๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) : นนทรีย์ นิมิบุตร ♥♥♥♡
มันคือปัจจัยแวดล้อมของประเทศไทย พ.ศ. นั้น หรือเพราะโชคชะตากรรมกันแน่ ที่ทำให้แดง ไบเล่, แหลมสิงห์, เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตแค้น เจอหน้าต้องฆ่าให้ตายกับปุ๊ ระเบิดขวด และดำ เอสโซ่, สำหรับคนไทย “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Dang Bireley’s and Young Gangsters หรือ Dang Bireley’s Story คือหนังไทยน้ำดีที่เต็มเปี่ยมด้วยความบันเทิงแฝงสาระข้อคิด จุดประกายความหวังเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์สมัยนั้น ก่อนการมาถึงของหายนะวิกฤตต้มยำกุ้งเพียงเล็กน้อย แจ้งเกิดผู้กำกับนนทรีย์ นิมิบุตร, นักเขียนบทวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, นักแสดงหน้าใหม่ยกชุด เจษฎาภรณ์ ผลดี, อรรถพร ธีมากร, นพชัย มัททวีวงศ์, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, ชาติชาย งามสรรพ์ และนางเอกสาวสุดเซ็กซี่แชมเปญ เอ็กซ์
เปรียบเทียบใกล้เคียงสุดคือ A Brighter Summer Day (1991) ผสม Goodfellas (1990) ที่แม้ไม่ได้มีรายละเอียดซับซ้อนมากเท่า เป็น Vanilla Version แต่สอดแทรกแนวคิดพุทธศาสนาและความเป็นไทยเข้าไป ซึ่งคงมีแค่ชาวเราเท่านั้นกระมังถึงสามารถเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
ปัญหาใหญ่ๆของหนังคือความผิวเผินของเรื่องราวและตัวละคร อย่างเปี๊ยก ก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม กลัวหลวงพ่อจะตำหนิต่อว่า, ปุ๊ ก็มีแต่ภาพลักษณ์หมาบ้า ด้านดีๆเหมือนคนหน่อยไม่มีเลยหรือไร, แม่ของแดงสนแค่อยากให้ลูกบวชทดแทนคุณ อ้อนวอนร้องขอยินยอมทำทุกสิ่งอย่างราวกับคนเสียสติ, เมียของแดงมีตัวตนเพื่อก่อให้เกิดชนวนความขัดแย้ง และถือหมอนวันแห่นาคแค่นั้น??
ประเด็นหนึ่งที่ผมค่อนข้างเสียดายอย่างยิ่ง เปิดทิ้งไว้แล้วเจือจางหายไป หลวงพ่อ (พ่อของเปี๊ยก) มีการถ่ายให้เห็นรอยสักยันต์ขมังเวทย์เต็มตัว แสดงว่าสมัยวัยรุ่นต้องเคยเป็นนักเลงเก่า ผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างโชกโชน แต่ก็แค่นั้นแหละครับไม่ได้มีอะไรต่อทั้งนั้น ทำให้คำพูดที่พยายามเสี้ยมสั่งสอนลูกๆหลานๆไร้น้ำหนักคุณค่า เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาโดยทันที
นนทรีย์ นิมิบุตร ชื่อเล่น อุ๋ย (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เกิดที่จังหวัดนนทบุรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม เข้าเรียนต่อคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบออกมาได้เริ่มทำงานด้วยการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ตามด้วยผลิตสารคดี ละคร โฆษณา, ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อประสบการณ์ความสามารถเต็มเปี่ยม เกิดโปรเจคภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อ ‘๒๐๒๙ เครื่องครัวล้างโลก’ ตั้งใจให้เป็นแนวตลาดแต่ก็ล่มไม่เป็นท่า เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณทุนสร้าง พักทำใจอยู่สองปีเต็มมองหาสิ่งอื่นที่อยู่ในสนใจ อาทิ ดัดแปลงวรรณกรรม ขุนช้างขุนแผน ฯ ก่อนมาลงเอยที่หนังสือเส้นทางมาเฟีย กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐)
เส้นทางมาเฟีย เขียนโดยสุริยัน ศักดิ์ไธสง ชื่อจริงถาวร ภู่ประเสริฐ (พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๕๔๗) อดีตนักเรียนโรงเรียนช่างกลปทุมวัน จนถึงปี ๒ ได้ถูกไล่ออก เลยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มอันธพาลแต่ก็คงมิได้มีชื่อเสียงอะไรมาก แต่เคยจำคุกอยู่ที่เรือนจำลาดยาวได้พบปะเพื่อนฝูงพี่น้องในวงการนักเลงไม่น้อย ด้วยความชื่นชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะนิยายกำลังภายในของจีน (ยาขอบ, โกวเล้ง) ภายหลังจึงเขียนเรื่องแต่งของตนเอง สร้างตัวละครชื่อเปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ ผสมโรงเข้ากับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในยุคสมัยนั้น อาทิ แดง ไบเล่, ปุ๊ ระเบิดขวด, ดำ เอสโซ่ ฯ
สรุปคือเปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ มิใช่บุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์นะครับ ผลงานนิยาย/ภาพยนตร์เรื่องนี้มีส่วนผสมของ เรื่องจริง+เรื่องแต่ง คลุกเคล้าปนเปเข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก
เผื่อคนอยากอ่าน Timeline ของอันธพาลกลุ่มนี้ มีคนเรียบเรียงไว้จากหลักฐาน คำกล่าวอ้าง และข้อเท็จจริง: https://pantip.com/topic/36562534
“เมื่อได้อ่านเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าการเป็นนักเลงแบบ แดง ไบเล่ เขาเป็นได้ยังไงที่ทำให้คนรู้จักกันทั้งเมือง ในขณะอายุเพียง ๑๙-๒๐ เท่านั้น เขาโด่งดังมหาศาล มีอะไรเคลือบแฝงอยู่ตรงนั้น ทำไมพวกนี้ถึงได้ออกมาเป็นอันธพาล”
– นนทรีย์ นิมิบุตร
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์ เกิดที่กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นน้องของพี่อุ๋ย หลังเรียนจบได้ทำงานโฆษณาอยู่หลายปี แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์จากเป็นผู้เขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) และได้กำกับหนังเรื่องแรก ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓)
เล่าโดยผ่านความทรงจำของ เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ (นำแสดงโดยอรรถพร ธีมากร, เสียงบรรยายโดย รุจน์ รณภพ, และนักแสดงตอนแก่คือ สุริยัน ศักดิ์ไธสง) ช่วงเวลาก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ กรุงเทพยังถูกเรียกว่าพระนคร, จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยสองจากรัฐประหาร, Elvis Presley กำลังโด่งดัง และ James Dean ยังมีชีวิต (เสียชีวิตปี 1955/พ.ศ. ๒๔๙๘) เรื่องราวของแดง (รับบทโดย เจษฎาภรณ์ ผลดี) ลูกของแม่ โฉม (รับบทโดย ปาริชาต บริสุทธิ์) คนงานบ้านโสเภณีที่ตรอกไบเล่ ข้างหัวลำโพง ด้วยความอับอายขายหน้าในชาติกำเนิด จึงสร้างปมเด่นขึ้นมาด้วยการเป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาล มีเพื่อนสนิทคือ ปุ๊ (รับบทโดย ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ), ดำ (รับบทโดย ชาติชาย งามสรรพ์) และแหลม (รับบทโดย นพชัย มัททวีวงศ์) แรกๆก็สนิทสนมชิดเชื้อกันดี แต่จุดเริ่มต้นความขัดแย้งมาจากครั้งหนึ่ง ปุ๊ไปมีเรื่องกับเด็กในแก๊งของเปี๊ยก ทำให้เขาออกรับหน้าแทนจนเกิดการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย เปี้ยกต้องติดคุกและโดนไล่ออกจากโรงเรียน แดงอาสาพูดคุยให้แต่ไม่เป็นผล ก่อให้เกิดความแค้นรอยบาดหมางทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยในเวลาต่อมา
เจษฎาภรณ์ ผลดี ชื่อเล่น ติ๊ก (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๐) นักแสดงสุดหล่อ จบมัธยมจากโรงเรียนโยธินบูรณะ ปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอุตสาหการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ช่วงขณะเรียนมหาวิทยาลัย รับงานเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา วันหนึ่งมาแคสติ้งงานบังเอิญไปเข้าพี่อุ๋ย รู้สึกใบหน้าละม้ายคล้ายกับ แดง ไบเลตัวจริง เลยได้รับการชักชวนให้มาเป็นนักแสดง แต่ตอนนั้นยังติดเรียน ไว้ผมยาว สวมเหล็กดัดฟันอยู่ เลยบอกปัดปฏิเสธ กระนั้นพี่อุ๋ยก็ตื้อๆๆจนในที่สุดยอมรับเล่น ผลลัพท์โด่งดังพลุแตก หล่ออมตะผ่านมา 20 กว่าปีไม่เคยเปลี่ยนแปลง
แดง ไบเล่ ชื่อจริง บัญชา สีสุกใส เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ย่านตรอกห้วยขวาง สมัยก่อนเรียกกันว่าตรอกไบเล่ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อไบเล่ ตั้งอยู่ข้างหัวลำโพง เขตปทุมวัน, แม่ชื่อโฉม เป็นเจ้าของร้านซักอบรีดและห้องเช่าย่านนั้น (ไม่ได้ทำอาชีพโสเภณีแบบในหนัง) ส่วนพ่อหนีไปต่างประเทศก่อนที่แดงจะเกิด, ตัวจริงของแดง เป็นนักเลงนิสัยดี พูดน้อยแต่เป็นคนจริง ไม่ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก แย่งขนมเด็ก บุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่ดื่ม เครื่องดื่มโปรดคือ Milkshake ที่สำคัญคือไม่เคยจับปืนฆ่าคน ทำให้มีคนรักใคร่ สถานที่นัดพบเจอบ่อยๆคือ เกศรโบว์ลิ่ง และชีวิตจริงได้บวชให้แม่ด้วยนะ
สำหรับแดงในหนัง ถึงเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ประณีประณอม ไม่ชอบใช้กำลังความรุนแรง แต่เมื่อมีเรื่องให้หงุดหงิดหัวเสียก็แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธ ตอบโต้ผู้มาดร้ายด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยเฉพาะกับปุ๊และดำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจอยู่ร่วมผืนแผ่นเดียวกันได้
พี่ติ๊กแกหล่อเกิ้น บทสุภาพอ่อนโยนเลยออกมาดูดี (ตัวจริงนิสัยน่ารักเป็นกันเองมากๆเลยนะ) แต่พอแสดงความเกรี้ยวกราดโกรธออกมาจึงไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ เต็มที่คือหน้านิ่วคิ้วขมวดลุกลี้ลุกรนให้รู้ว่าตัวละครมีความเครียดสะสม แต่ภายในขาดแรงผลักดันเก็บกดคลุ้มคลั่ง แทบไม่รู้สึกเลยว่าแดงเป็นคนมีปม
ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ ชื่อเล่นต๊อก (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๕) เกิดที่อุทัยทานี จบการศึกษามัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์, พระนคร ต่อด้วยปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เข้าวงการจากการเป็นนักเต้นให้เจตริน วรรธนะสิน, ถ่ายโฆษณา, มิวสิกวีดิโอ, สมทบภาพยนตร์ 2 จ๊าบ 1 จี๊ด ตอบรักซักทีได้มั้ย! (พ.ศ. ๒๕๓๙), พลุแตกกับปุ๊ ระเบิดขวด ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ เสือ โจรพันธุ์เสือ (พ.ศ. ๒๕๔๑), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ฯ
รับบท ปุ๊ ชื่อจริงจำเริญ บุญยดิษฐ์ เป็นนักเรียนโรงเรียนศิริศาสตร์, สีย่าน ฉายาเดิม ปุ๊ ตรอกสาเก รู้จักสนิทสนมกับแดง ไบเล แต่เมื่อมีเรื่องให้ขัดแย้งแตกคอเลยกลายเป็นศัตรูคู่แค้น ได้รับฉายาระเบิดขวดจากเหตุการณ์วัยรุ่นตะลุมบอนครั้งหนึ่ง มีการปาระเบิดขวดที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถ่ายภาพเขาไว้ จึงกลายเป็นที่มาของฉายาทั้งๆที่ชีวิตจริงไม่เคยใช้ระเบิดขวดเลยสักครั้ง, การเสียชีวิตจริงๆ เกิดจากขัดคอกับลูกน้องมือขวาของตนเอง ดำ เอสโซ่ ดวลปืนพ่ายแพ้เสียชีวิต
สำหรับปุ๊ในหนังเปรียบดั่งหมาบ้า ใช้ชีวิตตามสันชาติญาณ อยากได้อะไรต้องได้ อยากทำอะไรต้องทำ ไม่ประณีประณอม ไม่ฟังเหตุผลใคร และชอบใช้กำลังความรุนแรงในการแก้ปัญหาทุกอย่าง
ถึงตัวละครนี้จะแบนราบมีเพียงมิติเดียวคือด้านชั่วร้าย แต่จะค่อยๆโหดโฉดรุนแรงเสียสติแตกขึ้นเรื่อยๆ ภาพลักษณ์ของพี่ต็อกช่วยเสริมความน่าสะพรึงกลัวได้มากทีเดียว ขณะที่การแสดงเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่เคยเห็นพึงพอใจต่ออะไรสักอย่าง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งทั้งผู้ชมจะเริ่มสาปแช่ง เมื่อไหร่หมอนี่มันจะถูกยิงตายไปเสียที พอไปถึงจุดจบนั้นก็ไม่ได้รับอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากความพึงพอสะใจ
ชาติชาย งามสรรพ์ ชื่อเล่น เก่ง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๖) จบการศึกษามัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ตามด้วยคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, เข้าสู่วงการขณะเรียนมหาวิทยาลัย เป็นนายแบบโฆษณา กางเกงยีนส์แรงเลอร์, เครื่องดื่มชูกำลัง .357, เข้าตาพี่อุ๋ย ชักชวนมาแจ้งเกิดกับภาพยนตร์เรื่องแรก ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), กลายเป็นตำนานกับ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), หลังๆเห็นรับแต่เล่นละครโทรทัศน์
รับบทดำ เอสโซ่ ชื่อจริงชาติชาย แจ้งสว่าง เดิมเป็นนักเลงคุมซ่องย่านสวนมะลิ เป็นคนเงียบขรึม พูดน้อยต่อยหนักเ หลังจากออกจากคุกพร้อมปุ๊ ร่วมกันเปิดซ่องพร้อมเพื่อนสนิทคนอื่นๆ แต่ปุ๊เกิดผิดใจกับเพื่อนของดำถึงขนาดยิงใส่ เลยถูกดำยิงสวนเสียชีวิต หลังจากนั้นเจ้าตัวก็โดนอริยิงจนพิการและเสียชีวิตไปในที่สุด
ดำในหนังเป็นคนเงียบขรึม รักเพื่อน ซื่อสัตย์ จงรักภักดีแบบสุดๆ ไปไหนไปด้วยไม่เคยเห็นแยก ชอบพูดประโยค “แล้วแต่ปุ๊” เหมือนคิดทำอะไรเองไม่เป็นสักอย่าง ต้องเดินตามหลังลูกพี่เพียงอย่างเดียว
ภาพลักษณ์ของพี่เก่งโคตรนักเลงสุดๆเลย ล้ำบึกถึกขนาดนี้ดูคล้ายๆ John Wayne สมัยหนุ่มๆอยู่นะ เมื่อประกบเป็นลูกน้องพี่ต๊อก ราวกับเป็น Bodyguard ก็เรียกว่าเข้าขาความโหดกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย มองหน้ารู้ใจ เพื่อนตายของแท้
อรรถพร ธีมากร ชื่อเล่นหนุ่ม (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๖) นักร้อง นักแสดง บุตรของพูลสวัสดิ์ ธีมากร นักแสดงอาวุโสรุ่นดึก เกิดที่กรุงเทพฯ จบมัธยมจากเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า อนุปริญญาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเซนต์จอห์น เข้าสู่วงการหลังไปออกรายการจันทร์กะพริบ กับพ่อ ทำให้ไได้เล่นละครเรื่อง รุ่นหนึ่งตึกห้าหน้าเดิน (พ.ศ. ๒๕๓๗) ภาพยนตร์เรื่องแรก ล่องจุ๊น ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน (พ.ศ. ๒๕๓๙), โด่งดังพลุแตกกับ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), ส่วนบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดคือ เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗)
รับบทเปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ (ตัวละครสมมติ) พ่อเคยเป็นนักเลงเก่าปัจจุบันบวชเป็นพระ ส่งเสียลูกให้เรียนอาชีวะจนขึ้นปี 2 เพราะคบเพื่อนอันธพาลเกิดเรื่องชกต่อยตีจนถูกไล่ออก เลยตัดสินใจมุ่งหน้าสู่การเป็นนักเลง สนินสนมกับ แดง ไบเล่ ที่เป็นเสมือนไอดอล ต้องการเข้าร่วมกลุ่มแต่ถูกทัดทานหลายครั้ง คนมีมันสมองจะมาจมปลักอยู่กับอโคจรเช่นนี้ทำไม
เกร็ด: วิสุทธิกษัตริย์คือชื่อถนน เริ่มต้นตั้งแต่ถนนราชดำเนินนอก (สี่แยก จ.ป.ร.) ในท้องที่แขวงบางขุนพรหมและแขวงบ้านพานถม, เขตพระนคร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนประชาธิปไตย (สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์) และถนนสามเสน (สี่แยกบางขุนพรหม) จนถึงท่าเรือสะพานพระราม 8 (บางขุนพรหม) ในท้องที่แขวงวัดสามพระยา
เมื่อตัวละครนี้ไม่มีอยู่จริง และเป็นตัวแทนของผู้เขียนนิยายสุริยัน ศักดิ์ไธสง ย่อมสะท้อนถึงความต้องการเพ้อฝันของตนเอง ชีวิตถูกผู้ใหญ่กดหัวเสี้ยมสั่งสอนมาโดยตลอด ต้องเรียนสูงๆ โตไปจะได้มีการงานทำ ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ แต่เคยถามใจกันบ้างไหมว่าฉันอยากเป็นอะไร เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์คือคำตอบของเขา นักเลงหัวไม้ ไม่ต้องทำงานหนัก แต่ร่ำรวยเงินทอง คนนับหน้าถือตา แบบนี้สบายกว่ากันตั้งเยอะ, ต้องถือว่าสุริยัน คือตัวแทนผลพลอยได้จากยุคสมัยตกต่ำของสังคมไทย ทศวรรษที่รัฐบาลมัวแต่คดโกงกิน เกิดการปฏิวัติแทบจะทุกปี หาความสงบสุขมั่นคงแทบไม่ได้ ประชาชนตกงาน ยากจนค้นแค้นไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล เฉกเช่นนี้แล้วเยาวชนคนรุ่นใหม่จะรู้สึกมีเสถียรภาพกับชีวิตได้เช่นไร
ผมค่อนข้างมีความเชื่อว่า การเลือกฉายาวิสุทธิกษัตริย์ เพราะการมีคำว่า ‘กษัตริย์’ สื่อถึงผู้ยิ่งใหญ่ (นักเลงผู้ยิ่งใหญ่?)
บทนี้ของพี่หนุ่มคงต้องเรียกว่า Sidekick ของพี่ติ๊ก พระรองที่ไม่ได้มีบทบาทเด่นหรือฝีมือนักเลงให้ได้รับการจดจำแต่ประการใด แค่ปรากฎตัวเป็นประจักษ์พยานในทุกเหตุการณ์ แถมมิเคยเห็นเข่นฆ่าใช้ความรุนแรงกับใคร มักโดนตบต่อยคว่ำหน้าหงายบ่อยกว่าด้วยซ้ำ กระจอกเสียยิ่งกว่าลูกกระจ๊อก แต่ความโชคดี (Luck) ระดับ 99
แชมเปญ เอ็กซ์ ชื่อจริงจันทร์เพ็ญ อินทรจักร (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๓) นางแบบ นักแสดงชาวไทย เกิดที่สระแก้ว มีชื่อเสียงจากการเป็นนางเอกมิวสิกวิดีโอ Mysterious Girl ของ Peter Andre ที่เดินทางมาถ่ายทำยังเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ทำให้ได้รับโอกาสถ่ายแบบเซ็กซี่ จนกระทั่งเข้าตาพี่อุ๋ย แสดงภาพยนตร์ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) โด่งดังพลุแตก
รับบท วัลภา ณ สงขลา นักร้องไนท์คลับแห่งหนึ่ง รู้จักกับปุ๊ ระเบิดขวด มาก่อนหน้านี้ซึ่งเขาก็ได้แนะนำให้รู้จักกับแดง ไบเล่ ไม่นานก็ได้แต่งงานอยู่ร่วมกัน แต่เพราะ”เป็นเมียเราต้องอดทน” (นี่คือคำพูดจริงๆของแดงกับวัลภาเลยนะ) หลายครั้งจึงเต็มไปด้วยความเครียด อึดอัด ไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่
นอกจากใบหน้าสวยคม เรือนร่างอันสุดเซ็กซ๊่ และน้ำเสียงร้อง(ด้วยกระมัง) ก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นให้พูดถึงกับตัวละครนี้ คงต้องถือว่า แชมเปญ เอ็กซ์ คือ Sex Symbol ของเมืองไทยสมัยนั้น น่าจะขายอย่างอื่นไม่ได้เลยนะ
นักแสดงที่ถือว่าแย่งซีนหนังไปเต็มๆคือ อภิชาติ ชูสกุล หรือพี่หมึก (พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๕๓) เกิดที่หนองแค สระบุรี เรียนจบอัสสัมชัญบางรัก ต่อด้วยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการอ่านสปอตโฆษณาและเป็นผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ ได้รับชักชวนให้เป็นนักแสดงสมทบ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) คว้ารางวัลดาราประกอบชายยอดนิยม จากชมรมวิจารณ์บันเทิง แจ้งเกิดโด่งดังพลุแตกจนกลายเป็นวายร้ายสมทบชั้นเลิศ
รับบท หมู่เชียร อดีตตำรวจรถถังลูกพี่ของแดง ไบเล่ ที่ได้ให้การช่วยเหลือ แนะนำ ซื้อใจให้มาร่วมงานคุมบ่อนที่อู่ตะเภา ตามด้วยชลบุรี แต่เพราะไปขัดเส้นสายกับเจ้าที่เดิม สุดท้ายเลยถูกเก็บยิงเสียชีวิตขณะกำลังขับรถกลับบ้าน
หนึ่งในประโยคตำนานของหนัง ‘แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะ ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้’ เมื่อออกจากปากของพี่หมึก ทั้งภาพลักษณ์ น้ำเสียง ลีลาการพูด เชื่อเลยว่านี่จากประสบการณ์ตรงของชีวิต เชื่อถือได้เป็นสัจธรรม ซึ่งนี่ไม่ได้สะท้อนแค่อู่ตะเภายุคครั้งกระโน้น แต่ยังกรุงเทพฯสมัยหนังฉาย ลามมาจนถึงปัจจุบัน ยังคลาสสิกไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ถ่ายภาพโดยวินัย ปฐมบูรณ์ จากเคยเป็นตากล้องโฆษณา มีผลงานก่อนหน้า ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (พ.ศ. ๒๕๓๖), ปัจจุบันกลายเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์ยอดฝีมือ (ที่หลายครั้งมักควบการถ่ายภาพไปด้วย)
แรกสุดเลยพี่อุ๋ยต้องการถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ เล่าเรื่องแบบสารคดีบันทึกภาพประวัติศาสตร์ ไม่เน้นจัดแสงเงามากนัก แต่เมื่อได้คุยกับค่ายหนัง คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ บอกว่านั่นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็ยินยอมในลักษณะกลางๆ คือเลือก Monotone หนักไปทางสีน้ำตาลเข้ม/ซีเปีย เพื่อคงสัมผัสของความเก่ายุคสมัย ๒๔๙๙
ขณะที่ความตั้งใจนำเสนอรูปแบบสารคดีก็กลายมาเป็น กึ่ง-สารคดี เฉพาะกับฉากต่อสู้ตะลุมบอน จะมีความสับสนวุ่นวายอลม่าน ภาพสั่นๆ หลุดเฟรม ทำเหมือนนักข่าวแบกกล้องวิ่งติดตามสถานการณ์ พอมีระเบิดดังขึ้นก็มีสะดุ้งหลบตื่นตระหนก ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกราวกับอยู่ในเหตุการณ์จริง
การถ่ายกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๙๙ ด้วยเงินทุนจำกัดจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้หนังจึงไม่มีภาพมุมกว้างระยะไกล เห็นแค่บริเวณจำกัดที่มีการจัดฉากสถานที่ออกแบบศิลป์ให้คงกลิ่นอายยุคสมัยไว้แล้วเท่านั้น
มีหลายไดเรคชั่นการถ่ายภาพที่เจ๋งเป้งเลยละ, ต้นเรื่อง ตอนที่แดงกำลังโกนผมบวช กล้องค่อยๆเคลื่อนลงมาจนเห็นกระบอกปืนซุกอยู่ในกางเกง นี่เป็นอะไรที่ขัดแย้งกันเอง เพราะคนที่กำลังจะบวชควรต้องปล่อยวางความยึดติดจากวิถีของโลก พกปืนติดตัวแบบนี้คือละไม่ได้ ก็อย่างที่ตัวละครพูดบอกช่วงท้าย ‘ถึงกายกำลังจะบวช แต่ใจมันไม่บวชแล้ว’
ช่วงของการแนะนำ 5 ตัวละครหลัก แดง ไบเล่, แหลมสิงห์, เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์, ปุ๊ ระเบิดขวด และดำ เอสโซ่ พวกเขาต่างคือเพื่อนเก่าแก่ เคยนั่งล้อมวงในร้านน้ำชา กล้องหมุน 360 องศาสั่นๆรอบโต๊ะ ทำเหมือนหนังของ Quentin Tarantino เรื่องหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าเรื่องไหนนะ)
พี่อุ๋ยพยายามหลีกเลี่ยงนำเสนอฉากความรุนแรงแบบตรงไปตรงมา อาทิ
– การตายของเฮียหมา ขณะกำลังชมภาพยนตร์กลางแปลง (ก็ไม่รู้เรื่องอะไร) ที่กำลังพากย์เสียงยิงปืนปิ้ว ปิ้ว ปิ้ว และวินาทีที่เสียงปืนลั่น เสียงพลุก็ดังยิ่งกว่า ราวกับเป็นการประกาศชัยชนะของแดง ไบเล่ ที่ทำให้เขาโด่งดังกลายเป็นตำนานโดยทันที
– ฉากการเสียชีวิตของหมู่เชียร จะมีแค่ช็อตยิงปืน เลือดสาดเต็มกระจกรถ จากนั้นตัดไปเห็นหลักกิโลเมตร และภาพรถค่ำ จะไม่มีภาพตอนถูกจ่อยิงปรากฎให้เห็น แต่แค่นี้ผู้ชมก็สามารถจินตนาการไปได้ไกลแล้ว
ความขัดแย้งระหว่างปุ๊, ดำ กับแก๊งค์ไบเล่ และเปี๊ยก มีครั้งหนึ่งถูกนำเสนอด้วยปลากัด สัตว์ที่ใครๆก็รู้ว่าอยู่ร่วมบ่อเดียวกันไม่ได้ ต้องเข่นฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งผลลัพท์ครั้งนี้กลับกลายเป็นว่า ตายคู่ … นี่เกือบเป็นการพยากรณ์ตอนจบของหนังเลยนะ
ลำดับภาพโดยสุนิตย์ อัศวินิกุล ทายาทรุ่นที่สองของ ปง อัศวินิกุล ผู้ก่อตั้งห้องบันทึกเสียงรามอินทรา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐, ผลงานเด่นของสุนิตย์ อาทิ ปุกปุย (พ.ศ. ๒๕๓๓), คนแซ่ลี้ (พ.ศ. ๒๕๓๕), รัก-ออกแบบไม่ได้ (พ.ศ. ๒๕๔๑), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔) ฯ
เล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยายจากความทรงจำของเปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ ต่อหลายๆเหตุการณ์ที่เขาพบเจอในชีวิต, เริ่มจากวันที่แดง ไบเล่ กำลังโกนผมบวช แต่ถูกปุ๊ ระเบิดขวด ก่อกวนขว้างระเบิดใส่ จากนั้นย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เพื่อนนักเลงห้าคนล้อมวงดื่มชา ก่อนแยกย้ายไปตามทิศทางของตนเอง พอมาบรรจบถึงตอนบวช ก็มุ่งสู่ไคลน์แม็กซ์จุดแตกหักแท้จริงของมิตรภาพครั้งนี้
เราจะพบเห็นเปี๊ยกตอนแก่ (รับบทโดยผู้แต่งนิยาย สุริยัน ศักดิ์ไธสง) ที่กำลังหวนระลึกความทรงจำครั้นอดีต ปรากฎแทรกอยู่เรื่อยๆพร้อมเสียงบรรยาย เพื่อเชื่อมประสานความต่อเนื่องระหว่างหลายๆเหตุการณ์เข้าด้วยกัน … จริงๆส่วนนี้ผมว่าตัดออกไปเลยก็ได้ ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรต้องใส่เข้ามาให้เกิดความสับสนมึนคง แต่คงเพราะต้องการนำตัวจริงของผู้แต่งนิยาย สุริยัน ศักดิ์ไธสง มาปรากฎตัวให้ผู้ชมรับรู้เห็นเท่านั้นว่า เขายังมีชีวิตอยู่นะ และสามารถกลับตัวเป็นคนดีแล้ว (จริงๆนะหรือ?)
เพราะการเล่าเรื่องมีลักษณะเป็นดั่งความทรงจำ หลายครั้งเพื่อรวบรัดตัดตอนให้หนังกระชับเร็วขึ้น จึงมีการใช้ภาพนิ่งประกอบเพลงเล่าเรื่องราว พบเห็นเด่นๆสองครั้ง คือ
– ตอนแดง ไบเล่ แต่งงานกับ วัลภา ณ สงขลา
– และฉลองเปิดร้านใหม่ของหมู่เชียร (ใช้ภาพขาว-ดำ)
จริงๆตอนหลังศึกถนนสิบสามห้างบางลำพู หนังใช้การตัดไปภาพของเปี๊ยกตอนแก่ ซึ่งกำลังหยิบดูภาพเก่าๆขณะบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น จุดนี้ก็สามารถมองได้ว่าเป็นไดเรคชั่นภาพนิ่งแทนการเล่าเรื่องราวได้เหมือนกัน
สำหรับเพลงประกอบภาพยนตร์ นอกจากของ Elvis Presley ใช้บริการวูล์ฟแพ็ค (Wolf Pack) วงดนตรีสัญชาติไทย ที่เกิดจากการรวมตัวของนักดนตรีเฉพาะกิจจากวงต่างๆ ๔ คน นำเพลงเก่าๆมา Remix บันทึกเสียงใหม่ให้กลายเป็นแนว Hard Rock
(รู้สึกว่าฉบับฉายในไทยกับฉายต่างประเทศ จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย นี่ผมก็ไม่รู้เพราะอะไร มีฉากไหนบ้างนะ แต่ผมบังเอิญไปพบเพลงประกอบที่กำลังหาอยู่ เปิดคลิปหนึ่งเพลงหนึ่ง อีกคลิปดันอีกเพลงหนึ่ง มึนสิครับ ไม่คิดจะพบเจออะไรแบบนี้)
บทเพลงน่าจะดังสุดคือ เจ็ดวันที่ฉันเหงา ในหนังขับร้องโดยแชมเปญ เอ็กซ์ หาให้ฟังไม่ได้เลยนำฉบับอมตะขับร้องโดย เพ็ญแข กัลจาฤกษ์ มาให้ฟังกัน, ฉากที่แดงพยายามไกล่เกลี่ยเคลียร์กับปุ๊ แต่หมาบ้ามันประณีประณอมเป็นที่ไหน เลยกลายเป็นจุดแตกหักของเพื่อนสนิททั้งสอง
แซว: คำร้องเพลงนี้เข้ากับประโยคอมตะ “เป็นเมียเรา ต้องอดทน” เลยนะ
ในบรรดาเพลงของ Elvis ที่ได้ยินในหนัง Hound Dog, Jailhouse Rock, Love me, Don’t Be Cruel, Blue Suede Shoes ใครฟังภาษาอังกฤษออก จะรับรู้ว่าเลือกมาได้ตรงใจความที่หนังต้องการจะสื่อถึงในฉากนั้นๆเลย อย่าง Hound Dog ตอนต้นเรื่อง ขณะสองกลุ่มอันธพาลยกพวกตีกัน พวกมันช่างเหมือนหมากัดกัน, ผมชอบสุดก็บทเพลง Love Me ขณะที่วัลภา เดินตรงเข้ามาหาแดง ราวกับร่ายมนต์ให้เขาตกหลุมรัก
Treat me like a fool,
Treat me mean and cruel,
But love me.
“ไอ้การเป็นนักเลงหัวไม้น่ะ ไม่ใช่ของสนุก วันนี้มันก็สนุกดีหรอก แต่วันหน้าเมื่อคิดได้แล้วจะเสียใจ สิ่งที่ผ่านมาแล้ว จะไม่มีใครกลับมาแก้ให้เราได้ หลวงพ่อรู้ หลวงพ่อเคยผ่านมา ถึงเตือน”
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ สร้างระเบียบกฎกรอบก็หาทางดิ้นรนอยากออก แต่ผมคิดว่าไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งผิดหรอกนะ สำหรับคนที่ต้องการแหกหนีออกจากกรงขัง ตรงกันข้ามมองว่า การเปิดโลกทัศน์ภายนอกให้จนกว่าจะสาสมแก่ใจคือสิ่งจำเป็น จากนั้นค่อยมาชดใช้หนี้เวรกรรมกับสิ่งต่างๆที่ก่อ (ทั้งดีชั่ว) พบเห็นสูงสุด-ต่ำสุด ก็จักสามารถครุ่นคิดเข้าใจ ความสงบก็จะบังเกิด และปล่อยวางจากอารมณ์หมกมุ่นยึดติดได้
คนที่เกิดเป็นนักเลงอันธพาล คือผู้ที่ส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจกับวิถีชีวิตที่เคยอยู่ กล่าวคือยึดติดในสภาพความไม่รู้จักพอ ต้องการอะไรที่มากกว่า ดีกว่า สะดวกกว่า และง่ายกว่า ไม่สนหรอกว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ต่อใคร เมื่อไหร่ แค่ว่าวันนี้ได้อยู่ท่ามกลางแสงสว่างเจิดจรัสจ้า ก็เพียงพอแล้วที่ได้มีชีวิตเกิดพอ ทำทุกสิ่งอย่างสนองกิเลสตัณหาความต้องการส่วนตน
ผู้ใหญ่แทบทั้งนั้น โทษว่ากล่าวความผิดของการที่วัยรุ่นอันธพาลยกพวกตีกัน ว่าเป็นความไม่รักดีของเด็กเอง โดยหาคำนึงสนใจเลยว่าอิทธิพลที่ทำให้พวกเขากลายเป็นนักเลงเลวเช่นนั้น ล้วนรับอิทธิพลจากคนรุ่นก่อนหน้า ก็บรรดาผู้ใหญ่อย่างเราๆนั่นแหละ แสดงออกให้ประจักษ์พบเห็นเป็นแบบอย่าง
ระดับประเทศ: ความไร้ซึ่งเสถียรภาพของการเมือง นี่ฟังอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวแต่คือบรรยากาศของสังคม/ชุมชน ตราบใดที่ประเดี๋ยวก็ประท้วง ประเดี๋ยวก็รัฐประหาร เอาแน่เอานอนไม่ได้ จิตใจมวลรวมของผู้คนก็จะว้าวุ่นวาย พะวงพะวัง ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และยิ่งถ้าบานปลายไปสู่กาลนองเลือด มันจะเกิดความเกรี้ยวกราดขัดขืน วัยรุ่นที่ฮอร์โมนกำลังปั่นป่วนรับอารมณ์เหล่านี้เข้าไปแล้วยังควบคุมไม่ได้ ก็รังแต่ต้องหาทางระบายด้วยความรุนแรงสถานเดียวเท่านั้น
เพื่อนฝูง ไอดอล ดาราศิลปิน: เห็นผู้อื่นกระทำแสดงออกแล้วดูเท่ห์มีสไตล์ ก็อยากเลียนแบบทำตามกระแส นี่คือการทดลองเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของวัยรุ่น สิ่งใดถูกจริตก็รับไว้เข้ากับตัว ทั้งผิดถูกดีชั่ว คบกัลยามิตรก็มักได้ดี แต่ถ้ามีเพื่อนชั่วเตรียมตัวลงนรกรอเลย
ครอบครัว: คือเบื้องหลัง/ความภาคภูมิใจ สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่แทบจะไม่มีใครติดพ่อ-แม่ กันอีกแล้ว (เปลี่ยนมาติดเพื่อน) เพราะความแตกต่างทางวัยวุฒิ ส่งผลต่อทัศนคติ ความคิดอ่าน ผู้ใหญ่ถือเป็นวัตถุโบราณล้าหลัง เฉิ่มเชย จะไปตอบสนองเข้าใจความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างฉันได้อย่างไร ถึงกระนั้นถ้าอดีตที่ผ่านมาครอบครัวได้ทำให้ลูกๆเกิดความรู้สึกดี ไม่มีปมอคติความขัดแย้ง Trauma/Drama สิ่งที่เรียกว่ากตัญญูรู้คุณจะบังเกิด ไม่ปล่อยปละทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง รู้จักการทดแทนสนองบุญคุณ จนกว่าชีวิตจะหาไม่, แต่ถ้าครอบครัวได้กระทำแสดงออกบางอย่าง ที่ทำให้ลูกๆรู้สึกหวาดกลัว อับอายขายหน้า ยินยอมรับไม่ได้ สิ่งที่พัฒนาต่อมาเรียกว่าปมด้อย ก็อย่าไปคิดคาดหวังอะไรดีๆมันจะเกิดขึ้นเลยนะ ทำตัวแย่ๆให้เป็นแบบอย่าง มันจะมีโอกาสสักเท่าไหร่ที่จะพบเจออภิชาตบุตร
ถ้าคุณเคยรับชม A Brighter Summer Day (1991) ผมได้เคยเขียนถึงหลากหลายเหตุผลที่เป็นอิทธิพลให้ วัยรุ่นหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง ใช้คำเรียกว่า ‘จักรวาลชีวิต’ ขณะที่ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง พยายามอย่างยิ่งจะเทียบเคียง (ใช้บทเพลงของ Elvis Presley เหมือนกันด้วยนะ) แต่ก็ทำได้เพียง Vanilla Version ก็ไม่เป็นไร แต่ของเรามีอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่าง
หมองูตายเพราะงู ปลาหมอตายเพราะปาก นักเลงฆ่าคนย่อมหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม เคยทำอะไรกับใครไว้ สักวันหนึ่งต้องได้รับสิ่งนั้นตอบสนองเข้ากับตนเอง
ในวันแห่งการบวช คือกุศโลบายสอนให้รู้จักการปล่อยวางไม่ยึดติดทางโลก มุ่งสู่ทางสงบทั้งกายและจิต ซึ่งชาวเรามีความเชื่อกันว่าการอโหสิกรรมให้กับนาค จะทำให้ความชั่วที่เคยทำไว้ในอดีตชาติเจือจางเลือนลางลง (แต่ไม่ได้สูญหายไปนะครับ แค่ว่าผลกรรมที่จะได้รับไม่รุนแรงระดับตาต่อตาฟันต่อฟัน) กระนั้นการที่มีใครสักคนหนึ่ง ฉุดดึงเหนี่ยวรั้งไว้ ก่อกวนความสงบ ไม่ยินยอมให้ไปบวช นี่ไม่ได้แปลว่ามารผจญ แต่คือเจ้ากรรมนายเวรจากปางก่อนกลับชาติมาเกิด ทวงคืนความยุติธรรมที่ตนเคยได้รับมา
มันอาจเป็นกรรมสนองมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะแม่ของแดงเป็นโสเภณี ซึ่งการที่ขอให้ลูกบวช มองยังไงก็เหมือนเรียกร้องค่าตอบแทนบุญคุณเลี้ยงดู ขออานิสงฆ์เกาะชายผ้าเหลือง แค่ตนเองไม่ต้องตกนรกปีนต้นงิ้วกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่, เพราะความไม่บริสุทธิ์ใจของแม่นี้ คงส่งผลให้แดงก็ไม่ได้คิดอยากบวชให้จริงๆจังๆ กายห่มผ้าเหลืองแต่ปืนยังเหน็บกางเกง สวมแว่นดำสะท้อนภาพอุโบสถแต่ก็เป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน สุดท้ายเลยไม่มีใครได้รับผลบุญ หนีกรรมหนักที่เคยก่อไม่พ้นจริงๆ
เช่นกันกับพ่อของเปี๊ยกที่เลือกบวชเป็นพระ แต่เหมือนว่าท่านเลือกทางนี้เพราะรู้สึกสำนึกผิดกับการกระทำในอดีตของตนเอง ด้วยเหตุนี้เวลาพูดสั่งสอนลูกๆและผองเพื่อน มันเลยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่มีใครอยากรับฟังชวนเชื่อ ทั้งๆที่มาจากประสบการณ์ตรงของตนเองแท้ๆ
การบวชเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพร้อมทั้งกายและใจ, ใจอย่างเดียวแต่ร่างกายพิกลพิการไม่พร้อม พระท่านก็ไม่อนุญาตให้บวชเพราะรังแต่จะเป็นภาระภิกษุรูปอื่น ขณะเดียวกันกับคนที่สนเพียงห่มกายด้วยผ้าเหลือง แทนที่บวชพระแล้วจะได้บุญ กลับเพิ่มพูนบาปของตนเอง ว่าไปไม่ต่างอะไรกับวานรได้แก้ว ผู้ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ได้มาหรือที่มีอยู่ สุดท้ายเจ้าลิงก็ต้องโยนทิ้งไปเพราะในความคิดของมัน แก้วนี้เอาไปทำอะไรไม่ได้สักอย่าง
ก็ลองถามใจตัวเองดูแล้วกัน บวชแบบ แดง ไบเล่ กายห่มผ้าเหลือง แต่ใจยังคงแบกปืนหนักอึ้ง เช่นนั้นเป็นพระแล้วมีประโยชน์เช่นไร? อะไรๆจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า?
๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง ออกฉายก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้งเพียงไม่กี่เดือน (หนังฉายเดือนเมษายน, ฟองสบู่แตก พ.ศ. ๒๕๔๐ เริ่มนับเดือนกรกฎาคม) สภาพบ้านเมืองช่วงนั้นอยู่ในบรรยากาศตึงเครียดเรื่องเศรษฐกิจพอสมควร (ตอนนั้นเมืองไทยไม่มีปัญหาการเมืองนะ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี) เพราะหนังถือว่าตอบสนองความต้องการของคนไทยขณะนั้น ที่กำลังแสวงหาบางสิ่งอย่างระบายความอัดอั้นทุกข์ทรมาน พบเห็นความเกรี้ยวกราดรุนแรงฆ่ากันตายเลือดสาดเลยรู้สึกพึงพอใจมากเป็นพิเศษ
ด้วยทุนสร้างประมาณ ๑๖ ล้านบาท (นายทุนให้ประมาณ ๖ ล้าน ควักเงินเก็บอีกประมาณ ๑๐ ล้าน) ประมาณการรายรับ ๗๐-๗๕ ล้านบาท ทุบสถิติภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดเรื่องก่อนหน้า โลกทั้งใบให้นายคนเพียง (พ.ศ. ๒๕๓๘) ที่ ๕๕ ล้านบาท [ก่อนถูกทำงานด้วยผลงานถัดมาของพี่อุ๋ย นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๔) ไปเกือบเท่าตัว]
หลายคนอาจรู้สึกแปลกๆ ทั้งๆที่ขณะนั้นเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งรุนแรงสาหัส แต่วงการภาพยนตร์ไทยกลับรุดหน้ารุ่งโรจน์สวนทาง จริงๆไม่ใช่เรื่องน่าพิศวงอะไรเลยนะครับ เพราะผู้คนเครียดหนัก ธุรกิจล้มลายกลายเป็นฟองสบู่ มีไม่กี่สถานที่เท่านั้นสามารถหนีโลก ผ่อนคลายจากความเครียดนี้ได้ หนังเรื่องไหนมีความตรงใจผู้ชมก็จะฮิตถล่มทลายในแบบที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ก็คิดเล่นๆ เหตุผลที่นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๔) ทำเงินถล่มทลายเกินร้อยล้านบาทแรกของเมืองไทย เพราะความหลอนสุดฤทธิ์เดช มันตรงกับความหวาดหวั่นวิตกกลับต่อสภาพเศรษฐกิจโลกขณะนั้นเปะๆเลยไม่ใช่รึ, หรือบางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓) อ้ายทองเหม็นเสียสละเพื่อชาติ … แม้ตัวกูตายแต่ประเทศยังคงอยู่!
กวาดทุกรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากทุกสถาบัน (สุพรรณหงส์, พระสุรัสวดี, ชมรมวิจารณ์บันเทิง)
- รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๗
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
- บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
- กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
- แต่งหน้ายอดเยี่ยม
- รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ ๒๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐
- ภาพยนตร์ยอดนิยม
- บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
- กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
- กำกับภาพยอดเยี่ยม
- บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
- รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ ๖
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
- นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (อภิชาติ ชูสกุล)
- บทภาพยนตร์ดีเยี่ยม
- กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆ คือการนำพุทธศาสนาสอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดของหนัง ทำไมแม่ถึงอยากเห็นผ้าเหลืองของลูก? ทำไมแดง ไบเล่ ยินยอมบวชให้แม่? กรรมหนักแน่ไหนฆ่าคนตายวันบวชนาค? คงมีแค่คนไทยเท่านั้นที่เกิดความเข้าใจตอบคำถามเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เช่นกันกับชื่อหนัง พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็มีเพียงประเทศเดียวในโลกใช้พุทธศักราช เป็นปฏิทินทางการประจำชาติ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อย่าให้ความโกรธเกลียดเคียดแค้น กัดกร่อนเกาะกินจิตใจเรา จนมิอาจทำอะไรอื่นได้จากการครุ่นคิดถึงการล้างคืนแค้นสถานเดียว เพราะจุดจบของเรื่องพรรค์นี้มันก็วนเวียนอยู่กับ โศกนาฎกรรม เท่านั้นแหละ
วัยรุ่นกำลังคึกคะนองรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรสักเท่าไหร่หรอก พวกเขาจะจดจำเสน่ห์ความเท่ห์ของทั้งก๊วนอันธพาล เพ้อใฝ่ฝันอยากกลายเป็น … แต่ก็อาจมีความเป็น ‘นักเลงลูกผู้ชาย’ มากขึ้น
ซึ่งกลุ่มคนที่น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดคือพ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่รับรู้ตัวว่ามีลูกนิสัยเกเรเป็นอันธพาล ลองครุ่นคิดค้นหาวิธีการอื่น (ที่ไม่ใช่แบบในหนัง) ชี้ชักนำพาให้พวกเขาสามารถเอาตัวรอดผ่านพ้นอย่างน้อยก็ช่วงวัยรุ่นฮอร์โมนพลุกพร่าน เมื่อไหร่เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อนกลับมา ก็จักเข้าใจถึงความโง่เขลาเบาปัญญาที่ตนเคยเป็นเมื่อครั้นเก่าก่อนเอง
แนะนำกับคอหนังวัยรุ่น อันธพาล ยกพวกตีกัน, คนที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาวัยรุ่น สวัสดิภาพเด็ก จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ฯ, อยากรู้จักแฟชั่นนิยมของประเทศไทยเมื่อครั้น พ.ศ. ๒๔๙๙, แฟนๆผู้กำกับนนทรีย์ นิมิบุตร, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง บรรดานักแสดงนำ พี่ติ๊ก, พี่ต๊อก, พี่หนุ่ม, พี่เก่ง, พี่โจ๊กเกอร์, พี่หมึก และแชมเปญ เอ็กซ์ ไม่ควรพลาด
จัดเรต ๑๓+ กับความรุนแรง คำหยาบคาย และภาพถูกยิงหัวกระจุย
“ช่วงของการแนะนำ 5 ตัวละครหลัก แดง ไบเล่, แหลมสิงห์, เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์, ปุ๊ ระเบิดขวด และดำ เอสโซ่ พวกเขาต่างคือเพื่อนเก่าแก่ เคยนั่งล้อมวงในร้านน้ำชา กล้องหมุน 360 องศาสั่นๆรอบโต๊ะ ทำเหมือนหนังของ Quentin Tarantino เรื่องหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าเรื่องไหนนะ)”
น่าจะเรื่อง Reservoir Dogs (1992) นะครับ
ใช่ๆ ตอนผมเขียน Reservoir Dogs (1992) ก็นึกๆอยู่ว่าเคยบ่นอะไรไว้ ถ้าไม่มาเตือนกันนี่ผมก็ลืมไปแล้วนะเนีย