เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔)
: ประยูร วงศ์ชื่น, อมรศรี เย็นสำราญ, อนุกูล จาโรทก ♥♥♥♡
ครอบครัวแตกแยก พ่อ เลิกรากับ แม่ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาวัยรุ่นหลงทางผิด แล้วเมื่อประเทศชาติแตกแยก ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ รัฐบาล ใช้ความรุนแรงกับ นักศึกษา/ประชาชน เฉกเช่นนั้นจักเกิดความวุ่นวายอะไร?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๒๘) คือนวนิยายของ ประภัสสร เสวิกุล (พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๕๘) นักเขียนชาวไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยเนื้อหาสะท้อนชีวิต ปัญหาวัยรุ่นในด้านต่างๆ ครอบครัว ความรัก การศึกษา สังคม การเมือง และได้รับการจัดอันดับ
– ๑๐๐ หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน หมวดนวนิยาย
– วรรณกรรม ๕๐ เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต
– หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน
เอาเป็นว่าหามาอ่านเถอะนะครับ คงต้องเป็นหนังสือดีมากๆแน่ ไม่เช่นนั้นจะติดการจัดอันดับจากหลายสถาบันขนาดนี้หรือ และเห็นว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จ ตีพิมพ์ซ้ำมากสุดของ ประภัสสร เสวิกุล ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ ลอดลายมังกร, ขอหมอนใบนั้น… ที่เธอฝันยามหนุน, ชี้ค, ช่อปาริชาต, อำนาจ ฯ
แต่ดันมีหนังสืออีกเล่มที่ปรากฎในหนัง แล้วดันสร้างความสนใจให้ผมมากกว่า ปีกหัก แต่งโดย คาลิล ยิบราน แปลโดย ดร.ระวี ภาวิไล ใคร่อยากรู้ทีเดียวว่าจะทำให้ผมเกิดความประทับใจมากน้อยกว่า ปรัชญาชีวิต สักเพียงไหน
ขณะที่ภาพยนตร์ เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ส่วนตัวก็ชื่นชอบนะ แต่เพราะมันมีภาพยนตร์แนวปัญหาวัยรุ่นโคตรเจ๋งมากมายให้เปรียบเทียบ อาทิ Zero for Conduct (1933), The 400 Blows (1959), if… (1968), หรือโคตร Masterpiece อย่าง A Brighter Summer Day (1991), หนังเรื่องนี้จึงมีศักยภาพเพียง ‘ไทยนิยม’ และการใส่เหตุการณ์ ๖ ตุลา เพียงน้อยนิดเดียวเอง คงถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนต่อสังคมไทยมากๆเลยสินะ
ต้นหัวแรงของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ประยูร วงษ์ชื่น นักพากย์/ผู้กำกับชาวไทย เกิดที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ชื่นชอบการดูหนังตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะหนังกลางแปลง หนังขายยา จับพลัดจับพลูเป็นนักพากย์มวย วันหนึ่งแถวๆบ้านมีงานบวช นักพากย์หนังหลงทางมายังไม่ถึงเลยได้รับโอกาส ดำผุดดำว่ายเพราะไร้บทแต่กลับถูกใจคนจัด เลยชักชวนนำมาฝากกับบริษัท กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ต่อมาเป็นนักพากย์อิสระ ประจำอยู่ศาลาเฉลิมกรุง จนเมื่อถึงยุคเสียงในฟีล์ม เปลี่ยนมาเป็น Checker (นักเช็ครายได้หนัง), เขียนบท พ่อตาปืนโต (พ.ศ. ๒๕๒๐) กำกับโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์, ตะเคียนคะนอง (พ.ศ. ๒๕๒๒), แว่วเสียงนางพราย (พ.ศ. ๒๕๒๕), กำกับเองเรื่องแรก พ่อตาจิ๊กโก๋ (พ.ศ. ๒๕๒๖)
“เรื่องแรกที่กำกับเองปรากฏว่าเจ๊ง ขาดทุนครับ เพราะว่ายุคนั้นแข่งกันที่ดาราแสดงนำ ตอนนั้นพระเอกที่ดังมากคือคุณสรพงษ์ ชาตรี หนังผมไปชนกับหนังที่เขาแสดง ตอนนั้นผมหมดตัวเลยครับ”
มาเริ่มประสบความสำเร็จกับผลงานถัดมา กองพันทหารเกณฑ์ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ทำรายได้กว่า ๑๐ ล้านบาท มีกึ่งๆภาคต่อตามมามากมาย กองพันทหารใหม่ (พ.ศ. ๒๕๒๘), นายร้อยสอยดาว (พ.ศ. ๒๕๒๙), ทหารเกณฑ์กิ้บก๊าบ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ฯ
“ช่วงนั้นเราก็ทำหนังหลากหลายประเภท แต่ผมไม่ค่อยชอบเอานวนิยายมาทำเป็นหนัง เพราะว่าเราไม่มีความชำนาญตรงนั้น แต่พอได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งคือเวลาในขวดแก้ว เนื้อเรื่องแปลกมีความหลากหลายมาก เป็นเรื่องเล่า ก็เลยติดต่อกับคุณประภัสสร เสวิกุล ผู้ประพันธ์ เขาก็ยินดีให้นำไปทำหนัง”
reference: http://www.mixmagazine.in.th/view.php?ref=00002698
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย อมรศรี เย็นสำราญ นักเขียน/ผู้กำกับชาวไทย ผลงานเด่น อาทิ ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓) และยังเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์ เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๕)
อีกคนที่ได้รับเครดิตกำกับคือ อนุกูล จาโรทก ไม่พบรายละเอียดเท่าไหร่ นอกจากผลงานอย่าง เพราะฉะนั้น นั่นน่ะซี (พ.ศ. ๒๕๓๕), โรงแรมผี (พ.ศ. ๒๕๔๕), ครูแก แรงรัก แรงอาถรรพณ์ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
เรื่องราวของนัต (นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร) เด็กชายหนุ่มวัย ๑๖ ปี เป็นคนร่าเริงแจ่มใส มีเพื่อนวัยเดียวกันคือ ป้อม (ปวีณา ชารีฟสกุล), ชัย (วรสิทธิ์ ชีพสาธิต), เอก (อภิชาติ ติวตระกูล), น้องสาวหนิง (จิตโสภิณ ลิมปิสวัสดิ์), และตกหลุมรักรุ่นพี่ จ๋อม (วาสนา พูนผล) ทั้งสวยรวยเก่ง เคยเรียนไวโอลินด้วยกันอยู่พักหนึ่ง แต่แล้วเมื่อครอบครัวของของเขาเปลี่ยนไป พ่อ (จรัล มโนเพชร) ไม่ค่อยกลับบ้านเพราะไปมีเมียใหม่ ทำให้แม่ (มยุรา ธนะบุตร/เศวตศิลา) กลายเป็นคนเกรี้ยวกราด ชอบพูดจากระทบกระทั่ง ภายหลังหย่าร้างมีสามีใหม่ที่อายุมากกว่าหลายปี ส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งอย่างในชีวิต กลายเป็นปัญหาสังคมในระดับวิกฤต ประกอบกับประเทศชาติขณะนั้นกำลังใกล้เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โศกนาฎกรรมเลยเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป
นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๒) ชื่อเล่น โก้ เกิดที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากเทคโนโลยี บางกะปิ เข้าสู่วงการบันเทิงจากการชักนำของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ มีผลงานชิ้นแรก คือ ถ่ายแบบนิตยสารเปรียว, ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔), ฝากฝันไว้เดี๋ยว จะเลี้ยวมาเอา (2535), หลังจากนั้นมีผลงานต่อเนื่อง แต่ไม่โด่งดังเท่าไหร่
รับบท นัต แม้โชคชะตาชายหนุ่มผู้นี้จะพบเจอแต่เรื่องร้ายๆ พ่อ-แม่แยกทาง ตนเองสูญสิ้นความฝัน (นักดนตรี) น้องสาวตั้งครรภ์ต้องพาไปทำแท้ง เพื่อนรักขาหัก อีกคนเสียชีวิต ผู้หญิงคนรักก็แบบ… แต่ตัวเขาไม่เคยหลงเดินทางผิด แม้สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยในทีแรก แต่ก็ยอมความแม่ร่ำเรียนกฎหมายสำเร็จการศึกษา เป็นที่ภาคภูมิใจต่อครอบครัวและเพื่อนๆทุกคน
ส่วนตัวรู้สึกว่า นฤเบศร์ มีภาพลักษณ์ไม่ค่อยตรงกับตัวละครเท่าไหร่ สูงใหญ่ กะโปโล ดูไม่น่าพึ่งพาได้ อำพล ลำพูน ตอนหนุ่มๆน่าจะเหมาะสมกว่า แต่เรื่องการถ่ายทอดอารมณ์อันเกรี้ยวกราด อึดอัดอั้น รวดร้าวทุกข์ทรมาน แสดงออกมาได้ค่อนข้างข้างดี
ปวีณา ชารีฟสกุล (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๙) ชื่อเล่น เจี๊ยบ นักร้องนักแสดงชาวไทย จบจากโรงเรียนมักกะสันพิทยา ตามด้วยโรงเรียนอาชีวศิลป์ศึกษา เคยไปสมัครเล่นเกมโชว์ รายการเอาไปเลย ของ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เห็นว่ามีหน่วยก้านดีจึงชักชวนมาเป็นผู้ช่วยพิธีกร แต่ทำได้เพียงเดือนกว่ากันตนาก็ชักชวนปเล่นละครเรื่องแรกคือ แม่น้ำ (พ.ศ. ๒๕๒๘), อิทธิ พลางกูร ก็ดึงตัวเธอไปทำผลงานเพลง ออกผลงานชุดนัดกันแล้ว, นี่แหละตัวฉัน กับค่ายครีเอเทีย, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจาก คนทรงเจ้า (พ.ศ. ๒๕๓๒), …คือฉัน (พ.ศ. ๒๕๓๓), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓), เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔), มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖), ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับบท พระวิสุทธิกษัตรี
รับบท ป้อม เพื่อนสาวที่ทำตัวเหมือนทอม นิสัยแก่นแก้ว สนิทสนมคบเพื่อนชาย ไปไหนมาไหนกล้ากัดกันแบบไม่หวาดกลัวเกรง ด้วยความที่แอบชอบ นัต อะไรๆก็ต้องถามถึงหมอนี่ก่อน เป็นห่วงเป็นใยคอยให้การช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง แต่กลับไม่เคยได้รับความรู้สึกอื่นตอบสนอง แปรสภาพความอัดทั้นทุกข์ทรมานนั้น กลายเป็นอิสตรีผู้มากด้วยอุดมการณ์ ชื่นชอบหนังสือปรัชญา กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสมอภาคเท่าเทียม จนถูกกระทำร้ายรุนแรงบาดเจ็บแสนสาหัส ติดคุกติดตาราง จนสุดท้ายเมื่อชายหนุ่มครุ่นคิดได้ ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข
ตัวละครนี้คงต้องถือว่าเป็นตัวแทนของผู้นำ Activist มากด้วยหลักการ ปรัชญา ทัศนคติแห่งชีวิต คอยอยู่เบื้องหลังส่งเสริมสนับสนุน เสียสละได้ทุกสิ่งอย่าง เพื่อคาดหวังอนาคตที่สุขสมดั่งใจปอง ซึ่งโศกนาฎกรรมตอนจบสะท้อนกับผลลัพท์ของตุลาทมิฬ (แบบเดียวกับหมิง) คือจุดสิ้นสุด เป็นหมัน ไร้ทายาทสืบต่ออุดมการณ์ ผู้ชมจะรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่เธอก็ไม่ได้เรียกร้องให้ใครเสียน้ำตาให้
ผมตกหลุมรักจริตอันร้อนแรงของ ปวีณา มาสักพักแล้ว เรื่องนี้ต้องถือว่ามีความโดดเด่นสุดๆเลย เริ่มจากความแก่นแก้ว แมนๆ กลายเป็นลูกผู้หญิงที่ไม่หวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใด เมื่อไหร่ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ ติดคุกติดตาราง ทำเอาบรรดาหนุ่มๆทั้งหลายต้องยินยอมความ ฉันเองก็ไม่ได้กล้าหาญขนาดนั้น แต่เธอเป็นผู้หญิงกลับ… และกับครั้งสุดท้าย คงทำให้หลายๆคนน้ำตาซึม
วาสนา พูนผล (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๓) นักแสดงชาวไทย ลูกครึ่งเชื้อสายอเมริกัน เกิดที่กรุงเทพฯ เคยไปเรียนต่อไต้หวัน ๓ ปี กลับมาสอบเทียบจบ ม.๖ โรงเรียนมักกะสันพิทยา เข้าสู่วงการด้วยการถ่ายแบบจากนิตยสารแพรว, โฆษณา, MV, ภาพยนตร์เรื่องแรก เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ตามด้วย สยึ๋มกึ๋ย (พ.ศ. ๒๕๓๔), ผันสู่วงการโทรทัศน์ ประจนถึงปัจจุบัน
รับบท จ๋อม สาวสวย รวย เก่ง เพื่อนรุ่นพี่ของนัต เรียนไวโอลินและซ้อมดนตรีด้วยกันบ่อยๆ เมื่อเวลาว่างจะชอบไปนั่งร้านกาแฟริมน้ำ เพิงหมาแหงน ให้รุ่นน้องเปิดเพลง เวลาในขวดแก้ว มอบของขวัญวันเกิดให้คือ นาฬิกาทราย ขอให้จดจำช่วงเวลาดีๆระหว่างกันนี้ตราบชั่วนิรันดร์
จริงๆแล้ว จ๋อม ก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ ครอบครัวเธอไม่แตกต่างอะไรกับนัต พ่อคบชู้มีภรรยาใหม่ เลยไม่ค่อยให้ความสนใจ เลี้ยงดูแลด้วยเงินทองวัตถุสิ่งของ เติบโตขึ้นจึงกลายเป็นหญิงขาดหายในความรัก มักมาก เปลี่ยนผู้ชายไม่เลือกหน้า มองข้ามสิ่งดีงามที่อยู่ใกล้ตัวไปโดยสิ้นเชิง
อีกคนหนึ่งที่ต้องพูดถึงเลยก็คือ มยุรา เศวตศิลา ชื่อเกิด รัตนา ชาตะธนะบุตร (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๑) ชื่อเล่นตั๊กแตน สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ วิชาเอกคีตศิลป์สากล เริ่มทำงานเป็นนางแบบปกนิตยสารลลนา ถ่ายโฆษณา ได้รับคำชักชวนจาก พร้อมสิน สี่บุญเรือง ตั้งใจสร้างภาพยนตร์ ทิวาหวาน แต่ภายหลังโดน นัยนา ชีวานันท์ ตัดหน้าไป อย่างไรก็ดี ดอกดิน กัญญามาลย์ ได้ติดต่อให้มาเป็นนางเอก แหม่มจ๋า ประกบ สมบัติ เมทะนี ตั้งชื่อในวงการให้ว่า มยุรา ธนะบุตร ทำเงินเกินกว่าหนึ่งล้านบาท แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ผลงานเด่นๆ อาทิ มือปืนพ่อลูกอ่อน (พ.ศ. ๒๕๑๘), กุ้งนาง (พ.ศ. ๒๕๑๙), สิงห์สำออย (พ.ศ. ๒๕๒๐), แม่ดอกกัญชา (พ.ศ. ๒๕๒๐), พ่อปลาไหล แม่พังพอน (พ.ศ. ๒๕๓๑), เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ
รับบทแม่ของนัต ไม่รู้ตั้งแต่ตอนไหนที่เริ่มผิดใจกับพ่อ ยินยอมความไม่ได้เมื่อรู้ว่าสามีคบชู้นอกใจ ต้องพูดจากระแนะกระแหน ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ประชดประชันด้วยการคบผู้ชายสูงวัยกว่าที่มีภรรยาอยู่แล้ว ขายบ้านเก่าซื้อห้องแถวเปิดร้านอาหาร ส่งเสียลูกๆของตนให้เรียนจบกลายเป็นคนดีของสังคม
ตอนเล่นหนังเรื่องนี้ คุณตั๊ก เพิ่งอายุ ๓๐ ต้นๆเองนะ ยังสาวสวย ร้อนแรง จริตจัดจ้าน มักมาก ฝีปากนี่ต้องยอมเลย น่าตบเสียจริง แต่ลึกๆผมรู้สึกว่ามันแรงเกินไปสักนิดนะ คงแบบเป็นการปลดปล่อย มีเท่าไหร่ใส่ไม่หยุดยั้ง
ถ่ายภาพโดย วิเชียร เรืองวิชญกุล ตากล้องยอดฝีมือที่มีผลงานเด่น อาทิ เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔), เสือ…โจรพันธุ์เสือ (พ.ศ. ๒๕๔๑), สตางค์ (พ.ศ. ๒๕๔๓), บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), หลวงพี่เท่ง (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
งานภาพมีลีลาที่ค่อนข้างจัดจ้านสวยงามทีเดียว โดยเฉพาะการเคลื่อนกล้อง แพนนิ่ง ติดตาม ซูมเข้า-ออก หมุนรอบนาฬิกาทราย หรือถ่ายให้ติดนกในกรง สื่อความถึงอารมณ์ความรู้สึกอัดอั้นภายในของวัยรุ่นกลุ่มนี้ไม่แตกต่าง
แต่ที่เห็นจะโดดเด่นกว่าคือการจัดแสงสี โดยเฉพาะตอนกลางคืนมักมีความมืดมิดสนิท สะท้อนจิตใจอันสับสนว้าวุ่นวาย สายฝนที่กระหน่ำลงมาในค่ำคืนแรก ทำให้กระจกหน้าต่างเกิดเป็นไอ เริ่มจากพี่นัตวาดรูปภูเขา ลำธาร น้องหนิง(เกิดทีหลัง)มาช่วยแต่งเติมให้สมบูรณ์ นี่เป็นการสะท้อนโลกทัศน์ของเด็ก ที่กำลังค่อยๆเติบโต พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ
ภาพช็อตนี้ถ่ายใบหน้าพวกเขา พบเห็นแสงเงาระยิบระยับจากหยาดน้ำฝน ราวกับเป็นช่วงเวลา ความทรงจำที่งดงาม ซึ่งเมื่อทำการย้อนอดีตเมื่อพวกเขายังเล็กไปเที่ยวทะเล ภาพฟุ้งๆราวกับอยู่ในความเพ้อฝันหวาน จากนี้ต่อไปจะไม่ใช่อีกแล้ว
ด้วยความดีใจที่พ่อ-แม่ น่าจะกำลังได้คืนดีกัน เด็กๆรีบวิ่งเข้าห้องแต่งตัว ภาพมีลักษณะหน่วงๆ (Step Printing) ดนตรี Ragtime หวนระลึกถึงวันวาน เสร็จสิ้นวิ่งออกมาพร้อมกัน แต่แล้ว…
นี่ผมก็ไม่รู้ที่ไหนนะ แต่มันมีลักษณะเหมือน Snow Globe สถานที่แห่งความทรงจำ ตัวละครจะได้พบเจอสุข-ทุกข์ กลางวัน-กลางคืน ฝนตก-แดดออก ขีวิตดำเนินเดินไป ราวกับเวลาในขวดแก้ว
นี่เป็นอีกฉากที่การจัดแสงโดดเด่นมาก เมื่อนัตต้องมานอนค้างบ้านพ่อด้วยความไม่เต็มใจ แสงสีน้ำเงิน/ความมืด อาบชะโลมลงใบหน้าของเขาแม้อยู่ในห้องที่เบื้องหลังส่องสว่างอบอุ่น และภาพของแฟนใหม่พ่อมีความมัวเบลอหลุดโฟกัส ขณะนี้ฉันไม่พร้อมยินยอมรับเธอ(เป็นแม่คนใหม่)
ถ่ายจากมุมสูง แสงสองสีจากถนนคนนละฝั่ง สะท้อนความแตกต่างสุดขั้วระหว่างนัต-ป้อม มิอาจบรรจบร่วมกันได้ เรียกว่าเป็นเฉดตรงกันข้าม ชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง
การประท้วงนัดหยุดงานของคนโรงงาน ครั้งที่โด่งดังสุดในประวัติศาสตร์ไทยคือ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ กรรมกรหญิงโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงิน เริ่มนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ แต่กลายเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและดุเดือดที่สุด เพราะฝ่ายนายจ้างไม่ยอมเจรจาและยังมีคำสั่งไล่คนงานที่ประท้วงออกจากงาน ลากยาวไปจนถึงวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ กรรมกรได้ยึดโรงงานและทำการผลิตสินค้าออกมาขายโดยใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่ และตั้งชื่อโรงงานว่าสามัคคีกรรมกร ต่อมาในวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ฝ่ายตำรวจได้บุกเข้ายึดโรงงานคืน และจับนักศึกษาและกรรมกรหลายคนไปคุมขังไว้ในข้อหาผิดกฎหมายโรงงาน
(ฉากนี้คงแค่การประท้วงนัดหยุดงานทั่วไปนะครับ แต่ที่ผมเล่าถึงเหตุการณ์โรงงานฮารา เพราะถือว่าโด่งดังสุดในช่วง ๖ ตุลา)
ใครอยากอ่านเรื่องราวของกลุ่มโรงงานประท้วงหยุดงาน: https://doct6.com/learn-about/how/chapter-2/2-2/2-2-1
ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Pink Trumpet Tree) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ต้นไม้ประจำชาติ El Salvador หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตรเป็นผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ แม้เทียบความงดงามไม่ได้เท่ากับ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ที่ได้รับฉายา ซากูระเมืองไทย แต่สีสันชมพูสวยสดของมัน สะท้อนโลกแห่งความรัก ความเบิกบานใจ จากหดหู่ย่อมทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย
เกร็ด: ชมพูพันธุ์ทิพย์นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมีสีดอกที่สวยงาม ใบมีสรรพคุณต้มแก้เจ็บท้องหรือท้องเสีย หรือตำให้ละเอียดพอกใส่แผล ลำต้นใช้ทำฟืนและเยื่อใช้ทำกระดาษได้
นี่คือฉากใกล้เคียงสุดกับเหตุการณ์ ตุลาทมิฬ นำเสนอผ่านปฏิกิริยาสีหน้าของเพื่อนสนิท ชัย อยู่ดีๆมันก็วิ่งขึ้นมาบนห้อง เลือดอาบเต็มเสื้อผ้า ตะโกนโหวกแหวก ดิ้นสะบัดพร่าน เอามือปิดหู ควบคุมสติไม่ได้ ภาพซูมเข้า Close-Up ใบหน้า แสดงถึงการได้พบเห็น ‘นรก’ บนดิน
ภาพของป้อม แทบไม่ต่างอะไรกับ ‘เวลาในขวดแก้ว’ เพราะคือรูปแห่งความทรงจำ จากไม่เคยคิดอยากทำมาก่อน นัตบรรจงวาดขึ้นด้วยความแรงผลักดันจากจิตวิญญาณ ผลลัพท์เรียกได้ว่ามีความงดงามที่สุด
ลำดับภาพโดย ประลอง แก้วประเสริฐ ผลงานเด่น อาทิ วัยอลวล (พ.ศ. ๒๕๑๙), เงาะป่า (พ.ศ. ๒๕๒๓), รักมหาสนุก (พ.ศ. ๒๕๒๕), เวลาในขวดแก้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ
เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ นัต พานพบเจอเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย สอบเข้ามหาวิทยาลัย ตุลาทมิฬ และสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย มีการเล่าย้อนอดีต Flashback เพียง ๒ ครั้ง ตอนเครดิตต้นเรื่อง (จริงๆราวกับความเพ้อฝันเสียมากกว่า เดินเคียงคู่จับมือโอบไหล่สาวคนรัก จ๋อม) และในห้องกับน้องสาวหลิน นึกถึงตอนยังเล็กที่ครอบครัวสี่ พ่อ-แม่ ลูกชาย-ลูกสาว อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขสันติ
มองเป็นความฉลาด แต่เฉกเช่นเดียวกันคือความขลาด ต่อการนำเสนอเหตุการณ์ ๖ ตุลา โดยมิได้นำตัวละครหลัก นัต พบเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น แค่เพียงพานผ่าน เรียนรู้จากเพื่อนๆ ดูในโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และสัมผัสถึงความตายจากคนใกล้ตัว
ผมจะช่วยแถอีกเหตุผลของการไม่ให้พระเอกเข้าร่วมเหตุการณ์ ตุลาทมิฬ เพราะเรื่องราวนำเสนอตัวเขาเพียงแค่เป็นผู้สังเกตการณ์พบเห็น มิได้เข้าไปมีส่วนร่วม เฉกเช่นเดียวกับตอนที่พ่อ-แม่ ทะเลาะขัดแย้งเลิกรา นัต-หนิงเป็นเพียงคนนอกในสายตาพวกเขา (ไม่ใช่ชนวนสาเหตุที่ทำให้พ่อ-แม่ เลิกร้างราต่อกัน)
เพลงประกอบโดย วงบัตเตอร์ฟลาย กลุ่มคนดนตรีที่มีบทบาทอย่างสูงในการปรับเปลี่ยนวงการเพลงไทยสากล ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ สำหรับผลงานประกอบภาพยนตร์เลื่องชื่อ อาทิ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๒๖), วัยระเริง (พ.ศ. ๒๕๒๗), น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗), ผีเสื้อและดอกไม้ (พ.ศ. ๒๕๒๘)
แนวเพลงจะมีความหลากหลาย ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามโทนอารมณ์ของฉากนั้นๆ จะได้ยินทั้งเพลงลูกกรุง (เพลงใครหนอ), Ragtime (เสียงเปียโน แต่จะฟังดูเก่าๆสักหน่อย), คลาสสิก (ไวโอลิน), เพลงร็อคสุดมันส์ (ตอนตะลุมบอนต่อสู้กัน), เพื่อชีวิต (เป่าฮาร์โมนิก้า) ฯ
สำหรับบทเพลง เวลาในขวดแก้ว ต้นฉบับคือ Time in a Bottle (1970) แต่ง/ขับร้องโดย James Joseph ‘Jim’ Croce (1943 – 1973) เขียนขึ้นตอนตนเองรับทราบว่ากำลังจะมีลูกชาย เนื้อหาพูดถึงความไม่แน่นอนของชีวิต จึงพยายามหยุดเหนี่ยวรั้งเวลาเอาไว้, ทีแรกตั้งใจให้ประกอบอัลบั้ม You Don’t Mess Around with Jim (1973) แต่เมื่อ Jim ประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบินเสียชีวิต ทางต้นสังกัดเลยดึงออกมาขายเป็นซิงเกิ้ล สอดคล้องเข้ากับโศกนาฎกรรมดังกล่าวพอดี จึงสามารถไต่ขึ้นอันดับ ๑ ชาร์ท U.S. Billboard Hot 100 นานถึง ๕ สัปดาห์ ยอดขาย Gold Record (เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ก็อปปี้)
ในนวนิยาย ประภัสสร เสวิกุล ได้แปลบางท่อนของบทเพลงนี้ไว้อย่างไพเราะ
“ถ้าฉันเก็บเวลาไว้ในขวดแก้วได้
สิ่งแรกที่ฉันจะทำคือสะสมวันที่ล่วงเลยมานิจนิรันดร์เพียงเพื่อมอบมันแก่เธอ
และถ้าหากฉันสามารถทำให้คืนวันเป็นอมตะ
หรือเพียงแต่คำพูด มันจะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงได้
ฉันจะเก็บทุกโมงยามราวกับสมบัติอันล้ำค่า เพื่อมอบมันแก่เธอ”
ซึ่งฉบับที่ใช้ในหนัง มีการเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องทำนองเพลงต้นฉบับ โดย จิรพรรณ อังศวานนท์, ขับร้องโดย โชติชู พึ่งอุดม หรือ ป้อม ออโต้บาห์น
“หากฉันเก็บเวลาในขวดแก้ว
สิ่งที่ฉันจะทำคือสะสมคืนและวัน
ที่ล่วงเลยมานิรันดร์
เพียงรอวันจะมอบมันแก่เธอหากฉันทำให้คืนวันเป็นนิรันดร์
ที่จะทำให้ความหวังกลับเป็นจริงขึ้นมา
ฉันจะเก็บทุกโมงยามราวสมบัติอันล้ำค่า
จะนำมาให้แก่เธอ”
เวลาในขวดแก้ว มุมหนึ่งเล่าถึงปัญหาชีวิตวัยรุ่น นักเลงอันธพาล, เรียนไม่จบ สอบไม่ติด, กินเหล้า เสพยา, ท้องก่อนวัย ฯ สาเหตุล้วนเกิดจากครอบครัวไม่ให้เวลาเอาใจใส่ พ่อ-แม่เลิกราหย่าร้าง ปฏิเสธรับฟังความคิดเห็น ต่างสนเพียงความสุขสำราญพึงพอใจของตนเอง โยนเศษเงินเรียกค่าชดใช้ค่าน้ำนม
ขณะที่อีกมุมหนึ่งสะท้อนปัญหาสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อรัฐบาล/ทหาร/ตำรวจ เกิดความขัดแย้งใช้ความรุนแรงต่อ นักศึกษา/ประชาชน ก่อเกิดการจราจล โศกนาฎกรรม โดยไม่มีใครสามารถคาดการณ์ หยุดยับยั้งได้ทันท่วงที
ผู้นำประเทศ/รัฐบาล ปกครองประชาชน เทียบได้ไม่ต่างอะไรกับ พ่อ-แม่ ปกครองเลี้ยงดูบุตร ความขัดแย้งเบื้องบนย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อยู่ใต้สังกัดเบื้องล่าง เริ่มจากมองเห็น จดจำ สะสมความอัดอั้น แปรสภาพทัศนคติ และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ปะทุระเบิดออก ไม่แตกต่างกัน
ประเด็นมันคือว่า นวนิยาย/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียน/ผู้สร้าง เริ่มต้นครุ่นคิดจากอะไร?
– ปัญหาครอบครัว ขยายใหญ่สู่ระดับมหภาค ปัญหาสังคม (จุลภาค -> มหภาค)
– หรือใช้เหตุการณ์ ๖ ตุลา เป็นที่ตั้ง แล้วสร้างเรื่องราวโดยเปรียบเทียบเข้ากับปัญหาความขัดแย้งครอบครัว (มหภาค -> จุลภาค)
นี่ผมก็ไม่สามารถตอบได้ แต่ถือเป็นความงดงามในส่วนบทหนัง/นวนิยาย มองจากมุมไหนก็สามารถพบเห็นภาพสะท้อนของสองเรื่องราว สอดคล้องลงตัวเปะๆอย่างน่าขนลุกขนพอง ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองอยากมองเห็น เวลาในขวดแก้ว คือเรื่องราวสะท้อนปัญหาชีิวิตวัยรุ่น ครอบครัว ความรัก การศึกษา สังคม หรือเหตุการณ์ตุลาทมิฬ
ถ้าฉันเก็บเวลาไว้ในขวดแก้วได้… คำรำพันของผู้เขียน/ผู้สร้างภาพยนตร์/ผู้ใหญ่หลายๆคน/ตัวละคร นัต อยากหยุดเวลาหวนกลับไปเป็นเด็ก หรือช่วงเวลามีความสุขที่สุดในชีวิต เพราะปัจจุบันเมื่อเติบโตขึ้น อะไรๆมักไม่ค่อยได้ดั่งใจ ไม่น่าพึงพอใจ มองไปทางไหนพบเจอแต่ความเหน็ดเหนื่อยรวดร้าวทุกข์ทรมาน นี่ไม่ใช่โลกที่ฉันจินตนาการวาดฝันไว้แม้แต่น้อย
ก็เพราะโลกใบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆจะสามารถจินตนาการวาดฝัน แล้วเป็นจริงได้เช่นนั้น เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนคืออนิจจัง ไม่จริง ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถมีชีวิตที่เป็นสุข
ความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆต่างแสวงโหยหา ต้องการไขว่คว้าให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ แต่จริงๆแล้วนั่นเป็นสิ่งใกล้ตัวเราเสียเหลือเกิน ไม่จำเป็นต้องเอื้อมมือ ตะเกียกตะกาย โบยบินออกค้นหาแสนไกล ยืนสงบ หยุดนั่งนิ่ง ไม่ต้องครุ่นคิดอะไร จับลมหายใจเข้าออก แล้วจักพบความพอเพียงนั่นแหละคือสุขแท้จริงภายในจิตใจเราเอง
ถึงผมเกิดทันรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่ยังเด็กเล็กเกินรู้ประสีประสา เลยไม่แน่ใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ลึกๆแล้วสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเกาะกระแส ปลุกระดมพล ชนวนเหตุให้หนึ่งปีถัดมา พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ บ้างหรือเปล่า เพราะกลุ่มหลักๆที่มารับชมคือนักเรียน/นักศึกษา ฉายโรงหนังสยามติดต่อกันถึง ๗ สัปดาห์ (จนต้องมีรอบเช้าเสริม)
เข้าชิง ๖ สาขาคว้ามา ๔ รางวัลสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ่ายให้ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เรื่อง คนเลี้ยงช้าง
– นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ปวีณา ชารีฟสกุล) ** คว้ารางวัล
– นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (จิตต์โสภิณ ลิมปิสวัสดิ์)
– บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– เพลงนำยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
เวลาในขวดแก้ว ได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ทั้งหมด ๓ ครั้ง
– พ.ศ. ๒๕๓๕ ฉายช่อง ๓ นำแสดงโดย สมชาย เข็มกลัด, แอน ทองประสม, ปวีณา ชารีฟสกุล
– พ.ศ. ๒๕๔๓ ฉายช่อง ๓ นำแสดงโดย ธนา สุทธิกมล, อลิชา ไล่ศัตรูไกล, ฌัชฌา รุจินานนท์
– พ.ศ. ๒๕๕๘ ฉายช่อง True4U นำแสดงโดย เศรษฐพงศ์ เพียงพอ, สุนันทา ยูรนิยม, สุวพิชญ์ ไตรพรวรกิจ
สองสิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ คือสองมุมมองเรื่องราวสะท้อนกันและกันได้อย่างลงตัวพอดิบพอดี และการแสดงของ ปวีณา ชารีฟสกุล ชุดโคร่งๆ ทอมบอย แอบรักเสียสละได้ทุกอย่าง น่าจะเป็นบทบาทโดดเด่นที่สุดในชีวิตแล้วกระมัง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง สมควรอย่างยิ่งต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุผล ให้ความสนใจลูกๆของตนเองบ้าง อย่าเอาแต่เห็นแก่ตัวสนเพียงความสุขของตนเอง อนาคตชีวิตพวกเขาอยู่ในกำมือของคุณ ผู้ให้กำเนิด
แนะนำคอหนังแอบรัก โศกนาฎกรรม อิงเหตุการณ์เมือง ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙, ประทับใจนวนิยาย เวลาในขวดแก้ว ของ ประภัสสร เสวิกุล, แฟนๆนักแสดง นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร, ปวีณา ชารีฟสกุล ไม่ควรพลาด
จัดเรต ๑๕+ ครอบครัวแตกแยก ความรุนแรง สถานการณ์การเมืองอันตึงเครียด
Leave a Reply