แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) หนังไทย : เชิด ทรงศรี ♥♥♥♥♡

แผลกรีดเข้าที่ใบหน้าของขวัญ เทียบไม่ได้กับความเจ็บปวดรวดร้าวเมื่อถูกเรียมทรยศหักหลัง ถ้ากล้าผิดคำสาบานเคยให้ไว้ต่อเจ้าพ่อไทร ชีวิตคงไม่มีค่าอะไรจะดำรงอยู่, ตำนาน Romeo & Juliet ของเมืองไทย กระบือไกลระดับโลก “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

หลังจากนั่งทบทวนอยู่พักใหญ่ ก็คิดว่าตนเองน่าจะยังไม่เคยรับชมแผลเก่ามาก่อน! ฉบับของหม่อมน้อยก็หามีความน่าสนใจใคร่อยากดู คงเหมาะกับผู้ชมสมัยใหม่ที่ไม่รู้จะหาแผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) ได้ที่ไหน? ปัญหาคือครูเชิด ทรงศรี ท่านค่อนข้างจะหวงผลงานอย่างมาก ตอนยังมีชีวิตอยู่ไม่คิดขายลิขสิทธิ์ให้ VHS/CD จากภาพยนตร์จอใหญ่ๆกลายเป็นโทรทัศน์เล็กกระจิ๋วจะไปได้อรรถรสอะไร นี่ถ้าไม่เพราะคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว พยายามเกลี้ยกล่อมครอบครัวจนยินยอมให้มีการบูรณะซ่อมแซม ถึงกระนั้นปัจจุบันยังหาฉบับ Restoration จากสื่ออื่นนอกจากโรงภาพยนตร์ไม่ได้ ที่ปรากฎใน Youtube คงจะลักลอบแอบทำ บอกเลยว่าค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว

ประเด็นคือว่าแผลเก่า เป็นภาพยนตร์ฉายด้วยฟีล์ม 70mm (ใช้การขยายจากฟีล์ม 35mm) เทียบขนาดก็ Ben-Hur (1959), Lawrence of Arabia (1962), 2001: A Space Odyssey (1968) ฯ โคตรพ่อโคตรแม่ยิ่งใหญ่อลังการ หนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่กล้าลงทุนลงแรงลงทุกสิ่งอย่างการันตีขาดทุน สร้างขึ้นเพื่อขายความเป็นไทยแท้โดยเฉพาะ แต่ฉบับที่เข้าถึงได้พบเห็นในสื่อออนไลน์/ฉายโทรทัศน์ปัจจุบันนี้ อัตราส่วน 4:3 ตัดขอบซ้ายขวาเพื่อให้ฉายโทรทัศน์จอตู้ได้ จากเสียง Stereo รอบทิศกลายเป็น Mono อรรถรสในการรับชมสูญหายไปกว่าครึ่ง หลายครั้งดูไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่าใครกำลังทำอะไรอยู่

มีโอกาสเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อไหร่ แนะนำเลยนะครับว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะมีใครนำหนังเรื่องนี้คุณภาพบูรณะมาทำแผ่นขายหรือฉายออนไลน์ กำไรคงไม่ได้อยู่แล้ว มรดกชาติไทยมอบให้คนรุ่นหลังมีโอกาสเข้าถึงง่ายๆจะดีกว่านะ

พ.ศ. ๒๕๖๑ หอภาพยนตร์ได้ทำการบูรณะหนังเรื่องนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แม้คุณภาพอาจไม่ได้เลิศหรูหราอลังการ ก็ถือเสียว่าเป็น’โอกาส’ที่คนรุ่นหลังๆอย่างเรา จะมีโอกาสพบเห็นผลงานอันทรงคุณค่า ไทยแท้ เหนือกาลเวลา

เชิด ทรงศรี (พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๔๙) ครูผู้สร้างภาพยนตร์ ‘ไทยแท้’ คนแรกๆของเมืองไทย เกิดที่นครศรีธรรมราช เรียนจบทำงานเป็นครูที่อุตรดิตถ์ จากนั้นลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ภาพยนตร์และโทรทัศน์’ ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละคร นิยาย และวิจารณ์ภาพยนตร์ วันหนึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ให้กับเมืองไทย ผลงานเรื่องแรก โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙) จากบทประพันธ์ของตนเอง ออกแบบฉาก ลำดับภาพ แต่งเพลงประกอบ ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และใช้ทุนสร้างส่วนตัวทั้งหมด นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์

ในยุคคลาสิกของวงการภาพยนตร์โลก คนที่จะเป็นผู้กำกับได้ มักค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการยอมรับจากระบบสตูดิโอ เซ็นสัญญาทาสระยะยาว และมักสร้างภาพยนตร์ตามใบสั่ง (ต้องหนังทำเงินหลายๆเรื่อง ถึงค่อยได้รับอิสระในการเลือกตามความสนใจ) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ การมาถึงของ Italian Neorealist ที่ได้พลิกโฉมหน้าการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ และยุคถัดมากับ French New Wave อันเกิดขึ้นจากบรรดานักวิจารณ์หัวขบถของ Cahiers du cinéma ในยุค 60s ประกอบด้วย François Truffaut, Jean-Luc Godard, Éric Rohmer, Claude Chabrol และ Jacques Rivette ต่างลาออกมาเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีที่พวกตนเขียนขึ้น … เมื่อนักวิจารณ์กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ก็เหมือนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ รู้ว่าตนเองเคยต้องการอะไรจึงสร้างสรรค์มอบสิ่งนั้น กลายเป็นของที่ผู้รับต้องการได้จริงๆ

คงไม่แปลกอะไรถ้าจะถือว่าเชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับหนังไทยในยุค New Wave จากเคยทำงานเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ คงรับทราบถึงข้อจำกัด ความต้องการของตนเองต่อภาพยนตร์ไทย ลาออกมาเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาในสิ่งที่วงการยังขาดหาย ไม่เคยปรากฎพบมาก่อน ทั้งนี้ตามอุดมการณ์ ความตั้งใจส่วนตน ไม่ต้องรับอิทธิพลจากใครที่ไหน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวในระดับ ‘ศิลปิน’

ในยุคเปลี่ยนผ่านของวงการภาพยนตร์เมืองไทย ฟีล์ม 16mm จากเคยได้รับความนิยมอย่างสูงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓) กับอินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ทำให้ผู้สร้างหนังเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นต้องก้าวพัฒนาปรับตัวสู่ยุคสมัยใหม่ ครูเชิดก็เช่นกันหลังเสร็จจากพ่อปลาไหล (พ.ศ. ๒๕๑๕) [หนึ่งในหนังฟีล์ม 16mm ทำเงินสูงสุด] บินไปร่ำเรียนวิชาการภาพยนตร์เพิ่มเติมที่ University of California, Los Angeles (UCLA) ได้อาจารย์ Walter Doniger ฝึกงาน ณ The Burbank Studios

ช่วงที่อาศัยอยู่อเมริกากว่า ๔ เดือน ครูเชิดได้มีโอกาสพบเห็นสภาพสังคมของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักถูกแยกให้ใช้ชีวิตตามลำพัง ลูกหลานเมื่อเติบใหญ่ปีกกล้าขาแข็งก็ตีจากทอดทิ้งครอบครัวไป ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้ามกับประเทศเราโดยสิ้นเชิง จึงเกิดความสำนึกถึงคุณค่าความเป็นไทย อยากให้ลูกหลานช่วยกันทะนุถนอมดูแลปู่ย่าตายายทวด ผู้สูงวัย ด้วยความเคารพรักกตัญญูกตเวที จึงคิดสร้างหนังที่แสดงออกถึงความเป็นไทย แต่ด้วยเหตุผลที่แนวนี้ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ เมื่อกลับมาสร้างผลงานตลาด ความรัก (พ.ศ. ๒๕๑๗), พ่อไก่แจ้ (พ.ศ. ๒๕๑๙) นำกำไรจากทั้งสองเรื่องเตรียมไว้เป็นทุน ไม่คาดหวังจะประสบความสำเร็จ สายหนังก็ไม่มีเจ้าไหนยินยอมติดต่อขอซื้อ แค่ได้ทำดั่งใจประสงค์ไว้เป็นพอ

