12 Monkeys (1995) : Terry Gilliam ♥♥♥♥
ภาพยนตร์ Sci-Fi แนวย้อนเวลา เพื่อตามหาจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุดโลก, นำแสดงโดย Bruce Willis เล่นเป็นคนบ้า Brad Pitt เป็นคนบ้ากว่า แต่บ้าที่สุดคงต้องยกให้ผู้กำกับ Terry Gilliam
ดัดแปลง/ได้แรงบันดาลใจจากหนังสั้นสัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง La Jetée (1962) ของผู้กำกับ Chris Marker ที่นำเสนอด้วยภาพนิ่งทั้งหมด (Photomontage), จริงๆจะเรียกว่า remake ก็ยังได้ เพราะมีพล็อตหลักแบบเดียวกัน แค่นำเสนอด้วยวิธีการปกติให้ผู้ชมดูง่ายขึ้นเท่านั้น กระนั้นก็เชื่อว่าหลายคนคงยังส่ายหน้า นี่มันหนังบ้าอะไรว่ะเนี่ย!
12 Monkeys เคยเป็นหนึ่งในหนังโปรดของผมเมื่อประมาณหลายสิบปีก่อน มีประมาณ 5-10 เหตุผลที่ชอบ
– เพลงประกอบเพราะมาก หลอนโคตรๆ
– Bruce Willis บื้อมาก หมดคราบพระเอก
– Brad Pitt บ้ามาก (กว่า Fight Club เสียอีก)
– Medeleine Stowe สวยมากโดยเฉพาะลุคผมบลอน
– โลกอนาคตแบบ Dystopia จินตนาการได้ล้ำลึก
– พล็อตหนังหักมุมได้ขัดใจสุดๆ
ฯลฯ (พอแค่นี้ก่อนนะครับ)
แต่มาคิดๆดู เหตุผลจริงๆที่ทำให้ผมหลงรักหนังเรื่องนี้คือ ‘การย้อนเวลา’ เสียมากกว่า, เพราะนี่อาจเป็นหนังเรื่องแรกของแนวนี้ที่ผมได้รับชม มันเลยเกิดความอึ้งทึ่งตราตรึงประทับใจ ไปกับจินตนาการล้ำยุคคาดไม่ถึง พล็อตแบบนี้คิดมาได้ยังไง!
มารับชมครั้งนี้ แม้ไม่ได้กลายเป็นหนังโปรดอีกต่อไปแล้ว และรู้สึกว่าการดำเนินเรื่องค่อนข้างช้าน่าเบื่อไปเสียหน่อย แต่ยังคงหลงรัก หลงใหล คลั่งไคล้ ไม่เสื่อมคลาย, คงเพราะผมยังคงตราตรึงกับประเด็น ‘การย้อนเวลา’ ที่ได้ฝังลึกประทับอยู่ในใจ, คงมีหลายคนที่รู้สึกว่าชีวิตในอดีตมีบางอย่างต้องการกลับไปแก้ไข ถ้าย้อนเวลาได้ก็อยากจะ… แต่มันก็แค่เรื่องเพ้อฝัน อะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีวันสามารถกลับไปทำอะไรได้ นอกเสียจากยอมรับอดีตของตัวเอง หนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน ใช่ว่าตอนจบพระเอกนักท่องเวลาจะสามารถแก้ไขอะไรได้ เขาแทบไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ค้นหาพบบางสิ่งอย่างในอดีตแล้วบอกต่อ นั่นอาจทำให้ผู้คนในอนาคตมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดิมได้
โปรดิวเซอร์ Robert Kosberg ผู้เป็นแฟนหนังสั้น La Jetée (1962) มีความใคร่สนใจ remake/ดัดแปลงภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้มีความสากลเข้าถึงง่ายต่อผู้ชมวงกว้าง เกลี้ยกล่อม Chris Marker ผู้กำกับ/เขียนบท หนังสั้นเรื่องดังกล่าวให้ขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงให้ Universal Pictures ที่ก็กึ่งๆถูกบังคับให้ซื้อ ว่าจ้างสองสามีภรรยา David Peoples และ Janet Peoples พัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ขึ้นใหม่
เกร็ด: David Peoples ก่อนหน้านี้เคยเขียนบทหนังไซไฟมาแล้วเรื่องหนึ่งคือ Blade Runner (1982)
โปรดิวเซอร์ Charles Roven ตัดสินใจเลือก Terry Gilliam ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าสไตล์ของเขาเหมาะกับการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงต่อเนื่อง (nonlinear storyline) และ sub-plot ที่เป็นการย้อนเวลาเป็นอย่างยิ่ง, นั่นทำให้ Gilliam ที่ตอนนั้นมีความตั้งใจดัดแปลงสร้าง A Tale of Two Cities ทิ้งโปรเจคนั้นและมาสร้าง 12 Monkeys แทน, ถือเป็นครั้งที่สองที่ Gilliam ไม่ได้กำกับหนังที่สร้างจากบทของตัวเอง (เรื่องแรกคือ The Fisher King-1991)
เกร็ด: สำหรับโปรเจค A Tale of Two Cities ได้กลายเป็นหมันไปเลยนับจากนั้น ไม่มีใครสานต่อและ Gilliam ก็ยังไม่มีเวลาว่าง(และทุน) กลับมาทำต่อ
เกร็ด2: ถึงจะดัดแปลงมาจาก La Jetée (1962) แต่เห็นว่าผู้กำกับ Gilliam ไม่เคยรับชมหนังสั้นเรื่องนี้เลย (เพราะไม่ต้องการถูกครอบงำทางความคิดในระหว่างการสร้าง)
Terrence Vance Gilliam (เกิดปี 1940) ผู้กำกับภาพยนตร์/อนิเมชั่น สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Minneapolis, Minnesota แต่ไปเติบโตที่ Los Angeles เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ Occidental College แต่กลับเลือกทำงานเป็นนักอนิเมเตอร์ วาดการ์ตูนลงนิตยสาร Help! กระทั่งมีโอกาสพบเจอ John Cleese ชักชวนมาเข้าร่วมคณะ Monty Python ในฐานะนักอนิเมเตอร์, จากนั้นร่วมลองผิดลองถูกในการกำกับ Monty Python and the Holy Grail (1975), และฉายเดี่ยวตั้งแต่ Jabberwocky (1977), Time Bandits (1981), Brazil (1985), 12 Monkeys (1995) ฯ
“intriguing and intelligent script. The story is disconcerting. It deals with time, madness and a perception of what the world is or isn’t. It is a study of madness and dreams, of death and re-birth, set in a world coming apart.”
ในปี 1996 ไวรัสอะไรสักอย่างคร่าชีวิตมนุษย์โลกทั่งโลกไปกว่า 5 พันล้านคน หลงเหลีอเพียง 1% ต้องอาศัยอยู่ใต้ดิน, ปี 2035 นักโทษชื่อ James Cole (รับบทโดย Bruce Willis) ได้ถูกบังคับเป็นอาสาสมัคร ส่งตัวเข้าเครื่องย้อนเวลากลับไปปี 1996 เพื่อรวบรวมข้อมูล ค้นหาต้นสายปลายเหตุก่อนที่เหตุการณ์วันสิ้นโลกจะเกิดขึ้น แต่ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะราบรื่น เดินทางครั้งแรกปรากฎว่าไปโผล่ปี 1990 ได้พบกับนักจิตวิทยา Dr. Kathryn Railly (รับบทโดย Madeleine Stowe) ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลโรคประสาท และได้พบกับ Jeffrey Goines (รับบทโดย Brad Pitt) พวกเขาทั้งสามมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และใครอะไรคือจุดเริ่มต้นเหตุของโลกาวินาศนี้
สำหรับนักแสดง ตอนแรก Gilliam ตั้งใจเลือก Nick Nolte สำหรับบท James Cole และ Jeff Bridges สำหรับบท Jeffrey Goines แต่ถูก Universal บอกปัด ทำให้ผู้กำกับได้พบกับ Bruce Willis และรู้สึกว่าชายคนนี้ไม่ธรรมดาเสียเลย ‘somebody who is strong and dangerous but also vulnerable.’
Walter Bruce Willis (เกิดปี 1955) นักแสดงชาวอเมริกัน ที่ใครๆคงจดจำภาพลักษณ์พระเอกหนังแอ๊คชั่นหัวล้านเหม่ง หน้าตาเข้มๆเครียดจากการรับบทใน Die Hard แต่จะบอกว่าก่อนที่จะเข้าวงการ Willis เป็นนักแสดง Off-Broadway ที่มากฝีมือ และเป็นนักแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ในยุค 80s ได้รางวัล Emmy Award, Golden Globe สาขา Best Actor ถึงสองครั้ง, สำหรับผลงานภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นมากๆ อาทิ Color of Night (1994), Pulp Fiction (1994), The Fifth Element (1997), Armageddon (1998), The Sixth Sense (1999), Sin City (2005), Looper (2012) ฯ
สมัยยังเด็กๆ ผมถือว่าตัวเองเป็นแฟนตัวยงของ Willis เลยนะครับ (เหตุผลเพราะหน้าของพี่แกคล้ายพ่อของผมมาก โดยเฉพาะทรงผมหัวล้าน) เอาจริงๆพี่แกก็ถือว่าเป็นนักแสดงมากฝีมือ แต่ใครๆมักมองข้าม จดจำแต่ภาพลักษณ์ในมุมของนักแสดงหนังบู๊บ้าพลัง จึงไม่ค่อยมีโอกาสเล่นหนังขายการแสดงเสียเท่าไหร่ แถมนิสัยช่วงหลังๆเป็นคนอารมณ์ร้อน เรื่องมาก ทำงานกับใครไม่ค่อยได้เสียด้วย (แต่ก็ยังเห็นผลงานอยู่เรื่อยๆนะ)
รับบท James Cole ต้องถือว่านี่เป็นหนึ่งในการแสดงที่ผมชอบมากๆเรื่องหนึ่งของ Willis จิตใจของตัวละครมีความสับสนว้าวุ่นวาย เหตุเกิดจากการไม่สามารถคิดปรับตัวเข้ากับการย้อนเวลาได้ อะไรคืออดีต? อะไรคือปัจจุบัน? อะไรคืออนาคต? ความสับสนภายในใจส่งผลกระทบต่อร่างกายให้ไม่สามารถตอบสนองยอมรับ จะสังเกตว่าช่วงแรกๆ ร่างกายเหมือนจะยังปรับตัวไม่ได้ ตัวสั่นๆนั่งโยกไปมาน้ำลายฟูมปาก แต่พอช่วงหลังๆเมื่อเริ่มเข้าใจตนเอง จึงค่อยพัฒนากลับกลายเป็นเหมือนคนปกติ
บางคนอาจคิดว่า อาการตัวสั่นน้ำลายฟูมปากในช่วงแรกของตัวละครนี้ เกิดจากผลกระทบจากการย้อนเวลาแบบในหนังเรื่อง Terminator (1984) มันก็อาจมีส่วนนะครับ แต่ผมมองว่าการแสดงออกแบบนี้มีนัยยะถึงผลกระทบทางจิตใจตัวละครมากกว่าแค่ทางกายเท่านั้นด้วย
เกร็ด: ชื่อของ James Cole มีคำย่อว่า J.C. ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าอาจมีนัยยะถึง Jesus Christ บุตรของพระเจ้าผู้มาช่วยเหลือปลดปล่อยมนุษย์ … ก็พอมีความเป็นไปได้อยู่นะครับ
สำหรับบท Dr. Kathryn Railly ผู้กำกับเลือก Madeleine Stowe เพราะประทับใจการแสดงของเธอใน Blink (1994) ได้พบครั้งแรกตอนมาคัดเลือกนักแสดง A Tale of Two Cities บอกว่า ‘She has this incredible ethereal beauty and she’s incredibly intelligent, Those two things rest very easily with her, and the film needed those elements because it has to be romantic.’
Madeleine Marie Stowe (เกิดปี 1958) นักแสดงสาวสุดสวยสัญชาติอเมริกา (ตัวจริงเธอผมดำนะครับ) ผมจดจำเธอได้จาก The Last of the Mohicans (1992) กับ We Were Soldiers (2002) ถือว่าเป็นนักแสดงที่พอมีชื่อเสียงในอดีตแต่ไม่ได้โด่งดังนัก ปัจจุบันไม่เห็นผลงานภาพยนตร์แล้ว เน้นแสดงละครโทรทัศน์มากกว่า
เกร็ด: เห็นว่า Stowe มารับเชิญใน 12 Monkeys ฉบับ tv-series ด้วยนะครับ
รับบทนักจิตวิทยา Dr. Kathryn Railly จะถือว่าเธอเป็นตัวละครจิตปกติคนเดียวในหนังเลยก็ว่าได้ เปรียบวิทยาศาสตร์เหมือนดั่งศาสนาลัทธิใหม่ แต่เมื่อความเชื่อของเธอถูกทำให้สั่นคลอน มันเลยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาที่พึ่งศรัทธาใหม่
ลองจินตนาการตามดูนะครับ ถ้ามีใครสักคนจากอนาคตทายถูกทุกเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วบอกว่าอีกไม่นานมนุษย์ชาติจะถูกทำลายล้างจนเกือบสิ้นสูญไป เป็นคุณจะคิด-เชื่อ-รู้สึก-แสดงออกอย่างไร … ไม่เชื่อ! หาทางเอาตัวรอดถึงที่สุด? ยอมรับความตาย? หรือกลายเป็นบ้าไปเลย?
การวินิจฉัยเบื้องต้นของ Railly ต่อ Cole คือป่วยเป็นโรค Cassandra Complex, ชื่อ Cassandra มาจากตำนานของ Greek ผู้เป็นลูกสาวของ Priam และกษัตริย์เมือง Troy ด้วยความงามของเธอทำให้ Apollo ส่งของขวัญเป็นคำทำนายอนาคต แต่เธอปฏิเสธเขาจึงได้ใช้คำทำนายนี้เพื่อหลบลี้หนีหายเอาตัวรอดไป, ซึ่งคำว่า Cassandra ได้กลายเป็นนัย (metaphor) ในเชิงปรัชญาที่มีความหมายถึง ความเชื่อของบุคคลที่คิดว่าตัวเองรับรู้เรื่องราวในอนาคต สอดคล้องกับตัวละครของ Cole ที่อ้างว่ารู้อนาคตเป็นอย่างดี (แต่ในกรณีของเขา คือรู้จริงๆว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้มโนขึ้นมาเอง)
อีกตัวละครหนึ่ง Jeffrey Goines ผู้กำกับไม่เชื่อว่า Brad Pitt จะเหมาะสมกับบท แต่ถูกโน้มน้าวโดยทีมงานที่คัดเลือกนักแสดง, ขณะนั้น Pitt ยังไม่ได้เป็นที่รู้จัก นักแสดงแนวหน้าของวงการ จึงได้ค่าตัวส่วนแบ่งไม่มากเท่าไหร่ แต่เพราะช่วงระหว่างนั้นผลงานของเขาอย่าง Interview with the Vampire (1994), Legends of the Fall (1994), Se7en (1995) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนกลายเป็นนักแสดงเกรด A นี่อาจคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จล้นหลาม ถึงขนาดได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เป็นครั้งแรก
William Bradley ‘Brad’ Pitt (เกิดปี 1963) นักแสดง โปรดิวเซอร์สัญชาติอเมริกา เป็นดาราชายน่าจะถือได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก, ผลงานแรกที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักคือ Thelma & Louise (1991), A River Runs Through It (1992) จนนักวิจารณ์ชมว่าต่อไปคงโด่งดังเหมือน Robert Redford สมัยหนุ่มๆ ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ Seven และ 12 Monkeys ตามมาด้วย Fight Club (1999) และผลงานอื่นๆ อาทิ Ocean’s Eleven (2001), Troy (2004), Mr. & Mrs. Smith (2005), The Curious Case of Benjamin Button (2008), World War Z (2013) ฯ
ถ้าไม่นับเรื่องฉาว และรักร้าวกับ Angelina Jolie ต้องบอกว่า Pitt ไม่ใช่แค่นักแสดงมากฝีมือเท่านั้น แต่ฉลาดและรู้จักเข้าใจอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอย่างดี เมื่อปี 2001 เปิดบริษัท Plan B Entertainment และในช่วงทศวรรษ 2010s มีผลงานระดับ Oscar หลายเรื่องทีเดียว อาทิ The Tree of Life (2011), Moneyball (2011), 12 Years a Slave (2013), Selma (2014), The Big Short (2015), Moonlight (2016) ฯ
รับบท Jeffrey Goines หมอนี่ insane จัดว่าเป็นคนบ้าแน่นอน สายตา-คำพูด-มือไม้-ท่าทาง-การคิด-กระทำ เรียกว่าออกมาจากความต้องการภายในใจแบบไม่มีปกปิด คิดว่านี่เป็นปมเกิดจากพ่อที่เก่งอัจฉริยะสมบูรณ์แบบ ทำให้เกิดความคาดหวังกับลูกอย่างสูง แต่พอไม่ได้ดั่งใจก็ปล่อยปละละทิ้ง ลูกที่รักพ่อมากเลยเกลียดพ่อมากๆเช่นกัน จิตใจปรับตัวยอมรับไม่ได้ร่างกายเลยไม่สามารถตอบสนองควบคุมได้ ทุกความรู้สึกจึงแสดงออกมาอย่างชัดเจน
แทบจะทุกคำพูด/นาทีที่ตัวละครนี้อยู่ในฉาก จะต้องชูนิ้วกลาง กลิ้งหัว ตัวโยกไปมา (เหมือนคนกลับกลอก) มันแปลว่าเขาต่อต้านรังเกียจทุกสิ่งอย่างรอบข้างตนเอง เหมือนหุ่นกระบอกที่ถูกเชิดชัก โยกกระโดดไปมาไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งกับที่ได้ แต่คำพูด แนวคิดของตัวละครในหลายๆครั้ง มันกลับตรงมากๆ อาทิ
– “We’re consumers. Buy a lot of stuff, you’re a good citizen. If you don’t, you’re mentally ill.”
– “There’s no right, there’s no wrong, there’s only popular opinion”
– “They’re protecting the people on the outside from us, when the people on the outside are as crazy as us.”
เกร็ด: ก่อนหน้าการถ่ายทำ Pitt ใช้เวลาหลายสัปดาห์อาศัยอยู่ที่โรงพยาบาล Temple University เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคจิต ในการเตรียมตัวเพื่อรับบท
เราจะเห็นว่าหลายๆตัวละครในโลกอนาคต อาทิ นักวิทยาศาสตร์, นักโทษ, ผู้คุม ฯ ล้วนจะต้องเห็นปรากฎตัวในฉากอดีตทั้งหลาย นี่ตีความได้ 2 อย่าง พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งมีตัวตนในโลกนั้น หรือไม่อาจเป็นเพียงจินตนาการในหัวของตัวละครก็ได้
ถ่ายภาพโดย Roger Pratt ที่เคยร่วมงานกับ Gilliam มาแล้ว 2 จากเรื่อง Brazil (1985) กับ The Fisher King (1991), งานภาพถือว่าแปลกประหลาดมาก ภาพดูโค้งนูนใหญ่กว่าปกติ (เพราะใช้เลนส์ fresnel/flat lenses แบบเดียวกับหนังเรื่อง Brazil) หาได้ยากกับมุมกล้องถ่ายตรงๆ ต้องเอียงกระเท่เร่ และทิศทางการเคลื่อนไหวโยกเยกโย้เย้ไปมา มีนัยยะถึงโลกที่บิดเบี้ยวบู้บี้ไม่สมส่วน หรือ Dystopia นรกบนดิน
ฉากในสนามบินต้นเรื่องและท้ายเรื่องจะมีความสว่างจ้ากว่าปกติ (High Key) ให้ความรู้สึกเหมือนในความฝัน/ภาพเลือนลางในความทรงจำ(ของเด็กชาย)
หนังถ่ายทำที่ Philadelphia กับ Baltimore เป็นหลัก, ฉากสนามบินถ่ายที่ Baltimore-Washington International Airport ส่วนโรงพยาบาลถ่ายทำที่ Eastern State Penitentiary
ตัดต่อโดย Mick Audsley ชาวอังกฤษ มีผลงานอย่าง Interview with the Vampire: The Vampire Chronicles (1994), Harry Potter and the Goblet of Fire (2005), Prince of Persia: The Sands of Time (2010) ฯ
ความยากในการเข้าใจหนังเรื่องนี้อยู่ที่การตัดต่อ เพราะใช้วิธีเล่าเรื่องตัดสลับไปมาแบบไม่เรียงลำดับตามเวลา เดี๋ยวไปโผล่ปี 1990 เดี๋ยวไปสงครามโลกครั้งที่ 1 กว่าจะมาปีที่อยากได้ก็วนๆอยู่หลายรอบทีเดียว, จริงๆผมว่ามันก็ไม่ยากไปนะ จำได้ตอนดูครั้งแรกก็สามารถเข้าใจได้ทันทีเลย เพราะรู้ว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับการย้อนเวลา มันจึงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเล่าเรื่องเรียงตาม Timeline บางทีไม่ต้องสนใจมันก็ได้ว่าจะกระโดดไปปีไหน เพราะหนังใช้มุมมองของ James Cole เล่าเรื่อง ผู้ชมก็จะเกาะตามติดชีวิตของเขา รับรู้เข้าใจว่าไปเจออะไรมา แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว
ลำดับการเล่าเรื่องถือว่ามีความน่าฉงนสนเท่ห์มาก คือการย้อนเวลาครั้งแรกอยู่ๆ Cole ก็โผล่ไปเลยปี 1990 แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้า บลา บลา บลา แล้วอยู่ดีๆก็กลับมาปัจจุบัน ไม่มีเหตุผลคำอธิบายใดๆว่าไปๆมาๆได้อย่างไร จนกระทั้งการย้อนเวลาครั้งถัดมา ถึงค่อยนำเสนอให้เราเห็นเจ้าเครื่องที่ใช้ย้อนเวลา นำเสนอแบบนี้เป็นการค่อยๆเปิดเผยคำอธิบายข้อสงสัยของผู้ชม ให้ค่อยๆคลายออกทีละเปราะ แต่ใช่ว่าทุกคำถามจำมีคำตอบ บางอย่างก็ไม่มีหาไม่พบด้วย แต่มันก็แสดงว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไรนะสิ
เพลงประกอบโดย Paul Buckmaster ชาวอังกฤษ ที่เคยร่วมงานกับ Elton John และ The Rolling Stones ในบทเพลงที่บรรเลง Orchestra, สำหรับหนังเรื่องนี้มีไม่กี่เพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการเรียบเรียงใหม่บทเพลงที่คัดสรรมามีความเข้ากับองค์ประกอบของหนัง หรือไม่ก็นำมาใช้ตรงๆ อาทิ Blueberry Hill (1940) ของ Fats Domino, Sleep Walk (1959) ของ Santo & Johnny, What a Wonderful World (1967) ของ Louis Armstrong ฯ
เพลงเปิดเรื่อง และถือเป็น Main Theme ของหนังเรื่องนี้ Suite Punta del Este เป็น tango nuevo (เป็นดนตรีประเภทหนึ่ง ที่พัฒนาการมาจากดนตรีพื้นบ้าน Tango) ประพันธ์โดย Astor Piazzolla ชาว Argentine เมื่อปี 1982 มีทั้งหมด 3 ท่อน
ตอนผมได้ยินครั้งแรกก็ติดหูแทบจะทันที นี่มันเพลงบ้าอะไรกันหลอนหลอก เสียวสันหลัง สะท้านไปถึงขั้วหัวใจ สัมผัสได้ถึงความฟ่อนเฟะ ล่มสลาย จุดสิ้นสุดของโลก, เครื่องดนตรีที่ใช้มีเพียง bandoneon (accordion), flute, oboe, clarinet, bassoon และเครื่องสาย violin, cello, double bass, ผมเปรียบความอลม่านวุ่นวายของบทเพลง เหมือนกับลิงที่ซุกซนหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องทำอะไรบางอย่าง
บทเพลงในความฝันของ Cole ผมหามาให้ฟังไม่ได้ เป็นการเดี่ยวไวโอลิน ที่มีความโหยหวนมากๆ ทุกครั้งจะมาพร้อมกับความฝันที่เห็นชายไว้หนวดผมทองถูกยิง แล้วหญิงสาวผมบลอนคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหา สปอยฉากนี้ไปคงไม่สนุกแน่ เอาว่าฉากแรงของหนังคงได้เห็น ได้ยินเสียงไวโอลินนี้แน่ๆ ฟังแล้วหัวใจจะสั่นระริกรัว สะท้อนหวิวๆ อยากจะร้องไห้ ใครสักคนปลุกฉันให้ตื่นจากความฝันที
คำถามที่หลายคนคงข้องใจ แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป? มนุษย์ชาติสามารถหาทางกลับขึ้นมาอาศัยอยู่บนโลกได้หรือเปล่า? เหล่านี้หนังไม่มีคำตอบให้เลยนะครับ ถือเป็นปลายเปิดทิ้งไว้ ไม่ได้นำเสนออธิบายพูดถึง อยากคิดมโนว่าจะเป็นยังไงก็จินตนาการต่อเอง
ผมมองแบบนี้ คือหนังไม่ได้เล่าเรื่องราวฮีโร่กอบกู้โลก แค่นำเสนอชีวิตของชายคนหนึ่งผู้บังเอิญเกี่ยวพันกับองค์กรที่ถูกจับตามองว่าอาจเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดวันโลกาวินาศ เป้าหมายของเขาคือการค้นหาไม่ใช่แก้ไข เพราะอดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ (จะถือว่าหนังเรื่องนี้มีเส้น Timeline ของจักรวาลเพียงเส้นเดียว เปลี่ยนแปลงไม่ได้) การค้นพบความจริงในอดีตจะส่งผลถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะมันยังไม่เกิดขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่เราเห็นในหนังมันคือการย้อนเวลา หรือในความทรงจำของ Cole? อันนี้บอกตามตรงผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คือเราสามารถมองได้ทั้งสองอย่าง คือพระเอกสามารถย้อนเวลาได้จริง แต่มันมีข้อกังขาตรงที่ แล้วเขากลับไปอนาคตได้อย่างไร (อยู่ดีๆก็หายตัวไปเนี่ยนะ โดนวาปเหรอ?), สำหรับคนคิดมากข้องใจประเด็นนี้ จึงเกิดอีกเหตุผลหนึ่งขึ้น นั่นคือทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นในหัวของตัวละคร Cole ไม่ได้ย้อนเวลาไปไหน เป็นภาพจากความทรงจำของเขาที่หวนระลึกนึกย้อนถึงอดีตเท่านั้น … แต่แนวคิดนี้ก็มีความเป็นไปไม่ได้อย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นในความทรงจำแล้วจะสามารถย้อนไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเกือบร้อยปีก่อนได้ยังไง!
กับผลลัพท์ตอนจบ การกระทำของ Cole ถือว่าไร้ค่าไหม? คำตอบคือน่าจะไม่ เพราะโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายของเขาที่บอกกับคนที่อยู่อนาคต ว่าแท้จริงแล้วองค์กร 12 Monkeys ไม่ใช่กลุ่มที่ทำให้เกิดวันสิ้นโลก แค่นี้ก็ถือว่าสร้างความแตกต่างได้มาก (เพราะอนาคตต่อไปจะได้ไม่ต้องวุ่นวายสนใจเสียเวลากับองค์กรนี้อีก) สำหรับตัวการจริงๆ หนังก็แอบใส่นำเสนอไว้ด้วย แค่ว่าสุดท้ายแล้ว Cole ไม่ได้กลายเป็นฮีโร่ตอนจบที่สามารถจัดการตัวร้ายได้ก็เท่านั้น
หนังเรื่อง Vertigo ที่ใส่มาเป็น reference ของหนัง ถือว่าให้เกียรติกับ La Jetée (1962) ที่ก็มีฉากลักษณะนี้เช่นกัน [นี่สินะที่อาจคือเหตุผลหนึ่้งให้ Vertigo ติดอันดับ 1 ของนิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับล่าสุดโค่นเอาชนะแชมป์ตลอดกาลอย่าง Citizen Kane ลงได้] ซึ่งกับหนังเรื่องนี้มีหลายอย่างที่เหมือนกันมากๆ อาทิ ตัวละคร Madeleine ดันตรงกับชื่อจริงของนางเอก Madeleine Stowe, เธอย้อมผมบลอนด์ (ปลอมตัวเป็นอีกคน), ตัวละครเกิดความมึนงงสับสนในชีวิต, รำพันถึงทะเล, ตอนจบมีใครบางคนตาย ฯ
มีประโยคหนึ่งที่ Railly พูดขึ้นในฉากนี้ แล้วผมชื่นชอบมากๆ
“the movie never changes, it can’t change. But every time you see it, it seems different because you’re different.”?
เกร็ด: หนังเอา Vertigo Theme ใส่มาในหนังด้วยนะครับ แต่จะตรงไหนลองหากันดูเองนะ
ทำไมต้องลิง 12 ตัว … Monkey Business (1931) ของพี่น้อง Marx Brothers [ในหนังจะมีฉากหนึ่งของหนังฉายในทีวีด้วย] ได้สร้างนิยามของ มนุษย์=ลิง ธุรกิจของมนุษย์ทั้งหลายก็ไม่ต่างจากฝูงลิง ที่ต้องมี 12 ตัว คงเพราะเท่ากับจำนวนตัวเลขของนาฬิกาที่มี 1-12 ครบรอบเป็นวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เวลา’ และเลข 12 คือจุดสิ้นสุดท้าย (ของนาฬิกา) [ก็คือจุดสิ้นสุดของโลก]
เกร็ด: The Army of the Twelve Monkeys ได้แรงบันดาลใจจากนิยายของ L. Frank Baum เรื่อง The Magic of Oz เมื่อ Nome King และ Kiki Aru ได้พยายามเกลี้ยกล่อมลิง 12 ตัวที่ต้องการเป็นมนุษย์ กับข้อแลกเปลี่ยนเป็นทหารจัดหาเสบียงอาหารมาให้
ด้วยทุนสร้าง $29.5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $168.8 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลาม ได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Supporting Actor (Brad Pitt) พ่ายให้กับ Kevin Spacey จาก The Usual Suspects (1995)
– Best Costume Design
หนังเรื่องนี้เป็นความชอบส่วนตัวที่หลงใหลในเรื่อง Time Travel มันก็มีบางอย่างในอดีตที่ผมอยากกลับไปแก้ไข แต่เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นไปไม่ได้ เลยต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับมีชีวิตอยู่กับมัน ซึ่งความมหัศจรรย์ของหนังเรื่องนี้ที่แตกต่างจากหนังย้อนเวลาเรื่องอื่นคือ การไม่พยายามทำให้ตัวละครสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรในอดีตได้สำเร็จ แต่เรียนรู้ที่จะเข้าใจ ตกหลุมรัก และอาศัยอยู่กับมัน
แนะนำกับคอหนังไซไฟ แนวท่องเวลา (Time Travel) โลกยุคล่มสลาย (Dystopia), จิตแพทย์ นักจิตวิทยาทั้งหลาย ลองศึกษาทำความเข้าใจแนวคิด ปม Cassandra Complex และถ้าเกิดผู้ป่วยไม่ได้เป็นปมนี้ แล้วทุกอย่างเกิดขึ้นจริง คุณจะ’เชื่อ’เขาหรือเปล่า!
จัดเรต 15+ กับความรุนแรง ความเครียด และบรรยากาศของหนัง
Leave a Reply