ไทรโศก

ไทรโศก

ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐) หนังไทย : คุณาวุฒิ ♥♥♥♡

หนึ่งในการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ มิตร ชัยบัญชา รับบทพร้อมกัน ๒ ตัวละคร หนึ่งไอ้บ้าใบ้ผู้โชคร้าย สองคือลูกชาย(ของไอ้ใบ้นะแหละ) เฉลียวฉลาด หล่อเหลา มาดผู้ดี ใครๆต่างเคลิบเคลิ้มตกหลุมรัก ประกบสามนักแสดง โสภา สถาพร, รักชนก จินดาวรรณ และบุศรา นฤมิตร ซึ่งโชคชะตาชีวิตจริงของพวกเธอ สะท้อนการปรับตัวภายใต้ ‘ร่มเงายุคสมัยของ เพชรา เชาวราษฏร์’ ได้อย่างน่าขนหัวลุก

ดัดแปลงจากผลงานของ จำลักษณ์ นามปากกาของ สำเนาว์ หิริโอตัปปะ (พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๕๑๗) นักประพันธ์ชื่อดัง เจ้าของฉายา ‘ราชาลครเร่’ ก่อนหน้าจะมาเป็นนักเขียน เคยทำงานเป็นกะลาสี กัปตันเรือ ออกท่องสมุทรจนมีความเข้มแข็งแกร่งทั้งกายใจ หลังจากเบื่อหน่ายตัดสินใจกลับขึ้นบก ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนๆเข้าร่วมคณะลคร จันทรโรภาพ ของหม่อมหลวงโกมล ปราโมช ได้มีโอกาสโชว์ฝีมือเขียนบทลครเรื่องแรก ตากสินมหาราช ตามด้วย ทาสวังหลัง ประสบความสำเร็จอย่างสูง คนดูแน่นขนัดเต็มโรง จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับลครให้หลายๆคณะ แต่เมื่อการมาถึงของภาพยนตร์ทำให้วงการนี้เริ่มซบเซา จึงผันตัวมาเขียนบทลครโทรทัศน์ นวนิยายลงหนังสือพิมพ์ หนึ่งในนั้นตีพิมพ์ลงในหนังสือขายหัวเราะ น่าเสียดายอายุสั้นไปเสียนิด จากไปด้วยวัยเพียง ๕๓ ปีเท่านั้น

สำหรับไทรโศก คงไม่ผิดอะไรจะเรียกนิยายน้ำเน่า เรื่องราวของมหาเศรษฐีเจ้าของไร่ไทรโศก หลังจากเสียชีวิต อ่านพินัยกรรม สร้างความผิดหวังให้ภรรยาและลูก เพราะเห็นคุณค่าของสาวใช้มากกว่าพวกตน แถมยังบีบบังคับให้แต่งงานจดทะเบียนสมรส และต้องมีบุตรร่วมกัน ถึงมีสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ดินผืนใหญ่ ด้วยความคิดอันสุดแสนอัปลักษณ์ของคุณแม่และลูก แม้จะเข้าพิธีแต่งงานแต่กลับส่งตัวไอ้หนุ่มบ้าใบ้ ปิดไฟเข้าเรือนหอแทน หลังจากคลอดบุตรออกมายี่สิบปีผ่านไป ผลของการกระทำดังกล่าวได้ย้อนกลับหาตัวพวกเขาเอง กงกรรมเกวียนโดยแท้

เรื่องราวของนวนิยาย/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่ามีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ดำเนินเกี่ยวข้องกับบุคคลสามรุ่น สองช่วงเวลา สะท้อนผลกรรมดี-ชั่ว ที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ครุ่นคิด-พูด-กระทำเอาไว้ สามารถสอนใจคนอ่าน/ผู้ชม ถึงสัจธรรม ‘กฎแห่งกรรม’ ไม่มากก็น้อย

ไฮไลท์ของหนังคือการแสดงของ มิตร ชัยบัญชา ที่ผมว่าอาจเป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตแล้วก็เป็นได้ (แต่ผมก็ดูหนังของ มิตร มาไม่กี่สิบเรื่องเองนะ ในแง่ดราม่าต้องยอมว่าเรื่องนี้น่าจะเข้มข้นที่สุดแล้วกระมัง) เพราะต้องรับบทถึง ๒ ตัวละคร พ่อ-ลูก แต่กลับแตกต่างตรงกันข้ามสุดขั้ว มีฉากร่วมกันอยู่ด้วยนะ เป็นอย่างไรต้องลองหามารับชมดูเอง

วิจิตร คุณาวุฒิ หรือ คุณาวุฒิ ชื่อเดิม ซุ่นจือ เค้งหุน (พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๕๔๐) ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) เกิดที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย เรียนจบมาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ‘ชีวิตไทยรายสัปดาห์’ ร่วมสมัยกับ ส. อาสนจินดา, อิศรา อมันตกุล และประมูล อุณหธูป เคยมีผลงานเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียง อาทิ น้ำตาจำอวด, โสเภณีร้องไห้ ฯ เริ่มมีความสนใจวงการภาพยนตร์ตามคำชักชวนของ ปรีทีป โกมลภิส ร่วมเล่นบทผู้ร้ายในภาพยนตร์เรื่อง ฟ้ากำหนด (พ.ศ. ๒๔๙๓) จากนั้นครูมารุต ชักชวนให้มาร่วมเขียนบทภาพยนตร์ สันติ วีณา (พ.ศ. ๒๔๙๗) หลังจากนี้ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพนักข่าว เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว โดยมีผลงานกำกับ/เขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก ผาลีซอ (พ.ศ.๒๔๙๗), เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังประสบความสำเร็จจากผลงานถัดมา มรสุมสวาท (พ.ศ. ๒๔๙๙) บทประพันธ์ของอิศรา อมันตกุล นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล

ผลงานเด่นๆ อาทิ มือโจร (พ.ศ. ๒๕๐๔), โนห์รา (พ.ศ. ๒๕๐๙), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), เสน่ห์บางกอก (พ.ศ. ๒๕๐๙), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), แม่ศรีไพร (พ.ศ. ๒๕๑๔), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๑๖), เมียหลวง (พ.ศ. ๒๕๒๑), คนภูเขา (พ.ศ. ๒๕๒๒), ลูกอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ฯ

เจ้าคุณธีรรัตน์ หลังจากเสียชีวิตทิ้งพินัยกรรมให้กิตติ (อดุลย์ ดุลยรัตน์) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน จะสามารถถือกรรมสิทธิ์ในไร่ไทรโศก อ.บางพระ จ.ศรีราชา ก็ต่อเมื่อแต่งงานและมีบุตรกับบานเย็น (บุศรา นฤมิตร) หญิงสาวในอุปการะที่จงรักเหมือนลูก ทำให้คุณหญิงธีรรัตน์ (น้ำเงิน บุญหนัก) ไม่พึงพอใจอย่างมาก จึงวางแผนให้กิตติยอมแต่งงานด้วย แต่เวลาส่งตัวเข้าห้องหอ หลอกให้นายใบ้ (มิตร ชัยบัญชา) เด็กวัดไม่รู้หัวนอนปลายตีน ปิดไฟ ร่วมรัก แม้จักเพียงแค่ค่ำคืนเดียว บานเย็นก็ตั้งครรภ์ คลอดออกมาเป็นผู้ชายถูกนำไปรับเลี้ยงที่กรุงเทพ ตั้งให้ชื่อว่า อู๊ดหรือยิ่งยง ถึงกระนั้นหญิงสาวกลับได้เด็กหญิงกำพร้าที่พ่อแม่ถูกฆ่าตายในไร่ ตั้งชื่อให้ว่า ไทรงาม

เวลาเคลื่อนผ่านไป ๒๐ ปี ยิ่งยง (มิตร ชัยบัญชา) โตเป็นหนุ่มและได้รู้จัก เด่นดาว (โสภา สถาพร) หลานสาวเจ้าคุณยงยศ ซึ่งอ๊อดหรือเกียรติกร ลูกชายแท้ๆของ กิตติ-อุษา ก็ชื่นชอบเด่นดาวเช่นกัน วันหนึ่ง ยิ่งยง กับ เด่นดาว เดินทางไปท่องเที่ยวยังไร่ไทรโศกพบเจอ ไทรงาม (รักชนก จินดาวรรณ) เรียนจบหมอและอาศัยอยู่ที่นั่นรักษาแม่ สองหญิงพบกันเห็นสร้อยคอเกิดข้อสงสัยว่าอาจมีความเกี่ยวเนื่อง (ภายหลังถึงได้รับรู้ว่าเป็นพี่น้อง) ขณะที่ยิ่งยงพลันตกหลุมรักไทรงาม ทราบความไปถึงคุณหญิงธีรรัตน์ รู้สึกผิดที่ทำกับบานเย็นไว้มาก จึงจัดการหมั้นหมายให้หนุ่มสาวทั้งสอง สร้างความไม่พึงพอใจให้เกียรติกรอย่างมาก จึงไปร่วมมือกับธน (ประมินทร์ จารุรารีต) และลูกชายเทพ (ชุมพร เทพพิทักษ์) ที่มีความแค้นเจ้าคุณยงยศ บุกปล้นไร่ไทรโศก สุดท้ายใครจะรอดใครจะตาย ต้องไปติดตามลุ้นกัน!

นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา ชื่อจริง พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๑๓) พระเอกอันดับ ๑ ตลอดการของเมืองไทย เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ชื่นชอบเล่นกีฬาและชกมวย ช่วงระหว่างรับราชการทหารอากาศ จ่าโทสมจ้อยเห็นรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาเอาการ ท่าทางบุคคลิกดีอ่อนโยน เลยส่งรูปแนะนำตัวให้กับ กิ่ง แก้วประเสริฐ จนได้กลายเป็นพระเอกหนังเรื่องแรก ชาติเสือ (พ.ศ. ๒๕๐๑), โด่งดังกับ จ้าวนักเลง (พ.ศ. ๒๕๐๒), ประกบคู่ขวัญตลอดกาล เพชรา เชาวราษฎร์ ครั้งแรกเรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (พ.ศ. ๒๕๐๔), ผลงานเด่นอื่นๆ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. ๒๕๐๘), เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๓), อินทรีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ

ไอ้บ้าใบ้ ไร้พ่อแม่ตั้งแต่เล็กเลยกลายเป็นเด็กวัด เติบโตขึ้นสติปัญญาก็ยังน้อยนิด ทำให้มักถูกกลั่นแกล้งบ่อยครั้ง โดยเฉพาะค่ำคืนแต่งงานของ กิตติ กับ บานเย็น ถูกลวงล่อหลอกมอมเหล้าเข้าห้องหอ แม้เป็นค่ำคืนอันสุขสันต์แต่กลับนำความรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ ผูกข้อมือร่ำราลูกน้อยของตัวเองด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส ยี่สิบปีผ่านมาไปบังเอิญพบเห็นกระจกสะท้อนตนเอง ได้เพียงเฝ้าแอบมองให้ความช่วยเหลืออยู่ห่างๆ มิอาจเข้าไปโอบกอดแสดงออก ‘ฉันคือพ่อของลูก’

อู๊ด/ยิ่งยง หนุ่มหล่อนิสัยดี อัธยาศัยงาม ชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น จึงเป็นที่รักใคร่ของทุกคนรอบข้าง โดยเฉพาะสาวๆต่างหลงใหลใคร่มสนใจ สร้างความอิจฉาริษยาอาฆาตแค้นให้อ๊อด (ตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นพี่ชายแท้ๆ) เดินทางไปท่องเที่ยวไทรโศก ก็ไม่รู้ทำไมถึงตกหลุมรักแรกพบ ไทรงาม คงด้วยโชคชะตาล้วนๆกระมัง เฉกเช่นเดียวกับการเอาตัวรอดชีวิตหวุดหวิด ฆ่าผิดคน ซึ่งเมื่อรับทราบความจริงถึงต้นกำเนิด ก้มลงกราบพ่อผู้อาภัพ ไร้ซึ่งโอกาสรู้จักสนิทสนมมอบความภาคภูมิใจให้

ใช่ว่า มิตร ไม่อยากแสดงบทบาทขายการแสดงหรอกนะ แต่สมัยนั้นคงเลือกไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เพราะวันๆเอาแต่เดินสายทำงาน เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด มีโอกาสพักแค่วันที่ ๑๕ ของทุกๆเดือน ด้วยเหตุนี้แทบทุกเรื่อง มิตรจะแสดงเป็นตนเอง ไม่ว่าเศรษฐี กระยาจก บ้าใบ้ หรือนักเรียนนอก ก็อยู่ที่ว่าผู้กำกับ/ภาพยนตร์เรื่องนั้น จักเค้นเอาฝีมือ/ท้าทายความสามารถ ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับ ไทรโศก เพราะความที่ ไอ้บ้าใบ้ มิอาจพูดบอกอะไรออกมาได้ จำต้องพึ่งท่าทาง ภาษามือ และที่สุดคือดวงตา โดยเฉพาะฉากอำลัยลา ผูกข้อมือลูกน้อยทารกรัก แววตาแห่งความโศก กลั่นอารมณ์ความรู้สึกออกจากภายใน แสดงความรวดร้าวทุกข์ทรมานได้อย่างทรงพลัง น่าจะเกือบๆที่สุดในผลงานการแสดงแล้วกระมัง

สามนางเอกของหนัง เริ่มจาก บุศรา นฤมิตร นางเอกเจ้าน้ำตา ผลงานอาทิ ทับทิม (พ.ศ. ๒๕๐๗), ผู้ใหญ่ลี (พ.ศ. ๒๕๐๘) ฯ แต่เมื่อ เพชรา เข้าวงการและได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆเปลี่ยนบทบาทไปเป็นตัวรอง แม่นางเอก อาทิ ดาวพระศุกร์ (พ.ศ. ๒๕๐๙), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐) ฯ และก้าวมาเป็นนางเอกอันดับหนึ่งละครโทรทัศน์ยุคสมัยนั้นกับ คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๑๓)