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของไม้ เมืองเดิม นามปากกาของ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๔๘ – ๒๔๘๕) เกิดที่วัดมหรรณพาราม, กรุงเทพมหานคร ต้นตระกูลมีศักดิ์สูงฐานะร่ำรวย แต่ครอบครัวเขากลับยากจนต้องเช่าบ้านญาติอยู่ จบการศึกษาโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ บิดานำไปฝากรับราชการในสังกัดกรมบัญชาการมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ได้เพียง ๔ ปี ลาออกมาทำงานส่วนตัว ตกงานอยู่พักหนึ่ง เที่ยวเตร่ไปตามหัวเมืองต่างๆตามท้องถิ่นชนบทห่างไกล คบเพื่อนฝูงจนเริ่มติดสุราเมามาย ตามด้วยไปสมัครทำงานในสังกัดกองทางอยู่จังหวัดเชียงใหม่

เพราะความที่ติดเหล้ากินแทนน้ำ ร่างกายอิดออดอ่อนแอ เมื่อเริ่มแต่งนิยายเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนไส้แห้ง ผลงานชิ้นแรก เรือโยงเหนือ ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนสนใจ แต่ด้วยใจรักจึงเขียนอีกเรื่อง ห้องเช่าเบอร์ ๑๓ ก็ยังคงได้รับการปฏิเสธ โชคดีได้เพื่อนสนิท เหม เวชกร ตั้งสำนักพิมพ์เองออกหนังสือรายวัน คณะเหม ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนประจำสำนักงาน ใช้นามปากกา กฤษณะ พึ่งบุญ ได้ตีพิมพ์เรื่องแรก ชาววัง

ด้วยความที่เรื่องดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมเสียเท่าไหร่ เหมพยายามให้กำลังใจพร้อมชักชวนให้เปลี่ยนแนวเขียนเรื่องใหม่ วันหนึ่งนั่งเล่นพูดคุยสนทนากันอยู่ที่สะพานรถไฟข้ามคลองแสนแสบ เหลือบไปเห็นชายทุ่งมีกระต๊อบเล็กๆ ชี้บอก ‘เอ็งลองคิดดูสิว่า กระต๊อบเล็กๆไฟริบหรี่นั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างในนั้น’ ผ่านไปเพียงสองวัน แผลเก่า (พ.ศ. ๒๔๗๙) จึงอุบัติขึ้น

นามปากกาว่า ไม้ เพราะตามธรรมดาสิ่งที่มีก้านกิ่งก็คือต้นไม้ ส่วนนามสกุลก็ตัดเอาแค่คำ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนครหลวงเก่าเปลี่ยนเสียเป็น เมืองเดิม, สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะสำนวนการเขียน แผลเก่า มีความเป็นลูกทุ่งร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ออกไปทางนักเลงหัวไม้เต็มตัว ภาษาชนบทห่างไกลอารยธรรมความเจริญ เลยไม่อยากทำให้นามสกุลเดิมแปดเปื้อน พึ่งบุญ (เป็นนามสกุลพระราชทาน) ก็เลยคิดตั้งขึ้นใหม่เสียเลยดีกว่า

ไม่มีใครคาดคิดจะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อวางขายกลับได้รับความนิยมล้นหลาม คงด้วยลีลาการเขียนแปลกแหวกแนวไม่ซ้ำแบบใครนี้ แตกต่างจากใครอื่นในยุคสมัยนั้น ทำให้นักอ่านทั้งลูกทุ่งลูกกรุงเกิดความพึงพอใจวางไม่ลง ผลงานถัดๆมาก็ยังคงขายดีเทน้ำเทท่า แผลเก่า จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่ม ‘ต้นตำรับนิยายลูกทุ่ง ชั้นนักเลงหัวไม้’

แผลเก่า ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์จนถึงปัจจุบันทั้งหมด ๔ ครั้ง
– พ.ศ. ๒๔๘๓ [สูญหายไปแล้ว] ภาพยนตร์ฟีล์ม 16mm ขาว-ดำ บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ สร้างโดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กำกับโดยพรานบูรพ์, นำแสดงโดยสมพงษ์ จันทรประภา ประกบอบเชย ชุ่มพันธ์
– พ.ศ. ๒๔๙๗ ภาพยนตร์ฟีล์ม 35mm สีธรรมชาติ พากย์เสียงทับ สร้างโดยบูรพาศิลป์ภาพยนตร์ นำแสดงโดยชีพ ชูพงษ์ (ท้วม ทรนง) ประกบพรทิพย์ โกศล เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ทำรายได้สามแสนบาท
– พ.ศ. ๒๕๒๐ ภาพยนตร์ฟิล์ม 70mm (ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35mm) Eastmancolor พากย์เสียงทับ กำกับโดยเชิด ทรงศรี, นำแสดงโดยสรพงษ์ ชาตรี ประกบนันทนา เงากระจ่าง
– พ.ศ. ๒๕๒๗ ภาพยนตร์ดิจิตอล กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, นำแสดงโดยชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต ประกบดาวิกา โฮร์เน่, ทำรายได้ ๒๐.๒ ล้านบาท

สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ๓ ครั้ง
– พ.ศ. ๒๕๑๐ ฉายช่อง ๔ นำแสดงโดย กำธร สุวรรณปิยะศิริ-นันทวัน เมฆใหญ่
– พ.ศ. ๒๕๓๑ ฉายช่อง ๗ นำแสดงโดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์-ชุติมา นัยนา
– พ.ศ. ๒๕๔๕ ช่อง ๓ นำแสดงโดย ธีระเดช วงศ์พัวพันธ์-เข็มอัปสร สิริสุขะ

เกร็ด: แผลเก่า น่าจะคือนวนิยายไทยเรื่องที่สอง(ของไทย) ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์, เรื่องแรกคือ ลูกกำพร้า ภาค ๑-๒ (พ.ศ. ๒๔๘๑) จากบทประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต

เกร็ด ๒: สำหรับผลงานอื่นๆของไม้ เมืองเดิม ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ อาทิ ขุนศึก (พ.ศ. ๒๕๑๙), แสนแสบ (พ.ศ. ๒๕๒๑), ชายสามโบสถ์ (พ.ศ. ๒๕๒๔), พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ฯ

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดยรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก, ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์) และธม ธาตรี (นามปากกาของผู้กำกับเชิด ทรงศรี), เรื่องราวมีพื้นหลัง พ.ศ. ๒๔๗๙ (ปีเดียวกับที่นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ จึงถือว่าเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยของผู้เขียน) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๘ ขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี

ขวัญ (สรพงศ์ ชาตรี) เป็นลูกชายนายเขียน (ส. อาสนจินดา) ผู้ใหญ่บ้านบางกะปิ, เรียม (นันทนา เงากระจ่าง) เป็นลูกสาวกำนันเรือง (สุวิน สว่างรัตน์) อยู่คลองแสนแสบ อดีตเคยแพ้คดีรุกที่นาของผู้ใหญ่เลยเป็นอริกันเสมอมา เฉกเช่นเดียวกับขวัญ-เรียม แต่ไปๆมาๆหนุ่มสาวกลับตกหลุมรักแอบไปมาหาสู่ สาบานต่อหน้าเจ้าพ่อไทรว่าจะซื่อสัตย์รักกันตลอดไป ขณะนั้นเองที่ครอบครัวเรียมตามมาพบจึงถูกจับกลับไป ล่ามโซ่คุมขังไว้ไม่ให้พบเจอกันอีก ทั้งยังขายลูกให้ไปเป็นคนใช้คุณนายทองคำ (สุพรรณ บูรณพิมพ์) เศรษฐินีม่ายในบางกอก ด้วยราคาหนึ่งร้อยบาท ทำให้ขวัญออกติดตามหา เฝ้ารอคอยอย่างอ่อนล้าอยู่นานถึงสามปี เมื่อทั้งคู่ได้หวนกลับมาพบเจออีกครั้ง อะไรๆกลับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

สรพงศ์ ชาตรี หรือชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือพิทยา เทียมเศวต (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๓) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ เกิดที่พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุ ๑๙ ได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของในกองถ่าย เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ พระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔)

รับบทไอ้ขวัญ หนุ่มบ้านทุ่งเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ยอกเย้าขี้เล่น ชอบเป่าขลุ่ยร้องเพลงขับเสภา นิสัยรักเดียวใจเดียวไม่เคยผันแปรเปลี่ยนเป็นอื่น ขณะเดียวกันมีมาดชาตินักเลง เก่งตีรันฟังแทงจนเลื่องระบือไปทั่วบางกะปิ แต่อุดมไปด้วยหลักการไม่รังแกคนอ่อนแอ ไม่ลอบทำร้ายใคร สู้กันซึ่งๆหน้า กล้ารับผิดชอบการกระทำของตนเอง

ครูเชิดเลือกสรพงศ์ให้มารับบทนี้ ด้วยความที่ภาพลักษณ์เหมือนเด็กบ้านนอกคอกนา แววตาไร้เดียงสาใสซื่อเหมือนไอ้ขวัญ คือเจ้าตัวก็เป็นเช่นนั้นจริงๆนะแหละ วัยเด็กวิ่งเล่นคลุกโคลนขี่ควาย รู้เทคนิคจับหางเวลาข้ามคลองจะได้ไม่ถูกปัดตบหน้า

ถือเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการทางอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เริ่มต้นจากครึกครื้นเริงรื่นสำราญได้ยินเสียงขับร้องเล่นสนุกสนาน ต่อมาเมื่อต้องพลัดพราดแยกจากอมทุกข์เศร้าโศกหน้าบึ้งตึงไร้วิญญาณ หวนกลับมาพบเจอสุขเกษมเปรมปรีดิ์ และวินาทีไฮไลท์คือเมื่อรับรู้ความจริงที่เรียมผิดนัดไม่ทำตามสัญญา หน้านิ่งๆอาบแสงสีน้ำเงินเย็นยะเยือก จิตใจราวกับถูกสายฟ้าฟาด นี่คงเป็นหนึ่งในวินาทีตราตรึงที่สุดของพี่เอกเลยก็ว่าได้

นันทนา เงากระจ่าง (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๘) บุตรสาวของปยุต เงากระจ่าง ชื่อเล่นการ์ตูน เนื่องจากปีเกิดตรงกับตอนปยุตประสบความสำเร็จในการสร้างการ์ตูนไทยเรื่องแรก เหตุมหัศจรรย์ (พ.ศ. ๒๔๙๘) จบการศึกษาจากโรงเรียนปานะพันธุ์ วิทยาลัยเพาะช่าง และวิชาการแสดงโรงเรียนการแสดงของสมาคมนักแสดงอาชีพแห่งประเทศไทย ถูกชักชวนให้เข้าวงการภาพยนตร์โดยเชิด ทรงศรี แจ้งเกิดโด่งดังกลายเป็นตำนานทันทีกับ แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐)

รับบทอีเรียม หญิงสาวแห่งทุ่งบางกะปิ มีความงามไม่เป็นสองน้อยหน้าใคร เริ่มต้นนิสัยแสนงอน ไม่เข้าใจตัวเองทำไมถึงเกลียดขวัญ (เพราะถูกพ่อ พี่น้องเสี้ยมสั่งสอนครอบงำ) แต่เมื่อโดนหยอกล้อแกล้งเล่นว่ายน้ำแข่งกัน ก็ค่อยๆเคลิบเคลิ้มตกหลุมรักใคร่ยินยอมความเป็นของกันและกัน อุปสรรคขัดขวางจากพ่อที่รับสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ได้ เธอจึงถูกล่ามโซ่ตรวนเหมือนสัตว์ ขายให้เป็นทาสคุณนายทองคำ โชคดีบังเอิญหน้าตาคล้ายคลึงลูกสาวนายที่เสียชีวิต เลยได้รับโอกาสส่งเสียให้กลายเป็นผู้ดีมีตระกูล เคลิบเคลิ้มในความแสงสีศิวิไลซ์ หวนกลับมาทุ่งบางกะปิเยี่ยมแม่ป่วยหนัก อยากจะทอดทิ้งความรักแต่สุดท้ายแล้ว…

โอ้ละหนอทำไมจิตใจผู้หญิงถึงได้รวนเรเปลี่ยนแปลง เอาแน่เอานอนไม่ได้ถึงขนาดนี้? เราอาจมองว่าเป็นอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้างตัวเธอ ชนบท-สังคมเมืองเป็นตัวแปรให้เกิดความแตกต่าง ถึงกระนั้นอดีตแห่งความสุขเมื่อหวนย้อนกลับคืนมา ก็อยู่ที่หัวใจของเธอเท่านั้นละหนาจะตัดสินใจเช่นไร

เรื่องการแสดงถือว่าไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่ภาพลักษณ์ลูกครึ่งทำให้ไม่ว่าจะสวมเกาะอกบ้านนอกคอกนา หรือไฮโซหรูรา ออกมาดูดีมีเสน่ห์น่าหลงใหล และเห็นว่านันทนาเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ได้แชมป์การแข่งขันที่โรงเรียนสองปีซ้อน เลยไม่แปลกอะไรที่พอกระโดดลงคูคลองสามารถว่ายดำน้ำได้อย่างเชี่ยวชำนาญ เอะ! หรือว่าครูเชิดคัดเลือกนักแสดงเพราะความสามารถด้านนี้หรือเปล่า?

เลือกภาพช็อตนี้วินาทีที่เรียมเกิดความโล้เล้ลังเลใจ ครุ่นคิดไม่ตกว่าชีวิตฉันจะเอายังไงดี หวนกลับไปรักกับพี่ขวัญ-ปักหลักอยู่บางกอก สังเกตว่าแสงสองสีน้ำเงิน-แดง อาบฉาบลงบนใบหน้าของเธอ ขณะที่พื้นหลังมืดมิดสนิทมองอะไรไม่เห็น อนาคตไม่ว่าจะเลือกแบบไหนล้วนได้รับผลลัพท์ไม่แตกต่าง

(น่าเสียดายที่ฉบับบูรณะ ก็ไม่รู้ไปทำกระไรเข้ากับแสงสีน้ำเงินอาบฉาบใบหน้าของเรียมช็อตนี้ หลงเหลือเพียงเงามืดบางๆ ทำเอาสูญเสียนัยยะความหมายของภาพนี้ไปโดยสิ้นเชิง)

สำหรับนักแสดงสมทบที่ต้องเอ่ยถึงอย่างยิ่งคือ ส.อาสนจินดา ชื่อจริงสมชาย อาสนจินดา (พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๕๓๖) นักแสดง/ผู้กำกับ ศิลปินแห่งชาติ, รับบทผู้ใหญ่เขียน พ่อของขวัญ อดีตนักเลงหัวไม้เป็นที่เลื่องชื่อระบือนามไปทั่วบางกะปิ แต่เมื่อภรรยาจากไปหลงเหลือเพียงลูกชายหัวแก้วหัวแหวน กลายเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัว ยินยอมเป็นเพื่อนพูดคุยเล่นหัว อะไรๆก็ครุ่นคิดคำนึงถึงลูกรักไว้ก่อน คาดหวังต้องการให้โตไปได้ดีและมีโอกาสบวชทดแทนคุณ

