แม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๐๒)
: รังสี ทัศนพยัคฆ์ ♥♥
ครั้งที่ ๕ ของการดัดแปลงสร้างตำนานแม่นาคแห่งพระโขนง โดยอัจฉริยะศิลปินแห่งชาติเสน่ห์ โกมารชุน ที่ได้ทำการผสมผสานเรื่องราวหลากหลายอารมณ์ โรแมนติกหวานน้ำตาลเลี่ยน ตลกโป๊กฮาขำขัน ฉากหลอนสะดุ้งขนลุกซู่ และตอนจบน่าสงสารเห็นใจอย่างสุดๆ นำแสดงโดยสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ ประกบนางเอกอกเขาพระวิหาร ปรียา รุ่งเรือง กลายเป็นตำนานมรดกชาติไทย ทำรายได้เกินกว่า ๑ ล้านบาท
แต่ถ้าคุณไม่ได้มีความหลงรักชื่นชอบหนังไทยคลาสสิกขนาดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนสรรหามารับชมนะครับ ผมมีโอกาสดูแม่นาคพระโขนงฉบับนี้จาก ‘สุดยอดภาพยนตร์ไทยในรัชกาลที่ ๙’ พากย์สดกันที่โรงสกาล่า เป็นบรรยากาศที่เจ๋งเป้งยอดเยี่ยมสุดๆ กระนั้นตัวหนังกลับสร้างความร้าวฉานให้อย่างมาก ทั้งๆที่ครึ่งแรกเริ่มต้นเต็มเปี่ยมด้วยความน่าสนใจ แต่กลับค่อยๆถดถอยหลังลงคลองจนจมมิดลงใต้โคลนตม
อรรถรสหนึ่งที่ผมเพิ่งมีโอกาสได้รับรู้ซื้งระหว่างชมการให้เสียงบรรยายสด คือพี่นักพากย์แกชอบดั้นมุกออเจ้า โล้สำเภา บุพเพสันนิวาส โคตรจะทันสมัยยุคปัจจุบันเลย นี่ทำให้บรรยากาศการรับชมครึกครื้นเครง เรียกเสียงหัวเราะสนุกสนานได้อยู่เรื่อยๆ แต่ละรอบคงได้อารมณ์ไม่เหมือนกันด้วย เจ๋งชะมัด … น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้เลือนหายใกล้สูญพันธุ์ไปหมดเสียแล้ว ถ้ามีโอกาสก็ขอแนะนำเลยนะ (กับเรื่องไหนๆได้ทั้งนั้นแหละ) ลองหารับชมฟังการพากย์สดสักครั้ง แล้วคุณอาจรู้สึกว่าดูหนังสนุกขึ้นกว่าเดิมเป็นกองเลยละ (ทั้งๆที่หนังเรื่องนั้นบรมห่วยก็ตามเถอะ)
แม่นากพระโขนง หรือมักเรียกสั้นๆว่า แม่นาก (โดยมากสะกดด้วย ค.ควาย) เป็นผีตายท้องกลม เชื่อกันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในสมัยรัชกาลที่ ๓ – ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีศาลแม่นากตั้งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ซอยสุขุมวิท ๗๗ (ถนนอ่อนนุช) เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
มีผู้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นากพระโขนงนี้ พบจากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ บทความเขียนโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ของอำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงชื่อขุนศรี ที่เสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ (ไม่ใช่ตอนขณะคลอดลูก) และทางฝ่ายลูกๆ ของอำแดงนากเกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) นายชุ่ม ทศกัณฐ์ (ไม่ได้ชื่อมาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน จึงรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืน หรือทำวิธีต่างๆนานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน พ่อจะได้หวาดกลัวไม่ยอมหาเมียใหม่
“อำแดงนาก เปนบุตรขุนศรี นายอำเภอบ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระจ้าวบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี อำแดงนากมีครรภ์ คลอดบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่ม ทศกรรฐ์สามี นำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุดๆ นี้ พระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เปนผู้สร้างวัดมหาบุด แต่ท่านยังเปนมหาบุดในรัชกาลที่ ๓…”
สำหรับความเชื่อของคนไทยร่วมสมัยตราบจนปัจจุบัน อาทิ
– ชื่อของสี่แยกมหานาค เขตดุสิต มาจากการที่แม่นากอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย
– เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นากได้สำเร็จคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้เจาะกะโหลกที่หน้าผากทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาก และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก
– หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ สมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย มีลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง เสาเรือนสูง ห้องครัวอยู่ด้านหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว
– บ้างก็เชื่อว่าร่างย่านาก ถูกฝังอยู่ระหว่างต้นตะเคียนคู่ภายในศาลวัดมหาบุศย์ โดยมักมีผู้มาบนบานขอในสิ่งที่ตนต้องการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องความรัก (เชื่อว่าจะสมหวังในรักที่แม้ความตายก็พรากไม่ได้)
เรื่องราวของแม่นากพระโขนงได้กลายเป็นบทประพันธ์ครั้งแรกในรูปแบบละครร้อง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในชื่ออีนากพระโขนง ประพันธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แสดงที่โรงละครปรีดาลัย (โรงเรียนตะละภัฏศึกษาในปัจจุบัน) ได้รับความนิยมอย่างมากจนต้องเปิดการแสดงติดต่อกันถึง ๒๔ คืน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อสามีว่า มาก และมีฉากเอื้อมมือเก็บลูกมะนาวใต้ถุนบ้าน กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่ง
สำหรับภาพยนตร์ ก็น่าจะเป็นสถิติหนังไทยมีภาคต่อ ภาคพิสดาร ภาคล้อเลียน อะไรก็ไม่รู้สารพัดสารเพปริมาณมากที่สุด (เฉลี่ยแล้วทศวรรษละ ๓-๔ เรื่อง) แต่ก่อนหน้าแม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๐๒) มีสร้างมาแล้ว ๔ ครั้ง น่าเสียดายฟีล์มสูญหายเสื่อมสภาพหมดสิ้น
– นางนาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๔๗๙) กำกับโดย หม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์
– ลูกนางนาค/ลูกนางนาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๔๙๓)
– นางนาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๔๙๕)
– นางนาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๔๙๘)
หลังจากนี้มีที่น่าสนใจพอจะพูดถึงได้อีก ๔-๕ เรื่อง
– แม่นาคพระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๓) นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, อรัญญา นามวงศ์
– แม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๒๑) กำกับโดย แดง เสนีย์ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ปรียา รุ่งเรือง, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
– นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒)** กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร นำแสดงโดย ทราย เจริญปุระ, วินัย ไกรบุตร
– พี่มาก..พระโขนง (พ.ศ. ๒๕๕๖)** กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล นำแสดงโดย ดาวิกา โฮร์เน่, มาริโอ้ เมาเร่อ
** ครั้งที่สร้างสถิติทำรายรับสูงสุดในประเทศขณะออกฉาย
เสน่ห์ โกมารชุน (พ.ศ. ๒๔๖๖ – พ.ศ. ๒๕๑๔) นักร้อง นักแสดง ตลก(จำอวด) นักแต่งเพลง นักพากย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปินแห่งชาติไทย เกิดที่ย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี หลังเรียนจบมัธยมปลาย สมัครเป็นนักร้องประจำวงของกองดุริยางค์ทหารเรือ เริ่มมีชื่อเสียงจากการร้องเพลงล้อเลียน กลายมาเป็นตลกหน้าเวทีลิเกคณะหอมหวล ตามด้วยออกมาตั้งคณะลิิเกของตนเองชื่อ เสน่ห์ศิลป์ สู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นนักแสดง ตลก(จำอวด) นักพากย์มีชื่อเสียงประจำอยู่ที่ศาลาเฉลิมบุรี และศาลาเฉลิมกรุง
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เกิดความสนใจอยากจะเอาดีทางด้านการสร้างภาพยนตร์บ้าง เลยหยิบเอาเรื่องราวยอดฮิตในอดีต นางนาคพระโขนง ที่เคยสร้างมาแล้วหลายครั้ง แต่ตลอดมาเพราะแม่นาคกลับไม่ค่อยน่ากลัวเหมือนหนังผีสักเท่าไหร่ เลยร่วมมือกับรังสี ทัศนพยัคฆ์ พัฒนาบทขึ้นมาใหม่ให้แหวกแนวแตกต่างจากค่านิยมไทยๆยุคสมัยนั้น
รังสี ทัศนพยัคฆ์ (พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๕๔๖) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่เสาชิงช้า กรุงเทพฯ จบการศึกษามัธยมที่โรงเรียนเบญจมบพิตร เข้าเรียนต่อโรงเรียนนายเรือรุ่น )๗-๘ เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการทำเพลงประกอบหนัง 16mm เรื่อง นิทรา-สายัณห์ (พ.ศ. ๒๔๙๕), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ทาสรัก (พ.ศ. ๒๕๐๒), ตามด้วย แม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๐๒), โด่งดังสุดคงคือ มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓)
ครูรังสี ถือเป็นบรมครูแห่งเทคนิคการ ‘เจาะถ่าย’ แบ่งหนังออกเป็นส่วนๆฉากๆ แล้วถ่ายทำเฉพาะคิวของนักแสดงคนนั้นๆให้เสร็จสิ้นลงไปก่อน (สมัยก่อนเวลาถ่ายทำมักจะไล่เรียงทีละฉากไปเรื่อยๆ นักแสดงบางคนมีฉากแรกกับฉากสุดท้าย พอถ่ายวันแรกเสร็จก็ต้องรอเสียเวลารอไปจนกว่าจะถึงคิวตัวเองวันสุดท้าย ถึงได้ปิดกล้องรับงานอื่นต่อได้) ด้วยวิธีการนี้ทำให้นักแสดงดังๆที่มีคิวงานเยอะๆ สามารถวิ่งรอกเล่นหนังหลายเรื่องได้พร้อมๆกันโดยไม่เสียเวลา
สำหรับบทภาพยนตร์ที่พัฒนาขึ้นในวิสัยทัศน์ของเสน่ห์ โกมารชุน ตั้งใจให้มีครบทุกอรรถรสชาติสีสัน เวลาพระ-นางจีบกันต้องน้ำตาลหวานเลี่ยน มุกตลกโป๊กฮาขำกลิ้งกระจาย (อันนี้ไม่ใช่ปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะเจ้าตัวมาจากสายตลกอยู่แล้ว) ฉากผีหลอกต้องหลอนสะดุ้งโหย่ง (ผีสมัยก่อนในหนังไทยมักจะแค่ยืนทึ่มทือ ไม่ก็ยื่นมือออกมาทำท่าจะบีบคอ เลยทำการครุ่นคิดระดมสมองหาสิ่งที่ตนเองกลัว อาทิ เห็นภาพศพเน่าๆเละๆขยะแขยง, ลุกขึ้นมาจากหลุมฝัง, อยู่ดีๆหายตัวได้, วิ่งหนีแล้วผีไปดักข้างหน้า นั่งรออยู่บนต้นไม้ ฯ) และตอนจบผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ หลั่งน้ำตาให้กับแม่นาก
ที่ย่านพระโขนง นายมากและนางนาก ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนภรรยาตั้งครรภ์อ่อนๆ แต่สามีได้รับหมายเรียกให้ไปรับราชการอยู่บางกอก นากจึงต้องอาศัยอยู่ตามลำพังจนกระทั่งครรภ์แก่ครบกำหนดคลอด ทว่าลูกของนางไม่ยอมกลับหัว หมอตำแยไม่สามารถทำให้คลอดออกมาตามธรรมชาติได้ เมื่อทนทานความเจ็บปวดไว้ไม่ไหวจึงสิ้นใจพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม ศพของเธอถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็เดินทางกลับพระโขนงโดยยังไม่ทราบความว่าเมียของตนชีวิตหาไม่แล้ว พบเจอนากและลูกมีความสุขียินดีปรีดา ได้รับการทัดทานจากเพื่อนๆแต่กลับไม่ยอมเชื่อฟังว่าคนรักของตนเป็นผี จนกระทั่งวันหนึ่งพบเจอเข้ากับตา ขณะตำน้ำพริกอยู่บนบ้านทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อนจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือน มากจึงได้รับรู้ความจริงดั่งที่ใครๆว่ากล่าวตักเตือนมา
นำแสดงโดยสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ (พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๕๒๖) นักร้อง นักแสดงชาวไทย เกิดที่พระนครศรีอยุธยา เข้าสู่วงการจากการชักนำของหม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล รับราชการเป็นนักร้องของวงดุริยางค์กองทัพเรือ (รุ่นเดียวกับเสน่ห์ โกมารชุน) เรียนร้องเพลงกับครูล้วน ควันธรรม (รุ่นเดียวกับชาลี อินทรวิจิตร) จากนั้นไปเป็นนักร้องในวงดนตรีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (รุ่นเดียวกับ สุพรรณ บูรณพิมพ์, ปิติ เปลี่ยนสายสืบ, สถาพร มุกดาประกร) ก่อนเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ และประจำที่กองภาพยนตร์ทหารอากาศ, เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รับบทพระเอกละครเวที พันท้ายนรสิงห์ (พ.ศ ๒๔๘๗) จากบทพระนิพนธ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล แห่งคณะอัศวินการละคร, บทเพลงดังๆ อาทิ น้ำตาแสงไต้, แก้วตานิทราเถิด, เดียวดาย ฯ ต่อมาหันไปแสดงภาพยนตร์ สุภาพบุรุษเสือไทย (พ.ศ. ๒๔๙๒), แม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๐๒), ฝนใต้ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ
พี่มากฉบับนี้อายุเยอะ ไว้หนวดเข้ม มาดนักเลง เล่นโรแมนติกไม่ค่อยน่ารักกุ๊กกิ๊ก แต่มีความเป็นผู้ใหญ่ ภาพลักษณ์มั่นคงซื่อสัตย์ในรัก ฆ่าได้หยามไม่ได้ ผมชอบสุดตอนทำหน้าอ้อนวอนขอนาคให้ไปผุดไปเกิด โอบสายสิญจน์รอบตัวเธอด้วยน้ำตา เต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมานกายใจ สุดท้ายโทษว่าเป็นความผิดของโชคชะตาฟ้าดินที่เล่นตลกกับชีวิตของตนเอง
ปรียา รุ่งเรือง (พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๕๒๗) นักแสดงชาวไทย เกิดที่อำเภอเขาย้อย, เพชรบุรี เข้าสู่วงการบันเทิงจากการประกวดเทพี ในพิธีมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๒ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ จึงมีโอกาสแสดงภาพยนตร์แจ้งเกิด แผ่นดินของใคร (พ.ศ. ๒๕๐๒) เนื้อหาเกี่ยวกับกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา (ครั้งแรกครั้งเดียวของหนังไทยที่ถ่ายทำยังปราสาทพระวิหาร) และด้วยเคยถ่ายแบบวาวหวิว (ถ่ายแบบชุดว่ายน้ำตีพิมพ์ลงในปฏิทินของสุราแม่โขง) มักได้รับบทที่มีฉากวาบหวาม เลยได้รับฉายาว่า ‘นางเอกอกเขาพระวิหาร’
เกร็ด: เสน่ห์ โกมารชุน เป็นผู้ปลุกปั้นและปล้ำจนได้แต่งงานมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน ทำให้เธอออกจากวงการปี พ.ศ. ๒๕๑๓ และหวนกลับมาช่วงสั้นๆ พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๓ ก่อนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต
(ผมพยายามจับจ้องหน้าอกเขาพระวิหารของปรีดา พบเจอฉากหนึ่งขายเน้นๆ ตอนกำลังอ่านบทกลอนโล้สำเภาให้ป้าฟัง โน้มตัวไปข้างหน้าซะ … แต่มันก็แค่นี้แหละครับ หนุ่มๆสมัยนั้นคงน้ำยายใหยแล้ว)
แม่นากฉบับนี้สวยเซ็กซี่ตาคม แรกๆทำเหนียมอายเล่นตัวแต่ก็ชอบให้ปอยอปอปั้นรอวันโล้สำเภา แต่งงานแล้วมั่นคงหนักแน่นในรัก รวดร้าวทรมานเมื่อมิอาจเบ่งคลอดลูก กลายเป็นวิญญาณที่ยังมีสิ่งยึดติดเหนี่ยวรั้ง ลุกขึ้นจากหลุมใบหน้าขยะแขยง มองเห็นไกลๆน่ากลัวน่าวิ่งหนี และขณะอ้อนขอความรักจากสามีโทษว่ากล่าวเป็นความผิดของเขาที่ไม่รักตนชั่วนิรันดร์
นอกจากหนังเรื่องนี้ ปรีดายังหวนกลับมารับบทนางนาคอีก ๓ ครั้ง ประกอบด้วย วิญญาณรักแม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๐๕) [สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ กลับมารับบทพี่มาก], แม่นาคคนองรัก (พ.ศ. ๒๕๑๑), แม่นาคพระโขนง (พ.ศ. ๒๕๒๑)
หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm คุณภาพเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา (ยังไม่มีใครคิดนำมา Remaster) และสมัยนั้นยังไม่มีบันทึกเสียง Sound-On-Film ส่วนใหญ่จึงใช้การพากย์สดหน้าโรง หรือถ้าไม่มีบทบางครั้งก็ดั้นสดๆตรงนั้นแหละ
ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพรับอิทธิพลจากยุคสมัยหนังเงียบ ใช้การจัดวางนักแสดงให้อยู่ภายในกรอบขอบเขตที่กำหนด เคลื่อนไหว พูดคุย เกี้ยวพาราสี ชกต่อย ฯ จำกัดอยู่ในเส้นรัศมีนั้น จะมีเคลื่อนไหวแพนกล้องเฉพาะภาพมุมกว้าง อาทิ แข่งเรือ, เดินตลาด, ชกต่อยตี ฯ แล้วใช้การตัดต่อเพื่อเปลี่ยนระยะภาพซึ่งมีตั้งแต่ Full Shot เห็นเต็มตัวนักแสดง (ศีรษะจรดเท้า) เวลาพูดคุยสนทนาก็มัก Medium Shot และถ้าต้องการจับจ้องปฏิกิริยาสีหน้า เหนียมอาย/หวาดกลัวตื่นตระหนก/ใบหน้าผี ถึงใช้ระยะใกล้ Close-Up
ภาษากายของนักแสดงสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก คล้ายๆกับหนังเงียบ เอาจริงๆไม่ต้องใช้เสียงพากย์หรือ Sound Effect ก็สามารถคาดเดาออกได้ อาทิ
– ท่าทางเหนียมอายของพี่มาก กลัวๆไม่กล้าพูดบอกความในใจกับนางนาก ฉากที่ท่าน้ำลูบไล้จานชาม แล้วตักน้ำขึ้นมารดราดตัวเอง พอขอแต่งงานสำเร็จก็กอดคอกันดีใจตกน้ำ
– ตอนพี่มากจากภรรยาไปรับราชการบางกอก ขณะกำลังร่ำลารอส่งที่ท่าเรือริมตลิ่ง นางนากกุมมือลูบไล้เสาไม้ต้นหนึ่ง ก่อนก้มหน้าลงร่ำไห้
(สองฉากที่ผมว่ามานี้อาจจะคิดมากไปเองแต่ก็นะ ลูบๆไล้ๆแบบนั้นจะให้สื่อถึงอะไรไปมากกว่าไอ้นั่นได้ละ)
Visual Effect พบเห็นอยู่ ๒-๓ อย่าง คงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมสมัยนั้นไม่น้อยเลยละ
– นางนาคค่อยๆจางหายตัวไป เห็นเสื้อลอย … นี่แค่มายากลของการตัดต่อฟีล์ม
– เทคนิคการซ้อนภาพ ถ่ายฟีล์มม้วนเดิมซ้ำสองครั้ง จะทำให้เห็นร่างของแม่นาคมีความเลือนลาง ลักษณะเหมือนภาพติดวิญญาณ
– ย่อขนาดเพื่อให้ผีแม่นาคตัวเล็กลงจนสามารถเข้าไปอยู่ในหม้อถ่วงน้ำได้
ฯลฯ
ไฮไลท์ของแม่นาคพระโขนงทุกฉบับคือ ขณะนางนาคเอื้อมเก็บมะนาวตกอยู่ใต้ถุนบ้าน ดูแล้วคงใช้ผ้าสีดำผืนใหญ่ๆ และสร้างโมเดลแขนปลอมขึ้นมา จากนั้นค่อยๆเลื่อนเคลื่อนเข้าไปหยิบลูกมะนาวที่ตกอยู่ (อย่างทุลักทุเล) ถึงไม่ค่อยเนียนแต่ก็คลาสสิกดี
ปัญหาใหญ่ๆของหนัง ผมขอเรียกว่าความสัปดลของเสน่ห์ โกมารชุน หลายครั้งใส่ความตลกขบขันเข้ามาผิดที่ผิดเวลา ไร้กาละเทศะ
– ฉากตอนนางนาคกำลังเบ่งคลอดลูก บรรดาผู้คนที่เฝ้ารออยู่ข้างนอกต่างพูดหยอกล้อเล่นหัว คือถ้ามันแปปเดียวก็ไม่อะไรหรอก แต่ไร้สาระเรื่อยเปื่อยจนเกือบลืมเรื่องคลอดลูกไปเลย
– งานศพแทนที่จะนิมนต์พระมาสวด กลับให้ตลกแสดงหน้าศพ ถึงเป็นประเพณีแต่ไม่ค่อยมีกาละเทศะเท่าไหร่
– ปริมาณหมอผี ทั้งหมด ๓ คน
๑) คนแรกหมอผีจริง เดินทางมาลองของทำให้แม่นาคหลุด
๒) หมอผีปลอม (ล้อต็อก) กินเวลาเป็นสิบๆนาที เพื่อแค่ให้ถูกหลอกวิ่งหนีเผ่นแนบ
๓) คนสุดท้ายฝีมือพอตัว แต่ต้องให้ไอ้มากช่วยเหลือถึงสามารถนำผีแม่นาคบรรจุใส่หม้อถ่วงน้ำได้
เอาจริงๆตัดหมอผีตัวที่สองทิ้งไปเลยก็ได้ มันทำให้หนังเสียเวลาและเรื่องราวหยุดนิ่งไม่เดินหน้าไปไหนทั้งนั้น นี่ต้องถือว่าความพยายามผสมผสาน Comedy+Horror ของเสน่ห์ โกมารชุน หลายครั้งถือว่าน่าผิดหวังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
แต่สิ่งที่โดยส่วนตัวผิดหวังสุดของหนังคือตอนจบ เพราะมันคือแนวคิดของยุคสมัยนั้นที่ คน-ผี ไม่อาจสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ คำเอื้อยอาลัยของนางนาคก่อนจะลงไปสู่หม้อถ่วงน้ำ สะท้อนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ และทัศนคติที่สร้างความแตกแยก แบ่งพรรคพวกให้เกิดขึ้นในสังคม เราสามารถแทนสิ่งสัญลักษณ์ด้วยอะไรก็ได้สองฝั่งฝ่าย ประชาธิปไตย-เผด็จการ, ขวาจัด-ซ้ายจัด, อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม, รักร่วมเพศ, ความแตกต่างสีผิว/เชื้อชาติ ฯลฯ ก็โดยอาจไม่รู้ตัวหรอก ชาวไทยเราถูกครอบงำด้วยแนวคิดฝั่งหนึ่งฝังใดถูกต้องที่สุดเท่านั้น ขณะที่อีกกลุ่มตรงกันข้ามคนละพวก ในเมื่อไม่ใช่มิตรก็ต้องเป็นศัตรูสถานเดียว
อาจเพราะการมาถึงของ พี่มาก..พระโขนง (พ.ศ. ๒๕๕๖) ที่ทำให้มุมมองทัศนคติของผู้คน(ชาวไทย)เปลี่ยนแปลงไป ผีแล้วไงก็รักได้ (เหมือน The Shape of Water สัตว์ประหลาดก็ยังร่วมรักได้) พอหวนกลับไปรับชมหนังเก่าๆ แนวคิดของอดีต มันจะเกิดความหงุดหงิดคับข้องใจ ทำไมมันถึงเป็นไม่ได้! … นี่แหละครับกาลเวลาทำให้คนเปลี่ยน มุมมองโลกทัศน์ความคิด เมื่อพบเจอแนวคิดสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม กลับไปพบเห็นอดีตของโบราณก็จะรู้สึกเฉิ่มเฉย รับไม่ได้ ตกยุคสมัย
เทียบกับวงการภาพยนตร์โลก แม่นาคพระโขนง ฉบับนี้แม้อาจไม่ได้ส่งแรงกระเพื่อมใดๆ แต่อยู่ร่วมสมัยกับ Hammer Horror ตระกูล Dracula, Frankenstein ฉบับตีความใหม่ของฝั่งอังกฤษ ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 50s มีคำเรียกว่า Gothic Horror (จริงๆเรียกว่า Horror New Wave ก็ยังได้) มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศเรื่องราวที่ทำให้เกิดความหลอกหลอน ตัวละครดูน่าหวาดสะพรึงกลัว (และมักมีเรื่องราวโรแมนติกแฝงอยู่เสมอ)
วันแรกที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เสน่ห์ โกมารชุน ลงทุนมาพากย์สดด้วยตนเองเพราะวิตกว่าหนังจะยังไม่น่ากลัวพอ เลยเพิ่มสีสันให้กับฉากสวดศพแม่นาคให้คนไปเอาธูปแขกที่มีกลิ่นหอมเย็น จุดแล้วเอาไปปักไว้ในรูแอร์ เท่านั้นแหละก็กลายเป็นเรื่อง หลังดูจบเลยเกิดกระแสปากต่อปากถึงความน่ากลัว หลอกหลอน และอาถรรพ์ เช่นนั้นคนดูเลยแห่กันหลั่งไหลมาชมแม่นาคกันล้นโรงแตก ถึงขนาดห้องขายตั๋วพัง ซึ่งเสน่ห์ก็ยินยอมจ่ายค่าซ่อมแซมห้องขายตั๋ว พร้อมยิ้มกริ่มให้กับความสำเร็จของตนเอง จบโปรแกรมทำเงินได้กว่า ๑ ล้านบาท แต่ยังห่างไกลสถิติรายรับสูงสุดของ เล็บครุฑ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ที่ ๒ ล้าน ๗ แสนบาท (บ้างว่า ๑ ล้าน ๙ แสนบาท)
reference: http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=4322
ช่วงบั้นปลายชีวิตของเสน่ห์ โกมารชุน ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่แล้ว อาจเพราะอาถรรพ์ของแม่นากด้วยกระมัง ร่ำรวยแล้วไม่คิดแบ่งปัน ฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือยเมื่อเงินหล่นทับ ซื้อเบนซ์แบ่งกับภรรยาคนละคัน สังสรรค์เมามายพี่จ่ายเอง เข้าบ่อนสนามม้าถลุงเงินจนหมดเกลี้ยง เงินสักแดงไม่มีติดตัว เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวที่บ้านไม้เก่าๆ หลังวัดเทพธิดาราม ขณะอายุเพียง ๔๘ ปี
ส่วนตัวชื่นชอบครึ่งแรกของหนังอย่างยิ่ง ประทับใจในไดเรคชั่นที่มีความคลาสสิก เรื่องราวไทยๆ และความต่อเนื่องลื่นไหลเป็นธรรมชาติดูดี แต่เมื่อฟีล์มเริ่มกระโดดนับตั้งแต่พี่มากจากนางนาคไปรับราชการยังกรุงบางกอก หลายฉากไม่จำเป็นต้องใส่มาไร้สาระสิ้นดี จนทำให้ส่ายหัวเครียดเซ็ง เลือกคะแนนความรู้สึกต่อหนัง SO-SO ก็แล้วกัน
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สูงวัยหลายท่านที่เคยได้รับชมหนังตั้งแต่สมัยออกฉาย บอกว่ามีหลายฉากที่เหมือนว่าจะขาดๆหายไป (ก็ว่าอยู่ หนังดูกระโดดๆยังไงชอบกล) สมัยนั้นหวาดกลัวหัวหดแต่ชอบมาก ฉายต่างจังหวัดกลางแปลงไปดูมันทุกรอบ กลับบ้านดึกๆก็เกาะกันไป ใครมาสะกิดตัวก็สะดุ้งนึกว่าผี ด้วยเหตุนี้เลยไม่น่าแปลกใจที่คนไทยสมัยก่อนจะชื่นชอบคลั่งไคล้กันเยอะ (มาแนวเดียวกับ หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์) แต่กาลเวลากับผู้ชมสมัยใหม่ก็อย่างที่ผมวิพากย์วิจารณ์ไป ใช่ว่าทุกเรื่องจะกลายเป็นอมตะ อย่างเรื่องนี้ก็จักคงอยู่แค่ในประวัติศาสตร์ความทรงจำเท่านั้น
แนะนำกับแฟนๆตำนานแม่นาคแห่งพระโขนง, ชื่นชอบแนว Classic Horror, Fantasy ความตาย, Romantic หวานเลี่ยน, คอหนังไทยคลาสสิก ที่รู้จักกับเสน่ห์ โกมารชุน, ผู้กำกับรังสี ทัศนพยัคฆ์, และนักแสดงนำสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ และนางเอกปรียา รุ่งเรือง
จัดเรต PG กับความหลอกหลอน และหลายๆพฤติกรรมร่านสวาทของตัวละคร
“งานศพแทนที่จะนิมนต์พระมาสวด กลับให้ตลกแสดงหน้าศพ ถึงเป็นประเพณีแต่ไม่ค่อยมีกาละเทศะเท่าไหร่”
เค้าเรียก “สวดคฤหัสถ์” เป็นการละเล่นในงานศพ เลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ จะเล่นในตอนดึกหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว หลักๆก็เพื่ออยู่เป็นเพื่อนศพกับคนที่มางานศพตอนดึกๆ ไม่ให้คนในงานง่วงเหงาหาวนอน บรรยากาศเศร้าหมอง (อาจจะกันไม่ให้บรรยากาศวังเวง หรือคนกลัวผีด้วยก็ได้)
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มเล่น ก็ต้องขึ้นบทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยพร้อมกันทั้งสำรับ 3 จบ ต่อด้วยบทสวดพระอภิธรรมสังคณี
หลังเล่นจบ ต้องเล่นเพลงปรมัตถ์ เป็นเพลงที่กล่าวถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เตือนให้คนที่ยังอยู่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และให้ประกอบแต่ความดี
แต่ก่อนจะเล่นได้ทั้งพระสงฆ์เอง หรือฆราวาสก็ได้ แต่ต่อมา เค้าเห็นว่าพระสงฆ์เล่นแล้วไม่งาม เลยให้ฆราวาสมาเล่นแทนอย่างเดียว
ในแง่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ จุดนี้ผมถือว่าดีนะ ที่ยังมีการบันทึกภาพการสวดคฤหัสถ์ได้ ดูหนังไทยตั้งแต่เก่าๆจนถึงใหม่ๆมาเยอะ ไม่เคยหนังเรื่องอื่นบันทึกภาพการละเล่นนี้ไว้เลย (อีกเรื่องนึงก็ แม่นาคพระโขนง เวอร์ชั่นรีเมก สมบัติ-ปรียา-เนาวรัตน์) คือมองในแง่ที่ว่า มันเป็นการละเล่นของคนไทยน่ะ ถูกผิดกาลเทศะมั้ยนี่ต้องพูดถึงระดับรากเหง้าวัฒนธรรมลึกๆ ก็ว่ากันไป แต่ในแง่ตัวหนังถือว่า หนังบันทึกภาพการละเล่นไทยในสมัยก่อนที่หายากมากไว้ได้ ก็น่าจะเป็นแง่ดีนะ
ปัจจุบันนี่ไม่เห็นการละเล่นแบบนี้แล้ว ไม่รู้สูญพันธุ์โดยสมบูรณ์รึยัง คนที่เล่นอาจยังมีชีวิตอยู่บ้าง ก็แก่มากแล้ว คนที่ยังรู้จัก ก็มีอายุเยอะ 30-40+ กันแล้ว ส่วนใหญ่ก็แค่ทันดูทันรู้จัก แต่ไม่ได้เล่นสืบทอดต่ออะไร
เห็นงี้ การละเล่นนี้ พวกศิลปินไทยหลายๆคนก็เคยเล่นเคยผ่านมาเยอะ มีที่กลายเป็นศิลปินแห่งชาติในเวลาต่อมาก็มี ทั้งด้านดนตรีไทย เพลงพื้นบ้าน นักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดงนาฏกรรม ภาพยนตร์ การละคร ก็เยอะ (ศิลปินรุ่นเก๋ารุ่นดึกสมัยก่อน มักร้องมักเล่นมักแสดงได้หลายๆอย่าง) อย่างเสน่ห์ โกมารชุน (ผู้สร้างหนังเรื่องนี้), ดอกดิน กัญญามาลย์, บรรดานักแสดงตลกรุ่นๆล้อต๊อก, สมพงษ์, สีเทา, ก๊กเฮง, ทองแถม เป็นต้น
หาข้อมูลได้ตามหนังสือเกร็ดความรู้จิปาถะเกี่ยวกับเมืองไทย ของพวก ส.พลายน้อย, เอนก นาวิกมูล ฯลฯ ก็ได้ ในเว็บก็มีข้อมูลเยอะอยู่พอควร
ตอนที่ผมดูในโรงนี่หงุดหงิดฉากนี้มากเลยนะ กับคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าคือนั่นวัฒนธรรมไทยโบราณ น่าจะคล้ายผมแน่ๆคือ อคติมาก่อน ถึงตอนนี้ที่ผมรู้จักแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะสมกาละเทศะอยู่ดี ไม่แปลกใจที่ปัจจุบันจะสูญหายไป
แต่ปัจจุบันมันก็เลวร้ายกว่าเดิมอีกนะ กินเหล้าหน้าโลง เอาดาวยั่วดาวโป๊มาเต้น บอกว่าให้ดูครั้งสุดท้ายก็มันไปลงนรก เอิ่ม…
แก้ไขข้อมูลนิดนึงนะครับ คำว่าตาย”ท้องกลม”ผิดนะครับ ที่ถูกต้องใช้คำว่า”ตายทั้งกลม”นะครับ