๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕)
: จิระ มะลิกุล ♥♥♥♡
เกิดเป็นคนยุคสมัยนี้แบบ อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ช่างแสนลำบากยากเข็น ตกอยู่กึ่งกลางระหว่างถูก-ผิด ศรัทธา-ผลประโยชน์ ตำนานความเชื่อโบราณ-วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ถึงจะอึดอัดเครียดคลั่งแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องปล่อยวางจากความหมกมุ่นยึดติด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ”
เฮ็ด แปลว่า ทำ (ไม่ได้แปลว่า เห็น) แต่การทำในสิ่งที่เชื่อไม่ได้แปลว่าจะถูกต้องเสมอไป เพราะบางครั้งเราก็หลงเชื่อในสิ่งผิดๆโดยมิได้ผ่านการครุ่นคิด ไตร่ตรอง รับรู้พบเห็น สัมผัสได้ด้วยตนเอง
กาลามสูตร (หรือ เกสปุตตสูตร) พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล สอนหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆอย่างงมงายโดยมิได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ ๑๐ ประการ
- มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
- มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
- มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
- มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
- มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน)
- มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
- มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
- มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
- มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
เมื่อใดสอบสวนจนล่วงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษเมื่อนั้นถึงพึงถือปฏิบัติ
ผมเองก็ไม่รู้หรอกนะว่า บั้งไฟพญานาค คือเหตุการณ์ตามความเชื่อจริง ปรากฎการณ์ธรรมชาติ หรือมีใครสักคนที่แสวงหาผลประโยชน์รายได้จากฝูงชนมากมายมหาศาลในช่วงเทศกาลออกพรรษา แต่นั่นหาใช่สารัตถะของชีวิตที่จะต้องมาเสียเวลาหมกมุ่น ครุ่นคิด ยึดติดแบบเอาเป็นเอาตาย ต้องพิสูจน์รู้ความจริงให้จงได้
ความน่าสนใจของภาพยนตร์ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ มองนอกเหนือประเด็นท้าพิสูจน์ คือการร้อยเรียงแทบทุกสิ่งอย่างในวิถีชาวไทยอีสาน อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ผมมีปัญหาอย่างเยอะในการอู้กำเมือง ไอ้ไหรก็ม้ายโระ เพราะบางคำใกล้เคียงภาษากลางแต่ความหมายอีกอย่างหนึ่งเลย (อย่างคำว่า เฮ็ด ทีแรกผมก็เข้าว่าคือ เห็น ค้นเจอทีหลังแปลว่า ทำ) ก็ไม่เป็นไร รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าน คือมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาไทย ธำรงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ ให้ยั่งยืนยาวนานสืบต่อไป
จิระ มะลิกุล (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๔) ชื่อเล่นเก้ง ผู้กำกับ ถ่ายภาพ โปรดิวเซอร์ชาวไทย จบการศึกษาโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานในวงการจากกำกับ Music Video หลังจากได้รับการยอมรับหันไปทำงานโฆษณา เปิดบริษัท หับ โห้ หิ้น บางกอก จากนั้นเริ่มสร้างภาพยนตร์ เขียนบท/ถ่ายภาพ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), กำกับเองเรื่องแรก ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕) และ มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘)
เรื่องราวของบั้งไฟพญานาค มหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง เกิดขึ้นกับคนไทยในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เกิดขึ้นตรงกันทุกปีในค่ำคืนวันออกพรรษา ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วโลก และยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้น จากน้ำมือของมนุษย์ หรือผุดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นพุทธบูชาของพญานาคตามความเชื่อ/ศรัทธาของชาวอีสาน
คาน (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) เด็กกำพร้ารับเลี้ยงโดยหลวงพ่อโล่ห์ (นพดล ดวงพร) จากฝั่งลาว ฝากฝังไว้กับป้าออง (บุญศรี ยินดี) ที่อยู่ฝั่งไทย สนิทสนมกับพี่สาวสุดสวย อลิศ (ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ) หลังเรียนจบจากกรุงเทพฯ หวนกลับมาบ้าน อะไรๆในมุมมองความคิดของเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงไป
อย่างแรกเลยคือพี่อลิศที่ตนแอบชอบ กลายเป็นครูสอนหนังสือแล้วหมั้นหมายกับ หมอนรติ (บุญชัย ใจลิ่ม) ดูเป็นคนไม่เอาอ่าวสักเท่าไหร่, อีกอย่างหนึ่งคือต้องการเลิกหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของบั้งไฟพญานาค อันเกิดจากฝีมือของหลวงพ่อและลูกศิษย์วัดฝั่งลาว โดยเขาคือคนดำน้ำลงไปวาง ‘ไข่พญานาค’ ก่อนหน้าถึงวันออกพรรษา
หมายเหตุ: เรื่องราวดังกล่าวเป็นส่วนผสมระหว่างความจริง-แต่งเติมขึ้นตามจินตนาการของ จิระ มะลิกุล ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าพระที่ลาวเป็นผู้สร้างไข่/บั้งไฟพญานาค
อนุชิต สพันธุ์พงษ์ (เกิด ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒) ชื่อเล่นโอ นักร้อง-เต้น นักแสดงชาวไทย เกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ ต่อคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการชนะเลิศการประกวดเต้น เนสกาแฟเชกแดนซิงคอนเทสต์ และชนะเลิศการประกวด อาร์วีเอสบอร์นทูบีสตาร์ สาขาการเต้น ของวิทยุอาร์วีเอส พอคุ้นหน้ากับการเป็นนักเต้นของมอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และร่วมแสดงสื่อโฆษณาโค้กกับแคทรียา อิงลิช, แจ้งเกิดเต็มตัวจากภาพยนตร์เรื่องแรก ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕), โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗), มะลิลา (พ.ศ. ๒๕๖๑) ฯ
รับบทคาน หลังเรียนจบจากกรุงเทพฯ ชีวิตอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หวนกลับบ้านเพื่อค้นหาเป้าหมายของตนเอง อย่างหนึ่งที่เขาไม่อยากเป็นแน่ๆคือคนหลอกลวงตนเอง แต่ก็ยังตัดใจไม่ได้จากพี่สาวอลิศที่แอบชอบมากๆ ด้วยเหตุนี้เลยไปทำงานใช้แรงงานกรรมกร สำมะเลเทเมาเรื่อยเปื่อยอยู่สักพัก จนกระทั่งบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นทางฝั่งลาว อนาคตจะเป็นยังไงไม่รู้ละ แหงนมองท้องฟ้า ตราบใดมีลมหายใจ เดี๋ยวก็หาหนทางไปต่อได้เอง
ผมคงต้องเรียก โอ อนุชิต ว่า ‘เด็กหนุ่มมหัศจรรย์’ เทียบสมัยนี้กับ Timothée Chalamet ได้อย่างสบายๆ ภาพลักษณ์เป็นผู้ชายแบบเบต้า อ่อนน้อมถ่อมตน ใครๆต่างรักใคร่เอ็นดู ทำให้ต้องแบกรับความคาดหวังของทุกคน ซึ่งพอเติบโตขึ้นมีความคิดอ่านของตนเอง ต้องการโบยบินเป็นอิสระก็มิอาจกระทำโดยง่าย ติดแหงกอยู่ระหว่างสองโลก ไทย-ลาว ความถูกต้อง-บุญคุณคน อึดอัดอั้นไร้หนทางระบาย ทรมานตัวเองกับงานกรรมกร ดื่มเหล้าเมามาย แต่มันก็ไม่ทำให้ปัญหาชีวิตเบาบางลงแม้แต่น้อย
นพดล ดวงพร ชื่อจริง ณรงค์ พงษ์ภาพ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๔) นักร้องลูกทุ่ง/หมอลำ นักแสดง เกิดที่อุบลราชธานี บิดาเป็นหมอลำกลอน มารดาเป็นนักร้องเพลงโคราช ตอนเด็กเคยทำงานในวงดนตรีคณะพิพัฒน์ บริบูรณ์ ต่อมากลายเป็นลูกศิษย์ร่วมวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ นพดล ดวงพร พอปีกกล้าขาแข็งแยกไปก่อตั้งวงดนตรี เพชรพิณทอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ รับงานแสดง อาทิ ครูบ้านนอก (พ.ศ. ๒๕๒๑), คนกลางแดด (พ.ศ. ๒๕๓๐) ฯ
รับบทหลวงพ่อโล่ห์ อาศัยอยู่วัดทางฝั่งพม่า ครั้งหนึ่งได้รับบิณฑบาตรจากพญานาคชื่อเข้ม ซึ่งคงสอนวิธีการสร้าง ‘ไข่พญานาค’ สืบสานประเพณีโบราณดั้งเดิมสืบต่อกันมา ต่อมารับเลี้ยงเด็กกำพร้าสามคนจนเติบใหญ่ แต่อุบัติเหตุคร่าชีวิตคนหนึ่งจมน้ำเสียชีวิต อีกคนหนึ่งเลยหนีหายตัวไป หลงเหลือแต่คาน ส่งไปร่ำเรียนถึงกรุงเทพฯ
สำหรับบั้งไฟพญานาคปีนี้ หลงเหลือเพียงคานกับหลวงพ่อโล่ห์เท่านั้นที่ล่วงรู้จักสถานที่วางไข่ใต้น้ำ แต่เมื่อชายหนุ่มยืนกรานว่าจะไม่ขอโกหกหลอกลวงผู้อื่นอีกแล้ว จึงหลงเหลือเพียงหลวงพ่อแก่ๆ เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี หนำซ้ำยังเกิดอาการป่วยไข้ป่าต้องให้น้ำเกลือ แบบนี้มันจะ…
บอกตามตรงว่าผมไม่เห็นความเป็นพระของตัวละครนี้เลยนะ ชายผู้สวมใส่ห่มจีวร กลับไม่ได้มีสงบ สำรวม น่ายกย่องนับถือประการใด การกระทำก็แบบว่า … แต่มองในมุมของท่านก็ไม่ถือว่าเป็นการโกหกหลอกลวง ผิดศีลหรอกนะ คือกุโศบายเพื่อให้ชาวพุทธเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนา กระนั้นยุคสมัยปัจจุบันนี้ ผู้คนพยายามค้นหาคำอธิบายจับต้องได้ ซึ่งถ้าการกระทำนี้ได้รับการเปิดโปงเบื้องหลังออกมา มันคงน่าผิดหวังสิ้นเสื่อมศรัทธาลงไปไม่น้อย การเปิดเผยข้อเท็จจริงอาจคนยังจะยินยอมรับได้มากกว่า
การแสดงของ นพดล น่าประทับใจระดับหนึ่ง พระบ้านๆที่ไม่ค่อยต่างจากสามัญชนสักเท่าไหร่ คงเพราะภาพลักษณ์เสียมากกว่าที่ดูเป็นผู้ใหญ่มีวัยวุฒิน่านับถืออยู่บ้าง
บุญชัย ใจลิ่ม ชื่อเล่น เปี๊ยก เรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้รับการติดต่อจากพี่เก้ง อ่านบทสนใจเลยรับเล่น เรื่องแรกเรื่องเดียวแล้วออกจากวงการ กลับมาช่วยงานธุรกิจที่บ้าน ไปเรียนต่อ MBA ประเทศจีน กลับมาเปิดบริษัทส่วนตัว
รับบทนรติ (นร แปลว่า คน, รติ แปลว่า ความยินดี ชอบใจ กำหนด รักใคร่) ดูเป็นคนไม่เอาอ่าวสักเท่าไหร่กลับได้หมั้นหมายกับครูอลิศ จบหมอทำให้ครุ่นคิดแบบวิทยาศาสตร์ ต้องการค้นหาคำตอบของสาเหตุผลการเกิดบั้งไฟพญานาค แต่ก็ถูกใครบางคนทำให้อับอายขายขี้หน้า สังคมรุมต่อต้าน แล้วยังไงละ!
ตัวละครนี้ถือเป็นตัวแทนของ ‘วิทยาศาสตร์’ ที่แม้มีความก้าวหน้าทันสมัย แต่ยังไขปริศนาความลับจักรวาลได้เพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งการแสดงออกลุกลี้ลุกรน เมาปลิ้นเละเทะ ดูเป็นคนพึงพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ก็ชัดเจนว่ายังมีอีกมากอย่างที่ต้องครุ่นค้นหาความจริงต่อไป, นี่ไม่รู้ตัวจริงของบุญชัย (ตอนนั้น) เป็นคนแบบนี้เลยหรือเปล่านะ แต่ภาพลักษณ์ลูกคุณหนูบ้านรวยนี่ใช่เลยละ สำออย สำอาง จนสำลักอิสรภาพของตนเอง
ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ชื่อเล่นตี้ เรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้รับการชักชวนจากพี่เก้งเช่นกัน เล่นหนังเรื่องแรกเรื่องเดียวออกมาเป็นดีเจจัดรายการวิทยุ ต่อด้วยนักแปลวรรณกรรมเยาวชน ปัจจุบันแต่งงานแล้ว สามีเป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา บัวไร
รับบทอลิศ (in Wonderland) รู้จักสนิทสนมกับคาน เติบโตมาด้วยกัน ล่วงรู้แม้กระทั่งความคิดว่าชื่นชอบตนเอง แต่ไม่รู้ทำไมถึงเลือกหมั้นหมายกับนรติ (ประชดรัก?)
อาชีพครูจำเป็นอย่างยิ่งต้องสั่งสอนนักเรียนตามตำรา ภายในกฎกรอบระเบียบสังคมที่มีมา นั่นสะท้อนถึงตัวละครเพศหญิง ต่อให้อยากเป็นโบยบินอิสระ แต่วิถีคนไทยสมัยนั้นเป็นไปได้ที่ไหน อย่างน้อยการเลือกแต่งงานกับชายสวมแว่น ดูเฉลียวฉลาด เป็นนักวิทยาศาสตร์ คงทำให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้สักหน่อย
แถมให้กับนักแสดงผู้สร้างสีสันสุดๆเลยคือ บุญศรี ยินดี (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๔) หรือป้าแดง นักแสดงประกอบชาวไทย หลังจากหนังเรื่องนี้ ได้รับงานชุกเลยละ รับบทป้าออง … ผมขอเรียกว่า ‘Encyclopedia’ ผู้ล่วงรู้ขนบวิถี ความเชื่อโบราณของชาวไทย อาทิ เอาช้อนสแตเลสตักน้ำตาลแล้วมดมันจะหนี, มะเขือเทศหั่นถูกคราบสกปรก, ฝนตกตัดผมให้เอาไปเผา (อันนี้ฟังไม่รู้เรื่องว่าเพื่ออะไร), แมวฉี่เอามะกรูดบีบ (คงเพื่อให้มันไม่ฉี่ตรงนั้นอีก) ฯ
ถ่ายภาพโดย สมบูรณ์ พิริยะภักดีกุล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ และเจ้าของบริษัท ไลท์เฮาส์ ฟิล์ม เซอร์วิส ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์, ผลงานภาพยนตร์ก็มักร่วมกับพี่เก้ง อาทิ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕), ห้าแพร่ง (พ.ศ. ๒๕๕๒), รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ฯ
ลักษณะของงานภาพ แต่ละช็อตความยาวไม่มาก (คงจะรับอิทธิพลจากการทำงาน Music Video, สป็อตโฆษณา) มุ่งเน้นเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แล้วไปเล่นลีลากับการร้อยเรียงจังหวะตัดต่อ ให้มีความรวดเร็วฉับไว เร้าใจ หลายครั้งกวนประสาท!
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายระยะประชิดใกล้ตัว Medium Shot ไปถึง Close-Up (นี่อาจแฝงนัยยะถึงเรื่องราวใจความของหนัง มีความใกล้ตัวคนไทยมากๆก็เป็นได้นะ) ส่วนระยะภาพไกลๆก็มักตอน Establish Shot หรือริมฝั่งโขง รอคอยการมาถึงของบั้งไฟพญานาค
ผมชื่นชอบช็อตสุดท้ายของหนังมาก มุมเงยระยะ Close-Up ใบหน้าของโอ อนุชิต เชิดหน้าเหม่อมองขึ้นมองท้องฟ้า บั้งไฟพญานาคที่ใครก็ไม่รู้จุด นัยยะถึงอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
ตัดต่อโดย ปาน บุษบรรณ เห็นร่วมงานกับพี่เก้งสองครั้ง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕) กับ มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), ล่าสุดคือหนึ่งในผู้ถือหุ้น GDH 559
หนังไม่ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครใดหนึ่ง แต่ใช้ระยะเวลาที่เข้าใกล้ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆของ ๓ – ๔ ตัวละครหลัก ประกอบด้วน
– คาน กลับมาบ้าน ไปวัด ทำงาน เมาเหล้า ฯ
– หลวงพ่อโล่ห์และลูกศิษย์วัด กำลังง่วงกับการทำไข่พญานาค และขณะหลวงพ่อป่วย มีการหวนระลึกอดีต Flashback สร้างความแตกต่างด้วยภาพขาว-ดำ อีกครั้งหนึ่งก็ก่อนจะดำน้ำลงไปวางไข่
– หมอนรติ ง่วงกับงานวิจัย รักษาคนป่วย
– บางครั้งก็ ดร.สุรพล (สมชาย ศักดิกุล) ครุ่นคิดสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถกลายเป็นบั้งไฟพญานาคขึ้นมาได้
ความจัดจ้านของการตัดต่อ คือจังหวะที่มีความรวดเร็วฉับไว โดยเฉพาะช่วงอารัมภบท ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของปีที่แล้ว สร้างความตื่นตระการตาให้ผู้ชมอย่างมาก
แต่ที่ผมชื่นชอบสุดของการตัดต่อ คือ Dynamic Cut ขณะอธิบายทฤษฎีของหมอนรติ และดร.สุรพล ที่จะมีการแทรกร้านตัดผม (แคะขี้หู น้อมรับฟัง) ลุกขึ้นมาชี้นิ้วอธิบายเปรียบเทียบกับอ่างปลา และอีกครั้งคือแม่ค้าขายผลไม้ หวังว่าคนไม่จบปริญญาจะสามารถฟังรู้เรื่องเข้าใจได้
เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖) ฯ
งานเพลงมีลักษณะช่วยแต่งเติมเสริมบรรยากาศ สร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้กับช่วงขณะนั้นๆ มีความหลากหลายตั้งแต่ สนุกสนานครื้นเครง (ตอนวันงาน), ลึกลับพิศวง, ขนลุกน่าอัศจรรย์ใจ, อดีตที่แสนงดงาม, และอนาคตแห่งความหวัง
ไคลน์แม็กซ์นาทีสุดท้ายของหนัง คือช่วงเวลาทรงพลังที่สุดของบทเพลง ส่วนผสมระหว่างดนตรีไทยกับสากล แต่ที่แย่งซีนไปเต็มๆคือเสียงซอ มอบสัมผัสอันลุ่มลึก สั่นสะท้าน น่าอัศจรรย์ใจเสียเหลือเกิน, นัยยะของการผสมผสานเครื่องดนตรีไทย-สากล มีความชัดเจนมากๆถึงจุดยืนของหนัง อยู่กึ่งกลางระหว่างสองสิ่ง
ศรัทธา ฤา เหตุผล แต่งเนื้อร้องโดย เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ทำนองโดย นิมิต พิพิธกุล, ขับร้องโดย สุภัทรา โกราษฎร์ (อินทรภักดี)
คนเรายุคสมัยนี้มักถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่างซ้าย-ขวา ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ศาสนา-วิทยาศาสตร์ ขั้วการเมืองหนึ่งใดเท่านั้น ซึ่งเมื่อตัดสินใจไปแล้วก็จะถูกกีดกันจากอีกฝ่ายโดยสิ้นเชิง หรือพอเปลี่ยนข้างมักถูกกล่าวหาว่ากลับกลอกปอกลอก ‘นกสองหัว’
ลักษณะเช่นนั้นมักสร้างความอึดอัด คับข้อง ทุกข์ทรมานใจให้กับบุคคลผู้ไม่สามารถครุ่นคิดหาหนทางออก เพราะหนึ่งก็สำคัญจำเป็นแต่สองนั้นถูกต้องสมควร เฉกเช่นนี้แล้วจะให้ทำอย่างไรละ!
พุทธศาสนา ได้ให้คำแนะนำสอนสั่งไว้อย่างถูกต้องดีงามแล้ว คือการปลดปล่อยวางความครุ่นคิดยึดติด เมื่อซ้ายไม่ได้ ขวาก็ไม่ได้ เฉกเช่นนั้นจงเลือกทางสายกลาง มิต้องไปสนคำหมูหมากาไก่ ‘เอ็งไม่ได้เลือกฝั่งข้า ก็ไม่ใช่พวกข้า’ พวกที่มีโลกทัศนคติเช่นนั้น ย่อมมิใช่คนดีอะไร สูญเสียพรรคเพื่อนแบบนั้นไปบ้างก็ได้ จักทำจิตใจเราสงบผ่อนคลายลง
ครานี้มันจะมีประเด็นอย่าง ถ้าผู้มีพระคุณล้นฟ้าอย่างบิดา/มารดา กระทำในสิ่งผิดชั่วร้าย แล้วพยายามโน้มน้าวชักจูงให้คล้อยตามทั้งๆที่จิตใจต่อต้าน ถ้าเราบอกปัดปฏิเสธไม่ยินยอม เฉกเช่นนั้นจักถือว่าคือผู้ ‘อกตัญญู’ หรือไม่? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายของ กตัญญู-กตเวที เสียก่อน
กตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ เป็นคุณธรรมคู่กับกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น, บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง เมื่อรู้พระคุณแล้วก็ตอบแทนพระคุณท่าน มีความคิดเช่นนี้อยู่ภายในใจอย่างต่อเนื่อง และแสวงหาโอกาสทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณท่านอย่างไม่รู้ลืม
เฉกเช่นนั้นแล้วความหมายของการ อกตัญญู แท้จริงนั้นไม่ใช่ที่การกระทำแต่คือความรู้คุณ ถ้าจิตใจเรายังคงสำนึกในทุกสิ่งที่เคยได้รับมา แต่ขณะนั้นมิสามารถตอบแทน หรือการกระทำนั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายเลวทราม ไม่ถูกต้องเหมาะสม จึงไม่ถือว่าเกิดความ อกตัญญู ขึ้นภายในจิตใจ
คนอีกประเภทหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย คือพวกชอบ ‘ทวงหนี้บุญคุณ’ นี่คือคำพูดแสดงความเห็นแก่ตัวมากๆ พยายามครอบงำ เรียกร้องอ้างสิทธิ ตักตวงผลประโยชน์คืนกลับสู่ตนเอง บุคคลประเภทนี้มักหมดสิ้นคุณความดีงามตั้งแต่เอ่ยปากขอแล้ว
“บุญคุณที่เขามีต่อเรา มันหมดสิ้นไปตั้งแต่เขาทวงบุญคุณจากเราแล้ว”
เรื่องของความกตัญญูกตเวที เป็นสิ่งเราไม่ควรคาดหวัง พูดบอก เรียกร้อง หรือทักทวงถาม ปล่อยให้เป็นเรื่องสามัญสำนึก/บุญกรรม คือถ้าเขาสามารถตระหนักรับรู้ครุ่นคิดได้ ก็จักแสดงออก ตอบแทนให้เห็นเอง นั่นถือว่าได้บุญบารมีทั้งขึ้นทั้งล่อง (ทั้งผู้มีพระคุณและตอบแทนคุณ)
ความที่สังคมไทยเรามักเสี้ยมสอนลูกหลานให้รู้จักการ ‘กตัญญูกตเวที’ แต่ก็มักมีความเข้าใจผิดๆ เรียกร้อง เอาเปรียบ บีบบังคับ นั่นจักสร้างความอึดอัด คับข้อง รำคาญใจ กลายเป็นหมกมุ่นเครียดคลั่ง ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ชีวิตจมปลักไม่ก้าวหน้า แทนที่จะได้บุญกลับกลายเป็นเวรกรรมต่อกันเสียอีกนะ
คาน ชื่อตัวละครที่ภาษาไทยกลางหมายถึง
– (นาม) ไม้สำหรับหาบ หรือหามสิ่งของทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้จริง มักเหลาให้ตรงกลางป่องหัวท้ายเรียวเล็ก.
– (นาม) โครงสร้างส่วนล่างของอาคารสำหรับยึดเสา และรองตงทำด้วยไม้ เป็นต้น, ในเรือนไทยภาคกลางเรียกคานที่สอดผ่านทะลุเสาด้านสกัดว่า รอด, ไม้ทำอย่างรอดสำหรับรองรับของหนัก.
– (กริยา) รองรับไว้.
– (กริยา) ถ่วงน้ำหนัก. เช่น คานอำนาจ
แซว: ผมนึกถึงสำนวน ‘ขึ้นคาน’ มากกว่านะ
จากความหมายของคำว่าคาน มีนัยยะสะท้อนถึงตัวละคร บุคคลผู้อยู่กึ่งกลาง แบกรับทุกสิ่งอย่างไว้จนไม่สามารถปลดปล่อยวางอะไรๆลงได้ จนกว่าจะมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นถึงค่อยได้รับอิสรภาพของตนเอง
๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงสะท้อนวิถีชีวิตชาวไทย ประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิม หรือการก้าวมาถึงของโลกทัศน์ยุคใหม่ วิทยาศาสตร์ทันสมัย เทคโนโลยีโลกาภิวัฒน์ แต่ยังคือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเอง ด้วยวิธีอ้างอิงจากหลักคำสอนพุทธศาสนา นั่นคือวางตัวเป็นกลาง ไม่สุดโต่งไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มีประโยชน์อะไรที่จะพยายามค้นหาคำตอบ เพราะสุดท้ายจนวันตายก็อาจไม่ได้รับคืนสนอง หายใจเข้าลึกๆแล้วผ่อนคลายออกมา แค่นั้นแหละคือความสงบกายใจ สุขจริงแท้ชั่วนิรันดร์
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ได้ยินว่าทำเงินไปประมาณ ๕๕ ล้านบาท ถือว่าสูงใช้ได้ในยุคหลังผ่านพ้นวิกฤษต้มยำกุ้ง/ฟองสบู่แตก พ.ศ. ๒๕๔๐
เข้าชิง ๑๑ สาขา คว้ามา ๙ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (นพดล ดวงพร)
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (บุญชัย ใจลิ่ม) **เข้าชิง
– ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (บุญศรี ยินดี) **เข้าชิง
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
– ลำดับภาพยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม
– ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– เทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจมากๆกับการแสดงของ อนุชิต สพันธุ์พงษ์, ไดเรคชั่นของ จิระ มะลิกุล, ความบ้าระห่ำตัดต่อ และเพลงประกอบช่วงท้ายทรงพลังมากๆ หนังไทยน้ำดี … แต่ก็อยากให้ออกมาดีกว่านี้อีกนิด
ผมค่อนข้างมีปัญหากับการนำเสนอพฤติกรรมหลุดๆของบางตัวละคร (โดยเฉพาะ หมอ กับ ด็อกเตอร์) ถึงพอดูออกว่าต้องการแฝงนัยยะสุดโต่งบางอย่าง แต่มันทำให้ภาพรวมของหนังดูเหมือน ‘น็อตหลุด’ เต็มไปด้วยความบ้าๆบอๆ ทีจริง-ทีเล่น หาความสมดุลกึ่งกลางไม่ได้ซะอย่างงั้น
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มันถึงเวลาสักพักใหญ่แล้วที่คนไทยควรเปิดโลกทัศน์ตนเอง ออกจากกะลาที่ครอบหัวไว้ นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ล้มล้างศรัทธาความเชื่อหรือพุทธศาสนา แต่ทำให้คุณครุ่นคิดถึงอะไรคือความจริง-เท็จ ถูกต้อง-เหมาะสม เข้าใจกาลามสูตร ๑๐ และปล่อยวางจากความยึดติด
จัดเรต ๑๓+ กับศรัทธา-ผลประโยชน์ ความเชื่อ-วิทยาศาสตร์
Leave a Reply