แผ่นดินของเรา (พ.ศ.๒๕๑๙) : ส.อาสนจินดา, แสนยากร ♥♥♥♥
จากบทประพันธ์ของแม่อนงค์ (มาลัย ชูพินิจ) [ชั่วฟ้าดินสลาย] กำกับโดย ส.อาสนจินดา และแสนยากร นำแสดงโดยเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ (ภาพยนตร์เรื่องแรก และได้รับรางวัลตุ๊กตาเงินดาวรุ่งหญิง), สมบัติ เมทะนี, นัยนา ชีวานันท์, ช่อเพชร ชัยเนตร และนิรุตต์ ศิริจรรยา, นี่เป็นหนังรักโรแมนติกสามเส้า แฝงข้อคิดอันลึกซึ้ง สะท้อนชีวิต การตัดสินใจ และกฎแห่งกรรม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ถึงชื่อ ‘แผ่นดินของเรา’ จะไม่ค่อยตรงกับเรื่องราวในหนังเสียเท่าไหร่ เพราะคนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมเอง) คิดว่าคงเป็นหนังประมาณ สำนึกรักบ้านเกิด, ต่อสู้ ปกป้องถิ่นที่ดินทำกิน ฯ แต่ดันเป็นหนังแนวรักโรแมนติกสามเส้า ที่สอนข้อคิดเรื่องการมีชีวิต แล้วตอนจบนางเอกกลับมาตายรัง บ้านเก่า ที่แผ่นดินของเราก็เหมือนจะเท่านั้น
แต่ชื่อหนังนี้ มีนัยยะมากกว่าแค่เรื่องราวของหนังนะครับ ซึ่งสิ่งที่ผมได้ค้นพบ ต้องบอกเลยว่าทำให้ขนลุกซู่ ถ้าคุณไม่ได้เกิดทันยุคสมัยนั้น อาจจะไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้มีความสำคัญต่อชาติไทยยังไง อ่านบทความนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะพบคำตอบเองนะครับ
จากประพันธ์ของครูมาลัย ชูพินิจ เป็นหนึ่งในนวนิยายที่ได้รับการยกย่องว่า ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย เริ่มต้นเขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖
ภัคคินี หญิงสาวแสนสวย บุตราสาวคนเล็กของพระวรนาตประณต ครอบครัวผู้ดี ที่เกิดหลงรัก ธำรง เพื่อนพ่อเจ้าของไร่แห่งทุ่งวัวแล่น แต่เมื่อแต่งงานกันแล้วชีวิตเธอกลับจืดชืดไร้ความตื่นเต้นดังหวัง จนกระทั่งได้พบกับนเรนทร์ คู่หมั้นสุดหล่อของพี่สาว ที่เพิ่งกลับเมืองไทยและตามมาถึงชนบท ทั้งคู่พบรักกันอย่างลับๆ ก่อนจะหนีไปด้วยกัน ในเช้าวันงานแต่งระหว่างพี่สาวเธอกับนเรนทร์
แผ่นดินของเรา รับการดัดแปลงทั้งหมด 3 ครั้ง
– พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นภาพยนตร์ กำกับโดย ส.อาสนจินดา และ แสนยากร นำแสดงโดย เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เป็นภัคคินี, สมบัติ เมทะนี เป็นธำรง และนิรุตต์ ศิริจรรยา เป็นนเรนทร์
– พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นละครโทรทัศน์ ช่อง ๕ กำกับโดย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย ใหม่ เจริญปุระ เป็นภัคคินี, ยุรนันท์ ภมรมนตรี เป็นธำรง และจอนนี่ แอนโฟเน่ เป็นนเรนทร์
– พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นละครเวที เดอะมิวสิคัล กำกับโดยมารุต สาโรวาท นำแสดงโดย ใหม่ เจริญปุระ เป็นภัคคินี, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นธำรง และ ดอม เหตระกูล เป็นนเรนทร์
ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย พร น้ำเพชร, กำกับภาพยนตร์โดย ส. อาสนจินดา ศิลปินแห่งชาติ และ แสนยากร เป็นที่ปรึกษาทางภาพยนตร์ (แต่มักจะได้รับเครดิตในฐานะผู้กำกับร่วม)
หมายเหตุ: ผมไม่แน่ใจ นามปากกา แสนยากร นั่นจะคือผู้อำนวยการสร้าง จีรวรรณ กัมปนาทแสนยากร เจ้าของสตูดิโอ จีรบันเทิงฟิล์ม หรือเปล่า ใครรู้รายละเอียดแจ้งมาได้เลยนะครับ
นำแสดงโดยเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เข้าสู่วงการด้วยการประกวดมิสออด๊าซ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ขณะมีอายุเพียง ๑๗ ปี ได้รับตำแหน่งขวัญใจช่างภาพและสื่อมวลชน และเป็นรองมิสออด๊าซอันดับ ๒ (ผู้ชนะคือ เรวดี ปัตตะพงษ์ และรองอันดับ ๑ คือมลิวัลย์ บุญสิงห์) หนังเรื่องแผ่นดินของเรา ถือเป็นผลงานแจ้งเกิดของคุณจิ๊กเลยนะครับ รับบทภัคคินี ไฝ่เสน่ห์ กับฟันกระต่ายคู่หน้าของเธอ ขโมยซีนหนังไปเต็มๆ เห็นเป็นรู้ว่านิสัยจอมแก่นแก้ว ซุกซน ทะเล้น ตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ทำอะไรสนองใจอยาก ไม่สนถูกผิด, ไฮไลท์การแสดงของเธอ คือช่วงขณะรู้ตัวสำนึกผิด ประมาณ ๒๐ นาทีสุดท้าย ที่อาจทำให้คุณร้องไห้เสียน้ำตา เพราะจากหญิงสาวที่ยิ้มหวาน (ตลอดทั้งเรื่อง) กลับต้องมาทนทุกข์ทรมาน เหนื่อยยากลำบาก ราวกับตกนรกทั้งเป็น
การแสดงเรื่องแรกนี้ของคุณจิ๊ก ทำให้ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงินดาราดาวรุ่งยอดเยื่ยม จากนั้นก็มีผลงานการแสดงเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมายนับร้อยเรื่อง จนสามารถคว้ารางวัล ตุ๊กตาทองดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม จากการรับบทนางเอกเรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก (พ.ศ.๒๕๒๔) แสดงคู่กับพระเอกคู่ขวัญ สรพงษ์ ชาตรี โดยมี หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล เป็นผู้กำกับ
ความน่ารักน่าชังของคุณจิ๊กสมัยนั้น ทำให้ใครๆที่ดูหนังเรื่องนี้คงอยาก ‘ให้อภัยเธอ’ เสมอ แต่ถ้าใครได้รู้จัก ติดตามตัวจริงของเธอ จะพบว่า … บางอย่างก็ไม่น่าให้อภัยเท่าไหร่นะครับ (ผู้หญิงเสื้อแดง ที่อ้างว่าไม่รู้ ไร้เดียงสา)
สมบัติ เมทะนี นักแสดงที่รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลก (๖๑๗ เรื่อง), รับบทเป็น ธำรง หนุ่มใหญ่ชาวสะพลี จังหวัดชุมพร เป็นเจ้าของที่ดิน ปลูกไร่ทำสวน รู้จักกับพระวรนาถประณต พ่อของภัคคินี ที่มาเซอร์ไพรส์พักร้อนพร้อมกับลูกๆที่บ้านของเขา, ภาพของธำรง ในสายตาของภัคคินี คือคาวบอยหนุ่ม (เราจะได้ยินเสียงบี้กีตาร์เพลง Oh Susanna ไปด้วย) ซึ่งทำให้เธอรู้สึกคึกคัก เหมือนได้พบกับดาราหนังดัง เกิดความหลงใหล ใช้เสน่ห์อันยั่วยวนเย้า จนได้เขามาครอบครอง
ในมุมของคนทั่วไป ธำรงคงเหมือน วัวแก่กินหญ้าอ่อน แต่งงานกับหญิงสาววัยแรกรุ่น, แต่กับคนที่รู้จักนายคนนี้ดี คงรู้ว่าไม่ใช่แบบนั้นแน่ อย่างยายเพทาย (รับบทโดย มารศรี ณ บางช้าง) ที่รู้จักธำรงเป็นอย่างดี สงสัยและคิดว่าอาจเป็นเพราะลีลารักบนเตียงของภัคคินี ที่สามารถเอาชนะใจหนุ่มโบราณรุ่นดึกอย่างธำรงได้ (ก็เลยอยากรู้ว่ามีดีอะไร)
แต่การได้แต่งงานกับคนรุ่นใหญ่ มันจะมีความน่าเบื่อหนึ่ง คือชีวิตรักขาดความคึกคักตื่นเต้น (แต่มันก็มีความมั่นคง ยืนยาว ปลอดภัย) นั่นทำให้เมื่อภัคคินีได้พบกับนเรนทร์ (รับบทโดย นิรุตต์ ศิริจรรยา) หนุ่มหล่อนักเรียนนอก เสือสมิงที่มีลวดลายลีลา ยั่วยวนเย้าเร้าใจ ว่าไปเสือสมิงกับนางพราย ก็เข้ากันดีนักแล
เห็นปู่นิรุตต์ ตอนหนุ่มๆแล้ว หล่อกระชากใจเสียจริง ด้วยลีลาคำพูดเหมือนหนุ่มนอกจบใหม่ (ตัวจริงก็เรียนจบนอกมานะครับ) ภาพจินตนาการของภัคคินี คือหนุ่มอาหรับสุดหล่อ (สงสัยติดภาพมาจาก Lawrence of Arabia) พบเจอกันครั้งแรกแม้จะไม่ประทับใจในความกระร่อนปลิ้นปล้อน แต่เมื่อเห็นเขาพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการช่วยชีวิตเธอจากงูกัด และกลืนเลือดของเธอ นี่เป็นการกระทำที่แทงทะลุหัวใจ ชีวิตฉันต้องการตื่นเต้นๆแบบนี้ จึงเริ่มตกหลุมรัก และสุดท้ายยอมตามติด คิดจะไปไหนก็ไป ลงนรกก็ยอม
ถ่ายภาพโดย สมาน ทองทรัพย์สิน ที่มีลีลาการถ่ายภาพน่าสนเท่ห์อย่างยิ่ง, กับเทคนิค ซูมออก-แพนกล้อง-แล้วซูมเข้า นี่ไม่ใช่เทคนิคแปลกใหม่อะไร เป็นที่นิยมกันในหนัง Hollywood ยุค 60s แต่ต้องบอกว่า หนังทำออกมามีความลื่นไหลลงตัวมาก
กับช็อตที่ผมชอบที่สุด กล้องซูมออกมาจากม้า ๒ ตัว (กำลังจู๋จี๋กัน) –> แพนกล้องผ่านต้นไม้ –> ซูมเข้าภัคคินีพลอดรักกับธำรง, นี่อาจไม่ใช่ช็อตที่สวยอะไร แต่มีความน่าสนเท่ห์อย่างยิ่ง [ช็อตนี้ ทำนองเพลงแผ่นดินของเรา ดังขึ้นด้วย]
อีกหนึ่งฉากซูมเข้า ที่หลายคนคงจดจำได้ คือซูมเข้าหากางเกงขาสั้นจุ๊ดจู๋ของภัคคินี โชว์ความเซ็กซี่ของบั้นท้าย (ขณะรถเสีย) นี่เป็นฉากที่ผมหัวเราะอมยิ้ม เพราะมันแสดงถึงภาพที่นเรนทร์ … ผู้ชายทั่วๆไปชอบมองกัน มีผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่ยั่วยวน ไม่มองแบบนี้ก็แปลกแล้ว
ลำดับภาพโดย ส.อาสนจินดา, ผมค่อนข้างชอบ การตัดต่อฉากไล่ล่าหมูป่า ตอนที่มันจ้องหน้าพบกับภัคคินี มีการตัดสลับระหว่างทั้งสอง เป็นภาษาภาพยนตร์ บอกให้เรารู้เลยว่า หมูป่ามันต้องวิ่งไล่ขวิดหญิงสาวแน่ๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ พอเธอออกวิ่ง หมูป่าก็วิ่งตาม (จริงๆถ้าฉากนี้ มีช็อตที่ภัคคินีกับหมูป่า วิ่งอยู่ในภาพเดียวกันจะเยี่ยมมากๆ แต่สมัยนั้นคงทำไม่ได้หรอก เป็น Montage ตัดสลับแค่นี้ก็ถือว่าเข้าใจ ใช้ได้แล้ว)
ผมแบ่งหนังออกเป็น ๓ องก์ ซึ่งจะใช้มุมมองการเล่าเรื่องที่ต่างกัน
๑) ช่วงแรก มุมมองของภัคคินี ที่ได้พบกับ ธำรง เกี้ยวพาราสีจนได้แต่งงานกัน
๒) ช่วงกลาง มุมมองของนเรศน์ ที่กลับเมืองไทย ได้พบกับภัคคินี เกี้ยวพาราสีจนหนีไปอยู่ด้วยกัน
๓) ช่วงท้าย มุมมองของธำรง ที่ได้พบภัคคินีในสภาพอนาถ รับไม่ได้ แต่ยังชักชวนให้กลับไปบ้าน แผ่นดินของเรา
นี่เป็นอีกเรื่องที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอนุญาต ให้นำเพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นดินของเรา มาใช้ประกอบภาพยนตร์, ตอนต้นเรื่องเมื่อได้ยินเสียงวงดุริยางค์ราชนาวีบรรเลงเพลงนี้ (ควบคุมวงโดย หม่อมหลวงอัศนีย์ ปราโมช) ผมละก็น้ำตาซึม ความรู้สึกเดียวกับเมื่อตอนดู ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐) ถึงคนละเพลง แต่แค่ทำนองที่เราสามารถร้องตามได้ ยังคงซาบซึ้ง ตราตรึง เป็นที่จดจำ ฝังลึกในใจคนไทยไม่ลืมเลือน
แผ่นดินของเรา (Alexandra) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๔ ทรงพระราชนิพนธ์ในวโรกาสที่ เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร (Princess Alexandra of Kent) เสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว ๑๐ นาที พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลงต้อนรับเจ้าหญิงในการมาเยือนครั้งนี้ ทรงประพันธ์ทำนองเพลงภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ทรงส่งโน้ตนั้นให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้องให้แก่ทำนองเพลงนั้นทันที (เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเพลง Alexandra)
ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทย ให้รักและหวงแหนแผ่นดินไทย รักชาติบ้านเมือง ทรงมีพระราชดำริว่า ‘เพลงนี้ (Alexandra) น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้’
การเลือกเพลงนี้ ถือว่าเพื่อตอบรับกับชื่อของหนัง (แต่อาจจะไม่ตรงกับเรื่องราวในหนังเสียเท่าไหร่) นอกจากใช้เป็นเพลงเปิดเรื่องแล้ว ยังมีอีกครั้งที่จะได้ยิน คือหลังภัคคินีได้แต่งงานกับธำรง ภาพหนังจะตัดให้เห็นวิถีชีวิตของชาวไร่ ตื่นเช้าเดินแถวเรียงยาวไปทำนา เห็นพระอาทิตย์ทอแสง ทุ่งนาสวยๆ นี่แหละแผ่นดินของเรา
เพลงประกอบอื่นเรียบเรียงโดย ม.ร.ว.ธิติสาร สุริยง ถือว่ามีความหลากหลาย แตกต่างออกไปในแต่ละช่วงหนัง, อย่างองก์แรก ดนตรีเหมือนหนัง Western เน้นเสียงกีตาร์บี้สาย (เปรียบกับภาพของธำรงในจินตนาการของภัคคินี), องก์สอง จะมีความตื่นเต้น เร้าใจ ในลีลาอันเย้ายวนของนเรศน์, ส่วนองก์สุดท้าย ดนตรีจะเศร้าๆ ฟังแล้วเจ็บปวด ทรมาน แสบสะท้าน
สำหรับเพลง เพลงจันทน์กะพ้อร่วง ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีอยู่ในนวนิยายต้นฉบับนั้น มีการแต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน ขับร้องฉบับแรกโดยสวลี ผกาพันธ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ แต่ไม่ได้มีการบันทึกเสียงไว้, ฉบับแรกที่มีการบันทึกเสียงคือ มัณฑนา โมรากุล พ.ศ. ๒๔๙๔
จันทน์กะพ้อร่วง กลายเป็นเพลงประจำตัว แผ่นดินของเรา ที่ไม่ว่าการดัดแปลงฉบับไหนๆ จักต้องมีการนำเพลงนี้มาใช้ประกอบเสมอร่ำไป (ในหนังจะได้ยินตอนจบเลยนะครับ ไม่แน่ใจว่าใครร้อง)
ผมถือว่ามันเป็น ผลแห่งกฎ ของทั้งภัคคินีและนเรศน์ สิ่งที่ทั้งสองกลายเป็นหลังจากชวนกันหนีในวันแต่งงาน แทนที่จะมีความสุขสราญตามที่วาดฝันไว้ ชีวิตกลับค่อยๆตกต่ำ ทุกข์ยากลำบาก จนวันหนึ่งไม่มีข้าวแกงจะกิน ขายแหวนแต่งงาน สุดท้ายต้องขายตัวและเงินกิน, มุมหนึ่งคือน่าเห็นใจ อีกมุมหนึ่งสมน้ำหน้า เพราะทำตัวเอง
แล้วโลกเรานี้ มีอะไรที่ไม่สามารถให้อภัยกันได้หรือเปล่า? คำตอบคือไม่มีนะครับ ต่อให้มีใครฆ่าลูกฆ่าพ่อฆ่าเมีย ข่มขืนมีชู้กับภรรยา ทุกอย่างอยู่ที่จิตใจเรา พระพุทธเจ้าสอนให้อโหสิกรรมได้ทุกอย่าง … สิ่งที่ผมแนะนำอยากให้มองเห็น คือภัคคินีและนเรศน์เป็นวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลอง เป็นมนุษย์ทั่วไปที่ยังมิได้รู้จักผิดชอบชั่วดี ใช้ชีวิตสนองกามตัณหากิเลสของตนเอง มันมีเหตุผลอะไรที่เราไม่ควรให้อภัย ถ้าพวกเขาเลือกที่จะขอโทษ เดินกลับมา หลังได้รู้จักบทเรียนที่เจ็บปวดและสำคัญที่สุดในชีวิต … ถ้า ณ ขณะนั้นไม่มีใครให้โอกาสกับพวกเขา ก็คงรอวันตายกันอย่างเดียว พอถึงตอนนั้นจะมาอโหสิให้กันก็สายไปแล้วนะครับ
ในช่วงยุค พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์ ได้แผ่ขยายอำนาจลงมาจากจีน ปกคลุมประเทศไทยหลายส่วน ผมค่อนข้างเชื่อว่า ส. อาสนจินดา สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมีจุดประสงค์อยากให้คนไทยกลับมารักกัน มีนัยยะแฝงถึง ต่อให้คุณหลงผิดไปคิดรักกับคนอื่น (เข้ากับฝั่งคอมมิวนิสต์) แล้วถูกทรยศหักหลัง ก็ขอให้กลับมาแผ่นดินบ้านเกิด พวกเราไม่ทอดทิ้งคุณหรอก แบบเดียวกับที่ ธำรง สามารถให้อภัย ภัคคินีในตอนจบได้
เช่นกับกับเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในทศวรรษนั้นของไทย พระองค์เองก็ได้รับความลำบากทั้งกายใจ เพราะมีประชาชนของพระองค์มากมายที่หลงไปเข้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แล้วต้องการล้มล้างระบบกษัตริย์, บทเพลงพระราชนิพนธ์ นอกจาก แผ่นดินของเรา ยังมี เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย (เพลงนี้ นำทำนองมาจากเพลงไกลกังวล พระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วมาแต่งทำนองใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔), ความฝันอันสูงสุด (พ.ศ. ๒๕๑๔), เราสู้ (พ.ศ. ๒๕๑๖), เรา-เหล่าราบ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ที่แต่งขึ้นในทศวรรษนี้ มีลักษณะเป็นเพลงการเมือง ต่อสู้ทางอุดมการณ์ (ของคอมมิวนิสต์)
เกร็ด: บทเพลงแผ่นดินของเรา, เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย, ความฝันอันสูงสุด และ เรา-เหล่าราบ ๒๑ มีความเป็นมาเหมือนกัน คือเกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้ประพันธ์คำร้องขึ้น และผู้ที่รับหน้าที่นี้ ๓ ใน ๔ คือท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ยกเว้น เรา-เหล่าราบ ๒๑ ประพันธ์คำร้องโดย ร.ต.ท.วัลลภ จันทร์แสงศรี
เกร็ด ๒: สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงมีความใกล้ชิดกับทหารหน่วยหนึ่งเป็นการส่วนพระองค์พิเศษ นั่นคือ ราบ ๒๑ เป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้นว่า ‘ทหารเสือราชินี’
reference: http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.html
บ้านหลังสำคัญที่สุดของชีวิต ก็คือแผ่นดินของเรานี้ แต่ถ้าครั้งหนึ่งเคยมีคนคิดคด ทรยศต่อบ้านเกิดของตนเอง คงไม่มีใครกล้าหน้าด้านมากพอที่จะยอมกลับไป แม้รู้ว่าตัวเองผิดเต็มประตู แต่ก็บากหน้าไปขอให้คนอื่นอภัยไม่ได้, แต่เมืองไทย น่าจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่สมัยนั้นมีการกฎหมายนิรโทษกรรม คำสั่งที่ ๖๖/๒๕๒๓ กับคนไทยที่หลงเข้าป่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ให้สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ถือว่าความผิด นี่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ล่มสลายจบสิ้นลง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙, สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พร้อมกับ สมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้เสร็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย
ตอนดูหนังเรื่องนี้ ครึ่งแรกบอกเลยว่าไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ มันเหมือนหนังรักโรแมนติกเชยๆ ที่ตกยุคไปแล้ว แต่พอนเรนทร์ เริ้มเกี้ยวพาราสีภัคคินี ผมก็เริ่มคิด มันคงสนุกไม่น้องถ้าทั้งสองกลายเป็นชู้กัน… ไม่นานนับ เห้ย! ที่คิดไว้กลับเกิดขึ้นจริง ตอนที่ทั้งคู่ชักชวนกันหนีไป ผมก็เริ่มเกิดความใคร่สนใจ ชื่นชอบหนังขึ้นมาทันที
โดดเด่นมากๆคือการแสดงของคุณจิ๊ก เนาวรัตน์ ที่ผมเชื่อว่า อาจเป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอเลย ใครเป็นแฟนๆของป้าก็รีบหามาดูเสียละ และบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งนำมาจากนิยายของ ครูมาลัย ถ้าคุณชื่นชอบ ชั่วฟ้าดินสลาย ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพลาด แผ่นดินของเรา
สำหรับคุณภาพของหนังเรื่องนี้ ต้องบอกว่าคาดไม่ถึงทีเดียว ส.อาสนจินดา สามารถถ่ายทอดเรื่องราว ด้วยเทคนิคการนำเสนอที่มีลีลาค่อนข้างโดดเด่น จนทำให้ผมรู้สึกทึ่ง ประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะไม่คิดว่าจะมีหนังไทยคุณภาพระดับนี้ในกลุ่ม ‘หนังไทยคลาสสิก’ อยู่ด้วย สมควรอย่างยิ่งที่จักได้รับการยกย่องอย่างน้อยเป็น มรดกของชาติ (แต่ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๙ หนังเรื่องนี้ยังไม่ได้กลายเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเลยนะครับ)
แนะนำกับผู้ชมอายุ ๑๓+ เพราะมีเรื่องราวของชู้รัก และความรุนแรง
Leave a Reply