รับบท บานเย็น ลูกสาวบุญธรรมในการอุปการะของ เจ้าคุณธีรรัตน์ เป็นคนธรรมะธัมโม ชอบนั่งเล่นมองตะวันตกดิน ต้องการเพียงชีวิตที่สงบสุขร่มเย็น แต่ท่านเจ้าคุณกลับเขียนไว้ในพินัยกรรมให้แต่งงานมีลูกกับกิตติ มิอาจขัดขืนต่อโชคชะตา ซ้ำร้ายยังติดโรคเรื้อนไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เมื่อส่งมอบลูกชายที่ตนรักยิ่ง มีโอกาสรับเลี้ยงลูกสาวบุญธรรม รักดั่งแก้วตาดวงใจ ภายหลังโชคชะตาเข้าข้างเมื่อลูกๆทั้งสองได้รับการอนุเคราะห์จากคุณหญิง จับคู่หมั้นหมาย ใกล้ถึงคราพบเจอความสุขในชีวิตเสียทีสินะ

ความรันทดของตัวละคร ผมว่าสะท้อนความรู้สึกของ บุศรา จากเคยเป็นนางเอกมีแววโด่งดัง กลับถูกกลบด้วยรัศมีของ เพชรา แต่ก็ใช่ว่าจะยินยอมแพ้เลือนลางหายไป ค้นพบช่องทางของตนเอง ในบทบาทรันทนเจ้าน้ำตา เป็นคนร้องไห้สวยมากๆ ทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจตัวละครสุดๆเลย

โสภา สถาพร ชื่อจริง โสภา พัคค์สุนทร (พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๔๙) ชื่อเล่น ติ๋ม เกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ ชาลี อินทรวิจิตร และ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ ผลงานเรื่องแรก เอื้อมเดือน (พ.ศ. ๒๕๐๖), ได้รับบทนำนางเอกเต็มตัว ศึกเสือไทย (พ.ศ. ๒๕๐๘), ผลงานเด่นๆ อาทิ เจ้าแม่ตะเคียนทอง (พ.ศ. ๒๕๐๙), สิงห์สันติภาพ (พ.ศ. ๒๕๐๙), ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), วังสีทอง (พ.ศ. ๒๕๑๑), ดวงใจคนยาก (พ.ศ. ๒๕๑๑) ฯ หลังจากแต่งงานก็ออกจากวงการใช้ชีวิตเรียบง่ายกับสามีฝรั่ง

รับบท เด่นดาว หลานสาวเจ้าคุณยงยศ พี่สาวแท้ๆของ ไทรงาม ในตอนแรกคบหาอยู่กับ เกียรติกร แต่ไม่ค่อยชอบในพฤติกรรมพยายามล่วงเกินเลยลามปาม ต่อมาพบเจอ ยิ่งยง ประทับใจในความเป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็พลันผิดหวังเพราะเขาเลือกแต่งงานกับ ไทรงาม ต่อมาจึงโดน เกียรติกร ฉุดคร่าใช้กำลัง เกือบถูกข่มขืนเลยยิงปืนสวน สุดท้ายคลุ้มคลั่งเกือบกลายเป็นบ้า กรรมอะไรหนอ! ทำให้ชีวิตรันทดได้ขนาดนี้

นี่เป็นนักแสดงอีกคนผู้มิอาจเจิดจรัสจร้าในวงการเท่าที่ควร (เพราะ เพชรา) ด้วยความที่หน้าเด็ก ตัดผมสั้นดูน่ารักน่าชัง ขี้เล่นซุกซน ฉากช่วงท้ายที่อยู่ดีๆเธอลุกขึ้นหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง นั่นสร้างความประหลาดใจให้อย่างยิ่งยวด คืออาการขัดแย้งกันเองภายใน แสดงออกมาได้อย่างน่าสงสารเสียจริง

รักชนก จินดาวรรณ เข้าสู่วงการด้วยการชักชวนจาก ศิริ ศิริจินดา (ผู้ค้นพบ เพชรา คาดหวังจะปั้นนางเอกคนใหม่แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) นำแสดงเรื่องแรก เพื่อนรัก (พ.ศ. ๒๕๐๙) คู่กับ มิตร ชัยบัญชา กลับไม่ประสบความสำเร็จ มีผลงานตามมา อาทื ไทรโศก (พ.ศ. ๒๕๑๐), พยัคฆ์ร้ายใต้สมุทร (พ.ศ. ๒๕๑๐), หยาดฝน (พ.ศ. ๒๕๑๕), เด่นดวงเดือน (พ.ศ. ๒๕๑๖) ฯ แทบทุกเรื่องไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จนในที่สุดก็เลิกร้างราออกจากวงการไป

รับบท ไทรงาม หมอสาวผู้มีความกตัญญูกตเวที ไม่รังเกียจแม่ที่เป็นโรคเรื้อน อยู่เคียงข้างตลอดตั้งใจจะรักษาให้หาย เป็นคนหัวก้าวหน้าไม่ชอบการคลุมถุงชน แต่ก็มิอาจหักห้ามโชคชะตาตนเองเมื่อถูกขอแต่งงานกับยิ่งยง ลึกๆคงชอบพอกันอยู่มั้งนะ

ทั้งๆที่ตัวละครได้ครองรักแต่งงานกับพระเอก แต่กลับไม่ได้มีบทบาทเด่นอะไรเลย น่าเศร้าใจแทน นี่คงเป็นเรื่องของโชคชะตาล้วนๆ ที่ทำให้ รักชนก มิอาจกลายเป็นอีกดาวดวงหนึ่งประดับวงการภาพยนตร์ไทย

สามนางเอกของหนังเรื่องนี้ ใต้ร่มเงายุคสมัยของ เพชรา เชาวราษฏร์ ปรากฎว่ามีโชคชะตาต่างกันอย่างน่าขนหัวลุก
– บุศรา นฤมิตร หนีความดังของ เพชรา ไปกลายเป็นนางเอกอันดับหนึ่งแห่งวงการโทรทัศน์ ปรับเอาตัวรอดได้อย่างเฉลียวฉลาด
– โสภา สถาพร พยายามดิ้นรนอยู่สักพักใหญ่ ประสบความสำเร็จบ้าง-ล้มเหลวบ้าง สุดท้ายเพียงพอแล้วออกไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขสันติ
– รักชนก จินดาวรรณ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในวงการภาพยนตร์ สุดท้ายออกจากวงการ เลือนลางหายไปตามกาลเวลา

ถ่ายภาพโดย ไพรัช สังวริบุตร (เกิด พ.ศ. ๒๔๗๔) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ด้วยความที่บิดาเป็นเจ้าของค่ายหนัง กรุงเทพภาพยนตร์ หลังเรียนจบจากเซนต์คาเบรียล เข้าร่วมช่วยงานจนได้เป็นตากล้อง รอยไถ (พ.ศ. ๒๕๐๓), แสงสูรย์ (พ.ศ. ๒๕๐๓)**คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง ถ่ายภาพ (16mm) จากนั้นร่วมลงทุนกับ มิตร ชัยบัญชา ตั้งบริษัท วชิรนทร์ภาพยนตร์ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง โดยเป็นผู้กำกับการแสดง และผู้กำกับภาพ ก่อนเข้าสู่วงการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๑๐

ถึงหนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm แต่คุณภาพที่หลงเหลือถึงปัจจุบันก็ได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เห็นว่าเคยสูญหายจากสารบบไปช่วงขณะหนึ่งด้วย แล้วได้รับการค้นพบโดย ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ และมนัส กิ่งจันทร์ จึงนำไปทำการ Telecine โดยบริษัท ทริปเปิ้ลเอ็กซ์ ฟิล์ม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้เสียงพากย์โดยทีมพากย์พันธมิตร

งานภาพส่วนใหญ่เป็นระยะ Medium Shot กับ Close-Up เน้นการสนทนาและแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร แต่ก็พอมีช็อตสวยๆของอ่าวไทยเป็นพื้นหลัง (แต่ผมก็ไม่เห็นต้นไทรสักต้นเลยนะ!)

ฟ้าแดง/อุกกาฟ้าเหลือง หนังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย ที่ตัวละครกำลังจะได้พบเจอต่อไป, ภาพนี้คงมีการบรรยายอย่างเยอะในต้นฉบับนวนิยาย ทำให้ผู้กำกับ วิจิตร คุณาวุฒิ จำต้องใส่มาประกอบเพลงแบบเต็มๆหลายครั้งด้วย ซึ่งนี่คงเป็นความรำพันคิดถึงของผู้เขียน จำลักษณ์ อดีตเคยเป็นกะลาสี กัปตัน ล่องเรือออกทะเล นี่อาจจะเป็นลายเซ็นต์หนึ่งของท่านเลยกระมังนะ

ฉากที่บานเย็นรับรู้เนื้อหาพินัยกรรม จากลุงเพิ่ม (อดินันท์ สิงห์หิรัญ) ภาพต้นไม้นี้ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ถ้าเป็นต้นไทรจะถือว่าเหมาะเจาะกับชื่อหนังมาก (แต่ผมว่าไม่น่าจะใช่นะ) ทั้งสองสนทนาภายใต้ร่มเงาแห่งโชคชะตา ยืนเดิน เดี๋ยวสูงต่ำ ก่อนสุดท้ายจะทรุดลงนั่งเกาะต้นไม้ ไทรโศก

บานเย็นเป็นคนชอบเกาะ… เสียจริงนะ! ฉากนี้ตอนรับรู้ว่าตนเองท้องและป่วยเป็นโรคเรื้อน รับรู้ความจริงว่าลูกในครรภ์เป็นของไอ้บ้าใบ้ ไม่ใช่กิตติ ถึงขนาดครุ่นคิดฆ่าตัวตาย แต่ได้รับคำอ้อนวอนร้องขอจนเกิดสติจาก ลุงเพิ่ม เลยยังตั้งใจมีชีวิตต่อไปแม้มันจะต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เสาไฟนี้ คงจะอันเดียวกับภาพทะเลช็อตด้านบน

ช่วงใกล้จบครึ่งแรก กลุ่มของบานเย็น พบเจอเด็กทารกสาวบนเนินเขาแห่งหนึ่ง ตั้งชื่อให้ว่า ไทรงาม มุมกล้องเงยขึ้นเห็นท้องฟ้า
ช่วงใกล้จบครึ่งหลัง เด่นดาว (พี่สาวแท้ๆของไทรงาม) ถูกลักพาตัวคุมไว้ใต้หุบเขาหนึ่ง มุมกล้องก้มลงเห็นพื้นดิน

นี่เป็นการสะท้อนครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ที่ก็ยังมีอีกหลายๆเหตุการณ์ ดั่งกงกรรมเกวียน วัฎจักรขึ้นลงของชีวิต (ที่คือใจความของ ไทรโศก อีกด้วย)

ฉากที่คงอยู่ในความสนใจของใครหลายคน มิตร เจอ มิตร, ไอ้บ้าใบ้ พบกับลูกชาย ยิ่งยง จริงๆมันมี ๒-๓ วิธีที่ทำได้ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น
๑. คนส่วนใหญ่คงครุ่นคิดว่า มีการใช้นักแสดงแทน ติดหนวดกลายเป็นไอ้บ้าใบ้
๒. แต่ถ้าสังเกตไดเรคชั่นช็อตนี้ให้ดีๆ นักแสดงจะไม่ยืนเหลื่อมล้ำกัน นั่นเป็นไปได้ว่าถ่ายสองเทคแล้วใช้การตัดฟีล์มกึ่งกลาง นำมาปะติดต่อกัน
๓. แบบเดียวกับข้อสอง แต่แทนที่จะตัดฟีล์มก็ใช้การซ้อนภาพแทน (แต่มันก็ไม่น่าออกมาชัดแจ๋วขนาดนี้นะ)

ฉากที่ กิตติ มาขอ ไทรงาม ให้กับ เกียรติกร ลูกชายแท้ๆตนเอง ถือเป็นการกระทำที่กล้ำกลืนฝืนทน เพราะ กิตติ กับ บานเย็น เกลียดกันเข้ากระดูกดำ แน่นอนเรื่องอะไรที่เธอจะยินยอม

ไดเรคชั่นของทั้ง Sequence โดดเด่นมากๆเรื่องการจัดแสงเงา (ฉากอื่นจะไม่เด่นเรื่องการจัดแสงขนาดนี้) หลายครั้งใบหน้านักแสดง อาบครึ่งหลบซ่อนอยู่ในเงามืด สะท้อนถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร ค่อยๆคืบคลานสู่ความเจ็บปวดรวดร้าวราน

เจ้าคุณธีรรัตน์ ก่อนเสียชีวิตก็ได้เจ็บป่วยกลายเป็นอมพาต สาเหตุอาจเพราะผลกรรมจากการทรยศหักหลังอดีตเพื่อนพ้อง ธน (จนตามจองเวรจองกรรมครอบครัวนี้ไม่คิดให้อภัย) กาลเวลาผ่านไป กิตติ ลูกชายโทนก็ประสบโชคชะตากรรมเดียวกัน ภาพถ่ายสลับด้านหัวเตียง สะท้อนให้เห็นไปเลยว่า ชีวิตมันก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ถ้าไม่เรียนรู้จักสิ่งเรียกว่า คุณธรรม

ความตายของกิตติ สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างทั้งคนรัก และลูกชายที่ทรยศหักหลัง ตกบันไดลงมาสู่เบื้องล่าง สะท้อนชีวิตอันตกต่ำของตนเอง ก่อนสิ้นลมตัดสินใจเปิดเผยความจริงกับ ยิ่งยง ฉันไม่ใช่พ่อแท้จริงของนาย คาดหวังว่ามันจะพอชดใช้กรรมต่างๆที่เคยก่อไว้บ้าง

คุณหญิงธีรรัตน์ ก็ไม่ต่างอะไรกับ กิตติ สวมแว่นแฟชั่นที่สะท้อนความเย่อหยิ่งทะนงตน ครึ่งแรกหัวชนฝารับไม่ได้ที่ลูกตนเองต้องแต่งงานกับหญิงไม่รู้หัวนอนปลายตีนอย่าง บานเย็น แต่ครึ่งหลังแก่ตัวลงมาก เริ่มครุ่นคิดถึงความสุขของหลานรัก จนใจอ่อนยอมจับทั้งคู่ให้แต่งงานกันโดยไม่สนอะไรอื่นอีกต่อไป

ตัดต่อ …ไม่มีเครดิต… เบื้องต้นแบ่งเรื่องราวออกเป็น ๒ องก์ จริงๆจะถือว่าดำเนินเรื่องในสายตาของ ลุงเพิ่ม ก็ได้นะ
– ครึ่งแรก เรื่องราวของ บานเย็น-กิตติ-ไอ้บ้าใบ้ ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวของบานเย็น จากสุขไปทุกข์และมุ่งสู่ทางสายกลาง
– ครึ่งหลัง ๒๐ กว่าปีผ่านไป หลักๆคือเรื่องราวของ ยิ่งยง – เกียรติกร – เด่นดาว -ไทรงาม ไม่ได้ใช้มุมมองใครเป็นพิเศษ สลับสับเปลี่ยนไปอย่างถ้วนทั่ว

ต้นฉบับต้องถือว่าไร้ซึ่งเพลงประกอบด้วย เพราะไม่มีปรากฎเครดิตใดๆ ซึ่งการพากย์ใหม่ก็มีการใส่ Soundtrack เพิ่มเข้าไป เป็นบทเพลงคลาสสิกคุ้นหูเสียเส่วนใหญ่ มีลักษณะมุ่งขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกที่สะสมอยู่ภายในตัวละคร อาทิ
– บานเย็น รับรู้ตนเองว่าต้องแต่งงานกับกิตติ เสียงไวโอลินอันโหยหวนรวดร้าว บีบคั้นทุกข์ทรมาน ทำเอาเธอทรุดลงนั่งที่โคนต้นไม้ คงร่ำไห้อยู่หลายเพลา
– ไอ้บ้าใบ้ เดินสวนกับลูกชาย ยิ่งยง เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองพิศวงสงสัย แต่พอต้องเดินจากกัน ใช้เพียงเสียงเปียโนบรรเลง สะท้อนความโหยหาต้องการสนิทชิดใกล้

สำหรับสองบทเพลงคำร้องทั้งสองเพลง เป็นการแทรกเพิ่มเข้าไปในหนัง เลยดูผิดแผกแปลกต่างจากปกติพอสมควร, บทเพลงไทรโศก ดังขึ้นตอนต้นและท้ายเรื่อง แทนเครดิตหนังไปเลย แต่งคำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร, ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน, ในหนังขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี

อีกบทเพลงดังขึ้นตอน บานเย็น นั่งเหม่อมองท้องฟ้ายามเย็น แทรกใส่เพิ่มมาเต็มๆเพลง ตัดวนภาพหญิงสาว กับ พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยตกทะเล นี่ไม่ค่อยเข้ากันหนังสักเท่าไหร่ แต่เพลงเพราะเลยก็พอแกล้มไปได้บ้าง

บทเพลงฟ้าแดง คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร, ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน, ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เช่นกัน

ไทรโศก คือเรื่องราวโศกนาฎกรรมของกลุ่มคน ผู้มีความลุ่มหลงใหลยึดติดในทรัพย์สินที่ดิน กองมรดก และชื่อเสียงวงศ์ตระกูล จนละเลยมองข้ามสิ่งสำคัญล้ำค่าที่สุดภายในจิตใจ เป็นเหตุให้คนดีต้องพลอยตกทุกข์ทรมาน เออออห่อหมกสมยอมความแบบไม่อยากตั้งใจ ซึ่งผลกรรมของคนรุ่นก่อน ได้ส่งผลย้อนคืนสนอง หวนกลับสู่พวกเขาเองตั้งแต่ในชาตินี้ เมื่อลูกหลานเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
– บางคน (คุณหญิงธีรรัตน์) จึงเริ่มรู้สึกตัว ครุ่นคิดขึ้นมาได้
– บางคน (กิตติ) ต้องให้ได้จังหวะใกล้ตาย ถึงค่อยรู้สำนึกตัว
– และอีกคนหา (นายธน) ไร้ซึ่งสามัญสำนึกผิดชอบ ให้อภัยใคร

ต้นไทร คือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อายุยืนยาวนานเป็นสิบร้อยปี คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นไทรไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความร่มเย็น จนมีคำโบราณกล่าวว่า ‘ร่มโพธิ์ร่มไทร’ ช่วยทำให้เกิดความเป็นสุขทางใจ

การที่ ไทรยังโศก สะท้อนถึงมรสุมชีวิตที่เต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมาน อันมีสาเหตุจากความรังเกียจเดียดฉันท์ อิจฉาริษยา มักมากในรูป-รส-กลิ่น-เสียง หลงใหลสิ่งของ-วัตถุนิยม จนมิอาจปล่อยวางทิฐิมานะของตนเองลงได้ ไม่มีอะไรในโลกที่เป็นของเราแท้ สักวันหนึ่งทุกอย่างได้มาก็ต้องสูญเสียไป สุข-ทุกข์ สมหวัง-ผิดหวัง รัก-เกลียด สองสิ่งขั้วตรงข้ามเติมเต็มและกัน ดั่งกงกรรมกงเกวียน กฎแห่งกรรม คือสัจธรรมความจริงของโลก

ความสนใจของผู้กำกับ วิจิตร คุณาวุฒิ ต้องการสะท้อนภาพที่ตรงกันข้ามระหว่างครึ่งแรก-ครึ่งหลัง นั่นคือการกระทำ-ผลลัพท์ ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’ คงตั้งใจปลูกฝังทัศนคติการคิดดี-พูดดี-ทำดี ย่อมเป็นศรีต่อตนเอง เพราะต่อให้โกรธเกลียดชังสักแค่ไหน อนาคตข้างหน้าวันใดอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเกื้อกูล ถนอมน้ำใจกันไว้ให้มากจักเป็นประโยชน์ ยิ่งด้วยความบริสุทธิ์แท้จากภายใน ใครๆก็จะรักเราด้วยความจริง

ไทรโศก ได้รับการสร้างใหม่ (Remake) พ.ศ. ๒๕๒๔ กำกับโดย น้อยเศวต นำแสดงโดย พอเจตน์ แก่นเพชร ประกบ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, ดวงใจ หทัยกาญจน์, เมตตา รุ่งรัตน์ รับบทคุณหญิงชื่น ธีระรัตน์ ฯ

เคยเป็นละครโทรทัศน์ ๒ ครั้ง
– ช่อง ๗ พ.ศ. ๒๕๓๔ กำกับโดย ภราดร เล็กประเสริฐ นำแสดงโดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์, ชไมพร จตุรภุช, พิศมัย วิไลศักดิ์, ชุติมา นัยนา, จามิน เหมพิพัฒน์ ฯ
– ช่อง ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ กำกับโดย ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ นำแสดงโดย พัชฏะ นามปาน, จิตตาภา แจ่มปฐม, คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์, ภูริ หิรัญพฤกษ์, พิเชษฐ์ไชย ผลดี, พิมพ์อักษิพร วินโกมินทร์, กมลชนก เขมะโยธิน ฯ

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ หนีไม่พ้นการแสดงของ มิตร ชัยบัญชา ในบทไอ้บ้าใบ้ เป็นความประทับใจแบบคาดไม่ถึง นี่ถ้าปีนั้นมีจัดรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี อย่างน้อยสุดต้องได้เข้าชิงอย่างแน่นอน

สำหรับไดเรคชั่นของ วิจิตร คุณาวุฒิ ต้องถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ (อย่างน้อยก็น่าจะได้เข้าชิง ตุ๊กตาทอง เช่นกัน) แต่ถ้าเทียบกับผลงานชิ้นเอกอย่าง เพชรตัดเพชร (พ.ศ. ๒๕๐๙), คนภูเขา (พ.ศ. ๒๕๒๒) หรือ ลูกอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ถือว่ายังห่างชั้นอยู่มาก

แนะนำแฟนๆนวนิยาย ไทรโศก ของ จำลักษณ์, ชื่นชอบเรื่องราวน้ำเน่า แม่ทำตัวชั่วๆใส่ลูกสะใภ้ ภายหลังเลยได้รับผลกรรมตอบแทนอย่างสาสม, ประทับใจผลงานของ วิจิตร คุณาวุฒิ, มิตร ชัยบัญชา, โสภา สถาภร ฯ ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๕+ กับความโฉดชั่วร้ายเลวทราม โกรธเกลียดริษยา ฆ่ากันตาย

TAGLINE | “ไทรโศก โศกนาฎกรรมสอนใจมนุษย์ของ วิจิตร คุณาวุฒิ มีการแสดงอันยอดเยี่ยมที่สุดของ มิตร ชัยบัญชา”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: