ด: หนังมีกำหนดถ่ายทำในประเทศไทยและญี่ปุ่น ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
สมุดนิทานจิ้งจกเดียวดาย/จิ้งจกตัวสุดท้าย (The Last Lizard in the World) แต่งโดย Yuji Kanou หนังสือเล่มนี้น่าจะไม่มีอยู่จริง สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพร็อพประกอบฉาก คนละเรื่องกับ Black Lizard (1961) ของ Yukio Mishima (แต่ก็มีอ้างอิงหนังสือเล่มนี้วางบนหัวเตียงนอนของ Kenji)
Link: http://colorfilms.co.th/goodmoment/world-of-design/lizard-book-last-life-universe
จิ้งจก (Gecko) หรือที่ต่างชาติมักเรียกกันว่า ตุ๊กแกบ้าน (Hemidactylus frenatus) เป็นตุ๊กแกพื้นเมืองในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่ญี่ปุ่นไม่มีจิ้งจกนะครับ) ส่วนใหญ่ออกหากินตอนกลางคืน ซ่อนตัวเวลากลางวัน สามารถพบเห็นพวกมันปีนกำแพงบ้านและอาคารอื่นๆ เพื่อค้นหาแมลงดึงดูดแสงไฟจากระเบียง ความยาวระหว่าง ๗.๕-๑๕ ซม. และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ ๗ ปี จิ้งจกเหล่านี้ไม่มีพิษภัย และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ความเชื่อเรื่องตุ๊กแกมีความแตกต่างในหลายๆประเทศ บ้างว่าลางดี บ้างว่าลางร้าย ฟิลิปปินส์เชื่อว่าตุ๊กแกส่งเสียงจั๊กจี้เพื่อบ่งบอกว่าผู้มาเยือนหรือจดหมายกำลังจะมาถึง, ศรีลังกามีศาสตร์การทำนายโดยเอาจิ้งจกตกใส่ตัว ถูกอวัยวะส่วนไหนของร่างกายจะมีคำทำนายแตกต่างกันไป, บังคลาเทศ และเนปาล ได้ยินเสียง “ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก” คล้ายกับสำนวน “ทิก ทิก ทิก” (ภาษาอัสสัม : ঠিক ঠিক ঠিক) แปลว่า ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง คือการยืนยันสามเท่า ถือเป็นเรื่องมงคล
ส่วนประเทศไทย ถ้าจิ้งจกส่งเสียงร้องทัก นั่นถือเป็นลางร้าย ห้ามออกจากบ้านโดยเด็ดขาด! แต่มันจะมีรายละเอียดอย่างถ้าเสียงนั้นอยู่ด้านหลังหรือตรงศีรษะให้เลื่อนการเดินทาง แต่หากเสียงร้องทักอยู่ด้านหน้าหรือซ้ายให้เดินทางได้ ซึ่งในบริบทของหนังปรากฎจิ้งจกต่อหน้าต่อตา คงต้องยึดตามความเชื่อไทย คือลางร้ายเสียมากกว่า!
สไตล์เป็นเอก เลื่องชื่อในลีลาการหลอกลวงผู้บริโภค (misdirection) ยั่วให้อยากแล้วจากไป, เริ่มต้นด้วยภาพแขวนคอตายของ Kenji แต่นั่นคือความฝันที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง! มันต้องมีอะไรบางอย่างขัดจังหวะ สะดุ้งตื่น แค่เพียงการเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมเท่านั้นเอง
โดยปกติแล้วตัวละครจะฆ่าตัวตาย มักมีการจัดแสง-เงาให้ดูทะมึน อึมครึม ปกคลุมด้วยความมืดครื้ม แต่ทว่าอพาร์ทเม้นท์ของ Kenji กลับส่องสว่าง ขาวจั๊วะ นึกว่าตอนกลางวัน (ซีเควนซ์นี้ควรจะเป็นตอนกลางคืนด้วยซ้ำ!) นี่เป็นการสะท้อนมุมมองความตายของตัวละคร ไม่คิดเห็นว่ามันเป็นสิ่งเลวร้าย หายนะ หรืออิทธิพลจากอาการซึมเศร้า สิ้นหวัง แค่เพียงการนอนหลับฝัน แล้วตื่นขึ้นในชาติภพใหม่
แซว: แม่บ้าน+พนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อพบเห็น Kenji ผูกคอตาย แทนที่จะรีบตรงเข้ามาช่วยชีวิต ตรวจสอบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า คนหนึ่งเป็นลมล้มพับ อีกคนค่อยๆก้าวย่างสามขุม แล้วให้ความสนใจกับรองเท้าแตะ? ส้นตรีนเถอะ!
ตอนก่อนที่ Kenji กำลังจะแขวนคอตาย ได้ยินเสียงอ็อดประตู เน้นๆย้ำๆ ดังขึ้นซ้ำๆไม่ยอมหยุดหย่อน ขัดจังหวะความพยายามฆ่าตัวตายอย่างสงบ (ตลอดทั้งเรื่อง มันจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ Kenji ไม่สามารถกระทำอัตวินิบาตได้สำเร็จ) เปิดประตูออกมาพบเจอพี่ชาย เดินทางมาจากญี่ปุ่น นำเบียร์ไฮเนเก้น ของขวัญ และรองเท้า (มารยาทของคนญี่ปุ่นคือถอดรองเท้าเข้าบ้าน แต่ในบริบทนี้เหมือนการประชดประชัน Kenji เสียมากกว่า)
การมาถึงของพี่ชาย ทำลายความสงบเรียบร้อยของอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ โยนเสื้อผ้า ขยะไม่เก็บ จานไม่ล้าง (พฤติกรรมแทบจะไม่แตกต่างจากน้อยและนิด) นั่นทำให้วินาทีหนึ่งมีการปรากฎภาพ Kenji แขวนคอตาย แต่นั่นไม่ใช่จินตนาการความฝัน ผมมองว่ามันคือ ‘Expression’ การมาของพี่ชายไม่ต่างจากตกนรก ผูกคอตายเสียยังดีกว่า
นอกจากสรรพสิ่งอย่างที่ถูกจัดวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งน่าสนใจที่สุดในอพาร์ทเม้นท์ของ Kenji คือภาพวาดสไตล์ M. C. Escher (1898-1972) ศิลปินสาขาเลขนศิลป์สัญชาติ Dutch ผู้นำเอาหลักการทางเรขาคณิต มารังสรรค์สร้างผลงานศิลปะ ให้ดูราวกับภาพลวงตา
หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อของ M. C. Escher คือ Day and Night (1938) ฝั่งซ้ายคือเมืองติดแม่น้ำตอนกลางวัน ส่วนฝั่งขวาราวกับภาพสะท้อนกระจก เมืองติดแม่น้ำยามค่ำคืน ซึ่งบริเวณท้องฟ้าจะพบเห็นภาพฝูงนกขาว-ดำ โบยบินทิศทางตรงกันข้าม … ทุกสิ่งอย่างของภาพนี้เกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน?
กลับมาที่ภาพวาดในอพาร์ทเมนท์ของ Kenji แน่นอนว่าได้แรงบันดาลใจจาก Day and Night สะท้อนวิถีชีวิตตัวละครที่เป็นคนสุดเนี๊ยบ ทุกสิ่งอย่างล้วนผ่านการครุ่นคิด คำนวณ จัดระเบียบแบบแผน แต่ทว่าการเปลี่ยนแปรสภาพจากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง รูปธรรมสู่นามธรรม นั่นคือสิ่งที่เขากำลังจะได้รับจากการพบเจอนิดกับน้อย ทำให้ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว โบยบินสู่ทิศทางที่เขากำหนดเลือกเอง
พี่ชายของ Kenji คุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่บาร์โฮส รับฟังสรรพคุณทำไมถึงถูกส่งมากรุงเทพฯ เพราะดันไปหลับนอนกับลูกสาวหัวหน้าแก๊งค์ ถ้าเป็นเขาคงเฉือนไอ้จ้อนจับยัดใส่ปาก “นายดูหนังยากูซ่ามากไป” จากนั้นตัดภาพโปสเตอร์ Ichi the Killer (2001) กำกับโดย Takashi Miike (มารับเชิญในหนังช่วงท้ายด้วยนะ) และนำแสดงโดย Tadanobu Asano ย้อมผมเหมือนในโปสเตอร์นี้แหละ
การอ้างอิงถึง Ichi the Killer (2001) ที่นำแสดงโดย Asano ทำให้ผู้ชมสามารถจินตนาการเบื้องหลังตัวละคร เหตุผลที่ Kenji อพยพหลบหนี ลี้ภัยมาอยู่กรุงเทพฯ ก็อาจเพราะวีรกรรมเคยทำเอาไว้ … ผมยังไม่เคยรับชมหนังเรื่องนี้ เลยบอกไม่ได้ว่าตัวละครเคยทำอะไร แต่ตั้งใจจะหารับชม เขียนถึงในอนาคตอย่างแน่นอน
หลังเลิกงานระหว่างทางกลับบ้าน มีการตัดสลับไปมาระหว่าง … สังเกตว่าทั้งสองเส้นเรื่องต่างมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึง แต่ก็แตกต่างตรงกันข้าม!
- Kenji ขึ้นรถโดยสาร ขณะกำลังเปิดอ่านสมุดนิทานจิ้งจกเดียวดาย ถูกทักทายโดยชายแปลกหน้า พูดภาษาญี่ปุ่นได้นิดๆหน่อยๆ พยายามจะพูดคุยสนทนา แต่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ เขาเลยขอลงกลางทางดีกว่า
- สังเกตว่าแสงไฟสาดส่องลงมาเฉพาะบริเวณ Kenji (กับชายแปลกหน้า) ส่วนผู้โดยสารอื่นๆปกคลุมด้วยความมืดมิด
- น้อยลากพานิดขึ้นรถกลับบ้าน ระหว่างทางทั้งสองเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง พี่สาวไม่พึงพอใจน้องที่หลับนอนกับแฟน/แมงดาของตนเอง ต่างแสดงใบหน้านิ่วคิ้วขมวดไม่ต่างกัน
- มีการจัดแสงที่ทำให้รถทั้งคันสว่างจร้า แต่ท้องถนนหนทางกลับปกคลุมด้วยความมิดมิด นี่แสดงว่าเป็นการถ่ายทำในสตูดิโอ แล้วนำไปซ้อนทับทัวทัศน์ท้องถนนเอาภายหลัง
สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ถือเป็นสะพานโครงเหล็กชื่อดัง (ที่สามารถเปิด-ปิดให้เรือแล่นผ่าน) หนึ่งใน ‘Icon’ ของสยามประเทศ เชื่อมฝั่งพระนคร กับฝั่งธนบุรี สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ (สะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าแก่ที่สุด) สำหรับพระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี … เพราะความเก่าแก่นี้เอง ยังกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตสำหรับกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย!
การเลือกสะพานพุทธฯ สำหรับให้ Kenji พยายามกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ก็ถือเป็นความตลกร้ายสไตล์เป็นเอก แต่ผู้ชมรุ่นใหม่อาจไม่ตระหนักถึงสักเท่าไหร่
ตามสไตล์เป็นเอก ทำการล่อหลอกผู้ชมให้หลงครุ่นคิดว่า Kenji กระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่แท้จริงแล้วก็แค่ความครุ่นคิด เพ้อฝัน หยุดชะงักงันเพราะเสียงตะโกนเรียกของน้อย แต่ทว่าฉากกระโดดน้ำนี่ต้องกระโดดจริง ถ่ายทำในสระว่ายน้ำสักแห่งหนึ่ง ซึ่งผมตระหนักว่าการฉายภาพใต้น้ำ (แทนที่จะเป็นตอนกระโดด หรือจากบนผืนน้ำ) มันอาจสื่อถึงการจมลงสู่ก้นเบื้อง/จิตใต้สำนึกตัวละคร
และที่ตลกร้ายยิ่งกว่า หลังจากนิดถูกรถชนต่อหน้าต่อตา ภาพที่หนังนำเสนอถัดมาคือ สภาพโต๊ะอาหารหลังรับประทานเสร็จ ควันบุหรี่ยังคงคุกรุ่น ราวกับจะสื่อว่าความตายของหญิงสาว ไม่ได้มีมูลค่า ราคา เพียงเศษอาหาร ทานเสร็จแล้วเหลือทิ้งขว้าง
ก่อนตัดไปภาพน้อยในโรงพยาบาล นั่งอยู่ข้างๆหมอทำทรงผมคล้ายแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ฝรั่งคงไม่รู้จัก แต่คนไทยเห็นแล้วร้องอ๋อ
เมื่อกลับมาห้อง Kenji แกะห่อของขวัญที่พี่ชายมอบให้ ข้างในเป็นตุ๊กตาหมี แต่ถ้าแกะมันออกอีกที จะพบเจอปืนพก อาวุธสำหรับป้องกันตัว/ฆ่าตัวตาย? จะว่าไปดอกไม้สีแดง โคมไฟสีเขียว ก็เคลือบแฝงนัยยะสองสิ่งขั้วตรงข้าม คล้ายๆเดียวกัน
เมื่อได้ครอบครองปืน Kenji จึงพยายามจะฆ่าตัวตาย (ผมแอบรู้สึกว่า เป็นเอกพยายามออกแบบท่าการยิงให้แตกต่างจากเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๔)) แต่ยังไม่ทันจะเหนี่ยวไก หรือฝันว่าเหนี่ยวไก กลับมีเสียงปืนลั่นจากห้องนั่งเล่น เดินไปพบเห็นเพื่อนที่พี่ชายพามา แท้จริงแล้วคือนักฆ่าหัวหน้าส่งมาเก็บ (เพราะดันไปหลับนอนกับบุตรสาว) ซึ่งคงวางแผนจัดการ Kenji ด้วยเช่นกัน (ไม่งั้นไม่รอคอยให้มาถึงอพาร์ทเม้นท์หรอก) ทว่าจู่ๆไฟดับ ฟ้าลิขิตให้พระเอกต้องรอดชีวิต
ย้อนรอยกับเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๔) หมิว ลลิตาเคยพร่ำบ่นว่าต้องคอยเช็ดเลือดจนเบื่อ, สำหรับ Asano แม้มีเพียงฉากนี้ฉากเดียว แต่นอกนั้นกลายเป็นพ่อบ้าน ล้างจาน ปัดกวาดเช็ดถู งานหนักกว่าเสียอีก –“
คราบเลือดสาดกระเซ็นไปโดนกองหนังสือ, ภาพวาดสไตล์ M. C. Escher ฯ นี่ถือเป็นการทำลายรูปแบบแผน วิถีชีวิตของ Kenji รวมถึงเรื่องกลิ่น ศพคนตาย และรอยเปลื้อนทางจิตวิญญาณ (ที่เช็ดไม่ออก) ทำให้เขามิอาจอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ได้อีกต่อไป
เจ้าตุ๊กตาหมีอาจเพิ่งช่วยชีวิต Kenji แต่มันไม่สามารถปกป้องเขาได้ทุกสิ่งอย่าง ยกตัวอย่างหยาดฝนพร่ำ บดบังได้แค่เพียงทรงผม หลังจากนี้เขาต้องรู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่หลงเหลือพี่ชายที่เป็นญาติคนสุดท้ายอีกต่อไป … ภาพถ่ายฟุ้งๆเบลอๆ แทนความรู้สึก คราบน้ำตาที่เอ่อล้นภายในจิตใจ
Kenji เป็นคนรักความสะอาดก็จริง แต่หลังการสูญเสียพี่ชายครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึงอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive Compulsive Disorder) ของ Howard Hughes (ภาพยนตร์ The Aviator (2004)) มันคือความผิดปกติทางจิต เหมือนมีอะไรบางอย่างติดค้างคาใจ พฤติกรรมดังกล่าวเลยถูกแสดงออกโดยสันชาตญาณ ล้างมือ เช็ดอ่างล้างหน้า จัดสบู่ให้ตรงตำแหน่ง มันหาใช่หน้าที่ แต่ขณะนี้ดูเหมือนไม่สามารถควบคุมตนเอง … ในบริบทนี้คงแค่สะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร แม้ภายนอกทำตัวเหมือนปกติ แต่ลึกๆยังไม่สามารถปรับตัวต่อการสูญเสีย
น้อยแวะเวียนมายังที่ทำงานของ Kenji เพื่อส่งคืนกระเป๋า (พร้อมสมุดนิทานจิ้งจกเดียวดาย) จากนั้นพากันไปรับประทานอาหารริมคลอง(แสนแสบ?) พบเห็นแรงกระเพื่อมของระลอกคลื่น (เมื่อเรือเร็วแล่นผ่าน) สามารถสื่อแทนความรู้สึก สภาพจิตใจของทั้งสอง
- Kenji รับประทานข้าวผัด แต่แทนที่จะใช้ช้อนส้อม กลับเปลี่ยนเป็นตะเกียบเตรียมมา ทานเสร็จแล้วเก็บใส่ซองเรียบร้อย จริงจังกับการกิน ไม่เหลือกระทั่งเศษอาหาร
- น้อยรับประทานผัดซีอิ๊ว ใส่พริก ใส่น้ำส้ม รสชาติจัดจ้าน แต่เหมือนจะลืมถ่ายจานหลังกินเสร็จ เพียงเคี้ยวไป พ่นควันบุหรี่ไป แสงไฟฟุ้งๆ แววตาเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวสักเท่าไหร่
ในขณะที่ Kenji จริงจังกับการรับประทานอาหารเบื้องหน้า แสดงมารยา ให้เกียรติเพื่อนร่วมโต๊ะ, น้อยกลับกินไป ล่องลอยไป งานภาพสำแดงอารมณ์ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว (เลยไม่ถ่ายจานอาหารนอกจากตอนปรุง)
อีกความน่าสนใจของซีนนี้คือทั้งสองยืนรอตรงโป๊ะเทียบเรือ แต่เพลานี้จะมีเรือสักลำไหม? ถึงอย่างนั้นมันอาจเคลือบแฝงนัยยะของการเฝ้ารอคอย เคว้งคว้างล่องลอย ราวกับเหลือพวกเขาเพียงสองคนบนโลก/จักรวาลแห่งนี้ ก่อนปรากฎชื่อหนัง lastlifeintheuniverse ตัวอักษรเล็กทั้งหมดเพื่อสื่อว่าทุกคนช่างน้อยนิดกระจิดริด และเขียนติดกันเพื่อให้เป็นคำยาวๆมหาศาล
การปรากฎชื่อหนังเมื่อผ่านไปกว่า ๓๐ นาที เหมือนเพื่อจะบอกว่าก่อนหน้านี้คืออารัมบท เรื่องราวนำเข้าสู่เหตุการณ์ที่พวกเขาราวกับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตสุดท้ายในจักรวาล เปรียบเทียบกับสมุดนิทานจิ้งจกเดียวดาย/จิ้งจกตัวสุดท้าย (The Last Lizard in the World) … มนุษย์ = จิ้งจก
น้อยขับรถพา Kenji มาถึงบ้านเวลา ๘ โมงเช้า ตามสไตล์เป็นเอก ล้อเลียนความเป็นไทย ได้ยินเสียงเพลงชาติ ทุกคนต่างยืนตรงเคารพสัญลักษณ์ธงชาติไทย เคลือบแฝงนัยยะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ เข้าสู่เนื้อหาหลักแท้จริง หรือจะมองสถานที่แห่งนี้เปรียบได้กับประเทศไทย?
เกร็ด: เพื่อค้นหาบ้านของน้อยหลังนี้ ทีมโลเคชั่นแบ่งออกเป็นสองทีม ทีมแรกไปทางใต้ของกรุงเทพฯ ๓๐๐ กิโลเมตร และอีกทีมไปทางตะวันออก ๓๐๐ กิโลเมตร สุดท้ายพบเจอบ้านหลังนี้ที่ อ่างศิลา, ชลบุรี และเป็นเอกส่ง นุ่น ดารัณ ไปนอนค้างล่วงหน้า ๑-๒ สัปดาห์ เพื่อให้คุ้นเคยชินกับบ้านร้างหลังนี้!
บ้านของน้อย มีความแตกต่างตรงกันข้ามกับอพาร์ทเม้นท์ของ Kenji สถานที่แห่งนี้ไม่เคยถูกจัดเก็บ ทำความสะอาด ปล่อยทิ้งขว้าง จานไม่ล้าง สกปรกโสมม ราวกับอาจม ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ไม่น่าจะมีใครสามารถปักหลักอาศัย ยกเว้นคนไทย … มันอาจเหมือนการดูถูกเหยียดหยาม แต่สไตล์เป็นเอกคือการเสียดสี ล้อเลียน ในเชิงตลกร้าย
- อพาร์ทเม้นท์ Kenji สะท้อนถึงชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการปลูกฝังเรื่องความมีวินัย สุภาพอ่อนน้อม สังคมจึงมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดบ้างช่องสะอาดสะอ้าน ใช้ชีวิตอย่างถูกสุขอนามัย
- บ้านของน้อย สะท้อนวิถีคนไทย ไร้ระเบียบวินัย กินทิ้งกินขว้าง ปล่อยปละละเลย ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่มีการควบคุมจัดการ รัฐบาลไม่สนหัวประชาชน
มันอาจไม่ใช่เรื่องของ Kenji แต่ด้วยสันชาตญาณที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาแทบมิอาจอดรนทนต่อสภาพบ้านหลังนี้ อย่างน้อยที่สุดเขาจึงลงมือล้างจาน เก็บวางเข้าชั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย … จะว่าไปการกระทำดังกล่าวคงช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียด เก็บกดดัน ระบายอารมณ์อัดอั้น ชำระล้างความรู้สึกตนเอง ภายหลังการสูญเสียพี่ชาย
หลังจากชำระล้างจาน Kenji ออกเดินสำรวจบ้าน ขึ้นชั้นสอง เข้าไปในห้องนอนของน้อย(กับนิด) และเปิดตู้เสื้อผ้า นั่นคือห้องแห่งความลับ สถานที่ที่ถือเป็นจิตวิญญาณของสาวๆ ทำให้เขาพบเห็นภาพถ่าย สิ่งของสะท้อนตัวตน โลกทั้งใบของสาวๆ … โดยปกติแล้วผู้หญิงมักไม่ยินยอมให้ผู้ชายเข้าห้องของตนเองง่ายๆ นั่นเพราะห้องหับคือสิ่งสะท้อนตัวตน/จิตวิญญาณของเธอคนนั้น
เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่น้อยจะขับไล่ Kenji ออกจากห้องนอน เพราะมันคือพื้นที่ส่วนบุคคล สำหรับหลบซุกซ่อนตนเอง ไม่ต้องการเปิดเผยให้พบเห็นตัวตน (เห็นชุดนักเรียนญี่ปุ่นในตู้เสื้อผ้า=ทำงานโสเภณี) ยังคงเศร้าโศกเสียใจ ทำใจไม่ได้ที่สูญเสียน้องสาวน้อย
หลังถูกขับไล่ออกจากห้อง Kenji ดูจะเสียสูญอยู่สักพัก นั่งห่อเหี่ยวอยู่หน้าห้อง เก็บข้าวของ แล้วแอบมานอนหลังรถ ทำเหมือนพยายามจะฆ่าตัวตาย (ให้ขับรถทับ) แต่ก็ได้น้อยมาพบเจอ นายมานอนตรงนี้ทำไม? เขาทำได้เพียงขอโทษขอโพย เหมือนคนไม่รับรู้ตนเอง ทำไปโดยสันชาตญาณ
คนไทยมีภาพจำประเทศญี่ปุ่น นอกจากซามูไร ดินแดนอาทิตย์อุทัย บางครั้งยังเรียก ‘แดนปลาดิบ’ เลยมักครุ่นคิดว่าทุกคนต้องรับประทานซูชิ แต่ทว่า Kenji กลับแพ้อาหารทะเล กินไม่ได้ ต้องแอบนำมาให้ไอ้ขาวใต้โต๊ะ … ผมรู้สึกว่านัยยะเดียวกับมนุษย์ & จิ้งจก, คนญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดท้องทะเล ซูชิคือหนึ่งในอาหารประจำชาติ แต่ทว่า Kenji กลับไม่สามารถรับประทาน (มีความชิดใกล้ แต่กลับเหินห่างไกล)
ชายหาดติดทะเล มักถูกใช้เป็นสถานที่คาบเกี่ยวระหว่างชีวิต-ความตาย ในบริบทนี้สามารถเปรียบเทียบน้อยกับ Kenji ต่างเพิ่งสูญเสียน้องสาว-พี่ชาย มานั่งเล่นบนหัวเรือ ริมชายหาด ได้กลิ่นอะไรก็ไม่รู้ ซากสัตว์ถูกคลื่นซัดเกย … ก็เหมือนทั้งสองที่ยังมีกลิ่นความตายติดตัว
ราวกับเวทย์มนต์! จู่ๆสิ่งข้าวของต่างปลิดปลิว โบยบิน ลอยละล่องกลับเข้าที่ทางของมัน แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นฝีมือของ Kenji ลงมือเก็บกวาด เช็ดถู จากบ้านที่ดูสกปรก รกรุงรัง ให้กลายเป็นสะอาดเอี่ยมอ่อง ระเบียบเรียบร้อย ราวกับบ้านหลังใหม่ จิตใจทั้งสองก็เช่นกัน … การจัดเก็บบ้าน ทำให้จิตใจที่ทุกข์ทรมาน เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ได้บังเกิดความสุขสงบขึ้นภายใน
มันอาจไม่ใช่ความต้องการของน้อย แต่เมื่อ Kenji เก็บกวาด เช็ดถู ทำความสะอาดบ้านจนเอี่ยมอ่อง ก็ทำให้มุมมองของหญิงสาวต่อฝ่ายชายปรับเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสภาพจิตใจเธอด้วยเช่นกัน (จากเคยยุ่งเหยิง สับสนวุ่นวาย ค่อยๆสามารถจัดการความรู้สึก สงบสติอารมณ์ ควบคุมตนเอง)
และแทนที่จะซื้อซูชิมาให้รับประทาน (คงรับรู้แล้วละว่าอีกฝ่ายไม่กิน) เลยเปลี่ยนมาเป็นทานมาม่าเหมือนกัน (เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม) ตำแหน่งที่นั่งจากฟากฝั่งตรงข้ามโต๊ะ ก็ย้ายมานั่งเคียงข้าง นี่แสดงถึงการเริ่มปรับตัวเข้าหา เปิดใจให้กัน ช่างหัวเสียงโทรศัพท์มัน!
ค่ำคืนนี้ Kenji กับน้อย เดินทางมาเที่ยวเล่นริมเล ระหว่างกระโดดโลดเต้นบนแผ่นเกมเต้น (Dance Pad) มีใครบางคนหน้าเหมือนเป็นเอก? เจ้าตัวเหมือนไม่ได้ตั้งใจ กำลังดูการแสดง แต่ตากล้องจงใจขยับถ่ายให้ติด
นี่คือช็อต ‘Iconic’ ของหนัง ทั้งสองตัวละครต่างนั่ง-นอนในทิศตั้งฉาก แตกต่างตรงกันข้าม และแม้อยู่เคียงชิดใกล้ พวกเขาหาใช่คนรักของกันและกัน
- น้อยนอนราบ หนุนตัก Kenji ขาข้างหนึ่งปล่อยลงพื้น อีกข้างอยู่บนโซฟา
- Kenji นั่งอยู่ริมขอบโซฟา แหงนหน้าขึ้นเพดาน มือข้างหนึ่งวางบนพนักแขน อีกข้างหนึ่งยืดออกบนพนักพิง
เช้าวันถัดมา ขณะที่น้อยนำเอาเสื้อผ้าของนิดไปเผาไฟนอกบ้าน ทำลายความทรงจำเลวร้าย เตรียมความพร้อมสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ (ทางกายภาพ), ตรงกันข้ามกับ Kenji ที่ดันฝันเปียก เกิดความอับอาย จึงรีบซักกางเกง หลบอยู่ภายในบ้าน นี่แสดงถึงการปลดปล่อยทางความคิด ไม่สามารถควบคุมสันชาตญาณตนเอง จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล (ทางจินตภาพ)
ความตั้งใจของเป็นเอก อาจแค่ต้องการให้(น้องสาว)พลอย เฌอมาลย์ มีบทบาท ได้รับโอกาส เข้าฉากร่วมกับนักแสดงระดับเอเชียอย่าง Asano แต่เราสามารถวิเคราะห์อิทธิพลของสองพี่น้องที่มีต่อตัวละคร
- นิด (วิญญาณ) แม้ตัวตายไปแล้วแต่ทำให้ Kenji ค่อยๆตระหนักถึงคุณค่าการมีชีวิต
- น้อย (คนเป็น) การได้อาศัยอยู่ร่วมกันสองสามวันนี้ ทำให้ Kenji เปิดมุมมองชีวิต ก้าวออกจากอพาร์ทเม้นท์/พื้นที่สุดตัว/โลกคับแคบของตนเอง
น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าฉายหนังไทยเรื่องใด? แต่ถึงอย่างนั้นคลิปเล็กๆของทั้งสองซีนนี้ ล้วนสะท้อนเข้ากับเหตุการณ์บางอย่างของหนัง
- หลังกลับจากปาร์ตี้ริมหาด (ถ้ามองไกลๆจะเห็นแมงดาของน้อยที่เป็นนักเลง เพิ่งขับรถกระบะมาถึง) ภาพยนตร์ฉายในโทรทัศน์ก็เกี่ยวกับการต่อสู้ จากนั้นชายไว้หนวดยัดกระสุนใส่ปืน = แมงดา/แฟนเก่าของน้อย เตรียมจะมาทำบางสิ่งอย่าง
- หลังทางอาหารเย็น (กับทั้งน้อยและนิด) เหตุการณ์ในหนังนางเอกได้รับบาดเจ็บ เดินไม่ได้ พระเอกเลยโอบอุ้ม พาไปนวดแข้งนวดขา อาจจะเปรียบเทียบถึง Kenji ให้การดูแลเอาใจใส่น้อย-นิด
ไม่รู้เพราะน้อยเห็นตัวเองเป็น ‘damsel in distress’ เหมือนในหนังเรื่องนั้นหรือเปล่า เลยครุ่นคิดจะทำบางสิ่งอย่างตอบแทน Kenji เลยถอดเสื้อผ้า เหลือเพียงชุดชั้นใน ออกมาชักชวนไปอาบน้ำร่วมกัน (เมื่อกลางวันเพิ่งอาบมาไม่ใช่รึ?) ปฏิกิริยาสีหน้าของฝ่ายชายดูบูดบึ้ง ไม่ค่อยอภิรมณ์สักเท่าไหร่ แถมกล้องยังค่อยๆเคลื่อนไหลผ่านเสาไม้ สื่อถึงการไม่สามารถหลบหนีสถานการณ์ขณะนี้
หนังไม่ได้ถ่ายให้เห็นว่า … ทำอะไรกันในห้องน้ำ แต่ภาพถัดมาถ่ายทำที่ญี่ปุ่น จับจ้องมองป้ายโฆษณานักวิ่งกุลิโกะ (The Glico Running Man) กำลังวิ่งแข่งขันเข้าเส้นชัย ไปจินตนาการต่อเอาเองว่าจะสื่อถึงอะไร?
เกร็ด: บริษัทกุลิโกะ แรกเริ่มนั้นมาจากการทำขนมเพื่อสุขภาพ โดยสินค้าแรกคือสารสกัดจากน้ำต้มหอยนางรม ซึ่งตอนนั้นบุตรชายเจ้าของบริษัทล้มป่วยโรคไข้รากสาดน้อย จึงทำขนมนี้ให้กินแล้วร่างกายแข็งแรงขึ้นจนหายดี เลยวางแผนทำขนมนี้ขายให้คนกินสุขภาพดี โดยปริมาณแคลอรี่ในขนมเพียงพอสำหรับชายไซส์มาตรฐานวิ่งไกลสามร้อยเมตร เลยออกแบบมาสคอทคนวิ่งเข้าเส้นชัย ส่วนชื่อ Glico มาจาก Glycogen สารอาหารที่ใส่ในขนมตัวนั้น
การแพ็กกระเป๋า ตระเตรียมตัวเดินทางสู่ญี่ปุ่นของน้อย ถือเป็นการจัดระเบียบตัวเอง รวบรวมสิ่งของจำเป็นยัดใส่กระเป๋าเดินทาง อะไรไม่ใช้ก็ทอดทิ้วไว้เบื้องหลัง … ผมขอเรียกว่า ‘Starter Pack’ สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่
ระหว่างรอคอยเที่ยวบิน (ทีแรกผมนึกว่าไฟลท์ดึก แต่กลับกลายเป็นไฟลท์เช้า) Kenji และน้อย พากันไปนั่งเล่น กินส้มตำ ริมโป๊ะเทียบเรือ จากนั้นแนบอิงกันบนรถ (ด้วยฟิลเลอร์ ‘Day for Night’)
- สำหรับ Kenji คือครั้งแรกได้ลิ้มลองส้มตำ รสชาดจัดจ้าน แซบซ่าน สื่อถึงการเปิดตัวเอง ทดลองทำสิ่งใหม่ ไม่จมปลักอยู่กับโลกใบเก่าอีกต่อไป
- น้อยได้รับของขวัญ จี้กล่องใส่ไม้ขีด สำหรับไว้ใช้ทิ้งเถ้าบุหรี่ นี่อาจไม่ใช่สิ่งของล้ำค่าอะไร แต่เมื่อไหร่ที่เธอสูบบุหรี่ จักทำให้ครุ่นคิดถึงเขาตลอดเวลา
Takashi Miike ผู้กำกับภาพยนตร์ Ichi the Killer (2001) บินตรงมาจากญี่ปุ่น ได้รับมอบหมายจัดการฆ่าปิดปาก Kenji ขึ้นเครื่องบินประตู ๖๙ … อ้างอิงถึงเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) อย่างแน่แท้!
น่าเสียดายที่ไคลน์แม็กซ์ไม่ทำแบบเรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒) เพียงแค่การเผชิญหน้าระหว่างมาเฟียญี่ปุ่น vs. นักเลงประเทศไทย, หัวเดียวกระเทียมลีบ หรือจะเผชิญหน้าสามทหารเสือ, แต่ทั้งหมดทั้งมวลกลับพ่ายแพ้ให้กับความเจ้าเล่ห์เพทุบายของ Kenji รอดชีวิตเพราะท้องเสีย(จากส้มตำ) กำลังปลดทุกข์อยู่ในห้องน้ำ
เราสามารถตีความการปลดทุกข์ หมายถึงปลดเปลื้องความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ หรือสรรพสิ่งต่างๆที่ Kenji เคยหมกมุ่นยึดติด ถึงตอนนี้เรียนรู้ที่จะปล่อยละวาง ทำให้จิตใจโปร่งโล่งสบายลำไส้ ให้สิ่งปฏิกูลเลวร้าย ร่วงไหลลงท่อระบายน้ำ
การกดชักโครก มันคือภาระหน้าที่ที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง จนกลายเป็นสิ่งอัตโนมัติในชีวิตประจำวัน Kenji เกือบจะพลั้งพลาด ก่อนบังเกิดสติหยุดยับยั้งชั่งใจ (เพราะสมาชิกแก๊งค์มาเฟียรอคอยอยู่ข้างนอก ถ้าเผลอกดไปก็คงตายห่าพอดี) โชคยังดีที่ได้รับอิทธิพลจากน้อย ตระหนักว่าต้องหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอดก่อน สุขลักษณะค่อยเป็นเรื่องว่ากันภายหลัง … แต่จะทำอะไรยังไงนั้น ก็แล้วแต่จะครุ่นคิดจินตนาการ
คงเพราะมีหมายระหว่างประเทศ Kenji จึงไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ถูกจับกุม ใส่กุญแจมือ ไม่สามารถเดินทางกลับญี่ปุ่นตามคำสัญญากับน้อย แต่ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เขาตกอยู่ในความสิ้นหวัง หยิบบุหรี่(ของน้อย)ขึ้นมาสูบ (ทำในสิ่งแตกต่างจากวิถีตนเอง) ด้วยรอยยิ้ม จินตนาการถึงเธอด้วยความอิ่มใจ
เราอาจตีความว่า Kenji จินตนาการถึงอนาคต เมื่อได้รับการปล่อยตัว กลับญี่ปุ่น เดินทางไปหา และมีโอกาสพบเจอน้อยอีกครั้ง! แม้แค่เพียงความฝัน สำหรับเขามันคือประกายความหวัง … แบบเดียวกับตอนจบของ Parasite (2019)
สำหรับน้อย ใบหน้าเศร้า นั่งรอคอยอยู่ในสนามบินตามลำพัง (จอโทรทัศน์ขึ้น Closing Credit สื่อถึงจุดจบ การจากลา) กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยห่าง อาจสร้างบรรยากาศเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ไม่มีเขาร่วมออกเดินทางไปด้วยกัน แต่หลังจากนี้เมื่อทำงานพนักงานเสิร์ฟที่ญี่ปุ่น (ตัดผมสั้นด้วยนะ) ห่างไกลอาชีพโสเภณี และประเทศไทย นั่นคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เฝ้ารอคอยว่าสักวันจักมีโอกาสพบเจอ Kenji อีกสักครั้ง!
ระหว่าง Closing Credit จู่ๆปรากฎภาพปลาทองสองตัวในตู้ คนส่วนใหญ่อาจมองถึงการได้ครองคู่อยู่ร่วมระหว่าง Kenji กับน้อย แต่ผมกลับครุ่นคิดว่าเหตุการณ์ทั้งหมดของหนัง อาจคือฝันกลางวันของปลาทอง?
แซว: จะว่าไปเจ้าปลาทองในตู้เลี้ยงปลา มันก็คือ Last (Two) Gold Fish in the Universe
ตัดต่อโดย หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๕๐๖) พระธิดาคนโตของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำเป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), คืนบาปพรหมพิราม (พ.ศ. ๒๕๔๖), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Kenji ชายชาวญี่ปุ่นผู้มีความหมกมุ่นกับการฆ่าตัวตาย พยายามทั้งในชีวิตจริงและความฝัน จนกระทั่งพบเห็นนิดโดยรถชนต่อหน้าต่อตา พี่ชายถูกนักฆ่าส่งมาเก็บ เลยขอพักอาศัยอยู่บ้านของน้อย (พี่สาวของนิด) ค่อยๆยินยอมรับ ปรับตัว ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้าย และเรียนรู้กระทำสิ่งนอกกฎกรอบชีวิตของตนเอง
- เรื่องราวของชายผู้อยากฆ่าตัวตาย
- Kenji พยายามจะฆ่าตัวตาย ก่อนพี่ชายแวะมาเยี่ยมเยียนที่อพาร์ทเม้นท์
- หนึ่งวันทำงานของ Kenji ตื่นเช้า ไปทำงาน เลิกงานกลับบ้าน
- พี่ชายของ Kenji ไปเที่ยวบาร์โฮส พูดคุยกับเพื่อนอีกคน
- น้อยลากพา(น้องสาว)นิด ขับรถกลับบ้าน มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดทาง
- ระหว่างที่ Kenji จะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย น้อยหยุดจอดรถกลางสะพาน นิดกำลังจะข้ามถนนถูกรถชนเสียชีวิต
- พี่ชายและเพื่อน กลับจากบาร์โฮส แล้วเกิดการต่อสู้ เหลือเพียง Kenji ที่รอดชีวิต
- Kenji เก็บกวาดเช็ดถู ทำราวกับไม่เคยมีเหตุการณ์ฆาตกรรมบังเกิดขึ้น
- เรื่องราวของหญิงสาวกำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่น
- วันถัดมาเมื่อกำลังจะเลิกงาน น้อยเดินทางมาหา Kenji เพื่อส่งคืนกระเป๋า
- พาไปกินข้าว ขับรถเรื่อยเปื่อนจนเช้า มาถึงบ้านของน้อย
- Kenji ออกสำรวจบ้าน เก็บกวาดล้างจาน
- น้อยแวะซื้อซูชิ แต่ทว่า Kenji ทานอาหารทะเลไม่ได้
- หลังขับรถเล่น Kenji กลับมาช่วยเก็บข้าวของ จัดบ้านให้เรียบร้อย
- ค่ำคืนนี้รับประทานอาหาร หลับนอนพิงกันบนโซฟา
- ความฝันของ Kenji + การเดินทางของน้อย
- เช้าวันถัดมา Kenji ฝันเปียก เร่งรีบอาบน้ำ ซักกางเกง
- แฟนของน้อยเดินทางมาบ้าน ใช้กำลังตบตี แต่ไม่สามารถสู้แรง Kenji
- ค่ำคืนนี้แล้วแต่จะจินตนาการ
- น้อยเก็บข้าวของใส่กระเป๋า เตรียมออกเดินทางไปญี่ปุ่น
- ขับรถเล่น นั่งชมวิว รอคอยเวลาเครื่องบินออก
- พอกำลังจะส่งน้อยเข้าสนามบิน Kenji บอกให้เธอรอก่อน เดินทางกลับอพาร์ทเมนท์เพื่อไปเอาพาสปอร์ต
- แต่ทว่าหัวมาเฟียที่ญี่ปุ่นส่งลูกน้องมาเก็บ Kenji, ขณะเดียวกันแฟนเก่าของน้อยก็บุกไปยังอพาร์ทเม้นท์ เกิดการต่อสู้ ดวลปืน โชคดีว่าเขากำลังถ่ายท้องในห้องน้ำ หลบหนีเอาตัวรอดได้หวุดหวิด
- Kenji น่าจะถูกจับกุมที่สนามบิน, ส่วนน้อยขึ้นเครื่องสู่ญี่ปุ่น ทำงานพนักงานเสิร์ฟ เริ่มต้นชีวิตใหม่
สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่ค่อยครุ่นคิดอะไรมาก อาจเห็นหนังดำเนินไปข้างหน้า (Chronological order) แต่มันมีช็อตพิศวงหลังจากขับรถไปส่งสนามบิน (สวนทางกับนักฆ่าจากญี่ปุ่น) จู่ๆปรากฎภาพน้อยนอนหนุนตัก Kenji บนโซฟา (ภาพ ‘Iconic’ ของหนัง) ทำราวกับว่าเหตุการณ์ทั้งหมด อาจเป็นเพียงจินตนาการเพ้อฝัน! ไม่มีอะไรบังเกิดขึ้นจริง ถ้าครุ่นคิดเช่นนั้นมันอาจขบไขปริศนาอย่าง สิ่งข้าวของล่องลอยเก็บเข้าชั้น, ฝันเห็นนิดมารับประทานอาหารร่วมกัน ฯ ล้วนคือแฟนตาซีของตัวละคร
เช่นเดียวกับตอนจบที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “loose ends” บางคนอาจมองว่ามันเลอะเทะ เละเทะ มั่วเป็นสับปะรด แต่ผมมองว่ามันคือปลายเปิดของหนัง มันอาจเป็นเหตุการณ์จริง หรือแค่เพียงฝันกลางวันของปลาทอง ปัจจุบัน-อนาคต เหมารวมคือความเป็นไปได้ไม่รู้จบ!
Ever since the script stage, the story was broken up into three parts. The first and third part are very much ‘movies’, storytelling. But the middle section is much more I don’t know, real or surreal, very much like a documentary. That part required almost no direction. The chemistry between the two characters had been established so whatever they decided to do, I just went along with it. I didn’t object, didn’t manipulate.
เป็นเอก รัตนเรือง
เพลงประกอบขึ้นเครดิต หัวลำโพงริดดิม (Hua Lampong Riddim) ค่ายเพลงไทยแนวนอกกระแส ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยนครินทร์ ธีระภินันท์ และวิชญ วัฒนศัพท์ สมาชิกวงทีโบน (T-BONE) นอกจากอัลบัมเพลง ยังทำเพลงภาพยนตร์/โทรทัศน์มากมาย ขาประจำสตูดิโอ GTH, GDH, รวมถึงหนังนอกกระแสอย่าง คนจร ฯลฯ (พ.ศ. ๒๕๔๒), เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖), กุมภาพันธ์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), บุปผาราตรี (พ.ศ. ๒๕๔๖), ไอ้ฟัก (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฯ
ส่วนคนทำเพลงประกอบจริงๆ (ได้รับเครดิต Sound Design) นั้นคือ อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
เมื่อตอนฝันบ้าฯ และเรื่องตลก 69 งานเพลงจะแบ่งออกเป็นเพลงบรรเลง (Soundtrack) สำหรับเติมเต็มช่องว่าง สร้างบรรยากาศ รำพันความรู้สึกตัวละคร และเพลงคำร้องที่มักเนื้อหาในเชิงเสียดสี ล้อเลียน ประชดประชัน ตามสไตล์เป็นเอก แดกดันอะไรบางอย่าง
แต่ทว่า เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) คงเพราะเป็นหนังร่วมทุนหลายประเทศ การใช้เพลงไทย เนื้อร้องภาษาไทย มันคงไม่ค่อยเหมาะสักเท่าไหร่ (ละไว้กับ Ending Song) งานเพลงจึงเน้นเรียบง่าย สร้างความกลมกลืน คลอประกอบพื้นหลังเบาๆ ลักษณะเหมือน Meditation Music แต่ค่อนไปทาง Ambient Music (ด้วยเหตุนี้กระมัง อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ จึงได้รับเครดิตออกแบบเสียง ไม่ใช่ทำเพลงประกอบ) แทนความเหงา ว่างเปล่า (ดนตรีที่)เกือบจะไร้ตัวตน สัมผัสแห่งความตาย
อมรพงศ์ น่าจะยังมีส่วนร่วมในการทำเสียงประกอบ (Sound Effect) เลือกใช้เสียงที่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สึก สภาพจิตใจตัวละคร ไม่ใช่แค่เสียงเด่นดังขึ้นมาอย่างโทรศัพท์ ออดดัง ปืนลั่น ฯ ยังเสียงพื้นหลังอย่างฝนตก รถติด คลื่นกระทบหาดทราย
บทเพลงแรงดึงดูด, คำร้อง & ทำนองโดย รัฐรงค์ ศรีเลิศ, ขับร้องโดย ธาริณี ทิวารี, รวมอยู่ในอัลบัม อย่าสัญญา (พ.ศ. ๒๕๔๑), เนื้อคำร้องราวกับคำอธิบายเหตุผล ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มญี่ปุ่น-สาวไทย ไม่ต่างจากคนกับควาย แรงดึงดูดทำให้ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกัน
ผมรับรู้จักเพลงนี้มานานจากต้นฉบับเร้กเก้-สกาของ T-BONE อัลบัม เล็ก ชิ้น สด (พ.ศ. ๒๕๓๗) เป็นหนึ่งในเพลงชาติร้านเหล้า โยกเมามันส์ในผับบาร์ ไม่รู้ลืมท่อนสุดท้าย “คนกับควายก็เพื่อนกัน” เพิ่งมีโอกาสรับฟังฉบับโลลิป็อป ขับร้องโดย ธาริณี ทิวารี ถือว่าคนละสไตล์ มีความละมุน นุ่มนวล กล่อมเข้านอน ไพเราะไม่แพ้กัน!
คงจะมี อะไรสักอย่างในโลกนี้
คงจะมี พลังอะไรอยู่ในนั้น
โลกใบนี้เหมือนมีจิตใจ
บันดาลให้ใคร ต่อใคร
เปิดใจมารักกัน
เช่นเธอกับฉัน มาเจอกัน
ด้วยเหตุใดนั้น คิดดูหรือจะเป็น ด้วยแรงโน้มถ่วงบนโลกนี้
จึงได้มี แรงฉุดใจอะไรนั้น
เป็นแรงดูดใจ ดึงดูดใคร
อะไรอะไร มาพบกัน
ในโลกใบนี้ จึงผูกพัน
เป็นคู่กัน เหลือเชื่อโอ้น้ำ มาหลงคารมอะไรกับปลารูปหล่อ
ฟ้า มาทำสัญญาอะไรกับนกตัวดี
ดอกไม้ กับผีเสื้อ ก็มาเป็นเพื่อนกันด้วยเหตุใด
ใช่เลย คงเหมือนที่มีสิ่งหนึ่งผูกใจ
ให้เรา มาเป็นเพื่อนกันโอ้น้ำ มาหลงคารมอะไรกับปลารูปหล่อ
ฟ้า มาทำสัญญาอะไรกับนกตัวดี
ดอกไม้ กับผีเสื้อ ก็มาเป็นเพื่อนกันด้วยเหตุใด
ใช่เลย คงเหมือนที่มีสิ่งหนึ่งผูกใจ
ให้เรา มาเป็นเพื่อนกันคนกับคนเป็นเพื่อนกัน
คนกับควายก็เพื่อนกัน
ลมกับฝนก็คู่กัน น้ำกับฟ้าก็ซี้กันคนกับคนเป็นเพื่อนกัน
คนกับควายก็เพื่อนกัน
ลมกับฝนก็คู่กัน น้ำกับฟ้าก็ซี้กันมันก็เป็นเพราะโลกนั้น มีแรงดึงดูดใจ
คงจะมี อะไรในโลกนี้
คงจะมีพลังอะไรในโลกนี้
ปล. สงสัยเป็นเอกจะชื่นชอบบทเพลงนี้มากๆ นอกจากเรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) ยังเลือกมาประกอบภาพยนตร์ แรงโน้มถ่วง (พ.ศ. ๒๕๕๗)
เรื่องราวของจิ้งจกตัวสุดท้ายบนโลก (The Last Lizard in the World) มันช่างมีความเงียบเหงา เปล่าเปลี่ยว ทำได้เพียงเหม่อมองพระอาทิตย์ ครุ่นคิด เพ้อฝัน ถ้าเลือกได้ระหว่างอยู่ตัวคนเดียว กับรายล้อมรอบศัตรูคู่อาฆาต อย่างหลังย่อมดีกว่า เพราะถึงเกลียดขี้หน้า สบตาอยากจะฆ่าแกง แต่อย่างน้อยฉันก็ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีใครบางคนสำหรับยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณ
- น้อยอาศัยอยู่กับนิด มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้ง แต่พอน้องถูกรถชนเสียชีวิต ทำให้พี่สาวตกอยู่ในความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง
- Kenji และพี่ชายหลบหนีจากญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทย แม้อีกฝ่ายชอบแวะเวียนมาสร้างความวุ่นวาย พร่ำบ่นโน่นนี่นั่น แต่พอถูกเก็บโดยนักฆ่า ก็ทำให้เขามิอาจพักอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้อีกต่อไป
Kenji และน้อย ไม่เชิงว่าเป็นศัตรู แต่ทั้งคู่มีความแตกต่างตรงกันข้าม เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม โดยปกติแล้วไม่มีโอกาสที่ทั้งสองจะมาพบเจอ อาศัยอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่เพราะต่างสูญเสียคนใกล้ตัว ไม่หลงเหลือใครข้างกาย ราวกับเป็นคนสุดท้ายบนโลกและจักรวาล พวกเขาจึงโคจรเข้าหาด้วยแรงดึงดูดบางอย่าง
บางคนวิเคราะห์ถึงความเหงา (Loneliness) โดดเดี่ยวเดียวดาย (Solitariness) แต่เนื่องจากทั้งสองต่างเพิ่งสูญเสียคนใกล้ตัว มันจึงอาจมองเป็นอาการซึมเศร้า (Depression) โศกเสียใจ (Melancholy) ยังไม่สามารถยินยอมรับ สงบสติอารมณ์ จิตใจเต็มไปด้วยความปั่นป่วน สับสนวุ่นวาย จำต้องมองหาใครสักคนช่วยจัดระเบียบ ทำความสะอาดบ้านใหม่
การได้อาศัยกับบุคคลที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม เราอาจไม่ชอบสิ่งที่เขาทำ ล้างจาน เก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านทำไม? …หรือในทิศทางตรงกันข้าม… ทำไมเธอปล่อยบ้านรก ไม่รักนวลสงวนตัว รู้จักควบคุมตนเองบ้างหรือ? แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ตัวตน/จิตวิญญาณของอีกฝ่าย มันจะทำให้พวกเขาเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ คลายความยึดติดกับวิถีชีวิตของตนเอง ฉันไม่จำเป็นต้องทำสิ่งโน่นนั้นนี้ก็ได้นี่หว่า?
นี่ไม่ได้หมายความว่าน้อยจะกลายเป็น Kenji หรือ Kenji กลายเป็นน้อย พวกเขายังคงเป็นตัวของตนเอง แต่บทเรียนที่ได้รับจากกันและกัน ทำให้ทั้งสองสามารถเติบโต เข้าใจโลกกว้าง ก้าวผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย แทบจะลืมเลือน(ชั่วขณะ)ว่าน้องสาว-พี่ชายเพิ่งเสียชีวิตจากไป
มันเป็นไปได้ไหมที่น้อยและ Kenji จะตกหลุมรักกัน? ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ ซึ่งหนังทำปลายเปิดทิ้งเอาไว้
- ใครบางคนแวะเวียนมาหาน้อยที่ญี่ปุ่น (ผู้ชมมักครุ่นคิดว่าคือ Kenji)
- แม้ถูกจับกุม Kenji หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบพร้อมด้วยรอยยิ้ม (ที่ผู้ชมมักครุ่นว่าเขากำลังเพ้อถึงเธอ)
แต่ขณะเดียวกันเหตุการณ์ตั้งแต่ปรากฎชื่อหนัง lastlifeintheuniverse (บางคนอาจครุ่นคิดว่าหนังทั้งเรื่องคือภาพ ‘flash’ ก่อนแขวนคอฆ่าตัวตายตั้งแต่ต้นเรื่อง!) มันอาจเป็นแค่เพียงจินตนาการ เพ้อฝันกลางวันของ Kenji เพราะไม่อยากมีชีวิตอยู่ตัวคนเดียวแบบจิ้งจกเดียวดาย เลยมองโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย บุคคลที่มีความแตกต่างตรงกันข้ามก็ยังดี ถึงพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่สามารถเป็นทึ่พึ่งพักพิงทางจิตวิญญาณ
ทำไม Kenji ถึงอยากฆ่าตัวตาย? เจ้าตัวเคยพูดอธิบายว่าไม่ได้ด้วยจุดประสงค์แฟชั่นอย่าง อกหัก รักคุด เป็นหนี้ ติดยา ล้มป่วยซึมเศร้า หรืออาการทางจิตใดๆ แต่มันคือความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวิถีชีวิตประจำวัน นี่สะท้อนหลากหลายปัญหาในยุคสมัยนั้น
โลกยุคสมัยใหม่ แม้มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตึกระฟ้าสูงใหญ่ ทำให้ชีวิตสุขสบาย แต่กลับสร้างความแบ่งแยก เหินห่าง ต่างคนทำงานงกๆ กกตัวในห้องพัก ไม่รับรู้จักใครรอบข้าง เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ทรยศหักหลังพวกพ้อง ความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ไม่รู้จักยกโทษให้อภัย มีน้ำใจไมตรีต่อกัน … นี่คือปัญหาสังคมที่เกิดจากวิถียุคสมัยใหม่ เฉกเช่นเดียวกับ Kenji ปักหลักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯมาหลายปี แต่กลับปิดกั้น ไม่เคยปรับตัว รับรู้จักใครอื่นนอกจากแวดวงของตนเอง
ช่วงปีที่สร้างหนังเพิ่งพานผ่านวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือที่คนไทยเรียกติดปาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ก็ใช่ว่าอะไรๆจะพลิกฟื้นกลับคืนมาเหมือนเดิมภายในระยะเวลาแค่สองสามปี … สภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว บีบให้การเอาตัวรอดต้องมาก่อนสิ่งอื่น กลายเป็นแรงกดดัน กดทับ หวาดกลัวความล้มเหลว เมื่อไม่สามารถขยับเขยื้อนตนเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง
เงินอาจไม่ใช่ปัญหาของ Kenji แต่เขาเป็นบุคคลโหยหาความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ได้รับการปลูกฝัง (จากความเป็นญี่ปุ่น) ทุกสิ่งอย่างต้องเนี๊ยบ ตามระเบียบ ขนบกฎเกณฑ์ ถูกสุขลักขณะ ไม่โอนอ่อนผ่อนปรนให้กับความผิดพลาด ซึ่งเขาก็ได้ปฏิบัติตามทุกสิ่งอย่างเคร่งครัด จนรัดแน่น สร้างความอึดอัด ทุกข์ทรมานใจ นี่นะหรือเป้าหมายชีวิต จุดสูงสุดความเป็นมนุษย์? ไม่หลงเหลืออะไรให้พิสูจน์นอกจากความตาย (และถือกำเนิดใหม่)
บางคนว่า Kenji (และพี่ชาย) คืออดีตสมาชิกแก๊งค์มาเฟียญี่ปุ่น (สังเกตจากรอยสักแผ่นหลัง) เคยกระทำผิดบางอย่าง แล้วหลบหนีคดีความ ซ่อนตัว/ลี้ภัยอยู่ประเทศไทย ดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ล้าหลัง ไร้อารยธรรม ไม่ต่างจากขุมนรกหมกไหม้ มีชีวิตอยู่อย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน เฝ้ารอคอยความตายไปวันๆ
หนังไม่มีคำอธิบายสิ่งที่ Kenji เคยทำอะไรไว้ที่ญี่ปุ่น (แต่กรณีของพี่ชาย เล่าว่าแอบหลับนอนกับบุตรสาวหัวหน้า เลยถูกส่งมากรุงเทพฯ กลายเป็นหมาหัวเน่า) บางคนเลยอาจวิเคราะห์เหตุผลการอยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกสาสำนึกผิดต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น … แบบเดียวกับ Seppuku หรือ Harakiri ในยุคซามูไรของประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าเป็นการตายด้วยการคว้านท้องนั้นคือเกียรติสูงสุด แสดงความกล้าหาญ พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการบังคับจิตใจของตนเอง รูปแบบโทษประหารชีวิตสำหรับซามูไรที่กระทำผิดร้ายแรง หรือดำเนินการเหตุผลอื่นๆที่ได้นำความอัปยศแก่พวกเขา
ทำไมน้อยถึงอยากไปญี่ปุ่น? มันก็คล้ายๆไอ้น้อย ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) เพ้อฝันถึงสหรัฐอเมริกา, ตุ้มวางแผนนำเงินล้านไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ประเทศอังกฤษ (ภาพเจ้าหญิง Diana), หรือแม้แต่เป็นเอก เกิดที่กรุงเทพฯ แล้วเดินทางไปร่ำเรียนต่อ Pratt Institute ฯ เหล่านี้สะท้อนความผิดหวังต่อสภาพสังคมไทย มันอาจยังไม่ค่อยเจริญ ล้าหลัง พวกนักการเมืองเอาแต่ตีกัน หนทางที่จะหลบหนีเอาตัวรอด คือออกไปจากประเทศแห่งนี้
ในกรณีของน้อย มันอาจไม่ได้มีเหตุผลลึกล้ำซับซ้อน เพราะเธอคลุกคลีอยู่กับ(ลูกค้า)ชาวญี่ปุ่น เรียนรู้จักภาษา วัฒนธรรม อยากไปทำงานหาเงิน ยังประเทศที่มีสวัสดิการ/คุณภาพชีวิตดีกว่า แถมหลังจากน้องสาวเสียชีวิต ไม่หลงเหลือครอบครัว ญาติพี่น้อง ก็ใช้โอกาสนี้ในการเริ่มต้นใหม่
ตรงกันข้ามกับ Kenji ไม่น่าจะด้วยความตั้งใจเดินทางมาประเทศไทย คาดว่าคงหลบหนีอะไรบางอย่าง ซุกซ่อน กบดาน จึงไม่เคยพยายามปรับตัวเข้าหา ปิดกั้นตนเองเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งหลังรับรู้จักน้อย-นิด แม้อาศัยอยู่ร่วมกันแค่ไม่กี่วัน ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะปรับตัว เปิดใจ ครุ่นคิดอยากติดตามเธอกลับญี่ปุ่น ทั้งรู้ว่าอาจถูกจับกุม ติดคุกติดตาราง แต่มันคือการยินยอมรับ เผชิญหน้ากับตัวตนเอง นั่นเช่นกันคือประกายแห่งความหวัง รอยยิ้มสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่
ผมอ่านเจอจากบทสัมภาษณ์ต่างประเทศ เป็นเอกเล่าว่าพัฒนาบทหนังเรื่องนี้หลังจากเลิกราแฟนสาว (เฟย์ อัศเวศน์?) ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพซึมเศร้า เคว้งคว้างว่างเปล่า ไม่รู้จะทำอะไรยังไง เหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายกับชีวิตและการทำงาน ครุ่นคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย เลยต้องการถ่ายทอดอารมณ์ดังกล่าวผ่านสื่อภาพยนตร์
I didn’t want to die, but I thought about death a lot. In Thai culture, death is not a bad thing. In Buddhism, death is a part of life. You will continue anyway. I felt so tired. I was employed by an advertising company that let me go out and make films. In my spare time I would shoot TV commercials for friends. I found out that everyone around me felt the same way. The world seemed to be spinning so fast. We were saying, ‘Maybe we should die. It would be more relaxing’, and that’s exactly what Kenji says in the film.
เป็นเอก รัตนเรือง
การเป็นโสดในวัย ๔๐+ ทำให้มุมมองชีวิตของเป็นเอก ปรับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เหมือนวัยรุ่นเลิกราก็หาใหม่ มันทำให้เขาโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว เหงาหงอยเศร้าซึมกว่าปกติ
I am 42 now, and look at things differently. That’s why this film is different from my other films. I’m 42. You have lost a few more loves, you become lonelier. So I do identify with something in Kenji.
องก์สุดท้ายของหนังที่เต็มไปด้วยความสับสน จับแพะชนแกะ ไม่สามารถค้นหาข้อสรุปใดๆ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจริงไหม? หรือแค่เพียงฝันกลางวันของใครบางคน? เมื่อนักข่าวต่างประเทศพยายามสอบถามเป็นเอก ว่าต้องการสื่อถึงอะไร? ได้รับคำตอบ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน? “maybe you don’t have to know what you’re doing.” คำกล่าวนี้สะท้อนความเคว้งคว้างว่างเปล่าในยุคสมัย Millennials ได้อย่างชัดเจน
การสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คงทำให้เป็นเอก สามารถปลดปล่อยตนเอง คลายความทุกข์โศก แต่เพราะยังไม่รู้อนาคตจะดำเนินไปเช่นไร (ความสำเร็จของ เรื่องรักฯ คงทำให้เขาหลงระเริง ไม่สามารถควบคุมตนเอง) จึงยังคงล่องลอยเคว้งคว้าง ออกทะเลไปไกลกับ Invisible Waves (2006)
แม้ตอนฉายในประเทศไทยจะไม่ค่อยทำเงินนัก (เพราะเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม และทุนสร้างสูงลิบลิ่ว) แต่ระดับนานาชาติถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังมากมาย น่าจะเป็นผลงานทำเงิน(ระดับนานาชาติ)สูงสุดตลอดกาลของเป็นเอก รัตนเรือง!
- Venice Film Festival สายการประกวด Upstream Prize
- Best Actor (Tadanobu Asano)
- Bangkok International Film Festival
- FIPRESCI Prize
- รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ่ายให้กับ คืนบาปพรหมพิราม (พ.ศ. ๒๕๔๖)
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (Tadanobu Asano)
- ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินิทรา บุญยศักดิ์)
- บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- กำกับภาพยอดเยี่ยม **คว้ารางวัล
- บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
- ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
- กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม **คว้ารางวัล
- ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
- แต่งหน้ายอดเยี่ยม
- การสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม
ถ้าไม่นับหนังของเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผมมีความรู้สึกว่า เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. ๒๕๔๖) เป็นผลงานดีพอจะติดอันดับ Top 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมฟากฝั่งเอเชีย! (แต่ก็ไม่เคยติดนะครับ) ใช้ประโยชน์จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ผสมผสานเข้ากันได้อย่างที่ไม่เคยมีการร่วมทุนสองสัญชาติไหนทำออกประสบความสำเร็จเพียงนี้!
แต่ทว่านัยยะของไทย-ญี่ปุ่น ก็ยังเทียบไม่เท่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-จิ้งจก ใกล้แค่เพียงเอื้อมมือ แต่ห่างกันไกลหลายปีแสง นั่นแสดงถึงความเป็นไทยในระดับสากล มนุษย์-จักรวาล น้อยนิด-มหาศาล
จัดเรต ๑๕+ กับโศกนาฎกรรม ความพยายามฆ่าตัวตาย
หนังไทย 2 เรื่องที่เปิดในทีวี เรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่อง “ล่า” (2520) หนังสะท้อนสังคม สร้า… Read more »