จากพญาราชสีห์ยินยอมก้มหัวพร้อมเสียสละศักดิ์ของตัวเองเมื่อเห็นลูกทนทุกข์ทรมาน ดีใจเริงร่าสุดขีดเมื่อเขาตัดสินใจยอมบวช แต่แล้วเมื่อโศกนาฎกรรมบังเกิด ภาพสุดท้าย Close-Up ใบหน้าของ ส.อาสนจินดา เต็มไปด้วยความรวดร้าวเจ็บปวด ทรงพลังระดับ ‘ทรัพย์สมบัติของชาติ’ เลยก็ว่าได้

เดิมนั้นตัวละครนี้ไม่มีความสลักสำคัญอะไรในนวนิยายของไม้ เมืองเดิม (และภาพยนตร์ ๒ ฉบับก่อนหน้า) แต่เมื่อครูเชิดเลือก ส.อาสนจินดา มีหรือจะไม่เพิ่มบทสำคัญให้ เพื่อเป็นตัวเลือกตัดสินใจของขวัญ ระหว่างความรักหญิงสาวกับการทดแทนคุณพ่อ บีบคั้นเค้นอารมณ์สร้างความขัดแย้งภายในจิตใจให้บังเกิดขึ้นได้อีก

และที่เจ๋งมากๆเมื่อเพิ่มตัวละครนี้มา คือการใส่เนื้อหาแม่ของเรียม (ศรินทิพย์ ศิริวรรณ) อดีตเคยตกหลุมรักเขียน แต่กลับเลือกแต่งงานกำนันเรืองด้วยเหตุผลเรื่องเงินล้วนๆ ความสุขสบายชั่ววูบทำให้ทุกข์ทรมานชั่วนิรันดร์ ก่อนหมดสิ้นลมหายใจแม่เสี้ยมสั่งสอนลูกสาว จงอย่าเลือกตัดสินใจผิดแบบตนเอง … แต่สุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์ก็มักซ้ำรอยผลลัพท์ไม่ต่างจากเดิม

เนื่องจากเครดิตในส่วนถ่ายภาพ/ตัดต่อ ที่ปรากฎในหนังถูกตัดครึ่งมีแต่นามสกุลกับอีกชื่อหนึ่ง ไว้ถ้าหารายละเอียดได้แล้วจะกลับมาเพิ่มเติมให้นะครับ

ระหว่างหาข้อมูลผมก็ฉงนใจสุดๆ เพราะในใบปิดเขียนว่า ‘๗๐ มม. เสียงสเตอริโอรอบทิศ’ แต่จากข้อมูลหลายๆสำนักบอกว่าหนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm ก็จนได้ไปพบว่าแท้จริงแล้วคือการ Blow-Up หรือขยายสเกลขึ้นสองเท่า เพื่อให้สามารถฉายลงบนจอภาพที่ใหญ่ขึ้นได้ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรใน Hollywood ยุคสมัยนั้น [คล้ายๆกับหนังถ่ายทำสองมิติ แล้วไปทำสามมิติช่วง Post-Production] เพราะมันสามารถเรียกผู้ชมเพิ่มราคาค่าตั๋วสูงขึ้นได้อีก

ลายเซ็นต์ของครูเชิด พบเห็นได้ตั้งแต่ช็อตแรกของหนัง คือการถ่ายภาพ Long Shot ระดับสายตา แล้วใช้ดอลลี่เคลื่อนไหลกวาดไปโดยรอบเพื่อเก็บบรรยากาศเหตุการณ์โดยรอบฉาก, จริงๆผมก็เพิ่งรู้จากการอ่านบทสัมภาษณ์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว บอกว่านี่คืออิทธิพลหนึ่งที่ทำให้เขาอยากถ่ายหลายๆฉากแบบนี้

“พี่เชิดใช้ความเป็นไทยได้งามมากๆ ในหนังของเขา มีช็อตหนึ่งในเรื่อง ‘แผลเก่า’ กะว่างานของผม ผมจะเอาวิธีการนี้มาใช้บ้าง การใช้ภาพกว้างแล้วก็ดอลลี่ยาวๆ มันมีช็อตหนึ่งในหนังพี่เชิดที่ไอ้ขวัญขี่ควายแล้วร้องเพลงแล้วควายเดินเข้าไปในหมู่บ้านแล้วเห็นคนแก่ตำข้าวแล้วก็กิจกรรมของคนโบราณ คือถ้าเป็นช็อตสมัยใหม่เราไม่ลากยาวขนาดนี้ เราตัดเอา ซึ่งในช็อตของพี่เชิดช็อตนั้นผมจะจำไปใช้ ดูแล้วมันได้อารมณ์ดี มันดูแล้วเชื่อว่ามีเมืองแบบนี้จริงๆ เก่าจริงๆ”

บางกะปิทศวรรษนั้น ความเจริญแผ่ขยายมาถึงเรียบร้อยแล้ว คลองแสนแสบจากที่เคยใสสะอาดน่าว่ายเล่น ก็เริ่มดำคล้ำไปด้วยขยะ ด้วยเหตุนี้เลยต้องหนีออกไปถ่ายทำยังราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ ยังพอมีน้ำใส ผักตบชวา และดอกบัวบานพบเห็นอยู่เรื่อยๆ

ท่ามกลางดอกบัว ความรักของหนุ่มสาวกำลังลอยคอเบิกบาน สังเกตว่าพื้นหลังจะมีกังหันลม(สำหรับวิดน้ำ) ตั้งตระหง่านอยู่ด้วย แรกๆอาจชวนให้ฉงนสงสัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของอะไรหรือเปล่า สักกลางเรื่องเมื่อบทเพลงแสนแสบดังขึ้น ก็จะล่วงรู้คำตอบเลยละ

“โอ้ว่ากังหัน ทุกวันมันพัดสะบัดวน อยากจะรู้จิตคน จะหมุนกี่หนต่อวัน”

ช็อตนี้ขอเรียกว่า ‘มุมมองเจ้าพ่อไทร’ สองหนุ่มสาวกอดเกี้ยวเลี้ยวพามาจนถึงศาลเจ้าพ่อไทร ตอนแรกผมก็ดูไม่ออกนะว่าที่อยู่ด้านซ้ายของภาพคืออะไร แต่มันมีสัมผัสอันลึกลับบางอย่าง และหลายๆฉากถัดไปตอนที่ขวัญเรียมจุดธูปสาบาน ถ่ายภาพมุมก้มอย่างต่ำ เลยสามารถพอคาดเดาได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มองลงมา

วินาทีที่หนุ่ม-สาว จุดเทียนแล้วกล่าวคำสาบาน กล้องวางอยู่บนดอลลี่ค่อยๆเคลื่อนไหลโดยมีพวกเขาเป็นจุดหมุน ให้สัมผัสที่เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเฝ้ายืนมองเป็นพยานรักให้กับพวกเขา … พูดแล้วขนลุกขึ้นมาทีเดียว

ต้นไทรกลางน้ำ จากคำบอกเล่าของพี่เอกเป็นการเซ็ตฉากขึ้นมา เพราะในความเป็นจริงโลเกชั่นลักษณะนี้หาได้ยากยิ่ง ไม่น่าอยู่แน่ หรือถ้ามีก็คงไม่เป็นดั่งใจผู้กำกับสักเท่าไหร่

มีคำเรียกว่า Dynamic Cut เมื่อตัวละครกำลังจะพูดถึงอะไรบางอย่าง ‘ถ้าพ่อของเรียมรู้เข้า…’ แทนที่จะพูดต่อให้จบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ตัดต่อสู่ฉากถัดไป การแสดงลิเกที่ตัวร้ายชี้หน้านางเอก ‘เอามันไปฆ่าเสีย…’ นี่เรียกเสียงหัวเราะได้กระหึ่มโรงอย่างแน่นอน ซึ่งหนังมีการใช้เทคนิคนี้เปรียบเทียบสองเหตุการณ์คู่ขนานกันบ่อยๆ

หนึ่งในการใช้ Dolly Shot ที่งดงามมากๆ ตอนที่กำนันเรืองและลูกๆ กำลังร่ำสุราครื้นเครง กล้องเคลื่อนไหลผ่านเงามืดมาหยุดตรงข้างหลังบันได พบเห็นแม่พิศนั่งหน้าละเหี่ยห้อยเศร้าโศกเสียใจ เพราะความโลภมักมากของตนเองแท้ๆชีวิตจึงตกระกำลำบากในปัจจุบัน ตัวเองคนเดียวถือว่าชดใช้กรรม แต่กับลูกเรียมต้องมาทุกข์ทรมาน โอ้ละหนอชีวิต!

แม้จะอยู่ในโลกอีกใบ แต่เมื่อเรียมได้ยินเสียงฟลุต/ขลุ่ยฝรั่ง พลันให้หวนระลึกถึงเสียงเป่าขลุ่ยของไอ้ขวัญ ขณะที่ฝั่งผู้ชมค่อนข้างสับสนสักหน่อย เหมือนจะได้ทั้งสองเสียงซ้อนกันเลยฟังไม่รู้เรื่องเท่าไหร่

ฉบับบูรณะแม้จะน่าหงุดหงิดรำคาญใจเล็กน้อยกับ Noise ที่คาดว่าครูเชิด คงเปิดเพลงจากแผ่นคลั่งบันทึกเสียงกันสดๆ แต่อาจมีนัยยะถึงสิ่งขัดหูขัดตา ความน่ารำคาญ รบกวนจิตใจของเรียมที่ได้ยินเสียงขลุ่ยฝรั่ง

และหลังจากตัดสลับไปมากับขวัญ สักพักเสียงขลุ่ยจะก้องกังวาลดังขึ้นแทนขลุ่ยฝรั่ง ทำให้เรียมต้องขออนุญาตกลับบ้าน ทนฟังอยู่ร่วมงานต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว จิตใจมันลุ่มร้อนรน

นี่เป็นอีกข้อเสียหนึ่งที่ทำให้ผมรวดร้าวใจอย่างมาก เพราะการตัดฟีล์มสองฝั่งซ้ายขวาออกเพื่อสำหรับฉายโทรทัศน์ในอัตราส่วน 4:3 กลับกลายเป็นว่าฉากที่นักแสดงยืนตำแหน่งริมขอบสองฝั่ง ก็จะพบเห็นแบบช็อตนี้ ตัวตนของพวกเขาสูญหายไปโดยสิ้นเชิง

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ ถ่ายตอนกลางคืนฝนกำลังตก สาดแสงไฟสีน้ำเงิน (สัมผัสอันเย็นยะเยือก รวดร้าวทุกข์ทรมาน) แม้เป็นสามรุมหนึ่งแต่หมาหมู่กลับสู้ไม่ได้ กล้องเคลื่อนไหวผ่านต้นกล้วยตานี … ของหมูๆสินะแบบนี้! แทบดาบเข้าตรงกลางใจ

เมื่อพ่อพบเห็นลูกทุกข์ทรมานรวดร้าวแสนสาหัส ก็พร้อมยินดีเสียสละทุกสิ่งอย่างแม้เกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง, หลังจากการกวาดกล้อง ผู้ใหญ่เขียนพบเห็นไอ้ขวัญทุกค่ำคืนวันเอาแต่เป่าขลุ่ยอยู่ตรงต้นไทร ฉากถัดมาออกเดินทางมาหากำนันเรืองโดยใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่ง กล้องค่อยๆขยับเคลื่อนโยกเยก ผู้คนที่พบเห็นต่างตื่นตระหนกกลัว หลงคิดไปว่านี่ไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่แท้ ถือเป็นการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชม รับรู้ถึงหัวจิตหัวใจของคนเป็นพ่อ ก่อนตัดไปที่ใบหน้าอันห้อยละเหี่ยของตัวละคร เรื่องคอขาดบาดตายโดยแท้

แซว: ตำแหน่งที่กำนันกับผู้ใหญ่พูดคุยกัน เลือกตรงเงาร่มไม้เปะๆ สงสัยกลัวนักแสดงร้อนเพราะถ่ายทำนาน -D

ตอนที่เรียมกลับมาเยี่ยมแม่ ขวัญดำผุดดำว่ายน้ำลักลอบแอบมาหา สังเกตว่ากึ่งกลางระหว่างพวกเขามีดอกบัวคั่นอยู่กึ่งกลาง สะท้อนถึงฉากแรกๆที่เกี้ยวพาราสีกันท่ามกลางกอบัว ความรักสำหรับชายหนุ่มยังคงเบ่งบาน แล้วสำหรับหญิงสาวละ! อีกสองสามช็อตถัดไปเลื่อนเปลี่ยนมุมกล้อง ดอกบัวระหว่างพวกเขาทั้งสองก็หลุดเฟรมไป

ตำแหน่งตัวละคร จัดวางองค์ประกอบ และมุมกล้อง สังเกตว่าทั้งสองฉากนี้มีความแตกต่างคนละชนชั้นต่ำ-สูง ภาษาพูดคุยกูมึง-เรียกนาย เสื้อผ้าอารณ์เปลือยเปล่า-สวยหรู เฉกเช่นนี้แล้วจิตใจของพวกเขาจะยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรมาแบ่งแยกคั่นกลางได้อีกหรือเปล่า

เมื่อไอ้ขวัญรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น มีการตัดให้เห็นภาพในจินตนาการ/Abstraction เห็นเธอกำลังหมุนตัว แล้ว Cross-Cutting เปลี่ยนชุดไปเรื่อยๆ สื่อความถึงจิตใจที่แปรเปลี่ยนเป็นคนละคน (สีน้ำเงิน-แดง แบ่งแยกสองฝั่งก็คือสองตัวตน) ด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธมาพร้อมกับพายุฟ้าฝนลมคลั่ง ระบายความอึดอัดอั้นด้วยการว่ายน้ำสุดแรงเกิดตรงไปยังศาลเจ้าพ่อไทร ตะโกนโหวกเหวกต่อว่าอะไรก็ไม่รู้ ตัดสลับกับภาพสายฟ้าฟาด, นี่ถือเป็น Sequence ทรงพลังสุดของหนังแล้วกระมัง (กว่าตอนจบเสียอีกนะ)

ฉบับบูรณะว่าไปก็แปลกประหลาด พื้นหลังช็อตนี้ยังคงสีน้ำเงิน-แดง ไว้ตามปกติ แต่ใบหน้าของเรียมกลับไม่ถูกอาบฉาบด้วยแสงทั้งสอง มันเป็นแบบนั้นได้ด้วยเหรอ มหัศจรรย์จริงๆ (นี่ประชดนะ)

แทรกช็อตฟ้าผ่า (ไม่ได้แคปรูปมา) นี่ราวกับอภินิหารย์เจ้าพ่อไทร หลังจากได้รับฟังคำตำหนิต่อว่าจากปากขวัญ ดลบันดาลจิตใจให้เรียมตื่นขึ้นยามค่ำคืนด้วยความกระวนกระวาย ลุกขึ้นมาครุ่นคิดหวนระลึกถึงอดีตเคยตกหลุมรักใคร่ และเมื่อน้องชายเร่งรีบพายเรือมาบอกข่าว เลยตัดสินใจรีบหวนกลับไปเยี่ยมแม่โดยโดยทันที

ลางสังหรณ์ของขวัญประกอบด้วย จิ้งจกทัก (ถ้าตั้งใจฟังก็จะได้ยิน), คานไม้หัก, ตักน้ำไม่เห็นเงาหน้า (มั้งนะ) ประกอบเข้ากับอายุย่างเข้าเบญเพศ ๒๕ ปี ถือเป็นคราวที่ต้องบวชสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อโบราณโดยแท้ เสียงสวดมนต์ก้องกังวาล

ขณะที่ขวัญกำลังท่องบทสวดมนต์ พื้นหลังจะมีความมืดมิดสนิท ระหว่างนั้นแทรกภาพนึกถึงเรียม แล้วอยู่ดีๆพื้นหลังพลันสว่างขึ้น แล้วกับมาภาพปกติ ตัดสินใจโยนหนังสือสวดมนต์ทิ้งลงพื้น ทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ

หลังจากนี้จะเป็นการตัดสลับไปมาระหว่างพ่อที่รีบเข้าเมืองไปซื้อสบงจีวรเตรียมงานบวชให้ลูกด้วยรอยยิ้มเริงร่าง ขณะที่ขวัญเมื่อมิอาจยับยั้งสติให้จดจ่ออยู่กับการจะบวช รีบเร่งไปหาเรียมกำลังถูกฉุดให้กลับพระนคร, มันจะมีวินาทีที่ขวัญโดนยิง ตัดไปขณะพ่อเดินสะดุดล้มจีวรตกพื้น นี่ถือเป็นอีกลางสังหรณ์อาถรรพ์ตามความเชื่อโบราณของไทยเช่นกันนะครับ (ทำจีวรตกพื้น แปลว่าจะไม่ได้บวช)

เห็นว่านี่เป็นฉากโปรดของพี่เอก วินาทีพูดบอกจะบวชให้พ่อแล้วโถมเข้าไปกอดขา เสียงพูดอันนุ่มนวลของ ส.อาสนจินดา ทำให้น้ำตาไหลร่วงพรูออกมาจริงๆ เกิดความซาบซึ้งใจอย่างสุดๆ

ฉากใต้น้ำถ่ายทำโดยท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ถือเป็นการลองเชิงก่อนกำกับ อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓) และได้ร่วมงานกับครูเชิดอีกครั้งเรื่อง พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐), เสียงของเรียมที่ดังกึกก้องกังวาล ‘ฉันรักพี่ขวัญผัวของฉันคนเดียว’ สร้างความหลอกหลอกสั่นสะท้านให้กับผู้ชม (รำคาญเล็กๆ) หัวใจวาบหวิวเศร้าโศกเสียใจกับโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น เธอดำผุดดำว่ายลงไปพบเห็นมีดกำแน่นในมือ ดึงออกแล้วปักเข้าหัวใจตัวเอง ตัดไปฟองเลือดผุดขึ้นเหนือน้ำ จมอยู่ในความรักตราบชั่วกัลปาวสาน

การเสียชีวิตของเรียมถือว่าเป็นตำนานของการดัดแปลงเลยก็ว่าได้ ไม่มีฉบับไหนเหมือนกัน คงเพื่อมิให้ผู้ชมคาดเดาตอนจบได้แน่นอน
– นิยาย พ.ศ. ๒๔๗๔ บังเอิญถูกมีดของขวัญที่ถืออยู่แทงสวนคอ
– ภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๘๓ ขวัญแทงด้วยมีดจนเสียชีวิต
– ภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๙๘ อธิษฐานว่าจะขอตายที่ศาลแห่งนี้พร้อมขวัญ
– ภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ฆ่าตัวตายตาม
– ฉบับหม่อมน้อย… ใครรู้ก็บอกผมทีนะครับ

นวนิยายแผลเก่า แบ่งออกเป็น ๖ บท มุ่งเน้นเล่าเรื่องในมุมมองของขวัญ-เรียม ประกอบด้วย
– บทที่ ๑ ลูกศัตรู
– บทที่ ๒ คู่สาบาน
– บทที่ ๓ อ้ายขวัญฝากลาย
– บทที่ ๔ สายน้ำเก่า
– บทที่ ๕ เจ้าพ่อบันดาล
– บทที่ ๖ อวสารอ้ายลูกทุ่ง

ขณะที่ภาพยนตร์ไม่ต้องแบ่งเยอะขนาดนั้น แค่สามองก์ก็เพียงพอ
– องก์ ๑ ขวัญ-เรียม ณ บางกะปิ
– องก์ ๒ เมื่อต้องพลัดพรากจาก ขวัญ ณ บางกะปิ, เรียม ณ บางกอก
– องก์ ๓ หวนกลับมาพบเจออีกครั้ง

สำหรับเพลงประกอบ ถือว่าแทบครบทุกองค์ประกอบพื้นบ้านไทย ลิเก ลำตัด ด้น เพลงเหย่ย เพลงฉ่อย นอกจากนี้ยังมีดนตรีบรรเลง (Soundtrack) และเพลงไทยสากล เข้าร่วมผสมลงโรงอีกด้วย

ขอเริ่มที่ดนตรีบรรเลงก่อนแล้วกัน ประกอบโดยเสรี หวังในธรรม (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง – การละคร) ใช้บริการวงดุริยางค์ กรมศิลปากร, หลายทำนองเพลงน่าคุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี ด้วยลีลาเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ เค้นเอาอารมณ์ความรู้สึกของฉากนั้นออกมา อาทิ
– ฉากแข่งขี่ควาย ใช้ระนาดเพลงม้าย่าง มีความสนุกสนานครึกครื้นเป็นพิเศษ
– ตอนเรียมถูกล่ามโซ่ โหมโรงด้วยซอด้วง โหยหวนรวดร้าวทุกข์ทรมานบาดใจ
ฯลฯ

บทเพลงพื้นเมืองที่ตัวละครขับร้อง-เล่น-เต้น สังเกตว่ามักมีการใช้คำสองแง่สองง่าม หนุ่มสาวเกี้ยวพาราสี เน้นสนุกสนานผ่อนคลายความตึงเครียด เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นของภาคกลาง อาทิ เพลงนางหงส์

ขวัญ: แม่นางหงส์เอย ปีกอ่อนร่อนลง เข้าในดงหายเงียบ
รอด: (รับ) หายเงียบ-หายเงียบ-หายเงียบ
ขวัญ: เจ๊กนายลอยน้ำมา ไม่ได้นุ่งผ้าชฎาแหลมเปี๊ยบ
รอด: แหลมเปี๊ยบ-แหลมเปี๊ยบ-แหลมเปี๊ยบ

เพลงพวงมาลัย (นิยมร้องเล่นแถบอ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี กาญจนบุรี) ขวัญขับร้องเกี้ยวพาราสีเรียม

เอ่อระเหยลอยไป พี่ไม่รักใครรักแกนี่แหละ รักน้องตั้งแต่เป็นเด็ก ตัวเล็กๆ เดินขาเตาะแตะ หญิงอื่นพี่ไม่สนใจ รักแต่ทรามวัยแม่พวงอีแปะ รักพี่จะมีความสุข ไม่มีความทุข์ เงินทองเยอะแยะ… พวงเจ้าเอ๋ยถั่วแระ รักน้องจึงแวะมาหาเอย

เพลงฉ่อยก็เป็นอีกบทเพลงแสดงให้เห็นอุปนิสัยของขวัญได้เป็นอย่างดี

โอ่ อง โอย โอ่ง โอง โอย…
ก็จะพิศโฉมประโลมพักตร์ มองไหนน่ารักน่าใคร่ ก็ตะโพกของน้อง ข้างละวา หว่านถั่วหว่านงาข้างละไร่ ตะโพกข้างซ้ายเอาหว่านแตงกวา ตะโพกข้างขวาเอาหว่านแตงไทย ก็ไอ้ที่ตรงกลางว่างหรือเตียน เอาไว้สร้างสังเวียนชนไก้ …
เอกา เอกา ชา ชะ ชา หน่อยแน่…

ขณะที่เพลงเอกที่ขวัญมักร้องประจำ คือแนวลิเก

ฉันไปถามแถมริมคลอง เขาว่าตะเภาทองคาบชาละวัน…
เขาว่าเจ้าชาละวันคาบตะเภาทอง
ฉันไปถามแถวริมคลอง
เขาว่าตะเภาทองคาบชาละวัน
ขอโทษโปรดทราบ นี่ใครมันคาบใครกัน
ตะเหร่ง เต่ง เต้ง เตง เต่ง เต้ง เตง เตง

พรานบูรพ์ ชื่อจริง จวงจันทร์ จันทรคณา (พ.ศ. ๒๔๔๔ – ๒๕๑๙) นักแต่งเพลงชาวไทย ผู้ปฏิรูปรูปแบบเพลงไทยประกอบละครร้อง จากท่วงทำนองเพลงไทยเดิมเป็นเพียงลูกเอื้อนให้มีลักษณะสากลยิ่งขึ้น จนถือได้ว่าคือ ‘ผู้ริเริ่มเพลงไทยสากล’ แพร่หลายในระดับยอดนิยมตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ในฐานะผู้กำกับแผลเก่าฉบับแรก ได้ประพันธ์ ๓ บทเพลงอมตะ ขวัญของเรียม** ได้รับความนิยมสูงสุด, สั่งเรียม, และเคียงเรียม

ทั้งสามบทเพลงจะมีเนื้อร้องที่สอดคล้องกับช่วงเหตุการณ์ขณะนั้น อาทิ ขวัญของเรียม ใจความหวนระลึกคนรักเก่าเมื่อครั้งยังอยู่ทุ่งบางกะปิ (ร้อยเรียงภาพความทรงจำ) ดังขึ้นหลังกลับจากบางกะปิมาหลับนอนที่บ้านบางกอก ต้นฉบับขับร้องโดยส่งศรี จันทรประภา, ในหนังขับร้องโดยผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายา ราชีนีลูกทุ่งไทย

สำหรับบทเพลงใหม่ที่กลายเป็นตำนาน แสนแสบ ประพันธ์คำร้องโดยชาลี อินทรวิจิตร, ทำนองโดยสมาน กาญจนะผลิน, ต้นฉบับขับร้องโดยชรินทร์ นันทนาคร บันทึกแผ่นเสียง พ.ศ. ๒๕๐๓, ใช้ในหนังขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร

เกร็ด: ชรินทร์ นันทนากร ยืนยันว่าผู้แต่ง ชาลี อินทรวิจิตร ประพันธ์เพลงนี้ขึ้นโดยได้แนวคิดจากนวนิยายแผลเก่าเลยแหละ

แสนแสบเป็นบทเพลงพรรณาความรู้สึกของขวัญ หลังจากรับรู้การจากไปของเรียม ทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวระทมใจ ด้วยการเปรียบเปรียบธรรมชาติแวดล้อมกับจิตใจของมนุษย์ โดยเฉพาะชื่อคลองแสนแสบ สถานที่เคยเป็นรังรักเหือดแห้งลงทันที จิตใจถูกทำร้ายบาดลึกปวดแสบปวดร้อนแสนทุกข์ทรมาน

ส่วนตัวชื่นชอบฉบับในหนัง ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร มากกว่านิดหน่อย เพราะรู้สึกว่าน้ำเสียงมีความแหบแห้งกว่าชรินทร์ บีบน้ำตาความรู้สึกได้รวดร้าวทุกข์ทรมานใจยิ่งกว่า

ส่วนใหญ่ของบทความนี้ อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ แผลเก่า : จากนวนิยายสู่ภาพยนตร์ ของ รังสิมา กุลพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙
reference: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/48021

แผลเก่า นอกจากความหมายรูปธรรมของการได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย ยังสื่อถึงนามธรรม คำเรียกแทนถึงอดีตคนรัก ปัจจุบันเลิกร้างรา เคยสร้างความรวดร้าวทุกข์ทรมานทางใจแสนสาหัส จนมิอาจลบเลือนลางจางหายไปได้

ความรักระหว่างขวัญ-เรียม เริ่มต้นด้วยอคติขัดแย้ง เหมือนสองปลากัดถูกจับให้อยู่ร่วมในโถขวดแก้ว แต่เมื่อสายัณห์ตะวันเคลื่อนใกล้ตกดิน จิตใจพวกเขาก็เริ่มคล้อยเข้าหากัน ท่ามกลางดงดอกบัว ความรักกำลังลอยคออย่างเบิกบาน คำสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์มั่นคงจริงใจ ไม่เพียงชาตินี้แต่ตราบชั่วนิจนิรันดร์

สิ่งที่ทำให้หนุ่ม-สาว ต้องพลัดพรากแยกจาก ไม่ใช่แค่เรื่องของโชคชะตาเท่านั้น แต่คือทัศนคติค่านิยมผิดๆทางสังคม ประกอบด้วย
– บิดาคือช้างเท้าหน้าของครอบครัว เป็นเจ้าของภรรยาและลูก สามารถใช้กำลังรุนแรง ล่ามโซ่ตรวนเหมือนสัตว์ และซื้อขายแลกเปลี่ยนดั่งทาส
– คนจน ยกมือไว้นับถือคนรวย/นักเลงหัวไม้/คนชั่วปกครองบ้านเมือง
– ชาวชนบท เคารพยกย่องบูชา ชาวเมือง(บางกอก) มีหน้ามีตา แต่งตัวเลิศหรูหรา รสนิยมชั้นสูง พูดจาภาษาผู้ดี ฯ

รวมๆแล้วทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความแตกต่างทางชนชั้น แม้ไม่มีใครกำหนดขีดเส้นไว้ แต่คือภาพลักษณ์ภายนอกที่แค่มองเห็นก็สามารถแยกแยะได้ ทั้งๆสิ่งอยู่ภายในจิตใจ ดีงาม-เลวทราม เป็นเช่นไรไม่รู้ แค่สวมเสื้อผ้าโก้หรู ขี่รถสป็อต สวมสร้อยเครื่องประดับ อวดร่ำรวยเงินทอง สองมือก็มักอยู่สงบนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องยกขึ้นมาบรรจบพนมยกเหนือศีรษะ ก็ไม่รู้เหมือนกันคนพวกนี้คือพระสงฆ์หรือยังไง วันทาไหว้แบบไม่ดูวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ ปัญญาวุฒิเลยสักนิด

ความแตกต่างดังกล่าวถือเป็นพื้นฐาน/วิวัฒนาการทางสังคม เมื่อโลกพัฒนาเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างความแบ่งแยกให้บังเกิดขึ้น อดีตกระโน้นมีแค่ชาวเมือง-ชนบท หลายทศวรรษผ่านมาเพิ่มเป็น ชนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ ปัจจุบันถ้านั่งนับคงเกินสิบระดับแล้วกระมัง (คร่าวๆก็อย่าง NEET-ขอทาน-กรรมกรแรงงาน-พ่อค้า-ข้าราชการ-พนักงานบริษัท-หัวหน้างาน-ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้น-เจ้าของกิจการ-พระสงฆ์-ราชวงศ์-กษัตริย์)

สิ่งสำคัญที่สุดนั้น ใครๆย่อมสามารถบ่งบอกได้ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกกาย แต่คือคุณความดีงามหลบซ่อนภายในจิตใจ, ระหว่างพ่อกับหญิงคนรัก ชัดเจนอยู่แล้วว่าใครมีบุญคุณต่อเรามากกว่า ระลึกเข้าใจแสดงออกย่อมประสบพบโชคในชีวิต หักห้ามปรามกิเลสตัณหาต้องการมิได้ โศกนาฎกรรมแห่งความเห็นแก่ตัวจึงมีแนวโน้มบังเกิดขึ้น

ต้นฉบับของนวนิยาย โศกนาฎกรรมของหนุ่ม-สาว เกิดจากอุบัติเหตุอารมณ์รุนแรงชั่วขณะหนึ่ง, แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ความตายของขวัญเกิดจากตัณหาราคะ หมกมุ่นในรัก/กาม มืดบอดในการตัดสินใจ ขณะที่เรียมลงเอยแบบ Juliet ฆ่าตัวตายสังเวยรักแท้นิรันดร์

ครูเชิดสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยเป้าหมายเพื่อเสี้ยมสั่งสอนคนไทยยุคสมัยนั้น แม้ประเทศจะไม่ได้เป็นแบบทุ่งบางกะปิอีกต่อไปแล้วแต่ถือว่ามีความร่วมสมัย เพราะจิตใจของชาวเรายังคงอ่อนด้อยบริสุทธิ์ไร้เดียงสาอยู่นัก หลงงมงายแปรเปลี่ยนกับวัตถุสิ่งของภายนอกทุนนิยมโดยง่าย จนหลงลืมคุณค่าความงามแท้จริงภายในจิตใจคน อย่าให้ต่อไปกลายเป็นแบบสหรัฐอเมริกา ครอบครัวพ่อ/แม่ สูงอายุถูกทิ้งขว้างไว้เบื้องหลัง ลูกหลานเหลนโหลนพอปีกกล้าขาแข็งออกจากบ้านไม่เคยคิดหวนกลับคืน(ส่งแต่เงิน) นั่นคือโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความหมกมุ่น เพ้อฝัน กิเลสจักทำให้เรามืดบอดในการครุ่นคิดตัดสินใจ สักวันหนึ่งโศกนาฎกรรมย่อมมีแนวโน้มต้องบังเกิดขึ้น

เพราะความที่ไม่ใช่แนวตลาด แถมไม่มีสายหนังไหนติดต่อขอซื้อ แต่เมื่อออกฉายพร้อมหกโรงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ กระแสตอบรับดีเยี่ยมล้นหลาม สามารถยืนโรงฉายต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน ทุบสถิติวัยอลวน (พ.ศ. ๒๕๑๙) ทำรายได้ ๘ ล้านเหรียญ ทำเงินรวมแล้ว ๑๓.๑ ล้านบาท (ราคาตั๋วอยู่ประมาณ ๑๕-๓๐ บาท) ถือเป็นสถิติสูงสุดไม่เคยมีหนังไทย-เทศเรื่องไหนไปถึงมาก่อน

คว้า ๓ รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๑๒ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๒
– บทประพันธ์ยอดเยี่ยม (ไม้ เมืองเดิม)
– ออกแบบเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยม
– พากย์ชายยอดเยี่ยม (รอง เค้ามูลคดี พากย์เสียงสรพงศ์ ชาตรี)

ไม่มีใครเรียกแต่ผมขอตั้งให้ ‘ไตรภาค โศกนาฎกรรมความรักพื้นบ้านชนบทไทย’ (Trilogy of Thais-Rural-Tragedy) สามผลงานชิ้นเอกของ เชิด ทรงศรี นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี เพราะแทบจะคลอดคลานตามกันมา สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายรสชาดคล้ายคลึงยิ่งนัก ประกอบด้วย
– แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐)
– เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖)
– พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐) ** เรื่องนี้อาจจะผิดแผกจากสองเรื่องก่อนหน้าสักหน่อย แต่ผมมองว่าหลายๆอย่างก็คล้ายคลึงกันอยู่นะ

ข้อสังเกตความละม้ายคล้ายคลึง ที่ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ลายเซ็นต์ของ เชิด ทรงศรี
– (สรพงษ์ ชาตรี) พระเอกหน้าม่อ สนแต่จะลวงล่อนางเอก กอดจูบลูบไล้พูดคำหวานครื้นเครง และชอบสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฟ้าดิน
– แซว: ก็ไอ้เพราะคำสาบานเนี่ยแหละ ไม่เห็นรักษากันไว้ได้สักครา เลยเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมขึ้นทันตา
– เริ่มจากบ้านนอกคอกนา เกิดเหตุการณ์บางอย่างให้ต้องเข้าไปอยู่ในเมือง พบเจอความแตกต่างสองสังคมสุดขั้ว และมักเป็นหญิงสาวจิตใจเปลี่ยนแปลงไป
– ต้องมีการร้องรำทำเพลงเกี้ยวพา ทำอาชีพ (สองเรื่องแรกเป็นเกี่ยวข้าวทำนา เรื่องสุดท้ายประมงหาปลา) เชิดชูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านความเป็นไทย
– และแฝงข้อคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม ชนบทบ้านคอกนา ย่อมดีกว่า เศรษฐีคนรวยสังคมเมืองทุนนิยม

สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงรักภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ คือไดเรคชั่นของครูเชิด ทรงศรี ถึงจะเห็นแค่เค้าลางเพียง ๕๐% ของอรรถรสที่ควรเป็น แต่ก็สัมผัสได้ถึงความตั้งใจอันงดงามเลอค่า กลิ่นไอดิน เสียงขลุ่ยแว่ว และสีหน้าของสรพงศ์ ชาตรี วินาทีรับรู้ความจริงมันช่างตราตรึงเสียกระไร

สำหรับฉบับบูรณะบอกเลยว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง คงเพราะไม่มีผู้สร้าง (ผู้กำกับ/ตากล้อง) หลงเหลือคอยให้คำชี้แนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเข้มแสงสี ความสว่างของหนัง ฯ ผลลัพท์มันเลยออกมา บางครั้งทำลายนัยยะความหมายจริงๆของฉากนั้นไป นี่ผมเองก็เพิ่งเคยพบเห็นบูรณะแล้วได้คุณภาพห่วยลงก็ครานี้ (คือมันก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกนะ เป็นการแสดงทัศนะให้รู้ถึงอารมณ์ไว้ก่อน)

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ใช่ข้อคิดของหนังที่อยากจะฝากไว้ แต่คือคุณค่า ‘ความเป็นไทย’ ในวิถีชนบทที่ได้ลบเลือนลางจางหายไปแทบหมดสิ้นแล้ว ภาพบันทึกประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษชาติเราเมื่อหลายทศวรรษ/ศตวรรษก่อน ให้เกิดความภาคภูมิใจ ดำเนินชีวิตปัจจุบันก็อย่างหลงลืมรากเหง้าของตนเอง

แนะนำคอหนังไทยคลาสสิก รักโรแมนติก โศกนาฎกรรม Romeo & Juliet, เคยอ่าน/ชื่นชอบนวนิยายของไม้ เมืองเดิม, สนใจในประวัติศาสตร์ชาติไทยเมื่อครั้งเก่าก่อน, แฟนๆผู้กำกับเชิด ทรงศรี และนักแสดงนำสรพงศ์ ชาตรี, นันทนา เงากระจ่าง, ส. อาสนจินดา ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG กับความเป็นนักเลงหัวไม้ ฆ่าคนตาย และโศกนาฎกรรม

TAGLINE | “แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) ที่ไม่มีวันจางหายของ เชิด ทรงศรี ทำให้ สรพงศ์ ชาตรี ครองรักกับ นันทนา เงากระจ่าง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: