เศรษฐีอนาถา

เศรษฐีอนาถา (พ.ศ ๒๔๙๙) หนังไทย : วสันต์ สุนทรปักษิณ ♥♡

นี่นะหรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการประกวดรางวัลตุ๊กตาทองครั้งที่ ๑ แห่งประเทศไทย, มหาเศรษฐีหนุ่มต้องการท้าทายชายแก่ขี้เมา มอบเงิน ๑๐ ล้านบาทใช้ให้หมดภายใน ๑ ปี แล้วดูสิว่าชีวิตจะพบเจอความสุขจริงหรือเปล่า พล็อตเรื่องฟังดูมีความน่าสนใจ แต่ตอนจบมันห่าอะไรก็ไม่รู้ อนาถาเกินคำบรรยาย

เป็นอีกครั้งถัดจากพระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ. ๒๔๘๓) ที่ผมรู้สึกอับอายขายขี้หน้า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจเลยสักนิดที่มีภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมรดกของชาติ มันอาจคือประวัติศาสตร์ของคนโบราณที่ใช้ความชื่นชอบส่วนตัว ค่านิยม กระแสแฟชั่นสังคมขณะนั้นในการพิจารณาตัดสิน แต่เพราะขาดองค์ความรู้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า คุณค่าทางศิลปะ … นี่ทำให้ผมเกิดความเข้าใจขึ้นอย่างถ่องแท้เลยว่า คนไทยสมัยก่อน(จนถึงปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่) มองภาพยนตร์เป็นเพียง ‘สิ่งบันเทิง’ เริงรมย์ประเภทหนึ่งเท่านั้น

ตอนที่ผมเดินออกจากโรงภาพยนตร์ มีผู้สูงวัยท่านหนึ่ง (หนังรอบนี้เกินกว่าครึ่งเป็นผู้สูงวัย น่าจะเกิน ๖๐ ปีกันแล้วทั้งนั้น) พึมพัมพูดออกมา ‘หนังมันซับซ้อนมากๆ’ ผมอยากสวนกลับไปเหลือเกินว่า ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย แค่มันมั่วซั่วเละเทะเกินคำบรรยาย ที่ดูไม่เข้าใจเพราะหนังพาเรานอกเรื่องไปไกล ทั้งที่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อหาหลักทั้งนั้น แล้วอยู่ดีๆวกกลับมาพูดจามีสาระแล้วตัดจบ ทิ้งปมร้อยแปดพันอย่างค้างคา ในบรรทัดฐานส่วนตัวเรียกว่า ‘หนังห่วย’ แต่ก็ขอท้าถ้าคุณมีโอกาสรับชม (หอภาพยนตร์ชอบนำมาจัดฉายทุกๆปี) แล้วเกิดความเข้าใจแตกต่าง มองเห็นคุณค่า Cult Classic โต้เถียงอย่างมีเหตุผลมา รับฟังแล้วแลกหมัดกัน ผมอาจโง่เองก็ได้ที่ไม่เข้าใจจิตวิญญาณของหนังเรื่องนี้ก็ได้

วสันต์ สุนทรปักษิน ชื่อเดิม เกยูร (พ.ศ. ๒๔๕๙ – ) เกิดบริเวณริมคลองบางซื่อ สมัยเด็กชอบแอบออกจากบ้านไปดูหนังที่โรงศาลาเฉลิมรัฐ ด้วยวิธีที่ไม่ต้องเสียสตางค์ คือช่วยนักดนตรีแบกเครื่องเข้าไปในโรง หรือบางวันช่วยเล่นแตรวงสร้างบรรยากาศการรับชมของสมัยนั้น, หลังเรียนจบมัธยมสมัครเป็นทหารเรือ ฝึกดำน้ำ ถูกส่งไปศึกษาวิชาเครื่องยนต์ถึงญี่ปุ่น วันว่างๆก็เข้าโรงหนัง ดูละครเวที พอได้เหรียญชัยสมรภูมิจากยุทธนาวีเกาะช้าง (พ.ศ. ๒๔๘๔) ก็ลาออกกลับมาทำสวน ต่อด้วยงานแผนกขนส่ง กรมช่างอากาศ เปลี่ยนชื่อเป็นวสันต์ (ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดให้คนไทยมีชื่อสามารถระบุเพศได้)

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาพยนตร์จากโลกตะวันตกขาดหาย หนังไทยก็เข้าสู่ยุคมืด ละครเวทีจึงได้รับความนิยม ไปสมัครเป็นนักแสดงคณะละคร ปรีดาลัย ในพระนางเธอลักษมีลาวัณ มเหสีในรัชกาลที่ ๖ โอกาสนั้นเองได้รับเลือกเป็นพระเอกภาพยนตร์ ถิ่นไทยงาน (พ.ศ. ๒๔๘๖) จนมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จโด่งดัง แต่นั่นก็เทียบไม่ได้กับทศวรรษถัดมาเมื่อกลายเป็นผู้กำกับ ทางเปลี่ยว (พ.ศ. ๒๔๙๘) คว้ารางวัลกำกับการแสดงยอดเยี่ยม และ เศรษฐีอนาถา (พ.ศ. ๒๔๙๙) คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยทั้งสองเรื่องได้รับพร้อมกันในงานชิงรางวัลตุ๊กตาทองและสำเภาทอง ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๐

reference: https://www.matichon.co.th/news/396563

สำหรับเศรษฐีอนาถา ดัดแปลงจากงานประพันธ์ของสันต์ เทวรักษ์ หรือสันต์ ท. โกมลบุตร ชื่อเกิด บุญยืน โกมลบุตร (พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๕๒๑) นักเขียน นักแปล บรรณาธิการนิตยสารโบว์แดง ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่เรื่องสั้นแรก เดี่ยวนกขมิ้น (พ.ศ. ๒๔๗๔) จากนั้นมางานแทบทุกชิ้นก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อาทิ แม่ยอดสร้อย, แก้วสารพัดนึก, บันไดแห่งความรัก ฯ

” .. มีนักเขียนซึ่งใช้นามว่า สันต์ เทวรักษ์ เขียนเรื่องด้วยสำนวนที่หยดย้อย จับใจนักอ่านเป็นพิเศษ อาทิเช่น เวลาตัวละครในเรื่องจะจุมพิตกัน เขาใช้สำนวนว่า ‘เก็บหอมในไร่แก้ม’ หรือเวลาที่พระเอกสะเทิ้นอายก้มหน้า เขาก็ใช้สำนวนว่า ‘โปรยยิ้มที่หน้าประตู’ สำนวนหวานจ๋อยแบบนี้หาได้จากงานประพันธ์ของสันต์ เทวรักษ์ ดังในเรื่อง บันไดแห่งความรัก ..”

– คำนิยมของ สงบ สวนสิริ หรือนามปากกา สันตสิริ ต่อหนังสือเรื่องบันไดแห่งความรัก

เรื่องของพนักงานรถไฟชรา จอน บางคอแหลม (รับบทโดย เจิม ปั้นอำไพ) ที่โชคชะตาล้อเล่นตลก เมื่อมีมหาเศรษฐีหนุ่ม ประพนต์ ธนพิทักษ์ (รับบทโดย เสถียร ธรรมเจริญ) มอบเงินให้สิบล้านบาท ด้วยข้อสัญญาต้องใช้ให้หมดภายในหนึ่งปี

สาเหตุที่เรื่องตลกนี้บังเกิดขึ้น เพราะนายประพนต์กำลังเมามายอยู่ในความทุกข์โศกสิ้นหวัง เคยสู่ขอหญิงสาวที่ตนตกหลุมรักชื่อกันธิมา (รับบทโดย ระเบียบ อาชนะโยธิน) แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธเพราะครอบครัวฐานะแตกต่างกันมา เลยต้องการค้นหาความหมายของความสุขคืออะไร? ซึ่งหลังจากพบเห็นนายจอน ที่ถึงขี้เมายากจนแต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มความสุขเหลือล้น ‘นี่ถ้าให้เงินก้อนโตกับเขา จะสามารถช่วยค้นหาความสุขของฉันได้หรือเปล่า?’

กระนั้นโชคชะตากลับล้อเล่นตลกยิ่งกว่า เมื่อนายจอนมีลูกสาวชื่อ กันธิมา (คนเดียวกับที่นายประพนต์ ตกหลุมรัก) นี่จึงคือโอกาส แอบปลอมตัวทำเนียนตีสนิทเข้าไปคลุกคลี ไม่แน่ว่านี่อาจจะคือความสุขที่กำลังแสวงหาอยู่ก็เป็นได้

ก่อนหน้าเริ่มการถ่ายทำ ใครๆต่างคาดคิดว่าบทจอน บางคอแหลม ต้องตกเป็นของอบ บุญติด พระเอกชื่อดังขณะนั้น แต่ผู้กำกับวสันต์ กลับเลือกเอานายเจิม ปั้นอำไพ ช่างไฟโรงหนังศาลาเฉลิมไทย ที่ไม่เคยแสดงภาพยนตร์สักเรื่อง นำมาเตรียมตัวอยู่ ๓ เดือน จนกลายเป็นพระรองที่สามารถคว้ารางวัลผู้แสดงประกอบฝ่ายชาย จากงานชิงรางวัลตุ๊กตาทองและสำเภาทอง ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ไปครอบครองได้แบบไม่มีใครคาดคิดถึง

ต้องถือว่านายเจิม ได้กลายเป็นเศรษฐีทั้งในจอและชีวิตจริง แบบโชคชะตาเล่นตลกเลยสินะ, เช่นนั้นเพราะความไม่คุ้นเคยหน้ากล้อง เต็มไปด้วยความเคอะเขิน ท่าทีกังวลกระวาย ทำตัวไม่ค่อยถูก เลยดูมีความเป็นธรรมชาติเข้ากับตัวละครอย่างมาก ยิ่งตอนนายจอนสวมใส่สูทสีขาวตัวใหญ่เทอะทะไม่เข้ากับตนเอง คือมันก็ชัดนะว่าเป็นสิ่งเกินตัว ว่างๆไม่มีอะไรทำแย่งของเล่นรถไฟลูกเล่น นั่นไม่ใช่ความสุขแท้จริงของตนเองสักเท่าไหร่ (นายเจิม น่าจะเล่นหนังแค่เรื่องเดียว คว้ารางวัล ชีวิตประสบความสำเร็จพอแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้)

ขณะที่พระเอกจริงๆของหนังคือ เสถียร ธรรมเจริญ นักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการปีนั้น แต่เหมือนจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ อยู่ได้ไม่กี่ปีก็เลือนลางจางหายไป, รับบท ประพนต์ มหาเศรษฐีที่ก็ไม่รู้ทำธุรกิจอะไรร่ำรวยระดับร้อยล้าน แต่ชีวิตไร้ซึ่งความสุขใดๆ เพราะหญิงสาวรอบตัวของเขามีแต่พวกเห็นแก่ตัว หน้าเลือด หิวเงิน ก็คงมีแต่กันธิมา ที่โชคชะตาเหมือนจะพยายามจับคู่พวกเขาให้ได้ แต่นั่นไม่ได้อยู่ที่ตัวเขาเองแม้แต่น้อย

สำหรับนางเอก ระเบียบ อาชนะโยธิน เป็นรองนางสาวไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากบทสมทบ ปริศนา (พ.ศ. ๒๔๙๘) แต่ก็อยู่ไม่นานเช่นกันก็เลือนลางจางหายไป, รับบท กันธิมา ลูกจ้างร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ที่หลังจากครอบครัวร่ำรวยด้วยเงินสิบล้าน เธอก็มิได้แสดงความหัวสูงเย่อหยิ่งทะนงตน ตรงกันข้ามกลับยังคงความสุภาพ นอบน้อบ เป็นกันเอง รู้ตัวว่ายังไม่พร้อมจะแต่งงาน ถึงขนาดบอกปัดปฏิเสธคนรักเก่าที่คบมานาน (แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้รักจริงเท่าไหร่) จนกระทั่งเมื่อพ่อวางแผนจับคู่ให้ ก็ไม่รู้เธอได้พบเจอความสุขในชีวิตหรือเปล่า แต่ผู้ชายสองคน (พ่อและนายประพนต์) ได้รับความสุขนี้อย่างแน่นอน

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm คุณภาพเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา (ยังไม่มีใครคิดนำมา Remaster) และสมัยนั้นยังไม่มีบันทึกเสียง Sound-On-Film ส่วนใหญ่จึงใช้การพากย์สดหน้าโรง หรือถ้าไม่มีบทบางครั้งก็ดั้นสดๆตรงนั้นแหละ

รถไฟเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทาง(ของชีวิต) ปรากฎขึ้นต้นเรื่อง จอดรอคอยอะไรบางอย่าง (โอกาสและเป้าหมายชีวิต) และช็อตสุดท้ายตอนจบ เคลื่อนลับหายไปในความมืดมิด (มุ่งสู่อนาคตที่อะไรๆก็สามารถเกิดขึ้นได้มิอาจคาดเดา)

มีช็อตหนึ่งตอนต้นเรื่องความหมายลึกซึ้งมาก, ขณะนายประพนต์บนรถไฟกำลังหวนครุ่นคิดถึงอดีต มองลงไปในแก้วเหล้าเห็นใบหน้าของกันธิมาปรากฎลอยอยู่ สะท้อนถึงความดื่มด่ำหลงใหลในรักจนเมามาย แต่มิอาจได้ครอบครองร่างกายและจิตใจของเธอ เพราะความร่ำรวยเกินไปเลยถูกมองว่าไม่สมฐานะกันและกัน (นี่น่าจะคืออีกเหตุผลหนึ่งด้วย ที่ทำให้นายประพนต์คิดอะไรบ้าบอคอแตก มอบเงินถึงสิบล้านให้ใครไม่รู้จัก)

ขอพูดถึงปัญหาของหนังเลยแล้วกัน มันคือเส้นทิศทางของเรื่องราว ที่มักชอบแฉลบไถลออกนอกเรื่องสู่ความเรื่อยเปื่อย ไปไกลจนหลายครั้งหลงลืมเนื้อหาหลักว่าต้องการนำเสนออะไร
– การสนทนาของสาวสามที่ลานเรียนยูโด แรกๆก็ดูน่าสนใจดีเพราะเป็นการแนะนำตัวละครว่ามีบุคลิกนิสัยเช่นไร แต่เพราะการสนทนาอันเยิ่นยาวเรื่อยเปื่อย สักพักเริ่มหยามเหยียดกันเอง ตกลงสาระการพูดคุยกันครั้งนี้คืออะไรเนี่ย?
– ตัวละครที่เป็นแฟนเก่าของกันธิมา (น่าจะตกหลุมรักข้างเดียว) ไม่มีที่มาที่ไปนัก ชื่นชอบใช้กำลังแก้ปัญหา ใส่เข้ามาคงเพื่อให้หนังมีฉากต่อสู้บู๊แอ๊คชั่น เพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจขึ้นเท่านั้นเอง
– ผมรำคาญลูกชายคนเล็กของนายจอนเป็นอย่างยิ่งเลยนะ พูดจากวนประสาท ไร้สัมมาคารวะมารยาท สะท้อนสันดานความเห็นแก่ตัว และชนชั้นต่ำของตนเอง คุยไม่ฮาพาเครียดอีกต่างหาก
– คู่คนใช้ จริงอยู่มันสะท้อนเรื่องราวของคู่พระนาง แต่ถือเป็นส่วนเกินที่ไม่น่าสนใจเลยสักนิด และโดยเฉพาะฉากจบ พวกเขาหยอกเย้าเล่นกันนอกเรื่องอยู่ตั้งเป็นนาทีๆ สูญเสียโมเมนตัมความต่อเนื่องของคู่หลักไปโดยสิ้นเชิง

แต่ก็มีบางฉากที่ดูเหมือนจะไม่เวิร์คแต่ผมกลับค่อนข้างชอบ อาทิ
– รถน้ำมันหมดกลางทาง แล้วนายประพนต์เข้าไปช่วยเหลือสาวๆ แนะนำตนเองให้รู้จัก … นี่เป็นการสะท้อนตรงๆเลยว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็น สุดท้ายมักต้องคอยเป็นช้างเท้าหลังพึ่งผู้ชายอยู่อย่างเสมอๆ (จริงๆฉากนี้ผมก็ไม่ได้ชื่นชอบความหมายของมันนะ แต่ถือว่าสะท้อนใจความภาพรวมของหนังออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาทีเดียว)
– ตอนพ่อจอนถูกเชิญให้ขึ้นเวทีไปพูดอวยพรวันเกิด … ฉากนี้ผมโคตรชอบเลยนะ เพราะสะท้อนถึงความหวาดกลัวในสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำ ถ้ายังจนอยู่ก็ไม่ต้องทนอับอายขายขี้หน้าประชาชี อยากจะแทรกแผ่นดินหนีก็ทำไม่ได้แล้ว

ทั้งๆที่หนังเริ่มต้นด้วยคำถามโคตรน่าสนใจเกี่ยวกับ ‘เงินซื้อความสุขในชีวิตไม่ได้’ แต่กลับกลายเป็นว่าเพราะเงินนี่แหละซื้อใจพ่อจอนได้สำเร็จ ปากอ้างว่าเสียสละหายตัวไปเพื่อความสุขของลูกสาวกันธิมา แต่ก็เป็นเชิงบีบบังคับให้ต้องแต่งงานกับมหาเศรษฐีหนุ่มผู้อุปถัมป์ครอบครัว นายประพนต์คนนี้เท่านั้น … สรุปแล้ว เงินสามารถซื้อใจคน แลกเปลี่ยนกับการแต่งงาน แล้วได้รับความสุขแท้จริงในชีวิต!

ผมไม่ชอบเลยนะกับการที่ พ่อบีบบังคับให้ลูกสาวต้องแต่งงานกับคนที่ตนเลือกเท่านั้น แต่นี่คือค่านิยมสังคมไทยสมัยก่อน (ที่ปัจจุบันหลายคนยังคงคิดว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมควร) ทั้งๆกันธิมาเคยบอกปัดปฏิเสธนายประพนต์ไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ว่าใจเธอจะสมยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่หนังเลือกนำเสนอให้ผู้หญิงเป็นเพียงเพศวัตถุ จำต้องก้มหัวก้มหน้าสมยอมรับการตัดสินใจของ’ผู้ชาย’เท่านั้น

กระนั้นสิ่งหนึ่งที่เหมือนว่าเป็นสาระ กับความคิดตั้งต้นของกันธิมา ‘คนรวย-คนจน ฐานะแตกต่างชั้นเกินไป แต่งงานกันไม่ได้’ นี่ถือเป็นความเข้าใจผิดมหันต์ เพราะเรื่องของความรัก ไม่มีอะไรในโลกสามารถแบ่งแยกได้ทั้งนั้น รวย-จน ผิวขาว-ดำ สัตว์ประหลาด รักร่วมเพศ หรือแม้แต่ในบุคคล/ตัวละครในจินตนาการ ฯ นอกเสียจากจิตใจตนเองสร้างเส้นบางๆขึ้นมาคั่นแบ่งขวางเท่านั้นแหละ

ใครกันแน่ที่คือเศรษฐีอนาถา? มุมมองคนทั่วไปคงคือนายประพนต์ ผู้จมอยู่ในความทุกข์ทรมานอกแทบแตก และยังไร้คนรักสาวข้างกาย, แต่ผมมองว่าคือพ่อจอน ความบังเอิญร่ำรวยทำให้เขากลายเป็นยิ่งกว่าอนาถา ถึงไม่พึงพอใจกับมันแต่สุดท้ายกลับส่งเสริมให้ลูกสาวได้ดีไปกับมหาเศรษฐี

การประกวดภาพยนตร์ชิงรางวัลตุ๊กตาทอง มีแนวคิดริเริ่มแรกมาจากบทความของนายสงบ สวนศิริ เขียนลงในนิตยสารตุ๊กตาทอง พ.ศ. ๒๔๙๖ ตั้งใจวางแผนจัดงานในปีนั้นแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับการสนับสนุนจากหอการค้ากรุงเทพ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘งานสัปดาห์แห่งการแสดงอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และเกษตรกรรม’ จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ณ เวทีลีลาศ สวนลุมพินี

เนื่องจากเป็นการประกวดครั้งแรก ทางผู้จัดงานจึงไม่ได้จำกัดปีของภาพยนตร์ ทำให้มีหนังไทยทั้งเก่าและใหม่เข้าประกวดปะปนกัน ทั้งสิ้น ๕๒ เรื่อง แบ่งแยกเป็นรางวัลตุ๊กตาทอง (Golden Doll) สำหรับนักแสดงมีทั้งหมด ๔ สาขา (นำชาย, นำหญิง, สมทบชาย, สมทบหญิง) และรางวัลสำเภาทอง มอบให้ผู้อยู่เบื้องหลัง อีก ๑๒ รางวัล

สำหรับเศรษฐีอนาถา คว้ามาทั้งหมด ๒ รางวัล
– (สำเภาทอง) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– (ตุ๊กตาทอง) ผู้แสดงประกอบฝ่ายชาย – เจิม ปั้นอำไพ

ขณะที่ผู้กำกับวสันต์ สุนทรปักษิณ คว้ารางวัลกำกับการแสดงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์อีกเรื่อง ทางเปลี่ยว (พ.ศ. ๒๔๙๘)

การประกวดภาพยนตร์ชิงรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๑ ต้องถือว่าเป็นตุ๊กตาล้มลุกที่ไม่ค่อยมีมาตรฐานได้รับการยอมรับเสียเท่าไหร่ เพราะเป็นการตัดสินของคนนอกวงการ คณะกรรมการมิใช่ผู้มีคุณวุฒิประสบการณ์ เกิดข้อครหากังขามากมาย กระนั้นก็ถือเป็นก้าวย่างแรกของวงการภาพยนตร์ไทย ประวัติศาสตร์หนึ่งให้เรียนรู้จดจำ, ใครสนใจอ่านบทความที่พูดถึงความล้มเหลวของการจัดงานตุ๊กตาทองในยุคสมัยแรก คลิกโลด
reference: http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=7

ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลยนะ คงเพราะกาลเวลาทำให้คนเปลี่ยน มุมมองโลกทัศน์ความคิด เมื่อพบเจอแนวคิดสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม กลับไปพบเห็นอดีตของโบราณก็จะรู้สึกเฉิ่มเฉย รับไม่ได้ ตกยุคสมัย แม้จะมีบางไดเรคชั่นที่น่าสนใจ แต่ผมอยากกลบฝังมันไว้ใต้ดินมากกว่านำมายกย่องเชิดชูบูชา หรือใช้เป็นบทเรียนสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย

จัดเรต PG กับคำพูดจิกกัด พฤติกรรมเห็นแก่ตัว และความอนาถาของหนัง

TAGLINE | “เศรษฐีอนาถา เป็นภาพยนตร์อนาถาที่สุดแห่งประเทศไทย”
QUALITY | UNDERESTIMATE
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: